ฉบับที่ 160 เคล็ด(ไม่)ลับ เลือกแฟรนไชส์อย่างไร ให้ไปรอด

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าการเริ่มทำธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเองทุกอย่าง คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งทั้งหมดด้วยตนเอง ลองผิด-ลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสูตรสำเร็จ บางคนโชคดีหน่อยใช้ระยะเวลาค้นหาไม่นานนัก แต่ส่วนใหญ่จนเงินทุนหมดไปแล้วก็ยังไม่พบคำตอบเสียที “ธุรกิจแฟรนไชส์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งระบบธุรกิจทางเลือกที่เหมาะกับการลงทุนเป็นเจ้าของในยุคนี้ ที่ผมอยากนำเสนอให้ลองพิจารณา เพราะด้วยระบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้า หรืองานบริการ ที่มาพร้อมด้วยสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า การตลาดที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นแบบแผน มีการอบรมพนักงาน ให้คำปรึกษาและแนะแนวความรู้ อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีคนเคยศึกษาตัวเลขพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของคนที่เริ่มทำธุรกิจมักจะทยอยปิดตัวลง หากทุนไม่หนา ประสบการณ์ไม่มากพอ ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในวงการนี้ยาก แม้จะเดินตามแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแนวทางมาให้แล้วเสร็จสรรพก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น  คนเป็นแฟรนไชส์ก็ต้องลงมือทำธุรกิจเองอย่างตั้งใจ ผลกำไรหรือยอดขาย จะอยู่ที่ความเอาใจใส่ของเจ้าของร้าน และการทำตามข้อแนะนำ วิธีการที่ผ่านความสำเร็จมาแล้ว ความนิยมเปิดร้านแฟรนไชส์ที่มีมากขึ้นทำให้ปัจจุบัน มีแฟรนไชส์เปิดใหม่มากกว่า 80,000 แห่งต่อปี และธุรกิจนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-25 % จากแฟรนไชส์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ปะปนกันไป เคล็ด(ไม่)ลับของการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ให้ผิดหวังนั้นทำได้ง่ายๆ จากคำแนะนำของคุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ที่ได้ให้ไว้ในการสัมมนา “Franchise Guide 2014  แนะทางรวยด้วยธุรกิจแฟรนไชส์” ดังนี้ 1. ดูอายุของธุรกิจว่าเปิดมานานแค่ไหนแล้ว ถ้า 5 ปีขึ้นไปถือว่ามีประสบการณ์ ลองผิด – ลองถูก มากพอที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวทางการทำกำไรให้เราได้ 2. เป็นกิจการที่มีกำไร มีร้านสาขา ส่วนใหญ่สามารถทำกำไรได้ 3. มีสาขาอยู่แล้วหลายแห่ง แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการสาขา 4. มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำตลาด บริษัทแม่ทุ่มเทในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อร้านแฟรนไชส์ซี่ด้วย 5. มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก แฟรนไชส์ที่ดีควรมีการสร้างแบรนด์และมีฐานทางการตลาดอยู่แล้ว จะทำให้เมื่อเปิดร้านขึ้นมาจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทันที  แตกต่างจากการที่เราต้องสร้างแบรนด์เองเพราะต้องใช้ระยะเวลานาน 6. เป็นธุรกิจที่มีตลาดกว้าง สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่และมีการซื้อซ้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงกับการทำธุรกิจที่ยาวนาน เช่นธุรกิจอาหาร, บริการด้านสุขภาพ-ความงาม, สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นต้น 7. มีระบบงานที่ทันสมัย เช่น มีคู่มือการทำงานที่ดี มีระบบบัญชี มีเทคโนโลยีและให้การฝึกอบรมเจ้าของร้านและพนักงาน เป็นต้น 8. มี ผู้บริหารที่มีความสามารถ เพราะการขยายแฟรนไชส์เป็นการบริหารจัดการขนาดใหญ่ เจ้าของจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการต่างๆ ให้บรรลุผล 9. มีทีมงานสนับสนุน แฟรนไชส์ที่ดีควรให้การสนับสนุนเพื่อช่วยเริ่มกิจการและทำให้ร้านดำเนินงานได้ต่อเนื่อง 10. การสำรวจร้านที่มีอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด สำหรับตัดสินใจ 11. มีกำไรเพียงพอเพราะแฟรนไชส์จะมีต้นทุนจากการขายที่ต้องแบ่งให้บริษัทแม่ด้วย 12. มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง บริษัทแม่ที่ดีจะต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดเวลา เพื่อเอาชนะการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง สำหรับท่านผู้บริโภคที่ต้องการผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการดูบ้าง ลองนำเอาเทคนิคง่ายๆ 12 ข้อนี้ไปใช้ก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้นะครับ   เพราะนอกจากจะทำให้ท่านกลายเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ท่านยังจะรู้จักและเข้าใจในชีวิตอีกบทบาทหนึ่งมากขึ้นด้วย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 เถ้าแก่ร้านค้าออนไลน์ ต้องมุ่งคุ้มครองผู้ซื้อ

ใครหลายๆคนที่กำลังสนใจอยากมีกิจการเป็นของตนเอง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ บนโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองอย่างดีสำหรับ “เถ้าแก่ยุคใหม่”ทั้งหลายนะครับ.. เพราะไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ ตกแต่งร้าน หรือแม้กระทั่งนั่งเฝ้าหน้าร้านกันขโมยตลอดเวลา ก็สามารถเปิดร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มาก เริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจง่าย ๆ เลย คือคุณอยากรู้ว่าจะขายอะไร พร้อมเตรียมเงินลงทุนในกระเป๋าไม่กี่พันบาท และคุณใส่ใจเรื่องของอินเทอร์เน็ต อยากมีหน้าเว็บไซต์เป็นของตนเองที่เหล่าบรรดานักพัฒนาทั่วโลกได้เขียนขึ้นในรูปแบบของการทำเว็บไซต์สำเร็จรูปมาให้คุณเลือกใช้ (Content Management System:CMS) ที่สามารถใส่เนื้อหา ข้อความง่ายๆ, ภาพถ่าย, เพลง, วิดีโอ, หรือเอกสาร โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้โค๊ดเฉพาะยากๆเหมือนในอดีต สมัยนี้การจดทะเบียนประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำได้สะดวก ในไทยเองก็มีจำนวนผู้จดทะเบียนไปแล้วประมาณ 8,000 ราย เป็นแบบบุคคลธรรมดา  5,000 ราย เป็นนิติบุคคล 3,000 ราย ซึ่งผู้ประกอบการ 1 รายอาจมีเว็ปไซต์ได้มากกว่า 1 เว็ปไซต์ ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเป็นเถ้าแก่บนโลกออนไลน์ อย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะก็ นอกจากเรื่องการวางแผนธุรกิจแล้วคุณก็ต้องมีการ ตั้งชื่อให้ร้านของคุณ โดเมนเนม (Domain name) หรือ ชื่อเว็บไซต์ เป็นตัวตนของร้านที่จำเป็นต่อการสร้างแบรนด์คุณให้ติดตา แก่บรรดาขาช้อปในโลกออนไลน์ มีชื่อร้านแล้ว...รายละเอียดของสินค้า หรือ Content ข้อมูลต้องมีการระบุให้ละเอียด ชนิดที่ลูกค้าที่มาใช้บริการอ่านปุ๊ป แล้วทราบข้อมูลและการบริการ ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด มีการเชื่อมโยงหน้า หรือทำ Link ให้ง่ายต่อการค้นหา แม้ธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ดูจะสดใสเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่ทว่าก็ยังมีเรื่องที่ต้องพึงระมัดระวังในการทำธุรกิจอย่างยิ่งยวด นั่นคือเรื่องข้อกฏหมายและเรื่องการดูแลคุ้มครองผู้ซื้อ ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์,กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามเถ้าแก่หน้าใหม่ทั้งหลาย หากคิดจะค้าขายทางนี้ ก็ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือบกพร่อง รับประกันสินค้าให้ตรงตามสรรพคุณที่โฆษณา และมีบริการหลังการขายที่ดีพอ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง แล้วคุณจะได้ความพึงพอใจจากลูกค้า และการไว้วางใจ ที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าหรือบอกต่อให้ญาติสนิท มิตรสหาย มาซื้อสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ของคุณ เรียกว่าต้องคำนึกถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักสำคัญเลยทีเดียว ผมอยากให้เถ้าแก่หน้าใหม่ มาจับจองเปิดพื้นที่ร้านค้าออนไลน์กันให้มากๆ เพราะคุณจะได้ลูกค้าคนไทยกว่า 73% หรือ 25.1 ล้านคน ที่มีปริมาณการใช้งานค้นหากว่า 19 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับเถ้าแก่ที่กำลังหาลูกค้า และถ้ามองให้กว้างไปอีกนิดในเอเชียมีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 1.76 พันล้านคน และทั่วโลกกว่า 2.4 พันล้านคน ถือเป็นการวางแผนธุรกิจที่สร้างรายได้ให้คุณได้ง่ายๆ และนอกจากผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่จะมีรายได้เติบโต เศรษฐกิจในประเทศเติบโต และยังทำให้การค้าประเทศชาติเติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 148 คำถามสำคัญก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

คำถามที่ผู้เขียนได้รับเป็นประจำเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับนักวิ่ง และนักออกกำลังกายต่างๆ   ไม่น้อยไปกว่ารายละเอียดการบริโภคเมนูอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์  ก็คือ “อาหารเสริม  หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวนั้น , ตัวนี้   เป็นประโยชน์จริงหรือไม่?” ถือผู้ถามอยากรู้ว่า   ถ้ามีประโยชน์จริง   จะได้ซื้อกิน   จึงอยากถามความเห็นผู้เขียน ในแง่มุมของผู้เขียน   การที่ผู้ถามเลือกที่จะถามเรา   รู้สึกตัวเองเป็นตรายาง  รับประกันผลิตภัณฑ์   ถ้าพูดอย่างไรไป  หรือตอบไปในทิศทางไหน   อาจถูกตำหนิได้ง่ายๆ  จากช่องโหว่ของคำแนะนำ   ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทั้งๆ ที่ใครก็ตามที่จะสามารถกล่าวคำแนะนำอย่างนี้ได้   ต้องเข้าถึงองค์ความรู้รอบด้าน   ไม่เพียงแต่ต้องติดตามรับรู้ผลวิจัยโภชนาการและเภสัชวิทยาใหม่ๆ เท่านั้น   แต่ยังต้องติดตามกระแสสังคม  และไหวทันเล่ห์กลของบริษัทการค้าให้ทันด้วย ที่ผมยอมรับว่า   สุดวิสัยที่จะทำได้   มันเป็นการยากมากที่ผู้บริโภคปัจเจก หรือ  Exercises Instructor  คนหนึ่งที่มีเครื่องมือแค่อินเตอร์เน็ต  จะไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หากินกับผลิตภัณฑ์คาบเกี่ยวระหว่างสุขภาพและผลประโยชน์เหล่านี้   ที่มีแหล่งทุนมหาศาลจ้างทีมงาน  ทั้งเภสัช   ทั้งแพทย์   และเครื่องไม้เครื่องมืออย่างห้องแล็บที่เป็นของตัวเอง   ตลอดจนนักจิตวิทยาการค้า  Creators   และนักภาษาศาสตร์ กับถ้อยคำชี้นำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ   โดยปราศจากข้อที่จะเอาผิดได้ทางด้านกฎหมาย   แต่เราแน่ใจได้อยู่อย่างว่า   ผลิตภัณฑ์เหล่านี้  แต่เดิม มุ่งเป้าหมายผู้ที่อยู่ใต้ระดับโภชนาการมาตรฐาน   ปัจจุบัน   ได้เบนเข็มมุ่งเป้าหมายชนชั้นที่ใฝ่ใจสุขภาพและประชาคมออกกำลังกาย ค่าที่ว่าพวกเขาวิจัยออกมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่น่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูง   และพวกเรานักออกกำลังกายจึงถูกผลิตภัณฑ์จากบริษัทเหล่านี้  มองกระเป๋าสตางค์  ตาเป็นมัน เนื่องจากธรรมชาติอีกอย่างหนึ่ง   ของกลุ่มผู้ออกกำลัง ก็คือ   เป็นกลุ่มผู้มีแนวโน้มมีระดับการศึกษาเฉลี่ยกลางค่อนข้างสูง  และฐานะทางการเงินก็เป็นเช่นเดียวกัน   จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้ผลวิจัยออกมาเป็นเหยื่อล่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  จะได้แหวกกระเป๋าสตางค์สำเร็จ บ่อยครั้งที่แม้จะเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์   จะเป็นเช่นที่บริษัทการค้ากล่าว   แต่ในทางปฏิบัติในระดับของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์   มันกลับไกลจากผลลัพธ์ด้านคุณที่ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่ต้นอย่างลิบลับจนมองไม่เห็นเลย   หรือไม่ก็ได้รับน้อยมากๆๆๆๆ แทนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามเหล่านี้ทีละราย   อธิบายผลิตภัณฑ์ทีละตัว   ผู้ถามต่างหากควรจะหาคำตอบเอาเองจากคำถามที่ผมตั้งไว้  ดังต่อไปนี้ 1   มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดบ้างกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์? 2   มีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใดบ้าง?   ที่สอดคล้องกับคำโฆษณา 3  โดยใคร?.......สถาบันที่บริษัทอ้างถึงนั้น   มีความน่าเชื่อถือทางสาธารณะขนาดไหน?     เป็นเพียงสถาบันที่มีแต่ชื่อหรูๆ  หรือผ่านควอลิฟายด์จากใคร? 4  นักวิจัยเหล่านั้นดำรงสภาพผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับบริษัทหรือไม่? 5  ผลงานวิจัยที่กล่าวอ้างมา  เราจะเชื่อเลยโดยอัตโนมัติเลยหรือ?   โดยเราจะเอาเครื่องมือใดตรวจสอบ   ผลงานวิจัยเหล่านั้นถูกตีพิมพ์ที่ไหน? 6  ผลวิจัยเหล่านั้นมีเนื้อหารายงานฉบับเต็มๆ   ไม่ใช่บางส่วนว่าอย่างไร 7   มีผลวิจัยอื่นคัดค้าน หรือ แสดงผลลัพธ์ไปคนละทิศละทางกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทกล่าวอ้างหรือไม่?    และจากสถาบันใดที่มีควอลิฟายด์เช่นกัน 8  เหล่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เป็นประเด็นนี้   มีความเห็นเช่นไร 9  ใครคือผู้เชี่ยวชาญ  และใครเรียกเขาว่า  “ผู้เชี่ยวชาญ” จะบอกอะไรให้ครับ   ธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญคือ  มีความขัดแย้งกันเองมาก  เห็นกันไปคนละทาง  อันเป็นลักษณะปัญญาชน  อยู่ที่เรารู้จักเลือกพิจารณา 10  ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้  มีผลประโยชน์ติดปลายนวม  ในทางไม่เปิดเผยกับผลิตภัณฑ์หรือไม่? 11  ถ้าคำกล่าวอ้างโฆษณาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นความจริง   น่าสนใจว่า   ก่อนหน้าที่ผลิตภัณฑ์จากมานำเสนอ   ถามว่า  ทำไมเรายังดำเนินสภาพความเป็นปกติสุขได้ในชีวิตความเป็นอยู่  ในการออกกำลังกาย   โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ   ตรงกันข้าม   ความผิดปกติต่างๆถูกนำมาขยายจนเราเห็นภาพน่ากลัว  จูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรมภายหลังจากที่เราพบตัวแทนขาย ความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ที่ดี  ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสุขภาพที่ดีเท่านั้น   แต่ยังต้องยึดกุมเงื่อนไขให้รอบคอบ  อย่างมีบุคลิกตรวจตรา  ใส่ใจ  และกลั่นกรองอีกด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 144 องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค… อีกนิดเดียวจะเป็นจริง(?)

เคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ประมาณนี้กันไหมครับ…   ทางด่วนขึ้นราคาจาก 55 บาท เป็น 85 บาท หรือรัฐวิสาหกิจขึ้นราคาพลังงาน เรากลับทำอะไรไม่ได้ ตรวจสอบความเป็นเหตุเป็นผลของการขึ้นราคาก็ไม่ค่อยได้   ฟรีทีวีจอดำก็ต้องปล่อยให้ดำต่อไป เว้นแต่ต้อง “ซื้อกล่อง” มาติด   ถอยรถป้ายแดง ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก หน่วยราชการก็ไร้น้ำยาที่จะช่วยเหลือ   หากรถโดยสารสาธารณะที่นั่งไปเกิดอุบัติเหตุ กลับต้องไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกันเอง เพราะรถโดยสารเหล่านั้นไม่ได้ถูกบังคับจากหน่วยราชการที่กำกับดูแลให้ต้อง ซื้อประกันภัยชั้น 1 แถมบางคันก็เป็น “รถตู้เถื่อน”   อาหารที่กินเข้าไปจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ ก็ยากที่จะทราบได้ เพราะข้อความในฉลากมักจะกำกวม อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง   หรืออยากกินอาหารที่ปลอดการตัดต่อทางพันธุ กรรม (จีเอ็มโอ) หรือปลอดสารเคมีก็เลือกไม่ได้ เพราะไม่ได้มีระเบียบให้ผู้ผลิตต้องทำฉลากอาหารที่ชัดเจนเพื่อแจ้งผู้บริโภค …สถานการณ์ข้างต้นน่าจะคลี่คลายไปได้มากโข เพราะคาดกันว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้ สภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมสองสภามาเรียบร้อยแล้ว   หากสภาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมี “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นที่สองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์   เอาเข้าจริงแล้ว การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมานานกว่า 15 ปี นับจากรัฐธรรมนูญ 2540 (มาตรา 57) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 61) ซึ่งต่างก็บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระขึ้น เพื่อตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริง เข้าถึงการร้องเรียนที่เป็นธรรม และได้รับการเยียวยา   เหตุการณ์สำคัญที่ควรจารึกไว้ก็คือ ในที่สุดเมื่อ 6 ตุลาคม 2553 ที่ประชุม ส.ส.สมัยนายชัย ชิดชอบ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมี 7 ร่าง ทั้งร่างของ ครม. พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น) และภาคประชาชน 11,230 คนที่ลงชื่อเสนอกฎหมาย   ระหว่างที่ร่างกฎหมายอยู่ที่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเมื่อ 10 พฤษภาคม 2554 มีผลให้ร่างนี้ต้องตกไปโดยปริยาย แต่ ครม.ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติขอดึงร่างกฎหมายนี้กลับมาให้สภาพิจารณาต่อ โดยไม่ยอมปล่อยให้ตกไป   แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคการเมืองต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่านักการเมืองในช่วงหลังๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภค ซึ่งก็คือสิทธิของคนทุกคน   ทีนี้หากจะถามว่า ในเมื่อเรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอาหารและยา (อย.) สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการค้าภายใน กรมการขนส่งทางบกฯลฯ แต่ทำไมจึงต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาอีก คำตอบมีดังนี้ ประการแรก องค์การอิสระเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ใช่หน่วยงานราชการที่ถูกกำกับโดยฝ่ายการเมือง (ที่บางทีอาจเกรงใจฝ่ายธุรกิจ) อีกทั้งกฎหมายองค์การอิสระบัญญัติให้รัฐจัดสรรเงินไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวประชากรต่อปี ให้องค์การอิสระฯใช้ไปทำงาน (เท่ากับ 3 บาท X 64 ล้านคน ตกราวๆ 192 ล้านบาท ขึ้นไปต่อปี) จึงทำให้มีเงินไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามสมควร การกำหนดว่ารัฐต้องจัดสรรอย่างน้อย 3 บาทต่อหัว ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก เพราะหากเขียนว่า “ให้รัฐจัดสรรเงินให้อย่างพอเพียงทุกปี” ก็อาจทำให้รัฐจ่ายเท่าไรก็ได้ตาม “ดุลพินิจ” ซึ่งอาจมีผลต่อความเป็นอิสระขององค์การได้ นอกจากนี้ ที่มาของกรรมการ 15 คน ก็จะมาจากการคัดเลือกกันเองของผู้บริโภคและมาจากกรรมการสรรหา ซึ่งจะปลอดจากฝ่ายราชการและการเมือง จึงทำให้องค์การอิสระ มีอิสระกว่าหน่วยราชการอื่นๆ ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด   ประการที่สอง ความเป็นอิสระขององค์การทำให้ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐได้เต็มที่ เช่น ตรวจสอบหน่วยราชการว่าทำไมจึงยังปล่อยให้มีแร่ใยหินอยู่ในสินค้า (เช่นกระเบื้องมุงหลังคา) ทั้งๆ ที่หลายๆ ประเทศมีคำสั่งห้ามไปแล้ว หรือตรวจสอบการขึ้นราคาทางด่วน หรือการปรับราคาพลังงาน ว่าเป็นการขึ้นราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการขึ้นราคาที่ไม่โปร่งใส เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก   ประการที่สาม องค์การอิสระมีอำนาจตามกฎหมายเปิดเผยรายชื่อสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ บริโภคเสียหาย เพื่อเตือนให้สาธารณะได้รับรู้ เช่น มีสมาชิกร้องเรียนหน่วยราชการตั้งแต่ปี 2552 ว่าฟิตเนสแห่งหนึ่งไม่ได้ให้บริการตามสัญญา แต่หน่วยราชการแห่งนั้นกลับไม่เคยเตือนประชาชน ทำให้มีผู้บริโภคไปสมัครเป็นสมาชิกรายใหม่ จนในที่สุดมีผู้เสียหายถึง 1.5 แสนคน ฯลฯ ซึ่งการออกมาเตือนจะช่วยยับยั้งการลุกลามของปัญหาได้   ประการที่สี่ องค์การอิสระจะทำงานแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (one stop service) ว่ากันว่าหน่วยราชการที่ทำงานด้านอาหารปลอดภัยมีถึง 13 หน่วยงานใน 11 กระทรวง ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความต้องการ เช่น ต้องการให้มีฉลากอาหารที่ระบุว่าอาหารนั้นมีจีเอ็มโอ หรือต้องการทำฉลากอาหารให้อ่านได้ง่ายขึ้น เช่น หากอาหารมีน้ำตาลมาก หรือมีโซเดียมมาก ก็จะติด “สีแดง” บนฉลากเพื่อเตือนผู้บริโภค หรือกรณีขวดนมเด็กที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือกรณีมีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เนื้อสัตว์ ฯลฯ องค์การอิสระฯก็จะมีความเห็นทางวิชาการเพื่อผลักดันหน่วยราชการต่างๆ ให้มีมาตรการบังคับฝ่ายธุรกิจให้ทำฉลากเตือนตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากหน่วยราชการเหล่านั้นไม่ยอมทำตามความ เห็นขององค์การอิสระฯ ก็ต้องแถลงเหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมจึงทำไม่ได้ เท่ากับทำให้หน่วยราชการอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชน จะทำงานเช้าชามเย็นชาม หรือให้อำนาจเงินอยู่เหนือสาธารณะไม่ได้อีกต่อไป มิฉะนั้น หากเข้าสู่อาเซียนแล้วแต่งานคุ้มครองผู้บริโภคยัง “ประสานงา” และอ่อนแออย่างทุกวันนี้ ไทยก็จะกลายเป็นตลาดที่รองรับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพอย่างแน่นอน   ประการที่ห้า องค์การอิสระสามารถฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้ โดยร้องผ่านอัยการสูงสุด   เช่น ผู้บริโภคมีเงินเหลือในโทรศัพท์ 10 บาท แต่ถูกริบเพราะบัตรเติมเงินหมดอายุ ทั้งๆ ที่ระเบียบกำหนดไว้ว่าห้ามกำหนดวันหมดอายุ มิฉะนั้นจะต้องชดเชยให้ผู้บริโภค 5 เท่าของเงินที่ริบไป กรณีเช่นนี้ผู้บริโภคคงไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องเงิน 50 บาท (5 เท่าของ 10 บาท) แต่องค์การอิสระฯสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคทั้งหมดที่ถูกริบเงินได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการต้องจ่ายเงินค่าปรับให้ผู้บริโภคทุกคน และคงไม่กล้าฝ่าฝืนระเบียบเรื่องห้ามกำหนดวันหมดอายุในบัตรเติมเงินอีก   ประการสุดท้าย สิ่งที่หน่วยราชการที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ค่อยทำ แต่องค์การอิสระมีหน้าที่ต้องทำ คือสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค เช่น ส่งเสริมการรวมตัวกันของผู้บริโภค ในลักษณะที่ฝ่ายธุรกิจทำมาก่อน อาทิ การรวมตัวเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ ผู้บริโภคจะได้เข้มแข็ง สามารถถ่วงดุลกับเอกชนได้   ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คาดว่าสภาจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดังนั้น 15 ปีที่รอคอยกันมา จึงใกล้จะเป็นจริงแล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 131 Up date มาตรา 61

ระหว่างกำลังรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาของ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กำลังงวดเข้ามาทุกที มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ก็ได้ฝึกภาคปฏิบัติกันอีกครั้ง โดยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนเรื่อง การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ของรัฐบาลท่านนายกยิ่งลักษณ์ ในเวที สัมมนา เรื่อง “จับตายุทธการกินรวบประเทศไทย ตอน การขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG” โดยมีเจ้าภาพใหญ่คือ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นการระดมความคิดเห็นและการแสดงพลังจากภาคประชาชนที่มีคนให้ความสนใจเยอะมาก เรียกว่าได้ใส่กันเต็มที แม้งานนี้จะไม่เห็นคนจากรัฐบาลหรือปตท.เลยก็ตาม(แบบที่มาอย่างเปิดเผยนะ) ซึ่งถ้ามีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ รัฐบาลและหน่วยงานที่สร้างผลกระทบทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนในวงกว้าง จะต้องมาให้ข้อมูลโดยไม่หลบเลี่ยง ข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะจะได้เปิดออกมาจริงๆ เสียทีไม่ใช่งุบงิบๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เอาน่า รอหน่อยล่ะกัน  ฮึ่ม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 Up date มาตรา 61

  ข่าวรัฐสภาโหวตรับรองกฎหมาย 24 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ในท่ามกลางภาวะวิกฤตน้ำท่วม เป็นอันว่า... กฎหมายนี้ได้เข้าไปรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาแล้ว ในการพิจารณาชั้นวุฒิสภา จะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 29 ท่าน โดยเป็น กรรมาธิการที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 13 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันร่าง พรบ.ดังกล่าว ได้แก่  นายไพโรจน์  พลเพชร  นายนิโรจน์   เจริญประกอบ นายถนอม  อ่อนเกษ นายวรรณชัย    บุญบำรุง  รศ.ดร.จิราพร    ลิ้มปานานนท์ รศ.ดร.วิทยา     กุลสมบูรณ์  ผศ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ดร.ไพบูลย์    ช่วงทอง ศ.เจิมศักดิ์   ปิ่นทอง  นางสาวสารี     อ๋องสมหวัง  นายชัยรัตน์    แสงอรุณ   นางสาวบุญยืน    ศิริธรรม และนางสาวกรรณิการ์   กิจติเวชกุล ทุกท่านล้วนทำงานแข็งขันถือเป็นความภูมิใจของภาคประชาชนค่ะ หวังว่าการพิจารณาจะผ่านไปได้ด้วยดี จนออกมาเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์ ผู้บริโภคเราจะได้มี องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อดทนรอคอยกันมายาวนานเสียที เพิ่มเติมเรื่องข้อกฎหมายสักนิด ในการพิจารณาในชั้นวุฒิสภานั้น ระยะที่ใช้คือ 30 วัน แต่ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน ซึ่งสมัยนิติบัญญัตินี้จะเปิดการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ และจะครบ 30 วัน ในวันที่ 18 มกราคม 2555 โอ้...อีกนิดก็ถึงฝั่งฝันแล้วค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 Up date มาตรา 61

  เพราะเหตุน้ำท่วมหนักเกินบรรยาย ทำให้การพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร์เลื่อนไปเรื่อยๆ จะเปิดสภาก็เฉพาะให้บรรดาท่าน สส.ได้ฉะกันเรื่อง ใครทำน้ำท่วม บ้านเมืองเสียหาย เอาเถอะ ภาคราชการยังไม่เคลื่อนไหว แต่ภาคประชาชนเรายังขับเคลื่อนต่อไป เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคหลายจังหวัดในช่วงที่คนภาคกลางตื่นน้ำกันอยู่นั้น ก็ได้จัดเวทีเพื่อเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ถึงความสำคัญขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อว่าเมื่อออกมาเป็นกฎหมายใช้ได้จริงแล้ว จะได้หยิบจับมาใช้กันได้อย่างเต็มที่ เริ่มที่ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มงานภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค(คคส.),สำนักงานสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ร่วมกับหน่วยงานสำคัญๆ ในพื้นที่ จัดงาน  “อนาคตที่รออยู่ข้างหน้ากับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ” ณ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในพื้นที่ของจังหวัดพะเยา พบว่า  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีสาเหตุจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดข้อมูลของผู้บริโภค และยังถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ทางด้านโทรคมนาคม เช่น เรื่องของค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เรื่องรถโดยสารสาธารณะ ปัญหาสื่อท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวีที่โฆษณาอาหารเป็นยา หลอกลวงผู้บริโภค และเรื่องอันตรายใกล้ตัวอย่างกรณี แร่ใยหิน ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นร่วมกันว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง อีกทั้งพวกเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคควรช่วยกันสนับสนุน จะมีข้อกังวลอยู่บ้างก็ที่ว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงๆ อาจจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยตามมา เนื่องจากประเทศไทยเรามีการออกกฎหมายมามากมายแต่มักมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งองค์การอิสระฯ นี้ เป็นอะไรที่น่าจะต้องหามาตรการรองรับปัญหานี้ให้ได้ ฉบับหน้าจะได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 Up date มาตรา 61

  นับว่าที่ลงแรงไปไม่เสียเปล่า รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ตอบรับให้ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...เดินหน้าต่อ ตามหมายเดิมจะเข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม 54 แต่อย่างที่ทราบกัน ประเทศไทยเรากำลังประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายนับแสนล้าน จึงมีหมายยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าวออกไปก่อน ไม่เป็นไรค่ะ เรารอได้ ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก ทุกฝ่ายต้องเร่งเข้าช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ก่อน อย่างไรเสียขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยเถิด   น้ำท่วมครั้งนี้ หลายเครือข่ายงานผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือ ถูกน้ำท่วมสำนักงานเสียหาย ก็ขอเอาใจช่วยนะคะ และต้องชื่นชมกับสิ่งที่พวกเราพยายามรณรงค์กันสุดตัวในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่าย กทม. ที่ขนทีมมาช่วยกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่ สิ่งที่เรียกว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ   เราไปกันหลายพื้นที่ในเขต กทม. เช่น รณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ  มาตรา 61  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 12 ก.ย. พอวันที่ 13 เราก็ไปร่วมรณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และ ยื่น จม.ให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำกฎหมายมาพิจารณาในการประชุม ครม.(วันอังคาร) 14 ก.ย. ไปสีลม 17 ก.ย. ไปเดอะมอลล์บางกะปิ และในช่วง 15 – 20 ก.ย. เครือข่ายทั่วประเทศ ก็ช่วยกันขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ มาตรา 61 ให้ สส.สว. สนับกฎหมายองค์การอิสระทั่วประเทศ   นอกจากนั้นยังใช้ Social network ทำงาน ทั้ง คลิป ใน ยูทูป และ เฟสบุ๊ค   เรียกว่า ทุ่มกันสุดตัว ก็นับว่า ผ่านไปด้วยดี แต่...   เราก็ยังต้องร่วมใจกันขับเคลื่อนให้ กฎหมายนี้สำเร็จให้ได้นะคะ ตอนนี้มันแค่ครึ่งทางเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 Update มาตรา 61

  ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งสมัยนั้นก็ยากหน่อย ต้องรวมกันให้ได้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อให้มีกฎหมายสักฉบับ  แต่กฎ กติกานี้ ผ่อนคลายลงเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้แค่ 10,000 รายชื่อเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด พอมีช่องทางก็เลยสบโอกาสเสนอกฎหมายภาคประชาชนกันบ้าง เสนอกันเข้าไปหลายฉบับเชียว ซึ่งมันสะท้อนล่ะนะว่า ยิ่งภาคประชาชนเสนอกฎหมายมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า ปัญหาของประชาชนมันมากมายหลายเรื่อง  เฉพาะองค์กรผู้บริโภคกับองค์กรพันธมิตร ก็มีร่างกฎหมายที่นอนรอดูตัวรอบสองรอบสามในสภากันถึง 9 ฉบับ โดยเฉพาะ กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ผ่านการพิจารณาจาก สส. ในรัฐบาลที่แล้วไปแบบฉลุย 3 วาระนั้น ดันสะดุดวิกฤตการเมืองเข้า รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ยุบสภาไปเสียก่อนไม่อยู่จนครบวาระ เลยต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จ จัดรัฐบาลใหม่เสร็จ และรอรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่านยิ่งลักษณ์ชงเรื่องต่อเพื่อให้ร่างกฎหมายฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสมาชิกต่อไป ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณานำเสนอกฎหมายให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่การเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก  ถามว่า ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ชงเรื่องต่อ ร่างกฎหมายฯ จะเป็นอย่างไร งานเข้าเต็มๆ สิ ทำงานใหม่กันอีกครั้งเลยนะคะพี่น้อง ต้องออกหารายชื่อ 10,000 กันใหม่ เริ่มผลักดันกันใหม่ คืออะไรๆ ที่ทำมา(14 ปี) มันสูญเปล่าต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง  ตอนนี้เลยต้องเร่งรณรงค์กันใหญ่ ก่อนวันสิ้นสุด 60 วัน คือในวันที่ 30 กันยายน 54 เพื่อขอให้ประชาชนทั่วไป ช่วยส่งเสียงเชียร์ให้รัฐบาลท่านเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายฯ มาตรา 61  เพราะฉะนั้นหากท่านเห็น ขบวนการหน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค มาตรา 61 แวะเวียนไปรณรงค์กันที่ไหน โปรดส่งแรงใจและช่วยลงรายชื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่126 เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นที่พะงัน: เมื่อชุมชนรับรองกันเอง

  ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง   เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นเกษตรอินทรีย์กันไปหมด หันไปทางไหนก็มีสินค้าออร์แกนิค ที่อ้างว่า ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์  บางคนอาจมีการขอรับรองมาตรฐานเฉพาะของบ้านเรา และบางคนก็หลายมาตรฐานทั้งยุโรป อเมริกาและสากล ดูลายตาไปทีเดียว  ที่จริงแล้ว การรับรองมาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด  มีเกษตรกรหลายคน ฟาร์มหลายแห่ง ที่ทำเกษตรโดยยึดหลักการเกษตรอินทรีย์จริงๆ (ตามหลักการของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ เป็นธรรม และดูแลเอาใจใส่) โดยไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน  แต่ก็มีหลายฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจุบัน การรับรองมาตรฐานเป็นธุรกิจที่หน่วยตรวจรับรองมาตรฐานหลายแห่งให้บริการตรวจรับรองฟาร์ม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพและหลักการเกษตรอินทรีย์กันเท่าไหร่นัก  แต่การรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการจำหน่ายผลผลิตไปให้กับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถทราบและมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จริงมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตที่ขายผลผลิตในท้องถิ่นหรือขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(16 สิงหาคม 2553) องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะพะงัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเกาะพะงัน ให้เป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีท่านรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ เป็นประธานในการจัดงานดังกล่าว และต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ได้ ริเริ่มโครงการ "เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดยมอบหมายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาร่วมกันกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบนเกาะพะงันร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์ โดยจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรบนเกาะพะงันผลิตอาหารออร์แกนิค ส่งขายให้กับร้านอาหาร โรงแรม และใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนเศษอาหาร อาหารที่เป็นขยะอินทรีย์จะถูกจัดแยก แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ เป็นการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารและปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน  นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนให้โรงแรมเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ในห้องพักและสวนไม้ประดับรอบโรงแรม มาเป็นสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย  หลายคนอาจเห็นว่า การพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์นี้น่าจะต้องใช้ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ที่มีการทำอยู่แล้วในต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว(ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) มีความมั่นใจในสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นบนเกาะพะงัน โดยให้หน่วยงานอิสระจากภายนอกเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วเกาะพะงันมีทางเลือกอย่างอื่นอยู่อีก  จากการศึกษาข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่า  มีระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่น่าจะเหมาะสมกับเกาะพะงันมากกว่าการตรวจสอบจากภายนอก คือระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ "ชุมชนรับรอง" โดย ระบบ "ชุมชนรับรอง" นี้เป็นการริเริ่มของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ในระบบชุมชนรับรองนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน(ถ้าเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า คลัสเตอร์เกษตรกรอินทรีย์) โดยสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาจมีประมาณ 5 - 7 คน จะหมุนเวียนไปตามฟาร์มของเพื่อนสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งในหมู่สมาชิกเกษตรกรอาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และให้ข้อแนะนำกันเองไปในตัว  เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง ยิ่งกว่า "3 in 1" เสียอีก  และถ้าใครคิดว่าเกษตรกรจะโกงกันเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบระบบชุมชนรับรองนี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกลุ่ม ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรสมาชิกทุกราย รวมทั้งผลการตรวจรับรองโดยชุมชนด้วย  และถ้ายังไม่เชื่อกันอีก ก็สามารถแวะเวียนไปดูฟาร์มของเกษตรกรด้วยตัวเองได้ ซึ่งอาจกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการพัฒนา “เกาะพะงัน เกษตรอินทรีย์” ที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน  ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ ที่ facebook/Organic Phangan หรือจะไปทดลองเป็นนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปดูฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พะงันด้วยก็ได้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point