ฉบับที่ 213 รถมือสองต้องระวัง

หนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น รถมือสองต้องระวัง      สำหรับยุคปัจจุบัน รถเป็นปัจจัยสำคัญไม่ด้อยกว่าปัจจัยสี่ ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบาย และหลายคนก็มีไว้เพื่อการประกอบอาชีพ แต่เพราะพาหนะชนิดนี้มีราคาสูงมาก การจะเป็นเจ้าของรถใหม่สักคันจึงต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร สำหรับผู้ที่ทรัพย์ไม่มากแต่จำเป็นต้องมีรถ รถยนต์มือสองจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ แต่ก็มีข้อพึงระวังหลายอย่าง เช่นที่ผู้ร้องรายนี้กำลังปวดหัวอยู่      คุณพิภพกับคุณปานวาด ได้ติดต่อกับเต็นท์รถยนต์มือสองแถวถนนกาญจนาภิเษก เพื่อซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา โดยคุณปานวาดเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ ในราคาประมาณ 400,000 บาท ส่วนผู้ใช้งานตัวจริงคือคุณพิภพ ซึ่งวันที่ไปดูรถก็ได้ทดสอบรถที่บริเวณเต็นท์รถเท่านั้น โดยไม่พบปัญหาใด ในการทำสัญญาพนักงานขายแจ้งว่า มีการรับประกันเกียร์ แอร์และเครื่องยนต์ 3 เดือน และจะติดฟิล์มรถยนต์ เปลี่ยนยางขอบ แบตเตอรี่ พร้อมถ่ายน้ำมันเครื่องให้ใหม่ ซึ่งมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเอกสาร ยกเว้นแต่การรับประกัน 3 เดือน ที่พนักงานแจ้งด้วยวาจา      ประมาณหนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น ซึ่งคุณพิภพตอบตกลง แต่เมื่อรถยนต์ซ่อมเสร็จ พอนำมาใช้งานกลับพบปัญหาเพิ่มคือ รถมีเสียงดังเมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรก และยังมีการแจ้งรหัสปัญหาหลายอย่างบนหน้าจอแสดงผลของรถยนต์ ซึ่งคุณพิภพได้ลองสอบถามไปทางศูนย์รถเชฟโรเลต ทำให้ทราบว่ารหัสที่ขึ้นมานั้น แจ้งปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เซนเซอร์ที่ล้อเกิดปัญหา 1 ล้อ กล่อง ETU และโช้คมีปัญหา หากจะซ่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายในหลักแสนบาทขึ้น ทางคุณพิภพจึงปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาต้องการให้เต็นท์รับผิดชอบซ่อมแซมรถให้มีสภาพปกติ เพราะรับประกันไว้สามเดือน ควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา      เมื่อพิจารณาปัญหาของคุณพิภพแล้ว ทางศูนย์ฯ แนะนำว่า ควรรีบไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพราะเข้าข่ายว่าเต็นท์รถฉ้อโกง และเนื่องจากอายุความกรณีฉ้อโกงมีระยะเวลาเพียงสามเดือน นับแต่ที่รู้ว่าถูกฉ้อโกงจึงควรดำเนินการเรื่องนี้ก่อน อย่างไรก็ตามทางคุณพิภพอยากให้เริ่มจากการเจรจา หากไม่เป็นผลจึงจะดำเนินการแจ้งความต่อไป     ในการติดต่อประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจานั้น ทางฝ่ายเต็นท์ยินดีที่จะไกล่เกลี่ยกับทางผู้ร้อง แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่นัดหมายทางฝ่ายผู้ร้องติดธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาตามนัดได้ จึงเปลี่ยนเป็นการแจ้งความไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบอายุความ ดังนั้นขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน เมื่อมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อ ปีเตอร์ เริงร่าในน้ำซุป

คุณภูผาอยากจะซึมซับความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ จึงยกถ้วยซุปสาหร่ายขึ้นดื่ม เจ้ากรรม สายตาอันเฉียบคมดันไปพบกับแมลงสาบตัวน้อยซึ่งลอยอยู่ในน้ำซุปเข้าพอดี    เมื่อ ปีเตอร์ เริงร่าในน้ำซุป     ใครๆ ก็ชอบกินอาหารญี่ปุ่นกันทั้งนั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้มีร้านให้เลือกมากมาย แต่ละร้านจะมีจุดเด่นต่างกันไป บ้างก็ว่า ร้านฉันสั่งวัตถุดิบนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ร้านฉันมีพ่อครัวชาวญี่ปุ่นแท้ๆ หรือร้านฉันซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่น ซึ่งการแข่งขันย่อมก่อผลดีให้ผู้บริโภคทำให้มีตัวเลือกหลากหลาย อย่างไรก็ตามสำคัญสุด ร้านอาหารต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะด้วยยามเที่ยงของวันหนึ่ง คุณภูผาและเพื่อนได้ไปเยือนร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ซึ่งมีแฟรนไชส์กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนแต่ละคนต่างก็สั่งอาหารชุดและรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนคุณภูผานั้น สั่งข้าวหน้าไก่ พร้อมสั่งน้ำซุปสาหร่ายเพิ่ม ซึ่งระหว่างรับประทานคุณภูผาอยากจะซึมซับความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ จึงยกถ้วยซุปสาหร่ายขึ้นดื่มแทนการใช้ช้อน เจ้ากรรม สายตาอันเฉียบคมดันไปพบกับแมลงสาบตัวน้อยซึ่งลอยอยู่ในน้ำซุปเข้าพอดี        คุณภูผาตกใจมาก แทบสำลักน้ำซุป เพื่อนที่มาด้วยกัน รีบถ่ายรูป “ปีเตอร์น้อย” ไว้เป็นหลักฐาน ด้วยความกังวล คุณภูผานำถ้วยน้ำซุปไปแจ้งพนักงานเสิร์ฟของร้านทันที พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวเปลี่ยนให้ครับ คุณภูผาจึงถามว่าเปลี่ยนให้เฉยๆ ได้อย่างไร กินน้ำซุปไปแล้ว พนักงานจึงแจ้งว่า เช่นนั้นทางร้านจะคืนเงินให้ มื้อนี้ฟรีไม่คิดเงิน         การจัดการปัญหาเพียงแค่นี้ของทางร้านนั้น คุณภูผารู้สึกไม่ค่อยดีไร เพราะร้านนี้เป็นร้านที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น เมื่อมาเปิดสาขาในไทยควรมีมาตรฐานเรื่องความสะอาดไม่ด้อยไปกว่าที่ญี่ปุ่น ซึ่งรู้กันดีว่ามาตรฐานสูงด้วยเช่นกัน แต่ทำไมร้านจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ คุณภูผาจึงขอคุยกับพนักงานที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าคนแรก ซึ่งพนักงานคนที่รับเรื่องต่อมาได้ขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ แจ้งว่าจะติดต่อทางบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับคุณภูผา         ต่อมามีพนักงานฝ่ายมาร์เก็ตติ้งจากบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร ชื่อคุณบี โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งให้คุณภูผาไปตรวจสุขภาพก่อน คุณภูผาสอบถามว่า ถ้าต้องมีการรักษาต่อเนื่อง ทางบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยใช่ไหม คุณบีส่งอีเมลตอบกลับมาว่า  ตัวคุณบีนั้นจะพาคุณภูผาไปตรวจร่างกายและจัดการค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง จากนั้นจึงนัดกันไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เมื่อมาเจอกันคุณบีก็กล่าวขอโทษอีกหลายครั้ง กรณีดื่มน้ำซุปที่มีแมลงสาบเข้าไปนี้ แพทย์แนะนำว่า ให้ตรวจแบบเบื้องต้นไปก่อน โดยการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระ แล้วจะแจ้งผลการตรวจให้ทราบทางอีเมล ซึ่งการตรวจนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณเกือบเจ็ดพันบาท ทางคุณบีตัวแทนบริษัทก็รับผิดชอบทั้งหมด         จากผลการตรวจพบว่าคุณภูผาติดเชื้อ Plesiomonas shigelloides เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติพบได้ในนํ้าธรรมชาติ ปลา สัตว์นํ้า (Shellfish) จำพวกปู หอยและกุ้ง และสัตว์ จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป สำหรับคนมักจะได้รับเชื้อชนิดนี้จากการดื่มนํ้าหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งหลังรับเชื้อเข้าไป เชือจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 20 - 24 ชั่วโมง และอาจทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่นปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสียและอาเจียน แต่มักเป็นอาการแบบไม่รุนแรง ซึ่งบางคนที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการป่วย แพทย์แจ้งผลวินิจฉัยให้คุณภูผาทราบ และแจ้งให้ไปรับยา โดยขอให้นำอุจจาระมาตรวจเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้คุณภูผาได้แจ้งให้คุณบีทราบทั้งหมดแต่เมื่อจะไปในครั้งที่สอง คุณบีติดต่อมาว่า ไม่มีคนจากบริษัทจะไปโรงพยาบาลพร้อมกับคุณภูผาได้ หลังจากนั้นคุณภูผายังต้องเข้าออกโรงพยาบาลอีกประมาณ 5 ครั้ง เมื่อสอบถามไปยังคุณบีว่า ทางบริษัทจะสามารถช่วยค่าน้ำมันรถได้ไหม รวมทั้งค่ารักษาอีกประมาณสี่พันบาท (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 11,000 บาท) คราวนี้เมื่อติดต่อไปที่คุณบี ปรากฏว่า เธอแจ้งว่าได้ย้ายฝ่ายแล้ว แต่ได้ฝากเรื่องไว้กับพนักงานอีกคนหนึ่งชื่อ คุณส้ม พอคุณภูผาติดต่อกับคุณส้มก็ได้ความว่า ทางบริษัท โดยฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่รับผิดชอบปัญหาลูกค้ามีวงเงินเพื่อการดูแลเพียง 10,000 บาท ส่วนเกินมาไม่สามารถรับผิดชอบได้ และเมื่อทางบริษัทตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลพบว่า ผลการตรวจรอบแรกปกติ การตรวจหลังจากนั้นจึงถือว่า เป็นการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทไม่สามารถรับผิดชอบได้เจอแบบนี้คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะผลการตรวจครั้งแรกก็พบว่าติดเชื้อแต่บริษัทกลับบอกว่า ปกติ คุณภูผารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือนัดเจรจาระหว่างคู่กรณีทุกฝ่ายคือ ร้านค้า เจ้าของห้าง และผู้ร้อง หลังจากร้านได้รับหนังสือนัดเจรจา ทางบริษัทติดต่อโดยตรงกับคุณภูผาแจ้งว่า ทางฝ่ายมาร์เก็ตติ้งมีวงเงินเหลืออีก 4,000 บาท ซึ่งจะมอบเป็นค่ารักษาต่อเนื่องให้ คุณภูผาจึงขอคำแนะนำจากทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่า ตนเองมีสิทธิอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างไหม  ซึ่งทางศูนย์ฯ แนะนำว่า กรณีที่ไม่พอใจเงินจำนวนดังกล่าวที่ถูกเสนอมา คุณภูผาสามารถปฏิเสธไม่รับได้ และสามารถเรียกเพิ่มได้ตามความเหมาะสม หากบริษัทไม่ยินดีผู้ก็สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ ต่อมาคุณภูผาได้แจ้งว่า ตนสามารถตกลงค่าเสียหายกับบริษัทได้แล้ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แท็กซี่ครองแชมป์ถูกร้องเรียนมากสุด

ทุกวันนี้ปัญหารถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยมีกันหลากหลายรูปแบบ และมีให้เห็นกันได้ไม่เว้นวัน แถมไม่เลือกปฏิบัติเพราะเกิดทั้งกลุ่มคนไทยและคนต่างชาติ แต่หากเจาะจงกลุ่มรถโดยสารที่มีปัญหาร้อนแรงสุดในช่วงนี้  คงต้องยกให้กับกลุ่มรถแท็กซี่ ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ปัญหาหลายอย่างสะสมและก่อตัวจนกลายเป็นความเคยชินที่ใครๆ ก็ทำได้ จากสถิติข้อมูลการร้องเรียนในระยะเวลา 5 เดือน (ตุลาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561)  ของกรมการขนส่งทางบก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดถึง 17,794 เรื่อง โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว  ขณะที่ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปจากการใช้บริการรถแท็กซี่ คือ ขับรถเร็ว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่กดมิเตอร์ คิดเหมาจ่าย ไม่ทอนเงินค่าโดยสาร ขับรถออกนอกเส้นทาง มีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ ทิ้งผู้โดยสารลงข้างทาง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ หรือแม้กระทั่งรถแท็กซี่เถื่อน หนักกว่านั้นวันดีคืนดีก็ออกมาขู่ประท้วงหยุดวิ่ง เรียกร้องให้รัฐขึ้นค่าแท็กซี่ หากไม่ปรับจะหยุดวิ่งให้บริการ เรียกได้ว่ามีทุกรูปแบบกับการให้บริการรถรับจ้างประเภทนี้  จากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 85,820 คัน แบ่งเป็นประเภทส่วนบุคคล 19,789 คัน ประเภทนิติบุคคล 65,464 คัน และไม่ระบุประเภท 567 คัน โดยจำนวนรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนสะสมมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีหลังสุด ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในบริการของรถแท็กซี่ และหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนบุคลากรขับรถสาธารณะ ส่งผลให้ผู้ที่จะมาขับรถแท็กซี่มีจำนวนลดน้อยลงตามลำดับรวมถึงการบังคับให้รถแท็กซี่ที่จะจดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องเข้าระบบโครงการ TAXI OK ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่รายเดิมเลือกที่จะเลิกขับหรือหันไปเช่ารถแท็กซี่ขับแทนที่จะออกรถคันใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแทนยังมีกรณีรถแท็กซี่ที่ทยอยหมดอายุการใช้บริการเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ในปี 2561 นี้ จะมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุลงจำนวนมากกว่า 20,000 คัน เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก แต่กลับพบว่ามีรถแท็กซี่บางส่วนที่ครบอายุการใช้งานแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการแจ้งระงับหรือแจ้งเปลี่ยนประเภทรถ โดยปัจจุบันพบว่า มีรถแท็กซี่ที่หมดอายุ มาวิ่งรับส่งคนโดยสารอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเขตปริมณฑล เช่น รังสิต นนทบุรี นครปฐมซึ่งตามกฎหมายกำหนดโทษสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ต้องระวางโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที และหากนำรถที่แจ้งเปลี่ยนประเภทเป็นรถส่วนบุคคลแล้วมาลักลอบรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่จะมีรถแท็กซี่เถื่อนสักกี่รายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับปรับ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า รถแท็กซี่คันที่ขึ้นนั้นหมดอายุแล้วหรือยัง หรือขึ้นแล้วจะปลอดภัยแค่ไหน ผู้บริโภคจะรู้ก็ต่อเมื่อรถแท็กซี่คันนั้นถูกจับปรับแล้วเท่านั้นอย่างไรก็ดีแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะพยายามให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะเพื่อแจ้งเตือนว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้ว คือ รถแท็กซี่นิติบุคคล (หลายสี) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ท” ประกอบด้วย ทะเบียน ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ที่ขึ้นต้นด้วยหมวด “ม” ประกอบด้วย ทะเบียน มก, มข, มค, มง, มจ รวมถึงรถแท็กซี่หมวด ทว และหมวด มฉ ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในปีนี้  พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคคอยสังเกตรถแท็กซี่ที่จะขึ้น หากพบเห็นรถเถื่อนรถไม่ปลอดภัยให้แจ้ง 1584 นั้นแม้จะเป็นเรื่องดีที่มีการแจ้งเตือนให้ผู้บริโภคต้องเฝ้าระวังไม่ให้เลือกใช้รถที่ผิดกฎหมาย เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มนี้คือรถแท็กซี่ที่หมดอายุ เป็นรถเถื่อนที่ไม่มีความคุ้มครอง แต่มาตรการดังกล่าวกลับกลายเป็นภาระของผู้บริโภคที่รัฐบอกให้ต้องคอยดูป้ายทะเบียนก่อนเลือกรถใช้บริการ ทั้งที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมการขนส่งทางบกควรจะทำได้มากกว่านี้ ถึงขนาดมีบอกกันว่า แค่โบกรถให้ไปยังยากเลย แล้วนี่จะมาให้จ้องป้ายทะเบียนด้วย ใครจะไปดู…เกิดเป็นผู้บริโภคไทยนี่ลำบากจริงๆ ครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 การยกเลิกบริการสถานออกกำลังกาย

“...อุปกรณ์อะไรก็ไม่เพียงพอ ตอนที่เข้าไปใช้งานดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมืออะไร เทรนเนอร์ก็ไม่มาดูแล มีเพียงพนักงานมาสอบถามว่า เทรนเนอร์ยังไม่ได้โทรนัดหรือ แล้วให้ดิฉันไปปั่นจักรยาน 20 นาที จากนั้นก็ไม่มีใครมาดูแลอีก แล้วดิฉันก็ใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่เป็น วันต่อมาก็เหมือนกัน” การยกเลิกบริการสถานออกกำลังกาย    สุขภาพดีและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนสะดวกแบบที่โล่งแจ้งก็สามารถใช้สวนสาธารณะ วิ่ง เดิน สร้างความแข็งแรง แต่หลายคนชอบที่จะใช้สถานบริการออกกำลังกายเพราะเห็นว่ามีเครื่องออกกำลังกายที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีเทรนเนอร์คอยให้คำปรึกษา จึงเลือกที่จะทำสัญญาเพื่อใช้บริการ ซึ่งการทำสัญญาลักษณะนี้ต้องพอใจกันทั้งผู้ให้และผู้รับ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตามเงื่อนไขอย่างที่ตกลงกันไว้ ก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้     คุณเป็นหนึ่ง เข้ามาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ได้ทำสัญญาเข้าใช้บริการกับสถานบริการออกกำลังกายชื่อดังแห่งหนึ่ง ลองฟังเรื่องที่เธอเล่าก่อน “ดิฉันอยากขอยกเลิกสัญญา เพราะบริษัทไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา อุปกรณ์อะไรก็ไม่เพียงพอ ตอนที่เข้าไปใช้งานดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมืออะไร เทรนเนอร์ก็ไม่มาดูแล มีเพียงพนักงานมาสอบถามว่า เทรนเนอร์ยังไม่ได้โทรนัดหรือ แล้วให้ดิฉันไปปั่นจักรยาน 20 นาที จากนั้นก็ไม่มีใครมาดูแลอีก แล้วดิฉันก็ใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่เป็น วันต่อมาก็เหมือนกัน แล้วยังต้องรอกว่าคนอื่นๆ จะเลิกปั่นจักรยานซึ่งเป็นอย่างเดียวที่ดิฉันทำได้ แล้วดิฉันก็เป็นโรคหอบหืด เวลาที่ออกกำลังจะมีอาการกำเริบเหนื่อยหอบจนต้องใช้ยาพ่นทุกครั้ง จึงคิดว่าแบบนี้น่าจะไม่สามารถใช้บริการได้ จึงอยากขอยกเลิกสัญญา”      เมื่อฟังดังนี้แล้ว ข้อที่น่าจะใช้ในการยกเลิกสัญญาได้คือ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 กำหนดว่า     ข้อ 3(4) สิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคมี ดังนี้(ก)   ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ หรืออุปกรณ์ชำรุดบกพร่อง บริการไม่เหมาะสมไม่เพียงพอ โดยผู้ประกอบการหาอุปกรณ์หรือบริการมาทดแทนไม่ได้(ข)    มีหลักฐานเป็นหนังสือจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ(ค)   ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องแล้วไม่มีคำเตือน ดังนั้นเรื่องของคุณเป็นหนึ่งเข้าลักษณะที่จะบอกเลิกสัญญาได้  แนวทางการแก้ไขปัญหา    เมื่อพิจารณาว่าเรื่องของคุณเป็นหนึ่งที่เล่ามาเข้าข่ายบอกเลิกสัญญาได้ จึงแนะนำให้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงผู้ประกอบธุรกิจ หนังสือแจ้งธนาคาร (เจ้าของบัตรเครดิต) ขอใบรับรองแพทย์ เพื่อแนบส่งให้ทางผู้ประกอบธุรกิจ และสำเนาถึงศูนย์พิทักษ์ฯ เพื่อดำเนินการต่อหากยังไม่สามารถยุติสัญญาได้     คุณเป็นหนึ่งดำเนินการตามที่แนะนำ ประมาณต้นเดือนมกราคม ต่อมาพบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้หักเงินในบัญชีไปประมาณ 2 พันกว่าบาท แจ้งว่าเป็นค่าบริการของเดือนมกราคม และยังมีใบเรียกเก็บของเดือนกุมภาพันธ์ตามมาอีกด้วย      ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงนัดให้มีการเจรจากันเพื่อยุติเรื่อง อย่างไรก็ตาม มีคำชี้แจงของทางสถานบริการออกกำลังกายว่า  เนื่องจากผู้ร้องได้ค้างชำระค่าบริการ เดือน ก.พ. มี.ค.และเม.ย. ซึ่งระบบจะยกเลิกสถานะสมาชิกโดยอัตโนมัติ  ต่อมาผู้จัดการสาขาที่คุณเป็นหนึ่งเข้าใช้บริการได้ชี้แจงรายละเอียดว่า “ลูกค้าได้เข้ามารับบริการที่สาขา โดยแจ้งกับพนักงานว่าเป็นโรคหอบหืดและแพทย์อยากให้ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ จึงตกลงซื้อคอร์สฟิตเนสเป็นสัญญา 1 ปี ทั้งนี้ลูกค้าได้ซื้อบริการเทรนเนอร์เพิ่มอีก 3 ครั้ง ซึ่งลูกค้าใช้บริการเทรนเนอร์ครบแล้ว แต่ต่อมาลูกค้าต้องการยกเลิกสัญญา  แจ้งว่าไม่สะดวก ต้องไปรับลูกจากโรงเรียน แล้วยังแจ้งอีกโดยอ้างว่าเทรนเนอร์ไม่ดี  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นสัญญา 1 ปี ทางสาขาจึงแนะนำให้ลูกค้าโอนสิทธิการใช้บริการให้บุคคลอื่น หรือหยุดการใช้บริการชั่วคราว หรือลดเกรดการรับบริการลง แต่ทั้งนี้เมื่อลูกค้าค้างชำระค่าบริการ 3 เดือน ระบบจะทำการยกเลิกสมาชิกอัตโนมัติ” เป็นอันว่าเรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้

“ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้     รถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้สะดวกในเรื่องการเดินทาง การประกอบอาชีพ บางคนถ้าพอมีฐานะการเงินพอที่จะมีรถยนต์ส่วนตัวได้ ก็ไม่ลังเลที่จะมีไว้สักคัน แล้วถ้ายิ่งได้ครอบครองรถใหม่ป้ายแดงก็ยิ่งมีความคาดหวังที่สูง เพียงแต่ว่าหลายคนก็โชคไม่ดีเจอปัญหารถป้ายแดงทำพิษ     คุณสมหวังผิดหวังอย่างแรง เมื่อรถยนต์หรูราคา 3 ล้านบาทของเธอ ซึ่งใช้งานได้ยังไม่ถึงเดือนก็เกิดอาการผิดปกติเสียแล้ว “รถคันนี้ซื้อมาเมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็นำมาใช้งานทุกวันไม่มีปัญหาอะไร จนวันที่ 24 ก.พ. ขณะขับบนทางด่วน สังเกตที่ปุ่ม P มีไฟโชว์ขึ้นมา ตอนนั้นไม่ได้เอะใจอะไรคิดว่าเดี๋ยวคงหาย ทว่าสักพักพอจะเร่งความเร็วรถ กลับเร่งไม่ขึ้น  ไม่มีกำลัง”            เหตุคาดไม่ถึงนี้ทำให้คุณสมหวังต้องค่อยๆ ประคองรถขับเรื่อยๆ จนถึงบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ขับแบบสภาพไม่มีกำลังเร่งไปที่ศูนย์บริการของแบรนด์รถยนต์ดังกล่าว ช่างขอรับรถไว้ตรวจสภาพและหาสาเหตุก่อน ผลคือรถยนต์อยู่ในศูนย์ซ่อมถึง 3 สัปดาห์ เมื่อมารับรถยนต์คุณสมหวังยังรู้สึกดีกับบริการต่างๆ อยู่ เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์และคุณภาพของช่างว่าจะจัดการปัญหาได้เรียบร้อย แต่เมื่อนำมาใช้งานตามปกติเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ปัญหาเดิมก็กลับมาอีก และเกิดขึ้นตอนอยู่บนทางด่วนเช่นเดิม    “ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” เป็นคำปรึกษาที่ทางคุณสมหวังแจ้งต่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา   เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคต้องการคือ ให้บริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้หรือรับซื้อคืนคันที่มีปัญหา วิธีที่ต้องทำคือ ผู้บริโภคต้องทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ดังกล่าว แจ้งลักษณะของปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ซึ่งรถยนต์หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพก็อาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ขับขี่ได้  ดังนั้นจึงขอให้บริษัทดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้บริโภคร้องขอ พร้อมกับทำสำเนาส่งถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งจะดำเนินการต่อหากบริษัทปฏิเสธคำร้องของผู้บริโภค    ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสมหวังว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับซื้อรถคืนแล้ว โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งตรงนี้คุณสมหวังพอใจ จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม

เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ              รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม    เคยไหมเวลาเดินเล่นเพลินๆ ให้ห้างสรรพสินค้า แล้วถูกเซลล์ของบรรดาคลินิกหรือสถานเสริมความสวยงาม สถานบริการลดน้ำหนัก พุ่งเป้าเล็งคุณด้วยการเชิญชวนที่ยากจะปฏิเสธ กว่าจะรู้ตัวก็เซ็นสัญญารูดบัตรเครดิตไปเรียบร้อย ถ้าพลาดไปแล้วจะทำอย่างไร ลองดูกรณีตัวอย่างนี้     ขณะคุณปิ๊กกำลังเพลิดเพลินเดินห้างอย่างสบายอารมณ์ พนักงานขายของคลินิกบริการด้านความงาม (ขอเรียกว่า คลินิก T) “พยายามเรียกดิฉันให้เข้าไปในบูท บอกว่าแค่เขียนชื่อเพื่อที่ตัวน้องเขาจะได้ยอด” ด้วยความใจดี คุณปิ๊กจึงช่วยเขียนชื่อให้เพราะไม่คิดว่าต้องเสียอะไร      แต่คุณปิ๊กคงคาดไม่ถึงว่าตนเองต้องผจญกับการเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งลด แจก แถม ที่พนักงานขายพยายามเสนอให้อย่างสุดความสามารถ เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ     เมื่อกลับมาบ้านจึงมีเวลาได้ทบทวนและตรวจสอบราคาค่าบริการ คุณปิ๊กพบว่าราคาค่าบริการของคลินิก T แพงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-10 เท่า แม้แต่ราคาโปรโมชั่นที่ได้ซื้อไปก็แพงกว่า 2 เท่า จึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา     เนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำเบื้องต้นให้ทำหนังสือ (จดหมาย) “บอกเลิกการใช้บริการและขอเงินคืนทั้งหมด” ถึงคลินิก T และทำหนังสือ “ขอระงับการจ่ายเงิน” ถึงผู้ให้บริการบัตรเครดิต (ธนาคาร) แล้วสำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อจะได้ดำเนินการต่อเนื่อง     ผลการดำเนินการ ทางคลินิกแจ้งเป็นหนังสือว่าจะจ่ายเงินค่าคอร์สคืนให้แก่ผู้ร้องคือคุณปิ๊ก จำนวน 19,500 บาท จากจำนวนเต็ม 30,000 บาท โดยขอหักไว้ 35% (10,500 บาท) อ้างว่า เป็นค่าธรรมเนียม กรณีนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่าผู้ร้องควรใช้สิทธิดำเนินการทางศาลหรือฟ้องเรียกเงินคืนจะดีกว่าวิธีที่ผู้ร้องคิด คือจะขอไปใช้บริการในส่วน 10,500 บาทและรับเงินคืน 19,500 ซึ่งวิธีนั้นทางคลินิกไม่ยินยอมและยืนยันการคืนเงินตามหนังสือที่แจ้งมา ถ้าผู้ร้องฟ้องคดีอาจได้รับเงินในส่วนที่ถูกหักไว้ 35% คืนกลับมา เพราะค่าธรรมเนียมที่ทางคลินิกเรียกถึง 35% นั้นสูงเกินไป ซึ่งคุณปิ๊กเห็นด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ในกระบวนการฟ้องคดี และจะนำมารายงานต่อเมื่อคดีสิ้นสุด                               ใจแข็งไว้นะคะเวลาเผชิญหน้ากับเซลล์ ไม่ว่าจะสินค้าใดก็ตาม ผู้บริโภคควรมีเวลาสำหรับการหาข้อมูลให้แจ้งชัดและมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ไข่จริงไข่ปลอม ?

“ไข่ขาวมีลักษณะผิดปกติคือ มีความหนืดมากและเป็นแผ่นยาว มีเยื่อผนังส่วนติดอยู่กับเปลือกไข่ และก่อนทอดสีของไข่แดงออกสีจางๆ  ต่อเมื่อทอดเป็นไข่ดาวจึงมีลักษณะปกติ”  ไข่จริงไข่ปลอม ?“ตลาดอรัญฯ ป่วน ตื่นไข่ปลอม ส่งตัวอย่างตรวจ” ไทยรัฐ“หนุ่มผงะไข่นกกระทาปลอม ทอดแล้วเหนียวเหมือนพลาสติก” Sanook“สาวโพสต์เตือน ไข่ต้มปลอม!”  LINE Todayข้อความข้างต้นคือพาดหัวข่าวในช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวไข่ปลอมทำให้ผู้บริโภครู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะ “ไข่” เป็นอาหารประจำของทุกๆ บ้าน เราในฐานะผู้บริโภคก็พยายามเลือกซื้อไข่ที่มีแหล่งที่มาชัดเจนเพื่อจะได้มั่นใจว่าเป็นไข่จริงและปลอดภัยในการบริโภค แต่แล้วการเลือกไข่ที่มีแหล่งที่มาชัดเจน บรรจุภัณฑ์ (packaging) สวยงาม ซื้อจากร้านค้าในห้างใหญ่ กลับทำให้ผู้บริโภคท่านนี้สงสัยว่าไข่ที่ซื้อมาเป็นไข่ปลอมหรือไม่ หลายวันก่อนคุณภูผาผู้ร้องเจ้าประจำไปเดินเล่นพักผ่อนที่ห้างสรรพสินค้า ก่อนกลับบ้านได้แวะ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างนั้นเพื่อซื้ออาหาร หนึ่งในนั้นคือไข่ไก่ เบอร์ 1 จำนวน 1 แพค บรรจุ 10 ฟอง ตอนเลือกเขาเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของไข่มีลักษณะสวยงามแปลกไปจากผลิตภัณฑ์เจ้าอื่นบนชั้นวางเดียวกัน และราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่น ก็คิดว่าน่าจะเป็นไข่ไก่ออร์แกนิคจึงซื้อมา เมื่อกลับถึงบ้านเขานำไข่ออกจากบรรจุภัณฑ์มาแช่ตู้เย็น หลังจากนั้นก็นำไข่มาประกอบอาหารตามปกติ ไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร แต่ตอนไข่เหลืออยู่ 4 ฟอง คุณภูผานำมาทอดกับเนย 2 ฟอง กลับพบว่าไข่ขาวมีลักษณะผิดปกติคือ มีความหนืดมากและเป็นแผ่นยาว มีเยื่อผนังส่วนติดอยู่กับเปลือกไข่ และก่อนทอดสีของไข่แดงออกสีจางๆ  ต่อเมื่อทอดเป็นไข่ดาวจึงมีลักษณะปกติ อย่างไรก็ตาม คุณภูผาเสพข่าวสารมาพอสมควร และเห็นข่าวไข่ปลอมกำลังระบาด จึงรู้สึกกังวลใจว่าตัวเองโดนหลอกเสียแล้ว เริ่มไม่แน่ใจว่าไข่ที่เขาพบความผิดปกตินี้เป็นไข่ปลอมหรือไม่ เขาจึงนำเปลือกไข่ที่พบความผิดปกติและไข่ที่เหลืออีก 2 ฟองมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ตรวจสอบและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังในการรับไข่มาจำหน่ายในห้างของตัวเอง แนวทางการแก้ปัญหา   การจำหน่ายอาหารปลอมเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 59 ระบุให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท    กรณีไม่แน่ชัดว่าไข่เป็นของจริงหรือของปลอม ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ส่งให้นักวิชาการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไข่ไก่ของผู้ร้องกับไข่ไก่ที่ซื้อมาจากตลาด ผลปรากฏว่าไข่มีลักษณะเป็นทรงวงรี สีขาวนวลออกเหลือง เมื่อตอกไข่เนื้อไข่มีลักษณะมีน้ำค้างของไข่หุ้มไว้ สีสม่ำเสมอ มีกลิ่นคาวไข่ เมื่อนำไปทอดมีลักษณะเหมือนกัน เผาเปลือกไข่ ไม่มีกลิ่นสารเคมี ซึ่งเป็นลักษณะของไข่ไก่จริง ต่อมาได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าไข่ของผู้ร้องไม่ใช่ไข่ปลอม เป็นไข่จริง ผู้ร้องเข้าใจและลดความกังวลลงอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

   ผู้บริโภคหลายท่านน่าจะเคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกัน ไม่ว่าระยะทางจะใกล้หรือไกล มีกรณีศึกษาของสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ที่น่าสนใจพบว่า มีผู้บริโภคหลายท่านที่ประสบอุบัติเหตุแล้วได้รับการชดเชยความเสียหายได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดความรู้ที่สำคัญ            คุณเอก(นามสมมติ) ได้โดยสารรถทัวร์ของบริษัทรถชื่อดังแห่งหนึ่ง เส้นทางสายมุกดาหาร - กรุงเทพฯ  เมื่อรถวิ่งมาถึงบริเวณถนนสายมหาสารคาม – บรบือ  รถโดยสารเสียหลักพุ่งเข้าชนกับรถบรรทุก ทำให้คุณเอกและภรรยาที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน  เป็นเพราะยังบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส ทำให้ช่วงแรกไม่รู้ว่าตนเองจะไปเรียกร้องความเสียหายจากใคร  อย่างไรได้บ้าง ต่อมาตัวแทนของทางบริษัทรถโดยสารได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย และได้แถลงข่าวว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะเยียวยาความเสียหายกับผู้โดยสารทุกราย ไม่เคยทอดทิ้งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเสนอตัวเข้าช่วยเหลือทางด้านสิทธิในการเยียวยาเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คุณเอกพบว่า ทางบริษัทฯ สร้างเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย บอกข้อมูลที่สำคัญไม่ครบถ้วน คุณเอกจึงปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขของบริษัทฯ และยังได้ขอความช่วยเหลือกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยดำเนินเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ  โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 และนัดสืบเมื่อ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ต่อมาหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางบริษัทรถโดยสารยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับทั้งสองสามีภรรยาตามที่เรียกร้องไป โดยนัดให้ทางบริษัทฯ นำเงินมาจ่ายค่าเสียหายที่ศาล  และลงบันทึกเป็นหนังสือยินยอมให้คุณเอกถอนฟ้อง  แนวทางแก้ไขปัญหา   เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ดังนี้ 1. ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุหรือการกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการเช่าเหมาเดินทางได้2. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกล3. ปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ กรณีเสียชีวิต จาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย  โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มวงเงินกรณีรักษาพยาบาลจาก 80,000 บาท  เป็น 150,000 บาทต่อราย  และปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยสมัครใจ เฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจของรถสองชั้น จาก 10 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถ4. มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกประจำจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด5.ให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสาธารณะภายในปี 2562 แหล่งที่มาของเงิน ให้เรียกจากค่าปรับจากจราจรทางบก และกองทุนเลขสวย 6.ยกระดับคนขับรถโดยสารสาธารณะ ให้เป็นอาชีพที่น่าเชื่อถือ มีเงินเดือนที่เหมาะสม กำหนดอายุในช่วงวัยที่เหมาะสม  โดยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการขับรถ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เดินห้างแล้วของหล่นใส่เรียกร้องอย่างไรดี

  ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งให้ห้างใหญ่อย่างเป็นสุข คงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดอุบัติเหตุสินค้าบนชั้นวางหล่นใส่ศีรษะโครมใหญ่ มาดูกันว่า มีวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   เมื่อพฤศจิกายน ปีที่แล้ว คุณพรสรวง ไปเลือกซื้อสินค้าในห้างใหญ่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ย่านพุทธมณฑล ระหว่างเลือกซื้ออย่างเพลินๆ ทันใดสินค้าจากชั้นวางด้านบนสุดได้หล่นโครมใส่ศีรษะคุณพรสรวงอย่างจัง เป็นกล่องพลาสติกขนาดใหญ่จำนวนหลายกล่อง สาเหตุเกิดจากพนักงานซึ่งกำลังจัดเรียงสินค้าอยู่ ได้ขยับบันไดเพื่อเปิดทางเดินให้ลูกค้า แต่พนักงานไม่ได้ระมัดระวังให้มากพอ บันไดจึงไปเกี่ยวเข้ากับกล่องพลาสติกที่จัดวางไว้ชั้นบนร่วงลงมากระแทกใส่ศีรษะและไหล่ด้านขวาของคุณพรสรวง   พนักงานของทางห้างรีบนำคุณพรสรวงส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง เนื่องจากบาดเจ็บที่ศีรษะจึงต้องพักดูอาการที่ห้องไอซียู 24 ชั่วโมง ต่อมาจึงย้ายเข้าพักที่ห้องพิเศษเพื่อรอทำการสแกนสมองและร่างกาย ซึ่งบริษัทเจ้าของห้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผลสแกนพบว่ามีความผิดปกติที่คอและเอว ทำให้ต้องรักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 2 คืน จากนั้นจึงกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านอีก 5 วัน และมีนัดทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง หลังจากดำเนินการทำกายภาพบำบัดไปสองครั้ง คุณพรสรวงต้องการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากการรักษา และได้แจ้งต่อทางบริษัทไป   ทางบริษัทมิได้ปฏิเสธ แต่ได้ขอให้คุณพรสรวงส่งหนังสือรับรองเงินเดือนเพิ่มเติม และแจ้งว่าจะดำเนินการให้ ต่อมาคุณพรสรวงเริ่มมีอาการเจ็บแปลบๆ ที่แขนซ้าย ข้อศอกซ้ายและมีอาการชาที่มือ จึงได้แจ้งต่อทางบริษัททราบ โดยทางบริษัทได้ให้คุณพรสรวงไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลพญาไท 1 ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอาการของกล้ามเนื้อและปลายประสาทอักเสบ ต้องรับประทานยาและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นค่าใช้จ่าย 17,366 บาท โดยการรักษาครั้งนี้คุณพรสรวงต้องเดินเรื่องเอง ทั้งการจัดส่งเอกสารและรอเบิกเงินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นทางบริษัทได้เสนอเงินชดเชยให้ในจำนวนเงิน 20,000 บาท ระบุว่าเป็นค่าพักรักษาตัวและค่าทำกายภาพบำบัด แต่ไม่ได้มีการเยียวยาหรือจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมให้ คุณพรสรวงจึงไปแจ้งความไว้กับทาง สภ.สามพราน เพื่อเป็นหลักฐานแจ้งต่อทางบริษัทว่าต้องการให้ทางบริษัทชดเชยในส่วนของค่ารักษานี้จาก 20,000 เป็น 50,000 บาท  เพราะแพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องทำกายภาพบำบัดไปอีกกี่ครั้ง ส่วนในประเด็นค่าเสียหายเพิ่มเติมนั้น คุณพรสรวงระบุจำนวนไว้ที่ 178,302 บาท โดยไม่รวมถึงค่ากายภาพบำบัดที่เรียกไปที่ 50,000 บาท แต่ทางบริษัทขอต่อรองลดลงมา ทางคุณพรสรวงจึงต้องการที่ปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้สินไหมทดแทนเพื่อการนั้น   กรณีนี้คุณพรสรวงเป็นผู้เสียหายจึงเรียกร้องสิทธิได้ตามกฎหมายกำหนดไว้  อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ต้องไปดำเนินการถึงขั้นฟ้องศาล ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยดำเนินการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่ายใช้เวลากว่าครึ่งปี จึงสามารถยุติเรื่องได้และผู้ร้องได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่เรียกร้องไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ระวังการรักษาทางเลือกที่ยังไม่ได้รับการรับรอง

    เมื่อตัวเลขอายุไต่ขึ้นมาใกล้หกสิบ ความกังวลต่อสุขภาพจะเป็นเรื่องที่คนเราให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะสังขารที่เสื่อมไป ดังนั้นหากมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้สุขภาพดีต่อไปได้อีกนานๆ ก็คงอยากจะทดลองดูสักครั้ง  เช่นเดียวกับคุณดารา วันหนึ่งเธอได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพต่อต้านความชรา สมมติว่าชื่อ บ.ลดวัย โดยพนักงานแจ้งคุณดาราว่า ทางบริษัทฯ มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถช่วยให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้นเหมือนยังหนุ่มสาวได้ ซึ่งคุณดาราสามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรี คุณดาราจึงตัดสินใจไปทดลองดูสักครั้ง    เมื่อเข้ารับบริการตามคำชักชวน พนักงานของ บ.ลดวัย ได้เจาะเลือดที่นิ้วของคุณดาราเพื่อตรวจด้วยการส่องกล้อง จากนั้นฉายภาพให้ดูว่า “เลือดมีสภาพไม่ปกติ มีการสะสมของไขมันและโลหะหนักในเลือดสูง อีกทั้งยังขาดออกซิเจน ซึ่งจะส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกาย” เมื่อโดนระบุแบบนั้นคุณดาราเกิดวิตกกังวลขึ้นมาทันที ขณะกำลังสับสนทางพนักงานแจ้งว่า เพื่อให้การตรวจมีความละเอียดขอเชิญให้ไปนั่งที่เก้าอี้ตรวจโรค ซึ่งจะสามารถสแกนได้ทั้งร่างกาย รวมถึงอวัยวะภายในทั้งตับ ไต ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง   พอยิ่งตรวจละเอียดตามวิธีการของบริษัทฯ ผลที่ออกมายิ่งชวนให้วิตกยิ่งขึ้น ผลตรวจระบุว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดี ตับเสื่อม และมีอาการที่ไม่ดีอีกหลายอย่าง จากนั้นทางบริษัท เสนอทางเลือกในการรักษาให้แก่คุณดารา ด้วยวิธีที่เรียกว่า การทำครีเอชัน เพื่อนำสารพิษออกจากเลือด ทั้งหมด 6 รายการ โดยมีราคาคอร์สอยู่ที่ 250,000 บาท แต่คุณดารามากับญาติและตามคำชวนของบริษัทฯ ดังนั้นจึงเสนอราคาพิเศษ 149,000 บาท ซึ่งสามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง โดยสามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ ซึ่งผู้ร้องหรือคุณดาราตกลงจ่าย 10 ครั้งแรกก่อนในราคา 14,900 บาท   ต่อมาเมื่อเข้าไปที่บริษัทในครั้งที่สอง พนักงานได้เจาะเลือดซ้ำ โดยนัดให้ฟังผลเลือดและพบแพทย์ในครั้งที่สาม แต่พอถึงวันนัดพบแพทย์ทราบว่าทางแพทย์ติดธุระ พนักงานจึงให้ผู้ร้องรับการฉีดวิตามินทางเส้นเลือดและขยับการพบแพทย์ไปในครั้งที่สี่หรือสัปดาห์ถัดไป    เมื่อพบแพทย์ผู้รักษาและพูดคุยเรื่องการรักษา แพทย์แจ้งว่า การเข้ารับบริการ 50 ครั้งนั้นมากเกินไป ควรทำเพียงแค่ 10 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากการทำครีเอชันที่มากเกินไปมีผลทำให้ไตวายได้ จากคำบอกของแพทย์ ทำให้คุณดาราไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ บริการของ บ.ลดวัย เพราะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จึงได้เริ่มค้นหาข้อมูลเรื่องการรักษาแบบครีเอชัน  ทำให้ทราบว่าวิธีการนี้ทางแพทยสภาไม่ให้การรับรอง   คุณดาราจึงต้องการยกเลิกสัญญากับ บ.ลดวัย และทำหนังสือแจ้งต่อบริษัทบัตรเครดิตเพื่อยกเลิกการจ่ายเงิน แต่ไม่ได้คำตอบจากบริษัทบัตร และเมื่อไปพบกับพนักงานเพื่อแจ้งยกเลิกคอร์ส พร้อมขอเงินคืน ทางผู้จัดการของบริษัทได้เข้าเจรจาและชี้ชวนว่า การทำเพียง 10 ครั้งทำไปไม่มีประโยชน์ แต่สามารถลดลงเหลือ 20 ครั้ง ส่วนอีก 30 ครั้งทางบริษัทฯ จะคืนเงินให้เป็นจำนวน 83,100 บาท เท่ากับผู้ร้องต้องจ่ายค่าคอร์ส 20 ครั้งเป็นเงิน 65,900 บาท อย่างไรก็ตามคุณดาราหมดศรัทธาต่อวิธีดังกล่าวจึงต้องการยกเลิกสัญญา จึงขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา    เมื่อผู้ร้องไม่ยินดีรับบริการต่อ เนื่องจากเห็นว่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสียเงินโดยไม่จำเป็น จึงต้องมีการเจรจาเพื่อยุติปัญหา ทั้งนี้คุณดาราเองได้ใช้สิทธิร้องเรียนไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงทำหน้าที่เป็นแค่ที่ปรึกษาเข้าร่วมเจรจาด้วย ซึ่งทางบริษัทฯ และผู้ร้องได้เจรจากัน ณ สำนักงาน สคบ. ศูนย์ราชการ ซึ่งผลการเจรจาสามารถจบลงด้วยดี บริษัทฯ ยินดีรับซื้อคอร์สคืน  โดยจะคืนเงินให้เมื่อขายคอร์สดังกล่าวได้แล้ว 

อ่านเพิ่มเติม >