ฉบับที่ 206 จักรยานหาย ในพื้นที่ของห้างฯ

เพราะปัญหารถจักรยานหายมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ผู้บริโภคหลายคนจึงป้องกันด้วยการจอดในพื้นที่ ที่ดูมีความปลอดภัย แต่ความจริงก็คือ ทุกพื้นที่ล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ลานจอดของห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยเดินตรวจตราอยู่ก็ตามคุณพลพลปั่นจักรยานคู่ใจไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ซึ่งเขาได้นำรถจักรยานไปจอดในบริเวณจอดรถที่ห้างฯ จัดไว้ให้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงไม่ได้ใช้กุญแจล็อกล้ออย่างที่เคยทำประจำ ครั้นเวลาผ่านไปเมื่อซื้อของกลับออกมาปรากฏว่ารถจักรยานหาย เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หากรถจักรยานหายในบริเวณที่ทางห้างสรรพสินค้าจัดไว้ให้ ถือว่าทางห้างฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 420 ความรับผิดเพื่อละเมิด ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับกรณีร้องเรียนนี้ ทางศูนย์ฯ สามารถช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังห้างฯ ดังกล่าว เพื่อขอเจรจาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องราวแล้วพบว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ซึ่งเลยอายุความละเมิดไปเรียบร้อย เพราะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายนั้นมีอายุความ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไป ศูนย์ฯ จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคที่พบลักษณะปัญหาทำนองเดียวกันนี้ว่า ควรรีบร้องเรียนให้ขอให้มีการรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันคดีหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ป่วย เพราะอาหารเสริม?

มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังคงสับสนระหว่างคำว่า “ยา” และ “อาหาร” ซึ่งส่วนใหญ่มักรับประทาน อาหาร เข้าไป แต่เผลอคิดไปว่าสามารถช่วยบำบัด รักษาโรคหรือออกฤทธิ์ได้เหมือน ยา ดังในกรณีของผู้ร้องรายนี้ ที่เธอรับประทาน ‘อาหารเสริม’ เข้าไป แต่คาดหวังสรรพคุณในการโรค คุณพลอยต้องการลดน้ำหนัก จึงตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมยี่ห้อ Mizme เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเพื่อนกินแล้วหุ่นดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลังรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวไปได้จำนวน 7 กล่อง เธอกลับรู้สึกถึงอาการผิดปกติของร่างกาย และมีอาการแน่นหน้าอกเป็นประจำ จึงไปพบแพทย์และพบว่าเส้นเลือดหัวใจอักเสบ ซึ่งแพทย์ได้สันนิษฐานสาเหตุว่า อาจเกิดจากการการรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป คุณพลอยจึงติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเลิกผลิตยี่ห้อนี้ไปแล้ว และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวอื่นก็เป็นได้ส่งผลให้คุณพลอยส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ช่วยตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าว ว่ามีสารอันตรายที่สามารถส่งผลต่ออาการของเธอจริงหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นว่า สามารถส่งผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามหลังได้รับเรื่องร้องเรียนไม่นาน ผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าขอยุติการร้องเรียน เนื่องจากพบข่าว สสจ.จังหวัด นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแหล่งผลิตยาลดความอ้วนยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีการปลอมหมายเลข อย. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาอื่นๆ อีก คือ 1. ตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ผลิตอาหารปลอม 3.โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวงให้เกิดความเชื่อโดยไม่สมควร และ 4.ผลิตหรือนำเข้า หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ทั้งนี้เจ้าหน้ายังระบุว่า อาหารเสริมดังกล่าวเคยถูกร้องเรียนและตรวจพบส่วนผสมของ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาที่ใช้สำหรับคนไข้จิตเวช/ โรคซึมเศร้า โดยมีผลทำให้ไม่อยากอาหาร และหากใช้ไปนานๆ ระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง บางรายอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ค่าน้ำไฟหอพักแพง

หลายคนที่เช่าหอพักหรืออพาร์ทเมนต์ มักพบปัญหาค่าน้ำค่าไฟแพง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกเรียกเก็บในอัตราต่อหน่วยที่สูงกว่าปกติ แต่เราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณพลอยเคยเช่าหอพักอยู่แถวรังสิต และต้องเสียค่าน้ำไฟเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเธอพบว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 6 บาท/ ยูนิตและค่าน้ำเหมา 250 บาท/ เดือน ซึ่งเธอรู้สึกว่าแพงเกินไปจึงย้ายที่อยู่ใหม่มาเช่าอพาร์ทเมนต์แถววิภาวดี อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงต้องเสียค่าน้ำไฟถึง 2,000 บาทต่อเดือน เพราะที่ใหม่เรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 8 บาท/ ยูนิต แม้คุณพลอยจะพยายามหาที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เธอก็ยังคงพบว่าการเรียกเก็บค่าน้ำไฟอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือตั้งแต่ 6 – 12 บาท/ ยูนิต เธอจึงต้องการทราบว่าการเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่าการเก็บค่าน้ำไฟในอัตราดังกล่าว ถือว่าแพงเกินอัตราเรียกเก็บจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีผู้ร้องหลายรายที่ร้องเรียนปัญหาดังกล่าวเข้ามา และศูนย์ฯ เคยรวบรวมรายชื่อผู้ร้องทั้งหมดส่งไปยัง สคบ. เพื่อขอให้ออกมาตรการหรือประกาศควบคุมการเรียกเก็บค่าน้ำไฟของหอพักแล้วภายหลัง สคบ. ก็ได้มีการหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้ออกประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (พ.ศ. 2561) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าให้ชัดเจน รวมทั้งข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้เช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมาย ในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เกินกว่าที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจได้ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งหลังการบังคับใช้แล้ว หากผู้บริโภคพบว่าเจ้าของหอพักยังคงเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ก็สามารถฟ้องร้องได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กาแฟแพงเกินไป

สินค้าหรือบริการใดที่ไม่แสดงราคาหรือรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อน มักสร้างปัญหาน่าปวดหัวตามมาภายหลัง เหมือนอย่างในกรณีนี้ที่ผู้ร้องเป็นคอกาแฟ ซึ่งปกติแล้วเธอยินดีจ่ายค่ากาแฟในราคาสูงเพื่อแลกกับกลิ่นหรือรสชาติของกาแฟแท้ แต่ครั้งนี้กลับต้องตกใจเมื่อพบว่ากาแฟราคาแก้วละ 400 บาท!คุณดวงใจเลือกสั่งมอคค่าเย็น จากร้านกาแฟสดแถวหน้ามหาวิทยาลัยใน จ.พิษณุโลก โดยก่อนชำระค่าสินค้าพนักงานได้สอบถามว่าต้องการกาแฟแบบธรรมดาหรือแท้ เธอจึงตอบกลับไปว่าแท้และไม่คิดว่าราคากาแฟแท้ดังกล่าวจะแพงมากนัก เนื่องจากเห็นป้ายราคาติดไว้ว่า “มอคค่าเย็น 50 บาท” อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับกาแฟเรียบร้อย พนักงานก็แจ้งว่าค่ากาแฟทั้งหมด 400 บาท ซึ่งเธอตกใจมากและเมื่อสอบถามจึงทราบว่าที่ราคาสูงเนื่องจากเป็นมอคค่าแท้ ส่วนราคา 50 บาทนั้นสำหรับมอคค่าแบบธรรมดา แม้คุณดวงใจจะไม่พอใจมาก แต่เธอก็ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปและต้องการร้องเรียนเพื่อให้ทางร้านมีการปรับปรุงป้ายราคา หรือแจ้งรายละเอียดระหว่างกาแฟแท้กับกาแฟธรรมดาให้ลูกค้าฟังก่อนตัดสินใจ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ อีก เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้หากผู้บริโภคพบว่า การแสดงป้ายราคาสินค้าหรือค่าบริการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าภายในได้กำหนดไว้ คือ 1. สามารถเห็นราคาได้อย่างชัดเจน 2. ราคาที่แสดงต้องเป็นราคาต่อหน่วย 3. รายการที่แสดงต้องเป็นภาษาไทย (แต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้) 4. แสดงค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บเพิ่มเติมให้ชัดเจน เช่น ภาษีหรือเซอร์วิสชาร์ท 5. ป้ายราคาสินค้าและบริการต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่าย (ยกเว้นจำหน่ายต่ำกว่าราคา) สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ เบอร์สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน http://www.dit.go.th/ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าทางร้านค้า/ ร้านอาหารกระทำผิดจริงจะโดนโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 มีสิทธิยกเลิกสัญญาหรือไม่

หากเราตกลงทำสัญญาใดๆ ไปแล้ว แต่ต้องการยกเลิกในภายหลังจะสามารถทำได้หรือไม่ ลองไปดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กันคุณสมพรได้รับการเชิญชวนให้ตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งภายหลังการตรวจเลือด พนักงานก็แจ้งว่าเลือดในร่างกายไม่ปกติ เพราะมีการสะสมของไขมันและโลหะหนัก ทำให้เลือดขาดออกซิเจน โดยอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ได้ในอนาคต นอกจากนี้เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็ยังพบอีกว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดีและตับเสื่อม ด้วยผลการตรวจเช่นนั้น ทำให้คุณสมพรวิตกกังวลอย่างมาก จึงยินดีเข้ารับการรักษาแบบคีเลชั่น (Chelation) เพื่อเอาสารพิษออกจากเลือดตามที่พนักงานแนะนำ ในราคาพิเศษเหลือ 149,000 บาท สามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง อย่างไรก็ตามในอีกอาทิตย์ถัดมา เมื่อคุณสมพรได้เข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาดังกล่าว แพทย์กลับแจ้งว่าการทำ 50 ครั้งมากเกินไป ควรทำแค่ 10 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพราะหากทำมากเกินไปสามารถส่งผลให้ไตวายได้ คุณสมพรจึงยังไม่เข้ารับการรักษาทันที เพราะเห็นว่าแพทย์และพนักงานให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน และไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำคีเลชั่นเพิ่มเติมจากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเธอพบว่าแพทย์สภาไม่รับรองการรักษาดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการรักษาและขอเงินคืนทั้งหมด แต่พนักงานกลับต่อรองให้ทำการรักษาตามที่แพทย์แนะนำต่อไป ทำให้คุณสมพรส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หลักในการยกเลิกสัญญามี 3 วิธีดังนี้ 1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องการยกเลิกสัญญา 2. คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกสัญญา แล้วทำคำเสนอขอยกเลิกสัญญา เมื่อคู่สัญญาเห็นพ้องด้วย ทำคำสนองตอบกลับมา 3. การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายไม่ต้องเห็นพ้องด้วยโดยในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียวนั้น คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญา ต้องมีสิทธิในการบอกเลิก คือ ในข้อสัญญามีการระบุไว้ว่าถ้ามีการผิดสัญญา อีกฝ่ายสามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือตามบัญญัติของกฎหมาย กรณีที่ไม่ได้มีข้อสัญญาระบุไว้ ดังนี้ 3.1 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้3.2 สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ตามเวลา ในกรณีที่เวลาเป็นสาระสำคัญ และ 3.3 สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย โดยโทษลูกหนี้ได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องอาจเจรจาต่อรองและรับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำคือ 10 ครั้ง โดยจ่ายราคาตามจริงได้ ส่วนการรักษาแบบคีเลชั่นนั้น เป็นการขจัดโลหะหนักที่เป็นพิษออกจากร่างกาย ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีปัญหาธาตุเหล็กเกินในร่างกายแต่หากพบว่าสถานบริการหรือโรงพยาบาลใด ที่ระบุว่าการทำคีเลชั่นสามารถช่วยรักษาโรคหลอดเลือด โรคหัวใจหรือออทิสติคได้ จะถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้อยู่ในการรับรองของแพทยสภา ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือสามารถสอบถามข้อมูลต่อได้ที่สมาคมแพทย์คีเลชั่นไทย (http://www.cmat.or.th/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สั่งซอสปรุงรสออนไลน์ ไม่พบฉลาก

แม้การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะช่วยอำนวยความสะดวกหลายประการ แต่อุปสรรคหนึ่งที่ผู้บริโภคหลายคนต้องพบ มักหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพหรือมาตรฐานของสินค้านั้นๆ หากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเรา จะสามารถจัดการได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันคุณสมชายเป็นคนชอบทำอาหาร และเห็นว่าพิธีกรรายการอาหารที่ตนเองชื่นชอบทำซอสปรุงรสขาย เขาจึงตัดสินใจสั่งซื้อมาทดลองประกอบอาหารดู เพราะเห็นการโฆษณาว่าซอสนี้ปรุงอาหารอะไรก็อร่อย อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับสินค้าแล้วเรียบร้อย เขากลับพบว่าสินค้าดังกล่าวมีเพียงฉลากชื่อยี่ห้อที่ระบุว่าเป็น “ซอสตราไก่” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ เช่น เลข อย. ส่วนประกอบหรือวันเดือนปีที่ผลิต/ หมดอายุ ทำให้คุณสมชายไม่มั่นใจว่า ซอสที่ได้รับมาเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดเกี่ยวกับโฆษณาขายซอสดังกล่าว พร้อมภาพถ่ายหรือสินค้าตัวจริงมาให้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบพบว่าไม่มีเลขการจดทะเบียน อย. ฉลากโภชนาการ หรือวันเดือนปีที่ผลิต/ หมดอายุตามที่ผู้ร้องร้องเรียนจริง จึงช่วยทำจดหมายไปยัง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบซอสดังกล่าวเนื่องจากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 200) พ.ศ. 2543 เรื่องซอสในภาชนะบรรจุปิดสนิท กำหนดให้ซอสเป็นอาหารที่ถูกควบคุม และซอสในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก โดยต้องแสดงให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากพบว่าการผลิตซอสและจำหน่ายซอสที่ไม่มีฉลากและข้อความบนฉลากที่ถูกต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ทนายความทิ้งคดี

ผู้บริโภคหลายคนที่ประสบปัญหาด้านคดีความ มักว่าจ้างทนายความให้มาช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งต่อให้ไม่ชนะคดี แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ความเอาใจใส่ด้านคดีความหรือการทุ่มเทให้กับคดีอย่างเต็มที่ และหากเราพบภายหลังว่าทนายความมีการทิ้งคดี หรือหนีหายจากการทำคดีไปดื้อๆ จะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณชูชาติพบว่า มีหลายคนเข้ามาบุกรุกที่ดินของตัวเอง จึงไปว่าจ้างทนายความมาช่วยฟ้องร้องให้ ซึ่งภายหลังส่งเรื่องไปที่ศาล ทนายความก็นัดให้เขาเตรียมตัวขึ้นศาลเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามหลังจากนัดแนะวันเวลากันเรียบร้อย ทนายความก็กลับมาบอกว่าศาลเลื่อนนัดและเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งคุณชูชาติจึงลองเดินทางไปที่ศาลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเองและพบว่า ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของเขาไปนานแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคนที่เข้ามาบุกรุกให้เป็นคดีเดียวกัน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะแยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่ แต่ทนายกลับไม่ได้ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ส่งผลให้คดีขาดอายุความในที่สุดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณชูชาติจึงรู้สึกว่าถูกทิ้งคดี และส่งเรื่องร้องเรียนปัญหาไปยังสภาทนายความ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทนายความคนดังกล่าวไม่ได้มีสถานภาพเป็นทนายความแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตการประกอบอาชีพของเขาได้หมดอายุไปแล้ว และยังไม่มีการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตแต่ประการใด อย่างไรก็ตามคุณชูชาติกลับพบชื่อของทนายดังกล่าว ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ของสภาทนายความประจำจังหวัด ซึ่งเป็นการโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในสภา ส่งผลให้คุณชูชาติส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 กำหนดให้ทนายความต้องมีมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งไม่ควรกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้  เพราะอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ คือ 1.จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี 2. จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน  หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ ซึ่งผู้ร้องสามารถร้องเรียนปัญหาไปที่สภาทนายความเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ นอกจากนี้หากพบว่าทอดทิ้งคดีจริงและทำให้ผู้ร้องเสียหาย อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ที่กำหนดว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับในกรณีนี้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังสภาทนายความอีกครั้ง ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ที่นอนยุบตัว

บางครั้งสินค้าก็มีราคาและคุณภาพที่สวนทางกัน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างเรา ที่นอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียเวลาในการเปลี่ยนคืนสินค้าอีกด้วย คุณแก้วตาต้องการที่นอนขนาด 6 ฟุต จึงไปเดินเลือกซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา ต่อมาเมื่อพบยี่ห้อที่ต้องการ เธอจึงตัดสินใจซื้อไปในราคาเกือบ 30,000 บาท แต่หลังจากที่นอนถูกจัดส่งมายังบ้านพักของเธอและใช้งานไปประมาณ 1 สัปดาห์กลับพบว่า ที่นอนดังกล่าวมีลักษณะยุบจมเป็นรอยตามส่วนของลำตัวที่กดทับ ไม่ฟูกลับคืนรูปดังเดิม เธอจึงแจ้งปัญหาไปยังบริษัท ซึ่งส่งพนักงานมาวัดระดับความยุบตัว และพบว่ายุบลงจากปกติจริงประมาณ 5 เซนติเมตร คุณแก้วตาจึงต้องการเปลี่ยนที่นอนใหม่ ซึ่งบริษัทก็ยินดีทำตามข้อเสนอดังกล่าว แต่สามารถจัดส่งสินค้าใหม่ให้ได้ในอีก 2 เดือนหลัง ด้านคุณแก้วตาเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องยินยอมรับข้อเสนอไป อย่างไรก็ตามเมื่อที่นอนมาส่งใหม่ตามกำหนด เธอกลับพบปัญหาอีกครั้ง เพราะเมื่อจัดที่นอนวางลงบนเตียงแล้วกลับพบว่า ที่นอนที่ถูกนำมาเปลี่ยนให้นี้ มีขนาดต่ำกว่าที่นอนเดิมเยอะมาก ซึ่งไม่ตรงตามขนาดมาตรฐานของสินค้าที่ขาย ส่งผลให้เธอต้องโทรศัพท์กลับไปร้องเรียนยังบริษัทอีกครั้ง และได้การตอบรับว่ายินดีจะเปลี่ยนสินค้าให้อีกรอบเมื่อสินค้ารอบที่ 3 มาถึงและถูกใช้งานไปประมาณ 2-3 วัน คุณแก้วตาก็ต้องพบกับปัญหาเดิมคือ ที่นอนยุบตัวไม่คืนรูปขึ้นมาอีก เธอจึงโทรศัพท์ไปร้องเรียนพร้อมแจ้งว่าไม่ต้องการเปลี่ยนที่นอนใหม่แล้ว แต่ต้องการให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ บริษัทจึงยื่นข้อเสนอว่า เธอสามารถเปลี่ยนที่นอนเป็นรุ่นอื่นได้ในราคาที่สูงกว่า(ให้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม) หรือราคาที่ถูกกว่า(ให้ของสมนาคุณทดแทนส่วนต่าง) เพราะทางบริษัทไม่มีนโยบายคืนเงินให้กับลูกค้า แต่คุณแก้วตารู้สึกไม่มีความประทับใจในยี่ห้อนี้อีกต่อไปแล้ว จึงปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดพร้อมยืนยันให้มีการคืนเงินเช่นเดิมภายหลังทางบริษัทจึงตอบกลับมาว่า หากคุณแก้วตาต้องการคืนเงิน จะใช้เวลาในการพิจารณานาน รวมทั้งต้องหักเงินในส่วนค่าของแถมอีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณแก้วตาเห็นว่าในส่วนที่จะถูกหักนั้นอยู่ในราคาที่พอรับได้ เธอจึงรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ขอให้มีการคืนเงินให้เร็วที่สุด ซึ่งบริษัทแจ้งว่าจะสามารถโอนเงินคืนได้ภายใน 3 สัปดาห์ โดยจะส่งพนักงานมารับสินค้ากลับไปก่อน ทั้งนี้เมื่อคุณแก้วตาสอบถามต่อว่า หากพนักงานมารับสินค้าแล้ว จะมีเอกสารหรือหลักฐานเพื่อยืนยันว่าจะได้รับเงินคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้หรือไม่ กลับได้รับคำตอบว่าทางบริษัทไม่มีให้และไม่เคยเกิดเหตุการณ์โกงเงินลูกค้าขึ้น ส่งผลให้คุณแก้วตากังวลว่าอาจไม่ได้รับเงินคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ยินยอมให้พนักงานมารับที่นอนกลับไป พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับในกรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 472 กำหนดให้ทรัพย์สินที่ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม หรือกรณีที่ความชำรุดบกพร่องไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ ซึ่งจะเห็นความชำรุดบกพร่องเมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ผู้ร้องก็สามารถเรียกให้บริษัทรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยสิทธิของผู้ซื้อเมื่อทรัพย์สินนั้นชำรุดบกพร่อง คือ 1. สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง 2. สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 3. สิทธิบอก (ปัด) เลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย เงินมัดจำชำระหนี้บางส่วน ทั้งนี้หลักฐานที่สามารถใช้ยืนยันหากพบว่า บริษัทไม่คืนเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดได้นั้น สามารถเป็นเอกสารการรับสินค้าก็ได้ ซึ่งพนักงานจะนำมาให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อเมื่อรับสินค้ากลับไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์

เพราะการทำประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ ซึ่งมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียดของประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณธนพรได้รับการเชิญชวนให้ทำประกัน จากพนักงานของบริษัทกรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต เธอจึงแจ้งความประสงค์ไปว่าต้องการทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่ามีประกันชีวิตที่มีลักษณะคล้ายการออมแบบที่เธอต้องการ โดยเมื่อครบ 5 ปีจะได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และที่สำคัญที่สุดคือลดเบี้ยประกันปีแรกอีก 10,000 บาท ทั้งนี้นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว พนักงานได้แจ้งรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเธอไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่ก็ยินดีตกลงทำประกันดังกล่าว และตัดสินใจใช้บัตรเครดิตชำระค่าเบี้ยประกันไปจำนวน 40,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อคุณธนพรถึงบ้าน และอ่านเอกสารการทำประกันที่ได้รับมากลับพบว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่เธอต้องการ เพราะประกันดังกล่าวจะสามารถได้รับเงินออมต่อเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ในขณะที่เธอต้องการเพียงแค่ออมทรัพย์ไว้และได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายยามชราภาพ ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นนี้ คุณธนพรจึงโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้เมื่อผู้ร้องพบว่ากรมธรรม์ไม่ตรงกับที่พูดคุยเอาไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการก็สามารถยกเลิกประกันได้ภายในกำหนดเวลาและได้เงินค่าเบี้ยประกันคืนทั้งหมด ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บอกเลิกสัญญาภายได้ใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากบริษัท หรือมากกว่า 15 วัน ขึ้นกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการเสนอขาย ซึ่งภายหลังศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องทำจดหมายยกเลิกสัญญา และจดหมายปฏิเสธการชำระหนี้ของบัตรเครดิต และเมื่อได้รับเงินคืนเรียบร้อย ผู้ร้องก็ยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เครื่องพิมพ์ไม่มีหัวพิมพ์

ผู้บริโภคหลายคนที่ชื่นชอบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อาจลืมอ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสินค้าและตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณโจนาธานต้องการเครื่องพิมพ์ใหม่ จึงตัดสินใจเลือกสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่เคยซื้ออยู่แล้วเป็นประจำ โดยภายหลังพบสินค้าที่ต้องการ เขาจึงตัดสินใจซื้อและชำระเงินจำนวนกว่า 2,000 บาทไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า เขากลับพบว่าเครื่องพิมพ์ดังกล่าว ไม่สามารถพิมพ์ได้ เพราะไม่มีหัวพิมพ์และหมึกมาให้ ซึ่งเขาคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและต้องการเปลี่ยนคืนสินค้า จึงส่งเรื่องมาขอคำแนะนำที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องติดต่อไปยังเว็บไซต์ขายของออนไลน์ดังกล่าว ซึ่งพนักงานได้ตอบกลับมาว่า สินค้าที่ผู้ร้องสั่งซื้อนั้น หน้าเว็บไซต์ระบุว่าเป็นเพียงอะไหล่ของเครื่องพิมพ์ จึงไม่มีหัวพิมพ์มาให้ อย่างไรก็ตามในกรณีหมึกพิมพ์นั้น ไม่มีการระบุหน้าเว็บไซต์ว่าไม่มีหมึกพิมพ์ ดังนั้นทางเว็บไซต์จะช่วยเยียวยาผู้ร้องด้วยการมอบบัตรกำนัลส่วนลดให้จำนวน 500 บาท สำหรับการซื้อสินค้าอื่นๆ ในครั้งถัดไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >