ฉบับที่ 221 เลขสารบบอาหารไม่ครบก็ได้เหรอ

ทุกวันนี้เรากินอาหารจากผลิตภัณฑ์ที่บรรจุสำเร็จกันมากขึ้น ซึ่งอาหารในบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ได้รับการควบคุมดูแลเรื่องฉลากเพื่อให้สามารถติดตามได้หากเกิดปัญหา ดังนั้นอย่างน้อยผู้บริโภคควรใส่ใจที่จะอ่านฉลาก ซึ่งบ่งบอกรายละเอียดของสินค้า และหากพบความผิดปกติท่านสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาได้        คุณพิมลอาศัยอยู่จังหวัดนนทบุรี ย่านบางกรวย วันหนึ่งไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ตลาดเจ้าพระยาเพื่อกลับมารับประทานที่บ้าน ขณะกำลังจะฉีกซองพริกป่น น้ำตาล ที่แม่ค้าให้มาก็สังเกตว่า พริกป่นในซองจับตัวกันเป็นก้อน จึงเพ่งมองที่ฉลากบนซองแล้วพบสิ่งผิดสังเกตคือ เลขสารบบอาหาร(เลข อย.) บนซองนั้น มีแค่เลขแปดตัวเท่านั้น ซึ่งคุณพิมลเคยทราบมาว่าเลขสารบบอาหารนั้น ต้องมีทั้งหมด 13 ตัวหรือ 13 หลัก  อีกทั้งบนซองยังไม่มีการบอกวันหมดอายุหรือวันผลิต จึงสงสัยมีการปลอมเลข อย.หรือไม่ จึงแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ตรวจสอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา          เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับอาหารในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป ควรเร่งแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าผู้ผลิตอาหารดังกล่าวตามชื่อที่ปรากฏบนซองเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งต่อมาทราบว่าทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีได้ออกตรวจร้านค้าที่จำหน่ายอาหารตามที่คุณพิมลแจ้งมา รวมทั้งร้านค้าอื่นๆ อีก 13 ร้านแต่ไม่พบผลิตภัณฑ์พริกป่นยี่ห้อตามที่คุณพิมลแจ้งมา           อย่างไรก็ตามเมื่อทาง อย.ได้สอบถามกับผู้ผลิตตามชื่อที่ปรากฏบนซอง ทางบริษัทดังกล่าวปฏิเสธว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของตน เป็นการถูกแอบอ้างชื่อบริษัท จึงไม่สามารถดำเนินการแจ้งความกับบริษัทได้ นอกจากจะมีหลักฐานการซื้อขายว่าสินค้าดังกล่าวมาจากบริษัทนั้นจริง          ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แจ้งให้คุณพิมลทราบ ผู้ร้องไม่ติดใจ เพียงแต่อยากฝากเรื่องไว้ให้ช่วยเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ระมัดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 สิทธิในการใช้รถสาธารณะในราคาที่ไม่แพง

เป็นข่าวใหญ่ของคนกรุงเทพในเดือนเมษายน เมื่อรัฐประกาศขึ้นราคาค่ารถโดยสารเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ ขสมก.และรถเมล์ร่วมบริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่สำคัญการขึ้นราคารถเมล์ครั้งนี้ส่งผลต่อการขึ้นราคาขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น รถตู้ รถทัวร์ อีกด้วย         จริงๆ แล้ว เรื่องนี้น่าจะวุ่นวายกันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เพราะตามแผนเดิมของการปรับราคาค่าโดยสารจะปรับหลังปีใหม่ในวันที่ 21 มกราคม 2562 แต่เหมือนจะยังเป็นโชคดีของคนกรุงเทพอยู่นิดหน่อย ที่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพพอดี รัฐบาลเลยหยิบมาอ้างได้ว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นสาเหตุของมลพิษและทำให้เกิดฝุ่นละออง เลยให้เลื่อนการปรับราคาค่าโดยสารออกไปอีกสามเดือน           แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า การเลื่อนขึ้นราคาค่าโดยสารครั้งนั้นเป็นการหวังผลทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมมากกว่า และรัฐบาลต้องเสียคะแนนแน่ๆ หากปล่อยให้ขึ้นราคาในช่วงนั้น เผาหลอกขู่กันไปแล้ว ถึงเวลาเผาจริง 22 เมษายน 2562 ครบกำหนดสามเดือนที่จะต้องขึ้นราคาค่าโดยสารกันแล้ว สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ในส่วนรถ ขสมก. ปรับเพิ่มอีก 2-7 บาท หากขึ้นทางด่วนคิดเพิ่มอีก 2 บาท แต่หากเป็นรถ ขสมก.รุ่นใหม่สีฟ้า ขึ้นหนักหน่อยคิดตามระยะแบบขั้นบันได 15-20-25 บาท ส่วนรถร่วมเอกชนปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท เช่น         นาย ก. ปกติ ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นเก่าสีขาวสาย 522 จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ทางด่วนไปลงงามวงศ์วาน จากเดิมเสียค่าโดยสาร 15 บาท ราคาใหม่ต้องเสียค่าโดยสาร 19 บาท เพิ่มจากเดิม 4 บาท แต่หากนาย ก. ต้องขึ้นรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่สีฟ้าในเส้นทางเดิมต้องจ่ายค่าโดยสารถึง 22 บาท เพิ่มจากเดิม 7 บาท หรือ เกือบ 50% ของราคาเดิมที่เคยจ่าย ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง         ข้อมูลของ ขสมก. ระบุว่า ปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก.มีอยู่ประมาณ 3,000 คัน แบ่งเป็นรถร้อนประมาณ 1,500 คันและรถปรับอากาศอีกประมาณ 1,500 คัน มีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่าในปีก่อนๆ         ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2559 ระบุว่า มีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 582,463 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 195,389 คน รถเมล์ร้อน 154,574 คน และรถเมล์ฟรี 232,500 คนขณะที่ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2560 ระบุว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ต่อวัน จำนวน 584,997 คน แบ่งเป็นรถปรับอากาศ 192,923 คน รถเมล์ร้อน 124,667 คน และรถเมล์ฟรี 267,407 คน          จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการมีสูงขึ้นโดยมีนัยยะสำคัญ หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ไม่มีรถเมล์ฟรีแล้ว แม้จะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อย่างไรก็ดีจำนวนผู้ใช้บริการรถเมล์ก็คงมีจำนวนสูงขึ้น ปรากฎตามข้อมูลของ ขสมก. ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์อยู่ที่ 1.3 ล้านคน แบ่งเป็นรถปรับอากาศประมาณ 9 แสนคน และรถร้อนประมาณ 3-5 แสนคนต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20% หลังจากปรับค่าโดยสารขึ้นแล้ว         เห็นข้อมูลแบบนี้ ขสมก.คงดีใจ เลยมีแผนใหญ่ที่จะล้างหนี้แสนล้าน และจัดหารถปรับอากาศใหม่เพิ่มอีกกว่า 2,000 คันในสามปีต่อจากนี้ ถ้าทำได้ก็ต้องถือว่าเป็นการยกระดับระบบขนส่งมวลชนสู่รูปแบบ smart city ที่มองไปทางไหนก็จะเจอแต่รถปรับอากาศเหมือนเช่นต่างประเทศแต่ ขสมก.อาจจะลืมหรือรู้แต่ไม่สนใจว่า การขาดทุนสะสมต่อเนื่องของ ขสมก. ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารงานที่ผิดพลาดขององค์กรในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถเมล์ใหม่ที่สิบปีที่ผ่านมาซื้อไม่ได้เลย ทั้งที่ควรจะได้มาใช้นานแล้ว หรือที่ตรวจรับมา 489 คันก็ผิดสเปค หรือแม้กระทั่งการพยายามจะนำเครื่องอ่านบัตรโดยสารแบบ E-ticket มาใช้แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โครงสร้างองค์กร การจัดสรรเส้นทางเดินรถ จำนวนพนักงานฯ ที่เป็นเหตุของการขาดทุนสะสมด้วย        ที่สำคัญการขึ้นค่าโดยสารรถทุกประเภทครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจที่ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้ใช้บริการรถเมล์ รถโดยสาร ฯลฯ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลือกฟังเฉพาะเสียงจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวเท่านั้น โดยลืมไปว่าระบบบริการขนส่งมวลชนของรัฐในลักษณะนี้เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชน         อีกทั้งยังไม่มีนโยบายการคิดค่าบริการขนส่งมวลชนแบบเทียบสัดส่วนรายได้ขั้นต่ำของประชาชน หรือค่าบริการขนส่งมวลชนสูงสุดต่อวัน ทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ต้องคัดค้านการดำเนินการเรื่องนี้เป็นระยะๆ ทั้งที่บริการขนส่งมวลชนเป็นบริการที่รัฐต้องอุดหนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและมีคุณภาพ         อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ ชัดเจนว่าเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับคนทุกกลุ่มที่ใช้บริการ เป็นการบังคับให้ต้องจ่ายโดยไม่มีทางเลือก แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้นราคา         แต่เสียงส่วนใหญ่ที่ ขสมก.ไม่เคยรับฟังเลย คือ เสียงสะท้อนที่บอกว่าการขึ้นราคาครั้งนี้สร้างภาระเกินสมควรให้กับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถเมล์และรถโดยสารประเภทอื่นอยู่แล้วอะไรคือหลักประกันเรื่องคุณภาพประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งมวลชนในอนาคตจากการขึ้นราคาหรือนี่คือการส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้รถขนส่งสาธารณะ ใครตอบได้ช่วยตอบที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จำหน่ายอาหารบรรจุเสร็จต้องมีเลข อย.ด้วย

        เดี๋ยวนี้การทำอาหารค่อนข้างง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะว่ามีตัวช่วยในการปรุงอาหาร จำพวกซอสปรุงรสแบบสำเร็จต่างๆ พ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ไม่ต้องยุ่งยาก แค่เติมซอสแบบสำเร็จก็สามารถ ต้ม ผัด แกง ทอด ได้อาหารมารับประทานแบบอร่อยกันเลย         คุณภูผา เล่นอินสตาแกรม (Instagram) ไปเจออินสตาแกรมของเชฟคนหนึ่ง โพสรูปขายซอสปรุงรสชนิดหนึ่ง โฆษณาว่า “ทำอะไรก็อร่อย” ราคา 49 บาท คุณภูผาเห็นเชฟบอกว่าทำ ต้ม ผัด แกง ทอด ก็ได้ และเชฟก็ทำอาหารจากซอสออกมาหน้าตาน่ารับประทานมาก จึงอยากทำบ้าง เชฟขายซอส 1 ขวด ราคา 49 บาท แต่ถ้าสั่งราคาส่ง ขวดละ 30 บาท คุณภูผาเลยสั่งมา 12 ขวด ด้วยความอยากได้ของถูก         เวลาผ่านไปคุณภูผาก็ได้ซอสปรุงรสมาไว้ในครอบครอง แต่เรื่องมาเกิดตรงที่แฟนของคุณภูผามาเจอซอสดังกล่าว เธอหยิบซอสขึ้นมาดู พบว่า บนขวดมีแต่ชื่อยี่ห้อเท่านั้น ไม่มีเลขทะเบียนสารบบอาหาร ไม่มีฉลากโภชนาการ ไม่มีวันที่ผลิตและหมดอายุ ไม่มีอะไรเลย จึงบ่นคุณภูผาว่า ซื้อมาได้อย่างไร ฉลากสักอย่างก็ไม่มี ใส่อะไรบ้างก็ไม่รู้ จะปลอดภัยหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณภูผาก็ต้องรับคำบ่นนั้นไป เพราะว่ามันเป็นจริงตามที่แฟนบ่น และเพื่อความสบายใจของแฟนเลยสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำผู้ร้องว่า การผลิตซอสปรุงรสมีการควบคุมตามกฎหมายต้องแสดงฉลากโภชนาการให้ผู้บริโภครู้ถึงรายละเอียดวัตถุดิบในการผลิต ที่สำคัญผู้บริโภคต้องทราบวันที่ผลิตและวันหมดอายุ ดังนั้นการที่เชฟคนดังผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (10)  และมาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท         อย่างไรก็ตาม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ผลิตแล้ว         ต่อมาได้รับแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีการผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสชนิดนี้จริง ซึ่งผู้ผลิตแจ้งว่า ส่วนใหญ่ใช้ทำอาหารให้ลูกค้าในร้านรับประทาน และได้วางจำหน่ายหน้าร้านและขายทางเฟซบุ๊กด้วย เมื่อตรวจสอบการแสดงฉลากก็พบการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ปริมาตรสุทธิ ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปหาน้อย วัน เดือน และปีโดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” หรือ “หมดอายุ” กำกับไว้ด้วย สำนักงานอาหารและยา ได้สั่งปรับผู้ผลิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของผู้ผลิตเป็นการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเยนต์ เครื่องล่าช้าขอเคลมได้

        มีหลายเรื่องที่บางคนอาจเห็นว่าเสียเวลา เช่นการร้องเรียนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่แย่ของผู้ประกอบการ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่อยากให้คิดเช่นนั้น การร้องทุกข์หนึ่งครั้งย่อมดีกว่า การบ่นปากเปล่า เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงปัญหาตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ยังช่วยให้เกิดบทเรียนกับบุคคลอื่นอีกด้วย         เช่นกรณีของคุณเด่น ที่ใช้บริการจองเที่ยวบินเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตกับทาง Traveloka มีกำหนดเดินทางวันที่  8 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เที่ยวบินกำหนดเวลาการเดินทาง 10.55 น. สายการบินไลอ้อนแอร์ ปรากฏว่าเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามชั่วโมง โดยไม่แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้โดยสาร คุณเด่นไม่สามารถทนรอต่อไปโดยไม่ทราบว่าจะได้เดินทางเมื่อไรกันแน่ จึงทำเรื่องขอเงินค่าโดยสารคืนกับทางสายการบิน ทางพนักงานสายการบินแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ขอให้คุณเด่นติดต่อขอคืนเงินผ่านทางเว็บ Traveloka  “ดิฉันก็ทำเรื่องติดต่อประสานงานผ่านทั้ง สายการบินไลอ้อนแอร์และทางเว็บ Traveloka  แต่เหมือนทั้งคู่เกี่ยงกันไปมาไม่ยอมรับผิดชอบ สองเดือนแล้ว ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึง บ.ไทย ไลอ้อนแอร์ บ.ทราเวลโลก้า และกรมการบินพลเรือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับคุณเด่น เบื้องต้นทางทราเวลโลก้าแจ้งว่า ตรวจสอบกับทางสายการบินแล้ว ทางสายการบินแจ้งว่า “หมายเลขรหัสการจองของคุณเด่น” ไม่สามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับทางคุณเด่น จนในที่สุดทางสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งกลับมาว่า “กรณีขอเงินคืนจะสามารถย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วันและจะติดต่อกับทราเวลโลก้าก่อนว่าจะดำเนินการคืนเงินให้กับลูกค้าได้หรือไม่”         ย่างเข้าปลายเดือนมกราคม 2562 ทางสายการบินโทรแจ้งว่า หมายเลขรหัสจองของคุณเด่นได้รับการพิจารณาคืนเงินแบบ Full Refund ซึ่งกำหนดคืนภายใน 45 วัน โดยสายการบินแจ้งเรื่องไปที่เอเยนต์ซี่แล้ว ภายใน 30 วันให้ตรวจสอบการคืนเงินจากเอเยนต์ซี่ได้ จึงแจ้งเรื่องให้คุณเด่นทราบความคืบหน้าว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 30 วัน ต่อมาเดือนมีนาคมเมื่อสอบถามกับคุณเด่นว่าได้รับการติดต่อคืนเงินหรือยัง จึงทราบว่า ยังไม่ได้รับการคืนเงิน จึงติดต่อกลับสายการบิน ได้รับแจ้งว่าสายการบินคืนเงินให้ทางทราเวลโลก้าแล้ว เมื่อสอบถามทราเวลโลก้า กลับระบุว่า ได้รับเงินจากสายการบินจริง แต่ไม่เต็มจำนวน จึงขอประสานงานกับทางสายการบินก่อนและจะแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง สุดท้ายคุณเด่นก็ได้รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คมนาคม เปิดสิทธิ์ชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบินดีเลย์รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาสายการบินล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กพท. กำชับไปยังทุกสายการบินให้เร่งแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนตาม เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเที่ยวบินดีเลย์สามารถขอใช้สิทธิ์ชดเชย ได้ดังต่อไปนี้สำหรับเที่ยวบินประจำภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553กรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน อาหารและเครื่องดื่ม, โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail, ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องค้างคืน) และ3. ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือ สายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมสำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินทั้งนี้ หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ กพท. E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800ที่มา https://www.khaosod.co.th/economics/news_920242

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 โรงพยาบาลบริการไม่เป็นมิตร

        ทุกคนต่างทราบดีว่า การเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐนั้น ความสะดวกสบายเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความแออัดของผู้ป่วยที่รอเข้าใช้บริการในแต่ละวัน จากสถิติสาธารณสุขระบุว่า ในปี พ.ศ.2561 รพ. รัฐ มีจำนวนผู้ป่วยนอกสูงถึง 71.83 ล้านคน ตรวจรักษา 247.34 ล้านครั้ง เฉลี่ย 3.44 ครั้งต่อคน (ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ด้วยเหตุนี้ความไม่พอใจต่องานบริการจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งบางเรื่องก็สามารถจัดการแก้ไขให้ลุล่วงได้ ขอเพียงแต่ละฝ่ายได้สื่อสารกันด้วยเหตุผล         คุณเพียงใจเข้าใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านพบว่าเกิดอาการหน้าบวม ตาบวม คาดว่าน่าจะเกิดจากการแพ้ยาจึงหยุดยา แต่อาการยังไม่ดีขึ้นติดต่อกับทางฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้รับคำแนะนำให้มาที่แผนกฉุกเฉิน จึงขอให้ญาติช่วยพามาส่งที่โรงพยาบาล เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อพยาบาลห้องฉุกเฉินวัดความดันให้บอกว่า “ทำไมไม่ไปที่ตึก...” (ซึ่งเป็นตึกที่ตรวจรักษาทั่วไป) จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เข็นรถพาไปส่งยังตึกดังกล่าว แต่เมื่อเข็นรถมาได้สักพัก เจ้าหน้าที่เข็นรถถามญาติผู้ป่วยว่า “รู้จักตึก...ใช่ไหม ไปถูกไหม” ญาติตอบไปว่า “รู้จัก” เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ถ้างั้นเข็นไปเองนะ” แล้วเดินจากไปทันที         ญาติคุณเพียงใจจึงต้องช่วยเข็นรถพามาที่ตึกดังกล่าว คราวนี้เมื่อพยาบาลคัดกรองตรวจสอบประวัติคนไข้แล้วได้แจ้งว่า “รอ 4 โมงเย็นนะค่อยพากลับไปตรวจที่ตึกเดิม(ฉุกเฉิน)” คุณเพียงใจรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี คำแนะนำก็ทำให้เกิดความลำบากในการรักษา จึงโทรแจ้งประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำ ก็ได้รับแจ้งว่า “คุณไปหาข้าวกินก่อนแล้วค่อยมาตามนั้น เพราะที่ตึก...เตียงไม่ว่าง” คุณเพียงใจจึงอดตัดพ้อไม่ได้ว่า “ถ้าดิฉันตายไปหรือเป็นอะไรมา โรงพยาบาลรับผิดชอบแล้วกัน” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตอบกลับว่า “ตกลงร้องเรียนใช่ไหมคะ” คุณเพียงใจจึงแจ้งมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า อยากให้ช่วยบอกทางโรงพยาบาลให้ปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติงาน เพราะเห็นว่าไม่เป็นมิตรกับประชาชน แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์ฯ ได้ขอข้อมูลจากคุณเพียงใจเพิ่มเติมเพื่อทำหนังสือถึงทางโรงพยาบาล ขอให้ตรวจสอบคุณภาพบริการและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้รับทราบปัญหาแล้วและได้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในเรื่องการเข็นรถและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ส่วนเรื่องความแออัดและความล่าช้าในการตรวจรักษา ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาที่จะจัดตั้งคลินิกเสริมในช่วงบ่ายโดยเร็วที่สุด” ศูนย์ฯ ได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อผู้ร้อง คุณเพียงใจพอใจที่ทางโรงพยาบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาและเข้าใจเรื่องความแออัดของผู้ป่วย แต่ก็อยากที่จะเห็นบริการที่เป็นมิตรจากโรงพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 วิ่งวุ่นจากเหตุใช้สิทธิป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรี

        น่าจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า หากประชาชนประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิ UCEP หรือสิทธิการรักษาเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งสามารถรักษาได้ฟรีทุกโรงพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมงแรก ก่อนจะส่งผู้ป่วยเข้าระบบตามสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายหรือไม่ฟรีจริงแก่ผู้ป่วยและญาติที่ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปลดเปลื้องภาระได้ ดังกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ        คุณประสานร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 16.30 น. คุณประสงค์ซึ่งเป็นน้องชายประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วมีรถบรรทุกเลี้ยวตัดหน้า คุณประสงค์ถูกนำส่งโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุโดยรถกู้ภัยอาสาในภาวะหายใจเองไม่ได้และไม่รู้สึกตัว คุณประสานไปโรงพยาบาลและเฝ้าผู้ป่วยอยู่จนถึงเวลา 22.30 น. จึงได้กลับบ้าน แต่ประมาณ 23.00 น. ทางโรงพยาบาลได้โทรศัพท์แจ้งว่า ให้มาเซ็นเอกสาร 2 ฉบับเพื่อให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดด่วน ซึ่งตนเองก็รีบไปเซ็นเอกสารดังกล่าว         วันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลแจ้งว่าอาการของผู้เสียหายหนักเกินกว่าที่ทาง รพ.จะรักษาได้ ต้องส่งไป รพ.ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ป่วย แต่เมื่อติดต่อไปและแจ้งอาการ โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกันก็ไม่สามารถรักษาได้ น้องชายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อไปตามโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์หลายแห่งพบว่า เตียง ICU เต็ม ผู้ร้องจึงดิ้นรนติดต่อหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอที่จะรักษาน้องชายได้ จนได้ทราบว่าน้องชายสามารถใช้สิทธิ UCEP หรือฟรี 72 ชั่วโมงแรก เมื่อแจ้งเรื่องต่อโรงพยาบาลกลับได้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยโรงพยาบาลแจ้งว่า คุณประสงค์ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.รถ ไปแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้         วันที่ 6 มีนาคม ประมาณ 14.00 น. ทางโรงพยาบาลแจ้งคุณประสานว่า โรงพยาบาลศิริราชรับรักษาคุณประสงค์ ซึ่งทาง รพ.จะย้ายผู้ป่วยไปที่ศิริราช แต่คุณประสานต้องชำระค่ารักษาจำนวน 120,000 บาท คุณประสานจึงรีบไปหาหยิบยืมเงินมาจ่ายให้ทาง รพ. ซึ่งเวลาประมาณ 20.00 น.จึงพอที่จะรวบรวมเงินได้และนำมาจ่ายให้ รพ. น้องชายจึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช คุณประสานพยายามขอข้อมูลจากทางศิริราชว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ ทางศิริราชให้ข้อมูลว่าการตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องส่งข้อมูลเข้าไปที่ระบบซึ่งดูแลโดย สปสช. คุณประสานจึงขอให้ทาง รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกส่งข้อมูลไปยังระบบของ UCEP แต่ รพ.ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “อาการของผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว”         คุณประสานจึงแจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช. ต่อมาได้รับแจ้งว่า ทาง รพ.ได้ส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาว่าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ส่วนอาการของผู้ป่วยหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ได้ย้ายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกัน ซึ่งผู้ป่วยยังอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว ส่วนเรื่องของการร้องเรียนนั้น ผ่านไปประมาณ 7 เดือนยังไม่คืบหน้า ทำให้คุณประสานมีภาระเรื่องการผ่อนชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อรักษาน้องชาย จึงขอความช่วยเหลือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นได้แนะนำให้คุณประสานดำเนินการเรื่องคดีความกับทางผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม สำหรับการติดตามกรณีใช้สิทธิ UCEP ได้รับแจ้งจากทาง สปสช. ว่า แม้ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกนั้นจะส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการเรื่องเบิกเงินกับ UCEP  เรื่องจึงยังไม่คืบหน้า ซึ่งกรณีนี้ทาง สปสช.ได้พิจารณาแล้วว่าเข้ากรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งแต่ที่คุณประสานร้องเรียนไว้ รอเพียงให้ทาง รพ.เบิกเงิน ซึ่งจะทำให้ทราบว่ายอดเงินเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อการพิจารณาจ่ายเงินให้ รพ. และ รพ. จะได้คืนเงินให้กับผู้ร้องต่อไป            กรณีของคุณประสานนี้ ความล่าช้าเกิดจาก รพ.อาจยังไม่เข้าใจการส่งเรื่องเข้าระบบ เพราะเมื่อติดต่อไปที่ รพ. ได้รับคำยืนยันว่า ได้ส่งข้อมูลเข้าระบบไปแล้วตั้งแต่มีนาคม แต่ รพ.ไม่ทราบว่าต้องส่งข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เพราะ สปสช. ต้องใช้ในการพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดนั้น สปสช. สามารถจ่ายได้เต็มจำนวนหรือไม่         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยประสานงานทวงถามให้กับผู้ร้องเรียนเป็นระยะ พบว่า ทาง รพ.อ้างว่ามีภาระงานมาก จึงทำให้การทำเรื่องเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นกว่าจะทำเรื่องเบิกจ่าย ก็ต้องรอจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 เรื่องจึงได้ผ่านการพิจาณาของ สปสช. และมีหนังสือแจ้งการจ่ายเงินให้ รพ. ซึ่ง รพ. ก็ติดต่อให้คุณประสานเข้าไปรับเงินคืน  ------------นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 โดย สปสช.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้รพ.เอกชนตามนโยบายนี้ว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล (รพ.) ที่ใกล้ที่สุดได้ทั้ง รพ.รัฐและรพ.เอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิจะดำเนินการจ่ายให้รพ.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาพยาบาลฟรี 72 ชั่วโมงแรก1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่มา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 อ่านกรมธรรม์ประกันให้ละเอียดป้องกันการเสียประโยชน์

        การทำประกันภัย ประกันชีวิต คุณจะละเลยการอ่านรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือมีความผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่พึงได้         คุณลลิตา กังวลใจมากเมื่อพบว่า ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จากการที่เธอทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่งได้รับมานั้น มีการสะกดนามสกุลผิด เธอจึงรีบทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทันที เพื่อให้บริษัทฯ แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก         แต่เรื่องกลับเงียบหาย เธอส่งจดหมายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และรอการติดต่อกลับจนล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2561 ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากบริษัทประกันภัย “ดิฉันพยายามแจ้งกับตัวแทนของบริษัทรถยนต์ที่ดิฉันเช่าซื้อ เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องให้ เขาก็รับปาก” ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ ก็ไม่มีความคืบหน้า คุณลลิตาจึงขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ไว้ เกรงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามเรื่องที่คุณลลิตาเคยทำไปถึงบริษัทประกันภัยและขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมกับทำสำเนาแจ้งไปที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  ซึ่งต่อมาก็ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์ให้ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดต่อไปที่คุณลลิตาผู้ร้อง ได้รับการยืนยันว่าทางบริษัทประกันภัยได้ส่งกรมธรรม์ใหม่ที่ได้แก้ไขชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้แล้วจริงหากผู้บริโภคท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย เบื้องต้นควรทำหนังสือขอให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมแนบสำเนาดังกล่าวส่งไปให้หน่วยงาน คปภ. ช่วยเหลือด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ส่งของไปซ่อมรอจนอ่อนใจต้องทำอย่างไร

        สินค้าประเภทไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่สร้างความสะดวกสบายให้ชีวิต แต่หากเกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ขึ้นมาน้อยคนที่จะซ่อมแซมเองได้ ศูนย์ซ่อมจึงเป็นคำตอบเดียว แล้วถ้าศูนย์ซ่อมไม่ให้บริการที่ดี รวดเร็ว เราควรทำอย่างไร        คุณตุ๊กตา ปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า เธอนั้นนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีอาการเสียงดังผิดปกติเข้าไปที่ศูนย์ซ่อม P ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2561 พนักงานแจ้งว่าใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกินหนึ่งเดือน ผ่านไปหนึ่งเดือน คุณตุ๊กตาได้โทรไปสอบถามเพราะเห็นว่าน่าจะได้สินค้ามาใช้งานเสียที แต่พนักงานกลับแจ้งว่า “ไม่พบอาการเสียงดัง จึงยังไม่ได้ทำอะไร” อ้าว คุณตุ๊กตาหัวร้อนขึ้นมาทันใด แล้วทำไมไม่บอกกับลูกค้า เอาไปเก็บไว้ทำไมเป็นเดือน         เมื่อคุณตุ๊กตาเริ่มติดตามเรื่องจากฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบศูนย์ซ่อมแซม ทั้งทางโทรศัพท์และหน้าเพจเฟซบุ๊ค ตอนแรกก็ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น ติดตามเรื่องให้แล้ว ช่างพบปัญหาตามที่ลูกค้าแจ้งแล้ว กำลังทำเรื่องอนุมัติซ่อมและเบิกอะไหล่ คุณตุ๊กตาจึงขอว่า “ช่วยทำให้เสร็จโดยเร็วได้ไหม เพราะอายุประกันจะหมดตอนสิ้นเดือนมีนาคม และตนเองก็จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ” พนักงานที่เป็นคนประสานงานก็รับปากว่าจะรีบจัดการให้         หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เมื่อติดตามเรื่อง กลับได้คำตอบว่า ยังรออนุมัติซ่อม ไม่รู้จะได้ซ่อมหรือเปล่า แล้วยังต้องรอสั่งอะไหล่อีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคำตอบประเภทเลี่ยงความรับผิดชอบเช่น ลูกค้านำของมาซ่อมเยอะ คิวยาว แต่ทุกครั้งที่ได้คำตอบคือ คุณตุ๊กตาต้องโทรศัพท์ไปติดตามเรื่องเอง ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจากศูนย์ซ่อมเลยสักครั้ง “ดิฉันรู้สึกเสียเวลามาก”  เพราะเรื่องการซ่อมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สองแล้ว และพฤติกรรมการให้บริการไม่ต่างกัน ผู้บริโภคต้องมีภาระติดต่อสอบถามด้วยตัวเองตลอด แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามคุณตุ๊กตาว่าต้องการให้ทางศูนย์ซ่อมทำอะไรบ้าง เพื่อดูว่าสามารถนำไปเรียกร้องสิทธิได้หรือไม่ ซึ่งคุณตุ๊กตานอกจากต้องการให้ซ่อมเสร็จโดยไวแล้ว ยังต้องการให้ต่ออายุประกันด้วย เพราะทางศูนย์ซ่อมนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปค้างไว้เป็นเดือน ทำให้เสียโอกาสในการใช้งาน จึงแนะนำให้คุณตุ๊กตาทำหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการถึงผู้บริหารของศูนย์ซ่อม โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะช่วยประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป         จากการติดตามเรื่องทราบว่า คุณตุ๊กตาได้รับแจ้งจากทางศูนย์ซ่อมว่า กำลังพิจารณาว่าอะไหล่ตัวไหนอยู่ในการรับประกัน และตัวไหนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะไม่ได้อยู่ในประกัน อีกทั้งเรื่องการขอต่ออายุประกันกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา  และบทสรุปคือ คุณตุ๊กตาต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของแปรงปัด ซึ่งไม่อยู่ในการรับประกันสินค้า แต่ทางศูนย์ซ่อมจะลดค่าอะไหล่ให้ 10% พร้อมขยายการต่ออายุประกันให้อีก 2 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >