ฉบับที่ 111 ถูกโครงการบ้านจัดสรรไม่ยอมขายบ้านให้ อ้างเหตุ “กลัวลูกค้าป่วน”

คุณนิวัติ เดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งความประสงค์อยากขอความช่วยเหลือจากทนายความอาสาของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยสู้คดีกับโครงการ “บ้านนนทกร”คุณนิวัติแจ้งว่า ตนถูกบริษัทท็อป บลิช จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรบ้านนนทกร บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งที่ได้จ่ายเงินค่าจอง ค่าทำสัญญา และค่างวดแล้วจนครบถ้วนจำนวน 360,000 บาทเศษ เหลือแต่เงินค่าโอนบ้านอีกประมาณ 2.6 ล้านบาทที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อและได้มีการนัดวันโอนกันเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ดีๆ ไม่มีปี่มีขลุ่ย โครงการกลับโทรศัพท์แจ้งขอเลื่อนวันโอนไปอย่างไม่มีกำหนด และพอทำหนังสือสอบถามถึงกำหนดวันนัดโอนใหม่ โครงการกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินและแนบเช็คคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยกลับมาให้คุณนิวัติโดยทันทีก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คุณนิวัติและภรรยาได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินเนื้อที่ 42.5 ตารางวากับโครงการดังกล่าวในราคารวมทั้งสิ้น 2,990,000 บาท ซึ่งได้ทยอยจ่ายค่าจอง ค่าทำสัญญา ค่างวดตามสัญญา แต่ในระหว่างก่อสร้างบ้าน คุณนิวัติได้ขอให้ทางโครงการแก้ไขแบบรั้วกำแพงข้างบ้านจากรั้วทึบเป็นรั้วด้านบนโปร่งซึ่งทางโครงการได้ยอมแก้ไขให้ ต่อมาคุณนิวัติได้ทำหนังสือขอให้ทางโครงการพิจารณาแก้ไขแบบรั้วกำแพงด้านหลังบ้านให้เหมือนกับด้านข้างอีกครั้ง แต่คราวนี้โครงการมีหนังสือตอบปฏิเสธว่าไม่สามารถทำให้ได้พร้อมกับแจ้งว่ายินดีรับคืนบ้านและจะคืนเงินให้แก่คุณนิวัติคุณนิวัติรู้สึกฉุนเล็กๆ จึงทำหนังสือสอบถามถึงความชัดเจนในสัญญาว่าแค่ลูกค้าไม่ชอบแบบรั้วและขอเปลี่ยนแบบจะเป็นเหตุให้มีการคืนบ้านกันง่าย ๆ เลยหรือ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปยุ่งกับเรื่องขอเปลี่ยนแบบรั้วอีก และรอให้ถึงวันนัดโอนเพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่อาศัยในบ้านที่ซื้อเสียที แต่สุดท้ายได้ถูกโครงการปฏิเสธที่จะขายบ้านให้โดยให้เหตุผลว่าคุณนิวัติมีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่จะทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของหมู่บ้านต้องเสียไปและจะมีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยรายอื่นและต่อโครงการโดยรวม“บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยับยั้งเหตุอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต บริษัทจึงมีความจำเป็นสุดวิสัยที่จะต้องบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวกับท่าน โดยให้มีผลโดยทันทีในวันนี้...” คุณนิวัติอ่านเนื้อจดหมายบอกเลิกสัญญาจากบริษัทถึงกับอึ้ง คิดไม่ออกว่าตัวเองทำผิดอะไร แค่ขอแก้ไขแบบรั้วบ้านถึงกับต้องถูกบอกเลิกสัญญาไม่ขายไม่โอนบ้านให้ หลังจากนั้นคุณนิวัติจึงได้ยื่นเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับให้บริษัทโอนบ้านให้ ปรากฏว่าบริษัทได้แจ้งต่อศาลว่าได้ขายบ้านในฝันของคุณนิวัติให้ลูกค้าคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว คุณนิวัติจึงต้องติดต่อขอสินเชื่อทำเรื่องซื้อบ้านใหม่จากอีกโครงการหนึ่งซึ่งมีราคาแพงกว่าและตั้งเรื่องฟ้องร้องใหม่เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมและมาขอให้มูลนิธิฯ ช่วยจัดทนายความอาสาช่วยเหลือต่อสู้คดีแนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าสู้คดีให้กับคุณนิวัติ โดยที่คุณนิวัติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หลังการต่อสู้คดีในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาว่า บริษัทโครงการบ้านจัดสรรเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเงินที่รับไว้แล้วจากลูกค้าพร้อมดอกเบี้ยและต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นคือค่าส่วนต่างของราคาบ้านที่คุณนิวัติต้องหาซื้อใหม่ โดยศาลชั้นต้นพิจารณาว่าบ้านที่คุณนิวัติซื้อจากโครงการบ้านนนทกรมีเนื้อที่ 42.5 ตารางวา ราคา 2,990,000 บาท คิดเป็นเงินตารางวาละ 70,352.94 บาท ส่วนบ้านที่คุณนิวัติไปซื้อใหม่มีเนื้อที่ 54 ตารางวา ราคา 4,690,000 บาท คิดเป็นตารางวาละ 86,851.85 บาท สูงกว่าราคาบ้านเดิมตารางวาละ 16,489.91 บาท แต่อย่างไรก็ดีหากโครงการบ้านจัดสรรไม่ผิดสัญญาคุณนิวัติก็จะได้บ้านในเนื้อที่เพียง 42.5 ตารางวา ดังนั้นเนื้อที่ส่วนที่เกินขึ้นจากการซื้อบ้านหลังใหม่จึงไม่ถือว่าเป็นความเสียหายที่คุณนิวัติได้รับ ศาลจึงพิจารณาเห็นว่าคุณนิวัติคงได้รับความเสียหายเฉพาะส่วนต่างของราคาที่ดิน 42.5 เป็นเงิน 701,203.67 บาท จึงพิพากษาให้โครงการบ้านจัดสรรชำระเงิน 701,203.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังจากที่ใช้เวลาในการต่อสู้คดีประมาณ 5 เดือนเศษ ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์คาดว่าจะทราบผลตัดสินในเวลาไม่นานและถือเป็นข้อยุติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 เมียเก่าอยากปลดกระดูก

การทำสัญญาค้ำประกันให้กับคนอื่น ตรงกับคำโบราณที่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มีแต่เอากระดูกมาแขวนคอ” แม้ว่าคนที่เราค้ำประกันให้นั้นจะเป็นสามีหรือภรรยากันก็ตามคุณวรินบอกว่าได้ไปค้ำประกันรถยนต์ให้กับสามี โดยสามีไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง แต่บุญวาสนาของสามีภรรยาคู่นี้นั้นแสนสั้นนัก หลังเช่าซื้อรถคันนี้ไม่ถึงปีคุณวรินได้หย่าขาดแยกทางจากสามี เหตุเพราะฝ่ายชายไปมีภรรยาใหม่“ตอนนี้สามีดิฉันยังส่งรถคันนี้อยู่ตลอดค่ะ แต่ที่กังวลก็คือเขาจะส่งไปได้ตลอดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะยังเหลือค่างวดอีกตั้ง 5 ปีกว่าจะครบ”คุณวรินเธอปรึกษาว่า ตอนนี้ไม่อยากจะเป็นคนค้ำประกันรถยนต์ให้อดีตสามีอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความผูกพันกันเหมือนแต่ก่อน จะมีวิธีไหนบ้างที่จะยกเลิกการค้ำประกันรถยนต์ของอดีตสามีได้แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาค้ำประกัน คือการที่ไปทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้ สัญญาค้ำประกัน ถ้าผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วก็รับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่สัญญาค้ำประกันส่วนใหญ่เป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเสมือนลูกหนี้ร่วมเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดจนสิ้นเชิงเช่นเดียวกับลูกหนี้ทุกอย่าง ไม่มีสิทธิเกี่ยงการยกเลิกหรือสิ้นสุดสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการให้ผู้ค้ำประกันบอกเลิกสัญญาเองได้ทันที ยกเว้นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หากจะถอนค้ำประกันหรือเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันคงต้องคุยกับอดีตสามีในฐานะลูกหนี้โดยตรงว่าจะขอเปลี่ยนคนค้ำประกันใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นภรรยาใหม่ก็ได้ เมื่อตกลงกันได้แล้วถึงจะพากันไปเจรจาตกลงกับไฟแนนซ์หรือเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์อาจมีสองทางเลือกคือยินยอมที่จะเปลี่ยนสัญญาให้ หรือที่พบโดยมากคือให้บุคคลที่เพิ่มเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันพ่วงต่อท้ายไปอีกคนหนึ่งเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ช่วยกันกดดัน ควบคุมลูกหนี้ให้ชำระหนี้ต่อไปตามสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 “อภิสิทธิ์” โดนเก็บค่าตัดไฟ 107 บาท

หากมีคนถามว่า เวลาจ่ายค่าไฟคุณจ่ายค่าไฟวันไหน  หลายคนมักจะตอบโดยไม่ต้องคิด ป้าดโธ่ เงินเดือนมาก็ไปจ่ายเมื่อนั้นล่ะ ไม่เห็นจะต้องคิดให้มากเลย พอคิดแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ มักจะโผล่ไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนกันเป็นแถวแต่กับคุณอภิสิทธิ์ คนเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” คนที่อยู่กรุงเทพฯ ต้องบอกว่าก็เพราะไปจ่ายค่าไฟตอนต้นเดือนนี่แหละ ที่ทำให้ต้องถูกการไฟฟ้าตัดไฟและเรียกเก็บค่าตัดไฟ 107 บาทมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการแจ้งเตือน “ผมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ อ.แม่แตงครับ”คุณอภิสิทธิ์บอกว่าครอบครัวเป็นบ้านใหญ่ ทำให้ใช้มิเตอร์รวม 3 หม้อ ตอนเย็นอากาศดี ๆ ของวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2552 ระหว่างที่กำลังนำขยะไปทิ้งที่ถังขยะหน้าบ้าน สายตาพลันเหลือบไปเห็นใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า 2 ใบนอนแอ้งแม้งอยู่บนพื้นหน้าบ้าน หยิบขึ้นมาดูจึงรู้ว่าเป็นของบ้านตัวเอง เลยมองหาอีกใบเผื่อว่าจะตกหล่นเหมือนกันแต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่พบวันรุ่งขึ้นแม้จะเป็นวันอาทิตย์ แต่เพราะเห็นจากบิลค่าไฟ 2 ใบว่าจะครบกำหนดชำระในวันนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์จึงต้องเดินทางไปชำระค่าไฟฟ้าที่มีบิลก่อน 2 หม้อที่ห้างสรรพสินค้าในตัวเมือง ส่วนค่าไฟฟ้าของหม้อที่ 3 คุณอภิสิทธิ์เคยทราบว่าก่อนจะตัดไฟการไฟฟ้าจะมีใบแจ้งเตือนมาก่อนเพื่อให้รีบไปจ่ายค่าไฟที่ค้างอยู่ภายใน 3 วันทำการ เมื่อหาบิลไม่เจอ ก็คิดว่ายังพอมีเวลาจะหาโอกาสไปจ่ายในวันธรรมดาที่สำนักงานของการไฟฟ้าต่อไป“วันจันทร์ผมติดธุระที่ต้องไปรับ-ส่งญาติที่มาจากต่างจังหวัด กะว่าจะไปชำระเงินหม้อที่ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์” คุณอภิสิทธิ์เล่าถึงแผนที่ได้เตรียมไว้ แผนการของคุณอภิสิทธิ์เกือบสมบูรณ์แบบ ถ้าหากว่าเช้าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ตอนเก้าโมงครึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและทำการปลดสายมิเตอร์ออก พร้อมกับยื่นใบเหลืองเหมือนกรรมการฟุตบอลยื่นให้ตอนนักฟุตบอลทำฟาวล์แล้วบอกกับคุณอภิสิทธิ์ด้วยหน้าตาขึงขังว่า ไปจ่ายค่าไฟซะพร้อมเสียค่าต่อมิเตอร์ด้วย 107 บาท ไม่งั้นจะไม่จ่ายกระแสไฟให้   คุณอภิสิทธิ์ที่เป็นคนไม่มีอภิสิทธิ์จึงต้องจ่ายค่าต่อไฟ 100 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7 บาทไปด้วยความชอกช้ำใจ แนวทางแก้ไขปัญหา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคเหนือ) เชียงใหม่ มีคำชี้แจงในกรณีนี้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีระเบียบว่าด้วยการเงินกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่ากระแสไฟฟ้าและการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย โดยจะมีระยะเวลาเวลาชำระเงินค่าไฟฟ้า ภายใน 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งค่าไฟฟ้า และอ้างว่าจะมีช่วงเวลาการแจ้งเตือนตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอได้กำหนดอีก  3 วันก่อนการงดจ่ายไฟฟ้า รวมเป็น 10 วัน โดยระเบียบที่ว่านี้มุ่งหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปชำระเงินที่สำนักงานการไฟฟ้าฯ หรือตัวแทนจุดรับบริการรับชำระเงินได้ภายใน 10 วันนี้ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน 10 วันข้างต้นแล้วผุ้ใช้ไฟฟ้ายังไม่ชำระเงิน พนักงานจะเสนอผู้จัดการไฟฟ้าฯ เพื่อขออนุมัติงดจ่ายไฟฟ้า อย่างช้าไม่เกินวันทำการถัดไปเหตุผลที่มีการตัดไฟและเรียกเก็บเงินกับคุณอภิสิทธิ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ แจ้งว่า คุณอภิสิทธิ์ได้รับใบแจ้งหนี้เมื่อ 21 มกราคม 2552 ซึ่งครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าวันที่ 31 มกราคม 2552 ซึ่งการไฟฟ้าฯ ตีความว่าครบ 10 วันแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ไฟไม่ไปชำระค่าไฟภายในกำหนด จึงได้มีการอนุมัติให้งดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 และผู้รับจ้างงดจ่ายไฟฟ้าได้ไปปลดสายมิเตอร์ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 09.30 น. หลังจากนั้นคุณอภิสิทธิ์จึงได้ไปชำระค่าไฟพร้อมค่าธรรมเนียมต่อกลับในวันเดียวกัน ในเวลาประมาณ 10.25 น.จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างไปทำการต่อไฟตามปกติในวันนั้นประเด็นนี้ เราเห็นว่าแนวปฏิบัติการตัดไฟและเรียกเก็บค่าต่อไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การไฟฟ้าฯ อ้างว่าในระเบียบได้มีช่วงเวลาการแจ้งเตือนเพิ่มขึ้นอีก 3 วันก่อนที่จะดำเนินการตัดไฟหากไม่มีการชำระค่าไฟหลังการแจ้งเตือน แล้วการไฟฟ้าฯ ได้ถือวิสาสะนำระยะเวลาของการแจ้งเตือน 3 วันนี้ไปรวมกับระยะเวลากำหนดการจ่ายค่าไฟ 7 วัน แล้วนับต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันเป็น 10 วันรวด โดยที่ไม่เคยมีการส่งเอกสารการแจ้งเตือนจริงๆ ไปให้กับผู้บริโภคเลยซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของการไฟฟ้านครหลวงที่ปฏิบัติอยู่ และจากการสอบถามผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ร้องเรียนเข้ามาพบว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในหลายๆ แห่ง ไม่เคยมีการส่งใบแจ้งเตือนมาแต่อย่างใด มีแต่เพียงใบแจ้งหนี้ใบเดียวเท่านั้นดังนั้น เมื่อไม่มีการแจ้งเตือนมาเป็นหนังสือ การไฟฟ้าฯ จึงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดไฟกับผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่าต่อไฟกับผู้บริโภคได้ ซึ่งหากมีการเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปแล้วถือเป็นการเรียกเก็บเงินที่ผิดระเบียบของการไฟฟ้าเอง ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ ทั้งโดยการเรียกร้องโดยตรงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ

เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคมด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้วคุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดีแนวทางการแก้ไขปัญหาเราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่

ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้วศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย...ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

 เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการแต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็กปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 เรื่องของหมากับสัญญาหมา หมา

เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าคิดว่าเป็นเรื่องหยาบคายกันนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายหมาสายพันธุ์ที่คนรักหมาต้องอ่านจุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากความสงสารหมา   เพื่อนรักของคุณอธิป เป็นคนขายหมา ได้เอาหมาแม่ลูกอ่อนพร้อมลูกหมาไปประกาศขายในเน็ต มีคนซื้อตัวลูกไปแต่ไม่มีคนซื้อตัวแม่ เพราะความสงสารหมาพอรู้เรื่องคุณอธิปเลยอาสารับเลี้ยงแม่หมาให้  ต่อมาอีกสามสี่เดือนเพื่อนรักก็เอาตัวผู้มาให้เลี้ยงอีกตัวและบอกกับคุณอธิปว่าจะยกตัวเมียให้เดี๋ยวเซ็นต์โอนให้เลย แต่คุณอธิปเห็นว่าเป็นเพื่อนสนิทกันไม่ต้องมานั่งเซ็นต์อะไรกันก็ได้จากนั้นได้เฝ้าคอยประคบประหงมป้อนข้าวป้อนน้ำป้อนยาให้หมาทั้งสองตัวจนเวลาล่วงไปเป็นปี เงินทุกบาททุกสตางค์เจ้าของตัวจริงไม่เคยมาจ่าย มีแต่โทรมาบอกว่าให้พาหมาไปเที่ยวที่บ้านบ้าง พอพาหมาตัวเมียไปเที่ยว เจอพี่เขยของเพื่อน หมาคงไม่ชอบหน้าเป็นทุนเดิมถูกหมาเห่าใส่ พี่เขยเลยตบหมาซะปากแตก “วันนั้นพาหมากลับบ้านเลยครับ หลังจากนั้นก็ไม่พาไปอีกเลยเค้าก็ไม่สนใจ” คุณอธิปบอกวันเวลาผ่านไปหมาทั้งสองตัวเกิดอารมณ์เสน่หากันตามธรรมชาติ คุณอธิปไม่คิดขัดขวางเพราะเห็นว่ารักกัน ปล่อยให้มันได้สมรสสมรักจนหมาตัวเมียสมหวังตั้งท้องในเวลาต่อมา พอรู้ว่าหมาตัวเมียตั้งท้องอีกครั้ง เพื่อนสุดที่รักนักขายหมาก็แวะมาหาบอกว่าถ้าหมาคลอดลูกจะแบ่งกันคนละตัว เมื่อครบกำหนดปรากฏว่าแม่หมาคลอดลูกได้สองตัวพอดี แต่แทนที่เพื่อนเลิฟจะรับไปเลี้ยงตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อนเลิฟกลับเงียบหาย คุณอธิปจำได้ว่า ลูกหมาอายุได้หนึ่งเดือนเพื่อนเลิฟแวะมาเยี่ยมหนึ่งครั้งซื้อยาสีฟันหมามาให้แค่หลอดเดียวสองเดือนต่อมาคุณอธิปพาลูกหมาไปให้เพื่อนรักดูถึงบ้าน กะว่าเพื่อนคงจะรับเลี้ยงแน่คราวนี้ แต่พอเพื่อนเห็นลูกหมาก็ไม่ได้ว่าอะไร พูดคุยกันเล่นสักพักคุณอธิปจึงอุ้มลูกหมากลับเพราะเห็นว่าลูกหมาห่างนมแม่มาทั้งวัน วันรุ่งขึ้นเพื่อนรักโทรศัพท์มาหา แทนที่จะบอกว่าจะรับเลี้ยงแล้วจ้า กลับบอกให้คุณอธิปถ่ายรูปหมาส่งไปให้หน่อย จะเอาไปฝากขายที่สวนลุมไนท์คุณอธิปบอกเพื่อนว่ารอให้ลูกหมาโตหน่อยไม่ได้เหรอ สงสารมันเห็นมันอยู่กันพร้อมพ่อแม่ลูกทำไมต้องพรากลูกเขาไปด้วย สุดท้ายก็อ้อนวอนขอซื้อตัวที่จะขายซะเอง เพื่อนรักบอกว่า ถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อลูกทั้งสองตัวราคา 70,000 บาท และตัวแม่อีก 30,000 บาท รวมเป็นหนึ่งแสน ไม่งั้นจะยึดหมาคืนไปทั้งหมดคุณอธิปกลัวเพื่อนจะพรากหมาไป สงสารและอยากได้หมาตัวแม่และตัวลูกๆ มาก เลยขอต่อรองราคาอีกครั้ง สุดท้ายจบด้วยความปราณีของเพื่อนสุดเลิฟที่ 60,000 บาท และจับคุณอธิปเซ็นต์สัญญาซื้อขายหมาโดยไม่ได้ให้อ่านรายละเอียดและคิดว่าเป็นสัญญาซื้อขายหมากันธรรมดาๆ จนต้องเจ็บกระดองใจ   เมื่อเห็นเนื้อหาในสัญญาของเพื่อนรัก คุณอธิปก็ได้แต่บ่นว่า   คนซื้อไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากสัญญา นอกจากความดีใจที่ได้รับหมากลับมา สาระสำคัญของสัญญาซื้อขายหมาที่เป็นประเด็นปัญหาหน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ1. ผู้ซื้อสัญญาว่า จะให้สุนัขเพศเมียได้ตั้งท้องโดยสุนัขที่คลอดมานั้น จะต้องมีชีวิตและมีสภาพสมบูรณ์ครบทุกประการแล้วส่งมอบสุนัขให้แก่ผู้ขายทั้งหมดทุกตัวภายใต้สภาพสมบูรณ์เท่านั้น จำนวน 1 ครอกโดยผู้ซื้อสัญญาว่าจะไม่เก็บเงินค่าลูกสุนัขและค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ขายทั้งสิ้น2. ผู้ขายจะโอนกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของสุนัขทั้งสามตัวให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าผู้ซื้อจะทำตามข้อ 13. ผู้ขายรับรองว่าสุนัขทั้งสามตัวที่ทำการส่งมอบมีความปกติสมบูรณ์ทุกประการโดยที่ผู้ซื้อรับทราบ โดยผู้ขายส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อไว้ในความดูแลได้ แต่ยังไม่โอนกรรมสิทธิจนกว่าจะสิ้นสัญญาในข้อหนึ่ง4. หากสุนัขตัวใดตัวหนึ่งเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในระหว่างความดูแลของผู้ซื้อซึ่งยังไม่โอนกรรมสิทธิผู้ซื้อต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ขายพร้อมทั้งผู้ขายไม่ต้องคืนเงินและหากตรวจสอบว่าผู้ซื้อได้บอกกล่าวเป็นเท็จไม่ว่าด้วยเหตุใดผู้ขายมีสิทธิเอาผิดจากผู้ซื้อได้ทุกประการโดยจะริบเงินดังกล่าวรวมถึงผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย5. หากผู้ซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแล้ว ผู้ขายสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและริบเอาเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระมาแล้วเป็นของผู้ขายทั้งสิ้น และผู้ซื้อต้องส่งคืนสุนัขทั้งหมดแก่ผู้ขาย รวมถึงไม่ตัดสิทธิผู้ขายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นด้วย6. สืบเนื่องจากข้อ 5  และให้ถือว่าการโอนกรรมสิทธิการเป็นเจ้าของสุนัขมาเป็นผู้ซื้อถือเป็นโมฆะคุณอธิปสอบถามว่า สัญญาออกมาแบบนี้ ทางผู้ขายยังจะมีสิทธิที่จะทำตามที่เขียนหรือไม่ และผู้ซื้อสามารถอ้างสิทธิในตัวสัตว์ แล้วแจ้งสมาคมพัฒนาสายพันธุ์สุนัขเพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของได้หรือไม่แนวทางแก้ไขปัญหา ประเด็นที่คนอยากซื้อหมาควรทราบ1. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงที่มีราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ หากฝ่ายไหนผิดสัญญาซื้อขายปากเปล่ากันก็สามารถนำเรื่องฟ้องต่อศาลได้ แต่หากมีราคาซื้อขายตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป จะฟ้องร้องต่อศาลกันได้ต้องมีหลักฐานการซื้อขายที่ลงลายมือชื่อผู้ซื้อ ผู้ขายกันด้ว2. การซื้อขายสัตว์เลี้ยงอย่างหมา แมว หมู กระต่ายนั้น กรรมสิทธิในสัตว์เลี้ยงได้ถูกโอนตกเป็นของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน โดยที่ไม่ต้องไปทำเรื่องจดโอนกับเจ้าพนักงานเหมือนสัตว์พาหนะพวกช้าง ม้า วัว ควายที่มีกฎหมายสัตว์พาหนะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ3. หากสัญญาซื้อขายสัตว์เลี้ยงมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับกันไว้ กรรมสิทธิ์ในสัตว์เลี้ยงที่ขายถือว่ายังไม่โอนให้ผู้ซื้อจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ดังนั้นจากเรื่องราวและคำถามที่คุณอธิปถามมาแสดงว่า สัญญาซื้อขายหมาที่ทำกันนั้นเป็นสัญญาแบบมีเงื่อนไข ผู้ขายจึงยังมีสิทธิในตัวหมาอยู่ และผู้ซื้อจะต้องปฏิบัติตามสัญญา จนกว่าจะปลดล็อกเงื่อนไขที่ถูกวางไว้ ทางแก้ก็คือปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่หมาทั้งสองเร่งสมรสสมรักกันอีกครั้ง เมื่อได้ลูกออกมาแล้วอีกรุ่นก็ยกให้เพื่อนสุดเลิฟโดยทำบันทึกกันให้ชัดเจน กรรมสิทธิ์ของหมาที่ซื้อมาทั้งหมดจึงจะตกเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ แล้วทีนี้จะนำไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของ พาไปประกวดหมาสวยงามที่ไหน ก็เชิญตามสบายครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ถูกปลอมลายเซ็นสมัครฟิตเนส

ณ สำนักงานชั่วคราว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคารเซนจูรี่มูฟวี่ ชั้น 6 ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราระเห็จเข้ามาปักหลักในสำนักงานชั่วคราวแห่งนี้ได้ประมาณเดือนเศษ หลังจากตึกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ซอยราชวิถี 7 ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนอันเนื่องจากการลอบวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์การเมืองชุลมุนคุณปราณีพร้อมลูกสาววัยยี่สิบเข้ามาร้องเรียนกับเราในวันนั้น เธอบอกว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เธอกับบุตรสาวได้ไปเดินเล่นในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชอปอยู่นั้น ได้มีเซลล์ของสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่ง สมมติชื่อว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสเข้ามาชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ก็ตามสูตรของนักขายมืออาชีพเขาล่ะ คุยซะไม่มีเนื้อมีแต่น้ำ แต่ก็ได้ผลทำให้สองแม่ลูกเดินตามเข้าไปในฟิตเนสจนได้“ก็ไม่ตั้งใจจะเล่นจริงๆ จังๆ หรอกค่ะแต่เห็นเขาอัธยาศัยดี เขาถามว่าเราจะสมัครเป็นแบบ 6 เดือนหรือ 12 เดือนก็ได้ ก็บอกเขาว่าไม่อยากเล่นนานขนาดนั้น ขอทดลองเล่นสักครั้งได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้จ่ายแค่ 2,399 บาท ก็เข้าเล่นได้เลยถ้าเรามีเวลาว่างมา ไม่ต้องสมัครเป็นปีก็ได้”“แล้วเค้าก็เอาใบสัญญาสมัครสมาชิกมาติ๊กมากรอกเองทั้งหมดโดยมีดิฉันกับลูกสาวนั่งดู โดยที่เราไม่ได้เซ็นชื่อในใบสมัครสมาชิกที่อยู่ส่วนหน้า ไม่ได้ให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตเพราะเป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าได้เซ็นชื่อในเอกสารที่แนบตามหลังใบสมัคร เช่น แบบทบทวนความเข้าใจสำหรับสมาชิกใหม่อะไรทำนองนี้ ส่วนลูกสาวตอนนั้นอายุก็ยังไม่ครบยี่สิบปี เราในฐานะแม่ก็ไม่ได้เซ็นยินยอมอะไรไป แต่ก็เห็นเซลล์เขานั่งติ๊กนั่งกรอกแบบฟอร์มให้ลูกสาวเราด้วยก็คิดว่าเป็นการทำเอกสารเพียงเพื่อให้เราเข้าไปใช้บริการหนึ่งครั้ง”จากนั้นคุณปราณีก็ได้จ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการไปคนละ 2,399 บาท โดยได้ใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่ไม่มีลายเซ็นของตัวเองกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งและไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิเล่นกันเพียงตามที่ได้จ่ายเงินไปเท่านั้น ข้ามเข้าปี 2553 เดือนกุมภาพันธ์มีจดหมายจากตุ๊ดตู่ฟิตเนสแจ้งเชิญชวนให้คุณปราณีสมัครเป็นสมาชิกสัญญาระยะสั้นเวลา 6 เดือนค่าสมัคร 9,000 บาท ที่สำคัญจะมีการเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกที่คงค้างอยู่ หากได้เปลี่ยนเป็นสัญญาระยะสั้นนี้คุณปราณีได้รับเอกสารก็งงๆ แต่ไม่ใส่ใจอะไรมากนักเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปออกกำลังกายในฟิตเนส อีกทั้งยังแพงอีกด้วย จึงไม่ใส่ใจกับหนังสือเชิญชวนฉบับนั้นพอเข้าต้นเดือนมีนาคม 2553 ตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีจดหมายเซอร์ไพรส์แจ้งกับคุณปราณีว่ามีหนี้ค้างค่าบริการรายเดือนจำนวน 2 เดือนเป็นเงินจำนวน 4,700 กว่าบาท พร้อมกำชับว่าถ้าอยากแก้ปัญหานี้ก็น่าจะเข้าไปทำสัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือน“ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันไม่ได้เป็นหนี้เขา และที่ฟิตเนสบอกว่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตจากธนาคารได้ดิฉันก็งงมากค่ะเพราะดิฉันไม่เคยมีบัตรเครดิต”คุณปราณีคิดว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสคงจะเข้าใจผิดหรือส่งจดหมายผิดคนก็เลยเฉยๆ กับจดหมายฉบับนั้นไป ปรากฏว่าถึงเดือนมิถุนายน 2553 เจ้าตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีหนังสือรังควานมาอีกฉบับ แต่จดหมายฉบับนี้เล่นซะคุณปราณีอยู่ไม่สุข เพราะแจ้งว่าคุณปราณีมีหนี้ค้างรวมเป็น 11,000 กว่าบาท และหากไม่ชำระหนี้นี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด ตัดสินใจหยิบมือถือโทรไปสอบถามที่ฟิตเนสว่าตัวเองเป็นหนี้อะไร“ได้คำตอบว่าเป็นหนี้ค่าบริการฟิตเนสสัญญา 12 เดือน เราก็แปลกใจก็บอกว่าสมัครแค่เดือนเดียวนี่ไม่ใช่ 12 เดือน แล้วของลูกสาวน่ะมีหนี้ด้วยหรือเปล่า”“อ๋อของลูกสาวไม่มีนะคะเพราะไม่ได้เซ็นชื่อสมัคร”“ดิฉันก็ไม่ได้เซ็นชื่อสมัครเหมือนกันนะคะวันนั้น”“มีนะคะลายมือชื่อของคุณพี่อยู่ในใบสมัครชัดเจนค่ะ”คุณปราณีแปลกใจหยิบใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่เก็บไว้ยกขึ้นมาดูในช่องลงชื่อผู้สมัคร/ผู้ซื้อ เห็นแต่ความว่างเปล่า“งั้นช่วยส่งแฟกซ์ใบสมัครมาให้ดูหน่อยได้มั้ยคะ” คุณปราณีอยากรู้ไม่นานเกินรอแฟกซ์ใบสมัครสมาชิกได้มาอยู่ในมือคุณปราณี มันมีลายเซ็นชื่อคุณปราณีชัดเจน แต่เมื่อเพ่งดูนิ่งและนานขึ้น เอ๊ะนี่ไม่ใช่ลายมือของเรานี่ ไม่ได้เรื่องแล้วคุณปราณีรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และเพิ่งได้ แจ้นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือทันทีแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากสอบถามรายละเอียดกันจนชัดแล้ว และให้คุณปราณีลองช่วยเซ็นลายมือชื่อของตัวเองให้เราดูกันหลายรอบก็พบความผิดปกติจนได้ในลายเซ็นที่ปรากฏในใบสมัครที่ตุ๊ดตู่ฟิตเนสส่งแฟกซ์มาว่ามันมีความผิดเพี้ยนในตัวอักษรหลายจุดแต่เพื่อไม่ให้กระต่ายตื่นตัว เราจึงช่วยร่างจดหมายปฏิเสธหนี้ให้กับคุณปราณีแล้วส่งไปให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทตุ๊ดตู่ฟิตเนส เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพนักงานขายคนไหนเล่นไม่ซื่อบ้าง ปรากฏว่ามีโทรศัพท์อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายยืนยันให้คุณปราณีต้องชำระหนี้ ไม่งั้นจะดำเนินการฟ้อง คุณปราณีก็บอกว่างั้นก็ฟ้องมาเลย เพราะใจนั้นอยากเห็นบริษัทใช้ใบสมัครที่มีลายเซ็นที่ไม่ใช่ของตนเองถูกแสดงต่อหน้าศาล จะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้โดนโทษอาญาให้เข็ดไปเลย มูลนิธิฯ ก็รออยู่เหมือนกันพร้อมจัดทนายอาสาเข้าช่วยทำคดี แต่จนถึงวันนี้ไม่มีวี่แววว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสจะรังควานมาอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >