ฉบับที่ 185 กระเป๋าเดินทางล้อลาก

ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลการทดสอบกระเป๋าล้อลากเอาใจคนรักการเดินทางกันบ้าง ผลการทดสอบที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้คราวนี้ มีมาให้พิจารณากัน 17 รุ่น ทั้งแบบที่ทำจากพลาสติกและแบบที่ใช้วัสดุผ้า มีทั้งแบบ 4 ล้อ และ 2 ล้อ สนนราคาเริ่มตั้งแต่ต่ำกว่า 3,000 ไปจนถึงมากกว่า 20,000 บาท โชคดียังเป็นของผู้บริโภคอย่างเรา เพราะรุ่นที่ดีที่สุดไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุดและรุ่นที่ราคาต่ำที่สุดก็ไม่ได้คุณภาพต่ำตามราคา และทีมทดสอบพบว่าส่วนประกอบอย่างคันชัก ซิปและล้อของกระเป๋าทุกรุ่นที่ทดสอบมีความแข็งแรงทนทานในระดับที่น่าพอใจ แต่จะเฉือนกันอยู่ก็ตรงความทนทาน ความสามารถในการกันน้ำซึมเข้าของตัวกระเป๋า และความพึงพอใจของผู้ใช้ ... ติดตามรายละเอียดได้ในหน้าถัดไป                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 185 เรื่องที่คนรักสุขภาพต้องรู้ ก่อนสมัครเป็นสมาชิก “ฟิตเนส เซ็นเตอร์”

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ   สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก  “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย   สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ  เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ  เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน  ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน  สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ  ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 คอเลสเตอรอล..อาจไม่เลวอย่างที่คิด

ทุกครั้งก่อนกินข้าวผู้เขียนมักสำรวจอาหารในจานว่า ครบห้าหมู่หรือไม่ ถ้าเป็นการกินที่บ้านส่วนใหญ่มักครบ แต่ถ้าต้องกินนอกบ้านแล้วส่วนใหญ่ต้องกำหนดว่า เมื่อกลับถึงบ้านควรไปกินอะไรเพิ่มบ้าง นอกจากจำแนกอาหารว่าครบห้าหมู่หรือไม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พยายามสังเกตคือ อาหารจานนั้นน่าจะมีคอเลสเตอรอลมากหรือน้อย โดยดูจากองค์ประกอบส่วนที่เป็นไขมันและส่วนที่เป็นหนังเช่น หนังหมู ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมาให้เลี่ยงไขมันชนิดนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองอย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของคอเลสเตอรอลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะข้อมูลจากการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการนั้นต่างไปจากเดิมคือ มีมุมมองในการทำวิจัยเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้ข้อมูลจากอินเตอร์กล่าวว่า ทุกๆ 5 ปี หน่วยงานรัฐการของสหรัฐอเมริกาคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA )และกระทรวงสาธารณสุข (US. Department of Health and Human Services หรือ USHHS ) มีความร่วมมือในการสร้าง ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนในชาติ หรือ Nation's dietary guidelines ซึ่งเป็นการระบุชนิดของอาหารและวิธีการบริโภคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของประชาชน เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 เพื่อใช้ในช่วงปี 2016-2020 นั้นเป็นการแนะนำในกรอบกว้างๆ ที่หวังลดการได้รับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินพอดีของคนอเมริกัน โดยรายงานของกรรมการที่สร้างข้อแนะนำนี้ยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก ซึ่งกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมชนิดแอสปาเตม แต่มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่นี้คือ การไม่กล่าวถึงการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่คนอเมริกันกินในแต่ละวัน จากเอกสาร Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee ของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวว่า ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันแต่เดิมนั้น ได้เคยแนะนำให้กินคอเลสเตอรอล ซึ่งอยู่ในอาหารต่างๆ รวมกันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน(ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น) เพราะระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตีบตันของเส้นเลือด ถ้าเกิดขึ้นที่หัวใจอาจทำให้คุณหัวใจวายตาย (heart attack) หรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง(stroke ) อาจนำสู่การเป็นอัมพาตบางส่วนของร่างกาย ดังนั้นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารของคนอเมริกันเก่าในปี 2010-–2015 จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมองเห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในระบบเลือดกว่าคนปรกติทั่วไป ทว่าในข้อแนะนำใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่จัดคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารที่ต้องกังวลในการกินเกินแล้ว เพราะคณะกรรมการผู้สร้างข้อแนะนำกล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ไม่ได้แสดงว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารนั้นมีความสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด จริงๆ แล้วร่างกายเราเองสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเพื่อใช้เองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลเท่าไรและกำจัดได้ดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลนั้น เป็นสารที่ร่างกายใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนบางชนิดและเปลี่ยนเป็นเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ คือ คอเลสเตอรอลนั้น เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่ต้องมีสอดแทรกในชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ หรือผนังออร์กาเนล (คือเอ็นโดพลาสมิคเร็ทติคิวลัม) ของเซลล์ซึ่งเป็นบริเวณสร้างโปรตีนในเซลล์และทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารพิษก่อนถูกกำจัดออกจากร่างกายอาหารที่สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ได้แก่ ไข่แดง หนังสัตว์ต่างๆ(โดยเฉพาะหนังของขาหมูพะโล้) เนื้อติดมัน หอยนางรม กุ้ง นม เนย เป็นต้น ส่วนการสร้างขึ้นเองในร่างกายนั้น ร่างกายเราสร้างได้จากไขมันธรรมดาที่กินเข้าสู่ร่างกาย โดยเซลล์ตับนั้น เป็นเซลล์ที่รับผิดชอบงานนี้ราวร้อยละ 20-25 ดังนั้นการกินอาหารไขมันสูงจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกายสู่ระดับสูงสุดได้ประเด็นที่น่าสนใจคือ บางขณะที่เราต้องการอาหารไขมันสูง เพื่อให้ได้พลังงานเนื่องจากต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อาจมีไขมันส่วนที่กินเกินไปเพิ่มการสร้างคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรทราบวิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอล   วิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอลโดยหลักการแล้วทำได้โดยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินเข้าไปในมื้ออาหาร เพื่อเร่งให้มีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นสารอื่น อาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินสูง ได้แก่ แตงต่างๆ มะม่วง แอปเปิ้ล ถั่วหลายชนิดมีเพคตินสูง สำหรับผลไม้นั้นเป็นที่รู้กันว่า ส้มต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของเพคติน ที่น่าสนใจมากคือ ขนมเปลือกส้มโอซึ่งเป็นการสกัดเอาเพคตินจากส่วนสีขาวของเปลือกมาผสมน้ำตาลแล้วทิ้งให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าทำให้ขนมนี้มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ขนมเปลือกส้มโอก็จะเป็นแหล่งที่ดีของเพคตินในราคาไม่แพงนัก บทบาทของเพคตินในการลดคอเลสเตอรอลคือ เพคตินสามารถจับเกลือน้ำดีในลำไส้ใหญ่แล้วพาเกลือน้ำดีออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ ซึ่งเป็นการลดการดูดซึมเกลือน้ำดีกลับไปยังถุงน้ำดี(เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) การลดปริมาณเกลือน้ำดีนี้เป็นการบังคับให้ตับต้องนำเอาคอเลสเตอรอลในเลือดที่ไหลผ่านตับไปสร้างเป็นเกลือน้ำดีใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ประเด็นสำคัญของคอเลสเตอรอลที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประเด็นสำคัญคือ คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของไลโปโปรตีนสำคัญในเลือด ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า low density lipoprotein (LDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 25 คอเลสเตอรอลร้อยละ 50 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 21) ซึ่งควรมีในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หรือ 10 มิลลิลิตร) และ high density lipoprotein (HDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 33 คอเลสเตอรอลร้อยละ 30 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 29) ซึ่งควรมีในเลือดไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันทั้งสองนี้ได้ถูกแปลให้เข้าใจง่ายว่าเป็น คอเลสเตอรอลเลวและคอเลสเตอรอลดี ตามลำดับ เพราะว่าไลโปโปรตีนชนิดแรกนั้น ถ้ามีมากในเลือดแล้วจะเป็นดัชนีว่า หัวใจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสูง ส่วนไลโปโปรตีนชนิดหลัง ถ้ามีมากในเลือด ก็หมายความว่า หัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นกับปัจจัยทาง พันธุกรรมและการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วยอย่างไรก็ดีแม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพชาวอเมริกันจะเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรแล้ว ท่านผู้บริโภคอย่าละเลยหลักการสำคัญทางโภชนาการที่ว่า ไม่พึงกินอะไรให้อิ่มมากเกินจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมันๆ นั้นควรกลัวเข้าไว้ มิเช่นนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพแล้วผลเลือดออกมาว่า คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คุณหมอที่ดูแลสุขภาพท่านอาจมีเคืองได้ในฐานที่ท่านไม่ใส่ใจในคำแนะนำ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 Fitness trackers อุปกรณ์วัดความฟิต

วันนี้ใครๆ ก็สามารถรู้ได้ว่าใช้พลังงานไปเท่าไร เดินไปแล้วกี่ก้าว นอนหลับเพียงพอหรือยัง และยังสามารถแชร์กิจกรรมการออกกำลังกายหรือท้าแข่งกับเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ได้อีก ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะอุปกรณ์วัดความฟิตของร่างกายชนิดที่ใช้สวมรอบข้อมือนั่นเอง ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียทำไว้มาฝากสมาชิกเพื่อประกอบการตัดสินใจอุปกรณ์ที่ลงสนามครั้งนี้มีทั้งหมด 13 รุ่น สนนราคาตั้งแต่ 2,590 บาทไปจนถึง 13,000  ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้กับแอปแอนดรอยด์และ IOS และมีฟังก์ชั่นพื้นฐานอย่างการนับก้าว วัดระยะทาง หรือนับแคลอรี หรือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่จะแตกต่างกันในเรื่องการบันทึกข้อมูล(ด้วยแอปเสริม) เช่น การนอนหลับ อาหารที่รับประทาน หรือการแชร์ข้อมูลในสังคมออนไลน์ เป็นต้นการทดสอบครั้งนี้พบว่าอุปกรณ์ทั้งหมดมีระดับความเที่ยงตรงในการวัดเกินร้อยละ 90 แต่คะแนนจะแตกต่างกันในเรื่องของความยากง่ายในการใช้งาน (ตั้งค่า อ่านค่า จัดการข้อมูล) หรือความสบายในการสวมใส่ ก่อนตัดสินใจซื้ออย่าลืมขอลองสวมและใช้งานก่อนด้วย   No pain, no gainงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise พบว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่า อุปกรณ์นี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง “ความไม่อยากเคลื่อนไหว” ของพวกเขาได้ แม้ว่าดร. เกรกอรี่ เวล์ค หัวหน้าทีมวิจัยจะยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือสิ่งที่สำคัญกว่า แต่เขาก็พบว่าอุปกรณ์นี้มีประโยชน์ในการทำให้ผู้คนประเมินตนเองได้เที่ยงตรงมากขึ้น การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าคนส่วนใหญ่จะประเมินระดับการใช้พลังงานของตัวเองสูงเกินจริงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีน้ำหนักเกิน                        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 เจ้าบ้านเจ้าเรือน : เมื่อหนุ่มรูปหล่อกลายมาเป็น “โสนน้อยเรือนงาม”

สังคมไทยเรามีระบบคิดเรื่อง การเคารพนับถือผู้อาวุโสและบรรพบุรุษในสายเครือญาติ ระบบคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่ฝังรากอยู่ลึก หากแต่ยังแปรรูปแปลงร่างกลายมาเป็นความเชื่อในชีวิตประจำวันเรื่องการเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ โดยผีที่ดำรงอยู่ในสถาบันครัวเรือนและมีบทบาทใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”     “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” หรือเราอาจเรียกต่างกันไปว่า “ผีเหย้าผีเรือน” หรือ “ผีพ่อเฒ่าเจ้าเรือน” นั้น เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน ที่ด้านหนึ่งสมาชิกสังคมรุ่นหลังต้องแสดงกตเวทิตาต่อบรรพชนของตนเอง โดยมีวัตรปฏิบัติที่ลูกหลานต้องกระทำกันสืบเนื่องอย่างการเซ่นไหว้และบวงสรวงเคารพบูชา เพื่อที่อีกด้านหนึ่งผีบ้านผีเรือนท่านก็จะได้คุ้มครองและนำพาความสุขความเจริญมาให้กับสมาชิกครัวเรือนนั้นๆ    อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ว่าผีบ้านผีเรือนจะเป็นความเชื่อที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าการรับรู้ความเชื่อดังกล่าวจะสถิตเสถียรโดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง และหากเราอยากรู้ว่าผีบ้านผีเรือนยุคใหม่ได้ปรับเปลี่ยนลุคโฉมโนมพรรณกันไปอย่างไร ก็คงต้องสัมผัสผ่านภาพตัวละคร “ไรวินท์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน”    จับความตามท้องเรื่องของละคร เริ่มต้นจากนางเอก “แพรขาว” ที่สามี “พัสกร” ไปคว้าผู้หญิงอื่นมาเป็นอนุภรรยา เธอจึงตัดสินใจหอบ “ชมพู” ผู้เป็นลูกสาวมาเช่าบ้านริมน้ำเพื่ออยู่กันเพียงลำพังสองแม่ลูก และเป็นที่บ้านริมน้ำแห่งนี้เองที่วิญญาณเจ้าบ้านเจ้าเรือนของไรวินท์ ได้ออกมาปกป้องแพรขาวทั้งจากสามีและภยันตรายต่างๆ และก็เป็นที่นี่อีกเช่นกัน ที่แพรขาวได้เรียนรู้เรื่องราวในอดีตชาติว่า ทำไมไรวินท์จึงกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนติดอยู่ในเรือนริมน้ำหลังนั้น    ในอดีต ไรวินท์เป็นชายหนุ่มรูปงาม แต่มีบิดาที่เจ้าชู้และทิ้งมารดาของเขาไปอยู่กินกับภรรยาใหม่ แม้จะมีบทเรียนจากชีวิตคู่ของบิดามารดามาก่อน แต่ก็เข้าตำราที่ว่า “เกลียดสิ่งใดก็กลับเลือกเป็นสิ่งนั้น” เมื่อไรวินท์ตกลงตามใจมารดาโดยยอมแต่งงานกับ “สีนวล” เขากลับเลือกเจริญรอยตามประวัติศาสตร์ความผิดพลาดของบิดา อันเป็นปมปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลัง    เพราะถูกจับคลุมถุงชน กับเพราะผู้หญิงอย่างสีนวลก็ไม่ใช่คนที่เขารัก ดังนั้นภายหลังแต่งงานกัน ไรวินท์จึงยังคงเลือกคบและมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกมากหน้าหลายตา ตั้งแต่สาวน้อยแรกรุ่นอย่าง “บัวน้อย” น้องสาวของเพื่อนรักอย่าง “รำไพ” หญิงสาวมีหน้ามีตาทางสังคมอย่าง “สุดสวาท” และผู้หญิงที่เขาหลงใหลหัวปักหัวปำยิ่งอย่าง “มาลาตี”     ชะตากรรมของสีนวลที่แม้จะเป็นเมียแต่งอยู่ในเรือนหลังงาม จึงไม่ต่างจากการตกอยู่ในบ่วงพันธนาการที่มีเสียงเพลง “จำเลยรัก” ก้องอยู่ในห้วงจิตใจตลอดเวลาว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธโทษฉันไย ฉันทำอะไรให้เธอเคืองขุ่น กักขังฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนบาป...”     จนเมื่อลูกสาวของทั้งคู่จมน้ำเสียชีวิต ไรวินท์จึงสบโอกาสขอแยกทางกับสีนวล โดยยกเรือนหลังใหญ่และสมบัติทั้งหมดให้เธอครอบครอง จวบจนวาระสุดท้ายของสีนวลผู้ที่ภักดีแต่มีจิตใจแหลกสลาย เธอก็ได้แต่เอามีดกรีดข้างเสาเรือนเพื่อรอคอยเขาแบบนับวันนับคืน จนตรอมใจตายในที่สุด    ดังนั้น เมื่อไรวินท์ที่ชีวิตบั้นปลายถูกผู้หญิงที่เขาหลงใหลอย่างมาลาตีหลอกลวงจนสิ้นเนื้อประดาตัว ได้กลับมาที่เรือนงามหลังใหญ่อีกครั้ง เขาจึงเสียชีวิตลงโดยถูกพันธนาการไว้ด้วยแรงแค้นของวิญญาณสีนวล และกลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่แพรขาวมาพำนักอาศัยอยู่นั่นเอง    ด้วยโครงเรื่องที่ดูซับซ้อนซ่อนปม แต่อีกด้านหนึ่ง ละครก็ได้ผูกเรื่องให้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบความเชื่อเรื่องผีของคนไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ ตามจินตกรรมของคนไทย ผีบรรพบุรุษมักถูกรับรู้ว่ามีรูปลักษณ์เป็นชายแก่สูงวัย ปรากฏตัวในชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบนบ้างหรือก็อาจเป็นผ้าม่วง และสถิตอยู่ในศาลพระภูมิที่ผ่านกาลเวลายาวนานของบ้านแต่ละหลัง    แต่เพราะไรวินท์เป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือนที่สืบต่อมาถึงยุคปี 2016 เยี่ยงนี้ เขาจึงเป็นผีเจ้าเรือนที่มีภาพลักษณ์เป็นชายหนุ่มรูปงาม ปรากฏร่างในชุดสูทสีขาวตลอดเวลา สถิตพำนักในศาลพระภูมิที่ดูโอ่อ่าหรูหรา ไปจนถึงมีกิจกรรมยามว่างที่คอยเล่นเปียโนขับกล่อมแพรขาวและคนในบ้านให้รู้สึกรื่นรมย์    แม้จะมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นนี้ แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ละครได้ทดลองสลับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายให้กับตัวละครหลักของเรื่องไปด้วยในเวลาเดียวกัน    หากย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าในนิทานพื้นบ้านอย่าง “โสนน้อยเรือนงาม” ที่ถูกนางกุลากักขังให้เป็นข้าทาสทอผ้าย้อมผ้าอยู่ในเรือนหลังงาม จนมาถึงนางเอก “โสรยา” ในละคร “จำเลยรัก” หรือ “ภัทรลดา” ในละคร “ทางผ่านกามเทพ” นั้น ตัวละครผู้หญิงมักถูกนำเสนอให้กลายเป็นผู้ถูกขูดรีดและถูกกระทำทั้งกายวาจาใจ และคอย “เชิญคุณ(ผู้ชาย)ลงทัณฑ์บัญชา จนสมอุราจนสาแก่ใจ...”    แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไรวินท์กับสีนวลแล้ว เมื่อทั้งคู่ได้สิ้นใจวายปราณลง อำนาจที่ผกผันทำให้ผีสีนวลได้พันธนาการวิญญาณของไรวินท์หนุ่มรูปงามได้กลายมาเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน และทำให้เขาซาบซึ้งความรู้สึกของการถูกกักขังในเรือนริมน้ำ แบบที่ครั้งหนึ่งสีนวลเคยสัมผัสมาแล้วเมื่อยังมีชีวิตอยู่    ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ละครมอบหมายบทบาทให้แพรขาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน หรือเป็นผู้หารายได้ต่างๆ เข้ามาในครัวเรือน ผีเจ้าเรือนอย่างไรวินท์ก็ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่เลี้ยงเด็กและเป็นเพื่อนเล่นของลูกสาวแพรขาว อันเป็นพันธกิจที่เขาไม่เคยทำมาก่อน โดยมีวิญญาณของสีนวลคอยใช้อำนาจจับตามองและประเมินผลดูว่า พฤตินิสัยและการปฏิบัติตัวของอดีตสามีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร    จนเมื่อผู้ชายอย่างไรวินท์เริ่มเข้าอกเข้าใจและค่อยๆ เปลี่ยนทัศนะจาก “คนบาป” มาเป็น “พ่อนักบุญ” แบบที่เขาได้กล่าวกับแพรขาวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ยอมสละตนอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน” เมื่อนั้นวิญญาณของไรวินท์ก็ได้หลุดพ้นบ่วงกรรมและการถูกกักกันเอาไว้ในเรือนงาม    บนความสัมพันธ์ของหญิงชายในชีวิตจริงนั้น คงไม่ต้องรอกักขังบุรุษเพศให้เป็นผีเจ้าบ้านเจ้าเรือนแต่อย่างใด หากเพียงผู้ชายได้ตระหนักว่าผู้หญิงไม่ใช่ “โสนน้อยเรือนงาม” หรือ “จำเลยรัก” ที่อยู่ใต้อาณัติบงการแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ที่เคียงคู่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ก็จะเกิดขึ้นได้ในเรือนหลังงามเช่นเดียวกัน                                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ : สามีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ     ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน    ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ    เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่?    กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน     แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน    ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด     แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา    บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว    ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้    จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด    แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป    มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน    แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง    บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา    ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา     จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 ผลทดสอบการป้องกัน “แสงยูวี” แผ่นกันรอยติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ

เดี๋ยวนี้ “แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือ” ที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ได้มีคุณสมบัติแค่การป้องกันรอยขีดข่วนที่จะเกิดกับหน้าจอมือถือของเราเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนใช้งานโทรศัพท์มือถือ 1 ในนั้นก็คือ คุณสมบัติในการป้องกัน “แสงยูวี” และ “แสงสีฟ้า” ซึ่งเป็นแสงที่ถูกส่งผ่านมาจากหน้าจอมือถือ เป็นแสงที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตา ยิ่งทุกวันนี้หลายคนใช้ชีวิตแบบติดหน้าจอ ใช้เวลาอยู่กับการจิ้มและสไลด์ไปบนหน้าจอมือถือสมาร์ทโฟนเกือบตลอดทั้งวัน นั้นเท่ากับว่าดวงตาของเรากำลังถูกแสงจากหน้าจอมือถือทำร้ายไปเรื่อยๆแต่อย่างที่บอกว่าปัจจุบันเรามีแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันอันตรายจากแสงยูวีวางจำหน่ายให้คนใช้สมาร์ทโฟนได้เลือกซื้อหามาใช้งาน หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่เราซื่อมาป้องกันแสงยูวีได้จริง ฉลาดซื้อจึงขอรับอาสานำตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือไปทดสอบดูสิว่า มีคุณสมบัติป้องกันแสงยูวีและแสงสีฟ้าได้จริงตามที่โฆษณาหรือไม่ และแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการป้องกันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนการทดสอบเราได้เลือกตัวอย่าง แผ่นกันรอยหน้าจอโทรศัพท์มือถือจำนวน 5 ตัวอย่าง โดยทั้ง 5 ตัวอย่างเป็นแผ่นกันรอยชนิดที่เป็นกระจกนิรภัย รุ่นที่ใช้สำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน iPhone6 ประกอบด้วย1.    Hishield รุ่น Blue Light Cut Tempered Glass2.    CESSORY รุ่น Glass Protector 9H3.    Focus BC รุ่น Premium Tempered Glass 9H Hardness4.    Dapad รุ่น Glass screen protector Blue light cut5.    Dr. eyes Film by VOX. รุ่น Tempered Glassใช้วิธีการทดสอบโดยนำแสงจากแหล่งกำเนิดที่ทราบค่า (ความยาวคลื่น 380-780 นาโนเมตร) ส่องผ่านฟิล์มตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์ผลของสเปคตรัมของแสงที่ผ่านออกมาว่ามีองค์ประกอบของแสงอย่างไร เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ1.Spectrometer2.Integrating Sphere3.Light sourceวิธีการทดสอบ1.เตรียมกระจกเพื่อใช้ติดฟิล์มกันรอยใช้กระจกใสขนาด 2 มิลลิเมตร ตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฟิล์มกันรอย โดยเตรียมกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มเป็นตัวควบคุมด้วย2.วัดสเปคตรัมของแสงของแผ่นกระจกเปล่าที่ไม่ได้ติดฟิล์มกันรอย เปรียบเทียบกับกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยทั้ง 5 ตัวอย่าง แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์สเปคตรัมของแสงที่ผ่านกระจกที่ติดฟิล์มกันรอยออกมาหา ค่าเฉลี่ยของ % การส่องผ่านของแสงยูวีในช่วง 380 – 400 นาโนเมตร ผลการทดสอบ   เส้นกราฟแสดงผลการทดสอบการกรองแสงยูวีช่วงความยาวคลื่น 380-400 นาโนเมตร           ตัวอย่างแผ่นกันรอยหน้าจอมือถือที่นำมาทดสอบมีความสามารถในการกรองแสงยูวี A, B, C (ความยาวคลื่นของแสง UV-C  100-280 nm, UV-B 280-315 nm และ UV-A 315-400 nm)ได้สูงสุดเกือบ 90 % คือ  CESSORY รุ่น Glass Protector 9H เพียงตัวเดียวที่กรองได้เพียง ประมาณ 85 %   ส่วนแสงที่อยู่ในช่วงมากกว่า 400 nm ขึ้นไป ซึ่งแสงสีฟ้าก็อยู่ในช่วงคลื่นนี้ ตัวอย่างที่นำมาทดสอบยังป้องกันการผ่านของแสงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นอย่างไรก็ตามการติดแผ่นกันรอยป้องการแสงยูวี ก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดอันตรายจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่อาจส่งผลกับสายตาของเราได้ หากจำเป็นต้องใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นประจำและต่อเนื่องครั้งละนานๆ ก็ควรหาซื้อแผ่นกันรอยที่ช่วยป้องกันแสงยูวีมาติดไว้เพื่อช่วยถนอมดวงตาของเรา กลุ่มคลื่นแสงที่สายตามองเห็นได้กลุ่มคลื่นแสงที่ตามองเห็น (Visible light) ซึ่งมีความยาวคลื่น 400 – 800 นาโนเมตร เป็นกลุ่มคลื่นแสงสีต่างๆ จำนวน 7 สีตั้งแต่คลื่นแสง สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด และสีแดง เรียงตามความยาวของคลื่นจากน้อยไปหามาก คลื่นแสงกลุ่มนี้เป็นคลื่นแสงที่ประสาทตาของมนุษย์สามารถรับรู้ได้ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้  กลุ่มแสงที่สายมองเห็นไม่ว่าจะอยู่ที่คลื่นใด ก็มีผลกระทบต่อดวงตาของเราทั้งสิ้น หากดวงตาเขาเราสัมผัสกับแสงเหล่านั้นนานเกินไปส่วนแสงยูวี A B C เป็นกลุ่มแสงที่อยู่ในช่วงคลื่นที่ต่ำกว่า 400 – 280 nm เป็นกลุ่มแสงที่เรามองไม่เห็น แต่ก็มีอันตรายต่อดวงตาเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะดูดซับเอารังสียูวีเอาไว้แบบเดียวกับผิวหนังของเรา ส่งผลทำให้จ่อประสาทตาเสื่อมอันตรายของแสงจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงที่มีผลต่อดวงตาของเรา เมื่อดวงตาของเราต้องจ้องอยู่กับหน้าจอมือถือ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ดวงตามีอาการล้า ตาแห้ง อาจมองเห็นไม่ชัดชั่วคราว นอกจากนี้ในระยะยาวอาจส่งผลทำให้จอประสาทตาเสื่อมวิธีดูแลดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนานๆการติดแผ่นกันรอยป้องกันแสงยูวีจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงแค่วิธีหนึ่ง ในการลดอันตรายของแสงต่อดวงตาของเรา แต่วิธีการดูแลรักษาดวงตาของเราที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากพฤติกรรมการใช้งาน1.ใช้แต่พอดี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้งานต่อเนื่องกันเกิน 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาของเราได้พักบ้าง อย่าจ้องอยู่แต่ถ้าจอ ควรพักสายตาด้วยมองไปยังออกไปไกลๆ ที่จุดอื่น กะพริบตาบ่อย อย่าจ้องหน้าจอจนตาแห้ง2.ใช้งานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แสงสว่างที่เพียงพอ ไม่มากและน้อยเกินไป มองแล้วสบายตา และควรอยู่ในระยะห่างที่พอดี ประมาณ 30 ซม.จะช่วยให้สายตาของเราไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป2.ให้ดวงตาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการนอนหลับ ให้ดวงตาที่เมื่อยล้าของเราได้พักอย่างเต็มที่3.ดื่มน้ำเยอะๆ การดื่มน้ำช่วยให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นขึ้น เพราะการที่ต้องจ้องอยู่กับหน้าจอนานๆ จะทำให้ตาแห้ง4.กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก-ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินเอสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอสุก กล้วย ฯลฯ รวมทั้งอาหารในกลุ่มโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ นม ปลา เป็นต้นขอขอบคุณ ห้องปฏิบัติการแสงและอุณหภูมิ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา                 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 กำไลมาศ : ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม

    เมื่อราวช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” ฮอลลีวูดเคยสร้างตัวละคร “สมีโกล” ที่ลุ่มหลงอำนาจของแหวน และพยายามจะตามหาเพื่อเป็นเจ้าของแหวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งเกิดวลีอมตะที่สมีโกลมักพูดเสมอว่า “แหวนของข้า!!!”     สิบกว่าปีให้หลัง ในละครโทรทัศน์เรื่อง “กำไลมาศ” เราก็ได้เห็นภาพจำลองการทวงสิทธิและอำนาจคำรบใหม่ แต่ในครั้งนี้เป็นตัวละครผีนางรำอย่าง “ริ้วทอง” ที่รอคอยชายคนรัก และตามหากำไลทอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของประโยคที่ผีตนนี้กล่าวว่า “กูขอสาบาน...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ภพกี่ชาติ กูจะกลับมาเอากำไลและชีวิตของกูคืนจากมึง...”    การแย่งสิทธิและอำนาจเหนือกำไลครั้งนี้ ถูกเล่าผ่านเรื่องราวข้ามภพชาติที่ตัวละครซึ่งต่างมี “บ่วงกรรม” ร่วมกันจากชาติก่อน ต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในชาติภูมิปัจจุบัน    ในชาติก่อนนั้น ริ้วทองซึ่งเป็นนางรำลูกเจ้าของคณะหุ่นกระบอก เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ท่านชายดิเรก” เมื่อครั้งที่เธอถูกคนร้ายฉุดตัวไป และกลายเป็นจิตปฏิพัทธ์กันจนท่านชายได้ทำ “กำไลมาศ” มอบให้ริ้วทองเป็นตัวแทนความรักความผูกพันระหว่างคนทั้งสอง ด้วยคำกลอนที่ท่านชายเอ่ยให้ริ้วทองฟังว่า “กำไลมาศวงนี้พี่ให้น้อง แทนบ่วงคล้องใจรักสมัครหมาย...”    แต่เพราะครอบครัวของริ้วทองมีฐานะยากจน เธอและพ่อแม่จึงมีเหตุให้ต้องลี้ภัยโจรมาขอพึ่งใบบุญของ “เสด็จในกรมฯ” เจ้าของวังติณชาติ และยังเป็นบิดาของ “ท่านหญิงรัมภา” ซึ่งก็เป็นคู่หมั้นหมายกับท่านชายดิเรกนั่นเอง    และเมื่อทรัพยากรมีน้อย แต่ความปรารถนามีเกินกว่าปริมาณทรัพยากรนั้น หรือพูดในภาษานักเศรษฐศาสตร์ว่า เพราะอุปทานหรือซัพพลายมีผู้ชายเพียงคนเดียว แต่อุปสงค์หรือดีมานด์กลับมาจากความต้องการของทั้งริ้วทองและท่านหญิงรัมภา สงครามต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบุรุษเพศคนเดียวกันจึงเกิดขึ้นกับสตรีทั้งสองคน    ในยกแรกนั้น เพราะริ้วทองต้องมาพึ่งชายคาอาศัยวังของท่านหญิงรัมภาอยู่ แม้จะถูกทารุณกรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ ริ้วทองจึงทนอยู่กับสภาวะจำยอมที่ทั้งถูกถากถาง เฆี่ยนตี และลงทัณฑ์ เพียงเพราะอำนาจที่เธอมีน้อยกว่าท่านหญิงผู้เป็นเจ้าของวังและมีศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าในทุกๆ ทาง     แต่เพราะริ้วทองคือหญิงคนแรกที่พานพบสบรักกับท่านชายดิเรกมาก่อนท่านหญิงรัมภา ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ริ้วทองจึงเชื่อว่า “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม ฉันมีสิทธิ์จะรักไม่ผิดใช่ไหม” ในขณะเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำอย่างท่านหญิงรัมภาและคนรอบข้างอย่าง “ท่านหญิงภรณี” “ท่านชายอรรถรัตน์” และสาวใช้อย่าง “เจิม” ยังพยายามวางแผน “มาทำลายความรักเรา” จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ของริ้วทองต้องถึงแก่ความตาย ริ้วทองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมจากตระกูลติณชาติให้ได้    ด้วยเหตุนี้ ภายหลังเมื่อท่านหญิงรัมภาได้ปรามาสริ้วทองว่า “เจ้าพี่ไม่ได้รักเธอ เขาก็แค่ลุ่มหลงที่เปลือกภายนอกของเธอเท่านั้น” ริ้วทองจึงไม่คำนึงถึงอำนาจศักดิ์ชั้นที่แตกต่างกันอีกต่อไป แล้วกล่าวโต้ตอบท่านหญิงสูงศักดิ์กลับไปว่า “แต่ถ้าเลือกได้ ท่านหญิงก็อยากจะให้ท่านชายลุ่มหลงที่เปลือกบ้าง ใช่หรือไม่ล่ะเพคะ”     การตอบโต้เพื่อทวงสิทธิพึงมีพึงได้ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงฉากที่ริ้วทองได้ตบหน้าเจิมซึ่งร่วมกับท่านหญิงรัมภากดขี่จิตใจผู้หญิงต่ำศักดิ์ชั้นอย่างเธอ และบอกกับสาวใช้ของท่านหญิงว่า “จำไว้...ถึงกูจะจน แต่กูก็เป็นคนเหมือนกัน” อันเป็นการสื่อความว่า มนุษย์ควรกระทำกับคนอื่นในฐานะของมนุษย์ไม่แตกต่างกัน    แม้จิตสำนึกที่เปลี่ยนไป จะทำให้ริ้วทองลุกขึ้นมาปฏิวัติตอบโต้ต่อกรเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองท่านชายดิเรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจที่น้อยกว่าท่านหญิง พร้อมๆ กับที่ผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็ยังมีอุปสงค์จากตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่อย่าง “ล้อมเพชร” เข้ามาร่วมแย่งชิงทรัพยากรครั้งนี้ด้วย ริ้วทองผู้ที่ไม่มีทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำจากตัวละครอื่นๆ ที่มีฐานานุภาพสูงกว่าเธอทั้งสิ้น     ภาพฉากเปิดเรื่องที่ริ้วทองถูกท่านหญิงรัมภาทำร้ายฟันแขนจนขาด และถูกฆ่าตายกลายเป็นผีนางรำที่โดนกักขังไว้ในบึงบัวของวังติณชาติ จึงเป็นภาพที่ให้คำอธิบายและความชอบธรรมว่า ทำไมผีนางรำตนนี้จึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และรอวันเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรมและสิทธิเหนือ “กำไลมาศ” อีกครั้งหนึ่ง     เมื่อมาถึงชาติภพใหม่ ด้วยเหตุปัจจัยของ “บ่วงกรรม” ที่พันธนาการให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ “อินทวงศ์” ได้ถูกลบเลือนไฟล์ความทรงจำที่เขาเป็นท่านชายดิเรกในชาติปางก่อน แถมยังกลับมาตกหลุมรักท่านหญิงรัมภาที่กลับมาเกิดใหม่เป็น “เกล้ามาศ” ในปัจจุบัน ริ้วทองที่ถูกขังไว้พร้อมกับความ “รักจนจะเป็นจนจะตาย” จึงรู้สึก “เหมือนโดนกรีดหัวใจเพราะเธอแย่งไปครอง” ความแค้นหรือความขัดแย้งที่ทับทวีในการช่วงชิงทรัพยากรแบบข้ามภพข้ามชาติจึงกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง    ทว่า โดยหลักของละครโทรทัศน์แล้ว แม้ช่วงต้นจะต้องเปิดฉากให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด ละครก็ต้องหาทางคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวนั้นลงไป    ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงเลือกใช้วิธีรอมชอมด้วยการจัดสรรทรัพยากรกันเสียใหม่ให้ลงตัว โดยให้ริ้วทองยอมเชื่อในคำเทศนาของ “พระปราบ” และยอมรับการอโหสิกรรมที่เกล้ามาศและตัวละครต่างๆ มีให้แก่วิญญาณที่เคยถูกกักขังไว้อย่างเธอ     ภาพการอโหสิกรรมที่ตัวละครต่างมีให้กันและกันในฉากจบนั้น ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยกับคนดูว่า แม้ความขัดแย้งเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคม แต่ความขัดแย้งนั้นก็คลี่คลายได้ในโลกจินตนาการ    แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอโหสิกรรมเป็นคำตอบแบบที่ริ้วทองยอมลดละเลิกความแค้นที่สลักฝังอยู่ในวง “กำไลมาศ” ได้จริงๆ ในโลกของละครแล้ว คำถามที่ชวนให้น่าคิดต่อมาก็คือ ทำไมเราจึงยังคงเห็นภาพการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมของบรรดาคนที่มีอำนาจน้อยอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกความจริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point