ฉบับที่ 233 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (1)

        ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่อง ‘หนี้’ พร้อมกับแยกหนี้ดีและหนี้เสียให้เห็น แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คนมีหนี้สินส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดน่าจะเป็นว่า         “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         นี่เป็นคำถามคลาสสิกกันเลยทีเดียว ถึงกับมีหนังสือที่ว่าด้วยการปลดหนี้โดยเฉพาะ ลองมาดูกันก่อนว่าคนไทยแบกหนี้กันหนักแค่ไหน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณร้อยละ 59.2 ต้องจ่ายหนี้ 16,960 บาทต่อเดือน กับหนี้นอกระบบอีกร้อยละ 40.8 ส่วนนี้ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือน 5,222 บาท             ผลสำรวจนี้ยังแบ่งตามอาชีพด้วย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของกิจการ แรงงานรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ใน 5 อาชีพนี้มี 2 อาชีพที่มีแหล่งหนี้เหมือนกันเป๊ะ แค่สลับตำแหน่งความมากน้อยของหนี้         เฉลย-ข้าราชการและพนักงานเอกชนเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต แต่สาเหตุการเกิดหนี้ของข้าราชการเรียงลำดับจากบ้าน รถ และบัตรเครดิต ส่วนพนักงานเอกชนจะเป็นรถ บัตรเครดิต และบ้าน ขณะที่ 3 อาชีพที่เหลือหนี้บัตรเครดิตไม่ติด 3 อันดับแรก ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร         กลับมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการ ‘หยุดก่อหนี้เพิ่ม’ ทั้งหนี้ดี-หนี้ไม่ดี เอาล่ะๆ หนี้บ้าน หนี้รถ ซึ่งเป็นหนี้ผ่อนกันยาว ก่อแล้วใช่ว่าจะหยุดง่ายๆ ตรงนี้ละเอาไว้ อาจจะฟังดูยวนยีไปหน่อย แต่ลองคิดดูว่าคุณจะปลดหนี้สินได้ยังไง ถ้าจ่ายหนี้ทุกเดือนและยังก่อหนี้ใหม่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลย ‘อย่าสร้างหนี้ใหม่เพื่อเอาไปโปะหนี้เก่า’ แบบนี้ยิ่งหนัก เพราะจะทำให้เงื่อนหนี้ที่รัดคอคุณอยู่ ยิ่งรัดหนักขึ้นและแก้ยากขึ้น         คงเคยได้ยิน คนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดปื๊ดๆ เพลินๆ ไป จนผ่อนไม่ไหว ต้องกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบ สุดท้ายก็พัง         มีคำแนะนำชนิดหักดิบว่า หักบัตรเครดิตทิ้ง เป็นวิธีการที่ดุดันอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต ลองนึกดู ในสถานการณ์ที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เงิน แล้วคุณมีเงินสดไม่พอหรือมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ในรูปของกองทุนตราสารเงิน ซึ่งการจะได้เงินสดกลับคืนมาต้องใช้เวลา 1 วันหรือ 2 วัน ถ้าคุณสั่งขายหน่วยลงทุนหลัง 15.00 น. บัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยที่ดี         อย่าลืม! ต้องแยกให้ออกว่าอะไร ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’         ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต หากอยู่ที่วิธีและวินัยในการใช้บัตรเครดิตต่างหาก         ส่วนว่าจะแก้วิธีและวินัยอย่างไร ตอบยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล         กลับมาเรื่องแก้หนี้ ซึ่งยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกเอง มันยังมีขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร แต่พื้นที่จบแล้ว คงต้องไปต่อกันตอนหน้า และอย่างที่บอกเสมอ เรื่องการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลไปเสียหมด เรื่องหนี้ก็ไม่ต่างกัน แนวทาง นโยบาย และการบริหารของรัฐเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 หนี้ดีกับหนี้ไม่ดี เลือกเอา

        ยุคนี้น่าจะหาคนไม่เป็น ‘หนี้’ ได้ยากเต็มที พูดกันขำๆ ว่าคนมีหนี้ถือว่าเป็นคนมีเครดิต แต่ถามหน่อยเถอะ! อยากเป็นหนี้จริงๆ เหรอ?         การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกถ้าไม่จำเป็น        ทำไมเราถึงเป็นหนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือสภาพคล่องไม่พอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่มันต้องไปค้นสาเหตุอีกว่าทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องใช้เงินก้อน เช่น ซ่อมรถ อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ (เงินฉุกเฉินจึงสำคัญ) การวางแผนจัดสรรเงินไม่ดี ไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้า ง่ายๆ ก็ค่าเทอมลูก ค่าประกันรถ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เรารู้ล่วงหน้าและสามารถทยอยสะสมได้         หรือเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นเพื่อนมีแล้วต้องมีบ้าง (อย่าทำเป็นเล่นไป มีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ ทั้งที่รายได้สัปดาห์ละหลายหมื่น แต่แข่งรวยกับเพื่อน สุดท้ายก็ต้องหาเงินด้วยวิธีผิดกฎหมาย แล้วจบไม่สวย) การต้องการสินค้าแบบเดี๋ยวนั้นเวลานั้น อดใจไม่ได้ รูดปื๊ดๆ รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงแค่ไหน         แล้วจะจัดการหนี้สินอย่างไร?         อันนี้ต้องย้อนกลับไปเริ่มจากสาเหตุก่อน เพราะหนี้เป็นปลายทาง จากตัวอย่างที่พูดมาข้างบน การวางแผนการใช้จ่าย การสำรองเงินฉุกเฉิน การตระเตรียม จัดสรรเงิน สำหรับรายจ่ายที่รู้แน่นอนในอนาคต         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เก็บเงินซื้อโดยจ่ายเป็นเงินก้อน ถ้าจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ต้องรู้ว่าเมื่อถึงรอบเราสามารถจ่ายได้ทั้งหมด ไม่ใช่จ่ายขั้นต่ำ         แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยนะว่า ไม่ใช่หนี้ทุกชนิดเป็นหนี้ไม่ดี         แปลว่าอะไร? มีหนี้ที่ดีด้วยเหรอ?         มีสิ! หนี้ไม่ดีนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่มักเป็นหนี้เพื่อการบริโภค เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เที่ยว แก็ดเจ็ดนั่นนู่นนี่ ไม่ได้บอกว่าซื้อไม่ได้ แต่ต้องประเมินตัวเองได้ว่าจุดไหนที่เกินกำลังและจะก่อหนี้         ส่วนหนี้ที่ดีเป็นหนี้ที่จะช่วยต่อยอดผลประโยชน์ในอนาคตหรือหนี้ที่สร้างรายได้ งงล่ะสิ สมมติคุณเพิ่งทำงานใหม่ๆ เงินเดือน 25,000 บาท เพื่อนๆ ขับรถมาทำงาน เลยอยากมีบ้าง ไม่ต้องถามว่าจำเป็นมั้ย? มนุษย์สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้เสมอแหละ ต้องผ่อนเดือนเท่าไหร่ล่ะ ทั้งที่การใช้ขนส่งสาธารณะประหยัดกว่า แม้จะไม่สะดวกเท่า ซ้ำไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา แบบนี้ถือเป็นหนี้ไม่ดี          กับอีกคน กู้เงินมาซื้อรถเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ใช้ส่งของ ใช้เดินทางไปติดต่อลูกค้า แบบนี้ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้เพราะมันเป็นตัวช่วยสร้างรายได้          จะเห็นว่ากู้เงินซื้อรถเหมือนกัน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน         หรือการกู้เงินมาเทคคอร์สอะไรสักอย่างที่คุณคิดแล้วว่า หากมีความรู้ด้านนี้จะช่วยเพิ่มทักษะหรือต่อยอดให้กับอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต นี่ก็ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้อีกเช่นกัน         เอาล่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดี แล้วหาวิธีจัดการกับหนี้ไม่ดีซะ        ส่วนรายจ่ายจำเป็นอย่างค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช่ เราต้องมีสำรองไว้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองมีสิทธิที่รัฐต้องจัดให้อย่างสิทธิในการเรียนฟรี สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างที่เคยบอก เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องของตัวเราเองโดยสมบูรณ์ มันเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเหมือนกันที่จะดูแลประชาชนในส่วนที่เป็นสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231โควิด-19 เราต้องรอด

      ไวรัสโควิด-19 ทำเอาเศรษฐกิจไทยติดเชื้อและเจ็บป่วยค่อนข้างหนัก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจีดีพีของไทยในปี 2563 จะติดลบถึงร้อยละ 4.9 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 1.1         ไม่ต้องดูภาพใหญ่ให้ปวดใจ คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า มีให้เห็นตามหน้าสื่อทุกวัน ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล...พูดตรงๆ คือไร้ประสิทธิภาพ ยุ่งยาก วุ่นวาย และผิดพลาด ก็ไม่รู้ทำไมไม่ใช่ฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านสวัสดิการแห่งรัฐ ลูกหนี้ของธนาคารของรัฐ เป็นต้น แล้วส่งความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มไปเลย        รู้เต็มอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนจำนวนมาก ประชาชนไม่น้อยต้องรอรับอาหารจากวัดหรือที่มีคนใจบุญมาแจก เพราะไม่มีรายได้เลย เผลอๆ จะอดตายก่อนติดเชื้อโควิด-19 เสียอีก การบอกให้ประหยัดในช่วงความเป็นความตายออกจะดูน่ารังเกียจ แต่ก็คิดว่าในรายที่ยังพอมีรายได้ ยังพอทำมาหากินได้ น่าจะเป็นประโยชน์         1.หยุดการออมเงินชั่วคราว ฟังดูเป็นเรื่องแสลงหู แสลงใจเหลือเกินที่การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องพูดแบบนี้ หรือลดจำนวนการออมเงินให้น้อยลงเพื่อรักษาสภาพคล่องในการใช้จ่ายต่อเดือนให้ได้ก่อน อย่าลืมว่าสภาพคล่องมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าวกิน        2.พักหนี้ หลายคนทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและใช้หนี้ ไม่ว่าจะหนี้การค้า หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต (ซึ่งไม่ควรมีตั้งแต่ต้น) ช่วงเวลานี้คงน่าจะเหลือเจ้าหนี้ใจไม้ไส้ระกำไม่มากและเข้าใจดีว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ขนาดไหน ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีมาตรการช่วยเหลือส่วนนี้ออกมาแล้ว ในกรณีหนี้นอกระบบจากการยืมเพื่อน คนรู้จัก ที่ไม่เจ้าหน้าเงินกู้หน้าเลือด ต้องเจรจาขอผ่อนผันออกไปก่อนหรือถ้ายังพอมีกำลังอาจจะลดเงินส่งหนี้ลง         3.ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตรงนี้สำคัญ คุณต้องเริ่มพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัดว่าอะไรสำคัญกับชีวิตของตนจริงๆ ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ตัดสิ่งฟุ่มเฟือยออกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจ่ายค่ามือถือและอินเทอร์เน็ตที่ใช้ไปเพื่อความบันเทิงลดลงได้หรือไม่ ถ้าการกักตัวอยู่บ้านทำให้ช้อปปิ้งออนไลน์เยอะขึ้น คุณต้องถามตัวเองว่าใช่เวลาหรือเปล่า          4.วางแผนและจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางอย่างสามารถประหยัดลงได้ ประเมินสถานการณ์ว่าในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า 1 เดือนข้างหน้า คุณมีรายจ่ายก้อนใหญ่อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันออมทรัพย์ จัดเรียงความสำคัญ วางแผนหลัก และแผนสำรอง        จะให้ดีก็ลดการเสพสื่อโซเชียลมีเดียลง การส่องเฟสหรือไอจีพวกคนมีฐานะกักตัวแบบหรูๆ กับบ้านไม่ใช่สิ่งประเทืองอารมณ์ แต่เป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้       พวกไลฟ์โค้ชที่บอกว่าคุณกระจอกที่ไม่ยอมใช้วิกฤตเป็นโอกาสและให้ตำหนิตัวเอง อย่าเอาแต่โทษรัฐบาล ให้เลิกดู เลิกติดตามซะ ไม่จรรโลงอารมณ์และสติปัญญา        และจงออกมาตำหนิ เรียกร้อง กดดันรัฐบาลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เยียวยาอย่างทั่วถึง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะรัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน เมื่อทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เราจะมีรัฐและรัฐบาลไปเพื่ออะไรเอาใจช่วยทุกคนให้ผ่านมันไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ‘สภาพคล่อง’ คล่องแค่ไหนถามใจคุณดู

        ครั้งที่แล้วพูดเรื่องความสำคัญของ ‘เงินฉุกเฉิน’ ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด เศรษฐกิจชะงักงัน ซ้ำยังมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ตกอกตกใจอีก        เชื่อว่าในภาวะนี้แหละที่เงินฉุกเฉินสุดแสนจะสำคัญ ใครที่มีอยู่แล้วก็คงพออุ่นใจได้ ส่วนใครที่ไม่มีหรือยังเพิ่งเริ่มคงต้องกัดฟันและยืนหยัดให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้         ฉบับนี้จะขอพูดเรื่องใหญ่อีกเรื่องในการจัดการเงินของคุณ ยิ่งในสภาวะแบบนี้ยิ่งสำคัญ สิ่งนั้นก็คือ...         ‘สภาพคล่อง’ หรือ liquidity         ถ้าใครผ่านหูผ่านตาข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจบ้าง น่าจะคุ้นหูกับคำนี้ แต่อาจยังสับสนว่ามันคืออะไรหว่า?         ตอบแบบทั่วไป มันก็คือความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งของหรือทรัพย์สินเป็นเงินสด อาจยังเข้าใจยากอยู่นิดหน่อย พูดให้บ้านๆ มากขึ้น การใช้ชีวิตแต่ละเดือนของคุณ ถ้ามีเงินเหลือถือว่าคุณจัดการสภาพคล่องได้ค่อนข้างโอเค ถ้าหมดก็เริ่มไม่โอเค ถ้าขาดก็ไม่โอเคอย่างแรง         ในกรณีที่เงินขาดมือ แต่คุณยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่เอาไปขาย ไปจำนำ แล้วได้เงินกลับมารวดเร็วเอาไปใช้สอยต่อได้ ถือว่ายังมีสภาพคล่องอยู่ ถามว่ากู้เงินมาได้เป็นสภาพคล่องไหม? เป็น เพราะองค์กรธุรกิจก็กู้เงินมาเสริมสภาพคล่องกันตามที่ได้ยินในข่าว เนื่องจากต้องการเงินสดไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ชีวิตเราก็เหมือนกัน เรากู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องจดจำไว้เสมอว่า มันคือหนี้สิน มันคือเงินจากอนาคตที่เราดึงมาใช้ก่อน          ถามว่าอะไรคล่องที่สุด แน่นอน เงินสด ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ก็มีสภาพคล่องสูงต่ำต่างกันไป เช่น ทองคำ รถ พระเครื่อง ที่ดิน เป็นต้น สามสี่อย่างนี้การเปลี่ยนเป็นเงินสดทำได้ช้าเร็วแตกต่างกัน คุณเอาทองคำไปโรงจำนำหรือร้านทองกับการประกาศขายที่ดิน คงไม่ต้องเปรียบเทียบไปมากกว่านี้        แต่ประเด็นที่อยากบอกเล่ากันจริงๆ ก็คือ คุณต้องรู้จักบริหารสภาพคล่องให้เป็น เมื่อมีรายได้ หักเงินออมแล้ว ยังมีเงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างคล่องมือ จะได้ไม่ต้องเอาทรัพย์สินที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตมาแปลงเป็นเงินสดหรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะมันหมายถึงการเสียโอกาสทางการเงิน         คำถามสำคัญมีอยู่ว่า แล้วจะรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ได้ยังไง?        คำตอบจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะมันขึ้นกับใจและตัวคุณล้วนๆ ถ้าติดหรู อยู่แพง ใช้จ่ายเกินตัว เห็นป้าย SALE เป็นวิ่งเข้าใส่ โดยที่รายได้คุณไม่มากพอที่จะรองรับไลฟ์สไตล์ได้ รูดปื้ดๆ แล้วผ่อนจ่ายขั้นต่ำ แบบนี้ก็รอหายนะทางการเงินได้เลย        ตรงกันข้าม ถ้าคุณมีวินัยทางการเงิน รู้จักประหยัด รู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เก็บเงินเพื่อซื้อของราคาสูงด้วยเงินสด ไม่ติดหนี้บัตรเครดิต ฟุ่มเฟือยบ้างตามวาระอย่างเหมาะสม (ไม่ได้บอกว่าห้ามเลยนะ ไม่งั้นชีวิตจืดชืดแย่) คุณก็จะรักษาสภาพคล่องได้ ไม่เดือนชนเดือน ชีวิตจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

อ่านเพิ่มเติม >

เหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง(จังหู)

        ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงได้กลายเป็นกระแสทั้งในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้านเพื่อตอบสนองมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากโรค COVID-19  บางรายเคยจ่ายของเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 1,500 บาท ได้เพิ่มเป็น 5,200 บาทในเดือนมีนาคม        เจอเข้าอย่างนี้ ผู้บริโภคที่แอคทีฟจะต้องโวยอยู่แล้ว  จริงไหมครับ?        ผมขอเรียงลำดับคำตอบนี้ตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ไปจนถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้าแพงรวม 7 ประการ ดังนี้         ประการที่หนึ่ง เพราะเราใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจริง         เวลาเราได้ “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” นอกจากต้องดูจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้ว เราต้องดูจำนวนหน่วยที่ใช้ด้วย  ซึ่งคำว่า “หน่วย (unit)” หมายถึงจำนวนวัตต์ของอุปกรณ์ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ แล้วหารด้วย 1,000  เช่น หลอดไฟขนาด 18 วัตต์จำนวน 1 หลอด ถ้าเปิดวันละ 10 ชั่วโมง ใน 30 วัน จะใช้พลังงานรวม 5.4 หน่วย หรือ kwh ในภาษาวิชาการ         โดยปกติใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะมีข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน เราก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าออกมายอมรับเองว่า “บางครั้งก็มีการจดผิด”           ประการที่สอง เพราะการคิดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า         บ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.2 (มิเตอร์ 15 แอมป์) ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว-ในอัตราปัจจุบัน) เท่ากับ 4.41 บาท (รวมต้องจ่าย 4,406.21 บาท) แต่ถ้าใช้ 2,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 4.51 บาทต่อหน่วย (รวมต้องจ่าย 9,013.31 บาท)         โปรดสังเกตว่า จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า         เหตุผลที่ทางรัฐบาลใช้เกณฑ์อัตราก้าวหน้า ก็เพราะต้องการให้คนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งผมเห็นด้วยหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ในยุคที่รัฐบาลต้องการให้คน “ช่วยชาติ” ทำไมจึงลงโทษคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยการคิดอัตราก้าวหน้าด้วยเล่า         ผมเสนอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ทั้งพวก “5 แอมป์” และ “15 แอมป์” ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วยแรกเท่ากัน ส่วนที่เกินให้คิดในอัตรา “คงที่” อัตราเดียว         สำหรับค่าเอฟทีรอบหน้า (พ.ค.ถึง ส.ค.) ยังคงเท่าเดิม ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี         ประการที่สาม เพราะกำไรสุทธิของ 3 การไฟฟ้าสูงถึง 11.6%         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. และ กฟภ. มีกำไรสุทธิจำนวน  48,271.26 และ 15,384 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ กฟน. มีกำไรสุทธิปี 2561 (ปีล่าสุดที่เผยแพร่) จำนวน 9,094.95 ล้านบาท         เมื่อรวมกำไรสุทธินี้เข้าด้วยกัน (เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ) เท่ากับ  72,750.21 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 7.1-6 สนพ.) มูลค่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 เท่ากับ 699,000 ล้านบาท ทำให้เราคำนวณได้ว่า กิจการ 3 ไฟฟ้ามีกำไรสุทธิร้อยละ 11.62 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตรากำไรที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบัน         ในขณะที่บริษัท บี กริม เพาว์เวอร์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,896 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 65 ของรายได้ปี 2562 จำนวน 44,132 ล้านบาท มาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 3,977 ล้านบาท (เจ้าของบริษัทนี้ คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของไทยที่นายกฯประยุทธ์ มีจดหมายไปขอคำแนะนำ)         ที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุผลเชิงปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก หรือ “แพงจังหู”         เหตุผลที่เหลือเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., กฟน.และ กฟภ.         ประการที่สี่ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไป         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. พบว่า นับถึงสิ้นปี 2562 ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวน 45,298.25 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.คิดเป็น 33.40% ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน  โดยมีความต้องการใช้สูงสุดที่ 30,853.20 เมกะวัตต์           ถ้าคิดเป็นกำลังสำรองก็เท่ากับ 46.8%  ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลประมาณ 15%         อนึ่ง จากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “กำลังการผลิตในระบบ 3 การไฟฟ้าา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 49,066 เมกะวัตต์ ไม่รวมข้อมูลของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)” (http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information)         เราไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่จึงทำให้ข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก        กลับมาที่ข้อมูลของ กฟผ. แม้กำลังการผลิตของ กฟผ.เหลือเพียง 33.4% แต่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต่ำกว่าตัวเลขนี้อีก คือ 31.49% ที่เหลืออีก 68.51% เป็นการซื้อจากบริษัทเอกชน         การมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปถือเป็นภาระของผู้บริโภค เพราะสัญญาที่ทำไว้เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ที่เรียกว่า take or pay”         ประการที่ห้า  เพราะเราปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป        สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชนทั้งที่เรียกว่า IPP และ SPP จะมีอายุระหว่าง 21 ถึง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 51% ของโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา(จากทั้งหมดกว่า 530,000 เมกวัตต์) มีอายุอย่างน้อย 30 ปี ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ มีอายุ 41 ถึง 50 ปี (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=1830)         ต้นทุนการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยของโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดระวาง ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้ครบหมดถ้วนแล้ว          ประการที่หก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนแพงกว่าภาคธุรกิจ  จากข้อมูล         (https://www.globalpetrolprices.com/Thailand/electricity_prices/) พบว่าค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่าในภาคธุรกิจถึง 6.6 สตางค์ต่อหน่วย (เป็นข้อมูลเดือนกันยายน 2562- แต่เกือบทุกประเทศเป็นลักษณะนี้)        จากข้อมูลของ กฟผ. ในปี 2562 ความต้องการไฟฟ้าทั่วประเทศเท่ากับ 197,873 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ใช้ในภาคครัวเรือน 22%  นั่นคือ ถ้าภาคธุรกิจจ่ายน้อยกว่าภาครัวเรือน 6.6 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่มัน “เตี้ยอุ้มค่อม” ชัด ๆ         ประการที่เจ็ด เพราะราคาก๊าซหน้าโรงไฟฟ้าแพงกว่าที่ปากหลุม 32%        จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. “ราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 263.43 บาท ต่อล้านบีทียูคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 144,794 ล้านบาท” ซึ่งผู้นำส่งก็คือบริษัทในเครือของ ปตท.         ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 263.43 บาท สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม(ในประเทศไทยคือ 199 บาทต่อล้านบีทียู) ถึง 32%         ในทัศนะของผม แม้จะต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ แต่ถ้าราคาก๊าซขนาดนี้ก็น่าจะสูงเกินไป  ถ้าค่าผ่านท่อ(และกำไร)ลดลงมาเหลือ 20% ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย(ที่ผลิตจากก๊าซฯซึ่งมีสัดส่วน 57%) ก็จะลดลงมาได้ประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 220 หน่วย)นี่คือเหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจังหู ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เงินฉุกเฉิน’ เบาะกันกระแทกที่ต้องมีก่อนก้าวต่อไป

        เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งมีเงินออมอยู่บ้าง มากน้อยก็ว่ากันไป แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เช่น อยู่ๆ ต้องซ่อมรถ ต้องเข้าโรงพยาบาล ตกงาน หรือเหตุใดๆ ให้ต้องใช้เงินด่วน คนส่วนใหญ่ทำยังไงล่ะ? ก็เอาเงินออมนั่นแหละออกมาจ่าย เงินออมมีไว้เพื่อสิ่งนี้ไม่ใช่เหรอ?        ผิด เงินออม ก็คือเงินออมที่เราตระเตรียมไว้เพื่อต่อยอดให้งอกเงยผ่านการลงทุนอะไรก็ว่ากันไป         ส่วนเงินที่มีไว้เผื่อใช้จ่ายในคราวจำเป็นจริงๆ เขาเรียกว่า ‘เงินฉุกเฉิน’ อย่าทำเป็นเล่นไป เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะเป็นเบาะกันกระแทกอย่างดีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันและต้องใช้เงินด่วน         โดยทั่วไปแล้วมีคำแนะนำว่า ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน (บางคนมีเงินฉุกเฉินถึง 1 ปีกันเลยทีเดียว) หมายความว่าถ้าคุณมีรายจ่ายต่อเดือน 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000 -120,000 บาท เห็นจำนวนเงินแล้วคงมีคนร้อง โอ้โห! แค่จะเก็บเงินธรรมดายังยากเย็น นี่แค่เงินฉุกเฉินทำไมต้องเยอะขนาดนี้         เศรษฐกิจช่วงนี้ซบเซา ยังไม่มีทีท่าจะกระเตื้อง ลองจินตนาการว่าคุณตกงาน รายได้ประจำที่เคยมีหายวับไป คุณจะทำยังไงล่ะ? แน่นอน หางานใหม่ที่คงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง การมีเงินก้อนนี้ไว้จะทำให้คุณอุ่นใจไปได้อย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งน่าจะยาวนานพอให้คุณตั้งหลักหรือหางานได้         ตรงกันข้าม ถ้าคุณไม่มีเงินส่วนนี้เลย ลำบากแน่ โอเค คุณมีอาจเงินออมอยู่บ้าง แต่ไม่พอยื้อได้นาน จบลงด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ค่อนข้างเป็นฉากที่เลวร้ายว่าไหม? แถมเงินออมที่ตั้งใจจะเอาไปซื้อบ้าน เรียนต่อ ก็ต้องหายวับไปกับตายเพราะความประมาทว่าชีวิตจะราบรื่น ไม่มีสะดุด         พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าคุณต้องตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินฉุกเฉินอย่างเดียว คุณทำมันพร้อมๆ กับเก็บเงินออมได้ เพียงแค่จัดสรรเงินของตนทุกเดือนว่าส่วนไหนเงินออม ส่วนไหนเงินฉุกเฉิน        จะเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ไหน? มี 2 แหล่ง ที่แรกก็ในเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเพราะสามารถถอนออกมาได้เร็วทันสถานการณ์ อีกที่คือกองทุนตราสารเงิน ความเสี่ยงต่ำ ถ้าคุณส่งคำสั่งเอาเงินออกวันนี้ เงินจะเข้าบัญชีที่คุณผูกไว้กับกองทุนในวันรุ่งขึ้น ช้ากว่าเงินฝากนิดหน่อย แต่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากนิดหน่อย (นักลงทุนใช้กองทุนตราสารเงินเป็นแหล่งพักเงินระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้)        ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณต้องมี ‘วินัย’ (เรื่องนี้สำคัญมากเช่นกัน ไว้จะพูดถึงในคราวต่อๆ ไป) แยกแยะให้ได้ว่าอะไรฉุกเฉินจริงๆ เพราะบัตรเอทีเอ็มอยู่ในมือ แบบว่าช่วงเซลล์ 50 เปอร์เซ็นต์กำลังจะหมดเขต ต้องรีบช้อป นี่ไม่ฉุกเฉินแน่นอน         การมีเงินฉุกเฉินยังช่วยให้การออมเงินไม่สะดุด ถึงเป้าหมายการออมได้โดยไม่ต้องมีเรื่องกวนใจ         ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ ตรงนี้สามารถกระจายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันช่วยรับภาระได้ อาจพูดได้ว่าเป็นเงินฉุกเฉินที่เราซื้อไว้ด้วยราคาที่ต่ำกว่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดแยกออกมาอีกตอน         จะให้ดีกว่านั้น เราคงต้องช่วยกันผลักดันสวัสดิการสุขภาพของทุกกองทุนสามารถดูแลเราได้อย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง ครอบคลุมให้มากขึ้น และบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างจริงจังกับโรงพยาบาลเอกชน ถ้าทำได้ เรื่องฉุกเฉินด้านสุขภาพร่างกายก็เบาลงไปเยอะเลย

อ่านเพิ่มเติม >

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาที

หน้ากากป้องกัน (Face shield) แบบของม.นิวยอร์ค ทำได้ภายใน 1 นาทีเวอร์ชั่นนี้มีข้อดีคือ1. ใช้วัสดุอย่างเดียวคือ พลาสติกใส2. ไม่ต้องติดแถบกาวหรือใช้ปืนกาว3. ไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้        หน้ากากป้องกันใบหน้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 เอกสารนี้บอกวิธีทำหน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันบุคลากรจากการสัมผัสกับละอองที่มีไวรัสจากผู้ป่วยเมื่อพวกเขาไอหรือจาม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ได้พัฒนาการออกแบบหน้ากากป้องกันใบหน้า (face shield) เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลก หน้ากากป้องกันใบหน้าแบบอื่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีในการพิมพ์ แต่เวอร์ชั่นนี้ใช้แค่พลาสติกใสยืดหยุ่นสองชิ้นและแถบยางยืด สามารถประกอบได้ภายใน 1 นาที ซึ่งโรงงานที่มีอุปกรณ์สำหรับการผลิตสินค้าแบบแบนๆ เช่นที่เจาะรู เครื่องตัดเลเซอร์ สามารถนำไปผลิตแบบล็อตใหญ่ได้ เวอร์ชั่นนี้ออกแบบออกร่วมกับแพทย์ ทีมของ NYU ได้เผยแพร่วิธีทำแบบโอเพนซอร์ซ เปิดให้ทุกคนนำแบบนี้ไปใช้ได้ มีคำถามเพิ่มเติมติดต่อผ่านทาง covid19.taskforce@nyu.eduดาวน์โหลดแบบตัดและวิธีทำ https://open-face-website.now.sh/instructions#downloadแบบตัดหน้ากาก https://bit.ly/shieldcutfileแบบตัดแถบคาดศีรษะ https://bit.ly/3agdvEPวัสดุ 1. แผ่นพลาสติกใส PET หนา 0.25 มม หรือวัสดุที่มีความยืดหยุ่น (เช่นโพลีคาร์บอเนต, PETA, PETG, ไวนิล)        ·        ส่วนโล่กันใบหน้า ขนาดประมาณ 31.75 x 26 ซม 1 แผ่น        ·        แถบคาดศีรษะ ขนาดประมาณ 27.3 x 2.5 ซม 1 แผ่น2. สายยางยืด กว้าง 1-1.5 ซม ยาว 40 ซม 1 เส้น3. แผ่นโฟม หนา 1 ซม ขนาด 2.5 x 25 ซม (ถ้าจะใช่แผ่นโฟมเสริมก็ได้ แต่จะทำความสะอาดยากกว่า) หน้ากากพลาสติกใสแบบปกปิดใบหน้าของผู้สวมใส่ โดยใช้ควบคู่กับ N95 และหน้ากากอนามัยไม่ใส่ฟองน้ำ จึงทำความสะอาดง่าย ล้างน้ำสบู่แล้วนำกลับมาใช้ได้ อ้างอิง Retrieved and translate by Jittiporn: 30/03/2020 – 7.00NYU makes face shield design for healthcare workers that can be built in under a minute available to allDarrell Etherington @etherington / 12:40 am +07 • March 28, 2020https://techcrunch.com/2020/03/27/nyu-makes-face-shield-design-for-healthcare-workers-that-can-be-built-in-under-a-minute-available-to-all/https://open-face-website.now.sh/instructions#download

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เงินเดือน 6 หลักแล้วรวย...จริงเหรอ?

                เคยเห็นหนังสือ how to ที่ชื่อเรื่องออกไปทำนองว่าทำอย่างไรถึงจะมีเงินเดือนหรือรายได้ 6 หลักไหม?         เป็นความฝันของใครหลายๆ คนเลยล่ะ เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณเข้าใจว่าการมีเงินเดือนสูงๆ แล้วคิดว่าตัวเองเป็นคนรวยล่ะก็ คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างแรงเลย เพราะความร่ำรวยหรือคำที่น่าจะใช่กว่าคือความมั่งคั่ง (wealth) เป็นคนละเรื่องกับการมีรายได้สูง เพียงแต่คนที่มีรายได้สูงมีโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ง่ายกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ         เรื่องการจัดการการเงินส่วนบุคคลนี่ซับซ้อนพอประมาณเหมือนกัน ไม่ผิดถ้าคิดว่าเงินก็คือทรัพย์สินแบบหนึ่ง แต่มันก็ง่ายเกินไป          รู้จัก henry ไหม?         เปล่า, ไม่ใช่ชื่อคน มันย่อมาจาก high earner not rich yet หรือคนที่หาเงินได้เยอะ แต่ทำยังไงก็ยังไม่รวย เพราะเงินที่หามาได้หมดไปกับการช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ซื้อประสบการณ์ พักโรงแรมหรู กินอาหารดี เสื้อผ้าแบรนด์เนม รายได้ 6 หลักจึงหมดไปกับเรื่องพวกนี้ เผลอๆ จะเป็นหนี้บัตรเครดิตด้วย         ดังนั้น การมีเงินเดือนหรือรายได้สูงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณร่ำรวย มันเพียงทำให้คุณมีกำลังซื้อมากกว่าคนอื่นเท่านั้น เพราะความมั่งคั่งไม่ได้วัดกันที่จำนวนรายได้ แต่วัดกันที่ความมั่งคั่งสุทธิหรือมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดลบด้วยมูลค่าหนี้สินทั้งหมด ถ้าทรัพย์สินมากกว่าหนี้มากๆ เท่ากับคุณมีความมั่งคั่งสุทธิมาก ยิ่งทรัพย์สินนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าตัวมันเองได้ ความมั่งคั่งของคุณก็จะยิ่งสูงขึ้น นี่แหละที่เรียกว่าการลงทุน เช่น ซื้อที่ดินไว้ 1 ไร่ราคา 5 แสนบาท ผ่านไป 5 ปี ราคาเพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เป็นต้น         คงเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างการมีรายได้สูงกับความมั่งคั่งกันแล้ว         ถ้าคุณมีประสบการณ์กับธุรกิจขายตรงที่ต้องหาทีมหรือลูกข่าย ยิ่งหาได้เยอะ รายได้คุณจะเยอะตาม เชื่อไหมว่าคนที่หารายได้ได้สูงๆ จากอาชีพนี้ บางครั้งก็ติดกับดักตัวเอง ยังไง? เพื่อให้ลูกข่ายเห็นว่าการทำอาชีพนี้จะทำให้ประสบความสำเร็จหรือร่ำรวย (ซึ่งเอาเข้าจริง มันเป็นคนละเรื่องกัน) และดึงดูดให้คนเข้ามาเป็นลูกข่ายมากขึ้น หัวหน้าทีมก็เลยต้องมีบ้านหลังโต รถหรู ใช้ของแบรนด์เนม         ลองคิดดู นาย ก. รายได้ต่อเดือน 1 แสนบาท ซื้อบ้านใหญ่โตมโหฬารราคา 5 ล้าน ผ่อนเดือนละ 35,000 บาท ผ่อนรถอีกหลักหมื่น ค่าใช้จ่ายเสริมภาพลักษณ์อีกหลักหมื่น ค่าส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์อีกหลักหมื่น เผลอๆ เงินไม่เหลือ         ส่วนนาย ข. เงินเดือน 30,000 บาท เช่าห้องอยู่ ใช้รถโดยสารไปทำงาน ส่งเสียที่บ้านตามสมควร หนี้สินไม่มี แถมมีเงินเก็บทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท ชีวิตอาจไม่ดูดีเท่านาย ก. แต่ความมั่งคั่งของนาย ข. อาจเท่าๆ กันหรือสูงกว่า นาย ก.         สรุปคือ ถึงคุณจะมีเงินเดือนหลักแสน มันก็ไม่ได้ทำให้คุณมั่งคั่งหรือรวย ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญกับชีวิตคุณจริงๆ และใช้จ่ายเพื่อสิ่งสำคัญนั้น ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นจับจ้องหรืออิจฉาชีวิตคุณ คุณก็จะเป็นได้แค่ henry ต้องทำงานๆ เพื่อให้มีเงินจับจ่าย โดยแทบไม่มีเงินเก็บและต่อยอดลงทุนเลย

อ่านเพิ่มเติม >

จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดียโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้มถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาลแต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามากในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  “จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก - ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาทอันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากบทความเรื่อง “วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้” พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ “รายรับไม่พอกับรายจ่าย” และ “ขาดวินัยทางการเงิน” สูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับแต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทยรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใดโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า “ส่งเสริมพลังงานทดแทน” โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลยอย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า “จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)” จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้วจริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับเนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เองผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกันในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  “เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน”แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับเราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?  

อ่านเพิ่มเติม >