ฉบับที่ 218 คอนโดสร้างไม่เสร็จตามกำหนด

        คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ยิ่งทำเลดี ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ห้างสรรพสินค้า ใกล้โรงพยาบาล การเดินทางสะดวก ยิ่งเป็นที่ต้องการ อย่างไรก็ตามการตัดสินใจซื้อคอนโด ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นด้วย เช่น ระยะเวลาการก่อสร้าง เพราะว่าระหว่างที่คอนโดยังสร้างไม่เสร็จเราก็ต้องไปเช่าที่อื่นอยู่ มาดูกันว่าการซื้อคอนโดของผู้ร้องรายนี้จะมีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไร         คุณภูผา เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แถวๆ สยาม เริ่มแรกเช่าหออยู่ เมื่อทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็เล็งหาคอนโดใกล้ที่ทำงาน เพื่อไว้อยู่อาศัยจนมาพบกับคอนโดวิช ซิกเนเจอร์ บริเวณถนนเพชรบุรี ใกล้บีทีเอสราชเทวี ใกล้สยายที่ทำงานของเขา ของบริษัท สยามนุวัตร จำกัด คุณภูผาจึงตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัท ราคาเกือบ 6 ล้าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 โดยชำระเงินจำนวนเกือบ 4 แสนบาทในวันเดียวกัน โครงการนี้กำหนดสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ต่อมาบริษัทมีหนังสือมาถึงคุณภูผาขอขยายระยะเวลาเป็นวันที่ 30 เมษายน 2561 ตามข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ว่าสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 60 วัน แต่เมื่อถึงวันดังกล่าวบริษัทกลับเงียบไปไม่ติดต่อคุณภูผาเลย        ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 คุณภูผาจึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดจำนวน 1,200,000 บาท และเรียกเบี้ยปรับร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาที่ได้ทำไว้ ส่งไปยังบริษัททางไปรษณีย์ แต่บริษัทเพิกเฉย คุณภูผาพยายามติดต่อไปหลายครั้งพนักงานของบริษัทก็บ่ายเบี่ยงตลอด จนกระทั่งวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 บริษัทมีหนังสือแจ้งมายังคุณภูผาให้ไปตรวจรับห้องชุด ถ้าพ้นกำหนดแล้วยังไม่ได้ตรวจรับห้องชุด หรือไม่แจ้งเลื่อนวันตรวจห้องชุด บริษัทจะถือว่าคุณภูผายอมรับว่าห้องชุดอยู่ในสภาพเรียบร้อยและพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากบริษัท         หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวคุณภูผาได้ติดต่อไปยังบริษัทสอบถามถึงหนังสือดังกล่าว เพราะเขาได้บอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนไปแล้วทำไมถึงมีหนังสือให้ไปตรวจรับห้องชุดส่งมาอีก พนักงานของบริษัทก็บ่ายเบี่ยงโยนกันไปมา คุณภูผาก็ยังโทรเข้าไปถามอยู่หลายครั้ง เพราะอยากได้คำตอบที่แน่นอน จนครั้งสุดท้ายพนักงานของบริษัทแจ้งว่าบริษัทไม่มีการตอบรับใดๆ ให้ลูกค้าดำเนินการตามสมควรเอาเอง ด้วยความร้อนใจคอนโดก็ไม่ได้ เงินที่ส่งไปก็ไม่ได้คืน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่าคุณภูผาได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทเป็นผู้ผิดสัญญาคุณภูผามีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอเงินคืน และเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาจะซื้อจะขายที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงไว้ บริษัทต้องคืนเงินให้คุณภูผาพร้อมเบี้ยปรับทันที ถ้าบริษัทล่าช้าบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่คุณภูผาอีกด้วย         ส่วนหนังสือแจ้งนัดตรวจรับมอบหนังชุด แนะนำให้คุณภูผาทำหนังสือปฏิเสธการตรวจรับห้องชุดและยืนยันการบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนตามที่คุณภูผาเคยมีหนังสือไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง โดยส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ(ใบสีเหลือง) เพื่อยืนยันในความต้องการของตนเอง        ศูนย์พิทักษ์ฯ มีหนังสือถึงบริษัทเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและบริษัทในเดือนกันยายน 2561 บริษัทส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมและรับข้อเสนอของผู้ร้องที่บอกเลิกสัญญา ขอเงินที่จ่ายไปทั้งหมดประมาณ 1,200,000 บาทคืน และดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยขอให้ชำระภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 คุณภูผาใจดีไม่คิดเบี้ยปรับกรณีบริษัทผิดสัญญา และให้แจ้งกลับมายังมูลนิธิ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ไม่ได้แจ้งกลับมายังมูลนิธิ เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิโทรศัพท์สอบถามความคืบหน้าไปยังตัวแทนของบริษัท ตัวแทนแจ้งว่าบริษัทมีนโยบายที่จะคืนเงินให้แก่ผู้ร้อง โดยขอแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด และจะเริ่มชำระในเดือนมกราคม 2562 เจ้าหน้าที่มูลนิธิขอให้ตัวแทนบริษัทแจ้งมาเป็นหนังสือ แต่บริษัทก็ยังเพิกเฉย         ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ดำเนินคดีกับบริษัทฯ เรียกเงินที่ชำระไปทั้งหมดคืน พร้อมเบี้ยปรับกรณีผิดสัญญาร้อยละ 15 ต่อปี และดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ทนายความของศูนย์ได้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการที่บริษัทสร้างห้องชุดไม่เสร็จภายในกำหนด และผู้ซื้อขอเงินคืนแต่บริษัทบ่ายเบี่ยงไม่คืนเงินให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เสียหายจึงรวมกลุ่มกันฟ้องบริษัท สยามนุวัตร จำกัด เป็นจำเลย โดยขอให้ศาลดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกให้บริษัทคืนเงิน พร้อมเรียกเบี้ยปรับและดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเป็นกรณีความเสียหายเช่นเดียวกับคุณภูผา ศูนย์ฯ จึงแจ้งผู้ร้องให้ไปร่วมกลุ่มด้วย เพราะว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มผู้ร้องจะได้รับความคุ้มครองด้วยเนื่องจากเป็นความเสียหายลักษณะเดียวกัน ผู้ร้องไม่ต้องเสียเวลาไปดำเนินคดีแยกอีกคดีหนึ่ง ถ้าศาลไม่รับดำเนินคดีแบบกลุ่ม ผู้ร้องยังสามารถดำเนินคดีกับบริษัทได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมูลนิธิยินดีให้ความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 คอร์สลดหน้าท้อง ไม่พอใจก็ยกเลิกสัญญาได้

        คุณผู้หญิงที่มีรูปร่างอวบอัดนั้น เวลาไปเดินตามห้างสรรพสินค้า สองในสามรายคงต้องเคยถูกชักชวนให้ใช้บริการลดน้ำหนัก ลดหุ่น จากสถาบันความงามต่างๆ ที่มีเซลล์มาตั้งโต๊ะเปิดขายบริการ และถ้าหากวันนั้นเผลอไผลใจอ่อน นั่งฟังเซลล์ไปเรื่อยๆ ต้องมีได้จ่ายเงินรูดบัตรเครดิตซื้อบริการแน่ๆ อาจมารู้ตัวอีกทีว่าไม่คุ้มหรือไม่ชอบใจบริการในภายหลัง ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้นะคะ แต่ก็อาจยุ่งสักหน่อยเพราะฉะนั้นก่อนจะตัดสินใจควรคิดให้รอบคอบก่อน         คุณแนนเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้คำชักชวนจากพนักงานขายของบริษัทสปาแห่งหนึ่ง บอกว่าได้รับบัตรกำนัลส่วนลดราคาพิเศษ 10,000 บาท และเนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำโฆษณาผ่านสื่อบ่อย คุณแนนเลยมีความสนใจพิเศษ จึงยินดีให้พนักงานทำทดสอบที่เรียกว่า “ฃั่งน้ำหนักวัดไขมัน” โดยผลที่ออกมานั้น พนักงานระบุว่า คุณแนนมีไขมันหน้าท้องที่เป็นส่วนเกินถึง 11 กิโลกรัม ซึ่งหากจะต้องออกกำลังกายเพื่อลดไขมันตรงบริเวณนี้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวัน        “แต่ถ้าใช้เครื่องมือของทางบริษัท คุณจะไม่ต้องเหนื่อยเลย และเห็นผลอย่างชัดเจน สามารถลดได้ทั้งหน้าท้องและลดน้ำหนักทั้งตัว อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการเผาผลาญระยะยาวได้...”  พนักงานบรรยายสรรพคุณจนตอนนั้นคุณแนนฟังเพลินทีเดียว อีกทั้งคอร์สดังกล่าวที่พนักงานนำเสนอก็ราคาเพียง 31,000 บาท ใช้ได้ถึง 4 ครั้ง และยังได้ส่วนลดอีก 10,000 บาทด้วย “แต่ตอนนั้นยังใจแข็งค่ะ บอกว่ายังไม่ค่อยสนใจนัก น้องพนักงานเลยบอกจะให้ราคาพรีเซนเตอร์เหลือ 16,500 บาท “ราคานี้แทบไม่ได้อะไรเลยนะคะ ลดราคาให้เยอะมาก อยากให้คุณมีสุขภาพดีจริงๆ ผ่อนได้อีกด้วยนะคะ ถึง 10 เดือน เพราะฉะนั้นจ่ายแค่เดือนละ 1,650 บาทเท่านั้นเอง”         หลังจากราคาคอร์สลดลงมากขนาดนี้ อีกทั้งมีความสนใจอยู่บ้าง คุณแนนจึงตัดสินใจซื้อคอร์สดังกล่าว แต่เมื่อได้ไปใช้บริการในครั้งแรก กลับไม่รู้สึกว่าเป็นไปตามที่พนักงานขายกล่าวอ้าง “น้ำหนักก่อนหลังใช้บริการไม่ได้แตกต่างกัน” จึงคิดว่าเป็นบริการที่โฆษณาเกินจริงไปมาก จึงขอยกเลิกคอร์สที่เหลือและประสงค์ที่จะได้เงินในส่วนที่เหลือคืน จึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าควรทำอย่างไรดี    แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องนี้แก้ไขได้ตามแนวทางประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 ข้อ 3(8) (ข)        ...สัญญาของบัตรเครดิตจะต้องไม่ตัดสิทธิของผู้บริโภคที่จะขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายในระยะเวลา 45 วันนับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันถึงกำหนดส่งมอบสินค้าหรือบริการ...         สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำคือ 1.ทำหนังสือบอกเลิกสัญญากับทางบริษัทสปา พร้อมแจ้งขอเงินคืน และ 2.ทำหนังสือถึงทางบริษัทบัตรเครดิต จากนั้นก็รอการตัดสินใจจากบริษัทและเปิดเจรจา ต่อมาได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทยินดีคืนเงินให้แก่ผู้ร้อง เรื่องจึงยุติเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ไปต่างจังหวัดพักเดียวกลับมาตู้เย็นเน่า

        เรื่องนี้เป็นคราวโชคร้ายของผู้บริโภครายหนึ่งที่เช่าหอพักไว้สำหรับการอาศัยในกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อมีเหตุต้องไปทำงานต่างจังหวัด พอกลับมาหอพักปรากฏเจ้าของหอตัดไฟเสียอย่างนั้น ทำให้ตู้เย็นซึ่งจำเป็นต้องมีไฟฟ้าให้พลังงานไม่สามารถทำงานได้ ของในตู้จึงเน่าเสียเป็นเหตุให้ห้องเลอะเทอะเสียหาย มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น         คุณลัดดาเช่าห้องพักของ ส.อพาร์ตเม้นต์(ชื่อสมมติ) ซึ่งอยู่ในซอยเอกมัย กรุงเทพฯ ไว้ตั้งแต่มกราคม 2559 ในราคาเดือนละ 2,700 บาท โดยมีกำหนดชำระค่าห้องทุกวันที่ 6 ของเดือน จนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณลัดดาต้องไปทำงานต่างจังหวัดจึงได้ฝากเรื่องการชำระค่าห้อง ค่าน้ำไฟไว้กับคุณธีระ ซึ่งเป็นญาติให้ช่วยดูแล โดยคุณธีระก็จัดการและแจ้งให้คุณลัดดาทราบทุกครั้ง จนเมื่อเดือนธันวาคม ประมาณ 23.00 น. คุณลัดดากลับมาที่ห้องพัก ก็แทบช็อกนึกว่าเกิดเหตุฆาตกรรมให้ห้อง เพราะมีกลิ่นเน่าเหม็นโชยคละคลุ้ง เมื่อค้นหาต้นตอก็พบว่าเป็นน้ำเน่าที่ไหลนองออกมาจากตู้เย็น ที่เต็มไปด้วยของเน่าเสียเนื่องจากห้องพักถูกตัดไฟฟ้า ซึ่งผู้ที่ทำได้คงมีแต่เจ้าของหอพักเท่านั้น จึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา ว่าจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา        เมื่อสอบถามจากผู้บริโภคแล้วทราบว่า ทางผู้บริโภคมิได้ละเลยในเรื่องการชำระค่าบริการเช่าห้อง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้ทางเจ้าของหอพักจะต้องทำถึงขนาดตัดน้ำตัดไฟผู้เช่า ดังนั้นผู้เช่าจึงมีสิทธิได้รับการชดเชยในส่วนที่เกิดความเสียหาย ซึ่งคุณลัดดาแจ้งว่า ต้องการให้ชดเชยเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับค่าทำความสะอาด ต่อมาได้ทราบจากคุณลัดดาว่า ได้ไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าของอพาร์ตเม้นต์แล้ว โดยจะจ่ายให้ที่ 2,500 บาท ซึ่งคุณลัดดายอมรับได้ จึงเป็นอันยุติเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 แอปพลิเคชันจองเที่ยวบินพลาด

        ทุกวันนี้ต้องยกให้เทคโนโลยีเป็นเสมือนหัวใจของทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามารองรับไว้เกือบจะทั้งหมดแล้ว ยิ่งการจองตั๋วเครื่องบิน เราแทบไม่ต้องพูดคุยกับมนุษย์ คุณทำได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส  อย่างไรก็ตามเรื่องความผิดพลาดจากเทคโนโลยีนั้นหลายครั้งก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ         คุณแมงมุม ซึ่งรักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ มีแผนการเดินทางไปญี่ปุ่น ณ เมืองโอซาก้า ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตอนนั้นจึงเข้าแอปพลิเคชั่นของสายการบินนกสกู๊ต โดยกรอกข้อมูลต่างๆ ไปตามปกติ โดยระบุต้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางโอซาก้า  พร้อมชำระเงินจนเรียบร้อย แต่เมื่อได้ทบทวนรายการอีกครั้งกลับพบว่า เส้นทางขาไปแทนที่จะเป็น กรุงเทพ-โอซาก้า ได้สลับเป็น โอซาก้า-กรุงเทพ แทน ซึ่งแน่นอนว่าความผิดพลาดนี้คุณแมงมุมมั่นใจว่าเกิดจากแอปพลิเคชันมิได้เกิดจากตนเอง จึงโทรศัพท์ติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของสายการบินนกสกู๊ตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว         เมื่อติดต่อไปคอลเซนเตอร์กลับระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะแอปพลิเคชันไม่มีทางพลาด น่าจะเป็นคุณแมงมุมเองที่กรอกข้อมูลผิด         เจอคำตอบแบบนี้เข้าไป คุณแมงมุมก็ไม่ยอมจำนนโดยง่ายเพราะเธอมั่นใจว่า เธอทำทุกอย่างถูกต้อง จึงทดลองจองตั๋วผ่านแอปพลิเคชันอีกครั้ง ก็พบว่าเมื่อเมื่อกดเลือกต้นทางปลายทางในตอนแรกแล้ว ระหว่างที่ทำการเลือกวันเดินทางในขั้นตอนถัดมา ระบบได้สลับต้นทางปลายทางเองโดยอัตโนมัติ ความผิดพลาดนี้จึงควรเป็นสิ่งที่สายการบินต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภค คุณแมงมุมจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อรับเรื่องจากคุณแมงมุม ทางศูนย์ฯ ได้ติดต่อประสานงานกับบริษัทนกสกู๊ต เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง ซึ่งได้รับแจ้งในเวลาถัดมาจากคุณแมงมุมว่า ทางสายการบินได้ปรับแก้ตั๋วเดินทางให้ถูกต้องเป็นกรุงเทพ-โอซาก้า เรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เรื่องบ่นหลังเทศกาล คุณสามารถจัดการได้

               พ้นช่วงหยุดยาวมหาสงกรานต์กันไปแล้ว นับเป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางเพื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนกันเป็นจำนวนมหาศาล ระดับกรุงเทพฯ ร้างกันทีเดียว หลายคนโชคดีเดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัย ขณะที่อีกหลายคนต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ นานา กว่าจะถึงบ้านก็เล่นเอาเสียเวลาเสียความรู้สึกกันไปจนเกือบจะหมดสนุก         คนที่พบเจอปัญหาหลายคน ต่างก็มาบ่นและแชร์กันไปมากมายในสื่อโซเชียล ซึ่งความจริงแล้วอยากให้ทุกท่านที่พบเจอปัญหา ได้ทดลองใช้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ของ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผลของข้อมูลและการดำเนินการต่างๆ จะได้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขต่อไป หรือกับปัญหาเฉพาะหน้า ทางหน่วยงานรัฐจะได้มีบทบาทในการลงโทษคนผิดให้หลาบจำ         ดังนั้นในครั้งนี้ จะรวบรวมเสียงบ่นจากทางโซเชียลมีเดียมานำเสนอกันสักนิดนะครับ เป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอกันแทบทุกเทศกาล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกการร้องเรียนของผู้โดยสารมีความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการได้         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้บริการรถโดยสารประจำทางของบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฎว่ากว่ารถจะมารับที่สถานีก็ช้าไปเกือบชั่วโมงแล้ว แถมระหว่างทางยังจอดทิ้งผู้โดยสารที่วังเจ้าตาก ห่างจากปลายทางที่แม่สอดกว่า 80 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนรถซื้อตั๋วใหม่ อ้างไม่กล้าขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีทิ้งผู้โดยสารกลางทางแบบนี้ ทั้งที่ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารครบถ้วนแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฐานปล่อยผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้านผู้ประกอบการไม่พ้นผิดต้องมีความผิดด้วย ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากไม่ควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพ ไปจังหวัดลพบุรี โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฎว่าระหว่างทางพนักงานขับรถโดยสารกลับรับผู้โดยสารรายทางและรับมาเรื่อยๆ จนมีผู้โดยสารยืนบนรถตู้โดยสาร เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ในข้อหารับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ตามมาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งตัวเข้ารับการอบรม บันทึกประวัติความผิด และกำชับมิให้กระทำความผิดซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 31(4) ประกอบมาตรา 131 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่นั่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดขอนแก่น โดยใช้บริการรถทัวร์โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฏว่ามีการคิดราคาค่าโดยสารแพงกว่าปกติ เจอแบบนี้จะทำยังไงดี        ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.การขนส่งทางบก ในข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน ตามมาตรา 159  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท        เห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การร้องเรียนของผู้โดยสารทุกคนมีความหมาย นอกจากจะเป็นการป้องปรามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของผู้ประกอบการให้มีความรอบคอบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้เงียบเฉยกัน อย่าลืมว่าทุกเสียงทุกปัญหา สามารถเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง “ ร้องทุกหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง ” ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ของแปลกๆ ในขวดน้ำอัดลม

        แม้ว่าการผลิตสินค้าทุกวันนี้จะทันสมัยมาก แต่ความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีพบของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ปิดสนิท ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าเพิกเฉย หากประสบปัญหาควรร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตและถ้ามีผลกระทบต่อสุขภาพต่อจิตใจก็สามารถเรียกร้องสิทธิได้        คุณภูผา ชอบกินน้ำอัดลมรสโคล่าในขวดแก้วเอามากๆ  คือต้องดื่มทุกวัน จากร้านค้าเจ้าประจำจนคุ้นเคยกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าสามารถเดินไปเปิดตู้แช่แล้วหยิบมาดื่มได้เลย สิ่งที่ทำให้คุณภูผาถูกใจที่สุดคือ ตู้แช่ร้านนี้จะเย็นจัดจนน้ำโคล่าในขวดแก้วกลายเป็นวุ้น        วันหนึ่งในเดือนที่อากาศร้อนมากๆ คุณภูผาเดินไปหยิบน้ำอัดลมจากร้านค้าตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือ วันนั้นพอดูดวุ้นน้ำแข็งใกล้หมด สังเกตเห็นว่า มีสิ่งแปลกปลอมลักษณะแผ่นสีน้ำตาลแก่ๆ ดูแล้วคล้ายเป็นเศษใบตอง จึงสงสัยว่าสิ่งแปลกปลอมคืออะไรกันแน่ แล้วทำไมเข้าไปอยู่ในขวดน้ำอัดลมได้ ดื่มแล้วจะเป็นอันตรายไหม  จึงโทรศัพท์ไปแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์ที่แจ้งไว้ข้างขวด พนักงานของบริษัทรับเรื่องไว้และส่งเจ้าหน้าที่มารับตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบ พร้อมนำโค้ก 1 แพ็คมาเปลี่ยนให้แก่คุณภูผาเป็นการเยียวยาเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คุณภูผาต้องการ ที่อยากรู้คือ มันเข้าไปอยู่ได้อย่างไร แต่จนผ่านไป 3 เดือนคุณภูผาก็ยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ จากบริษัท จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และรับจะติดตามเรื่องให้        เมื่อติดต่อไปยังบริษัท พนักงานแจ้งว่าจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องคือคุณภูผาโดยเร็ว แต่เมื่อสอบถามคุณภูผาได้รับการแจ้งว่า ไม่มีการติดต่อใดๆ จากบริษัท ศูนย์ฯ จึงติดต่อประสานงานอีกครั้ง ต่อมาพนักงานของบริษัทติดต่อกลับมายังศูนย์พิทักษ์ว่า บริษัทได้ตรวจสอบสินค้าในรุ่นการผลิตเดียวกันกับที่พบสิ่งปนเปื้อนแล้ว ปรากฏว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ และตรวจสอบระบบการผลิตและทดสอบแล้วพบว่า ไม่น่าจะมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในขวดได้ ทั้งนี้ยินดีให้มูลนิธิเข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิต ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ร้องและบริษัท ซึ่งตัวแทนบริษัทอธิบายกระบวนการผลิตให้ผู้ร้องและมูลนิธิทราบ และให้ดูคลิปวีดีโอทดสอบระบบการผลิต ในกระบวนการเซ็นเซอร์ขณะล้างขวดแก้วที่พบปัญหา และแจ้งว่าที่ล่าช้าเนื่องจากพนักงานที่รับผิดชอบเกิดอุบัติเหตุ จึงหยุดงานเป็นเวลา 1 เดือน ทำให้ไม่ได้ติดต่อผู้ร้อง บริษัทได้กล่าวขออภัยผู้ร้อง และมอบหนังสือชี้แจงเหตุการณ์และการแก้ปัญหาไว้ที่มูลนิธิ ผู้ร้องไม่ได้ติดใจในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ มีข้อเสนอให้บริษัทชดเชยค่าเสียเวลาให้แก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 5,000 บาท ซึ่งบริษัทยินดีชดเชยค่าเสียเวลาให้ผู้ร้องตามที่เสนอ เรื่องจึงเป็นอันยุติ พบปัญหาสิ่งปนเปื้อนในอาหารจัดการเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย        2.หากรับประทานเข้าไปแล้ว ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน        3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน        4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น        5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อบอกเลิกสัญญาได้นะ

        รู้หรือไม่ว่า ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 นั้นได้กล่าวถึงเหตุที่ผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ        1.ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น        2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด        3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สีและขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา        4.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญา        และ/หรือ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตามกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์        กรณีตัวอย่างของคุณโดมินิค ที่ไปจองรถยนต์ BMW รุ่น 320d iconic ปี 2017 ในราคา 2,329,000 บาท กับบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด โดยพนักงานขายแจ้งให้วางเงินจองไว้จำนวน 50,000 บาท และส่วนที่เหลือให้ทำสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ โดยมีกำหนดส่งมอบรถยนต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561        ระหว่างเวลาก่อนส่งมอบนั้น มีงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งคุณโดมินิคลองสอบถามกับพนักงานขายว่า จะมีข้อเสนอพิเศษเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือตนเองจะสามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรุ่นที่สูงขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่า หากต้องการข้อเสนอพิเศษหรืออุปกรณ์เสริมคือกล้องติดรถยนต์ ต้องขยับมารับรถยนต์ในเดือนเมษายน คุณโดมินิคตอบตกลงแต่ขอให้ส่งมอบรถยนต์ก่อนสงกรานต์ พนักงานจึงขอให้นำเอกสารมามอบให้ อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าใกล้วันสงกรานต์ทางพนักงานไม่ติดต่อมา คุณโดมินิคจึงติดต่อกลับไปทำให้ทราบว่าบริษัทไฟแนนซ์หยุดยาวช่วงสงกรานต์แล้ว จนวันที่ 20 เมษายนทางพนักงานจึงติดต่อมาแจ้งว่า ไฟแนนซ์อนุมัติไม่เต็มวงเงิน คุณโดมินิคต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่ม 50,000 บาท แต่ไม่มีเอกสารจากทางไฟแนนซ์ยืนยัน บอกเพียงว่าเป็นการอนุมัติแบบพิเศษไม่มีเอกสาร ทำให้คุณโดมินิคไม่แน่ใจจึงบอกปฏิเสธการวางเงินดาวน์เพิ่มและขอยกเลิกสัญญา        เมื่อบอกเลิกสัญญาพนักงานขายได้แจ้งว่า ทางไฟแนนซ์ได้ยื่นเงื่อนไขใหม่ให้ แต่คุณโดมินิคก็ยังยืนยันขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองคืน ทำให้ผู้จัดการบริษัทติดต่อกับคุณโดมินิคโดยตรงเพื่อตกลงเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งคุณโดมินิคบอกซ้ำอีกครั้งว่าไม่ต้องการได้รถยนต์แล้ว  แต่ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2561 บริษัทกลับส่งหนังสือแจ้งการส่งมอบรถยนต์ที่ได้สั่งซื้อตามใบจองมาให้ คุณโดมินิคจึงทำหนังสือแจ้งขอคืนเงินมัดจำกลับไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆ จากทางบริษัท คุณโดมินิคจึงขอคำปรึกษาว่าควรทำอย่างไรต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหา        จากเหตุที่เกิดขึ้น คุณโดมินิคสามารถบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ และมีสิทธิได้รับการคืนเงินมัดจำ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย และท้ายที่สุดทางบริษัทตกลงคืนเงินจองให้กับผู้ร้องเรียนจำนวน 50,000 บาท แต่ขอหัก 3% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิตที่ทางบริษัทถูกเรียกเก็บ เหลือคืนให้ผู้ร้อง 48,500 บาท ซึ่งผู้ร้องตกลงจึงเป็นอันยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เลิกสัญญาอบรมคอร์สซื้อขายหุ้น

        การลงทุนในตลาดซื้อขายหุ้นหรือที่เรียกกันว่า เทรด เป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในสังคมปัจจุบันให้ความสนใจ เพราะถ้าลงทุนได้ดีก็ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้นหลายคนจึงสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งจากการทดลองด้วยตัวเอง หรือสมัครเข้าคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีการนำเสนอในหลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการเข้าคอร์สอบรมเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้รับประกันว่า ผู้เข้าอบรมจะสามารถเทรดได้เก่งอย่างที่หวัง และหลายครั้งการลงทุนเข้าคอร์สอบรมก็ถูกเรียกเก็บเงินในระดับที่สูงมากจนน่าตกใจ ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำสัญญาอบรมควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน        คุณมนันยา พบโฆษณาบนเฟซบุ๊คว่า มีงานสัมมนาฟรีของบริษัทหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่า บริษัทเอ็ม โดยมีหัวข้อที่ทำให้คุณมนันยาสนใจเข้าร่วมในงานสัมมนาดังกล่าว คือ “หุ้นเด็ดกำไร 10 เด้ง ด้วย OPTIONS” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ จึงไปเข้าร่วมอบรมฟรีในวันที่ระบุบนโฆษณา หลังจบงานสัมมนา ทางผู้จัดงานคือ บริษัทเอ็มมีการนำเสนอขายคอร์สอบรม โดยหากสมัครเป็นสมาชิกในราคาปีละ 79,000 บาท จะสามารถอบรมในวันรุ่งขึ้นของการสัมมนาฟรีในวันนั้นได้ ในราคาเพียง 750 บาท และพิเศษไปอีกสำหรับ 10 คนแรก จะได้ส่วนลดถึง 10,000 บาท จากราคา 79,000 จะเหลือเพียง 96,000 บาทเท่านั้น        คุณมนันยา ซึ่งยังอยากจะอบรมต่อในวันถัดไป เพราะเหมือนที่อบรมฟรีไปนั้นยังไม่ค่อยโดนเท่าไร จึงสอบถามกับพนักงานที่ขายคอร์สอบรม ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคา 69,000 บาทนี้ สามารถผ่อนชำระได้ 0% ในเวลา 10 เดือน การเป็นสมาชิกแบบรายปีจะทำให้ประหยัดเงินเมื่อต้องการเข้าร่วมคอร์สอบรมต่างๆ จากราคาปกติที่ 3,000 บาทต่อครั้ง จะเหลือเพียงราคาแค่ 750 บาทเท่านั้น คุณมนันยาในขณะนั้นกำลังสนใจราคาที่ลดพิเศษถึง 10,000 บาท จึงรีบสมัครสมาชิกรายปีทันทีเพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ใน 10 คนแรก โดยชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย        ต่อมาวันรุ่งขึ้นที่คุณมนันยาสามารถใช้สิทธิราคาพิเศษ 750 บาทได้นั้น คุณมนันยาได้มีเวลาคิดทบทวนจนรอบคอบแล้วพบว่า การลงทุนครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า จึงติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อบอกยกเลิกสัญญาอบรมและไม่ให้เรียกเก็บเงินจำนวน 69,000 บาท พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงบริษัทเอ็มเพื่อยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน อย่างไรก็ตามคุณมนันยาไม่มั่นใจว่า การทำเรื่องยกเลิกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ จึงปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการดังนี้                1.แนะนำให้คุณมนันนยาทำหนังสือถึงบริษัทบัตรเครดิตเพื่อแจ้งการเลิกสัญญาซื้อคอร์สอบรม โดยจะชำระเฉพาะในส่วนที่ได้ใช้จ่ายไปจริงคือ การอบรมในวันที่ได้สิทธิพิเศษ แต่ไม่ชำระในส่วนที่ยกเลิกสัญญา คือ 69,000 บาท                2.เนื่องจากในการโฆษณาเรื่องการอบรม ทางบริษัทเอ็มให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า เป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทเอ็ม ว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่                ต่อมาได้รับแจ้งจาก กลต.ว่า บริษัทเอ็มไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. หากบริษัทเอ็มมีการประกอบธุรกิจที่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า จะถือว่าผิดกฎหมาย และจะมีการนำชื่อของบริษัทลงในรายการ investor alert list ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ                3.ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องการเรียกเก็บเงินของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ทั้งที่มีจดหมายแจ้งบอกเรื่องยกเลิกสัญญาแล้ว                4.ประสานงานเรื่องการยกเลิกสัญญาและการขอเงินคืน ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอ็ม ในที่สุดสามารถช่วยผู้ร้องเรียนในการขอเงินคืนได้                การซื้อคอร์สอบรมใดๆ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มความรู้เรื่องการลงทุน ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุน ว่าอาจทั้งได้ผลดีและไม่ดี ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความคืบหน้า กรณีรถยนต์ใหม่มีปัญหา “มาสด้าสกายแอคทีฟ”

        จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วซึมของโช้ครถยนต์ทางด้านหลัง  ต่อมาเมื่อนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ช่างของศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนโช้คให้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้ร้องว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรถล็อตที่ผลิตในปี 2015 เท่านั้น เพราะซัพพลายเออร์มีปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเห็นว่าการที่อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้คุณภาพ อาจจะส่งผลต่อการขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และทำให้รถเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  ล็อตดังกล่าวหรือผู้อื่นที่เป็นผู้ร่วมใช้ถนนเกิดความเสียหาย จึงร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค และเร่งให้บริษัทมีมาตรการในการดูแลชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่อยู่ระหว่างร้องเรียน ทางผู้ร้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรถมาสด้า 2 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนใช้รถยนต์รุ่นนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มว่า มีผู้ซื้อรถ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  รายอื่นพบปัญหาเช่นเดียวกันกับตนเอง        จึงเกิดการรวมตัวและตั้งกลุ่ม “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นในเฟซบุ๊ค และยังพบว่ารถรุ่นดังกล่าวยังมีอาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. กลายเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น        หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยมีแกนนำคือผู้ร้องเรียนท่านแรก ได้พยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ  ผู้ร้อง ถูกบริษัทมาสด้า ฟ้องดำเนินคดี ในฐานความผิดละเมิด ใช้สิทธิเกินส่วน กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 84 ล้านบาท โดยอ้างว่าการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของผู้ร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทลดลงแนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงบริษัทมาสด้า ขอให้ถอนฟ้องผู้ร้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้อง แต่บริษัทเพิกเฉยและดำเนินคดีกับผู้ร้องต่อไป        ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการจัดหาทนายความ ในการทำคำให้การต่อสู้คดีให้แก่ผู้ร้อง ปัจจุบันศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของบริษัท      ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกค้ากว่า 80 ล้าน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง         จากกรณีที่ เมื่อต้นปี 2561 บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยทางบริษัทให้เหตุผลในการฟ้องว่าผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลงนั้น                        30 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี                นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้นเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง        และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         “เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นเองว่าเราทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับ” นายภัทรกรกล่าว         

อ่านเพิ่มเติม >