ฉบับที่ 276 ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับ “เด็ก”

        ฤดูร้อนไม่เคยหายไปจากบ้านเรา แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นจากรังสียูวี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพาไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 50+         องค์กรที่ส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในครั้งนี้คือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน หลายยี่ห้อมีจำหน่ายในบ้านเราหรือสั่งซื้อได้ออนไลน์  คราวนี้เรามีมาให้เลือก 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบโลชัน สเปรย์ และแบบแท่ง เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา เราแบ่งคะแนนการทดสอบออกเป็น 4 ด้านดังนี้        ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVB และ UVA ratio (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)        ร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น เปิดใช้ง่าย ทาง่าย ซึมลงผิวเร็ว ไม่เหนียว ไม่ทิ้งคราบ         ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ส่วนผสมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดมากเกินไป สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้หมด ไม่มีตกค้าง เป็นต้น)         ร้อยละ 5         ฉลากที่ถูกกฎหมายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค          ในภาพรวมเราพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนักในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ (ส่วนใหญ่ได้คะแนนระดับสี่ดาวขึ้นไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า 50) เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ผู้ผลิตมีการปรับปรุงเรื่องของฉลากดีขึ้นมาก อย่างน้อยร้อยละ 50 มีการแสดงฉลากที่ดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงอีกมากในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ยังได้คะแนนเพียงหนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น            “ข่าวดี” คือเราไม่พบพาราเบนหรือสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และมีเพียงสามผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีค่า SPF ต่ำกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนั้นเรายังพบว่าราคาของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเสมอไป ตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามอันดับแรกมีราคาไม่เกิน 5 บาทต่อหนึ่งมิลลิลิตร ในขณะที่ตัวที่มีราคามิลลิลิตรละ 16 บาทนั้นเข้ามาที่อันดับเก้า อีกข้อสังเกตคือมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายเดียวกันจะมีประสิทธิภาพในระดับที่ต่างกันด้วย         หมายเหตุ  ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร หรือปอนด์  โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 275 โน๊ตบุ้ก

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบคอมพิวเตอร์แบบพกพาทั้งขนาดจอใหญ่และเล็ก รวมถึงกลุ่ม Chromebook ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ได้แก่ องค์กรผู้บริโภคจากเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย ฝรั่งเศส เบลเยียม โปรตุเกส สเปน อิตาลี สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก) ทำไว้ตั้งแต่ปลายปี 2023 ถึงต้นปี 2024  มีให้เลือกจาก 5 แบรนด์ รวมทั้งหมด 22 รุ่น ในสนนราคาตั้งแต่ 9,990 ไปจนถึงมากกว่า 80,000 บาท* ในการทดสอบครั้งนี้ยังคงแบ่งคะแนนแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่        ร้อยละ 25   ความสะดวกในการใช้งาน        ร้อยละ 20   ประสิทธิภาพในการทำงาน        ร้อยละ 20   แบตเตอรี        ร้อยละ 15   จอภาพและเสียง        ร้อยละ 15   ความสะดวกในการพกพา        ร้อยละ 5     ฟีเจอร์ต่างๆ ในภาพรวมราคายังบ่งบอกถึงคุณภาพของโน๊ตบุ้ก แต่เราก็พบว่าในระดับคะแนนที่เท่าๆ กัน เรายังสามารถเลือกโน๊ตบุ้กที่มีราคาค่อนข้างต่างกัน และโน้ตบุ้กที่ราคาที่สูงกว่าอาจไม่ใช่รุ่นที่ใช้งานได้ดีกว่าเสมอไป พลิกหน้าต่อไปเพื่อหารุ่นที่ตรงกับการใช้งานในแบบของคุณได้เลย  *โปรดตรวจสอบราคาที่อัปเดตอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 274 สมาร์ตวอทช์

        ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบนาฬิกาอัจฉริยะหรือสมาร์ตวอทช์ ที่สมาชิกองค์ทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ร่วมกันทำไว้อีกครั้ง ตัวอย่างที่ทดสอบเป็นรุ่นที่วางจำหน่ายช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คราวนี้เราคัดมาเฉพาะรุ่นที่ได้คะแนนรวมในระดับต้นๆ มีให้คุณได้เลือก 17 รุ่น และสมาร์ตแบนด์อีก 4 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 899 ถึง 31,900 บาท          การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่         - ร้อยละ 35 ความแม่นยำในการวัด “ความฟิต” เช่น จำนวนก้าวขณะเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวทั่วไป รวมถึงระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น        - ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน เช่น ตั้งค่า เลือกเมนู ดูหน้าจอ และความรู้สึกคล่องตัวขณะสวมใส่         - ร้อยละ 15 ฟังก์ชันสมาร์ต เช่น การโทร/รับสาย รับ/ส่งข้อความ อีเมล ใช้โซเชียลมีเดีย ฟังเพลง                    - ร้อยละ 15 แบตเตอรี เช่น ระยะเวลาชาร์จและระยะเวลาการใช้งาน                - ร้อยละ 10 การใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันต่างๆ             - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุ คุณภาพการประกอบ เป็นต้น             - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุ คุณภาพการประกอบ เป็นต้น         ในภาพรวมอุปกรณ์สมาร์ตทั้ง 21 รุ่นที่เรานำเสนอได้คะแนนรูปลักษณ์ภายนอกในระดับ 5 ดาว คะแนนด้านประสิทธิภาพการทำงานและความสะดวกในการใช้งานก็ไม่ต่างกันมาก แต่ความแตกต่างของคะแนนอยู่ที่ความหลากหลายและการใช้งานของฟังก์ชันสมาร์ต รวมถึงแบตเตอรี และการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน พลิกหน้าต่อไปเพื่อเลือกสมาร์ตวอทช์ที่ถูกใจ ในงบประมาณที่อยากจ่ายกันได้เลย         หมายเหตุ ราคาที่แสดง เป็นราคาในช่วงเดือนธันวาคม 2566 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                 (ติดตามผลทดสอบเปรียบเทียบที่เราเคยนำเสนอได้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 265, 256, 242, 215 และ 177)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่่ 273 คาร์ซีท 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบเบาะนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กหรือ​ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกกัน 24 รุ่น มีตั้งแต่รุ่นที่รองรับน้ำหนักสูงสุดได้ 10 กิโลกรัม ไปจนถึง 36 กิโลกรัม และเหมาะสำหรับความสูงของเด็กตั้งแต่ 40 – 125 เซนติเมตร ในสนนราคาตั้งแต่หมื่นต้นๆ ไปจนถึงประมาณ 26,000 บาท*         การทดสอบดังกล่าวทำอย่างต่อเนื่องโดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ หรือ International Consumer Research & Testing (ICRT) ฉลาดซื้อ ในฐานะองค์กรร่วมทดสอบ จึงมีผลการทดสอบมานำเสนอสมาชิกทุกปี (ดูผลทดสอบครั้งก่อนหน้าได้ในฉบับที่ 262 และ 234)         การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่การจำลองการชนในห้องปฏิบัติการ และการใช้งานจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และครอบครัวที่มีบุตรหลานวัย 3 ปี 6 ปี และ 10 ปี อีกจำนวน 10 ครอบครัว โดยรถที่นำมาติดตั้งคาร์ซีทเพื่อการทดสอบมีสามประเภทคือ รถแฮทช์แบ็คสามประตู รถอเนกประสงค์แบบสปอร์ตห้า ประตู และรถตู้อเนกประสงค์          การให้คะแนนแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่         ความปลอดภัย (50 คะแนน) เช่น ความสามารถในการป้องกันการบาดเจ็บจากการชนทั้งด้านหน้าและด้านข้าง การดูดซับแรงกระแทก ความแข็งแรงในการยึดติดกับเบาะรถ เป็นต้น         ความสะดวกในการใช้งาน (40 คะแนน) เช่น การติดตั้งกับตัวรถ การปรับขนาดให้พอดีตัวเด็ก การป้องกันโอกาสการใช้ผิดวิธี และความยากง่ายในการทำความสะอาด เป็นต้น         การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (10 คะแนน) ทั้งที่นั่งและเบาะพิง รวมถึงความนุ่มสบาย และการประหยัดพื้นที่ในตัวรถ เป็นต้น         นอกจากนี้ยังมีการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายที่ถูกประกาศห้ามใช้ในยุโรป เช่น พทาเลท ฟอร์มัลดีไฮด์ หรือโลหะหนักต่างๆ บนวัสดุหุ้มเบาะ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เด็กจะได้รับสารเคมีดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสและการเลีย         คราวนี้รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดได้ไปเพียง 77 คะแนน (Besafe iZi Go Modular X2 i-Size + iZi Modular i-Size base และ Cybex Cloud T + Base T ทั้งสองรุ่นราคาประมาณ 20,000 บาท)  และเช่นเดียวกับครั้งก่อน เราพบว่าคาร์ซีท “แบรนด์” เดียวกัน อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพระดับเดียวกันเสมอไป ถ้าอยากรู้ว่ารุ่นไหนให้ความปลอดภัยมากกว่า ใช้งานสะดวกกว่า หรือรองรับสรีระของเด็กได้ดีกว่า เชิญติดตามได้ในหน้าถัดไป* ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 272 แท็บเล็ต 2023

กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบอุปกรณ์แท็บเล็ตที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้ในปีนี้  คราวนี้มีรุ่นที่ขนาดใหญ่กว่า 9 นิ้ว มานำเสนอให้เลือกกัน 18 รุ่น ในสนนราคาตั้งแต่ประมาณ 7,000 ถึง 50,000 บาท สัดส่วนของการให้คะแนนยังคงเหมือนเดิมคือ-         ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 22.5 จากการทดสอบใช้ขณะวางบนโต๊ะ บนตัก หรือถือด้วยมือข้างเดียว รวมถึงการใช้ปุ่มปิดเปิดต่างๆ สั่งงานผ่านหน้าจอแบบสัมผัส คีย์บอร์ด และการใช้งานหลายโปรแกรมพร้อมกัน เป็นต้น-         ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ร้อยละ 22.5เช่น การใช้เพื่อดูหนัง ฟังเพลง ใช้วิดีโอคอล ถ่ายภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว รวมถึงความยากง่ายในการมองเห็นข้อความบนหน้าจอในสภาพแสงที่แตกต่างกัน-         หน้าจอ ร้อยละ 15-         แบตเตอรี ร้อยละ 15-         ตัวอุปกรณ์ ร้อยละ 10 ขนาดเครื่อง หน่วยความจำ ช่องรองรับการเชื่อมต่อ และความสะดวกในการพกพา-         การใช้งานทั่วไป ร้อยละ 7.5เช่น ความเร็วในการรับส่งไฟล์ และการเชื่อมต่อผ่าน wifi -         ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ร้อยละ 7.5 นอกจากนี้เราขอนำเสนอผลคะแนนเปรียบเทียบความปลอดภัยและการแบคอัปข้อมูลไว้ด้วย แม้จะยังไม่ได้นำมาคิดในคะแนนรวม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 271 หูฟัง 2023

ฉลาดซื้อกลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบหูฟังบลูทูธทั้งแบบครอบหูและแบบ “เอียร์บัด” คราวนี้เราคัดเลือกมา 25 รุ่นที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing ร่วมกันทำไว้ในปีนี้  รูปแบบการทดสอบยังคงเหมือนเดิม* แต่เกณฑ์การให้คะแนนมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากครั้งก่อน ดังนี้        ร้อยละ 45       คุณภาพเสียง ทั้งเสียงเพลงและเสียงพูด        ร้อยละ 20       การใช้งานและความสบายในการสวมใส่        ร้อยละ 15       ประสิทธิภาพในการตัดเสียงรบกวนภายนอก        ร้อยละ 15       แบตเตอรี        ร้อยละ 5          ความทนทาน        ในภาพรวมเราพบว่าหูฟังที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ราคาแพงที่สุด (19,900 บาท) แต่รุ่นที่ราคาถูกที่สุด (2,490 บาท) กลับได้คะแนนน้อยที่สุดด้วยข่าวดีคือถ้าใครพร้อมจะลงทุนประมาณ 4,000 - 5,000 กว่าบาท ก็มีสิทธิ์ได้หูฟังคุณภาพดีไปใช้ฟังเพลง ฟังพอดคาสต์กันเพลินๆ หลายรุ่นมีความสามารถในการกันน้ำ จึงสามารถใส่ออกกำลังกายได้ด้วยรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุดเท่ากันสามรุ่น (JBL Tune 770NC, Bose Quiet Comfort SE, และTechnics EAH-AZ80) มีราคาระหว่าง 4,290 – 19,990 บาท แต่ละรุ่นมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ในขณะที่หลายรุ่นที่ราคาเกินหนึ่งหมื่นก็มีคะแนนไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆอยากรู้รายละเอียดว่าใครเป็นใคร พลิกดูรายละเอียดในหน้าถัดไปได้เลย และเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจบนพื้นฐานของเงินที่อยากจ่าย ในกรณีที่คะแนนรวมเท่ากัน เราจะนำเสนอโดยเรียงลำดับจากรุ่นที่ราคาถูกกว่า หมายเหตุ*โปรดตรวจสอบราคาล่าสุดก่อนตัดสินใจ*ติดตามผลการทดสอบเปรียบเทียบหูฟังครั้งก่อนหน้านี้ได้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 233 และ 260

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 270 สมาร์ตโฟน 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณเลือก 25 รุ่น เลือกจากรุ่นที่ได้คะแนนระดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในครึ่งแรกของปี 2023           การทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้แบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่            ร้อยละ 25   ประสิทธิภาพของกล้อง            ร้อยละ 15   แบตเตอรี             ร้อยละ 15   หน้าจอ             ร้อยละ 10   คุณภาพเสียง             ร้อยละ 10   ความทนทาน             ร้อยละ 10   ประสิทธิภาพโดยรวม         เนื่องจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้ “สมาร์ตโฟน” ยุคนี้เปลี่ยนไป คะแนน “การใช้งานโทรศัพท์” จึงถูกนำไปรวมกับคะแนนด้านความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานอย่างปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน รวมกันเป็นอีกร้อยละ 15 ที่เหลือ         สมาร์ตโฟนเหล่านี้มีตั้งแต่รุ่นที่ขนาดหน้าจอ 6.1 ไปจนถึง 7.6 นิ้ว สนนราคาระหว่าง 7,000 ถึง 63,000 บาท* รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ (80 คะแนน) ไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุด แต่ก็ราคามากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่รุ่นที่ถูกสุดเป็นรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดเช่นกัน โชคดีที่ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนดีพอสมควรในราคาประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หน้าตาและสเปคจะถูกใจหรือไม่ พลิกดูในหน้าต่อไปได้เลย        ·      ราคาที่แสดงเป็นราคาที่ได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบราคาล่าสุดและโปรโมชันกับทางร้านอีกครั้ง        ·     ดูผลการทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนครั้งก่อนหน้านี้ได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 253

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 268 ผลิตภัณฑ์กันแดด 2023

        ได้เวลานำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดประจำปีกันอีกครั้ง ระหว่างที่บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝน (แต่แดดจ้าไม่เคยหายไป) ทางยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและเป็นช่วงที่ผลิตภัณฑ์นี้กำลังเป็นที่ต้องการ เรามีผลิตภัณฑ์กันแดดทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบของครีม โลชัน และสเปรย์ ที่มีค่า SPF30 และ SPF50+ ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบมาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงคัดเลือกมาเพียง 24 ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนในลำดับต้นๆ เท่านั้น คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVBร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่น ไม่เหนอะหนะ ไม่ทิ้งคราบ)ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 5         ฉลากเป็นมิตรต่อผู้บริโภค        ในภาพรวมเราพบว่าคะแนนประสิทธิภาพในการกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนัก (ทั้งหมดจัดอยู่ในระดับ 4 ดาวขึ้นไป)  แต่ก็มีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อที่ต้องปรับปรุงเรื่องฉลากและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเคลมเกินจริงหรือเคลมในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้  ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราทดสอบไม่มีสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และไม่มีพาราเบน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก แต่เราก็พบว่าค่า SPF ที่แจ้งไว้นั้น มีทั้งที่เกินและขาดจากค่าที่วัดได้จริงในห้องปฏิบัติการ ที่ให้มาเกินเราไม่ว่า แต่ก็มีอย่างน้อย 6 ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF น้อยกว่าที่แจ้งไว้บนฉลากผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงเพื่อดูแลผิวหนังก่อนออกเผชิญแสงแดด พลิกหน้าถัดไปเพื่อหาครีม/สเปรย์กันแดดที่ถูกใจคุณได้เลย         ·     ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร ปอนด์อังกฤษ หรือแดนิชโครน เป็นต้น โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 267 หุ่นยนต์ดูดฝุ่น 2023

        หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้นกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ประจำในร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า แถมยังมีสารพัดยี่ห้อให้ได้เลือกกัน หลายคนอยากมีไว้ประจำบ้านแต่ก็ยังลังเลเพราะผลการทดสอบเปรียบเทียบสองครั้งก่อนที่ฉลาดซื้อเคยนำเสนอ (ในฉบับที่ 197 และ 258) ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่นยังต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นี้อีกมาก มาดูกันว่าในการทดสอบครั้งล่าสุดนี้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ หรือ International Consumer Research & Testing ได้ส่งหุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ CTTN/IREN Centre Technique de la Teinture et du Nettoyage ของฝรั่งเศส ในระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงมีนาคม 2566*คะแนนแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ในสัดส่วนดังนี้        1. ประสิทธิภาพการทำความสะอาด (ร้อยละ 40) โดยวัดจากความสามารถในการกำจัดฝุ่น เศษขนมปัง เส้นใย ทั้งบนพื้นพรมและพื้นกระเบื้อง        2. ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 22)        3. การเคลื่อนไหวในห้องนั่งเล่นที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น โซฟา ม่าน แจกัน สายไฟ (ร้อยละ 20)        4. เสียงรบกวนจากเครื่องขณะใช้งาน (ร้อยละ 12)        5. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 6)                 พนักงานขายอาจเล่าถึงสรรพคุณของเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ไว้อย่างน่าตื่นเต้น แต่การทดสอบของเรากลับพบว่าแม้แต่รุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุด ก็ได้ไปเพียง 53 คะแนนเท่านั้น (น้อยกว่าสองครั้งก่อนหน้าที่ตัวท้อปได้คะแนน 63 และ 57 ตามลำดับ) ดูรายละเอียดคะแนนด้านต่างๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นทั้ง 22 รุ่น (สนนราคาโดยประมานตั้งแต่ 5,250 ถึง 23,170 บาท*) ได้ในหน้าถัดไป* ราคาที่แสดงเป็นราคาที่สำรวจจากอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 265 สมาร์ตวอทช์

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบนาฬิกาอัจฉริยะหรือสมาร์ตวอทช์ ที่สมาชิกองค์ทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ร่วมกันทำไว้ เป็นรุ่นที่เริ่มวางจำหน่ายช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คราวนี้เราคัดมาเฉพาะรุ่นที่ได้คะแนนรวมร้อยละ 70 ขึ้นไป มีให้คุณได้เลือกกันทั้งหมด 30 รุ่น ในสนนราคาตั้งแต่ 3,290 ถึง 31,000 บาท          การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 6 ด้าน         - ร้อยละ 35 ความแม่นยำในการวัด เช่น การนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และเคลื่อนไหวทั่วไป รวมถึงการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น         - ร้อยละ 20 การใช้งาน เช่น ตั้งค่า เลือกเมนู ดูหน้าจอ และความคล่องตัวขณะสวมใส่         - ร้อยละ 15 ฟังก์ชันสมาร์ต เช่น การโทร/รับสาย รับ/ส่งข้อความ อีเมล ใช้โซเชียลมีเดีย ฟังเพลง                 - ร้อยละ 15 แบตเตอรี เช่น ระยะเวลาชาร์จและระยะเวลาการใช้งาน            - ร้อยละ 5 การใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน         - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุ คุณภาพการประกอบ เป็นต้น         ในภาพรวม ทั้ง 31 รุ่นที่เรานำเสนอ ได้คะแนนด้านประสิทธิภาพการทำงานและความสะดวกในการใช้งานไม่ต่างกันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านรูปลักษณ์ภายนอก ที่ได้ 5 ดาวทุกรุ่น สิ่งที่แตกต่างกันคือเรื่องความหลากหลายและการใช้งานของฟังก์ชันสมาร์ต แบตเตอรี และแอปพลิเคชัน ใครถูกใจหน้าตาสมาร์ตวอทช์รุ่นไหน ยินดีจ่ายที่ราคาเท่าไร เลือกกันได้เลย             · ราคาที่แสดง เป็นราคาในช่วงเดือนมีนาคม 2566 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ          ติดตามผลทดสอบเปรียบเทียบที่เราเคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ได้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 256, 242, 215 และ 177

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point