ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 อุบัติเหตุรถเกี่ยวสายไฟหน้าบ้านทำให้บาดเจ็บ

อุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ แม้แต่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง โดยเหตุที่เกิดแก่ผู้ร้องรายนี้ มีประเด็นเกี่ยวกับการชดเชยเยียวยาที่ผู้สร้างความเสียหาย ไม่ค่อยจะยินดีจ่าย ทำให้กว่าจะตกลงกันได้ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เรื่องนี้ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลจาก สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างเข้มแข็งบนพื้นที่ภาคอีสาน เหตุเกิดประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณดาว(นามสมมติ) ขณะกำลังใช้เวลาเพลินๆ กับแม่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง เกิดมีรถรับส่งพนักงานของโรงงานผลิตกระดาษแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น วิ่งเบียดเข้ามาหน้าบ้านเกี่ยวเอาสายไฟฟ้า(จากเสาที่ทำขึ้นเองเพื่อต่อเข้าบ้าน) ดึงรั้งจนทำให้เสาไฟฟ้าล้ม และชิ้นส่วนของเสาไฟกระเด็นมาถูกร่างกายคุณดาวจนบาดเจ็บ ซึ่งญาติได้รีบนำส่งโรงพยาบาลคุณดาวต้องเย็บแผลถึง 12 เข็ม ในขณะเดียวกันแม่ของคุณดาวก็ปรากฏอาการหวาดผวาจากเหตุดังกล่าว แม้ทางผู้ก่อความเสียหายคือ คนขับรถได้ซ่อมแซมเสาไฟฟ้าจนใช้งานได้ตามปกติ ทางคุณดาวและญาติเห็นว่า ควรต้องได้รับการดูแลเยียวยาทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลและอาการทางจิตใจของคุณแม่ด้วย จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.น้ำพอง   เบื้องต้นมีการเจรจาค่าทำขวัญ  สินไหมทดแทนเรียกร้องไป  100,000  บาท แต่ทางคนขับรถต่อรองโดยยินยอมจะจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน  10,000 บาท  ซึ่งคุณดาวเห็นว่าได้รับน้อยเกินไป จึงยังไม่ตกลงใดๆ และให้ทางตำรวจลงบันทึกการเจรจาไว้เป็นหลักฐาน ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย คนขับรถทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปรับเป็นเงิน 400 บาท จากเหตุขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ต่อมาคุณดาวได้นำเรื่องมาปรึกษากับทางสมาคมฯ ว่าจะต้องดำเนินการเรียกร้องอย่างไร   แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางสมาคมฯได้รับเรื่องร้องเรียน  ได้มีการรวบรวมเอกสารและตรวจสอบข้อมูลว่า  รถคันดังกล่าวได้ทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้กับบริษัทใด  วงเงินประกันกี่บาทเพื่อจะได้ทราบว่าประกันคุ้มครองรายการอะไรบ้าง  จากนั้นได้มีการประสานงานกับทางบริษัทรถ บริษัท/โรงงานผู้ผลิตกระดาษ (บริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างรถ-รับส่งพนักงาน)   ด้วยเหตุว่า เป็นกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากผู้ที่มาทำละเมิด  จึงต้องเรียกร้องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย  คนขับรถ  บริษัทรถและฝ่ายโรงงาน  โดยทางสมาคมฯ ได้นัดหมายให้ทางฝ่ายโรงงานเป็นผู้ประสานงานกับทางผู้ร้องเรียน  บริษัทรถ  คนขับรถ และใช้สถานที่โรงงาน เป็นสถานที่เจรจา ซึ่งทางสมาคมได้ร่วมเจรจากับผู้ร้องด้วย  ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องเรียนได้ยื่นข้อเรียกร้องตามเดิมคือเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  100,000  บาท เมื่อมีการเจรจารอมชอมกัน จึงได้ข้อยุติทั้งสามฝ่าย(บริษัทรถ คนขับรถ และโรงงาน) จะชดเชยความเสียหายให้กับผู้ร้องเป็นเงิน  60,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว  ผู้ร้องเรียนพอใจ  มีการลงบันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐานและยุติเรื่องดังนั้นผู้บริโภคที่อยู่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง หากพบปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้ที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.083-599-9489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 อาหารสัตว์ปนเปื้อน

การเลือกซื้ออาหารแปรรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง เหมือนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก เพราะแค่เลือกสูตรให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงกับเราก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริงก็คือเรายังต้องเสี่ยงกับอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่พิจารณาจากยี่ห้อดังตามท้องตลาด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณพลอยได้เลือกซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูปเกรดพรีเมียมยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับสุนัขแพ้ง่าย ที่มีปัญหาเรื่องผิวหนัง เพราะไม่มีส่วนผสมของโปรตีนจากไก่ ข้าวโพดและข้าวสาลี จากร้านค้าเจ้าประจำแถวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังเปิดถุงออกมา กลับพบสิ่งแปลกปลอมเป็นแมลงตัวสีดำ มีลักษณะคล้ายมอดจำนวนมาก ทั้งกลิ่นอาหารยังผิดปกติไปจากเดิม และเมื่อตรวจสอบวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่ถึงกำหนด คุณพลอยจึงกลับไปที่ร้านดังกล่าว เพื่อขอคืนเปลี่ยนสินค้าและแจ้งว่านี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่เธอพบความผิดปกติเช่นนี้ จึงต้องการทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่ และแม้แม่ค้ายินดีให้เธอเปลี่ยนคืนสินค้า แต่ก็แสดงท่าทีไม่พอใจที่คุณพลอยถามถึงสาเหตุของปัญหา ส่งผลให้คุณพลอยตัดสินใจส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอาหารที่ถูกควบคุมคุณภาพ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ 2558 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 56 ว่าห้ามผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ดังต่อไปนี้ 1.อาหารสัตว์ปลอมปน 2.อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ 3.อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน 4.อาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ 5.อาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียน โดยหากผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตรวจสอบอาหารสัตว์ที่มีการปลอมปน เสื่อมคุณภาพ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือและสินค้าดังกล่าวไปยังกรมฯ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้รับการตอบกลับมาว่า หลังกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย เพราะคาดว่าปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามพบว่า สถานที่จำหน่ายมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ มีการเก็บแยกอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนและมีความสะอาด ซึ่งไม่มีแมลงหรือสัตว์พาหะที่อาจทำให้อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพได้ ส่งผลให้ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า อาหารสัตว์ดังกล่าวเสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปนด้วยสาเหตุใด ทางกรมฯ จึงขอเก็บตัวอย่างเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการตรวจสอบต่อไป และหากพบว่าอาหารไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดจริง จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และผู้ผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เลี้ยงสัตว์ รบกวนชาวบ้าน

สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์เดือดร้อนรำคาญ เพราะเพื่อนบ้านเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง หรือกระทบต่อสุขภาพก็ตาม ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน ว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรคุณทินกรเป็นหนึ่งในผู้พักอาศัยของหมู่บ้านชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งได้เพื่อนข้างบ้านที่มีพฤติกรรมชอบเลี้ยงเป็ดและไก่ แต่นั่นจะไม่ใช่ปัญหาเลย หากเพื่อนข้างบ้านของเขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  และปล่อยให้สัตว์ทั้งสองชนิดกีดขวางทางสัญจรสาธารณะภายในหมู่บ้าน มากไปกว่านั้นยังนำแผ่นคอนกรีตมาวางในที่ถนนสาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ทางสัญจรสกปรกและมีเชื้อโรคแม้เขาจะพยายามแสดงความไม่ประทับใจในพฤติกรรมดังกล่าว ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่งผลให้คุณทินกรส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการที่เพื่อนบ้านนำเป็ดและไก่จำนวนมากมาเลี้ยงและปล่อยให้เดินขับถ่าย ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนข้างเคียง หรือแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ โดยการการเลี้ยงสัตว์ในที่นี้ หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่ 1) สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เป็นต้น 2) โดยวิธีการเลี้ยงที่รบกวนความเป็นอยู่ ของผู้อาศัยข้างเคียง เช่น การปล่อยให้สัตว์ไปกินพืชผักของคนข้างบ้าน หรือปล่อยให้ไปถ่ายบ้านข้างเคียง เป็นต้น 3) เลี้ยงจำนวนมากเกินไป เช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่ก็เลี้ยงจำนวนมาก จนเกิดเสียงร้องดัง มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นมูลเหม็น เป็นต้น ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและออกคำสั่งให้ผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนั้นระงับหรือแก้ไขเหตุนั้นได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นประจำจังหวัด (รูปแบบของการฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานเทศบาลประจำจังหวัด ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับผลการดำเนินการมาว่า ได้ออกคำสั่งให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาด้วยการเลี้ยงไก่และเป็ดแบบมีรั้วรอบ พร้อมให้ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร้องพอใจในการดำเนินการดังกล่าวและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 จ่ายหนี้ไม่ไหว ปรับโครงสร้างหนี้ดีไหม

หลายครั้งเมื่อลูกหนี้แสดงทีท่าว่าจะจ่ายหนี้ไม่ไหว แหล่งเงินกู้ต่างๆ มักเสนอการประนอมหนี้ หรือที่เรียกว่าการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจดูเหมือนจะเป็นข้อเสนอที่ลูกหนี้ได้ประโยชน์ แต่อาจทำให้ลูกหนี้ต้องมีหนี้เพิ่ม หรือผูกพันกับหนี้ก้อนใหม่แทนคุณสมพลโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยผ่อนชำระที่เดือนละกว่า 5,000 บาท ต่อมาเกิดปัญหาการเงินภายในครอบครัว จึงเป็นเหตุให้เขาต้องชำระหนี้ล่าช้าติดต่อกันหลายเดือน ภายหลังทางบัตรเครดิตจึงโทรศัพท์มาเสนอให้เขาเปลี่ยนยอดชำระจากเดือนละ 5,000 บาทเหลือเพียงเดือนละ 1,000 บาทแทน แต่คุณสมพลไม่แน่ใจว่าหากเขายินดีรับข้อเสนอดังกล่าว จะส่งผลต่อยอดหนี้อย่างไรบ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำหรับหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ถือเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยหากเรานำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า แต่ไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตรา 20 % ต่อปี หรือหากมีการกดเงินสดจากบัตรกดเงินสด และชำระไม่ตรงกำหนดก็จะเสียดอกเบี้ยในอัตรา 28 % ต่อปี ซึ่งจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่มีการกดเงินสดออกมาจากบัตร ส่งผลให้ผู้บริโภคหลายคนที่ชำระหนี้เต็มจำนวนไม่ไหว และมักชำระหนี้ขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ 5-10 % ของยอดหนี้ จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะชำระหนี้จนหมดสิ้น เพราะเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถูกเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ หลายคนจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว แต่อาจลืมไปว่าแม้การประนอมหนี้ จะมีข้อดีคือสามารถปรับตามกำลังหรือความสามารถของเราที่จะชำระหนี้ได้ แต่จะถือเป็นการทำสัญญาใหม่ที่จะรวมทั้ง เงินต้น ดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เบี้ยทวงถาม เบี้ยค่าติดตาม ทั้งหมดมารวมกันและกลายเป็นหนี้ใหม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้ระยะการชำระหนี้นานขึ้นอีกด้วยศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้หากผู้ร้องหยุดพักชำระหนี้และพยายามเก็บเงินก้อนให้ครบจำนวนยอดหนี้เดิม เพื่อชำระให้หมดภายในครั้งเดียวจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หากผู้บริโภคท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ลูกเสียชีวิตหลังคลอด เรียกร้องอะไรได้บ้าง

หนึ่งในเรื่องไม่คาดคิดที่ทำให้หลายคนใจสลาย คือการที่เด็กเสียชีวิตหลังการคลอด ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ เราลองไปดูกันว่าเธอจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างคุณนภาอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้คลอด จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเข้ารับการผ่าคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งหลังจากได้รับการผ่าคลอดแล้วเรียบร้อยและได้ยินเสียงเด็กร้องแล้ว ทางพยาบาลก็เดินมาเรียกชื่อ ถามสิทธิต่างๆ พร้อมนำเด็กมาให้กินนมของเธอ ภายหลังคุณนภาหลับและตื่นมาอีกครั้ง ทางพยาบาลก็ได้เข้ามาแจ้งว่าจะวัคซีนให้ พร้อมเดินเข้ามาอุ้มเด็ก แต่ทันใดนั้นก็ส่งเสียงร้องตกใจและรีบนำเด็กออกไปจากห้อง ซึ่งเมื่อกลับเข้ามาอีกครั้งก็ได้แจ้งเรื่องที่ไม่คาดคิดว่า ลูกของเธอได้เสียชีวิตแล้ว โดยอาจมีสาเหตุจากโรคประจำตัวอย่างไรก็ตามหลังออกจากโรงพยาบาล คุณนภาตัดสินใจส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่เธอไม่แน่ใจสาเหตุการเสียชีวิตของลูก นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบอะไรจากโรงพยาบาลได้บ้างหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสามารถเรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลชดใช้เยียวยาความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้น หมายถึง เงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ โดยมิต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด  ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาเงินช่วยเหลือ คือ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2. กรณีพิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท 4. กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และหากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น สำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้มีการเยียวยาผู้ร้องก่อนเบื้องต้น พร้อมแนะนำให้รอผลการชันสูตรการเสียชีวิตเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่า ทางประกันสังคมได้ติดต่อมาแนะนำผู้ร้องว่า ขอให้ผู้ร้องให้ความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลว่า มีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อจะให้เบิกเงินประกันสังคมได้ และนัดให้ผู้ร้องไปรับฟังคำชี้แจงจากโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้ร้องไม่แน่ใจว่าควรจะเข้าไปฟังเองเพียงคนเดียวหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยประสานงานให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไปร่วมฟังคำชี้แจงด้วย ซึ่งผลชันสูตรพบว่าเด็กมีอาการไหลตาย และทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะชดเชยเยียวยาผู้ร้องเป็นจำนวน 320,000 บาท ด้านผู้ร้องไม่ติดใจอะไรเพิ่มเติมกับผลการชันสูตรและตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว จึงยินดียุติการร้องเรียน ทั้งนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องร้องเรียน สามารถยื่นคำร้องได้ 2 วิธี  คือ ด้วยตนเองที่หน่วยรับคำร้อง หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด(สสจ.) ที่เกิดเหตุ หรือกรณีในกรุงเทพฯ สามารถส่งไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำกรุงเทพมหานคร โดยเตรียมเอกสารที่ดังนี้ 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน 3. หนังสือมอบอำนาจ(กรณีที่มีการมอบอำนาจ) 4. เอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา(ถ้ามี) และข้อสำคัญคือต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี นับจากทราบความเสียหาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 หลักสูตรไม่ตรงกับที่สมัคร

เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยินดีจ่ายค่าเทอมราคาสูง เพื่อให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนชื่อดัง หรือมีหลักสูตรที่สามารถพัฒนาทักษะของเด็กได้ดีที่สุด แต่หากสมัครเรียนไปแล้วกลับพบว่า ไม่เป็นไปตามที่โรงเรียนโฆษณาไว้ เราจะสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันคุณสมพลพาลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ในหลักสูตรของโครงการนานาชาติ เนื่องจากได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านงาน Open House ของโรงเรียนว่า มีชื่อเสียงด้านการจัดการเรียนการสอนที่ดี ทั้งหลักสูตรดังกล่าวได้ใช้แนวทางการเรียนการสอน ตามหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามหลังลูกสาวเข้าเรียน และชำระเงินค่าเทอมไปแล้วกว่า 200,000 บาท กลับพบปัญหาหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจ้งไว้ เช่น ไม่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Lab) ขาดอุปกรณ์เครื่องดนตรี ขาดครูผู้สอนชาวตะวันตกหลายวิชา หรือการเปลี่ยนแปลงตารางเรียนกะทันหันเนื่องจากครูไม่พอ ส่งผลให้คุณสมพลและผู้ปกครองท่านอื่น พยายามสอบถามถึงวิธีแก้ปัญหาไปยังผู้อำนวยการของโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาใดๆจนกระทั่งเปิดภาคเรียนถัดมาและถึงเวลาชำระเงิน ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมพลได้จ่ายเพิ่มไปอีกเกือบ 200,000 บาท เขาก็พบว่าเหล่าปัญหาดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และแม้จะมีการรวมตัวของผู้ปกครองเพื่อเรียกร้องให้ทางโรงเรียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ภายหลังมีนักเรียนลาออกกว่า 20 คนจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คุณสมพลไม่พอใจอย่างมาก และรู้สึกไม่มั่นใจคุณภาพการศึกษาของโครงการ จึงย้ายลูกสาวออกจากโรงเรียนกลางคัน โดยในเวลาต่อมาเขาก็ได้ส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกในราคาที่เกือบจะเท่ากับที่สมัครเรียนไปรอบแรกเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมพลจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ โดยต้องการสอบถามว่าสามารถขอเงินคืนจากโรงเรียนดังกล่าวทั้งหมดได้หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามที่โรงเรียนได้ประชาสัมพันธ์ไว้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถทำหนังสือขอเงินคืนจากโรงเรียนดังกล่าวได้ โดยใช้เอกสารการประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นหลักฐาน เพราะตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา(วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) พ.ศ. 2522 (มาตรา 11) กำหนดไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำ หรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามอย่างไรก็ตามหากฟ้องร้องคดี ผู้ร้องอาจไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมด เพราะเกิดการเรียนการสอนไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่แน่นอนว่าทางโรงเรียนต้องมีการชดเชยเยียวยา ในกรณีที่ผิดสัญญาดังกล่าวทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยทำจดหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล โรงเรียนดังกล่าว เพื่อให้ตรวจสอบหลักสูตรโครงการนานาชาติว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวยังไม่ปิดเพียงเท่านี้ และจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 สะสมแต้มครบ แต่แลกของไม่ได้

หนึ่งในกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด หนีไม่พ้นวิธีการสะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัล ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจนั้นๆ มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าเงินที่เสียไป สามารถสร้างประโยชน์กลับคืนมาได้อีกอย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจสร้างปัญหาได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคสะสมแต้มครบ และทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทุกอย่าง แต่กลับแลกรับของรางวัลไม่ได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณพชรเข้าร่วมกิจกรรมสะสมดาว (แต้มที่จะได้รับหลังการซื้อสินค้า) เพื่อแลกรับของรางวัล ของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ซึ่งภายหลังเขาสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และต้องการแลกรับของรางวัลเป็นหมอนสุขภาพ กลับได้รับการแจ้งจากพนักงานว่า ระหว่างนี้สินค้าดังกล่าวหมด แต่สามารถเขียนใบจองไว้ก่อนได้ ซึ่งหากสินค้ามาถึงจะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหลังผ่านไปนานหลายสัปดาห์ และใกล้ครบกำหนดวันที่สามารถแลกรับของรางวัลได้ คุณพชรก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากพนักงานของห้างฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด เขาจึงทดลองไปสอบถามโดยตรงกับพนักงานอีกครั้ง ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า สินค้าหมดและหมดเวลาแลกแล้ว ถึงจะมีใบจองไว้ก็หมดสิทธิเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพชรจึงไม่พอใจมากและนำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีผู้บริโภครายอื่นๆ จำนวนมาก ได้เข้ามาแสดงคิดเห็นว่าประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้คุณพชรส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะต้องการให้ห้างฯ แสดงความรับผิดชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าว พบว่า ผู้ร้องทำตามกติกาที่ทางห้างฯ ระบุไว้ แต่ไม่สามารถแลกรับของรางวัลได้ตามโปรโมชั่น เนื่องจากสินค้าหมด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมโดยให้ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน(5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งตาม (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2534) นั้น กำหนดให้ ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่า ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประกวดชิงรางวัล โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค(ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือในการประกวดชิงรางวัล(ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกาศชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลนั้นจะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง(ค) ประเภทและลักษณะของของแถมพก หรือรางวัลจำนวนและมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัล แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้   แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของแถมพกหรือรางวัลทุกประเภทไว้แทน(ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถมพกหรือรางวัลเป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป  และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลนั้นไว้ก็ได้)(ง) เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร(จ) วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการทำการเสี่ยงโชคหรือการตัดสินการประกวดชิงรางวัล(ฉ) สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลดังนั้นจากเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ การที่ห้างฯ ไม่ระบุจำนวนของรางวัลไว้ให้ผู้บริโภคทราบ และอ้างว่าสินค้าหมดนั้น อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบได้

อ่านเพิ่มเติม >