ฉบับที่ 96 ผู้ป่วยจิตเวชก็มีหัวใจ

คุณสมโชค (นามสมมติ) มีอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังต้องใช้ยานอนหลับช่วยอยู่บ่อยครั้ง ต่อมาได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลชลประทาน ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ตรวจพบโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และจิตเวช ทำให้คุณสมโชคต้องมารับยาเพื่อนำไปรักษาอาการจากโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ผ่านมาคุณสมโชคสังเกตเห็นว่า ยาที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาจะมีการใช้ปากกาเมจิกขีดทำตำหนิไว้ที่ด้านหลังแผ่นยาทุกแผง ส่วนยาทุกชนิดที่บรรจุกล่องอยู่จะถูกนำออกจากกล่องหมด “ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาต้องทำอย่างนี้ ผมอยากเหมือนคนไข้ทั่วไปที่ไม่ถูกแกล้งเอายาออกจากกล่อง ผมคิดมากจนนอนไม่หลับ ยาเอาไม่อยู่ ทำให้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้น อยากให้มูลนิธิฯ ช่วยคุยกับโรงพยาบาลให้ด้วย เพราะผมอยากได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไข้ทั่วไปครับ” ผลการดำเนินการหลังได้รับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิได้ทำหนังสือสอบถามถึงการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งโรงพยาบาลได้มีหนังสือชี้แจงกรณียาที่บรรจุกล่อง ถูกนำออกจากล่อง ว่า 1. กรณีทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่จะมีการจ่ายยาลักษณะนี้เพราะแพทย์สั่งยาไม่ตรงตามขนาดบรรจุ เช่น บรรจุ 100 สั่ง 60 จะมียาเหลือ 40 ยาเช่นนี้ก็จะไม่มีกล่องบรรจุ 2. จากการเก็บข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา พบว่ายาที่บรรจุกล่อง เช่น 2 กล่อง การปิดฉลากล่องที่ 1 เพียงกล่องเดียวแล้วมัดรวมกับกล่องที่ 2 เมื่อผู้ป่วยใช้กล่องที่ 1 หมด ฉลากจะถูกทิ้งไปพร้อมกล่องทำให้ใช้ยากล่องต่อไปไม่ถูก ในทางกลับกัน ถ้าปิดฉลากครบทั้ง 2 กล่อง แม้จะทำการอธิบายรวมทั้งแจ้งเตือนเป็นเอกสารฉลากช่วยว่าให้รับประทานทีละกล่องแล้วต่อเนื่องกันไป ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทานยาทีเดียวทั้ง 2 กล่อง หรืออาจยุ่งยากขึ้นอีกกรณีสั่งยาไม่เต็มกล่องมีเศษ เป็น 1-2 แผง ทางที่ดีคือ เอายาออกจากล่องทั้งหมด ใส่ซองซิบพลาสติกแล้วปิดฉลากครั้งเดียวรวมทั้งหมด 3. การเอายาออกจากล่องหมายถึง การเอาฉลากออกทิ้งไปด้วย เพราะต้องการให้ผู้ป่วยสนใจและอ่านเนื้อหาที่สั้นที่สุด คือฉลากยาที่แปะหน้าซอง เพราะพบว่าผู้ป่วยอ่านเอกสารกำกับยาแล้วเกิดความสับสน หรือหวาดระแวงจนไม่ทานยาตามแผนการรักษา กรณีนี้พบเสมอในผู้ป่วยจิตเวช อย่างไรก็ดี วิธีปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 เป็นวิธีที่เพิ่มภาระงานให้กับห้องยา จึงยังไม่ได้ทำทั้งหมด แต่เราพยายามที่จะทำเพื่อลดความคลาดเคลื่อนทางยา โดยเลือกทำในกลุ่มเสี่ยง เช่นผู้ป่วยสูงอายุที่เราประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดูแลตนเองให้รับยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และผู้ป่วยด้านจิตเวชก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่อาจให้คำอธิบายโดยตรงได้ ด้วยมารยาทและจรรยาบรรณเราไม่ตอกย้ำประเด็นความบกพร่องของผู้ป่วย เราจะมุ่งเน้นให้คำอธิบายที่ชัดเจนไม่สับสน เท่านั้น ส่วนกรณีมีการใช้ปากกาเมจิกขีดตำหนิไว้ที่แผงยา กรณีนี้ ห้องยาขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น นอกจากนี้นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานได้กรุณาให้คำชี้แจงอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนี้ อย่างละเอียดแต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ป่วย จึงขอสรุปคำชี้แจงหลักๆ ว่า ทางแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง คืออายุรแพทย์ จิตแพทย์ แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับทราบปัญหาของผู้ป่วย และมีแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ผู้ป่วยรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว เพราะเคยพบว่าผู้ป่วยไปรับการรักษากับสถานพยาบาล 2 แห่งในวันเดียวกันทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับยามากเกินขนาดได้ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์และปลอดภัยกับตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการยืนยันจากผู้ร้องเรียนว่า ตนได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอย่างดีเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยา ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและใจของตัวเองดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงขอขอบพระคุณ นายแพทย์สมชาย สุขอารีย์ชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานและทีมงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างดีเยี่ยมด้วยความนับถืออย่างสูง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภท 8 ปี

ป้าจินตนา เป็นผู้เช่าบ้านหลังหนึ่งที่ถนนปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเปิดบ้านทำเป็นร้านขายอาหารตามสั่งมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2543 หรือร่วม 8 ปีเศษเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เปิดร้านอาหารมาก็แปลกใจตลอดว่าทำไมค่าน้ำถึงแพงจัง ใช้แค่ล้างจานชามอาจจะมากกว่าการใช้น้ำตามบ้านเรือนทั่วไปแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เมื่อเอาค่าน้ำของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วก็ได้แต่สงสัยมาตลอดว่าทำไมค่าน้ำของตัวเองถึงสูงมาก แต่ก็ทนจ่ายมาตลอด จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมาก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำที่คาดว่าน่าจะถูกลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝนไม่ต้องดูแลต้นไม้หน้าบ้านแต่ค่าน้ำกลับแพงกว่าเดิม ก้มดูรายละเอียดในใบแจ้งหนี้มันก็ไม่ได้บอกอะไรนอกจากจำนวนเงินค่าน้ำและ 373 ที่ระบุว่าเป็นประเภทการใช้น้ำ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะคำแนะนำที่อยู่ด้านหลังใบแจ้งหนี้ให้ความหมายสำหรับตัวเลขของประเภทผู้ใช้น้ำไว้ว่า 1= ที่อยู่อาศัย 2 = ราชการและธุรกิจขนาดเล็ก 3 = รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ 4 = ประเภทพิเศษ ป้าจินตนาจึงถือใบแจ้งหนี้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์รับเงินว่าเลข 373 นี่มันคืออะไร ได้รับคำตอบว่า เป็นการเรียกเก็บค่าน้ำประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ ป้าจินตนาก็ตกใจเพราะที่ทำอยู่มันก็แค่ร้านอาหารตามสั่งอย่างเก่งก็แค่ธุรกิจขนาดย่อมเท่านั้นแหละ “ฉันก็ถามเขาไปว่า ใครเป็นคนตัดสินใจแทนเจ้าของบ้านว่าจะให้บ้านนั้นบ้านนี้ไปใช้น้ำประเภทไหน เพราะฉันไม่เคยมาแจ้งเปลี่ยนมาก่อน เข้าใจมาตลอดว่าตัวเองใช้น้ำประเภทบ้านอยู่ แต่เชื่อมั้ยคะ คำตอบที่ได้รับยิ่งทำฉันฉุนเฉียวมากขึ้น เพราะเขาบอกว่า คนจดมาตรน้ำเป็นคนจัดการ”  ป้าจินตนาเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง จึงขอเปลี่ยนประเภทน้ำใช้ไปเป็นธุรกิจขนาดเล็กตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ และขอเรียกร้องเงินค่าน้ำที่ได้จ่ายเกินไปกว่า 8 ปีคืน “ฉันเคยเข้าพบผู้จัดการแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผลเพราะบ่ายเบี่ยงไปมาบอกว่าไม่รู้จะทำยังไงได้ ไม่เคยเจอกรณีแบบนี้” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังรับเรื่องร้องเรียน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายส่งถึงผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการสำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน โดยมีข้อร้องเรียนอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้ชดใช้ค่าเสียหายหากตรวจสอบพบแล้วว่าเป็นความผิดพลาดของการประปาแม่ฮ่องสอน 2. ห้แก้ไขหรือชี้แจงรายละเอียดของตัวเลขผู้ใช้น้ำแต่ละประเภทที่ทำให้ผู้ใช้น้ำเกิดความสับสน ปรากฏว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกป้าจินตนาไปเจรจาโดยบอกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำให้โดยพลการนั้นรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ 3,000 บาทและขอให้ยุติเรื่อง ป้าจินตนาไม่ยินยอมเพราะเข้าใจว่าความเสียหายเกิดขึ้นมาตั้ง 8 ปีแล้วค่าเสียหายน่าจะมากกว่านี้ เมื่อไม่เห็นถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ จึงต้องทำจดหมายถามย้ำไปอีกรอบ ทีนี้ได้เรื่องครับ การประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ได้มีหนังสือชี้แจงถึงผลการดำเนินการตรวจสอบว่า สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอน จัดประเภทผู้ใช้น้ำให้แก่ป้าจินตนาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 (เดือนที่ป้าจินตนาทราบเรื่องและขอเปลี่ยนประเภทผู้ใช้น้ำเป็นประเภทธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งตามข้อเท็จจริงจะต้องเรียกเก็บในประเภทที่ 2 ธุรกิจขนาดเล็ก รหัส 243 ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำนักงานประปาแม่ฮ่องสอนได้เรียกเก็บเป็นประเภท 3 ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัส 373 เนื่องจากเข้าใจว่า เป็นสถานบริการเพราะมีเครื่องเสียงไว้บริการให้ลูกค้าได้ร้องเพลง สรุปว่าป้าจินตนาถูกเรียกเก็บค่าน้ำผิดประเภทไป 5 ปี ซึ่งในขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคกำลังพิจารณาคำนวณค่าน้ำประปาที่เก็บเกินเพื่อคืนให้กับป้าจินตนาอยู่ ส่วนเรื่องตัวเลขรหัสแสดงประเภทผู้ใช้น้ำที่ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนนั้น การประปาส่วนภูมิภาคได้ชี้แจงว่า ในด้านหน้าใบเสร็จจะเป็นเลขรหัสประเภทผู้ใช้น้ำแสดงไว้ 3 หลัก คือ หลักร้อย มีเลขรหัส 1 ถึง 4 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำว่าเป็นประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ รหัสนี้ใช้สำหรับการคิดค่าน้ำประปาในอัตราที่ต่างกัน หลักสิบ มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ประเภทผู้ใช้น้ำหลักเป็นการแสดงลักษณะการประกอบการของสถานที่ใช้น้ำ หลักหน่วย มีเลขรหัส 1 ถึง 9 หมายถึง ลำดับที่ในประเภทผู้ใช้น้ำย่อย ซึ่งแสดงรายละเอียดของลักษณะการใช้น้ำของสถานที่ประกอบการ ส่วนในด้านหลังใบเสร็จรับเงินนั้นจะบอกเฉพาะความหมายของเลขรหัสหลักร้อยว่าหมายถึงผู้ใช้น้ำประเภทใดเท่านั้น อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจึงมาถึงบางอ้อ นี่ถ้าการประปาภูมิภาคไม่ชี้แจง ไม่ยอมบอกความหมายของเลขรหัสให้ได้ทราบกันนี่ ผู้บริโภคก็คงงมจ่ายค่าน้ำไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางแบบป้าจินตนากันเป็นแถวล่ะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กล้องอัจฉริยะใช้ 6 เดือน ซ่อม 6 เดือน

กล้องถ่ายรูปที่ดีไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้เท่านั้น แต่คุณภาพบริการหลังการขายของผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตสินค้าก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2551 คุณจุฑามาศสาวน้อยผู้รักการถ่ายภาพ ได้ไปเดินหาซื้อกล้องถ่ายรูปที่แผนกขายกล้องของห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี แล้วมาปิ๊งกับกล้อง แกรนด์วิชชั่น รุ่น s.50z ที่คุณจุฑามาศเข้าใจว่าเป็นของบริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ(ไทยแลนด์) จำกัด ผ่านมาได้ 6 เดือน อยู่ดี ๆ ขาขั้วแบตเตอรี่ของกล้องเกิดหักขึ้นมาทำให้เปิดใช้เครื่องไม่ได้ จึงนำกล้องถ่ายรูปกลับไปที่แผนกขายกล้องที่ห้างบิ๊กซี ราชบุรี ด้วยความชีช้ำหวังจะให้เวิลด์ไวด์อิมเมจรับซ่อมกล้องให้ คุณจุฑามาศกลับมาบ้านพร้อมกับใบรับซ่อมที่ระบุข้อความที่ดูเหมือนจะเป็นข้อสัญญาว่า กรณีที่มีอะไหล่จะใช้เวลาซ่อมประมาณ 1 เดือน ส่วนในกรณีที่ไม่มีอะไหล่ ต้องรออะไหล่อาจใช้เวลานาน 3-4 เดือน คุณจุฑามาศเฝ้ารอสัญญาณผลการซ่อมตั้งแต่ต้นฝนจนเข้าต้นหนาวเดือนพฤศจิกายนกล้องสุดที่รักก็ยังไม่กลับมาเสียที จึงได้โทรติดต่อกลับไปที่บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจฯ จึงได้รับแจ้งข่าวดีว่าจะจัดส่งสินค้ามาทางไปรษณีย์ประมาณ 1 อาทิตย์ถึงจะได้รับ แต่ข่าวร้ายที่พ่วงตามมาคือ บริษัทแจ้งว่าความเสียหายของกล้องที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของเจ้าของกล้องเอง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพสินค้า ต้องเสียค่าซ่อมที่ประมาณ 1,000 บาท “นี่ถ้าดิฉันไม่โทรไปถามก็ไม่รู้ว่าจะได้กล้องคืนมาเมื่อไหร่ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้กล้องตามที่บอกเลย สอบถามศูนย์ซ่อมกล้องหลายแห่ง บอกว่าราคาซ่อมน่าจะอยู่ประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น ถ้ามีอะไหล่ก็เปลี่ยนได้เลย หรือดัดแปลงได้ไม่น่าใช้เวลานานขนาดนี้.... เบื่อทวงเสียความรู้สึก รอจนหง่อมแล้วค่ะ....แล้วยังจะต้องมาเสียค่าซ่อมขนาดนี้ด้วยเหรอคะ” ผลการช่วยเหลือของมูลนิธิฯหลังได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายสอบถามไปที่บริษัทเวิลด์ไวด์อิมเมจ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เพื่อติดตามกล้องให้กับคุณจุฑามาศ ซึ่งได้รับคำตอบจากทั้งสองบริษัทในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่การซ่อมกล้องล่าช้าใช้เวลานานมากเนื่องจาก บริษัท เวิลด์ไวด์อิมเมจ นั้นความจริงแล้วไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง เป็นแต่เพียงบริษัทที่ไปรับซื้อกล้องดิจิตอลจากผู้แทนจำหน่ายกล้องถ่ายรูปดิจิตอล เครื่องหมายการค้าต่างๆ อีกทีหนึ่ง แล้วนำมาฝากขายให้กับห้างบิ๊กซีทุกสาขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งกล้อง แกรนด์วิชชั่น ที่คุณจุฑามาศซื้อไปนั้นแกรนด์วิชชั่นซื้อมาจากบริษัท อัลฟ่าบิซ (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อสินค้าชำรุดก็เลยต้องส่งต่อกันเป็นทอดๆ ระยะเวลาการซ่อมจึงขึ้นกับตัวแทนจำหน่ายว่าจะสามารถซ่อมได้เอง มีฝ่ายซ่อม หรือมีอะไหล่ของสินค้ารุ่นนั้น ๆ อยู่หรือไม่ กล้องยี่ห้อที่มีลูกค้าซื้อเป็นจำนวนมากมักจะซ่อมได้เลย แต่บางยี่ห้อต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ หรือไม่ก็ต้องส่งสินค้ากลับไปยังบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นจึงทำให้ใช้ระยะเวลาในการส่งสินค้าซ่อมค่อนข้างนาน กรณีของคุณจุฑามาศเวิลด์ไวด์อิมเมจได้ส่งสินค้าให้ผู้แทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และได้รับสินค้าที่ซ่อมเสร็จคืนมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 และส่งต่อไปให้ห้างบิ๊กซี สาขาราชบุรี เมื่อ 13 ธันวาคม 2551 ท้ายสุดทั้งสองบริษัทได้กล่าวขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนคุณจุฑามาศได้รับกล้องคืนเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องเสียค่าซ่อมตามที่เคยถูกเรียกมา เฮ้อ รวมระยะเวลาที่กล้องเครื่องนี้ต้องบินไปเข้าอู่ร่วม 6 เดือนครับ สงสัยเขาจะส่งไปทางเรือ...ยังไงๆ ก็ช่วยปรับปรุงกันหน่อยครับเพื่อภาพพจน์ที่ดีของบริษัทจะได้ยั่งยืนตลอดไปนิรันดร์กาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 สิทธิของคนใช้โทรศัพท์

เคยเขียนแต่เรื่องที่มีคนมาร้องทุกข์ วันนี้เลยจะคุยเรื่องวีรกรรมของคนเขียนเองบ้าง ในฐานะคนทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ และก็เป็นคนหนึ่งที่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ นั่นคือโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังเบ่งบานสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลก ที่น่าตกใจ(หลังจากอ่านบทความการวิจัย) ว่าวัยรุ่นไทยใช้โทรศัพท์มากที่สุดติดอันดับต้นๆของโลกและค่าใช้โทรศัพท์ มากกว่ากินข้าวปลาอาหารบวกเสื้อผ้าเสียอีก อุแม่เจ้า..อะไรจะขนาดน้านนน... ไม่เชื่อก็ไม่ได้ในเมื่อมีข้อมูลว่าประชากรในประไทยมีประมาณ 73 ล้านคน แต่พี่ท่าน..(ผู้ให้บริการ) ขายเบอร์โทรเคลื่อนที่ไปแล้วกว่า 75 ล้านเลขหมาย นั่นหมายความว่าต้องมีคนใช้โทรมากกว่า 1 เลขหมายอยู่หลายคนอย่างแน่นอน (อู้ฮู.....เงินมหาศาลเลย...) แต่ปัญหาของผู้บริโภคคือเรามีหน้าที่ แค่ซื้อ แค่ใช้และจ่ายเงินเท่านั้น โดยไม่ได้คิดถึงสิทธิหน้าที่ ที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคเรามีหน้าที่เป็นผู้ยอมสยบแต่โดยดี ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้จ่ายเงินเข้าระบบธุรกิจการสื่อสาร (ถ้าไม่มีเราเขาก็ไม่รวย) โดยไร้ซึ่งปากเสียง เช่น เขาบอกให้เราเสียเงินค่าต่อสัญญาณกรณีที่ผิดนัดชำระค่าโทรศัพท์ 107 บาท เราก็จ่าย เขากำหนดว่าเติมเงิน 200 บาท ใช้งานได้แค่ 30 วัน เติม 50 บาทใช้แค่ 3 วัน เราก็ยอม ช่างเป็นผู้จ่ายที่ว่าง่ายอย่างเหลือเชื่อ ใช้ๆ ไปก็มีบริการอื่นๆ ที่เราไม่ต้องการเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์เรา แถมบอกอีกว่า ถ้าไม่เอาให้โทรกลับ (โทรกลับใครเสียเงิน)ไม่โทร ครบ 15 วันเขาก็คิดสตางค์เรา เราก็ยอม เคยถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอม หลายคนบอกว่าเราอยากใช้บริการเขาเราก็ต้องยอมซิ.. เมื่อผู้บริโภคว่าง่ายขนาดนั้น การโฆษณา โปรโมชั่นหลากหลาย สารพัดรูปแบบอกมาเป็นชุดๆ เลย เราก็ซื้อ เอาเปรียบหรือเปล่าเราไม่เคยรู้ รู้แต่เขาว่าดีเราก็ซื้อแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ให้บริการ แต่ในฐานะคนจ่ายสตางค์ อย่างผู้เขียน ที่คิดเสมอว่าผู้จ่ายสตางค์(คือพระเจ้า คือผู้มีพระคุณของผู้ให้บริการ) มันต้องมีสิทธิบ้างซิ! เพราะจริงๆ มันก็เป็นสิทธิ และเมื่อเป็นสิทธิเราก็ต้องใช้ ดังนั้นกระบวนการร้องเรียนจึงเกิดขึ้น เริ่มที่ ร้องเรียนเรื่องการยกเลิกการใช้บริการยาก เหตุผลคือเวลาเราซื้อโทรศัพท์ ซื้อเลขหมาย(ซิม)จ่ายสตางค์ค่าใช้บริการ จ่ายที่ไหนก็ได้ จ่ายที่ศูนย์/ร้านสะดวกซื้อ/ไปรษณีย์ และอื่นๆอีกมากมาย เรียกว่าเรื่องจ่ายสตางค์ให้เขามันง่ายจริงๆ แต่เวลาเราจะเลิกใช้บริการมันก็ยากจริงๆ เหมือนไอ้ร้านต่างๆ ที่เราจ่ายสตางค์สะดวกน่ะ ยกเลิกการใช้บริการไม่ได้ เพราะเขาจะสร้างข้อแม้ไว้ให้เรายกเลิกได้ยากมาก คือหากอยู่สมุทรสงครามก็ต้องมายกเลิกที่ เซ็นทรัลพระราม 2 อยู่ลำปางต้องไปยกเลิกเชียงใหม่ เป็นต้น สรุปคือการยกเลิกการใช้บริการมีแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เห็นไหม ช่องจ่ายสตางค์ ง่ายแสนง่าย ยกเลิกการจ่ายสตางค์ ยากแสนยากแค่ไหน ผู้เขียนร้องเรียนบริษัท ดีแทกซ์ ปรากฏว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการของบริษัทนี้สามารถยกเลิกบริการได้แค่เพียงโทรศัพท์บอกก็สามารถยกเลิกได้เลย หรือการยัดเยียดบริการ(โฆษณาผ่านมือถือ) ทั้งๆ ที่เราไม่ต้องการ เช่น ส่งข่าวดูดวง ทายผลฟุตบอล คลิปท์ดารา ฯลฯ ที่สำคัญคือการที่ ส่งข่าวมาให้อ่าน แล้วบอกว่า ให้อ่านฟรี 15 วัน หากไม่ต้องการให้โทรกลับ ทำไมไม่เขียนว่าเอาให้โทรกลับ เพราะโทรกลับเราก็เสียสตางค์ พอไม่โทรกลับก็ถือโอกาสเก็บเงินรายเดือนเราเลย ผู้เขียนก็ร้องเรียนว่าไม่ต้องการรับการยัดเยียดบริการ ปรากฏว่า ปัจจุบันไม่มีข้อความยัดเยียดบริการส่งมาให้อีกเลย (3 เดือนแล้ว) หรือแม้แต่กรณีเราชำระค่าบริการไม่ตรงเวลา แล้วถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท (ไม่รวมค่ารักษาเลขหมาย) ผู้เขียนได้อ่านประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) เขียนไว้ในมาตรฐานสัญญา สรุปว่าไม่น่าจะเรียกเก็บกรณีนี้ได้ เมื่อรู้ก็เลยลองร้องทุกข์ไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.สายด่วน 1200) ผลสรุปมติ กทช.ตัดสินมาว่าให้คืนเงิน 107 บาท ให้ผู้เขียน และห้ามเก็บเงินค่าต่อสัญญาณ 107 บาท กับผู้อื่นอีกต่อไป (บริษัทกำลังดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสินอยู่) และมีอีกหลายเรื่องที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิและถูกเอาเปรียบอยู่จริงๆ เห็นไหมว่าเรามีสิทธิแต่ยังใช้มันไม่เป็น จึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง และเชิญชวนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง อย่าสยบยอมให้ใครมาละเมิดสิทธิและเอาเปรียบเราลุกขึ้นมาเถอะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

อ่านเพิ่มเติม >