ฉบับที่ 178 ต้มจืดหน่อไม้กับซี่โครงหมู

ทักทายในฉบับนี้ด้วยคำว่า “ต้มจืดหน่อไม้กับซี่โครงหมู” แค่นึกถึงชื่อนี้ทีไรผมเองก็เริ่มหิวขึ้นมาทันที ครับ เพราะชอบตั้งข้าวสวยใส่ถ้วย แล้วราดด้วยน้ำต้มจืดจนท่วม พูดอย่างนี้อาจจะมีบางท่านเริ่มหิวขึ้นมาเป็นแน่ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับหน่อไม้กันก่อนและความพิเศษที่ไม่ว่าจะนำไปปรุงอาหารเป็นเมนูอะไรก็มีรสชาติที่อร่อย(วงเล็บนิดหนึ่งครับสำหรับคนที่ชื่นชอบนะครับผม) หน่อไม้ ก็คือหน่ออ่อนของต้นไผ่ต่างๆ ที่แตกเหง้าใต้ดิน ซึ่งสามารถรับประทานได้ เราใช้ในภาษาอังกฤษว่า Bamboo Shoot ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ลำต้นแตกเป็นกอเป็นไม้พุ่มเล็กถึงขนาดใหญ่ กอหนึ่งมีประมาณ 20-25 ต้น พอ ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง ผิวเกลี้ยงแข็งมีสีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว ขนาดสีขึ้นอยู่กับพันธุ์และชนิด แต่ผมก็มั่นใจว่าหลายท่านรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีครับทำให้ นึกถึงบทเพลงตอนทำกิจกรรมเกี่ยวกับไผ่ “ ต้นไผ่นี้มีประโยชน์หลายเด้อ อย่าไปตัดมันทิ้ง หลายเด้อน้องนาง เฮ็ดอีหยังก็ได้ เฮ็ด............ ก็ได้ ( แคร่, รั้ว, ไม้คาน, เข่ง, ไม้, ตะเกียบ, ฝาบ้าน, บันได, ต้มจืด อื่นๆ อีกมากหลาย เติมลงไปในช่องว่างนะครับ ) แต่ที่เรานิยมนำมาปรุงอาหาร ก็เห็นจะมี ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่บงหวาน ไผ่ป่า ไผ่นวล ไผ่แนะ เท่าที่ผมทราบๆ มา ท่านใดทราบมากกว่านี้ก็ต้องขอรบกวนเขียนมาบอกกันนะครับ เพราะต้นไผ่เองมีทั้งที่นำมาเป็นไม้ประดับ ทำจักสาน และบริโภค   หน่อไม้มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน วิตามิน และที่สำคัญมีกรดอะมิโนที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้าจากอาหารประเภทต่างๆ นอกจากนั้นหน่อไม้ยังมีกากใยอาหารที่ช่วยให้ร่างกายนำกากและสารพิษออกสู่ภายนอกได้เร็ว โดยการดูดน้ำและเพิ่มปริมาตรให้ตัวกากให้มากขึ้น จนร่างกายต้องส่งออกฉับพลัน ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ช่วยย่อยอาหาร เพราะหน่อไม้เป็นอาหารที่ให้เส้นใยสูง แก้กระหาย ขับปัสสาวะ ละลายเสมหะ แก้ไอ บำรุงกำลังแก้อาการร้อนต่างๆ ได้ดี เพราะมีฤทธิ์เย็น ทั้งนี้หน่อไม้เมื่อผ่านการย่อยแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจากการรับประทานหน่อไม้ คือ ร่างกายก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนกากอาหารที่เหลือ หรือสารพิษต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนักต่างๆ หรือพวกไนไตรท์ ก็จะไปรวมกันที่ลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีกากใยอาหารมากๆ กากใยอาหารเหล่านี้จะช่วยดูดน้ำและเพิ่มปริมาณ ทำให้กากอาหารเหล่านี้ มีน้ำหนักมากจะเคลื่อนขบวนออกสู่โลกภายนอกได้เร็ว กากใยอาหารจึงช่วยลดการเกิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่หน่อไม้เองก็มีข้อควรระวังในการรับประทาน สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิดแล้ว แพทย์เองก็ไม่แนะนำให้ทานเหมือนกัน ผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์ ไม่ควรรับประทาน เพราะในหน่อไม้มีสารพิวรินสูง ซึ่งสารตัวนี้อาจจะทำให้กรดยูริกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ของทุกอย่างมี 2 ด้าน หน่อไม้ก็เหมือนกันครับ วันนี้ได้หน่อไม้มา 2 หน่อ ผลผลิตของที่บ้านผมเองในช่วงต้นฤดูหนาวอย่างนี้ การเตรียมหน่อไม้ สิ่งแรกคือเราเริ่มปอกเปลือกหุ้มด้านนอกออก จนเห็นเป็นสีขาวน่าทาน ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นหั่นสไลด์ ล้างน้ำเปล่า จากนั้นนำไปต้ม จนน้ำเดือด เมื่อหน่อไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แปลว่า เราได้หน่อไม้ตามที่เราต้องการ. สำหรับท่านที่ชอบรสชาติเฝื่อนๆ ขมๆ เล็กน้อย แต่สำหรับผมไม่ชอบเท่าไหร่ แนะนำให้ต้มกับน้ำเปล่าอีกครั้งครับ แถมมั่นใจด้วยว่าอร่อยนะครับและเจ้าไซยาไนด์ที่มีอยู่ในหน่อไม้ก็จะหมดไป ต้มจนน้ำเดือด จากนั้นเรานำหน่อไม้ที่ต้มแล้วเสร็จ ต้มน้ำเปล่าอีกครั้งจนเดือด ปรุงรสด้วยเกลือ ชีอิ๊วขาว ชิมตามรสที่เราชอบ ชอบหวานนิดแนะนำใส่น้ำตาลทรายสัก 1 ช้อนชานะครับ กระดูกซี่โครงอ่อนหมู ที่เราเตรียมไว้ล้างน้ำสะอาดให้เรียบร้อย ครั้งนี้ผมซื้อมาจากเขียงหมู 1 กิโลกรัม สนนราคา 90 บาท ตั้งใจว่ากระดูกเผื่อลูกน้องที่บ้านด้วย มีทั้ง 4 ขา และต้นกล้วยไม้อีกหลายกระถาง (เพราะในกระดูกมีแร่ธาตุน่าสนใจกับกล้วยไม้แน่ๆ เอาน้ำล้างหมูไปรดครับงาม) หั่นไว้เรียบร้อย โดยให้แม่ค้าใจดีหั่นพร้อมนะครับ ใส่ลงในขณะน้ำเดือด ลองสังเกตดูนะครับว่าในขณะนำซี่โครงหมู่ใส่ลงไปน้ำที่เดือดอยู่ น้ำเดือดก็จะเบาลง เรารอจนน้ำต้มเดือดอีกครั้ง ประหนึ่งว่าซี่โครงหมูเริ่มสุก ถ้ามีฟองจากการต้มเราก็ตักออกนะ เราก็จะเบาไฟอ่อนๆ อันนี้แหละครับเป็นเทคนิคเล็กๆ ที่ต้มจืดหม้อใหญ่ของเราจะดูน้ำใสเป็นตาตั๊กแตนน่าทานที่สุด ตั้งไว้สัก 45 นาที อย่าลืมทุบกระเทียม 20 กลีบใส่ลงไปด้วย หรือท่านใดชอบมากก็ใส่มากครับ อุ่นไปเรื่อยๆ จนกระดูกซี่โครงหมู หน่อไม้และน้ำซุปของเราเข้ากัน ชอบหมูเปื่อยมากๆ ก็อุ่นนานๆ ครับ อ้อ เนื่องจากว่าผมชอบกินมะระเป็นพิเศษ เลยจับมาหั่นใส่ลงไปด้วย แหม...เข้ากันดีมากๆ เสิร์ฟพร้อมโรยผักชี และพริกไทยทานกับข้าวสวย ผมว่ามื้อนี้เราก็อิ่มและอร่อยแน่ๆ ข้อมูลจาก http://www.ranthong.com/smf/index.php?topic=12949.0;wap2

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 พ.ร.บ. จัดการบุหรี่

ผู้เขียนชอบอ่านข่าวของสำนักข่าวอิศรา (ผ่านเข้าทางเว็บ kapook) เพราะเป็นข่าวที่ตรงไปตรงมา (น่าจะ) ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้นหลายครั้งจึงนำประเด็นด้านสุขภาพที่ถูกรายงานมาขยายความเพื่อเพิ่มความชัดเจนแก่ผู้อ่านในฉลาดซื้อมีหัวข้อข่าวหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกสนใจคือ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้จัดงานแถลงข่าว “ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คุ้มครองสุขภาพหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ”(ปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2558) โดยหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ด้วยกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประเด็นบกพร่องทางกฎหมายหลายประการ รวมทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงพาณิชย์และสิทธิเสรีภาพ จากนั้นอาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งร่วมในโครงการได้เพิ่มเติมว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน (ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ผลิตและขายบุหรี่) ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกลิดรอนเกินความจำเป็นเช่น การใช้มาตรการซองเรียบ (Plain Packaging) นั้นจำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพ เพราะปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีคำเตือนและภาพแสดงถึงโทษและคำเตือนไว้ 2 อย่าง คือ พื้นที่ด้านข้างร้อยละ 60 และด้านหน้าด้านหลังร้อยละ 85 จึงเห็นว่าพื้นที่เครื่องหมายการค้าอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ไม่มีความดึงดูดความสนใจต่อผู้บริโภค ไม่เป็นผลต่อการโฆษณา จึงเสนอให้ทบทวนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกข้อห้ามการแบ่งขาย (เป็นมวนของ) ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพราะแม้เป็นการสกัดกั้นการซื้อบุหรี่ให้ยากขึ้นของเยาวชน (ซึ่งน่าจะ) มีเงินน้อยจึงต้องใช้วิธีการแบ่งซื้อ แต่ผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่หรือด้านของผู้ที่มีรายได้น้อยกลับต้องถูกจำกัดให้ซื้อเป็นซองเท่านั้น จากการแถลงข่าวนี้ ทำให้อาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ต้องออกมายืนยันแก่สาธารณชนว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ได้จำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศว่า รัฐสามารถออกมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้ ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิที่ได้สัดส่วนจำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติ (ปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อเสาร์ที่ 27 มิถุนายน 2558) ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้จากจุฬาฯ กล่าวต่ออีกว่า อนุสัญญาควบคุมยาสูบนั้น องค์การอนามัยโลกระบุว่าบุหรี่เป็นสินค้าเสพติด มีสารพิษถึง 250 ชนิด และมีสารก่อมะเร็งถึง 70 ชนิด (ตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ดูรายละเอียดได้จาก Harms of Cigarette Smoking and Health Benefits of Quitting ที่ www.cancer.gov) ซึ่งทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้ติดบุหรี่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรปีละ 6 ล้านคน ซึ่งรวมถึงคนไทยปีละ 5 หมื่นกว่าคนที่ตายเร็วกว่าที่ควรเป็นถึง 12 ปี และก่อนตายต้องป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปี และผลาญเงินภาษีที่เก็บจากคนไทยทุกคนไปรักษาคนพวกนี้ 52,000 ล้านบาท โดยบริษัทบุหรี่มีกำไรในประเทศไทยเพียงปีละ 10,000 ล้านบาท ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่โรงแรมข้างทางรถไฟสายหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร (ข่าวปรากฏในเว็บสำนักข่าวอิศราเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม 2558) มีอาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยติดชายทะเลแห่งหนึ่ง ทำการวิจัยแล้วระบุเหตุผลที่ชาวไร่เลือกปลูกยาสูบว่า เพราะมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกันราคาและให้โควตา (?????) จึงทำให้ครอบครัวมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ในขณะที่มุมมองการทำวิจัยของอาจารย์ดังกล่าวเห็นว่า ใบยาสูบคือวิถีชีวิตช่วยสร้างรายได้ของครอบครัวเกษตรกร แต่ก็เป็นสิ่งทำร้ายสุขภาพคนอื่นและเป็นต้นกำเนิดอบายมุข ที่จริงผลกระทบต่อชาวไร่ในการทำไร่ยาสูบในทางตรงก็มีคือ การได้รับสารนิโคตินระหว่างเก็บเกี่ยวจนปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่ชาวไร่ยาสูบมักมองอาการเหล่านี้เป็นเรื่องจิ๊บ ๆ และมั่นใจว่าสุขภาพของตนเองยังแข็งแรงอยู่ (ได้ใช้เงินจากการทำบาปทางอ้อม) สำหรับมาตรการในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น ปรากฏว่าเกษตรกรร้อยละ 82 ยืนยันจะปลูกใบยาสูบต่อไป เพราะรัฐบาลยังส่งเสริมผ่านคำแนะนำและประกันราคา และเป็นไปได้ยากที่จะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ยกเว้นว่ามันจะสร้างรายได้เทียบเท่า อย่างไรก็ดียังมีข่าวดีปนเศร้าคือ มีสาเหตุที่ทำให้การปลูกยาสูบลดลง แต่ไม่ใช่มาจากการบังคับใช้กฎหมาย กลับมาจากการไร้ผู้สืบทอดอาชีพเพราะเกษตรกรเริ่มแก่และสุขภาพแย่ลง จึงเป็นแนวทางในการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกใบยาสูบได้ตามวิบากกรรม นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวได้มีข้าราชการจาก สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า รัฐกำลังสนใจส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นพืชทดแทนยาสูบ เพราะตลาดในปี 2569 น่าจะมีความต้องการอ้อยถึง 200 ล้านตัน โดยปัจจุบันเราผลิตได้เพียง 100 ตัน อย่างไรก็ดีไม่มีข่าวว่าชาวไร่สนใจหรือไม่ เมื่อเขียนมาถึงตอนนี้ผู้เขียนก็รู้สึกว่า ยาสูบมันค่อนข้างสำคัญต่อชีวิตของคนหลายคน (ที่ไม่ได้มีจริตในการดำรงชีพแบบผู้เขียน) ดังนั้นการสูบยามันน่าจะมีอะไรที่บ่งว่าเป็นประโยชน์บ้าง จากการใช้ Google ผู้เขียนได้พบบทความเรื่อง 5 Health Benefits of Smoking เขียนโดย Christopher Wanjek ใน www.livescience.com ซึ่งพยายามจับแพะชนแกะว่า การสูบบุหรี่นั้นน่าจะมีประโยชน์ดังนี้ การสูบบุหรี่ช่วยประหยัดเงินและลดความเสี่ยงในการต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า ซึ่งเป็นรายงานผลการวิจัยในวารสาร Arthritis & Rheumatism (ในข่าวไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์) โดยนักวิจัยแห่ง University of Adelaide ในออสเตรเลียรายงานว่า อาจเพราะคนที่สูบบุหรี่มักไม่ไปวิ่งออกกำลังกายจึงลดความเสี่ยงต่อการที่เข่าเกิดอันตราย และเพราะคนติดบุหรี่มักมีน้ำหนักต่ำ (จะอธิบายต่อไปว่าทำไม) ปัญหาเข่ารับน้ำหนักร่างกายเกินจำเป็นจึงไม่มี การสูบบุหรี่น่าจะลดความเสี่ยงต่อโรค Parkinson's disease (กลุ่มอาการมือสั่นและเคลื่อนไหวลำบาก อาจเพราะสมองไม่สามารถสร้างสารโดปามีนได้พอ) โดยในปี 2007 นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Neurology ว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีอาการนี้ต่ำกว่าคนไม่สูบ และผลนี้จะน้อยลงถ้าหยุดสูบบุหรี่ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ทำวิจัยได้สารภาพว่า ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ เพราะไม่ปรากฏว่านักสูบได้ตายเร็วกว่าคนปรกติ (ทั้งที่มันน่าจะใช่) จนไม่เกิดอาการนี้ นอกจากนี้ในปี 2010 วารสารเล่มเดียวกันก็ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่แสดงว่า คนที่ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าใดและ (ซ้ำร้ายกว่านั้น) จำนวนการสูบต่อวันยิ่งมากมวนเท่าไร โอกาสมีอาการนี้ยิ่งน้อยลงเท่านั้น การสูบบุหรี่ทำให้ไม่อ้วน เพราะนิโคตินในควันบุหรี่ลดความอยากอาหาร ดังนั้นจึงมักพบว่า ใครก็ตามที่อดบุหรี่ได้มักมีน้ำหนักเพิ่ม อาจเพราะกินอาหารอร่อยขึ้น ดังนั้นตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมาบริษัทค้าบุหรี่จึงมุ่งที่จะจัดการกับสตรีที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยหลักการดังกล่าว ซึ่งก็ดูเหมือนว่าประสบความสำเร็จด้วยดี นอกจากนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลแห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวในบทความที่ลงพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2011 ว่า จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า การสูบบุหรี่ลดความอยากอาหารโดยไปมีผลต่อการทำงานของฮิบโปแคมปัสของสมอง อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่คิดว่าจะมีแพทย์ท่านใดไร้สติพอที่จะใช้หลักการนี้ในการรักษาคนไข้น้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการตายด้วยอาการหัวใจวาย เพราะคนไข้ที่สูบบุหรี่มักตายยาก (เหมือนมัจจุราชไม่ประสงค์) และเมื่อทำบอลลูนถ่างเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจก็ทำง่ายกว่า โดยมีคำอธิบายที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับนักคือ คนสูบบุหรี่มักเกิดอาการหัวใจวายในวัยหนุ่มเร็วกว่าคนทั่วไปถึง 10 ปี ระบบต่างๆ จึงยังพอแข็งแรงทำให้ง่ายต่อการช่วยชีวิต การสูบบุหรี่ทำให้ยาลดการอุดตันในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจชื่อ clopidogrel ทำงานดีขึ้น ข้อสรุปนี้ได้จาการทำวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ตีพิมพ์ในวารสาร Thrombosis Research เมื่อเดือนสิงหาคม 2005) ข่าวนี้ไม่น่าประหลาดใจนักเพราะสารพิษในควันบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นสารกระตุ้นการทำงานของระบบเอนไซม์ที่กระตุ้นยาชนิดนี้ (จากโครงสร้างโมเลกุลที่ยังไม่ทำงานให้ทำงาน)ได้ดีขึ้นกว่าในคนไม่สูบบุหรี่ เหมือนสารพิษจากอาหารปิ้งย่างรมควันในปริมาณน้อย ๆ ก็กระตุ้นให้ระบบเอนไซม์ทำลายสารพิษในตับทำงานดีขึ้นได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 178 เหลี่ยมไฟแนนซ์

“เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนาในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่ผู้บริโภคไทยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้บริหารประเทศไทย ไม่เคยสนใจคนไทยด้วยกัน “ต้องรอให้ต่างชาติมาให้ใบแดงใบเหลือง” ถึงจะหูตาเหลือกลุกขึ้นมาแก้ไข แต่ถ้าเป็นความเดือดร้อนของคนไทยก้นไม่ร้อน “รอไปก่อนนะ” ชี้กันชัดๆ ดังเรื่องต่อไปนี้ วินัย(นามสมมุติ) มาหารือว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว เขาได้ตัดสินใจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มา 1 คัน โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละ 2,350 บาท เป็นเวลา 24 เดือน วินัยเล่าต่อว่าเขาผ่อนตรงตามสัญญา มาแล้ว 6 งวด(เหลือ 18 งวด) อยู่ๆ ก็ได้รับหนังสือจากไฟแนนซ์ ที่เขาผ่อนรถอยู่ เปิดอ่านก็พบว่า ทางบริษัทเสนอโปรโมชั่นใหม่ ให้กับเขา โดยมีข้อความสำคัญที่เสนอมา คือชื่นชมที่เขาผ่อนตรงตามสัญญา บริษัทเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระในการชำระค่างวดลงบ้างในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี บริษัทยินดีเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเป็นการลดภาระในการจ่ายค่างวดของผู้เช่าซื้อดังกล่าวลง จากเดิมที่เคยจ่ายเดือนละ 2,350 บาท ปรับลดลงเป็นเดือนละ 2,069 บาท โดยเงื่อนไขใหม่ระบุชัดเจนว่าผ่อนงวดละ 2,060 บาท โดยผ่อนต่อจากสัญญาเช่าซื้อเดิมที่ชำระไว้แล้วต่อไปอีก 27 งวด วินัยบอกอีกว่า ถ้าดูเผินๆ ก็จะมองได้ว่า เป็นความปรารถนาดีของบริษัทที่มีต่อลูกค้าชั้นดีอย่างเขา แต่เท่าที่อ่านและวิเคราะห์โปรโมชั่นนี้ แยกแยะเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทไฟแนนซ์ได้ดังนี้   1. โปรโมชั่นนี้จะเลือกเฉพาะลูกค้าที่จ่ายค่างวดตรงเวลา ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายแน่นอน 2. โปรโมชั่นนี้ เป็นลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ผ่อนชำระเข้าใจได้ว่า ตนเองจะจ่ายเงินน้อยลง 3. โปรโมชั่นนี้ เสนอมาอย่างหว่านแห หากผู้เช่าซื้อไม่เท่าทันก็จะกลายเป็นเหยื่อทันที เพราะผลจริงๆ หลังจาก บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าข้อเสนอนั้นไม่ใช่ความหวังดี แต่เป็นข้อเสนอแบบ”ลับ ลวง พราง” เป็นเล่ห์เหลี่ยมของบริษัท เพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้เช่าซื้อ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดูง่ายๆ คือเอายอดที่ต้องผ่อนเดิมเดือนละ 2,350 บาท มาคูณค่างวดที่เหลืออีก 18 เดือน เขาจะจ่ายเงินอีกเพียง 42,300 บาท แล้วก็ลองเอาตัวเลขที่บริษัทเสนอมาให้ผ่อนเดือนละ 2,069 บาท มาคูณ 27 เดือน ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 55,863 บาท ซึ่งมีส่วนต่างที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถึง 13,563 บาท เห็นชัดๆ ว่าหากผู้เช่าซื้อหลงเชื่อ ทำตามข้อเสนอของบริษัท ผู้เช่าซื้อเป็นเพียงเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์คือบริษัท เรื่องนี้เป็นแค่ประเด็นตัวอย่าง ที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ของประเทศไทย “อ่อนแอ ไร้การควบคุม” จริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 แฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) เรื่องที่มักเข้าใจผิด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีการพูดกล่าวถึงเรื่องแฟร์เทรด หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การค้าที่เป็นธรรม” กันมากขึ้น แม้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แฟร์เทรดเป็นเรื่องที่ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจ ในการเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมานานพอควร โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  “ฉลาดซื้อ” เล่มนี้จึงมีบทความพิเศษสำหรับผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มักจะเข้าใจผิด และการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยใครทำธุรกิจแฟร์เทรด    ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มักจะมีความคิดและความเชื่อของตัวเองว่า อะไรคือการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรม  หลายคนมักจะบอกว่า ธุรกิจของฉัน หรือธุรกิจนี้นั้นเป็นแฟร์เทรด  บางคนบอกว่า แฟร์เทรดต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต บางคนบอกว่า ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค บางคนบอกว่า ทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน และบางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่ต้องเป็นธรรมกับธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมหรือ  ก่อนที่จะพูดถึงหลักการของแฟร์เทรด ลองมาพิจารณากันดูก่อนว่า ธุรกิจข้างล่างนี้ ท่านคิดว่า ธุรกิจใดน่าจะเข้าข่ายธุรกิจแฟร์เทรดกันบ้าง1) บริษัท ก. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดเท่าตัว แต่ซื้อตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งประมาณเท่ากับ 5% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร2) บริษัท ข. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด 5% แต่ซื้อผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร3) สามีภรรยาที่เป็นคนเมืองตัดสินใจผันตัวไปเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท มีการจ้างงานชาวบ้านจากชุมชนรอบฟาร์ม โดยจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน และขายผักออร์แกนิคที่ปลูกได้โดยตรงให้กับผู้บริโภคในเมือง4) บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าอุปโภคทั่วไป ซื้อข้าวสารออร์แกนิค ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกร เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับลูกจ้างในโรงงาน/บริษัท ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับลูกจ้าง5) สหกรณ์การเกษตร ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก ที่ปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป/อาหารปลอดภัย โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร แล้วนำมาสีที่โรงสีของตัวเอง หรือไปจ้างโรงสีเอกชนให้สีข้าวให้ แล้วขายผลผลิตให้กับห้างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยบางส่วนขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 6) บริษัทธุรกิจการเกษตร ที่ทำสัญญาการผลิตและซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าราคาทั่วไปในท้องตลาด     เมื่องลองอ่านหลักการแฟร์เทรดข้างล่างนี้ดู แล้วกลับไปทบทวนดูใหม่ว่า ธุรกิจแบบใดบ้างที่เป็นธุรกิจแฟร์เทรดจริงหลักการแฟร์เทรด1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ     องค์กรมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้ผลิตด้วยการทำการค้า  องค์กรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือสหกรณ์  องค์กรพยายามที่จะยกระดับผู้ผลิตที่ยากจนและขาดความมั่นคงทางรายได้ให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม  องค์กรมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น     2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน     องค์กรมีการบริหารจัดการและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งความเคารพต่อความอ่อนไหวและความลับของข้อมูลทางการค้า     องค์กรมีแนวทางที่เหมาะสมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน สมาชิก และผู้ผลิต ในกระบวนการตัดสินใจ  องค์กรสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งมีช่องทางการสื่อสารที่ดีและเปิดเผยในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม     เป้าประสงค์ คือ องค์กรทำการค้าโดยให้ความใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ และไม่แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ความมุ่งมั่นทางการค้า     เป็นความรับผิดชอบและความเป็นมืออาชีพขององค์กรในการที่จะดำเนินการปฏิบัติให้ตามความมุ่งมั่นขององค์กรโดยไม่ชักช้า  ซัพพลายเออร์เคารพข้อตกลงและส่งมอบสินค้าตรงเวลา มีคุณภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้า     ผู้ซื้อแฟร์เทรดตระหนักถึงข้อเสียเปรียบทางการเงินของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และพยายามในการชำระเงินเมื่อได้รับเอกสารการค้า  สำหรับสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยไม่คิดดอกเบี้ย ถ้าได้รับการร้องขอ  ส่วนสินค้าอาหารแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยคิดดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ถ้าได้รับการร้องขอ อัตราดอกเบี้ยที่ซัพพลายเออร์จ่ายจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าที่ผู้ซื้อกู้ยืมจากบุคคลที่สาม การคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นข้อกำหนด    ถ้าซัพพลายเออร์แฟร์เทรดในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการจ่ายเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ องค์กรจะต้องนำเงินดังกล่าวไปจ่ายต่อให้กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแฟร์เทรด การยกเลิกการสั่งซื้อและการจัดการเมื่อเกิดปัญหา     ผู้ซื้อจะปรึกษากับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือปฏิเสธการสั่งซื้อ  ถ้ามีการยกเลิกการสั่งซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือของซัพพลายเออร์ จะมีต้องการชดเชยให้กับการทำงานของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เช่นกัน ซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะปรึกษากับผู้ซื้อ ถ้ามีปัญหาในการจัดส่งสินค้า และจะทำการชดเชยให้ เมื่อสินค้าที่ส่งมอบมีปริมาณหรือคุณภาพที่ไม่ต้องกันกับที่เรียกเก็บเงิน คู่ค้าระยะยาว     องค์กรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า โดยความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความสามัคคี เชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและการขยายตัวของการค้าที่เป็นธรรม  องค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลกับคู่ค้า  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างก็พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งมูลค่า และความหลากหลายของสินค้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้การค้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตขยายตัว ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต การแข่งขันอย่างเป็นธรรม     องค์กรทำงานโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรแฟร์เทรดอื่นในประเทศและหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม  องค์กรหลีกเลี่ยงการก๊อปปี้แบบลวดลายขององค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเคารพหัตถฝีมือท้องถิ่น     แฟร์เทรดตระหนัก ส่งเสริม และคุ้มครองเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหัตถฝีมือท้องถิ่นของผู้ผลิตรายย่อย ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบสินค้าหัตถกรรม อาหาร และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 4. ให้ราคาที่เป็นธรรมราคาที่เป็นธรรม     ราคาที่เป็นธรรมคือ ราคาที่ได้มีการตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย ผ่านการพูดคุยปรึกษาและการมีส่วนร่วม ซึ่งราคานี้ทำให้ผู้ผลิตมีรายรับอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  ในกรณีที่มีการกำหนดโครงสร้างราคาแฟร์เทรดไว้อยู่แล้ว ให้ใช้ราคาดังกล่าวเป็นฐานราคาขั้นต่ำ รายรับที่เป็นธรรม (fair pay)     รายรับที่เป็นธรรมหมายถึง รายได้ที่ผู้ผลิตยอมรับได้ว่า มีความเป็นธรรมในทางสังคม (ภายใต้บริบทท้องถิ่น) และได้คำนึงถึงหลักการในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย พัฒนาความสามารถในการกำหนดราคา     องค์กรแฟร์เทรดที่ทำหน้าที่การตลาดและผู้นำเข้าจะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถให้กับผู้ผลิตตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ 5. ต้องมั่นใจว่า ไม่มีแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก     องค์กรเคารพต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  การมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตสินค้าแฟร์เทรด (รวมทั้งการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน) ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องไม่มีผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย การศึกษาภาคบังคับ และการสันทนาการของเด็ก แรงงานบังคับ     องค์กรต้องมีหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในหมู่ลูกจ้าง และ/หรือองค์กรแฟร์เทรด หรือคนงานที่ทำงานอยู่กับบ้าน (home workers)  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในการผลิตสินค้าที่ได้จัดซื้อมา 6. ความมุ่งมั่นในการไม่เลือกปฎิบัติ, ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) และเสรีภาพในการรวมตัว  ไม่เลือกปฏิบัติ     องค์กรไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การฝึกอบรม การก้าวหน้าทางตำแหน่ง การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ เพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ วรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความนิยมทางเพศ สมาชิกของสหภาพแรงงาน สมาชิกทางการเมือง การติดเชื้อเอดส์ หรืออายุ ความเท่าเทียมทางเพศ     องค์กรจะให้โอกาสผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้หญิงได้สมัครงานในตำแหน่งที่ว่าง และการได้รับตำแหน่งผู้นำในองค์กร  องค์กรจะใส่ใจถึงความจำเป็นทางสุขภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร  ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ค่าจ้างที่เท่าเทียม     องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตจะต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเสมอ และในกรณีที่ผู้หญิงทำงานแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน   และในกรณีที่สภาพการผลิตที่งานของผู้หญิงถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าการทำงานของผู้ชาย องค์กรพยายามที่จะมีการประเมินงานของผู้หญิงใหม่และปรับค่าตอบแทนให้มีอัตราเท่าเทียมกับของผู้ชาย  รวมทั้งผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานตามศักยภาพของตัวเอง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม     องค์กรเคารพสิทธิของลูกจ้างทุกคนในการที่จะรวมตัวและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่ลูกจ้างเลือก เพื่อที่จะมีการต่อรองร่วมกัน  ในกรณีที่สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการต่อรองถูกจำกัดโดยกฎหมาย และ/หรือ สภาพการณ์ทางการเมือง องค์กรจะเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มอย่างเสรีและเป็นอิสระ รวมทั้งการต่อรองกับนายจ้าง  องค์กรสร้างหลักประกันว่า ตัวแทนของลูกจ้างจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน     องค์กรจะจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับลูกจ้างและ/หรือสมาชิก  องค์กรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย เงื่อนไขและชั่วโมงการทำงาน     ชั่งโมงการทำงานและสภาพเงื่อนไขของการทำงานของลูกจ้างและ/หรือสมาชิก (รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติ สภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้ผลิต     องค์กรแฟร์เทรดตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่องค์กรซื้อสินค้า  องค์กรพยายามที่จะยกระดับความรับรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะกับกลุ่มผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มผู้ผลิตที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 8. พัฒนาศักยภาพ     องค์กรพยายามที่จะทำให้เกิดผลกระทบในการพัฒนาด้านบวกต่อผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบโดยการทำการค้าที่เป็นธรรม     องค์กรจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของลูกจ้างและสมาชิก  องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตรายย่อยมีกิจกรรมการพัฒนาเฉพาะสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงทักษะในด้านการบริหาร ศักยภาพในการผลิต และการเข้าถึงตลาด ทั้งตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค ระหว่างประเทศ ตลาดแฟร์เทรด และตลาดทั่วไป ตามความเหมาะสม 9. เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม     องค์กรยกระดับความรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับเป้าหมายของแฟร์เทรดและความจำเป็นในการทำให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น  องค์กรผลักดันเป้าหมายและกิจกรรมแฟร์เทรดตามขอบเขตกำลังขององค์กร     องค์กรให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับองค์กรเอง สินค้าที่จำหน่าย และองค์กรผู้ผลิตหรือสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น     การประชาสัมพันธ์และเทคนิคด้านการตลาดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ 10. สิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน     องค์กรที่ผลิตผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดจะพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด และพยายามเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้ เทคนิคการผลิต     องค์กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด จัดการกับขยะ     องค์กรพยายามลดผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด  ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นแฟร์เทรดจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ นโยบายการจัดซื้อ     ผู้ซื้อและผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดให้ความสำคัญก่อนกับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมต่ำสุด บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง     องค์กรทั้งหมดพยายามเท่าที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้ และการขนส่งสินค้าทางทะเล    เชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ ในครั้งแรกก่อนที่จะได้อ่านหลักการ จะคิดว่า ทั้ง 6 กรณีเป็นแฟร์เทรด แต่เมื่อได้อ่านหลักการโดยละเอียด ก็จะเริ่มสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่ หรือมีข้อมูลไม่พอที่จะบอกว่า ใช่ธุรกิจแฟร์เทรดหรือไม่  จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น คือ การด่วนสรุปเร็วๆ ว่า ธุรกิจขององค์กรผู้ผลิตเป็นแฟร์เทรด หรือธุรกิจการค้ากับเกษตรกรรายย่อยเป็นแฟร์เทรด หรือการรับซื้อสินค้าการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาดเป็นแฟร์เทรด (เช่น ในกรณีของการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้) ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะมีองค์ประกอบหลายประการที่ต้องพิจารณาว่า โดยภาพรวมธุรกิจการค้าใดบ้างที่เป็นแฟร์เทรดจริงๆแฟร์เทรดในต่างประเทศ แฟร์เทรดในประเทศไทย     ถ้าจะนับต้นกำเนิดจริงๆ ของการค้าที่เป็นธรรม สามารถนับย้อนหลังไปได้กว่า 180 ปีก่อน ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ที่มีกลุ่มคนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อสู้กับระบบทาส โดยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้ทาส (เช่น ฝ้าย น้ำตาล)  แต่ระบบแฟร์เทรดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มต้นประมาณเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโดยคนหนุ่มสาว (ในสมัยนั้น) กลุ่มเล็กๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มุ่งหวังที่อยากจะเห็นระบบการค้า/ตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ไม่แสวงหากำไร ต่อต้านระบบทุนนิยม และแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม  คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้สละเวลามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับร้านค้าทางเลือกที่พวกเขาร่วมกับจัดตั้งขึ้นในชุมชน/เมืองของตัวเอง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการค้าเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยในประเทศโลกที่สาม (ประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา) ที่นำสินค้าดังกล่าวไปขายในช่องทางตลาดพิเศษในประเทศพัฒนาแล้ว และเริ่มมีการจัดทำระบบการตรวจรับรองแฟร์เทรดขึ้นในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530     ในปัจจุบัน มีตลาดสินค้าแฟร์เทรดใน 125 ประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,900 ล้านยูโร (ประมาณ 236,288 ล้านบาท) โดยตลาดแฟร์เทรดใหญ่มักจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เริ่มตลาดแฟร์เทรดเริ่มขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา และอินเดีย     สำหรับแฟร์เทรดในประเทศไทยนั้นถือกำเนิดมานานหลายสิบปีเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ    กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว    กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 - 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้    ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้    เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม" ขึ้นในเดือนกันยายน 2550 และต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายไทยแฟร์เทรด”    เนื่องยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของกรีนเนท เชื่อว่า มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกือบ 100 องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำธุรกิจแฟร์เทรด ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหาร ซึ่งน่าจะมีผู้ผลิตรายย่อย (เกษตรกรและช่างฝีมือหัตถกรรม) ที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดนับหมื่นครอบครัว  สินค้าแฟร์เทรดของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป  ส่วนในประเทศไทยเอง เนื่องจากผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวเรื่องแฟร์เทรดน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบว่า มีการทำตลาดแฟร์เทรดในประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการแฟร์เทรดที่ส่งออกเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดเหล่านั้นในตลาดในประเทศไทยด้วยก็ตามแล้วผู้บริโภคไทยควรจะทำอย่างไร    ในปัจจุบันทราบกันดีว่า พลังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ (และเลือกบริโภค) มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในการผลิตและการค้า  การเลือกบริโภคอาหารออร์แกนิค/เกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีการเกษตร มาเป็นระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกบริโภคอาหารทะเลจากการประมงอย่างรับผิดชอบทำให้ธุรกิจประมงต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลาทูน่า โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น  ส่วนตลาดแฟร์เทรดนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคสามารถแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการสนับสนุนแฟร์เทรด ก็คือ การเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด    แต่สินค้าแฟร์เทรดโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่แฟร์เทรด เพราะการทำธุรกิจแฟร์เทรดมีต้นทุนที่สูงกว่า  สำหรับผู้บริโภคบางคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสนับสนุนธุรกิจการค้าแฟร์เทรด แต่สำหรับผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่มีความพร้อม การเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบเกษตรกร หรือทำลายสิ่งแวดล้อม) ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงพลังผู้บริโภค    รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายและนโยบายทางการเงินและภาษี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและแฟร์เทรด ซึ่งอาจช่วยทำให้สินค้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 Smart watch

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสมาร์ตวอตช์ ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขนาดจิ๋วที่ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้•    แจ้งการรับข้อมูล ในกรณีที่มี SMS อีเมล และข้อความข่าวสารที่ส่งเข้า•    แจ้งเตือนหมายนัดต่างๆ•    โทรศัพท์ •    เก็บข้อมูลจากกิจกรรมการเล่นกีฬาเช่น จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน และตีกอล์ฟ•    เป็น navigator บอกทิศทางในการเดินทาง ตั้งแต่เดือน เมษายน- มิถุนายน 2015 มูลนิธิทดสอบสินค้าแห่งเยอรมนี (Stiftung Warentest) ได้ทำการทดสอบ สมาร์ตวอตช์ จำนวน 12 ยี่ห้อ ได้แก่1. Apple watch 42 mm,2. Apple sport watch 42 mm, 3. LG G watch R, 4. LG Watch Urbane, 5. Samsung Gear S, 6. Sony Smart Watch 3, 7. Asus ZemWatch, 8. Pebbele Time9. Pebbel Steel, 10. Motorola Moto 360, 11. Garmin Vivoactive, 12. Alcatel Onetouch Watch ผลการทดสอบไม่มียี่ห้อไหนได้คะแนน ดีมาก ยี่ห้อที่ได้คะแนนพอใช้ ได้แก่ 1. Apple watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.6)* 2. Apple sport watch 42 mm (คะแนนเฉลี่ย 2.7) 3. LG G watch R (คะแนนเฉลี่ย 3.0) 4. LG Watch Urbane (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 5. Samsung Gear S (คะแนนเฉลี่ย 3.2) 6. Sony Smart Watch 3 (คะแนนเฉลี่ย 3.3) 7. Asus ZemWatch (คะแนนเฉลี่ย 3.5) 8. Pebbele Time (คะแนนเฉลี่ย 3.5)ยี่ห้อที่ได้คะแนนเพียงแค่ผ่านได้แก่ 9. Pebbel Steel (คะแนนเฉลี่ย 3.6) , 10. Motorola Moto 360 (คะแนนเฉลี่ย 3.7), 11. Garmin Vivoactive (คะแนนเฉลี่ย 4.3)ยี่ห้อที่ได้คะแนน ไม่ผ่าน ได้แก่ 12. Alcatel Onetouch Watch (คะแนนเฉลี่ย 4.8) ในโปรแกรมการทดสอบ หน่วยงานที่ทดสอบให้ความสำคัญกับเรื่อง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล กรณีสมาร์ตวอตช์ ยี่ห้อ Alcatel Onetouch Watch และ ยี่ห้อ Garmin Vivoactive นาฬิกาได้ส่งข้อมูลอัตโนมัติโดยที่ไม่มีการใส่รหัสป้องกันความลับของข้อมูล ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้งานสามารถถูกดักจับและนำไปทำ user profile ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายเยอรมันหวังว่าข้อมูลผลการทดสอบเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกฉลาดซื้อได้บ้างพอสมควร*หมายเหตุ หลักการคิดเกรดการคะแนนตามแนวทางของคนเยอรมันนั้น มีลักษณะ ตัวเลขน้อยคือ เกรดดี ตัวเลขมากคือ เกรดแย่ ดังนี้เกรด 1 หมายถึง ดีมาก (เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 1.6 ขึ้นไป)เกรด 2 หมายถึง ดี (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 1.7- 2.6)เกรด 3 หมายถึง พอใช้ (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.7- 3.6)เกรด 4 หมายถึง ผ่าน (เกรดเฉลี่ยระหว่าง 3.7-4.6)เกรด 5 หมายถึง ไม่ผ่าน (เกรดเฉลี่ย มากกว่า 4.7 ลงไป)(ที่มา วารสาร Test 8/2015)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 บัตรเครดิต บัตรเดบิต ความเหมือนที่แตกต่าง

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคุ้นเคยกัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะต้องมีบัตรเครดิต(Credit) หรือบัตรเดบิต(Debit) พกติดกระเป๋าสตางค์อยู่อย่างน้อยคนละหนึ่งใบ     ดูเผิน ๆ บัตรทั้ง 2 แบบนี้ก็หน้าตาคล้ายกัน ใช้รูดซื้อของหรือกดเงินสดได้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีพื้นฐานต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าหนี้ – ลูกหนี้    เวลาที่คุณใช้บัตรเครดิตรูดซื้อเสื้อผ้าหรือเติมน้ำมันนั้น หมายความว่าคุณได้ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตให้ช่วยสำรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ให้ร้านค้าที่ใช้บริการไปก่อน แล้วเมื่อถึงกำหนดเวลาคุณจะเอาเงินไปจ่ายคืนในทางกฎหมายคุณจึงมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ดังนั้น แม้ว่าจะไม่มีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร แต่คุณก็สามารถใช้บัตรเครดิตซื้อของได้ในวงเงินที่เจ้าหนี้ประเมินแล้วว่าคุณจะสามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้     ส่วนการใช้บัตรเดบิตนั้นจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ คุณต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเจ้าของบัตร เมื่อใช้บัตรเดบิตชำระค่าสินค้านั่นก็คือ คุณกำลังสั่งให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีของคุณไปให้กับร้านค้าที่คุณใช้บริการ ซึ่งถ้าเงินในบัญชีมีน้อยกว่าราคาของที่จะซื้อ คุณก็ไม่สามารถใช้บัตรเดบิตทำรายการนั้นได้ การใช้บัตรเดบิตจึงไม่เป็นการก่อหนี้ เครดิต – ความน่าเชื่อถือ    การสมัครบัตรเดบิตนั้น เพียงคุณมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารคุณก็สามารถใช้บริการได้แล้ว ส่วนการสมัครบัตรเครดิตนั้นจะยุ่งยากกว่า เพราะคุณต้องแสดงหลักฐานว่า คุณมีรายได้เท่าไร หน้าที่การงานมั่นคงหรือไม่ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้บัตรเครดิตว่า คุณจะสามารถนำเงินมาชำระคืนได้ดังนั้น ใครที่มีบัตรเครดิตใช้ ก็แสดงว่าคุณมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่เจ้าหนี้เขาจะให้กู้เงิน ซึ่งถ้าบริหารหนี้เป็น ก็จะได้รับประโยชน์เช่น โทรทัศน์ราคา 20,000 บาท ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% แบ่งจ่ายได้ 10 เดือน แต่สำหรับบัตรเดบิตคุณไม่สามารถใช้ผ่อนสินค้าแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ได้ ต้องถูกหักบัญชีเต็มจำนวนทันที หรือถ้าคุณมีเงินในบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท คุณก็ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อโทรทัศน์เครื่องนี้ไม่ได้ ความเสี่ยงภัย เมื่อบัตรถูกโจรกรรม    บัตรเดบิตนั้น ผูกติดกับบัญชีเงินฝากของคุณ นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่เอาบัตรเดบิตของคุณไปรูดซื้อสินค้า เงินในบัญชีก็จะถูกตัดไปทันที ซึ่งถ้าอยากได้เงินคืน คุณก็ต้องขวนขวายไปติดต่อธนาคารหาหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน ซึ่งถ้าการเรียกร้องเงินคืนยุ่งยากเท่าไร คุณก็ยิ่งเสียเปรียบเท่านั้น จนบางครั้งอาจจะท้อใจ ไปกับระยะเวลาที่เนิ่นนานและค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนที่สูงเกินกว่ามูลค่าเงินที่หายไป     ในขณะที่การใช้บัตรเครดิตนั้น เป็นธุรกรรมที่ธนาคารได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนตามที่มีรายการแจ้งมา ดังนั้น เมื่อบัตรถูกขโมยไปใช้ คุณก็มีหน้าที่แค่แจ้งธนาคารว่า ไม่ได้เป็นคนใช้บัตรเครดิตทำรายการนั้น ถ้าธนาคารไม่เชื่อก็ต้องหาทางพิสูจน์เองว่าใครเป็นคนใช้บัตรเครดิต หรือหาทางฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บเงิน ซึ่งเป็นภาระของธนาคาร แม้จะทำให้คุณต้องวุ่นวายอยู่บ้าง แต่ก็ยังดี เพราะว่าคุณยังไม่ต้องเสียเงินจากกระเป๋า     ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม    บัตรเดบิตนั้นเป็นการใช้เงินจากบัญชีของคุณเอง ดังนั้น จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยจากการรูดซื้อสินค้า ส่วนบัตรเครดิตนั้นเป็นการกู้ยืมเงินทดรองจ่าย จึงต้องเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินตามจำนวนที่คุณใช้ แต่บัตรเดบิตส่วนใหญ่ ก็จะคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ จากผู้ถือบัตร เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินข้ามเขตหรือเบิกถอนเกินจำนวนครั้งที่กำหนด จะหยิบบัตรไหนมาใช้ในครั้งต่อไป ก็เลือกให้ดี คิดให้รอบคอบนะครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 กัญชากับ...อาหารรสเด็ด

การเกษียณจากราชการมาอยู่บ้านขณะที่เมืองไทยมีโทรทัศน์ดิจิตอล นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนไม่ต้องจมอยู่กับรายการโทรทัศน์ของ 6 สถานี ซึ่งไม่ค่อยพัฒนา ดังนั้น ณ วันนี้ผู้เขียนได้ดูข่าวคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าจากหลายสถานี มีสารคดีให้ดูมากขึ้น แถมด้วยหนังดังจากต่างประเทศ ราวปลายปีที่แล้วได้มีรายการข่าวภาคกลางวันของช่อง 3 SD ซึ่งมีพิธีกรรุ่นใหม่ทำข่าวภาษาไทยปนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเป็นการหลีกหนีความจำเจของรสชาติข่าว แต่สุดท้ายรายการดีในวันธรรมดาก็ต้องยุติลง เข้าใจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับผู้สนับสนุนรายการอย่างไรก็ตามผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ได้มีข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับ กัญชา (ซึ่งคนไทยบางกลุ่มให้ความสนใจอย่างมากที่จะทำการรณรงค์ให้สถานภาพของกัญชาในสังคมไทยเปลี่ยนไป) สำหรับเนื้อข่าวซึ่งสามารถดูได้ใน www.youtube.com/watch?v=B8KJA1xIhFU นั้น พิธีกรได้คุยถึงข่าวเกี่ยวการผสมกัญชาลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่น่าตกใจในเนื้อข่าว คือ มีการผสมกัญชาลงในขนมเด็กเช่น เจลลี อมยิ้ม ยาอม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผลิตและขายได้เฉพาะในโคโลราโดเท่านั้น กัญชาเป็นพืชที่มีใบที่สวยงาม ผู้ใหญ่และครูหลายท่านของผู้เขียนสอนว่า กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อสูบแล้วจะเมา มีอาการหลอน เหมือนคนบ้า แต่เมื่อเอากัญชาใส่ลงแกงเผ็ดแล้วเขาว่ามันจะอร่อยกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งอาจต้องกินอาหารตามร้านอาหารในบางมื้อ หลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่าท่านอาจได้เสพกัญชาโดยไม่ได้เจตนา เพียงแค่ท่านเลือกร้านอาหารที่ถูกขนานนามว่า อร่อยสุดๆ ในบทความที่มีการเผยแพร่ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งไทยและอังกฤษ ต่างก็จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ดังนั้นใครก็ตามที่คิดว่ามันไม่ใช่ก็คงต้องเหนื่อยหน่อยที่จะพิสูจน์ ช่วงปี พ.ศ. 2520 ถึง 2525(ซึ่งผู้เขียนไปเรียนทางด้านพิษวิทยาที่สหรัฐอเมริกานั้น) กัญชาก็เป็นแหล่งของสารธรรมชาติกลุ่มแคนนาบินอยด์(cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชนิดที่เมื่อใช้นานเกินไปกลับออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดระดับไม่รุนแรงนัก มวลชนอเมริกันจึงมีการนำมาใช้ในทางผิดๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด การมีโอกาสได้สัมผัสความเป็นอยู่ของคนอเมริกันวัยหนุ่มสาวนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจับกระแสได้คือ คนที่มาจากเมืองใหญ่เพื่อมาเรียนในเมืองเล็กมักถวิลหาถึงกัญชาเป็นประจำ ดังนั้นทุกปลายสัปดาห์ที่มีการตรวจความสะอาดของห้องในหอพักของมหาวิทยาลัย สิ่งที่มักพบคือกัญชาแห้ง และบางครั้งถึงขั้นพบต้นกัญชา ซึ่งเหล่านักศึกษาทำเนียนว่าปลูกเป็นไม้ประดับข้างหน้าต่างรวมๆ ไปกับพืชอื่นๆ เพื่อแสดงความเป็นคนรักธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรประหลาดใจที่ลูกหลานของท่านที่ไปเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาแล้วติดกัญชากลับมา ในช่วงที่ผู้เขียนเตรียมตัวกลับมาทำงานที่เมืองไทยนั้น ข่าวทางโทรทัศน์ข่าวหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ก็คือ มีแนวโน้มในการใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงก่อนสิ้นชีวิตในรัฐโคโลราโด อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้ติดตามข่าวนี้นักเพราะไม่ใช้ประเด็นที่สนใจ จนเมื่อในปี 2012 ก็ได้ข่าวว่า ประชาชนในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ได้ลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายในการมีหรือปลูก จากนั้นในปี 2014 จึงอนุญาตการขายในปริมาณน้อยตามใบสั่งแพทย์แก่ผู้ที่อายุเกิน 21 ปี ในขณะที่อีก 20 รัฐอนุญาตยอมให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่สำหรับกฎหมายระดับประเทศ (Federal Law) นั้นยังคงห้ามคนทั่วไปใช้แบบเสรีในเกือบทุกรัฐ ประเด็นการสูบกัญชานั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาเป็นยาเสพติดที่ต้องทำให้เป็นควันก่อนเพื่อสูบเหมือนบุหรี่ ดังนั้นที่ใดมีควันที่นั่นย่อมมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน(หรือพีเอเอช) เช่นเดียวกับที่พบในบุหรี่ พร้อมทั้งสารพิษกลุ่มไนโตรซามีนและกลุ่มอัลดีไฮด์ ซึ่งโดยเบ็ดเสร็จแล้วกล่าวกันว่า มีสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 50 ชนิดขึ้นไป เป็นของแถมแก่นักสูบ ข่าวคราวการใช้กัญชานั้นพบได้ไม่ยากนัก เช่น จากการชมภาพยนตร์หรือแม้แต่ข่าวทางโทรทัศน์ของต่างประเทศ ดังนั้นผู้เขียนจึงตระหนักว่า กัญชานั้นอยู่ในสังคมของมนุษย์ตลอดมา โดยเฉพาะในสังคมนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอยู่ในวัยที่อยากลองเพื่อสนองความต้องการของฮอร์โมนที่กำลังปั่นป่วน ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าวผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของบางประเทศต้องประกาศถอนตัว เพราะมีหลักฐานว่าเคยถูกจับข้อหาสูบกัญชาสมัยเมื่อยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา นี่แสดงว่าสังคมของบางประเทศ ซึ่งประชาชนมีหลักยึดของจิตวิญญาณว่า เสรีชนทำชั่วส่วนตัวนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าจะเป็นตัวแทนหรือผู้นำต้อง มีประวัติที่สะอาดโปร่งใสหาความผิดไม่ได้ ซึ่งหลักยึดในกระบวนการเลือกนักการเมืองมาเป็นตัวแทนประชาชนแบบนี้ ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกกระป๋องไปแล้ว ดังนั้นถ้าร่างใหม่จะมีเรื่องนี้ก็จะเป็นพระคุณเป็นอย่างสูงแก่ประเทศเรา ในเว็บของ Wikipedia นั้นได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับกัญชาว่า กัญชานั้นมีผลทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่น ทำให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข(แบบที่วัยรุ่นเรียกว่า high) เกิดอาการผ่อนคลาย และที่น่าสนใจคือ ทำให้อยากอาหาร โดยมีอาการแถมแก่ผู้เสพคือ ความจำระยะสั้นลดลง ปากแห้ง(กระหายน้ำ จึงมีข้อสังเกตว่า ถ้าไปกินอาหารที่ไหนแล้วหิวน้ำมาก ทั้งที่อาหารไม่ได้เค็มเลย ท่านอาจเจอกัญชาเข้าแล้ว) นอกจากนี้อาจมีอาการงุ่มง่าม สะเปะสะปะ ตาแดง และหวาดระแวงหรือขี้กังวล โดยของแถมที่ได้นี้จะหายไปภายใน 2-6 ชั่วโมง ข้อดีของกัญชาในด้านการแพทย์นั้นคือ ลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนในคนไข้ที่ได้รับยาบำบัดมะเร็ง(ไม่ใช่ว่ากัญชาบำบัดมะเร็งนะครับ สามารถดูข้อมูลนี้ต่อได้ที่ American Cancer Society หรือ www.cancer.org ซึ่งเป็นองค์กรหลักเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งของสหรัฐอเมริกา) กระตุ้นความอยากอาหารในคนไข้โรคเอดส์ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังและอาการชักกระตุก แต่ถ้าใช้ไปนานๆ อาจเกิดอาการความจำเสื่อมหรือจิตเภทในบางคน แหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการนักในอินเตอร์เน็ทคือ www.pantip.com ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัญชาในอาหาร (ที่เราท่านอาจพบได้ด้วยตนเอง) เช่น “.....ก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชานั้นมีแน่นอน เพราะในคลองบางกอกน้อยเมื่อก่อนจะมีก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยอยู่เจ้านึงขาย ในคลองชื่อนายหลอ ผมเป็นลูกค้าจนสนิทกัน เขาเลยบอกว่าเขา ใช้ต้นกัญชามาทุบๆ ให้แตกแล้วห่อด้วยใบเตยกันคนเห็น แล้วเอาลวดมัดก่อนจะหย่อนลงในหม้อน้ำซุป ที่มีทั้งเนื้อเปื่อย เครื่องใน กระดูกวัว และห่อเครื่องเทศอื่นๆ อีก แต่ก่อนมีแหล่งซื้อกัญชาอยู่แถวๆ วัดชัยพฤกษ์น่ะครับ 30 กว่าปีแล้วนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ……” “.......ตอนไปเข้าค่ายอาสาฯ เพื่อนๆ แกงป่าเป็ดแบบแห้งห่อไปด้วย ทานกันตอนเย็นๆ ทั้งเหนื่อยและหิว เลยเอาแกงเป็ดมาคลุกข้าวสวยกินอร่อยสุดๆ ผลก็คือ หัวเราะกันตั้งแต่ตอนเย็นถึงตีสามค่ะ หัวเราะจนตกจากเก้าอี้รอบกองไฟ หงายหลังแล้วยังหัวเราะต่ออีก ตื่นมาเจ็บซี่โครงเหมือนโดนซ้อม มารู้ทีหลังว่าเพื่อนมันใส่กัญชาในเครื่องแกง ไม่โกรธมันเลยค่ะ อร่อยดีอีกต่างหาก หัวเราะมันส์ดีเหมือนกัน…..” นอกจากนี้ในเว็บของหลายประเทศนั้นก็อธิบายแบบชัดเจนถึงการทำอาหารและขนมที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาหารและขนมนั้นอร่อยมากกว่าเดิม โดยอาศัยฤทธิ์ของกัญชาไปเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร ในขณะที่อาหารที่กินนั้นรสชาติไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจในอินเตอร์เน็ท(แต่ไม่ควรเข้าไปลอกเรียนแบบ) เกี่ยวกับอาหารใส่กัญชาคือ การทำ Cannabutter หรือเนยกัญชา เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของอาหาร ทั้งนี้เพราะสารออกฤทธิ์ในกัญชานั้นสกัดได้ดีด้วยไขมัน ดังนั้นขนมจากฝรั่งที่ว่าอร่อยสุดๆ นั้น เราควรใส่เครื่องหมายคำถามแล้วว่าทำไม เห็นได้ว่าโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับกัญชาโดยไม่เจตนานั้น ไม่ยากนักทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยการสัมผัสจากอาหารที่อาจได้รับการขึ้นชื่อลือชาว่า รสเด็ด โดยขายสินค้าอาจไม่คิดว่าผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากฤทธิ์ของกัญชา เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถหรือใช้เครื่องยนต์จากอาการหลอนระหว่างที่กัญชาออกฤทธิ์ หรือความผ่อนคลายของสาวรุ่นที่ได้กัญชาโดยไม่รู้ตัวในสถานที่อโคจร ข้อสังเกตว่าอาหารใส่กัญชาหรือไม่คือ มันอร่อยมาก ถูกปากเป๊ะๆ ไม่ต้องปรุงเพิ่ม แต่เมื่อกินมากหน่อยอาจมีอาการใจสั่น (เพราะกัญชาบีบหัวใจของบางคน) ตามด้วยการกระหายน้ำ แต่ที่ชัด ๆ คือ กินเเล้วรู้สึกรื่นเริงครึกครื้นกว่าปกติ เเบบเห็นอะไรจะขำง่ายไปหมด ดังนั้นข่าวคราวที่จะมีการใช้กัญชาแบบที่หลายคนเข้าใจว่าเสรีนั้น คงต้องผ่านการกลั่นกรองถึงผลได้และผลเสีย ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมที่ดีต่างไปจากการใช้สารเสพติดอื่นคือ เหล้าและบุหรี่ ซึ่งประชาชนใช้กันแบบสะเปะสะปะ เกิดคดีความและอุบัติเหตุได้ทุกวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง    วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร    ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้     เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 เม้งไกเวอร์ ยอดคนพลังงานแสงอาทิตย์

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยากรคอมพิวเตอร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   อาจารย์เม้งท่านสอนทางด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์ แต่ก็มีความสนใจจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ลำดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากความรู้จากปากท่านแล้ว ทุกๆ วันอาจารย์เม้งยังพกพาแผงโซล่าร์เซลล์ขนาดกะทัดรัดไปด้วยเกือบทุกหนแห่ง ไฟฟ้าจากแผงเล็กนี้สามารถชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งนอกจากมันจะใช้ประโยขน์กับเขาเองแล้วแล้วยังเป็นสื่อการสอนสำหรับผู้สนใจด้วยสนใจประเด็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่เมื่อไรจริงๆ สนใจมานานแล้วในส่วนของพลังงานแต่ได้มาเริ่มทดลองก็ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ลองค้นหาในอินเตอร์เน็ตว่าแผงโซล่าเซลล์จะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างในสุราษฎร์ธานี ตอนแรกก็ต้องหาในกรุงเทพฯ แต่ไปๆ มาๆ ก็มีคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ที่สุราษฎร์ฯ ผมจึงเข้าไปพูดคุยกับเขาถึงแนวคิดหลักการ ราคา และพวกการติดตั้ง สุดท้ายก็ซื้ออุปกรณ์มาและลองติดตั้งเองเลย ตอนนั้นซื้อมา 1 แผง 140 วัตต์ ราคาตอนนั้นประมาณ 6,500 บาท ซื้อแบตเตอรี่ 150 แอมป์ 12 โวลต์มา 1 ก้อน ราคาประมาณ 6,300 บาท ซื้ออุปกรณ์ควบคุมการประจุไฟจากแผงลงแบตฯ อีกประมาณ 2,100 บาท ส่วนพวกอุปกรณ์สายไฟก็หาซื้อเองได้ ปั๊มน้ำ12 โวลต์ที่จะสูบขึ้นไปจากถังเข้าท่อประปาภายในบ้านนั้นก็ราคาประมาณ 2,500 บาท อันนี้ก็ประมาณเบื้องต้น หลอดไฟหลอดละ 200 บาท ซื้อมาประมาณ 6 หลอด ก็ทดลองใช้ไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ทำแผงให้พ่อกับแม่สามารถที่จะหมุนแผงไปตามแสงอาทิตย์ได้เป็นแบบอัตโนมือ ในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกถูกใจอยากทำเองด้วยเพราะผมอยู่ที่ปัตตานีไม่ใช่นครศรีธรรมราช ก็ทดลองที่ปัตตานีด้วยและทำที่นครฯ เพิ่มขึ้น จากที่ได้ทดลองใช้ไปประมาณ 1 – 2 เดือนก็รู้สึกว่ามันเริ่มจะเข้าท่า จึงซื้อแผง 120 วัตต์มาแต่ราคาถูกกว่าเดิมนะ ซื้อมา 4,800 บาท ถูกกว่าที่สุราษฎร์ฯ เกือบ 2,000 บาท แต่แผงเป็นคนละชนิดกันอันแรกเป็นโมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline) อันที่ 2 เป็นโพลีคริสตัลไลน์ (Poly Crystaline) ซึ่งจริงๆ แล้วราคาในปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก และในด้านคุณภาพโมโนฯ จะรับแสงได้ดีกว่า แต่ในประเทศไทยใช้โพลีฯ ก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องไปซื้อแพงมาก พอผมใช้มาได้ 1 ปีเนื่องจากทางภาคใต้มีการรุกของโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย เราก็พยายามหาทางออกว่ามันมีทางอื่นไหมนอกจากถ่านหินซึ่งมันสอดรับกันพอดี จึงโยนโจทย์ไปที่แสงแดดเพราะมันมีทุกวัน ลองดูว่าแต่ละวันสามารถลดอะไรได้บ้างไหม ก็ทดลองทำปี 2557 ก็มีเวที ค.1 (กระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นั้น ได้ออกแบบให้มีการรับฟังความคิดเห็นไว้ 3 ขั้นตอน คือ การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ ค.1 เพื่อเป็นเวทีใหญ่ในการรับฟังข้อห่วงใยจากชุมชน ค.2 เพื่อเป็นเวทีย่อยในการรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม แล้วนำไปประมวลเพื่อศึกษาผลกระทบและการป้องกันจนการทำรายงาน EHIA เสร็จสิ้น จึงจัดเวที ค.3 เพื่อแจ้งแนวทางทั้งหมดแก่ชุมชนและรับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนเป็นครั้งสุดท้าย) พอดี ผมจึงจัดการนำเสนอและสับคัทเอ้าท์ในวันนั้นเพื่อจะใช้ไฟของตัวเอง ผ่านมา 1 ปีก็พร้อมที่จะจัดการได้ ค่าไฟจากที่เคยอยู่ที่ 500 – 600 บาทก็ลงมาเรื่อยๆ เป็น 400 , 250 ,100 ลงมาเรื่อยถึง 80 จนทุกวันนี้คงที่อยู่ที่ 40.90 บาท บางเดือนก็ 44.38 บาท คือใช้ 0 หน่วย แต่มิเตอร์ของการไฟฟ้านั้นเป็นมิเตอร์ 10 แอมป์ บ้านเรือนที่ใช้ 5 แอมป์ขึ้นไปต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ที่ชาวบ้านใช้ปกติก็ 5 แอมป์ถ้าใช้ไม่เกิน 50 หน่วยก็ฟรี เพียงแต่ของผมนั้นเป็น 10 แอมป์จึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ส่วนบ้านของพ่อกับแม่นั้นจะเป็นแบบ 5 แอมป์เขาก็ใช้ศูนย์บาทคือภายใน 50 หน่วย ผมให้เขาบริหารจัดการกันเอง สุดท้ายก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในครัวเรือนว่าแสงแดดก็สามารถแปลงเป็นพลังงานหลักได้ ที่เรียกว่าเป็นพลังงานหนุน พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนอะไรพวกนี้ คือทดแทนมันก็สามารถทดแทนได้บางส่วนเพราะฉะนั้นก็อยู่ที่เราออกแบบว่าจะให้มันทดแทนได้อย่างไร เพราะแสงแดดขนาดบ้านเรานี้สบายมาก ยิ่งตอนเช้าๆ แผงมันยังเย็นอยู่ อุณหภูมิอยู่ที่ 25 – 30 องศาฯ ไฟนี่มาเต็มเลยถ้าแผงได้ตั้งฉากกับตัวที่รังสีที่กระทบมาจะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อถึงเวลาประมาณเที่ยงวันก็อาจจะหมุนแผงไปตามแดดก็ได้ การหมุนตามแดดจะดีมากเลยก็คือจะได้ความเข้มแสงที่ชัดเจน   แต่ว่าจะมีข้อด้อยอยู่อย่างหนึ่งก็คือแสงพวกนี้เมื่อได้รับอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นมันจะลดศักยภาพของมันเอง ยกตัวอย่างเช่นผมใช้ให้ใครไปทำงานขุดดินกลางแดดร้อนๆ มันก็เหนื่อย ถ้าผมเอาน้ำไปพรมให้เขา เขาก็รู้สึกว่ามันมีพลังขึ้นมา แผงโซล่าเซลล์ก็เหมือนกัน เราอาจจะใช้วิธีการพ่นหมอกฝอยๆ ทำบรรยากาศอุณหภูมิบริเวณนั้นให้มันต่ำอย่าให้เกิน 35 องศาฯ มันจะได้ประสิทธิภาพของไฟออกมาเต็มที่ อาจจะไม่ต้องพ่นตลอดเวลาก็ได้ แค่ทุกๆ 15 นาทีเพื่อให้บรรยากาศตรงนั้นไม่ร้อนมากนี่เป็นกระบวนการในการจัดการ ลมใต้แผงมันร้อนเราสามารถที่ผลักดันไปได้ นี่เป็นตัวอย่างๆ หนึ่ง หลังจากสับคัทเอ้าท์มาแล้วทุกวันนี้ก็จ่ายค่าไฟประมาณ 40 กว่าบาท ระหว่างนี้ก็เลยหาแนวทางที่จะขยายองค์ความรู้เหล่านี้ออกไปหาคน ทำให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น มีการจัดอบรมที่บ้านเพราะนอกจากทำหลังคาแล้วผมมาทำที่รถยนต์ด้วย หลังคารถยนต์ก็เป็นแผงโซล่าเซลล์เหมือนกัน ด้านหน้าใส่ไดนาโมเข้าไป 3 – 4 ตัวแล้วก็ติดกังหันลม เวลาเราขับรถไปรถมันก็แปลงไฟเหล่านี้เข้ามาใช้ได้บางส่วน เช่น พัดลมแอร์ เวลาเราเปิดแอร์แต่ละเบอร์มันก็กินกระแสไฟแตกต่างกัน เบอร์ 4 นั้นกินอยู่ที่ 30 แอมป์ ก็เยอะมากถ้าเราเปิดตอนนี้แรงไดนาโมจะทำงานหนักทำให้เปลืองน้ำมันถ้าลดลงมาโดยตัดตรงนี้ออกมันก็ช่วยลดได้ส่วนหนึ่ง ช่วยลดกำลังของเครื่องยนต์ นี่เป็นตัวอย่าง แต่ว่าไม่ได้ใช้ทั้งคันเพราะเรายังต้องใช้น้ำมันเป็นหลักอยู่ แค่อันไหนที่เราลดได้ก็ลด ยกตัวอย่างเช่นแทนที่จะหุงข้าวไป สตาร์ทรถไปก็ปิดเครื่องยนต์เอารถมาตากแดดแล้วมันมีแบตฯ สำรองตั้งไว้หลังรถเพื่อจะเอามาหุงข้าวได้ระหว่างทางถ้าเราอยากจะปิกนิก ก็เป็นแนวทางการที่จะขับเคลื่อนคนให้ลองคิดลองทำ หลังจากนั้นก็ขยับขยายไปยังครัวเรือน ตอนนี้ก็มีไม่ต่ำกว่า 20 ครัวเรือนที่เขาเริ่มทำกันในละแวกที่ผมลงไปสัมผัสเองและยังมีอีกหลายคนในเครือข่ายบนเฟสบุคที่เขาเอาไปทำ ซึ่งผมคิดว่าแนวทางแบบนี้มันไปต่อได้ เป็นการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ถ้าเราพึ่งตนเองได้เวลาไฟดับแต่บ้านเราไม่ดับ อย่างเวลามีระเบิดที่ปัตตานีทีหนึ่งใน ม.อ. จะมีไม่เกิน 3 หลังที่ยังสว่างอยู่ซึ่งตรงนี้นำไปสู่การวางแผนได้ คนที่เริ่มต้นใหม่ๆ เขาต้องลงทุนอะไรบ้างจะเห็นว่าเมื่อก่อนถ้าลงทุน 1 กิโลวัตต์น่าจะอยู่ราวๆ 80,000 – 1 แสนบาทแต่ว่าตอนนี้ลดลงมาเหลือไม่ถึง 50,000 บาทแล้วแต่ผมสามารถทำได้ประมาณ 37,000 บาทขึ้นอยู่กับระบบอะไร ซึ่งมันมีอยู่ 2 ระบบ อย่างแรกระบบ Stand alone คือใช้แบตเตอรี่ จะเอาไว้ตรงไหนก็ได้แค่มีแผง มีตัวควบคุมการชาร์จ มีแบตฯ และมีตัวแปลงเป็นไฟบ้านหรือว่าจะใช้ไฟตรงเลยก็ได้ มันเสร็จสรรพในตัวแต่ราคาอาจจะแพงหน่อยเพราะต้องซื้ออินเวอร์เตอร์และแบตฯ แต่ถ้าเอาค่าของ 2 อย่างนี้ไปซื้อ กริดไทอินเวอร์เตอร์ (Grid Tie Inverter) ก็จะมีตัวแผงมาเข้าสู่ Grid Tie แปลงเป็นไฟบ้านแล้วใช้ได้เลย ส่งไฟเข้าไปหนุนในบ้าน นั่นหมายความว่าถ้าใช้มากแต่ผลิตได้น้อยมันก็จะเอาไฟของการไฟฟ้ามาใช้ แต่ถ้าเราผลิตได้มากกว่าที่ใช้ไฟของเราก็จะไหลออกไปที่การไฟฟ้า อันนี้เป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน คือเมื่อไฟเราไหลออกไปที่การไฟฟ้านั้นมันจะทำให้ไฟที่มันตกอยู่เต็มได้ด้วยพลังที่เราเข้าไปเสริมแต่ต้องออกแบบว่าหม้อแปลงที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ทั้งหมดรองรับได้ไหมถ้ามันเกินจะรับได้ก็จำเป็นต้องขยายขนาดหม้อแปลงให้มันรับได้ ซึ่งผมคิดว่ากระบวนการแบบนี้มันผ่าน ชาวบ้านอาจจะคิดว่ากิโลวัตต์ละประมาณ 50,000 บาทมันดูเยอะแต่ต้องดูว่าถ้ามันช่วยลดค่าไฟได้เดือนละ 500 – 700 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก็จะรู้สึกมีความสุขที่เราสามารถขยับขยายให้มันไปถึงอีกขั้นหนึ่งได้ ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำแบบสับคัทเอ้าท์เหมือนทุกวันนี้แค่อยากทำให้สุดโต่ง ให้เห็นว่ามันสามารถทำได้ พึ่งตนเองได้ อีกอย่างถ้าเราอยากให้ข้อมูลทางด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เราเป็นห่วงในด้านของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้นเราจะได้พูดได้เต็มปากเพราะบางทีจะถูกย้อนแย้งว่าคุณก็ยังใช้ไฟอยู่แล้วทำไมถึงจะมาค้าน ซึ่งจริงๆ ผมก็ยังใช้ไฟของการไฟฟ้าอยู่เวลามาสัมมนาต้องนอนที่โรงแรมก็ต้องใช้เพราะมันเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่อยู่บ้านเราเองเราจัดการได้เท่ากับว่าพลังงานในบ้านเรามันพอใช้อยู่แล้วเพียงแต่เขาไม่ยอมที่จะใช้พลังงานอื่นเพิ่มใช่ไหมสิ่งสำคัญคือ มูลค่าเวลาที่ไฟดับ แต่เราไม่ดับนั้นจะตีเป็นราคาอย่างไร เวลาไฟดับโรงพยาบาลทั้งหลายต้องมีเจเนอเรเตอร์ (Generater) ของตัวเองแต่ถ้าสามารถเสริมบางอย่างได้ด้วยตัวเองอย่างโซล่าเซลล์นั้นผมว่ามันเวิร์คมาก ประเทศไทยมันจะมีพีคอยู่ 3 ช่วงช่วงแรกคือเช้า ช่วง 2 คือบ่าย ช่วงบ่ายนั้นอาจจะหนักกว่าเช้าหน่อย และช่วงค่ำประมาณ 2 – 4 ทุ่ม ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่แสงแดดไม่มีใช้เพราะฉะนั้นช่วงเช้าและบ่ายแสงแดดเข้าไปร่วมได้ ถ้าบริหารจัดการเป็น ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะมีเมฆปกคลุมทั้งประเทศถ้าปกคลุมภาคใต้ ภาคเหนือกับอีสานก็ผ่าน ช่วงที่ภาคเหนือปกคลุมทางภาคใต้ก็ผ่านประมาณนี้ ซึ่งมันคือการกระจายความเสี่ยง ผลิตที่ไหนใช้ที่นั่น สายส่งก็ไม่ต้องกังวล นี่คือในทางอุดมคติและปฏิบัติการได้ในครัวเรือน     กลับมาที่เรื่องราคาเมื่อก่อนจำได้ไหมมือถือที่เป็นแท่งๆ ราคาเครื่องละเป็นแสนเลย เหมือนกับโซล่าเซลล์เมื่อ 38 ปีที่แล้วเป็นยุคเริ่มต้นของโซล่าเซลล์ตอนนั้น 120 วัตต์ราคาประมาณ 3 แสนบาท ในปัจจุบันแผง 120 วัตต์ราคา 3,000 กว่าบาทลดลงมาเกือบ 100 เท่า ซึ่งผมคิดว่าเวลาประชาชนเขาเห็นราคาเขาก็รู้สึกว่ามันแพง ตอนนี้ 1 วัตต์ตกอยู่ราวๆ 20 – 25 บาทซึ่งคิดว่าในอนาคตราคายังลงได้อีกถึงวัตต์ละ 10 บาท ถ้าลงได้ผมเชื่อว่าจะพลิกโฉมพลังงานในประเทศไทย เพราะฉะนั้นการรุกล้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงต้องเร่งในช่วงนี้ ไม่อย่างนั้นคนจะหันมาใช้แบบนี้มากขึ้นเพราะมีหลายส่วนที่อยากจะทำแต่องค์ความรู้ไม่ถึง เขามีเงินทุนแต่สิ่งสำคัญคือจะให้ใครทำให้ เราจึงต้องจัดการให้เขา สิ่งที่ผมทำก็คือทำไปด้วยกัน ตั้งแต่ซื้ออุปกรณ์ด้วยกัน ร่วมมือกันติดตั้ง ต่อสายไฟหลังจากเสร็จแล้วจึงเริ่มสอนว่าระบบนี้เอาไปใช้อย่างไร แล้วจึงจำลองสถานการณ์ เช่นไฟของการไฟฟ้าก็มี ไฟของเราเองก็มี ถ้าอยากจะใช้ไฟของเราจะต้องทำอย่างไร หรือไฟเราไม่พอสำหรับใช้ 24 ชม. ถ้าจะเอาไฟของการไฟฟ้ามาและสับคัทเอ้าท์ของเราสลับกันแบบนี้จะต้องทำอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ยาก ชาวบ้านสามารถทำได้เพราะผมทดสอบกับพ่อแม่ของผมเอง ท่านจบ ป.4 ยังทำได้โดยให้ดูตัวเลขที่เป็นตัวบอกว่าแรงดันเท่าไร ให้เขาเข้าใจว่าถ้าจะหุงข้าวแรงดันต้องประมาณ 23.5 – 24 จึงจะหุงข้าวได้ ถ้า 27 ขึ้นไปสามารถซักผ้าได้ 4 – 5 ครั้ง แต่ว่าซักทุกวันก็ไม่รู้จะเอาผ้าที่ไหนมาซักเหมือนกัน (หัวเราะ) นี่เป็นแนวคิดและเงื่อนไขเหล่านี้ผมจะไม่สอน จะให้ค้นหาของเขาเองโดยการจดข้อมูลไว้ว่าในแต่ละวันผลิตได้กี่หน่วยรวมกันแล้วใน 1 เดือนได้เท่าไร ให้จดข้อมูลไว้แล้วเอามาดูว่าทำไมบางวันได้เยอะ บางวันได้น้อย เมื่อเขาเข้าใจก็สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นต่อได้ เวลาไฟดับก็จะมีคนเข้ามาถามผมว่า ทำไมไฟบ้านเราไม่ดับก็ผมไม่ได้ใช้ไฟการไฟฟ้าไง มูลค่าแบบนี้มันมหาศาลที่จะจัดการได้เพราะนี่คือความมั่นคง แสงแดด ลม น้ำ คลื่นลมทะเล น้ำขึ้นน้ำลงทั้งหลายเหล่านี้สามารถที่จะดึงมาใช้ได้และถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าต้องลงทุน 1 – 2 หมื่นมันเยอะก็มีวิธีคือใช้วิธีการแบบแชร์ คือแชร์พลังงานหมายถึงให้รวมกัน ถ้าค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อหลังก็รวมกันให้ได้สัก 10 คนจ่ายคนละ 2,000 บาทต่อเดือนเอามารวมกันก็จะได้ 20,000 บาททุกๆ เดือน ใครจะติดตั้งก่อนก็จับฉลากเอาหรือแล้วแต่การจัดการ ซึ่งตอนนี้ที่พัทลุงและสงขลาก็เริ่มทำตามแนวคิดนี้กันแล้วแต่ในทางปฏิบัติก็ต้องมีคนที่จะนำไปสู่การพิจารณาการทำให้เกิดการสร้างกลไกที่เข้มแข็ง คือวิธีการที่จะสร้างองค์ความรู้ในชุมชนที่เขาจะสามารถจัดการเองได้ และเราได้นำเอาผลลัพธ์ที่แต่ละบ้านใช้มาคุยกันซึ่งพอแลกเปลี่ยนกันแล้วชาวบ้านรู้สึกมีความสุขขึ้น เขาอยากจะจัดการต่อ อยากสับคัทเอ้าท์เหมือนผมจะต้องทำอย่างไรหรือว่ามีระบบอัตโนมัติที่เราไม่ต้องไปนั่งสับเองด้วยมือ ซึ่งเทคโนโลยีก็เริ่มมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนหลอดไฟหลอดละ 200 บาทคุณภาพก็ไม่ค่อยดีเท่าไรตอนนี้ราคา 50 – 100 กว่าบาทแต่คุณภาพดีมากและมีอายุการใช้งานที่ดีกว่าแต่เร่องราคานั้นจำเป็นต้องรู้เท่าทันในการซื้อ เรื่องการติดตั้งก็เหมือนกันบางกลุ่มบริษัทที่ให้บริการติดตั้งยังคิดราคาแพงอยู่มากราคากิโลวัตต์ละ 80,000 – 1 แสนบาทตรงนี้ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป ผมว่าถ้าเรากระจายความรู้เรื่องนี้ให้เท่าทันคนก็จะรู้และทำเองได้ ตอนนี้ที่บ้านผมก็มีตู้เย็นและอินเตอร์เน็ตที่ใช้ไฟอยู่ตลอดเวลา จริงๆ แล้วตู้เย็นไม่จำเป็นต้องเปิดตลอด 24 ชม. ก็ได้หลังเที่ยงคืนสามารถสั่งหลับได้ถ้าไม่ได้แช่อะไรไว้ อย่างพวกโรงแรมนั้นในตู้เย็นมีแต่น้ำแช่ไว้ถ้าสั่งหลับหลังเที่ยงคืนจะประหยัดไฟไปได้อีกจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว นี่เป็นตัวอย่างที่สามารถบริหารจัดการได้ ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นแบตเตอรี่เอเชียอย่างลาวแต่เราสามารถจะเปลี่ยนเป็น Clean Country Clean Energy Thailand มันจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การคิดใหม่ เพราะถ้าถามถึงพลังงานถ่านหินที่ใช้กันอยู่ก็ใช้ไปแต่ไม่ต้องสร้างเพิ่ม ต้องจัดการเพื่อไม่ให้มันมีความเสี่ยงเพราะถ่านหินเราต้องซื้อจากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลียแล้วมันจะมั่นคงไหมถ้าอนาคตเขาอยากเลิกขายให้เราจะทำอย่างไร ในขณะที่แสงแดดนั้นมีทั่วทุกหลังคาเรือน ไม่ต้องเสียเวลาขนและไม่มีค่าขนส่งด้วย แล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งกระบี่และเทพาที่จะใช้เงิน 2 แสนล้านสร้างประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ผมเอามาเฉลี่ยไปที่ครัวเรือนทั้งหลายให้ติดแผงโซล่าเซลล์แล้ววิ่งปลา (วิ่งปลาคือเอาปลาไปตากบนหลังคา) ก็สามารถผลิตได้ 4,000 เมกะวัตต์ มากกว่าใช้ถ่านหินและยังไม่ต้องซื้อวัตถุดิบนำเข้าด้วย อายุโรงงานก็ 25 ปีเช่นเดียวกับแผงที่รับประกัน 25 ปีกระแสไฟไม่ตก คุณภาพยังคงที่หลังจากนั้นมันก็ไม่ได้เสียทันทีแต่ประสิทธิภาพมันค่อยๆ ลดลง แต่ระดับชาวบ้านก็ไม่จำเป็นต้องไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์ขนาดนั้นแค่เราเอามาเสริมในบ้านเราได้ก็พอ คือผมคิดไว้เยอะอย่างเช่นการลดค่าไฟวันละ 1.5 หน่วยจำนวน 10 ล้านหม้อมิเตอร์สามารถหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เลยแต่เราต้องช่วยกันลดทุกวัน แต่ชาวบ้านที่เขาใช้ไฟเดือนละ 2 หน่วยจะให้เขาลด 1.5 หน่วยมันก็กระไรอยู่แต่ว่าห้างที่ใช้ไฟวันละหลายหมื่นหน่วยนั้น ลดสัก 1,000 หน่วยเพื่อไปช่วยคนที่เขาใช้แค่ 2 หน่วยต่อเดือนนี่คือการบริหารจัดการ ซึ่งผมว่าสำคัญมาก ตอนนี้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มากในประเทศไทยเพราะฉะนั้นโซล่าเซลล์เองเป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ยังมีลมที่ไม่แน่ว่าจะพัดกลางวันหรือกลางคืน มีทั้งลมบก ลมทะเล คือเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ระดับหนึ่งเพราะกังหันลมนั้นชาวบ้านทำเองได้ การเลือกอุปกรณ์ในส่วนของการเลือกซื้ออุปกรณ์นั้นแผงโซล่าเซลล์ถ้าเป็นไปได้ให้เข้าสู่เครือข่ายก่อน เครือข่ายที่จะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ไม่ต้องรีบที่จะติดตั้งแต่ให้รู้เท่าทันว่าแผงพวกนี้มันทำงานอย่างไร ความต้องการของครัวเรือนของเราว่าใช้ไฟเดือนละเท่าไร เช่นใช้ไฟเดือนละ 1,000 บาทก็อาจจะติดตั้งประมาณ 1.5 กิโลวัตต์ราคาจะตกอยู่ประมาณ 70,000 – 80,000 บาท อุปกรณ์ก็จะให้เลือกว่าจะซื้อแบบไหนถ้าเป็นแผงก็ต้องเป็นแผงที่รับประกัน รับประกันนี่คือมีตัวซีเรียลนัมเบอร์เลย ซึ่งตอนนี้ก็หายากอยู่ในประเทศไทย ถ้าเราซื้อแผ่นเดียวราคาก็จะสูงกว่าซื้อ 10 แผ่นหรือ 100 แผ่นแต่ถ้าร่วมมือกันระบบกลุ่มแล้วค่อยซื้อมาแบ่งกันมันก็จะถูกลง โดยซื้อจากบริษัทที่อาจจะนำเข้าจากจีนหรือในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองของ IEC (International Electrotechnical Commission) หรือ มอก. ซึ่งก็ได้การรับรองจากมาตรฐานสากลเชื่อถือได้ ตอนนี้เรากำลังคิดถึงเรื่องโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์นำไปสู่การทำเพื่อประโยชน์สังคม คิดว่าตรงนี้เป็นแนวทางที่พอเป็นได้และเรื่องอินเวอร์เตอร์ต้องออกแบบว่าเราจะใช้ระบบที่มีแบตฯ หรือไม่มี ถ้าระบบที่มีแบตฯ ก็จำเป็นต้องซื้อแบบตระกูลดีฟไซเคิล (Deep cycle) คืออายุการใช้งานจะยาวนานกว่าอย่างน้อย 2 เท่าก็ประมาณ 4 – 5 ปี ผมก็ทดลองมา 2 ปีแล้วต้องรอดูว่ามันจะถึง 5 ปีจริงไหม ต่อมาคือพวกอินเวอร์เตอร์ คอนโทรลชาร์จที่เมื่อก่อนซื้อตัวละประมาณ 2,200 บาท ตอนนี้ลดเหลือประมาณ 1,500 ,800 หรือ 300 บาทก็มี ถ้าเราเข้าไปอยู่ในกลุ่มของคนที่ใช้แบบนี้แล้วสอบถามข้อมูลจะดีมากอย่าเพิ่งรีบเวลาไปซื้อของ ศึกษาข้อมูลก่อนเอาความสงสัยสอบถามข้อมูลกัน สุดท้ายเราจะอยู่ไกลกันแค่ไหนก็สอบถามข้อมูลกันได้ เดี๋ยวนี้มีไลน์ มีเฟสบุคสามารถส่งรูปภาพได้ง่ายมาก มันเปิดโลกทัศน์ใหม่ในการที่จะผลิตพลังงานใช้เอง ผลิตเองได้โดยไม่ต้องเดินสายไฟใหม่ใช้ปลั๊กของตนเอง ถ้าเป็นระบบออนกริด (Grid tie system) เราต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ที่เป็น Grid Tie Inverter ที่ได้คุณภาพผ่านการรับรองของ IPA ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผ่านการไฟฟ้านครหลวง และผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพราะบางทีก็ล้ำๆ กันอยู่ บางครั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับรองแต่การไฟฟ้านครหลวงไม่รับรองคือมันก็ยังเป็นเรื่องที่ยังมึนๆ กันอยู่เพราะฉะนั้นจะมีกลไกบางอย่างที่บอกว่าตัวไหนใช้ได้ทุกอันและมันปรับตัวของมันเองได้ และต่อมาเมื่อติดตั้งแล้วคือเก็บข้อมูลวิจัยไปด้วยในตัว นี่คือรูปแบบในการนำพาไปสู่การวางแผนได้ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำกันแบบนี้พลังงานของเราจะไม่เกิน 30,000 เมกะวัตต์ / ชั่วโมง ตามที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้อยู่ที่ 27,000 เมกะวัตต์ อนาคตจะทะลุ 30,000 ได้เพราะ AEC เข้ามา หน้าร้อนมหาวิทยาลัยก็เปิดกันทุกแห่งค่าไฟก็ทะลุช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ถ้าเราปรับตรงนี้ได้ประเทศก็จะรอด บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ แค่ 1 หลังคาเรือนแต่ลองคูณจำนวน 20 ล้านครัวเรือนดูจะรู้ว่าไม่ธรรมดาและยังไม่นับพวกโรงงานอีกซึ่งมันมหาศาลมากเพราะฉะนั้นโรงไหนที่ไม่จำเป็นก็ระงับไว้ไม่ต้องไปสร้าง พีคโหลด 15 % ของ 30,000 เมกะวัตต์ก็ตกประมาณ 4,500 เมกะวัตต์ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าโรงละ 800 เมกะวัตต์จะอยู่ที่ประมาณ 6 โรง ทั้ง 6 โรงนั้นเอาถ่านหินมาเผาทิ้งเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เป็นความมั่นคงแค่นี้ผมว่าเรากำลังเผาโลกมากกว่า มลภาวะที่ปล่อยออกไปมันมากมายคือต้องคิดร่วมกันแล้ว ผมไม่อยากที่จะไปต่อสู้แล้วเพราะเหนื่อยที่จะทะเลาะกับหน่วยงานของรัฐที่ต้องมาโต้กันอยู่อย่างนี้ คิดว่า กฟผ. เองก็ไม่อยากให้ประชาชนไม่ชอบหน่วยงานของเขา เพราะฉะนั้นแนวทางหนึ่งที่ทำได้คือหันมาหาทางเลือกร่วมกัน เลิกเถียงกันได้แล้วว่าถ่านหินมันสะอาดหรือไม่สะอาด ประเทศไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเรื่องพลังงาน ต้องวางแผนว่าจะช่วยกันอย่างไร นี่คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดการที่ยั่งยืนได้ ยั่งยืนนั้นก็ค่อนข้างไกลแต่จากประสบการณ์ที่ได้ลองทำมาหลายๆ แบบจะรู้เลยว่านิสัยของประเทศไทยจะเป็นแบบไหน ปากน้ำที่ไหลทั้งขึ้นทั้งลงออกทะเลนั้นเยอะแยะ คลื่นทะเล 3,000 กิโลเมตรนั้นไม่ใช่น้อยมันคลื่นทั้งนั้น ประเทศอังกฤษเขาทดลองทำอนาคอนด้า คือคลื่นโยกไปโยกมาก็ได้ไฟออกมาส่งขึ้นฝั่ง การโยกไปมาตามคุณสมบัติของคลื่นที่ส่งผ่านพลังงานของน้ำก็เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อยู่ที่เราจะทำหรือไม่ทำ เราไปล็อคความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ด้วยผลประโยชน์ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นโอกาสดีของรัฐบาลทหารในช่วงนี้มากที่จะผลักดันเรื่องนี้ อย่าไปทะเลาะกับชาวบ้านเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าอีก 9 โรง ทะเลาะเรื่องเหมืองทอง 300 แห่ง หรือเรื่องโค่นต้นยางพาราในอุทยาน มันต้องคิดใหม่ว่าทำไมเราต้องไปโค่นมัน ต้นยางมันก็ผลิตอ็อกซิเจนออกมาให้ทุกวันจะไปโค่นมันทำไม แต่คุณต้องบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดอย่าให้เกิดความขัดแย้งเพราะสุดท้ายก็ต้องมีคนเสียใจ รัฐบาลต้องเริ่มได้แล้วถ้าจะคืนความสุขไม่ใช่ให้ความทุกข์เพิ่ม     ในส่วนของหลังคาเรือนนั้นไม่จำเป็นต้องสร้างโซล่าฟาร์มเลย ไม่ต้องหาที่ 10 – 20 ไร่เพื่อจะสร้างโซล่าฟาร์มเพราะว่าอาจจะไม่จำเป็นใช้หลังคาชาวบ้าน หลังคาโรงงานในกรุงเทพฯ ก็พอ ลองทำกันดูแล้วเราจะพบว่าทำไมเราปล่อยให้แดดมันเสียไปก่อนหน้านี้ น่าเสียดายแดดจริงๆ      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 ประเด็นร้อน “ผู้บริโภคไทย” 2558

1.    คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที สุดท้ายก็มีแค่ “โปรโมชั่น”หลายคนน่าจะยังจำได้ถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้ กสทช. กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรู TOT และ CAT คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เพราะที่ผ่านมาการคิดค่าโทรแบบเดิม หรือการคิดค่าโทรเป็นนาที ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากค่าโทรจะถูกปัดเศษขึ้นทุกครั้ง แม้ว่าเราจะโทรไม่ครบหนึ่งนาที โดยหากนับเป็นจำนวนเงิน ผู้บริโภคจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ไปกว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งภายหลัง กสทช. ก็ได้มีมติอนุมัติประกาศดังกล่าว และกำหนดให้ทุกเครือข่ายมีโปรโมชั่นเป็นวินาทีตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากประกาศของ กสทช. ไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายใดหรือมีโทษอย่างไร ดังนั้นแม้จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับกลับเป็นเพียง “โปรโมชั่นทางเลือก” เท่านั้น ไม่ใช่การยุติหรือเปลี่ยนทั้งระบบตามข้อเรียกร้องของ สปช. โดยผู้ประกอบการได้อ้างว่า หากต้องการเปลี่ยนทั้งระบบ ก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้ ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ ภายหลังการออกโปรโมชั่นใหม่คิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ก็ได้สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้จ่ายถูกลงหรือแพงขึ้นกันแน่ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงออกมาชี้แจงว่า โดยสรุปแล้วการออกโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะ ทำให้ต้องจ่ายในราคาค่าบริการที่แพงขึ้น แต่ได้สิทธิประโยชน์ลดลง จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค เหนือกว่าการแสวงหากำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ และควรสั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหลาย เลิกคิดค่าบริการโดยการปัดเศษเป็นนาทีในทุกครั้งของการโทรได้แล้ว จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการ ยกร่างประกาศเรื่องปัดเศษค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องรอความเป็นธรรมกันต่อไป 2.     “โฆษณาเกินจริง ช่องดับแน่นอน”การนำเสนอขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุน สื่อโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิล นำไปสู่การเฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังโฆษณา ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เน้นความขาว สวย ใส และการรักษา บำบัด ป้องกันสารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า บางครั้งมีการให้ข้อมูลกล่าวอ้างเชิงวิชาการว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งโฆษณาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินจริง บางกลุ่มขาดการรักษาที่เหมาะสม ถึงขั้นถึงเสียเงินเสียทอง จนสุดท้ายเสียชีวิต เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ อย. เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งภายหลังทั้งสองหน่วยงานได้มีการร่วมมือกันสั่งระงับ และปรับช่องรายการที่กระทำผิดกฎหมาย จนหลายช่องต้องปิดการดำเนินงาน ทั้งนี้ กสทช. และ อย. ยังคงยืนยันจะดำเนินการต่อไปและยกระดับการติดตาม ตรวจสอบและระงับการกระทำความผิดเพิ่มขึ้น โดยตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย ไปยังสำนักงาน กสทช.ทั้ง 4 ภาค เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงอยู่ ล่าสุด กสทช. จึงออกมาตรการเด็ดขาดว่า หากพบว่าบางช่องกลับมาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอีก นับจากนี้ไปจะเริ่มการพักใช้ใบอนุญาตอย่างจริงจัง นับว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคที่จะเริ่มได้รับข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพหรืออาหารและยาที่เป็นประโยชน์ และไม่หลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ เหมือนที่แล้วมา3.    ปมร้อน ควบคุมค่ารักษาแพง โรงพยาบาลเอกชนเดือน พ.ค. เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จุดประกายเรื่อง ค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีการพูดคุยกันในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ในยุคของโลกโซเชียล เมื่อทางเครือข่ายผู้เสียหายฯ เปิดแคมเปญ เสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรง พยาบาลเอกชน” และล่ารายชื่อผ่านทาง www.change.org  ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 33,000 คนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าค่ารักษา ของโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงจริงเมื่อได้รายชื่อครบตามจำนวนที่ต้องการ วันที่ 12 พ.ค. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธาน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้ายื่นรายชื่อทั้งหมดต่อ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ภายใน 1 เดือน     การเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ และนำสู่การจัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการดูแลปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่า มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ฝ่ายที่เห็นด้วย แม้เข้าใจว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือก แต่เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูง  ก็ต้องการจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังที่นางปรียนันท์ กล่าวว่า “เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่การหาทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้” จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบ ข้างฝ่ายโรงพยาบาลเอกชน ได้พยายามเน้นที่จุดสำคัญของเรื่องการค้าเสรี และมองว่า โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีค่าบริหารจัดการที่สูง จะนำราคามาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลรัฐนั้นได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แสดงทัศนะว่า “หากมองความเป็นจริงแล้ว ค่ายาและค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้น “ไม่แพง” แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนที่จะสนับสนุนศักยภาพการดูแลสุขภาพของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากล และทั้งหมดคือการลงทุน และการลงทุนนี้เป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีความแตกต่างเรื่องราคา การสะท้อนต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนเป็นการตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจเสรี ...” ส่วนเรื่องที่มีการเสนอผลวิจัยที่พบว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่านั้น นพ.เฉลิมมองว่า  “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นทุนเราต่างกัน” ฝั่งภาคประชาสังคม โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) ร่วมกับ เครือข่ายผู้ป่วย และ เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร แถลง "นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิได้ทุกที่ จริงหรือไม่ ถ้าต้องจ่ายแพง" ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกต่อปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยแบ่งเป็นมาตรการ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยสรุปดังนี้ แม้โรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาล แต่ในกรณีฉุกเฉิน ก็ควรเป็นหน่วยที่ดูแลชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน ดังนั้นไม่ควรมีการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือปลอดภัยเพียงพอที่จะนำส่งไปรับการรักษาพยาบาลต่อในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย จัดระบบบริหารจัดการเรื่องการส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ และให้ภาครัฐดำเนินการทำข้อตกลงกับรพ.เอกชน เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และให้มีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ทำตามเงื่อนไข ระยะถัดไป ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย ทำหน้าที่ในการควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการ ของสถานพยาบาล ให้รวมถึง การวินิจฉัย การรักษา ที่มากเกินความจำเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อื่นๆ ที่แพงเกินจริง  และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการออก พระราชบัญญัติยา ที่มีการเสนอขอปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยภาคประชาชน ทั้งนี้ ต้องยืนยันไม่ให้มีการตัดเรื่องกลไกการควบคุมราคายา ในระยะยาวต้องควบคุมการทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้มุ่งเน้นผลกำไร แต่มุ่งเน้นการดำเนินการทางมนุษยธรรม ยกเลิกการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล และเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการการแข่งขันทางการค้า เปิดให้มีการสมัครใจของโรงพยาบาลเอกชนที่จะดำเนินการด้านบริการสาธารณะให้ เป็นการดำเนินการแบบองค์กรสาธารณะประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น  แต่จนถึงปัจจุบัน แม้จะยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพง และดูเหมือนมีหลายหน่วยงานพยายามยื่นมือเข้าไปดูแล แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงพาณิชย์ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ผลการศึกษาอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1.4-4 เท่า จากผลการศึกษาความแตกต่างระหว่างสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ในปี 2557 เปรียบเทียบเฉพาะโรคต้อกระจกและไส้ติ่ง ค่ารักษาพยาบาลจะมีความห่างกันค่อนข้างมาก คือ มีอัตราค่าบริการสูงในโรคต้อกระจกมากกว่าของรัฐ 11.7 เท่า ส่วนไส้ติ่งสูงกว่าของรัฐ 8.3 เท่าข้อมูล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++รายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงิน ชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555 - 30 ก.ย. 2556 โดยเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 353 แห่ง คนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่า รายการยาแพงกว่าโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตั้งแต่ 60-400 เท่า อาทิ ไวตามินบีคอมเพล็กใน รพศ.หลอดละ 1.50 บาท ใน รพ.เอกชนกลายเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก.ใน รพศ.ราคา 6.50 บาท ใน รพ.เอกชนแพงถึง 450 บาท หรือรายการเวชภัณฑ์ก็มีราคาต่างกัน 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะใน รพศ.ชิ้นละ 10 บาท เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำใน รพศ.ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน นอกจากราคาแพงกว่าแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น โดยในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย พบว่า มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์และตรวจองค์ ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉินแต่มีการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++    4.  แฉเล่ห์ประกันผู้สูงอายุ “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”    และแล้วก็ถึงวันที่ผู้บริโภคได้ตระหนักในความจริงที่ว่า โฆษณาของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเจาะกลุ่มผู้สูงวัยนั้น เข้าข่ายไม่เป็นธรรม กับประโยคที่ย้ำชัดว่า ไม่ถามเรื่องสุขภาพสัก...คำ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพอะไรเลย     เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับปัญหาบริษัทประกันชีวิต ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม โดยอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนที่จะทำประกัน รวมถึงที่เป็นปัญหาล่าสุดคือ กรณีการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนทำ แต่เมื่อผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  แล้วไม่สามารถเคลมประกันได้ ขณะเดียวกันก็ถูกบอกเลิกสัญญาด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก่อนที่จะทำประกันชีวิต ไม่สามารถเคลมได้ตามโฆษณา     ทั้งนี้การทำประกันชีวิตที่มีการโฆษณาว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้น" จริงๆ แล้วคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าการโฆษณาเงื่อนใขใดๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการทำประกันชีวิตของประชาชน จะต้องมีการระบุเงื่อนไขนั้นเอาไว้ในกรมธรรม์ด้วย ซึ่งในกรมธรรม์จริงจะไม่ปรากฏเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย     ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย มาตรา 31 (15) ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทกระทำการโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองตามที่โฆษณาไว้ ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1) ซึ่งระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว     เมื่อเกิดเป็นกระแสดัง ทางหน่วยงานกำกับดูแล อย่าง คปภ. จึงได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ข้อสรุปว่า ทุกบริษัทต้องดูแลการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด โดยเฉพาะการระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน...  นอกจากนี้ในการโฆษณาที่ระบุว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกัน ภัยด้วยหรือไม่       ด้านสมาคมประกันชีวิตไทย รับปากดำเนินการถอนโฆษณา ณ ปัจจุบัน(1 กันยายน) เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) ปรับเปลี่ยนข้อความโฆษณาให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้รับทุนประกัน จากนั้นในปีที่ 3 เป็นต้นไปจึงได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกัน 2) ในการเสนอขาย พนักงานขายจะต้องแจ้งรายละเอียดตามข้อ 1 รวมทั้งข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ให้ลูกค้าทราบและเข้าใจ 3) กรณีการเสนอขายประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องมีรายละเอียดตามข้อ 2 พร้อมทั้งแจ้งสิทธิว่าผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน หากรายละเอียดในกรมธรรม์ที่ได้รับไม่ตรงกับความต้องการ 4) นำสรุปเงื่อนไขที่สำคัญมาไว้หน้าเล่มกรมธรรม์ พร้อมระบุข้อความ เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์มาแล้ว ให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้า     ปัจจุบัน เราก็ได้เห็นโฆษณาที่มีการเพิ่มเงื่อนไข ตามข้อปฏิบัติที่ 1) แล้ว สำหรับในส่วนของแนวทางปฏิบัติที่เหลือ ต้องจับตากันต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัน ภัย (คปภ.) ขอให้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการทำสัญญาประกันชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ  จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค คือ              1. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้สูงวัย โดยหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ก็มีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต  ทั้งนี้บริษัทประกันภัยไม่ควรกำหนดเงื่อนไขในสัญญาในทำนองว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เพราะเงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค              2. ขอให้ คปภ. สั่งปรับในอัตราสูงสุด 500,000 บาท กับบริษัทประกันที่โฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ และขอให้บริษัทประกันชีวิตบรรจุข้อความที่โฆษณาเอาไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ ที่ทำกับผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพต่าง ๆ มักมีเนื้อหาเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อทำสัญญา แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับเงินจริง              3. ขอให้ คปภ. ออกมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยทุกแห่ง มีระบบบริการให้ผู้บริโภคติดต่อยกเลิกสัญญา หรือสอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างสะดวกและเข้าถึงง่าย ชัดเจนและประหยัดค่าใช้จ่าย++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++สิ่งที่ต้องรู้สำหรับประกันชีวิต ผู้สูงอายุ แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้ 1.       ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75ปี2.       ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก 3.       บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1    สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2    สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต               4         สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือ ทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ               5         แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัย เสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อมูล สมาคมประกันชีวิตไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point