ฉบับที่ 192 อวสานรถตู้ 2562 ทำจริงหรือแค่ขู่ ???

สลดรับปีใหม่ 2 มกราคม 2560 อุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี-กรุงเทพ คันหมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร เสียหลักพุ่งข้ามถนนชนรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน 1ฒณ 2483 กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณทางหลวงสาย 344 กม.26 ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุรวม 25 คน และบาดเจ็บ 2 คนเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนกลับไปในปี 2559 จะพบว่า มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารไฟไหม้ถึง 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 20 ราย บาดเจ็บรวม 17 รายจากความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้ นำไปสู่การออกมาตรการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคมชนิดไม่มีใครตั้งตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารประจำทาง กับการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการในเส้นทาง กรุงเทพ - ต่างจังหวัด และหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จำนวน 6,341 คัน เป็นรถไมโครบัส เริ่มต้นตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยให้ครบทุกคันภายในปี 2560รวมถึงการออกประกาศเพิ่มเติมของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ที่ต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถก่อนการตรวจสภาพรถเพื่อต่ออายุทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่บังคับให้รถตู้โดยสารร่วมให้บริการกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ต้องติดตั้ง GPS Tracking ให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐประกาศผ่านสื่อว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะอย่างเด็ดขาดจริงจังแต่หากยังจำกันได้ ปัญหารถตู้โดยสารไม่ได้เพิ่งจะมาแก้ไขเอาในรัฐบาลชุดนี้ ในอดีตอย่างน้อย 2 รัฐบาล ล้วนเคยพยายามที่จะจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางมาแล้ว ปี 2553 ยุคนายโสภณ ซารัมย์ เป็น รมว.คมนาคม ได้ออกนโยบายมุ่งแก้ปัญหารถตู้ผิดกฎหมายด้วยการนำรถตู้ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบปี 2556 ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ เป็น รมว.คมนาคม มุ่งเน้นการปราบรถตู้เถื่อน การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยและเริ่มแนวคิดการติดตั้ง GPS ในรถโดยสารสาธารณะ ปี 2557 รัฐบาล คสช หันมาจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางด้วยการดึงรถตู้ผิดกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมากให้เข้าสู่ระบบอีกครั้งจากความพยายามในอดีตจะเห็นได้ว่า การจัดการกับปัญหารถตู้โดยสารทั้งที่ถูกกฎหมายและรถผิดกฎหมายหรือรถผีรถเถื่อนนั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศชัดเจนว่าจะทยอยยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดภายในปี 2562 นั้น ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบว่าจะทำได้แค่ไหนหากดูจากจำนวนปริมาณรถตู้โดยสารทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบกมากถึง 16,002 คัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรถเพียงคันเดียว และไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเปลี่ยนรถไมโครบัสที่มีราคาสูงกว่ารถตู้ถึง 2 เท่า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือของรัฐ นอกจากนี้หากเจาะลึกลงในธุรกิจรถตู้โดยสารประจำทางก็จะพบว่า มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล หรือคนในเครื่องแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการประกาศยกเลิกรถตู้โดยสารประจำทางให้หมดไปภายในปี 2562 จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้จริงแม้ตอนนี้ที่ทุกฝ่ายเหมือนจะยอมรับกันได้แล้วว่า สภาพโครงสร้างของรถตู้โดยสารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมในการนำมารับขนคนโดยสาร ไม่ว่าประตูทางเข้าออกมีทางเดียว ประตูฉุกเฉินด้านหลังใช้ไม่ได้ กระจกมีขนาดเล็ก ติดตั้งถังก๊าซ เพิ่มจำนวนที่นั่ง ฯลฯ ซึ่งการการกำจัดจุดอ่อนอย่างรถตู้โดยสารประจำทางเป็นรถไมโครบัสอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบด้านความปลอดภัยที่ทุกคนถามหา หากกฎกติกายังมีช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ ความสูญเสียที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทก็คงจะเกิดขึ้นต่อไปต่อจากนี้คงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามว่าปัญหารถตู้โดยสารจะหมดไปภายในปี 2562 จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการขู่ดังๆให้ทุกฝ่ายรู้สึกตัวว่าต่อจากนี้จะเอาจริงแล้วนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 อุบัติเหตุรถโดยสารมากสุดปี 2559 รถตู้ครองแชมป์

นี่คือยุคของ “รถตู้โดยสารสาธารณะ”  ที่ทุกวันนี้กลายเป็นพาหนะเดินทางที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด รถตู้กลายเป็นรถประจำทางในเกือบทุกเส้นทางรอบกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเส้นทางระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามความสะดวกสบายจากทางเลือกใหม่นี้ ไม่ได้มาพร้อมกับความปลอดภัย เมื่อดูจากสถิติจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ หรือสภาพของรถตู้โดยสารบางคันที่ไม่เหมาะจะเป็นรถขนส่งสาธารณะ หรือรถตู้เถื่อนที่แอบวิ่งรับส่งคน ในเส้นทางที่มีระยะทางไกลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของเครือข่ายเฝ้าระวังอุบัติเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2559 พบว่า “รถตู้โดยสาร ” มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมากถึง  215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน  บาดเจ็บ  1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน  มีผู้เสียชีวิต  103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน  สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทในการขับรถของผู้ขับขี่  และสาเหตุความรุนแรงของการบาดเจ็บและเสียชีวิต เกิดขึ้นจากสภาพของรถตู้โดยสารดัดแปลงที่ไม่เหมาะกับการบรรทุกผู้โดยสาร และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะที่รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่อปีตามลำดับดังนี้ รถทัวร์โดยสารประจำทาง 141 ครั้ง  มีผู้บาดเจ็บ 1,252 คน เสียชีวิต 56 คน รถทัวร์โดยสารไม่ประจำทาง 52 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 576 คน เสียชีวิต 47 คน   รถแท็กซี่ 77 ครั้ง บาดเจ็บ 84 คน เสียชีวิต 7คน  และรถเมล์โดยสาร 48 ครั้ง บาดเจ็บ 75 ครั้ง เสียชีวิต 10 คน (ปัจจุบันมีรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559  จำนวน 156,089 คัน   โดยเป็นรถตู้โดยสารจำนวน  41,202 คัน  แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน  รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน)สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบว่าเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้ง คน รถ และถนน  เช่น พฤติกรรมเสี่ยงและความประมาทของผู้ขับขี่  โครงสร้างรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในรถตู้โดยสารและรถโดยสารสองชั้น  รูปแบบถนนและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อการขับขี่ของรถโดยสาร  ความไม่พร้อมและการไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการของผู้ประกอบการ ฯลฯ  และแม้ว่า กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่จากการสำรวจคุณภาพความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางทั้งรถตู้และรถทัวร์โดยสารในช่วงปี 2558  ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้   ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด  การบรรทุกผู้โดยสารเกิน  โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง  ซึ่งสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันที่ยังพบปัญหาลักษณะดังกล่าวอยู่  จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค  การละเลยเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ และการขาดความต่อเนื่องในการกำกับดูแลของรัฐที่จริงจัง ชัดเจน ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นจึงจะมีการตื่นตัว แต่พอไม่นานเรื่องก็ซาไป โจทก์จึงอยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบเพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะร่วมกัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 3)

บริการโทรคมนาคม มือถือ อินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ สมัครง่ายแต่เลิกยาก เพราะทุกบริษัทมัวแต่แข่งกัน หาลูกค้า จนอาจลืมใส่ใจพัฒนาคุณภาพบริการให้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลายคนอยากยกเลิกบริการที่ใช้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทจะมีข้ออ้างสารพัดที่จะปฏิเสธ ไม่ให้เรายกเลิกบริการได้ง่าย ๆ ซึ่งผมได้แนะนำวิธีรับมือไว้ 2 ตอนแล้ว สรุปสั้น ๆ อีกครั้ง ก็คือ คุณสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้ โดยการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้บริษัทรับรู้ จะส่งจดหมาย แฟกซ์ หรือ อีเมล์ ก็ได้ทั้งนั้น แค่แจ้งแล้วจบเลย สำหรับคนที่ใช้แบบรายเดือน (Post Paid) เมื่อจะยกเลิกบริการ จะมีประเด็นเรื่องการคิดค่าบริการเดือนสุดท้ายที่ต้องดูให้ดี เพราะรายการส่งเสริมการขายทุกวันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นแพ็คเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน เช่น จ่าย 540 บาท โทรฟรีได้ 550 นาที และเล่นเน็ตได้ไม่อั้น ค่าโทรส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้าคุณจะยกเลิกบริการในระหว่างที่ยังไม่ครบรอบบิล คำถามคือ คุณจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวนไหม โดยหลักทั่วไป คำตอบ คือ จ่ายตามสัดส่วนการใช้งานจริง ไม่ต้องจ่ายเต็มแพ็คเกจ เช่น ถ้ายกเลิกบริการตอนครึ่งเดือน ก็จ่ายแค่ครึ่งเดียว 270 บาท แต่ในชีวิตจริง มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเสียเปรียบบริษัท พอรู้ว่าจะกลางเดือนนี้จะยกเลิกบริการ ก็เลยใช้สิทธิโทรเต็มที่ โทรไป 540 นาที แต่ปรากฏว่าโดนบริษัทคิดค่าบริการเพิ่ม โดยอ้างว่าใช้บริการครึ่งเดือน บริษัทก็ลดค่าบริการให้ครึ่งหนึ่งแล้ว แต่สิทธิในการใช้บริการโทรฟรีก็ต้องลดลงครึ่งหนึ่งเช่นกัน จึงเหลือสิทธิโทรฟรีแค่ 275 นาที ดังนั้น ส่วนที่เกินไป 265 นาที จะต้องจ่ายในอัตรานาทีละ 1.50 บาท ต้องจ่ายเพิ่มอีก 397.50 บาทสรุปว่า ลูกค้าใช้แพ็คเกจ 540 บาท/เดือน แต่พอยกเลิกบริการระหว่างรอบบิล กลายเป็นว่าต้องจ่ายเงิน 667.50 บาท ซึ่งแพงกว่าแพ็คเกจที่ใช้งานเต็มเดือนซะอีก งานนี้จึงมีการร้องเรียนว่าบริษัทคิดค่าบริการเกิน เขาควรจ่ายแค่ 270 บาทเท่านั้น เพราะยังโทรไม่เกินแพ็คเกจเลย ซึ่งบริษัทก็โต้แย้งว่า ถ้าจ่ายค่าบริการแค่ครึ่งเดียวแต่ใช้สิทธิเต็มที่ขนาดนี้เขาก็เสียเปรียบเหมือนกันตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องจริงนะครับ ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า บริษัทมีสิทธิปรับลดระยะเวลาการโทรฟรี และคิดค่าบริการแบบเฉลี่ยตามสัดส่วนวันที่มีการใช้งานจริง (คือ มีสิทธิคิดค่าบริการแค่ 270 บาท และลดสิทธิโทรฟรีเหลือแค่ 275 นาที) แต่ในกรณีนี้ บริษัทจะคิดค่าบริการในส่วนที่เกินจากสิทธิโทรฟรีโดยเฉลี่ยในอัตรา 1.50 บาท/นาที ไม่ได้ เพราะผู้ร้องเรียนมิได้ใช้สิทธิโทรฟรีเกินจากแพ็คเกจ (ผู้ร้องเรียนใช้โทรศัพท์ไป 540 นาที เกินจากสิทธิโดยเฉลี่ยไป 265 นาที แต่ไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจทั้งหมด 550 นาที) ค่าโทรในส่วนที่เกินสิทธิการใช้งานโดยเฉลี่ย จะต้องคิดในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย คือ คิดตามราคาที่แท้จริงของบริการที่มีการใช้งาน สำหรับแพ็คเกจที่รวมทั้งค่าโทรและค่าเน็ตไว้ด้วยกัน ก็ต้องแยกแยะว่าค่าบริการแต่ละประเภท คิดอัตราเท่าไร ซึ่งอาจจะซับซ้อนหน่อยแต่สามารถทำได้ครับ โดยสรุป ตามตัวอย่างที่ยกมา อัตราค่าโทรในแพ็คเกจจะอยู่ที่ประมาณ 0.23 /นาที ดังนั้นส่วนที่เกินมาจากสิทธิโดยเฉลี่ย 265 นาที จะต้องคิดในอัตรานาทีละ 0.23 บาท ซึ่งเป็นเงินแค่ 60.95 บาท สรุปว่า ผู้บริโภคต้องจ่าย 270 + 60.95 = 330.95 บาท แต่บริษัทคิดเงินไป 667.50 บาท ก็ต้องคืนส่วนต่างให้ผู้บริโภคส่วนใครที่ใช้บริการแบบเติมเงิน (Pre Paid) เมื่อยกเลิกบริการก็จะไม่ต้องวุ่นวายกับการคิดคำนวณค่าบริการเดือนสุดท้าย แต่อย่าลืมตรวจสอบว่ามีเงินคงเหลือในระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเงินเหลือ คุณสามารถขอคืนจากผู้ให้บริการได้นะครับ เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ ในข้อ 34 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 “เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการคืนเงินดังกล่าว เมื่อผู้ให้บริการได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ใช้บริการหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้บริการคืนเงินภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกสัญญาทั้งนี้ การคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้ กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถคืนเงินค้างชำระให้แก่ผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ให้บริการจะต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่จะเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น” ก็เป็นอันว่า ถ้าทำตามคำแนะนำทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมา ก็รับรองว่า ท่านผู้อ่านจะสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้แบบ Happy Ending แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 2)

ตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำวิธียกเลิกบริการโทรคมนาคมแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล นั่นก็คือ การบอกเลิกสัญญาโดยทำเป็นหนังสือส่งถึงบริษัท ซึ่งจะส่งทางจดหมายไปรษณีย์ อีเมล์ หรือ แฟกซ์ ไปก็มีผลตามกฎหมายเหมือนกัน วิธีนี้สะดวกและประหยัดสุดเพราะทำการยกเลิกจากที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการและไม่ต้องเสียอารมณ์กับลูกตื้อกวนใจของพนักงานที่สำคัญ จำไว้นะครับ การโทรศัพท์ไปแจ้งยกเลิกบริการกับ call center ไม่มีผลในทางกฎหมาย ต้องแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ ปัจจุบัน บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต มักจะมีรายการส่งเสริมการขายที่ผูกสัญญาให้ลูกค้าต้องใช้บริการอย่างน้อยกี่เดือน กี่ปีก็ว่ากันไป เช่น ซื้อโทรศัพท์รุ่นยอดฮิตได้ในราคาพิเศษ แต่ต้องใช้บริการนาน 2 ปี หรือสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ต ฟรีค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้ง ถ้าใช้บริการครบ 1 ปี เป็นต้นเมื่อสมัครใช้บริการแล้ว แต่มีเหตุจำเป็น ต้องยกเลิกบริการ เช่น ต้องย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงาน หรือใช้บริการแล้วคุณภาพสัญญาณไม่ดี ฯลฯ กรณีแบบนี้ หลายคนสงสัยว่า จะยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดได้ไหม และจะต้องเสียค่าปรับ หรือไม่1. เรื่องนี้ โดยหลักการแล้ว “ผู้ใช้บริการ มีสิทธิบอกเลิกสัญญาใช้บริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้” (รายละเอียดหาอ่านได้ในตอนที่แล้ว) และกรณีจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมอุปกรณ์โทรคมนาคมในราคาพิเศษ ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิคิดค่าปรับ ถ้าผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ให้บริการได้ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ ในขณะที่ส่งมอบเพื่อประโยชน์ในการใช้บริการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการจะถือเอาเหตุดังกล่าวมากำหนดเป็นเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้บริการหรือเรียกเก็บค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดมิได้ผู้ใช้บริการที่ได้รับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว และต้องส่งคืนให้แก่ผู้ให้บริการเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง หากผู้ใช้บริการก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์นั้น ผู้ให้บริการมีสิทธิเรียกให้ผู้ใช้บริการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแก่เครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินกว่าราคาตลาดของค่าอุปกรณ์ดังกล่าวในขณะนั้น ในกรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะคิดค่าใช้จ่ายจากการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งจากผู้ใช้บริการ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด2. แม้ผู้ใช้บริการจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด แต่เพื่อความเป็นธรรมสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย สิทธิประโยชน์ที่บริษัทเขาให้มาอาทิ ส่วนลดค่าเครื่องต่าง ๆ ตามโปรโมชั่น ถ้าใช้บริการไม่ครบตามสัญญา ก็ต้องคืนเขาไป เช่น แพ็กเกจรายเดือน 599 บาท รับส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์ 3,000 บาท เมื่อใช้บริการครบ 6 เดือน ถ้าเกิดใช้บริการไปได้ 3 เดือน แล้วเกิดเหตุต้องยกเลิกบริการ ก็สามารถยกเลิกบริการได้ แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องคืนส่วนลดค่าเครื่องตามสัดส่วนที่ใช้งานไป ถ้าตามตัวอย่างนี้ แทนที่จะได้ส่วนลดค่าเครื่องเต็ม 3,000 บาท ก็เหลือแค่ 1,500 บาท แต่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือนส่วนที่เหลือ3. ในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อต้องยกเลิกบริการก่อนครบกำหนดก็คือ บริษัทผู้ให้บริการจะคิดค่าปรับ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งที่ได้ยกเว้นให้คืน กรณีนี้ นอกจากบริษัทจะคิดค่าปรับไม่ได้เพราะขัดกับข้อ 15 แล้ว ก็ยังไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตั้งย้อนหลังได้ด้วย แม้สัญญาใช้บริการจะระบุเอาไว้อย่างนั้น ก็ไม่มีผลบังคับใช้เพราะตามกฎหมาย สัญญาบริการโทรคมนาคมไม่ว่ามือถือ หรืออินเทอร์เน็ต จะมีผลบังคับใช้ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.ก่อน และที่ผ่านมา กสทช. ไม่เคยอนุญาตให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด หากผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลเรื่องของการยกเลิกบริการ ยังไม่จบนะครับ เพราะจะเลิกกันโดยสมบูรณ์ก็ต้องจ่ายค่าบริการให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้น ตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า ค่าบริการรอบสุดท้ายจะต้องจ่ายเท่าไร ถึงจะเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 1)

“บอกเลิก” อย่างไรให้ได้ผล เห็นจั่วหัวอย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นคอลัมน์ปรึกษาปัญหาความรักนะครับ เพราะ “วิธีการบอกเลิก” ที่ผมจะแนะนำนี้ เอาไว้ใช้ยกเลิกบริการโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน หรือบริการอินเทอร์เน็ต อย่าเอาไปใช้กับคนข้าง ๆ นะครับ ไม่รับประกันความปลอดภัยเวลาที่เราต้องการยกเลิกบริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่สมัครไว้ บรรดาบริษัทผู้ให้บริการทั้งหลายก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเหนี่ยวรั้งลูกค้าเอาไว้ อาจจะด้วยการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ ลดราคาค่าบริการให้ หรือบางทีก็จะยกเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญามาอ้าง ไม่ให้เรายกเลิกบริการ เช่น รับเครื่องฟรีไปแล้วต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา , ยกเลิกบริการที่นี่ไม่ได้ ต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ , ถ้าจะยกเลิกบริการต้องเสียค่าปรับ ค่าติดตั้ง ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ผู้บริโภคหลายคนเจอบริษัทใช้ลูกไม้นี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องทนใช้บริการต่อไปก็มี หนักกว่านั้นคือ บางคนยอมจ่ายค่าบริการไปเรื่อยๆ ให้ครบตามสัญญา เพราะกลัวถูกปรับ ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการแล้วประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ข้อ 72  ผู้ใช้บริการมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที            (1)  ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการ ได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ            (2) ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา            (3) ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย            (4) ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ ซึ่งมีผลเป็นการลดสิทธิหรือประโยชน์อันพึงได้รับของผู้ใช้บริการลง เว้นแต่เกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติถ้าคุณต้องการจะยกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคม ลองทำตามนี้ครับสิทธิในการยกเลิกบริการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณต้องใช้บริการที่คุณไม่ต้องการ ซึ่งกฎหมายก็รับรองสิทธิข้อนี้ของผู้บริโภคไว้กรณีศูนย์บริการจังหวัด ซึ่งทำได้ทุกอย่าง เปิดเบอร์ เปลี่ยนโปรโมชั่น รับชำระค่าบริการ แต่พอจะเลิกใช้บริการกลับบอกให้ไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพฯ โอ้ว...แม่เจ้า ฟังแล้วของขึ้นถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปสำนักงานใหญ่นะครับ แค่เขียนจดหมายน้อยฉบับเดียวเขียนถึง กรรมการผู้จัดการบริษัท แจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ต้องการจะเลิกใช้บริการ อาจจะให้เหตุผลประกอบไปด้วยก็ได้ว่าทำไมเราถึงต้องการยกเลิกบริการ เช่น คุณภาพบริการไม่ดี มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ ฯลฯ และแนบสำเนาใบเสร็จการชำระค่าบริการเดือนสุดท้ายไปเป็นหลักฐาน แล้วก็ส่งไปถึงบริษัทจะทางไปรษณีย์ โทรสารหรืออีเมล์ ก็ได้ แค่นี้การบอกเลิกสัญญาใช้บริการของคุณก็มีผลตามกฎหมายแล้วส่วนเรื่องนโยบายการปฏิเสธไม่รับยกเลิกบริการที่ศูนย์บริการนั้น ข่าวแว่ว ๆ มาว่า กสทช. เตรียมจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายน่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะ ถ้าศูนย์บริการไหน เปิดบริการให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็ควรจะไปยกเลิกบริการที่ศูนย์นั้นได้เช่นกัน มิใช่สร้างภาระ กีดกันมิให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการแหม จะยกเลิกบริการแต่ละที ทำไมยากเย็นแท้ เดี๋ยวฉบับหน้ามาดูกันว่า จะมีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าผู้ให้บริการอ้างว่าใช้บริการยังไม่ครบตามสัญญา ถ้ายกเลิกก่อนครบกำหนดจะต้องถูกคิดค่าปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 เส้นทางสายออร์กานิก

ฉันเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าผ่อนอารมณ์จากไอแดดด้านนอก ข้าวของสารพันถูกจัดเรียงบนชั้นไว้อย่างสวยงาม ยั่วความ อยากได้ อยากมี เป็นอย่างดี ของพื้นๆหลายอย่างมักดูดีขึ้นในห้างเสมอ ฉันคิดในใจ พลันที่สายตาเหลือบไปเห็นกองผักหลากชนิดที่ถูกจัดวางอยู่ไม่ไกล ยังไม่ทันที่จะก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ ความรู้สึกขัดแย้งในใจก็ปรี่เข้ามาอย่างช่วยไม่ได้  ข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า ของที่ประทับ”ตราออร์แกนิก” ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลตรวจสอบคงเป็นที่ผิดหวังของหลายฝ่าย จึงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงเสียใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ หรือในโลกโซเชียล ฉันนึกกระหยิ่ม และอยากจะพูดดังๆ ว่า “เพิ่งรู้กันหรอกหรือ”จริงๆ แล้วด้วยความที่ฉันเรียนเรื่องอาหาร และผูกพันอยู่กับวงการอาหารมาบ้าง ความเข้าใจที่ว่าความเป็นออร์แกนิกมันเป็นวิถีชีวิต มากกว่าการตีตราด้วยสัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่าง ก็ค่อยๆถูกซึมซับเข้าไปในแก่นความคิด ปรัชญาออร์แกนิกที่ฉันเข้าใจคือ การหวนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าคนโบราณเขาปลูกพืชอย่างไร ทำอย่างไรให้ดินสมบูรณ์ในโลกที่สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ยังไม่เป็นที่รู้จัก การหว่านเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติล้วนๆ การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยมีมนุษย์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทีขาดไม่ได้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าการเกษตรในยุคปัจจุบัน  แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพ และคุณค่าอาหารของพืชผล แต่ในปัจจุบันเมื่อเกษตรกรรมถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหรรมกลายๆ  เรื่องราวของการปลูก การหว่าน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาทำในวงจรการปลูก ก็ค่อยๆหายไป พร้อมๆกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพ่อค้าคนกลาง การตัดตอน ต่อ เติม เรื่องราวการผลิตเพื่อเน้นค้ากำไร ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เกิดความหวาดระแวง จนต้องหันมาพึ่งพากับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานออร์แกนิก” แทน กระนั้นก็ตาม มาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่ผู้บริโภคหวังจะพึ่งพา ก็ถูกฉีกออกด้วยกำลังเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมออร์แกนิก  ที่กำลังเนื้อหอมในตลาดปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ คุณลุงเป็นคนตัวไม่ใหญ่นัก แต่ดูทะมัดทะแมง ลุงแกเล่าว่า แกเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้ไกลออกไปนัก เมื่อฉันถามว่าฟาร์มของลุงปลูกพืชแบบออร์แกนิกมั้ย แกกล่าวว่า“ออร์แกนิกเหรอ มันก็แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นแหละ สิ่งที่ผมทำมันยิ่งกว่าออร์แกนิกเสียอีก” คุณลุงกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมให้เหตุผลว่า ผักทุกอย่างที่ปลูกที่ฟาร์มล้วนแล้วแต่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว โดยลูกแก แฟนของลูก เพื่อนของลูก มาช่วยกันลงแขก แกไม่สนใจกับมาตรฐานออร์แกนิกที่ถูกกำหนดขึ้น เพราะการขอจดมาตรฐานไม่เพียงแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น(การขอจด USDA Organic ในฟาร์มอย่างแกมีค่าใช้จ่ายปีละเกือบล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ยังทำให้ราคาสินค้าของแกสูงขึ้นมากจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้แกก็ไม่เห็นถึงความสำคัญว่าต้องหาที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โต แกบอกว่า มีกลุ่มคนที่เข้าใจ และเชื่อใจในการปลูกของแกที่คอยอุดหนุนกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แกแนะว่าแกขายของผ่าน Farmers’ Market (ตลาดนัดเกษตรกร) ซึ่งต้องการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึง CSA (Community Supported Agriculture) ที่คล้ายๆกับเครือข่ายการสนับสนุนการเกษตรที่จะทั้งกลุ่มจะไปเหมาผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาทั้งปี โดยที่ทางฟาร์มจะส่งผักผลไม้ที่ได้ตามฤดูกาลไปให้สมาชิกอาทิตย์ละครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนเช่นนี้ ทำให้ฟาร์มของแกอยู่ได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็อยู่อย่างมีความสุข เพราะเหมือนเป็นการเผยแพร่ปรัชญาออร์แกนิกไปในตัวฉันเข้าใจได้ดีว่าในความหมายของคุณลุง Farmers’ Market เป็นอย่างไร มันคือตลาดที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวตั้งตัวตี มักจัดขึ้นบนลานโล่งแจ้งหรือทางข้างถนน ไม่ว่าหน้าฝนหน้าหนาว แดดจะออก หิมะจะตก ทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านร้านช่อง เกษตรกร หรือคนธรรมดา ก็จะมารวมตัวกันในที่ที่นัดไว้แล้วเปิดหลังรถขายของขึ้น เพราะบางคนก็ขนของมาเต็มกระบะ แล้วก็โยนผักผลไม้มาให้คนที่จะมาซื้อได้ชิม ไม่มีการแต่งตัวสวยงามใดๆ จากผู้ขาย ไม่มีการเช็ดพืชผลแบบเช็ดแล้วเช็ดอีก เพราะบางรายก็เพิ่งเด็ด ขุด เอาพืชพันธุ์ของตนเองออกมาเมื่อตอนเช้าของวันนั้นเอง หัวแครอทยังมีคราบดิน ผลไม้ก็จะมีให้ชิมเป็นหย่อมๆ ลูกที่สุกเต็มที่ ดูเหมือนจะเริ่มเน่า เป็นลูกที่หวานที่สุด และก็ราคาถูกที่สุด เพราะต้องรีบขายให้ออก ไม่เพียงแค่พืชผักเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นอีกมาก ทั้งแยม โยเกิร์ต ขนมปัง ซึ่งคนที่นำมาขายก็จะมีเต้นท์เป็นของตัวเอง เมื่อคนขาย พบคนซื้อ บทสนทนาที่มาที่ไปของอาหารต่างๆ ก็เกิดขี้นอย่างช่วยไม่ได้ “ผักนั้นเอามาจากไหน ปลูกยังไง เนื้อหมูนี้ออร์แกนิกหรือเปล่า ทำไมถึงออร์แกนิก ทำไมถึงไม่ทำออร์แกนิก ให้อะไรเป็นอาหารไก่ ผลไม้นี้ตอนปลูกใช้อะไรเป็นปุ๋ย เอาไปทำอะไรกินดี ส่วนไหนที่อร่อยที่สุด นมนี้เป็นหางนมหรือไม่ ชีสนี้ใช้นมแพะ หรือนมวัว ขนมปังนี้ใช้แป้งอะไรทำ คนแพ้ Gluten ทานได้มั้ย บลา บลา บลา”   บทสนทนาล้วนดeเนินไปอย่างมีอรรถรส ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คำถามมักติดตามมาด้วยคำอธิบายยาวเหยียด พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ฉันสัมผัสได้ดีถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน ความภูมิใจ และความรู้สึกผูกพัน ที่คนขาย มีต่อผลผลิตของเขาเมื่อฉันก็ย้อนกลับมามอง Farmers’ Market ในบ้านเรา ฉันพบว่ามันไม่ได้เป็น ตลาดของเกษตรกรตรงตัวแบบที่เราเข้าใจกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขายผลิตผลทางการเกษตรตรงๆ ส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ขายมักเป็นอาหารแปรรูป ทั้งของกินเล่น เครป ขนมปัง วัฟเฟิ้ล ชา กาแฟ ไอศกรีม เบอร์เกอร์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือตกแต่งซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นสินค้าทำมือให้เข้ากับรสนิยมต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคนไทยซึ่งมักส่งสำเนียงภาษาต่างชาติออกมาเป็นประจำ ทำให้ฉันสามารถบอกได้เกือบจะทันทันทีว่าเขาเหล่านี้หาได้เป็นคนไทยทั่วๆไปไม่แน่นอนว่าการผลิตสินค้าเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายย่อมต้องมีต้นทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ หรือ ต้นทุนความรู้ ทั้งความรู้ในการผลิต และความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกรไทยทั่วไปที่ยังต้องเก็บหอมรอมริบเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คงไม่สามรถยกระดับตัวให้กลายเป็นผู้ขายในตลาดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกับที่ Farmers’ Market ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเมืองกรุง ผู้คนมากมายต่างพากันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าคลีนๆที่ว่านึ้ เกษตรกรหลายรายที่ไม่ได้ขัดสนได้ถือเอาตลาดแห่งนี้เป็นที่พบปะกับผู้บริโภค เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าผู้ขายสินค้าการเกษตรทั้งหมดจะเห็นตรงกัน เพราะพร้อมๆกับที่ชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ได้มีมากขึ้น บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ค่อยๆ กินรวบทั้งระบบการผลิต การค้าส่ง และค้าปลีก ก็เล็งเห็นช่องทางการขายแบบใหม่ ที่ให้กำไรดีกว่าสินค้าเดิม ก็ได้หาเหตุแอบแฝงมาในนามเกษตรกรรายย่อย และขายสินค้าของตนเองอย่างภาคภูมิใจด้วยถือว่าตนเองก็เป็น “ออร์แกนิก” เช่นกัน ฉันถอนหายใจอย่างปลงๆ พร้อมกับรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กๆ อาจเป็นเพราะมีเค้าลางส่อว่า “เงิน” มีค่ามากกว่า “ปรัชญา” ที่ฉันเคารพหรือเปล่า ฉันคิดไปว่า “เงิน” สามารถ “ซื้อ” ปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่ ที่ดิน นักวิชาการ แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อเอามาสร้างความร่ำรวยให้เพิ่มขึ้นได้อย่าง “ง่ายดาย” แล้วอะไรคือ หยาดเหงื่อแรงงานของคนผลิตที่ฉันอยากสนับสนุน “เงิน” ของฉันจะถูกนำไปใช้เพียงเพื่อต่อ “เงิน” ให้คนอื่นที่ไม่ได้ขัดสนอะไรเท่านั้นหรือ แล้วความภูมิใจที่ฉันอยากมอบให้แรงงาน เหมือนกับคุณลุงเจ้าของฟาร์มคนนั้นมันอยู่ไหน ฉันรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง มันช่วยไม่ได้ ก็เมื่อความคิด จินตนาการมันสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงฉันเดินค่อยๆเดินถอยออกมาจากชั้นผัก “ออร์แกนิก” พร้อมๆ กับยิ้มเยาะให้กับตัวเลือกที่จำกัดของผู้บริโภคชาวกรุงยังอีกไกล...ที่คนบ้านเราจะเห็นออร์แกนิกเป็นปรัชญามากกว่าเป็นเพียงสินค้าสุขภาพยังอีกไกล...กว่าปรัชญาจะแทรกซึมให้เข้าไปถึงเบื้องลึกในใจของคนไทยยังอีกไกล...ที่แรงงานภาคเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงินยังอีกไกล...ที่ตราออร์แกนิกจะสิ้นความหมายเพราะความเชื่อใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กันยังอีกไกล...ที่  Farmers’ Market จะเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน อย่างแท้จริงฉันคงได้แต่เพียงหวังว่า “วันนั้น” จะมาถึง ก่อนที่จะสายเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 2)

ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว ผมได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปแล้วว่ากฎหมายนี้ จะช่วยคุ้มครองสิทธิของคุณในฐานะลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง ผ่านไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งฉบับนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีอื่น ๆ ต่อไป ให้ครบ 10 ประการ   5. ห้ามทวงหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ หรือวิธีการอื่นใดที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน  แม้แต่ซองจดหมายที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้  กฎหมายก็ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใด ๆ      ที่สื่อไปในทางทวงหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เอกสารทวงหนี้มัก        จะตีตรา “ชำระหนี้ด่วน”    ตัวแดงเด่นชัดเห็นมาแต่ไกล ราวกับจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านรู้ว่าคุณเป็นหนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ การพยายามเปิดเผยเรื่องหนี้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 6. ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งชื่อเอาไว้ ถ้าเกิดไม่เจอตัวลูกหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ลูกหนี้เท่านั้น จะไปฝากเรื่องทวงหนี้เอาไว้กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนข้างบ้านหวังจะประจานให้ลูกหนี้ได้อายอย่างเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แล้ว  ข้อนี้ มีโทษหนักถึงขั้นต้องปิดบริษัท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทวงหนี้กันเลยทีเดียว7. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการทุกแห่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ คนในเครื่องแบบ คนมีสี ไม่ว่าจะสีเขียว หรือสีกากี ต่อไปห้ามรับ job ทวงหนี้เด็ดขาด ถูกร้องเรียนขึ้นมามีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องออกจากราชการหมดอนาคตไปด้วย 8. การติดต่อลูกหนี้ถ้าเป็นวันธรรมดาให้ติดต่อได้ในช่วง 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ให้ติดต่อเวลา08.00-18.00 น. แต่การเจรจาพูดคุยกับลูกหนี้ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่ใช่โทรมาทุกสิบนาทีตลอดทั้งวัน แบบนั้นก็ไม่ใช่ละส่วนสถานที่ติดต่อต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม พนักงานทวงหนี้ห้ามเข้ามาถ้าคุณไม่อนุญาต ไม่อย่างนั้น เจอข้อหาบุกรุกแน่  9. เป็นหน้าที่ของพนักงานทวงหนี้ ที่จะต้องแจ้ง ชื่อ -สกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ กรณีรับมอบอำนาจมาก็ให้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และถ้ามีการชำระหนี้ก็ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกหนี้ด้วย และตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยถูกต้องแล้ว10. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ หรือคนในครอบครัว สามารถร้องเรียนพฤติกรรมโฉดของแก๊งทวงหนี้ได้ ที่สถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารการร้องเรียน เสนอให้ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด” เป็นผู้พิจารณาจัดการกับพวกทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย ต่อไป      ถึงตอนนี้ คุณก็ไม่ต้องกลัวพวกทวงหนี้โหดอีกแล้ว เพราะการติดหนี้นั้นเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกลัวติดคุก แต่การทวงหนี้นอกกติกา ป่าเถื่อนนี่สิ เป็นคดีอาญา มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้โดยการข่มขู่ ประจาน ทำให้เสียชื่อเสียง ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการคุกคามลูกหนี้ด้วยวิธีการสกปรกต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เจ้าหนี้คนไหนฝ่าฝืนมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้น ใครที่กำลังถูกพวกทวงหนี้โหดคุกคาม คุณควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพราะมันเป็นเสมือนยันต์เกราะเพชร ที่จะคอยปกป้องคุณจากบรรดาพวกทวงหนี้ขาโหดได้เป็นอย่างดีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ที่อยากให้คุณรู้ 1. พวกรับจ้างทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทรับทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้” กับทางราชการ เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การทวงหนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากใครทวงหนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อมูลสำคัญ...ที่ต้องจำ เมื่อถูกทวงหนี้เจอพนักงานทวงหนี้ครั้งต่อไป อย่าลืมจดข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ – นามสกุล, ชื่อบริษัทต้นสังกัด, เลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการทวงถามหนี้, หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าหนี้,    ที่อยู่ - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากมีการพูดจาข่มขู่ คุกคาม คุณจะได้มีหลักฐานไว้เล่นงานพวกทวงหนี้นอกรีตเหล่านี้ 2. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ด้วย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรงมาก คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...งานนี้นักเลงทวงหนี้ มีสิทธิติดคุกยาว 3. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิด เช่น จดหมายทวงหนี้ที่ใช้ข้อความว่า อนุมัติฟ้องดำเนินคดี เตรียมรับหมายศาล เตรียมยึดทรัพย์ ถ้าไม่ใช้หนี้จะติด Black List เครดิตบูโร เพื่อจะขู่ให้ลูกหนี้กลัว และที่สำคัญห้ามแอบอ้างให้ลูกหนี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือแต่งกายเลียนแบบ ข้อนี้มีโทษหนักมาก จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ4. ห้ามทวงหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น ข้อนี้น่าจะช่วยกำจัดพวกทวงหนี้ปากปลาร้าไปได้เยอะเลย เพราะถ้าคุมหมาในปากไม่อยู่ อาจจะต้องถูกปรับหนึ่งแสนบาท หรือต้องไปกินข้าวแดงในคุกฟรี นะจ๊ะอีก 6 ข้อควรรู้ที่เหลือ ติดตามต่อได้ในฉลาดซื้อ ฉบับหน้านะครับ ส่วนใครที่ร้อนใจ เพราะตอนนี้ปัญหาหนี้สินรุมเร้าเหลือเกิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook : รู้สู้หนี้ หรือ www. rusunee.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม >