ฉบับที่ 211 เป็นไปได้ไหม หนอนในปลากระป๋อง

     ปลากระป๋องเป็นอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นเมื่อเปิดฝาจึงนำมาทานได้ทันที และยังใช้เป็นวัตถุดิบทำได้อีกหลายเมนู เช่น ยำปลากระป๋อง ต้มยำปลากระป๋อง คะน้าผัดปลากระป๋อง เป็นต้น  พูดแล้วหลายคนอาจน้ำลายสออยากรับประทานขึ้นมาทันที แต่ช้าก่อนลองอ่านเรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ดูก่อน     เย็นวันหนึ่งในหน้าร้อนของเดือนเมษายน คุณภูผาอยากทานยำปลากระป๋อง และนึกขึ้นได้ว่าซื้อปลากระป๋องไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งยังเหลืออยู่หลายกระป๋อง จึงไปหยิบมาเพื่อเตรียมทำอาหาร โดยคุณภูผาได้เปิดฝากระป๋องแล้ววางพักไว้ก่อน แล้วจึงหันไปซอยพริก ซอยหอมแดง เด็ดใบโหระพาเตรียมไว้ จากนั้นจึงหันกลับมาจะเอาปลากระป๋องเทใส่จาน เตรียมคลุกเคล้ากับวัตถุดิบที่เตรียม   แล้วพลันสายตาอันว่องไว ก็สังเกตเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ในปลากระป๋อง มีลักษณะตัวเรียวยาวสีขาว คล้ายหนอนผุดขึ้นมาจากเนื้อปลากระป๋อง เมื่อเขย่ากระป๋องก็ผุดออกมาเป็นตัว จึงโทรศัพท์ไปตามหมายเลขที่อยู่ข้างกระป๋องทันที เพื่อแจ้งเรื่องที่พบ และหวังให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วยังได้รีบไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้านไว้อีกด้วย  ซึ่งคุณตำรวจแนะนำให้คุณภูผาแจ้งร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ด้วยอีกทางหนึ่ง ประจวบเหมาะพอดี ในขณะลงบันทึกประจำวันมีนักข่าวอยู่ในสถานีตำรวจด้วย จึงทำข่าวเรื่องพบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋องยี่ห้อดัง ทำให้คุณภูผากลายเป็นคนในข่าวไปทันที  ตอนสายๆ ของวันรุ่งขึ้น คุณภูผาเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามคำแนะนำของคุณตำรวจ โดยนำปลากระป๋องที่พบสิ่งปนเปื้อนไปด้วย เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และแนะว่า ต้องไปให้ทาง อย. ตรวจสอบ ดังนั้นตอนบ่ายของวันเดียวกันจึงเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนและตรวจสอบกระบวนการผลิต แต่เจ้าหน้าที่ของ อย. ได้แจ้งว่าไม่ต้องร้องเรียนแล้ว เพราะทาง อย.ไปตรวจโรงงานผู้ผลิตแล้วเมื่อเช้า ตามข่าวและทาง อย.ไม่พบสิ่งผิดปกติอันใด  ส่วนตัวขาวๆ ที่พบนั้น น่าจะเป็นหนอนแมลงวัน และได้อธิบายวงจรชีวิตหนอนแมลงวันให้คุณภูผาฟัง ซึ่งรับฟังแล้วผู้ร้องยังไม่เข้าใจดีนักและค้างคาใจอยู่  จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ เบื้องต้นทางศูนย์ฯ จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ อย. รับเป็นเรื่องร้องเรียนไว้ก่อน และให้ผู้ร้องตักแบ่งตัวอย่างปลากระป๋องครึ่งหนึ่งไว้ให้กับ อย. เพื่อให้ตรวจสอบว่าสิ่งผิดปกติที่พบคืออะไรตอนนั้นคุณภูผาได้แอบสงสัยและตั้งคำถามในใจว่า ทำไม อย.สรุปผลการตรวจโรงงานได้รวดเร็ว เนื่องจากเพิ่งเป็นข่าวเมื่อวานช่วงค่ำเอง หลังจากร้องเรียนกับหน่วยงานทั้งสองผ่านไป ผู้ร้องได้นำตัวอย่างปลากระป๋องที่เหลือมามอบให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เพื่อหาทางตรวจสอบว่าหนอนที่พบหรือสิ่งปนเปื้อนนั้นคืออะไรกันแน่แนวทางแก้ไขปัญหา   เบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ร้านค้าผู้จำหน่ายปลากระป๋องอาจเข้าข่ายจำหน่ายอาหารปนเปื้อน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์นั้น มีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ    ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษานักวิชาการเพื่อหาวิธีการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋อง นักวิชาการแนะนำว่าให้ผู้ร้องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ตรวจสอบอะไร และใช้วิธีไหนตรวจสอบ เพื่อการตรวจสอบจะได้ไปในทิศทางเดียวกันและไขข้อข้องใจของทุกฝ่าย ผู้ร้องได้ติดต่อ อย. เพื่อสอบถาม และแจ้งกลับมายังศูนย์พิทักษ์ฯ ว่า อย.แจ้งว่าไม่ทราบจะตรวจอะไรเหมือนกัน ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงปรึกษานักวิชาการอีกครั้ง และส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจพบว่าสิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นหนอนแมลงวันหัวเขียว การฟักตัวของไข่ต้องอาศัยอากาศในการเจริญเติบโต หนอนจึงไม่สามารถอยู่ในปลากระป๋องที่ปิดสนิทโดยไม่มีอากาศได้ หนอนแมลงวันที่ผู้ร้องพบจึงไม่สามารถพบในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งกระป๋องอาจมีรอยรั่วหลังจากที่ซื้อสินค้ามา   เมื่อทราบผลการตรวจสอบศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แจ้งให้คุณภูผาทราบ  และแจ้งว่า สคบ. ได้นัดผู้ร้องให้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตปลากระป๋อง ซึ่งอาจฟ้องร้องคุณภูผาที่ทำให้เกิดข่าวสร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตามผลการเจรจาคือ คุณภูผากับบริษัทต่างฝ่ายต่างไม่ฟ้องคดีกันและทำบันทึกกันไว้ที่ สคบ.     เพื่อให้ครอบคลุม เนื่องจากสถานที่เก็บปลากระป๋องก่อนจำหน่ายอาจไม่มีการดูแลที่ดี ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือขอทราบผลการดำเนินการกรณีร้องเรียนที่คุณภูผา ร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย. ได้แจ้งผลการดำเนินการว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกที่ผู้ร้องได้ซื้อสินค้ามาตรวจสอบแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ อีกทั้งได้ตรวจสถานที่ผลิต  ซึ่งผลปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกรณีร้องเรียนอันดับต้นๆ ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ครั้งนี้เราขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการฟ้องคดีหนี้มาเป็นข้อมูลสำหรับลูกหนี้ที่รักทุกท่าน             เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คุณประนอมเกิดภาวะธุรกิจขาดทุน ทำให้การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่งต้องหยุดชะงักลง เป็นจำนวนเงินที่ค้างชำระหนี้ 50,000 บาท และแม้ว่าจะได้เคยมีการเจรจากันไปครั้งหนึ่ง โดยธนาคารเจ้าของบัตรเสนอคุณประนอมให้จ่ายขั้นต่ำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาท แต่คุณประนอมต่อรองเป็น 1,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ยินยอมบอกว่าจำนวน 2,000 บาทนี้ถือว่าต่ำสุดแล้ว เรื่องจึงเป็นอันไม่คืบหน้าไปไหน หนี้ก็ยังเป็นหนี้ต่อไป             ต่อมา ธนาคารได้ส่งข้อความแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องของคุณประนอมให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งไปแล้ว คุณประนอมต้องเจรจาทุกอย่างกับสนง.กฎหมายแห่งนั้นเอง ซึ่ง สนง.กฎหมายแห่งนั้นก็ติดตามทวงหนี้กับคุณประนอม อย่างไม่ประนีประนอมเท่าไร เมื่อปฏิเสธการจ่ายไป  สุดท้ายทาง สน.แห่งนั้น แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องคดีกับคุณประนอม จึงกลายมาเป็นเรื่องปรึกษาที่ว่า “ควรทำอย่างไรดี ขณะนี้ตนเองก็มีภาระบ้านซึ่งติดจำนองอยู่” แนวทางการแก้ไขปัญหา            เมื่อนำข้อมูลของคุณประนอมมาพิจารณาพบว่า การชำระหนี้ล่าสุดของคุณประนอมคือ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี ทำให้เกิดข้อต่อสู้คดีได้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้าย หากเกินกว่า 2 ปี ถือว่าขาดอายุความ            ดังนั้นหาก สนง.กฎหมายซึ่งรับซื้อหนี้จากธนาคารมา จะฟ้องคุณประนอมจริง คุณประนอมจะต้องหาทนายความเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้ในเรื่อง อายุความ หากผู้ร้องไม่ให้การเรื่องนี้ จะถือว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นสมบูรณ์และสามารถชนะคดีจนบังคับคดีได้                กรณีที่หนี้ขาดอายุความ  ลูกหนี้ต้องสู้คดี  ศาลจึงจะสามารถนำมาพิจารณายกฟ้องได้   และหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง    หมายความว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้องอีกไม่ได้ จึงจะไม่มีผลทางบังคับคดีอีก              อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ ทั้งนี้เพื่อรักษาเครดิตไว้ ต่อไปจะได้สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว เมื่อคุณประนอมมีสถานะทางการเงินดีขึ้น ควรขอเจรจาเพื่อปิดหนี้จำนวนนี้โดยต่อรองเพื่อลดหนี้ลงมาให้อยู่ในกำลังที่สามารถทำได้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข่ากระแทกเบาะเจ็บหนักเหตุรถเมล์เบรกกะทันหันทำอย่างไรดี

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ แม้อยู่บนรถโดยสารประจำทางในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์แห่งนี้ คุณจุ๊บแจงประสบอุบัติเหตุขณะนั่งรถเมล์สาย 60 จากเหตุที่รถเบรกกะทันหัน ทำให้เข่าด้านขวาของเธอกระแทกเข้าไปที่เบาะพิงด้านหน้าอย่างรุนแรง มีผลให้เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน ตามความเห็นของแพทย์ ชีวิตช่วงนั้นของเธอค่อนข้างลำบากมาก เดินเหินไม่สะดวก ทำให้ต้องขาดงานไประยะหนึ่งเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บถึงสองสัปดาห์ พออาการเริ่มดีขึ้น คุณจุ๊บแจงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนว่า ไม่ควรปล่อยให้รถเมล์ลอยนวล ควรเรียกร้องสิทธิจากบริษัท ขสมก. เพราะรถโดยสารสาธารณะนั้นจะมีการทำประกันภัยไว้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาควรได้รับการดูแลทั้งหมดจากประกันภัย และควรได้รับค่าชดเชยที่ต้องขาดงานด้วย คุณจุ๊บแจงจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหา            การใช้สิทธิให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เอกสารหลักฐานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้             1.แจ้งเหตุต่อผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีนี้ ได้แก่ ขสมก.(สายด่วน 1348) เขตการเดินรถสาย 60(สวนสยาม) และหน่วยงานรัฐคือ กรมการขนส่งทางบก(สายด่วน 1584) เพื่อขอให้สิทธิ            2.รวบรวมเอกสาร             2.1 เอกสารทางการแพทย์ ได้แก่ ใบรับแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล เวชระเบียน            2.2 เอกสารเกี่ยวกับการใช้บริการรถเมล์ เช่น ตั๋วโดยสาร ภาพถ่ายทะเบียนรถ(ถ้าทำได้) เพื่อจะได้ยืนยันเลขรถโดยสาร            2.3 ภาพถ่ายบาดแผลหรืออาการบาดเจ็บ            2.4 ใบบันทึกแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ที่เกิดเหตุ3. ประเมินค่าชดเชยที่ต้องการเรียกร้องเพิ่มเติมจากค่ารักษาพยาบาล เช่น ขาดงานไปกี่วัน ทำให้ขาดรายได้จำนวนเท่าไร เป็นต้นกรณีด้านบนสามารถนำไปปรับใช้ได้ สำหรับกรณีของคุณจุ๊บแจง เนื่องจากไม่ทราบขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้เอกสารบางส่วนสูญหายไป  และเกิดความไม่สะดวกในการใช้สิทธิ เช่น การไปแจ้งความผู้ร้องไม่สามารถให้รายละเอียดเรื่อง เลขทะเบียนรถหรือเลขข้างรถได้ จึงต้องเสียเวลาไปมากขึ้นอย่างไรก็ตามทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ช่วยประสานงานกับทาง ขสมก. จนทนายความตัวแทนของ ขสมก.ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกับผู้ร้องและสามารถยุติเรื่องได้ โดยผู้ร้องได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวนหนึ่ง เพราะผู้ร้องทำเอกสารใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลหายไปทำให้ไม่ทราบยอดที่แท้จริง แต่ผู้ร้องไม่อยากเป็นคดีความอีกจึงขอยุติเรื่อง  ขั้นตอนการใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เพราะทั้งผู้ร้องเองมีข้อจำกัดหลายอย่างจึงไม่สะดวกในการรวบรวมเอกสาร ขณะที่ทางผู้ก่อความเสียหายก็ใช้เวลาในการดำเนินการนานเนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติมากมาย รวมระยะเวลาที่สามารถยุติเรื่องได้ราว 10 เดือน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 มีอะไรอยู่ในไข่

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ เข้าฤดูฝนแล้ว บรรยากาศชุ่มฉ่ำ อากาศแบบนี้ช่างน่านอนอยู่ใต้ผ้าห่มเหลือเกิน แต่อากาศแบบนี้ก็อาจมีผลกระทบกับอาหารที่เราต้องบริโภค มาดูกันว่าช่วงฝนตกแบบนี้ จะมีผลกระทบกับอาหารอย่างไรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คุณภูผาเดินทางไปยังร้านมหาชัยซุปเปอร์กรุ๊ป สาขาขอนแก่น เพื่อซื้อของอุปโภคและบริโภคประจำเดือน โดยได้ซื้อไข่ไก่สดของเบทาโกร จำนวน 1 แพ็ค 10 ฟอง ฉลากระบุว่า วันที่บรรจุ 28/04/18 และควรบริโภคก่อน 19/05/18 แต่เมื่อคุณภูผานำไข่ออกมาประกอบอาหาร ก็สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในไข่ พบจุดลักษณะสีดำคล้ายเชื้อราอยู่ในไข่ที่ตอกออกมา  จึงติดต่อไปยังฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ข้างกล่อง พนักงานผู้รับสายแจ้งว่า จะให้เจ้าหน้าที่มารับสินค้าไปตรวจหาสาเหตุไข่เสียก่อนวันควรบริโภคที่กำหนด จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อให้ติดตามเรื่องการตรวจพิสูจน์แนวทางการแก้ไขปัญหา            ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แจ้งผู้ร้องว่า หากร้านค้าและบ.เบทาโกร จำหน่ายไข่ไก่ที่เสียก่อนวันที่ควรบริโภคตามที่ระบุไว้ อาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (1) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522            เบื้องต้นผู้ร้องได้แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อให้จัดการปัญหา และบริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับไข่ไก่ไปตรวจแล้ว ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำคุณภูผาให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และให้สอบถามไปยังบริษัทฯ ว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์กี่วัน หากเกินระยะเวลาที่บริษัทแจ้ง ให้ผู้ร้องแจ้งกลับมายังศูนย์พิทักษ์ฯ อีกครั้ง เพื่อที่ศูนย์ฯ จะตามผลการตรวจกับบริษัทฯ ให้             หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 5 วัน ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดต่อไปยังผู้ร้องเพื่อสอบถามความคืบหน้า ได้ความว่า บริษัทฯ ชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนอาจทำให้เกิดเชื้อราก็เป็นได้ และนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่ ซึ่งผู้ร้องไม่ได้ติดใจอะไรกับบริษัทอีก จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เมื่อชุมชนปฏิเสธเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน-โรงเรียน

ท่ามกลางความสับสนเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หลายประเด็นยังถกกันไม่จบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่น่าจะได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้มีการเข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้บ้านใกล้ชุมชนหรือไม่นั้นก็ควรเป็นคนในพื้นที่เอง เรามีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าวมาฝาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น โดยศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นผู้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดดังนี้  เมื่อวันอังคารที่  19  มิถุนายน  2561 ที่ผ่านมา ที่ศาลาชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน  โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 100 คน  ในการประชุมมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนจำนวน 2 ชุด หนึ่งชุด  ไม่มีรายการว่าลงเพื่อทำอะไร  อีกหนึ่งชุดเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางบริษัททรูฯ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับจาก กสทช. เรื่อง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือและสุขภาพ ” และมีการถ่ายรูประหว่างคนรับแผ่นพับกับตัวแทนของบริษัทฯ    เริ่มต้นมีกำนันตำบลโคกสูงได้ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ใช่การทำประชาคม  แต่เป็นการชี้แจงของทางบริษัทฯ ที่จะมาตั้งเสาในชุมชนเท่านั้น  เมื่อเริ่มต้นการประชุม   มีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำตัวว่า เป็นตัวแทนจากบริษัทฯ ได้นำเสนอสไลด์เรื่อง คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคน  และอ้างว่าองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าคลื่นจากเสาไม่เป็นอันตราย  จากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ที่ไปถ่ายทำสัมภาษณ์คนที่อยู่ใกล้เสาจากสถานที่ต่างๆ ว่าไม่เป็นอันตราย โดยมีพิธีกรของงานกล่าวย้ำว่า คลื่นจากเสาไม่เป็นอันตรายต่อมาเมื่อเปิดให้ชาวบ้านได้ซักถาม มีตัวแทนชาวบ้านได้พูดโดยกล่าวอ้างอิง ข้อมูลจากงานเขียนของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า คลื่นจากเสานั้นก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี  300 เมตร ก่อให้เกิดอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  ความจำเสื่อม  สายตาพร่ามัว  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย   ซึมเศร้า  วิงเวียน  ขาดสมาธิ  มีผลต่อสมอง  เชลล์สืบพันธุ์  หัวใจวาย  มะเร็ง  เป็นหมัน  หน้ามืด   สับสน  อ่อนเพลีย  ความจำเสื่อม  ชักกระตุก  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเม็ดเลือดขาว  ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค  เพื่อค้านข้อมูลจากฟังของบริษัทฯ และตัวแทนชาวบ้านคนถัดมา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านท่านหนึ่งที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พูดว่า “ข้อมูลที่ทางบริษัทนำเสนอมีแต่สิ่งดีๆ  จึงอยากให้พี่น้องชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องราวข้อมูลอีกด้านไว้เพื่อชั่งน้ำหนัก   และชาวบ้านก็ไม่ได้มาคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณด้วยว่าเห็นประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร  แต่ต้องการให้ตั้งออกห่างจากชุมชนและโรงเรียน ตามประกาศ กสทช. ที่ให้หลีกเลี่ยงตั้งใกล้ชุมชน  โรงเรียน”  พร้อมนำคลิปข่าวมาเปิดให้ชาวบ้านชม ซึ่งเป็นข่าวที่ทางช่อง 7 ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสาว่า ได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างไรบ้าง เช่น ปวดหัว  อ่อนเพลีย  จนท้ายที่สุด เมื่อบริษัทฯ ได้สอบถามชาวบ้านที่มาประชุมวันนั้น ว่าท่านใดต้องการให้มีการตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน ผลปรากฏว่าไม่มีใครยกมือสนับสนุน  พอสอบถามว่ามีท่านใดไม่ต้องการให้ตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน  กลับปรากฏว่า เกือบทุกคนในที่ประชุมยกมือไม่เห็นด้วยกับการตั้งเสา  จึงเป็นข้อยุติว่า  การที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จะมาตั้งเสาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 บ้านคำบอนนั้น คนในชุมชน  “ ไม่เห็นด้วย ” บริษัทฯ จึงต้องยุติเรื่องดังกล่าวไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 มูลค่าเงินชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง การชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุ หรือผู้ได้รับความเสียหายจากกใช้บริการ เช่น สิทธิตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบเหตุทางถนนหรือรถยนต์ สามารถเบิกค่าเสียหายตามวงเงินที่กำหนดไว้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย(จำเลย) ในคดีอาญาที่สามารถขอรับเงินช่วยเหลือได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมสรุปว่ามีหลายกองทุนชดเชยเยียวยา ซึ่งแต่ละกองทุนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นของตนเอง โดยมีหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดถึงวัตถุประสงค์ รูปแบบ วิธีการ ที่มาของกองทุน จำนวนเงินชดเชย และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยาตามข้อบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าใครอยากจะขอใช้สิทธิในกองทุนไหนก็ได้ หรืออยากใช้หลายกองทุนในเหตุการณ์เดียวกันก็ไม่ได้เช่นกันยกตัวอย่าง กรณีที่ 1 สมชายเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุสมชายได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนขาหัก ม้ามแตก ปอดฉีก ต้องได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บ กรณีแบบนี้หลายคนสงสัยว่า สมชายใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาเลยได้ไหม เพราะฉุกเฉินบาดเจ็บสาหัส ในทางกฎหมายสมชายยังไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ แม้ว่าจะมีสิทธิและเป็นกรณีฉุกเฉิน กรณีนี้สมชายต้องใช้สิทธิของประกันภัยภาคบังคับ(พ.ร.บ.รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้ครบวงเงินความคุ้มครอง 80,000 บาทก่อน เมื่อครบแล้วถึงจะสามารถไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มี เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิราชการ หรือสิทธิประกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่มี นอกจากนี้สมชายยังสามารถใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพิ่มได้ตามเงื่อนไขและระเบียบของกองทุน แต่หากว่าหลังการใช้สิทธิการรักษาของ พ.ร.บ.รถ ครบแล้ว สมชายเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บต่อด้วยสิทธิบัตรทอง แล้วพบภายหลังว่า สมชายได้รับความเสียหายจากการใช้บริการบัตรทอง เช่น แพทย์ผ่าตัดผิด ลืมอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย โดยที่ไม่ใช่เป็นเหตุจากพยาธิสภาพของร่างกาย กรณีนี้สมชายถึงจะสามารถใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กรณีที่ 2 ปรีดาเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุปรีดาได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต กรณีแบบนี้ทายาทของปรีดาสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ. รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยได้ทันทีในวงเงิน 300,000 บาท และสิทธิความคุ้มครองของประกันภัยภาคสมัครใจรถโดยสารคันเกิดเหตุอีก 300,000 บาท รวมกับสิทธิตามประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PA ของรถโดยสารคันเกิดเหตุอีกอย่างน้อย 50,000 บาท โดยกรณีปรีดาที่เสียชีวิต เมื่อทายาทได้รับเงินชดเชยตามสิทธิทางกฎหมายครบแล้ว จะไม่สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้อีก เนื่องจากได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว            ทั้งนี้หากพิจารณาเพียงตัวหนังสืออาจจะคิดว่าการขอใช้สิทธิชดเชยเยียวยาความเสียหายนั้นไม่น่าจะมีความยุ่งยาก มีกฎหมายบัญญัติแนวทางวิธีปฏิบัติไว้หมดแล้ว ความคิดนี้ต้องขอบอกเลยว่าคิดผิด!!! เพราะในทางปฏิบัติการขอรับเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายในแต่ละกองทุนล้วนมีข้อจำกัดต่างๆที่ผู้บริโภคยังไม่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการชดเชยความเสียหายของ พ.ร.บ.รถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่กำหนดไว้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายถึง ค่าเสียหายต่อชีวิต – ร่างกาย ของผู้ประสบภัยอันเนื่องจากการใช้รถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิด (มาคันไหนเบิก พ.ร.บ. รถคันนั้นได้เลย จ่ายทันทีภายใน 7 วัน) และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท กรณีทุพพลภาพ/สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต 35,000 บาท หรือรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น) หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต – ร่างกายของผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่าย เมื่ออุบัติเหตุจากรถนั้นเป็นความผิดของผู้ขับขี่รถที่เอาประกันภัย กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรจ่าย  300,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ (เป็นไปตามเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนด) จ่าย 200,000 -300,000 บาท กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จ่ายค่าชดเชย 200 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน แต่หากกรณีเป็นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิด จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้นดังนั้นว่าแค่เรื่องสิทธิตาม พ.ร.บ.รถ เพียงอย่างเดียวก็มีรายละเอียดที่สร้างความงุนงงให้กับผู้บริโภคแล้ว มีทั้งค่าเสียหายเบื้องต้น ที่มีเงื่อนไขไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด จ่ายทันทีภายใน 7 วัน และมีค่าสินไหมทดแทนสูงสุดอีก แม้กฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิไว้แล้วว่าใครควรจะได้รับสิทธิแบบไหน แต่ในอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีมีผู้โดยสารได้รับความเสียหาย ไม่ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะประสบอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณีเฉี่ยวชนหรือพลิกคว่ำล้มเองไม่มีคู่กรณีก็ตาม ผู้โดยสารที่เสียหายมักถูกรวมให้ต้องอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความรับผิดของผู้ขับขี่ทุกครั้งเสมอ ทั้งที่ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้โดยสารที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ควรที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายได้สูงสุดเต็มวงเงินของ พรบ.รถ ทันที ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลบางแห่ง ที่แนะนำผู้ประสบภัยให้ใช้สิทธิเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อรอพิสูจน์ถูกผิดก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือจะถูกผลักภาระให้ไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มีแทน  ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งแต่ละรายการมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าในอดีต การกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไว้เพียง 30,000 บาท ย่อมไม่เพียงพอต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่มีอาการรุนแรงหรือสาหัส อย่างไรก็ตามวงเงินความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถ กรณีบาดเจ็บมีจำนวนเงิน 80,000 บาท รวมถึงค่าเสียหายกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรที่กำหนดไว้สูงสุด 300,000 บาท ก็ยังถือว่ามีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่บ้านเรานั้น มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นน่าจะถึงแล้วเวลาแล้วประเด็นเรื่องวงเงินค่าชดเชยเยียวยา ควรได้มีการพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนคนใช้รถใช้ถนนอย่างจริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปลอมยาผีบอก

กรณีร้องเรียนนี้ ส่งมาจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสูตรยาผีบอก หรือยาพื้นบ้าน ซึ่งผู้บริโภคสูงวัยมีแนวโน้มที่จะถูกหลอกได้โดยง่าย ดังเช่นผู้ร้องรายนี้คุณยายวัย 70 ปี ท่านหนึ่งถือซองยาผีบอกมาสอบถามเภสัชกรชุมชนขณะออกเยี่ยมบ้าน เนื่องจากคุณยายสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนซองยา ซองแรกที่ซื้อมากินชื่อว่า ยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) มีเลขทะเบียน อย 5120033820060 แต่ยาซองที่สองที่ซื้อมากิน ฉลากยาหน้าตาเปลี่ยนไป ชื่อว่ายาผงจินดามณี (ยาผีบอก) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 และซองที่สามเพิ่งซื้อมาล่าสุด ฉลากยาก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมอีก ชื่อว่ายาผงจินดามณี (สมุนไพรสูตรโบราณ) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 จากการสอบถามพบว่า คุณยายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปแล้ว 1 ข้าง เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้อีกข้างหนึ่งเริ่มมีอาการปวด ลูกหลานเห็นว่าอายุมาก ไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะกลับมาเดินไม่ได้อย่างเดิม ก็เลยไปหาซื้อยาโบราณมาให้กินตามความเชื่อ เมื่อกินแล้วหายปวดก็เริ่มติดใจ ไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล เคยมี อสม.มาวัดความดันให้ก็ไม่พบความผิดปกติ แถมช่วงนี้หน้าตาดูอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวล ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความวิเศษของยาที่ตัวเองใช้  ญาติพี่น้องคนไหนเจ็บป่วย ปวดเมื่อยก็แนะนำบอกต่อกันไป ยิ่งเมื่อรู้ว่าหาซื้อได้ที่วัดก็ยิ่งเกิดศรัทธา บางรายสั่งซื้อยากับหลวงพ่อขณะที่รอใส่บาตรยามเช้าก็มี   เรื่องนี้ต้องชื่นชมเภสัชกรชุมชนคนเก่ง ที่ทำงานเกาะติดในพื้นที่ได้ดีเยี่ยมมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังเรื่องยา ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง สามารถไขข้อข้องใจคุณยายได้อย่างจัดเจน ตั้งแต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าเชื่อถือมีการเปลี่ยนฉลากไปเรื่อยๆ (ปลอมตัวเอง) เวลาถูกตรวจสอบก็มักจะอ้างว่าฉลากแบบนี้ของปลอม ฉลากแบบนี้ของจริง มีการ ใช้เลข อย ปลอม หรือใช้เลขทะเบียนยาปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีนี้พบว่าเป็นเลข อย ของขนมขบเคี้ยว (ยา ยาแผนโบราณ จะไม่มีการใช้เลข อย.) และเป็นทะเบียนยาน้ำแผนโบราณที่เคยมีปัญหาว่าตรวจพบสเตียรอยด์ ซึ่งเคยระบาดในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แถมคุณยายก็เคยใช้ยาน้ำสมุนไพรดังกล่าวด้วยเช่นกัน พอเห็นรูปขวดยาถึงกับร้องอ๋อเลยทีเดียว เรื่องนี้ก็เลยจบลงไม่ยาก คุณยายยอมเลิกใช้ยาแต่โดยดี เบื้องต้นพบว่าคุณยายเริ่มมีอาการของการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันมาต่อเนื่อง เช่น หน้าบวมกลม มีหนอกที่ต้นคอ ความดันต่ำ จึงได้ส่งตัวคุณยายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการแก้ไขปัญหายาในชุมชนก็ใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ แนะนำ บอกต่อ และเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลแหล่งจำหน่ายยา เส้นการกระจายยาส่งต่อให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กไม่ได้คุณภาพทำอย่างไรดี

ตลาดสินค้าออนไลน์ของประเทศไทย หรือ e-Commerce นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ  214,000 ล้านบาท และจะยิ่งเติบโตไปอีกมาก ซึ่งความนิยมอย่างต่อเนื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง ก็คือ ปัญหาจากการถูกหลอกลวง และสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่มีคุณภาพ คุณพอใจ เป็นคนหนึ่งที่พอใจในบริการที่สะดวกของโลกโซเชียล หลังจากมองหาสินค้าน่าสนใจไปเรื่อยๆ เธอถูกใจรองเท้าสตรีคู่หนึ่งเข้า จากเพจขายสินค้าประเภทแฟชั่น โดยเพจดังกล่าวมีระบบจัดส่งและสามารถเก็บเงินที่ปลายทางได้ ซึ่งสะดวกสำหรับคุณพอใจมาก เธอจึงเลือกรองเท้าตามที่เห็นโพสต์ขายในราคา 1,200 บาท หลังจ่ายเงินไปเธอรีบเปิดดูรองเท้าอย่างตื่นเต้น แต่กลับพบมากยิ่งไปกว่าความตื่นเต้น เพราะรองเท้าที่ได้มามีสภาพพื้นรองเท้าหลุดล่อน คุณพอใจจึงรีบติดต่อไปที่เพจทันทีเพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน “เพจเขาก็ตอบนะคะ แต่บอกว่าเขาจะคืนให้แค่ 10 % หรือ 120 บาท” คำตอบนี้ทำให้คุณพอใจไม่พอใจมากๆ จึงนำเรื่องมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์ฯ แนะนำให้คุณพอใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอคืนสินค้าและรับเงินคืนเต็มจำนวน เนื่องจากสินค้าที่ได้รับมามีความชำรุดเสียหาย  และได้ช่วยติดต่อประสานกับทางเพจดังกล่าวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา หลังการประสานไปสองครั้ง ทางเพจตอบกลับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง แต่ขอให้ประสานกับผู้ร้องติดต่อกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากทางเพจมีลูกค้าลงข้อความติดต่อจำนวนมาก อาจทำให้เรื่องของคุณพอใจหลุดรอดสายตาไป เมื่อทางศูนย์ฯ แจ้งให้คุณพอใจทราบและขอให้ดำเนินเรื่องติดต่อใหม่ ทราบต่อมาว่าคุณพอใจได้รับเงินคืนเต็มจำนวนแล้วดังนั้นหากพบปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ต้องติดต่อไปยังผู้ขาย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >