ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กาแฟโด่..กินแล้วโด่หรือดับ?

        “ชายวัย 69 พาสาวคู่ขาเข้าม่านรูด ดื่มกาแฟโด๊ปพลังก่อนช็อกดับคาห้องพัก จากการสอบสวนได้ข้อมูลว่าก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสาวคู่ขา ชายคนนี้ได้ดื่มกาแฟยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้อวัยวะแข็งตัว ซึ่งแพทย์คาดว่าอาจจะส่งผลต่อการสูบฉีดของหลอดเลือดที่มากเกินไป จนทำให้ชายคนนั้นเกิดอาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิต”          จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ภญ.โศภิต สุทธิพันธ์ได้สืบค้นข้อมูลในระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตกับ อย. แต่กลับพบว่ามีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ด่านอาหารและยาจังหวัดนราธิวาส ได้เคยพบและได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ซิลเดนาฟิล (Sildenafil)”ในผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ของ อย. ได้เคยติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นจากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลของต่างประเทศ พบข้อมูลว่า Health Sciences Authority (HSA) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้ตรวจพบสารนี้ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช่นกัน           นอกจากนี้ในปี 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์กาแฟยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่ระบุเลขสารบบอาหาร ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญ คำเตือนในการบริโภค ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ซึ่งได้ส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 ตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจพบ “ทาดาลาฟิล (Tadanafil)” ในผลิตภัณฑ์ และได้รายงานข้อมูลให้ อย.เฝ้าระวังทั่วประเทศไปแล้ว         ปัจจุบัน ซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงไม่สามารถหาซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ หาซื้อตามร้านขายยาได้เอง ผู้ซื้อจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น         ซิลเดนาฟิล เป็นยาที่ใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย แต่ยานี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและไม่ช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้นานขึ้น แต่กลับมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ ตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีฟ้าสีเขียว และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ ส่วนทาดาลาฟิล (tadalafil) อยู่ในกลุ่มเดียวกับซิลเดนาฟิล ออกฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ซึ่งมีข้อควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่ ผลิตภัณฑ์อาหารที่พบการปลอมปนซิลเดนาฟิล และ ทาดานาฟิล จัดเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยแก่การบริโภค ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย         ดังนั้น ผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อหรือซื้อกาแฟสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพทางเพศผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากการปลอมปนยาที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ อย.ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว หากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับด้านสมรรถภาพทางเพศควรปรึกษาแพทย์ และหากพบการซื้อขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านอินเตอร์เน็ต หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ผลไม้ดอง อร่อยปาก ลำบากกาย

        ทุกท่านเคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เวลาที่เกิดอาการง่วงนอนแต่ยังไม่สามารถล้มตัวลงนอนได้ อาจจะเนื่องด้วยกำลังทำงาน กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบลังขับรถลังประชุมหรือยังไม่ถึงเวลานอน เป็นต้น  ท่านใช้อะไรเป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น           เชื่อไหมว่า หนึ่งในตัวช่วยที่เป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุภาพสตรีก็คือ    “ผลไม้ดอง”   ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน เปรี้ยวจัด  หวานจัด ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกตื่นตัวและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไปแต่ทราบหรือไม่ว่าในความเปรี้ยวจัด หวานจัด อร่อยจัดของผลไม้เหล่านั้น อาจจะมีอันตรายแอบแฝงอยู่         จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหาร พ.ศ. 2563 ของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบการปนเปื้อนของกรดซาลิไซลิกในอาหารในเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) มากที่สุด แล้วกรดซาลิไซลิกคืออะไร มีอันตรายกับร่างกายหรือไม่ อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน  กรดซาลิซิลิค (salicylic acid)  หรือ สารกันรา   มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว  ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด   เนื่องจากสารมารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี  สารกันราในอาหาร มักพบใน ผักดอง ผลไม้ดอง เพื่อให้ผักหรือผลไม้ดองมีสีสรรสดใสน่ารับประทานไม่เกิดเชื้อราสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่าปกติ   ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 กำหนดให้กรดซาลิซิลิค เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารซึ่งสารป้องกันเชื้อราหรือสารกันบูดเหล่านี้เมื่อรับประทานและเข้าไปสะสมในร่างกายมาก ๆ จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้เป็นผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้ ร่วมด้วย  ถ้าร่างกายได้รับจนมีความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกในเลือดประมาณ 25-35 มิลลิลิตรต่อเลือด 100 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตต่ำจนเกิดอาการช็อคและอาจเสียชีวิตได้          ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรหันมารับประทานผลไม้สดที่ปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติโดยไม่มีสารเคมีเจือปน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างทำความสะอาดผลไม้สดอย่างดีก่อนบริโภค เพื่อลดการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง  หากอยากรับประทานผลไม้ดองจริงๆ อาจดองรับประทานเอง  เพราะนอกจากจะอิ่มท้อง ปลอดภัยต่อสุขภาพแล้วยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกควรเลือกซื้อผลไม้ดองที่บรรจุในภาชนะที่มีรายละเอียดบนฉลากครบถ้วน ทั้ง ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนประกอบและที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่ามีเลขที่อนุญาตแสดงในเครื่องหมาย อย.ด้วยหรือไม่ หากพบเห็นฉลากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้ตัวท่านเพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เตือนภัยยาสูตรเข้มข้น อันตรายก็เข้มขึ้น

        ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท         นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ         ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่  อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา        อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ  และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน           ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน  ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้  เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ต้องใช้ยานานแค่ไหน

        เมื่อเรารับยาจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือจากร้านขายยา  ส่วนใหญ่เราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นๆ ทั้งชื่อยา  สรรพคุณ  ขนาด  วิธีใช้ และข้อควรระวัง  ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะอธิบายแล้วข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏบนฉลากยาให้อีกด้วย แต่ข้อมูลแค่นี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย  เพราะเราควรจะต้องสอบถามเภสัชกรเพิ่มอีกว่า ยาที่ตนได้รับนั้น ชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ซึ่งเราจะต้องถามให้ละเอียดทั้งยากินยาใช้ภายนอกหรือยาฉีด ดังตัวอย่างต่อไปนี้         ผู้ป่วยรายที่ 1  เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอติดเชื้อแบคทีเรีย  เภสัชกรจ่ายยาให้กิน 4 ชนิด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดลดไข้  ยาซีพีเอ็มเพื่อลดน้ำมูก  ยาแอมบรอกซอลเพื่อแก้ไอและยาอะม็อกซี่ซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค  จากตัวอย่างนี้ยาที่จะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด คือ อะม็อกซี่  เพราะต้องการผลในการฆ่าเชื้อโรคให้หมด ส่วนยาแก้ไข้  ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอให้กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ถ้าเกิดมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตามให้หยุดทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร         ผู้ป่วยรายที่ 2  มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เภสัชกรจ่ายยา 2 ชนิด  ได้แก่ ไอบูโพรเฟนเพื่อกินแก้ปวด  และยานวดแก้ปวด ในกรณีนี้ยาทั้ง 2 ตัวจะใช้เฉพาะเวลามีอาการ ถ้าอาการปวดดีขึ้นอาจลดขนาดยาลง เช่น เดิมกินยา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา  อาจลดเหลือวันละ 2 เวลา หรือ 1 เวลาก็ได้ ถ้าหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อจนหมด  โดยยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้เวลาที่มีอาการครั้งต่อไป (แต่ก่อนใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า ยายังไม่หมดอายุ)         ผู้ป่วยรายที่ 3  มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคกรดไหลย้อน  เภสัชกรจ่ายยา 3 ชนิด ได้แก่แอมโลดิปีน  กินเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง  ยาเบต้าฮิสติดีนกินเพื่อรักษาอาการวิงเวียน  ยาโอมีพราโซลและดอมเพอริโดน กินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน   กรณีนี้ยาแอมโลดิปีนและโอมีพราโซลให้กินต่อเนื่อง  แต่ยาเบต้าฮิสติดีนให้กินเฉพาะเวลาวิงเวียน  ส่วนยาดอมเพอริโดนอาจกินเฉพาะเวลามีอาการกรดไหลย้อนหรือกินต่อเนื่องขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ในกรณีนี้ต้องปรึกษาเภสัชกร)         ผู้ป่วยรายที่ 4  มีอาการผื่นคันจากการสัมผัสฝุ่นละออง  เภสัชกรจ่ายยา 2 ตัว ได้แก่ ลอราตาดีนและยาทาเพรดนิโซโลน  ในกรณีนี้ยาลอราตาดีนให้กินเฉพาะเวลามีอาการหรือกรณีได้สัมผัสตัวกระตุ้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เรื้อรังให้กินต่อเนื่องตามระยะเวลาของการรักษา  ส่วนเพรดนิโซโลนทาให้ทาเฉพาะเวลามีอาการผื่นคันเท่านั้น         ผู้ป่วยรายที่ 5  เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ได้รับยา 2 ตัว  ได้แก่  แอมโลดิปีนและอีนาแลบพริล  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้กินต่อเนื่องและต้องไปรับยาตามที่นัด  แต่ในระหว่างกินยาแล้วเกิดอาการไอแห้งๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะถ้าอาการไอนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาอีนาแลบพริล  แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นให้ เช่น ลอซาแทน  กรณีนี้จะเห็นว่าแม้ยาที่ต้องทานต่อเนื่องถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สำคัญก็จำเป็นต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >