ฉบับที่ 183 การแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์

ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไป "ประจาน" คนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  การติดต่อสื่อสารทางระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นมีเว็บไซต์ในลักษณะที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์(Relationship) ระหว่างผู้ใช้ในกลุ่มต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) บนโลกออนไลน์ที่สามารถเชื่อมโยงกันกลายเป็นสังคมเสมือนจริง( Virtual Communities) โดยมีความสัมพันธ์และทับซ้อนกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกของความเป็นจริง เครือข่ายสังคมออนไลน์ ประเภทเว็บไซต์ถือว่าเป็นการให้บริการโดยผู้ใช้สามารถสร้างแฟ้มข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจมีลักษณะสาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ โดยผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้อื่นๆ ในระบบเครือข่ายสังคมนั้น เว็บไซต์เครือข่ายสังคม เช่น Facebook ,  Line เป็นต้น  ซึ่งมีความแตกต่างกันในแง่ของวัตถุประสงค์ การใช้งาน รวมทั้งรูปแบบและลักษณะ บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อทางธุรกิจหรือทางวิชาชีพ ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมและความบันเทิง บางเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นตัวอักษร ในขณะที่บางเว็บไซต์มุ่งประสงค์แลกเปลี่ยนข้อมูลในลักษณะสื่อผสม ซึ่งในแต่ละเว็บไซต์จะมีลักษณะเฉพาะสำหรับการใช้งานแตกต่างกันออกไป และในปัจจุบันมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความนิยมใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์มิได้จำนวนอยู่เฉพาะการใช้ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทำให้การสื่อสารทางเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสังคมปัจจุบัน รูปแบบการสื่อสารในลักษณะสังคมเครือข่ายนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเปิดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ทั้งที่เป็นตัวอักษร บทความ รูปภาพ รวมทั้งการสนทนาและแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมไปถึงเป็นแหล่งข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้ใช้สามารถช่วยกันสร้างเนื้อหาขึ้นตามความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการ ในความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้น เราอาจแยกพิจารณาออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค เช่น สิทธิในความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล  ประเภทที่สอง คือความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การเผยแพร่ภาพหรือข้อความในการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์     ขณะเดียวกันผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ต หากเป็นกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตที่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย  โดยหลักแล้วสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนเราจะไม่แตกต่างกับสิทธิและเสรีภาพในการใช้สื่ออื่นๆ  เมื่อมีเสรีภาพเกิดขึ้น เป็นที่แน่นอนว่าเขตแดนของเสรีภาพแต่ละบุคคลย่อมจะชนและทับซ้อนกัน ในบางกรณีกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าเขตแดนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะมีมากจนบางครั้งอาจมีมากเกินไปด้วยซ้ำ ความจำเป็นในการที่ต้องกำกับ ดูแล และตรวจสอบการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานจรรยาบรรณจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน  ในประเทศสิงคโปร์มีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนหันมายั้งคิดก่อนที่จะถ่ายรูปหรือคลิปไปประจานคนอื่นในสังคมออนไลน์ และแทนที่จะรีบถ่ายคลิปทำตัวเป็นตำรวจศีลธรรม เขาแนะให้เราถามใจตัวเองก่อนว่าควรจะทำสิ่งที่เหมาะกว่าหรือไม่  เช่นมีการแชร์ภาพโปสเตอร์แคมเปญของ Singapore Kindness Movement(ขบวนการสิงคโปร์เอื้อเฟื้อ) เป็นภาพผู้ชายกำลังงีบบนเก้าอี้สำรองบนรถโดยสารสาธารณะ โดยมีผู้หญิงที่กำลังท้องกำลังยืนประจันหน้าอยู่ พร้อมกับคำโปรยว่า "จะแชะภาพ หรือแตะไหล่ปลุก - อยู่ที่ตัวคุณว่าจะเอื้อเฟื้ออย่างไร" หมายความว่า แทนที่จะรีบถ่ายรูปประจานชายคนนี้ เราควรปลุกเขาจะดีกว่าไหม?  เพราะอาจมีเหตุผลอื่นนอกจากจะแย่งที่นั่งคนท้องก็เป็นได้              ความเป็นจริงแล้วสังคมออนไลน์ เปรียบเสมือนคำว่า ‘ดาบสองคม’ ที่มีความหมายว่า การกระทำที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้พอๆ กัน เช่นเดียวกับ หากผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์ได้เล่นสื่อต่างๆ แบบไม่ระมัดระวังคำพูด พาดพิง หรืออาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อาจจะต้องรับผิดทางอาญาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14 บัญญัติว่า      “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน       (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน       (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา       (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้       (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”              ซึ่งผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ควรจะรู้และทราบด้วยว่าหากตนเองได้เผยแพร่ภาพหรือกระทำการด้วยวิธีการอื่นใดในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ แล้วทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ แต่ทั้งนี้การจะเป็นความผิดได้ก็จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบตามกฎหมายอีกหลายประการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สาระสำคัญอยู่ที่ว่าผู้โพสต์ หรือแชร์ภาพนั้นมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลอื่นเสียหายหรือไม่อย่างไรหรือเป็นเพียงแค่การใช้สิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นในการแสดงออก  ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยแท้มากกว่า  เพราะไม่สามารถอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับผู้กระทำความผิดได้  เนื่องจากมีองค์ประกอบแตกต่างกัน  แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับพบว่ายังมีบุคคลอีกหลายคนใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการนำมาใช้จัดการเนื้อหาที่เผยแพร่ในสื่ออินเทอร์เน็ตที่เป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า   ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน              ดังนั้น หากผู้ใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์ประสงค์ที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์คงต้องใช้สติก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ต่อไปยังพื้นที่สาธารณะทางออนไลน์ว่า ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือไม่  เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียหายหรือไม่  เป็นการกระทำโดยผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องแล้วหรือยัง  เป็นต้น  “นิ้วเป็นอวัยวะที่เล็กแต่ก็ทำให้คนติดคุกมาก็หลายคนแล้ว อย่าประมาทนะครับ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รู้จัก “เครดิตลิมิต” ชีวิต 4G จ่ายไม่เกินร้อย

ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า sms หรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ โทรศัพท์มือถือ Smart Phone เดี๋ยวนี้ ทำอะไรได้มากมาย นอกจากเป็นโทรศัพท์ เอาไว้ติดต่อ โทรออก-รับสายแล้ว ยังใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ท่องเว็บไซต์ เล่นเกมส์ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ พูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนผ่าน Social Network หรือจะช็อปปิ้งซื้อของออนไลน์ก็สามารถทำได้ไม่ยาก จะดูหนัง ฟังเพลง ก็มีให้เลือกจนตาลาย หลายคนใช้แล้วก็ติดใจ เพราะมันทำให้ชีวิตมีสีสัน สะดวกสบาย และสนุกสนาน แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า “โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี” ทุกอย่างมีราคาที่เราต้องจ่าย บางคนได้รับบิลค่าโทรศัพท์แล้วแทบจะเป็นลม เพราะถูกเรียกเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตหลายพัน หลายหมื่น หรือบางรายโดนกันไปเป็นแสนบาท ก็เคยมีมาแล้ว   ปัญหาทำนองนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเจ้าโทรศัพท์ Smart Phone รุ่นใหม่ๆ นี่แหละ ด้วยความที่มันฉลาดแสนรู้ สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อคอยอัพเดท App ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีเพื่อนในโซเชียลเยอะๆ เดี๋ยวคนโน้นอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค เดี๋ยวคนนี้แชร์คลิปมาในไลน์ เผลอแปล๊บเดียวใช้อินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ซึ่งการใช้งานส่วนที่เกินจากแพ็คเกจที่สมัครไว้นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อแบบเหมาจ่าย Unlimited บริษัทมือถือจะคิดค่าบริการตามปริมาณข้อมูลที่ใช้งาน ราคาประมาณ 1 -2 บาท/MB ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละค่าย และเป็นแนวโน้มของแพ็คเกจ 4G ที่เราจะไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นเหมาจ่าย Unlimited เพราะโครงข่ายไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีพฤติกรรมต่อเน็ตทิ้งไว้ตลอดเวลา โปรโมชั่นของ 4G จึงมักจะกำหนดปริมาณข้อมูลที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ เช่น จ่าย 488 บาท เล่นเน็ตได้ 10 GB ส่วนเกินจากนี้คิดตามจริงเป็น MB ตามปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะโปรโมชั่นของ 3 G ที่ผ่านมา ที่เมื่อใช้เกินจะปรับลดความเร็วลงแต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่ม ใครที่ใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ปัญหาก็อาจจะไม่หนักมาก เพราะพอหมดเงินที่เติมไว้ โทรศัพท์มันก็ตัดบริการไปเอง แต่คนที่ใช้แบบรายเดือนจะเสี่ยงหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายจะเกิดขึ้นตามการใช้งานของคุณ ซึ่งบอกไว้เลยว่า มือถือ 4G นี่ ยิ่งเน็ตแรงเท่าไร โอกาสที่ค่าบริการจะพุ่งก็มีมากเท่านั้น เพราะยิ่งโหลดไว ผู้บริโภคก็ยิ่งเพลิน ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย อย่างดู youtube นี่ เมื่อคำนวณออกมาจะใช้เน็ตประมาณ 1.5 MB/นาที ถ้าค่าบริการ MB ละ 1 บาท ดู 1 ชั่วโมง ก็ต้องจ่าย 90 บาท แล้วเดี๋ยวนี้คนเราจ้องหน้าจอมือถือวันละกี่ชั่วโมงก็ลองนึกดูแล้วกันครับ ข่าวดีของผู้ใช้โทรศัพท์แบบรายเดือนก็คือ คุณสามารถควบคุมค่าใช้บริการได้โดยการกำหนดวงเงินค่าใช้บริการ เครดิตลิมิต (Credit Limit) โดยแจ้งกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้งานอยู่ว่าต้องการจำกัดวงเงินค่าบริการไว้ไม่ให้เกินกี่บาท ดังนั้นค่าบริการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่า smsหรือบางคนอาจจะมีค่าบริการจากการซื้อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เรียกเก็บมาในบิล รวมแล้วจะต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ เมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เต็มวงเงินบริษัทจะโทรศัพท์ หรือ sms มาแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า และเมื่อมีค่าใช้จ่ายเกินบริษัทก็จะระงับบริการชั่วคราวเอาไว้ก่อน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงินที่คุณกำหนดไว้ แต่หากวันดีคืนดีเกิดมีค่าใช้จ่ายเกินมา คุณก็สามารถร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมได้เคยมีมติให้บริษัทมือถือคิดค่าบริการกับผู้ร้องเรียนได้เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินกว่าวงเงินที่จำกัดไว้ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย 2G แล้ว เพียงแต่ที่ต้องหยิบมาเล่าให้ฟังอีกครั้งก็เพราะในยุค 4G นี้ โอกาสเกิดปัญหา Bill Shock จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตมันจะมีมากกว่า และความเสียหายจะร้ายแรงกว่า ดังนั้นลองหยิบใบแจ้งค่าใช้บริการของคุณมาตรวจสอบดูสิว่า ได้ระบุจำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ตรงกับที่คุณแจ้งหรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ผู้บริโภคจำได้ว่ากำหนดวงเงินค่าบริการไว้แค่ไม่กี่ร้อยบาท แต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเป็นพันบาท สอบถามไปจึงได้ความว่า บริษัทเห็นว่าเป็นลูกค้าชั้นดี จึงปรับเพิ่มวงเงินค่าบริการให้โดยพละการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย กำหนดเงื่อนไขของเครดิตลิมิตไว้แตกต่างกัน บางค่ายไม่รวมค่าบริการตามแพ็คเกจที่สมัครไว้ เช่น ค่าบริการตามแพ็คเกจ 488 บาท เครดิตลิมิตไว้ 1,000 บาทแบบนี้บริษัทก็จะมีสิทธิคิดค่าบริการได้ในวงเงินไม่เกิน 488 + 1,000 บาท ไม่ใช่ 1,000 บาทถ้วนตามที่เราเข้าใจทั่วไป แต่ส่วนที่เหมือนกันเกือบทุกค่ายก็คือ เครดิตลิมิต นี้จะไม่รวมค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ (International Roaming) ดังนั้น ลองศึกษาเงื่อนไขจากผู้ใช้บริการของคุณ แล้วกำหนดวงเงินค่าใช้บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ของคุณ รับรองว่าคุณจะไม่กระเป๋าฉีกเพราะค่าโทร ค่าเน็ตแน่นอน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 ไขความลับ 5 ข้อของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ประเทศไทยยามนี้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความหดหู่ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ร้านรวงต่าง ๆ ก็พลอยห่อเหี่ยวตามไปด้วย เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองขาดสภาพคล่อง หลายคนเริ่มต้องมองหาแหล่งเงินกู้ เอาไว้สำรองในภาวะฉุกเฉิน คนที่มีแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ที่พอจะขายหรือจำนำเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็ดิ้นรนกันไป แต่ทรัพย์สินอย่างรถยนต์นั้น เป็นของชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนทองคำ มิหนำซ้ำสำหรับบางคน รถยนต์ คือ เครื่องมือประกอบอาชีพ ขายไปแล้วก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ถ้ามีหนทางเปลี่ยนรถเป็นเงินสด เพื่อมาแก้ปัญหาความขัดสนเฉพาะหน้าไปก่อนได้ก็คงดี “ต้องการเงินสด รถคุณกู้ได้ อนุมัติไว ไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน แถมยังมีรถขับเหมือนเดิม”    โอ้โห !!! อะไรมันจะวิเศษอย่างนี้ หลายคนคงนึกในใจเวลาที่ได้ยินโฆษณาประเภท รถแลกเงิน เงินติดล้อ คาร์ฟอร์แคช ฯลฯ แหม มันดีเลิศประเสริฐศรี จนอยากจะขับรถไปกู้เงินให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย แต่ช้าก่อน วันนี้ ผมมีความลับ 5 ข้อ ของสินเชื่อประเภทนี้ มาบอกให้คุณรู้ ก่อนตัดสินใจไปกู้เงิน ความลับข้อที่ 1 ธุรกิจสินเชื่อ หรือ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ธุรกิจปล่อยเงินกู้” ประเภทรถแลกเงินนั้น มีชื่อจริงอย่างเป็นทางการว่า “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” เพราะเจ้าหนี้จะเก็บแค่สมุดจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักประกัน โดยไม่ได้ยึดรถไว้ ลูกหนี้จึงยังคงมีรถขับตามปกติ ความลับข้อที่ 2 คนที่จะขอสินเชื่อกลุ่มนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถในเล่มทะเบียน จะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ก็กู้ได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่ยังผ่อนไม่หมด รถติดไฟแนนซ์เจ้าหนี้จะไม่ให้กู้     ความลับข้อที่ 3 การจำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม แบบนี้คนที่มาขอสินเชื่อจะต้องทำสัญญาขายรถยนต์ของตนเองให้กับเจ้าหนี้ในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของรถรุ่นนั้น ๆ ที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป เมื่อเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถในเอกสารเล่มทะเบียนเรียบร้อย  เจ้าหนี้ก็จะเอารถที่เราเพิ่งขายไปนั่นแหละ มาให้ลูกหนี้ทำสัญญาเช่าซื้ออีกครั้งหนึ่ง กำหนดให้ผ่อนกี่งวด บวกดอกเบี้ยร้อยละเท่าไรก็ว่ากันไป ถ้าชำระครบ เจ้าหนี้ก็จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กลับมาเป็นของลูกหนี้     ดังนั้น ในระหว่างการผ่อนหนี้จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม คุณต้องรู้ว่า คุณไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอีกต่อไปแล้ว (แม้ที่ผ่านมาคุณจะผ่อนรถคันนั้นหมดไปแล้วก็ตาม) ตอนนี้คุณเป็นแค่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ถ้าขาดส่งค่าเช่าซื้อ 2 งวดเมื่อไร เจ้าหนี้ก็มีสิทธิมายึดรถไปได้ และที่สำคัญ ห้ามเอารถคันนี้ไปขายต่อเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ได้     ความลับข้อที่ 4 การจำนำทะเบียนแบบโอนลอย  แบบนี้จะไม่มีการทำสัญญาเช่าซื้อ แต่เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายรถยนต์แบบโอนลอยแทน คือเซ็นเอกสารสัญญาซื้อขาย เอกสารการโอนต่าง ๆ ไว้ครบถ้วนพร้อมโอนทะเบียนแล้ว เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของในสมุดจดทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายสัญญาซื้อขายนี้ เมื่อจ่ายเงินกันแล้วก็ถือว่าสมบูรณ์ กรรมสิทธ์ในรถเป็นของผู้ซื้อ (เจ้าหนี้) แล้ว แม้ว่าชื่อเจ้าของในเล่มทะเบียนยังเป็นชื่อของลูกหนี้ก็ตาม เพราะสมุดจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ความลับข้อที่ 5 สรุปว่าแม้ชื่อธุรกิจประเภทนี้จะเรียกว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่นิติกรรมสัญญาที่คุณทำกับเจ้าหนี้จริง ๆ แล้ว ถ้าเรียกกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ คุณทำสัญญาขายรถของคุณให้เจ้าหนี้ แล้วเจ้าหนี้ก็เอารถนั้นแหละมาเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมาเขาก็ยึดรถคันนั้นได้เลย นี่คือเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมเจ้าหนี้ สินเชื่อประเภทนี้จึง อนุมัติไว ไม่ต้องการคนค้ำประกัน เพราะ เจ้าหนี้มีความเสี่ยงน้อย แม้จะยึดแค่เล่มทะเบียนไว้ แต่จริง ๆ แล้วเขาได้กรรมสิทธิ์ในรถของลูกหนี้ไปแล้วทั้งคันต่างหาก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 เป็นคนดี เสียภาษีน้อยกว่า รู้ยัง

นับตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2559 เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประจำปี 2558 แฟนๆ ฉลาดซื้อยื่นแบบกันรึยังครับ สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะได้เงินภาษีคืน รีบยื่นแบบหน่อยก็ดีนะครับ เพราะหากไปยื่นช่วงโค้งสุดท้ายก็จะต้องรอนานนิดหนึ่ง ส่วนคนที่ดูแล้วว่าอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ได้เงินภาษีคืน ก็เลยยังนิ่งนอนใจอยู่ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะยังไงเกิดเป็นคนไทยมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีกันทุกคน ปี 2558 ผ่านไปแล้วยังไงก็แก้ไขไม่ได้ มาเริ่มต้นวางแผนภาษีปี 2559 กันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าครับ รับรองว่าปีหน้าคุณจะมีเงินเหลือติดกระเป๋ามากกว่าปีนี้แน่นอน     การวางแผนภาษีนี้ไม่ใช่การหนีภาษีนะครับ เพราะหนีภาษีหรือโกงภาษีนั้นมันผิดกฎหมาย แต่การวางแผนภาษี คือการใช้สิทธิต่าง ๆ มาลดหย่อน เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ได้รับเงินภาษีคืนมากขึ้น ซึ่งการวางแผนภาษีนี้ก็มีหลากหลายวิธี แต่คุณรู้ไหมครับว่า “การเป็นคนดี” ก็ช่วยให้คุณเสียภาษีน้อยลง      1. เป็นคนดีมีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ ถ้าคุณเป็นลูกที่ดีดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมิได้ทำงานมีเงินได้หรือมีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ทั้งพ่อแม่ของคุณหรือพ่อแม่ของแฟนคุณ(กรณียื่นภาษีร่วมกัน) ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ท่านละ 30,000 บาท สำหรับคนที่มีพี่น้องหลายคนก็ต้องพูดคุยตกลงกันนะครับว่าจะให้ใครเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนนี้ เพราะหากพ่อหรือแม่ออกหนังสือรับรองสิทธิลดหย่อนให้ลูกคนใดแล้ว ลูกคนอื่นก็จะมาใช้สิทธิซ้ำอีกไม่ได้     2. เป็นคนดีมีเมตตาดูแลคนพิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้ถึงคนละ 60,000 บาท ถ้าคุณดูแลคนพิการในครอบครัว (ซึ่งกฎหมายจำกัดสิทธิเฉพาะ คู่สมรส พ่อแม่ ลูกหรือลูกบุญธรรม) ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนคนละ 60,000 บาท และถ้าคุณรับอุปการะคนพิการอื่น ๆ อีก อันนี้กฎหมายให้สิทธิลดหย่อนได้อีก 1 คน แต่ทั้งนี้ในบัตรประจำคนพิการจะต้องระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแล     3. เป็นคนดีรู้จักเก็บออม ได้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถนำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ปีละไม่เกิน 10,000 บาทแล้ว ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์เดียวกับที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ     4. เป็นคนดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคเงินก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษี ถ้าบริจาคให้สถานศึกษาสามารถนำมาหักภาษีได้ถึงสองเท่าของเงินที่บริจาค ส่วนการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ นั้น จะต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลังจึงจะได้สิทธิลดหย่อนตามจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว     ถึงตรงนี้ก็อยากจะเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันบริจาคเงินให้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ซึ่งนอกจากคุณจะได้ส่วนลดทางภาษีแล้ว เงินของคุณยังช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ผ่านการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งในแต่ละปีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิฯ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน และยังยกระดับการทำงานคุ้มครองสิทธิไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม อาทิ การเรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินจากการใช้บริการกรณีฉุกเฉิน หรือการผลักดันให้มีการคิดค่าโทรศัพท์มือถือตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษ ซึ่งจะสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้มากกว่า 38,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง “ฉลาดซื้อ” ที่อยู่ในมือของท่านผู้อ่านขณะนี้ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้สู่ผู้บริโภค

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 4 วิธี ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ให้อุ่นใจแบบคุ้มค่า

ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ คงจะคุ้นหูกับคำว่า พรบ.รถยนต์ ,ประกันภัยชั้น 1 ,ชั้น 3 และคุ้นตากับสติ๊กเกอร์ประกันภัยที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ และทุกปีมีหน้าที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์     ถ้าเป็นประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย เบี้ยประกันก็อยู่ที่ปีละ 650 – 1,000 บาทต้น ๆ ไม่แพงมากนักเพราะกฎหมายควบคุมอัตราเบี้ยประกันไว้     ส่วนประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยชั้น 1 , ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้นั้น เบี้ยประกันอยู่ที่ปีละประมาณ 5 พันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับรถที่คุณใช้ ทุนประกันและความคุ้มครองที่คุณเลือก     ในกรณีที่เป็นรถประเภทเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบางคนจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกกว่า ทั้งที่ทุนประกันและความคุ้มครองก็ได้รับเท่ากัน นั่นเป็นเพราะแต่ละคนได้รับส่วนลดเบี้ยประกันไม่เท่ากัน การจะได้ส่วนลดมากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของแต่ละละบริษัท ว่าต้องการกระตุ้นยอดขายมากขนาดไหน แต่อีกส่วนก็ขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้บริโภคว่าจะเท่าทันตัวแทน นายหน้าประกันภัย ขนาดไหน ผมจึงอยากจะแนะนำ 4 เรื่องที่คุณควรรู้เพื่อการลดเบี้ยประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองแบบอุ่นใจและคุ้มค่าเงินเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย      1. ระบุชื่อคนขับให้ชัดเจน ลดได้ 5 -20 % เพราะรถที่ใช้โดยคนคนเดียว ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่ารถที่ขับกันหลายมือ ดังนั้น รถที่ใช้ในครอบครัว ถ้าระบุชื่อผู้ขับขี่ลงไปในกรมธรรม์จะลดเบี้ยประกันได้ และยิ่งถ้าคนขับมีอายุ มีวุฒิภาวะมากขึ้น ส่วนลดก็จะมากตาม     อายุ 18 -24 ปี ส่วนลดเบี้ย 5%    อายุ 25 – 35 ปี ส่วนลดเบี้ย 10%    อายุ 36 – 50 ปี ส่วนลดเบี้ย 15%    อายุ 50 ปี ขึ้นไป ส่วนลดเบี้ย 20%     แต่ต้องเตือนกันไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ที่ขับขี่รถยนต์ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ แบบนี้จะประกันจะไม่จ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในวงเงินไม่เกิน 8,000 บาท     2. ขับดี มีส่วนลด 20 -50 % การขับขี่รถอย่างระมัดระวัง ไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุแต่คุณมิได้เป็นฝ่ายผิด คุณมีสิทธิได้ส่วนลดเบี้ยประกันจากการมีประวัติที่ดี และส่วนลดจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในปีถัด ๆ ไป     ขับดีปีแรก ได้รับส่วนลด 20% เมื่อต่ออายุประกันปีต่อไป     ขับดี 2 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 30%     ขับดี 3 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 40%    ขัดดี 4 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 50%    เพื่อรักษาเครดิตส่วนลดนี้ บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเคลมประกัน หากคำนวณแล้วว่าการซ่อมเองคุ้มกว่าส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับ     3. รวมรถ ลดได้อีก 10% ถ้าคุณมีรถยนต์หลายคัน การทำประกันรถยนต์แบบกลุ่มตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป สามารถขอส่วนลดได้อีก 10%     4. รับความเสี่ยงไว้เองบางส่วน จ่ายเบี้ยน้อยกว่า หรือที่ภาษาประกันเรียกว่า การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก หมายความว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด คุณจะร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ในวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าคุณกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกไว้ 5,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องซ่อมรถที่เสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท คุณจะต้องจ่ายเงินค่าซ่อมเองก่อน 5,000 บาท ประกันถึงจะจ่ายส่วนที่เหลือ     การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกในลักษณะนี้ ก็สามารถเอามาเป็นส่วนลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายได้เช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่มีประโยชน์ที่จะทำประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ๆ กับบริษัทที่ไม่มั่นคงแต่พอถึงเวลาแล้วเคลมไม่ได้ อู่ซ่อมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบริการแย่ เพราะมันจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 บัตรเครดิต บัตรเดบิต ความเหมือนที่แตกต่าง

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะต้องมีบัตรเครดิต(Credit) หรือบัตรเดบิต(Debit) พกติดกระเป๋าสตางค์อยู่อย่างน้อยคนละหนึ่งใบ     ดูเผิน ๆ บัตรทั้ง 2 แบบนี้ก็หน้าตาคล้ายกัน ใช้รูดซื้อของหรือกดเงินสดได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีพื้นฐานต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าหนี้ – ลูกหนี้    เวลาที่คุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้าหรือเติมน้ำมันนั้น หมายความว่าคุณได้ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตให้ช่วยสำรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ให้ร้านค้าที่ใช้บริการไปก่อน แล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาคุณจะเอาเงินไปจ่ายคืนในทางกฎหมายคุณจึงมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร แต่คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อของได้ในวงเงินที่เจ้าหนี้ประเมินแล้วว่าคุณจะสามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้     ส่วนการใช้บัตรเดบิตนั้นจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ คุณต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร เมื่อใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้านั่นก็คือ คุณกำลังสั่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีของคุณไปให้กับร้านค้าที่คุณใช้บริการ ซึ่งถ้าเงินในบัญชีมีน้อยกว่าราคาของที่จะซื้อ คุณก็ไม่สามารถใช้บัตรเดบิตทำรายการนั้นได้ การใช้บัตรเดบิตจึงไม่เป็นการก่อหนี้ เครดิต – ความน่าเชื่อถือ    การสมัครบัตรเดบิตนั้น เพียงคุณมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารคุณก็สามารถใช้บริการได้แล้ว ส่วนการสมัครบัตรเครดิตนั้นจะยุ่งยากกว่า เพราะคุณต้องแสดงหลักฐานว่า คุณมีรายได้เท่าไร หน้าที่การงานมั่นคงหรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้บัตรเครดิตว่า คุณจะสามารถนำเงินมาชำระคืนได้ดังนั้น ใครที่มีบัตรเครดิตใช้ ก็แสดงว่าคุณมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่เจ้าหนี้เขาจะให้กู้เงิน ซึ่งถ้าบริหารหนี้เป็น ก็จะได้รับประโยชน์เช่น โทรทัศน์ราคา 20,000 บาท ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แบ่งจ่ายได้ 10 เดือน แต่สำหรับบัตรเดบิตคุณไม่สามารถใช้ผ่อนสินค้าแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้ ต้องถูกหักบัญชีเต็มจำนวนทันที หรือถ้าคุณมีเงินในบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท คุณก็ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อโทรทัศน์เครื่องนี้ไม่ได้ ความเสี่ยงภัย เมื่อบัตรถูกโจรกรรม    บัตรเดบิตนั้น ผูกติดกับบัญชีเงินฝากของคุณ นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่เอาบัตรเดบิตของคุณไปรูดซื้อสินค้า เงินในบัญชีก็จะถูกตัดไปทันที ซึ่งถ้าอยากได้เงินคืน คุณก็ต้องขวนขวายไปติดต่อธนาคารหาหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน ซึ่งถ้าการเรียกร้องเงินคืนยุ่งยากเท่าไร คุณก็ยิ่งเสียเปรียบเท่านั้น จนบางครั้งอาจจะท้อใจ ไปกับระยะเวลาที่เนิ่นนานและค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนที่สูงเกินกว่ามูลค่าเงินที่หายไป     ในขณะที่การใช้บัตรเครดิตนั้น เป็นธุรกรรมที่ธนาคารได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนตามที่มีรายการแจ้งมา ดังนั้น เมื่อบัตรถูกขโมยไปใช้ คุณก็มีหน้าที่แค่แจ้งธนาคารว่า ไม่ได้เป็นคนใช้บัตรเครดิตทำรายการนั้น ถ้าธนาคารไม่เชื่อก็ต้องหาทางพิสูจน์เองว่าใครเป็นคนใช้บัตรเครดิต หรือหาทางฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งเป็นภาระของธนาคาร แม้จะทำให้คุณต้องวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ก็ยังดี เพราะว่าคุณยังไม่ต้องเสียเงินจากกระเป๋า     ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม    บัตรเดบิตนั้นเป็นการใช้เงินจากบัญชีของคุณเอง ดังนั้น จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยจากการรูดซื้อสินค้า ส่วนบัตรเครดิตนั้นเป็นการกู้ยืมเงินทดรองจ่าย จึงต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตามจำนวนที่คุณใช้ แต่บัตรเดบิตส่วนใหญ่ ก็จะคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ จากผู้ถือบัตร เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินข้ามเขตหรือเบิกถอนเกินจำนวนครั้งที่กำหนด จะหยิบบัตรไหนมาใช้ในครั้งต่อไป ก็เลือกให้ดี คิดให้รอบคอบนะครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 รถติดไฟแนนซ์ ห้ามเบี้ยว ห้ามทำหาย ห้ามขายต่อ

เศรษฐกิจฝืดเคืองเยี่ยงนี้ ใครที่ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่แล้ว เริ่มช็อต หมุนเงินไม่ทัน โปรดอ่านโดยพลัน 1.    ถ้าคุณทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ แล้วอยู่ในระหว่างผ่อนค่างวดอยู่ โปรดรู้ว่าคุณยังไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอย่างแท้จริง เพราะตามกฎหมายคุณเป็นแค่ “ผู้เช่าซื้อ” ซึ่งมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถเท่านั้น ตราบใดที่คุณผ่อนหมดนั่นล่ะคุณถึงจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์2.    การผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้ออาจเกิดขึ้นได้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด คุณอาจจะค้างค่างวด หรือจ่ายค่างวดช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่จำไว้ว่า “ห้ามเบี้ยว ผิดนัดจ่ายค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน” เพราะไฟแนนซ์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แล้วมายึดรถคืนไปได้ ถ้าหากไฟแนนซ์ไหน เขียนสัญญาเช่าซื้อต่างไปจากนี้ ก็ไม่มีผลในทางกฎหมาย เพราะ สคบ.เขามีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 คุ้มครองผู้เช่าซื้ออยู่ 3.    ในฐานะผู้เช่าซื้อ ผู้ครอบครองรถ คุณต้องใช้สอย ดูแลรักษารถยนต์ที่เช่าซื้อมาให้ดี “ห้ามทำหาย” แต่ถ้าเกิดโชคร้ายจริง ๆ รถที่เช่าซื้อมาถูกขโมยไป คำถามที่พบบ่อยก็คือ แล้วจะต้องจ่ายค่างวดที่เหลือต่อจนครบสัญญาไหม ข้อนี้ในทางกฎหมาย(ประกาศ สคบ. ฉบับข้างต้น) บอกเลยว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อมาหายไป ก็ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุด คุณไม่ต้องผ่อนกุญแจรถต่อ แต่อย่าเพิ่งสบายใจไป คุณยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไฟแนนซ์อยู่ดี 4.    สำหรับคนที่ผ่อนต่อไม่ไหวแล้วคิดจะเอารถไปขายต่อคนอื่น ขอให้ทบทวนให้ดี เพราะคุณในฐานะคนเช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิเอารถไปขายคนอื่นได้ ถ้าเจ้าหนี้เขารู้ขึ้นมา คุณอาจโดนคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้ ดังนั้น “ห้ามขาย” รถติดไฟแนนซ์แต่ถ้าเป็น “การขายดาวน์” หรือ “ขายสิทธิการเช่าซื้อ” หาคนมาผ่อนรถต่อจากคุณแบบนี้ ทำได้นะครับ แต่ต้องแจ้งไฟแนนซ์ให้รับรู้และทำสัญญาใหม่แก้ไขเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อให้ถูกต้อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 174 หลักประกันสุขภาพ

1. การลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ต้องทำอย่างไรเอกสารลงทะเบียน1)    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)2)    สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ หนังสือรับรองการพักอาศัยสถานที่ลงทะเบียน ในวันเวลาราชการต่างจังหวัด : สถานีอนามัย/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกรุงเทพฯ : ติดต่อที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร             สอบถามเขตที่เปิดให้บริการ โทร.สายด่วน สปสช.1330การลงทะเบียนคนพิการ (ท.74)คนพิการผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่ยังไม่ได้ระบุสิทธิย่อย ท.74 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ต้องนำในรับรองความพิการจากแพทย์หรือแสดงบัตรคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ลงทะเบียน ณ สถานที่รับลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพได้2. การขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ต้องทำอย่างไร         หน่วยบริการ  หมายถึง โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข  สถานพยาบาลของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหน่วยบริการปฐมภูมิ/หน่วยบริการประจำ  หมายถึง  หน่วยบริการที่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพเลือกลงทะเบียนเพื่อรับบริการสาธารณสุขเป็นประจำ  โดยทั่วไปจะเป็นหน่วยบริการที่มีสถทนที่ตั้งใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพการขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ   นำบัตรประจำตัวประชาชน ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย/โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  หรือสำนักงานเขตของกทม.ที่เปิดรับลงทะเบียนในวันเวลาราชการ  โดยมีสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (ตุลาคมถึงกันยายนของปีถัดไป)การเข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการแห่งใหม่ สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง) ได้หลังแจ้งความจำนงเปลี่ยนหน่วยบริการประมาณ 1 เดือน  โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่สายด่วน สปสช. 1330

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 173 ระวังหนี้เพิ่มจาก โปรโมชั่น ผ่อน 0%

เศรษฐกิจยามนี้ ฝืดเคืองเหลือเกิน เมื่อคนไม่ซื้อของ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ต้องัดกลวิธีทุกวิถีทางเพื่อเรียกลูกค้า หนึ่งในกลยุทธ์ที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือ “ผ่อนดอกเบี้ย 0%” ซึ่งเดี๋ยวนี้ เราสามารถใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% ได้เกือบ ทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่ โทรศัพท์ , TV , ตู้เย็น , ยางรถยนต์ ไปจนกระทั่งทัวร์ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ยังมีโปรผ่อน 0%       “Oh Wow อะไรมันจะดีอย่างนี้ ผ่อน 0% ตั้ง 10 เดือน จ่ายน้อย ผ่อนนาน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โอกาสแบบนี้รีบคว้าเลย” หลายคนตาเป็นประกาย เตรียมหยิบบัตรเครดิตออกมารูดแล้วใช่ไหม แต่ช้าก่อน ลองทบทวนดูอีกทีว่า “โปรผ่อน 0%” นี้จะเป็น โอกาสทอง หรือ กับดัก ตัวอย่าง เช่น Smartphone รุ่นใหม่ ตัว Top ราคา 24,000 บาท มีโปรโมชั่นให้ผ่อนได้นาน 12 เดือนดอกเบี้ย 0% เมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต แว๊บแรกในความคิดแรกของคนทั่วไปเมื่อเห็นโปรโมชั่น 0% แบบนี้คือ โทรศัพท์ราคา 24,000 บาท ผ่อน 12 เดือน ไม่เสียดอกเบี้ย ก็แบ่งจ่ายแค่เดือนละ 2,000 บาท แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ เราไม่ได้ใช้บัตรเครดิตแค่รายการเดียวน่ะสิ แต่ละเดือนเราอาจจะใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้า จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าอาหารร้านอร่อย ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ รวมกันหลายรายการ สมมุติว่า ผ่อน Smartphone 2,000 บาท + กินใช้อื่น ๆ 5,000 บาท ยอดที่เรียกเก็บมาในเดือนนั้นจะเท่ากับ 7,000 บาท และโดยปกติบัตรเครดิต จะกำหนดยอดขั้นต่ำเท่ากับ ยอดผ่อนสินค้าบวกกับ 10% ของยอดที่ใช้บัตร จากตัวอย่างก็จะเท่ากับ 2,500 บาท (2,000 + 10% ของ 5,000) 1.    ถ้าคุณชำระเต็มตามยอดที่เรียกเก็บมาทั้งหมด แบบนี้คุณก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใด ๆ ทั้งสิ้น2.    ถ้าคุณชำระเต็มตามจำนวนที่เรียกเก็บไม่ได้ ก็ขอให้จ่ายเกินกว่าหรือเท่ากับยอดขั้นต่ำที่เรียกเก็บมา 2,500 บาท เพราะกรณีนี้ แม้คุณจะยังต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่คุณรูดบัตรเครดิตเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งยังชำระไม่ครบ แต่ในส่วนยอดผ่อน Smartphone 0% ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย3.    แต่ถ้าคุณผิดนัดไม่จ่ายหนี้ หรือชำระได้น้อยกว่ายอดขั้นต่ำ เช่น 2,000 บาท แม้จะเท่ากับยอดผ่อน 0% ที่เรียกเก็บมา แต่กรณีนี้คุณจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้งในส่วนที่ผ่อน Smartphone แม้จะมีโปรโมชั่น 0% และเสียดอกเบี้ยในส่วนที่ใช้บัตรเครดิตรูดจ่ายค่ากินใช้อื่น ๆ ด้วยสรุป มีเพียงกรณีเดียวที่คุณจะได้รับประโยชน์จากโปรโมชั่น “ผ่อน 0%” อย่างเต็มที่ นั่นคือ ต้องชำระเต็มตามจำนวนที่บัตรเครดิตเรียกเก็บทุกครั้ง และที่นี้รู้ยังว่า บริษัทบัตรเครดิตทำกำไรได้อย่างไรจาก “โปรโมชั่นผ่อน 0%”  เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจควักกระเป๋าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็มีโอกาสทำกำไรจากการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเครดิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 172 ความประมาทเป็นหนทางสู่ความตาย ... อย่างช้าๆ

งานสำรวจของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค Consumers International พบว่า คนส่วนใหญ่ยังคงประเมินอันตรายจากการกินอาหารหวาน มัน เค็ม ต่ำเกินไป ข้อมูลของสถาบันการประเมินและเมตริกสุขภาพที่ศึกษาข้อมูลการศึกษาภาระที่จากโรค ในปี 2010 พบว่า การกินแบบตามใจปากนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนถึง 11.3 ล้านคน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 675,000 ล้านบาท) จำนวนประชาการที่เสียชีวิตเพราะ “อาหารการกิน” นั้นอาจสูงกว่าสงคราม การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เอชไอวี/เอดส์ หรือมาลาเรียด้วยซ้ำ    Consumers International ได้สำรวจการรับรู้ผลกระทบของนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ดีของผู้บริโภคใน 6 ประเทศ (เนเธอร์แลนด์ อเมริกา จีน บราซิล อินเดีย และอียิปต์) จำนวน 2,988 คนผ่านการตอบแบบสอบถามออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ผู้คนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาภาวะโภชนาการไม่ดี เมื่อเทียบกับสาเหตุการตายอื่นๆ คุณคิดว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้คนทั่วโลกคืออะไร       ในภาพรวม สิ่งที่ผู้คนในแต่ละประเทศเชื่อว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือ สงคราม ตามด้วยการสูบบุหรี่ และอาหารการกิน แต่ถ้าดูเป็นรายประเทศจะพบว่าผู้คนในประเทศจีน เนเธอร์แลนด์ และบราซิล เชื่อว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือสงคราม  ในขณะที่คนในประเทศอียิปต์ อินเดีย และอเมริกาเชื่อว่าสาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือการสูบบุหรี่      คุณคิดว่าอาหารการกินที่ดีมีความสำคัญต่อตัวคุณและครอบครัวมากน้อยเพียงใด    โดยรวมแล้วผู้คนมากกว่าร้อยละ 75 ตอบว่าสำคัญมาก มีเพียงอเมริกาและเนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่ผู้คนแค่ประมาณร้อยละ 50 ตอบว่าเรื่องนี้สำคัญมาก จึงนำไปสู่การสอบถามเรื่องการรณรงค์ และเป็นที่น่ายินดีที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนการรณรงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เมื่อทราบข้อมูลเรื่องอันตรายที่แท้จริงจากอาหารการกินที่ไม่ดีแล้ว ท่านยินดีที่จะสนับสนุนการรณรงค์ลดระดับน้ำตาล เกลือ และไขมันในอาหารหรือไม่        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point