ฉบับที่ 201 ห้องจริงไม่เหมือนในตัวอย่าง

การตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากใบโฆษณา หรือจากห้องตัวอย่างอาจสร้างความผิดหวังได้ หากพบว่าห้องจริงที่ได้มานั้น ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี 2556 คุณภารดรได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการ ออริจินส์ บางมด-พระราม 2  ซึ่งเขาได้ชำระค่าทำสัญญาไป 27,000 บาท และผ่อนดาวน์เดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 21 งวด รวมเป็นเงิน 139,200 บาท และยังชำระเกินไปอีก 2 งวดจำนวน 10,000 บาท ต่อมาในปี 2558 ทางโครงการฯ ได้ส่งจดหมายแจ้งให้คุณภารดรทำการยื่นขอสินเชื่อและเข้าไปตรวจดูห้องชุด ซึ่งปรากฏว่าห้องที่ทางโครงการจะส่งมอบให้มีการออกแบบแตกต่างไปจากในใบโฆษณาสินค้าหลายประการ เขาจึงไม่พอใจและต้องการยกเลิกสัญญา จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำผู้ร้องว่า การยกเลิกสัญญาเนื่องจากห้องชุดที่ได้ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้สามารถทำได้ โดยตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ 8.6 ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินทั้งหมดคืนจากผู้ขายได้ หากผู้ขายไม่ได้ทำตามแบบที่นำแสดงขายหรือห้องตัวอย่างไว้ โดยศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือบอกเลิกสัญญาไปที่บริษัท ทั้งนี้ภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพิ่มเติมที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งทางบริษัทยินยอมคืนเงินที่ผู้ร้องชำระไป จำนวนกว่าเก้าหมื่นบาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ก่อนซื้อเครื่องสำอาง อย่าลืมดูฉลาก

สาวๆ หลายคนที่ชื่นชอบการแต่งหน้า อาจเคยเผลอซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งบางคนอาจโชคดีไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ร้องรายนี้ คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เธอซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากร้าน  K'Saranon Beauty and Herb  ที่ตั้งอยู่หลังตึกการบินไทยมาใช้ ซึ่งหลังใช้แล้วเกิดอาการคัน แพ้ แสบปาก และเมื่อตรวจสอบสินค้าดูอีกครั้งก็พบว่ากล่องก็ไม่มีฉลากภาษาไทย เธอจึงกลับไปที่ร้านเพื่อขอคืนสินค้า แต่แม่ค้าไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเป็นของแท้และไม่คืนเงินให้ อย่างไรก็ตามจะให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นภายในร้านแทนด้านคุณปาริชาตไม่มั่นใจว่าสินค้าอื่นๆ จะได้มาตรฐานหรือเปล่า จึงไม่ต้องการแลกสินค้าและถ่ายรูปร้านค้าไว้ ทำให้แม่ค้าแจ้งว่าจะไม่ขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวแล้ว และจะคืนเงินให้ 60% แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังการดำเนินการ อย. ได้แจ้งกลับมาว่า สถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางตามที่ผู้ร้องได้แจ้งมานั้นปิดทำการไปแล้ว โดยได้มีการเข้าตรวจสอบหลายครั้งก็ไม่พบว่าร้านเปิดทำการอีกเลย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามทาง อย. จะติดตามผลต่อไป และหากพบว่าทางร้านกระทำผิดจริงหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็จะสั่งระงับการขายทันที ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรตรวจสอบฉลากภาษาไทยก่อนซื้อทุกครั้ง โดยอย่างน้อยฉลากต้องระบุข้อความดังนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย. หรือ http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 โดนสวมรอยรูดบัตรเครดิต

ผู้ที่ถือบัตรเครดิตทุกคน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในการบอกข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่นทราบ เพราะไม่แน่ว่าเราอาจโดนมิจฉาชีพสวมรอย แอบอ้างเป็นผู้ถือบัตรและไปรูดซื้อสินค้า ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ได้คุณโชนถูกชักชวนทางโทรศัพท์ให้ทำประกันคุ้มครองรถยนต์ โดยเซลล์ที่อ้างว่ามาจากศูนย์บริการใหญ่ แจ้งว่าจะส่งรายละเอียดของกรมธรรม์มาให้เขาตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ที่บ้าน และหากเขาตกลงก็จะขอนัดมาพบที่บ้านเพื่อถ่ายรูปรถยนต์และชำระค่าใช้จ่าย ซึ่งคุณโชนได้สอบถามกลับไปว่าสามารถชำระด้วยบัตรเครดิตได้หรือไม่ เนื่องจากเขาสนใจประกันภัยดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้เซลล์ตอบกลับมาว่าสามารถทำได้ พร้อมขอเลขบัตรเครดิต 12 หลักและวันหมดอายุของบัตรเขาไว้ด้วย คุณโชนเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงให้ข้อมูลบัตรตามที่เซลล์ขอไป อย่างไรก็ตามเหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่เขาคิด เมื่อภายหลังมีข้อความแจ้งเตือนจากบัตรเครดิตมาว่าได้มีการตัดยอดประกันไปแล้ว ทำให้เขาตกใจมาก เพราะทราบอยู่แล้วว่าบัตรดังกล่าวยอดวงเงินเต็มคุณโชนจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ Call Center ของบัตรเครดิต ซึ่งแจ้งว่าก่อนหน้านี้เขาได้โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวและรูดชำระค่าประกันไป เขาจึงแจ้งว่าตนเองไม่เคยโทรศัพท์เข้ามาขอเพิ่มวงเงินใดๆ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเซลล์ขายประกันคนดังกล่าว มาแอบอ้างเป็นเขาและรูดบัตรไปโดยวิสาสะ ทำให้เขาโทรศัพท์ไปที่บริษัทประกันรถ เพื่อขอยกเลิกการชำระเงินดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมนำใบแจ้งความ ไปขอเทปบันทึกการสนทนาระหว่างพนักงานบัตรเครดิต กับเซลล์ขายประกันที่แอบอ้างเป็นเขา มาขอเพิ่มวงเงินและรูดชำระค่าประกันไป นอกจากนี้แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมายปฏิเสธการชำระเงิน โดยทำเป็นไปรษณีย์ตอบรับ ส่งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอปฏิเสธการชำระเงิน เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นคนกดเงินดังกล่าวไป และให้ธนาคารตรวจสอบดูอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า ผู้ร้องไม่ได้กดเงินดังกล่าวด้วยตัวเองไปจริง ก็สามารถเรียกร้องเงินคืนได้ อย่างไรก็ตามเรื่องราวจะคืบหน้าต่ออย่างไร ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เหม็นกลิ่นขี้ยางจากข้างบ้าน

ขี้ยางหรือเศษยาง เป็นสิ่งที่เหลือจากการกระบวนการทำยางก้อนและยางแผ่น ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับยางที่มีสีดำอย่างยางรถยนต์ต่อได้ อย่างไรก็ตามขี้ยางมักมีกลิ่นแรง โดยหากไม่มีการจัดเก็บที่ดี อาจส่งปัญหาต่อบ้านใกล้เรือนเคียงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณกุญชร ได้กลิ่นเหม็นรบกวนจากเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งมาทราบภายหลังว่าสาเหตุของกลิ่นมาจากการที่เพื่อนบ้าน รับซื้อขี้ยางมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำให้เขาต้องการทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่อยากทนกลิ่นเหม็นของขี้ยางอีกต่อไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (4) ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการกระทำผิด ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ. นี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถแจ้งให้ปรับปรุง/แก้ไข  ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และหากล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานก็มีอำนาจสั่งรื้อ/ปรับได้ ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองท้องถิ่นก่อนเบื้องต้น โดยภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการบอกผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งไปแจ้งเตือนคู่กรณีให้มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อย จึงยินดีขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 งานแต่งเลื่อน ขอเงินค่าแพ็กเกจถ่ายรูปคืน

เพราะการแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน การจ้างช่างภาพมืออาชีพเพื่อมาเก็บภาพความประทับใจหรือบรรยากาศภายในงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปัจจุบันการถ่ายภาพงานแต่งมักเป็นแพ็กเกจการถ่ายรูป ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเราพบว่างานแต่งที่วางแผนไว้กลับล่ม แต่ตกลงซื้อแพ็กเกจการถ่ายรูปงานแต่งไว้แล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ลองไปดูกันคุณไอติมวางแผนแต่งงานไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการถ่ายภาพและเช่าชุดงานแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังตกลงกันเรียบร้อย และจ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเป็นจำนวนเกือบ 40,000 บาท กลับพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ ทำให้งานแต่งต้องยกเลิกไปก่อน คุณไอติมจึงต้องการยกเลิกสัญญาการถ่ายภาพและเช่าชุดแต่งงาน แต่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการขอเงินคืนทั้งหมด ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงชี้แจงผู้ร้องว่า การจ่ายเงินมัดจำ เป็นการให้คำมั่นว่าจะมีการทำตามที่ตกลงในสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องขอยกเลิกสัญญาเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเกือบ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการจ่ายเงินมัดจำสูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดว่าสามารถลดลงได้เท่าที่เสียหายจริง ในเบื้องต้นศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งระงับการจ่ายเงินกับธนาคารของบัตรเครดิตก่อน จากนั้นช่วยทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน โดยให้บริษัทฯ สามารถหักค่าเสียหายได้เท่าที่เสียหายจริง รวมทั้งเชิญให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิ ภายหลังการเจรจาพบว่า บริษัทแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เสียไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 บาท ซึ่งหากยกเลิกสัญญาจะต้องหักจากเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป พร้อมเสนอให้หักเพียง 5,000 บาท ทางบริษัทจึงขอนำกลับไปพิจารณา และแจ้งกลับมาภายหลังว่ายินดีทำตามข้อเสนอของผู้ร้อง แต่จะคืนเงินให้หลังจากที่ขายแพ็กเกจดังกล่าวให้ลูกค้าคนอื่นได้แล้ว ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 แจ้งจับคนขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า

แม้ทางเท้าหรือฟุตบาทจะเป็นทางเดินสัญจรสาธารณะ แต่ที่ผ่านมาฟุตบาทได้กลายเป็นทั้งที่ขายของ ทางวิ่งรถมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่ที่จอดรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สัญจรไปมาอย่างมาก โดยเฉพาะการขับรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทำให้ภาครัฐออกมาตรการ “ชวนประชาชนแจ้งจับผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ทางเท้า และได้รางวัลครึ่งหนึ่งของค่าปรับ” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เราลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมจิตรพบเห็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์หลายคันจอดอยู่บนทางเท้า และเห็นหลายคนขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นประจำ ส่งผลให้เขาและผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ ต้องเดินหลบกลัวว่าจะถูกรถชน คุณสมจิตรจึงถ่ายรูปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้และส่งเรื่องแจ้งไปยังอีเมล citylaw_bma@hotmail.com ตามวิธีการแจ้งเบาะแสของภาครัฐ อย่างไรก็ตามหลังส่งเรื่องไปแล้วหลายอาทิตย์ เขากลับไม่พบการแก้ปัญหาหรือการติดต่อกลับเพื่อให้ไปรับรางวัลนำจับแต่อย่างใด จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการแถลงข่าวโดยรองโฆษกกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวประเด็นเรื่องการให้รางวัลนำจับ กรณีพบเห็นผู้ขับขี่บนทางเท้าว่า กทม. ต้องการให้โครงการนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามามีส่วนร่วม ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่จอดหรือขับขี่รถจักรยานยนตร์และรถยนต์บนทางเท้า สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพราะถือว่าทำผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ในมาตรา 17 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร หรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทสำหรับช่องทางการแจ้งเบาะแส สามารถทำได้ 6 ช่องทาง ดังนี้ 1.ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม.1555 2.สายด่วนสำนักเทศกิจ 02-465-6644 3. ไปรษณีย์ ส่งถึงสำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 4. อีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com 5. ทางเฟซบุ๊กสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร และ 6. สำนักงานเขตในพื้นที่พบเห็นทั้ง 50 เขต ทั้งนี้สำหรับหลักฐานในการเอาผิดต้องให้เห็นชัดเจนคือ มีเลขทะเบียนรถผู้กระทำผิด ซึ่งหากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ต้องให้เห็นหมายเลขเสื้อและวินที่สังกัดด้วย พร้อมระบุวัน เวลา สถานที่กระทำผิด โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้แจ้งไว้เป็นความลับอย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์รางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับรางวัลกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับแล้ว และสำนักงานเขตจะทำหนังสือไปยังผู้ที่แจ้งข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาเพื่อรับค่านำจับ ซึ่งจะได้รับภายใน 60 วันนับแต่วันที่เขตได้รับแจ้ง หรือหากผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับในวันเดียวกัน ผู้แจ้งก็จะได้รับรางวัลค่าปรับในนั้นทันที ในขณะเดียวกันส่วนของค่าปรับนั้นต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่จับครั้งแรกแล้วปรับ 5,000 บาททันที แต่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการบันทึกประวัติผู้กระทำผิดไว้ หากทำผิดครั้งแรกอาจจะปรับ 1,000 บาท และครั้งต่อไปถึงค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ช่วยติดตามข้อมูลของผู้ร้อง โดยโทรศัพท์ไปสอบถามยังสำนักงานเขตที่ได้แจ้งไป ซึ่งตอบกลับมาว่าได้รับหลักฐานการแจ้งเบาะแสแล้วเรียบร้อย แต่อยู่ในขั้นตอนรอผู้กระทำความผิดมาชำระค่าปรับ และหากมีการชำระแล้ว จะดำเนินการแจ้งผู้ร้องให้เข้ามารับส่วนแบ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คืนสินค้าเร็ว แต่ได้รับเงินช้า

คุณปราณีสั่งซื้อเครื่องสำอางจากรายการขายของในช่องเคเบิลทีวี ซึ่งผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าหากซื้อไปใช้แล้ว เกิดอาการแพ้ก็สามารถคืนสินค้าได้ เธอจึงตัดสินใจลองสั่งเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้ดูเป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้ไปได้ประมาณ 3 วัน คุณปราณีกลับรู้สึกมีอาการคันและผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า จึงไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งวินิจฉัยว่าเกิดจากอาการแพ้เครื่องสำอางนั่นเอง เธอจึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเครื่องสำอางถึงอาการแพ้ดังกล่าว เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เมื่อบริษัทเครื่องสำอางรับทราบก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับสินค้าคืน และขอเลขบัญชีของคุณปราณีไป เพื่อจะโอนเงินค่าสินค้าให้ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปเกือบ 4 เดือนก็ไม่พบว่ามีการโอนเงินคืนจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัทเครื่องสำอางถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่าเหตุที่คืนเงินล่าช้า เพราะผู้ร้องแจ้งเลขบัญชีผิดและไม่มีการติดต่อเข้ามายังบริษัทเพื่อแจ้งเลขบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทไม่สามารถโอนเงินคืนให้ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทยินดีรับผิดชอบด้วยการโอนเงินคืนเต็มจำนวน ซึ่งภายหลังผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้วก็ยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ต้องการค่าเทอมคืน

คุณสุชาติพาลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 60,000 บาท/เทอม แต่เมื่อเปิดภาคเรียนไปได้เพียง 1 เดือนก็เกิดโรคระบาดมือเท้าปากภายในโรงเรียน ซึ่งลูกชายของเขาก็ติดได้ติดโรคดังกล่าวมาด้วย ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรอให้อาการหายสนิท อย่างไรก็ตามเมื่อลูกชายกลับไปที่โรงเรียนก็พบว่าได้ติดโรคดังกล่าวมาอีกครั้ง ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายกลับไปพบหมอ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นรอบที่สอง ซึ่งรวมๆ แล้วเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมดประมาณ 90,000 บาท โดยคุณสุชาติได้สังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกชายติดโรคมาอีกครั้งเป็นเพราะ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเล่านิทาน ที่ให้นักเรียนหลายห้องมารวมกันเพื่อฟังนิทาน ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคอยู่ แต่โรงเรียนไม่มีการคัดแยกเด็กป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ดังนั้นคุณสุชาติจึงคิดว่า ต่อให้อาการของลูกชายหายสนิท แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นนี้ ก็อาจทำให้ลูกชายติดโรคดังกล่าวกลับมาเช่นเดิมได้ เพราะตามประกาศของสาธารณสุขกำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าจะต้องปิดห้อง ปิด ชั้นหรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน แต่ทางโรงเรียนกลับประกาศให้นักเรียนหยุดเรียนเพียง 3 วันเท่านั้น เขาจึงแจ้งไปยังโรงเรียนเพื่อขอลาออก พร้อมขอให้คืนเงินค่าเทอมที่เสียไป และยินดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ลูกชายได้เข้าเรียนไปแล้ว 1 เดือนออกได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังไว้ เพราะทางโรงเรียนแจ้งว่าตามนโยบายการคืนเงินค่าเทอม จะสามารถคืนให้ได้เพียงร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดหรือ 18,800 บาทเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า กรณีนี้อาจถือได้ว่าโรงเรียนผิดสัญญาจ้างทำของ หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืนได้ ซึ่งควรได้รับเงินคืนตามจริงด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นจะเชิญให้มีการเจรจากันก่อนที่มูลนิธิ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางโรงเรียนยืนยันว่าสามารถคืนเงินได้ตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสินน้ำใจและผู้ร้องไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกเก็บจากโรงเรียนได้อีก ทำให้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำเอกสารไปยังสาธารณสุข โดยขอให้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียน เพื่อให้มีการแสดงหลักฐานว่าโรงเรียนไม่มีมาตรการในการจัดการโรคระบาดที่เหมาะสมจริงๆ แต่ในระหว่างนี้ยังต้องรอการตอบกลับจากสาธารณสุข และผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 แพ้ยา ใครรับผิดชอบ

คุณชัยเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอที่โรงพยาบาลวิภาวดี โดยก่อนผ่าตัดแพทย์ได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ซึ่งเขาก็รับทราบและตกลงรับการรักษา หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วย คุณชัยมีอาการปวดแผล พยาบาลจึงได้ฉีดยาแก้ปวดให้ หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปประมาณ 5 นาที เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคุณชัยเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก  ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบาก เหมือนมีอะไรติดในคอ จึงเรียกให้พยาบาลกลับมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการชงน้ำขิงให้เขาดื่ม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอให้แทน อย่างไรก็ตามอาการของคุณชัยกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มหายใจไม่ออก หน้า ลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด ทำให้พยาบาลรีบนำคุณชัยเข้าห้องไอซียู และภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้ยา ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลนั่นเองหลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล คุณสุชัยก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อพบว่า ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เขาจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้คุณชัยชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยาจะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้คุณสุชัยไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ทางโรงพยาบาลให้คุณชัยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 200,000 กว่าบาท โดยเป็นยอดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการแพ้ยา ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เห็นว่าการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วย เพราะแพทย์ควรมีความระมัดระวังต่อการรักษามากกว่านี้ หรือควรสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยาบรรเทาอาการปวดแผลเป็นอาการแพ้ยา และรีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายเป็นความประมาทเลินเล่อก็ได้ และทางโรงพยาบาลควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ป่วย รวมทั้งคุณชัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามที่ตกลงกับโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ฯ จึงช่วยส่งหนังสือแจ้งโรงพยาบาลให้ระงับการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย โดยขณะนี้กำลังรอการตอบกลับจากโรงพยาบาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบผลเสียหายอันเนื่องจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่า จะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้ อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไป 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะ คุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >