ฉบับที่ 215 วิธีจัดการเมื่อบ้านเอื้ออาทรกำลังถูกยึด

          แม้บ้านเอื้ออาทรจะมีราคาไม่สูง แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้พวกเขาอาจขาดส่งค่างวดได้บ่อย อีกทั้งยังขาดข้อมูลเพื่อการจัดการที่ดี ทำให้หลายคนที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรไว้ อาจถูกยึดบ้านไปโดยไม่รู้ตัว        คุณเดียร์มีอาชีพขายก๋วยจั๊บ ทำสัญญาซื้อบ้านในโครงการเอื้ออาทรที่รังสิต คลองเก้าไว้ ตั้งแต่ปี 2555 ในราคา 600,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 3,000 บาท คุณเดียร์ไม่ได้พักอยู่ในโครงการฯ เพราะไม่ใช่ทำเลของการค้าขาย แต่ต้องการมีบ้านไว้สำหรับอยู่ตอนที่ชราค้าขายไม่ไหวแล้ว        ในระยะแรกคุณเดียร์สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติโดยให้ทางการเคหะแห่งชาติ หักบัญชีธนาคาร แต่เมื่อการค้าขายไม่ค่อยดี คุณเดียร์ก็ขาดส่งบ้าง งวดถึงสองงวด แต่ก็ยังรวบรวมเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ได้ จนล่าสุดขาดสภาพคล่อง คุณเดียร์ค้างชำระไป 5 เดือน และตกใจมากเมื่อคนรู้จักกันนำประกาศของการเคหะฯ มาให้ที่ร้าน บอกว่าเป็นประกาศที่ปิดไว้ที่บ้านในโครงการฯ  เนื้อหาคือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากขาดส่งเกินสามเดือนและให้มอบคืนบ้านภายใน 7 วัน เมื่อติดต่อไปเพื่อขอชำระหนี้ทั้งหมดและต่อสัญญา ทางเจ้าหน้าที่การเคหะฯ บอกว่า “ทำไม่ได้แล้ว เพราะบ้านได้ขายไปแล้ว”         คุณเดียร์จึงขอคำปรึกษามาว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง เพราะหนึ่งไม่มีจดหมายแจ้งถึงตน แต่ทางการเคหะฯ อ้างว่า ส่งหนังสือไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 แต่ไม่มีผู้รับหนังสือจึงถูกตีกลับมา ซึ่งคุณเดียร์สอบถามทางบ้านแล้วไม่มีใครเห็นหนังสือดังกล่าว สอง ถ้ายกเลิกตั้งแต่เดือนมกราคม ทำไมตอนที่ผู้ร้องชำระเงินค่างวดไปเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทางการเคหะฯ ก็ยังคงหักเงินในบัญชีออกไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ขณะนี้เรื่องของคุณเดียร์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่มีประเด็นที่อยากฝากไว้คือ ผู้บริโภคไม่ควรละเลยกับเรื่องของการผ่อนค่างวด หากพบว่าตนเองไม่มีสภาพคล่อง ควรหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้ค้างชำระเกินสามงวดติดกัน และควรใส่ใจเรื่องข้อมูลที่ทางการเคหะฯ แจ้งแก่ผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เมื่อบอร์ดวุฒิศักดิ์คลินิกประชุมแก้ปัญหาลูกค้ากว่า 6 เดือน

            ปีที่ผ่านมามีข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและการปิดตัวหลายสาขาของคลินิกเสริมความงาม เจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” วุฒิศักดิ์คลินิก ทำให้ผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อคอร์สเสริมความงามได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ก็คือ คุณปราง ที่ต้องรอวุฒิศักด์คลินิกแก้ปัญหากว่าครึ่งปี          เพราะชื่อเสียงก่อนหน้านี้ของวุฒิศักดิ์คลินิกและจำนวนสาขาที่มีมากมาย ทำให้คุณปรางไว้ใจและซื้อคอร์สเสริมความงาม ที่เรียกว่า เลเซอร์และอัลตราดีฟ ในราคา 24,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ณ สาขาเซ็นทรัลขอนแก่น แต่พอเดือนถัดมาคลินิกสาขานี้ก็ปิดตัวลง แจ้งเพียงว่าให้ลูกค้าไปใช้บริการต่อที่คลินิกสาขาบิ๊กซี ขอนแก่น ซึ่งคุณปรางเล่าว่า “ใช้บริการไม่ได้เลย ไปทีไรคิวเต็มบ้าง ไม่มีพนักงานบ้าง ยาหมด หมอไม่อยู่...” ทำให้คุณปรางต้องขับรถไปใช้บริการถึงเดอะมอลล์ โคราช และที่เหนื่อยใจที่สุดก็คือคุณปรางไม่สามารถติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิกได้เลย จึงต้องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้รับการร้องเรียนเดือนพฤษภาคมจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิก ซึ่งเป็นไปตามที่คุณปรางระบุคือ ไม่สามารถติดต่อได้ จึงใช้อีเมล์ติดต่อไปตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลไว้ และติดต่อไปยังเบอร์ของสำนักงานหลัก จึงได้คุยกับพนักงาน ทางพนักงานแจ้งว่า ขอให้ผู้ร้องคือคุณปรางส่งเอกสารร้องเรียนไปที่สำนักงานหลักที่กรุงเทพฯ และทางสำนักงานจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาเพื่อคืนเงินให้ ซึ่งคุณปรางก็ปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดตามข้อมูลกรณีร้องเรียนของคุณปรางกับทางสำนักงานหลัก ได้รับแจ้งว่าเรื่องการพิจารณาเพื่อคืนเงินยังไม่คิวของคุณปราง ขณะนี้(เดือนกรกฎาคม) ยังเป็นคิวของผู้ร้องขอคืนเงินที่ยื่นเรื่องในเดือนกุมภาพันธ์อยู่          ทางศูนย์พิทักษ์ฯ พยายามติดตามเรื่องให้คุณปรางโดยตลอดพบว่า เรื่องของคุณปรางยังอยู่ในระหว่างพิจารณา จนวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เมื่อติดต่อไปจึงได้รับแจ้งจากพนักงานว่า ยังไม่มีการประชุมบอร์ดในขณะนี้และไม่ทราบว่าจะประชุมเมื่อใดเพราะผู้บริหารไปต่างประเทศ อีกอย่างหนึ่งยอดเงินของคุณปรางเหลือที่ต้องคืนอยู่เพียง 936 บาท จึงแนะนำว่าให้กลับไปใช้บริการต่อที่สาขาบิ๊กซีขอนแก่นหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าแทน เมื่อทางศูนย์ฯ นำเรื่องแจ้งต่อคุณปรางตามที่ได้รับคำตอบมา คุณปรางก็ขอยุติเรื่อง เพราะไม่สะดวกและเบื่อการรอคอยคำตอบจากวุฒิศักดิ์คลินิกแล้ว “มันนานเกินไป” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีใหม่มีแต่เสียงไม่มีภาพ

  กลางเดือนสิงหาคม คุณภูผาซื้อโทรทัศน์ ยี่ห้อชาร์ป ขนาด 40 นิ้ว จากห้างเทสโก้โลตัส สาขาโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นของขวัญวันแม่ หลังจากซื้อมาก็เปิดดูบ้างไม่ได้เปิดบ้าง จนประมาณกลางเดือนกันยายน เมื่อเปิดโทรทัศน์พบว่า โทรทัศน์มีแต่เสียงไม่มีภาพ โดยที่เพิ่งซื้อมาได้ 1 เดือน จึงแจ้งไปยังบริษัท ชาร์ป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะให้ศูนย์บริการสาขาร้อยเอ็ด เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหา          หลังจากแจ้งไปแล้ว คุณภูผาก็รอเมื่อไรช่างจะมา ทว่าเงียบหายไร้ช่างเข้ามาตรวจสอบ จนเดือนตุลาคมคุณภูผาติดต่อไปยังศูนย์บริการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ความว่า ทางศูนย์รออะไหล่จากบริษัทอยู่ คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทไม่ได้สนใจในการแก้ไขปัญหาเลย ให้รอเป็นเวลานานและไม่แจ้งความคืบหน้า ต้องสอบถามบริษัทอยู่ฝ่ายเดียว จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอให้ช่วยตามกับบริษัทให้แก้ปัญหา หรือบริษัทน่าจะเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะเพิ่งซื้อมาแค่ 1 เดือนก็เกิดปัญหาแล้ว แนวทางแก้ไขปัญหา          เมื่อรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือถึงบริษัทให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบต่อมาว่า ระหว่างออกหนังสือทางศูนย์บริการได้ส่งช่างเข้าซ่อมโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสอบถามพนักงานเกี่ยวกับอาการของโทรทัศน์ พนักงานบริการระบุว่าเกิดจากหลอดไฟเสีย ทำให้ไม่มีภาพมีแต่เสียง จึงเปลี่ยนหลอดไฟให้ใหม่ ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ปกติแล้ว ผู้ร้องพยายามขอให้พนักงานเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็แนะนำผู้ร้องด้วยเช่นกันว่า ควรให้บริษัทเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ แต่ผู้ร้องกังวลใจว่าเรื่องจะยุ่งยาก แค่ขอให้ซ่อมยังใช้เวลานาน ถ้าเปลี่ยนเครื่องต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งผู้ร้องไม่สะดวก เนื่องจากโทรทัศน์อยู่ต่างจังหวัดส่วนผู้ร้องอยู่กรุงเทพฯ          สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิตที่เรียกว่า กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า(Lemon Law) ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก เช่นผู้บริโภครายนี้ก็จะได้รับการเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ด้วย โดยบริษัทไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ทวงหนี้โหดร้องเรียนได้แล้วนะ

หลายท่านคงหงุดหงิดรำคาญใจจากการถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายทวงหนี้ (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) ออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีเจ้าหนี้ทวงถามหนี้แบบข่มขู่คุกคาม และมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราเป็นหนี้แล้วถูกทวงถามแบบสุภาพชนถือว่าปกติ แต่ผู้ร้องรายนี้ไม่ได้เป็นหนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่บริษัททวงหนี้โทรมาตามเลย จะทำอย่างไรดี        คุณภูผาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ถูกเจ้าหน้าที่บริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ลูกหนี้ชื่อคุณดวงรัตน์(นามสมมติ) เป็นคนที่คุณภูผาไม่รู้จัก ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งคุณภูผาก็งงว่าทำไมโทรศัพท์มาทวงที่ตนเอง ดวงรัตน์เป็นใครตนเองไม่ได้รู้จักแม้สักนิด การทวงถามนี้คุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่แสดงตนว่าชื่อ-นามสกุลอะไร มาจากบริษัทอะไร เมื่อคุณภูผาขอให้แจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ ทั้งนี้ยังแสดงวาจาไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำหยาบคาบ และข่มขู่คุกคามอีกด้วย คุณภูผาปฏิเสธว่าไม่รู้จักลูกหนี้คนดังกล่าวและตนเองก็ไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตใคร จึงวางสายไป  แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังโทรศัพท์มาทวงถามซ้ำๆ อีกหลายครั้ง จนเหนื่อยใจ คุณภูผาจึงตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาทวงหนี้คือ 02-7912800 จากเว็ปไซด์ www.google.com พบว่าคือเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไอคอน แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการทวงถามหนี้ของธนาคาร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณภูผาได้ทำหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขอให้แก้ไขพฤติกรรมการทวงหนี้ และแสดงความรับผิดชอบโดยมีหนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรให้ นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขอให้ดำเนินการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ เวลาผ่านมาหลายเดือนคุณภูผาไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย จึงปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าควรดำเนินการต่ออย่างไรดีประเด็นนี้การกระทำของบริษัททวงหนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ห้ามข่มขู่คุกคาม บทลงโทษอยู่ในมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ บทลงโทษอยู่ในมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถานีตำรวจนครบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอและสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่        ผู้ร้องอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีหนังสือถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามผลการดำเนินการกรณีคุณภูผา         สถานการณ์ปัจจุบัน จากการที่ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ระดับประเทศ พบว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทวงถามหนี้ค่อนข้างน้อย หรือบางจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียนเลย ทำให้คณะกรรมการฯ ระดับประเทศเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ และบริษัททวงหนี้มีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกบริษัททวงถามหนี้ข่มขู่ คุกคาม และมีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่พบเห็นหรือถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่แนะนำไว้ข้างต้น เพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดกฎหมายถูกลงโทษ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เห็นใจกันบ้างไหม รถใหม่แต่ทำไมแอร์ไม่เย็น

            อากาศประเทศไทยร้อนแค่ไหน ถามใจดู ยิ่งนำรถมาวิ่งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่รถติดสาหัส รถยนต์ใหม่เพิ่งถอยมาแท้ๆ แทนที่จะได้ไอเย็นของแอร์เย็นฉ่ำกลับร้อนจนเหงื่อตก อารมณ์จะไม่เดือดอย่างไรไหว             เรื่องนี้ยังไม่จบต้องยาวไปถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ขอนำมาเล่าเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเริ่มจากที่คุณประภาส ซื้อรถยนต์ใหม่ปีที่แล้ว แต่ใช้งานได้ไม่นานประมาณปลายเดือน ก.ค. 60 ขับรถอยู่ดีๆ รถเกิดอาการแอร์ไม่เย็น จึงนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ดังกล่าว ช่างระบุต้องเปลี่ยนอะไหล่ คุณประภาสไม่พอใจนักเพราะว่า รถยนต์ตนเองยังใหม่อยู่เลย นี่ถึงกับต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว แต่ไม่อยากร้อนมากไปกว่านี้ จึงตกลงจ่ายค่าเปลี่ยนอะไหล่เป็นเงิน 12,386 บาท            ใช้งานมาได้จนถึงตุลาคม 60 อาการแอร์ไม่เย็นก็กลับมาอีกครั้ง ศูนย์ฯ ระบุว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่บางตัว แต่คราวนี้คิดที่ราคา 469 บาท “เอาน่าจ่ายก็จ่าย” คุณประภาสตัดใจ แต่เรื่องกวนใจนี้ไม่จบย่างเข้ามีนาคม 2561 แอร์ไม่เย็นอีก จึงต้องนำรถเข้าศูนย์ฯ เกิดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนอะไหล่อีก 6,524 บาท รวมว่าเสียเงินไปแล้ว 19,381 บาท  ทว่าในเวลาเพียงสิบกว่าวันถัดมา คุณประภาสต้องนำรถยนต์ไปศูนย์ฯ บริการซ้ำด้วยปัญหาเดิมแอร์ไม่เย็น ทายสิว่าทางศูนย์บริการบอกว่าอย่างไร ใช่แล้ว ศูนย์ฯ แจ้งต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่คราวนี้คุณประภาสไม่ยอม            คุณประภาสยื่นเงื่อนไขให้ศูนย์บริการคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด เนื่องจากดำเนินการหลายครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขอาการแอร์ไม่เย็นได้ แต่ทางศูนย์ฯ ปฏิเสธคืนเงินเต็มจำนวน จะคืนเงินเพียงแค่ในส่วนของการซ่อมครั้งที่สองและสาม  โดยต้องขอถอดอะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในทั้ง 2 ครั้งคืนด้วย เนื่องจากการรับประกันการซ่อมตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สาม มีระยะเวลาประกันแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งคุณประภาสรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะในใบเสร็จรับเงินแจ้งว่า “รับประกันงานซ่อมหรือผลงานซ่อม 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน” ทั้งในความเป็นจริงการซ่อมครั้งที่สองเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน แอร์รถยนต์ก็ไม่ดีขึ้นจากการซ่อมครั้งแรก หรือจนล่วงเข้าครั้งที่ 3 ก็เป็นระยะเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งระยะเวลาทั้งสองครั้งนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำเพราะเป็นไปตามเงื่อนไขการรับประกัน ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงควรต้องคืนเงินทั้งหมดให้            คุณประภาสติดตามเพื่อให้ทางศูนย์บริการดำเนินการคืนเงินทั้งหมดอีกหลายครั้ง แต่การเจรจาไม่ประสบผลทางศูนย์ฯ ยืนยันเหมือนเดิม คุณประภาสจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้นัดทั้งสองฝ่ายเจรจา คราวนี้ทางศูนย์บริการยื่นข้อเสนอจะซ่อมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่คืนเงินจากการซ่อมที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง ซึ่งคุณประภาสปฏิเสธโดยยืนยันเช่นกันว่าศูนย์บริการต้องคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด            ทางศูนย์บริการจึงได้อธิบายว่า เงื่อนไขการรับประกัน หมายถึงจะครอบคลุมเฉพาะอะไหล่อุปกรณ์ชิ้นที่เปลี่ยนเท่านั้น ไม่รับประกันไปถึงงานซ่อมแอร์ให้กลับมาทำงานได้  ซึ่งคุณประภาสรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา            การเจรจาที่ สคบ. เกิดขึ้นสองครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงมาปรึกษาที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ประสานงานกับทางศูนย์บริการเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่ทางคุณประภาสเอง คิดว่าคงไม่สามารถตกลงกันได้อีกเพราะผ่านการเจรจาหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอคำปรึกษาเรื่องฟ้องคดีแทน             กรณีนี้จึงได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นว่า การรับประกัน(ในความหมายของศูนย์บริการรถยนต์แห่งนี้) หมายถึงรับประกันแค่อะไหล่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงรับประกันว่าซ่อมแล้วของจะใช้งานได้เหมือนเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ขายคอร์สความงาม บอกจ่ายก่อนเดี๋ยวคืนเงินให้

         เล่าเรื่องถูกชักจูงให้ซื้อคอร์สความงามจากพนักงานขายที่ประจำอยู่ตามห้างสรรพสินค้ามาก็หลายรอบ คราวนี้ไม่ต้องเดินห้างหรอกนะจ๊ะ อยู่บ้านสวยๆ ก็มีพนักงานมาเสิร์ฟคอร์สขายผ่านโทรศัพท์แบบไม่ทันตั้งตัว         วันหนึ่งคุณเนตรดาวกำลังเพลินๆ กับกิจกรรมยามว่างที่บ้านพัก พลันก็มีโทรศัพท์แจ้งว่า ชื่อนางสาวเอ้ เป็นพนักงานขายของบริษัท B (บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับความงาม) โดยแนะนำตนเองว่าเป็นพนักงานขายสินค้าและให้บริการแนะนำทางการตลาด ขออนุญาตแนะนำแพคเกจเกี่ยวกับความงามของทางบริษัท B เพื่อให้คุณเนตรดาวสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายในราคาสบายกระเป๋า เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกในโครงการ เดอะเฟส...ของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งคอร์สนี้มีบริการถึง 22 รายการ มูลค่า 182,500 บาท แต่ถ้าสมัครทันทีตอนนี้ลดเหลือเพียง 15,999 บาท ซึ่งทำได้ง่ายเพียงแค่ชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคาร xxx         ตอนแรกๆ คุณเนตรดาวก็ปฏิเสธเพราะฟังแค่ทางโทรศัพท์ก็ยังรู้สึกว่า ไม่น่าสนใจนัก จนพนักงานใช้กลยุทธ์สุดท้าย คือ การขอยอด โดยบอกว่าช่วยเธอหน่อย แค่โอนเงินมาก่อนเพื่อทำยอด แล้วภายในเวลาไม่เกิน 20 วัน เธอจะคืนเงินกลับให้คุณเนตรดาว ด้วยความเป็นคนโอบอ้อมอารี คิดว่าจะช่วยนางสาวเอ้ คุณเนตรดาวจึงช่วยสมัครคอร์สดังกล่าว          พอถึงวันที่กำหนดว่า นางสาวเอ้จะคืนเงินให้ ปรากฏว่า ไม่ได้คืน หรือได้รับการติดต่อใดๆ คุณเนตรดาวจึงโทรศัพท์ไปที่นางสาวเอ้ เธอบ่ายเบี่ยงและผัดผ่อนการชำระเงินคืนให้คุณเนตรอยู่หลายครั้ง จนคุณเนตรดาวแน่ใจแล้วว่า โดนหลอกลวงแน่ๆ จึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ และขอยกเลิกรายการบัตรเครดิตกับทางธนาคาร ตลอดจนส่งหนังสือแจ้งให้ทางบริษัทที่นางสาวเอ้ทำงานอยู่ดำเนินการคืนเงินให้เธอ พร้อมสำเนาหนังสือถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามเบื้องต้นพบว่า ยอดเงินที่ชำระทางบัตรเครดิตได้ถูกทางธนาคารจ่ายให้แก่บริษัทไปแล้ว และได้รับคำตอบจากบริษัทว่า อยู่ระหว่างรอการพิจารณา เมื่อทางมูลนิธิฯ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อประสานงานอีกครั้งเพื่อให้มีการเจรจา  ต่อมาจึงได้รับการแจ้งจากคุณเนตรดาวว่า ทางบริษัทชำระเงินดังกล่าวคือให้แล้ว จึงเป็นอันยุติเรื่อง            ต่อไปหากผู้บริโภคเจอคำหยอดของพนักงานขายแบบนี้ ประเภทจ่ายมาก่อน ช่วยหน่อยนะคะ อย่าวางใจ เงินไปแล้วกลับมายากจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เคี้ยวแก้วในเกี๊ยวซ่า

                        จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเคี้ยวเพลินอร่อยๆ กับอาหารว่างของบริษัทดัง แล้วมาพบทีหลังว่า มันคือเศษแก้ว แค่คิดก็เจ็บจี๊ดแทนผู้บริโภคแล้ว            เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณดอกสร้อยและลูกชายวัยน่ารัก ไปช้อปปิ้งเลือกซื้อข้าวของกลับบ้าน แล้วลูกชายอยากรับประทานเกี๊ยวซ่าทอด ที่บริษัทดังนำมาออกร้านเพื่อโปรโมตสินค้าในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต จึงสั่งให้ลูกชาย 1 กล่อง ราคา 40 บาท แต่เด็กน้อยกินไม่หมด คุณแม่จึงนำมาจัดการต่อในภายหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แค่เคี้ยวคำแรกคุณแม่ก็เจ็บลิ้นเจ็บคอเหมือนถูกบาดจึงคายเกี๊ยวซ่าออกมา พบว่า มีเลือดออกมาด้วยและสังเกตว่ามีเศษแก้วปนอยู่ในเกี๊ยวซ่า พอนำกล่องมาพิจารณาก็พบว่ามีเศษแก้วลักษณะเดียวกันอีกสองชิ้นในกล่อง จึงถามลูกชายว่า กินไปแล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไหม เด็กชายทำหน้างงบอกคุณแม่ว่า “เคี้ยวเจอเหมือนเป็นผักแข็งๆ ฮะ มันแข็งกว่าผักอื่นๆ ”             คุณดอกสร้อยจึงรีบไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวันและติดต่อบริษัทผู้ผลิตทันที ว่าเกี๊ยวซ่าที่นำมาจำหน่ายมีปัญหาขอให้รีบแก้ไข จากนั้นก็ไปโรงพยาบาลเพื่อดูบาดแผลในคอและช่องปากของตนเอง และต้องการเช็คร่างกายลูกชายด้วย เพราะกินเข้าไปหลายชิ้น             ผลการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่า คุณดอกสร้อยมีแผลในช่องปาก ลิ้นและคอ ส่วนเด็กชายผลเอ็กซเรย์พบสิ่งแปลกปลอมกระจายอยู่ในกระเพาะอาหาร ขนาด 0.5 - 1 เซนติเมตร คุณดอกสร้อยจึงทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ดำเนินการเยียวยา ซึ่งในตอนแรก ทางบริษัทดำเนินการเพียงเรียกให้ผู้เสียหายส่งเศษแก้วไปที่บริษัทเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนทางบริษัทก็เงียบหายไป คุณดอกสร้อยจึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา            สิ่งที่คุณดอกสร้อยได้ดำเนินการไปเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทว่าบริษัทดูจะปล่อยปละละเลยต่อผู้บริโภคนานเกินไป เพราะเหตุเกิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จนคุณดอกสร้อยมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ประสานงานทำหนังสือขอให้ทางบริษัทเข้ามาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยและเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ร้อง             ต่อมาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับแจ้งจากทางทนายความของบริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าว่า ได้เจรจากับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทได้ให้ทางบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับทางบริษัทไว้ เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท และเมื่อศูนย์ฯ ติดต่อทางผู้ร้องได้ความตรงกัน จึงเป็นอันยุติเรื่อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 อันดับโลกอันแสนเศร้า

ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดปี 2560 มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร                                                                                                                                                                The World Atlasใกล้วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทีไร เราจะเห็นภาพมวลชนจำนวนมหาศาลที่ต้องเดินทางกลับบ้านหาครอบครัวหรือไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลังจากทำงานหนัก ทุกปีจะมีคนเรือนแสนเบียดเสียดอัดแน่นแทบจะไม่มีที่ยืนที่สถานีขนส่งหมอชิตเพื่อรอรถโดยสารกลับบ้านต่างจังหวัด คนที่วางแผนซื้อตั๋วล่วงหน้าก็สบายหน่อย รับประกันความผิดหวังมีรถขึ้นแน่นอน แต่คนไปที่หวังหาเอาดาบหน้าล้วนต้องผิดหวังทุกราย หลายคนต้องรอรถนานข้ามคืนกว่ารถจะมี อีกหลายคนต้องขึ้นรถเสริมซึ่งไม่รู้เลยว่ารถคันที่ขึ้นเป็นรถผีรถเถื่อนหรือเปล่า รถคันนั้นผ่านการตรวจสภาพมีประกันภัยมั้ย บนถนนก็มีรถมากเคลื่อนตัวตามกันได้ช้าในทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าเกือบจะถึงบ้านกันก็อ่วมอรทัยกันทีเดียวเชียวทั้งนี้แต่ละปีในช่วงหยุดยาวปีใหม่ 7 วันอันตราย ที่มีคนเดินทางกลับบ้านกันเป็นจำนวนมากนั้น มีหลายคนโชคดีที่ได้กลับไปกอดพ่อแม่ กอดลูกหลานด้วยความดีใจหลังจากไม่ได้เจอกันมานาน กลับกันมีอีกหลายคนที่กลับไม่ถึงบ้าน  หรือถึงบ้านแต่ก็กลับในสภาพร่างที่หมดลมหายใจ ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นซึ่งช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ในทุกๆ ปี ตามสถิติที่รวบรวมไว้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทางถนนสูง เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานและภาคีอาสาในแต่ละจังหวัด ล้วนต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่สูงในช่วง 7 วันอันตรายอยู่เช่นเดิมโดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมเฉพาะแค่ในช่วง 7 วันอันตรายทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน โดยมีสัดส่วนลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย แต่จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ต้องยังถือว่ามีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ และเป็นวิกฤตของความสูญเสียที่ต้องเจอกันแบบนี้ทุกปีปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยและทุกประเทศจึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ และร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขจากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก WHO ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตต่อปีทั่วโลกมากถึง 1.25 ล้านคนต่อปี และเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 90 ) อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก 2558 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือ 24,237 คนขณะที่ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 22,356 คน หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุอยู่ในช่วง 15-29 ปี มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีอุบัติเหตุทางถนนประมาณ  1 แสนคน และกลายเป็นผู้พิการราว 60,000 คนต่อปี โดยรัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท นับว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลสอดคล้องกับข้อมูลจากการเปิดเผยของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส The World Atlas ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปี 2560 ปรากฎว่า ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร จากเดิมที่รั้งอันดับ 2และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก  ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2018 อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตทุกๆ 24 วินาที ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.35 ล้านคนต่อปี (มากกว่าที่รายงานในปี 2015 ถึง 10 ล้านคน) ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 (ลดลงจากเดิมเมื่อปี 2015 ที่อยู่ลำดับที่ 2) มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี  ในขณะที่ 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ WHO ล้วนเป็นประเทศจากแอฟริกาทั้งสิ้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน นำห่างเวียดนามซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26.7 เป็นอันดับ 1 สองปีซ้อนของเมืองหลวงที่มีรถติดติดอันดับโลกจากรายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard ประจำปี 2017 ของ INRIX และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วยจากผลงานติดอันดับโลกของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะผลรายงาน Global Status Report on Road Safety ในปีล่าสุด แม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 2 มาอยู่อันดับที่ 9 แต่ถ้าพิจารณาตามรายละเอียดที่มีในรายงานจะพบว่า อัตราการตายของประเทศไทยไม่ได้ลดลงเหมือนที่เข้าใจกัน แถมแผนปฏิบัติการหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย  ท้ายที่สุดถ้าทุกฝ่ายยังไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้จริงๆ เป้าหมายที่จะลดอัตราการตายทางถนนลงคงไม่มีวันเกิดขึ้น อันดับโลกของไทยในเรื่องนี้ก็ยังอยู่ด้วยกันไปอีกนานแสนนาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่าง

เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่างเมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วผ่อนต่อไม่ไหว ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ผู้บริโภคไม่ควรเพิกเฉยและคิดว่าถูกยึดไปแล้วก็ช่างมันเถอะ เพราะการที่รถยนต์ถูกนำไปขายทอดตลาดนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จะมีผลต่อหนี้ที่ผูกพันกันอยู่ระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน บางทีความเผอเรออาจทำให้ถูกโกงส่วนต่างได้โดยไม่รู้ตัว         กรณีที่ถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินกว่าที่ควรจะเป็น คุณสัญญาเช่าซื้อรถกระบะในราคาประมาณ 800,000 บาท ทำสัญญากับไฟแนนช์ระบุการชำระค่างวดทั้งสิ้น 84 งวด  ซึ่งคุณสัญญาก็ชำระค่างวดได้ราบรื่นผ่านไปถึงงวดที่ 48 จากนั้นจำเป็นต้องหยุดผ่อนชำระเพราะมีปัญหาด้านการเงิน จึงถูกยึดรถและเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด ซึ่งขายได้ในราคา 340,000 บาท มีส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บจากไฟแนนช์ 290,000 บาท และเรียกให้คุณสัญญาชำระหนี้ในส่วนนี้         คุณสัญญาคำนวณแล้ว รู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบเพราะถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา         ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 3 (5) ก. กำหนดว่า ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (5) ข. กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อ จะรับผิดชอบส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทดอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น         ดังนั้นเมื่อถูกยึดรถ แนวทางปฏิบัติคือ         1.ถ้าได้รับแจ้งจากไฟแนนซ์ ให้รับผิดชอบส่วนต่าง หากเห็นว่าส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บนั้นไม่เป็นธรรมหรือสูงเกินสมควร ลูกหนี้สามารถเจรจาต่อรองกับไฟแนนซ์ โดยลูกหนี้จะต้องหาข้อมูลก่อนว่า รถยนต์ยี่ห้อ รุ่นและปีผลิตเดียวกันกับรถยนต์ของลูกหนี้มีราคาขายในตลาดมือสองเท่าไร เพื่อใช้ในการคำนวณให้ลดส่วนต่างได้ เช่น เช่าซื้อรถยนต์มาในราคา 300,000 บาท ราคารถยนต์ตามตลาดรถยนต์มือสองอยู่ที่ 200,000 บาท แต่ไฟแนนซ์กลับนำไปขายได้ราคาเพียง 100,000 บาท แล้วเรียกเก็บส่วนต่างกับลูกหนี้ 200,000 บาท เช่นนี้ลูกหนี้จะสามารถต่อรองได้ เนื่องจากขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำเกินไป         2. หากไฟแนนซ์ฟ้องคดีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะฟ้องให้ลูกหนี้ชำระ ค่าส่วนต่างราคารถที่เช่าซื้อ ค่าบอกกล่าวทวงถาม ค่ายกเลิกสัญญา ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่ายึดรถ เป็นต้น ลูกหนี้จะต้องทำคำให้การเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลดยอดหนี้ที่ฟ้องมา ให้เป็นไปตามความจริง เช่น ส่วนต่างราคารถยนต์ที่ไฟแนนซ์ขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่ควรได้จริงหรือไม่ หรือลูกหนี้เป็นผู้ไปคืนรถยนต์ด้วยตนเอง เท่ากับว่าบริษัทไม่มีการไปยึดรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบเพื่อให้ศาลใช้ในการพิจารณาพิพากษา         3. เมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ยอดหนี้เท่าใดนั้น ก็อยู่ที่ลูกหนี้ว่าตนเองจะสามารถปิดบัญชีหนี้ได้ตามที่ศาลพิจารณาหรือไม่           ดังนั้นคำแนะนำของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต่อคุณสัญญาคือ ถ้าเห็นว่าถูกเอาเปรียบโดนเก็บค่าส่วนต่างเกินจริงไป สามารถต่อรองกับทางไฟแนนซ์ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ไฟแนนซ์จะฟ้องศาลเพื่อให้ผู้ร้องจ่ายหนี้ส่วนต่างนี้ สิ่งที่ต้องทำคือหาทนายเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้คดี โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีทนายเพื่อผู้บริโภคช่วยทำคำให้การต่อสู้ได้ หากผู้ร้องต้องการ           กรณีโดนลักไก่ คุณสายัณห์ เช่าซื้อรถยนต์เมื่อเดือนเมษายนปี 2551 ในราคา 449,663.40 บาท สัญญาระบุการผ่อนชำระ 60 งวด แต่ด้วยสภาพทางการเงินที่ไม่เอื้ออำนวย คุณสายัณห์กัดฟันผ่อนไปได้เพียง 11 เดือนก็ต้องยุติการผ่อนชำระ แน่นอนว่ารถได้ถูกยึดไปเพื่อขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2561 คุณสายัณห์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน และเรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 131,824.77  บาท จึงมาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยเหลือด้านคดี         เมื่อพิจารณาสำนวนฟ้องแล้ว ทนายเพื่อผู้บริโภคพบว่า ทางไฟแนนซ์เรียกเก็บค่าส่วนต่างเกินไปมาก เนื่องจากจำเลยผ่อนค่างวดไป 11 งวด รวมเป็นเงิน 88,205 บาท ยังคงค้างอีกประมาณ 271,515 บาท แต่โจทก์ทำสำนวนฟ้องว่า รถยนต์ขาดทอดตลาดได้ 228,000 บาท แต่เอกสารการขายทอดตลาดระบุชัดเจนว่า ขาดได้เงินทั้งสิ้น 288,000 บาท ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ส่วนที่เหลือจากการขายทอดตลาด เป็นเงิน 16,455 บาท ต้องคืนให้แก่จำเลย เมื่อศาลพิจารณาคำให้การแล้ว ได้แจ้งให้ทนายโจทก์ถอนฟ้อง ต่อมาในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561ทราบว่าโจทก์ถอนฟ้องแล้ว เนื่องจากการขายทอดตลาดในคดีนี้คุ้มทุนกับหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >