ฉบับที่ 274 ถูกหลอกจากสินค้าส่งปลายทางไม่ตรงปก

        ปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางทุกวัน ทั้งที่ตำรวจตามจับไม่เว้นวัน และสื่อต่างๆ ก็ได้เผยแพร่ข่าวผู้เสียหายมาตลอด แต่ด้วยมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ เช่น กรณีของคุณสุวิมล         ภายในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว คุณสุวิมลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เปิดเพจหลอกขายสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คุณสุวิมลสั่งซื้อผ้าห่มนวม ราคาผืนละ 400 บาท แต่เมื่อสินค้ามาส่งจริงกลับเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กๆ 1 ผืน และครั้งล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน คุณสุวิมลต้องการหารองเท้ามาใส่ทำงานแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงหาร้านที่สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วันและราคาไม่เกิน 200 บาท เมื่อค้นหาในเฟสบุ๊ค จู่ๆ ก็มีเพจร้านขายรองเท้ามาให้คุณสุวิมลเห็นเองอยู่บ่อยครั้ง เธออดไม่ได้เลยกดเข้าไปดูและเห็นรองเท้าแบบที่เธอกำลังหาอยู่มากมาย เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็เห็นว่า เพจรายงานว่ามีสินค้าที่ขายแล้วจำนวนมากและอัพเดตสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสุวิมล ทักไปสอบถามระยะเวลาการจัดส่ง แอดมินเพจก็ได้ถาม “คุณสุวิมลอยู่จังหวัดอะไร”  เมื่อตอบว่า อยู่จังหวัดอยุธยา แอดมินเพจจึงบอกว่า “สามารถจัดส่งให้สินค้าไปถึงได้ภายใน 1 วัน ”  เมื่อประกอบกับสินค้าราคารวมจัดส่งแล้วไม่เกิน 200 บาท คุณสุวิมลคิดว่าราคาสินค้าไม่สูง มิจฉาชีพน่าจะหลอกเอาเงินจำนวนมากกว่านี้จึงหลงเชื่อและสั่งรองเท้าไป 1 คู่          รองเท้าที่คุณสุวิมลสั่งเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาว ลายสีฟ้าเบอร์ 38 แต่เมื่อพนักงานส่งของมาส่งวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. คุณสุวิมลแกะกล่องออกมา  กลับเป็นรองเท้าหนัง สภาพเก่ามากเบอร์ 44 คุณสุวิมลจึงบันทึกวิดีโอตอนเปิดกล่องส่งให้ทางเพจดูว่าได้รับสินค้าไม่ตรง  แอดมินเพจเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบกลับข้อความใดๆ จึงสุวิมลจึงรู้แน่ว่า เธอถูกหลอกอีกแล้ว       แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อผู้บริโภค รู้ว่าซื้อสินค้าและถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ภัยทางการเงิน จากมิจฉาชีพ ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร        โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว  ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำหลักฐานส่งต่อให้กับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่คิดได้ว่าไม่สะดวกใจยกเลิกได้นะ

        ใครไม่เคยโดนบอกขายประกันทางโทรศัพท์บ้าง น่าจะน้อยคนนะยิ่งใกล้สิ้นปีนี้จะมากันเรื่อยๆ หวังปิดยอดการขาย ผู้บริโภคหากมีอาการเผอเรอคิดไม่ทันแล้วรับปากทำประกันทางโทรศัพท์ไป มันมีวิธีบอกเลิกอยู่นะ         คุณดวงพร ได้ตกปากซื้อประกันภัยรถยนต์กับนายหน้าไปในข้อตกลงที่ระบุเบี้ยประกัน 5 แสนบาท สามารถซ่อมศูนย์ได้ทั่วประเทศ ตอนที่ตัดสินใจทำประกันก็คิดว่ามันมีประโยชน์นะ ทว่าผ่านมาหลายวันเริ่มพบความจริงว่าเราอาจจะมีปัญหาถ้าทำประกันนี้เลยอยากยกเลิก แต่พอโทรศัพ์ไปที่บริษัทประกันภัยที่เป็นคู่สัญญา พบว่าไม่ง่าย คำตอบที่ได้รับคือ “คุณลูกค้าต้องรอให้ได้รับเล่มกรมธรรม์ก่อน” ก็ไม่อยากรออยากยกเลิก ทำไมต้องรอ ยิ่งพบว่า บัตรเครดิตของตนเองถูกเรียกเก็บเงินประกันงวดแรกไปแล้วด้วย คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย ทำให้ต้องโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ช่วยทีค่ะ ทำอะไรได้บ้างไหม”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากซักถามเหตุต่างๆ ที่คุณดวงพรประสบ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ สงสัยว่าเหตุใดบริษัทประกันถึงเข้าถึงการตัดบัตรเครดิตได้แบบทันที คุณดวงพรแจ้งว่า นายหน้าที่มาขายประกันตนนั้นไม่ได้บอกว่ามาจากบริษัทประกันภัยแต่อ้างว่ามาจากบริษัทรถที่คุณดวงพรเป็นเจ้าของ เลยไม่สงสัยแล้วบอกเลขหน้าบัตรเครดิตและวันหมดอายุไปให้กับนายหน้าคนนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันงวดแรกแล้ว “พยายามติดต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครรับสายเลยหลังจากที่ได้รับคำตอบครั้งแรกที่ให้รอเล่มกรมธรรม์”         เมื่อได้ฟังที่มาที่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ตามกฎหมายนั้น ผู้บริโภคที่อาจเผลอตกลงทำสัญญาซื้อประกันทางโทรศัพท์แต่ต้องการบอกเลิกภายหลัง ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกหรือยกเลิกสัญญาได้ “หากยังไม่ได้รับกรมธรรม์หรือไม่พึงพอใจสามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา แต่หากได้รับกรมธรรม์มาแล้ว ก็ยังสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมแนบกรมธรรม์ประกันชีวิตส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนกลับไปยังบริษัทผู้เอาประกันภัย หรือแม้แต่ในกรณีแบบคุณดวงพรที่ถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแม้แต่ชำระเป็นเงินสด ก็ให้แนบสำเนาบอกเลิกสัญญาแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิต ซึ่งบริษัทประกันต้องคืนเงินทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา หากบริษัทเพิกเฉย สามารถร้องเรียนได้ที่ คปภ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คปภ. หรือ สายด่วน 1186         ต่อมาทราบจากคุณดวงพรหลังจากได้ทำตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ได้คืนเงินให้ครบถ้วนแล้วขอยุติเรื่องร้องเรียน         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเผชิญกับการขายประกันทางโทรศัพท์ หากไม่สนใจสามารถปฏิเสธได้ทันทีโดยวางสายได้เลย บริษัทประกันภัยดังกล่าวจะไม่สามารถมาติดต่อขายประกันได้อีกภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ถูกปฏิเสธ ถ้ายังถูกรบกวนสามารถแจ้งร้องเรียนพฤติกรรมของนายหน้าได้ที่ สายด่วน 1186 และอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ หากถูกตื้อทำประกันทางโทรศัพท์ จงจำไว้ว่า อย่าปัดความรำคาญด้วยคำว่า "ตกลง" หรือ คำว่า “สนใจ” เพราะเสียงของผู้บริโภคที่ถูกบันทึกไว้จะถูกเอาไปเป็นหลักฐานการยืนยัน โดยถือว่า “สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นหากไม่อยากเกิดปัญหาขอให้ยืนยันคำเดียวง่ายๆ ว่า “ไม่สนใจ” วางสายไปเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ยกเลิกทัวร์และได้เงินมัดจำคืน

        การจองทัวร์ไปท่องเที่ยวเมื่อถึงกำหนดแล้วได้ท่องเที่ยวตามที่ใจหวังนับเป็นโชคดี แต่หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นแล้ว การจ่ายเงินซื้อทัวร์ท่องเที่ยวก็ทำให้เงินสูญไปได้เฉยเลยเช่นเดียวกัน   การศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองก่อนทำการซื้อทัวร์จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น กรณีของคุณส้มริน         เรื่องราวของคุณส้มรินเริ่มเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา คุณส้มรินได้จองทัวร์ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในพระคัมภีร์ไบเบิล ณ ประเทศอิสราเอล กับสถาบันที่ส่งเสริมศาสนาคริสต์แห่งหนึ่ง  โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 4-10 ม.ค. 2567  จำนวน 3 คน ราคามัดจำคนละ 15,000 บาท รวมทั้งสิ้น  45,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมและรัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน คุณส้มรินและครอบครัวจึงเป็นกังวลต่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงได้ติดต่อขอยกเลิกทัวร์และขอคืนค่ามัดจำ ซึ่งผู้จัดทัวร์ได้แจ้งคุณส้มรินว่าได้นำเงินชำระค่ามัดจำกับสายการบินแอล อัลอิสราแอร์ไลน์ (LY) ไปแล้ว ซึ่งสายการบินได้แจ้งว่า กรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางตั้งแต่เดือน ต.ค. - พ.ย. สามารถเลื่อนทัวร์ได้ แต่ยกเลิกไม่ได้ ส่วนกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางในปี 2567 ไม่สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทางได้         คุณส้มรินเห็นว่าการจำเป็นต้องยกเลิกทัวร์เป็นเหตุมาจากภัยสงครามไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวเธอ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณส้มรินว่าหากผู้ซื้อทัวร์แจ้งขอยกเลิกให้ผู้จัดทัวร์ทราบล่วงหน้า 30 วัน (หรือเกิน 30 วันไปแล้ว) และยังไม่ได้รับเงินคืนสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ที่กรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ในข้อ 4 (1) ว่า ‘ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยวให้คืนในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’ และในข้อ 5 ยังระบุว่า ‘ในกรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกการนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายเงินค่าบริการคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการ’         อย่างไรก็ตามเมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องของคุณส้มรินแล้วจึงติดต่อไปยังสถาบันผู้จัดทัวร์ดังกล่าว ซึ่งทางสถาบันฯ ได้แจ้งว่า “ปัจจุบันผู้จัดทัวร์ได้ติดต่อกลับคุณส้มรินแล้ว และแจ้งว่าถ้าคุณส้มรินต้องการเดินทางต่อสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้จนกว่าจะพร้อม แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะเดินทางต่อผู้จัดทัวร์จะคืนเงินมัดจำให้คุณส้มรินทั้งหมด”         ดังนั้นประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำให้ประชาชนศึกษาอย่างละเอียดก่อนการซื้อทัวร์ท่องเที่ยวทุกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สายการบินทำกระเป๋าเดินทางหาย

        ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าสัมภาระชำรุดเสียหายระหว่างเดินทางข้ามประเทศ ผ่านสายการบินต่างๆ นั้นมีผู้เสียหายได้ร้องเรียนมามากมายกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเช่นกรณีของคุณน้ำตาล         เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คุณน้ำตาล ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า เธอได้เดินทางกลับจากออสเตรเลียโดยสายการบินแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากเครื่องแล่นลงสู่ภาคพื้นดิน เธอก็มารอรับกระเป๋าสัมภาระของเธอ แต่ไม่พบกระเป๋าสัมภาระของตัวเองไม่ว่าจะรอนานแค่ไหน จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตรวจสอบ หลังการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีกระเป๋าเดินทางของเธอในระบบ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เธอกลับบ้านไปก่อน หากพบว่ากระเป๋าของเธออยู่ตรงไหนแล้วทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับ คุณน้ำตาลจึงทำตามคำแนะนำที่ทางเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า จะดำเนินการติดตามให้ภายใน 21 วัน         ผ่านมาแล้ว 21 วัน คุณน้ำตาลยังไม่ได้รับการติดต่อจากสายการบิน เธอร้อนใจเพราะว่าของที่อยู่ในกระเป๋าก็มีมูลค่าไม่ใช่น้อย กระเป๋าเดินทางก็ราคาไม่เบา 5,000 บาท เสื้อผ้า และของใช้ ประมาณ 20,000 บาท คอมพิวเตอร์+อุปกรณ์ 30,000 บาท และแทบเล็ตอีก 10,000 บาท จึงได้รีบติดต่อสายการบินอีกครั้ง ทางสายการบินได้ส่งอีเมล์แจ้งว่าไม่พบสัมภาระผู้ร้อง อ้าว ! ทำไมทำกันแบบนี้ ทางสายการบินได้ให้คุณน้ำตาลทำเรื่องเคลมกระเป๋าที่สูญหาย เธอเองกังวลว่า สายการบินจะชดเชยความเสียหายตามจำนวนที่เสียหายได้หรือไม่ จึงร้องมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิฯ แนะนำให้ติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงกับสายการบินเรื่องการเคลมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และให้ผู้ร้องดำเนินการทำเรื่องเคลมกับสายการบินตามระเบียบดังกล่าวก่อน หากพบปัญหาอย่างไรให้แจ้งมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากพบว่า ทางสายการบินชดเชยให้ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากกระเป๋าเดินทางสูญหายหรือชำรุดเสียหาย จากการขนส่งโดยสายการบิน มีวิธีการ  ดำเนินการตามนี้         1.  ติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่ใช้บริการเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐาน        2.  ถ่ายภาพความเสียหายของกระเป๋าเดินทาง (กรณีกระเป๋าชำรุดเสียหาย)         3.  รีบติดต่อขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที         4.  กรณีกระเป๋าสูญหาย ให้รีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สนามบินเพื่อลงบันทึกประจำวัน เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สูญหายในกระเป๋าเดินทาง สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อป้องกันเบื้องต้น        ·  ชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ ไว้ที่แท็ก (tag) และด้านในของกระเป๋าเดินทางพร้อมกับ ถ่ายรูปกระเป๋าเดินทางเก็บไว้ก่อนทำการเช็กอิน        ·  หลังชั่งน้ำหนัก เช็กอินกระเป๋าเดินทาง แนะนำให้ตรวจสอบว่าได้รับแท็กบาร์โค้ดเท่ากับจำนวนกระเป๋าเดินทางหรือไม่ (กระเป๋า 1 ใบ ต่อ 1 แท็ก)        ·  ทำสัญลักษณ์ไว้บนกระเป๋าเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหยิบผิด กรณีกระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 พนักงานโรงแรมทำ “โน้ตบุ๊ก” เสียหาย

        เวลาจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งที คิดว่าหลายๆ คน คงจะเลือกแล้ว เลือกอีกกับที่พัก เพราะนอกจากเราจะเสียเงินทั้งที ก็คงอยากได้ที่พักแบบคุ้มค่าและปลอดภัย ให้คุ้มกับเงินที่เสียไปใช่ไหมล่ะ?         ก็เหมือนกับคุณวี ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่...ไม่ใช่เรื่องที่พักไม่ตรงปกอย่างที่คิดหรอกนะ แต่เป็น เรื่องที่ทางพนักงานของโรงแรมนั้น ทำทรัพย์สินของคุณวีเสียหายนะสิ โดยคุณวีเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังว่า เขาได้ไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเขาเดินทางถึงโรงแรมดังกล่าว ก็มีรถกอล์ฟมารอรับ-ส่งทันที ในขณะที่ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบนรถกอล์ฟ ก็มีกระเป๋าใบหนึ่งที่เขาตั้งใจวางในลักษณะยืนตั้งเอาไว้ปกติ เพราะในกระเป๋าดังกล่าวมีโน้ตบุ๊ก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อขนย้ายเสร็จสิ้น ก็เดินทางไปห้องพักทันที แต่...เมื่อมาถึงห้องพักกลับต้องตกใจ! เพราะว่าพนักงานโรงแรมดันเอา กระเป๋าเป้ที่มีโน้ตบุ๊ก ไปวางไว้ในลักษณะแนวนอนราบไปกับพื้น ทำให้ขวดน้ำที่อยู่ในกระเป๋าไหลมาโดนโน้ตบุ๊ก ซึ่งทางพนักงานเองก็ยอมรับว่าเป็นคนวางไว้แบบนั้นเอง         คุณวี จึงต้องรีบแก้ปัญหาโดยการนำกระเป๋าเป้ตั้งขึ้น พร้อมกับรีบเอาของทั้งหมดออกจากกระเป๋า ซึ่งในขณะเดียวกัน ทางพนักงานก็ได้กล่าวว่า “ขอตัวก่อนนะครับ” จึงทำให้ทางคุณวีรู้สึกว่า ทางพนักงานไม่มีการพูดกล่าวขอโทษ หรือพยายามช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเลย และโน้ตบุ๊กของเขาก็เสียหายอีกด้วย         แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางผู้ร้องได้มีการติดต่อส่งอีเมลไปยังโรงแรม พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมา ทางโรงแรมก็ได้ติดต่อทางผู้ร้องมาว่าจะทำการตรวจสอบเรื่องราว 1 วัน และจะติดต่อกลับมา ซึ่งทางโรงแรมก็ได้ติดต่อกลับมาพร้อมแจ้งว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้ร้องส่งข้อมูล เช่น ใบเสร็จรับเงิน และโน้ตบุ๊กที่เสียหายไปยังโรงแรม แต่เมื่อคุณวีได้ส่งข้อมูลไปแล้วพบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมาจากทางโรงแรมอีกเลย จึงได้แจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทางสำนักงานใหญ่จึงจะชดเชยเป็นเงินเพียง 5,000 บาท เท่านั้น ซึ่งทางผู้ร้องยังรู้สึกว่าไม่โอเค         เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวัน และได้ทำหนังสือไปถึงทางโรงแรมดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคนั้น ระมัดระวังทรัพย์สินตัวเองด้วย หากเป็นทรัพย์สินมีค่าหรือของที่รู้สึกว่าเสียหายได้ง่าย อ่อนไหว ควรป้องกันโดยการแจ้งพนักงานให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >