ฉบับที่ 181 ผลิตภัณฑ์เพื่อวงแขนที่แห้งสบายไร้กลิ่น

ฉลาดซื้อฉบับรับหน้าร้อนเล่มนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมเหงื่อและกลิ่นใต้วงแขน ที่องค์กรผู้บริโภคของประเทศฝรั่งเศสส่งเข้าทดสอบร่วมกับองค์การทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ในปีที่ผ่านมา มีทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายทั้งในรูปแบบของลูกกลิ้งและสเปรย์   การทดสอบครั้งนี้ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อผลิตภัณฑ์ เขาเน้นการวัดประสิทธิภาพที่อวดอ้างในโฆษณา -- ความสามารถในการระงับกลิ่น ความสมารถในการระงับเหงื่อ และการไม่ทิ้งคราบขาวบนเสื้อ นอกจากนั้นก็ยังสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้ (เช่นกลิ่น ความรู้สึกแห้งสบาย) และให้คะแนนการติดฉลากแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคด้วย   คะแนนเต็มแต่ละด้านอยู่ที่ 100 และคะแนนด้านประสิทธิภาพสูงที่สุด 80 คะแนนเป็นของ REXONA MEN COBALT DRY MOTION SENSE SYSTEM ในขณะที่ VICHY DEODORANT ANTITRANSPIRANT 48H รั้งท้ายด้วยคะแนนประสิทธิภาพเพียง 49 คะแนนเท่านั้นติดตามรายละเอียดในหน้าถัดไปว่าผลิตภัณฑ์ไหนจะคู่ควรกับพื้นที่ใต้วงแขนของคุณมากที่สุด ...           ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- มนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาตัวเหม็น ...บางคนโชคร้าย ไม่สามารถผลิตสารเคมีที่เป็นอาหารอันโอชะของแบคทีเรีย เหงื่อของคนพวกนี้จึงไม่สามารถสร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้ และการสำรวจพบว่าคนจำนวนมากยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ “ไม่สามารถมีกลิ่นตัว” จำนวน 117 คน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอล ในอังกฤษพบว่า ร้อยละ 75 ของพวกเธอใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นประจำ หัวหน้าคณะวิจัยให้ความเห็นว่า เหตุที่พวกเธอใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นนั้น คงเป็นเพราะความกดดันทางสังคม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------เหตุผลที่เราไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นประจำอาจมีหลายเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ แต่ที่ยืนยันได้คือ การหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หลังจากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้แบคทีเรียตัวร้ายใต้วงแขนฟื้นคืนชีพและเติบโตได้เร็วกว่าเดิมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลนาเซ็นทรัล พบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (ทั้งแบบระงับเหงื่อ และระงับกลิ่น) จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพ “ชุมชน” ของจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ใต้วงแขนเรา ด้วยการกำจัดแบคทีเรียฝ่ายธรรมะออกไป เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แบคทีเรียฝ่ายอธรรมได้รุ่งเรืองเฟื่องฟู -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------ตกงานแล้วไม่แคร์กลิ่นตัวการสำรวจโดย The Grocer วารสารวงการค้าปลีกของอังกฤษเมื่อ 3 ปีก่อนพบว่า ภาวะว่างงานมีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายของหนุ่มเมืองผู้ดี นักวิเคราะห์มองว่าการใช้ผลิตภัณฑ์นี้หมายถึงการ “เตรียมพร้อมสำหรับวันทำงาน” เมื่อไม่มีงาน ผลิตภัณฑ์นี้จึงไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาย้อนไปในปี 2013 ปัญหาการว่างงานเป็นเรื่องใหญ่ของอังกฤษ ด้วยสถิติ 1 ใน 10 ของบัณฑิตหางานทำไม่ได้ในช่วง 6 เดือนหลังจบการศึกษา และผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะว่างงานมากกว่าผู้หญิง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”

ไนเตรท และ ไนไตรท์ ใน “ไส้กรอก”ไส้กรอก ถือเป็นของกินยอดฮิตของยุคนี้ ด้วยความที่เป็นของหากินง่าย แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็มีไส้กรอกให้เลือกซื้อเลือกกินแบบละลานตา รับประทานง่าย รสชาติอร่อย จะจัดให้เป็นเมนูอาหารเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น หรือเป็นของทานเล่นระหว่างวันก็ยังได้ มูลค่าการตลาดของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 3 แสนตัน แบ่งเป็นกลุ่มไส้กรอก 49% และกลุ่มสไลด์ (โบโลน่า,แฮม,เบคอน) 45% และอื่นๆ 6% ไส้กรอกเป็นอาหารแปรรูปที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ต้องพึ่งสารเคมีหลายตัวในการผลิต 1 ในนั้นคือ “ไนเตรท และ ไนไตรท์” ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการคงสภาพของไส้กรอก ทั้งเป็นสารกันบูดช่วยยืดอายุอาหารและช่วยทำให้สีของไส้กรอกดูสวยงามน่ารับประทาน ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีนอกจากจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ ต่อร่างกายของเราแล้ว ยังอาจเป็นโทษต่อสุขภาพของเราถ้าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะปัจจุบันเรารับประทานไส้กรอกกันมากขึ้น “ฉลาดซื้อ” จึงขอนำเสนอผลทดสอบปริมาณสาร “ไนเตรท และ ไนไตรท์ ในไส้กรอก” ลองมาดูสิว่าเราเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายของ ไนเตรท และ ไนไตรท์ จากการรับประทานไส้กรอกยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปมากน้อยแค่ไหนสรุปผลการทดสอบ- จากทั้งหมด 15 ตัวอย่าง มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการเจือปนของ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ ไทยซอสเซส ค๊อกเทลซอสเซส ของ บ.ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด - พบ 3 ตัวอย่าง ที่มีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ รวมกันเกินกว่าค่าที่อนุญาตให้ตามข้อกำหนดของ โคเด็กซ์ ที่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม คือ 1.ตราเอโร่ ไส้กรอกฮอทดอก พบไนเตรท 50.45 มก./กก. พบไนไตรท์ 40.82 มก./มก. รวมแล้วเท่ากับ 91.27 มก./กก., 2.NP ไบร์ทหมู พบไนเตรท 54.86 มก./กก. พบไนไตรท์ 77.47 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 132.33 มก./กก. และ 3.บางกอกแฮม ไส้กรอกหมูคอกเทล พบไนเตรท 77.13 มก./กก. พบไนไตรท์ 71.48 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 148.61 มก./กก. - ข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการทดสอบครั้งนี้ก็คือ เรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่าถ้าหากมีการใส่วัตถุเจือปนลงในอาหาร บนฉลากต้องมีการแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับตัวเลขจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร International Numbering System : INS for Food Additives ถ้ามีการใช้หรือมีวัตถุเจือปนอาหารติดมากับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหาร เป็นส่วนประกอบของอาหารในปริมาณที่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร จากตัวอย่างไส้กรอกที่สำรวจพบว่ามีแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ คือ 1.ไทยซอสเซส, 2. S&P, 3.เซเว่น เฟรช, 4.มิสเตอร์ ซอสเซส, 5.TGM และ 6.บุชเชอร์ แต่ทั้ง 6 ตัวอย่างแสดงข้อมูลว่า ใช้เพื่อ “เป็นสารคงสภาพของสี” และทุกตัวอย่างไม่ได้บอกว่าเป็น ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ใช้รหัส INS for Food Additives หมายเลข 250 ซึ่งเป็นรหัสของ โซเดียมไนไตรท์ แทน การแสดงข้อมูลแบบนี้ดูจะไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ เพราะคงมีผู้บริโภคน้อยรายที่รู้เรื่องรหัสจำแนกชนิดวัตถุเจือปนอาหาร INS for Food Additives เท่ากับว่าผู้บริโภคที่รับประทานไส้กรอกก็ได้รับ ไนเตรทและไนไตรท์ ไปโดยไม่รู้ตัว แถมผลิตภัณฑ์ที่แสดงข้อมูลว่ามีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ มีเพียงแค่ 6 จาก 15 ตัวอย่าง ไม่ถึง 50% ซะด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องแสดงหมายเลข INS for Food Additivesของ โฟเทสเซียไนไตรท์ คือ 249ของ โซเดียมไนไตรท์ คือ 250ของ โซเดียมไนเตรท คือ 251ของ โฟเทสเซียมไนเตรท คือ 252ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/International_Numbering_System_for_Food_Additives#Numbering_system- มีเพียงแค่ 1 ตัวอย่างจากตัวอย่างไส้กรอกทั้งหมดที่นำมาทดสอบ ที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ยี่ห้อ My Choice ไส้กรอกจูเนียร์ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูด แม้จะมีการใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกส่วนใหญ่ แจ้งว่าใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นสารคงสภาพสี - อย่างที่ฉลาดซื้อเราเคยนำเสนอไปแล้วเรื่องการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกว่า ไส้กรอกในปัจจุบันหลายยี่ห้อทำจากเนื้อหมูผสมกับเนื้อไก่ ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่ามี 6 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ที่แจ้งไว้บนฉลากว่าใช้ทั้งเนื้อหมูและเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ และมี 5 ตัวอย่าง ที่บอกว่าใช้เนื้อหมูเพียงอย่างเดียว ที่น่าสังเกตคือมี 2 ตัวอย่าง ที่แจ้งเพียงว่า ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ แต่ไม่ได้บอกลายระเอียดว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดใด คือ 1.ตราเอโร่ และ 2.เบทาโกร (บอกว่าใช้เนื้อสัตว์อนามัย) ส่วน บางกอกแฮม มีการแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบอยู่ 2 ส่วน ตรงด้านหน้าแจ้งว่าใช้เนื้อหมู แต่ที่ด้านหลังซองแจ้งแค่ว่าใช้ เนื้อสัตว์ นอกจากนี้มีอยู่ 1 ตัวอย่าง คือ NP ไบท์หมู แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น ไบท์หมู แต่บนบรรจุภัณฑ์ไม่มีจากแจ้งข้อมูลรายละเอียดส่วนประกอบใดๆ เลย -ในการวิเคราะห์ตัวอย่างไส้กรอกครั้งนี้เราได้ดูเรื่องการปนเปื้อนของสีผสมอาหารด้วย ซึ่งผลออกมาว่า ไม่พบการปนเปื้อนของสีในทุกตัวอย่างฉลาดซื้อแนะนำ- ตัวอย่างไส้กรอกที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ยังใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในปริมาณที่ไม่เกินจากที่กฎหมายกำหนด เท่ากับว่าเรายังรับประทานไส้กรอกได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่าต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะแม้จะปลอดภัยจาก ไนเตรทและไนไตรท์ แต่ก็เสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมจากเครื่องปรุงรสที่อาจสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย ส่วนประโยชน์จากโปรตีนก็เทียบไม่ได้กับเนื้อสัตว์ธรรมดาทั่วไป เพราะฉะนั้นต้องเลือกกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินจำเจ กินแต่พอดี - องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านวิจัยนานาชาติ (International Agency for Research) ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งสำไส้และกระเพาะอาหาร ซึ่งสร้างความตกใจให้กับที่ชอบกิน เบคอน ไส้กรอก ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นแค่คำเตือนเพื่อให้ทุกคนกิน เบคอน ไส้กรอก ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป ไม่ได้เป็นการออกมาบอกว่าห้ามกินโดยเด็ดขาด นอกจากนี้สาเหตุของโรคมะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่การกินเบคอนและไส้กรอกเพียงอย่างเดียวข้อมูลประกอบบทความ : 1.แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556) สำนักงานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2.บทความพิเศษ อันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีสารไนเตรทและไนไตรท์: แสงโฉม ศิริพานิช สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 3.บทความ ดินประสิว : ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นิตยสารหมอชาวบ้าน www.doctor.or.th/article/detail/6552--------------------------------------------------------------------------------------------------------ทำไม? ต้องใส่ ไนเตรทและไนไตรท์ลงในไส้กรอกไนเตรท และ ไนไตรท์ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อทั้ง โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท โพแทสเซียมไนไตรท์ และรวมถึงชื่อบ้านๆ ที่คนไทยเรารู้จักกันมานานอย่าง ดินประสิว ไนเตรทและไนไตรท์ สารทั้ง 2 ชนิด นอกจากจะถูกนำมาใช้เพื่อการถนอมอาหารแล้ว ยังใช้ในอุตสาหกรรมอย่างการทำดอกไม้ไฟ ทำดินปืน ใช้ชุบโลหะ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาเป็นสารผสมในปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกนำมาใช้ในอาหารเนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่นพวกอาหารที่มีพลาสติกห่อปิดไว้อย่างเช่น ไส้กรอก หมูยอ ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้อีก นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ยังคงสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ไนเตรทและไนไตรท์ ถึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เฉพาะแค่ ไส้กรอก แฮม หรือ เบคอน แต่ยังรวมถึงพวก เนื้อแห้ง หมู/ไก่ยอ แหนม กุนเชียง ปลาแห้งอันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ ไนเตรทและไนไตรท์ ในผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็มีการควบคุมปริมาณที่ใช้อย่างเข้มงวด เพราะถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย อันตรายของ ไนเตรทและไนไตรท์ จะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว รู้สึกปวดท้องรุนแรง ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด นอกจากนี้ ไนเตรทและไนไตรท์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากยังส่งผลต่อการทำงานของ ฮีโมโกลบิน ในเม็ดเลือดที่ค่อยทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การนำพาออกซิเจนในร่างกายมีปัญหา จะส่งผลให้ผิวหนังและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว คนที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้ เด็กๆ จะมีความความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ผลการทดสอบ         ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่นำมาใส่เพื่อประโยชน์ในการผลิต การเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติและเพิ่มสีสัน ส่วนใหญ่จะไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ ซึ่ง ไนเตรทและไนไตรท์ ถูกใส่ลงในไส้กรอกก็เพื่อผลในการถนอมอาหารและเพิ่มสีสัน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดให้กำหนดปริมาณการใช้ของวัตถุเจอปนอาหารโดยยึดตามเกณฑ์ของ โคเด็กซ์(Codex General Standard for Food Additives) หรือ มาตรฐานอาหารสากล ฉบับล่าสุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปสับบดที่ผ่านความร้อน (Heat-treated processed comminuted meat, poultry, and game products) ที่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนไตรท์” ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แต่ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณของ “ไนเตรท” ที่อนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเอาไว้ จึงต้องใช้การอ้างอิงจากมาตรฐานที่ในบ้านเราเคยกำหนดไว้ในท้ายประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร ที่อนุญาตให้ใช้ ไนเตรท ในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่ม ไส้กรอก และ แฮม ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ในประกาศของสำนักงานอาหารและยาฉบับดังกล่าว ได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด” หมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเลือกใช้ ไนไตรท์ เพียงอย่างเดียวก็ควรมีได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม หรือถ้าเลือกใช้ ไนเตรท เพียงอย่างเดียว ก็อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 500  มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าผลิตภัณฑ์ใดมีการใช้ทั้ง ไนไตรท์ และ ไนเตรท ปริมาณที่ใช้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ไนไตรท์ ใช้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์) ไนเตรท ใช้ได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม (ตามประกาศของสำนักงานอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจอปนอาหาร)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 คุณจะใช้สิทธิการตายได้อย่างไร

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบันก็เปรียบเหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ความสามารถในการช่วยเหลือชีวิตของมนุษย์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วกลับมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไว้บนโลกนี้ต่อไปได้อีกจนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะเวียนมาถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ “ความก้าวหน้าทางการแพทย์” กลับกลายเป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็น” เพราะไม่ว่าจะประโคมใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพียงใด แต่ความตายก็มาเยือนในเวลาอันใกล้ ดังนั้นแล้ว หากเมื่อฝ่ายหนึ่งอยากจะจากไปอย่างสงบ แต่ฟากผู้รักษาชีวิตและญาติอาจยังทำใจไม่ได้ สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกอาจจะอยู่ที่ หนังสือแสดงเจตนาหรือสิทธิในการเลือกที่จะตายของผู้ป่วย บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพื่อยืดการตายนางนิรชา อัศวธีรากุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิและสร้างสังคมสุขภาวะ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากภาวะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นความตาย ประกอบกับการที่สังคมไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังไม่มีระบบในการดูแลคนเหล่านี้ในวาระสุดท้ายได้อย่างเป็นระบบเช่นนี้ นำมาสู่การยกร่าง มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้สิทธิทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้ตัดสินใจเอาเองว่าจะยินดีให้แพทย์ประโคมเทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิต หรือขอใช้สิทธิเลือก “ตายอย่างสงบ”  สาระสำคัญของมาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจาการเจ็บป่วย และเพื่อเป็นการขยายวิธีปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจึงได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการ สาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553   นิยามของคำว่า “วาระสุดท้าย” ที่สามารถขอใช้สิทธิปฏิเสธการรักษา คือ ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการ พยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่าภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวรโดยปราศจาก พฤติกรรมการตอบสนองใดใดที่แสดงถึงการรับรู้ได้จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น แพทย์จะมีความผิดหรือไม่ หากทำตามเจตนาของผู้ป่วย “วาระสุดท้ายของชีวิตนั้นสามารถพิสูจน์ได้ เพราะสภาพร่างกายของผู้ป่วยจะเป็นตัวบ่งบอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลอย่างอื่น หรือคิดไปในทางที่ไม่ดี เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้ว และตามกฎหมายระบุว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุข คือแพทย์ พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องหากปฏิบัติตามหนังสือแสดดงเจตนานี้แล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด ให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”  นางนิรชา อัศวธีรากุล กล่าวยืนยัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงจริงๆ แพทย์ต้องดูว่าผู้ป่วยนั้นมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ หากผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ แพทย์เจ้าของไข้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ทราบถึงภาวะและความเป็นไปของโรคในขณะนั้นเพื่อยืนยันความประสงค์ที่จะปฏิเสธการรักษาหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่มีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ ก็ต้องแจ้งกับบุคคลที่ 3 อาทิ ญาติของผู้ป่วยเพื่อแจ้งให้ทราบถึงภาวะของโรค และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยก่อนจะปฏิบัติตามคำสั่งในหนังสือ “บางคนที่เชื่อเรื่องปาฏิหาริย์สักวันหนึ่งญาติของตัวเองอาจจะฟื้นขึ้นมาหลังจาก นอนโดยไม่รับรู้อะไรมาสักระยะ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าใจตรงกัน บางคนพอคุยไปคุยมาก็ยอมทำตามความประสงค์ บางคนก็ฝืนคำสั่งก็มี แต่เมื่อยื้อไปสักพักแล้วเห็นว่าไม่สามารถยื้อได้อีกก็เลยกลับมาใช้แนวทาง ที่ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงเอาไว้ ดังนั้นการตามความประสงค์ของผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตจำนงเอาไว้ ประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้ ตายอย่างสงบเพื่อที่อย่างน้อยผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดกับการใช้สารพัด เครื่องช่วยชีวิต” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิ ระบุว่า “อย่างที่บอกว่าเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้า ไปมาก และแพทย์หลายๆ คนยังมีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงๆ หรือไม่ จึงมีการฟ้องร้องกฎกระทรวง ว่าเนื้อหาหรือคู่มือในการปฏิบัติตามมาตรา 12 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จึงได้มีการต่อสู้ด้วยหลักการ เหตุผลกันนานกว่า 5 ปี ท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2558 ว่ากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 12 นั้นชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้ได้จริง” การใช้สิทธิมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย  เรื่องการใช้สิทธิการตายนั้น ที่จริงแล้วมีมานานก่อนที่จะมีมาตรา 12 ออกมา โดยทุกคนสามารถแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในกรณีที่มีความประสงค์ตายอย่างธรรมชาติไม่ต้องมาสวน มาสอดเครื่องไม้เครื่องมือที่รังแต่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมัยก่อนเป็นเรื่องง่ายมาก ผู้ป่วยสามารถแจ้งญาติ แจ้งบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางลูกหลานได้ และที่จริงแล้วกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิในการเร่งการตาย เพราะเมื่อญาติๆ และแพทย์ตกลงทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยแล้ว แพทย์ก็ยังให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดจากภาวะการดำเนินโรค เช่น ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น ที่สำคัญยืนยันว่า การใช้สิทธิตามมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ! อาการของวาระสุดท้ายนั้นจะสามารถมองเห็นและพิสูจน์ได้ มีข้อบ่งชี้ปัจจุบันมีคนดังหลายๆ คนได้เขียนหนังสือแสดงความจำนงขอใช้สิทธิการตายเอาไว้เช่นเดียวกัน อาทิ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการสำงานสุขภาพแห่งชาติ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักเขียนชื่อดัง เป็นต้น ท้ายที่สุด การใช้สิทธิขอตายตามมาตรา 12 เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ระหว่างแพทย์และญาติเพื่อการวางแผนดูแลชีวิตผู้ป่วยล่วงหน้า แพทย์รู้ว่าไม่ไหว ญาติเข้าใจยื้อไปก็เป็นการทรมานผู้ป่วย จะได้ใช้วาระสุดท้ายนี้ในการอยู่ด้วยกันอย่างคุ้มค่าที่สุด คนตายได้จากไปโดยไม่ต้องทรมานคนที่สามารถทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ขอใช้สิทธิการตายนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเด็กต้องให้ผู้ใหญ่เป็นคนตัดสินใจ โดยสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1. เขียนเป็นลักษณ์อักษร และ 2. การใช้สิทธิด้วยวาจา แต่ในกรณีแสดงความจำนงด้วยวาจานั้นอาจจะยากไปหน่อย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน สำหรับ การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นตามกฎหมายบอกว่าต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่ จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาได้ โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำหนังสือ ดังนี้ 1. รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ โดยระบุชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้  2. วัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือแสดงเจตนา 3. ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน และความเกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา  4. ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะรับบริการ  5. ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ผู้อื่นเขียน หรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาฯ ให้ระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ที่สำคัญในหนังสือแสดงเจตนาฯ ต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือของผู้นำทำหนังสือแสดงเจตนา พยาน และผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่ แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งบุคคลที่ถูกระบุชื่อดังกล่าวจะต้องลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วมือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในหนังสือแสดงเจตนาด้วย นอกจากนี้ ในหนังสือแสดงเจตนาฯ สามารถระบุ รายละเอียดอื่นๆ ได้ เช่น ต้องการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์ที่จะรับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณี และความเชื่อทางศาสนา และให้บริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควร เมื่อผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเข้ารับการรักษาตัวรักษาตัว ในสถานบริการสาธารณสุขก็ให้นำหนังสือแสดงเจตนายื่นต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขของสถานบริการสาธารณสุขโดยไม่ชักช้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาฉบับใหม่ได้ตลอด ซึ่งในกรณีที่มีการแสดงหนังสือเจตนาหลายฉบับให้ยึดถือเอาฉบับที่ทำครั้งหลังสุดเป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้     นานาทัศนะเรื่องการใช้สิทธิการตาย จากวงเสวนาเรื่อง ปลายทางชีวิตจะลิขิตการรักษาอย่างไร เมื่อวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2559 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รศ. ดร. นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ มีรากฐานมากจากกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1. มาตรา 12 ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ วรรค 3 กำหนดว่าบุคคลมีสิทธิในการแสดงความประสงค์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุข และวรรค 1 กำหนดให้ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  2.กฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2553 กำหนด ลักษณะ วิธีการ และรายละเอียดการแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุข โดยมีนิยามในตอนท้ายว่าผู้ป่วยยังต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และ 3. ประกาศ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์ฯ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตาม เช่น เมื่อแพทย์หรือพยาบาลได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยแล้วควรเก็บไว้ในเวชระเบียนเพื่อให้มีการส่งต่อความเข้าใจกับ แพทย์ที่มีการรับช่วงการรักษาต่อได้ทราบความประสงค์ของผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด      ก่อนหน้านี้มีแพทย์ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงเพราะไม่มีการ รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง และสาระในกฎกระทรวงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ 2 ประเด็น คือ 1. หลักการให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปล่อยให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตโดยไม่ทำการรักษาพยาบาลเลยถือเป็นการุณยฆาต 2. เป็นสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ให้ผู้ป่วยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เหนือผู้ประกอบ วิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งศาลปกครองพิจารณาแล้วพบว่าก่อนออกกฎกระทรวงดังกล่าว สช.ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นมาแล้วในหลายเวที และเสนอกฎหมายตามขั้นตอน และเมื่อพิจารณาในสาระของกฎหมายพบมีกำหนดให้แพทย์ดูแลแบบประคับประคองอยู่ จึงไม่ถือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และไม่ใช่การุณยฆาต ส่วนการสร้างหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยมีสิทธิเหนือแพทย์นั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คนทุกคนมีสิทธิในสุขภาพร่างกายของตัวเอง จึงมีสิทธิปฏิเสธการรับการรักษา ดังนั้นจึงมีคำพิพากษาให้เดินหน้ากฎหมายดังกล่าวได้ และเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะกระตุ้นให้สถานพยาบาลปฏิบัติตามหนังสือ แสดงเจตนา      “อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องทำ แต่เป็นทางเลือกให้เลือกทำเพื่อความสบายใจของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ เมื่อทำหนังสือ ก็แสดงว่ามีความประสงค์ เมื่อมีการใช้สิทธิย่อมเกิดหน้าที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นแพทย์ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพทำตามหนังสือเจตนาแล้วไม่ต้องรับผิด เป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ปฏิบัติตาม” อ.นนทวัชร์ กล่าว     ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนเรามีสิทธิในชีวิตและร่างกายและร่างกายของตัวเอง ซึ่งใครจะทำอะไรโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงสิทธิปฏิเสธการรักษาที่ทำให้เกิดความทรมานได้ เช่น ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เจาะคอ หรือขอใช้สิทธิในการอยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักที่บ้านของตัวเองก็ได้ เป็นต้น แต่ที่ต้องมีการกำหนดไว้ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติก็เพื่อเป็นหลักของกฎหมายทางด้านการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาการกระทำสิ่งเหล่านี้ต้องไปอิงกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง อีกทั้งยังมีการตีความที่แตกต่างกัน ยืนยันว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแต่อย่างใดหลายคนระบุว่าหนังสือดัง กล่าวเป็นพินัยกรรม หากพูดเช่นนั้นจะทำให้มีปัญหาได้ เพราะพินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว      ขณะนี้ในส่วนของโรงเรียนแพทย์เองตอนนี้ก็เริ่มมีการเรียนการสอนการดูแลผู้ ป่วยแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดการทรมานแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกฎหมายดังกล่าวมากนัก หรือหากทราบแล้วก็ยังไม่ค่อยยอมรับกัน ครอบครัวไม่ยอมรับ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะดีมักยื้อชีวิต สุดท้ายแล้วเสียค่าใช้จ่ายเยอะ โดยไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ดังนั้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจเจตนารมณ์ของของกฎหมาย หากเป็นไปได้คนทุกคนก็ควรที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้ที่สำคัญคือต้องหารือกับคนในครอบครัวเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ส่วนตัวผมก็เขียนเอาไว้เช่นกันในหนังสือ “ก่อนวันถัดไป” และกำลังจะทำขึ้นมาใหม่ โดยก่อนทำจะต้องมีการปรึกษากับครอบครัว ลูก และภรรยา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อนด้วย      รศ. พญ.นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตให้จากไปโดยไม่ทรมาน ว่า เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมีลักษณะอาการที่แสดงออกมา เช่น เบื่ออาหาร รับประทานไม่ได้ หรือรับประทานได้น้อย ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลค่อนข้างเป็นกังวลว่าผู้ป่วยจะได้รับความทรมาน หรือกังวลว่าร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวร่างกายจะหลั่งสารคีโตนออกมา ซึ่งสารตัวนี้จะมีฤทธิ์คล้ายกับยาแก้ปวดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจะมีภาวะของเสียในร่างกายคั่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่การที่ของเสียในร่างกายคั่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมดื่มน้ำทำให้ร่างกายขาดน้ำนั้นในแง่ดีแล้วร่างกาย จะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกทำให้รู้สึกสบาย แต่ตรงนี้ญาติสามารถใช้ผ้าชุบน้ำ หรือให้จิบน้ำนิดหน่อยแต่ไม่ต้องคะยั้นคะยอ และหากมีเสมหะ ส่วนใหญ่จะให้ยาละลาย ถ้าจำเป็นต้องดูดก็ใช้เพียงลูกยางแดงเท่านั้น ถ้าดูดเสมหะมากออาจจะเลือดออกและทรมานได้     ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิตเอาไว้ ญาติก็ไม่ต้องกังวล เพราะแพทย์ยังให้การดูแลแบบประคับประคองอยู่แล้ว ส่วนอาการอ่อนเพลียที่พบนั้น ถือเป็นอาการปกติของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุด ท้าย ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ แค่ให้พักผ่อนอย่างเหมาะสม และช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจ พูดคุย หรือเปิดเพลงที่ผู้ป่วยชอบ ไม่ต้องปลุกมาทานอาหารหรือดื่มน้ำ ร่างกายจะเสื่อมสภาพลง ประสาทสัมผัสจะลดลง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งการไหลเวียนของเลือดต่างๆ จะลดลง อาจจะทำให้ผิวหนังมีจำๆ บ้าง บางคนมีอาการเพ้อ ส่งเสียงอืออา ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสมอง แต่ไม่ใช่ความเจ็บปวด หรือมองเห็นบาปบุญคุณโทษ หรือคนที่จากไปแล้ว ตรงนี้ไม่ต้องกังวล แค่ให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเยอะๆ และค่อยๆ จากไปอย่างสงบ     “การตายอย่างสงบแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. ด้านร่างกาย ต้องไม่ได้รับการเจ็บปวด ทรมาน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งผู้ป่วยย่อมมีอาการเจ็บปวด สามารถให้มอร์ฟีนได้ทุกช่วงที่มีอาการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปกดการหายใจ 2. ด้านจิตใจ ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ มีความสุข เช่น ให้พยาบาลพูดคุย โน้มน้าวถึงความสุขในอดีต ปล่อยวางเรื่องที่ยังค้างคา และ 3. ด้าน สิ่งแวดล้อมที่คนไข้ต้องการคือสงบ มีคนที่รักและไว้ใจอยู่ใกล้ๆ หรือถ้าผู้ป่วยอยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้านก็ให้กลับไปได้ แล้วจัดทีมแพทย์ไปเยี่ยมบ้านแทน” พญ.นงลักษณ์ กล่าว และว่า สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยบางรายที่จะลุกขึ้นมาได้เหมือนอาการจะดีขึ้นแต่ก็เสีย ชีวิตในที่สุดนั้น เชื่อว่าเกิดจากพลังครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยที่ต้องการจะสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย       พญ.ฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวออกมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสบายใจที่จะปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย และเมื่อทราบล่วงหน้าจะทำให้เกิดการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ในการดูแลวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบที่สุด รวมถึงการดูแลญาติไม่ให้เกิดความรู้สึกผิดหรือผลกระทบภายหลังจากดำเนินการ ตามหนังสือเจตนารมณ์ฯ ทั้งนี้ที่ผ่านเคยมีผู้ป่วยมะเร็งขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านตามประเพณีไทยทรงดำ แพทย์จะมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองว่าเป็นการเสียชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการผ่าศพพิสูจน์สาเหตุอีก อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามีผู้ป่วยวาระ สุดท้ายของชีวิตทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขฯ ไม่ถึง 1% ในขณะที่ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้สิทธิประมาณ 30 % ก็ยังถือว่าน้อยอยู่     ด้าน นางพรวรินทร์ นุตาวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ จากวชิระพยาบาล กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายความยากอยู่ที่การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารับญาติ ผู้ป่วย หรือกับแพทย์ โดยมีพยาบาลเป็นตัวประสาน โดยเฉพาะญาติที่ค่อนข้างมีการศึกษานั้นจะสื่อสารได้ยาก แม้จะมีหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังนั้นพยาบาลจึงต้องมีเทคนิคในการสื่อสารที่ดี ส่วนการช่วยผู้ป่วยเพื่อให้มีความสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากดูแลประคับประคอง ให้ยาระงับปวดแล้ว การสื่อสาร การพูดถึงสิ่งที่ผู้ป่วยภูมิใจ มีความสุข การปฏิบัติตามคำขอของผู้ป่วย เช่นพาคนที่ผู้ป่วยอยากเจอให้มาเจอกัน รวมถึงการกอด ซึ่งจะต้องกอดนิ่งๆ แน่นๆ นานๆ ถ่ายทอดความรู้สึกจากใจถึงใจ แต่ไม่ควรตบบ่าเพราะเหมือนกับเป็นการแสดงออกว่าให้ผู้ป่วยทำใจ     นางวรรณา จารุสมบูรณ์ เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม กล่าวว่า การดูแลจิตในวันสุดท้ายเพื่อให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี หากผู้ป่วยในการฝึกปฏิบัติที่ดีก็อาจจะทราบดีว่าต้องทำอย่างไร แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยฝึกปฏิบัติ ก็เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นจากการตั้งสติให้ดี เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการเจ็บปวดกระสับกระส่าย อาการเหล่านี้จะกระตุ้นให้ญาติตกใจ และเร่งให้การรักษาโดยลืมถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่ไม่ขอรับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต บางคนเมื่อให้การรักษา ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วกลับนึกถึงความต้องการของผู้ป่วยขึ้นมาก็เป็นเรื่องยากแล้ว ในการถอดเครื่องช่วยหายใจออกเช่นกัน  ดังนั้นในชั่วโมงสุดท้ายขอให้ตั้งหลักนิ่งๆ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถรักษาโรคให้กลับมาเป็นปกติได้แล้ว  จะทำอย่างไรให้ไปสงบมากกว่า      สำหรับขั้นตอนดูแลชั่วโมงสุดท้ายของผู้ป่วยมีวิธีดังนี้คือ 1. ทำ ให้ทุกข์ทางกายผ่อนคลายลง ถ้าผู้ป่วยเจ็บปวดก็ให้มอร์ฟีนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสพติด จากนั้นให้สังเกตอาการปวดลดลง และเริ่มนิ่งให้จัดท่านอนให้สบาย ดูอุณหภูมิให้เหมาะสมเพราะบางคนจะรู้สึกหนาว บางคนรู้สึกร้อนเหงื่อออกแสดงว่าธาตุไฟแตก ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ และดูภาวะอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ธรรมชาติเตรียมขั้นตอนการตายของคนเราให้มีความสงบที่สุขอยู่แล้ว เช่น เมื่อกินไม่ได้ร่างกายก็จะหลั่งสารคีโตนออกมา แต่ที่ทรมานเพราะมีกระบวนการแทรกแซงจากกระบวนการทางการแพทย์ทั้งหลาย       2. การดูแลด้านจิตใจ ดูว่าผู้ป่วยพร้อมหรือไม่ หากไม่พร้อมจะช่วยอย่างไร เช่น ห่วงใคร ห่วงอะไร และช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ อย่าไปบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นเพียงการปลอบใจ แต่ต้องช่วยบรรเทาเขา บางคนอยากทำบางอย่างก่อนตายก็ช่วยให้บรรลุความตั้งใจ เช่น อยากสั่งเสีย อยากพบใครสักคน อยากถวายสังฆทาน เป็นต้น นอกจากให้ทำสิ่งที่ปรารถนาแล้วต้องดูว่ามีเรื่องค้างคาใจหรือไม่ เช่น เคยทำเรื่องไม่ดี เคยทะเลาะกับใคร ถ้าคนนั้นยังอยู่ก็พามาพบเพื่อจะได้ขอโทษ อโหสิกรรมกันได้ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องให้อภัยตัวเองด้วย หรือให้ผู้ป่วยเขียนจดหมายส่งถึงคนที่ยังรู้สึกติดค้างใจ เป็นต้น      สุดท้ายคือเรื่องของจิตก่อนเสียชีวิตควรมีที่พึ่งที่ระลึกถึง หากผู้ป่วยเป็นคนอยู่ในศีล ในธรรม ก็ให้นึกถึงเรื่องบุญกุศล แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม ก็ขอให้ระลึกถึงความดีที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาชีพสุจริต การทำความดี เป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่เคยให้ร้ายใคร ช่วยเหลือเกื้อกูล หรือระลึกถึงสิ่งที่ภูมิใจ เช่น ส่งลูกเรียนจบปริญญาทุกคน เป็นต้น หรือหากผู้ดูแลไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้ทำความดีมาแค่ไหน ก็สามารถพูดกลางๆ ได้ เช่น ให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำมา อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตการรับรู้อ่อนลง สมองช้าลง ดังนั้นขอให้พูดคุยกับผู้ป่วยใกล้ๆ หู เช่น กล่าวอโหสิกรรม บอกรักให้พูดใกล้ๆ หู และพูดสั้นๆ ช้าๆ ชัดๆ อย่าพูดเร็ว เพราะจิตตามไม่ทัน     “หลายคนที่ทำแล้วได้ผลคือการนำจินตนาการ นำให้นึกถึงวันที่ดีๆ สถานที่ที่เคยไปแล้วเขาประทับใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นจิตวิญญาณของเขา โดยสรุปคือการดูแลให้สุขสบายในช่วงสุดท้าย แต่เรื่องไหนที่จัดการไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ถ้าใครที่ร้องไห้ฟูมฟายควรให้ออกไปข้างนอก เพราะอาจจะทำให้คนไข้ตายโดยไม่สงบ ดังนั้นหมู่ญาติต้องคุยกัน ว่าร่างกายคนไข้ส่งสัญญาณแล้ว จะต้องรวมพลังส่งให้ไปสบายที่สุด บอกรัก กอด หอมแก้ม ห้ามทะเลาะกัน อย่าพูดเรื่องไม่ดี อย่าทำให้บรรยากาศเศร้าหมอง ถึงเวลาแล้วมันจะสงบและงดงามมาก ถ้าเราปล่อยให้กระบวนการตายนั้นเป็นไปอย่างธรรมชาติ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักสังคมฯ ที่เข้าใจเรื่องวาระสุดท้าย ควรเตรียมญาติ และมีทางเลือกให้เขาจะได้ไม่เกิดรบกวนการยื้อชีวิต ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นที่ภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ จะฝากความหวังไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียวไม่ได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 สบายใจกับการเดินทางรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เคยไหมคะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่ไม่รู้ต้องขึ้นสายไหน...โดยเฉพาะวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้เขียนเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ ไม่ได้เติบโตในกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่ใครๆ ก็ต้องต่างทยอยเข้ามาอยู่อาศัยและหางานทำ จึงไม่แปลกที่จะมีอาการสับสนกับการใช้รถโดยสารสาธารณะกลางใจเมืองขนาดนี้ แถมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นจุดศูนย์กลางของถนนสี่สาย ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าแต่ละเส้นทางไปที่ใดบ้าง บอกได้คำเดียวคะว่า “งง” ล่าสุดได้มีผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะแบ่งออกเป็น 4 ฝั่ง หรือ 4 เกาะ ได้แก่ เกาะดินแดง เกาะพญาไท เกาะราชวิถี และเกาะพหลโยธิน ซึ่งเรียกชื่อตามสายถนนนั่นเอง ถ้าต้องมีการอธิบายถึงป้ายรถเมล์หรือรถตู้ที่ต้องรอขึ้น โดยไม่ชี้ฝั่งหรือเกาะให้ชัดเจน ให้กับคนที่เดินทางมาผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครั้งแรก (บางคนผ่านบ่อยครั้งยังไม่รู้เลย) กว่าจะเข้าใจตรงกันคงต้องใช้ความพยายามมากหน่อย  แค่พูดชื่อ 4 เกาะ ก็งงกันแล้ว แต่ถ้าอาศัยแผนที่ฉบับนี้จะสามารถช่วยได้อย่างมาก ผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้ มีชื่อว่า “easymap” โดยสามารถดาวน์โหลดภาพแผนที่ได้ที่ www.easymap.in.th มาไว้ที่สมาร์ทโฟนได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ต้องบอกก่อนนะคะว่าผู้เขียนไม่ได้แนะนำเพื่อต้องการให้ไปทำธุรกิจหรือซ้อสินค้าใดๆ เพียงแต่ต้องการนำข้อมูลในส่วนที่มีประโยชน์แก่การเดินทางของประชาชนมาให้ทราบกันเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เขียนขออธิบายประโยชน์ที่จะได้รับจากภาพแผนที่นี้ คือ ถ้าเป็นภาพแผนที่รถเมล์บริเวณ 4 เกาะรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แผนที่จะบอกรายละเอียดถึงป้ายรถเมล์ที่สามารถรอขึ้นรถ โดยบอกสายรถเมล์จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งใช้สีต่างๆ เพื่อบอกเส้นทางดังกล่าว  ส่วนภาพแผนที่รถตู้ จะบอกจุดขึ้นรถรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อบอกว่าจุดไหนมีบริการรถตู้ไปที่ใดบ้าง หลังจากที่ผู้เขียนบ่นมาแสนนานที่ต้องสับสนกับการขึ้นรถเมล์บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภาพแผนที่ที่ถูกจัดทำขึ้นมานี้ช่วยให้ความสับสนของผู้เขียนลดน้อยลงแล้วค่ะ และด้วยภาพแผนที่ที่มีอยู่นี้เลยต้องขอทำตัวเป็นพลเมืองดีกันสักหน่อย เพราะมีโอกาสได้แนะนำเส้นทางบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้กับผู้คนที่ต้องผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตลอด บอกตรงๆ ค่ะ เข้าใจความรู้สึกสับสนนั้นได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมพลังทางเพศ

ในเว็บไซต์ โทรทัศน์ เฟซบุ๊ค มีการโฆษณาเกี่ยวกับยา อาหารเสริมที่เสริมพลังทางเพศทั้งชายและหญิง (สำหรับประเทศไทยจะเน้นผู้ชายเป็นหลัก) จำนวนมาก  และมักเน้นว่า ยาและอาหารเสริมพลังทางเพศเหล่านี้ทำให้สามารถมีกิจกรรมทางเพศยาวนานขึ้น ถี่ขึ้น ทนทานดีขึ้น  อวัยวะเพศชายที่ไม่ค่อยแข็งสามารถแข็งตัวได้ดี  เรียกว่าครอบจักรวาลและทางช้างเผือกเลย  ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากอยากทดลอง  เมื่อไม่ได้ผลก็ไม่กล้าออกมาร้องเรียนเพราะสังคมไทยถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่น่ามาเปิดเผยสู่สาธารณะ  เรามารู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้กันเถอะปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศการมีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศนั้นหมายถึง ความไม่พอใจหรือขาดความสุขของแต่ละบุคคลหรือคู่ครองในการมีกิจกรรมเพศสัมพันธ์ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง  ได้แก่ ความสุขทางกาย ความต้องการทางเพศ การสัมผัส การถึงจุดสุดยอดทางเพศ  นานอย่างน้อย 6 เดือน  จึงจะถือว่ามีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ   การมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศอาจแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ความผิดปกติของ  ความต้องการทางเพศ  การปลุกเร้าอารมณ์  การถึงจุดสุดยอด  และการปวดจากการมีเพศสัมพันธ์ ความผิดปกติของความต้องการทางเพศ เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงและเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย  นอกจากนี้อาจเกิดจากการสูงอายุ อ่อนล้า ตั้งครรภ์ ยา ปัญหาทางจิตเช่น การซึมเศร้า วิตกกังวล    อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว  เกิดจากทั้งทางกายและจิต  สาเหตุที่พบมากคือการบาดเจ็บหรือเสื่อมของเส้นประสาทที่บริเวณอวัยวะเพศชาย การหลั่งเร็วก่อนกำหนด  หมายถึงการหลั่งน้ำอสุจิภายใน 2 นาทีเมื่อสอดอวัยวะเพศชายเข้าในช่องคลอดผู้หญิง  ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากระบบประสาทที่กระตุ้นให้หลั่งเร็วกว่ากำหนด การไม่ถึงจุดสุดยอด  เป็นปัญหาใหญ่และเกิดขึ้นในคู่ครองจำนวนมาก บางรายงานให้มากถึงร้อยละ 75 ของคู่ครอง สาเหตุเกิดจากทาง กาย จิต หรือยาบางชนิด  ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนประมาณ 1 ใน 3 จะมีปัญหาเรื่องนี้ การปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์  ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิง  อาจเกิดจากน้ำหล่อลื่นช่องคลอดน้อยลง ซึ่งเกิดจากการปลุกเร้าไม่นานพอหรือการหมดประจำเดือน  บางคนมีอาการปวดจากการบีบรัดของกล้ามเนื้อช่องคลอดทำให้การสอดของอวัยวะเพศชายลำบากและเจ็บปวด อาการที่เกิดหลังจากการมีจุดสุดยอด  บางคนมีอาการหลังจากการมีจุดสุดยอดไม่นาน  บางคนมีอาการโศกเศร้าและวิตกกังวลหลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง  อาการปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง  ในผู้ชายอาจเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัวในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ อาจมีอาการนานถึงสัปดาห์ แนวทางการรักษาในปัจจุบัน    แนวทางการรักษาในปัจจุบันและได้ผลได้เปลี่ยนความคิดว่าเรื่องนี้เกิดจากพยาธิสภาพของจิต มาเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคู่ครอง  การแก้ปัญหาต้องทำเป็นคู่เนื่องจากเพศสัมพันธ์เกิดจากกิจกรรมร่วมกันของคนสองคน  การพูดคุย สื่อสารทางเพศเป็นหัวใจสำคัญ    โดยสรุป  ปัญหาสมรรถภาพทางเพศนั้นมีสาเหตุทั้งทางกาย ทางจิต  ในแต่ละด้านนั้นก็ยังมีสาเหตุต่างๆ อีกมาก   การซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยาเพื่อเพิ่มพลังทางเพศนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาโดยที่เราไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง  และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างเพียงแค่กินมันเข้าไป  การแก้ปัญหาสมรรถภาพทางเพศที่ได้ผล  คือการรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง  ออกกำลังกาย  และการพูดคุยกันระหว่างคู่ครองเพื่อจะได้เข้าใจชีวิตทางเพศ และแก้ปัญหาร่วมกันได้ถูกทิศทาง                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางอย่างไรดี

ผู้ที่ชื่นชอบการแต่งหน้าเป็นประจำ สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือสิว ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเราล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด จนทำให้เกิดการอุดตันรูขุมขน สำหรับบางคนแม้จะล้างสะอาดหน้าแล้วก็ยังเป็นสิวหรือมีผื่นเล็กๆ ขึ้นอยู่เสมอ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเราเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่ไม่เหมาะสมกับสภาพผิวหน้าของเรา ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวให้หน้าเหี่ยวก่อนวัยได้ แล้วอย่างนี้เราควรมีวิธีเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางอย่างไร ให้สะอาดและเหมาะสมกับผิวหน้าตัวเองเริ่มจากเช็คสภาพผิวหน้าของตัวเองก่อน ก่อนที่เราจะเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง เราควรรู้ว่าสภาพผิวหน้าของเราเป็นแบบไหน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทดังนี้1. ผิวธรรมดา (Normal Skin) คือ ผิวที่มีความสมดุล ไม่แห้งหรือมันเกินไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผิวที่มีสุขภาพดี2. ผิวแห้ง (Dry Skin) คือ ผิวที่มีความมันน้อยกว่าปกติ เนื่องจากขาดกรดไขมันที่จำเป็นในการรักษาความชุ่มชื้น ทำให้รู้สึกหยาบกร้านและดูหมองคล้ำ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยได้ง่ายที่สุด3. ผิวมัน (Oily Skin) คือ ผิวที่มีการผลิตความมันในปริมานมากเกินไป จะมีลักษณะมัน เงาและสามารถมองเห็นรูขุมขนได้ชัดเจน4. ผิวผสม (Combination Skin) คือ ผิวที่แห้งและมันบริเวณทีโซน (T-zone) ตรงหน้าผากและจมูก เริ่มทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางปัจจุบันผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอาง หรือ Cleansing ตามท้องตลาดมีหลายประเภท เพราะผู้ผลิตมักออกแบบมาให้เหมาะสำหรับผู้มีสภาพผิวที่แตกต่างกัน  ซึ่งเราสามารถจำแนกออกมาเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้1. Cleansing water คือ ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางแบบน้ำ ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน (oil-free) ทำให้ไม่มีความเหนอะหนะ เหมาะสำหรับคนผิวมัน และผู้ที่แต่งหน้าอ่อนๆ2. Cleansing milk คือ ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางเนื้อเหลวกึ่งข้น ซึ่งมีน้ำและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ โดยบางยี่ห้ออาจมีน้ำนมผสมอยู่ด้วย เหมาะสำหรับคนผิวธรรมดา – แห้ง 3. Cleansing Cream และ Balm คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชนิดครีม ส่วนใหญ่จะมี Mineral Oil, Beeswax เป็นส่วนประกอบ เหมาะสำหรับคนผิวธรรมดา – แห้งมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้ล้างหน้าเป็นประจำ เพราะอาจทำให้อุดตันรูขุมขนได้ 4. Cleansing Oil คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน และมี Mineral oil เป็นส่วนประกอบทำให้ล้าง make up ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อล้างแล้วจะทำให้หน้ามีความชุ่มชื่น ไม่แห้งตึง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีแนวโน้มเป็นสิวง่ายเพราะสามารถอุดตันรูขุมขนได้ดี5. Eye remover หรือ Dual Phase Cleansing คือ ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางเฉพาะรอบดวงตาและริมฝีปาก โดยมีส่วนประกอบหลักคือน้ำและน้ำมัน หากมองภายนอกจะเห็นว่าแยกเป็น 2 ชั้น เหมาะสำหรับทุกสภาพผิวทั้งนี้สำหรับบางคนที่นำ Baby oil มาล้างเครื่องสำอาง พบว่าส่วนผสมหลักคือ mineral oil ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวมัน เพราะสามารถทำให้หน้ามันมากขึ้น และอุดตันรูขุมขนจนทำให้เกิดสิวได้แนะวิธีเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางนอกจากเราจะเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางให้เหมาะสมกับสภาพผิวหน้าของเราแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งสามารถทำให้เราแพ้หรือเกิดอาการระคายเคืองได้ ดังนั้นวิธีเบื้องต้นในการเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางคือ- ควรเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะสามารถทำลายสมดุลของใบหน้า และทำให้ผิวแห้งตึงหรืออักเสบได้ - หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่มีน้ำหอม เพราะสามารถทำให้เกิดการแพ้ หรือระคายเคืองผิวได้มากที่สุด- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางที่มีสารกันบูด เพราะสามารถทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ซื้อ ขาย ครีมออนไลน์..อย่าปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยมาล้อมคอก

ธุรกิจซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้น  สินค้าอันดับต้นๆ ที่ขายดิบขายดีจนผู้ขายหลายรายร่ำรวยไปตามๆ กันคือ เครื่องสำอาง จนเป็นที่ติดปากในกลุ่มวัยรุ่นว่า เน็ตไอดอลขายครีม ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ขายครีมทางเน็ตกลุ่มหนึ่ง ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ๆ  ว่า ปัจจุบันนี้จะมีผู้ผลิตครีมบางรายที่ได้รับอนุญาตจดแจ้งเครื่องสำอางแล้ว  ผู้ผลิตเหล่านี้จะมีสูตรเครื่องสำอางให้เลือกมากมายทั้งสูตรของตนเอง หรือสูตรเดียวกับครีมยี่ห้อดังๆ ในท้องตลาด  และจะเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจขายครีมทางเน็ตมาเลือกครีมสูตรต่างๆ ของตนไปจำหน่ายในนามผลิตภัณฑ์ของตนเอง  โดยจะเดินเรื่องขออนุญาตจดแจ้งเครื่องสำอางให้  รวมทั้งจะออกแบบภาชนะบรรจุและฉลากให้อย่างสวยงาม  โดยจะใช้ชื่อบริษัทของตนเป็นผู้ผลิตให้ และระบุชื่อผู้สนใจเป็นผู้จัดจำหน่าย  ซึ่งผู้ที่จัดจำหน่ายไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แค่เสียค่าสูตรประมาณพันกว่าบาท และค่าสินค้าที่จะสั่งผลิต  เมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว  ผู้จัดจำหน่ายก็จะมีสินค้าของตนเองไปโฆษณขายได้ใน เฟซบุ๊ค ไลน์ หรืออินสตราแกรม สบายๆ  ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นครีมเหล่านี้  มีขายมากมายหลายยี่ห้อทางเน็ต  ซึ่งยากที่จะระบุได้ว่าครีมยี่ห้อไหนปลอดภัยหรือไม่คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะตัดสินใจซื้อครีมทางเน็ต1. อย่าซื้อเพราะภาชนะบรรจุหรือฉลากที่สวยงาม เพราะสิ่งที่จะเสี่ยงต่อผิวกายเราคือตัวผลิตภัณฑ์ในภาชนะ2. เครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ฯลฯ กับส่วนภายนอกของร่างกายคน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด   ความสวยงาม หรือระงับกลิ่นกาย หรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี เครื่องสำอางจะไม่สามารถรักษาโรค หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ของร่างกายได้3. อย่าเชื่อโฆษณาจากภาพนายแบบ นางแบบที่สวยงามดูดี  เพราะสิ่งเหล่านี้ สามารถใช้เทคนิคต่างๆ ทำให้สวยงามเกินจริงได้  เราควรใส่ใจใน “เนื้อหาของโฆษณาเครื่องสำอาง” หากโอ้อวดสรรพคุณจนดูเหมือนเป็นยารักษาโรค หรือโอ้อวดเกินจริง เห็นผลทันใจ  ให้ตั้งสติไว้ก่อนว่า แนวโน้มอาจหลอกลวง4. พยายามตรวจสอบข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์จากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บไซต์หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ (http://tumdee.org/alert/)  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  หากพบผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตเดียวกับที่เราจะซื้อมาใช้  แม้คนละยี่ห้อ ก็ควรระวังไว้ก่อน คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะขายครีมทางเน็ต1. อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจจ้างผลิต เพียงเห็นแค่สูตรตำรับและคำโฆษณาของผู้ผลิต ควรไปดูสถานที่ให้เห็นกับตา2. หากผู้ผลิตนำสูตรตำรับต่างๆ มาเสนอชักชวน  ให้ระวังสูตรตำรับที่โฆษณาเกินจริง หรือสูตรที่โฆษณาสรรพคุณไปทางยา เพราะอาจมีสารที่ห้ามใช้ผสมอยู่3. พยายามตรวจสอบข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์จากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ (http://tumdee.org/alert/) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  หากพบผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตเดียวกับที่เราจะใช้ แม้คนละยี่ห้อ ก็ควรระวังไว้ก่อน4. ควรมีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ผลิตด้วย เช่น ชื่อ บัตรประชาชน  และเมื่อจ้างผลิตแล้ว ควรทำสัญญาให้รัดกุม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 คำมั่นสัญญา มีผลทางกฎหมายอย่างไร

 สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องการไปสัญญามั่นหมายกับคนอื่นในการซื้อของ บางครั้งการที่กล่าวอะไรออกไป แม้ดูว่าเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ในทางกฎหมายนั้น คำมั่นคือสัญญาที่ผู้ให้คำมั่นผูกพันตนเองในการที่จะให้คำมั่นแก่ผู้รับคำมั่น เรียกง่ายๆ ว่าผู้ให้สัญญายอมผู้ผูกพันตนเองแต่ฝ่ายเดียวนั่นเอง ตามกฎหมายแล้วถือว่ามีผลผูกพันมีผลใช้บังคับกันได้นะครับ ดังนั้นจะต้องระวังกันให้ดี อย่างเช่นเรื่องดังต่อไปนี้ มีคนสองคนเขาเป็นญาติกัน วันหนึ่งพวกเขาตกลงขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่กัน  โดยมีเงื่อนไขว่า ภายใน 10 ปี ผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายมาซื้อคืนได้ แต่ตกลงกันด้วยปากเปล่า แล้วต่อมาจึงมีการทำสัญญากันภายหลัง โดยมีคำมั่นต่อกันว่า ผู้ขายจะไม่นำที่ดินและโรงเรือนดังกล่าวไปขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ซื้อขาย หากผู้ขายมีเงินสามารถซื้อคืนได้    เช่นนี้ คำมั่นดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ เมื่อต่อมา ผู้ขายมีเงินมาซื้อที่ดินและโรงเรือนคืน ผู้ซื้อไม่ยอมขาย ผู้ขายจึงมีสิทธิมาฟ้องบังคับตามคำมั่นในสัญญาได้ ดังตัวอย่างคำพิพากษาฏีกาที่  170/2497  และ คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 คำพิพากษาฏีกาที่  170/2497   “ขายที่ดินและโรงเรือนให้แก่ญาติกัน โดยตกลงกันด้วยปากเปล่า ก่อนทำหนังสือสัญญาซื้อขายว่า ภายใน 10 ปีผู้ซื้อยอมให้ผู้ขายมีสิทธิไถ่คืนได้ ถือว่าการตกลงด้วยปากเปล่าดังนี้เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนแล้ว ข้อตกลงเช่นนี้ ก็สูญเปล่าไม่มีผลบังคับแก่กันได้ สัญญาซื้อขายที่ทำกันในภายหลังนั้น จึงสำเร็จเด็ดขาดไป แต่เมื่อปรากฎว่าต่อมาอีก 2 ปีเศษ ผู้ซื้อกับผู้ขายได้ทำหนังสือสัญญากันอีก ให้คำมั่นสัญญาว่า ที่ดินและโรงเรือนรายนี้จะไม่ขายคนอื่น และภายใน 10 ปีนับแต่วันซื้อขาย ผู้ขายมีเงินจะซื้อกลับผู้ซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเซ็นสัญญา ดังนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นคำมั่นจะขายตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 456 วรรค 2 ผู้ขายเดิมจึงมีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาใหม่นี้ได้”  คำพิพากษาฎีกาที่ 3670/2528 “ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาต่อกันอีกฉบับหนึ่งว่า โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนได้ภายใน 10 ปี ดังนี้ สัญญาที่ทำต่อกันไม่ใช่สัญญาขายฝากหรือนิติกรรมอำพราง แต่ข้อกำหนดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากจำเลยได้ภายใน 10 ปี เป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรค 2 จึงมีผลผูกพันคู่กรณีใช้บังคับกันได้” อีกเรื่องที่อยากให้ผู้อ่านทราบคือ เวลาให้คำมั่นกับใครก็ตาม หากเราได้กำหนดระยะเวลาไว้ คำมั่นนั้นก็มีผลเพียงเท่าระยะเวลาที่กำหนด  แต่ถ้าเกิดให้คำมั่นแล้วไม่กำหนดเวลาไว้ ศาลได้ตัดสินว่า คำมั่นที่ไม่มีกำหนดเวลา จะมีผลผูกพันตลอดไป ดังเช่น คำพิพากษาฏีกาที่ 1004/2485 คำพิพากษาฎีกาที่ 1004/2485(ประชุมใหญ่) “ทำสัญญาขายนาแล้ว ต่อมาทำหนังสือมีข้อความว่า ถ้าผู้ขายมีเงินมาไถ่คืนเมื่อใด ผู้ซื้อจะคืนนาให้เมื่อนั้น โดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนี้เป็นคำมั่นในการซื้อขาย คำมั่นในการซื้อขายซึ่งไม่มีกำหนดเวลา ถ้าผู้ให้คำมั่นมิได้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบตกลงให้เสร็จไป คำมั่นนั้นก็ผูกพันอยู่ตลอดไป แม้จะเกิน 10 ปี อีกฝ่ายก็ยังตอบตกลงให้ทำการซื้อขายได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 เจ็บป่วยฉุกเฉิน ยังคงต้องสำรองจ่าย

แม้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ที่ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2555 แต่ก็ยังเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินบางราย ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้สามีของผู้ร้องเป็นโรคหัวใจ ซึ่งขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนสถานีรถไฟฟ้าก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ทำให้หมดสติ ต่อมาจึงได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นคือ โรงพยาบาลพระราม 9 แต่ภายหลังเข้ารับการรักษา สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทางโรงพยาบาลให้วางเงินมัดจำนวนเกือบ 80,000 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาล แม้ผู้ร้องจะแจ้งว่าขอใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้เบิกคืนได้ที่กองทุนฉุกเฉิน เธอจึงต้องระดมหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กับโรงพยาบาล ภายหลังจ่ายเงินเรียบร้อย เธอจึงไปติดต่อเบิกเงินคืนจาก สปสช. ซึ่งได้คืนประมาณ 19,000 บาท ส่วนที่เหลือกองทุนแจ้งว่า ต้องไปทำเรื่องขอความอนุเคราะห์เบิกกับที่โรงพยาบาลดังกล่าวแทน ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงขอความช่วยเหลือมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องต้องการทราบว่าจะได้รับเงินที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงช่วยทำหนังสือประสานงานไปยัง สปสช. และโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอ้างตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ภายหลังทางโรงพยาบาลยินยอมที่จะไม่เรียกเก็บเงิน พร้อมคืนเงินส่วนต่างทั้งหมดให้ ดังนั้นแนวทางสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินรายอื่นๆ ที่ไม่ต้องการเสียเงินเมื่อเข้ารับการรักษา มีดังนี้1. หากเลือกโรงพยาบาลได้ควรเป็นของรัฐ เพราะเจรจาต่อรองได้ง่ายกว่าเมื่อเกิดปัญหา2. ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งสำหรับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ แพทย์จะพิจาณาตามข้อบ่งชี้ ดังนี้ - โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายต่อผู้อื่น- โรคหรืออาการของโรคที่มีลักษณะรุนแรง ต้องรักษาเป็นการเร่งด่วน- โรคที่ต้องผ่าตัดด่วน หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต- โรคหรือลักษณะอาการของโรคที่คณะกรรมการกำหนด- ความดันโลหิต ชีพจร อาการของโรค การวินิจฉัยโรค แนวทางการรักษาและความเร่งด่วน ในการรักษารวมทั้งคำนึงถึงการรับรู้ของผู้รับบริการที่มีต่อการป่วยด้วย3. หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ต้องยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉิน โดยอ้างสิทธิตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากเจรจาตกลงกันไม่ได้ ควรแจ้งเรื่องที่สายด่วน สปสช. (โทรฟรี) 1330 4. เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่องอ้างอิงข้อมูล: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ http://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_useuc.aspx#b และ http://indyconsumers.org/main/index.php/information/handbook/health-service-157/168-571028016  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 อย่าชะล่าใจกับเครื่องใหม่มือหนึ่ง

แม้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อยอดนิยมของคนส่วนใหญ่อย่าง iphone จะเปิดตัวด้วยราคาที่สูงเพียงไร แต่ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผู้ร้องรายนี้ที่ต้องการซื้อ iphone รุ่นใหม่อย่าง 6s Plus ที่มีราคาสูงกว่าสามหมื่นบาท แต่การตัดสินใจซื้อของเขามีจุดพลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ตรวจเช็คสภาพเครื่องก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังเดิมทีผู้ร้องซื้อโทรศัพท์ดังกล่าวจากบูทของ เอไอเอส ในงาน Thailand expo 2016 โดยไม่ได้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของหน้าจอโทรศัพท์ก่อน เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้านและเปิดเครื่องใช้งานก็พบว่าหน้าจอเกิดความผิดปกติของเม็ดสี หรือ Dead Pixel เป็นจุดสีเขียวขนาดเท่าปลายเข็ม เขาจึงนำโทรศัพท์กลับไปเปลี่ยนที่บูทดังกล่าว แต่ก็พบว่าเลยเวลาจัดกิจกรรมของงานแล้ว ทำให้ต้องกลับไปอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นแทน ภายหลังแจ้งปัญหากับพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนต้องเป็นภายในวันที่ซื้อเท่านั้น และหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรติดต่อกับบริษัทของ iphone ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ผู้ร้องจึงมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทของโทรศัพท์ คือ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลว่าการที่โทรศัพท์ดังกล่าวเกิดปัญหา Dead Pixel เป็นจุดสีเขียว ไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อ เพราะโทรศัพท์น่าจะมีปัญหาดังกล่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับโทรศัพท์ที่มีคุณภาพตามราคาที่ซื้อ ซึ่งภายหลังผู้ร้องส่งหนังสือไปบริษัท แอปเปิ้ล ก็ได้รับการตอบกลับว่าสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยให้ไปติดต่อศูนย์บริการเอไอเอส ที่สาขาสยามพารากอน และเมื่อผู้ร้องสามารถเปลี่ยนเครื่องได้ที่ศูนย์บริการดังกล่าวเรื่องจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม >