ฉบับที่ 125 ปัจฉิมกถา งาน ๑๐๐ ปีชาตกาล

  ท่านทั้งหลายได้รับฟังถ้อยคำที่ยกย่องเชิดชูท่านอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้วมาแล้วกว่าครึ่งวัน ทั้งจากกวี นักวิชาการ ศิษยานุศิษย์ จะขาดคนสำคัญไปก็เพียงคนเดียว คืออดีตนายกรัฐมนตรี ที่จำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ   แท้ที่จริง ถือได้ว่า ท่านอาจารย์หมอเสมเป็นปูชนียบุคคลร่วมสมัยที่สำคัญยิ่งของเรา แม้คนในสังคมส่วนใหญ่จะไม่แลเห็นคุณค่าของท่านเท่าที่ควรก็ตาม แต่อย่างน้อยในวงการของพวกเราซึ่งรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเนื่องในชาตกาลครบศตวรรษของท่านในวันนี้ ก็มีมากและหลากหลายพอ และแต่ละหน่วยงานนั้นๆ ยังประกอบไปด้วยผู้คนที่ยืนหยัดอยู่ข้างคุณงามความดี ทั้งบางคนยังมีความกล้าหาญจากจริยธรรม ถึงกับไม่กลัวกับการเสี่ยงชีวิต เพื่อท้าทายอำนาจอันเป็นธรรม นอกเหนือไปจากหลายท่าน ที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะเช่นท่านอาจารย์หมอเสม โดยช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมทางด้านความดีความงามและความจริง อย่างไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ ทั้งหมดนี้พวกเราล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านอาจารย์หมอเสมด้วยกันแทบทั้งนั้น แม้เราจะดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกรณียกิจต่างๆ ได้ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของท่านแต่คุณูปการที่ท่านมอบให้เรามา ทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นพลานุภาพที่สำคัญยิ่งนัก ท่านได้ฟังถ้อยคำ มาจากหลายท่านแล้ว แล้วจะมีอะไรให้ข้าพเจ้ากล่าวปิดท้ายอีกเล่า ทั้งท่านอาจารย์หมอเสมยังขอร้องข้าพเจ้าไว้ด้วยว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพูด ขออย่าได้พูดปากเปล่า ให้เขียนมาอ่านให้ฟังกัน เพราะท่านเกรงโอษฐภัยของข้าพเจ้า ซึ่งอาจต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าอีกก็เป็นได้ และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าต้องคดีดังกล่าว หรือเผชิญกับโลกธรรมในทางลบ ท่านจะกรุณาหาทางช่วยเยียวยาแก้ไขให้ข้าพเจ้าเสมอๆ มา ไม่แต่ในทางการแพทย์ หากรวมถึงในทางจิตวิทยาและในทางสังคมการเมืองอีกด้วย ดังเชื่อว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับอุปการคุณจากท่านยิ่งกว่าข้าพเจ้าย่อมมีอีกมิใช่น้อย   ปาฐกเอย กวีเอย และนักอภิปรายเอย ล้วนพูดถึงท่านอาจารย์เสมกันมามากแล้ว และเชื่อว่าจะบรรยายถึงคุณความดีของท่านอีกต่อไปเท่าไรๆ ก็ได้ หากในที่นี้ ข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญของท่านอาจารย์หมอเสมในแง่มุมของข้าพเจ้า กล่าวคือท่านเป็นพุทธศาสนิกก่อนอื่นใด ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักอ้างว่านับถือพระพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธไทยส่วนใหญ่นั้นคือพิธีกรรม ดังงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านอาจารย์เสมคราวนี้ ก็มีพิธีกรรมทางฝ่ายพระพุทธแต่ตอนเช้า ทั้งๆ ที่พิธีกรรมดังกล่าวเกือบสื่อสาระมายังชาวพุทธไทยร่วมสมัยไม่ได้เอาเลย อาจมีคุณประโยชน์ก็ตรงที่พอพระฉันภัตตาหารแล้ว เราก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน   แต่ถ้าเราจับสาระแห่งพุทธพิธีได้ เราน่าจะตราไว้ว่า ประการแรกคือการรับไตรสรณคม ซึ่งหมายความว่าเราถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับเรา ว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งสำหรับเรา โดยเราอาจเข้าถึงการตื่นอย่างพระพุทธะก็ได้ เราอาจเข้าไปแนบสนิทกับคุณงามความดีอันสูงสุดอย่างพระธรรมก็ได้ โดยเราอาจดำเนินชีวิตอย่างเป็นชุมชนที่ถือเอาความเสมอภาคเป็นเนื้อหา มีภารดรภาพเป็นแกนกลาง เพื่อให้เราเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง อย่างพระอริยสงฆ์ก็ได้   ถ้าเราเข้าถึงสาระของการรับไตรสรณคมได้ ชีวิตเราจะมีความหมายยิ่งนัก ชีวิตเราย่อมจักไม่เป็นไปเพียงทรัพย์ศฤงคาร หรือยศศักดิ์อัครฐาน หรือการแก่งแย่งแข่งดีกัน ดังที่มักเป็นไปอยู่ในสังคมกระแสหลัก อย่างน่าสมเพทเวทนายิ่งนัก   อาจารย์หมอเสม ท่านถือเอาพระรัตนตรัยเป็นนิรัตศัยบุญเขต อย่างยากที่คนทั่วๆ ไปจะเข้าได้ถึง ท่านจึงเต็มไปด้วยการให้ ยิ่งกว่าการรับ ท่านเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ แทนความโกรธเกลียด และท่านเต็มไปด้วยปัญญาที่รับรู้อะไรๆ อย่างเป็นองค์รวม อย่างไม่แยกเป็นเสี่ยงๆ ดังวิทยาการกระแสหลักในโลกสมัยใหม่ อาจารย์หมอเสม ดำเนินรอยตามพระบาทพระบรมศาสดา ซึ่งทรงเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ ทางนิกายวัชรยาน เขามีพระพุทธรูปปางพระไภษัชคุรุไว้กราบไหว้บูชา เพื่อเตือนพุทธศาสนิกว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงเป็นทั้งแพทย์และเป็นทั้งครู คือครูที่เรียนจากตนเองด้วย เรียนจากผู้อื่นด้วย และเรียนจากธรรมชาติด้วย ผู้ที่ถึงพร้อมในการเรียนรู้ ย่อมอยู่ในสถานะที่พร้อมจักเป็นผู้สอน หากจักไม่สอนเกินความรู้หรือประสบการณ์ของตน โดยที่ความรู้หรือวิชานั้นย่อมควบคู่ไปกับจรณะ หรือความประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นคุณประโยชน์ด้วยเสมอไป การสอนตามตำราดังการศึกษากระแสหลัก หรือสอนอย่างแล้วทำอีกอย่าง ย่อมให้โทษยิ่งกว่าให้คุณ และถ้าครูปราศจากองค์คุณของความเป็นคนที่พร้อมจะให้ พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตัวแล้วไซร้ ครูพวกนี้มีโทษยิ่งกว่ามีคุณ   แพทย์ก็เช่นกัน คำๆ นี้เป็นไวพจน์กับวิทยะ คือความรู้ที่แท้ ซึ่งทางภาษาบาลีใช้คำว่า วิชชา อันตรงกันข้ามกับ อวิชชา ความหลง ความยึดถืออย่างผิดๆ หรืออย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยอ้าขาผวาปีกว่าตนเรียนรู้มาดีกว่าคนอื่น สูงส่งกว่าคนอื่น ยิ่งได้ไปชุบตัวในต่างประเทศมาด้วยแล้ว ยิ่งมักจะกำเริบเสิบสานกันยิ่งนัก และยิ่งแพทย์ที่มีอติมานะเช่นนี้ บวกไปกับอวิชชา ซึ่งยึดมั่นถือมั่นว่าจำเพาะความรู้ในแวดวงของตนเท่านั้น คือคำตอบ นั่นคือเหตุแห่งความหายนะ โดยไม่จำต้องเอ่ยถึงเอาเลยก็ว่าได้ แพทยศาสตร์ สยบอยู่กับลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมมากเพียงใด โดยมิใยต้องเอ่ยว่า บรรษัทยาและบริษัทที่ควบคุมเครื่องยนต์กลไก ในสิ่งซึ่งอ้างถึงความทันสมัยต่างๆ ในทางการแพทย์สมัยใหม่นั้น นับว่าเป็นอันตรายในวงการแพทย์อย่างมหันต์   เมื่อใดแพทย์ แลเห็นว่าวิชาชีพของตนเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความรู้ ซึ่งมักถูกผนวกเอาไว้กับอวิชชาแล้วไซร้ นั่นแหละเขาอาจจะเกิดมนสิการขึ้นได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของเขา สูงส่งมากกว่าความเป็นแพทย์ โดยเขาน่าจะต้องตราจ่อไปด้วยว่า อวิชชาหรือโมหจริตนั้น มักโยงไปถึงโลภจริต ที่ทำให้หมอมักร่ำรวยเกินคนธรรมดาสามัญเกินไป โดยไม่ต้องเอ่ยถึงก็ได้ว่าการแพทย์สมัยใหม่โยงไปถึงโทสจริตด้วย ดังคงจะสังเกตได้ว่านายแพทย์มักเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานต่างๆ กันมิใช่น้อย เช่น พากันไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น โดยที่รู้กันไหมว่า การบริหารจัดการนั้นๆ ทำให้เขาตกอยู่ใต้โทสจริต ซึ่งโยงไปถึงโลภจริตและโมหจริตพร้อมๆ กันไป ยังนายแพทย์ชั้นนำเป็นจำนวนมากไม่น้อย ก็เข้าไปข้องแวะกับนักการเมือง นักการทหาร อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมเพียงใด ตระหนักกันบ้างไหม หาไม่นายแพทย์บางคนก็เตรียมให้ทายาทได้ไต่เต้าไปเอาดีทางการเมืองเอาเลย โดยเขาแลเห็นไหมว่านั่นคือผลพลอยได้จากอกุศลมูลทั้งสาม ดังที่กล่าวมาแล้วมากกว่าอะไรอื่น   การกล่าวปิดงานนั้น ควรมีบทสรุป แต่ข้าพเจ้าต้องการเปิดประเด็นไว้ให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดนึกตรึกตรอง เพื่อหาสาระจากชีวิตสำหรับตัวท่านเอง และถ้าพิจารณาวิถีชีวิตอาจารย์หมอเสมได้ชัด ก็ย่อมถือได้ว่าท่านเป็นแบบอย่างในทางที่ท่านเป็นทั้งครูและเป็นทั้งแพทย์ โดยที่ท่านเป็นมนุษย์ที่พยายามสนิทแนบแน่นกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาแทบตลอดชีวิตของท่านอันยืนยาวจนครบศตวรรษในวันนี้   ส.ศิวรักษ์ กล่าวปิดในงาน ๑๐๐ ปี ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ววันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว สิ้นลมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 ด้วยโรคชราหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้นายแพทย์เสมเพิ่งมีอายุครบ100ปีไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 คนไข้ไทย..กับทางตัน

ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออกมารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ “แพทยสภา” และ “กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่างๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงานนี้จะไม่ใช้อำนาจรัฐในการซ้ำเติมความทุกข์ของผู้เสียหายเหมือนอย่างที่เคยทำ ฤา..พฤติกรรมที่ฉ้อฉลของหน่วยงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของคู่กัน

อ่านเพิ่มเติม >

บทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

บทความพิเศษบทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ศลิษา เตรคุพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและประเมินสินค้าไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของผู้บริโภคที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะประสบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมาโดยตลอด ดังที่ท่านจะได้รับทราบจากประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงกรณีศึกษาจากการทดสอบสินค้าต่างๆ   ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าชนิดหนึ่งๆมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือคุณภาพ ส่งผลให้มีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตสินค้าต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตมักนำมาใช้คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้า หรือ การให้ข้อมูลสินค้าไม่ครบ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยตามหลักวิชาการอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับที่มูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ STIFTUNG WARENTEST ได้ดำเนินการมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กรฯปี 1962 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เสนอความคิดในการจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นกลางขึ้นต่อรัฐสภา หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจได้วางแผนสร้างองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐสภา (สภาบุนเดสทาก) มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ ที่ขอจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าในรูปของมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ STIFTUNG WARENTEST (ชติ๊ฟทุ่ง วาเร่นเทสท์) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน และใน วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ทำพิธีเปิดมูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้านี้อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกำหนดระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 1966 STIFTUNG WARENTEST ได้จัดจำหน่ายวารสาร test ฉบับปฐมฤกษ์ตามร้านค้าทั่วไปในราคาเล่มละ 1.50 มาร์ค รวมทั้งจัดจำหน่ายวารสารในรูปแบบของสมาชิกอีกด้วย โดยสินค้าแรกๆ ที่ถูกนำมาทดสอบคือ จักรเย็บผ้าและเครื่องผสมอาหาร ส่วนผลการทดสอบสินค้าในวารสารฉบับแรกๆ นั้นจะเป็นการบรรยายความคิดเห็นโดยรวมเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาผลการทดสอบให้อยู่ในรูปของค่าคะแนนและจัดอันดับระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ระดับ ‘ดีมาก’ ‘ดี’ ‘ปานกลาง’ ‘พอใช้’ ไปจนถึง ‘คุณภาพต่ำ’ ค่าคะแนนและการจัดอันดับนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ (ที่ได้รับคะแนนดี!) สามารถนำไปใช้โฆษณาสินค้าของตนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่มูลนิธิกำหนดไว้เท่านั้น จวบจนทุกวันนี้ STIFTUNG WARENTEST ก็ยังคงจำหน่ายวารสารดังกล่าวอยู่ ในราคา 4.20 ยูโร ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีการทดสอบสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือของ STIFTUNG WARENTEST ทำให้บริษัทเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ Forsa (Forsa: Gesellschaft f?r Sozialforschung und statistische Analysen mbH) สรุปผลการวิจัยในปี 2000 ว่า ชาวเยอรมันจำนวนถึง 96 % รู้จัก STIFTUNG WARENTEST และหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรจะยึดผลการทดสอบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างเรื่องราวของกรณีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ และคำพิพากษาของศาลล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่างๆ ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น กรณีศึกษาที่ 1 : การทดสอบอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี (1975)เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี จึงทำให้ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ (Bundesgerichtshof) ณ เมือง คาร์ลสรูเฮ่อ (Karlsruhe)ได้เข้ามาพิจารณาการทำงานของมูลนิธิเพื่อการทดสอบสินค้าเป็นครั้งแรก และให้คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานแก่มูลนิธิ โดยศาลฯได้เน้นย้ำถึงหน้าที่อันจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความสำคัญขององค์กรนี้ ตลอดจนได้ให้อำนาจแก่ STIFTUNG WARENTEST เพื่อพิจารณากำหนดขั้นตอนการทดสอบสินค้า การประเมินคุณภาพ และการแสดงผลการทดสอบเองอีกด้วย   กรณีศึกษาที่ 2: เครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติ (1987)ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ได้พิพากษากรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติแห่งหนึ่ง ข้อพิพาทนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อสงสัยที่ว่า การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธินั้นทำให้สินค้าต้องมีมาตรฐานสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สถาบันเพื่อการวางมาตรฐานแห่งเยอรมันหรือ สถาบันมาตรฐานสินค้า DIN (DIN: Deutsches Institut f?r Normung) กำหนดไว้หรือไม่ โดยศาลฯพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภาระหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องทำการเปิดเผยสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ทั้งนี้รวมถึงข้อบกพร่องของมาตรฐาน DIN ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออย่างไร้ความเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ เสีย อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป กรณีศึกษาที่ 3 : ครีมบำรุงผิวหน้า (2005-2006)เกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อ Hautnah (เฮ้าท์นา) ที่มีดาราหญิงยอดนิยมรุ่นใหญ่ ชื่อ อุ๊ชชี่ กลาส (Uschi Glas)เป็นพรีเซนเตอร์ โดยได้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้อง STIFTUNG WARENTEST ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากทางมูลนิธิได้ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขายตรงต่างๆ และให้ผลการประเมินครีมชนิดนี้ว่า ‘คุณภาพต่ำ’ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ คดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ต่อมาศาลแขวงกรุงเบอร์ลินจะพิจารณาเพิกถอนคำร้องของโจทก์ แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ละความพยายามและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอีกครั้ง ทว่าศาลสูงกรุงเบอร์ลินก็เพิกถอนคำร้องดังกล่าวซึ่งทำให้คดียุติลงได้ในที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ขององค์กรทดสอบสินค้าและบริการ ซึ่งทางกลุ่ม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สนใจและเห็นความสำคัญ ในการทดสอบสินค้า ตลอดจนให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและยุโรป คือการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >