ฉบับที่ 277 3 เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคา : จากบ้านตัวเองถึงเวียดนามและแอฟริกาใต้

หนึ่ง หลังคาบ้านตนเอง แบบไหนละติดตั้งแล้วคุ้มทุน        สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเองด้วยระบบที่เรียกว่า “หักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering” ซึ่งเป็นระบบที่ลงทุนที่ประหยัดที่สุด ที่ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์เพิ่ม แต่ใช้มิเตอร์ตัวเดิมแบบจานหมุนที่มีอยู่แล้วเพราะไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทางอยู่แล้ว พูดง่ายๆก็คือเป็นการแลกไฟฟ้ากันระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้า  เมื่อถึงเวลาคิดบัญชีรายเดือน หากไฟฟ้าจากสายส่งไหลเข้าบ้านมากกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้าน เจ้าของบ้านก็จ่ายเพิ่มเฉพาะในส่วนที่เกิน ระบบนี้มีการใช้กันประมาณ 68 ประเทศทั่วโลก  รัฐบาลไทยเราก็เคยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วเมื่อ 27 กันยายน 2565 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และได้รายงานคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา         ความจริงเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว กระทรวงพลังงานเคยออกระเบียบเพื่อรับซื้อไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ขายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4 บาทกว่าๆ นอกจากนี้ยังรับซื้อเป็นเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น (ภายหลังได้ขยายเพิ่มเป็น 10 ปี)  ทั้ง ๆที่อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์อยู่ได้นานถึง 25 ปี ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน หรือเรียกว่าล้มเหลวก็ว่า เพราะ รับซื้อในราคาต่ำเกินไป ต่ำกว่าที่รับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มเสียอีก และรับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น         ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 2 ประการ คือ (1) ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม (2) ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงจากเมื่อ 4-5 ปีก่อน   (3)  เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ทุกวันนี้มีอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น หากเราติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองจำนวนหนึ่ง จึงถือเป็นการตัดยอดจำนวนไฟฟ้าที่ต้องซื้อลง  อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะถูกตามลงมาด้วย ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่ปฏิบัติได้จริงมาให้ผู้อ่านพิจารณา         ผมขอยกตัวอย่างจริงนะครับ สมมุติว่า เราใช้ไฟฟ้าจำนวน 800 หน่วยต่อเดือน (บ้านชนชั้นกลางที่อยู่กัน 4-5 คน) ถ้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 เราจะต้องจ่าย (ในช่วงเมษายน-กรกฎาคม) จำนวน  3,909.53  บาท เฉลี่ย  4.89 บาทต่อหน่วย แต่ถ้าเราใช้เพียง 470 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้า 2,207.98 บาท เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย  ต่างกัน 19 สตางค์ต่อหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่หายไป 330 หน่วย ทำให้เราจ่ายค่าไฟฟ้าลดลง 1,701.55 บาท (เฉลี่ย 5.16 บาทต่อหน่วย)  ไฟฟ้าส่วนที่หายไปนี้มาจากการคิดว่า เราสามารถผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่ง 1 กิโลวัตต์จะผลิตได้ปีละ 1,320 หน่วย หรือเดือนละ 110 หน่วย นั่นเอง         คราวนี้เราเห็นแล้วนะครับว่า ยอดหน่วยไฟฟ้าที่อยู่บน(คือหน่วยที่ 471-800) ราคา 5.16 บาทต่อหน่วย ในขณะที่  470 หน่วยแรก มีอัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย   การคิดจุดคุ้มทุนสำหรับผู้อยู่บ้านตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่         มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา (1) เรามีการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากแค่ไหน เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้อยู่ในช่วงที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงถึง  ถ้าใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้น้อยก็ไม่เกิดประโยชน์  (2) จะคุ้มทุนในเวลากี่ปี โดยสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เราสามารถผลิตได้เท่ากับ 5.16 บาทต่อหน่วย         เท่าที่ผมทราบต้นทุนในการติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ในปัจจุบันประมาณ 95,000 บาท ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานที่ทางการไฟฟ้ารับรอง แผงโซลาร์มีอายุการใช้งาน 25 ปี แต่อุปกรณ์บางชิ้นมีอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี อาจจะต้องเปลี่ยนหรือลงทุนใหม่เฉพาะอุปกรณ์ชิ้นนั้น (คือ อินเวิร์ทเตอร์ราคาประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท) แต่เอาเถอะ ผมขอสมมุติว่าค่าลงทุนตลอดโครงการ 25 ปี ด้วยเงิน 95,000 บาท         ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ขนาด 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,320 หน่วย ดังนั้น ในเวลา 4.7 ปี โซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่า 3X1,320X5.16X4.7 เท่ากับ 96,038 บาท  หรือคุ้มทุนภายใน 56 เดือน แต่ขอย้ำนะครับว่า โครงการนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านตอนกลางวันและพยายามใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ให้หมด เช่น เปิดแอร์ ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ        คราวนี้มาคิดกรณีที่บางท่านอาจจะไม่มีเงินลงทุน ก็มีทางออกครับ มีธนาคารอย่างน้อย 2 แห่ง ปล่อยเงินกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 4.9% ต่อปี สมมุติว่าเรามีเงินดาวน์ 1.5 หมื่นบาท และผ่อนส่วนที่ต้องกู้ 80,000 บาทนาน 60 เดือน สิ้นเดือนแรกซึ่งเป็นเดือนที่ผ่อนมากที่สุดเท่ากับ 1,660 บาท(ในจำนวนนี้เป็นเงินต้น 1,333.33 บาท) เงินค่าไฟฟ้าที่เราลดลงมาได้เดือนละ 1,701.55 บาทก็เพียงพอกับค่าผ่อนครับ เมื่อครบ 60 เดือนเราก็ผ่อนหมด ที่เหลืออีก 20 ปีถือว่าเราได้ชุดโซลาร์เซลล์มาฟรีๆ น่าสนใจไหมครับ สอง รัฐบาลเวียดนามวางแผนส่งเสริมโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและสำนักงาน 50% ภายใน 2030         จากเรื่องที่หนึ่ง เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยได้พยายามกีดกันการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์โดยผู้บริโภค แต่รัฐบาลเวียดนาม โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP8 (ประกาศใช้เมื่อพฤษภาคม 2023 และใช้งานในช่วง 2021-2030)  ได้กำหนดว่า “อย่างน้อย 50% ของบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองภายในปี 2030” รวม 2,600 เมกะวัตต์ โดยใช้สายส่งที่มีอยู่แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด(หน้า 5)         เล่ามาแค่นี้ ทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนาม หมายเหตุ ถึง บก. กรุณาอย่าเลื่อนภาพไปที่อื่น เพราะผู้อ่านจะไม่เข้าใจกับเนื้อหาที่เขียนครับ         เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2024 คุณ Geordin Hill-Lewis นายกเทศมนตรีเมือง Cape Town (มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารพาณิชย์ทั้งหมดอย่างไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าดับเนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้ากันมากเกินในบางช่วงเวลา (Loadshedding) ก่อนหน้านี้ (ในช่วง 15 เดือนของปี 2022-2023) ชาวเมือง Cape Town ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพิ่มขึ้นถึง 349% (จาก 983 เมกะวัตต์เป็น 4,412 เมกะวัตต์-ข่าว Bloomberg)         นายกเทศมนตรียังกล่าวเสริมอีกว่า “Cape Town จะเป็นเมืองแรกที่ได้ปรับยุทธศาสตร์พลังงานอย่างเป็นทางการเพื่อยุติเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ และการกระทำที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการจ้างงาน...ในระยะสั้นภายใน 2026 เราได้วางแผนป้องกันไฟฟ้าดับไว้ 4 ระยะคือ (1) เราได้เปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ที่วางใจไม่ได้ (2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีราคาแพงไปสู่การกระจายแหล่งอุปทาน (supply) ที่เชื่อถือได้ (3) ทำให้ราคาไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และ (4) นำไปสู่แหล่งพลังงานที่ทำให้เป็นกลางทางคาร์บอน”         ผมได้นำเสนอใน 3 เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคา คือ (1) การกีดกันโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของรัฐบาลไทย ด้วยเหตุผลต่างๆนานา และทางออกของผู้บริโภครายบุคคล (2) การส่งเสริมที่เป็นแผนพลังงานชาติของรัฐบาลเวียดนาม และ (3) การส่งเสริมของรัฐบาลแอฟริกาใต้และนายกเทศมนตรีเมือง Cape Town ครบถ้วนแล้วครับเพื่อเป็นการตอกย้ำในข้อมูลดังกล่าว ผมจึงขอตบท้ายด้วยข้อมูลเชิงสถิติ ถึงจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ต่อหัวประชากรของบางประเทศ ในปี 2014 กับ 2022  ดังภาพข้างล่างนี้         ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับข้อมูลนี้ครับ เมื่อปี 2014 เราเคยผลิตได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อีก 8 ปีต่อมา เรากลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงกว่า 2 เท่าตัว  นอกจากนี้ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของไทย กว่าร้อยละ 98 ผลิตมาจากโซลาร์ฟาร์มซึ่งเป็นกลุ่มทุนพลังงาน แทนที่จะสนับสนุนผู้บริโภครายปัจเจกด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของตนเองสาม ตัวอย่างจากเมือง Cape Town ประเทศแอฟริกาใต้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 เอาใจสายเทรด (2) ทำความรู้จักกราฟแท่งเทียน

        วันนี้ยังคงเอาใจสายเทรดกันต่อ ด้วยการทำความรู้จักแบบคร่าวๆ กับกราฟชนิดหนึ่ง ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการลงทุนหรือการเทรดก็มีโอกาสผ่านหูผ่านตากันมาบ้างตามหน้าสื่อธุรกิจ-เศรษฐกิจ เจ้ากราฟประเภทนี้แทบจะเป็นกติกาท่าบังคับที่สายเทรดต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะไปต่อยาก         กราฟนี้มีชื่อว่า Candlestick Chart หรือกราฟแท่งเทียน         มันก็คือกราฟที่เป็นแท่งๆ มีสีเขียวกับสีแดง ยาวบ้าง สั้นบ้าง ที่เรียงต่อๆ บางช่วงก็ไต่ขึ้น บางช่วงก็ทรงๆ ออกด้านข้าง บ้างช่วงก็ไต่ลง และด้านบนกับด้านล่างก็มักจะมีเส้นตรงขีดขึ้นหรือลงต่อจากตัวแท่งเทียนเลยถูกเรียกว่า ไส้เทียน นี่แหละที่เรียกว่ากราฟแท่งเทียนและสายเทรดทุกคนต้องทำความรู้จักและตีความนัยที่เจ้าแท่งสีเหล่านี้กำลังบอกแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต         เจ้าแท่งเทียนนี่บอกอะไร? มันบอก 4 อย่างคือราคาซื้อขายแรกในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้วาดแท่งเทียน, ราคาสุดท้ายที่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่นำมาวาดแท่งเทียน, ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุด         ตัวแท่งเทียนเป็นตัวบอกราคาเปิดและราคาปิดของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในวันนั้นๆ ส่วนไส้เทียนคอยบอกว่าในวันนั้นๆ ราคาหุ้นที่นำมาวาดกราฟซื้อ-ขายกันที่ราคาสูงสุดและต่ำสุดเท่าไหร่ ถ้าราคาสุดท้ายของหุ้นในวันนั้นปิดสูงกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีเขียว (บางที่ใช้แท่งโปร่งๆ แทนสีเขียว) แต่ถ้าราคาสุดท้ายปิดต่ำกว่าราคาเปิด แท่งเทียนก็จะเป็นสีแดง         ทีนี้ก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาปิดกับราคาเปิดเท่ากันล่ะ? กราฟแท่งเทียนของวันนั้นก็จะไม่มีตัวแท่งเทียน มีแค่ขีดแนวนอนพาดทับไส้เทียน รูปจะออกมาคล้ายกากบาท ซึ่งเส้นแนวนอนที่ว่าจะอยู่กลาง ค่อนไปทางด้านบน หรือค่อนไปทางด้านล่างก็ขึ้นกับการซื้อ-ขายหุ้นในวันนั้น         หรือพูดให้ง่ายๆ เข้า กราฟแท่งเทียนก็คือตัวบอกปริมาณความต้องการซื้อและขายหุ้นตัวหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังบอกสภาพทางจิตวิทยาหรืออารมณ์ของตลาดต่อหุ้นตัวนั้น ซึ่งช่วยให้เห็นลักษณะการซื้อ-ขาย รวมถึงแนวโน้มในอนาคต เช่น แรงซื้อจำนวนมากทำให้ราคาหุ้นปิดสุดท้ายสูงกว่าราคาเปิด หรือถ้าราคาปิดของวันกับราคาต่ำสุดของวันก็แปลว่ายังมีแรงขายต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นดันปิดทำการซะก่อน มันก็จะพอตีความได้ว่าวันรุ่งขึ้นอาจมีแรงขายทำให้หุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปอีก เป็นต้น         พอเอากราฟแท่งเทียนของหุ้นสักตัวมาสร้างกราฟในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเช่นสักหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือสามเดือน นักเทรดก็จะพอเห็นแนวโน้มในอนาคตแล้ววางแผนเทรดหุ้นเพื่อทำกำไร ...ก็ต้องลองไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง         แต่โปรดจำไว้ข้อหนึ่ง ไม่มีใครเดาใจตลาดได้ วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ดังนั้น จงวางแผนเทรดให้ดี รู้ว่าจะเขาเมื่อไหร่และรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงเวลาต้องออก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 สามสิ่งที่ต้องรีบจัดการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเอไอ

        คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เขียนขึ้นโดยเอไอ        มันไม่ใช่ฝีมือของเอไอหรอก แต่ถ้าใช่ คุณก็ควรมีสิทธิรู้ไม่ใช่หรือ         ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในยุคของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ได้ (Generative AI / เจนเนอเรทีฟเอไอ) ก็มีความเข้มข้นขึ้นทุกวัน ธุรกิจนี้มีผู้เล่นน้อย มีบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของเอไอ เราทำนายว่าในอนาคตจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เราจึงกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากมุมมองของผู้บริโภค ในขณะที่ตลาดหลักๆ ที่มีการใช้เอไอ มุ่งความสนใจไปที่การต่อต้านการผูกขาดทางการค้า         สิ่งที่ชัดเจนคือปัญญาประดิษฐ์แบบใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา ตั้งแต่กฎหมาย บรรทัดฐาน และค่านิยมต่างๆ ทำให้ความโปร่งใสเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การคุ้มครองผู้บริโภคแบบเดิมจึงไม่เพียงพอ ต้องมีการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อให้เท่าทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีล่าสุด         คำแนะนำของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นความสำคัญของความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้คนเพื่อการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดและบังคับใช้ระเบียบต่างๆ ได้         การปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสของเอไอได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยีใหม่นี้ การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสามขั้นตอนต่อไปนี้         1. การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์         รายงานการตรวจสอบโดยคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ พบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องวิธีการที่ใช้ในการสร้างเอไอและการนำเอาข้อมูลต่างๆ ไปใช้ โมเดลส่วนใหญ่ของเจเนอเรทีฟเอไอต้องอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อฝึกฝนและเรียนรู้ เราต้องตั้งคำถามว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกสร้างและบำรุงรักษาอย่างไร และเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่         ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่ใช้เพื่อฝึกฝนโมเดลเอไอได้รับการจัดเก็บอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลหรือไม่ การจ้างงานมนุษย์เพื่อทำหน้าที่จำแนกข้อมูลและใส่หัวข้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามจริยธรรมหรือไม่ ทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบหรือไม่ นักพัฒนาควรเปิดเผยข้อมูลว่าด้วยสิ่งที่ตนเองใช้ในการสร้างเครื่องมือสำหรับผู้บริโภค แบบเดียวกับการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่ามีอะไรอยู่ในอาหาร เสื้อผ้า หรือยารักษาโรค         2. การเผยแพร่และจัดจำหน่าย         เมื่อโมเดลเอไอถูกสร้างขึ้น มันควรถูกนำมาใช้โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก         การพัฒนาโมเดลเอแแบบปิดหรือเปิดกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในกรณีโมเดลแบบเปิด โค้ดต้นฉบับหรือคำสั่งในโปรแกรมจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ว่าใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ขณะที่โมเดลแบบปิดจะเป็นของส่วนตัวและมีลิขสิทธิ์         ทั้งสองรูปแบบต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วย มันน่าตื่นเต้นที่จะได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่สังคมสามารถนำมาใช้ได้ แต่เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อโมเดลดังกล่าวถูกปล่อยออกไป มันจะส่งผลต่อสังคมอย่างไร         นักพัฒนาหรือผู้ที่นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือเปิดเผยความเสี่ยงของมันให้สังคมรู้หรือไม่ มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอก เช่น นักวิจัย หรือหน่วยงานกำกับดูแล เข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเหล่านั้นโดยอิสระหรือไม่ ในกรณีของโมเดลแบบเปิด มีการกำหนดเกณฑ์ว่าใครสามารถนำโค้ดไปสร้างต่อ หรือกำหนดสิ่งที่สามารถทำได้กับโค้ดดังกล่าวหรือไม่         เราเคยได้ยินข่าวว่าโมเดลของปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพลามกอนาจารโดยบุคคลที่อยู่ในภาพไม่ได้ให้ความยินยอม สภาผู้บริโภคแห่งนอร์เวย์ได้ออกคำเตือนโดยละเอียดว่าด้วยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสามารถสร้างข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้ปริมาณมหาศาล เป็นการติดอาวุธให้กับมิจฉาชีพในการสร้างเรื่องหลอกลวงผู้บริโภค และมันยังทำให้การหลอกลวงออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากแก่การตรวจสอบด้วย งานวิจัยพบว่าจากคนหนึ่งร้อยคน มีผู้ที่สามารถบอกได้ว่าเนื้อหาที่อ่านเป็นฝีมือของเอไอเพียง 50 คนเท่านั้น         ที่การประชุมใหญ่ระดับโลกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลในปี 2023 เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอจากภัยดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในคำประกาศเพื่อหยุดการหลอกลวงออนไลน์ (Global Statement to Stop Online Scams) สิ่งที่ต้องมีคือกฎระเบียบและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ตรวจจับ สกัดกั้น และรับมือกับการหลอกลวงเหล่านี้         ผู้ที่กำลังพัฒนาระบบเอไอจะต้องตระหนักและรายงานสิ่งที่ตนเองรู้เกี่ยวกับอันตรายที่สามารถเกิดขึ้น         3. การกำหนดความรับผิดชอบ         เราจำเป็นต้องเค้นถามให้ได้คำตอบว่ามีขั้นตอนกระบวนการที่เข้มข้นพอเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ และมีการกำหนดระดับความรับผิดชอบหรือระดับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม แล้วหรือยัง ทั้งนี้รวมถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา การเปิดเผยเรื่องการขออนุญาตเข้าถึงฐานข้อมูลของรัฐ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น         พูดง่ายๆ คือ ถ้าระบบเอไอสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เราจะโทษใคร และใครมีหน้าที่แก้ไขปัญหาดังกล่าว เรื่องความรับผิดต้องระบุให้ชัดเจน         เรื่องศักยภาพของเอไอและเทคโนโลยีอื่นๆ ในการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือสร้างอคติ มีคนพูดถึงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่มีใครพูดถึงคนที่ต้องเป็นผู้รับผิด รวมถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจำเป็นต้องอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องวิธีการสนับสนุนหรือท้าทายการตัดสินใจโดยอัลกอริธึมของเอไอ เช่น การให้บริการเงินกู้ บริการสุขภาพ การทำประกัน หรือการจ้างงาน เป็นต้น         เอไอเข้าครอบคลุมทุกพื้นที่         เราต่างก็รู้ดีถึงพลังของเอไอในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในแบบที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ แต่ระดับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและภาวะไร้การควบคุมทำให้เราต้อง เร่งกำหนดนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค         ในปี 2024 นี้ เราต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนว่ามีการลงมือทำอะไรไปแล้วบ้างและคิดหาวิธีที่ดีที่สุดในการใช้โอกาสอย่าง “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ซึ่งเราได้กำหนดหัวข้อเรื่อง “เอไอที่เป็นธรรมและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค” หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส รวมถึงการประชุม G20 ที่ริโอเดอจาเนโร เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสร้างการเปลี่ยนแปลง         ความพยายามด้านกฎหมายที่สำคัญ เช่น “พรบ. เอไอของสหภาพยุโรป” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ในปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และการสนับสนุนจากภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนในเรื่องแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภค         เราต่างก็ต้องการใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยี ถ้าเราทำอย่างรับผิดชอบ เจนเนอเรทีฟเอไอ สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมายโดยมีผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากไม่มีการพูดคุยหรือจำกัดขอบเขตของความเสี่ยงเหล่านี้ ผลที่ได้อาจต่างไปโดยสิ้นเชิง         เราต้องดูแลผู้บริโภคเดี๋ยวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 เอาใจสายเทรด

        ตอนนี้ขอเอาใจสายเทรดหุ้นกันบ้าง ว่าแต่มันคืออะไร มันก็เป็นการสร้างผลตอบแทนจากหุ้นรูปแบบหนึ่งที่ไม่เน้นการถือหุ้นระยะยาวและรอให้ราคาเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท แต่เน้นการจับจังหวะซื้อและขายหุ้น อ่านกราฟ เข้าใจจิตวิทยาการลงทุน แล้วก็ซื้อมา (ตอนราคาต่ำ) ขายไป (ตอนราคาสูง) ซึ่งราคาต่ำกับสูงนี่ก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคนเพราะแผนการเทรดไม่เหมือนกัน         ก็เหมือนเดิมนั่นแหละ คุณต้องรู้ตัวก่อนว่าคุณรักจะเทรดหุ้น มีเวลานั่งดู ศึกษา และวิเคราะห์กราฟ มีแผนการเทรดชัดเจน และและและต้องมีวินัย ข้อนี้ต้องมีเหมือนกันไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนแบบไหน นักเทรดบางคนถึงกับพูดว่า ‘วินัย’ คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ         สิ่งที่สายเทรดทุกคนต้องเสาะแสวงหาความรู้ชนิดขาดไม่ได้คือการทำความเข้าใจกราฟและอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อดูแนวโน้มของหุ้นที่จะลงมือเทรด หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แนวรับ-แนวต้าน ตลาดหมี ตลาดกระทิง กราฟแท่งเทียน เอลเลียตเวฟ และอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น         มีความรู้ที่ควรต้องมีแล้ว คุณก็ต้องกลับมาวางแผนการเทรดหุ้น หาจังหวะเข้าและออก เพราะถ้าเข้าสุ่มสี่สุ่มห้าคุณอาจต้องเจอคำว่า คนแพ้จ่ายรอบวง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจการบริหารเงินสดหรือสภาพคล่อง ไม่มีทางที่การเทรดทุกครั้งจะได้กำไร มันต้องมีวันที่ฟ้าไม่เข้าข้าง เกิดสงครามในอีกซีกโลก หรือแม้แต่อ่านกราฟผิดทำให้คุณขาดทุน ซึ่งคุณต้องรู้ตัวเองว่าคุณยอมรับการขาดทุนได้เท่าไหร่         โดยมากแล้วนักเทรดมักจะกำหนดผลขาดทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 5 เปอร์เซ็นต์ สมมติคุณเทรดหุ้นด้วยเงิน 100 บาท ถ้าหุ้นขึ้นคุณอาจปล่อยให้ let profit run หรือปล่อยให้หุ้นมันวิ่งไปเรื่อยๆ ตามแนวโน้มขาขึ้นของตลาด แต่เมื่อไหร่ที่เงินของคุณขาดทุนลงมาเหลือ 95 บาท ซึ่งก็คือผลขาดทุนที่คุณรับได้และกำหนดไว้ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ จุดนี้คุณต้อง cut loss หรือขายตัดขาดทุนซะตามแผนการเทรดที่วางไว้         อย่าคิดว่า ไม่เป็นไร ขอรออีกนิด เดี๋ยวมันคงเด้งกลับขึ้นมา งั้นซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ยไปก่อน หยุด! ห้ามเด็ดขาด เพราะคุณกำลังทำนอกแผนที่วางไว้ เมื่อถึงจุด cut loss ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องเงินต้นให้เสียหายน้อยที่สุด การเทรดนอกจากจะไม่กำไรทุกครั้งแล้ว ยังอาจขาดทุนหลายครั้งด้วย         ถ้าคุณไม่มีวินัยในการทำตามแผนการเทรด คุณอาจเสียเงินต้นจำนวนมาก การหวังว่าการเทรดครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เงินต้นที่เสียไปทั้งหมดกลับคืนมาพร้อมกำไรนั้นยากมากๆ ก็บอกแล้วว่าวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด         ดังนั้น ถามตัวเองว่าเหมาะกับทางนี้หรือไม่ ศึกษาการเทรดหุ้น วางแผนการเทรด บริหารเงินในมือให้ดี และจงมีวินัยกับแผนที่คุณสร้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ‘จัดการการเงินส่วนบุคคล’ ต้องวางแผนแบบภาพรวม

        พอถึงช่วยท้ายปี บรรดาธนาคาร บริษัทประกัน และบริษัทจัดการกองทุนฯ ก็ขึ้นโฆษณากันพรึ่บพรั่บให้เรารีบซื้อกองทุนรวม รีบซื้อประกันชีวิต เพื่อจะได้เอาไว้ลดหย่อนภาษี คนที่มีรายได้สูงพอต้องเสียภาษีเลยหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดด้วยการซื้อทุกสิ่งอย่างที่ได้รับการแนะนำ         ในแง่การจัดการการเงินส่วนบุคคลการวางแผนภาษีอย่างการลดหย่อนเป็นอะไรที่ต้องคิดคำนึง อันนี้เถียงไม่ได้         แต่ๆๆ อย่าลืมว่าการลดหย่อนภาษีไม่ใช่ทั้งหมองของการจัดการการเงินส่วนบุคคล         ทำไมต้องพูดเรื่องที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว? ก็เพราะบางคนหรือไม่รู้น่ะสิ         มีเคสตัวอย่างคนรู้จักที่จะเล่าสู่กันฟัง เขาเป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือนราว 1 แสนบาท เลยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเยอะ ด้วยความที่ไม่อยากเสียภาษีให้รัฐบาลเพราะไม่เชื่อว่าจะใช้เงินภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด         เขาจึงเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี เท่านั้นยังไม่พอ ยังซื้อประกันชีวิต แถมยังมีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ต้องฝากให้ครบกำหนดตามเงื่อนไขของธนาคารถึงจะได้ดอกเบี้ยเต็มๆ แบบไม่ต้องแบ่งให้รัฐ         ปัญหาก็คือพอสนใจแต่จะลดหย่อนภาษี ก็เลยใช้เงินไปกับเรื่องนี้เยอะเกินไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้เงินคืนในตอนท้ายก็เถอะ แต่กลายเป็นว่าสภาพคล่องในแต่ละเดือนต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไหนจะต้องส่งประกันชีวิต ส่งเงินฝากประจำ แล้วค่าใช้จ่ายเดิมก็มีอยู่แล้ว         บอกหลายครั้งแล้วว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ การมีเงินสดในมือเพียงพอสำหรับการจับจ่ายและรับมือเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ต้องจัดการให้ดี ยิ่งถ้าไม่มีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว สุดท้ายมันจะพาตัวเองไปสู่วงจรหนี้         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบมองภาพรวมทั้งหมด อย่าแยกออกมาเป็นเรื่องๆ จะลดหย่อนอย่างเดียวแบบกรณีนี้ก็พาลทำให้สภาพคล่องตึง แต่ถ้ามีเงินสดในมือมากเกินกว่าจำเป็นก็ลดโอกาสเพิ่มดอกผลอีก         ย้ำอีกที การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องวางแผนแบบภาพรวม มองทุกองค์ประกอบ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้แผนการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแบบของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 คุณภาพเน็ตมือถือถูกปรับลดในนามประโยชน์สาธารณะ

        ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดเสียงบ่นจนเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และสื่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือ ที่คุณภาพมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นั่นคือ ความเร็วลดลง มีภาวะเน็ตอืดช้าหรือใช้การไม่ได้ ไม่เฉพาะการใช้งานลักษณะเข้มข้นหรือหนักหน่วง แม้แต่การใช้งานบางเบาอย่างการส่งข้อความทางไลน์ การใช้งานเฟซบุ๊ก ก็ยังมีความติดขัดหรือไม่อาจทำได้         คำอธิบายหรือข้ออ้างจากเอกชนผู้ให้บริการทั้งหลาย รวมถึงองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ประเภทที่ว่า คุณภาพที่ลดลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติจากปัจจัยหลากหลาย เช่น เรื่องของปริมาณการใช้งานรวมในบางช่วงบางเวลาและบางพื้นที่มีความหนาแน่นเกินกว่าความจุโครงข่าย หรือ capacity  ปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือรายการส่งเสริมการขายที่เลือกใช้ ฯลฯ ดูเหมือนจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากข้อมูลและเสียงสะท้อนของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่า คุณภาพ “เน็ตมือถือ” ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางลบนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งเชิงพื้นที่และเครือข่ายที่ให้บริการ (เอกชนทุกราย) อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ         อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่อาจพิสูจน์เองได้ง่ายๆ ในขณะที่ กสทช. ตอบสนองล่าช้าและยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางพิสูจน์ความจริงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำเพียงมอบหมายคณะอนุกรรมการตรวจสอบบ้าง ให้เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามาบ้าง ประเด็นปัญหานี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ประชาชนได้แต่ “บ่นหาย” ยังไม่มีแววว่าจะเกิดมรรคผลและทางออกใดตามมา การบ่นได้แต่ซาลงตามกาลเวลาที่ล่วงไป         แต่ที่จริงแล้ว ความจริงส่วนหนึ่งได้ปรากฏชัดผ่านเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. ได้รับ เนื่องจากในหนังสือตอบของบริษัทผู้ให้บริการต่อกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมีการยอมรับว่าทางบริษัทได้มีการปรับลดความเร็วอินเทอร์เน็ตลง อันเนื่องมาจากการพบว่าผู้ร้องเรียนมีการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าการใช้งานแบบ BitTorrent ตลอดจนมีการแชร์อินเทอร์เน็ตในลักษณะเป็นจุดให้บริการ หรือ Hotspot และ/หรือการใช้งานในเชิงพาณิชย์         บริษัทอ้างว่า การกระทำของบริษัทในเรื่องการปรับลดความเร็วเป็นไปตาม “นโยบายการจัดการบริหารเครือข่ายตามความเหมาะสม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของบริการและเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการโดยรวมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ         นโยบายที่ว่านี้ หรือที่เรียกว่า FUP อันย่อมาจาก Fair Usage Policy คือมาตรการสากลที่ผู้ให้บริการมือถือในระดับโลกต่างก็นำมาใช้กัน นัยว่าเพื่อเป็นการรักษามาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในภาพรวมและป้องกันการใช้งานผิดประเภท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่การใช้งานของผู้ใช้คนอื่นในช่องสัญญาณนั้นๆ เปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพคือ เสมือนการใช้สัญญาณ Wi-Fi ภายในบ้านที่มีผู้เชื่อมต่อหลายคน หากมีคนหนึ่งคนใดดาวน์โหลด BitTorrent ขึ้นมา ก็จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดในบ้านนั้น ถูกดึงไปให้ผู้ใช้คนนั้น ทำให้คนที่เหลือได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วลดลง         ในหมู่ผู้ใช้เน็ตมือถือไทยรู้จักกับ FUP กันมานานแล้ว ซึ่งบังเอิญออกเสียงที่ให้ความหมายแบบไทยได้ตรงตามเรื่องว่า “ฟุบ” พอดิบพอดี โดยในการใช้งานเน็ตมือถือระยะแรกๆ รายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือแบบมีอินเทอร์เน็ตเกือบทั้งหมดที่นำเสนอขายในฐานะ “เน็ตไม่อั้น” มักจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ติดฟุบ” พ่วงควบมาด้วย กล่าวคือ ในแต่ละเดือน เมื่อใช้งานเน็ต ณ ความเร็วตามที่กำหนด (หน่วยนับคือ Mbps-Megabit per second หรือ Kbps-Kilobit per second) ไปจนครบจำนวนดาต้า (data) ที่ตกลงกันไว้ เช่น 1GB ทางบริษัทผู้ให้บริการก็จะจัดการปรับลดความเร็วในส่วนการให้บริการของผู้ใช้แต่ละรายลง         ปัญหาของ FUP ในยุคแรกคือ เน็ตที่ว่าใช้ได้ “ไม่อั้น” แท้จริงแล้วแทบไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากระดับของความเร็วที่ปรับลดลงมักต่ำเตี้ยจนกระทั่งแทบใช้งานไม่ได้ ต่างกับ FUP ในต่างประเทศที่ลดแบบอยู่ในระดับมาตรฐาน         ปัญหาเรื่อง FUP-ฟุบ ในระลอกนั้นคลี่คลายลงบ้างเมื่อ กสทช. มีการกำกับความเร็วขั้นต่ำของ FUP ผ่านการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาบรรเทาลงดูจะมาจากพัฒนาการของเทคโนโลยีมากกว่า         จุดเปลี่ยนที่ทำ FUP-ฟุบ ค่อนข้างลดบทบาทลงเกิดขึ้นหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G เมื่อปลายปี 2558 โดยบรรดาค่ายมือถือพากันออกรายการส่งเสริมการขายที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตในปริมาณที่มากขึ้น เช่นสูงถึง 80 GB รายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจประเภท “เน็ตเต็มสปีด” หรือ “เน็ตไม่มี FUP” จึงเกิดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ควรเรียกเช่นนั้น เนื่องจากความหมายจริงคือ รายการส่งเสริมการขายในยุคนี้เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดปริมาณการใช้งานเป็นหลัก ส่วนเรื่องความเร็วก็จะมีการกำหนดรับรองไว้ว่ารายการส่งเสริมการขายนั้นๆ จะได้ความเร็วสูงสุดเท่าไร         ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ปัญหาคุณภาพบริการที่ผู้ใช้บริการมักจะประสบจึงเป็นเรื่องของการได้รับความเร็วที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือตามที่ได้โฆษณาไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ FUP แต่อย่างใด         อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนค่ายมือถือกลับมาอ้างและใช้ FUP-ฟุบ อีกครั้ง ทั้งที่ข้อกำหนดของรายการส่งเสริมการขายระบุชัดเจนว่า เป็นประเภท “ไม่ลดสปีด” จึงเป็นการทำผิดสัญญาอย่างแน่ชัด ส่วนว่าเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์         ที่สำคัญคือ เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการควบรวมของสองค่ายมือถือ และเป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่สังคมตั้งขึ้นด้วยความคลางแคลงว่า ใช่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นให้ผู้บริโภคต้องแบกรับหรือไม่ ในขณะที่เอกชนได้ประโยชน์กันไปเรียบร้อยตามประสงค์         คำถามนี้เกิดขึ้นมาข้ามปีแล้ว และ กสทช. ยังไม่ได้ตอบด้วยประจักษ์หลักฐานให้กระจ่าง พร้อมๆ กับวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ที่ยิ่งเพิ่มขึ้นกับกาลเวลาที่ผ่านไป

อ่านเพิ่มเติม >