ฉบับที่ 181 ไขความลับ 5 ข้อของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ประเทศไทยยามนี้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความหดหู่ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ร้านรวงต่าง ๆ ก็พลอยห่อเหี่ยวตามไปด้วย เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองขาดสภาพคล่อง หลายคนเริ่มต้องมองหาแหล่งเงินกู้ เอาไว้สำรองในภาวะฉุกเฉิน คนที่มีแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ที่พอจะขายหรือจำนำเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็ดิ้นรนกันไป แต่ทรัพย์สินอย่างรถยนต์นั้น เป็นของชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนทองคำ มิหนำซ้ำสำหรับบางคน รถยนต์ คือ เครื่องมือประกอบอาชีพ ขายไปแล้วก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ถ้ามีหนทางเปลี่ยนรถเป็นเงินสด เพื่อมาแก้ปัญหาความขัดสนเฉพาะหน้าไปก่อนได้ก็คงดี “ต้องการเงินสด รถคุณกู้ได้ อนุมัติไว ไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน แถมยังมีรถขับเหมือนเดิม”    โอ้โห !!! อะไรมันจะวิเศษอย่างนี้ หลายคนคงนึกในใจเวลาที่ได้ยินโฆษณาประเภท รถแลกเงิน เงินติดล้อ คาร์ฟอร์แคช ฯลฯ แหม มันดีเลิศประเสริฐศรี จนอยากจะขับรถไปกู้เงินให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย แต่ช้าก่อน วันนี้ ผมมีความลับ 5 ข้อ ของสินเชื่อประเภทนี้ มาบอกให้คุณรู้ ก่อนตัดสินใจไปกู้เงิน ความลับข้อที่ 1 ธุรกิจสินเชื่อ หรือ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ธุรกิจปล่อยเงินกู้” ประเภทรถแลกเงินนั้น มีชื่อจริงอย่างเป็นทางการว่า “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” เพราะเจ้าหนี้จะเก็บแค่สมุดจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักประกัน โดยไม่ได้ยึดรถไว้ ลูกหนี้จึงยังคงมีรถขับตามปกติ ความลับข้อที่ 2 คนที่จะขอสินเชื่อกลุ่มนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถในเล่มทะเบียน จะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ก็กู้ได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่ยังผ่อนไม่หมด รถติดไฟแนนซ์เจ้าหนี้จะไม่ให้กู้     ความลับข้อที่ 3 การจำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม แบบนี้คนที่มาขอสินเชื่อจะต้องทำสัญญาขายรถยนต์ของตนเองให้กับเจ้าหนี้ในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของรถรุ่นนั้น ๆ ที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป เมื่อเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถในเอกสารเล่มทะเบียนเรียบร้อย  เจ้าหนี้ก็จะเอารถที่เราเพิ่งขายไปนั่นแหละ มาให้ลูกหนี้ทำสัญญาเช่าซื้ออีกครั้งหนึ่ง กำหนดให้ผ่อนกี่งวด บวกดอกเบี้ยร้อยละเท่าไรก็ว่ากันไป ถ้าชำระครบ เจ้าหนี้ก็จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กลับมาเป็นของลูกหนี้     ดังนั้น ในระหว่างการผ่อนหนี้จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม คุณต้องรู้ว่า คุณไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอีกต่อไปแล้ว (แม้ที่ผ่านมาคุณจะผ่อนรถคันนั้นหมดไปแล้วก็ตาม) ตอนนี้คุณเป็นแค่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ถ้าขาดส่งค่าเช่าซื้อ 2 งวดเมื่อไร เจ้าหนี้ก็มีสิทธิมายึดรถไปได้ และที่สำคัญ ห้ามเอารถคันนี้ไปขายต่อเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ได้     ความลับข้อที่ 4 การจำนำทะเบียนแบบโอนลอย  แบบนี้จะไม่มีการทำสัญญาเช่าซื้อ แต่เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายรถยนต์แบบโอนลอยแทน คือเซ็นเอกสารสัญญาซื้อขาย เอกสารการโอนต่าง ๆ ไว้ครบถ้วนพร้อมโอนทะเบียนแล้ว เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของในสมุดจดทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายสัญญาซื้อขายนี้ เมื่อจ่ายเงินกันแล้วก็ถือว่าสมบูรณ์ กรรมสิทธ์ในรถเป็นของผู้ซื้อ (เจ้าหนี้) แล้ว แม้ว่าชื่อเจ้าของในเล่มทะเบียนยังเป็นชื่อของลูกหนี้ก็ตาม เพราะสมุดจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ความลับข้อที่ 5 สรุปว่าแม้ชื่อธุรกิจประเภทนี้จะเรียกว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่นิติกรรมสัญญาที่คุณทำกับเจ้าหนี้จริง ๆ แล้ว ถ้าเรียกกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ คุณทำสัญญาขายรถของคุณให้เจ้าหนี้ แล้วเจ้าหนี้ก็เอารถนั้นแหละมาเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมาเขาก็ยึดรถคันนั้นได้เลย นี่คือเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมเจ้าหนี้ สินเชื่อประเภทนี้จึง อนุมัติไว ไม่ต้องการคนค้ำประกัน เพราะ เจ้าหนี้มีความเสี่ยงน้อย แม้จะยึดแค่เล่มทะเบียนไว้ แต่จริง ๆ แล้วเขาได้กรรมสิทธิ์ในรถของลูกหนี้ไปแล้วทั้งคันต่างหาก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 เรื่องง่วงๆ กับกาแฟ

การดำเนินชีวิตของคนไทยตามเมืองใหญ่ในปัจจุบันต่างไปจากเมื่อ 30-40 ปีก่อนอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือคนไทยมีสภาพคล้ายหุ่นคอหักเมื่อใช้สมาร์ทโฟนตามที่สาธารณะ นัยว่าเพื่อปลีกวิเวกเข้าสู่โลกส่วนตัว (แบบว่ามากันสามคนเพื่อนฝูงแล้วต่างคนต่างคุยกับคนอื่น ไม่ใยดีกับคนที่มาด้วย) และการที่คนไทยชอบถือถ้วยกาแฟขนาดครึ่งลิตรขึ้นไปเพื่อดื่มมันทุกสถานที่ ในลักษณะที่บรรพบุรุษซึ่งตายไปหมดแล้วระบุว่า เสียมรรยาทมากที่กินดื่มไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้เขียนนั้นดื่มกาแฟมาตั้งแต่เล็กซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่ดี ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะกาแฟทำให้นอนไม่หลับ(เนื่องจากดื่มเมื่อใดก็หลับได้ถ้าไม่มีเรื่องใดให้กังวล) แต่เป็นเพราะมันทำให้เด็กต้องเสียสตางค์ที่ควรนำไปซื้อของกินที่มีประโยชน์มากกว่าการดื่มกาแฟ สมัยก่อน(ราว 50 ปีมาแล้ว) กาแฟที่ขายมีประมาณ 4 แบบคือ กาแฟร้อนและกาแฟเย็น ทั้งใส่น้ำตาลทรายพร้อมนมข้นหวานและน้ำตาลทรายอย่างเดียว(ชนิดหลังนี้เรียกว่า โอวเลี้ยง เมื่อเติมน้ำแข็งและ โอวยัวะ เมื่อไม่เติมน้ำแข็ง) ซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่กาแฟถูกดัดแปลงให้มีหลายแบบมากมายจน (ถ้าคนที่ตายไปแล้วฟื้นกลับมาคง) งงเต็ก และส่วนใหญ่มีจำนวนแคลอรีในขนาดที่สูงจนขนหัวลุกคู่ขนานไปกับราคาที่ถ้วยหนึ่งต้องใช้เงินเท่ากับหรือมากกว่าข้าวราดแกงทีเดียว กาแฟนั้นมีประโยชน์ถ้าดื่มอย่างฉลาด เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มี แคฟฟีอีน ซึ่งออกฤทธิ์หลังดื่มแล้วราว 1 ชั่วโมง สารเคมีนี้ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ตาสว่างได้แม้นอนน้อยไปหน่อย ซึ่งคำอธิบายเชิงวิชาการกล่าวว่า แคฟฟีอีนในกาแฟไปขัดขวางการที่สารชีวเคมีในร่างกายคือ อะดีโนซีน ที่ทำให้เราง่วง (adenosine เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในดีเอ็นเอ ซึ่งแคฟฟีอีนนั้นมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับอะดีโนซีนมาก) แต่เป็นการขัดขวางเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากแคฟฟีอีนหมดฤทธิ์ (กินเวลาราว 3-4 ชั่วโมง) ผู้ดื่มกาแฟอาจหลับยาวจนตกงาน หรือถ้าดื่มระหว่างการขับรถตอนกลางคืน ก็อาจได้ไปตื่นอีกทีในโลกหน้าทีเดียว แม้ว่าแคฟฟีอีนได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกประเทศทั่วโลกว่า ปลอดภัยสุดๆ แต่ก็เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไขว่า ต้องไม่รับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป โดยมีการประเมินแบบจำง่ายๆ ว่า ไม่ควรดื่มกาแฟมากถึง 50 แก้วขึ้นไป เพราะนั่นเป็นการถามหาความตายทีเดียว แคฟฟีอีนในกาแฟนั้นเป็นสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอ็นซัมในตับ เพื่อการขับทิ้งออกจากร่างกาย ดังนั้นจึงส่งผลสืบเนื่องของการดื่มกาแฟต่อสารก่อมะเร็ง(ชนิดที่โดยปรกติแล้วถูกขับออกจากร่างกายด้วยกระบวนการเดียวกันที่ใช้กำจัดแคฟฟีอีนในตับ) กล่าวคือ การดื่มกาแฟทำให้สารก่อมะเร็งอยู่ในร่างกายด้วยเวลาที่สั้นลง เพราะแคฟฟีอีนได้ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เอ็นซัมในกระบวนการกำจัดสารพิษนั้นๆ ทำงานดีขึ้น นักวิชาการจึงมักกล่าวว่า กาแฟเป็นอาหารต้านมะเร็ง (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้เขียนเคยได้ยินจากการประกาศผ่านลำโพงขณะเดินซื้อสินค้าในห้างขายส่งที่มีคำขวัญว่า คู่คิดสำหรับธุรกิจคุณ) เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้กระบวนการทำลายสารก่อมะเร็งทำงานดีขึ้นนั่นเอง ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในการดื่มกาแฟ ในลักษณะที่ทุกครั้งที่ดื่มจะมีอาการมือสั่น ใจสั่น เครียดจนนอนไม่หลับ (จนอาจนำไปเป็นข้ออ้างว่า เป็นปมด้อยทางร่างกายจึงต้องหันไปดื่มสุราแทนเพราะไม่รู้จะเข้าสังคมอย่างไร) ทำให้มีคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สำหรับคำตอบพื้นๆ นั้นมีมานานแล้วว่า มันเป็นกรรมตามพันธุ์หรือพูดให้ถูกทางวิชาการคือ เป็นตามพันธุกรรมของคนที่ต่างกันที่ทำให้บางท่านดื่มได้น้อยหรือไม่ได้เลย แต่บางท่านดื่มอร่อยได้โดย (แทบจะ) ไม่เสพติดเสียด้วยซ้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่า กาแฟเป็นแหล่งหลักของแคฟฟีอีนในอาหารมนุษย์ ดังนั้นมันจึงได้รับความสนใจจากนักวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์หรือโทษต่อร่างกาย ได้มีกลุ่มนักวิจัยนำทีมโดย Dr.Marilyn Cornelis (ผู้ซึ่งมีข้อมูลในเน็ทว่าไม่ดื่มกาแฟ) จาก Harvard School of Public Health และ Brigham and Women’s Hospital และเพื่อน ๆ ที่สังกัด 116 หน่วยงานในหลายประเทศได้ทำงานวิจัยขึ้นและตีพิมพ์ผลงานชื่อ Genome-wide meta-analysis identifies six novel loci associated with habitual coffee consumption ในวารสาร Molecular Psychiatry ชุดที่ 20 หน้าที่ 647–656 ของปี 2014 Dr.Marilyn Cornelis ได้รายงานถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมของคนอเมริกันที่มีบรรพบุรุษมาจากยุโรปและที่มีบรรพบุรุษมาจากอัฟริการวมแล้ว 120,000 คน โดยพิจารณาข้อมูลจำนวนแก้วของการดื่มกาแฟในแต่ละวัน พร้อมรายละเอียดอื่นๆ งานวิจัยของด๊อกเตอร์สาวนี้ เป็นการใช้ข้อมูลของการศึกษาที่ทีมงานของฮาร์วาร์ดได้ทำไว้ก่อนแล้วและเธอได้กล่าวว่า ในมนุษย์นั้นมียีนเกี่ยวกับการดื่มกาแฟที่แตกต่างกันในกลุ่มตัวอย่างถึง 6 ลักษณะ โดยสองยีนทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการแคฟฟีอีนในร่างกาย อีกสองยีนทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับผลต่อจิตประสาท และอีกสองยีนมีความเกี่ยวในการใช้น้ำตาลกลูโคสและไขมัน ซึ่งเป็นการค้นพบเพิ่มจากเดิมที่พบก่อนแล้ว 2 ลักษณะ(ซึ่งในข่าวไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร) จึงรวมเป็น 8 ลักษณะ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของยีนในแต่ละกลุ่มคนต่อการจัดการกับแคฟฟีอีนที่เข้าสู่ร่างกายว่า สามารถกำจัดออกเร็วหรือช้าอย่างไร ซึ่งโดยปรกติแล้วคนที่กำจัดแคฟฟีอีนออกจากร่างกายเร็วมักมีความสุขในการดื่มกาแฟ แถมด้วยพฤติกรรมที่มีแนวโน้มต่อการติดบุหรี่และเป็นโรคอ้วนได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับผลการวิจัยเพราะสังเกตจากภาพยนตร์ต่างประเทศส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟมักแกล้มด้วยบุหรี่ โดยมีผลรวมว่า สามารถตาค้างและทำงานต่อได้ในสภาวะเครียด จึงอนุมานว่า พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่การคลายเครียดด้วยการกินทุกอย่างที่อยู่ในตู้เย็น ซึ่งเป็นตามคำสอนที่อาจารย์ด้านสรีระวิทยาสอนผู้เขียน จากความรู้ที่ว่า รูปแบบความแตกต่างของยีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกาแฟนั้นเกี่ยวพันกับการเรียนรู้ การควบคุมความดันโลหิตและการเสฟติดกาแฟนั้น อาจทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมคนคนหนึ่งเมื่อดื่มกาแฟหนึ่งแก้วต่อวันแล้วสดชื่นได้ทั้งวัน ในขณะที่อีกคนต้องดื่มเป็นระยะๆ รวมสี่แก้วต่อวันจึงจะตาสว่างได้ และในทางตรงกันข้าม คนที่ดื่มเพียงวันละแก้วแล้วทำงานได้ดี ถ้าดื่มถึงสี่แก้วกลับเกิดอาการเครียดขึ้นมาจนทำงานไม่ได้ จากความรู้นี้อาจมีการประยุกต์ใช้ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การจัดการด้านสุขภาพของแต่ละคนที่นิยมดื่มกาแฟเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเช่น การมีสมาธิในการทำงาน ท่องบ่นตำรา และอื่นๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะดื่มมากไปจนมือและใจสั่น โดยใช้ข้อมูลจากการพิเคราะห์(พิเคราะห์มีความหมายว่า ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ) ถึงความแตกต่างของยีนที่ต่างกันว่า ใครสามารถกำจัดแคฟฟีอีนได้ดีหรือไม่ ควรดื่มกาแฟเท่าใดจึงจะเหมาะสม ในบทความนี้ผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่า ในการทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ 2 คำนั้น ผู้เขียนขออนุญาตไม่ใช้กรรมวิธีของราชบัณฑิต ตัวอย่างเช่น Caffeine นั้น โดยทั่วไปมีการเขียนทับศัพท์ว่า กาเฟอีน ซึ่งอ่านออกเสียงแล้วมันฟังดูไม่ตรงกับสำเนียงจากภาษาอังกฤษซึ่งถ้าทับศัพท์ว่า แคฟฟีอีน น่าจะออกเสียงสบายปากมากกว่า (ดิคชันนารีที่พูดได้ออกเสียงคล้าย แคฟ-ฟีน) จึงขอใช้เพื่อความสบายใจของผู้เขียนเอง ส่วนคำที่สองซึ่งเป็นคำที่ผู้เขียนรำคาญใจมานานแล้วคือคำว่า enzyme ซึ่งมักเขียนทับศัพท์ว่า เอนไซม์ ทั้งที่คำว่า en ควรอ่านว่า เอ็น เหมือน entrance ที่ออกเสียงว่า เอ็น-ทรานซ์ ไม่เคยได้ยินใครออกเสียงว่า เอน-ทรานซ์ ส่วนคำว่า ไซม์ ที่ใช้ทับศัพท์ zyme นั้นเมื่อ ม (ม้า) มีเครื่องหมาย ทัณฑฆาต หรือ การันต์ แล้วต้องไม่ออกเสียง ดังนั้นถ้าอ่านให้ถูกตามการทับศัพท์เดิมนั้นต้องอ่านว่า เอน-ไซ ซึ่งทะแม่งหูมาก (โดยเฉพาะเมื่อได้ยินจากปากพิธีกรและนักข่าวทางโทรทัศน์) ผู้เขียนจึงขอใช้การทับศัพท์เฉพาะในบทความนี้ว่า เอ็น-ซัม ซึ่งทำให้ผู้เขียนสบายใจกว่า ส่วนคำว่า กาแฟ ซึ่งเป็นคำเขียนทับศัพท์มาจากคำว่า Coffee นั้นดูอย่างไร ๆ มันก็ไม่ควรถูกทับศัพท์ว่า กาแฟ แต่น่าจะเป็น ค็อฟฟี มากกว่านั้น แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ คำทับศัพท์นี้มีมาแต่โบราณก่อนผู้เขียนเกิดจึงจนด้วยเกล้าที่ต้องจำใจใช้ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี “เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา ; Antibiotics off the menu”

เพื่อให้รับกับสถานการณ์ปัญหาเรื่อง เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ  ฉลาดซื้อจึงไปสัมภาษณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) อีกครั้ง โดยในวันผู้บริโภคสากล ปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่มีองค์กรสมาชิกถึง 240 องค์กรใน 120 ประเทศ ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันในเรื่อง “การเอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา; Antibiotics off the menu” “คืออยากให้ได้ในมิติที่ผู้บริโภคจริงๆ ว่าประสบปัญหาอะไร แล้วไม่รู้อะไร ตอนนี้เราแยกเป็นสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ เรื่อง Information เป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจ เรื่องที่ 2 ที่เชื่อมร้อยกันก็คือเรื่อง Consumer education การให้การศึกษา และอันที่ 3 ที่เกี่ยวข้องแล้วมาหลุดไปนั้น คืออยากจะโยงถึง เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย หน่วยงานรัฐก็จะต้องรับรองให้มีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยเพียงพอ แต่พอเราได้เข้ามาดูตรงนี้แล้ว พบว่าปัญหายิ่งใหญ่อันหนึ่งของผู้บริโภคไทยก็คือ ข้อมูลพวกนี้มันไม่ถึงมือประชาชนและระบบไปเฝ้าระวังเรื่องนี้ไม่เพียงพอ พอเราบ่นไปก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า “มีกำลังไม่เพียงพอ เงินไม่มีเลยทำได้แค่นี้”  ผู้บริโภคเราจึงไม่มีข้อมูลที่จะทำให้สามารถตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อได้ ประกอบกับความรู้ผู้บริโภคก็น้อยด้วย ดังนั้นทำให้ดูเหมือนผู้บริโภคไทยเองอ่อนแอและได้รับแต่สิ่งที่มีปัญหา ขอกล่าวถึงคำศัพท์หลายคำศัพท์อยู่ที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน 1. ยาปฏิชีวนะ ที่เราคุ้นกันอยู่ แต่มีผู้รู้หลายคนที่บอกว่ายาปฏิชีวนะ 100 % ถ้าเราจำได้ ยาต้านไวรัสก็คือไปทำอะไรกับไวรัส ยาต้านเชื้อราก็คือไปทำอะไรกับเชื้อรา ดังนั้นก็ควรจะเป็น ยาต้านแบคทีเรียว่าไปทำอะไรกับแบคทีเรีย อาจจะตรงกว่าคำว่ายาปฏิชีวนะ ที่เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ไม่ถึง 100 ปี (เฟลมมิงค้นพบจากเชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicilliam) เขาเลยตั้งชื่อว่า  Antibiotics) แล้วต่อมายาหลายตัวที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียมันไม่ได้สร้างจากเชื้อมีชีวิตแล้ว มันสร้างจากเคมีก็ได้ บางทีเราก็ใช้ศัพท์ ยาต้านแบคทีเรียหรือเท่ากับ  Antibiotic เพื่อให้คนคุ้นเคย 2 คำนี้เอาไว้     ทำไมเราจึงสนใจเรื่อง  Antibiotics เพราะว่าอันที่ 1. โดยรวมเราเรียกมันว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพทั้งหมดนั้นเป็น  Antibiotics(ต้านแบคทีเรีย) อยู่ประมาณ 50 % ดังนั้นจึงมีผลกระทบเยอะและเรามีแบคทีเรียเยอะ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหา คือเกิดการดื้อยา คือเชื้อไวรัสก็ดื้อ การดื้อนั้นเชื้อทั้งหลายมันดื้ออยู่แล้วแต่การกินที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ดื้อเร็วขึ้น มากขึ้น คนที่จะใช้ยาต้านไวรัสได้ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นไวรัสก็จะได้ยาต้านไวรัส คนที่เป็นเชื้อราก็ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นเชื้อราจึงได้ยาต้านเชื้อรา แต่ปัญหาคือว่า พอไม่ใช่การติดเชื้อแบคทีเรียแล้วไปจ่ายยาต้านแบคทีเรียให้กิน เรื่องแบบนี้มันเยอะไง เชื้อมันเลยดื้อยา การดื้อยามีขนาดใหญ่และเป็นปัญหา เนื่องจากการกินผิดเยอะ ก็ทำให้เมื่อติดเชื้อจำนวนมากก็ดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราการอยู่เตียงนานขึ้น ตายมากขึ้น กลุ่มคนที่เฝ้าระวังเรื่องนี้จึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้เพราะว่าทุกวันนี้มันเริ่มวิจัยยาใหม่ๆ น้อยลง ดังนั้นต่อไปเวลาป่วยเราก็จะกลับไปเป็นโรคระบาดที่เป็นโรคติดเชื้อเหมือนสมัยก่อน ไม่มียาที่สามารถปราบเชื้อได้ นี่คือสิ่งที่กลัวกัน ซึ่งถ้าได้ดูข่าวจะเห็นว่าคนดังๆ ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตเพราะเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้วเชื้อมันดื้อ ให้ยาไปแล้วไม่หาย เกิดการเรื้อรัง ปัญหาคือถ้าคนไข้อาการทรุดอยู่แล้วก็จะเสียชีวิตเร็วขึ้น เราจึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง     สาเหตุที่ดื้อยาหลักๆ เกิดจากการกินเกินจำเป็น การที่เราได้รับ Antibiotics เข้าร่างกายมันก็มีอยู่ 3 รูปแบบ 1. หมอสั่งให้กิน หมอสั่งก็อาจจะวินิจฉัยผิดหรือหมอมั่วก็เยอะสั่งโดยไม่มีความจำเป็น ส่วนใหญ่ก็ 3 โรคที่เรารณรงค์ไม่ให้ใช้ (3 โรคที่สามารถหายได้เองด้วยภูมิต้านทานของร่างกายโดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะคือ 1.หวัดเจ็บคอ 2.ท้องเสีย 3.แผลเลือดออก และยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ประกอบด้วย เพนนิซิลินอะม็อกซิลลิน เตตร้าซัยคลิน ซึ่งไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด) หรืออีกอย่างคือหมอสั่งถูกแล้ว แต่คนไข้กินผิด หมอให้กินต่อเนื่อง 5 วันแต่กิน 2 วันก็เลิกกิน อย่างนี้เป็นต้น   2. ไปซื้อกินเอง ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นอะไรมาก ปวดฟันก็ไปซื้อมา 2 เม็ดเพราะไปเรียกกันว่ายาแก้อักเสบก็เลยซื้อมากิน อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดมากๆ และปัญหาข้อ 1 กับข้อ 2 นั้นบางทีเกิดเพราะหมอก็ไม่เขียนชื่อยามาให้อีก ทำให้ขาดความรู้ตรงนี้ไป และ 3. กินโดยไม่รู้ตัว ข้อสุดท้ายนี่แย่มากเพราะมันอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออยู่ในยาชุดที่ยังมีคนนิยมซื้อกิน     ถ้าถามว่า เราจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้างเรื่องสิทธิผู้บริโภคในประเด็นนี้ ข้อที่ 1. คือเราจะกินยาอะไรต้องได้รู้จักชื่อยาที่เราใช้ เพราะ Antibiotics มันแพ้กันเยอะ แพ้ตั้งแต่กลุ่มเพนนิซิลิน เกิดการช็อก หมดสติ เสียชีวิต หายใจหอบ และพวกกลุ่มซัลฟา(Sulfonamides) ที่จะมีอาการไหม้ทั้งตัว ถ้าเราไม่รู้ชื่อยา บางคนบอกว่าตัวเองแพ้ซัลฟากล่องสีเขียวๆ แต่พอไปซื้ออีกครั้งก็กล่องสีเขียวเหมือนกันแต่ไม่ใช่ซัลฟา จึงทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วที่แพ้นั้นแพ้อะไรกันแน่เพราะมันไม่ชัดเจน เพราฉะนั้นนอกจากเราจะเรียกร้องเรื่องสิทธิคือต้องรู้จักชื่อยาแล้วเราต้องได้รับการคุ้มครองด้วยว่ารัฐต้องจัดหายา ขึ้นทะเบียนยาที่เหมาะสม เพราะยากล่องสีเขียวในท้องตลาดมีกล่องสีเขียวตั้ง 4 กล่องตัวยาก็คนละตัวกันเลย การแพ้ก็คนละแบบ รัฐต้องให้ความคุ้มครองเรื่องการที่ต้องมียาให้ถูกต้อง กลุ่ม Antibiotics รัฐต้องคุ้มครองในเรื่องของโฆษณา เราได้ยินโฆษณาของเสียงตามสายทีซี-มัยซินมาตลอด ซึ่งยากินนั้นเขาไม่ให้โฆษณา Antibiotics ที่เข้าร่างกายไม่อนุญาตให้โฆษณายกเว้นยาสามัญประจำบ้านหรือยาบรรจุเสร็จ ทีซี-มัยซิน ออยนท์เมนท์ (T.C. Mycin Ointment) อยู่ในกลุ่มยาบรรจุเสร็จ สามารถโฆษณาได้แต่เวลาโฆษณาในทีวีบนกล่องจะมีรูปแคปซูลด้วย คนก็สับสน และโฆษณาก็เป็นอีกเรื่องที่เราเรียกร้องให้งดโฆษณา Antibiotics ทั้งหมด ข้อที่ 2. รัฐจะต้องทำการถอนทะเบียนที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด ข้อที่ 3. รัฐจะต้องควบคุมการกระจายยาที่มี Antibiotics ให้ถูกต้อง และข้อที่ 4. รัฐจะต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย   อีกจุดหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองแต่มันไม่ได้อยู่ในสิทธิผู้บริโภคไทย คือ สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปัญหาที่อาจารย์เดือดร้อนมากและกำลังค้นคว้า คือการที่สิ่งแวดล้อมมีเชื้อโรคที่ดื้อยาและสายพันธุกรรมที่ดื้อยาอยู่ในสิ่งแวดล้อม Antibiotics ตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการเป็นเรื่องเป็นราว ในร่างกายเรามีจุลชีพที่ดีอยู่เยอะ จุลชีพใช้ย่อยอาหาร ช่วยในการสร้างวิตามินเค ช่วยหลายๆ อย่างในร่างกายเพราะฉะนั้นจุลชีพที่ดีเราต้องสงวนเอาไว้ การกิน Antibiotics บ่อยๆ ทำให้จุลชีพเสียไปได้และทำงานผิดปกติทำให้เกิดเป็นโรคได้เยอะแยะ แล้วเมื่อจุลชีพข้างนอก Bio diversity ถ้ามันเจอ Antibiotics หรือสารพิษมันก็เสีย เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีการควบคุมไม่ให้ Antibiotics ไปตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีการวิจัยทั่วโลกแล้วเรื่องนี้และการมีสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อดื้อยาหรือสายพันธุกรรมเยอะๆ นั้นมันก็จะส่งผลกระทบต่อจุลชีพในท้องที่ด้วย เช่น เราควรจะมีจุลชีพที่ดีในทุ่งนามันก็จะเสียไปหรือเกิดการเพี้ยนมากขึ้น เราพบว่ามีการใช้ Antibiotics ในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งใช้ในพืชด้วย ในในการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมีหมด มีน้องที่รู้จักอยู่อยุธยาบอกว่า มีการโรยลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเลยในการเลี้ยงปลากระชัง หลายคนถามว่ามันละลายไปหมดจะได้ผลหรือ ลองคิดดูเมื่อหย่อนไปตรงที่เลี้ยงอย่างน้อยตรงนั้นมันก็ได้แล้วที่เหลือก็ลอยไป หรือการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูมันก็ตกไปอยู่ที่ดินแล้วดินตรงนั้น เราก็เอาขี้หมูขี้ไก่ไปทำปุ๋ยใส่ผักต่อ ผักออแกนิกเกิดมามีเชื้อดื้อยาเต็มเลย อธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ สิ่งที่เราพบเห็นของการตกค้างนั้น 1. ตกค้าง Antibiotics ในอาหารเช่นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ปลา 2. เมื่อมันตกค้างแล้วอาจจะมีเชื้อดื้อยาตกค้างด้วยและมีสายพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาตกค้างอันนี้คือน่ากลัวที่สุด เพราะว่าสายพันธุกรรมก็คือ DNA ซึ่งบางชนิดมันทนต่อความร้อน เราเชื่อกันว่าเชื้อโรคโดนต้มก็ตายแต่ Antibiotics ต้มไม่ตาย บางทีตายหรือไม่ตาย ไม่รู้ เมื่อเรากินเข้าไปก็ทำให้ดื้อได้ การที่มีขนาด Antibiotics น้อยๆ ในร่างกายนั้นมีผลอยู่ 2 – 3 อย่างคือเด็กที่กิน Antibiotics ตั้งแต่เล็กๆ จะเกิดภูมิแพ้และโรคอ้วน เด็กอ้วนพอไม่สบายหมอก็ให้ Antibiotics เรื่อยๆ แล้วการที่อ้วนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า โกรทโปรโมเตอร์ (Growth Promoter) ให้น้อยๆ สัตว์จะอ้วน โตเร็ว มันจะทำให้การดื้อยาเป็นไปได้เร็วขึ้นและถ้าสายพันธุกรรมดื้อยาไปปะปนกับอาหาร คนกินก็จะรับสายพันธุกรรมและสายพันธุกรรมบ้าเนี่ยนะ มันเข้าไปอยู่ในจุลินทรีย์ได้ทุกอย่างทั้งคนและสัตว์ อาจารย์เคยตั้งคำถามในการประชุมวิชาการครั้งหนึ่งว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่เรากินนั้นไม่มีสายพันธุกรรม มีข้อกำหนดหรือยังว่าต้องให้ตรวจ คำตอบก็คือไม่มี ข้อกำหนดที่มีอยู่อย่างเดียวตอนนี้คือ 1. ปริมาณ Antibiotics ไม่เกินลิมิต  2. เชื้อไม่เกินลิมิต แต่มันไม่ได้พูดว่าดื้อยาหรือเปล่า และการที่พูดว่าไม่มี Antibiotics ในผลิตภัณฑ์ ในอาหารเกินลิมิตหมายความว่ามันมีการใช้ แต่อยู่ในระยะพัก แต่เมื่อมีการใช้นั่นหมายความว่ามันมีโอกาสเกิดการดื้อยาเกิดขึ้นได้ เพราะอาจจะมีสายพันธุกรรมดื้อหรือที่มันตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงมันก็ต้องดื้อและคนที่เลี้ยงก็มีสายพันธุกรรมดื้อยา คือค่อนข้างพบเยอะแล้วว่าคนที่เลี้ยงโดยใช้ Antibiotics นั้นตัวคนเลี้ยงจะมีเชื้อดื้อยาเยอะ จะติดเชื้อไม่สบายอยู่เรื่อยๆ พอไปตรวจก็พบว่ามันมีจริงและถ้ามันอยู่ในอาหารที่เรากินแล้วต้มไม่ตายทุกคนก็มีความเสี่ยงต่อการรับทั้งนั้น การต้มนั้นแบคทีเรียตายแต่สายพันธุกรรมนั้นมีงานวิจัยว่าไม่ตาย ความร้อนไม่ช่วยเลยนั่นคือสิ่งที่เป็นห่วง ดังนั้นนี่คือข้อเรียกร้องว่า เราต้องได้รับข้อมูลสถานการณ์จริงและเราต้องได้รับการปกป้องให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และเมื่อผู้บริโภคไปเรียกร้องสิทธิ ผู้บริโภคเองก็ต้องมีหน้าที่เมื่อคุณได้รับสั่งกินยาคุณต้องมีสิทธิถาม มีตัวอย่างหนึ่งเขาเป็นสื่อมวลชนอยู่ที่เชียงใหม่ พวกเราเป็นคนให้ความรู้เขาแล้วให้เขาทำละครชุมชน พอเขาทำแล้วเขาอินกับเรื่องนี้ ตอนที่ลูกเขาไม่สบายมีน้ำมูกใสๆ จึงพาไปหาหมอ หมอจะจ่ายยา Antibiotics เขาก็ถามเลยว่า ตกลงลูกเขาติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียครับ หมอก็อึ้งแล้วบอกว่า ต้องตรวจดู เขาจึงบอกว่ารอได้ให้ตรวจเลย พอผลตรวจออกมาหมอพูดอ้อมแอ้มบอกว่า ไม่ใช่แบคทีเรียมันเป็นไวรัสเพราฉะนั้นไม่ต้องสั่งยาต้านหรือ Antibiotics ดังนั้นต้องกล้าที่จะถามว่าเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส ถามว่ายานี้เป็นอันตรายไหม กินแล้วจะเกิดอาการอะไรขึ้นไหม นี่คือสิทธิที่เราต้องรู้ และขณะเดียวกันเรามีหน้าที่ที่ต้อง 1.อย่าไปเรียกร้องหมอขอยาแก้อักเสบนี่ไม่ควรทำ 2.ถ้าต้องกินก็กินให้ครบ 3. ต้องดูแลภายในบ้าน เพราะบางคนหมาไม่สบายก็เอายาตัวเองให้หมากินอย่างนี้เป็นต้น คือมันถ่ายทอดทั้งเขาและเราอยู่ตลอดเวลารวมทั้งการดื้อยาด้วย และถ้าต้องเลี้ยงสัตว์เป็นเกษตรกรด้วยคุณต้องมีความห่วงใยโลก ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยผู้ที่จะกินอาหารจากเรา มีเกษตรกรที่เลิกใช้  Antibiotics มาพูดคุยกับเราในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2559 นี้ด้วยหลายกลุ่มเลย ---------ข้อสรุปของการประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล “World Consumer Rights Day 2016” วันที่ 15 มีนาคม 2559 มีดังนี้     ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาฯ มีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น จากข้อมูลของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นในโลกนี้ นำไปใช้ในการเกษตร โดยนำไปเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ (Growth Promoter) ใช้ป้องกันการติดเชื้อมากกว่าจะใช้เป็นยารักษาโรค คาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีการเพิ่มขึ้นของการใช้ยาปฏิชีวนะ จาก 63,200 ตัน ในปี ค.ศ.2010 เป็น 105,600 ตันในปี ค.ศ.2030       การรณรงค์เรียกร้องที่ดำเนินการทั่วโลกในปีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ บริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกให้สัญญาต่อผู้บริโภคว่าจะหยุดการขายเนื้อสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม  โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคนที่จะมีส่วนช่วยในการเรียกร้องให้เกิดความปลอดภัยในอาหารที่เราบริโภค ดังนั้นในการจัดประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เครือข่ายภาคประชาชนภายใต้สภาผู้บริโภคแห่งชาติ มีความตระหนักและให้ความสำคัญในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินการจัดการปัญหาวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาอย่างบูรณาการ ผ่านโครงสร้างและกลไกต่างๆ ที่ต้องจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบจัดการปัญหาในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ ตลอดจนระดับสถานพยาบาลและในชุมชน โดยครอบคลุมทั้งการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในมนุษย์ และในการเกษตร 2.เรียกร้องให้รัฐ กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้มีการตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม 3.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการด้านเกษตรและปศุสัตว์ ดำเนินการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น ทั้งในเกษตรกรรายย่อย และการเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจบริโภคได้อย่างปลอดภัย  และลดผลกระทบไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา 4.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเนื้อสัตว์มาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค4.1ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค       4.2 ขอให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ4.3 ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน 5.เรียกร้องให้บุคลากรสุขภาพทุกคน มีส่วนในการรณรงค์เพื่อให้เกิดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 6.เรียกร้องให้ผู้บริโภคทุกคน พึงตั้งคำถามทั้งต่อตนเองและต่อบุคลากรสุขภาพว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจบริโภค 7.เรียกร้องให้สื่อดำเนินการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคให้ตระหนักในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และ ความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 181 เสียงผู้บริโภค

เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่ายแม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่กองทุนฉุกเฉิน เธอจึงต้องระดมหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กับโรงพยาบาล ภายหลังจ่ายเงินเรียบร้อย เธอจึงไปติดต่อเบิกเงินคืนจาก สปสช. ซึ่งได้คืนประมาณ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือกองทุนแจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องขอความอนุเคราะห์เบิกกับที่โรงพยาบาลดังกล่าวแทน ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องต้องการทราบว่าจะได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยทำหนังสือประสานงานไปยัง สปสช. และโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอ้างตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ภายหลังทางโรงพยาบาลยินยอมที่จะไม่เรียกเก็บเงิน พร้อมคืนเงินส่วนต่างทั้งหมดให้ ดังนั้นแนวทางสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสียเงินเมื่อเข้ารับการรักษา มีดังนี้1. หากเลือกโรงพยาบาลได้ควรเป็นของรัฐ เพราะเจรจาต่อรองได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดปัญหา2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งสำหรับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ แพทย์จะพิจาณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้ - โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น- โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน- โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต- โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด- ความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย3. หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ต้องยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยอ้างสิทธิตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเจรจาตกลงกันไม่ได้ ควรแจ้งเรื่องที่สายด่วน สปสช. (โทรฟรี) 1330 4. เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่องอ้างอิงข้อมูล: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx#b และ http://indyconsumers.org/main/index.php/information/handbook/health-service-157/168-571028016 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่งแม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือหนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย ระวังผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด เถื่อนสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่คอยดูดเลือดและแฝงตัวอยู่กับน้องหมาอย่างเห็บหมัด ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงน้องหมาทุกคนไม่อยากเจอ ทำให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายาดังกล่าวจะทำให้เห็บหมัดหายไป หรือมีความปลอดภัยต่อน้องหมาและเราจริงๆเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้เห็นข่าวจากกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ ที่ออกมาเตือนถึงผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดเถื่อน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงได้ เขาจึงต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเป็นอีกหนึ่งในผู้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รักสัตว์ทั้งหลาย จึงค้นข้อมูลเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อไปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังได้รับเรื่องศูนย์ฯ ก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม และพบข่าวการแจ้งเตือนดังกล่าวว่า นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เตือนผู้เลี้ยงสัตว์อย่าหลงเชื่อผู้ผลิตหรือผู้ขายยาสัตว์อวดอ้างสรรพคุณ เพราะใช้แล้วอาจมีพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท และการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของท่านพิการและตายได้ ซึ่งหากร้านใดมีการขายยาสัตว์จะต้องได้รับใบอนุญาต หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้สำหรับหลักการเบื้องต้นในการสังเกตว่าผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดยี่ห้อไหนได้รับมาตรฐาน เราสามารถตรวจสอบได้ดังนี้1. ยาแท้ต้องมีชื่อยา: โดยมีทั้งชื่อทางการค้า (ยี่ห้อ) และชื่อสามัญทางยาหรือสารออกฤทธิ์สำคัญ2. ยาแท้ต้องมีเลขทะเบียนยา: โดยจะสังเกตเห็นข้อความว่าทะเบียนยา เลขทะเบียนยา หรือ Reg. No. หรือเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งจะสังเกตเห็นข้อความ “อย. วอส.” ในกรอบสัญลักษณ์เช่น วอส. 1266/25543. ยาแท้ต้องระบุปริมาณ: หรือขนาดบรรจุของยา เช่น มียากี่เม็ด มียากี่หลอด และแต่ละหลอดบรรจุปริมาณเท่าใด เป็นต้น4. ยาแท้ต้องระบุเลขที่ผลิต: หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต หรือครั้งที่วิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No. Cont. No. หรือ Batch No. แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต5. ยาแท้ต้องมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต: ซึ่งจะใช้อักษรย่อว่า Mfd. หรือ Mfd. Date ตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต และระบุวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp. Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ6. ยาแท้ต้องมีชื่อและสถานที่ผู้ผลิต: มีชื่อและสถานที่ผู้นำเข้ามาจำหน่ายระบุไว้อย่างละเอียดด้วย7. ยาแท้ต้องมีวิธีใช้: รวมถึงคำเตือน ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษา ระบุไว้อย่างชัดเจน8. หากเป็นยาพิเศษจะมีข้อความระบุด้วยอักษรสีแดงชัดเจน: เช่น ยาสำหรับสัตว์ ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาใช้ภายนอก ยาใช้เฉพาะที่ แล้วแต่ว่าจะเป็นยาอะไรนอกจากนี้ยังมีหลัก 5 สอ เพื่อป้องกันพิษภัยจากยาฆ่าเห็บหมัดในสุนัข คือ1. ศึกษา: ควรศึกษาผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยอ่านจากเอกสารกำกับยาหรือฉลากยา ซึ่งภายในนั้นจะชี้แจงรายละเอียดให้ทั้งหมด2. สอบถาม: ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์หรือผู้รู้ให้ดีก่อนนำยามาใช้ อย่าเชื่อจากคำบอกเล่าโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ3. สวมใส่: ควรสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนตัวน้องหมาให้สวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลียสารพิษเข้าสู่ร่างกาย4. สัมผัส: หลักเลี่ยงการสัมผัสลูบคลำตัวน้องหมาที่เพิ่งใส่ยา หยอดยา ทายา หรือพ่นยาตามตัวมา ที่สำคัญควรเก็บยาที่เหลือใช้ให้พ้นมือเด็ก5. สังเกต: ให้สังเกตอาการน้องหมาหลังได้รับยาด้วยว่า มีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้หรือไม่ ถ้ามีให้รีบปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลต่อไปอ้างอิงข้อมูล: กรมปศุสัตว์ http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/1491-19-12-58 และ Doglike.com/สังคมอบอุ่นของน้องหมาสุดรัก    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 จะเป็นอย่างไรเมื่อ(ร่าง) รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลายท่านที่ติดตามข่าวคงได้เห็นแล้วว่าภาคประชาชนมีแอคชั่นทวงสิทธิผู้บริโภคที่หายไปในรัฐธรรมนูญ กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 150 คน ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมของสคบ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีมติไม่สนับสนุนกฎหมายอ้างเหตุซ้ำซ้อน และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้ จึงขอพาไปติดตามสองความคิดเห็นของ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และนางสาว สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อ(ร่าง) รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคดร.ไพบูลย์ ช่วงทองส่วนตัวผมมองว่า การทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดปัจจุบันยึดโยงและสอบถามความเห็นประชาชนน้อย ทำให้หลายภาคส่วน ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญแบบย้อนยุคไปเมื่อสมัย 40 ปี ที่แล้ว ที่ให้รัฐทำทุกอย่าง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัย และเป็นสาเหตุสำคัญในการนำพาประเทศมาถึงทางตันทางการเมือง ไม่มีทางออก จนต้องนำมาสู่การรัฐประหารปี 2558 โดย คณะ คสช. ส่วนตัวผมมองว่า การเข้ามาของ คสช. ผมมองว่าไม่ถูกต้อง แต่ในขณะนั้น สังคมเราไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า การใช้อำนาจในการเข้ามาควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ที่ ประชาชน 2 ฝ่าย มีแนวโน้มที่จะปะทะกันและนำไปสู่ ความรุนแรง และอาจเป็นบาดแผลที่ยากเกินกว่าจะเยียวยา ในประวัติศาสตร์ของประเทศได้ แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบขึ้น ส่วนตัวผมมองว่า ประชาชนได้ฝากความหวังว่าการทำงาน ของ คสช. จะกลับมาแก้ปัญหา การกระจายอำนาจ  รักษาหลักการ เคารพสิทธิมนุษยชน เพิ่มสิทธิพลเมือง ขยายสิทธิผู้บริโภค โดยยอมนิ่งสงบทั้งๆ ที่ การฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งต้องเข้าใจนะครับว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปนั้น จะดีจะเลวอย่างไร ก็ผ่านเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว และส่วนตัวผม รัฐธรรมนูญ ปี 40 ที่ถูกฉีกไปเมื่อปี 49 ก็รับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 57  “มาตรา 57 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎและข้อบังคับและให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ถูกฉีกอีกครั้ง ก็ยังคงรับรองสิทธิ โดยบัญญัติไว้ว่า “มาตรา 61 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย” ในขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... นั้น องค์กรผู้บริโภคได้ร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ มาตั้งแต่ขั้นตอนการ ล่ารายชื่อประชาชน จำนวนกว่า 12,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ได้ดำเนินมาจนถึงขั้น ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และ กำลังรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปนั้น ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น โดย คสช. ประกาศยึดอำนาจ ขึ้นทำให้ พรบ. ที่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวที่ยาวนานของภาคประชาสังคม ต้องมีอันต้องตกไป ล่าสุดจากรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบและรับหลักการร่าง พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเสนอร่างพรบ. ดังกล่าวต่อ คณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างดุลภาพแห่งอำนาจการจัดการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคำนึงถึง 3 ด้าน คือ ภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาชน น่าเสียดาย ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หมดวาระไปก่อน และเมื่อ มีการจัดตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้น ความสำคัญของงานด้านการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ถูกลดทอนความสำคัญลง ตามเหตุปัจจัยตามสถานการณ์ทางการเมืองต้องขออนุญาต เล่าประวัติศาสตร์และความเป็นมาของ การคุ้มครองผู้บริโภคในอดีตให้เห็นภาพก่อน เพราะ การเคลื่อนไหว ตลอด 17 ปี ที่ผ่านมา งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่มาก จนถึงขณะนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับอ.มีชัยและคณะ ไม่ปรากฏ บทบัญญัติ ให้สมกับ แนวความคิดปฏิรูปงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ ต้องสร้างดุลภาพทางอำนาจ ทั้งสามฝ่ายให้เกิดขึ้น จากสิทธิประชาชนในฐานะผู้บริโภค แปลงร่างเป็น การคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยกให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ผมมองว่า เป็นการลดทอนบทบาท ของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เหมือนกับ ด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสิทธิชุมชน ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์อยู่ สิทธิอันชอบธรรมอย่างหนึ่งของคนทำงานทางด้านการเคลื่อนไหวงานทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การเสนอข้อมูล และให้ความรู้ กับประชาชน ตลอดจนทำข้อเสนอและความเห็นผ่านไปยัง อ.มีชัยและคณะ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อเสนอให้มีการปรับแก้ เพราะ ความเห็นของประชาชนย่อมมีน้ำหนักกว่า ความเห็นของ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ที่ เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว ก็จะหมดบทบาทหน้าที่ต่องานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ในขณะที่ รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่มีฐานความคิดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จะยังคงมีผลต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน หากบทบัญญัติใด ไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ประชาชนก็มีสิทธิและหน้าที่อันชอบธรรมในการที่จะปฏิเสธ ไม่รับ ร่างธรรมนูญฉบับนั้น สารี อ๋องสมหวังส่วนตัวดิฉันคิดว่า รัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างใหม่ไม่ว่าในยุคสมัยใด ยังไม่เคยปรากฎว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนลดลง แต่ก็ต้องบอกว่าฉบับนี้ สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญ สิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค และสิทธิของกลุ่ม ถูกลดทอนและหายไปจำนวนมาก  มีปัญหาทั้งเรื่องโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ย้ายหมวดสิทธิของประชาชนจำนวนมากไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ทำให้กฎหมายสูงสุดของประเทศกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการใช้อำนาจลิดรอนสิทธิของประชาชน เนื้อหาสาระที่เป็นปัญหา และรวมทั้งไม่เป็นปัจจุบันและไม่แก้ปัญหาในอดีตหากมองเฉพาะส่วนสิทธิของผู้บริโภคที่อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ก็เขียนไว้แบบแคบๆ ในมาตรา 57 ว่า รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ซึ่งการเขียนไว้เพียงเท่านี้ จะทำให้หน่วยงานรัฐ สามารถตีความได้ว่า ตนเองมีมาตรการ หรือกลไกคุ้มครองสิทธิที่ครบถ้วนแล้ว การส่งเสริม และการสนับสนุนให้รวมกลุ่มปัจจุบันก็มีการดำเนินการแล้วเป็นระยะ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงมาตรการหรือกลไกอะไรในการคุ้มครองผู้บริโภค “การเขียนแบบนี้ เป็นการยึดสิทธิของผู้บริโภคไปอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ  แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่ระบุให้มีองค์กรของผู้บริโภคระดับประเทศ หรือองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็น หรือเสนอหน่วยงานของรัฐในการออกกฎหมาย กฎ หรือมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นั่นคือการออกกฎหมาย กติกาที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคไม่ถูกผูกขาดในมือของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และฟ้องคดีเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย” การเขียนไว้สั้นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าถอยหลังไปก่อนปี 2522  ทำให้ผู้บริโภคขาดองค์กรของผู้บริโภคระดับประเทศ ในการทำหน้าที่แทนผู้บริโภค หรือในต่างประเทศจะเรียกว่า สิทธิที่จะมีตัวแทนผู้บริโภคในการกำหนดกติกา( Right to representation) ในการต่อรองกับภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และยิ่งสำคัญมากกับประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐในบ้านนี้เมืองนี้ ข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่กล้าเถียงชั้นผู้ใหญ่ หรือไม่กล้าเถียงนักการเมืองเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น หรือหากมองไปในรัฐธรรมนูญ 2540 ในอดีตที่กำหนดให้มีองค์การอิสระ แต่เมื่อไม่ได้เขียนว่า เป็นอิสระอย่างไร ก็เป็นที่ถกเถียงมาก ว่าองค์การอิสระนี้สามารถเขียนไว้ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้หรือไม่ หรือจะต้องทำเป็นกฎหมายเฉพาะ จนทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายได้ และเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ สิ่งนี้สะท้อนว่าทุกตัวอักษรในรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มีที่ไปที่มา และประวัติศาสตร์มากมายส่วนประเด็นความซ้ำซ้อนที่เลขาธิการสคบ. มองว่า “องค์กรผู้บริโภคนี้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกระบวนการในการจัดทำและบังคับใช้กฎหมาย มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ของทางราชการกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอยู่แล้ว และการคุ้มครองผู้บริโภคถือเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐ เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี การเปรียบเทียบความผิดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการใช้อำนาจทางปกครองซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร จึงไม่ควรเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่ภาคประชาชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนภารกิจของภาครัฐ และเติมเต็มในมิติอื่นๆ ที่ภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นการที่ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองมีอำนาจและหน้าที่หลายประการ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานของรัฐและมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว จึงเป็นการซ้อซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ประชุมของหน่วยงานรัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 66 คน โดยไม่มีผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ต้องบอกว่า เป็นความน่าเบื่อของสคบ. ที่ทุกครั้งของการตัดสินใจต้องมีภาคธุรกิจ และทำหน้าที่แทนผู้บริโภคไม่ได้ และสะท้อนว่า รัฐไม่เคารพหลักการหรือมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือฟังความเห็นจากทุกฝ่ายจริงตามที่อ้าง ไม่งั้นจำนวน 66 คนนี้ ต้องมีตัวแทนขององค์กรผู้บริโภคที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอดขอให้อ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดี จะเห็นว่า ได้ว่า องค์กรนี้ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับภาคธุรกิจได้ ทำหน้าที่ให้ความเห็นและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ แต่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ข้อมูลผู้บริโภคให้มีความรู้ เท่าทันสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการได้ หรือแม้แต่อำนาจในการฟ้องก็เป็นเพียงสิทธิพื้นฐานเทียบเท่าประชาชนในการยื่นฟ้อง เพราะศาลยุติธรรมเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐในการพิจารณาคดี สุดท้ายอยากฝากไปภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ต้องบอกว่าหมดยุคธุรกิจใต้โต๊ะ หรือไม่นับถือผู้บริโภค ยุคปัจุบันและอนาคตต้องยึดความพึงพอใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ หากสังคมทำให้เกิดอำนาจต่อรองของผู้บริโภคมากเท่าไหร่ ย่อมสะท้อนคุณภาพของสินค้าและบริการของประเทศนั้น ๆ ดังที่เราเห็นในประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์สิทธิของผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญในอดีต จนถึงร่างฉบับปัจจุบัน                  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 อย่าวางใจ “ธรรมชาติ” บนฉลากอาหาร

ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินตามห้างสรรพสินค้าใหญ่หน่อยอาจเคยสงสัยว่า สินค้าที่มีวิตามินขนาดสูงๆ หรือเป็นสารสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินั้น ถูกนำมาวางขายบนหิ้งในห้างได้อย่างไร มันปลอดภัยแล้วหรือ ผู้เขียนเคยพบคลิปใน YouTube ให้ข้อมูลว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันปัจจุบันนั้น ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งรวมถึงสารสกัดจากใบแปะก๊วยและรากวาเลอเรี่ยนมากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้รู้เช่น แพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ สารสกัดจากใบแปะก๊วย(Ginkgo Biloba extract) เป็นสารสกัดที่ใช้ลดความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาอาการความจำเสื่อม แต่สารสกัดนี้ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้นในคนปรกติ กล่าวคือ ฉลาดหรือโง่เพียงใดก็เป็นได้แค่นั้น การกินสารสกัดนี้เองอาจก่อปัญหาถ้าต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะสารนี้ทำให้เลือดหยุดไหลช้าจนอาจถึงตายได้) ส่วนสารสกัดจากรากวาเลอเรี่ยน (valerian root extract) นั้น การแพทย์ทางเลือกใช้ช่วยแก้ปัญหาหลับยาก แต่อาจมีผลข้างเคียงในการทำลายตับเมื่อกินมากไป ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการใช้สารสกัดเหล่านี้ว่า ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่รู้จริง ท่านผู้อ่านจึงควรถามตนเองในเรื่องความจำเป็น และสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก่อนซื้อมาบริโภคทุกครั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับบางท่านคือ จะถามใครหรือหาข้อมูลได้จากที่ไหน มีข้อสังเกตว่า ผู้ขายสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติต่างๆ มักกล่าวอ้างแบบปากต่อปากถึงสรรพคุณของสินค้าว่า มีฤทธิ์ในการบำบัดอาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะเป็นสินค้าจากธรรมชาติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า ธรรมชาติ นั้นไม่ได้หมายความหรือแปลว่า ปลอดภัย แค่ดูตัวหนังสือที่ใช้เขียนก็เห็นความต่างแล้ว ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองเข้าไปดูคลิปของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เรื่อง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปลอดภัยกว่าสารเคมีจริงหรือ ใน YouTube ( ลิงค์ยูทูปกดดูได้ )ก็คงเข้าใจได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่คนอเมริกันซาบซึ้งใจดีเกี่ยวกับคำว่าธรรมชาติคือ การใช้สมุนไพรจีนชื่อ มาฮวง (Ma Huang ซึ่งรู้จักกันทั่วโลกในชื่อ Ephedra โดยมีชื่อเล่นว่า yellow horse) ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่สุดท้ายปรากฏว่า ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคือ เพิ่มความดันโลหิตให้สูงกว่าปรกติพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (ซึ่งทั้งสองอาการนี้นำไปสู่อาการหัวใจวาย) ก่อปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดในสตรีมีครรภ์ ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวว่า อย.มะกันได้ห้ามขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในมาฮวงชื่อ อีฟีดรีน (ephedrine alkaloids) ตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่ได้ห้ามการขายมาฮวงหรือสารสกัดจากมาฮวงที่มีอีฟีดรีนไม่มากเกินปริมาณที่ อย.กำหนด ในรัฐยูทาห์มีการชงชาที่ใช้ใบมาฮวงแทนใบชาจีนเพราะไม่มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารห้ามกินในศาสนานี้ จึงมีผู้เรียกชานี้ว่า Mormon tea จากตัวอย่างความหมายของคำว่า “ธรรมชาติ” ที่ยกให้เห็นเกี่ยวกับมาฮวงในสหรัฐอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคำนี้ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะบนฉลากอาหารนั้น มัก เป็นคำที่ดูไร้สาระ ในความนึกคิดของชาวอเมริกันที่มีการศึกษาดี ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มขยับที่จะทำให้คำๆ นี้มีความหมายเป็นเรื่องราวเสียที ดังปรากฏในบทความชื่อ FDA Wants You to Define ‘Natural’ on Food Labels ซึ่งปรากฏในเว็บ www.care2.com เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015 ใจความสำคัญในบทความนั้นกล่าวว่า องค์กรเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้พยายามรวบรวมข้อเสนอแนะจากสาธารณะชน เพื่อขอ(กดดัน)ให้ อย.กำหนดความหมายที่ชัดเจนหรือห้ามการใช้คำๆ นี้บนฉลากอาหาร ประจวบกับทางหน่วยงานนี้ได้ถูกศาลของรัฐบาลกลางขอร้องให้ข้อแนะนำเพื่อการตัดสินคดีว่า สินค้าที่มีวัตถุดิบที่เป็นจีเอ็มโอ หรือใช้น้ำเชื่อมฟรัคโตสที่ทำจากข้าวโพดนั้น ใช้คำว่าธรรมชาติได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วนักการตลาดที่ไร้เดียงสาในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักมโนว่า ธรรมชาตินั้นมีความหมายเกี่ยวข้องเพียงสีธรรมชาติหรืออะไรประมาณนั้น ซึ่งบางครั้งการมโนแบบนี้ก็ได้กลายเป็นภาพลวงที่มักเกิดได้กับผู้ซื้อสินค้า(นักช็อป)มืออาชีพ จากรายงานการสำรวจของ Consumer Reports ในบทความเรื่อง Say no to 'natural' on food labels (โดย Deborah Pike Olsen ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 16 มิถุนายน 2014 ใน www.consumerreports.org) กล่าวว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1000 คน พยายามมองหาคำว่าธรรมชาติบนฉลากเมื่อต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูป โดยที่สองในสามตีความสินค้าที่มีคำว่าธรรมชาติหมายถึงสินค้านั้นไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสิ่งสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง และจีเอ็มโอ ในการสำรวจเดียวกันนั้นยังพบว่า 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นควรให้ติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบที่เป็นจีเอ็มโอตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยที่กว่า 3 ใน 4 กล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับประชาชนที่ต้องหลีกเลี่ยงองค์ประกอบอาหารที่มาจากจีเอ็มโอ ในขณะที่ประเด็นนี้ทาง อย.มะกันไม่ได้รู้สึกร้อนรู้สึกหนาวในการจะบังคับให้มีการติดฉลากหรือสร้างมาตรฐานความปลอดภัย พฤติกรรมของ อย.มะกันเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นเป็นที่สงสัยกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูบทความเรื่อง Monsanto Controls both the White House and the US Congress ที่ www.globalresearch.ca/monsanto-controls-both-the-white-house-and-the-us-congress/5336422 แล้วใช้วิจารณญานของแต่ละบุคคลคิดเองว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับประเด็นความหมายของคำว่า ธรรมชาติ สำหรับ อย.มะกันแล้ว มันมีอะไรมากกว่าที่มนุษย์ธรรมดาคิด กล่าวคือ อย.ได้พิจารณาว่า คำๆ นี้น่าจะหมายถึง การไม่มีของเทียมหรือสารสังเคราะห์(ซึ่งรวมถึงสีที่ใช้ใส่ในอาหาร โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของสี ทำให้น่าจะหมายความว่า แม้แต่แตงโมที่ถูกเอาสีจากกระเจี๊ยบทาให้ดูแดงฉ่ำกว่าเดิม แตงโมนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นอาหารธรรมชาติแล้ว) เป็นองค์ประกอบหรือถูกเติมลงไปในอาหารนั้น อย่างไรก็ดี ความหมายของธรรมชาติที่ อย.มะกันมองนั้น ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตว่าใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือขั้นตอนการผลิตใช้หรือไม่ใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ หรือการฉายรังสี อีกทั้ง อย.มะกันก็ไม่ได้มองคำว่า ธรรมชาติ นั้นมีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการหรือสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นในปัจจุบัน อย.มะกันจึงพยายามมองหาผู้ร่วมอุดมการมาช่วยคิดว่า มันถึงเวลาแล้วในการกำหนดความหมายที่แน่นอนของคำว่า ธรรมชาติ และควรกำหนดด้วยวิธีใด อีกทั้งหน่วยงานนี้ก็ยังต้องการความเห็นว่า การใช้คำว่าธรรมชาติบนฉลากอาหารนั้นควรเป็นอย่างไรด้วย ความเห็นของผู้สนใจ(ชาวอเมริกัน)นั้นสามารถส่งให้ อย.มะกันได้ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2015 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งหลังจากนั้นก็คงรอกันอีกนานพอควรกว่าจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นเรื่องเป็นราวให้ อย.ประเทศอื่นได้สำเนาไปใช้กัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 เป็นคนดี เสียภาษีน้อยกว่า รู้ยัง

นับตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2559 เป็นช่วงเวลาของการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีประจำปี 2558 แฟนๆ ฉลาดซื้อยื่นแบบกันรึยังครับ สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะได้เงินภาษีคืน รีบยื่นแบบหน่อยก็ดีนะครับ เพราะหากไปยื่นช่วงโค้งสุดท้ายก็จะต้องรอนานนิดหนึ่ง ส่วนคนที่ดูแล้วว่าอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ได้เงินภาษีคืน ก็เลยยังนิ่งนอนใจอยู่ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะยังไงเกิดเป็นคนไทยมีรายได้ก็ต้องเสียภาษีกันทุกคน ปี 2558 ผ่านไปแล้วยังไงก็แก้ไขไม่ได้ มาเริ่มต้นวางแผนภาษีปี 2559 กันตั้งแต่วันนี้ดีกว่าครับ รับรองว่าปีหน้าคุณจะมีเงินเหลือติดกระเป๋ามากกว่าปีนี้แน่นอน     การวางแผนภาษีนี้ไม่ใช่การหนีภาษีนะครับ เพราะหนีภาษีหรือโกงภาษีนั้นมันผิดกฎหมาย แต่การวางแผนภาษี คือการใช้สิทธิต่าง ๆ มาลดหย่อน เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ได้รับเงินภาษีคืนมากขึ้น ซึ่งการวางแผนภาษีนี้ก็มีหลากหลายวิธี แต่คุณรู้ไหมครับว่า “การเป็นคนดี” ก็ช่วยให้คุณเสียภาษีน้อยลง      1. เป็นคนดีมีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้ ถ้าคุณเป็นลูกที่ดีดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมิได้ทำงานมีเงินได้หรือมีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี ทั้งพ่อแม่ของคุณหรือพ่อแม่ของแฟนคุณ(กรณียื่นภาษีร่วมกัน) ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ท่านละ 30,000 บาท สำหรับคนที่มีพี่น้องหลายคนก็ต้องพูดคุยตกลงกันนะครับว่าจะให้ใครเป็นคนใช้สิทธิลดหย่อนนี้ เพราะหากพ่อหรือแม่ออกหนังสือรับรองสิทธิลดหย่อนให้ลูกคนใดแล้ว ลูกคนอื่นก็จะมาใช้สิทธิซ้ำอีกไม่ได้     2. เป็นคนดีมีเมตตาดูแลคนพิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้ถึงคนละ 60,000 บาท ถ้าคุณดูแลคนพิการในครอบครัว (ซึ่งกฎหมายจำกัดสิทธิเฉพาะ คู่สมรส พ่อแม่ ลูกหรือลูกบุญธรรม) ไม่ว่าจะกี่คนก็ตามกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนคนละ 60,000 บาท และถ้าคุณรับอุปการะคนพิการอื่น ๆ อีก อันนี้กฎหมายให้สิทธิลดหย่อนได้อีก 1 คน แต่ทั้งนี้ในบัตรประจำคนพิการจะต้องระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแล     3. เป็นคนดีรู้จักเก็บออม ได้สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่สามารถนำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ปีละไม่เกิน 10,000 บาทแล้ว ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์เดียวกับที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ     4. เป็นคนดีมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคเงินก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษี ถ้าบริจาคให้สถานศึกษาสามารถนำมาหักภาษีได้ถึงสองเท่าของเงินที่บริจาค ส่วนการบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลอื่น ๆ นั้น จะต้องเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลังจึงจะได้สิทธิลดหย่อนตามจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว     ถึงตรงนี้ก็อยากจะเชิญชวนผู้อ่านร่วมกันบริจาคเงินให้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ซึ่งนอกจากคุณจะได้ส่วนลดทางภาษีแล้ว เงินของคุณยังช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ผ่านการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งในแต่ละปีศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิฯ สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน และยังยกระดับการทำงานคุ้มครองสิทธิไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม อาทิ การเรียกร้องให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินจากการใช้บริการกรณีฉุกเฉิน หรือการผลักดันให้มีการคิดค่าโทรศัพท์มือถือตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษ ซึ่งจะสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดเงินได้มากกว่า 38,200 ล้านบาทต่อปี รวมทั้ง “ฉลาดซื้อ” ที่อยู่ในมือของท่านผู้อ่านขณะนี้ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้สู่ผู้บริโภค

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 สถานการณ์รถยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Electricity car (E-car) ของเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปี 2007 รัฐบาลเยอรมนีมีมติสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับโครงการรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-car) โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะต้องมีจำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันวิ่งบนท้องถนน แต่จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (Kraftfahrtbundesamt: KBA) ในปี 2015 มีเพียงแค่ 31,000 คัน เท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้มาก และในเดือนมกราคม ปี 2016 ที่ผ่านมา มีรถไฟฟ้าที่ขอจดทะเบียนเพียงแค่ 477 คัน จากรถทั้งหมด 218,365 คัน (น้อยกว่า 27% เมื่อเทียบกับข้อมูลจากปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน) และมีเพียง 976 คันที่เป็นรถ plug-in hybrid (รถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันและไฟฟ้า) ทำให้การเติบโตและความนิยมของรถไฟฟ้าต่ำกว่าความคาดหวังของตลาดรถยนต์ แม้ว่าภาพลักษณ์ของรถไฟฟ้าถูกมองว่าเป็นความหวังของอนาคต เนื่องจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ และโฆษณาชวนเชื่อว่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0 กรัม สำหรับรถแบบ plug in hybrid ที่ โฆษณาว่า ประหยัดพลังงาน ยกตัวอย่างรถ ปอร์เช่ Cayenne S E-hybrid ใช้น้ำมันเพียง 3.4 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และได้ฉลากประหยัดน้ำมันระดับ A+ ในการปล่อยก๊าซ CO2  สู่บรรยากาศ (ซึ่งยังไม่ได้รวมปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ไฟฟ้า ที่เกิดจาก โรงไฟฟ้า) แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเยอรมนี คือ การติดตามผล การดำเนินนโยบายในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่จะผลักดันให้เยอรมนีเป็นผู้นำในด้าน รถไฟฟ้า ในด้านการตลาด และเป็นผู้นำในการส่งออก ซึ่งใช้มาตรการให้เงินสนับสนุน (Kaufprämien: buyer’s premium) แก่ผู้ผลิตหลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาล และผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ รถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ ? แน่นอนว่าถ้าใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (E-Car) ปัญหาของก๊าซ NOX จะลดลง แต่อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องมองภาพรวมการก่อให้เกิดมลพิษโดยรวม ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปัจจุบันใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากเช่นกัน นอกจากนี้การผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน ก็มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศอย่างมหาศาลเช่นกัน ยังไม่รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ เช่น ปรอทที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน หากพิจารณาถึงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนีซึ่งขณะนี้ใช้ถ่านหิน ถึง 42 % ก็หมายความความว่า การใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านั้น ไม่ได้หมายถึงการลดมลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ หากเปรียบเทียบกับ รถที่ใช้เบนซิน ก๊าซธรรมชาติ ดีเซล และเครื่องยนต์ ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ของเยอรมนี (VCD) รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (E-Car) ปล่อยก๊าซ CO2 67-103 กรัมต่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถยนต์ที่ติดอันดับต้นๆในการประหยัดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานอย่างอื่น ปล่อยก๊าซ CO2 ระหว่าง 79-94 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรความคาดหวังของรัฐบาลเยอรมนี ในการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คืออะไรจริงๆ แล้วเงินสนับสนุนที่รัฐทุ่มให้กับรถยนต์ E- Car นั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาให้ผู้ซื้อ (buyer’s premium) คันละ 5000 ยูโรหรือ การลดภาษี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน E-Car ในวงกว้างนั้น อาจไม่เป็นดังที่รัฐบาลคาด (รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่สูงถึง 2500 ล้านยูโร) ที่จะทำให้เกิดการขยายปริมาณการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งงบประมาณดังกล่าว เปรียบเสมือนของขวัญที่รัฐบาลมอบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทำอย่างไร รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจึงจะขยายตัวการใช้งานได้มากขึ้น หากเราพิจารณาแต่เพียงรถยนต์ส่วนบุคคล อาจเป็นการมองที่คับแคบไป จริงๆ แล้วขณะนี้ในเยอรมนีเอง ก็มีรถขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีมานานแล้วแทบทุกเมือง นอกจากนี้ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟ รถบัสที่ขนส่งในเมือง ก็ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ รถจักรยานไฟฟ้า ก็เป็นที่นิยม ในปี 2015 สามารถจำหน่ายรถจักรยานไฟฟ้า ได้ถึง 500,000 คัน ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าในเมืองใหญ่     ดังนั้นเป้าหมายที่ทางรัฐบาลเยอรมนี เพิ่มปริมาณรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 1 ล้านคัน (ซึ่งคิดสัดส่วนเทียบกับปริมาณรถทั้งหมด เพียงแค่ 2 %) แทบไม่ได้ส่งผลต่อการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเลย จากข้อมูลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า รัฐบาลเยอรมนี ไม่ควรให้น้ำหนักกับปริมาณรถไฟฟ้าที่จะวิ่งในถนนให้ครบ 1 ล้านคัน ตามเป้าที่ได้ตั้งไว้แต่แรก แต่ควรตั้งเป้าในการลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรีประกอบกับพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมในการปฏิวัติเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย(ที่มา http://www.tagesschau.de/wirtschaft/elektroautos-kaufpraemien-101.htm)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 ฤาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม จะต้มตุ๋นคนไทยทั้งประเทศ?

ยุคเริ่มต้นแหล่งปิโตรเลียมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซ และเป็นก๊าซชั้นดีที่เรียกว่า ก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่เรียกว่าเป็นก๊าซชั้นดี เพราะเป็นก๊าซที่สามารถนำมาแยกเป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ก๊าซโพรเพน และบิวเทน เอามาใช้เป็นก๊าซหุงต้มและก๊าซในรถยนต์หรือที่เรียกว่าก๊าซแอลพีจี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกอีกด้วย ในขณะที่ก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซแห้งหรือก๊าซมีเทนชนิดเดียว จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเท่านั้น การพบแหล่งก๊าซดิบในประเทศไทยช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราจะโชติช่วงชัชวาล” รัฐบาลลงทุนในการสร้างท่อก๊าซและสร้างโรงแยกก๊าซเพื่อนำก๊าซมาใช้ในประเทศเพื่อทดแทนฟืนและถ่านที่ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ในร้านอาหาร ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นก๊าซรถยนต์เพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าที่มีราคาแพง และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในยามเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่เติบโตขยายตัวมากเหมือนปัจจุบัน ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศจึงมีปริมาณเหลือเฟือเพียงพอให้ใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและส่งออก การที่ยังมีปริมาณแอลพีจีเหลือจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้รถแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์แทนน้ำมัน ซึ่งประสบความสำเร็จที่มีรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคลหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน ยิ่งกว่านั้นภาคครัวเรือนก็เลิกใช้ถ่าน ฟืน เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนซึ่งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้รับความนิยมจนถ่านฟืนค่อย ๆ หมดไปเพราะการใช้ก๊าซแอลพีจีในครัวเรือนมีความสะดวกและราคาถูก รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ 100%ที่รวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คือ องค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริโภค ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานโลกในช่วงปี 2521 และเพื่อวัตถุประสงค์ในการพึ่งพาตนเอง ยุคหลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย    กิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจการที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นกิจการที่คณะรัฐมนตรีในอดีตเคยมีมติให้แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่ายก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคงการถือหุ้นกิจการก๊าซธรรมชาติไว้ 100% แต่เมื่อมีการแปรรูปได้แปรกิจการผูกขาดนี้ไปด้วยและหากพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะบัญญัติไว้เสมอว่า “รัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ต้องป้องกันการผูกขาดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค” หากพิจารณาตามบทบัญญัติเช่นนี้ กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ไม่สามารถแปรรูปได้เพราะเป็นกิจการที่ผูกขาดที่ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ การแปรรูปกิจการที่มีสภาพผูกขาดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน     กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ทำกำไรให้กับบมจ.ปตท.เป็นหลัก รองจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเอกสารแสดงงบกำไรขาดทุนในแบบฟอร์ม 56-1 ของบมจ.ปตท.ปี 2554-2557 หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไร 46,992 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 30% ปี 2555 กำไร 38,862 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 24% ปี 2556 กำไร 30,985 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 20% และในปี 2557 กำไร 39,779 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 28% ของกำไรในปีนั้น ๆ รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีกำไรในปี 2554 จำนวน 85,003 ล้านบาท หรือ 54% ในปี 2555 กำไรจำนวน 109,406 ล้านบาท หรือ 67% ในปี 2556 กำไร 110,922 ล้านบาท หรือ 73.18% และกำไรในปี 2557 จำนวน 91,525 หรือ 64.55% 2 กิจการหลักนี้ทำกำไรให้บมจ.ปตท. 84% ในปี 2554 91% ในปี 2555 93.18% ในปี 2556 และ 92.55% ในปี 2557ผลประกอบการของบมจ.ปตท. กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จากแบบ 56-1  ที่มา : แบบ 56-1 บมจ.ปตท.     การที่หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไรสูงกว่าหน่วยธุรกิจน้ำมันแม้จะแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแต่มีรัฐถือหุ้นใหญ่ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลในอดีตจะกำหนดให้ราคาก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นของประชาชนในราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญต่อตัน หรือราคาเนื้อก๊าซ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วราคาที่ขายประชาชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ก๊าซหุงต้มขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม ราคา 271.95 บาท เมื่อขายประชาชนรวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ราคาถังละ 290-300 บาท     การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ภาคปิโตรเคมีเข้ามาแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคอื่น ๆ มากขึ้น ปิโตรเคมีซึ่งเคยใช้ก๊าซแอลพีจีในสัดส่วน 20% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2555  การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาแอลพีจีนำเข้าอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการล้วงเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคเมื่อยังไม่สามารถขึ้นราคาเนื้อก๊าซโดยตรงจากผู้บริโภค เพราะรัฐบาลได้กำหนดราคาควบคุมเนื้อก๊าซหุงต้มไว้ที่กิโลกรัมละ 10.26 บาท (ตันละ 333 เหรียญ) ปตท.มักอ้างเสมอว่าขาดทุนก๊าซจากโรงแยกทั้งที่ในงบการเงินปตท.มีกำไรจากธุรกิจก๊าซมากกว่าธุรกิจน้ำมันและธุรกิจจากการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2555 มีการกำหนดสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกก๊าซว่ามีราคา 16.96 บาทต่อกก. (550 เหรียญต่อตัน) ในขณะที่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันกำหนดไว้ 23.56 บาทต่อกก. (764 เหรียญต่อตัน) ส่วนแอลพีจีนำเข้ามีราคา 27.76 บาทต่อกก. (960 เหรียญต่อตัน) แต่ราคาแอลพีจีที่รัฐกำหนดไว้ยังอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกก. (333 เหรียญต่อตัน)     หากเทียบสัดส่วนราคาก๊าซในประเทศกับก๊าซแอลพีจีตลาดโลก ราคาแอลพีจีจากโรงแยก 550 เหรียญต่อตัน มีสัดส่วนเท่ากับ 57% ของราคาตลาดโลกที่ 960 เหรียญต่อตัน และราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นที่ 764 เหรียญต่อตัน เท่ากับ 79% ของราคาตลาดโลก สิ่งที่ธุรกิจก๊าซพยายามจะดันราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกที่ 900 เหรียญต่อตัน มีมาโดยตลอดโดยมีแผนการขยับราคาขายปลีกเป็นขั้น ๆ เริ่มจากปรับราคา 18.13 บาท มาที่ 24.82 บาทต่อกก.ให้ได้ในปี 2556 และปรับเป็นราคา 36.35 บาทต่อกก.ในปี 2557  แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาที่เนื้อก๊าซที่รัฐกำหนดราคาควบคุมไว้จึงใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยเริ่มที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงถูกปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในราคา 30 บาทต่อกก. ก่อนกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยการเพิ่มราคาเป็น 30.13 บาทต่อกก.ราคาเนื้อก๊าซยังใช้ราคาเดิมที่ 10.26 บาทต่อกก. และไปเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 12.26 บาทต่อกก. ก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 4.08 บาทต่อกก.ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนปิโตรเคมีถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาทเมื่อต้นปี 2555 และถูกยกเลิกไปเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในยุครัฐบาลคสช.นี่เอง!  ราคาก๊าซหุงต้มยุคปฏิรูปของรัฐบาล คสช.    ความพยายามในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของกลุ่มธุรกิจพลังงานเพื่อเพิ่มกำไรเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้คัดค้านกันมาตลอดทุกรัฐบาล เมื่อพิจารณาจากกิจการก๊าซที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ผูกขาดทั้งระบบแต่ถูกแปรรูปไปเป็นธุรกิจของเอกชน แม้รัฐบาลจะยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัทปตท. แต่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนฝ่ายเอกชนมากกว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.เริ่มในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย แต่หลังจากคสช.เข้ามายึดอำนาจรัฐแล้ว การปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนแต่อย่างไร แต่กลับมีอาการหนักกว่าเก่าเพราะอ้างว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องกลัวประชาชนคัดค้านเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง     ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้อาศัยช่วงบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ไม่มีประชาชนกล้าออกมาต่อต้าน เดินหน้าปรับราคาก๊าซหุงต้มยกแผง ด้วยการกำหนดราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีจาก3แหล่งและเอามาถัวเฉลี่ยราคากัน และได้ราคาตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานต้องการที่กิโลกรัมละ 24.82 บาท โดยไม่ต้องรอขึ้นทีละ 50 สตางค์ อย่างที่กำหนดขั้นตอนไว้ 1) ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากอ่าวไทยถูกปรับราคาขึ้นจาก 333 เหรียญต่อตัน (10.26 บาทต่อกก.) เป็นราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 16.43 บาทต่อกก. 2) ราคาก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมัน ใช้ราคาตลาดโลก (CP) - 20 เหรียญ ซึ่งขณะนั้นราคาตลาดโลกเหลือ 462 เหรียญต่อตัน ดังนั้นราคาโรงกลั่นน้ำมันคือ 462-20= 442 เหรียญ หรือ 14.58 บาทต่อกก. 3) ราคาแอลพีจีนำเข้า ใช้ราคา CP + 85 เหรียญ = 462+ 85 = 547 เหรียญต่อตัน หรือ 18.05 บาทต่อกก. ถือว่ากระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษสามารถดำเนินการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่สุดได้สำเร็จในยุคนี้ และยังสามารถปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอ่าวไทยได้ตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานได้มีความพยายามมาหลายปี แต่ทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องรอรัฐบาลจากการรัฐประหารมาต่อยอดให้จนสำเร็จ จึงมีคำถามว่า คสช.ทำรัฐประหารมาเพื่อภารกิจอะไรกันแน่? เพื่อสร้างความปรองดอง? หรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ? การอ้างว่าใช้ราคาเดียวกันยกแผง จะได้ไม่หาว่าบริษัทปิโตรเคมีเอกชนใช้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน แต่การที่ไม่มีหน่วยงานใดกำกับราคาก๊าซแอลพีจีที่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนซื้อ เพราะกระทรวงพลังงานอ้างว่าดูแลราคาเฉพาะที่นำแอลพีจีไปใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบจึงเป็นการตกลงกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ดังนั้นราคาซื้อขายแอลพีจีระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จึงเป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาของกลุ่มเดียวกัน  ส่วนราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่กำหนดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้รับภาระในการเพิ่มกำไรให้บริษัทเอกชน นอกจากนี้การเก็บภาษีสรรพสามิตก็เก็บเฉพาะผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชนไม่ต้องจ่าย แม้จะเป็นผู้ก่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ต้องรับภาระใดๆ ทั้งสิ้น กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายก็ยังเปิดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต่อไป แต่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนได้รับคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อกก.แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป! เมื่อต้นปี 2558 กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ค้ามาตรา 7 ด้านแอลพีจีมาประชุม ในที่ประชุมผู้ค้ามาตรา 7 ได้ให้ความเห็นว่าราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้าบวกค่าใช้จ่าย 85 เหรียญต่อตันนั้นมีราคาแพงเกินสมควร และผูกขาดการนำเข้าโดยบมจ.ปตท. การนำกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนการนำเข้าแอลพีจีตันละ 85 เหรียญ จึงเป็นประโยชน์ให้กับปตท.เท่านั้น กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 เสนอให้กระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้ผู้ค้ารายอื่นเสนอราคานำเข้ามาแข่ง ใครเสนอได้ถูกกว่า CP+85 เหรียญ ก็ให้เป็นผู้นำเข้าแอลพีจีซึ่งจะได้ราคาถูกกว่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่กระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ตอบสนองที่จะทำให้มีการแข่งขันการนำเข้าแอลพีจีแต่ประการใด การที่รัฐบาลสมคบกับบริษัทธุรกิจเอกชนรายเดียวผูกขาดธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ? สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือเหตุใดราคาก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรในบ้าน จึงมีราคาแพงกว่าก๊าซแอลพีจีราคาตลาดโลก!! ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กันยายน 2558 ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 327 เหรียญต่อตัน หรือ 11.68 บาทต่อกก. แต่ราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซยังคงยืนที่ราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 17.79 บาทต่อกก. แม้แต่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นก็มีราคาลดลงเพราะถูกกำหนดราคา CP. (Contract Price) -20 เหรียญต่อตัน จึงมีราคาที่ 423 เหรียญต่อตัน หรือ 15.11 บาทต่อกก. การกำหนดให้ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคา CP-20 แต่ราคาโรงแยกซึ่งใช้ทรัพยากรจากก๊าซในอ่าวไทย อุปกรณ์ทั้งท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซที่สร้างจากภาษีของประชาชนเมื่อนานมาแล้ว ได้เลยจุดคุ้มทุนนานแล้ว แต่ราคาแอลพีจีกลับมีราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกและราคาจากโรงกลั่นน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกเคยมีราคาเทียบสัดส่วนกับราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ 57% ราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 297 เหรียญต่อตัน หรือ 10.67 บาทต่อกก. หากเทียบสัดส่วนกับราคาตลาดโลก ราคาจากโรงแยกก๊าซควรมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 6.0819 บาทเท่านั้น แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะมีการปรับลดราคาก๊าซหุงต้มลง 2 บาทต่อกก. จากราคา 22.29 บาทต่อกก. เป็น 20.29 บาท แต่การคงกำหนดราคาเนื้อก๊าซจากโรงแยก (ซึ่งผลิตได้ในปริมาณสัดส่วนสูงถึง 51.7% ของจำนวนที่ต้องการใช้ในประเทศ) ที่ราคา 15.45 บาทต่อกก. ส่วนราคาจากโรงกลั่นใช้ราคาตลาดโลกลบ20เหรียญต่อตัน ซึ่งทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลคือ 9.9512บาทต่อกก. ส่วนราคานำเข้ากบง.ให้บวกเพิ่ม 85 เหรียญต่อตัน ทำให้ราคานำเข้าสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง3บาทต่อกิโลกรัมที่ราคา13.73บาทต่อกก. (ราคาตลาดโลก10.67บาท/กิโลกรัม) เมื่อเอา 3 แหล่งมาถัวเฉลี่ย ราคาจากโรงแยกที่แพงสุดๆจึงดึงราคาถัวเฉลี่ยให้สูงตาม คือ 13.73บาทต่อกก. ข้อเสนอเพื่อการพิจารณารัฐบาลควรจะบริหารราคาก๊าซหุงต้มให้มีความสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการดำเนินการดังนี้1) ให้ปรับสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกซึ่งมีสัดส่วนผลิต 51.7% และก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนผลิต 27.4%โดยใช้สูตรราคาเดียวกันคือราคา CPลบ20 เหรียญต่อตัน ซึ่งจะทำให้ราคาที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยปัจจุบันจะได้ราคา 9.95บาท/กิโลกรัม2) ก๊าซนำเข้าเสนอให้มีการเปิดประมูลใครสามารถนำเข้าในราคาต่ำกว่า CP+85 เหรียญต่อตัน มากที่สุดให้ได้สิทธิในการนำเข้า เมื่อราคาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ โรงแยกและโรงกลั่นมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก 20 เหรียญต่อตัน และราคานำเข้าให้มีการแข่งขันด้วยการประมูล ผู้เสนอราคานำเข้าที่ราคาต่ำสุดได้สิทธินำเข้า ก็จะสามารถทำให้ราคาจัดหาไม่เกินจากราคาตลาดโลกที่ 10.67 บาทต่อกก.ได้ เมื่อบวกภาษีและค่าการตลาดหรือกองทุนแล้ว ราคาปลีกไม่ควรเกินราคาที่กิโลกรัมละ 18.79 บาท หรือราคาถังละ 281.85 บาท เมื่อบวกค่าขนส่งแล้วราคาก๊าซหุงต้มต่อถังควรไม่เกิน 320 บาทหากรัฐบาลคสช.ทำได้ดังนี้ จะเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมรวมทั้งเป็นผู้จ่ายภาษีในการสร้างอุปกรณ์ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ คลังก๊าซต่าง ๆ รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท. ควรพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มและกำไรของบริษัทให้พอเหมาะพอสมกับการที่ก๊าซหุงต้มเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นต้นทางของค่าครองชีพทั้งราคาอาหารและราคาสินค้าอื่น ๆ หากรัฐบาลพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนก็จะได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญว่าท่านไม่ได้มายึดอำนาจเพื่อทะลุทลวงอุปสรรคให้กับกลุ่มทุนพลังงานดังที่สังคมเริ่มมีคำถามกับท่าน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 สำรวจ “ร้านค้าออนไลน์” เจ้าไหนน่าช้อปกว่ากัน

เพราะปัจจุบันนี้ชีวิตของเราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสั่งการผ่านทางหน้าจอสมาร์ทโฟน ด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ถูกพัฒนามาไกล ล่าสุดก็เพิ่งจะประมูลคลื่น 4จี กันไป สัญญาณอินเตอร์เน็ท และ ไว-ไฟ ก็หาใช้ได้ไม่ยาก ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์และมือถือสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่หลายๆ คนหันมาทำผ่านทางออนไลน์มากขึ้นก็คือ “การช้อปปิ้ง” ซึ่งเดี่ยวนี้ก็มีร้านค้าและสินค้าให้เลือกซื้อผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากไว้คอยเอาใจขาช้อป ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบรับกับยุคสมัย ยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น           รูปแบบของ “ร้านค้าออนไลน์” ในปัจจุบัน 1.เว็บไซต์ที่เป็นของผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้าเองโดยตรงเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในลักษณะนี้จะเป็นเว็บไซต์ที่ทางร้านค้าทำขึ้นเพื่อเปิดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น www.apple.com/th หรือ shop.adidas.co.th เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นเว็บไซต์ที่ขายสินค้าเฉพาะกลุ่มชัดเจน เช่น www.jib.co.th/web/ (ร้าน เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์) ที่ขายเฉพาะอุปกรณ์ด้านไอที หรือ www.naiin.com (ร้านนายอินทร์) ที่ขายเน้นขายหนังสือและนิตยสารต่างๆ เป็นหลัก เป็นต้น เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าที่มีหน้าร้านปกติอยู่แล้ว แต่มาขยายช่องทางเปิดเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ รองรับกระแสที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาช้อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนและหน้าจอคอมพิวเตอร์กันมากขึ้น 2.เว็บไซต์แบบ ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Marketplaceเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลางที่รวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว เหมือนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้า จุดเด่นของเว็บไซต์ในลักษณะนี้ก็คือการมีสินค้าหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อ มีสินค้าให้เลือกเยอะ ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณสมบัติของสินค้าที่เราต้องการได้จากหลายๆ ร้านค้าที่อยู่ในเว็บไซต์ ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลเพราะในเว็บไซต์จะจัดแบ่งหมวดหมู่ของสินค้าแต่ละประเภทเอาไว้แล้ว เว็บไซต์รูปแบบ e-Marketplace ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมี 2 แบบ คือแบบที่เว็บไซต์ทำหน้าที่ตั้งแต่การขาย การสั่งซื้อ การรับชำระค่าสินค้า ไปจนถึงการจัดส่ง สินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้ายี่ห้อดังเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ www.shopat7.com และ www.itruemart.com เป็นต้น อีกแบบจะเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ร้านค้าต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าจากผู้ค้ารายย่อยสามารถสมัครเข้ามาขายสินค้าของตัวเองได้ ตัวเว็บไซต์จะรับหน้าที่เป็นตัวกลางดูแลเรื่องระบบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการส่งสินค้าร้านจะดำเนินการเองเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละร้านค้า เว็บไซต์ในกลุ่มนี้ได้แก่ www.weloveshopping.com, www.tarad.com, www.lazada.co.th และ www.ensogo.co.th เป็นต้น 3.เว็บไซต์แบบ ตลาดนัดออนไลน์ หรือ e-Classifiedเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในแบบ  e-Classified  เป็นเว็บไซต์ขายสินค้าที่ไม่ว่าใครก็สามารถลงขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าบริการหรือค่าคอมมิชชั่นใดๆ ความรู้สึกคล้ายกับการเปิดแผงลอยในตลาดนัด ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านค้าหรือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถมาลงขายสินค้ากับเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์แบบ e-Classified ได้ มีสินค้าแค่ชิ้นเดียว เป็นสินค้าเก่า ของมือสอง ของที่ใช้เองแล้วอยากขาย ก็สามารถนำมาลงขายได้ เพียงแต่ขั้นตอนในการซื้อขาย ตัวผู้ประกาศลงขายสินค้าก็ต้องรับหน้าที่ดำเนินการต่อเองทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการติดต่อซื้อขายกับผู้ซื้อ การชำระค่าสินค้า การจัดส่ง เว็บไซต์ e-Classified เป็นแค่พื้นที่กลางในการลงประกาศขายสินค้าเท่านั้น เว็บไซต์แนวนี้ที่เป็นที่รู้จักกันก็คือ www.kaidee.com4.ร้านค้าออนไลน์ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ (Facebook, Instagram, Line) ในการขายสินค้าโซเชียลมีเดีย หรือ สังคมออนไลน์ ถือเป็นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ การซื้อขายสินค้าและการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ใช้เว็บไซต์และโปรแกรมโซเซียลมีเดียเพื่อติดต่อสื่อสารกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ช่องทางดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อการประกอบธุรกิจ ทั้งกลุ่มสินค้าชื่อดังและกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ต่างก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการขายสินค้า ทั้งวิธีการทำหน้าเพจเพื่อค้าสินค้าโดยตรง หรือการนำไปประกาศขายตามกลุ่มที่มีการขายสินค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากใน Facebook ที่สามารถทำได้โดยง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ใน Instagram ที่เป็นแอพลิเคชั่นสำหรับแช่ร์รูปถ่าย ก็ยังถูกนำไปใช้เพื่อเปิดเป็นร้านค้าออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดียเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้เป็นจำนวนมากแต่ใช้การลงทุนที่แทบจะเป็นศูนย์ การติดต่อพูดคุยเพื่อซื้อขายรวมถึงการชำระค่าสินค้าทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว จบทุกอย่างได้ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้ไม่ใช้เรื่องน่าแปลกใจที่จะเกิดพ่อค้า-แม่ค้าหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามโซเชียลมีเดียต่างๆ (ในปี 2015 ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยใช้ Facebook มากถึง 35 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศทั้งหมด, Line มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 33 ล้านคน ส่วน Instagram มีผู้ใช้จำนวน 2 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะมีแนวโน้นของจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ที่มา: www.zocialinc.com) ข้อดี - ข้อเสียของการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ข้อดี-สะดวกสบาย สามารถซื้อสินค้าผ่านทางสมาร์ทโฟน หน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่ร้าน ประหยัดค่าเดินทาง ประหยัดเวลา-สามารถซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั้วโมง -มีสินค้าให้เลือกเป็นจำนวนมาก ง่ายต่อการเปรียบเทียบราคา คุณภาพของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ-มีจัดโปรโมชั่นและให้ส่วนลดในการซื้อสินค้าอยู่เสมอข้อเสีย-ผู้ซื้อต้องมีความรู้เรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์โฟน และอินเทอร์เน็ต-ไม่ได้เห็นสินค้าตัวจริง สินค้าจับต้องไม่ได้ -การจัดส่งต้องใช้เวลาหลายวัน และต้องเสียค่าจัดส่ง-ต้องศึกษาข้อมูลหรือมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการซื้ออยู่บ้างแล้ว-ต่อรองราคาไม่ได้วิธีป้องกันการถูกหลอกจากการซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ควรเลือกเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับ เพราะเว็บไซต์เหล่านี้มีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย มีที่ตั้งบริษัทหรือร้านค้าที่แน่นอน หากเกิดปัญหาจากการสั่งซื้อสินค้าก็สามารถติดตามเพื่อดำเนินการแก้ไขได้ง่าย มีระบบการจ่ายเงินและการส่งสินค้าที่ปลอดภัย มีนโยบายคืนสินค้าและคืนเงินที่เป็นมาตรฐาน แต่ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษก็คือการซื้อสินค้าออนไลน์จากพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย ที่โพสต์ขายสินค้าเองตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อาจมีปัญหาในการติดตามตัวเวลาที่การปัญหาหลังจากซื้อสินค้า รวมทั้งอาจมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าด้วย โดยที่ผู้ซื้อยากต่อการตรวจสอบ ข้อควรปฏิบัติเมื่อซื้อสินค้าออนไลน์กับร้านค้าในโซเชียลมีเดีย-เลือกซื้อกับร้านค้าหรือผู้ขายที่แสดงตัวตนชัดเจน มีการเปิดเผยหลักฐานบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดตามตัวได้-ดูประวัติการซื้อขายก่อนหน้านี้ของผู้ขายว่ามีประวัติที่ไม่ดีหรือเปล่า เช่น สินค้ามีปัญหา หรือส่งของไม่ตรงเวลา โดยดูได้จากการแสดงความคิดเห็นของลูกค้าคนอื่นๆ ที่เคยซื้อสินค้ากับผู้ขายรายนี้มาก่อน ในหน้าเว็บหรือหน้า Facebook หรือนำชื่อผู้ขายชื่อร้านค้าไปลองเสิร์ชหาข้อมูลใน Google-ข้อดูรูปถ่ายสินค้าตัวจริง ขอดูภาพมุมต่างๆ ของสินค้าให้มากที่สุด สอบถามตำหนิต่างๆ ของสินค้าจากผู้ขายให้ชัด ก่อนตัดสินใจซื้อ-สอบถามเรื่องวิธีการส่งสินค้าและวันที่จะได้รับสินค้าจากผู้ขายเสมอ-ขอหลักฐานการส่งสินค้า เช่น ใบเสร็จจากไปรษณีย์ เพื่อใช้ยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริง-บันทึกการสนทนาการซื้อขายบนโซเชียลมีเดียเก็บไว้เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา-ควรบันทึกภาพหน้าเพจร้านค้าใน Facebook หรือข้อความโพสต์ขายสินค้าบนโซเชียลมีเดียเก็บเอาไว้ เพื่อใช่เป็นหลักฐานเมื่อเกิดปัญหา เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ขายที่ตั้งใจหลอกลวงจะปิดหน้าเพจ Facebook หรือลบข้อความทิ้ง-เมื่อถูกโกงจากการซื้อของออนไลน์ให้นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ประกอบการ E-Commerce หรือ การทำธุรกรรมซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ไทยในปัจจุบันมีจำนวน 502,676 ราย มูลค่าของ E-Commerce ในประเทศไทย เมื่อปี 2557 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 2,033,493.4 ล้านบาท มูลค่า E-Commerce แยกตามแต่ละประเภทธุรกิจ (ปี 2558)1.การให้บริการที่พัก 658,909.76 ล้านบาท2.การผลิต 350,286.83 ล้านบาท3.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 303,1111.48 ล้านบาท4.การค้าปลีก และ การค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท5.การขนส่ง 59,572.42 ล้านบาท6.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 11,694.22 ล้านบาท7.กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 4,348.23 ล้านบาท8.การประกันภัย 1,751.62 ล้านบาท มูลค่าของสินค้าและบริการ แต่ละประเภทในธุรกิจ E-Commerce 1.คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ 25.66%2.เครื่องสำอาง และอุปกรณ์เสริมความงาม 24.42%3.แฟชั่น เครื่องแต่งกาย 17.27%4.สินค้าปลีกและส่งอื่นๆ 16.01%5.เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 5.65%6.ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ 5.61%7.อาหาร และเครื่องดื่ม 2.54%8.อุปกรณ์การกีฬา ของเล่นและของที่ระลึก 2.48%9.การจำหน่ายยายยนต์และผลิตภัณฑ์ 0.37% ที่มา: รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย ปี 2558, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point