ฉบับที่ 180 ตามรักคืนใจ : ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร

ว่ากันว่า หากคนกลุ่มใดขึ้นมามีอำนาจเป็นชนชั้นนำ และมีพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคมแห่งยุคสมัยด้วยแล้ว พื้นที่ของละครโทรทัศน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทบทวนความเป็นอยู่และความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ ก่อนที่จะฉายเป็นภาพผ่านหน้าจอทีวีช่วงไพรม์ไทม์     ด้วยคำอธิบายข้างต้นนี้ ก็ไม่ต่างจากภาพที่ส่องให้เราได้สำรวจตรวจสอบความเป็นจริงในชีวิตของกลุ่มทุนที่เป็นคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ตามรักคืนใจ” นั่นเอง     โดยโครงของเรื่องละคร ได้ฉายภาพชีวิตของ “นายวรรณ วรรณพาณิชย์” ประธานธนาคารอันดับต้นๆ ของประเทศ แม้นายวรรณจะประสบความสำเร็จในการสั่งสมทุนเศรษฐกิจจนมีฐานะมั่งคั่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่กับชีวิตครอบครัวแล้ว นายวรรณ (หรืออาจจะอนุมานได้ถึงคนชั้นนำทางเศรษฐกิจคนอื่นๆ ในโลกจริง) กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง     นอกจากนายวรรณแล้ว ละครยังได้จำลองภาพตัวละครอีกสองเจนเนอเรชั่นถัดมาคือ รุ่นลูกและรุ่นหลานของท่านประธานธนาคารใหญ่ด้วยเช่นกัน     ในขณะที่นายวรรณมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นสร้างสมทุนเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าความมั่นคงทางการเงินและธุรกิจเท่านั้นคือคำตอบของชีวิต แต่ทว่า ผลิตผลของความมุ่งมั่นดังกล่าวกลับกลายเป็นบุตรสาวอย่าง “รัศมี” ที่ไม่เพียงถูกเลี้ยงมาอยู่ในกรอบ แต่กลับเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่แห้งแล้งต่อคนรอบข้างและโลกรอบตัว     เมื่อยังสาว รัศมีได้พบรักกับ “ราม” และความรักของทั้งคู่ก็สุกงอมอย่างรวดเร็วท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของคนในตระกูลวรรณพาณิชย์ เพราะด้านหนึ่งนายวรรณก็เดียดฉันท์รามที่เป็นแค่หนุ่มชาวสวนธรรมดา ซึ่งฐานะไม่อาจเทียบเคียงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับลูกสาวของนายธนาคารใหญ่อย่างเขาได้เลย     แม้ในช่วงแรกที่รัศมีตัดสินใจหนีออกจากบ้านไปอยู่กับราม เธอจะมีความสุขกับชีวิตคู่ และมีลูกสาวด้วยกันคือ “นารา” หรือ “หนูนา” แต่เพราะจริงๆ แล้ว เธอก็ไม่คุ้นเคยกับชีวิตลำบากแบบชาวสวน รัศมีจึงทิ้งรามและบ้านสวน โดยพรากหนูนาไปจากราม และบอกกับลูกสาวว่าบิดาของเธอได้ตายจากไปแล้ว     ภาพที่ถูกฉายออกมาในตอนต้นเรื่องดังกล่าว ก็คือการบอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า เมื่อกลุ่มทุนเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมา คนกลุ่มนี้ได้ละเลยและถีบตัวเองออกจากสถาบันที่เคยเป็นแรงเกาะเกี่ยวบางอย่างในชีวิตเอาไว้ด้วยเช่นกัน     หากสถาบันครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดในสังคม คนกลุ่มดังกล่าวก็ได้ผลักให้สถาบันครอบครัวเปราะบางและอ่อนแอลง จนเข้าอยู่ในสภาวะความเสี่ยง เหมือนกับที่นายวรรณเองก็ได้สารภาพกับรัศมีในตอนท้ายเรื่องว่า “พ่อผิดเองที่เคยเห็นว่าการหาเงินทองมาให้ มันสำคัญกว่าการให้ความรักความเอาใจใส่ แล้วพอแกผิดพลาดไป พ่อก็ทำร้ายแก เพราะไม่อยากจะเห็นแกทำผิดพลาด แล้วต้องตกนรกทั้งเป็นอีก...”     เช่นเดียวกัน หากชุมชนชนบทคือรากที่ยึดเหนี่ยวสังคมไทยโดยรวมเอาไว้ วิถีชีวิตที่เติบโตมาในเมืองใหญ่ และยึดการสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ได้ทอดทิ้งชนบทและชุมชนหมู่บ้าน ไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกที่นายวรรณตั้งแง่กับลูกเขยชาวสวนอย่างราม หรือรัศมีที่ลึกๆ ก็รังเกียจสถานะความเป็นภรรยาชาวไร่ชาวสวนที่จารึกอยู่ในเสี้ยวประวัติศาสตร์ชีวิตของเธอ     ดังนั้น เมื่อมาถึงรุ่นของหลานสาวนายวรรณ หนูนาผู้ที่เติบโตมาโดยไร้รากยึดเกี่ยว จึงมีสภาพไม่ต่างจากชีวิตที่อยู่ “ใต้ต้นไม้ที่ไม่มีร่มเงา กิ่งก้านมันไม่ได้สูงสักเท่าไร” หนูนาจึงเกิดความโหยหาและปรารถนาที่จะ “ตามรักคืนใจ” และตามรากที่หายไปให้กลับคืนสู่ชีวิตที่แห้งแล้งของเธอ     หลังจากที่หนูนารู้ความจริงว่าบิดายังไม่ตาย เธอก็ต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมพ่อจึงทอดทิ้งตนและแม่ไป หนูนาจึงเดินทางมาที่ไร่บัวขาวของ “สีหนาท” หรือ “นายสิงห์” พระเอกของเรื่อง และสมัครเป็นคนงานของเขา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดกับรามซึ่งทำงานอยู่ในไร่เดียวกัน     แต่ทว่า เมื่อเติบโตมาในสังคมไร้รากหรือเป็น “ใต้ร่มไม้ที่ไร้ร่มเงา” หนูนาจึงเผชิญบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องพยายามปรับตัวเข้ากับบรรยากาศวิถีการผลิตแบบเกษตรซึ่งไม่คุ้นเคยมาก่อน การได้เรียนรู้ชีวิตของบรรดาคนงานและความขัดแย้งอันต่างไปในสังคมชนบทที่เธอไม่เคยพบมาในสังคมเมืองใหญ่ ตลอดจนการพยายามประสานรอยร้าวในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ และคุณตา     แก้วที่มีรอยร้าว หรือสังคมที่เคยไร้ร่มเงา ใช่ว่าจะเยียวยาไม่ได้ เมื่อผ่านบททดสอบมากมาย คนชั้นกลางอย่างหนูนาที่เติบโตมาในบรรยากาศการมุ่งมั่นสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายชีวิต ก็สามารถ “ตามรักคืนใจ” และกอบกู้สายสัมพันธ์ที่เคยเปราะบางและขาดสะบั้นไปแล้วจากชีวิตและจิตใจของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องได้เกือบทั้งหมด     ในขณะที่หนูนาได้ตกหลุมรักกับนายสิงห์ ได้บิดาที่พลัดพรากจากกันกลับคืนมา และได้รักษาบาดแผลความไม่เข้าใจระหว่างแม่กับคุณตา รัศมีเองก็ได้เรียนรู้ที่เห็นคุณค่าของครอบครัว และรู้จักที่จะไปคิดและยืนอยู่ในที่ที่คนอื่นเขาคิดและยืนอยู่กัน     และแม้แต่ตัวละครอย่างนายวรรณ ก็ได้ทบทวนบทเรียนความผิดพลาด และได้คำตอบในมุมมองใหม่ของชีวิตว่า “ความมั่นคงภายนอก” อย่างทรัพย์สินศฤงคารมากมาย อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต เมื่อเทียบกับ “ความมั่นคงทางใจ” ซึ่งหมายถึงความรักและความเอาใจใส่ระหว่างกันและกันของคนในครอบครัวหรือของเพื่อนมนุษย์มากกว่า     ภายใต้สังคมที่กำลังไร้รากไร้กิ่งไร้ก้านและไร้ร่มเงาแบบนี้ ถ้าเรายังพอเหลือตัวเลือกอยู่บ้างระหว่าง “ความมั่นคงภายนอก” กับ “ความมั่นคงทางใจ” ภาพที่ละครฉายให้เราเห็นผ่านคนสามเจนเนอเรชั่นของตระกูลวรรณพาณิชย์ก็คงถามพวกเราเช่นกันว่า วันนี้เราจะเลือกสร้างความมั่นคงแบบใด เพื่อที่อนุชนรุ่นหลังๆ จะได้ไม่ต้องคอยวิ่ง “ตามรัก” กลับมา “คืนใจ” ในวันหน้ากันอีก                            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ‘ประกันสูงวัย’ ประกันเพื่อใคร ?

ดังที่รู้กันอยู่แล้ว สังคมไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มันหมายถึงกำลังแรงงานที่จะลดน้อยลงซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศ ภาระในทางสังคมและงบประมาณด้านสวัสดิการที่ต้องเพิ่มขึ้น กรณีตัวอย่างความวิตกที่เห็นชัดก็เช่นกองทุนประกันสังคมที่เริ่มจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนวัยเกษียณที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและจะทำให้เงินกองทุนฯ หมดลงอย่างรวดเร็ว ทว่า ในทุกวิกฤตมักมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจค้นหาได้อย่างเชี่ยวชาญ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถูกเรียกใหม่ว่าเป็น Silver Ages อันหมายถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลที่จะตามมา ประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบรรดาธุรกิจที่จับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด เพราะมองเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นตามวัยที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับสังขารที่โรยรา มันจึงตอบโจทย์ได้ตรงเป้า ตรงใจผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระลูกหลานและช่วยผ่อนเบาค่ารักษาพยาบาล     แต่แล้วปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทประกันชีวิตบางแห่งใช้แต้มคูทางตัวอักษร กฎระเบียบ และความไม่รู้ของผู้บริโภคเป็นเครื่องมือเอาเปรียบ ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวหาใช่เพียงการเอาเปรียบผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ซุกซ่อนภายใต้พื้นผิวคือความไม่เข้าใจในสิทธิสวัสดิการสาธารณะสุขของประชาชน   ธุรกิจประกันสูงวัยบูม ยอดเบี้ยเกือบ 3 พันล้าน    ว่ากันตามหลักการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) การทำประกันชีวิตและประกันภัยจัดเป็นการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ที่ควรมี มันเป็นการประกันความเสี่ยงและการมีหลักประกันต่อเหตุไม่คาดคิดซึ่งจะกระทบต่อรายได้และทรัพย์สินของบุคคล เมื่อมองในมุมนี้ การทำประกันจัดเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต ยิ่งเมื่อความรู้ด้านการเงินแพร่หลายมากขึ้น การทำประกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว     ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาสุขภาพและต้องการทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกหลานหลังตนเองจากไป ถ้อยคำโฆษณาว่า ‘ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน’ เป็นถ้อยคำที่จี้ตรงจุดพอดี ผสมโรงกับคำว่า ‘ไม่ต้องตรวจสุขภาพ’ เข้าไปด้วยยิ่งเป็นเหตุให้ประกันสูงวัยได้รับความนิยม     ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการประกันภัยหรือ คปภ. ระบุว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่ขายตรงผ่านโทรทัศน์มีจำนวน 207,519 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันสะสม 2,305.82 ล้านบาท ส่วนกรมธรรม์ที่ขายผ่านตัวแทนมีจำนวน 74,754 กรมธรรม์ มีเบี้ยประกันสะสม 838.37 ล้านบาท     และดังที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ ว่าเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจำนวนมากจนทาง คปภ. ต้องลงมาจัดการ กลยุทธ์การเอาเปรียบผู้บริโภค    กลยุทธ์การโฆษณาประกันสูงวัย ที่มีการนำเสนอด้วยการใช้ดาราที่มีวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50-70 ปี พูดถึงเรื่องราวที่ประทับใจหรือสะเทือนใจถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันชีวิต ท้ายที่สุดคือการเลือกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันที่ออกโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปแสดงความจำนงในการทำประกัน        ต้องยอมรับว่า การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ของผู้บริโภคเอง เนื่องจากการทำประกันชีวิตมักมีรายละเอียดมากและเป็นภาษากฎหมาย ซึ่งตีความไม่ง่าย ค่อนข้างเข้าใจยาก  ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่ออ่านไม่เข้าใจ จึงมักไม่อ่านเนื้อหาในกรมธรรม์  อีกทั้งยังแยกไม่ออกระหว่างการทำประกันชีวิตที่เมื่อจ่ายครบตามสัญญาจะได้รับเงินคืนกับการทำประกันสุขภาพที่ไม่ได้เงินคืน นี้เป็นปัญหาที่พบเห็นบ่อย     อีกด้านหนึ่ง บริษัทประกันก็อาศัยช่องว่างของการไม่รู้ การบอกความจริงเพียงบางส่วน  การบอกวงเงินขั้นต่ำเช่น เพียงวันละ ... บาท  และเสนอผลประโยชน์ที่เป็นตัวเลข เพื่อเชิญชวนให้ผู้บริโภคทำประกันผ่านช่องทางสื่อโฆษณา ยกตัวอย่าง การทำประกันชีวิต ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพซึ่งเป็นกรณีที่พบบ่อย กล่าวคือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตภายหลังจากทำประกันไม่นาน ทางบริษัทดำเนินการตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันและพบว่าผู้เอาประกันมีความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่รับประกันอยู่ก่อนทำประกัน   และกล่าวหาว่าผู้เอาประกันปกปิดความจริง จึงปฏิเสธการจ่ายเงิน     ช่องโหว่อยู่ตรงที่การไม่ต้องตรวจสุขภาพเป็นคนละเรื่องกับการแถลงสุขภาพ หมายความว่าถึงแม้การทำประกันนั้น ขณะทำประกันจะไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่หากผู้เอาประกันมีภาวะเสี่ยงหรือมีการรักษาโรคใดอยู่ก่อนก็ต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนแก่ทางบริษัทประกันทราบ ซึ่งเมื่อทางบริษัททราบแล้วย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับทำประกันหรือหากบริษัทยอมรับทำประกันแต่ใช้วิธีคิดเบี้ยประกันที่สูงกว่าเดิมก็ได้  เพราะหากไม่แถลงข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง  เมื่อบริษัททราบว่าผู้เอาประกันปกปิด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทบอกเลิกสัญญาได้     การแข่งขันกันของธุรกิจประกันชีวิตที่หันมาทำตลาดผ่านสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ มีหลายรายรูปแบบความคุ้มครอง ตามรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีตัวแทนไปนำเสนอรูปแบบกรมธรรม์ประเภทต่างๆ มาเป็นวิธีการเรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาทำประกันโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน เรียกกันว่าเป็น Direct Marketing   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การโฆษณาขายประกัน ที่บอกแต่เพียงเบอร์โทรศัพท์ และคำว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพ ทำได้ง่าย ๆ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ ... บาท”   โดยไม่บอกกล่าวว่าเรื่องการต้องแถลงสุขภาพของผู้ซื้อประกันด้วยหรือไม่  จึงทำให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ตรงนี้กลายเป็นเหยื่อ     อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีที่ว่า ผู้เอาประกันไม่รู้ว่าตนเป็นโรคอะไรอยู่ก่อนการทำประกัน เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพเลย ซึ่งก็เกิดคำถามว่า กรณีเช่นนี้ผู้เอาประกันจะมีความผิดหรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้บอกข้อมูลให้ครบถ้วน    นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า  หากในโฆษณาระบุว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพ ถ้อยคำเหล่านี้ก็ควรปรากฏในใบคำขอหรือกรมธรรม์ด้วย   เนื่องจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย( คปภ.) ได้มีประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ข้อ 5 (5) ว่า “ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”  จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่า การแถลงสุขภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัยหรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย” ซึ่ง จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการระบุไว้   “  ขอให้บริษัทประกันแก้ไขโฆษณาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ข้อความที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ควรแจ้งในโฆษณาด้วย โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ว่า หากเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรก ผู้เอาประกันจะได้รับเงินเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยอีก 2-5% หลังจาก สองปีไปแล้ว จึงจะได้รับเงินตามทุนประกัน   หรือถ้าต้องแถลงสุขภาพก็ต้องบอกไว้ในโฆษณา แต่ปัจจุบันไม่มีการบอกกล่าว แค่ให้โทรศัพท์ไป ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นหน้าที่ของตัวแทนบริษัท  ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวแทนชี้แจง สาระสำคัญของการทำประกันครบถ้วนหรือไม่” วิธีการหนึ่งที่พบเห็นบ่อยเช่นกัน คือการโฆษณาขายประกันที่บอกจำนวนเบี้ยประกันต่อวันที่น้อยที่สุดที่ผู้บริโภคต้องเสีย และบอกจำนวนทุนประกันที่มากที่สุดที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น  โฆษณาประกันโดย   “ใช้ข้อความ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 7 บาท คุ้มครองชีวิตสูงสุดถึง 200,000 บาท”  มีข้อความตัวเล็กๆ อ่านว่า ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันของบริษัท ชวนให้ตั้งคำถามว่าโฆษณาลักษณะนี้เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดหรือไม่  อาจจะเข้าข่ายโฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันชีวิตของบริษัท ตามมาตรา 33 (14) พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งความผิดจากกรณีนี้มีโทษปรับ 5 แสนบาท หากกระทำผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละ สองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สาระสำคัญของสัญญาคือการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อประกันหลายฉบับ  เช่น แนะนำให้ผู้เอาประกันซื้อทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพหลายฉบับ  โดยมิได้ชี้แจงข้อมูลว่าการทำประกันชีวิตจะได้เงินคืนเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญาและได้รับเงินประกันทุกกรมธรรม์ที่ทำ  แต่การทำประกันสุขภาพเป็นการทำเพื่อให้ผู้เอาประกันใช้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล  ดังนั้นหลักฐานการเบิกค่ารักษาพยาบาลต้องใช้ฉบับจริงไม่สามารถเบิกซ้ำซ้อนได้  หากมีการทำหลายสัญญาอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้ร้อง    เป็นต้น     ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้    1.ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75 ปี    2.ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก    3.บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1 สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2 สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพหรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต    4.สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    5.แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา    (ข้อมูลจากนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับที่ 402 ประจำเดือนตุลาคม 2558)ห้ามตายภายใน 2 ปี    นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ระบุ ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ   โดยเฉพาะประเด็น บริษัทประกันภัยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค อันที่จริงแล้ว หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งบริษัทน่าจะได้ตรวจสอบตัวผู้เอาประกันภัยแล้ว  ผู้เอาประกันก็ควรมีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต       ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ข้ออ้างเรื่องไม่ตรวจสุขภาพทำให้เกิดการทำประกันชีวิตสูงวัยมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการทำประกันประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก นั่นทำให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันลดลง ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้ทำประกันเพิ่มขึ้นย่อมลดความเสี่ยงต่อบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันมีโอกาสในการบอกเลิกสัญญาประกันภายใน 30 วัน ก็ควรให้การคุ้มครองผู้บริโภคหลัง 30 วัน ทันทีหากเสียชีวิต เพราะแม้แต่การทำฌาปณกิจสงเคราะห์ก็ให้ความคุ้มครองหลัง 6 เดือน     คำแนะนำก่อนทำประกัน-คปภ. ต้องทำงานเชิงรุก    ด้านสมาคมประกันชีวิตไทยมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อประกันสูงวัย (อันที่จริงน่าจะใช้ได้กับประกันแบบอื่นด้วย) ให้พิจารณาเบื้องต้น ดังนี้    1.ความคุ้มครองและผลประโยชน์ตรงความต้องการหรือไม่    2.ศึกษาข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นให้เข้าใจ    3.ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย    4.ค่าเบี้ยประกันภัยเหมาะสมกับกำลังซื้อหรือไม่    5.แบบประกันมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นอะไรบ้าง    6.สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียดและขอเบอร์ติดต่อไว้    7.เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์แล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจ หากพบว่าไม่ตรงกับความต้องการสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือ 15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทน     ขณะที่คำแนะนำของสมาคมประกันชีวิตไทยมุ่งไปที่ผู้บริโภค ในส่วนของนฤมลก็มีข้อเสนอที่มุ่งไปยังบริษัทประกันและผู้กำกับดูแลอย่าง คปภ. ว่า ควรมีการสรุปสาระสำคัญที่เข้าใจง่ายไว้ด้านหน้าของสมุดกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ฉบับนี้คุ้มครองอะไรและยกเว้นอะไร ซึ่งขณะนี้มีบางบริษัทเท่านั้นที่มีการสรุปในลักษณะนี้ ต้องระบุการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพไว้ในสมุดกรมธรรม์ กำกับดูแลการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไม่ให้สร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค และ คปภ. จะต้องทำงานเชิงรุกและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------“การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ”    การทำประกันต้องแยกแยะระหว่างประกันชีวิตกับประกันสุขภาพที่มีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจ่ายคืนเบี้ยประกัน เมื่อพิจารณาการประกันสุขภาพ พบว่ามีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันและเห็นตัวอย่างของค่ารักษาพยาบาลราคาแพงของโรงพยาบาลเอกชน     ประเด็นนี้ชวนให้เกิดคำถามว่า แล้วระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการรักษาหรือ? หรือว่าคุณภาพไม่ดี? นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีข้อมูลและมุมมองน่าสนใจต่อเรื่องนี้     นิมิตร์ กล่าวว่า ความเฟื่องฟูของธุรกิจประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในระบบสวัสดิการสุขภาพของรัฐตามสิทธิที่แต่ละคนมี อีกทั้งการบริการของโรงพยาบาลรัฐที่ด้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ผู้ที่มีกำลังซื้อจึงเลือกซื้อประกันสุขภาพเพื่อใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแทน     ในมิติด้านคุณภาพการรักษา นิมิตร์ อธิบายว่าความจริงแล้ว หลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะดูแลปัญหาสุขภาพของคนได้ โดยร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีขีดความสามารถในการดูแลรักษาไล่เรียงกันไป ตั้งแต่ระดับตำบลถึงจังหวัด เป็นหน่วยบริการที่มีบุคลากรทางการแพทย์ครบทุกสาขาวิชาชีพ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพียงพอ และถ้าเกิดขีดความสามารถก็มีการส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นไปได้     แต่เนื่องจากเป็นบริการที่ดูแลคนจำนวนมากจึงเกิดความไม่สะดวกสบาย ความแออัด ซึ่งเมื่อนำประเด็นนี้ไปเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้ดูด้อยกว่า เพราะการบริการเป็นสิ่งที่มองเห็นแรกสุด นำไปสู่ทัศนคติว่าโรงพยาบาลเอกชนน่าจะมีคุณภาพการรักษาดีกว่า ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มีคุณภาพการรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ แต่ไปทำนอกเวลา หรือลาออกไปจากโรงพยาบาลรัฐ     “เพราะโรงพยาบาลรัฐให้บริการคนจำนวนมาก ความแออัดมากกว่า คนที่มีกำลังพอจะเลือกก็จะเลือกความสะดวก ไม่ต้องจ่ายเวลา แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อก็ต้องจ่ายเวลาของตนออกไป นี่คือเหตุที่ทำให้ธุรกิจประกันสุขภาพขายได้”     ประเด็นหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ค่อยทราบคือสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม ทั้งหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม โดยทั่วไปแล้วครอบคลุมการรักษาพยาบาลตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ยกเว้นประกันสังคมที่อาจต้องจ่ายเพิ่มบางส่วน เนื่องจากมีเพดานค่ารักษา     ในกรณีฉุกเฉินจากการเจ็บป่วย ถ้าไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคม ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประกันตนไว้ต้องสำรองค่าใช้จ่าย แล้วนำไปเบิกภายหลัง ถ้าต้องนอนในโรงพยาบาลก็ต้องแจ้งกลับมาที่หน่วยบริการของตนเองภายใน 72 ชั่วโมง ระบบจึงจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ ขณะที่หลักประกันสุขภาพค่อนข้างสะดวกกว่า ถ้าเข้าโรงพยาบาลของรัฐระบบจะเชื่อมข้อมูลเองโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย เว้นเสียแต่จะไปเข้าโรงพยาบาลที่อยู่นอกระบบหลักประกัน ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลเอกชน กรณีนี้หากค่ารักษาพยาบาลเกินเพดานที่กำหนด ผู้ป่วยต้องจ่ายส่วนที่เกิน     นิมิตร์ ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สร้างความไม่สะดวกและบริการที่ไม่เป็นมิตรนักสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการอยู่ โดยเฉพาะกับสิทธิประกันสังคม แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่ามีคุณภาพเพียงพอสำหรับดูแลคนทั้งประเทศ     ดังนั้น ในมุมมองของนิมิตร์ การซื้อประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุจึงไม่มีความจำเป็น ในทางตรงกันข้าม การซื้อประกันสุขภาพอาจมีผลทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเห็นอุปสงค์ ก่อให้เกิดการดึงแพทย์ออกจากระบบรัฐด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องพยายามรักษาบุคลากรของตนด้วยการเพิ่มค่าตอบแทน สุดท้ายแล้วจะดึงให้ค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบสูงขึ้น     “การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ สิ่งที่เราซื้อไปสร้างดีมานด์และราคาที่ลวงตา ทั้งที่จริงค่ารักษาพยาบาลไม่ควรแพงขนาดนี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ฟู้ดทรัก (Food Truck)

ร้านขายอาหารเคลื่อนที่ ที่มีรากเหง้ามาจากสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทยกำลังกลายเป็นธุรกิจมาแรงสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีอาชีพอิสระ        ทุกวันนี้เราพบเห็นรถขายอาหารเคลื่อนที่แบบนี้ได้ทั่วไป อาจเรียกว่า เป็นการยกระดับจากรถเข็นหรือแผงลอยอาหารธรรมดาหน้าตาบ้านๆ  มา เป็นร้านอาหารในรถ ที่ตกแต่ง(รถ) ให้สวยงามน่าสนใจ โดยรถอาหารประเภทนี้จะไปเปิดขายในสถานที่ชุมชนต่างๆ อย่างตลาดนัดแนวๆ  หรือย่านสถาบันการศึกษา และงานจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการต่างๆ อาหารที่ให้บริการจะเป็นประเภท ปรุงง่าย กินสะดวก อย่าง ไอศกรีม แฮมเบอร์เกอร์ กาแฟ ซูชิ เครป พาสต้า หรือปิ้งย่างซีฟู้ด ฯลฯ ส่วนใหญ่จะออกแบบให้ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะสำหรับนั่งรับประทาน แต่บางร้านก็อาจปรับให้มีที่นั่งกินเล็กๆ หน้าร้านบ้างแล้วแต่สถานที่     ปัจจุบันธุรกิจชนิดนี้กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามารับผิดชอบดูแลให้ร้านอาหารประเภทนี้ สะอาดได้มาตรฐาน อาจเป็นเพราะร้านประเภทนี้ไม่จำกัดตัวเองในเรื่องสถานที่ขาย สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วไป โดยอาศัยสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง เลยยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ใครจะเข้ามาดูแลจัดการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 สารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้ง

คราวก่อนฉลาดซื้อพาผู้อ่านไปทดสอบสารกันราในเห็ดหอมแห้ง คราวนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องเห็ดเหมือนเดิม แต่เป็นการทดสอบสารฟอกขาว หรือ Sulphur dioxide ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแทน “เห็ดหูหนูขาว” เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารโปรดของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นแกงจืด ยำแซบหรือเย็นตาโฟ ซึ่งชาวจีนได้ยกย่องให้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงร่างกาย รวมทั้งป้องกันมะเร็งลำไส้ได้ เพราะมีส่วนช่วยในการระบายท้อง และมีธาตุชิลีเนียมที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณประโยชน์ที่มากมายของเห็ดหูขาวนั้น อาจต้องเจอกับสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนอยู่ในเห็ดหูหนูขาวด้วย โดยจากการสุ่มตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผ่านมา จะพบปริมาณสารฟอกขาวในอาหารแห้งที่นำมาสุ่มตรวจทุกครั้ง และแน่นอนว่าอยู่ปริมาณที่สูงด้วย     โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับฉลาดซื้อ ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวจากตลาดใหญ่ๆ ในภาคต่างๆ และในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์เรื่องความไม่ปลอดภัยจากการฟอกขาวที่ปนเปื้อนในเห็ดหูหนูขาว  ผลทดสอบสารฟอกขาว ในเห็ดหูหนูขาวแห้งแต่ละยี่ห้อ                                 สรุปผลการทดสอบ- มีตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้งทั้งหมด 4 ยี่ห้อ คือ เอโร่ Aro, Home Fresh Mart, เทสโก้ และ ปลาทอง ที่ไม่พบสารฟอกขาวปนเปื้อนเลย- มีเพียงตัวอย่างเดียว คือเห็ดหูหนูขาวแห้งยี่ห้อ มายช้อยส์ My choice ที่มีปริมาณสารฟอกขาวน้อยกว่า 10 มก./กก.- ตัวอย่างที่เหลืออีก 7 ยี่ห้อ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างทั้งหมด คือ AAA และไม่ระบุยี่ห้อ จากตลาดที่เชียงราย, กิมหยง, บางกะปิ, คลองเตย, เยาวราช และ Food land สาขาลาดพร้าว มีปริมาณสารฟอกขาวเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด (กระทรวงสาธารณสุขก็ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้พบปริมาณสารฟอกขาว ในอาหารแห้งต่างๆ ได้ไม่เกิน 1,500 มก./กก.) แนะนำวิธีบริโภคเห็ดหูหนูขาวแห้งให้ปลอดภัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาวิธีการ ลดปริมาณสารฟอกขาวในเห็ดหูหนูขาวก่อนนำไปปรุงอาหาร คือ ควรนำมาล้างน้ำและลวกในน้ำเดือด 2 นาที ซึ่งพบว่าสามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ร้อยละ 90ทั้งนี้สำหรับอาหารแห้งอื่นๆ เช่น ดอกไม้จีน ก็ควรนำมาล้างน้ำ 5 นาทีก่อนนำไปปรุงก็จะช่วยลดการปนเปื้อนได้ หรือใช้วิธีการเลือกซื้ออาหารแห้งที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนผิดปกติ และหลีกเลี่ยงการซื้อถั่วงอกหรือขิงซอย ที่ไม่มีดำคล้ำแม้สัมผัสอากาศมานานแล้ว-----------------------------------------------------------สารฟอกขาวคืออะไรสารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล ทำให้อาหารแห้งมีสีน่ารับประทานยิ่งขึ้น แต่ภายหลังได้มีการนำสารดังกล่าวมาใช้ในอาหารหลายชนิดในปริมาณสูง ทำให้เกิดการตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สารฟอกขาวมีพิษต่อร่างกายเราอย่างไรแม้ร่างกายของเราสามารถขับสารดังกล่าวผ่านทางปัสสาวะได้ แต่หากอาหารแห้ง เช่น เห็ดหูหนูขาว ขนมจีน เยื่อไผ่หรือผลไม้อบแห้งต่างๆ เหล่านี้ มีการปนเปื้อนสารฟอกขาวมากเกินกว่าที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO/WHO) กำหนดไว้ คือ 0.7 มิลลิกรัม/วัน/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับสารฟอกขาวเกิน 42 มิลลิกรัมต่อวัน ก็สามารถส่งผลให้ผู้ที่รับประทานเกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ เช่น แน่นหน้าอก อาเจียน ความดันโลหิตลดลง และในกรณีที่ผู้รับประทานมีความไวต่อสารชนิดนี้บริโภคมากเกินไป หรือบริโภคเกิน 30 กรัม/วัน ก็อาจส่งผลให้ไตวาย หรือเสียชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 เครื่องวัดความดันโลหิต

คาดว่าสมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านกำลังคิดอยากจะเป็นเจ้าของเครื่องตรวจวัดความดันโลหิตชนิดที่ใช้ในบ้านเพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ... ถ้าออกกำลังกายแล้วความดันลด เราก็มีกำลังใจ อยากไปออกกำลังกายทุกวัน ... ปัจจุบันเราสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์นี้ได้ตามร้านค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ มีหลากหลายรุ่นและยี่ห้อให้เลือก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่ามันดีจริง อย่าเพิ่งวิตกจนความดันขึ้น ... ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดการสอบเครื่องวัดความดันโลหิตทั้งแบบที่ใช้กับข้อมือและต้นแขน ที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียได้ทำไว้ทั้งหมด 24 รุ่น ขอบอกเลยว่างานนี้ของดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง สนนราคาของรุ่นที่ได้คะแนนรวมมากกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 มีตั้งแต่ 1,650 ถึง 5,300 บาท (คะแนนรวมคิดจาก คะแนนความเที่ยงตรงร้อยละ 80 และความสะดวกในการใช้งานร้อยละ 20) ถ้าอยากทราบว่ารุ่นไหนใช้ง่าย วัดได้เที่ยงตรง เชิญพลิกอ่านหน้าถัดไป ------------------------------------------------------------------------------------------------โดยเฉลี่ยทั่วโลก ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรในวัย 25 ปีขึ้นไปเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว และในหลายๆประเทศ 1 ใน 5 ของประชากรกลุ่มนี้ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันโลหิตสูงเช่นกัน ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและประเทศที่มีรายได้ต่ำ สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนเราเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นมี 4 อย่าง   1.    น้ำหนักมากเกินไป (ร้อยละ 30) 2.    ได้รับโซเดียมมากเกินไปจากการทานอาหารรสเค็ม  (ร้อยละ 30)3.    ได้รับโปแตสเซียมจากผัก ผลไม้น้อยเกินไป (ร้อยละ 20)4.     เคลื่อนไหวร่างกายไม่มากพอ (ร้อยละ 20) สหประชาชาติตั้งเป้าที่จะลดภาวะความดันเลือดสูงของประชากรโลกลงให้ได้ ร้อยละ 25 และลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียวสูงเกินไปให้ได้ร้อยละ 30ข้อมูลจาก สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก World Hypertension League http://www.worldhypertensionleague.org ------------------------------------------------------------------------------------------------ *    ราคาที่นำเสนอนั้นแปลงจากหน่วยเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย กรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ                                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ถอยหลังหรือก้าวหน้า..ข้อเสนอสภาวิชาชีพสุขภาพ

ความร่วมมือของ 7 สภาวิชาชีพในการประกาศจุดยืนไม่ล้มบัตรทอง ให้คนยากไร้คนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ได้รับการดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องการให้คนรวยร่วมจ่ายเงินเพื่อความยั่งยืน และต้องไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วย ลงนามกันโดยนายกของสภาวิชาชีพอย่างถ้วนหน้า มีบางวิชาชีพแจ้งว่าการลงชื่อดังกล่าวไม่มีการปรึกษาหารือในสภาวิชาชีพแต่ประการใด ไม่แน่ใจว่าเป็นทั้งหมดไหมช่วยกันตรวจสอบด่วน!!! เป็นคำแถลงที่ดูเหมือนดีและอาจจะมีหลายคนหลงเห็นด้วย เพราะถ้ามีเงินก็ควรจ่ายบ้างและคนจนก็ไม่ควรต้องจ่าย เพื่อความเป็นธรรม แต่หากพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะพบว่าข้อเสนอนี้ เป็นระบบบริการสุขภาพที่มีในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นเรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 โดยคนจนในประเทศไทยมีระบบสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ส่วนคนรวยก็จ่ายเงินเต็มจำนวนค่ารักษาพยาบาล แต่โดยข้อเท็จจริงคนจน ผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาสจำนวนมากไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะไม่มีเงิน ถึงแม้หลายครั้งอาจจะขอสงเคราะห์ได้ พิจารณาได้จากข้อมูลผู้ป่วยที่ไปใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จากปี 2544 กับปัจจุบัน เพราะมั่นใจว่ามีสิทธิในการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือหลายคนคงยังจำภาพข่าวคนจนที่ถูกควักเลนส์ตาคืนหลังจากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเล็นส์ตาราคา 4,500 บาทได้ครบจำนวน หรือความครอบคลุมสิทธิการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมากในปัจจุบัน การเขียนเรื่องนี้ไม่ได้เกิดอารมณ์หมั่นไส้ โกรธแค้น โกรธเคืองสภาวิชาชีพ แต่คิดว่าข้อเสนอดังกล่าวย้อนยุคเกินไปจนไม่อาจจะรับได้ พูดว่าไม่ล้มระบบหลักประกัน แต่ข้อเสนอทำให้ระบบหลักประกันกลายเป็นระบบคนจน ไม่ใช่สิทธิของทุกคนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จุดที่สภาวิชาชีพและภาคประชาชนควรจะต้องช่วยกันคิดคือทำอย่างไรให้ระบบยั่งยืนโดยประชาชนไม่ต้องร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ เพราะการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการให้บริการ หลายมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ใครมีสตางค์ก็สามารถจ่ายเงินเพื่อการรักษาและใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้น แต่การใช้อุปกรณ์และการรักษาที่ดีขึ้นต้องไม่ลืมว่าเป็นความต้องการของทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย เราต่างต้องการบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานมีคุณภาพกันถ้วนหน้า เราไม่ต้องการโรงพยาบาลที่มีห้องยาเฉพาะบัตรทองประกันสังคมและห้องยาข้าราชการ รวมทั้งยากและใช้เงินมาก ในการวัดความจนของคนในประเทศนี้ว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร ทั้งที่ทุกคนควรได้สิทธินี้เท่ากัน ถึงแม้ใครจะจ่ายเงินมากขึ้นก็ควรได้การรักษาที่เท่ากัน งานนี้ต้องขอแรงผู้ประกอบวิชาชีพนอกสภาวิชาชีพที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมในบริการสุขภาพ  ช่วยกันคิดทำข้อเสนอการเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประโยชน์ของทุกคนที่เท่ากันไม่ใช่ยึดติดกับความเชื่อเรื่องคนทุกคนไม่เท่ากัน บริการสุขภาพไม่ใช่การเลือกซื้อรถ ใครมีเงินก็เลือกซื้อรถได้ตามชอบใจ ใครมีเงินมากก็ได้รับการรักษามาก หรือคิดเพียงแค่หากตัดงบประมาณบัตรทองจะช่วยชาวสวนยาง ชาวนา เพราะทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องทำ และรัฐมีหน้าที่เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ลดสิทธิพิเศษของทุน เก็บภาษีตลาดหลักทรัพย์จากการขายที่มีกำไร ลดกำไรของโรงพยาบาลเอกชน เลิกซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ สร้างถนนให้มีคุณภาพ เลิกใช้เงินซ่อมถนนทุกปี ลดเปอร์เซ็นต์คอรัปชั่น จะทำให้สามารถรับประกันรายได้ของชาวนาและชาวสวนยางและมีงบประมาณให้ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มากทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 คอนโดมิเนียม สร้างทับที่สาธารณะ

คงมีใครหลายคนที่น่าจะเลือกคอนโดมิเนียมจาก ทำเลที่ตั้ง เป็นปัจจัยหลัก โดยอาจจะให้เอื้อประโยชน์ในด้านการเดินทาง เช่น ติดสถานีรถไฟฟ้า หรือให้มีความสะดวกสบายในการพักผ่อน เช่น เงียบสงบ อยู่แถวชานเมืองที่ไม่วุ่นวายมากนัก อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามคือ ที่ดินของคอนโดนั้นๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เพราะคงไม่มีใครคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง จะสร้างทับที่ดินสาธารณะ ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ แม้จะจ่ายเงินซื้อคอนโดนั้นแล้วก็ตามเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้ร้องที่ทำสัญญาจองซื้อคอนโดของโครงการ คีรีมายา เรสซิเดนส์ อัตตา เดอะคอนโด ที่ จ.นครราชสีมา โดยคอนโดดังกล่าวมีราคากว่า 7 ล้านบาท ซึ่งเขาได้ผ่อนดาวน์ไปแล้วประมาณ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังก็ได้รับเอกสารแจ้งจากสำนักงานที่ดินปากช่องว่า คอนโดดังกล่าวได้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เป็นพื้นที่จำนวน 163 ไร่ และปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ จำนวน 48 ไร่ และผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ก็ได้แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ แต่หลังจากทางโครงการก่อสร้างเสร็จ ก็ได้ปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้อีกเลยและผู้ร้องยังพบข่าวที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 58 ว่า คอนโดดังกล่าวมีการปล่อยเช่า ให้เป็นคอนโดมิเนียมรายวัน (โรงแรม) ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 เขาจึงส่งเอกสารขอคำชี้แจงถึงกรณีต่างๆ ไปยังโครงการ ก่อนจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเป็นของตัวเอง เพราะกังวลว่าจะมีผลต่อข้อตกลงเรื่องการเช่า อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ไม่ได้ส่งหนังสือชี้แจงตอบกลับมา เพียงแต่แจ้งว่าการที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้ผู้ร้องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะอาจเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดก็ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องยังไม่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดดังกล่าว และทำหนังสือถึงโครงการอีกครั้งว่า ให้มีการตรวจสอบกรณีต่างๆ ให้มีความชัดเจนก่อน เพราะหากโครงการทำผิดกฎหมายจริง ก็เท่ากับว่าเป็นการผิดสัญญากับผู้บริโภค ซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาดังกล่าวได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ก็ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้หากพิสูจน์ได้ว่า มีการสร้างคอนโดลุกล้ำลำน้ำสาธารณะจริง ทางบริษัทก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจจะรื้อและสร้างใหม่ให้กับผู้ซื้อก็ได้แนะข้อควรรู้เบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนโด1. ตรวจสอบพื้นที่ตั้ง โดยสามารถสอบถามไปยัง กรมที่ดิน (ควรอยู่ในย่านเดียวกัน) ว่าที่ตั้งของคอนโดดังกล่าว เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากนี้รัฐยังสามารถเวนคืนได้ทุกเมื่อ แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของคอนโดนั้นแล้วก็ตาม 2. ประเมินกำลังการผ่อนของตนเองในอนาคต ว่าสามารถชำระค่างวดจนครบได้หรือไม่ หรือควรให้มีการระบุในสัญญาว่า หากเรากู้ธนาคารไม่ผ่าน จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้รับความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย เช่น มีการคืนเงินจองล่วงหน้า หรือคืนเงินดาวน์ที่จ่ายไปแล้ว3. ไม่ซื้อคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง เพราะอาจเกิดปัญหาจ่ายเงินแล้วเรียบร้อย แต่ไม่มีการก่อสร้างจริงได้4. ศึกษารายละเอียดโครงการที่ประกาศขาย ในเรื่องโครงสร้างและความน่าเชื่อถือ5. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขาย โดยควรมีการรับประกันโครงสร้างด้วย6. ดูคุณภาพจากสถานที่จริง ไม่ใช่แค่ในโฆษณา 7. ไม่รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อโครงการยังไม่แล้วเสร็จ หรือไม่สร้างตามแบบแปลนที่โฆษณาไว้ นอกจากนี้ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ต้องตรวจสอบสภาพห้องให้เรียบร้อยทั้งการก่อสร้างและมาตรฐาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 Course เสริมความงาม ที่ไม่ได้อยากสมัคร

สาวๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่มักจะถูกหว่านล้อม ตามติดประชิดตัว เมื่อเดินผ่านหน้าบูธขายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งก็มีบางส่วนที่รอดตัวกลับบ้านสตางค์อยู่ครบ แต่อีกบางส่วนก็กลายเป็นสมาชิกไปแบบงงๆ ก็มี ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องหลายคนที่มาร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิกรณีที่หนึ่ง สมัครเพราะเกรงใจ สำหรับประเด็นนี้มีผู้ร้องหลายคนที่พบปัญหา เช่น คุณ ก ตกลงสมัครรับบริการเสริมความงามของ บริษัท A โดยชำระเงินด้วยบัตรเครดิตไปจำนวน 25,000 บาท เมื่อกลับบ้านก็คิดได้ว่า พลาดที่เกรงใจสมัครไป จึงต้องการยกเลิก เมื่อโทรศัพท์กลับไปแจ้งที่สถานบริการดังกล่าว พนักงานก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถยกเลิกและคืนเงินได้แล้ว หรือ คุณ ข ที่ถูกพนักงานชักชวนให้ใช้บริการเสริมความงาม ของบริษัท S พูดคุยกันไปได้สักพัก ผู้ร้องก็ได้ตกลงเข้าโปรแกรมลดน้ำหนัก โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิต จำนวน 30,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็ฉุกคิดได้ว่าไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว และทางครอบครัวก็ไม่สนับสนุน จึงต้องการเงินคืน ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องอ้างว่า เป็นการสมัครเข้าร่วมแบบไม่ได้ตั้งใจแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ผู้ร้องเข้ามาร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงชี้แจงถึงกรณีที่จะบอกเลิกสัญญาได้ คือ เราต้องมีเหตุผลในการยกเลิก เช่น ทำให้เราได้รับความเสียหาย หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ทำไว้ในสัญญา แต่หากผู้ร้องต้องการยกเลิกจากเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเล่นต่อแล้ว หรือไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้ว เพราะ ครอบครัวไม่ต้องการ หรือหลงเข้าไปทำเพราะคำพูดของผู้ขาย ก็ไม่สามารถที่จะยกเลิกได้เนื่องจาก ผู้ขายยังไม่ได้ทำผิดสัญญา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราเสียเงิน ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ต้องการแบบฟรีๆ ก็ต้องเลิกเกรงใจคนอื่น แล้วกล้าที่จะพูดปฏิเสธ กรณีที่สอง เผลอให้เอกสารสำคัญของตนเอง เช่น บัตรเครดิต บัตรประชาชน สำหรับกรณีนี้ผู้ร้องรายหนึ่ง ถูกพนักงานขายชักชวนให้ตรวจสภาพหน้าฟรี ของสถาบันเสริมความงาม S และได้ขอดูบัตรเครดิตจำนวน 3 ใบ เพื่อนำไปแลกของรางวัล (Gift voucher) ซึ่งหลังจากตรวจสภาพผิวหน้าเสร็จ ก็ได้มีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การลดน้ำหนัก การยกกระชับสัดส่วน โดยเสนอราคาพิเศษให้อยู่ที่ 30,000 บาท โดยภายหลังได้มีการนำเอกสารต่างๆ มาให้เธอเซ็น ซึ่งไม่ได้แจ้งว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร ด้านผู้ร้องที่ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อน ก็หลงเชื่อตกลงเซ็นชื่อเรียบร้อย และมารู้อีกว่า ตัวเองได้ตกลงเข้าโปรแกรมเสริมความงามราคา 30,000 บาท ของสถาบันดังกล่าวไปแล้วเรียบร้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้อง ส่งหนังสือยกเลิกสัญญาถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องได้ระบุเหตุผลที่ขอยกเลิกว่า ไม่สามารถเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวได้ เพราะต้องไปต่างประเทศ พนักงานจึงตอบกลับด้วยการ ขยายเวลาการรับบริการให้อีก 1 ปี หรือ เสนอให้เธอเปลี่ยนเป็นสินค้าตามจำนวนเงิน ซึ่งผู้ร้องไม่ต้องการข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการนัดเจรจาที่มูลนิธิ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาดังกล่าว บริษัทฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้อีกครั้ง คือ 1. ปรับเปลี่ยนคอร์สเป็นผลิตภัณฑ์ จำนวน 30,000 บาท 2. โอนคอร์สดังกล่าวให้ผู้อื่น 3. ขยายเวลาการรับบริการ หรือ 4. ปรับเปลี่ยนเป็นรับผลิตภัณฑ์ 15,000 บาท และคืนเงินอีก 15,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอสุดท้าย เหตุการณ์จึงยุติลง อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าปัญหาเกิดจากเอกสารสำคัญของเราตกอยู่ในมือของผู้อื่น ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนเซ็นชื่อยืนยันเอกสารเหล่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 ไม่เหมือนที่คุยกันไว้

กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขายประกันภัยอีกแล้ว โดยเป็นการขายประกันสุขภาพผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งพูดคุยเข้าใจตรงกันเรียบร้อย เกี่ยวกับเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้บริโภคคิด กับสิ่งที่ตัวแทนบอกไม่หมดก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดีผู้ร้องถูกชักชวนให้ทำประกันภัยของบริษัท พรูเด็นเซียล ประกันชีวิต ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งภายหลังตัวแทนขายประกันภัยได้บอกเงื่อนไขการเอาประกันภัยต่างๆ ผู้ร้องจึงตกลงสมัคร โดยให้มีการหักเงินผ่านบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้รับกรมธรรม์ ก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ครอบคลุมการรักษาอย่างที่เธอต้องการ และราคาก็ไม่คุ้มค่ากับการคุ้มครองดังกล่าว จึงต้องการยกเลิกการทำสัญญา แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสารฟรีได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) และส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันภัยดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งข้อมูลที่เขียนแล้ว มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบความถูกต้องก่อนได้ ทั้งนี้หลักการในการยกเลิกการสมัครประกันภัยนั้น สามารถยกเลิกได้เมื่อเราพบว่าเนื้อหาในกรมธรรม์ ไม่เป็นไปตามที่ตัวแทนเคยบอกไว้ ซึ่งต้องยกเลิกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ดังกล่าว ด้านบริษัทฯ เมื่อได้รับเรื่องก็ทำการยกเลิกสัญญา และคืนเงินให้ผู้ร้องเรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >