ฉบับที่ 195 Lemon Law กฎหมายมะนาว กับ รถใหม่เจ้าปัญหา

ข่าวรถใหม่ป้ายแดง มีปัญหาซ่อมแล้วซ่อมอีก จนผู้บริโภคต้องออกมาประท้วงบริษัทรถยนต์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทุบรถ ติดป้ายประจาน เอาควายมาลาก ฯลฯ ยังคงมีปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2560 ก็เพิ่งมีข่าว “เศรษฐีนีชาวขอนแก่น เดือด ซื้อรถหรูป้ายแดงแต่ซ่อมไม่เลิก เลยเอาต้นไม้ไปปลูกบนรถประชดหน้าบริษัท” ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า กลไกการแก้ไขปัญหาในระบบปกติ เช่น การเจรจาให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบ เอารถเข้าไปซ่อมครั้งแล้วครั้งเล่า การร้องเรียนกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ หรือแม้แต่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มันไม่ Work ผู้บริโภคเหล่านี้จึงเลือกใช้วิธีการออกมาหาความยุติธรรมที่ข้างถนน มาฟ้องสื่อ ฟ้องสังคม ฟ้อง Social Media  เพราะดูแล้วจะได้ผลรวดเร็วกว่า การใช้พลังทางสังคมเข้าไปกดดัน (Social Sanction) เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น หลายกรณี เมื่อสังคมให้ความสนใจ จับตามอง ก็ได้รับการดูแลแก้ไขอย่างรวดเร็ว แต่ทางเลือกนี้ก็มิได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะต้องใช้พลังอย่างมากในการต่อสู้เพื่อให้เป็นข่าว และที่สำคัญ มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นราย ๆ ไป เคลียร์รายนี้ได้ เดี๋ยวก็มีรายใหม่โผล่มาอีก ตราบใดที่ยังไม่ปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาในช่องทางปกติให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และเข้าถึงได้โดยสะดวก หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาเชิงระบบที่องค์กรผู้บริโภคพยายามผลักดันกันมาโดยตลอดก็คือ “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายนี้ ก็คือ สินค้าใหม่ทุกชนิด ที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากพบว่ามีความเสียหาย ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือไม่เป็นไปไปตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ถ้าหากซ่อมเกิน 2 ครั้งแล้ว ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสิทธินี้ยังรวมถึงผู้เช่าซื้อด้วย เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์  ที่ถึงแม้จะยังผ่อนไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ แต่ไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อ ก็ต้องให้สิทธินี้แก่ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าซ่อมแซม หรือเปลี่ยนสินค้า ถ้าของที่เช่าซื้อมาเกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งกฎหมายนี้ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางออก ไม่ต้องดิ้นรน คิดหาวิธีประท้วงแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสังคมและสื่อพูดถึง “กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” นี้  ในแวดวงคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มักจะเรียกทับศัพท์ตามอย่างฝรั่งว่า “Lemon Law” ซึ่งฟังดูแล้วก็ชวนให้สงสัยว่า สินค้าใหม่ที่มันชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ รถใหม่ป้ายแดงที่มันซ่อมแล้วซ่อมอีก มันเกี่ยวข้องยังไงกับมะนาว เรื่องนี้ มีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจาก “Joke ตลกร้าย” ที่พูดถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ ไว้ว่า “สวรรค์ของคนยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนได้กินอาหารที่ปรุงโดย เชฟชาวฝรั่งเศส เพราะคนฝรั่งเศสนั้นพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน ขับรถยนต์ที่สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน รถหรูยอดนิยมยี่ห้อ Benz , BMW นั้นก็สัญชาติเยอรมัน มีตำรวจอังกฤษคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มีคนรักเป็นชาวอิตาเลียน และมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างที่ว่ามา ส่วนนรกของชาวยุโรป ก็คือ ที่ที่ทุกคนต้องกินอาหารอังกฤษ ใช้รถยนต์ฝรั่งเศส มีตำรวจเป็นชาวเยอรมัน มีคนรักชาวสวิส และบริหารทุกสิ่งอย่างโดยชาวอิตาเลียน JOKE นี้ ก็สะท้อนว่า ในสายตาชาวตะวันตก รถยนต์ที่แย่ ก็คือ รถจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งรถยนต์ยี่ห้อดังของฝรั่งเศสก็คือ “ซีตรอง” (Citroen) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “มะนาว” ส่วนเหตุที่นาย อังเดร ซีตรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท ตั้งชื่อยี่ห้อรถยนต์ว่า “Citroen” ก็เพราะว่า ต้นตระกูล ปู่ของเขาสร้างฐานะมาจากการค้าขายมะนาว จึงตั้งชื่อสกุลตามธุรกิจที่ทำ ดังนั้น พอรุ่นหลานมาสร้างธุรกิจผลิตรถยนต์ก็เลยเอาชื่อสกุล “ซีตรอง” มาตั้งเป็นยี่ห้อรถยนต์ พอคนอเมริกันออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าใหม่ที่บกพร่องหรือรถใหม่ป้ายแดงที่มีตำหนิ ผู้คนก็เลยนึกถึง รถ Citroen (Lemon) ของชาวฝรั่งเศส จึงพากันเรียกกฎหมายดังกล่าวด้วยชื่อเล่น ว่า Lemon Law  เรื่องนี้ จริงเท็จประการใด ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเป็นแค่ เรื่องเล่าอำกันเล่นๆ ของฝรั่งก็เป็นได้ เพราะรถยนต์ Citroen จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยี ล้ำสมัยมากยี่ห้อหนึ่งส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง คาดว่า “Lemon” นี้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษ ในความหมายที่ว่า “แสบ แย่” ซึ่งน่าจะมาจากรสชาติที่เปรี้ยวจี๊ด ของมะนาว ดังที่มีสำนวนว่า “when life gives you lemons , make lemonade” และก็มีการนำมาใช้ในแวดวงรถยนต์ ในความหมายที่ว่า “เอาของไม่ดี มาหลอกขายว่าเป็นของดี” ถ้าเป็นสำนวนแบบไทย ๆ ก็ต้องพูดว่า “ย้อมแมวขาย” ซึ่งมีที่มาจาก คนไทยสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดี โดยดูจากสีขน จุดแต้ม ตามส่วนต่าง ๆ บนตัวแมว เพราะเชื่อว่า แมวพวกนี้จะให้คุณ ให้โชค แต่แมวที่มีลักษณะดีก็ใช่ว่าจะหากันง่าย ๆ จึงมีพวกคิดไม่ซื่อ ไปจับแมวทั่วๆ ไปมาย้อมสี แต่งแต้ม ให้ดูเหมือนแมวตามตำรา แล้วเอาไปหลอกขายคนซื้อ  ดู ๆ แล้วเรื่อง “คนใจคด หากินไม่สุจริต” นี่เห็นจะมีเหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษา และมีเหมือนกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่จะไม่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ ต่างชาติเขาคิดแก้ไข พัฒนากฎหมาย ป้องกันปัญหา คุ้มครองคนของเขาไม่ให้ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว แต่ไทยเรายังไปไม่ถึงไหน ปล่อยให้พวก นักขายจอมกะล่อน ปลิ้นปล่อน กลมกลิ้งเป็นลูกมะนาว หากินเอาเปรียบผู้คนอยู่จนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (1)

“ ... การกู้ยืมนั้น โดยปกติผู้กู้ต้องการทุน เมื่อได้ทุนแล้วไปประกอบกิจการอันใดอันหนึ่งมีผลงอกงามขึ้น ก็แบ่งผลนั้นใช้เป็นดอกเบี้ยบ้าง เหลือรวบรวมไว้เพื่อใช้หนี้ทุนต่อไป ดังนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยเป็นค่าป่วยการ และมีโอกาสที่จะได้รับใช้ทุนคืนในภายหลัง แต่ถ้าดอกเบี้ยเรียกแรงเกินไปแล้ว ลูกหนี้ได้ผลไม่พอที่จะใช้ดอกเบี้ยได้ ย่อมต้องย่อยยับไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย...”(ส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์ คณะกรรมการราษฎร เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475  เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รัฐจึงต้องควบคุม ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และถ้าฝ่าฝืนนอกจากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังจะมีโทษทางอาญาอีกด้วย ล่าสุด ได้มีการปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560)หลังจากกฎหมายฉบับแรกใช้มา 80 กว่าปีตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง   สาระสำคัญของกฎหมายยังคงเดิม คือ ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืน มีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ ที่แก้ไขปรับปรุงคือ เพิ่มโทษให้หนักขึ้น จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนโทษปรับจากเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพิ่มเป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้เรียกเก็บได้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าคิดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีสิทธิคิดดอกแม้แต่บาทเดียว  บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวิชัย หรืออาบัง ถ้าปล่อยเงินกู้ มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี หรือ 5 สลึงต่อเดือน แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้นอกระบบพวกนี้ จะคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 240 ต่อปี เรียกว่าเป็นการขูดเลือดขูดเนื้อลูกหนี้อย่างแสนสาหัส กฎหมายน่ารู้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์          มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี...”          คำพิพากษาฎีกา ที่ 567/2536 เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้อัตราร้อย 19.5 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ข้อกำหนด อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญา แล้วถ้าเกิดลูกหนี้ไม่รู้ข้อกฎหมาย เอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินอัตราให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วจะทำอย่างไร จะเรียกเงินคืนได้ไหม หรือ เอาดอกเบี้ยไปหักกับต้นเงินได้รึเปล่า  อันนี้บอกเลยว่า “เสียใจ จ่ายแล้วจ่ายเลย เรียกคืนไม่ได้” เพราะศาลถือว่าเป็น  การชำระหนี้โดยสมัครใจ จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้  ...แต่ข่าวดี คือตอนนี้คุณรู้แล้วนะว่า เจ้าหนี้ทั่วไป คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้น ต่อไป คุณจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดกฎหมายส่วนนี้  ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะมีประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพเศรษฐกิจฉบับหน้ามาลงรายละเอียดกันครับว่า เจ้าหนี้สถาบันการเงินแต่ละประเภทมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และคุณจะจัดการอย่างไร ถ้าพบว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 6 ข้อ ควรรู้ และเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนใช้ “พร้อมเพย์ - PromptPay

ข้อ 1 พร้อมเพย์ PromptPay คือ ทางเลือกในการรับ - โอนเงินรูปแบบใหม่ ใช้แค่หมายเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ไม่จำเป็นต้องรู้หมายเลขบัญชีธนาคาร ก็สามารถรับ – โอนเงินได้แล้ว ซึ่งถ้าคุณมีธุรกรรมที่ต้องรับเงินโอนเข้าบัญชีบ่อย ๆ เช่น ขายของออนไลน์ การมี “พร้อมเพย์” ก็จะช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินได้สะดวกขึ้น เพราะจำแค่หมายเลขโทรศัพท์ชุดเดียว ไม่ต้องใช้หมายเลขบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ ยังเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงินถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินข้ามจังหวัด หรือต่างธนาคาร  มูลค่าการโอน/รายการ ค่าธรรมเนียม/รายการ ไม่เกิน 5,000 บาท ฟรี 5,000 – 30,000 บาท ไม่เกิน 2 บาท 30,000 – 100,000 บาท ไม่เกิน 5 บาท 100,000 – วงเงินสูงสุดที่แต่ละธนาคารกำหนดให้โอนได้ ไม่เกิน 10 บาท ถ้าคุณไม่มีธุระต้องรอรับเงินโอนจากใคร คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์ก็ได้ เพราะถึงยังไงคุณก็ยังสามารถโอนเงินไปให้ปลายทางที่เขาใช้บริการพร้อมเพย์ได้อยู่ดีข้อ 2 จะรับเงินโอนผ่านพร้อมเพย์ได้ คุณต้องไปลงทะเบียนก่อน โดยหนึ่งบัญชีเงินฝากจะผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างก็ได้ หรือ ถ้าคุณมีโทรศัพท์หลายเครื่องแล้วต้องการให้ทุกเลขหมายโอนเงินเข้ามาที่บัญชีเดียวกันก็สามารถทำได้ แต่หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขประจำตัวประชาชนที่ลงทะเบียนผูกไว้กับบัญชีใดแล้ว จะไปลงทะเบียนผูกกับบัญชีเงินฝากอื่นอีกไม่ได้ สรุปว่า “หนึ่งบัญชีผูกได้หลายเบอร์ แต่เบอร์หนึ่งผูกได้บัญชีเดียว”ข้อ 3 หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่จะนำมาลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้น ใช้ได้ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน แต่สำหรับแบบเติมเงินคุณจะต้องลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อยืนยันตัวตนกับทางค่ายมือถือให้เรียบร้อยเสียก่อนข้อ 4 เมื่อต้องโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ให้ตรวจสอบ ชื่อ-สกุล ของผู้รับโอนปลายทางให้ถูกต้อง ตรงกันทุกครั้ง ถ้ามีปัญหาโอนเงินแล้วปลายทางไม่ได้รับ ให้รีบติดต่อธนาคารต้นทางเพื่อตรวจสอบข้อ 5 การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ – สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รับโอนทุกครั้ง แต่ไม่ต้องกังวลว่า ถ้ามีคนรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้วจะเอาไปใช้โอนเงินออกจากบัญชีของคุณได้ เพราะระบบพร้อมเพย์เน้นการรับเงินโอนเป็นหลัก ส่วนการเบิกถอนเงินออกจากบัญชียังต้องใช้ระบบเดิมอยู่ คือ ถ้าเบิกเงินที่ธนาคาร ก็ต้องมีสมุดบัญชี และลายเซ็นเจ้าของบัญชี ถ้าใช้บัตร ATM ก็ต้องมี รหัสบัตร ATM ที่ถูกต้อง หรือถ้าใช้ Mobile Banking ก็ต้องมี User name กับ Password ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ เบอร์โทรศัพท์ และ บัตรประชาชนข้อ 6 อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักรู้ว่า “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความเสี่ยง” เมื่อเราเอาเบอร์โทรศัพท์มือถือ หรือ เลขประจำตัวประชาชนไปผูกกับบัญชีเงินฝาก ดังนั้น การตั้งรหัสผ่าน(Password) จะต้องรัดกุม รอบคอบ หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อ บ้านเลขที่ วันเดือนปีเกิด เพราะมันง่ายที่จะเดา ทางที่ดีจึงควรเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ ๆ และไม่ควรให้บุคคลอื่นเอาโทรศัพท์ของเราไปใช้ เพราะเท่ากับคุณให้เขาเอากระเป๋าสตางค์ไปถือไว้ในมือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 อวสานรถตู้ 2562 ทำจริงหรือแค่ขู่ ???

สลดรับปีใหม่ 2 มกราคม 2560 อุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี-กรุงเทพ คันหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพุ่งข้ามถนนชนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน 1ฒณ 2483 กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณทางหลวงสาย 344 กม.26 ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุรวม 25 คน และบาดเจ็บ 2 คนเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนกลับไปในปี 2559 จะพบว่า มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารไฟไหม้ถึง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 20 ราย บาดเจ็บรวม 17 รายจากความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้ นำไปสู่การออกมาตรการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคมชนิดไม่มีใครตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง กับการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพ - ต่างจังหวัด และหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จำนวน 6,341 คัน เป็นรถไมโครบัส เริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้ครบทุกคันภายในปี 2560รวมถึงการออกประกาศเพิ่มเติมของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ที่ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถก่อนการตรวจสภาพรถเพื่อต่ออายุทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่บังคับให้รถตู้โดยสารร่วมให้บริการกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องติดตั้ง GPS Tracking ให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐประกาศผ่านสื่อว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะอย่างเด็ดขาดจริงจังแต่หากยังจำกันได้ ปัญหารถตู้โดยสารไม่ได้เพิ่งจะมาแก้ไขเอาในรัฐบาลชุดนี้ ในอดีตอย่างน้อย 2 รัฐบาล ล้วนเคยพยายามที่จะจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางมาแล้ว ปี 2553 ยุคนายโสภณ ซารัมย์ เป็น รมว.คมนาคม ได้ออกนโยบายมุ่งแก้ปัญหารถตู้ผิดกฎหมายด้วยการนำรถตู้ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบปี 2556 ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็น รมว.คมนาคม มุ่งเน้นการปราบรถตู้เถื่อน การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและเริ่มแนวคิดการติดตั้ง GPS ในรถโดยสารสาธารณะ ปี 2557 รัฐบาล คสช หันมาจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางด้วยการดึงรถตู้ผิดกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมากให้เข้าสู่ระบบอีกครั้งจากความพยายามในอดีตจะเห็นได้ว่า การจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารทั้งที่ถูกกฎหมายและรถผิดกฎหมายหรือรถผีรถเถื่อนนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศชัดเจนว่าจะทยอยยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดภายในปี 2562 นั้น ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบว่าจะทำได้แค่ไหนหากดูจากจำนวนปริมาณรถตู้โดยสารทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบกมากถึง 16,002 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรถเพียงคันเดียว และไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเปลี่ยนรถไมโครบัสที่มีราคาสูงกว่ารถตู้ถึง 2 เท่า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐ นอกจากนี้หากเจาะลึกลงในธุรกิจรถตู้โดยสารประจำทางก็จะพบว่า มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล หรือคนในเครื่องแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการประกาศยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดไปภายในปี 2562 จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้จริงแม้ตอนนี้ที่ทุกฝ่ายเหมือนจะยอมรับกันได้แล้วว่า สภาพโครงสร้างของรถตู้โดยสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมในการนำมารับขนคนโดยสาร ไม่ว่าประตูทางเข้าออกมีทางเดียว ประตูฉุกเฉินด้านหลังใช้ไม่ได้ กระจกมีขนาดเล็ก ติดตั้งถังก๊าซ เพิ่มจำนวนที่นั่ง ฯลฯ ซึ่งการการกำจัดจุดอ่อนอย่างรถตู้โดยสารประจำทางเป็นรถไมโครบัสอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบด้านความปลอดภัยที่ทุกคนถามหา หากกฎกติกายังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ความสูญเสียที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปต่อจากนี้คงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามว่าปัญหารถตู้โดยสารจะหมดไปภายในปี 2562 จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการขู่ดังๆให้ทุกฝ่ายรู้สึกตัวว่าต่อจากนี้จะเอาจริงแล้วนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 อุบัติเหตุรถโดยสารมากสุดปี 2559 รถตู้ครองแชมป์

นี่คือยุคของ “รถตู้โดยสารสาธารณะ”  ที่ทุกวันนี้กลายเป็นพาหนะเดินทางที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด รถตู้กลายเป็นรถประจำทางในเกือบทุกเส้นทางรอบกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเส้นทางระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามความสะดวกสบายจากทางเลือกใหม่นี้ ไม่ได้มาพร้อมกับความปลอดภัย เมื่อดูจากสถิติจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ หรือสภาพของรถตู้โดยสารบางคันที่ไม่เหมาะจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ หรือรถตู้เถื่อนที่แอบวิ่งรับส่งคน ในเส้นทางที่มีระยะทางไกลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร ” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากถึง  215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน  บาดเจ็บ  1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน  มีผู้เสียชีวิต  103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน  สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่  และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต เกิดขึ้นจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับดังนี้ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง  มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน   รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7คน  และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน (ปัจจุบันมีรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559  จำนวน 156,089 คัน   โดยเป็นรถตู้โดยสารจำนวน  41,202 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน)สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ และถนน  เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่  โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในรถตู้โดยสารและรถโดยสารสองชั้น  รูปแบบถนนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร  ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ ฯลฯ  และแม้ว่า กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในช่วงปี 2558  ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้   ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  การบรรทุกผู้โดยสารเกิน  โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง  ซึ่งสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันที่ยังพบปัญหาลักษณะดังกล่าวอยู่  จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค  การละเลยเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ และการขาดความต่อเนื่องในการกำกับดูแลของรัฐที่จริงจัง ชัดเจน ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการตื่นตัว แต่พอไม่นานเรื่องก็ซาไป โจทก์จึงอยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบเพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >