ฉบับที่ 188 Running App

วันนี้บริษัทเทคโนโลยีไอทีเข้ามามีบทบาทต่อสุขภาพของเรามากขึ้น หลายคนเลือกใช้อุปกรณ์วัดความฟิตชนิดสวมที่ข้อมือ (ดูผลการทดสอบย้อนหลังได้ในฉลาดซื้อ เล่มที่ 184) หลายคนนิยมใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นสำหรับวัดและติดตามการออกกำลังกายมาใช้ แอปส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด แต่อาจมีโฆษณาบนหน้าจอ หรือมีฟังก์ชั่นเพิ่มให้หากเราเลือกที่จะซื้อหรือสมัครเป็นสมาชิก แต่เดี๋ยวก่อน... แม้จะฟรีแต่เราก็ควรเลือกให้ดี เพราะเราจะไม่สามารถโอนข้อมูลที่บันทึกไว้ไปยังแอปใหม่ได้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบแอปสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง โดยเน้นเรื่องความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลและการไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นหลัก เราทดสอบทั้งหมด 6 แอป ซึ่งได้รับความนิยมสูงในร้านApp Store และ Google Play ได้แก่   1. Adidas Train and run(iOS และ Android)2. Endomondo Running & walking(iOS และ Android)3. Nike Nike+ Running(iOS และ Android)4. Runkeeper GPS Track Run Walk(iOS และ Android)5. Runtastic Running & Fitness(iOS และ Android)6. Sports Tracker Running Cycling(iOS และ Android) โทรศัพท์ที่ใช้ในการทดสอบได้แก่iPhone 6S (iOS9.2) และ Google Nexus 5X(Android 6.0) ประเด็นทดสอบและผลการเปรียบเทียบในภาพรวม• ประวัติการวิ่ง– การบันทึกและแสดงข้อมูล / เวลา ความเร็ว ระยะทาง แคลอรี่ การเปลี่ยนระดับความชัน การพยากรณ์อากาศ น้ำหนักตัว ฯลฯ Runtastic/RunkeeperและEndomondoทำได้ดี • ความหลากหลายของฟีเจอร์/ฟังก์ชั่นต่างๆ –Runtastic/Runkeeperและ Nike+ (iOS)มีให้เลือกมากกว่า ทั้งฟีเจอร์ระหว่างการออกกำลังและฟีเจอร์ทั่วไป เช่น ข้อมูลโภชนาการ แผนการวิ่ง และเพลงประกอบ • ความสะดวกในการใช้ดูจากการใช้ประจำวัน การรับสายเข้า การตั้งค่า และความยากง่ายในการใช้ เวลาในการเปิดแอป การจัดวางข้อความบนหน้าจอ ปุ่มกด เมนู ขนาดไอคอน และการออกแบบเมนู เรื่องนี้ต้องยกให้ Endomondo/ SportsTracker/ Nike+และ Adidas (iOS) • ประสิทธิภาพได้แก่ความแม่นยำในการวัดระยะทาง การประหยัดพลังงาน รวมไปถึงโฆษณาและป็อปอัป แอปที่ได้คะแนนนำได้แก่ Runkeeper (Android)/SportsTracker(Android)/ Adidas และNike+(iOS) ในภาพรวมพบว่า ความผิดพลาดสูงสุดในเรื่องการวัดระยะทางของแอปเหล่านี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3เท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่อยู่ระหว่าง 258 นาทีถึง 331 นาทีแอปที่มาที่หนึ่งคือEndomondo (Android)และเข้าที่โหล่ได้แก่ Nike+ (Android) • เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบบันทึกการวิ่ง ที่ทำได้เกินหน้าใครได้แก่Endomondo/Runtastic/SportsTrackerและ Runkeeperแต่ที่ไม่เข้าตากรรมการเลยคือAdidas • การมีส่วนร่วมกับสังคมออนไลน์เช่นชวนเพื่อน แชร์ผล หรือส่ง/รับคำท้าวิ่ง เป็นต้น • ความเป็นส่วนตัวเนื่องจากแอปเหล่านี้ต้องใช้คู่กับสมาร์ทโฟนของเราซึ่งมีข้อมูลต่างๆ อยู่มากมาย ทีมทดสอบจึงติดตามการเดินทางของข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ใช้ด้วย เขาพบว่า Endomondo/ Adidas (Android)/RunkeeperและSportsTracker(iOS)แอบส่ง “หมายเลขประจำตัว” ของโทรศัพท์ไปยังบุคคลที่สาม นั่นหมายความว่าบริษัทโฆษณาจะสามารถสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้และติดตามพฤติกรรมของเจ้าของโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้แอปบางตัว เช่น Endomondo (Android) และ Runkeeperยังแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้กับบริษัทโฆษณา ในขณะที่ Runkeeper(Android) แชร์ที่อยู่อีเมล์กับพาร์ทเนอร์ของบริษัทและพยายามขอเข้าดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วย ถ้าเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณ เราขอแนะนำ Nike+ / Adidas/RuntasticและSportsTracker(Android)-------------------------------------------- ชนิดของข้อมูลที่แอปฯ ต้องการจากคุณ แยกตามระดับความอ่อนไหวข้อมูลทั่วไปข้อมูลเกี่ยวกับตัวเครื่อง: ยี่ห้อ รุ่น ระบบปฏิบัติการ ความละเอียดหน้าจอผู้ให้บริการเครือข่ายชื่อเครือข่าย wifiที่ใช้เชื่อมต่อ ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวหมายเลขประจำตัวเครื่อง (UID IFA …)IMEI ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมากที่อยู่อีเมล์ของผู้ใช้โทรศัพท์รหัสผ่านต่างๆหมายเลขโทรศัพท์ประวัติการเข้าชมหน้าเว็บพิกัด GPSรูปถ่ายที่เก็บในโทรศัพท์ประวัติการโทรออก/รับสายเนื้อหาในอีเมล์เนื้อหาในข้อความสั้น (SMS)รายชื่อผู้ติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์)           

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 186 ซอสหอยนางรม ปริมาณหอยนางรมและโซเดียม

ซอสหอยนางรมหรือน้ำมันหอย ถือเป็นเครื่องปรุงรสคู่ครัวไทยมานาน เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้อาหารอร่อย รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น และมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยโปรตีนจากหอยนางรม โดยอาหารยอดนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด คะน้าหมูกรอบ ผัดผักหรือหมูปิ้ง ส่วนใหญ่มักใช้ซอสหอยนางรมเป็นส่วนหนึ่งของการปรุงรส อย่างไรก็ตามปัจจุบันซอสหอยนางรมมีมากมายหลายยี่ห้อและมีราคาแตกต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่แน่ใจว่าควรตัดสินใจเลือกซื้ออย่างไรดี ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเปรียบเทียบปริมาณหอยนางรม และโซเดียม รวมทั้งโปรตีนในซอสหอยนางรมจาก 23 ยี่ห้อยอดนิยมโดยดูจากฉลากข้างขวด ผลจะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน         ตารางผลทดสอบ 2 ปริมาณโซเดียม ทดสอบด้วยการดูจากฉลากโภชนาการ และเรียงลำดับจากยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ไปยังยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด เมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยบริโภค(หนึ่งหน่วยบริโภคประมาณ 15-17 กรัม) หมายเหตุ มีเพียง 13 ยี่ห้อที่มีฉลากโภชนาการ   สรุปผลทดสอบ จากซอสหอยนางรม 23 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า 1. ซอสหอยนางรม 23 ตัวอย่าง ทุกยี่ห้อระบุว่ามีหอยนางรมเป็นส่วนประกอบ โดยยี่ห้อที่มีปริมาณหอยนางรมเป็นส่วนประกอบมากที่สุดคือ ลี่กุมกี่ (โอลด์แบรนด์) 55% ต่อน้ำหนัก 255 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณหอยนางรมเป็นส่วนประกอบน้อยที่สุดคือ โฮม เฟรช มาร์ท 9% ต่อน้ำหนัก 770 กรัม2. จากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ 13 ยี่ห้อ ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุดคือ เทสโก้ เอฟเวอรี่ เดย์ แวลู 240 มก. ต่อน้ำหนัก 675 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุดคือ นกแพนกวินสามตัว 1,110 มก. ต่อน้ำหนัก 700 มล.3. จากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ 13 ยี่ห้อ มีเพียงยี่ห้อเดียวที่ฉลากโภชนาการระบุว่ามีโปรตีนคือ ยี่ห้อ ไก่แจ้ มีปริมาณโปรตีน 2 กรัม 4. มี 10 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณโปรตีนหรือโซเดียมได้ ได้แก่ ยี่ห้อ 1.แฮปปี้บาท 2.เด็กสมบูรณ์ (สูตรดั้งเดิม) 3.พันท้ายนรสิงห์ 4.เด็กสมบูรณ์(สูตรเข้มข้น) 5.ป้ายทอง 6. ลี่กุมกี่ แพนด้า 7.ลี่กุมกี่ ชอยซัน 8.เอช แอนด์ เอ็ม 9.ลี่กุมกี่ (โอลด์แบรนด์) และ 10.ท็อปเกรดออยสเตอร์ซอสข้อสังเกต 1. ปริมาณโซเดียมในซอสหอยนางรมโซเดียมในอาหารส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหาร ให้มีรสเค็มและใช้ในกระบวนการถนอมอาหาร อย่างไรก็ตามนอกจากการใช้เกลือในรูปของเกลือแล้ว เกลือยังมีอยู่มากในเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารให้มีรสชาติเค็ม เช่น นํ้าปลา ซีอิ๊ว หรือซอสปรุงรสต่างๆ ซึ่งในซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ จะมีปริมาณโซเดียม 450-610 มก. หรือเฉลี่ยที่ 518 มก. แต่จากผลทดสอบจะเห็นได้ว่าบางยี่ห้อมีปริมาณโซเดียมสูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือมากทีสุดอยู่ที่ 1,110 มก./1 ช้อนโต๊ะ การบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป หรือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือป่นประมาณ 6 กรัม(1 ช้อนชา)ต่อวัน โดยสำหรับผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมควรบริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน หลอดเลือดสมองแตก รวมทั้งไตวายได้ 2. ปริมาณโปรตีนในซอสหอยนางรมแม้ตามมาตรฐานของมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนในอาหารประเภทซอสหอยนางรม ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานปริมาณโปรตีนไว้ แต่หอยนางรมก็เป็นอาหารทะเลที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาแปรรูปเป็นซอสหอยนางรม กลับพบว่ามีเพียงยี่ห้อเดียวที่พบปริมาณโปรตีนในฉลากโภชนาการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------เกร็ดเล็กๆ ของซอสหอยซอสหอยนางรม คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อหอยนางรมมาบดให้ละเอียดแล้วทำให้สุก หรือใช้หอยนางรมสกัดหรือใช้หอยนางรมย่อยสลาย มาผสมกับเครื่องปรุงรสเช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำตาลและส่วนประกอบอื่น เช่น แป้งดัดแปร ต้มให้เดือด บรรจุในภาชนะบรรจุขณะร้อน แล้วทำให้เย็นทันทีแนะวิธีเลือกซื้อซอสหอยนางรมนอกจากเราจะสามารถเลือกซื้อหอยนางรม โดยดูจากปริมาณหอย โปรตีน หรือโซเดียมได้แล้ว ยังสามารถพิจารณาได้จากยี่ห้อที่ภาชนะบรรจุสะอาด มีฝาปิดสนิท มีสีน้ำตาลสม่ำเสมอ หรือมีฉลากภาษาไทย ซึ่งควรมีรายละเอียดดังนี้ ชื่อผลิตภัณฑ์, ส่วนประกอบ, น้ำหนักสุทธิ หรือปริมาตรสุทธิ, วัน/เดือน/ปีที่หมดอายุคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีใช้และการเก็บรักษา รวมทั้งชื่อผู้ผลิตและสถานที่ตั้งข้อมูลอ้างอิง 1.http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/8_44_1.pdf      2. http://www.thaihypertension.org/files/237_1.LowSalt.pdf  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง

  ถั่วลิสง ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แถมยังให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง พลังงาน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต รวมทั้งยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิด โดยเราสามารถนำถั่วลิสงมาปรุงอาหารได้หลากหลายประเภททั้งเป็นส่วนประกอบในเมนูจานหลัก อย่าง แกงมัสมั่น ต้มขาหมูถั่วลิสง ใส่ในยำต่างๆ ใส่ในส้มตำ ฯลฯ หรือจะเป็นของกินเล่น อย่างขนมถั่วทอด ถั่วคั่วเกลือ หรือจะทำถั่วต้มธรรมดาๆ ก็อร่อยทั้งนั้น ยิ่งในช่วงเทศกาลกินเจเราจะเห็นถั่วลิสงเป็นพระเอกในเมนูอาหารเจต่างๆ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือราคาไม่แพงแต่เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” ในถั่วลิสง เนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารพิษอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากหรือได้รับสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้พยายามออกมาตรการควบคุมกับผู้ผลิตผู้นำเข้าถั่วลิสงให้เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงของตัวเองปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน(aflatoxin) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา โดยเฉพาะแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และแอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) อะฟลาท็อกซินโดยทั่วไปที่พบในถั่วลิสง มี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี1 (B1) บี2 (B2) จี1 (G1) และ จี 2 (G2)นอกจากนี้ถั่วลิสงแล้วก็ยังมีพวกสินค้าทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯพิษของอะฟลาท็อกซินหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติ เนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาวหากร่างกายของเราได้รับอะฟลาท็อกซินสะสมเป็นเวลานานต่อเนื่อง อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกาย จะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เพราะสารพิษอะฟลาท็อกซินจะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับองค์การอนามัยโลก จัดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทําให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่องที่มา: บทความ “อะฟลาท็อกซิน : สารปนเปื้อนในอาหาร” ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเลือกซื้อถั่วลิสงดิบอย่างไรให้ปลอดภัยจากอะฟลาท็อกซิน-เลือกที่อยู่ในสภาพใหม่ เมล็ดเต็มสวยงาม ไม่แตกหัก ไม่ลีบ รูปร่างและสีไม่ผิดปกติ ที่สำคัญคือต้องไม่ขึ้นรา ลองดมดูแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นอับ เหม็นหืน-ถั่วลิสงดิบแบบที่บรรจุถุงจะมีฉลากแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อยี่ห้อ น้ำหนักสุทธิ ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ที่สำคัญคือวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ดังนั้นควรใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลวันที่ผลิตและหมดอายุ เลือกซื้อถั่วลิสงดิบที่ผลิตใหม่ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอะฟลาท็อกซินได้-อะฟลาท็อกซิน สามารถทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ดังนั้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่สามารถฆ่าอะฟลาท็อกซินได้ แต่การนำถั่วลิสงไปตากแดด ความร้อนจากแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งอยู่ในแสงอาทิตย์ก็สามารถทำลายอะฟลาท็อกซินได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะช่วยลดความชื้นในถั่วลิสง ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นที่มาของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงได้ ดังนั้นถั่วลิสงที่ซื้อมาแล้วถูกเก็บเอาไว้นานๆ ก่อนจะนำมาปรุงอาหารควรนำออกตากแดด เพื่อไล่ความชื้น -ผลทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบโดยใช้ตัวอย่างของถั่วลิสงดิบ ซึ่งต้องนำไปปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนรับประทาน แต่ถั่วลิสงที่เมื่อทำให้สุกแล้วและมักเก็บไว้ใช้นานๆ ใช้เป็นเครื่องปรุงหรือส่วนประกอบตามร้านอาหารต่างๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผัดไท ร้านส้มตำ ซึ่งผู้บริโภคต้องไม่ลืมที่จะสังเกตลักษณะของถั่วลิสงให้ดีก่อนปรุงหรือรับประทาน ต้องไม่มีร่องรอยของเชื้อรา ไม่ดูเก่า ไม่อับชื้น ไม่มีกลิ่นเหม็น หากพบลักษณะที่น่าสงสัยดูแล้วเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน-ความคิดที่ว่า หากพบเจอส่วนที่ขึ้นราแค่ตัดส่วนนั้นทิ้ง ส่วนที่เหลือยังสามารถนำมารับประทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะเชื้อราแม้จะไม่แสดงลักษณะให้เห็นแต่อาจแพร่กระจายไปแล้วทั่วทั้งชิ้นอาหาร ดังนั้นเมื่อพบอาหารที่ขึ้นราควรทิ้งทั้งหมด อย่าเสียดายประเทศไทยคุมเข้มการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงถั่วลิสง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ได้รับการควบคุมดูแลมาตรฐานอย่างเคร่งครัดจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเมื่อปี 2557  ได้มีการออกข้อกำหนดเรื่อง “ปริมาณอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสง” เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่ก็มีมาตรฐานสินค้าเกษตรของถั่วลิสงแห้งอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นว่าประเทศไทยเรามีการบริโภคถั่วลิสงในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเฉพาะที่ผลิตเองในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องมีการนำเข้าถั่วลิสง นอกจากนี้ถั่วลิสงถือเป็นต้นทางของการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิด ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมเรื่องการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่ว เนื่องจากอะฟลาท็อกซินเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซินของถั่วลิสง ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากจะมีการกำหนดเรื่องปริมาณการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินที่กำหนดไว้เท่ากับประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ พบได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อถั่วลิสง 1 กิโลกรัม ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างการกำหนดให้ต้องมีการคัดแยกเมล็ดขึ้นรา เมล็ดแตกหัก เมล็ดเสียหาย และสิ่งแปลกปลอมก่อนส่งจำหน่าย ซึ่งเมล็ดที่พบความบกพร่องที่ถูกคัดแยกไว้ ห้ามนำไปจำหน่ายเพื่อบริโภคหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นอีก และการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต้องมีการแสดงหลักฐานการตรวจสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินและต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลก่อนนำมาวางจำหน่าย ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของถั่วลิสง (100 กรัม) สารอาหาร ถั่วลิสงแห้ง ถั่วลิสงสุก พลังงาน (กิโลแคลอรี) 548 316 โปรตีน (กรัม) 23.4 14.4 ไขมัน (กรัม) 45.3 26.3 คาร์โบไฮเดรต (กรัม) 21.6 11.4 เหล็ก (มิลลิกรัม) 1.5 2.2 แคลเซียม (มิลลิกรัม) 58 45 ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 357 178 ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร   ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงมาแล้วครั้งหนึ่ง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 94 ธันวาคม 2551 ซึ่งตอนนั้นทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงชนิดพร้อมรับประทาน ได้แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ ถั่วลิสงเคลือบแป้ง และถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก รวมแล้วทั้งหมด 10 ตัวอย่าง ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าน่ายินดี เพราะแม้จะมีการพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินอยู่บ้าง คือพบจำนวน 5 ตัวอย่าง แต่ก็เป็นการพบที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม โดยพบในปริมาณที่น้อยมาก คือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้นผลทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อราอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงดิบจากผลการทดสอบครั้งนี้ พบข่าวดี เมื่อตัวอย่างถั่วลิสงดิบที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบจำนวนทั้งหมด 11 ตัว พบว่าไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยถึง 10 ตัวอย่าง มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนคือยี่ห้อ Home Fresh Mart ซึ่งก็พบการปนเปื้อนที่ค่อนข้างน้อยมากๆ คือ 1.81 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 186 Tablets 2016

ฉบับนี้เอาใจสมาชิกที่ต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับกิจกรรมเบาๆ เช่น ติดต่อสื่อสาร ท่องอินเตอร์เน็ท หรือเล่นเกม บนจอภาพที่ใหญ่กว่าสมาร์ทโฟนแต่พกพาสะดวกกว่าโน้ตบุ้คทั่วไป เรามีแท็บเล็ตหน้าจอ 10 นิ้วที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทดสอบไว้มาให้คุณพิจารณา 17 รุ่น ที่สนนราคาโดยประมาณระหว่าง 5,000 ถึง 33,900 บาท ด้วยคะแนนรวมตั้งแต่ 3 ถึง 5 ดาว     นอกจากนี้ยังให้ดาวกับการสำรองข้อมูลด้วย (แต่ไม่ได้นำมาคิดคะแนนรวม) โดยรวมแล้วรุ่นดีที่สุด ยังคงเป็นรุ่นที่แพงที่สุด แต่อย่าเพิ่งถอดใจ รุ่นที่ได้คะแนนรองๆ ลงมายังมีที่คุณภาพพอใช้ในราคาที่ไม่สูงเกินไป หมายเหตุ: ราคานี้เป็นราคาในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 กรุณาตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                                            

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 ทะเลไฟ : เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น

    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เรอเน่ เดการ์ตส์ เคยประกาศคำขวัญคำคมเอาไว้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นการวางศิลาฤกษ์ให้กับห้วงสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า “I think, therefore I am” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น”     สังคมตะวันตกที่ก่อรูปก่อร่างมากับกรอบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าถึง “ความจริง” ในชีวิตของมนุษย์ จะเกิดจากการนั่ง “มโน” หรือดำริคิดเอาเองไม่ได้ หากแต่ต้องคิดอย่างแยบคายและมีเหตุผลบนหลักฐานที่จับต้องรองรับได้แบบเป็นรูปธรรมเท่านั้น    ดังนั้น ข้อสรุปของเดการ์ตส์จึงถูกต้องที่ว่า “เพราะฉันคิด” แบบมีหลักการเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และมีหลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ “ฉันจึงเป็น” หรือกลายมาเป็น “มนุษย์” ที่มีตัวตนอยู่ตราบถึงทุกวันนี้    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้นั่งชมละครโทรทัศน์เรื่อง “ทะเลไฟ” อยู่นั้น คำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองก็คือ ตรรกะหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะใช้ได้หรือไม่กับสังคมไทยที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาอย่างเข้มข้นแบบเดียวกับโลกตะวันตก    หาก “ทะเลไฟ” คือภาพวาดที่สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล และความคิดที่ใช้ตรรกะจากประจักษ์พยานหลักฐานมาพิสูจน์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของตัวละครหลักที่ชื่อ “พศิกา” และ “เตชิน” เท่าใดนัก    ด้วยเพราะผิดหวังในความรักเป็นจุดเริ่มเรื่อง บุตรสาวของปลัดกระทรวงใหญ่อย่างพศิกาจึงตัดสินใจหนีไปทำงานเป็นเลขานุการที่รีสอร์ตบนเกาะไข่มุกของ “อนุพงศ์” ผู้เป็นบิดาของพระเอกเตชิน ก่อนที่อนุพงศ์จะส่งเธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศ     อันที่จริงแล้ว เมื่อเริ่มต้นเรื่อง พศิกากับเตชินได้เคยพบเจอกันมาก่อนในต่างแดน และต่างก็แอบชอบพอกัน เพราะประทับใจในตัวตนจริงๆ ที่ได้รู้จักกันในครั้งนั้น แต่ทว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทยโดยไม่ได้ร่ำลา และได้โคจรมาพบกันอีกที่เกาะไข่มุก    กับการพบกันใหม่อีกครั้ง เตชินเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้หญิงที่เขาแอบรักอย่างพศิกามีสถานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาตนเอง กอปรกับการถูกเป่าหูโดยคุณแม่แห่งปีอย่าง “นลินี” ที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า สามีของเธอจะแอบซุกกิ๊กนอกใจเป็นหญิงสาวรุ่นลูกอย่างพศิกา    เพราะหูสองข้างที่ต้อง “หมุนวนไปตามลมปาก” ของมารดา ทำให้เตชินโกรธเคืองพศิกาโดยไม่ต้องสืบสาวหรือค้นหาเหตุผลความเป็นจริงใดๆ มาอธิบาย และกลายเป็นชนวนแห่งความชิงชังในแบบละครแนว “ตบๆ จูบๆ” ที่พระเอกต้องทารุณกรรมนางเอก (แม้จะหลงรักหล่อนอยู่ในห้วงลึก) ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จนสาแก่ใจ    ในขณะเดียวกัน “อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล ความแค้นก็แน่นกมล กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้” นลินีจึงยังคงติดตามราวี และจ้างวานบุคคลรอบข้างหรือใครต่อใครให้ระราน และลงมือทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยพศิกาออกไปจากเกาะไข่มุก และออกไปจากชีวิตของเตชิน ที่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีสติที่จะเรียนรู้ว่า พศิกาอาจไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจแบบที่มารดาคอยเสี้ยมหูยุแยงเขาอยู่ตลอด    และที่สำคัญ เมื่ออคติเข้ามาบดบังนัยน์ตา คุณแม่ดีเด่นอย่างนลินีจึงมองข้ามข้อเท็จไปว่า บรรดาตัวละคร “บ่างช่างยุ” ที่อยู่รายรอบชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทที่เป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับอย่าง “สุดารัตน์” หรือเครือญาติที่สุดารัตน์เอามาช่วยงานอย่าง “สง่า” รวมไปถึงพนักงานในรีสอร์ตคนอื่นๆ อย่าง “ทรงศักดิ์” “นวลพรรณ” “เอกรัตน์” และอีกหลายคน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยหวังดี และเบื้องหลังก็แอบคอร์รัปชั่น พร้อมกับทำลายกิจการเกาะไข่มุก เพราะเคียดแค้นอนุพงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีต    ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคม ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ในสายตาหรือห้วงสำนึกของตัวละครคนชั้นกลางกลุ่มนี้เสียเลย ตรงกันข้าม ปัญหาจุกจิกแบบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชิงรักหักสวาทต่างหาก ที่คนเหล่านี้สนใจและมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งในชีวิตเสียนี่กระไร    กว่าที่เตชินและนลินีจะค่อยๆ หวนกลับมาเจริญสติ และคิดใคร่ครวญด้วยปัญญา เหตุผล และการใช้หลักฐานต่างๆ พิสูจน์สัจจะความจริง และกว่าที่ทั้งคู่จะพบกับคำตอบจริงๆ ว่า เรื่องราวของพศิกากับอนุพงศ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการ “มโน” และ “ฟังความไม่ได้ศัพท์ แต่ดันจับไปกระเดียด” ขึ้นเท่านั้น เกาะไข่มุกที่อยู่กลางสมุทรก็แทบจะลุกฮือกลายเป็น “ทะเลไฟ” ไปจนเกือบจะจบเรื่อง    หากภาพในละครจำลองมาจากภาพใหญ่ที่ฉายมาจากฉากสังคมจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเหล่านี้ ก็เผยให้เห็นว่า สำหรับสังคมไทยที่ “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” นั้น “เหตุและผล” ไม่ได้เป็นระบบคิดที่หยั่งลึกในสำนึกของคนไทย เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือความจริงของสังคมเรานั้น มักจะเป็นแบบ “คิดไปเอง” “เชื่อไปเอง” “มโนไปเอง” หรือแม้แต่ “ฟังเขาเล่าว่าต่อๆ กันมา”     และผลสืบเนื่อง “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” เช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยจึงมักเป็นการสาละวนอยู่กับปัญหาแบบปลอมๆ ปัญหากระจุกกระจิก และไม่ใช่แก่นสาระหลักในชีวิตแต่อย่างใด     ในทางตรงกันข้าม การตั้งคำถามเชิงพินิจพิเคราะห์ไปที่ปัญหาแท้จริง ซึ่งฝังรากลึกๆ อยู่ในโครงสร้างของสังคมอย่างปัญหาคอร์รัปชั่น หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เหล่านี้มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และทิ้งให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบต่อมา    ก็อย่างที่บทเพลงเพื่อชีวิตเขาเคยกล่าววิจารณ์สังคมไทยในท่ามกลางความสับสนว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น...”    ตราบเท่าที่ตัวละครอย่างเตชินและนลินียังคง “แพ้ตัวและแพ้ใจ” หรือ “ฝันไกลไปลิบโลก” และตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ลองหันมาขบคิดถึง “ความจริง” รอบตัวกันด้วย “เหตุและผล” และเบิ่งตาดู “ความเป็นจริงที่แท้จริง” แล้ว สังคมเราก็คงต้องว่ายเวียน “อับโชค” และตกลงกลาง “ทะเลไฟ” อยู่นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 Repair café การจัดการทางสังคมในการลดขยะอิเลคทรอนิกส์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากบทความฉบับที่แล้ว นำเสนอปัญหาของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีความรู้สึกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์ มือถือ คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน มีอายุการใช้งานที่สั้นมากจนผิดปกติ บางครั้งการชำรุดบกพร่องของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้นยังพอใช้งานได้ เพียงแต่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางชิ้นชำรุดเสียหาย ต้องการแค่เปลี่ยนอะไหล่ แต่พอติดต่อศูนย์บริการหลังการขาย ก็ประสบปัญหาอะไหล่ไม่มี หรือค่าแรงในการซ่อมแพงกว่าการซื้ออุปกรณ์เครื่องใหม่ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นองค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐของเยอรมนีที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ต่างมีความกังวลกับการที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสั้นลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียและสิ้นเปลืองงบค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเลคทรอนิกส์ตามมาอีกด้วยสำหรับบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอวิธีการทางสังคม ที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมาจาก การชำรุดบกพร่องของโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟนก่อนอายุอันสมควรRepair Café Repair Café เป็นการรวมกลุ่มของผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อมและต้องการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากว่า การซ่อมสมาร์ตโฟนในเยอรมนีมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะซ่อมเล็กหรือซ่อมใหญ่ เนื่องจากค่าแรงของช่างซ่อมนั้นมีราคาสูงตามมาตรฐานช่างฝีมือในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรวมกลุ่มในรูปแบบ repair café จึงเป็นการนัดพบปะกันของผู้ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มคนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการช่วยเหลือกัน เพื่อให้คนในกลุ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในกรณีที่สมาร์ตโฟนมีปัญหา โดยในกลุ่มจะมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นช่างซ่อมมืออาชีพมาสอน และสนับสนุนทางด้านทักษะและความรู้ ตลอดจนการช่วยหาอะไหล่ ในรูปแบบอาสาสมัคร และหากการซ่อมไม่ประสบความสำเร็จทาง repair café ก็ไม่ได้รับประกันผล เนื่องจากการให้ช่างซ่อมมืออาชีพตามร้านหรือตามศูนย์ซ่อมของสมาร์ตโฟนนั้นๆ บางครั้งก็ไม่ได้ดีไปกว่าการซ่อมเองในรูปแบบ repair café ตัวอย่างการซ่อมเองตามกลุ่ม repair café ที่ผู้บริโภคสามารถซ่อมได้เอง เช่น การเปลี่ยนหน้าจอที่แตกหักชำรุด บางครั้งอาสาสมัครที่มาช่วยเหลือการซ่อม คือ นักศึกษาตามมหาวิทยาลัย การซ่อมสมาร์ตโฟนยิ่งรุ่นใหม่ๆ ก็จะยิ่งซ่อมเองได้ยากกว่า การที่มาพบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาสาสมัคร จึงเป็นวิธีการที่ดีกว่าการซ่อมด้วยตัวเองเพียงคนเดียว สำหรับเวลาที่ใช้ในการซ่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ของอาสาสมัครทางเทคนิค จากการสำรวจข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีตัวอย่างการซ่อม หน้าจอสมาร์ตโฟน ราคาซ่อมที่ศูนย์จะตกประมาณ 166 ยูโร ซึ่งราคานี้รวมค่าแรงและค่าอะไหล่แล้ว แต่ลูกค้าต้องรอนานถึง 10 วัน ในขณะที่การซ่อมตาม repair café จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง และราคาค่าซ่อมไม่คิด แต่คิดค่าอะไหล่ 100 ยูโร และค่ากาแฟ อีก 10 ยูโร รวมเป็น 110 ยูโร สามารถประหยัดเงินได้ 56 ยูโร แต่ประหยัดเวลาได้ถึง 10 วันรูปแบบการจัดการทางสังคมแบบนี้ถือได้ว่า เป็นการจัดการเรื่องขยะอิเลคทรอนิกส์ที่ทำให้เกิดความยั่งยืน และทำประโยชน์ให้สังคมส่วนรวม และผู้บริโภคที่สามารถจัดการซ่อมแซมสมาร์ตโฟนของตัวเองได้ ก็ย่อมมีความรู้สึกภาคภูมิใจในความสามารถของตน และมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะอิเลคทรอนิกส์ไปพร้อมๆ กันด้วยประเทศแรก ที่ให้กำเนิด repair café คือ ประเทศ เนเธอร์แลนด์ โดยเริ่มในปี 2009 โดยดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนในการผลิตและการใช้ทรัพยากรโลก ปัจจุบันมีจำนวน repair café 1,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเบอร์ลินมีอัตราการจัด repair café บ่อยครั้งมาก เนื่องจากทางเทศบาลให้การสนับสนุนไม่คิดค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน สมาคมเพื่อการกุศล และศูนย์เยาวชนที่กระจายอยู่ตามชุมชน รูปแบบการจัดการทางสังคมเพื่อสาธารณกุศลลักษณะนี้น่าสนใจมาก ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ น่าที่จะมีรูปแบบการจัดการของสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพลเมืองและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ในการก้าวไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะ(ที่มา: Test ฉบับที่ 6/2016)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 เส้นทางสายออร์กานิก

ฉันเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าผ่อนอารมณ์จากไอแดดด้านนอก ข้าวของสารพันถูกจัดเรียงบนชั้นไว้อย่างสวยงาม ยั่วความ อยากได้ อยากมี เป็นอย่างดี ของพื้นๆหลายอย่างมักดูดีขึ้นในห้างเสมอ ฉันคิดในใจ พลันที่สายตาเหลือบไปเห็นกองผักหลากชนิดที่ถูกจัดวางอยู่ไม่ไกล ยังไม่ทันที่จะก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ ความรู้สึกขัดแย้งในใจก็ปรี่เข้ามาอย่างช่วยไม่ได้  ข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า ของที่ประทับ”ตราออร์แกนิก” ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลตรวจสอบคงเป็นที่ผิดหวังของหลายฝ่าย จึงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงเสียใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ หรือในโลกโซเชียล ฉันนึกกระหยิ่ม และอยากจะพูดดังๆ ว่า “เพิ่งรู้กันหรอกหรือ”จริงๆ แล้วด้วยความที่ฉันเรียนเรื่องอาหาร และผูกพันอยู่กับวงการอาหารมาบ้าง ความเข้าใจที่ว่าความเป็นออร์แกนิกมันเป็นวิถีชีวิต มากกว่าการตีตราด้วยสัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่าง ก็ค่อยๆถูกซึมซับเข้าไปในแก่นความคิด ปรัชญาออร์แกนิกที่ฉันเข้าใจคือ การหวนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าคนโบราณเขาปลูกพืชอย่างไร ทำอย่างไรให้ดินสมบูรณ์ในโลกที่สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ยังไม่เป็นที่รู้จัก การหว่านเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติล้วนๆ การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยมีมนุษย์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทีขาดไม่ได้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าการเกษตรในยุคปัจจุบัน  แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพ และคุณค่าอาหารของพืชผล แต่ในปัจจุบันเมื่อเกษตรกรรมถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหรรมกลายๆ  เรื่องราวของการปลูก การหว่าน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาทำในวงจรการปลูก ก็ค่อยๆหายไป พร้อมๆกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพ่อค้าคนกลาง การตัดตอน ต่อ เติม เรื่องราวการผลิตเพื่อเน้นค้ากำไร ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เกิดความหวาดระแวง จนต้องหันมาพึ่งพากับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานออร์แกนิก” แทน กระนั้นก็ตาม มาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่ผู้บริโภคหวังจะพึ่งพา ก็ถูกฉีกออกด้วยกำลังเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมออร์แกนิก  ที่กำลังเนื้อหอมในตลาดปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ คุณลุงเป็นคนตัวไม่ใหญ่นัก แต่ดูทะมัดทะแมง ลุงแกเล่าว่า แกเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้ไกลออกไปนัก เมื่อฉันถามว่าฟาร์มของลุงปลูกพืชแบบออร์แกนิกมั้ย แกกล่าวว่า“ออร์แกนิกเหรอ มันก็แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นแหละ สิ่งที่ผมทำมันยิ่งกว่าออร์แกนิกเสียอีก” คุณลุงกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมให้เหตุผลว่า ผักทุกอย่างที่ปลูกที่ฟาร์มล้วนแล้วแต่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว โดยลูกแก แฟนของลูก เพื่อนของลูก มาช่วยกันลงแขก แกไม่สนใจกับมาตรฐานออร์แกนิกที่ถูกกำหนดขึ้น เพราะการขอจดมาตรฐานไม่เพียงแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น(การขอจด USDA Organic ในฟาร์มอย่างแกมีค่าใช้จ่ายปีละเกือบล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ยังทำให้ราคาสินค้าของแกสูงขึ้นมากจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้แกก็ไม่เห็นถึงความสำคัญว่าต้องหาที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โต แกบอกว่า มีกลุ่มคนที่เข้าใจ และเชื่อใจในการปลูกของแกที่คอยอุดหนุนกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แกแนะว่าแกขายของผ่าน Farmers’ Market (ตลาดนัดเกษตรกร) ซึ่งต้องการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึง CSA (Community Supported Agriculture) ที่คล้ายๆกับเครือข่ายการสนับสนุนการเกษตรที่จะทั้งกลุ่มจะไปเหมาผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาทั้งปี โดยที่ทางฟาร์มจะส่งผักผลไม้ที่ได้ตามฤดูกาลไปให้สมาชิกอาทิตย์ละครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนเช่นนี้ ทำให้ฟาร์มของแกอยู่ได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็อยู่อย่างมีความสุข เพราะเหมือนเป็นการเผยแพร่ปรัชญาออร์แกนิกไปในตัวฉันเข้าใจได้ดีว่าในความหมายของคุณลุง Farmers’ Market เป็นอย่างไร มันคือตลาดที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวตั้งตัวตี มักจัดขึ้นบนลานโล่งแจ้งหรือทางข้างถนน ไม่ว่าหน้าฝนหน้าหนาว แดดจะออก หิมะจะตก ทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านร้านช่อง เกษตรกร หรือคนธรรมดา ก็จะมารวมตัวกันในที่ที่นัดไว้แล้วเปิดหลังรถขายของขึ้น เพราะบางคนก็ขนของมาเต็มกระบะ แล้วก็โยนผักผลไม้มาให้คนที่จะมาซื้อได้ชิม ไม่มีการแต่งตัวสวยงามใดๆ จากผู้ขาย ไม่มีการเช็ดพืชผลแบบเช็ดแล้วเช็ดอีก เพราะบางรายก็เพิ่งเด็ด ขุด เอาพืชพันธุ์ของตนเองออกมาเมื่อตอนเช้าของวันนั้นเอง หัวแครอทยังมีคราบดิน ผลไม้ก็จะมีให้ชิมเป็นหย่อมๆ ลูกที่สุกเต็มที่ ดูเหมือนจะเริ่มเน่า เป็นลูกที่หวานที่สุด และก็ราคาถูกที่สุด เพราะต้องรีบขายให้ออก ไม่เพียงแค่พืชผักเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นอีกมาก ทั้งแยม โยเกิร์ต ขนมปัง ซึ่งคนที่นำมาขายก็จะมีเต้นท์เป็นของตัวเอง เมื่อคนขาย พบคนซื้อ บทสนทนาที่มาที่ไปของอาหารต่างๆ ก็เกิดขี้นอย่างช่วยไม่ได้ “ผักนั้นเอามาจากไหน ปลูกยังไง เนื้อหมูนี้ออร์แกนิกหรือเปล่า ทำไมถึงออร์แกนิก ทำไมถึงไม่ทำออร์แกนิก ให้อะไรเป็นอาหารไก่ ผลไม้นี้ตอนปลูกใช้อะไรเป็นปุ๋ย เอาไปทำอะไรกินดี ส่วนไหนที่อร่อยที่สุด นมนี้เป็นหางนมหรือไม่ ชีสนี้ใช้นมแพะ หรือนมวัว ขนมปังนี้ใช้แป้งอะไรทำ คนแพ้ Gluten ทานได้มั้ย บลา บลา บลา”   บทสนทนาล้วนดeเนินไปอย่างมีอรรถรส ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คำถามมักติดตามมาด้วยคำอธิบายยาวเหยียด พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ฉันสัมผัสได้ดีถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน ความภูมิใจ และความรู้สึกผูกพัน ที่คนขาย มีต่อผลผลิตของเขาเมื่อฉันก็ย้อนกลับมามอง Farmers’ Market ในบ้านเรา ฉันพบว่ามันไม่ได้เป็น ตลาดของเกษตรกรตรงตัวแบบที่เราเข้าใจกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขายผลิตผลทางการเกษตรตรงๆ ส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ขายมักเป็นอาหารแปรรูป ทั้งของกินเล่น เครป ขนมปัง วัฟเฟิ้ล ชา กาแฟ ไอศกรีม เบอร์เกอร์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือตกแต่งซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นสินค้าทำมือให้เข้ากับรสนิยมต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคนไทยซึ่งมักส่งสำเนียงภาษาต่างชาติออกมาเป็นประจำ ทำให้ฉันสามารถบอกได้เกือบจะทันทันทีว่าเขาเหล่านี้หาได้เป็นคนไทยทั่วๆไปไม่แน่นอนว่าการผลิตสินค้าเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายย่อมต้องมีต้นทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ หรือ ต้นทุนความรู้ ทั้งความรู้ในการผลิต และความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกรไทยทั่วไปที่ยังต้องเก็บหอมรอมริบเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คงไม่สามรถยกระดับตัวให้กลายเป็นผู้ขายในตลาดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกับที่ Farmers’ Market ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเมืองกรุง ผู้คนมากมายต่างพากันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าคลีนๆที่ว่านึ้ เกษตรกรหลายรายที่ไม่ได้ขัดสนได้ถือเอาตลาดแห่งนี้เป็นที่พบปะกับผู้บริโภค เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าผู้ขายสินค้าการเกษตรทั้งหมดจะเห็นตรงกัน เพราะพร้อมๆกับที่ชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ได้มีมากขึ้น บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ค่อยๆ กินรวบทั้งระบบการผลิต การค้าส่ง และค้าปลีก ก็เล็งเห็นช่องทางการขายแบบใหม่ ที่ให้กำไรดีกว่าสินค้าเดิม ก็ได้หาเหตุแอบแฝงมาในนามเกษตรกรรายย่อย และขายสินค้าของตนเองอย่างภาคภูมิใจด้วยถือว่าตนเองก็เป็น “ออร์แกนิก” เช่นกัน ฉันถอนหายใจอย่างปลงๆ พร้อมกับรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กๆ อาจเป็นเพราะมีเค้าลางส่อว่า “เงิน” มีค่ามากกว่า “ปรัชญา” ที่ฉันเคารพหรือเปล่า ฉันคิดไปว่า “เงิน” สามารถ “ซื้อ” ปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่ ที่ดิน นักวิชาการ แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อเอามาสร้างความร่ำรวยให้เพิ่มขึ้นได้อย่าง “ง่ายดาย” แล้วอะไรคือ หยาดเหงื่อแรงงานของคนผลิตที่ฉันอยากสนับสนุน “เงิน” ของฉันจะถูกนำไปใช้เพียงเพื่อต่อ “เงิน” ให้คนอื่นที่ไม่ได้ขัดสนอะไรเท่านั้นหรือ แล้วความภูมิใจที่ฉันอยากมอบให้แรงงาน เหมือนกับคุณลุงเจ้าของฟาร์มคนนั้นมันอยู่ไหน ฉันรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง มันช่วยไม่ได้ ก็เมื่อความคิด จินตนาการมันสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงฉันเดินค่อยๆเดินถอยออกมาจากชั้นผัก “ออร์แกนิก” พร้อมๆ กับยิ้มเยาะให้กับตัวเลือกที่จำกัดของผู้บริโภคชาวกรุงยังอีกไกล...ที่คนบ้านเราจะเห็นออร์แกนิกเป็นปรัชญามากกว่าเป็นเพียงสินค้าสุขภาพยังอีกไกล...กว่าปรัชญาจะแทรกซึมให้เข้าไปถึงเบื้องลึกในใจของคนไทยยังอีกไกล...ที่แรงงานภาคเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงินยังอีกไกล...ที่ตราออร์แกนิกจะสิ้นความหมายเพราะความเชื่อใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กันยังอีกไกล...ที่  Farmers’ Market จะเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน อย่างแท้จริงฉันคงได้แต่เพียงหวังว่า “วันนั้น” จะมาถึง ก่อนที่จะสายเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 French Pressed Coffee กาแฟ(ระ)คายคอ

ผู้เขียนกินกาแฟมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนกล่าวห้ามไว้ เนื่องจากเด็กที่กินกาแฟแล้วมักนอนไม่หลับ แต่ในความเป็นจริงสำหรับผู้เขียนแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าได้เข้านอนก่อน 22.00 น.โดยไม่มีความกังวลใจเรื่องใด ต่อให้เพิ่งดื่มกาแฟก็หลับได้ เพียงแต่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อใช้ห้องน้ำ เพราะแคฟฟีอีนในกาแฟนั้นเป็นสารกระตุ้นการถ่ายปัสสาวะมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่กาแฟเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นและหนุ่มสาว การถือถ้วยกาแฟเย็นราคาไม่ต่ำกว่า 35 บาทดื่มในที่สาธารณะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ผู้เขียนได้เปลี่ยนพฤติกรรมการชงกาแฟดื่มแบบโบราณที่ใช้ถุงผ้าไปเป็นการดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่เรียกว่า 3 in 1 เพื่อวัตถุประสงค์เพียงเพื่อคงระดับแคฟฟีอีนในร่างกาย โดยไม่ยึดติดกับรสชาติของกาแฟและไม่ดื่มกาแฟสด(ใส่นมและน้ำตาล) แบบที่ขายในปัจจุบันเพราะเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงมากจนไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนักท่านผู้อ่านหลายท่านที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจได้เคยเห็นโฆษณาเปิดตัวกาแฟแบบ 3 in 1 หลายยี่ห้อ ซึ่งมีข้อความประมาณว่า “ดื่มแล้วคล้ายการดื่มกาแฟสด” คำกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ควรลองซื้อยี่ห้อที่ถูกที่สุดมาชิมดู เพราะเมื่อคำนวณราคาแล้วตกเพียงซองละ 5.40 บาท แต่ถ้าไปดื่มตามร้านกาแฟ คงต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกสัก 5-10 เท่าในประเด็นของกาแฟสดนั้น คอกาแฟทั้งหลายคงพอทราบว่า คนฝรั่งเศสนั้นมีกาแฟสดชงในแบบที่เรียกว่า French Pressed Coffee หรือเรียกสั้นๆ ในสหรัฐอเมริกาว่า Pressed Coffee ซึ่งว่าไปแล้วเป็นวิธีการชงกาแฟที่ผู้บริโภคชงได้เองและปัจจุบันมีผู้นำอุปกรณ์การชง(แก้วชง) แบบนี้เข้ามาขายแล้วในประเทศไทยด้วยราคาที่ไม่แพงนักคือ 200-600 บาท ตามขนาดของอุปกรณ์ French Press นั้นเป็นวิธีชงกาแฟง่ายๆ เพียงแค่เลือกชนิดกาแฟตามที่ชอบแล้วชั่งน้ำหนัก(ซึ่งขึ้นกับขนาดแก้วชง) ตามที่คู่มือของเครื่องชงกาแฟให้ไว้ใส่ลงในแก้วชง(ที่ลวกด้วยน้ำเดือดก่อน) จากนั้นจึงเทน้ำเดือดตามปริมาตรที่คู่มือกำหนดไว้ลงในแก้ว ชงรอประมาณ 5-6 นาทีก็กดก้านที่ดันกากกาแฟลงไปอยู่ก้นแก้วชง แล้วรินแยกน้ำกาแฟออกมา เติมนมสดหรือครีมและน้ำตาลตามชอบ (คำเตือน: น้ำหนักกาแฟคั่ว ปริมาตรน้ำ และอุณหภูมินั้นเป็นตัวกำหนดรสชาติของน้ำกาแฟ ซึ่งต้องปฏิบัติตามคู่มือ ทางผู้ผลิตอุปกรณ์ไม่รับผิดชอบถ้ากาแฟไม่อร่อยอย่างที่คิดเนื่องจากไม่ทำตามข้อแนะนำ)ลักษณะเฉพาะของกาแฟสดชนิด French Pressed Coffee คือ การมีกากกาแฟเหลืออยู่ที่ก้นแก้วชง ซึ่งผู้ดื่มอาจรู้สึกถึงความสากคอ(ของกากกาแฟขนาดเล็กมากที่ลอยอยู่ในน้ำกาแฟ) แลกกับความรู้สึกที่เขาว่ากันว่า ผลิตให้ผู้บริโภคได้ฟินเหมือนดื่มกาแฟสด (ฟินมาจากคำว่า ฟินาเล่ ซึ่งแปลว่า จบแบบสมบูรณ์แบบ) รสสัมผัสหลังการดื่มกาแฟ 3 in 1 ที่เคลมว่าคล้ายกาแฟสด อึกแรกทำให้ผู้เขียนพบว่า มันมีความสากคออยู่ ในตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นอะไรจึงได้แต่นึกในใจว่า กาแฟซองนี้มันตกสเปคหรือไรจึงสากคอ แต่หลังจากหยิบซองกาแฟมาอ่านฉลากก็พบว่า องค์ประกอบหนึ่งของกาแฟในซองคือ ผงกาแฟบดละเอียด (microground coffee) ผสมกับกาแฟสำเร็จรูปและอื่น ๆ การเติมผงกาแฟบดละเอียดนี้เองที่คงทำให้ให้กาแฟ 3 in 1 ชนิดนี้มีลักษณะสัมผัสและรสชาติหลังการชงละม้ายคล้ายกาแฟสดแบบ French Pressed Coffee ของจริง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้เขียนระลึกได้หลังจากการดื่มกาแฟดังกล่าวนั้นคือ รสสัมผัสที่ไม่ต่างจากการดื่มกาแฟสดที่ชงด้วยถุงผ้าแบบโบราณของอาโก ซึ่งให้กากละเอียดลอยอยู่ในน้ำกาแฟเช่นกันความรู้เกี่ยวกับ French Pressed Coffee ที่ผู้เขียนตั้งใจนำมาฝากคือ มีบทความเรื่อง Pressed coffee is going mainstream — but should you drink it? เขียนโดย Heidi Godman เมื่อ 29 เมษายน 2016 ใน www.health.harvard.edu ซึ่งมีประเด็นที่ผู้เขียนสนใจว่าทำไมถึงมีคำถาม เราควรดื่มกาแฟที่ชงแบบนี้หรือไม่Heidi Godman เกริ่นว่า กาแฟชงด้วยเครื่องชงแบบฝรั่งเศสนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา เพราะซื้อหาได้ง่ายในราคาถูก แถมวิธีชงก็ไม่ต้องการทักษะนัก ไม่ต้องเปลืองกระดาษกรองเหมือนวิธีชงด้วยเครื่องแบบอื่น แต่การไม่มีกระดาษกรองแล้วมีกากกาแฟผสมออกมากับน้ำกาแฟนั้น Heidi กล่าวว่ามันอาจก่อปัญหาบางอย่างได้โดยอธิบายดังนี้น้ำกาแฟแบบ  French Pressed Coffee นี้มีสารเคมีธรรมชาติที่ละลายในไขมันชนิดหนึ่งเรียกว่า ไดเทอร์ปีน(diterpene) มากกว่าการชงกาแฟแบบทั่วไป(อย่างน่าจะมีนัยสำคัญ) ซึ่งทำให้นักดื่มกาแฟมืออาชีพแซ่ซ้องว่า มันทำให้กาแฟอร่อยขึ้นกว่าเดิม แต่ปรากฏว่ามีอาจารย์แพทย์ชื่อ Dr. Eric Rimm ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและโภชนาการของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ได้ทำลายบรรยากาศการดื่มกาแฟลักษณะนี้ โดยกล่าวว่า การดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee ราว 5-7 แก้วต่อวันอาจทำให้ไขมันชนิด LDL (ซึ่งคนไทยรู้กันในชื่อ ไขมันตัวเลว) ในเลือดสูงขึ้นได้ เท่ากับว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความกังวลให้กับคอกาแฟ จากเดิมที่นักดื่มกาแฟ(สมัครเล่น) กังวล กล่าวคือ ผู้ดื่มคออ่อนๆ มักนอนไม่หลับ กระส่ายกระสับและหัวใจเต้นแรงผิดปรกติพร้อมความดันโลหิตที่สูงขึ้น เนื่องจากการดื่มกาแฟสด จะทำให้ได้รับแคฟฟีอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเลิกดื่มกาแฟ อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับกาแฟโดยทั่วไปยังคงสรุปว่า การดื่มกาแฟแบบคนธรรมดาที่ไม่เข้มข้นดุเดือดอย่างสบายๆ วันละแก้วสองแก้วนั้น ยังก่อประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยผู้ดื่มจะมีความตื่นตัวสดชื่นขึ้น แคฟฟีอีนในกาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้เอ็นซัมของระบบทำลายสารพิษในเซลล์ตับทำงานดีขึ้น กาแฟให้แร่ธาตุคือ แมกนีเซียม โปแตสเซียม และวิตามินคือ ไนอาซิน รวมทั้งสารต้านออกซิเดชั่นต่างๆ อีกทั้งมีข้อมูลว่า การดื่มกาแฟ อาจช่วยชะลอการเป็นเบาหวานแบบที่สอง ด้วยซ้ำดังนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee คือ เมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปีควรถามแพทย์ที่อ่านผลเลือดของท่านว่า ระดับไขมัน LDL และโคเลสเตอรอลนั้นเพิ่มขึ้นจนเกินระดับมาตรฐานหรือไม่ พร้อมกับคอยสังเกตว่า กาแฟในถ้วยที่ดื่มต้องขมแบบที่กาแฟควรเป็น ไม่หวานจ๋อยด้วยน้ำตาลและไม่มันจนเลี่ยนด้วยครีมนม เพราะความหวานและมันในกาแฟนั้นมักเป็นสาเหตุทำให้แพทย์ ซึ่งดูแลสุขภาพท่านท้อใจในชีวิตการเป็นแพทย์ เนื่องจากแนะนำอย่างไรๆ ไขมันตัวเลวในเลือดคนไข้ก็ไต่ระดับขึ้นเอาๆ เพราะคนไข้ชอบดื่มกาแฟที่หวานและมัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 สันติ โฉมยงค์ “ถ้าเราไม่ทำแล้วจะมีใครไปทำงาน”

สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ทำงานคุ้มครองอย่างเข้มแข็งและเต็มไปด้วยสีสัน ต้องมาสะดุดเมื่อถูกผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องราวการทำงานแต่ละช่วงเวลาเป็นตลกร้ายที่พวกเราอาจหัวเราะไม่ออก แต่เมื่อเราถามว่าเขาเริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่เมื่อไหร่ แววตาคู่นั้นกลับมีประกายอีกครั้ง สันติดเล่าย้อนกลับไปว่า “เริ่มงานด้านผู้บริโภคตอนมาเป็นเภสัชนี่ละครับ  ผมเห็นปัญหาเรื่องของการบริโภคแล้วก็เห็นปัญหาเรื่องของการใช้ยาของชาวบ้าน  แต่ก่อนก็เป็นภสัชที่โรงพยาบาลชุมชน รพ.บ้านหมอ ตอนนั้น รพ.มีวิกฤติ คือเป็นช่วงที่ รพ.เข้าสู่ระบบ 30 บาทใหม่ๆ (ยุคแรกของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) งานมันมากมาย พองานมากๆ เข้าแพทย์ก็เริ่มลาออก ทันตแพทย์ เภสัชก็ลาออกกันหมดเลย ผมก็เป็นรุ่นที่ไปแทน ตอนนั้นเป็นข่าวดังมากที่มีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกกันหมด ย้ายหนีกันหมด เราก็พยายามทำงานเชิงรุก เพราะเราเจอปัญหามากเนื่องจากวันหนึ่งๆ มีคนไข้ประมาณ 600 คน มีเตียง 30 เตียง คือบางทีมันจ่ายยาคนเดียวไม่ไหว เราก็พยายามออกไปเยี่ยมบ้าน และให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง แล้วเราก็รู้ ก็ไปเจอว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อนในการใช้ยาของชาวบ้าน เช่น มีกลุ่มทุนในหมู่บ้านที่ต้มยาขายเอง หรือกลุ่มพระสงฆ์ที่ซื้อยาแผนปัจจุบันไปบดทำยาสมุนไพร ก็เลยคิดว่าการไปทำงานเชิงรับในโรงพยาบาลมันช่วยอะไรไม่ได้ ตอนนั้นรู้จักพี่ภาณุโชติ(ภก.ภาณุโชติ ทองยัง) แกก็เลยชวนมาทำปัญหาเรื่องยาไม่เหมาะสมในชุมชน  ซึ่งมันก็พอดีกับที่เจอเราก็เลยออกมาทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เลยเริ่มที่ รพ.ชุมชนก่อน   แต่ทำงานใน รพ.ชุมชนก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือต้องหลังจากที่แพทย์เลิกตรวจแล้ว เวลาหลังบ่ายสองโมงเราถึงจะออกไปทำงานกับชาวบ้านได้ก็ทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณสักสามปีก็เลยย้ายไปทำงานที่ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่อุทัยธานี ตอนนั้นก็ทำเต็มตัวเลยนะ ไปทำหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร  ผมเจอเคสหนึ่งตกใจมากเลย คือมีเด็กป่วยแล้วทิ้งเจลแปะหน้าผากลงไปในน้ำ พอดีฝนตกน้ำมันก็ไหล ชาวบ้านไปเจอแล้วเข้าใจว่ากินได้ เขาก็ไปจับมาแล้วก็หุงข้าวเตรียมจะกินละ  ตอนนั้นคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้จริงๆ เรื่องราวเป็นข่าวใหญ่โตมากเลย เราก็ไปดูเห็นว่านี่มันเจลแปะลดไข้ธรรมดา เลยคิดว่าเราต้องทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น อยู่ที่นั่น(อุทัยธานี) ก็ทำเรื่องแก้ปัญหาหน่อไม้ปี๊บ เรื่องการฉีดยาฆ่าแมลงแตงกวาก่อนการเก็บเกี่ยว เช่นพรุ่งนี้จะเก็บเย็นวันนี้ก็จะฉีด เราก็เข้าไปให้ความรู้ ซึ่งตอนหลังพบว่า เราเข้าไปต่อสู้กับระบบทุนใหญ่ บางพื้นที่เขาทำขนาด 50 ไร่  ใช้เครื่องฉีด ใช้รถพ่น เราก็เลยคิดว่าเรื่องการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ พอย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา จึงทำเรื่องเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังหลักๆ มีอะไรบ้างคะมีเครือข่ายโรงเรียน เช่น งาน อย.น้อย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะทำกับเด็กอย่างเดียว ผมเข้าไปทำกับชุมชนด้วย แล้วผมก็ไปชวนชาวบ้านมาเป็นเครือข่ายผู้บริโภคด้วย มาให้ช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใหม่ๆ แล้วคนในชุมชนก็ตอบปัญหาไม่ได้ อันแรกจำได้แม่นว่า มีตัวดูดน้ำ อันนี้เด็กๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนจะเป็นคนที่แจ้งมา ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ผมไปอยู่โรงเรียนหนึ่งเห็นเข้าตกใจมาก เพราะว่าทุกคนในโรงเรียนเล่นไอ้ตัวนี้อยู่ คุณครูก็จะไม่รู้เพราะว่าเด็กจะซ่อนเอาไว้ใต้โต๊ะในลิ้นชัก ครูไม่รู้ แล้วก็กลัวว่าถ้าบอกออกไปจะเป็นความผิด เราเลยไปหาผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าใครมีเอาออกมานะ ไม่เอาออกมาจะมีความผิดปรากฏว่าทั้งโรงเรียน หรือมีอยู่โรงเรียนหนึ่งคือ เด็กกลัวความผิด เลยเอาไปทิ้งไว้ในชักโครก พอเปิดชักโครกมา โอ้โห มันพองเต็ม กลายเป็นส้วมตันทั้งโรงเรียน เราเลยต้องให้ความรู้ว่ามันอันตรายอย่างไร โดยเฉพาะพวกเด็กเล็กๆ ที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังเอามากินยังอม  พอพยายามให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะมีเอาไปเล่นที่บ้านด้วย ตอนหลังก็รู้ว่ามันเป็นสินค้าที่ห้ามจำหน่ายอยู่แล้วเพราะผิดกฎหมาย ตอนนั้น สคบ.ออกประกาศมาแล้ว พอเราแจ้งไป สคบ.ก็มากวาดล้างที่อยุธยา แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ยังมีไหมก็ยังมีอยู่นะแต่มันก็ลดน้อยลง เหมือนชุมชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เวลาผมไปทำงานแบบนี้ผมไม่ได้ไปคนเดียว จะพาชาวบ้านเครือข่ายในชุมชนนั้นไปด้วยให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหา ต่อไปพอเขาเห็นว่าสิ่งใดผิดสังเกตก็จะแจ้งเรา อีกอันที่เราเจอก็คือ เครื่องแช่น้ำน่ะครับ สปาเท้า ที่ต้องเอาเท้าแช่ลงไปแล้วจะมีเครื่องไฟฟ้าอะไรสักอย่างใส่ที่เอวเวลาเปิดกระแสไฟฟ้าจะผ่านตัวน้ำ แล้วน้ำจะเปลี่ยนสี น้ำจะแต่ละสีจะมีการบอกเล่าหรือวินิจฉัยโรคที่ต่างกัน เป็นใบเหมือนเสี่ยงเซียมซี เช่น ถ้าน้ำออกเป็นสีแดงสนิม อันนี้จะเป็นโรคเกี่ยวกับเลือด ถ้าน้ำออกเป็นสีเขียวเป็นโรคตับเป็นน้ำดี ถ้าเป็นเหลืองๆ โรคน้ำเหลือง ชาวบ้านก็ไปทำสปาเท้ากันเต็มเลย  มีลงพื้นที่แล้วไปเจออยู่วัดหนึ่ง เขาลงทุนซื้อเลยนะครับ วัดก็มีรายได้ คนก็มานั่งแช่กันเป็นชั่วโมง เราก็ไม่ได้นะครับน้ำที่คุณแช่มันไม่สะอาด แล้วมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคตับแล้วน้ำมันไหลมาจากเท้า ตอนนั้นถึงขนาดมีปัญหากับวัดเพราะไปทำให้วัดเขาสูญเสียรายได้ แต่ที่หนักสุดของพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพ(คลินิก) เพราะว่าจังหวัดนี้มีนิคมอุตสาหกรรมมาก ประเด็นแรกๆ ที่เราเข้าไปดู เป็นเรื่องของยาลดความอ้วน ประมาณสักปี 52 หรือ 53 มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐท่านหนึ่ง กินยาลดความอ้วนจนเสียสติ กินจนเป็นบ้าเลย ทางสำนักงานต้นสังกัดก็ไม่จ้างต่อ (ทุกวันนี้ก็ยังคล้ายๆ คนสติไม่ดีขายผักอยู่ที่ตลาด) เราเห็นแล้วรู้สึกว่า “ปล่อยให้มีอยู่ได้อย่างไร” เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง ผมเริ่มจากการสำรวจก่อนเลยว่ามีแหล่งจำหน่ายกี่แหล่ง แล้วมีช่องทางอะไรบ้าง ไปเจอช่องทางหนึ่ง น่ากลัวมาก คือเจ้าของคลินิกเป็นแพทย์ แพทย์จริงๆ นะครับ เขาใช้วิธีนี้ คือเวลาคนมารักษา เขาจะจ่ายยาให้ ให้คนรักษาเอายาไปขายต่อได้ มันก็เหมือนว่าตัวหมอไม่ผิด เพราะจ่ายยาตามใบสั่ง ถูกไหมฮะ ยาพวกนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คนที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อ เป็นยาชุดเลย เช่นยาชุดละ 250 บาท ก็ไปขายต่อชุดละ 300 ช่วงนั้นระบาดไปทั่วอยุธยาเลย “ยาชุดลดความอ้วน” มีน้องคนหนึ่งที่ใช้ยาตอนชุดนี้ตอนเรียนหนังสือน้ำหนัก 50 กิโลกรัมกว่าๆ เขากินยาพวกนี้ 2 ปีกว่าจะจบ เพราะกลัวว่าตอนรับปริญญาแล้วจะไม่สวย พอจบแล้วตอนนี้เลิกกิน แต่น้ำหนักขึ้นมาถึงประมาณ 120 กิโลกรัม  หรือมีอีกคลินิกหนึ่ง ตอนแรกแสดงตนว่าเป็นแพทย์แล้วมีใบประกอบโรคศิลปะด้วย มีบัตรมีอะไรครบ แต่ผมสังเกตว่าบัตรมันไม่เหมือนบัตรแพทย์ แต่เขาก็มาขออนุญาตที่เรานะ คือผมดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ได้ดูเรื่องการออกใบอนุญาต แต่ผมมาเห็นว่ามันผิดสังเกต คิดว่าบัตรนี้มันไม่ใช่แน่ แต่เราก็ยังทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะหมอส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเส้นใหญ่ พอดีมีเหตุสาวโรงงานคนหนึ่งกินยาลดน้ำหนักแล้วเสียชีวิต เราเลยได้เข้าไปสืบข่าว ตอนนั้นขอดูหมดเลย ปรากฏว่าเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก คือเขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์แล้วเลขที่ติดกันกับเพื่อนซึ่งชื่อเดียวกัน แต่คนละนามสกุล แต่คนที่มาเปิด(คลินิก)ที่นี่น่ะเรียนไม่จบแพทย์ เลยไปเรียนต่อต่างประเทศพอกลับมาก็มาทำธุรกิจแบบนี้ โดยที่เอาใบประกอบวิชาชีพของเพื่อน เพราะชื่อเดียวกันไง ที่นี้เขาก็ถ่ายเอกสารแล้วเปลี่ยนตรงนามสกุล เราก็เลยบอกนี่มันผิดหมดเลยนะ เราจับสังเกตจากเรื่องยา เนื่องจากใช้ยาไม่มีทะเบียน พอมีคนเสียชีวิตเราก็เลยเข้าไปตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เลยถึงบางอ้อว่าบัตรประชาชนก็คนละอย่าง ใบประกอบวิชาชีพตัวจริงก็คนละอย่าง สุดท้ายเราก็แจ้งไปที่ตัวแพทย์จริงๆ ที่อยู่ชลบุรี(ทางเราสอบถามไปที่แพทย์ชื่อนี้ก่อนว่ามีการสั่งซื้อยาเป็นล้านๆ บาทเลย ทางนั้นไม่รู้เรื่อง เราเลยอ๋อแบบนี้ ) จึงให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกัน เรื่องคดีนั้นผมไม่ได้ตามต่อ ส่วนคลินิกก็ถูกปิดไปแล้ว ในส่วนของ สสจ.เราจะเช็คมาตรฐานว่ามีตามเกณฑ์หรือไม่  หากมีการเปิดคลินิก จากนั้นจะมีตรวจประจำปี ปีละครั้งจากนั้นผมก็คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างกับยาลดความอ้วนในจังหวัดอยุธยาดี เลยคิดว่าต้องใช้การส่งสายลับไป พวกคลินิกที่มีปัญหาเพิ่งปิดได้หมดเมื่อประมาณสักปีที่แล้ว กว่าจะเข้าไปควบคุมได้มันยาก เพราะยาพวกนี้ต้นทุนต่ำ เขาแค่สั่งของจริงที่มันถูกต้อง 1 กระปุก แต่ที่เหลือก็สั่งจากตลาดมืดมา เวลาเราไปตรวจก็จะนับแค่นี้ 30 เม็ด อ้อ ไม่มีจ่ายเลยนะ แต่ทำไมคนเดินเข้าเดินออกเยอะจังเลย ตั้งแต่วันนั้นมาวันนี้ 10 ปีแล้วผมคิดว่าเราควบคุมได้แล้ว แต่ตอนนี้มาในรูปแบบใหม่ คือไปขายส่งตามอินเทอร์เน็ต เรื่องที่ยังต้องเฝ้าระวัง หลังจากเรื่องยาลดความอ้วน ก็มีเรื่องธุรกิจตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนเสริม ตอนแรกไม่อยากยุ่งเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นธุรกิจของแพทย์ เหมือนจะคุยกันยาก แต่พอเป็นเรื่องฉีดวัคซีนเสริม ผมเริ่มรับไม่ได้ เหมือนกับว่าเขาต้องการระบายวัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุ แล้วโรงพยาบาลที่ทำแบบนี้เป็น รพ.เอกชนใหญ่ๆ ที่อยู่ชานเมืองทั้งนั้นเลย วิธีการคือจะสต็อกของไว้ พอ 3 เดือนหมดอายุก็จะไปเดินสายฉีดตามโรงเรียน คิดดูนักเรียนในเกาะเมืองอยุธยาประมาณ 20,000 คน ต้องมารับการฉีดวัคซีนใกล้หมดอายุน่ะ ไข้หวัด สมองอักเสบ ประมาณนี้ เข้าใจว่าเป็นการระบายของเพราะตอนมาเห็นใส่กล่องโฟมมา ซึ่งมันไม่ได้อยู่แล้วน่ะครับ ผมเจอโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มบุคคลนำวัคซีนที่อีก 1 เดือนจะหมดอายุ แล้วใส่กล่องโฟมเปล่าๆ ไม่มีน้ำแข็งอะไรเลยนะ สนนราคาเข็มละ 700 บาท มานำเสนอ เคยเรียกเซลล์มาสอบถาม เขายอมรับว่าเป็นการระบายของ แต่ตัวเขาเองจะทำโดยตรงไม่ได้ก็ต้องไปหาโรงพยาบาลหรือคลินิกมาพักของไว้ก่อน แล้วให้ รพ.เหล่านี้ทำโครงการตรวจสุขภาพกับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนทำเรื่องแจ้งกับผู้ปกครองว่า แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ถ้าจะฉีดก็เข็มละ 700 บาท แต่ส่วนใหญ่ด้วยความไม่รู้และไว้ใจผู้ปกครองก็จะให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนพวกนี้ เราก็สงสารเด็กที่ต้องมาเจ็บตัวโดยใช่เหตุ ตอนนั้นเราก็ออกประชาสัมพันธ์เลยเพื่อเตือนเรื่องพวกนี้ แต่ก็มีเรื่องที่กระทบกระทั่งกันนะ เพราะบางโรงเรียนเขาได้ส่วนแบ่งหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น หัวละร้อย นักเรียนจำนวนสองพันก็กินนิ่มเลย เราต้องใช้วิธีการเข้าไปคุย ทำความเข้าใจ ทำหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปให้ และเรียกพนักงานขายของบริษัทมาปราม ก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง หลังๆ หนักกว่า พอไม่มีการวัคซีนแล้ว คราวนี้เป็นการตรวจสุขภาพนักเรียนเลย เช่น เด็กมัธยมต้องเสียเงินค่าตรวจสุขภาพปีละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เริ่มมาตอนไหน ผมนำเรื่องนี้ไปเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเลย เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่า เราควรสร้างเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสุขภาพตามช่วงวัยนะ เด็กวัยไหนควรทดสอบอะไร เช่น ทดสอบสมรรถภาพ สำหรับนักศึกษาทดสอบอะไร ต้องตรวจอะไร เช่น โรคร้ายแรง ก่อนเข้างานตรวจอะไร ผู้สูงอายุตรวจอะไร แต่มันเป็นประเด็นที่ “เงียบ” มากเลย เจอปัญหาแบบนนี้เข้ากับตัวเอง เลยถึงบางอ้อว่า “ประชาชนนี่ละเป็นเหยื่อ” เรื่องราวของเภสัชกรสันติ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่บอกเล่าผ่านฉลาดซื้อ ยังคงมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลจากการทำงานอันเข้มข้นของเขา จนโดยผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท โปรดติดตามในฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point