ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 ซื้อประกันเดินทางแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

        ปัญหาเคลมประกันไม่ได้ ประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำประกันภัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในครั้งนี้คือเรื่องของคุณพีพีกับการประกันการเดินทาง         คุณพีพีได้ซื้อกรมธรรม์การเดินทางภายในประเทศจาก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในระยะ 4 วัน ไปกลับจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 คุณพีพีนั้นไม่เคยซื้อประกันการเดินทางมาก่อน แต่ก็ได้ลองศึกษาจากเว็บไซต์ รวมถึงพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่บริษัทแนะนำแล้วยังโทรไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งยังจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ว่าหากบาดเจ็บกรณีต่างๆ ประกันจะได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบยืนยันว่า หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว         การประกันคือการคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นคงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย แล้วเข้าสู่การเคลมประกัน  การซื้อของคุณพีพีครั้งนี้คือ เพื่อความสบายใจ แต่...วันที่ 1 ธ.ค. 2566 คุณพีพีก็เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มจากการที่รถตกหลุมถนนทำให้คุณพีพีมีแผลถลอกที่เข่าซ้าย – ขวา ข้อศอกทั้งสองข้าง แผลถลอกใหญ่ที่หน้าแข้ง ฝ่ามือซ้ายและขวา ฟันหน้าบนบิ่น 1 ซี่และหัก 1 ซี่ และอีกหลายอาการเจ็บปวด คุณพีพีจ่ายค่ารักษาไปทั้งหมด 23,917 บาท แต่บริษัทประกันกลับพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท เท่านั้น โดยบริษัทประกันได้อ้างว่าคุ้มครองการบาดเจ็บภายในระยะวันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 เท่านั้น ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บที่ต่อเนื่องแม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ประกันคุ้มครองก็ตาม         คุณพีพีไม่ยอมรับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ ของบริษัทก็ใช้ถ้อยความให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจว่าครอบคลุมจนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงเข้ามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพี่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตนเอง  แนวทางการไขแก้ปัญหา         หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มูลนิธิฯ ได้ประสานกับคุณพีพีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประสานส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยคุณพีพีได้เข้าร้องเรียนที่ คปภ.ทำให้บริษัทประกันภัยได้เข้ามาชี้แจงข้อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ คปภ. บริษัทยืนยันว่ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องแต่เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสารภายในของบริษัทเอง จึงพิจารณาให้ “สินไหมกรุณา” ให้กับคุณพีพีจากเดิมที่บริษัทพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท คุณพีพีจึงได้รับค่าสินไหมกรุณาแล้วจำนวน 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิจารณารายละเอียดของข้อความที่ทำให้ตีความได้กว้างและบริษัทนำมาใช้อ้างว่าไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนนั้น คุณพีพีได้ส่งร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย คปภ. โดยเฉพาะเพื่อให้พิจารณาว่ากรณีของคุณพีพีเป็นการตีความที่ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ ของ คปภ. กำลังดำเนินการ         “ผลการพิจารณาของ คป. สำคัญมาก ทำให้สังคมรู้ว่าข้อความอะไรในกรมธรรม์ที่คลุมเครือแล้วจะถูกเอาเปรียบได้ แล้วบริษัทจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ซึ่งผมจะติดตามต่อไป เพราะกรมธรรม์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อแบบผมครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 โดนบ้านน็อคดาวน์ น็อค

        ปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นกับทาสแมว คุณดุจดาว หญิงสาวผู้รักน้องแมวเหมือนลูก ไม่ใช่รักธรรมดาด้วยนะ รักแบบสุดจิตสุดใจเพราะเลี้ยงแมวจรจัดไว้กว่า 10 ตัว         เมื่อปริมาณเหมียวน้อยมากจึงจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพื่อเหล่านายท่าน ซึ่งคุณดุจดาวเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับบ้านน็อคดาวน์สำหรับน้องแมว เธอเลยมีความคิดอยากสร้างบ้านน็อคดาวน์ให้ลูกๆ เธอติดต่อไปที่เพจของบริษัท xxx ซึ่งประกาศรับสร้างบ้านทรงนอร์ดิก ที่ดูแล้วสวยงาม แถม ความน่าเชื่อถือก็มีด้วยนะ เพราะมีดาราชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็เลยตัดสินใจว่าจ้างบริษัทฯ นี้ทำบ้านน็อคดาวน์ให้แมวของเธอ ซึ่งตกลงการจ้างทำที่ราคา 1.6 แสนบาทเศษ แบ่งจ่าย 2 งวด กำหนดเวลา 20 วัน บ้านเสร็จ         ขณะที่สบายใจแล้วว่าจะมีที่ทางให้เหมียวๆ เธอกลับต้องโทรศัพท์มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  บอกว่า เจอน็อค เข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจเหล่าพรีเซนเตอร์ของเพจแท้ๆ  คือเธอจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัทฯ ไปก่อน เพราะบริษัทอ้างว่าจะส่งมอบสัญญาให้ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว เรื่องนี้เลยกลายเป็นสัญญาปากเปล่านะสิ         เมื่อไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร คุณดุจดาวจึงเสียเปรียบ เพราะนับตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2566 ที่เริ่มก่อสร้าง... จวบจนถึงปัจจุบัน ( 2567 ) บ้านน็อคดาวน์ของแมวก็ไม่เสร็จเสียที แถมของเดิมที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ (แบบยังไม่เสร็จ) ก็มีปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน แล้วตอนนี้ผู้รับเหมาก็หายตัวไปแล้วด้วยก็เลยมาขอคำปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมา หรือให้ผู้รับเหมากลับมาสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังปัญหาจบ จึงให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อ ดังนี้        1. หาก ”ผู้ร้อง”ไม่ต้องการให้ทำจดหมายบอกยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น พร้อมส่งสำเนาถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยติดตามเรื่องและสามารถใช้เป็นหลักฐานทางด้านคดีด้วย        2. ใน จดหมาย “ให้ ผู้ร้อง” กำหนดเงื่อนเวลากำกับให้ชัดเจน เพราะหากเลยกำหนด แต่ผู้รับเหมาไม่ยอมคืนเงิน ขั้นตอนต่อไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเชิญ 2 ฝ่าย มาไกล่เกลี่ย        3. หากกระบวนการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค https://civil.coj.go.th/.../category/detail/id/22/iid/334689                                                                                     เบื้องต้นผู้ร้องจะดำเนินการตามข้อแนะนำ หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งก็ได้ โดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา         ในทางแพ่ง: กรณีดังกล่าวเป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะต้องส่งมอบงานให้เสร็จ ตามที่ตกลงกัน การที่ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ จึงถือเป็นการผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา เช่น เรียกเงินค่าจ้างคืน ค่าปรับหรือเบี้ยปรับส่งมอบงานล่าช้า ค่าเสียหายกรณีชำรุดบกพร่อง เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ว่าจ้างจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)         ในทางอาญา : เมื่อมีการผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายเกิดขึ้น มักมีปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นมีจะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณา “เจตนาขณะทำสัญญา” ของคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญาว่า ขณะที่ทำสัญญามีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ให้ไว้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าขณะทำสัญญาคู่กรณีฝ่ายที่ผิดสัญญา ไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตามสัญญาเลยตั้งแต่แรก เป็นการทำสัญญาเพื่อหวังผลประโยชน์จากคู่กรณีแบบนี้จึงถือ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่ถ้าขณะทำสัญญา คู่กรณีฝ่ายที่ทำผิดสัญญานั้น มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญา แต่ภายหลังแล้วไม่ได้ปฏิบัติตาม เป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง หากจะดำเนินคดีในทางอาญาจึงจะต้องมีหลักฐานชี้ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่กรณีมีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่แรกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 เจอสิ่งแปลกปลอมในกระปุก “ผิวส้ม” อบแห้ง

        “ผิวส้ม” อบแห้ง ขนมย้อนวัยยุค 90 ยอดฮิต ที่คุณกล้าชื่นชอบเป็นอย่างมากแต่มันกับทำให้คุณกล้าต้องเซ็ง! เพราะดันเจออะไรก็ไม่รู้แปลกๆ ปนมาด้วยนะสิ         คุณกล้าได้มาร้องเรียนและเล่าเรื่องราวให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ไปซื้อ “ผิวส้ม แมนดาริน” มาจากร้านขายยาแถวบ้าน 1 กระปุก ราคา 25 บาท หลังจากได้มาเขาและครอบครัวก็แบ่งกันรับประทานจนผิวส้มที่อยู่ในกระปุกเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ 2 ชิ้นสุดท้าย คุณกล้าบอกว่าใน 2 ชิ้น สุดท้ายนี้ละที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องยี้! เพราะได้เจอกับ “ก้นบุหรี่” ในกระปุกแถมเหมือนก้นบุหรี่จะได้ผ่านการใช้งานมาแล้วซะด้วย จึงทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากได้รับประทานไปแล้ว อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนและโรคติดต่ออยู่ด้วยหรือไม่ แค่นึกก็ขนลุกขนพอง แล้วถ้ามีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ จึงอยากได้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี?              แนวทางการแก้ไขปัญหา                    ก่อนหน้าจะเข้าปรึกษากับมูลนิธิฯ คุณกล้าก็ได้ติดต่อไปที่ทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า “ผิวส้ม อบแห้ง” แล้วแต่ยังเจรจากันไม่ได้ข้อตกลงอันเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งทางคุณกล้าเองนั้นต้องการขอเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นมูลค่า 25,000 บาท         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพื่อช่วยเจรจากับทางบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็ได้แจ้งว่า “ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น และให้เหตุผลว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ทางบริษัทสั่งตัวผิวส้มเข้ามาแล้วดำเนินการบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่สามารถควบคุมการบรรจุหีบห่อได้” และจะชดเชยผู้เสียหายเป็นขนมชุดใหญ่ รวมถึงคืนเงินค่าสินค้าและยกเลิกการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ถือว่าผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบอยู่พอสมควร         อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องคือคุณกล้าได้ปฏิเสธการชดเชยดังกล่าวพร้อมกับได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบผู้จำหน่ายขนมดังกล่าวอีกด้วย สำหรับคุณกล้าหากประสงค์ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เช่นกัน         ฝากถึงผู้บริโภคหากพบเจอปัญหาลักษณะเดียวกับคุณกล้า ควรเตรียมเอกสารดังนี้         1. ถ่ายรูปฉลากและตัวสินค้า รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่พบ พร้อมเก็บหลักฐานตัวบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน         2. นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐาน         3.ติดต่อบริษัทเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย         4.ติดต่อทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแล ด้านอาหารได้แก่ อย. หรือในต่างจังหวัด ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 จ่ายล่วงหน้าซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ร้านอาหาร หากร้านเจ๊ง ไปแจ้งความขอเงินคืนได้

        กลยุทธ์การตลาดของร้านอาหารมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเสนอขายกิ๊ฟวอชเชอร์ให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าซื้อโปรโมชั่นที่เชียร์ว่าคุ้มสุดๆ ทำให้ลูกค้าหลายคนตัดสินใจซื้อเพราะคำนวณแล้วว่าคุ้มจริง โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงว่าหากจู่ๆ ร้านเจ๊ง แล้วเงินที่เหลือยังจะได้คืนไหม         คุณแพรวก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงในข้อนี้ไว้ก่อนเลย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2566 เธอไปกินบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นที่ร้านชื่อดังแห่งหนึ่งสาขาพัทยา ซึ่งทางร้านจะขายแบบโปรฯ ในราคา 899 บาท ซื้อ 1 แถม 1 โดยต้องจ่ายเงินก่อน มากินเท่าไหร่ก็หักไปเท่านั้น แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาวอชเชอร์เริ่มใช้ไม่ได้ ต้องจองล่วงหน้าและเมนูอาหารก็ไม่ครบ ลดลงไปประมาณ 30%           มีอยู่วันหนึ่ง คุณแพรวแปลกใจที่เห็นพนักงานเต็มร้านแต่กลับไม่รับลูกค้า บอกว่าวัตถุดิบในการทำอาหารไม่เข้ามาที่ร้าน เธอเริ่มสงสัยจึงลองไปเช็กที่สาขาอื่นๆ ก็พบว่าร้านอื่นมีวัตถุดิบครบ และเปิดบริการให้ลูกค้าได้ตามปกติ จากนั้นเข้าไปติดตามในเพจของร้านนี้ ก็พบลูกค้าที่มีปัญหาซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ของร้านนี้ไว้แต่กลับใช้ไม่ได้เพราะร้านปิดเหมือนกับเธอ เข้ามาคุยในเพจและรวมตัวกันราว 200 กว่าคน          คุณแพรวเองซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ไว้ประมาณ 4,000 กว่าบาท พอเห็นท่าไม่ดีจึงไปแจ้งความพร้อมผู้เสียหายในเพจอีกประมาณ 10 คน ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเลย เมื่อติดต่อทางร้านไป ก็แจ้งว่ากำลังปิดปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่ถ้าลูกค้าคนไหนจะขอเงินคืนก็ยินดีจ่ายให้ภายใน 10 วัน แต่แล้วก็เงียบหายไปอีก                    ต่อมาคุณแพรวได้รู้ว่ามีพนักงานของร้านเข้าไปแจ้งความด้วยว่ายังไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งทางร้านติดค้างไว้อยู่ 3 เดือน และเล่าถึงสาเหตุที่ร้านปิด เป็นเพราะว่าเจ้าของสั่งวัตถุดิบมาทำอาหารแล้วไม่จ่าย จนบริษัทที่ส่งอาหารไม่ส่งวัตถุดิบมาให้ คุณแพรวหวั่นใจว่าเจ้าของร้านอาหารนี้จะเบี้ยวหนี้ที่รับปากไว้ จึงโทรศัพท์ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้คุณแพรวในฐานะผู้เสียหาย แจ้งความเกี่ยวกับการฉ้อโกง เป็นคดีอาญา ให้ตำรวจเรียกคู่กรณีมาคุยกันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นการกดดันคู่กรณี เนื่องจากถ้าเจ้าของร้านอาหารไม่ต้องการที่จะขึ้นศาลหรือติดคุก ก็อาจจะพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ในที่สุด         หลังจากที่คุณแพรวได้พาผู้เสียหายประมาณ 10 คน ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาด้วยกันอีกครั้งตามคำแนะนำแล้ว เพียงไม่นาน ทางเจ้าของร้านอาหารได้ติดต่อมาและตกลงจะคืนเงินทั้งหมดของผู้เสียหายแต่ละคนจนครบทุกคน ล่าสุด คุณแพรวได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >