ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ รู้หรือไม่ เรียกได้จากใคร?

        หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน กรณีรถยนต์ โดนรถของคู่กรณีชนได้รับความเสียหาย ถ้าท่านเป็นฝ่ายถูก และไม่ได้มีส่วนร่วมในการประมาทที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จะเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ได้จากใคร?         ถ้าเราเป็นฝ่ายถูก  สามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์จากบริษัทประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีได้ ไม่ใช่เรียกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนเองนะครับ        การเรียกร้องต้องทำอย่างไร ยุ่งยากหรือเปล่า?  ขอเริ่มดังนี้ คือ        1.    เราต้องขอใบเคลมรถยนต์ของคู่กรณี สำหรับยืนยันว่ารถยนต์คู่กรณีป็นฝ่ายผิด และถ่ายรูปใบเคลม กรมธรรม์ประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีไว้ เพื่อจะได้ทราบรายละเอียด เช่น ชื่อบริษัทประกันภัย เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถยนต์ของคู่กรณี  ชื่อผู้ขับขี่ และเลขการเคลมประกัน         2.  หลังจากนั้นให้ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์ หรืออู่ในเครือบริษัทประกันของท่าน        3.  เมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จ ให้ขอรายการซ่อมแซมรถยนต์ว่ามีรายการอะไรบ้าง และใบรับรถยนต์จากศูนย์หรืออู่ซ่อม โดยต้องระบุวันที่เข้าซ่อม และวันที่ซ่อมรถยนต์เสร็จ จากศูนย์หรืออู่ที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม         4. ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณี เพื่อเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ โดยใช้เอกสารประกอบดังนี้                   - สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์                   - สำเนาทะเบียนรถยนต์                   - สำเนากรมธรรม์ของผู้เรียกร้อง                   - ใบรับรถยนต์จากศูนย์ หรืออู่ซ่อม                   - รายการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหาย                   - ภาพถ่ายรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ                   - สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร                   - หนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์                   - หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้)       5. การติดต่อบริษัทประกันของรถยนต์คู่กรณี ถ้าสะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ก็จะรวดเร็วกว่า แต่ถ้าท่านอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่สะดวกไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ติดต่อผ่านสำนักงานสาขาของบริษัทประกันภัยนั้นๆ สาขาเขาจะส่งเรื่องต่อเข้าไปที่สำนักงานใหญ่เอง แต่อาจจะให้เวลานานกว่ายื่นเองที่สำนักงานใหญ่             ท่านสามารถเรียกค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ ที่ต้องใช้พาหนะอื่นๆ ในการเดินทางแทน เช่น ค่ารถแท็กซี่ หรือค่ารถจักรยานยนต์รับจ้าง  โดยคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นรายวัน  คูณ กับจำนวนวันที่ท่านนำรถยนต์เข้าซ่อม             ค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์บริษัทประกันภัยมีแนวปฏิบัติคราว ๆ  ไว้ว่าจะต้องจ่ายดังนี้     1.    รถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถเก๋ง บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 300 – 400 บาท     2.    รถกระบะที่ใช้ในการบรรทุก หรือรับขนส่งสินค้า บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ 500 – 700 บาท     3.    รถตู้ที่วิ่งโดยสาร บริษัทประกันภัยจะจ่ายประมาณวันละ  1,000 บาท         กรณีที่ท่านมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าขาดประโยชน์มากกว่าตัวเลขดังกล่าว ก็สามารถเรียกตามจริงไปก่อนได้ เพราะว่าบริษัทประกันภัยจะต้องมีการเจรจาต่อรองกับท่านอีกครั้ง พร้อมกันนี้ผมได้แนบ ตัวอย่างหนังสือเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้อ่านในการเรียกร้องจากบริษัทประกันภัย        เมื่อเจรจาตกลงกับบริษัทประกันภัยรถยนต์คู่กรณีได้แล้ว เขาจะให้ท่านลงนามในหนังสือประนีประนอมยอมระงับข้อพิพาท  สำหรับตัวเงินที่ตกลงกันได้   หลังจากนั้นบริษัทประกันภัยคู่กรณี จะโอนเงินค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ให้ท่าน เป็นอันเสร็จกระบวนการเรียกร้อง        ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงจะได้ความรู้ ในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์การใช้รถยนต์ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่ต้องเสียค่าเดินทางด้วยพาหนะอย่างอื่น แทนการใช้รถยนต์ของตนเอง  แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ…..

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 สิทธิผู้รับบริการ กรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสองข่าวใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อในสื่อออนไลน์ ข่าวแรก คือ วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกประท้วงบริษัทแกร็บไบท์ และข่าวที่สอง วินจักรยานยนต์เตะหน้านักท่องเที่ยวกลางเมืองพัทยา  โดยทั้งสองข่าวเป็นเรื่องของจักรยานยนต์รับจ้าง ถึงตรงนี้สองข่าวจะเกี่ยวกันยังไงตามมาดูกันครับข่าวแรก กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวประท้วงเผาเสื้อวินเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท แกร็บ ประเทศไทย เรียกร้องให้ หยุดนำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมารับส่งผู้โดยสาร หลังจากมีเหตุปะทะรุนแรงเพื่อแย่งผู้โดยสารกันมาโดยตลอด การรวมตัวประท้วงใหญ่ครั้งนี้  ถือเป็นการส่งสัญญาณจากกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะจัดระเบียบและเข้มงวดกับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับละเลยต่อการควบคุมจัดการกับกลุ่มรถรับจ้างที่เจตนาทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าการเข้ามาตีตลาดกินส่วนแบ่งของธุรกิจรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะฐานลูกค้าเดิมหายไป มีผลทำให้มีรายได้ลดลง และผู้ให้บริการรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แทบไม่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อให้เป็นรถรับจ้างเลย เช่น  1. นำรถส่วนบุคคลมาวิ่งได้ ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ  2.  ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะก็วิ่งรับส่งคนโดยสารได้  3. ไม่ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุม และ  4. ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องมีสถานที่ตั้ง (วิน) ก็วิ่งได้ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่รัฐกำหนดไว้ให้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่มีกติกาของรัฐควบคุมเลยทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นที่นิยมต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอีกด้วย ข่าวที่สอง จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิป ชายขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง เตะเข้าที่ใบหน้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เมืองพัทยา ภายหลังถูกตำรวจตามรวบตัวได้ อ้างถูกด่าก่อนจึงเกิดบันดาล สุดท้ายโดนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในข้อหาทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สอบหนักขึ้นจึงพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการ  ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท  และขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไปถึงคนขับรถในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ต้องหารายนี้ขับรถอยู่ด้วย โดยมีคำสั่งให้ระงับการขอเพิ่มรถจักรยานยนต์ในวินเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกสมาชิกทุกคนในวินเข้ามารายงานตัว พร้อมกำชับตักเตือนคาดโทษหนักสุด หากพบมีความผิดซ้ำมีโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนได้ทันทีเห็นหรือยังครับว่าสองข่าวนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร  ประเด็นคือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อไม่ให้มีธุรกิจแบบแกร็บไบท์เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด โดยอ้างสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการทำลายระบบขนส่งของประเทศชาติ แต่ความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบางแห่งที่มีรถส่วนบุคคลป้ายขาวร่วมวิ่งให้บริการรับส่งคนโดยสารอยู่เหมือนเป็นปกติ หรือคิดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ขับรถเร็ว วิ่งย้อนศรสวนเลน การฝ่าฝืนกฎจราจร และอีกมากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตราบใดที่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกจัดการแก้ไข เมื่อผู้ให้บริการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคย่อมต้องมีสิทธิที่จะหาทางเลือกใหม่ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีแม้ในทางปฏิบัติจะเชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนมากยังนิยมการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิมอยู่ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้ประจำในระยะทางสั้นๆ แต่หากยังปรากฎพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตามสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ย่อมมีส่วนทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้รถรับจ้างทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทาง ทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมายก็ตาม นั่นก็เพราะผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 แบไต๋ ‘โฆษณาออนไลน์’

โฆษณาออนไลน์...เชื่อได้แค่ไหน ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูก “หลอก” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ต้องอาศัยความ “เชื่อใจ” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงๆ และที่สำคัญคือ ต้องจ่ายเงินไปก่อน ผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้  เรียกว่า ต้อง “ลุ้น” กันหลายต่อ ลุ้นว่า จ่ายเงินแล้ว ผู้ขายจะส่งสินค้ามาให้หรือไม่  จ่ายเงินแล้วจะได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อหรือไม่   จ่ายเงินไปสินค้าจะมีคุณภาพ(ผลลัพธ์) เหมือนอย่างที่ “โฆษณา” ไว้หรือไม่  ข้อมูลผลการดำเนินงานตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาฯ ปี 2559 ของศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) พบ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) รองลงมาคือ อาหาร (ร้อยละ 36) และยา ร้อยละ 15 ขณะที่ผลการรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค (มพบ.) โดยสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการอิสระ พบว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีผู้ร้องเรียนมายังศรป.มากที่สุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) ขณะที่ มพบ. พบการร้องเรียนอันดับ 1 คือ อาหาร (ร้อยละ 54)    ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งซื้อออนไลน์มากสุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 38) รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดอ้วน และขาวใส (ร้อยละ 24) โดยเหตุผลที่เลือกซื้อเนื่องจาก โฆษณาจูงใจ พรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และอาจได้ผลเหมือนโฆษณา  (ร้อยละ 30)  และ เห็นโลโก้ อย. บนตัวผลิตภัณฑ์ มั่นใจว่ามี อย.จึงคิดว่าปลอดภัย (ร้อยละ 25) เผยไต๋...โฆษณาออนไลน์ ผิดกฎหมายซ้ำซาก จากการเสวนาแนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายบนออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย แต่ “ผู้บริโภค” ไม่รู้ หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมเสวนาครั้งนั้นคือ คุณวรรณวิษา ถนอมสินธุ์ ตัวแทนเพจดอกจิก ที่เกาะติดและเฝ้าระวังการโฆษณาออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการ “หลอกลวงผู้บริโภค” โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทเมจิก สกิน จำกัด ที่พบการกระทำผิด  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ภายหลังจากการตรวจค้นโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฐานความผิดที่พบในส่วนของ พ.ร.บ.อาหาร คือ  ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง (มาตรา 6  วรรคหนึ่ง) ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 14  วรรคหนึ่ง) ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม(ตามมาตรา 27 (4)) กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่าได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว(มาตรา 25(2))  โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 41 ) ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง  คือ แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง(มาตรา 22 (1)  ฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด(มาตรา 22 วรรค 2 (3) )  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่พบ เช่น  Linda Drink, Apple Slim, Shi-No-Bi, Fern Vitamin และ Treechada (Underraem Serum) ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิตให้บริษัทตรีชฎา)  “ปัญหาหลักๆ เกิดจาก การโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งในที่นี้มีผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ลงทุนโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แม้ว่าเจ้าของแบรนด์จะชี้แจงว่า มีเลข อย. แต่ อย.แจ้งว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลในสารบบที่ผิด เพราะบริษัทเมจิกสกินไม่ได้ผลิตสินค้าเองตามที่กล่าวอ้าง แต่มีบริษัทอื่นผลิตให้จึงถือว่าทำผิดกฎหมายชัดเจน”  คุณวรรณวิษากล่าว พร้อมยกตัวอย่าง รูปแบบการโฆษณาออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหลอกล่อให้...กิน  กินแล้วผอม กินแล้วขาว กินแล้วสวย.... ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้วิธี  “จูงใจ” ผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่าเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้แล้วจะได้ “ผลลัพธ์” ตามคำโฆษณา ด้วยราคาที่ “ถูก”  ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นและมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวโฆษณานั้นๆ เช่น  “หญิงย้วยอยากหน้าเด็กเหมือนอลิส อลิสอยากสวยเหมือนพี่หญิงย้วย (เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี)”    ขณะที่ด้านหลังซองมีคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” และด้านหน้าซองมีข้อความว่า “ขาวใสใน 7 วัน”   “Mezzo 100%  สบู่เมโสหน้าใสเหมือนฉีด นำเข้าจาก Switzerland”  ทั้งที่ เมื่อตรวจตรวจสอบส่วนประกอบแล้วไม่ใช่สารสกัดจากรกแกะดังที่กล่าวอ้างแต่เป็นสารสกัดจากพืช   นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณา โดยใช้ดาราและ เน็ต ไอดอล เพื่อจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า พรีเซ็นเตอร์ย่อมมีความผิดด้วยเช่นกันหลอกล่อให้ลงทุน...รวย รวย รวย เป้าหมายสำคัญของบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เพียงต้องการขายผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อชิ้นเท่านั้นแต่มุ่งเน้นโฆษณาเชิญชวนให้คนสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย  ด้วยการลงทุน “หลักร้อย” แต่ได้ค่าตอบแทน “หลักล้าน” เช่น  โรงเรียนสอนรวยหญิงย้วยออนไลน์  “สมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ลงทุนหลักร้อย ! เงินเข้าบัญชี 1.5 ล้าน”  ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการแต่งบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการโฆษณาเท่านั้น   มีรูปแบบการขายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ คือแบ่งระดับขั้นตามมูลค่าการลงทุน เช่น ตัวแทนรายย่อย ต้องซื้อ 20 ชิ้น ตัวแทนหลัก ต้องซื้อ 1,000 ชิ้น ระดับ VIP ต้องซื้อสินค้า 5,000 ชิ้น เพื่อได้ต้นทุนต่อชิ้นที่ถูกลง  โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น “แม่ทีม” ที่ต้องไปแสวงหาเครือข่ายมาเป็น “ลูกทีม” ต่อๆ กันเป็นทอดๆ แต่ละทีมจะมีวิธีจูงใจให้คนสมัครแตกต่างกันไป เช่น จูงใจด้วยสินค้าแบรนด์เนม โทรศัพท์มือถือ ทองคำ หรือแม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศ  พร้อมการรับประกันว่า “ขายไม่ได้ ยินดีคืนเงิน”  ทั้งที่ไม่เป็นเช่นนั้น มีการสอนแต่งบัญชีธนาคาร มีการดึงเน็ตไอดอล หรือดารามาโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการสอนเทคนิควิธีไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้ “หน้าม้า” เพื่อกระตุ้นเร่งเร้าให้รีบตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นตัวแทน  ดังเช่นที่ คุณณภัทร ทยุติชยาธร ในฐานะผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เปิดเผยในการเสวนาครั้งนี้ว่า “ตอนแรกเราสั่งสินค้า 1,000 ชิ้น จ่ายเงินเต็ม 30,000 แต่ได้ของมา 100  ชิ้น ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าอยากได้ของมากกว่านี้ต้องเลื่อนระดับขึ้นไปอีก กระทั่งจองไป 5,000 ชิ้น จ่ายเงินไป 135,000 ได้ของประมาณ 1,000 ชิ้น เมื่อของไม่พอ ทำให้เราต้องจองสินค้าเป็น 10,000 ชิ้นเสียเงินอีก 2 แสนกว่า  แล้วบอกให้เรารีบโอนเงินมาภายในวันนี้ๆ เดี๋ยวของไม่เกิน 5 วันส่งมาให้ พอเช้ารับสินค้า บ่ายโมงเขาดีดเราออกจากกลุ่มไลน์ทันที  ไม่ให้เราอยู่  “เขาให้เหตุผลว่า เราไปบอกความจริงกับเด็กระดับล่าง เพราะเมื่อเราเข้าไปอยู่ระดับ Super VIP เขาจะสอนวิชามารการไลฟ์สดให้ว่า ก่อนจะไลฟ์สด ลูกต้องเตรียมทีมงานไว้หลายๆ  คน มีมือถือไว้คนละเครื่องสองเครื่อง แล้วโพสต์กันเข้าไปเวลาที่แม่ทีมไลฟ์สด ให้บอกว่า สินค้าเราดีมาก อยากสมัครจัง ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าม้าทั้งหมด ส่วนคนที่สมัครจริงๆ จะรู้ได้จากการทิ้งลิงค์ไลน์ไว้ด้านล่าง  เขาจะไลฟ์สดทุกวัน ทำให้ได้ยอดคนสมัครตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น เขาไม่เคยบอกให้เราไปขายเป็นซอง แล้วถามว่าสินค้าที่ได้มา เอาไปทำอะไร ถ้าขายได้ก็ขายไป แต่ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องใช้กันเอง”  ในกรณีของบริษัทเมจิก สกิน  ยังมีการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย  โดยการโฆษณาว่า “รับผลิต” และ “จำหน่ายสินค้า” อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง มีการลงรูปโรงงานที่ทันสมัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจให้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์  “กรณีความผิดการสวมเลขสารบบ อย.  เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชิ-โน-บิ ที่ด้านหลังซองระบุว่า  ผลิตโดยบริษัท  เมจิกสกิน จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบพบผู้ได้รับอนุญาต คือ บริษัทอินโนว่า แล็บโบราโทรี่  ส่วนผลิตภัณฑ์ Mezzo ที่ระบุว่า บริษัทเมจิกสกินผลิตเองนั้น แท้จริงกลับผลิตที่ บริษัท พี โอ เอส  คอสเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทนี้รับผลิต ให้บริษัทเมจิก สกิน ตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวใส เช่น โอโม่  ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมลดน้ำหนักที่เป็นน้ำชง เช่น Apple Slim , Linda Drinks ผลิตที่บริษัท เนเจอร์ นิวทรี”  คุณวรรณวิษา กล่าว  เห็นได้ว่า นอกจากการ ชวนลงทุน ทั้งที่ไม่มีโรงงานผลิต ชวนกิน ว่ากินแล้วดี สวย ผอม ขาว โดยใช้กลยุทธ์สื่อบุคคล เช่น ดาราและ เน็ตไอดอล  สร้างระบบตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาหลอกล่อให้สต๊อกสินค้าจำนวนมาก  แต่ปัญหาที่ดูจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุด คงไม่พ้น เรื่องของ “คุณภาพสินค้า” ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา หรืออาจจะได้ผลลัพธ์ แต่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ และการ  “สูญเสียชีวิต”  ที่ด้วยเช่นกันโลกเปลี่ยน...ผู้บริโภคต้องปรับ    ในท่ามกลางการหลั่งไหลของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ยังมีสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซากอีกจำนวนมาก เห็นได้จากข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ภายหลังจากที่ อย.ออกประกาศเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีสารอันตราย เช่น Abdomen Slim จากการค้นหาในกูเกิ้ลพบมากถึง 6,990,000 รายการ และพบมีขายอยู่ใน Market Place เช่น Lazada  3,650รายการสินค้า  แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเมจิก สกิน ภายหลังจากบุกค้นโรงงานก็ยังสามารถพบโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั่วไป เช่น บนสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ท้ายรถเมล์ เป็นต้น โลกทุกวันนี้ แค่เห็นแล้ว “เชื่อ” คงไม่พอ หากผู้บริโภคต้อง “ตรวจสอบ” และแสวงหาข้อมูลรวมถึงวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ก่อนที่เราจะแตะสั่งสินค้าและจ่ายเงินไปนั้น สินค้าที่สั่งซื้อจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 บทเรียนจากวังน้ำเขียว

ฉบับนี้เห็นทีต้องกลับมาคุยเรื่องรถสองชั้นกันอีกครั้งนะครับ จากเหตุระทึกขวัญสั่นประสาทที่วังน้ำเขียว กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางสองชั้นของบริษัท กันเองทัวร์ เสียหลักลงข้างทาง ชนเพิงพักของชาวบ้าน ก่อนชนต้นไม้พลิกคว่ำ บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน โดยทั้งหมดเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลหลุบ และตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เหมารถท่องเที่ยวไปทะเลที่จังหวัดจันทบุรี ขณะเกิดเหตุกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สาธารณะกันอีกครั้ง ถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า เพราะรถโดยสารสองชั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน รวมคนบนรถทั้งหมดที่อยู่ในรถคันเกิดเหตุมากกว่า 50 คนเลยทีเดียวแม้ข้อเท็จจริงในเหตุครั้งนี้จะชี้ชัดออกมาแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุมาจากคนขับรถคันเกิดเหตุที่ไม่ชินเส้นทาง อีกทั้งยังเสพยาบ้าก่อนออกเดินทางจำนวน 2 เม็ด เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุจึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ประกอบกับสภาพรถที่ไม่พร้อมใช้งาน และสภาพถนนที่คดเคี้ยวลงเขาและโค้งที่เสี่ยงต่ออันตราย แต่ประเด็นที่กำลังปะทุอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ตอนนี้ คือ ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่ปลอดภัยแล้วทำไมถึงยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ แล้วประชาชนจะรู้ได้ยังไงว่าคันไหนปลอดภัยคันไหนไม่ปลอดภัย เพราะเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่วังน้ำเขียวนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นอีกหลายครั้ง เช่น 28 กุมภาพันธ์ 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนโรงเรียนบ้านดงหลบ จังหวัดนครราชสีมา ไปทัศนศึกษาที่หาดจอมเทียน ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่บริเวณทางขึ้นเขาศาลโทน ถนน 304 อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 15 คน เจ็บมากกว่า 40 คน24 มีนาคม 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาของผู้นำชุมชนของเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก ไปดูงานที่จังหวัดอุบลราชธานีและสปป ลาว เสียหลักตกเหวลึกกว่า 30 เมตร บริเวณดอยรวก ถนนสาย ตาก-แม่สอด จังหวัดตาก มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 22 คน 9 มีนาคม 2560 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนจากโรงเรียนพังทุยพัฒนศึกษา จังหวัดขอนแก่น ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดจันทบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุเสียหลักชนแผงกั้นคอนกรีต ตกไปในเหวฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 30 คน และยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้นต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารชั้นเดียวมากถึง 8 เท่าจากความสูญเสียในอดีตที่เกิดขึ้น หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2559 พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้ยกเลิกรถโดยสารสาธารณะสองชั้นมาแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถยกเลิกรถโดยสารสองชั้นออกจากระบบได้ในทันที แต่สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมไม่ให้มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มเติมในระบบ มกราคม 2560 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างยิ่งรถโดยสารขนาดใหญ่(รถสองชั้น) ซึ่งต่อมาคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) กำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ต้องมีความสูงไม่เกิน 4.0 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร รวมทั้งยังต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารทุกประเภททุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจากมาตรการข้างต้นนี้ หลายคนคงถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้จะไม่มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่ที่สูงปรี๊ดออกมาวิ่งบนถนนกันแล้ว แต่นั่นหมายถึงเฉพาะรถใหม่!!!คำถามคือ แล้วรถโดยสารสองชั้นเก่าที่จดทะเบียนมาแล้วก่อนหน้าวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่มีอยู่ในระบบอีกมากกว่า 7,000 คัน รถเหล่านี้รัฐบาลจะมีการกำกับดูแลยังไง เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของกรมการขนส่งทางบกเหมือนจะผิดที่ผิดเวลาอยู่ตลอด การมุ่งควบคุมมาตรฐานรถที่จดทะเบียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถเก่าที่จดทะเบียนมาก่อนจะทำอย่างไร แม้ล่าสุด มีนาคม 2561 หลังเหตุระทึกขวัญที่วังน้ำเขียวนายกฯ จะกลับมามีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้ความสูงของรถโดยสารสองชั้น พร้อมเตรียมหาแนวทางกำหนดอายุใช้งาน และจำกัดเส้นทางวิ่งของรถโดยสารสองชั้น ซึ่งการสั่งการครั้งนี้น่าจะเด็ดขาดและชัดเจนที่สุดแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าคำสั่งของนายกฯ จะได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดสั่งการไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว จนปัจจุบันก็ยังยกเลิกไม่ได้  หากแนวทางยกเลิกนั้นทำไม่ได้ เนื่องด้วยติดสัญญาขัดข้อกฎหมายหรือยังไม่มีเหตุเพียงพอ การออกมาตรการควบคุมการใช้งานรถโดยสารสองชั้น เช่น การกำหนดอายุการใช้งานรถที่เหมาะสม การกำหนดเส้นทางที่ไม่ให้รถโดยสารสองชั้นวิ่งได้ เช่น เส้นทางลาดชันขึ้นเขาลงเขา หรือการรับซื้อรถคืนตามสภาพของรัฐบาล ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีและทำได้สำหรับปัญหารถโดยสารสองชั้นในเวลานี้  ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ แบบที่ผ่านมา ก็อาจจะมีความสูญเสียครั้งใหม่เกิดขึ้นมาอีก เชื่อว่าทุกคนอยากให้เหตุที่วังน้ำเขียวนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะคนที่ต้องเดินทางและต้องเสี่ยงกับความสูญเสียไม่ใช่คนในรัฐบาลหรือหน่วยงาน แต่เป็นประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสองชั้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 โปรลับ กับการย้ายค่าย

“ตอนคบกันแรก ๆ ก็ช่างเอาอกเอาใจ ทำดีให้ทุกอย่าง แต่พออยู่ๆ ไป หมดโปรโมชั่น ทำไมเฉยชา ไม่ใยดี เห็นเราเป็นของตาย” ที่พูดมานี่ กำลังจะเข้าเรื่องโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ นะครับ อย่าคิดไปเป็นอื่น  เห็นโปรโมชั่นเอาใจลูกค้าใหม่ ที่ทั้งลด แลก แจก แถม แล้วลูกค้าเก่าอย่างเราก็อยากใช้บ้าง แต่พอติดต่อไปเขาก็ไม่ให้ เป็นลูกค้าเก่า ก็ต้องใช้โปรโมชั่นเดิม ๆ ซึ่งมันไม่เร้าใจ อะไรเลย อุตส่าห์เป็นลูกค้าที่ดีมาตั้งหลายปี แต่ได้รับการปฏิบัติแบบนี้ ลูกค้าเก่าหลายคนก็คิดได้นะ ว่าแล้วจะทนใช้บริการไปทำไม เปลี่ยนใจไปค่ายใหม่ดีกว่าไหม การเปลี่ยนตัวผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่เดิมนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเบอร์โทรศัพท์ผูกอยู่กับค่ายมือถือ จะย้ายค่ายก็ต้องทิ้งเบอร์โทรศัพท์เก่า ไปใช้เบอร์ใหม่ แล้วจะทำอย่างไรกับผู้คนมากมาย ที่เคยติดต่อผ่านโทรศัพท์เบอร์เดิม จะต้องแจ้ง ต้องบอกแก้ไขเบอร์ใหม่ เบอร์เก่ากันวุ่นวาย ยิ่งถ้าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อทางธุรกิจกันมาหลายปี การย้ายค่ายไปใช้เบอร์ใหม่อาจส่งผลกระทบกับการติดต่อลูกค้า   ข้อจำกัดแบบนี้ จึงทำให้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ใช้บริการมาก บริการจะแย่ ค่าบริการจะแพงอย่างไร ก็ต้องทนใช้ไป เพราะต้นทุนการย้ายไปใช้บริการกับค่ายใหม่มันมากเหลือเกิน  จนเมื่อมี ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สิทธิผู้บริโภคย้ายค่าย โดยใช้เบอร์เดิมได้ จึงทำให้ผู้ใช้บริการมีอำนาจต่อรองกับผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าค่ายเดิมไม่ดูแลลูกค้าให้ดี ลูกค้าก็มีสิทธิย้ายค่ายหนีไปใช้บริการเจ้าใหม่ ได้ง่ายๆ  ดังนั้น เราจึงเห็น “โปรย้ายค่าย” ออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ ลดค่าโทร แถมบริการอินเทอร์เน็ต ฯลฯ สารพัดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงลูกค้าของค่ายคู่แข่งให้ย้ายมาใช้บริการ จนเกิดเป็นกระแสย้ายค่ายได้โปรดี ลูกค้าเก่าจำนวนไม่น้อยพากันย้ายค่ายเพื่อจะเอาโปรโมชั่นใหม่ ที่ดีกว่า ถูกกว่า ค่ายเก่าก็ต้องงัดกลยุทธ์ออกมาสกัดกั้นการไหลออกของลูกค้า หนึ่งในวิธีที่ใช้กันก็คือ “การเสนอโปรลับ” โปรลับ ก็คือ การเสนอโปรโมชั่นที่ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับโปรโมชั่นของคู่แข่ง เพื่อยื้อไม่ให้ลูกค้าเก่าย้ายค่าย และที่ว่า “ลับ” ก็เพราะโปรโมชั่นแบบนี้ ทางค่ายไม่ได้ประกาศหรือแจ้งเป็นการทั่วไปให้ลูกค้าทราบ จะหาในเว็บไซต์ หรือปิดประกาศไว้ที่ร้านก็ไม่เจอ เพราะข้อเสนอ “โปรลับ” นี้ จะถูกเสนอให้กับลูกค้าที่กำลังจะย้ายค่ายได้พิจารณากันเป็นรายๆ ไป  ดูอย่างนี้เหมือนนี่จะเป็นนาทีทองของผู้บริโภค ที่บริษัทแข่งกันเสนอเงื่อนไขการใช้บริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้า แต่ถ้ามองกันในภาพรวมมีลูกค้าเก่าอีกตั้งมากมาย ที่ไม่ได้ย้ายค่าย จึงไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรที่ดีขึ้นจากการเป็นลูกค้าที่ดีเลย การทำ “โปรลับ” แบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ ในต่างประเทศ การเสนอโปรลับหรือเงื่อนไขพิเศษเฉพาะราย ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า เป็นการเลือกปฏิบัติ จะทำโปรโมชั่นรักษาฐานลูกค้าเก่า ก็ต้องประกาศแจ้งเป็นการทั่วไป ให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูล เปิดเผยเป็นการทั่วไป ไม่ใช่แอบไปเสนอเงื่อนไขพิเศษ ต่อรองกันแบบลับๆ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา เพราะจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57  “ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา 54  ไม่ได้ และต้องไม่เป็นการกำหนดอัตราในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกัน” รวมทั้ง ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 16 “ผู้ให้บริการต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และต้องเป็นอัตราตามที่ได้มีการตกลงไว้ในสัญญาโดยต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกัน และไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้ใช้บริการรายหนึ่งรายใด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 มีปัญหา ค่าเน็ต ค่าโทร อย่าลืมให้บริษัท โชว์หลักฐาน พิสูจน์ความจริง

ในโลกยุค 4.0 อย่างทุกวันนี้ บริการโทรคมนาคม ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนตื่นขึ้นมาก็ต้องควานหาโทรศัพท์มือถือก่อนเลย เช็คข้อความในไลน์ ตลอดวันจะทำธุรกิจ ติดต่อค้าขาย คุยกับเพื่อนฝูง ครอบครัวก็ต้องใช้โทรศัพท์  อินเทอร์เน็ต ก่อนนอนก็ยังต้อง อัพเดท สเตสัส ราตรีสวัสดิ์ ในเฟซบุ๊ค  บริการเหล่านี้ ไม่ใช่ของฟรี ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าบริการมาก อย่างน้อยก็หลักร้อยต่อเดือน หรือบางคนถ้าเลือกใช้แพคเก็จแบบจัดเต็มทั้งเน็ต ทั้งโทร ก็อาจจะต้องจ่ายถึงหลักพันบาทยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งมีปัญหามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บ  “ไม่เคยสมัครใช้บริการ แต่มีรายการเรียกเก็บค่า sms ดูดวง / ข่าวซุปซิปดารา” “ใช้ WiFi ที่บ้าน แต่ทำไมถูกเก็บค่าเน็ตมือถือ”  “ถูกคิดค่าบริการส่วนเกินแพคเก็จ ทั้งที่ใช้งานนิดเดียว”ฯลฯ เมื่อบริษัทมีบิลเรียกเก็บค่าบริการมา แต่ผู้บริโภคยืนยันว่า “ฉันไม่ได้ใช้” ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ปัญหาจึงเกิดขึ้น จริงๆ แล้วปัญหานี้พิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะการกระทำทุกอย่างในระบบโทรคมนาคม จะมีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการสมัครใช้บริการ เมื่อวันที่เท่าไร เวลาอะไร ใช้บริการกี่นาที เริ่มกี่โมง จบกี่โมง ใช้บริการจากบริเวณไหน ฯลฯ ซึ่งข้อมูล รายละเอียดเหล่านี้จะอยู่ในมือบริษัทผู้ให้บริการ  ถ้าบริษัทผู้ประกอบการ ยอมเอาข้อมูลออกมายืนยัน พิสูจน์ข้อโต้แย้งของผู้ใช้บริการมันก็จบ แต่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักจะพูดลอยๆ ว่าคิดค่าบริการถูกต้องแล้ว โดยไม่ได้แสดงหลักฐานอะไรประกอบ แล้วอย่างนี้จะให้ผู้ใช้บริการเชื่อได้อย่างไรล่ะ ครับ  เมื่อฝ่ายที่กุมข้อมูลไว้ในมือ ไม่ยอมคายหลักฐานออกมา กฎหมายจึงต้องกำหนดเรื่อง “ภาระการพิสูจน์ (Burden of Proof)” ไว้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการคิดค่าบริการโทรคมนาคม เมื่อมีการโต้แย้งว่า คิดค่าบริการผิดพลาด ไม่เป็นไปตามสัญญา หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 47 มาตรา 48 และ ประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ข้อ 13 และ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 นั้น บัญญัติไว้สอดคล้องกัน ว่า เมื่อมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ เพราะผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นฝ่ายที่ครอบครองข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม  ดังนั้นหากผู้ให้บริการสามารถนำพยาน หลักฐานมาแสดง เพื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการจริง และผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา และเรียกเก็บตามอัตราค่าบริการที่ตกลงกันแล้ว ผู้ให้บริการก็ย่อมมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการได้ แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ผู้ร้องเรียนได้ใช้บริการจริง หรือผู้ให้บริการได้เรียกเก็บค่าบริการตรงตามเงื่อนไขของสัญญา ผู้ให้บริการก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ อันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายทั่วไป ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 22 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการ และต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบภายในระยะเวลา 60 วันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการนั้นสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าบริการในจำนวนที่ผู้ใช้บริการได้โต้แย้งนั้น    การกำหนดระยะเวลา 60 วันนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ผู้ใช้บริการ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถหาพยาน หลักฐาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตน มาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการที่ผู้ใช้บริการโต้แย้งได้ภายใน 60 วัน ผู้ใช้บริการจึงย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ค่าบริการที่โต้แย้งนั้นได้  หลักฐานที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการโทรคมนาคม หรือไม่ อย่างไรนั้น  จะต้องเป็นหลักฐานที่ไม่อาจแก้ไขดัดแปลงได้ อาทิ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์(log file) ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ แสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐาน เช่น ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ (log file) นี้ จึงจะเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ร้องเรียนมีการใช้บริการ GPRS Roaming ของบริษัท ฯ จริง หรือไม่  ส่วนใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการ ที่ถึงแม้จะแสดงข้อมูลว่า มีการใช้บริการอะไรบ้าง เมื่อวันที่เท่าไร แต่ใบแจ้งค่าใช้บริการนั้น ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการได้ เพราะเป็นเอกสารที่บริษัท ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว สามารถแก้ไข ดัดแปลงได้  ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับค่าบริการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะค่าโทร ค่าเน็ต อย่าลังเลใจที่จะใช้สิทธิตรวจสอบกับผู้ให้บริการ ให้ชี้แจง แสดงพยานหลักฐาน พิสูจน์ว่ารายการที่เรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าร้องเรียนแล้ว ผู้ให้บริการนิ่งเฉย ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ยืนยันถึงความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าบริการนั้นได้ภายในระยะเวลา 60 วัน ผู้บริโภคก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนที่โต้แย้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม >