นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 179 เสียงผู้บริโภค

คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะคงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตาม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลย และผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้ แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน  รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยมตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไร ผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป Course เสริมความงาม ที่ไม่ได้อยากสมัครสาวๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่มักจะถูกหว่านล้อม ตามติดประชิดตัว เมื่อเดินผ่านหน้าบูธขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็มีบางส่วนที่รอดตัวกลับบ้านสตางค์อยู่ครบ แต่อีกบางส่วนก็กลายเป็นสมาชิกไปแบบงงๆ ก็มี ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องหลายคนที่มาร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิ กรณีที่หนึ่ง สมัครเพราะเกรงใจ สำหรับประเด็นนี้มีผู้ร้องหลายคนที่พบปัญหา เช่น คุณ ก ตกลงสมัครรับบริการเสริมความงามของ บริษัท A โดยชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไปจำนวน 25,000 บาท เมื่อกลับบ้านก็คิดได้ว่า พลาดที่เกรงใจสมัครไป จึงต้องการยกเลิก เมื่อโทรศัพท์กลับไปแจ้งที่สถานบริการดังกล่าว พนักงานก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถยกเลิกและคืนเงินได้แล้ว หรือ คุณ ข ที่ถูกพนักงานชักชวนให้ใช้บริการเสริมความงาม ของบริษัท S พูดคุยกันไปได้สักพัก ผู้ร้องก็ได้ตกลงเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต จำนวน 30,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ฉุกคิดได้ว่าไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว และทางครอบครัวก็ไม่สนับสนุน จึงต้องการเงินคืน ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องอ้างว่า เป็นการสมัครเข้าร่วมแบบไม่ได้ตั้งใจแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ผู้ร้องเข้ามาร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงชี้แจงถึงกรณีที่จะบอกเลิกสัญญาได้ คือ เราต้องมีเหตุผลในการยกเลิก เช่น ทำให้เราได้รับความเสียหาย หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ทำไว้ในสัญญา แต่หากผู้ร้องต้องการยกเลิกจากเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเล่นต่อแล้ว หรือไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้ว เพราะ ครอบครัวไม่ต้องการ หรือหลงเข้าไปทำเพราะคำพูดของผู้ขาย ก็ไม่สามารถที่จะยกเลิกได้เนื่องจาก ผู้ขายยังไม่ได้ทำผิดสัญญา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราเสียเงิน ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ต้องการแบบฟรีๆ ก็ต้องเลิกเกรงใจคนอื่น แล้วกล้าที่จะพูดปฏิเสธกรณีที่สอง เผลอให้เอกสารสำคัญของตนเอง เช่น บัตรเครดิต บัตรประชาชน สำหรับกรณีนี้ผู้ร้องรายหนึ่ง ถูกพนักงานขายชักชวนให้ตรวจสภาพหน้าฟรี ของสถาบันเสริมความงาม S และได้ขอดูบัตรเครดิตจำนวน 3 ใบ เพื่อนำไปแลกของรางวัล (Gift voucher) ซึ่งหลังจากตรวจสภาพผิวหน้าเสร็จ ก็ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การลดน้ำหนัก การยกกระชับสัดส่วน โดยเสนอราคาพิเศษให้อยู่ที่ 30,000 บาท โดยภายหลังได้มีการนำเอกสารต่างๆ มาให้เธอเซ็น ซึ่งไม่ได้แจ้งว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร ด้านผู้ร้องที่ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อน ก็หลงเชื่อตกลงเซ็นชื่อเรียบร้อย และมารู้อีกว่า ตัวเองได้ตกลงเข้าโปรแกรมเสริมความงามราคา 30,000 บาท ของสถาบันดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้อง ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องได้ระบุเหตุผลที่ขอยกเลิกว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวได้ เพราะต้องไปต่างประเทศ พนักงานจึงตอบกลับด้วยการ ขยายเวลาการรับบริการให้อีก 1 ปี หรือ เสนอให้เธอเปลี่ยนเป็นสินค้าตามจำนวนเงิน ซึ่งผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการนัดเจรจาที่มูลนิธิ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาดังกล่าว บริษัทฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้อีกครั้ง คือ 1. ปรับเปลี่ยนคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 30,000 บาท 2. โอนคอร์สดังกล่าวให้ผู้อื่น 3. ขยายเวลาการรับบริการ หรือ 4. ปรับเปลี่ยนเป็นรับผลิตภัณฑ์ 15,000 บาท และคืนเงินอีก 15,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอสุดท้าย เหตุการณ์จึงยุติลง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าปัญหาเกิดจากเอกสารสำคัญของเราตกอยู่ในมือของผู้อื่น ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนเซ็นชื่อยืนยันเอกสารเหล่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 Documentary Club เรานำหนังสารคดีทั่วโลกมาฉายเพื่อทุกคนที่รักหนังสารคดี

ถ้าถามคอหนังทางเลือก หนึ่งคนที่คอหนังนึกถึง ต้องเป็น “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Bioscope และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Documentary Club” หลังจาก ภาพยนตร์สารคดี เรื่อง  "Finding Vivian Maier : คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์" ออกฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อเกือบปลายปี 2557  Documentary Club ได้รับการตอบรับจากคนดูจำนวนมาก ซึ่งคุณธิดาเล่าให้ฉลาดซื้อฟังว่า หลังจากที่เริ่มโปรเจ็คท์เดือนสิงหาคม 2557 และฉายหนังตอนเดือนพฤศจิกายน  มาถึงตอนนี้ก็ปีกว่า ในแง่ของผลตอบรับมันก็ไปไกลกว่าคิดไว้ เพราะตอนแรกคิดว่าคนดูแค่ 10 คน 500 คน คือพยายามบริหารให้ก้อนคนดูมันอยู่แค่นั้นแต่ว่าตอนนี้คนดูเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้ามองในเชิงความมั่นคงนี่เล็กมากๆ แต่ถ้าเป็นสเกลของหนังที่เข้าโรงเดียวรวมทั้งหมดแค่สิบกว่ารอบถือว่าตอบโจทย์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นนั้นมันค่อนข้างจะต่างกัน เห็นได้ชัดคือพอเราเอาหนังใหม่มาเมื่อประชาสัมพันธ์ออกไป ก็จะมีฐานคนดูจำนวนมากประมาณหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาดู โดยที่เราไม่ต้องบิ้วท์คนดูใหม่จากศูนย์แล้วก็เหมือนเป็นฐานที่ช่วยให้หนังมันมีตลาดประมาณหนึ่ง แต่หน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรให้เรื่องมันขยายตลาดกว้างออกไปมากกว่านั้นและค่อยๆ สร้างกลุ่มขึ้นเรื่อยๆ  ฉะนั้นหลังจากทำมาปีกว่าสิ่งที่พูดได้เลยว่า เป็นความสำเร็จ คือมันมีกลุ่มคนดูที่ยอมรับการเข้าฉายของหนังสารคดี อย่างน้อยที่สุดคือคนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเขาจะต้องมาเสียเงินเท่ากับที่เขาดูสตาร์วอร์ส ทำไมเขาต้องมาดูสารคดี เขาสามารถรู้สึกได้ว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาชอบเขาก็พร้อมจะดู ไม่ได้รู้สึกว่าสารคดีต้องดูฟรี เราคิดว่าเราพาคนดูไปด้วยกัน พาข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ การเริ่มต้นของการตั้ง Documentary Club เนื่องจากก่อนที่จะมาทำ Documentary Club นั้นเคยทำงานอยู่ที่หนังสือ Bioscope ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงหนังทางเลือก แล้วเราก็ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังต่างประเทศแล้วก็รู้สึกว่าทำไมแม้แต่ในตลาดอเมริกา ซึ่งมีโมเดลคล้ายๆ กับตลาดเมืองไทยมาก แล้วคนไทยก็รับเอาวิธีคิดการผลิตภาพยนตร์แบบอเมริกา คือการทำร่วมกับสตูดิโอ แล้วก็นึกถึงเมนสตรีม แต่อเมริกาเองก็ยังมีทางเลือกในเชิงความหลากหลายของหนัง เครือข่ายโรงหนังก็ยังมีหลายแบบเพื่อที่จะตอบสนองพฤติกรรมคนดูหลายๆ แบบและโดยธุรกิจของฮอลลีวูดเองก็พยายามหล่อเลี้ยงหนังทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเพราะทุกอย่างขับเคลื่อนเป็นฟันเฟือง ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยก็ต้องมีที่ยืนเพราะว่าต้องหมุนไปด้วยกันในเชิงธุรกิจ แต่บ้านเราไม่มีแบบนี้ นับวันความหลากหลายของหนังมันยิ่งน้อยลง หนังเล็กเข้ามาก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ คนทำหนังอิสระไทยนั้นโอกาสคืนทุนน้อยมากเพราะมันไม่มีเอาท์เล็ทที่หล่อเลี้ยงให้เขาอยู่กับคนดูเพื่อสร้างวัฒนธรรมการดู เพราะฉะนั้นไม่มีใครช่วยเรื่องพวกนี้ และอีกแง่หนึ่งโดยส่วนตัวชอบดูหนังสารคดีก็รู้สึกว่า หนังประเภทนี้ไม่เคยมีพื้นที่ในบ้านเราเลยจะถูกจัดเป็นอินดี้ของอินดี้อีกที ดังนั้นจึงรู้สึกว่ามันน่าลอง อยากจะลองสร้างตลาดอันนี้ขึ้นมาก็นึกถึงทางเลือกอีกทางหนึ่งของคนกรุงขึ้นมา  ขั้นตอนการหาหนัง การซื้อเข้ามาเป็นอย่างไรบ้างDocumentary Club นั้นเกิดจากการระดมทุนขึ้นมาเพราะหนึ่งคือเราไม่มีทุนและสองเรามีความรู้สึกลึกๆ ว่าเรื่องแบบนี้เราคนเดียวผลักดันมันคงไม่สำเร็จ ถ้าจะผลักดันมันต้องอาศัยแรงสนับสนุนของคนที่คิดคล้ายๆ กันแต่เราก็เหมือนเราชูธงว่าเราออกหน้า ดังนั้นพอเราโยนไอเดียลงไปนั้นก็พบว่ามันก็มีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการทดลองทำอะไรแบบนี้ เขาก็ช่วยเหลือในการระดมทุนทำให้มีทุนในการทำแต่ว่าสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการหาพื้นที่ให้กับมัน จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีความเชื่อในการเอาหนังเข้าโรงเพียงอย่างเดียว แต่ว่าถ้ามันมีช่องทางอื่นที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้และคนดูได้ดูโดยไม่ต้องเข้าหาโรงนั้นเป็นทางเลือกที่ดี  แต่ว่าในระบบตลาดมันก็ยังต้องใช้โรงเพื่อผลทางรายได้หรือว่าผลทางประชาสัมพันธ์อะไรก็ตาม และสองคือรู้สึกว่าหนังสารคดีมันไม่มีพื้นที่ในทางธุรกิจเลยเราจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ว่า มันมีตลาดด้วยการเข้าสู่ตลาดเพื่อให้มีที่ยืนในเชิงการตลาดที่เขาทำกันอยู่จริงๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเมื่อเริ่มต้นโปรเจ็คท์ก็คือการคุยกับโรงว่าให้เปิดพื้นที่ซึ่งตอนที่ไปฉายครั้งแรกก็คุยทั้ง 2 เครือแต่ว่าเครือหนึ่งไม่เอาเพราะว่าไม่มีความเชื่อในหนังอะไรแบบนี้เลย ในขณะที่เครือ SF นั้นเขายังอยากที่จะทดลองสร้างตลาดเฉพาะเพราะเขาคงมองว่ามันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของเขาแตกต่างจากคู่แข่ง ก็โชคดีที่พอไปคุยแล้วเขาให้ลองดูแต่แน่นอนสิ่งที่เราต้องทำคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำแล้วมันอยู่ได้จริงๆ มันมีคนดู มีรายได้กลับมา เขาพอใจ เราพอใจ คนดูแฮปปี้ นั่นคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์มาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาการเลือกหนังเลือกอย่างไร ต้องทำรีเสิร์ทก่อนไหมคงไม่ขนาดนั้นแต่ว่าเบื้องต้นคือเลือกจากความชอบเพราะว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นแบบข้างใดข้างหนึ่งมาก เราไม่ได้ตลาดสุดขั้วและเราก็ไม่ได้ฮาร์ดคอร์มากเลยรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้มันมาทำงานกับเราก็เชื่อว่ามันมีคนดูที่รู้สึกแบบเดียวกับเป้าหมายช่วงต้นนั้นก็เน้นเลือกหนังที่มันมีความสนุกอยู่ ไม่ถึงขนาดดูแล้วต้องเครียดมากหรือว่าหลับเพราะมันน่าเบื่อสุดๆ ก็เลือกหนังที่คนดูแล้วน่าจะมีความบันเทิงอยู่ในความเป็นหนังสารคดีของมันอะไรแบบนี้ ส่วนที่สองคือเลือกประเด็นที่มันค่อนข้างหลากหลาย เบื้องต้นก็เลือกประเด็นทีคิดว่าคนต้องสนใจเรื่องแบบนี้อยู่ จริงๆ สิ่งนี้ตอนเริ่มต้นเราก็ไม่รู้ เริ่มต้นเรื่องแรกที่ฉายคือเรื่อง Finding Vivian Maier ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวการถ่ายภาพสตรีท ตอนนั้นก็นึกแค่ว่าหนังมันดัง ใจเราดูแล้วรู้สึกสนุกก็คิดแค่นั้น แต่พอตอนเริ่มเอาเข้ามาโปรโมท เริ่มฉายก็พบว่ามันมีประเด็นอื่นที่มากกว่านั้น เช่นคนที่มีความคลั่งไคล้เรื่องการถ่ายภาพ คนที่มีความคลั่งไคล้ของวิถีชีวิตของตัวละครแบบนี้ เรารู้สึกเลยว่าที่จริงหนังสารคดีแต่ละเรื่องนั้นมีประเด็นที่มันสัมผัสกับคนในหลายๆ แบบหรือสัมผัสกับไลฟ์สไตล์หลายๆ แบบเพราะฉะนั้นสิ่งที่สังเกตได้จากตอนที่เอา Finding Vivian Maier มาฉายก็เลยสังเกตเรื่องแบบนี้มากขึ้น หนังเรื่องนี้มีไลฟ์สไตล์ตรงกับคนกลุ่มไหน หาหนังที่มันตอบสนองคนหลายๆ กลุ่มประมาณนี้โรงฉายสนับสนุนอย่างไรบ้าง เขาจัดโรงฉายให้เราอย่างไรมีทั้ง 2 แบบคือจากที่คุยแล้วมันเป็นหนังแบบ Exclusive SF ในแง่ของสาขานั้นเขาจะล็อกไว้เลยว่า Positioning ของหนัง Exclusive นั้นเขาต้องการให้ปักหลักอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เพราะเขาอาจต้องการสร้างแบรนด์ให้สาขานั้นเป็นแบบนั้นและเขาก็อาจจะมองว่าโดยตำแหน่งอยู่ใจกลางเมือง บางทีก็มาจากเราด้วยที่คิดว่าบางทีหนังเรื่องหนึ่งอาจจะไม่กว้างมาก กลุ่มอาจจะแคบหน่อยก็อาจจะไม่ต้องเปิดโรงกว้างให้เรานะเพราะว่าทั้งเราและเขาความต้องการอย่างหนึ่งของโรงหนัง คือถึงแม้ว่าหนังเราจะเป็นหนังเล็ก ยอดรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับหนังปกติแต่ว่าสิ่งที่เป็นความสุขของโรง คือการเห็นว่าทุกรอบมันไม่ได้เสียเปล่า ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่าหนังเรื่องนี้กว้างได้ เรื่องนี้ไม่ต้องกว้าง บางครั้งก็คือมาจากเราที่อยากเอาโรงขนาดเล็กๆ พอเพราะภาพที่อยากเห็นคือมีคนเยอะทุกรอบ โรงก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เพราะการฉายทีหนึ่งมีคนดู 5 คน 10 คนมันสิ้นเปลืองผลของการฉายที่ผ่านมานี่คือเป็นที่น่าพอใจไหมค่อนข้างดี ในเชิงธุรกิจก็บริหารจัดการให้เป้าง่ายๆ คือทุกเรื่องอย่าขาดทุน ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนฉายโรงเลยเพื่อที่แง่หนึ่งคือเราก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่ทำอันนี้เต็มตัว แต่เราก็ทำหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยดังนั้นถ้าทำให้มันไม่แบกรับความเครียดต้องเป็นหนี้สะสมอะไรแบบนั้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดโดยเฉพาะครึ่งปีหลังนั้นค่อนข้างจะเข้าที่ อย่างที่บอกว่าคนดูก็สนับสนุนเพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องก็ค่อนข้างจะโอเค ก็มีเรื่องที่ได้มากบ้างน้อยบ้างแต่ในเรื่องที่น้อยก็ยังรอดตัว เรามองในเชิงที่ว่าในเรื่องที่มันน้อยนั้นเพราะคอนเทนต์มันยากขึ้น มันเฉพาะกลุ่มแต่เราก็มองในเชิงที่ว่ามันก็คือการสร้างกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราหวังแค่นั้น ที่ปกติคนที่ไม่ดูหนังสารคดีเลยหรือบางคนเลิกดูหนังโรงไปแล้วเราก็หวังว่าจะสร้างคนกลุ่มนี้มาเป็นคนดูเรื่อยๆ ตอนนี้มีเทรนด์ที่น่าสนใจ คือเริ่มมีกลุ่มคนดูที่รวมตัวกันเอง ตอนนี้มีขึ้นมา 3 เพจคือเพจคนขอนแก่น เพจชาวเชียงใหม่และเพจชาวหาดใหญ่ ซึ่งก็มาจากพวกเรายุกันให้เปิดตัวขึ้นมา ซึ่งคนพวกนี้สำคัญซึ่งเขาก็จะรวมตัวกันเรียกร้องโรงหนัง และบางเพจก็จัดฉายเองตามหอประชุมมหาวิทยาลัยบ้าง ถือว่าเทรนด์แบบนี้ต้องกระพือขึ้นมาไม่อย่างนั้นในวงการก็จะถูกรายใหญ่แช่แข็งอยู่แบบนี้(อุปสรรคคือรอบน้อย วันน้อย โรงน้อย)ใช่ น้อยทุกอย่างเลย (หัวเราะ) ตอนนี้จะเพิ่มไปที่เซ็นทรัลพระราม 9 หรือไม่ก็เซ็นทรัลลาดพร้าว อนาคตของ Documentary Club ต่อไปจะเป็นอย่างไรตอนนี้สิ่งที่อยากทำคือพยายามหาช่องทางให้มันได้ออกไปกว้างขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ภายใต้ระบบเดิมหรือการพยายามให้มันได้ไปฉายในโรงต่างจังหวัดด้วยวิธีใดก็ตามแต่ กับการพยายามทำงานกับกลุ่มคนดู เราก็พยายามกระตุ้นคนดู รวมทั้งมองหาช่องทางอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะ TV VOD (Video on demand) จึงคิดว่าเราต้องมองหาช่องทางที่จะทำให้หนังเราไปถึงคนดูแบบนี้ได้แล้วเพราะว่าจริงๆ ตอนนี้ฉายอยู่ในโรงเดียวคือทำไมมันถึงแคบขนาดนี้  ในส่วนของการเลือกหนังมาฉายตอนนี้กำลังพยายามหาเพิ่มเข้ามา ในปีนี้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มมีสารคดีจากอินโดนีเซียและกลางปีจะมีญี่ปุ่น เพิ่งคุยกับหอศิลป์ว่าอยากจัดสารคดีอาเซียนด้วยกัน ต้องเริ่มขยายมาทางนี้บ้าง ปัจจุบันมีช่องทางให้ผู้บริโภคดูฟรีเยอะ พฤติกรรมของคนไทยแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการหนังหรือการเอาหนังเข้ามาฉายอย่างไรบ้าง หรือผู้บริโภคจะมีทางเลือกอย่างไรคือพี่ไม่มีปัญหาในการดูบิทอะไรเลยหรือแม้แต่ดู Netflix(บริการดูหนังออนไลน์) เองคือในแง่คนทำหนังเราเองก็กระทบนะอย่างเรื่อง Iris (Iris เปรี้ยวที่ใจ วัยไม่เกี่ยว) นั้นยังฉายในโรงอยู่แต่เปิด Netflix มาก็มี ซึ่งเราก็ได้ผลกระทบแต่ถ้ามองในภาพรวมจริงเราค่อนข้างรู้สึกยินดีกับสิ่งเหล่านี้เพราะธรรมชาติของคนเสพทุกอย่างต้องการทางเลือก ต้องการความสะดวก ต้องการสิ่งที่มันคำนึงถึงพฤติกรรมของเราและตอนนี้เราอยู่บ้านดูได้เราไม่ต้องการถูกโรงบังคับว่าต้องดูแต่หนังที่เขาเอามาฉาย คือรู้สึกว่าพวกนี้มันคือการสร้างวัฒนธรรมการดูเพราะว่าในที่สุดเราต้องการให้ทุกคนดูสิ่งที่หลากหลาย และอยากให้ทุกคนเลือกเสพและมีโอกาสที่จะเข้าถึง แต่ถามว่าพฤติกรรมการดูของคนจะเปลี่ยนไหม หมายถึงว่าคนจะเลิกดูหนังโรงเหรอ จะดูแต่หนังอยู่บ้านเหรอ จะโหลดบิทอย่างเดียวเหรอ พี่คิดว่าไม่ใช่ คนเราไม่มีพฤติกรรมที่มันสุดขั้วเพราะว่าในที่สุดแล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูหนังโรงมันก็เป็นความสนุกอยู่ดีหรือการที่มีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ได้เจอเพื่อน กินข้าว ดูหนัง มันมีสิ่งอื่นที่ห่อหุ้มพฤติกรรมเหล่านั้นมันจะยังอยู่ต่อไป แล้วค่ายหนังก็มีหน้าที่ปรับตัวเองต้องทำหนังให้มันน่าสนใจขึ้น ให้คนรู้สึกว่าเขาต้องออกจากบ้านเพื่อมาดูก็เป็นหน้าที่ ที่คุณต้องปรับตัว  แต่คิดว่าสิ่งที่ปรับตัวช้าที่สุดในบรรดาเหล่านี้ก็คือโรงหนัง คิดว่าโรงหนังไม่ได้ไหวตัวกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของคน เพราะทุกวันนี้คนมาดูหนังโรงนั้นไม่ได้ต้องการแค่มาดูในโรง มี 3 มิติ มีควันแค่นี้จบ แต่ที่คนมาดูเพราะว่าเขาโหยหาการอยู่ในสังคม ไม่อย่างนั้นคนก็นั่งดูหนังอยู่บ้านหมดสิ ที่ยังออกมาดูหนังโรงเพราะมันมีสิ่งอื่นตอบสนองอยู่ ซึ่งโรงปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนไป โรงยังคิดว่าคำตอบคือการที่คุณขายป็อบคอร์น ขายโค้ก แต่เรารู้สึกว่าจิตวิญญาณของคนดูหนังมันแห้งลงเรื่อยๆ คิดว่าสิ่งที่จะกระทบมากที่สุดในระยะยาวคือโรงหนัง เพราะคนจะหมดอารมณ์ที่จะไปดูแล้วคุณก็จะบีบให้คนต้องไปดูอย่างอื่นซึ่งจริงๆ เขาก็ไม่ได้อยากดูสถานการณ์ของการดูหนังปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคสำหรับคนดูทั่วๆ ไปที่คิดว่าเป็นปัญหาและได้ยินบ่อยก็คือเรื่องราคาเพราะค่าตั๋วโดยเฉลี่ยนั้นถ้าเป็นโรงใจกลางเมืองมันคือ 160 – 180 บาทขึ้นไป ซึ่งโรงก็พยายามเพิ่มฟังก์ชั่นตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นโรงหนัง 4 มิติ เป็นแพ็กเกจโซฟาคู่ ซึ่งอาจจะมีคนพูดว่า ไม่อยากเลือกแบบนี้ก็ดูโรงธรรมดาแต่ฟังก์ชั่นของแบบธรรมดาราคามันก็ขึ้นเรื่อยๆ ตามโลเคชั่น และยังไม่รวมพวกสิ่งต่อพ่วงทั้งหลาย ค่าเครื่องดื่ม ป็อบคอร์น มีคนบอกว่าเวลาไปดูหนังทีหมดเงินเป็นพัน เนื่องจากโรงหนังมันอยู่ในห้าง จึงไม่มีทางเลือกที่จะบริโภคอย่างอื่น ซึ่งราคามันก็แพง โดยทั่วไปโรงหนังมักจะมีข้ออ้างว่าลงทุนสูง เป็นความบันเทิงราคาถูกที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตาม แต่ในความจริงแม้จะเป็นความบันเทิงราคาถูกก็ตามมันก็ยังแพงสำหรับผู้บริโภคอยู่ดี โดยเฉพาะในปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น เช่นล่าสุดการเข้ามาของ Netflix ซึ่งสามารถจ่ายเงินเดือนละ 100 – 200 กว่าบาทเดือนหนึ่งดูหนังได้ไม่เลือก แม้การดูหนังที่ในโรงภาพยนตร์ เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่สำคัญในชีวิตอยู่ แต่เราก็มีความรู้สึกว่าเราเลือกมากขึ้น อันนี้คือในแง่ของค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันในแง่ของคนดูในเชิงวัฒนธรรมจะเป็นปัญหาที่เจอเยอะที่สุดเลยคือ โรงหนังนั้นเป็นทางเลือกที่ไม่ดีพอสำหรับคนดูหนังในเชิงวัฒนธรรม หมายความว่าตอนนี้เวลาที่มีหนังใหญ่เปิดตัวทีหนึ่งนั้นหนังใหญ่กินพื้นที่โรง 80 - 90 %  ของจำนวนโรง พื้นที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการให้หนังกระแสหลัก หนังทางเลือกในเชิงวัฒนธรรมนั้นก็ไม่มีพื้นที่รองรับ ปัญหาที่เจอกันตอนนี้คือว่า หนังเล็กนั้นโรงไม่เหลียวแล โรงให้รอบแบบพอเป็นพิธี แล้วพอมันไม่มีคนดูตอบสนองด้วยตัวเลขที่มากพอในความคิดของเขาก็โดนตัดรอบ มันจึงเป็นวงจรทางธุรกิจที่แก้ไขไม่ได้ โรงก็ผูกขาดขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เหลือ 2 ค่ายใหญ่ที่แข่งกันแล้วเบียดบี้จนรายเล็กรายน้อยตายหมด คือไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือเชิงวัฒนธรรมนั้นการดูหนังเป็นทางเลือกที่หดแคบลงทุกทีสำหรับคนดู

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 สมาร์ทโฟน รุ่นไหนที่เหมาะกับความต้องการของเรา

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความในเดือนนี้ผมขอเสนอผลการรีวิวการทดสอบ สมาร์ตโฟนทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ จำนวน 100 รุ่น ของ มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2014  มีผลสรุปโดยแบ่งประสิทธิภาพและคุณภาพเป็น 4 กลุ่มตามตารางข้างล่างนี้ หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อสามารถใช้ข้อมูลนี้ เลือกซื้อสมาร์ตโฟนเป็นของขวัญในปีใหม่นี้ ได้อย่างฉลาดและรู้เท่าทันกันนะครับ ท้ายนี้ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ ตลอดปีวอก 2559 ครับ ผลการรีวิวการทดสอบสมาร์ตโฟน          

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 4 วิธี ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ให้อุ่นใจแบบคุ้มค่า

ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ คงจะคุ้นหูกับคำว่า พรบ.รถยนต์ ,ประกันภัยชั้น 1 ,ชั้น 3 และคุ้นตากับสติ๊กเกอร์ประกันภัยที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ และทุกปีมีหน้าที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์     ถ้าเป็นประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย เบี้ยประกันก็อยู่ที่ปีละ 650 – 1,000 บาทต้น ๆ ไม่แพงมากนักเพราะกฎหมายควบคุมอัตราเบี้ยประกันไว้     ส่วนประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยชั้น 1 , ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้นั้น เบี้ยประกันอยู่ที่ปีละประมาณ 5 พันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับรถที่คุณใช้ ทุนประกันและความคุ้มครองที่คุณเลือก     ในกรณีที่เป็นรถประเภทเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบางคนจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกกว่า ทั้งที่ทุนประกันและความคุ้มครองก็ได้รับเท่ากัน นั่นเป็นเพราะแต่ละคนได้รับส่วนลดเบี้ยประกันไม่เท่ากัน การจะได้ส่วนลดมากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของแต่ละละบริษัท ว่าต้องการกระตุ้นยอดขายมากขนาดไหน แต่อีกส่วนก็ขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้บริโภคว่าจะเท่าทันตัวแทน นายหน้าประกันภัย ขนาดไหน ผมจึงอยากจะแนะนำ 4 เรื่องที่คุณควรรู้เพื่อการลดเบี้ยประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองแบบอุ่นใจและคุ้มค่าเงินเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย      1. ระบุชื่อคนขับให้ชัดเจน ลดได้ 5 -20 % เพราะรถที่ใช้โดยคนคนเดียว ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่ารถที่ขับกันหลายมือ ดังนั้น รถที่ใช้ในครอบครัว ถ้าระบุชื่อผู้ขับขี่ลงไปในกรมธรรม์จะลดเบี้ยประกันได้ และยิ่งถ้าคนขับมีอายุ มีวุฒิภาวะมากขึ้น ส่วนลดก็จะมากตาม     อายุ 18 -24 ปี ส่วนลดเบี้ย 5%    อายุ 25 – 35 ปี ส่วนลดเบี้ย 10%    อายุ 36 – 50 ปี ส่วนลดเบี้ย 15%    อายุ 50 ปี ขึ้นไป ส่วนลดเบี้ย 20%     แต่ต้องเตือนกันไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ที่ขับขี่รถยนต์ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ แบบนี้จะประกันจะไม่จ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในวงเงินไม่เกิน 8,000 บาท     2. ขับดี มีส่วนลด 20 -50 % การขับขี่รถอย่างระมัดระวัง ไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุแต่คุณมิได้เป็นฝ่ายผิด คุณมีสิทธิได้ส่วนลดเบี้ยประกันจากการมีประวัติที่ดี และส่วนลดจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในปีถัด ๆ ไป     ขับดีปีแรก ได้รับส่วนลด 20% เมื่อต่ออายุประกันปีต่อไป     ขับดี 2 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 30%     ขับดี 3 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 40%    ขัดดี 4 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 50%    เพื่อรักษาเครดิตส่วนลดนี้ บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเคลมประกัน หากคำนวณแล้วว่าการซ่อมเองคุ้มกว่าส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับ     3. รวมรถ ลดได้อีก 10% ถ้าคุณมีรถยนต์หลายคัน การทำประกันรถยนต์แบบกลุ่มตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป สามารถขอส่วนลดได้อีก 10%     4. รับความเสี่ยงไว้เองบางส่วน จ่ายเบี้ยน้อยกว่า หรือที่ภาษาประกันเรียกว่า การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก หมายความว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด คุณจะร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ในวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าคุณกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกไว้ 5,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องซ่อมรถที่เสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท คุณจะต้องจ่ายเงินค่าซ่อมเองก่อน 5,000 บาท ประกันถึงจะจ่ายส่วนที่เหลือ     การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกในลักษณะนี้ ก็สามารถเอามาเป็นส่วนลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายได้เช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่มีประโยชน์ที่จะทำประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ๆ กับบริษัทที่ไม่มั่นคงแต่พอถึงเวลาแล้วเคลมไม่ได้ อู่ซ่อมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบริการแย่ เพราะมันจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 กฎหมายเครื่องสำอางกับก้าวที่ยังไม่ทันกลยุทธ์การขาย

ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ได้รับการปรับปรุงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา 8 กันยายน2558ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุผลหนึ่งคือการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรณีการประกอบธุรกิจเครื่องสำอางในสื่อโซเชียลและการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีเรื่องสำคัญที่น่าพิจารณา และเพื่อให้มองรอบด้าน เราจึงไปขอความรู้จาก อัครเดช มณีภาค* ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจและลงมือศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของกฎหมายเครื่องสำอางเป็นพิเศษ ทำไมถึงมาสนใจเรื่องเครื่องสำอางกฎหมายเครื่องสำอางของบ้านเรานับว่า ทันสมัย ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วมีแนวความคิดว่าเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายเครื่องสำอางให้เป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ซึ่งล่าสุดเรามี พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว นับว่าทันสมัยยิ่งขึ้น แต่กว่าจะผ่านก็ใช้เวลานานพอสมควร ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้เพราะในสังคมปัจจุบันการซื้อขายเครื่องสำอางมันมีวิวัฒนาการก้าวกระโดด จากที่แต่เดิมการเลือกใช้เครื่องสำอางเราจะเลือกซื้อของที่ตลาด ตามห้างสรรพสินค้าปลีกย่อยต่างๆ นี่คือวิถีในการเลือกซื้อทั่วไป แต่ 5 – 6 ปีที่ผ่านมานั้น มีสื่อในโลกโซเชียลเพิ่มมากขึ้น การซื้อขายกรณีเครื่องสำอางนั้นจึงมีหลากหลาย ใครก็สามารถเข้าถึงได้รวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือไลน์ นี่คือสังคมปัจจุบันที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่อาชีพใหม่เกิดขึ้นมานั่นคือ อาชีพของนักศึกษาในการเข้าสู่วงการธุรกิจเครื่องสำอาง *อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม   ในฐานะอาจารย์ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ นั่นคือ นักศึกษาไม่เพียงแค่เป็นคนซื้อ แต่พวกเขาได้เข้าสู่โลกของการเป็นคนขาย จากเดิมเป็นคนซื้อและทดลองใช้ พอใช้ได้ผลดี(กับตัวเอง) ก็ผันตัวเองมาเป็นคนขายและจัดจำหน่ายในรั้วมหาวิทยาลัย ในห้องเรียนห้องหนึ่งสมมุติมีนักศึกษาจำนวน 100 คน มีคนขายประมาณ 20 คนและอีก 50 คนเป็นคนซื้อ เรื่องนี้มีข้อที่พึงระวัง เพราะลักษณะนี้มันเป็นการขายตรงรูปแบบหนึ่งต้องถูกกำกับดูแลของ พ.ร.บขายตรงและตลาดแบบตรง ข้อที่ควรระวังมากกว่านั้นจากการสัมภาษณ์และสอบถามนักศึกษาคือ เขาไม่ได้สนใจว่าจะมี อย. หรือไม่คือไม่ได้สนใจความปลอดภัยเลย สนใจแต่ความขาว เด้ง ฟรุ้งฟริ้ง คนที่ขายก็ต้องลองกับตัวเอง(ได้ผล)เพื่อให้คนซื้อเชื่อ   ประเด็นนักศึกษาซื้อขายกันเองกฎหมายที่กล่าวมานั้นจะดูแลตรงส่วนนี้ได้อย่างไรบ้างถ้าเกิดความเสียหายก็ต้องไปเรียกร้องกับผู้จำหน่ายและบริษัท ทีนี้ผู้จำหน่ายก็คือเพื่อนเราใช่ไหมที่ขายสินค้ามา คือต้องย้อนกลับไปทฤษฎีเดิม ซึ่งเกิดจากการเลือกใช้ต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้จำหน่าย ปัญหาที่ตามมาคือว่า โรงงานที่ผลิตไม่ใช่โรงงานใหญ่ เป็นโรงงานขนาดเล็กและตัวสินค้าไม่มี อย. เท่ากับว่าผู้ซื้อนั้นเสี่ยงภัย ประเด็นนี้มีเยอะเลย ซึ่งไม่ได้เกิดกับของที่สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เป็นการซื้อขายตรง พอมีเรื่องเกิดขึ้นเกิดผลกระทบคนขายเขาก็บอกหน้าเขาใช้ไม่เคยมีปัญหาอะไร คือว่าเครื่องสำอางถูกกับใบหน้าของคนหนึ่งแต่ไม่ถูกกับอีกคนหนึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็น คนขายก็เลยกลายเป็นว่าไปโทษปัจจัยอื่น หาว่าคนที่ซื้อไปนอนดึกเลยใช้ไม่เห็นผล ประเด็นนี้เคยมีกรณีคนที่ถูกฟ้องต่อสู้กันจนถึงศาลฎีกา เป็นประเด็นว่าคนที่ซื้อไปใช้ไปตากแดดไม่ได้เกี่ยวกับเครื่องสำอางโดยตรง   กรณีเครื่องสำอางที่นักศึกษาไม้ค่อยมาร้องเรียนคิดว่าเป็นเพราะอะไรปัญหาคือคนใช้(ยอม)เสี่ยงภัย แล้วบ้านเราเป็นประเภทไม่กล้าที่จะขายความโง่ของตัวเอง ไม่บอกใครเก็บเรื่องไว้คนเดียว นี่คือพูดกันตรงๆ ทุกวันนี้ตัวผมเองไม่ว่าจะไปซื้อสินค้าอะไรมาใช้รวมถึงพวกโทรศัพท์ พลาดไปก็ไม่กล้าบอกใคร   เครื่องสำอางที่เด็กๆ ขายกันนั้นฉลากน่าจะไม่สมบูรณ์ด้วยหรือเปล่า เช่น คำเตือนว่าใช้แล้วห้ามทำแบบนั้น ห้ามทำแบบนี้ มี แต่ฉลากก็ทำขึ้นมาเองและบางกรณีก็ไม่มีฉลากส่วนใหญ่ไม่มี ซึ่งโรงงานผลิตทุกวันนี้เกิดขึ้นมากและบางทีตั้งในกลางกรุงด้วยซ้ำล่าสุด(อย)สคบและตำรวจกองปราบ จับโรงงานใหญ่ที่วังหิน เป็นโรงงานเถื่อน และเดี๋ยวนี้มีรอบๆๆมหาวิทยาลัยน่าจะมีเกือบทุกมหาลัยเลยแต่น่ายังไม่มีใครศึกษาเราเคยได้ยินแต่ร้านเหล้ารอบๆๆมหาลัย ประเด็นนี้น่าคิด ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย ผมเคยสัมภาษณ์มาแล้ว แล้วโรงงานเล็กๆ ลงทุน 10 ล้านแต่เขาขายได้กำไร 50 ล้านบาทต่อเดือน โคตรคุ้มเลย แล้วไม่ต้องไปขายเองด้วยผลิตอย่างเดียวแล้วจะมีนายหน้าเข้ามารับแล้วก็ใช้นักศึกษาเป็นคนปล่อยสินค้า   แล้วคนขายไม่ต้องขออนุญาตหรือเป็นเรื่องคนขอผลิต เพราะขอผลิตไปแล้วนั้นผลิตแล้วผลิตเลย หมายความว่าสมมุติผมเป็นเจ้าของยี่ห้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งก็ไปจ้างผลิต ผมก็เป็นเจ้าของแบรนด์แล้วก็ไปจดแจ้ง โรงงานก็ต้องไปจดแจ้งด้วย ซึ่งมันง่ายมากในการที่ใครสักคนอยากจะมีแบรนด์เครื่องสำอางของตัวเอง ทุกคนก็ยังสามารถที่จะเป็นเจ้าของแบรนด์ได้ มีเงินสัก 50,000 บาทก็ทำได้ ค่าธรรมเนียมจดแจ้งก็ไม่แพงแล้วก็รอ อย. ประกาศ ซึ่งบ้านเราเป็นลักษณะแบบนี้ คือควบคุมบวกส่งเสริม มันไม่ได้เป็นเหมือนสินค้าควบคุมแบบเครื่องมือแพทย์หรือยา   ในมุมมองของอาจารย์คือเรื่องเครื่องสำอางก่อนที่จะได้เกิดการซื้อขายมันต้องเข้มขึ้นกว่าเดิมใช่ มุมมองผมคือให้ไปควบคุมกระบวนการผลิตส่วนผสม สารเคมี ไม่ใช่ควบคุมที่การโฆษณา คือควบคุมโฆษณานั้นมันจะควบคุมเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่เพราะเขาจ้างโฆษณาแต่โฆษณารายย่อยอย่างสื่อโซเชียลเช่น เฟสบุ๊ค/Lineทุกวันนี้เปิดขึ้นมาขายของทั้งนั้นเลย แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ค่อยทำผิดกฎหมายในเรื่องกระบวนการผลิตอยู่แล้ว แต่บริษัทเล็กๆ นั้นจะมีปัญหาด้านการผลิต ส่วนผสมที่เป็นเคมี สารต้องห้าม คือผลิตลงทุน 5 – 10 ล้านบาทแค่นั้นเอง ได้กำไรเกือบ50ล้าน ควบคุมการโฆษณาเหมือน กสทช.และอย/สคบ. นั้น ผมมองว่ามันเป็นปลายเหตุ เพราะมันช้ากว่าจะประกาศยกเลิก กว่าจะดำเนินการอะไรต่างๆ นั้นคนขายรวยไปแล้ว และตอนนี้เขาไม่ได้ไปโฆษณาที่ไหนแล้วเขาขายตรงถึงมือเลย เอาไปทดลองใช้ชึ้งเกิดในหมู่วัยรุ่นวัยมัธยมแล้ว และเรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง ผมเคยขึ้นไปสอบ คณะกรรมการถามว่าจะเอาไปเป็นอาชญากรรมหรือ? ก็น่าคิดนะ เพรารัฐบาลสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็มองถึงความปลอดภัย   อย่างนี้คนจะไม่ว่าว่าเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินของบริษัทเล็กๆ เหรอไม่ใช่ คือมองว่าความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อนอันดับหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นว่ามันเป็นธุรกิจช่องทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มองถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค นานๆ ทีจะได้เห็นทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี   แล้วมีอีกช่องทางหนึ่งคือไม่ได้ผลิตแต่บอกว่านำเข้าจากเกาหลีมันคืออันนี้เลย มันไม่ได้เกาหลีมันคือที่นี่ ผลิตที่เมืองไทย เป็นฉลากปลอมและทุกวันนี้สินค้าที่บางคนบอกว่าเป็นสินค้าปลอดภาษีแต่นั่นคือของปลอม คือบ้านเรามีแบบผลิตเอง ทำเอง แบรนด์ตัวเอง แบบที่สองคือแบรนด์ต่างประเทศผลิตในเมืองไทยนี้แหล่ะแต่ปลอมมา แล้วทำเนียนด้วย เหมือนเลย รู้สึกว่าสินค้าที่ได้รับการปลอมมากที่สุดคือยี่ห้อชิเซโด้ มีการปลอมเยอะมาก ลูกศิษย์ผมก็เอามาขายผมยังซื้อไว้เลยซื้อให้แฟน แฟนบอกของปลอม คนที่เคยใช้เขาเปิดดูแล้วรู้เลย คือมันไม่ใช่สินค้าปลอดภาษีแต่นี่คือของปลอม แต่กลยุทธ์ทางการขายคือบอกว่ามันถูกเพราะ Duty Free แล้วคนที่ไม่เคยใช้ก็คิดว่ามันเป็นของแท้ ในมุมมองของนักกฎหมายคิดว่าผู้บริโภคไทยได้ใช้สิทธิ ได้ทำหน้าที่ของตนเองได้ดีพอหรือยัง การใช้สิทธิของตนเอง ในทุกเรื่องเลยนะผมว่าน้อย ยกตัวอย่างคดีข่มขืนกระทำชำเรานั้นมีการไปแจ้งความร้องทุกข์น้อยมาก ใน 1 ปีมีคดีแบบนี้เป็นพันแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ถึงหลักร้อย อย่าคดีคุ้มครองผู้บริโภคผู้ได้รับผลการกระทบสิทธิใช้สิทธิของตัวเองน้อยมาก การทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เจาะไปที่เรื่องเครื่องสำอางก็ได้ ณ ปัจจุบันนี้คือ สิทธิของเราถูกปกป้องน้อยมากและตัวคนที่เลือกซื้อเครื่องสำอางเองก็ตามมีความอับอาย ผู้ซื้อยอมเสี่ยงภัยเข้าไปซื้อเอง คือรู้ว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ยอมเพื่อความสวย ความงาม มันก็เลยเกิดความอับอาย   ยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมคดีอันเกิดจากเครื่องสำอางเอาเคสที่เป็นคดีเลยละกันนะ ผมขอเรียกว่าเคสคุณปัญญาได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอางลักษณะใบหน้าผุผัง ลอก ดำ ซึ้งผมได้ไปสัมภาษณ์และได้พูดคุยและให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งและก็ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจาก(อย)ในค่าใช้จ่ายเดินทางไปหาหมอ เกือบ 10 ปีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยังไม่ได้เงินเยียวยา ทุกวันนี้คดียังอยู่ในศาลฎีกาเกือบ10 ปียังไม่ได้รับเงินเยียวยา   อาจารย์คิดว่าอยากให้มีอะไรเพิ่มเติมในกฎหมาย พอประกาศใช้กฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่เราไปอิงในบทบัญญัติอาเซียนซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเขาก็ยังไม่มีทีท่าที่จะทำให้มันเป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ยกเว้นไทยและสิงคโปร์ และ ในอนาคตมีเรื่องพิจารณา 2 เรื่องคือการเยียวยาข้ามแดนและการเลือกซื้อเครื่องสำอางข้ามแดน เช่น เราซื้อเครื่องสำอางจากพม่ามาใช้แล้วเกิดความเสียหายก็เอาผิดกับใครไม่ได้ แต่ถ้าคนพม่ามาซื้อเรา เรามีความคิดว่าจะเยียวยาข้ามแดนให้เขาซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนกรณีนี้ก็มีการจัดสัมมนาและพูดคุยกันอยู่ในประเด็นนี้   อาจารย์มีอะไรที่จะฝากในช่วงท้าย ปัญหาเรื่องเครื่องสำอางจะถูกพูดถึงน้อยกว่าเรื่องอื่นๆอาจเป็นเพราะผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้นไม่ได้เกิดในทันทีทันใดแต่พอใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานไปนานๆๆนั้นจะกระทบต่อร่างกายเหมือนตายผ่อนส่ง ซึ่งคิดว่าควรเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นมากขึ้นเอาไปเป็นนโยบายเลย การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ส่วนผสม และกระบวนการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบหลังจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ ควรมีกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอาง และเน้นให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายเล็กๆๆให้มีประสิทธิภาพ การควบคุมและกำกับดูแลเครื่องสำอางในปัจจุบันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ถือว่าเป็นหลักประกันสิทธิผู้บริโภค อันนี้ส่วนราชการยังมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มาช่วยขับเคลื่อนสิทธิของผู้บริโภค เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค มาบูรณาการการทำงานร่วมงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและส่งเสริมเครื่องสำอางไทยให้มีคุณภาพและปลอดภัย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 อัลตราบุ้ค

ฉลาดซื้อฉบับส่งท้ายปีเก่าขอนำเสนอผลการทดสอบอัลตร้าบุ้ค ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้ เผื่อสมาชิกท่านใดเบื่อการหิ้วของหนักแต่ยังต้องการใช้งานแบบโน๊ตบุ้ค อัลตร้าบุ้คก็เป็นทางเลือกที่เข้าท่า เพียงแต่ราคามันอาจจะไม่เบานัก คราวนี้เรามีมานำเสนอ 16 รุ่น (ที่ได้คะแนนเกิน 50) จากค่าย Acer Apple Asus Dell Lenovo และ Toshiba ที่สนนราคาระหว่าง 7,690 ถึง 93,450 บาท ทีมทดสอบแบ่งการให้คะแนนจาก 100 คะแนนเต็มออกเป็น 7 ด้าน ดังนี้: แบตเตอรี่ (30 คะแนน) ประสิทธิภาพ (20 คะแนน) ความสะดวก (20 คะแนน) ความหลากหลายในการใช้งาน (10 คะแนน) จอภาพ (10 คะแนน) เสียง (5 คะแนน) และการประกอบ (5 คะแนน) รุ่นที่ได้คะแนนสูงที่สุดในการทดสอบรอบนี้ Apple Macbook Air ตามด้วย Toshiba Protege Z30 และ Toshiba Satellite Z30 รายละเอียดคะแนนในด้านต่างๆ และคะแนนของอีก 13 รุ่น ติดตามได้ในหน้าถัดไป                                      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 178 ประสิทธิภาพ “เครื่องดูดฝุ่น”

เครื่องดูดฝุ่น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวัน ช่วยให้การทำความสะอาดบ้านง่ายขึ้นเยอะ ทุ่นแรงทุ่นเวลา หลายบ้านอยากจะมีเจ้าเครื่องดูดฝุ่นไว้ใช้งาน แต่อาจยังติดเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง และอาจยังไม่มั่นใจว่าซื้อมาแล้วจะใช้งานได้คุ้มค่าหรือเปล่า แถมยังสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการดูดฝุ่นว่าจะดีจริงอย่างที่โฆษณาหรือเปล่า เพื่อไขข้อข้องใจให้กับคนที่กำลังมองหาเครื่องดูดฝุ่นไว้ใช้งานสักเครื่อง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้ พลังในการดูด ไปดูกันสิว่าเครื่องยี่ห้อไหน รุ่นอะไร คุ้นค่าน่าซื้อกันบ้าง การทดสอบครั้งนี้ทดสอบโดย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ตัวอย่างเครื่องดูดฝุ่นที่นำมาทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 9 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่น เป็นถุงผ้า จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Tefal รุ่น city space TW2422 AH ระบุกำลังไฟฟ้า 2000 วัตต์Philips รุ่น PowerLife FC 8451 ระบุกำลังไฟฟ้า 1900 วัตต์ Panasonic รุ่น MC-CG 331ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์ 2.กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็น ถังพลาสติก จำนวน 6 ตัวอย่าง ได้แก่Samsung รุ่น VCMA 18 AV ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Hitachi รุ่น CV-SH18 ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Sharp รุ่น EC-L518-V ระบุกำลังไฟฟ้า 1800 วัตต์Electrolux รุ่น MobiMAXX ZAR 3500 ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์Imaflex รุ่น VC-932 ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์ LG รุ่น VC 2316 NND.BORPETH ระบุกำลังไฟฟ้า 1600 วัตต์                                         ฉลาดซื้อแนะนำ• ก่อนซื้อควรพิจารณาว่า เครื่องดูดฝุ่นของเราสามารถดูดฝุ่นเก็บในปริมาณมากหรือน้อย ซึ่งสามารถดูจากปริมาตรของถุงและถังเก็บฝุ่น• อย่าลืมตรวจสอบอุปกรณ์เสริมสำหรับการใช้งานในที่แคบ บางยี่ห้อไม่มีอุปกรณ์เสริมสำหรับการดูดฝุ่นในที่แคบ • กำลังไฟฟ้าที่ระบุไว้ (จากการทดสอบนี้) อาจไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการดูดฝุ่น จะเห็นได้ว่า ในกรณีของกลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า เครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อ Philips ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1900 วัตต์ สามารถดูดผงทรายและผงเหล็ก ได้ดีกว่ายี่ห้อ Tefal ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 2000 วัตต์ ในกรณีของ กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถังพลาสติก เครื่องดูดฝุ่น ยี่ห้อ Imaflex ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1600 วัตต์ สามารถดูดผงทรายและผงเหล็ก ได้ดีกว่า ยี่ห้อ Hitachi ซึ่งระบุกำลังไฟฟ้าที่ 1800 วัตต์----------------------------------------------------- วิธีการทดสอบ1.ทดสอบ “ดูดผงเหล็ก” และ “ผงทราย” บนพื้นพรม และ ทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูน-นำผงเหล็กและผงทรายที่ชั่งน้ำหนักแล้วไปโรยบนพื้นพรม และพื้นปูน ปาดผงเหล็กและผงทรายเกลี่ยให้ทั่ว บนพื้นที่ทดสอบ ขนาด 3 เมตร x 3 เมตร -การทดสอบดูดผงเหล็กบนพื้นพรม เครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า ใช้ปริมาณผงเหล็ก 2.5 กิโลกรัม ส่วนเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงเหล็ก 5 กิโลกรัม-การทดสอบดูดผงทรายบนพื้นพรม เครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงผ้า ใช้ปริมาณผงทราย 1.5 กิโลกรัม ส่วนเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงทราย 3 กิโลกรัม-การทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูน ทั้งเครื่องดูดฝุ่น กลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุง และกลุ่มที่มีที่เก็บฝุ่นเป็นถุงพลาสติก ใช้ปริมาณของผงทราย 1.5 กิโลกรัม เท่ากัน-เปิดเครื่องดูดฝุ่นให้มีกำลังสูงสุด ดูดจนกระทั่งพื้นพรมและพื้นปูนสะอาด จับเวลา และวัดการใช้พลังงานด้วยเครื่องวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า ยี่ห้อ Voltcraft รุ่น Cost Control 3000 SET-ชั่งน้ำหนักของผงเหล็กและผงทราย ที่เครื่องดูดฝุ่นสามารถดูดกลับคืนมาได้ 2.ทดสอบความดังของเสียง-เปิดเครื่องดูดฝุ่นที่ระดับกำลังสูงสุด ทำการดูดผงทรายที่พื้นปูน เป็นเวลา 1 นาที-วัดระดับความดังของเสียง ด้วยเครื่องวัดความดังเสียง ยี่ห้อ ONO SOKKI รุ่น LA 4440 บันทึกค่าความดังสูงสุดที่วัดได้ 3.ประเมินความสามารถในการดูดฝุ่นในที่แคบการทดสอบนี้จึงใช้การประเมินความสามารถในการดูดในพื้นที่แคบ โดยดูจากขนาดของปากท่อและความยาวของหัวดูด ซึ่งขนาดของปากท่อที่ดูดขนาดเล็กจะมีความสามารถในการแทรกซอนลงไปในพื้นที่แคบได้ดีกว่า เกณฑ์การให้คะแนนการทดสอบ “ดูดผงเหล็ก” และ “ผงทราย” บนพื้นพรม และ ทดสอบดูดผงทรายบนพื้นปูนดีมาก : 3 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้ครบ)ดี : 2 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้เกินกว่า 90 %ของน้ำหนักทั้งหมด)ผ่าน : 1 คะแนน (สามารถดูดผงเหล็กกลับคืนได้น้อยกว่า 90 %ของน้ำหนักทั้งหมด) การทดสอบ การวัดความดังของเสียง ดีมาก : 3 คะแนน (ระดับเสียงน้อยกว่า 75 เดซิเบล)ดี : 2 คะแนน (ระดับเสียงระหว่าง 75-80 เดซิเบล)ผ่าน : 1 คะแนน (ระดับเสียงมากกว่า 80 เดซิเบล) การประเมินความสามารถในการดูดฝุ่นในที่แคบ ดีมาก : 3 คะแนน (สามารถใช้ดูดได้ในที่แคบและลึก)ดี : 2 คะแนน (สามารถใช้ดูดได้ในที่แคบ)ผ่าน : 1 คะแนน (ใช้ดูดได้ในที่แคบ)ไม่ผ่าน : 0 คะแนน (ใช้ในการดูดในที่แคบไม่ดี) กิตติกรรมประกาศเครือนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขอขอบคุณภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ให้ความอนุเคราะห์ การใช้เครื่องมือวัดระดับความดังของเสียงในการทดสอบการใช้งานเครื่องดูดฝุ่นครั้งนี้      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 178 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง 2

โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย พยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถทัวร์โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 1,784 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ------------------------------------------------------------------------------------------------ในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เฉลี่ย 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจากสถิติเฉลี่ยแล้ว พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 0.42 รายหรือครึ่งคน บาดเจ็บสาหัส 4 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความเสียหายมหาศาล รวมถึงปีละ 8,000 – 9,000 พันล้านบาทต่อปี   ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ 4 ภูมิภาคภาคเหนือ 609 ภาคใต้ 432 ภาคตะวันออก 263 ภาคอีสาน 480 อาชีพนักเรียน 23.9% รับจ้าง 16.6% พนักงานบริษัทเอกชน 13.9% ธุรกิจส่วนตัว 13.7% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10.3%เกษตรกร 8.5% แม่บ้านพ่อบ้าน 5.8% ว่างงาน 4.5%   ผลสำรวจโดยสรุป 1.ประชาชนยังนิยมใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การเดินทางทั้งไปทำธุระ กลับบ้านและไปเรียนหนังสือ โดยรถ ป.2 ชั้นเดียวได้รับความนิยมที่สุด และบริษัทรถร่วม บขส. ได้รับความนิยมพอๆ กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด2. เหตุผลที่ใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ คือ ความสะดวก ปลอดภัยและราคาถูก เรียงตามลำดับ มากไปน้อย 3.ความพึงพอใจทั้งเรื่องพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ และความสะดวก ความสะอาดของสถานีรถ อยู่ในค่าเฉลี่ยปานกลาง แต่ยังพบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินประมาณ 9.4%4.ภายในรถโดยสารส่วนใหญ่มีเข็มขัดนิรภัย(80% ตอบว่ามี) และประมาณ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทางรถโดยสารได้แจ้งข้อมูลให้กับผู้โดยสารทราบผ่านโทรทัศน์บนรถ แต่มีถึง 45 % ที่ไม่คาดเข็มขัดในขณะโดยสาร ด้วยเหตุผลว่า อึดอัดเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีเข็มขัดหรือเข็มขัดไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คิดว่าเดินทางแค่ระยะสั้นๆ รวมทั้งอายจึงไม่กล้าคาดเข็มขัด5.มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 23% ที่ทราบว่าถ้าไม่คาดเข็มขัดจะถูกปรับ 5000 บาท6.เกี่ยวกับอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถ ทั้งค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ส่วนใหญ่จะระบุว่ามี (68.6% ,71.6%) เรื่องประตูฉุกเฉิน 82.2 % สังเกตว่ามี ส่วนที่น่าสนใจคือ การแจ้งเรื่องการใช้อุปกรณ์มีครึ่งหนึ่ง คือ 53.4% ไม่พบว่ามีการให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ หรือ วิดีโอ 7.ความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร อยู่ที่ระดับปานกลาง คือ 46.7%   รายละเอียดการสำรวจ         เลือกรถโดยสาร อย่างไรให้ปลอดภัย 1. เลือกรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมาย เช่น ถ้าเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเป็นรถร่วมบริการที่ได้รับอนุญาต (มีตราหรือสัญลักษณ์ของ บ.ข.ส. หรือ ขสมก. ติดข้างรถ) หรือ รถโดยสารป้ายทะเบียนสีเหลืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น 2. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ‘รถเสริม’ ไม่ควรใช้บริการ รถทัวร์ผี รถตู้เถื่อน ที่มาวิ่งเสริมรับคนในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเด็ดขาด ซึ่งรถดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตรวจสภาพมาก่อน และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถผีรถเถื่อนแล้ว ผู้โดยสารจะไม่มีหลักประกันใดมารับรองความปลอดภัย อาจจะเจ็บตัวฟรีได้ 3. ผู้โดยสารควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ใช้บริการ เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุ4. เมื่อต้องเดินทางเกิน 300 กม. ไม่ควรเลือกเดินทางโดยรถตู้โดยสาร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้โดยสารให้บริการได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กม. เท่านั้น เพราะหากไกลกว่านั้นอาจจะทำให้พนักงานขับรถอ่อนเพลียจนเกิดอุบัติเหตุและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายด้วย 5. ถ้ามีผู้โดยสารอื่นขึ้นเต็มรถอยู่ก่อนแล้ว ไม่ควรฝืนขึ้นไปยืนหรือนั่งเบาะเสริม เพียงเพราะต้องการอยากให้ไปถึงที่ด้วยความรวดเร็วอย่างเดียว เพราะการบรรทุกผู้โดยสารเกินของรถโดยสารอาจจะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 6. ไม่ทนนั่งรถโดยสารอันตราย ผู้โดยสารควรสังเกตพฤติกรรมและอากัปกริยาของพนักงานขับรถ เช่น มีอาการง่วงซึม หรือมึนเมาจากสุรา สารเสพติดหรือไม่ หรือขับรถเร็วผิดปกติ ส่ายไปส่ายมา แซงซ้ายปาดขวา ไม่เคารพกฎจราจร หากพบเห็น ต้องไม่อายที่จะแจ้งเตือนพนักงานขับรถทันที หรือรีบแจ้งสายด่วน 1584 หรือ 191 หรือกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารกับตัวเอง ต้องทำยังไง1. ผู้โดยสารต้องตั้งสติให้ได้ก่อน2. เมื่อมีสติแล้ว ให้สำรวจดูสภาพร่างกายของตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ติดตัวมายังอยู่ครบหรือเปล่า 3. ถ้ามีสติ รู้สึกตัวดี และสำรวจสภาพร่างกายตนเองเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระเป๋าสตางค์ , โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แล้วพาร่างกายออกจากตัวรถโดยทันที 4. เมื่อออกมาพ้นตัวรถแล้ว ให้รีบโทรศัพท์ (ถ้ามี) แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193 5. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 4 เรียบร้อยแล้ว หากท่านยังพอมีแรงอยู่ ให้ท่านเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นที่บาดเจ็บเท่าที่พอจะช่วยได้ หากไม่สามารถทำได้ ให้บุคคลอื่นมาช่วยเหลือ 6. (ถ้ามีสติและทำได้) ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ถ่ายภาพตอนบาดเจ็บของตนเองและคนอื่นที่บาดเจ็บ ไว้เป็นหลักฐานด้วยโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย 7. เมื่อผู้โดยสารที่บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากบาดเจ็บไม่มากและรู้สึกตัวดี ผู้บาดเจ็บต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวนที่มาขอข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อเป็นหลักฐาน8. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ตามสิทธิ พ.ร.บ. รถ ของรถโดยสารคันที่โดยสารมา (ผู้โดยสารไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลที่รับการรักษาเป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากบริษัทประกันภัยเอง)9. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บต้องตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของรถโดยสารคันเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวน หรือตัวแทนของคู่กรณี (เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัย) ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้หรือไม่ ถ้าทำ ทำไว้กับบริษัทใด เพราะหากรถโดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้ ผู้โดยสารจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและเยียวยาความเสียหายเพิ่มเติมได้    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 178 ห้องหุ่น : การบริหารจัดการองค์กรในแบบผีๆ

คนเราโดยทั่วไปมักเชื่อว่า “ความเป็นจริง” ต้องเป็นสิ่งที่เราเห็น หรือจับต้องได้ด้วยสัมผัสของเราโดยตรง แต่ทว่า ยังมีวิธีอธิบายอีกแบบหนึ่งที่ว่า “ความเป็นจริง” ของมนุษย์ อาจมีบางอย่างมากไปกว่าแค่ที่เราสัมผัสจับต้องโดยตรงเท่านั้น ตามคำอธิบายข้อหลัง ความเป็นจริงอาจแบ่งได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “ความเป็นจริงเชิงวัตถุ” ที่เรารับรู้และจับต้องได้แบบเป็นรูปธรรม เช่น รู้เห็นได้ด้วยรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัส กับอีกประเภทหนึ่งคือ “ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่อยู่นอกเหนือสัมผัสทั้งห้า และเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือธรรมชาติซึ่งมนุษย์เราจะหยั่งรู้ได้ ทั้งความเป็นจริงเชิงวัตถุและความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณนี้ ต่างก็ดำเนินไปแบบคู่ขนานกันบ้าง หรือคู่ไขว้สลับซ้อนทับกันไปมาบ้าง เหมือนกับที่ตัวละครทั้งคนและผีที่หลากหลายได้มามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในพื้นที่ของ “ห้องหุ่น” ในทางหนึ่ง ในโลกของมนุษย์ ตัวละครอย่าง “สันติ” “อัมรา” “พรรณราย” “เดช” “อารีย์” และอีกหลายคน อาจจะมีชีวิตและวิถีปฏิบัติที่ขับเคลื่อนไปในความเป็นจริงเชิงวัตถุของเขาและเธอ แต่ในห้องหุ่นอันเป็นโลกที่เหนือกว่าสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ หุ่นที่มีดวงวิญญาณสถิตอยู่แต่ละตน ตั้งแต่หุ่นท่านเจ้าคุณ หุ่นชาวนา หุ่นนางรำ หุ่นนักดาบ หุ่นนักยิงธนู หุ่นนางพยาบาล และหุ่นเด็ก ต่างก็อาจมีแบบแผนการดำเนินชีวิตในความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณของตนไปอีกทางเช่นกัน   อย่างไรก็ดี จะมีบางเงื่อนไขหรือบางจังหวะเหมือนกัน ที่คนกับหุ่น (หรือกล่าวให้ชัดๆ ก็คือ ระหว่างมนุษย์กับผี) จะได้โคจรมาเจอกัน แบบเดียวกับที่ธีมของละคร “ห้องหุ่น” พยายามบอกคนดูว่า “คนดีผีย่อมคุ้ม” โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษหรือผีประจำตระกูลที่จะคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่มุ่งมั่นทำกรรมดี และเพราะความสัมพันธ์ของหุ่นแต่ละตนดำรงอยู่ในอีกโลกของจิตวิญญาณ เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปโดยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สมาชิกหุ่นที่อยู่ในห้องหุ่นของคฤหาสน์ตระกูล “สัตยาภา” จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้และใช้เทคนิคการออกแบบและบริหารจัดการองค์กรแบบหุ่นๆ ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูไม่แตกต่างจากเทคนิคการบริหารองค์การสมัยใหม่ในโลกของมนุษย์เท่าใดนัก เริ่มตั้งแต่องค์กรของหุ่นต้องเคลื่อนไปโดยมี “พันธกิจ” หรือ “mission” เป็นตัวกำหนดไว้อย่างชัดเจนแน่นอน เพราะฉะนั้น หากเป้าหมายของสมาชิกหุ่นต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวสัตยาภาให้แคล้วคลาดปลอดภัย หุ่นทั้งหลายก็ต้องอุทิศตนและทำทุกอย่างเพื่อขจัดตัวละครร้ายๆ อย่าง “พิไล” “เทิด” “ผอบ” “พงษ์” และ “หมอผีเวทย์” ให้หลุดออกไปจากวงจรชีวิตของบุตรหลานในครัวเรือน ภายใต้หลักการบริหารห้องหุ่นให้เกิดประสิทธิภาพ สมาชิกหุ่นได้ออกแบบองค์กรที่ต้องมีนโยบายการวางแผนอัตรากำลังคน การจัดวางลำดับชั้น และการสั่งการตามสายงานบังคับบัญชาที่ชัดเจน ในแง่นี้ เพื่อให้บรรลุพันธกิจในแต่ละวาระ “หุ่นท่านเจ้าคุณนรบดินทร์” ในฐานะประธานของโครงสร้างองค์กรหุ่น ได้เรียนรู้และเลือกใช้การวิเคราะห์สถานการณ์ของคู่ต่อสู้ ก่อนที่จะบัญชาการรบโดยเลือกวิธี “put the right หุ่น on the right job” และออกคำสั่งไล่เรียงตามสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นกันลงไป หุ่นเด็กอาจถูกส่งออกไปสู้รบปรบมือในลำดับแรกก่อน แต่เมื่อภารกิจเริ่มซับซ้อนและยากลำบากขึ้น หุ่นผู้ใหญ่ตนอื่นๆ ก็อาจจะได้รับมอบหมายให้ไปจัดการปัญหาต่างๆ แทน และเมื่อถึงภารกิจที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง ก็จะถึงลำดับของหุ่นท่านเจ้าคุณกับไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ของท่านที่จะไปจัดการให้กิจดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อมีโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนเช่นนี้ ห้องหุ่นจึงต้องมีระบบการคัดเลือกสมาชิกใหม่ โดยเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดรับสมัครสมาชิก จะตัดสินใจจากคุณธรรมความดี และดวงวิญญาณที่จะมาสถิตอยู่ในหุ่นประจำคฤหาสน์ได้ ต้องมีความมุ่งหมายร่วมในพันธกิจที่จะดูแลคุ้มครองบุตรหลานในตระกูลสัตยาภา เมื่อดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตใหม่ได้เข้ามาเยือนห้องหุ่น และผ่านการตรวจสอบ profiles และผ่านการสอบสัมภาษณ์โดยหุ่นท่านเจ้าคุณแล้ว ท่านเจ้าคุณก็จะประกาศว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องหุ่น” เป็นการเชิญให้ดวงวิญญาณนั้นๆ เข้ามาสถิตในหุ่นปั้นที่อยู่ ณ ห้องหุ่นได้ และร่วมภารกิจขับเคลื่อนองค์กรของห้องหุ่นให้ดำเนินต่อไป เหมือนกับวิญญาณอารีย์และเดชที่เมื่อเสียชีวิต ก็ได้เข้ามาร่วมภารกิจดูแลลูกหลานในบ้านนั่นเอง แต่หากระบบองค์กรตรวจสอบดวงวิญญาณใหม่และพบว่า คุณธรรมความดีไม่ผ่านตามเกณฑ์ พันธกิจไม่ได้ยึดถือร่วมกัน แถมดวงวิญญาณนั้นก็มีความอาฆาตมาดร้ายต่อสมาชิกครอบครัวสัตยาภาด้วยแล้ว องค์กรห้องหุ่นก็จะขับไล่ดวงวิญญาณนั้นออกจากบ้านไป เหมือนกับกรณีของวิญญาณผีดาวโป๊อย่าง “เพทาย” ที่ไม่ผ่านระบบ QC และถูกอัปเปหิออกไปเป็นสัมภเวสีอยู่นอกเรือน และที่สำคัญ เมื่อโลกความจริงของมนุษย์ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสารสนเทศ ที่ข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการตัดสินใจและการกระทำใดๆ ของผู้คน โลกเหนือธรรมชาติอย่างห้องหุ่นก็ผันตัวเข้าสู่สังคมสารสนเทศไม่ต่างกัน สมาชิกต่างๆ ในห้องหุ่น จะมีระบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น หากตัวละครผู้ร้ายเริ่มวางแผนจะเข้ามาทำร้ายลูกหลานในบ้านแล้ว หุ่นทั้งหลายก็จะใช้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมาออกแบบกลยุทธ์เพื่อจัดการกับภยันตรายเหล่านั้น เมื่อย้อนกลับไปสู่ทัศนะที่ว่า ความเป็นจริงรอบตัวเรามีสองโลกที่ดำเนินควบคู่กันไปแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ ตกลงแล้วการบริหารองค์กรในแบบผีกับแบบคนที่แทบจะดูไม่ต่างกันเลยเช่นนี้ เป็นคนที่เลียนแบบผี หรือเป็นผีที่เลียนแบบคนกันแน่ และในเวลาเดียวกัน แม้เมื่อตอนจบ เราจะเห็นภาพหลวงตามาสวดปลดปล่อยวิญญาณของผีหุ่นในห้องไปสู่สุคติโดยถ้วนหน้า แต่พลันที่ประตูของห้องหุ่นปิดลงอีกครั้ง ความเป็นจริงเชิงจิตวิญญาณให้ห้องหุ่นก็ดำเนินไปอีกคำรบหนึ่ง ซึ่งบอกเป็นนัยๆ กับเราว่า ระหว่างสองโลกแห่งความเป็นจริงทางกายภาพและความเป็นจริงทางจิตวิญญาณต่างไม่เคยแยกขาด หากแต่ดำรงอยู่คู่กันเช่นนี้เรื่อยมาและตลอดไป :) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point