ฉบับที่ 223 แค่สระไดร์ ทำไมแพงจัง

สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงนำมาเสนอฝากเป็นเรื่องเตือนใจถึงผู้บริโภคท่านอื่น ดังนี้         คุณศรีสมรไปประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ช่วงเย็นหลังเลิกงานประชุมแล้ว คุณศรีสมรแวะเข้าไปใช้บริการสระไดร์จากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งที่เปิดบริการอยู่ใกล้ๆ โรงแรม เท่าที่สังเกตคือ ร้านเสริมสวยดังกล่าวไม่ได้ติดป้ายแสดงราคาค่าบริการเอาไว้ ส่วนคุณศรีสมรเองตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก จึงไม่ได้สอบถามค่าบริการก่อนแต่แรก คิดว่าแค่สระไดร์คงไม่เกิน 150 บาท เพราะเคยทำในราคานี้         หลังจากรับบริการเสริมสวยเป็นที่เรียบร้อย คุณศรีสมรก็ต้องตกใจ เมื่อเจ้าของร้านเรียกเก็บค่าบริการเป็นเงินจำนวน 340 บาท ซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก คุณศรีสมรจึงสอบถามเจ้าของร้านไปว่า ทำไมค่าบริการถึงแพงจัง ?  ซึ่งเจ้าของร้านได้ตอบกลับมาว่า “ ผมสั้น 200 บาท ผมยาว 340 บาท ค่ะ ”         คุณศรีสมรนำเรื่องมาปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ถึงปัญหาการคิดค่าบริการสระไดร์ของร้านเสริมสวยดังกล่าวว่าแพงเกินไปหรือไม่ ทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้แจ้งกับคุณศรีสมรไปว่า การที่ทางร้านไม่ติดป้ายแสดงราคานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น จะทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. หากผู้บริโภคเจอปัญหาเช่นนี้ ให้ถ่ายภาพสถานที่ร้านเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจถ่ายภาพจากระยะห่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงกัน        2. ร้องเรียนไปยัง กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 เพื่อขอให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค        - ควรเลือกใช้บริการร้านค้าที่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า/บริการที่ชัดเจน  หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สอบถามและตกลงค่าบริการกันก่อนใช้บริการ         สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สามารถขอคำแนะนำหรือร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคได้ที่ สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น  เลขที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.065 052 5005  หรือ อีเมล cakk2551@gmail.com หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/Cakk2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 กำลังเช็กเอ้าต์ ทำไมจะกลายเป็นเช็กอิน

        การเข้าใช้บริการแอปพลิเคชันทั้งหลาย เราควรมีความระมัดระวัง อย่ามือลั่น โดยเฉพาะหากต้องมีการจ่ายเงินเพราะหากมันไม่ใช่ กว่าที่จะทำเรื่องขอเงินกลับมันจะใช้เวลานานทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ  แต่บางทีเราไม่ได้ประมาทแต่อย่างใด เพียงแค่เลื่อนดูรายการบางอย่างกลับกลายเป็นเงินหายไปไม่เสียอย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไรดี         ขอนำเรื่องของคุณพรทวี ซึ่งกำลังมีความสุขอยู่ดีๆ กับการเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันที่ 13 และ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และขณะกำลังเช็กเอาต์ออกจากโรงแรม A ในวันที่ 14 คุณพรทวีได้เข้าไปดูรายการในแอปพลิเคชันของ agoda โดยกดดูราคาห้องพักที่โรงแรม A ขณะที่กดดูรายละเอียดของห้องพักหน้าถัดไป กลับกลายเป็นการยืนยันการจองห้องพักของโรงแรม A ในวันที่ 14 พฤษภาคม พร้อมกับยืนยันการชำระเงินโดยตัดบัตรเครดิตของคุณพรทวีจำนวน 2,476 บาท แบบรวดเร็ว โดยที่คุณพรทวีไม่ได้กดทำรายการจองห้องพักใดๆ เลย         ด้วยความตกใจจึงแจ้งให้พนักงานโรงแรมทราบทันที แต่ทางโรงแรมบอกว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ คุณพรทวีต้องติดต่อกับ agoda โดยตรง พอคุณพรทวีติดต่อไปที่ agoda แจ้งเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทางพนักงานของ agoda ได้ระบุว่ารับเรื่องร้องเรียนไว้แล้วและจะยกเลิกรายการจองดังกล่าวให้ พร้อมคืนเงินเข้าระบบบัตรเครดิต         “ตอนนั้นก็คิดว่า เรื่องคงเคลียร์แล้ว แต่ต่อมาได้ใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตว่า ค้างชำระและต้องชำระเงินภายในวันที่ 1 กรกฎาคม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.7 ไม่เข้าใจเลยว่า ทำไม agoda จึงไม่ทำเรื่องของตนให้เรียบร้อย ทั้งที่แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขทันทีที่เกิดเรื่องแล้ว”         จึงขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         การติดต่อกับ agoda ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันและแอปฯ มีการทำรายการผิดพลาดเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่คุณพรทวีควรทำเพิ่มคือ การติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าว และปฏิเสธการจ่ายเงินที่ตนเองไม่ได้ใช้บริการคือ การจองห้องพักของวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อให้ทางบัตรเครดิตกับ บ.agoda ได้ประสานงานเรื่องการคืนเงินกันให้เรียบร้อย ไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค เรื่องนี้อยู่ระหว่างเจรจาให้ทาง agoda ดูแลแก้ไขปัญหาให้กับคุณพรทวี   ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเห็นว่าน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้บริโภคท่านอื่นจึงนำมาเสนอไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อตั๋วรถทัวร์ล่วงหน้า แต่ว่าไม่มีที่นั่งในวันเดินทาง

        ปัญหาคลาสสิกของเรื่องการเดินทางช่วงวันหยุดยาวคือ การหารถโดยสารเพื่อเดินทาง เพราะคนมาก ความต้องการสูงแต่รถน้อย ดังนั้นหลายท่านจึงแก้ไขด้วยการจองตั๋วล่วงหน้า และถ้าได้ตั๋วมาไว้ในมือแล้ว ซึ่งมีพร้อมรายละเอียดทั้งเที่ยวรถและเลขที่นั่ง ย่อมจะมั่นใจว่าตนเองไม่พลาดการเดินทางแน่ แต่ระบบรถโดยสารประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้        คุณเนตรนภาและหลานสาวเป็นชาวจังหวัดแพร่ มีแผนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากเกรงว่าตั๋วโดยสารจะเต็มเพราะเป็นช่วงเทศกาล คุณเนตรนภาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วล่วงหน้าจากบริษัทรถทัวร์เชิดชัยทัวร์ จากท่ารถอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในราคาใบละ 450 บาท ซึ่งตั๋วได้ระบุเวลาเดินทางและเลขกำกับที่นั่งไว้ชัดเจน 1 เอ และ 1 บี โดยมีรอบเดินทางเวลา 20.50 น.         เมื่อถึงวันเดินทางก่อนเวลาแค่ 20 นาที คือ 20.30 น. คุณเนตรนภาได้รับแจ้งจากพนักงานขายตั๋วโดยสารทางโทรศัพท์ว่า รถทัวร์คันที่คุณเนตรนภาได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้นั้น เต็มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ขอให้คุณเนตรนภารีบเดินทางไปซื้อตั๋วโดยสารใหม่ที่สถานีขนส่งแพร่         เมื่อคุณเนตรนภาเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัด ก็ได้โต้เถียงกับพนักงานขายตั๋วว่า รถจะเต็มได้อย่างไร ในเมื่อตั๋วที่ซื้อมาระบุที่นั่งและเวลาไว้ชัดเจน ตนเองควรได้สิทธิในการนั่งเพราะตนเองจองและจ่ายเงินไปแล้ว  ไม่ควรต้องถูกปฏิเสธิการใช้บริการและไปเที่ยวหาซื้อตั๋วใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าจะได้ไหม  การที่บริษัททำแบบนี้ เอาเปรียบตนเองและหลานสาวมาก หากตนเองซื้อตั๋วใหม่ไม่ได้จะทำอย่างไร ที่พัก และอื่นๆ ที่จองไว้ก็จะพลาดทั้งหมด         คุณเนตรนภาพยายามใช้สิทธิอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ต้องจำใจรับเงินค่าโดยสารคืนกลับมา เพราะการบริษัทปล่อยให้มีคนอื่นโดยสารในที่ของตนเองไปแล้ว อย่างเลี่ยงไม่ได้  เมื่อพาหลานสาวเดินหาตั๋วใหม่ในคืนนั้น ก็เป็นอย่างที่คิดคือ เที่ยวรถที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นั้นเต็มหมดทุกเที่ยว คุณเนตรนภาและหลานสาวจึงต้องพลาดการเดินทางในคืนนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณเนตรนภาตัดสินใจร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ถึงการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทรถทัวร์ จากการซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าที่ระบุเลขที่นั่งชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง กลับไม่สามารถเดินทางได้เพราะที่นั่งเต็ม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีดังกล่าว ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังบริษัทเชิดชัยทัวร์ และขนส่งจังหวัดแพร่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่พบว่ามีการตอบกลับมาจากทั้งสองแห่ง         อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทางคุณเนตรนภาขอยุติเรื่องไปก่อน ดังนั้นหากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้         1. ถ่ายภาพตั๋วโดยสาร สถานที่จำหน่ายตั๋ว และสอบถามชื่อพนักงานจำหน่ายตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐาน        2. แจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจที่สะดวก กรณีเกิดความเสียหายจากการพลาดเที่ยวรถ เช่น ค่าปรับจากการผิดนัดติดต่องาน หรือเสียโอกาสจากการว่าจ้างงาน โดยท่านสามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์โดยสารได้        3. ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการรถทัวร์, ขนส่งประจำจังหวัด และ กรมการขนส่งทางบก รวมถึงส่งสำเนาหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขนมปังในห่อปิดสนิทมีเศษกระดาษปะปนอยู่

ขนมปังแผ่นเป็นที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ทั้งแบบกินเล่นเปล่าๆ หรือนำไปทำอาหารได้หลากหลาย เช่น แซนวิซ ขนมปังหน้าหมู ขนมปังปิ้ง พิซซ่า แล้ววันหนึ่งหากพบว่ามีบางอย่างไปปะปนอยู่ในเนื้อของขนมปัง ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไร         คุณภูผา ชอบรับประทานขนมปังแผ่นของบริษัทที่โฆษณาว่าสดใหม่ทุกเช้ามาก  โดยเฉพาะแบบโฮลวีต ซึ่งซื้อไว้ติดบ้านเพื่อรับประทานเป็นประจำ ก็ไม่เคยเกิดปัญหาอะไร อร่อยและคุณภาพดีตามคำโฆษณา จนวันหนึ่งขณะกำลังจะเตรียมทำแซนวิช คุณภูผาหยิบขนมปังจากถุงรับประทานเล่นไปก่อนสองแผ่น ขณะที่กำลังเคี้ยวๆ แผ่นที่สองอยู่นั้นรู้สึก มีอะไรแปลก ๆ อยู่ในปาก         เมื่อคายออกมาก็พบว่า มีเศษกระดาษอยู่ในขนมปัง เลยงงๆ ว่าทำไมถึงมีเศษกระดาษอยู่ในขนมปังได้ จึงถ่ายรูปเศษกระดาษไว้และแจ้งไปให้บริษัทผู้ผลิตทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขนมปังอย่างเช่นที่เขาพบอีก   เพราะตนเองเป็นลูกค้ามานาน ส่วนเบอร์โทรที่แจ้งก็โทรไปตามที่โฆษณาไว้บนฉลาก         บริษัทฯ แจ้งกับคุณภูผาว่า ให้คุณภูผาเก็บขนมปังไว้ก่อนและจะส่งพนักงานบริษัทให้ไปรับขนมปังมาตรวจเพื่อหาสิ่งปนเปื้อน ซึ่งคุณภูผารอหลายวันแล้ว ก็ไม่เห็นพนักงานบริษัทมาสักที ตนเองรู้สึกเป็นกังวลกลัวว่า บริษัทฯ จะคิดว่าเขามาหลอกบริษัทหรือเปล่า หรือคิดว่าเขาเป็นนักต้มตุ๋นหรือเปล่า จึงขอคำแนะนำมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องไม่ได้หลอกลวงหรือเป็นนักต้มตุ๋นอย่างที่กังวล จากนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะได้ติดต่อไปยังบริษัท เพื่อให้เร่งจัดการปัญหาของผู้ร้อง แต่คุณภูผาผู้ร้องนั้น ยังไม่ต้องการให้ศูนย์ฯ ติดต่อไปเพราะว่าอยากให้โอกาสบริษัททำงานก่อน ถ้าภายใน 1 สัปดาห์บริษัทยังไม่ติดต่อมาจะกลับมาให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือ        ต่อมาผู้ร้องได้แจ้งความคืบหน้าว่า ตนเองไปเที่ยวงานสหกรุ๊ปแฟร์ พบบูธของบริษัทขนมปังพอดี จึงเข้าไปแจ้งเรื่องกับพนักงานที่มาออกบูธ หลังจากนั้นก็มีคนของบริษัทติดต่อกลับมาและนัดหมายเพื่อรับขนมปังที่พบสิ่งปนเปื้อนไปตรวจ และขออภัยในปัญหาและความผิดพลาดของการสื่อสารที่เกิดขึ้น และได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาชดเชยให้ผู้ร้องเป็นจำนวน 2 – 3 เท่า ของราคาสินค้าที่ซื้อมา ผู้ร้องเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทรับปากและนำความผิดพลาดไปปรับปรุง คุณภูผาก็พอใจ และขอยุติเรื่องไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ระวังแปรงสีฟันไฟฟ้าที่ชิ้นส่วนหลุดขณะแปรง

        อันตรายจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น สามารถเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ยิ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพพึงต้องระวังให้มากขึ้น        เรื่องที่อาจเป็นอุทาหรณ์เรื่องนี้คือ เรื่องแปรงสีฟันไฟฟ้าจากผู้ผลิตดังยี่ห้อหนึ่ง คุณมีนาซึ่งเป็นคุณแม่ของน้องต้น ได้ร้องเรียนเข้ามาว่า ลูกชายได้ใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งขณะกำลังใช้งานนั้นชิ้นส่วนของแปรงหลุดในช่องปาก โชคดีที่ลูกชายอมไว้ทันไม่ได้กลืนลงท้องไป เธอสอบถามมาว่ากรณีนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะตนเองได้ติดต่อไปทางเพจของบริษัทผู้ผลิต ทางนั้นแจ้งว่าจะติดต่อกลับมาเท่านั้น แนวทางการแก้ไขปัญหา        หลังจากรับเรื่องจากคุณมีนาไม่นาน ได้รับการแจ้งเพิ่มเติมว่า บริษัทได้โทรศัพท์มาพูดคุยแสดงความเสียใจและขอโทษ แต่ยืนยันว่าสินค้าของตนได้มาตรฐาน หากคุณมีนาไม่กังวลเรื่องสินค้าทางบริษัทจะส่งแปรงสีฟันชุดใหม่ให้ ซึ่งขณะนั้นคุณมีนาตอบรับไป แต่ก็มานึกในภายหลังว่า แล้วหากเกิดปัญหาขึ้นอีก เกิดลูกชายแปรงแล้วชิ้นส่วนไปติดคอจะทำอย่างไรดี        ทางศูนย์ฯ จึงสอบถามความประสงค์ของคุณมีนา ว่าต้องการให้บริษัทดำเนินการเยียวยาแค่ไหน ต้องการให้ชดเชยเป็นสินค้าใหม่ ต้องการคำรับรองจากบริษัทเรื่องความปลอดภัยของสินค้า หรือต้องการการชดเชยอื่นๆ คุณมีนาบอกว่า จริงๆ ก็อยากให้ทางบริษัทจัดการเยียวยาให้มากกว่าการเปลี่ยนแปรงสีฟันชุดใหม่ให้หรือการแค่ทำหนังสือขอโทษ เพราะเห็นว่าเป็นบริษัทใหญ่ แต่ไม่ต้องการให้เรื่องราวยืดเยื้อ เพราะตนเองมีธุระต้องจัดการอีกมาก ดังนั้นเมื่อได้ทำหนังสือติดต่อไปกับทางบริษัทฯ ทราบในภายหลังว่า บริษัทได้เปลี่ยนแปรงสีฟันชุดใหม่ให้ทดแทนอันที่ชำรุด และส่งมอบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ให้เพิ่มเติมอีก 1 ชุด พร้อมหนังสือแสดงความเสียใจถึงผู้ร้องแล้ว  ซึ่งคุณมีนาก็ยินดียุติเรื่องเพียงแค่นี้   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เมื่อที่จอดรถคนพิการของคอนโดกลายเป็นของคนอื่น

        ชีวิตในคอนโดมิเนียม ก็ใช่ว่าจะสวยงามเหมือนในใบโฆษณาเสมอไป เพราะมันคือสังคมหมู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าได้เพื่อนบ้านดี นิติบุคคลที่บริหารจัดการได้ดี เรื่องจุกจิกกวนใจก็น้อย แต่ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้พักอาศัย แล้วคนกลางหรือนิติบุคคลเกิดมีแนวโน้มเข้าข้างคู่กรณี แบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้         คุณครูปรีชา หลังเกษียณก็ใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านบางนา คุณครูพักอาศัยคอนโดแห่งนี้มากว่า 14 ปี ไม่มีปัญหาอะไร ปกติคุณครูจะสามารถจอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการตามสิทธิที่ตนเองพึงได้ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะนิติบุคคลชุดใหม่ที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกับคอนโดได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการของคอนโดดังกล่าว (คุณครูปรีชาระบุว่า เหตุที่อาจารย์ท่านนี้ได้รับเลือกก็เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่ในคอนโดเป็นจำนวนมากเป็นผู้เลือกอาจารย์ท่านนี้เข้ามา) เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้น         ตัวคุณครูนั้นมิได้มีปัญหาอะไรกับอาจารย์ท่านดังกล่าว แต่เมื่อมีการทำสัญญาว่าจ้างหรือเปลี่ยนบริษัทจัดการบริหารงานคอนโดเป็นบริษัทใหม่ ปรากฏว่ามีคนแปลกหน้าซึ่งอ้างตัวว่า เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวปล่อยให้เกิดกรณีคนนอกซึ่งไม่ใช่คนพิการเข้ามาใช้ที่จอดรถคนพิการหลายครั้ง ทำให้คุณครูไม่สามารถจอดรถในที่เดิมได้ คุณครูจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อประธานกรรมการหรืออาจารย์ สมมติว่าชื่อ อาจารย์โอ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ถูกกีดกันแม้กระทั่งการขอพบหรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ        การกระทำที่เหมือนละเลยสิทธิของคุณครูปรีชาทำให้เกิดปัญหาวิวาทบ่อยครั้งระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล ผู้จัดการอาคาร กับคุณครู ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 นิติบุคคลได้ปล่อยให้เกิดเหตุ คือ คู่กรณีของคุณครูที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ขึ้นไปจนถึงห้องพักของคุณครู โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งคุณครูพยายามร้องเรียนเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขซ้ำยังถูกกระทำในลักษณะข่มขู่คุกคามจากฝ่ายนิติบุคคลในขณะที่คุณครูเข้าไปร้องเรียนที่ห้องทำงานของนิติฯ และยังพบก้นบุหรี่บนหลังคารถของตนเองที่จอดไว้ในที่จอดรถอีกหลายครั้ง จึงปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าพอจะมีแนวทางจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องของคุณครูต้องแบ่งเป็นสองกรณี คือกรณีที่อาจเข้าลักษณะข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับกรณีเรื่องปัญหาที่จอดรถ ซึ่งตามที่คุณครูร้องเรียนคือ นิติบุคคลไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทางศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ทางนิติบุคคลและผู้ร้องได้เจรจากันในเบื้องต้นเพื่อไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ ต่อมาก็ได้รับการบอกกล่าวจากคุณครูปรีชาว่า “ตอนนี้สามารถเข้าไปจอดรถในที่ของคนพิการได้แล้ว และไม่พบว่ามีคนที่ไม่ใช่คนพิการเข้ามาจอดอีก” คุณครูจึงของยุติเรื่องการร้องเรียนไว้ก่อน และขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำและประสานงานเรื่องการเจรจากับทางนิติบุคคลให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เปลี่ยนรัฐบาลนโยบายเปลี่ยน

ว่ากันว่า เปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่เมื่อใด นโยบายที่เคยมีไว้ก็ต้องเปลี่ยน โดยเฉพาะกระทรวงสายล่อฟ้ายุคศักดิ์สยาม ชิดชอบเป็นเจ้ากระทรวงนับตั้งแต่ศักดิ์สยามเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงคมนาคม ก็มีเรื่องให้ฮือฮาไม่เว้นวัน ตั้งแต่จะเพิ่มความเร็วบนถนนเป็น 120 ขึ้นราคาค่ารถแท็กซี่ ยกเลิกแท็กซี่โอเค ให้รถส่วนบุคคลมาวิ่งรับจ้างได้ รวมถึงประเด็นร้อนแรงที่สุด คือ ขยายเวลาอายุรถตู้เพิ่มขึ้น และ ไม่บังคับรถตู้ที่หมดอายุให้เปลี่ยนเป็นไมโครบัส ให้แล้วแต่ความสมัครใจแทน ทั้งที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้แล้วให้ต้องเปลี่ยนทั้งหมด อ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค ที่มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่า อุบัติเหตุบนถนนเกิดจากผู้ขับขี่บกพร่องและประมาท เมาแล้วขับ มากกว่าเกิดจากยานพาหนะ พร้อมทั้งปกป้องประโยชน์ของชาติในการปิดช่องมิให้บุคคลใดหรือกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนรถตู้ไปเป็นรถไมโครบัส ซึ่งหมายถึงทุนจีนนั่นเอง         ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในสังคมตอนนี้ ทั้งยังสร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มคนสองกลุ่ม หนึ่ง คือ กลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่เป็นผู้ถูกบังคับตามกฎหมาย และสอง คือ กลุ่มผู้บริโภคและนักวิชาการที่ผลักดันความไม่ปลอดภัยของรถตู้โดยสารมาตลอด         หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากที่รถตู้โดยสารเคยเริ่มให้บริการแค่ในกรุงเทพฯ ก็ขยายเป็นกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จนกระทั่งวิ่งทางไกลกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ปัญหาของรถตู้โดยสารเริ่มต้นที่สมัยนายโสภณ ซารัมย์ อดีตเจ้ากระทรวงคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย ได้ให้ความช่วยเหลือรถตู้เถื่อนให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นรถป้ายเหลือง หรือที่เรียกว่า ม.2 (ต) รวมถึงมีนโยบายเปลี่ยนรถบัสเดิมขนาด 46 ที่นั่ง 1 คัน เป็นรถตู้โดยสาร 3 คัน โดยจะเรียกว่า ม.2(จ) เพราะเมื่อมีรถตู้ในระบบแล้ว รถบัสเลยแข่งสู้ไม่ได้ ก่อนที่ คสช.จะเข้ามาจัดระเบียบรถตู้เถื่อนอีกรอบคราวนี้เรียกว่า ม.2(ช) และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การทำลายระบบขนส่งสาธารณะโดยสิ้นเชิงจนถึงปัจจุบัน         แน่นอนว่าเสียงในสังคมส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเจ้ากระทรวงคมนาคมผู้นี้ เพราะมีสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารและข้อมูลทางวิชาการมากมายที่ชัดเจนแล้วว่า รถตู้โดยสารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้โดยสารแต่ใช้สำหรับบรรทุกสิ่งของ อีกทั้งโครงสร้างของรถและอุปกรณ์ภายในรถไม่ได้มาตรฐานในการขนส่งผู้โดยสาร แต่นำมาใช้งานผิดประเภททำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะส่งผลทำให้มีความรุนแรงทั้งต่อการบาดเจ็บและส่งผลต่อการเสียชีวิต         นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาเรื่องการกำหนดอายุรถของ นายพิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ระบุว่า “สาเหตุที่ต้องกำหนดอายุรถ ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากคนขับ แต่เนื่องจากสภาพรถเก่ามีอายุมาก จึงส่งผลให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น หากประสิทธิภาพรถอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด ก็จะสามารถลดความรุนแรงนั้นได้”         อีกทั้งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 นั้นพบว่า รถตู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส 1 ชั้น ถึง 2 เท่า ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะนั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 2 เท่า เช่นเดียวกัน        สอดคล้องกับ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการการศึกษาความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ พบว่า การนำรถตู้มาทำเป็นรถโดยสารไม่เหมาะสม จากสถิติอุบัติเหตุเห็นชัดว่ารถตู้โดยสารสาธารณะเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถบัสถึง 5 เท่า ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีการนำรถตู้มาให้บริการสาธารณะ         จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลทางสถิติและข้อมูลทางวิชาการหลายส่วน ที่สนับสนุนแนวทางการกำหนดอายุรถตู้โดยสาร รวมถึงการต้องปรับเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัสเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยสภาพโครงสร้างของรถตู้จะมีความรุนแรงมากกว่ารถไมโครบัสมาก และนอกจากความรุนแรงที่ต่างกันแล้ว โอกาสและความน่าจะเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารย่อมมีมากกว่ารถไมโครบัส เพราะจำนวนและความถี่ในการเดินรถที่แตกต่างกันด้วย         ท้ายที่สุดถึงการปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมารัฐได้ปล่อยปละละเลย ขยายเวลาให้โอกาสกับกลุ่มผู้ประกอบการมาโดยตลอด จนกลายเป็นความเคยชิน ที่เมื่อขู่ประท้วงก็จะได้รับการยกเว้นหรือขยายเวลาต่อโอกาสเรื่อยมา ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล คสช. สู่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งโดยมีนักการเมืองเข้ามาคุมนโยบาย จึงไม่มีสิทธิทำให้ความปลอดภัยที่มีไว้แล้วถอยหลังลง นักการเมืองควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งโดยยึดหลักความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด         มนุษย์มีสิทธิผิดพลาดได้ แต่ความผิดพลาดต้องไม่นำไปสู่ความสูญเสีย อุบัติเหตุอาจจะห้ามให้มีไม่ได้ แต่เราป้องกันและลดความรุนแรงได้ ยานพาหนะที่ปลอดภัยนี่แหละที่จะช่วยลดความสูญเสียไม่ให้เกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สงสัยถูกเอาเปรียบเวนคืนกรมธรรม์ได้ไม่ครบ

        สัญญาประกันชีวิตนั้น มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่ผู้บริโภคจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจในข้อความที่ระบุให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้ ดังนั้นก่อนทำสัญญาควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ แต่หากว่ามีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจและรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบท่านก็สามารถร้องเรียนได้ อย่าปล่อยให้เรื่องต่างๆ นั้นผ่านไป        คุณพ่อน้องเอิงหรือเด็กชายวรา ทำสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยมี ด.ช.วรา เป็นผู้เอาประกัน ซึ่งตลอดสัญญา ต้องชำระเบี้ยประกันผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารทุกเดือน คุณพ่อก็ชำระเบี้ยมาจนถึงปีที่ 9 โดยไม่มีปัญหาอะไร และในงวดที่ 4-6 ของปีที่ 9 นี้เอง เงินในบัญชีนั้นถูกหักไปปกติ แต่กลับได้รับการแจ้งจากบริษัทประกันว่า ไม่สามารถหักเงินจากบัญชีได้ เป็นจำนวน 3 งวดแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งมาว่าได้กู้กรมธรรม์อัตโนมัติเพื่อนำมาชำระเบี้ยประกันของงวดที่ 4 แล้ว เป็นจำนวนเงิน 1,214 บาท         คุณพ่อจึงยื่นเรื่องขอเวนคืนกรมธรรม์ไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 แต่ได้รับแจ้งว่าเอกสารไม่ครบอนุมัติไม่ได้ ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม ผู้ร้องส่งเอกสารเพิ่มเติมจนครบถ้วนและวันที่ 31 ตุลาคม ก็ได้รับหนังสือตอบกลับแจ้งการเวนคืนกรมธรรม์ เป็นจำนวนเงิน 87,137 บาท โดยหนังสือระบุคำร้องของคุณพ่อว่า เป็นวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ทำให้การคำนวณมูลค่าการเวนคืนคาดเคลื่อน คือคำนวณถึงแค่วันที่ 11 ตุลาคม เท่านั้น คุณพ่อน้องเอิงไม่เห็นด้วย อีกทั้งบริษัทยังหักเบี้ยประกันอัตโนมัติไปอีก 1,262 บาท ทั้งๆ ที่มีการจ่ายเงินในงวดดังกล่าวผ่านบัญชีธนาคารไปแล้ว(11 ตุลาคม)  ผู้ร้องจึงคิดว่าตนเป็นผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว จึงขอคำปรึกษามา แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องนี้ผู้ร้องได้เข้าแจ้งร้องเรียนที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ด้วย และมีการนัดไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ร้องและบริษัทประกันภัย ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย ซึ่งทางบริษัทประกันภัย ได้ชี้แจงว่า “การคำนวณมูลค่าการเวนคืนกรมธรรม์นั้น บริษัทคิดตามระยะเวลาการครบรอบการคุ้มครอง คือวันที่ 11 ตุลาคม แม้ผู้ร้องจะส่งหนังสือขอเวนคืนในวันที่ 18 ตุลาคมก็ตาม เหตุนี้ไม่มีผลต่อการคำนวณเงินแต่อย่างใด    และหากคำนวณจนถึงวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งผู้ร้องได้ส่งเอกสารครบก็เกินรอบระยะเวลาผ่อนผัน 31 วัน ทำให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดนัดชำระค่างวดรอบถัดไป ส่วนเงินที่ถูกหักออกไปจากบัญชีอัตโนมัตินั้น เป็นยอดชำระของเดือนก่อนหน้า” เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ เรื่องจึงเป็นอันยุติ ผู้ร้องยอมรับข้อเสนอของบริษัท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะใช้ชื่อย่อ

        หลายครั้งที่เราเคยชินกับการทำบางสิ่งลงไปแล้ว และทำซ้ำโดยคิดไม่ถึงว่าจะเกิดความผิดพลาดในภายหลัง กรณีต่อไปนี้อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่เป็นอุทาหรณ์ว่า เราต้องใส่ใจต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเสมอ          คุณเรือง มีชื่อจริงและนามสกุลที่ค่อนข้างยาว โดยเฉพาะเมื่อต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นในการจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวผ่าน Trip.com คุณเรือง จึงใช้ชื่อย่อแค่ตัวอักษร R (คุณเรืองบอกว่า ทางเว็บไซต์ให้ใส่แค่ชื่อย่อได้) แต่เมื่อถึงวันเดินทางจริง ทางสายการบินแจ้งว่า ไม่สามารถให้คุณเรืองขึ้นเครื่องบินได้ แม้ว่าจะมีการจองตั๋วผ่านเว็บไซต์จริง           “ผมเคยไปกับสายการบินหนึ่งโดยใช้ชื่อย่อเช่นกัน ไม่มีปัญหาอะไรเลย และหลักฐานยืนยันก็คือบัตรประชาชนก็ใช้ยืนยันตัวตนได้แล้ว แต่ทางสายการบินนี้ยืนยันว่าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่า ทำไมลูกค้าไม่พิมพ์ข้อความจากหน้าจอที่ทำการจองตั๋วไว้ ระบุด้วยว่านโยบายแต่ละสายการบินไม่เหมือนกัน”               อย่างไรก็ตามคุณเรืองต้องเดินทางพร้อมเพื่อนจึงซื้อตั๋วใหม่ทั้งหมด แต่ได้ทำเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย “สายการบินคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับก็ได้ แต่ไม่ควรให้ผมซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยไม่รับภาระอะไรเลย” แนวทางแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งเรื่องต่อสายการบินและสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อขอทราบรายละเอียดเงื่อนไขและช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้กับคุณเรืองว่ากรณีดังกล่าว สายการบินไม่ยินยอมให้คุณเรืองคุณเครื่องนั้น ทำได้หรือไม่ และจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ทั้งหมดหรือไม่           และจากหนังสือตอบกลับของ กทพ. แจ้งว่า จากการตรวจสอบกับทาง Trip.com พบว่า “ทางระบบมีการแจ้งเตือนผู้ร้องขณะกรอกชื่อผู้โดยสารแล้วว่า ชื่อและนามสกุลต้องตรงกับเอกสารยืนยันตัวตน การที่ผู้ร้องถูกปฏิเสธการเดินทางเนื่องจากชื่อตามเอกสารยืนยันตัวตน(บัตรประชาชน) ไม่ตรงกับชื่อในเอกสารการเดินทาง(ตั๋วโดยสาร) จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีชื่อตามเอกสารยืนยันการเดินทาง จึงเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัทสายการบิน ทั้งนี้ตามที่ผู้ร้องอ้างว่า เคยใช้ชื่อย่อในการเดินทางได้นั้น พบว่าผู้ร้องไม่มีหลักฐานยืนยันกรณีดังกล่าวอ้าง และตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง แผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 การเข้าพื้นที่เขตการบินจะถูกจำกัดเฉพาะผู้โดยสารที่แท้จริงและจะต้องถูกตรวจสอบเอกสารสำหรับการเดินทางฉบับจริงและถูกต้อง พร้อมเอกสารที่ยืนยันตัวตนที่ออกโดยรัฐ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเอกสารยืนยันการเดินทางมีการระบุชื่อผู้โดยสารไม่ตรงกับชื่อในเอกสารยืนยันตัวตน บุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่เขตการบินได้”           ดังนั้นด้วยเงื่อนไขนี้ การถูกปฏิเสธการเดินทางของคุณเรืองทางสายการบินสามารถทำได้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมหรือการระบุให้ซื้อตั๋วใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 จองตั๋วเครื่องบินพลาด ระวังค่าธรรมเนียมแพง

        การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ก่อนจะคลิกเพื่อตกลงในเงื่อนไขใดๆ ควรพิจารณารายการให้ละเอียดรอบคอบสักนิด เพราะหากพลาดแล้ว และการแก้ไขก็อาจไม่ง่ายอีกทั้งยังต้องเสียเงินที่เรียกว่า ค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนสูงด้วย          เรื่องนี้ได้รับการร้องทุกข์จากคุณกรณ์ ซึ่งซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านระบบการจองตั๋ว และชำระเงินด้วยระบบ E-Banking หลังจากชำระเงินสำเร็จ คุณกรณ์จึงพบว่าตนเองซื้อตั๋วผิด จากที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอุดรธานี กลายเป็นซื้อตั๋วเดินทางจากอุดรธานีมาที่ปลายทางกรุงเทพฯ จึงรีบโทรศัพท์ติดต่อคอลเซนเตอร์ของทางสายการบินเพื่อขอแจ้งเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้ถูกต้อง คำตอบในครั้งแรกคือ ทำไม่ได้และทางพนักงานแนะนำให้แจ้งธนาคารที่คุณกรณ์ใช้ในการจ่ายเงิน เมื่อคุณกรณ์โทรไปธนาคารตามที่ได้รับคำแนะนำ พบว่ายอดเงินได้ถูกตัดแล้วและไม่สามารถนำเงินกลับได้ แนะนำว่าให้โทรไปยังส่วนที่เป็นบริการตัวกลางชำระเงิน ก็ได้คำตอบกลับมาว่า เงินถูกโอนไปที่สายการบินแล้ว เรียกคืนไม่ได้เช่นกัน แนะนำให้โทรกลับไปที่สายการบินอีกครั้ง           คราวนี้เมื่อโทรไปที่สายการบิน ทางพนักงานแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ แต่มีค่าธรรมเนียม คือ (1) 500 บาทต่อการอัพเกรดที่นั่ง (2) ราคาค่าโดยสารที่ปรับขึ้นไปจาก 1,500 เป็น 2,000 บาท คุณกรณ์ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ และ (3) ค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวเดินทาง 500 บาท คุณกรณ์รู้สึกไม่เห็นด้วย ที่ถูกคิดค่าธรรมเนียมสูงขนาดนี้ “ถึงผมจะซื้อตั๋วผิด แต่ก็รีบติดต่อขอเปลี่ยนแปลงทันที ควรทำได้โดยมีค่าปรับในการเปลี่ยนเที่ยวบินตามสมควร มิใช่ราคาแพงกว่าค่าตั๋ว”  แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกับทางสายการบินเพื่อขอทราบรายละเอียดการคิดค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวเดินทางและขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง และอีกทางหนึ่งได้แจ้งเรื่องต่อทางสำนักงานการบินพลเรือนเพื่อขอให้ช่วยบรรเทาปัญหาให้ผู้บริโภค ต่อมาได้รับการชี้แจงจากทางสำนักงานการบินพลเรือน(กพท.) ว่า “การสลับต้นทางกับปลายทางไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบการสำรองที่นั่งของสายการบิน เพราะทางบริษัทสายการบินดังกล่าวได้แสดงรายละเอียดเส้นทางและปลายทางไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อบัตรโดยสารที่จะต้องตรวจสอบรายละเอียดการเดินทางและข้อมูลผู้โดยสารให้ถูกต้อง และจะต้องศึกษาและตกลงยอมรับเงื่อนไขในการขนส่งก่อนการชำระเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินหลังจากชำระเงิน ผู้ร้องจะต้องชำระค่าธรรมเนียม โดยค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการขนส่งของบริษัทสายการบิน ได้รับความเห็นชอบจาก กพท.แล้ว บริษัทฯ จึงสามารถดำเนินการได้”

อ่านเพิ่มเติม >