ฉบับที่ 203 ไม่ส่งสินค้าให้ เพราะแสดงราคาผิด

เพราะสินค้าในตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มักมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินซื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเราซื้อแล้วพบว่าราคาที่แสดงหน้าเว็บไซต์กับราคาที่ต้องจ่ายจริงต่างกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้างคุณพอใจต้องการลำโพงไร้สายคุณภาพดี ราคาเหมาะสม จึงตัดสินใจเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลาง คอยรวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว คล้ายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้านั่นเอง ทั้งนี้หลังจากเธอพบสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วไป จึงรีบกดซื้อและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต พร้อมรอให้มีการจัดส่งสินค้าภายใน 10 วันตามที่ระบุไว้อย่างไรก็ตามหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว คุณพอใจก็ยังไม่ได้รับสินค้า เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านค้าและได้รับการตอบกลับมาว่า เหตุที่ยังไม่ส่งสินค้าดังกล่าวให้ เนื่องจากทางร้านลงราคาผิดพลาดและไม่มีความประสงค์จะขายในราคาที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ ดังนั้นจึงขอให้ลูกค้าไปติดต่อขอคืนเงินกับทางเว็บไซต์ได้เลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพอใจจึงไม่พอใจมาก จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาว่าสามารถจัดการร้านค้าเช่นนี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องแจ้งรายงานพฤติกรรมผู้ขายไปยังเว็บไซต์ เพื่อให้มีมาตรการลงโทษผู้ขายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมแนะนำให้ดำเนินการขอเงินคืนทั้งหมด ส่วนการเรียกค่าเสียหายหรือขอให้ส่งของมาให้ตามที่ซื้อ จะต้องแจ้งให้ผู้ขายหรือเว็บไซต์รับผิดชอบ แต่หากยังปฏิเสธหรือเพิกเฉย สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือบังคับให้ส่งสินค้าตามสัญญาได้ทั้งนี้หลังการดำเนินการข้างต้นและผู้ร้องได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็พบว่าทางเว็บไซต์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ ด้วยการคืนเงินทั้งหมดพร้อมคูปองลดราคาสินค้าอื่นๆ และลงโทษผู้ขายตามข้อกำหนดของบริษัท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 บอกเลิกสัญญาฟิตเนสไม่ได้

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายกันเป็นประจำมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส เพราะสะดวก มีอุปกรณ์หลากหลาย แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาใช้บริการ เราสามารถทำได้ง่ายๆ จริงหรือคุณณรงค์สมัครใช้บริการฟิตเนสเจ้าหนึ่ง มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แต่วันหนึ่งเขากลับประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกำลังกาย ทำให้ต้องพักรักษาตัวและงดออกกำลังกาย 1 เดือน เขาจึงไปแจ้งกับพนักงานของฟิตเนสดังกล่าวว่า ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว โดยยินดีเสียค่าธรรมเนียมการระงับตามระเบียบของบริษัท อย่างไรก็ตามพนักงานกลับแจ้งว่าไม่สามารถระงับชั่วคราวในทันทีได้ เพราะตอนที่คุณณรงค์มาแจ้งนั้น เริ่มเข้าเดือนใหม่แล้ว ซึ่งกฎของบริษัทกำหนดให้สามารถระงับได้ในเดือนถัดไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณณรงค์จึงเห็นว่าในเดือนถัดไป เขาน่าจะอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอระงับชั่วคราว ดังนั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนดังกล่าว คุณณรงค์จึงไปขอยกเลิกสัญญา และแจ้งระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปกติจะตัดยอดอัตโนมัติ พร้อมนำกุญแจล็อกเกอร์ไปคืน แต่พนักงานของฟิตเนสกลับแจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้อีกเช่นกัน เพราะตามกฎการบอกยกเลิกสัญญานั้น จะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แสดงว่าจะในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ คุณณรงค์ยังคงต้องชำระค่าบริการก่อนและบอกยกเลิกได้ในเดือนถัดๆ ไป ส่งผลให้เขารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบและส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระค่าบริการ เนื่องจากการที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถออกกำลังกายได้นั้น เป็นเหตุในบอกระงับการใช้บริการได้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค เรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาฟิตเนสที่กำหนดว่า หากมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์(ใบรับรองแพทย์) ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจปกติ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่มีการดูแลหรือแจ้งข้อเสนออื่นๆ ให้ผู้ร้องทราบก่อนเลย เช่น กฎของบริษัทในการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของบริษัท อาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ขณะนี้ยังอยูระหว่างเจรจา ได้ผลเช่นไรเราจะติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สินค้าใหม่ ใช้ครั้งแรกก็พังแล้ว

แม้จะเป็นสินค้าใหม่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาการชำรุดบกพร่อง หากเราซื้อสินค้าที่มีปัญหาเช่นนี้ขึ้นมา จะสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้างไปดูกันคุณสมัยกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ จึงไปเดินเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแถวรังสิต เธอตัดสินใจซื้อกระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง ราคาประมาณ 2,000 บาทกลับบ้านมา แต่เมื่อนำไปใช้งานในวันเดินทางจริง กลับพบว่าหูกระเป๋าด้านข้างและด้านบนหลุดออกมา ทำให้ไม่สามารถถือหรือลากกระเป๋าได้ ส่งผลให้ได้รับความลำบากในการเดินทางอย่างมากเมื่อกลับมาประเทศไทย คุณสมัยจึงรีบติดต่อไปยังบริษัท เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทางบริษัทยินดีจะซ่อมกระเป๋าดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนหูกระเป๋าให้ใหม่ คุณสมัยไม่รับข้อเสนอดังกล่าวเพราะรู้สึกว่าหูกระเป๋าสามารถใส่และหลุดออกได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกหากนำไปใช้งาน แต่เนื่องจากบริษัทไม่ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นเพิ่มเติม เธอจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า ตามมาตรา 472 ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง จนเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งจะใช้เป็นปกติ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัท ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอคืนสินค้าได้ ส่งผลให้ภายหลังก่อนการเจรจาที่ สคบ. ทางบริษัทก็ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมมาว่า ยินดีจะเปลี่ยนกระเป๋ารุ่นอื่นให้ แต่หากมีราคาแพงกว่าก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทั้งนี้ผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ร้องยินดีไปเจรจาที่ สคบ. ต่อด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อดได้ของ เพราะสัญญาซื้อขายผิดแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมเป็นของตนเอง ซึ่งบางคนโชคดีไม่เจอปัญหาใดๆ ในขณะที่หลายคนเจอปัญหามากน้อยต่างกันไป และหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นคือเรื่องของมาตรฐานหรือรูปแบบของสัญญาในการซื้อขาย ซึ่งจะมีเรื่องราวเป็นอย่างไรนั้น เราลองไปดูกันคุณชาลาชื่นชอบคอนโดของโครงการ Arcadia Beach Continental ซึ่งเป็นคอนโดหรูสไตล์ยุโรป เธอจึงตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องหนึ่งของโครงการดังกล่าว และได้ชำระเงินจองเป็นจำนวน 50,000  บาท อย่างไรก็ตามภายหลังทำสัญญาเสร็จแล้วเรียบร้อย คุณชาลาก็มาทราบว่าสัญญาที่เธอทำไปนั้น ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นสัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เธอจึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอกลับมาว่าให้เธอเปลี่ยนมาจองห้องของอีกโครงการหนึ่งแทน โดยจะลดราคาให้เป็นพิเศษ แต่ต้องชำระค่าเงินจองเพิ่มอีกประมาณ 300,000 บาทด้านคุณชาลาเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ จึงตกลงทำตามที่บริษัทแนะนำและชำระเงินเพิ่มไป อย่างไรก็ตามหลังเวลาผ่านไปหลายเดือน เธอก็ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว แต่กลับพบความจริงว่า ทางบริษัทได้นำห้องที่เธอจองไว้ ไปขายให้กับบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดไปยังบริษัท แต่ทางบริษัทไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับมา ทำให้คุณชาลาไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พร้อมส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลืออีกทางแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ให้คำแนะนำในการทำสัญญาเพื่อจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ต้องใช้แบบสัญญามาตรฐาน(อ.ช.22) ทั้งยังต้องให้เป็นไปตามประกาศของ สคบ.กำหนด คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุม พศ.2543 (3) ที่กำหนดให้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้ข้อความในสัญญาเป็นภาษาอื่นนั้น สัญญาย่อมไม่มีผลบังคับใช้ได้นอกจากนี้ในกรณีห้องชุดที่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายกันแล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถนำห้องดังกล่าว ไปขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะจะถือว่าเป็นการผิดสัญญา โดยผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนจากผู้ประกอบการได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถเข้าไปดูตัวอย่างรูปแบบของหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (http://www.consumerthai.org/data-storage/non.html)ทั้งนี้ก่อนที่ศูนย์ฯ จะได้ช่วยผู้ร้องดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ร้องที่มูลนิธิ ก็พบว่าทาง สคบ. ได้เรียกให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจาก่อน ซึ่งผลปรากฏว่า ทาง สคบ. ได้ช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้เงินคืนส่วนหนึ่งแล้ว โดยเป็นส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปในรอบที่สอง เนื่องจากเงินส่วนที่ผู้ร้องได้ชำระไปรอบแรกนั้น ทาง สคบ. มองว่าผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาซื้อคอนโดดังกล่าวไว้เพื่ออยู่อาศัยเอง แต่ซื้อไว้เพื่อขายต่อหรือออกให้เช่าเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นจึงไม่รับไกล่เกลี่ยให้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นผู้บริโภค ซึ่งผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อไปมากกว่านี้และขอยุติการร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 กลิ่นควันบุหรี่จากข้างห้อง

คนที่ไม่สูบบุหรี่ มักมีอาการทนไม่ได้เมื่อต้องทนสูดดมกลิ่นควันบุหรี่จากคนรอบข้าง ส่วนใหญ่มักแก้ปัญหาด้วยการพาตัวเองออกห่างไปให้ไกลๆ จากคนสูบ แต่ในบางกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะมีวิธีแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันคุณแพรไหมอาศัยอยู่ในคอนโดแห่งหนึ่งย่านสาทรมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งไม่เคยพบปัญหาใดๆ จนกระทั่งมีผู้อาศัยรายใหม่คนหนึ่ง เข้ามาเช่าห้องอยู่ติดกันกับเธอและเป็นคนที่สูบบุหรี่หนักมาก เนื่องจากในทุกๆ วัน เธอจะได้กลิ่นบุหรี่ลอยเข้ามาในห้องพัก และหากเธอซักผ้าตากไว้ที่ระเบียงก็จะพบว่าเสื้อผ้านั้น จะมีกลิ่นบุหรี่ติดมาเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เธอเริ่มทนไม่ไหว เพราะนอกจากกลิ่นดังกล่าวจะรบกวนความเป็นอยู่แล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจากการได้ควันบุหรี่มือสองอีกด้วย คุณแพรไหมจึงไปร้องเรียนกับฝ่ายนิติบุคคลของอาคาร ซึ่งได้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังห้องเจ้าปัญหา แต่กลับได้รับการปฏิเสธว่าไม่มีการสูบบุหรี่ใดๆอย่างไรก็ตามหลายวันถัดมา เธอก็ยังคงได้กลิ่นบุหรี่เช่นเดิม จึงไปร้องเรียนอีกครั้ง ทำให้ทางนิติบุคคลส่ง รปภ. ขึ้นไปพิสูจน์ว่า มีกลิ่นบุหรี่ลอยเข้ามาในห้องของเธอจริงหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็พบว่าภายในห้องเธอมีกลิ่นบุหรี่จริง ดังนั้นฝ่ายนิติบุคคลจึงไปแจ้งเตือนห้องดังกล่าวอีกรอบ ส่งผลให้ผู้เช่ารายนั้นไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้นข่มขู่ว่า หากทราบว่าใครเป็นคนร้องเรียนเรื่องที่เขาสูบบุหรี่จะเอาปืนไปยิงทิ้งซะ! เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ฝ่ายนิติบุคคลจึงปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ ต่อให้ โดยอ้างว่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์อันตราย ซึ่งคุณแพรไหมเองก็รู้สึกไม่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากเธอจำเป็นต้องอยู่ที่คอนโดนี้ต่อไป ด้วยเหตุผลหลายประการ จึงหาทางแก้ไขปัญหา โดยส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 5 มาตรา 25 (4) กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญและมีความผิด เช่น การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้าหรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ เพื่อระงับ กำจัดและควบคุมเหตุรำคาญต่างๆ ได้ นอกจากนี้หากมีการอ้างว่าการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นการสูบบุหรี่ภายในห้องของตนเองก็ตาม แต่เมื่อมีกลิ่นหรือควันลอยออกมา ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเดือนร้อนรำคาญ ก็ทำให้ผู้นั้นสามารถที่จะร้องเรียนได้ ซึ่งทางศูนย์จะช่วยทำหนังสือแจ้งไปยัง สำนักงานของนิติบุคคลอาคารและสำนักงานเขตท้องที่ที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ให้แก่ทางผู้ร้องเรียนด้วย ต่อมาภายหลังการดำเนินการพบว่า ทางนิติบุคคลพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดำเนินการแจ้งให้ห้องเจ้าปัญหาดังกล่าวยุติการสูบบุหรี่ ซึ่งเขาแก้ปัญหาด้วยการขอย้ายออกไป ด้านผู้ร้องก็พอใจและยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 อุบัติเหตุจากรถตู้

อุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในบ้านเรา ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยมากขึ้นไปอีก หากผู้ประกอบการปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือประวิงเวลาในการแสดงความรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้เมื่อกลางปีที่แล้ว คุณกุญชรขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะจากกรุงเทพฯ เพื่อไปงานแต่งงานของญาติที่ จ.ชลบุรี โดยระหว่างทางรถตู้ที่เขาโดยสารมาได้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุกพ่วง ส่งผลให้เขาและคนอื่นๆ ในรถได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งภายหลังนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ได้แจ้งว่าเขากระดูกหัวเข่าแตกต้องผ่าตัดใส่น็อตดามไว้ และให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนกว่าอาการจะทุเลา อย่างไรก็ตามหลังรับการรักษาแล้ว คุณกุญชรพบว่าไม่สามารถเดินได้ตามปกติ จึงต้องการให้ผู้ประกอบการรถตู้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินกว่า 1 แสนบาท และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำว่าสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทรถโดยสารและบริษัทประกันภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ดังนี้- ค่ารักษาพยาบาล: ผู้ร้องสามารถขอรับค่ารักษาพยาบาลตามที่เกิดขึ้นจริงได้จากบริษัทประกันภัยของรถคันที่เกิดเหตุ รายละไม่เกิน 80,000 บาท เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้รถโดยสารและรถยนต์ทุกคันจะต้องทำประกันภัยไว้ ซึ่งภายหลังการตรวจสอบข้อมูลก็พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้ร้อง ทางโรงพยาบาลได้รับเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าวไว้แล้ว โดยผู้ร้องไม่ต้องสำรองจ่ายใดๆ (ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิต สามารถให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับค่าปลงศพจากบริษัทประกันภัยของรถคันที่เกิดเหตุได้ จำนวนรายละ 300,000 บาท)- ค่าชดเชยรายวัน: กรณีรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน วันละ 200 บาท (ไม่เกิน 20 วัน)- เงินค่าสินไหมทดแทน: รับได้จากกรมธรรม์ประกันภัยประเภทสมัครใจ ที่ผู้ประกอบการของรถโดยสารหรือเจ้าของรถยนต์จัดทำไว้กับบริษัทประกันภัยต่างๆ ซึ่งหากบริษัทที่ให้บริการรถตู้ไม่มีการทำประกันประเภทนี้ไว้ก็ต้องชดใช้เอง- ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับเงินค่าเสียหายตามที่กล่าวมาข้างต้น น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม สามารถยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคต่อบริษัทฯ และเจ้าของบริษัทฯ ได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด เที่ยงธรรม และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในกระบวนการนี้สำหรับความคืบหน้ากรณีของผู้ร้องท่านนี้พบว่า แม้จะได้รับค่ารับค่ารักษาพยาบาลตามที่เกิดขึ้นจริงไปแล้ว แต่หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านไปเกือบปี ผู้ร้องก็ยังไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำว่าสามารถไปยื่นเรื่องร้องเรียนในส่วนของค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงยุติธรรมได้ โดยในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถไปยื่นได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำจังหวัดได้และภายหลังการดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น ทางบริษัทประกันภัยของรถตู้คันที่เป็นคู่กรณีของผู้ร้อง ก็ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 หวานเกินไปหรือเปล่า

เพราะสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ทำให้การเลือกซื้อสินค้าจากฉลากโภชนาการ ซึ่งมีปริมาณความหวาน ไขมันหรือโซเดียมอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามอาจมีผู้บริโภคบางคนเกิดความรู้สึกว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้มีปริมาณหวานมันเค็มตามที่ฉลากโภชนาการระบุไว้ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เราลองไปดูกันคุณดุรงค์รับประทานโยเกิร์ต รสสตรอว์เบอร์รี่ สูตรไขมัน 0% ของยี่ห้อหนึ่งเป็นประจำ เพราะนอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยถูกปากแล้ว ยังมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย อย่างไรก็ตามครั้งล่าสุดที่เขาซื้อมารับประทานกลับรู้สึกว่า โยเกิร์ตดังกล่าวมีความหวานมากกว่าปกติ แต่เมื่อตรวจสอบฉลากโภชนาการก็พบว่ามีปริมาณน้ำตาลเท่ากับครั้งก่อนที่เคยซื้อ ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าบริษัทหลอกลวงผู้บริโภค ด้วยการแอบเติมน้ำตาลลงไปหรือไม่ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับเรื่อง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค ได้ส่งเรื่องให้นักวิชาการด้านอาหาร ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาของศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ช่วยผู้ร้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็พบว่า มีปริมาณน้ำตาลตามที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการจริง แต่ความหวานที่ผู้ร้องรู้สึกว่า มีมากกว่าที่เคยรับประทานมา อาจเกิดจากรุ่นหรือล็อตการผลิตนี้มีความหวานของผลไม้ นมหรือแลคโตส(น้ำตาลจากนม) มากกว่าล็อตอื่นๆ จึงทำให้รู้สึกหวานเพิ่มขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สั่งของแท้ แต่ได้ของปลอม

ไม่ว่าใครก็ต้องการของดีราคาไม่แพง ทำให้หลายครั้งเราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่หลอกลวงด้วยถ้อยคำโฆษณาและสินค้าราคาถูกกว่าปกติ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุนีย์ตัดสินใจสั่งซื้อสร้อยไข่มุก Loperla Masami Jewelry Opera Set จากช่องทรูวิชชั่น ในราคา 5,990 บาท แต่โฆษณาลดเหลือ 5,690 บาท เนื่องจากคุณสุนีย์เห็นโฆษณาว่าเป็นไข่มุกเลี้ยงแท้ 100% พร้อมรายละเอียดต่างๆ ของสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ขนาดเม็ดมุก  7 มม., มีจำนวนเม็ดไข่มุก 135 เม็ด, จี้ห้อย เป็นนิกเกิล ประดับคริสตัส และความยาวสร้อย 95.5 ซม. (รวมจี้และตะขอ)อย่างไรก็ตามหลังได้รับสินค้ากลับพบว่า สร้อยมีไข่มุกเพียง 127 เม็ด และความยาวน้อยกว่าที่โฆษณา ประมาณ 2 นิ้ว  เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อบริษัทนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ก็ยังพบปัญหาว่าไข่มุกมีขนาดเม็ดเล็กกว่าเส้นแรก เธอจึงแจ้งให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าอีกครั้ง ซึ่งหลังได้รับการเปลี่ยนสินค้ารอบนี้ เธอได้ทดสอบไข่มุกด้วยการลนไฟ โดยหากเป็นไข่มุกเทียมจะเกิดการไหม้หลอมและหลุดลอก เเต่ถ้าเป็นไข่มุกเเท้ จะเป็นคราบเขม่าดำที่เกิดจากความร้อนซึ่งเช็ดออกได้หลังการทดสอบสินค้าเธอก็พบว่าผิวไข่มุกไหม้และลอกล่อน รวมทั้งเมื่อนำไข่มุกมาถูกัน ก็เกิดอาการลื่นออกจากกัน ต่างจากไข่มุกแท้ที่จะมีลักษณะฝืด ทำให้คุณสุนีย์แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืนทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ แจ้งว่าจะขอทดสอบไข่มุกในห้องปฏิบัติการก่อน โดยใช้เวลาในการทดสอบ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปหลายเดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แจ้งให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดการโฆษณาสินค้ามาให้เพิ่มเติม พร้อมทำหนังสือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัท ซึ่งผู้ร้องต้องการให้บริษัทเยียวยาความเสียหาย ดังนี้ 1. ให้ประกาศโฆษณาขอโทษ ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับที่ประกาศโฆษณาจำหน่ายสินค้า เป็นเวลา 1 ปี  และให้เรียกคืนสินค้าและคืนเงินให้ลูกค้าทุกรายที่ซื้อสินค้าดังกล่าว หรือ 2. หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 1 ได้ ให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาทให้แก่ผู้ร้อง อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ขอเลื่อนการเจรจาออกไป แต่ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่าบริษัทกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากผู้ผลิตในประเทศไต้หวัน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุขัดข้องในการจัดส่งสินค้าที่ผิดไป โดยผู้ผลิตยินยอมส่งคืนสินค้าที่ถูกต้องให้ภายในระยะเวลา 30 วัน และได้ร่วมมือกับ บริษัท ทรู จีเอส จำกัด ในการประสานงานติดต่อผู้ซื้อทุกราย เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงสินค้าที่ถูกต้อง ภายใน 15 วันทำการ หรือรับคืนเงินเต็มจำนวนทันที สำหรับผู้ซื้อที่ไม่ประสงค์รอสินค้าด้านผู้ร้องพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ต้องการให้บริษัทรับผิดชอบเพิ่มเติม ด้วยการโฆษณาการคืนสินค้าให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับทราบ ไม่ใช่คืนสินค้าเฉพาะรายอย่างเงียบๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการคืนสินค้ากันจริงหรือไม่ ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ซื้อยาสมุนไพรออนไลน์ ปลอดภัยแค่ไหน

สินค้าออนไลน์มีมากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากก็หนีไม่พ้นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์ จะมีความปลอดภัยจริงหรือคุณดวงใจโทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า น้องสาวของเธอมีอาการเท้าบวมและไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรยี่ห้อ นราห์ (NARAH) ผ่านอินเทอร์เน็ตมาเพื่อรักษาอาการแทน ซึ่งเมื่อได้รับสินค้า เธอได้นำเลขที่สารบบอาหาร 13 หลักที่ระบุไว้บนฉลากคือ 50-1-02254-1-0009 ไปตรวจสอบผ่านการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย. ก็ไม่มีพบรายละเอียดใดๆ เธอจึงไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัย นอกจากนี้สินค้ายังมีการโฆษณาแสดงสรรพคุณที่ดูเกินจริงอีกด้วย เช่น เป็นสมุนไพรเพื่อลด ควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันและโรคหัวใจได้ คุณดวงใจจึงส่งผลิตภัณฑ์และรายละเอียดต่างๆ มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยแถลงข่าวเตือนประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอินเทอร์เน็ตว่า อาจเสี่ยงได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เพราะมักมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ผู้ที่ขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย จึงขอความร่วมมือผู้บริโภคไม่สนับสนุนผู้กระทำผิดกฎหมาย และช่วยแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าในลักษณะนี้ที่สายด่วน อย. 1556และสำหรับในกรณีนี้ ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบ ซึ่งภายหลังทาง อย. ก็ได้แจ้งผลการดำเนินการมาว่า ผู้ขอจดทะเบียนเลขระบบอาหารของสมุนไพรนราห์ ได้ขอยกเลิกเลขทะเบียนสารระบบอาหารไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งขณะนี้ อย. กำลังสืบเรื่องและเตรียมส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินคดีและแจ้งระงับการโฆษณาการขายสินค้าดังกล่าว โดยหากดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะทำหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >