ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 รู้เท่าทันเข็มขัดยืดกระดูกสันหลัง

        มีการโฆษณาขายเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนกับราวในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทย ระบุว่าเพื่อรักษาอาการปวดหลังโดยเฉพาะหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ซึ่งโดยปกตินักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาโดยการดึงหลังด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังนี้ดีจริงหรือไม่ เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนคืออะไร         มีการโฆษณาว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังและห้อยแขวนนี้ช่วยลดอาการปวดหลัง ช่วยทำให้ส่วนโค้งส่วนเว้าของกระดูกสันหลังกลับคืนสู่ปกติ ช่วยการคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับ รักษาโรคกระดูกสันหลังได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ หลายเท่า เข็มขัดนี้รับน้ำหนักตัวได้มากกว่า 150 กก. จึงไม่มีปัญหาในผู้ที่อ้วน มีน้ำหนักตัวมาก ไม่เจ็บรักแร้ ไม่แน่นหน้าอก และใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย         วิธีการใช้ก็ผูกรัดเข็มขัดรอบบริเวณทรวงอกให้กระชับ เข็มขัดจะมีสายยึดเหมือนห่วงสำหรับโยงกับราวแขวนข้างบน เมื่อห้อยกับราวข้างบนเรียบร้อยโดยให้เท้าทั้งสองข้างพ้นจากพื้น ก็ปล่อยให้น้ำหนักตัวถ่วงลงมา ส่วนบนของลำตัวที่มีเข็มขัดรัดไว้ก็จะห้อยแขวนกับราว ส่วนล่างของร่างกายใต้เข็มขัดลงมาก็จะถ่วงน้ำหนักทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวถูกถ่วงลงล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่าง ทำให้เกิดแรงดึงกระดูกสันหลังส่วนล่างเหมือนการดึงด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการของกระดูกสันหลัง         การดึงยืดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษามาตรฐานวิธีหนึ่งในการรักษาอาการปวดคอ ปวดหลังเรื้อรังโดยเฉพาะการเกิดการกดของรากประสาทสันหลัง การดึงยืดกระดูกสันหลังนั้น เชื่อว่า จะเป็นการคลายการกดรากประสาทและช่วยให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการเยียวยาการบาดเจ็บและซ่อมแซมตัวเองได้เร็วขึ้น ในการกายภาพบำบัดจึงใช้การถ่วงดึงด้วยแรงหรือน้ำหนักขนาดต่างๆ ขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกสันหลัง         เมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่าง นักกายภาพบำบัดก็จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงและใช้เข็มขัดรัดรอบช่วงเอวและเชิงกรานและดึงด้วยแรงหรือถ่วงน้ำหนักไปทางปลายเท้า ดึงแล้วคลาย เป็นระยะ ประมาณ 20 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง         การยืดกระดูกสันหลังด้วยเข็มขัดแบบแขวน ก็เป็นการดึงยืดกระดูกสันหลังส่วนล่างด้วยน้ำหนักตัวส่วนล่างใต้เข็มขัด และเป็นการดึงยืดแบบถ่วงน้ำหนักตลอดเวลา ไม่เป็นการดึงแล้วคลาย ประสิทธิผลของเข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวน         พยายามค้นงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ ก็ยังไม่พบการตีพิมพ์ผลการศึกษา จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่า เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนนี้ได้ผลดีในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือการกดทับรากประสาทสันหลังได้หรือไม่         เข็มขัดยืดกระดูกสันหลังแบบแขวนจัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพราะใช้ในการรักษา อย.คงต้องมาดูแลเรื่องการโฆษณาและความปลอดภัยในการใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล

        ช่วงนี้กระแสโฆษณาหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกำลังมาแรงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวเป็นอาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะย่อยกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการลดน้ำตาล จึงสนใจหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกันอย่างมากมาย เรามารู้เท่าทันกันเถอะ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลลดน้ำตาลคืออะไร         หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้นจะมีกระบวนการในการหุงที่แตกต่างกันกับหม้อหุงข้าวทั่วไป โดยมีการแยกน้ำที่ได้จากการหุงข้าวออกมาจากข้าว ทำให้ระดับน้ำตาลภายในข้าวลดลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หลังจากข้าวสุกแล้ว ทำให้เข้ากับกระแสการต่อต้านน้ำตาล หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศจีน จนสถาบันอาหารปักกิ่งต้องออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์จริงหรือไม่ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้จริงหรือไม่         ข้อมูลจากเว็บไซต์ใน Blogdits อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้งเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคสจำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ดเช่นเมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อยและมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้  ดังนั้นไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญและสามารถที่จะช่วยในการลดปริมาณน้ำตาลภายในข้าวได้จริงนั่นเอง         สถานีโทรทัศน์ของจีนยังรายงานผลการทดลองการเปรียบเทียบโดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัครที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาลพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญการหุงข้าวที่แยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ซึ่งนำมาใช้กับการหุงข้าวแบบหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ซึ่งน้ำข้าวนั้นจะอุดมไปด้วย โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย         การกินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเป็นเวลานาน จะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป         ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลของการลดน้ำตาลในข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล         สรุป     ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการลดน้ำตาลของข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล              ฉบับหน้า จะพูดถึงการหุงข้าวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดการดูดซึมแป้งหรือน้ำตาลในข้าวที่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 รู้เท่าทันการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด

        ขณะนี้นโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยให้ใช้การฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ อาจเป็นวัคซีนทางเลือก เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะเกิดประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะมีหมอบางคนออกมาคัดค้านการฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ประเทศทางยุโรปเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนสลับชนิด         ในขณะนี้ ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปกว่า 1.2 พันล้านโดสแล้ว และเริ่มมีบางประเทศแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดหนึ่ง และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง         มาตรการดังกล่าวเริ่มจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ที่ผู้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีอาการของลิ่มเลือดอุดตัน จึงให้ฉีดวัคซีนเข็มสองเป็นวัคซีนอีกชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีน พบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดทำให้มีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 เหมือนหรือสูงกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียว และทำให้การกระจายการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ง่ายและมากขึ้น การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เรื่องใหม่ มีประโยชน์         การใช้วัคซีนสลับชนิดเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษในปีค.ศ. 1990-1999 โดยใช้ในนักวิจัยเรื่องเอชไอวี         นอกจากนี้ การใช้วัคซีนสลับชนิดยังช่วยหลีกเลี่ยงภูมิต้านทานที่มีต่อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และยังทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคหรือโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสลับชนิดนั้นต้องมีการประเมิน เพราะในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดมากเพียงพอ และต้องประเมินผลด้านความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะการใช้วัคซีน mRNA (ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา) สลับกับวัคซีนที่ใช้อดีโนไวรัส (ของแอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อน         การฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด อาจช่วยในการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัส เพราะทำให้เกิดภูมิต้านทานกว้างขึ้น ซึ่งช่วยในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนสลับชนิด         มีการศึกษาเบื้องต้นในหลายประเทศ เช่น ในสเปน ศึกษาในอาสาสมัคร 600 คน  ในสหราชอาณาจักร ศึกษาในอาสาสมัคร 830 คน พบว่า มีภูมิต้านทานสูงกว่าการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาในจำนวนอาสาสมัครที่น้อย และระยะเวลาสั้น จึงต้องติดตามผลต่อไป องค์การอนามัยโลกแนะนำให้หน่วยงานด้านสุขภาพเป็นผู้พิจารณา         องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ไม่ควรให้แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดหรือไม่ด้วยตนเอง แต่ขอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาและกำหนดแนวทางบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่ ขณะนี้ ยังต้องรอข้อมูลการประเมินผลการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด การศึกษาภูมิต้านทาน และความปลอดภัย         สำหรับประเทศไทย การฉีดวัคซีนสลับชนิดไม่ใช่เกิดจากวัคซีนที่ฉีดไม่มีคุณภาพ จึงต้องเปลี่ยนวัคซีน แต่เพราะมีการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดจะมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้นจาการฉีดวัคซีนชนิดเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 รู้เท่าทันผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19

        เดือนมิถุนายน เป็นช่วงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชาชนไทยให้มากที่สุด มีข่าวต่างๆ มากมายว่า วัคซีนที่ไทยใช้นั้นไม่ดี ไม่ปลอดภัยเท่ากับของอเมริกา และมีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้คนไทยกลัวการฉีดวัคซีน อยากได้วัคซีนที่ปลอดภัยกว่านี้ มารู้เท่าทันผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดกันเถอะ รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในสหรัฐอเมริกา        ในอเมริกาจะมีระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยทุกๆ วันศุกร์ จะรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนทุกชนิด         ข้อมูลระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2563 – 28 พฤษภาคม 2564 มีการรายงานว่า         อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดมีจำนวนทั้งหมด 294,801 ราย จากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 292.1 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 0.1         ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนโมเดอร์นา 123 ล้านโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ 158 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 11 ล้านโดส         มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 25,359 ราย มีผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีน 5,165 ราย         โดยร้อยละ 24 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 48 ชั่วโมง ร้อยละ 38 เสียชีวิตหลังการฉีดภายใน 24 ชั่วโมง ที่เกิดในผู้ที่ได้รับวัคซีนและป่วยภายใน 48 ชั่วโมง         ร้อยละ 52 ที่เสียชีวิตเป็นผู้หญิง ร้อยละ 45 เป็นผู้ชาย ที่เหลือไม่ได้ระบุเพศ         อายุเฉลี่ยที่เสียชีวิตคือ 74.4 ปี         ร้อยละ 17 ที่เสียชีวิต เกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ         หญิงที่ตั้งครรภ์ 1,831 ราย เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ในจำนวนนี้ มี 596 รายที่แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด         เกิดอาการอัมพาตของใบหน้า (Bell’s Palsy) 2,876 ราย เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 41 วัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 41 และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9         มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน 5,159 รายงาน  จากวัคซีนไฟเซอร์ 2,213 รายงาน จากวัคซีนโมเดอร์นา 1,617 รายงาน และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1,289 รายงาน         มีรายงานการเกิดการอาการแพ้รุนแรง 83,684 รายงาน จากวัคซีนไฟเซอร์ ร้อยละ 40 จากวัคซีนโมเดอร์นา ร้อยละ 51 และจากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 9     รายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิดในไทย         เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ สะสม 7,003,783 โดส แล้ว ฉีดเข็มแรก 5,114,755 ราย เข็มสอง 1,889,028 ราย         พบอาการไม่พึงประสงค์ ทั้งวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า         มีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 68 ราย โดยจำนวน 13 ราย ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน อีก 55 รายรอการพิจารณา         เป็นการฉีดวัคซิโนแวค 3,214,385 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ 993 ราย (เฉพาะที่ต้องนอนโรงพยาบาล) คิดเป็น 20 ราย ต่อ 1 แสนโดส  พบมากที่สุดคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น         เป็นวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 1,943,693 โดส พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รับรักษา 472 ราย คิดเป็น 24 ราย ต่อ 1 แสนโดส พบมากคือ อาการไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว         สรุป  วัคซีนที่เชื่อว่าดีที่สุดนั้น มีอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน และอาจมีมากกว่าวัคซีนที่ฉีดในไทยอย่างเห็นได้ชัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 รู้เท่าทันน้ำกระชายขาวป้องกันและรักษาโควิด-19

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงเท่าน้ำกระชายขาวเพื่อการป้องกันและรักษาโควิด-19 มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยของมหิดลว่า กระชาย (ขาว) สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ จึงมีการเชียร์ให้กินกระชายและดื่มน้ำกระชายเพื่อป้องกันและรักษาโควิด-19 อย่างอย่างครึกโครมไม่แพ้ฟ้าทะลายโจร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กระชายขาวคืออะไร        กระชายขาวที่เรียกกันนี้ ก็คือกระชายหรือกระชายเหลือง กระชายเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี และนำมาปรุงเป็นอาหาร เป็นส่วนผสมสำคัญในแกงป่าเพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี หรือใช้เป็นผักจิ้มได้โดยตรง         กระชาย มีสรรพคุณทางยามากมายจนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีสรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งกระชายและโสมต่างสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดิน และสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และเนื่องจากโสมมีรูปร่างคล้ายกับคน จึงเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกับนมผู้หญิง   งานวิจัยที่ยืนยันสรรพคุณในการป้องกันโควิด-19         มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร PubMed [1]     ว่า มีการศึกษาสมุนไพรไทย 122 ผลิตภัณฑ์ พบว่า สารสกัดกระชายและสารประกอบเคมีจากพืช panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้ง SARS-CoV-2 การรักษาการติดเชื้อ  SARS-CoV-2  ด้วยสารสกัด  B. rotunda และ panduratin A ยับยั้งการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี         โครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจากสมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS ขณะนี้งานวิจัยกระชายขาวอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยในคน การพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรค COVID-19 จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี กระชายในท้องตลาดราคาสูงขึ้นมาก         จากการค้นพบสรรพคุณของกระชายดังกล่าว ทำให้ราคาหัวกระชายขาวเพิ่มสูงขึ้น จากปกติราคากิโลกรัมละ 30 บาท ราคาพุ่งขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 – 100 บาททีเดียว และบางตลาดถึงกับไม่พอขายเลย น้ำกระชายสามารถป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เป็นความชาญฉลาดของพ่อค้าแม่ขาย เพื่อให้สะดวกสำหรับผู้บริโภค ก็มีการนำกระชายมาทำเป็นน้ำกระชายดื่ม และใช้ความเชื่อเดิมว่า สารสกัดกระชายสามารถรักษาโควิด-19 ได้ การดื่มน้ำกระชายก็น่าจะมีผลในการรักษาและป้องกันโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน         น้ำกระชาย กระชายสามารถยับยั้ง รักษาโควิด-19 ในคนได้หรือไม่นั้น งานวิจัยยังไปไม่ถึงระดับนั้น อยู่ระหว่างการวิจัยในคนอยู่         เมื่อรักษาโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ ก็น่าจะรักษาในคนได้เหมือนกัน         ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกระบวนการที่คนกินยาหรือสมุนไพรเข้าไป จะต้องผ่านการย่อยและดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และค่อยไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การย่อยและดูดซึมอาจทำให้ยาหรือสมุนไพรเปลี่ยนสภาพ และมีสรรพคุณเปลี่ยนไปจนไม่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนในหลอดทดลองก็ได้         สรุป  การกินกระชาย น้ำกระชาย อาจไม่สามารถยับยั้ง รักษา โควิด-19 ได้เหมือนในหลอดทดลอง แต่ก็ไม่มีอันตรายเพราะคนไทยกินกระชายเป็นอาหารตามปกติอยู่แล้ว และยังช่วยรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้[1] Sci Rep. 2020 Nov 17;10(1):19963. doi: 10.1038/s41598-020-77003-3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันกัญชากินได้

        ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงให้กัญชาเป็นสารที่สามารถผสมในอาหารและขนมต่างๆ เพื่อการบริโภคได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งประเทศไทยก็พยายามให้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ดอก ไม่เป็นสารเสพติด สามารถนำมาบริโภคหรือใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ (โดยยังมีระเบียบการผลิต การปลูกกัญชาควบคุมอยู่) มีร้านอาหารบางร้านทั้งภาครัฐและเอกชนนำกัญชามาเป็นเมนูของอาหารที่ร้าน กัญชากินได้ในอาหารและขนมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ มีข้อดีข้อเสียต่อสุขภาพอย่างไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กัญชากินได้คืออะไร         กัญชากินได้คืออาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในขณะนี้ ความจริงแล้วการกินกัญชามีมานานหลายพันปีทั้งในเอเชียและประเทศทางตะวันตก ปัจจุบัน ในประเทศอเมริกา แคนาดา ยุโรป สามารถหาซื้อขนมปัง หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ยาอม น้ำดื่มใส่กัญชา เป็นต้น ในบ้านเราก็มีเมนูอาหารหลายอย่างที่เริ่มนำใบกัญชามาใส่ในอาหาร ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่         การกินกัญชาในอาหารทำให้เราได้รับสรรพคุณของกัญชาโดยไม่ต้องสูบ การกินก็ง่ายกว่าและดึงดูดใจมากกว่า เราจึงต้องรู้วิธีการกินและการดื่มที่เหมาะสม เพราะเมื่อกินกัญชาเข้าไป กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เพราะต้องผ่านระบบทางเดินอาหารก่อนดูดซึมเข้าในกระแสเลือด จึงอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงและระดับความเข้มข้นของกัญชาจะค่อยๆ เพิ่มจนถึงขีดสูงสุด ดังนั้น ระดับของกัญชาในเลือดจึงอาจกินเวลา 2-3 ชั่วโมงจนถึงตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากินกัญชามากน้อยแค่ไหน กลุ่มเสี่ยงต่อการกินกัญชาในอาหาร         วารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกินกัญชาในอาหารคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงในการกินมากเกินไป และเผลอกินเพราะนึกว่าเป็นขนมทั่วไป         ในต่างประเทศ กัญชาในอาหารหลายชนิดจะทำเป็นคล้ายลูกกวาด หมากฝรั่งที่มีรสหวาน ช็อกโกแลต ซึ่งผสม THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีผลต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ กัญชากินได้เหล่านี้เหมือนขนมเด็ก ทำให้เด็กหลงกินเข้าไป         กัญชากินได้ต้องผ่านการย่อยและดูดซึม ทำให้ผู้ที่ไม่รู้บริโภคมากเกินไป เพราะออกฤทธิ์จะช้า ทำให้กินเข้าไปมาก         กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะต้องการการบริโภคเพื่อช่วยให้จิตใจสบาย และเจริญอาหาร แต่ก็มีรายงานว่า มีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อสุขภาพ บางรายต้องรับรักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากการกินกัญชาในอาหาร         ปัจจัยที่มีผลต่อการกินกัญชากินได้คือ เพศ น้ำหนัก อาหาร และความทนต่อกัญชา         ปัญหาใหญ่ของการกินกัญชาคือ กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์จะนานกว่าการสูบ ประมาณว่า 3 ชั่วโมงหลังการกิน เมื่อไม่รู้สึกว่ากัญชาออกฤทธิ์ ก็จะกินมากขึ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ เมื่อกัญชาออกฤทธิ์ก็จะเกิดอาการของการกินกัญชามากเกินไป ทำให้เกิดอาการทางจิต เกิดความหวาดกลัว สับสน และเกิดภาพหลอน ในผู้สูงอายุสามารถเกิดอาการทางหัวใจได้         ดังนั้น กัญชาในอาหารมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ จึงต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างรอบคอบ

อ่านเพิ่มเติม >