ฉบับที่ 182 คอลเซ็นเตอร์

ผู้บริโภคในปัจจุบัน นอกจากจะมีความทุกข์จากการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า และใช้บริการแล้ว ก็พบว่า ทุกข์ที่สำคัญอีกเรื่องเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิร้องเรียน หรือการเข้าถึงการร้องเรียนของบริษัทผ่านคอลเซ็นเตอร์ การร้องเรียนของผู้บริโภค ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที ทำให้ผู้ร้องเรียนต้องเสียค่าบริการมากกว่า 30 บาทต่อครั้ง เนื่องจากบริษัทฯ คิดค่าบริการนาทีละ 1 บาท ในการติดต่อกับคอลเซนเตอร์ กิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการเดียวในปัจจุบันที่มีการกำหนดมาตรฐานในการรับเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทเสียง ได้กำหนดว่าระยะเวลาที่ต้องรอในการขอใช้บริการดูแลลูกค้าจากศูนย์ตอบรับโทรศัพท์ต้องไม่นานเกินกว่า 60 วินาที และกำหนดให้มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีในการรับเรื่องร้องเรียน แต่ก็พบว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมด ทั้งเอไอเอส ทรู ดีแทค และกสท. รอสายนานเกิน 60 วินาที ยกเว้นทีโอทีที่รอสายไม่เกิน 60 วินาที แต่กสทช. ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก ทั้งที่มีเรื่องร้องเรียนใช้บริการทั่วไปรอสายนานมากกว่า 30 นาทีด้วยซ้ำ แถมเจอเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทที่มีเบอร์โทรศัพท์ฟรีคนละเบอร์กับเบอร์ที่ให้บริการลูกค้า หมายเลขร้องเรียนที่จำยากเป็นเลข 7 ตัวแทนที่จะเป็น 4 ตัวเดิมของบริษัท กิจการอื่นๆ ไม่ว่าจะ เป็นธนาคารพานิชย์ สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัยทุกประเภท หรือแม้แต่ล่าสุดการขายกิจการของแกรมมี่ให้ CTH และปัญหา PSI กับ CTH ทุกบริษัท ต่างมีบริการหมายเลขพิเศษในการร้องเรียน แต่แทบทุกบริษัทก็เข้าถึงยาก รอสายนาน ทำให้เป็นปัญหาและต้นทุนของผู้บริโภคในการร้องเรียนทั้งสิ้น ทุกครั้งที่โทรศัพท์ร้องเรียน ต้องภาวนาให้มีคนรับสาย บางบริษัทมีระบบนับจำนวนคนรอสายให้ด้วยซึ่งจากการทดลองพบว่า มีมากกว่า 19 คน ที่รอสาย ผู้บริโภคต้องใช้ความพยายามมาก ถึงจะมีคนรับสาย สามถึงสี่ครั้งถึงจัดการได้สำเร็จ ได้ยินแต่เพลงรอสายที่โฆษณาบริษัท “ที่นี่... เราพร้อมให้บริการคุณ.. ที่นี่เราเป็นเพื่อนคุณ” การเข้าถึงที่ยากในการร้องเรียนทำให้คนจำนวนมากที่ต้องการร้องเรียนเลิกพยายามโทรศัพท์ และเลิกร้องเรียน แน่นอนว่า หากผู้บริโภคเลิกร้องเรียนก็ย่อมเป็นประโยชน์กับบริษัท บริษัทที่ไม่มองเรื่องนี้ระยะยาว ย่อมไม่ต้องการปรับปรุงระบบรับเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากนัก แต่บริษัทที่ต้องการฟังเสียงจากผู้บริโภคย่อมพยายามที่จะทำให้มีระบบเพื่อรับฟังความพึงพอใจของผู้บริโภค บางบริษัทก็แอพลิเคชั่น หรือวิธีการใหม่ๆ ในการดูแลเรื่องร้องเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้ กติกาในการใช้บริการรับเรื่องร้องเรียนหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนของบริษัท ควรเป็นหนึ่งในมาตรฐานและคุณภาพของบริษัทในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานการให้บริการร้องเรียนของบริษัทที่ต้องเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการอนุญาตให้บริการ ทางออกสำหรับผู้บริโภค ก็อาจจะต้องไปร้องเรียนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือใช้วิธีป่าวประกาศให้โลกรู้ ผ่านออนไลน์ ถือเป็นไม้เด็ดของผู้บริโภคที่ยังใช้งานได้ดีในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เชื้อจุลินทรีย์ในโยเกิร์ต

โยเกิร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนมเปรี้ยว(fermented milk) หรือผลิตภัณฑ์นมชนิดที่ได้จากการหมักด้วยแบคทีเรียกลุ่มที่ผลิตกรดแล็กทิก (lactic acid bacteria, LAB) แบคทีเรียชนิดที่นิยมใช้หมักโยเกิร์ต คือ สเตรพโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus) และแล็กโทบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactoobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus) โดยผู้ผลิตมักใช้เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดนี้ร่วมกันเพื่อให้สามารถผลิตโยเกิร์ตได้เร็วขึ้น มีกลิ่นและรสชาติดีกว่าใช้เชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดและสายพันธุ์ที่คัดเลือกมาเป็นหัวเชื้อจะมีผลต่อรสชาติและกลิ่นรวมทั้งเนื้อสัมผัสของโยเกิร์ต ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาขาย และอาจมีการเติมแบคทีเรีย LAB ชนิดอื่นลงไปด้วย เช่น แบคทีเรียกลุ่มโพรไบโอติก อย่าง บิฟีโดแบคทีเรียม(Bifidobacterium) โยเกิร์ตนั้นโดยทั่วไปจะใช้น้ำนมวัวเป็นวัตถุดิบ แต่ก็สามารถใช้น้ำนมจากสัตว์ชนิดอื่น เช่น น้ำนมแพะ หรือผลิตภัณฑ์จากพืช เช่น น้ำนมถั่วเหลืองหรือกะทิแทนน้ำนมวัวได้ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเรียกโยเกิร์ตที่ผ่านการปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือเติมผลไม้ลงไปว่า โยเกิร์ตปรุงแต่ง (flavoured yogurt) ทั้งโยเกิร์ตและโยเกิร์ตปรุงแต่งจะต้องมีจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมักที่มีชีวิตคงเหลืออยู่ ในประเทศไทยโยเกิร์ตจะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ โยเกิร์ตชนิดแข็งตัว(set yoghurt) ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และโยเกิร์ตชนิดคน(stirred yoghurt) ซึ่งเนื้อโยเกิร์ตค่อนข้างเหลวไม่จับเป็นก้อน   การเลือกซื้อโยเกิร์ต จุดเด่นที่เราต้องการจากโยเกิร์ตคือ จุลินทรีย์กลุ่มแลกทิก(LAB) ซึ่งช่วยเรื่องสมดุลในระบบทางเดินอาหารและยังทำให้คนที่ไม่สามารถดื่มนมได้เนื่องจากขาดเอนไซม์ที่จะย่อยแลกโทสในน้ำนมนั้น สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนได้ หลักการซื้อจึงควรดูเรื่องอุณหภูมิในการเก็บรักษาโยเกิร์ต เชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้หมักและรุ่นการผลิต   1.เลือกที่มีวันผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ เพื่อให้ได้โยเกิร์ตที่สดใหม่ ซึ่งจะยังมีเชื้อจุลินทรีย์ LAB ที่มีชีวิตจำนวนมาก(เชื้อจุลินทรีย์จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวัน) 2.ตู้แช่บริเวณชั้นวางผลิตภัณฑ์ควรมีอุณหภูมิในการเก็บรักษาระหว่าง 2 – 5 องศาเซลเซียส คือต้องเย็นพอๆ กับตู้เย็นบ้านหรือเย็นกว่า เนื่องจากจุลินทรีย์ LAB ชอบอากาศเย็น และจะคงสภาพมีจำนวนเชื้อที่มีชีวิตมากกว่าในที่อากาศร้อน 3.พลิกดูฉลากอ่านชื่อเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในถ้วยถ้าเป็น สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัสและแล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส เพียงสองชนิดจัดว่าเป็นโยเกิร์ตธรรมดา แต่หากต้องการโยเกิร์ตที่เป็นโพรไบโอติก ต้องเลือกที่มีเชื้ออื่นที่ข้างถ้วย โดยโพรไบโอติกที่มีอยู่ในโยเกิร์ตในท้องตลาดบ้านเราคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็คโตแบซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เป็นต้น (ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยมักใส่โพรไบโอติกเพียง 1 ชนิด ส่วนที่มาจากต่างประเทศจะเติมโพรไบโอติกลงไป 1-3 ชนิด) 4.โยเกิร์ตแบบโพรไบโอติก จะมีคุณสมบัติในเรื่องของการช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ถ้าคุณเป็นคนท้องผูกควรลองรับประทานโยเกิร์ตประเภทนี้ แต่ถ้ามีระบบขับถ่ายไว ควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตแบบธรรมดา โยเกิร์ตพร้อมดื่มเหมือนหรือแตกต่างจากโยเกิร์ตอย่างไร โยเกิร์ตพร้อมดื่มหรือนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม มีกระบวนการหมักเหมือนกับโยเกิร์ต คือใช้วัตถุดิบเป็นนมวัวและเติมเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแลกทิกลงไป เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการหมักแล้วจะมีการเจือจางและปรุงแต่งกลิ่น รส สี หรือมีการเติมน้ำผลไม้หรือน้ำเชื่อมเพิ่มลงไป จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหลว นมเปรี้ยวที่วางขายซึ่งผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม นมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอไรซ์ และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มยูเอชที โพรไบโอติก(Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรียที่สร้างกรดแล็กทิก(lactic acid bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium แบคทีเรียกลุ่มนี้ พบในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก(fermentation) เช่น นมเปรี้ยว แหนม กิมจิ จะช่วยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรค(pathogen) ช่วยย่อยอาหารที่มนุษย์ย่อยไม่ได้หรือย่อยได้ไม่หมด ช่วยการดูดซึมของสารอาหาร โคเรสเตอรอล และสร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย อาหารที่แบคทีเรีย กลุ่มโพรไบโอติกนำไปใช้ได้ เรียกว่า พรีไบโอติก(prebiotic) เช่น ใยอาหาร(dietary fiber) ข้อมูล1. ดร.สุนัดดา โยมญาติ นักวิชาการสาขาชีววิทยา http://biology.ipst.ac.th/?p=9872. รองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากแป้งฝุ่นทาผิวในประเทศไทยยังไม่มีคำเตือน อันตรายเสี่ยงมะเร็ง

หลังข่าวศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ตนใช้มายาวนานหลายสิบปี ได้กระจายไปทั่วโลก ความวิตกกังวลก็พลันบังเกิดขึ้นกับคนจำนวนมหาศาลที่นิยมใช้แป้งฝุ่นโรยตัว โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้น จากข่าวพบว่า ที่ผ่านมา จอห์นสันแอนด์จอห์นสันถูกฟ้องร้องกว่า 1,200 คดี ที่ทั้งหมดอ้างอิงจากผลการศึกษาและวิจัยต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์แบรนด์ชาวเวอร์ทูชาวเวอร์มีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ ในรายละเอียด คณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ ตัดสินว่า จอห์นสันแอนด์จอห์นสันต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ และอีก 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ครอบครัวของ แจ็คกี ฟอกซ์ สุภาพสตรีที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่เมื่อปีที่แล้ว หลังจากใช้แป้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ติดต่อกันนานหลายปี เหตุผลสำคัญ คือ ทางบริษัทรับทราบมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งแต่ก็ล้มเหลวที่จะแจ้งและตักเตือนผู้บริโภค “มีความชัดเจนว่าบริษัทได้ปกปิดข้อมูลบางอย่างเอาไว้” คริสตา สมิธกล่าวในฐานะหัวหน้าคณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ “สิ่งที่บริษัทควรทำมานานแล้วคือติดฉลากเพื่อตักเตือนผู้บริโภค” แจ็คกี ฟอกซ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ในวัย 62 ปี ได้ให้การในช่วงหกเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตว่า เธอใช้แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นชาวเวอร์ทูชาวเวอร์ทุกๆ เช้า จนกระทั่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง (ข้อมูลจาก : http://waymagazine.org/%E0%B9%8Bjjcausecancer/)   ฉลากแป้งฝุ่นและคำเตือนสำคัญ จากข่าวดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นถกเถียงทางสังคมว่าการทาแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงดังคำตัดสินในคดีของแจ็คกี ฟอกซ์ บริษัทผู้ผลิตควรมีคำเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ระมัดระวังการใช้ด้วยหรือไม่ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มสำรวจและเก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นทาผิวจากท้องตลาดและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ รวม 35 ตัวอย่าง เพื่อพิจารณาฉลาก ดูส่วนประกอบของแป้งว่ามียี่ห้อไหนบ้างที่มี ทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ และมีคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็งหรือไม่   สรุปการสำรวจ1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง 2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ 3. คำเตือน ที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้ง เข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ5. มีเพียง 1 ตัวอย่าง ที่ไม่มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ คือ แป้งหอมไร้ซแคร์ (ฟลอรัล สวีท) (ReisCare Perfumed Powder (Floral Sweet) แป้งฝุ่นทาผิวกับมะเร็งสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับการปนเปื้อนของแร่ใยหินในทัลก์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ จำนวน 40 ตัวอย่าง ซึ่งใน 40 ตัวอย่างนั้นตรวจไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวอย่างแป้งที่มีส่วนผสมของทัลก์ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัว จำนวน 73 ตัวอย่าง และทุกตัวอย่างตรวจไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 757 “จากการศึกษาพบว่า ทัลค์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ทดลอง ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และยังอยู่ระหว่างการวิจัยว่าทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่”   ฉลาดซื้อแนะ1. ควรอ่านวิธีการใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด2. ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูก และปาก3. อย่าสูดดมแป้ง4. ไม่ควรใช้แป้งกับบริเวณอวัยวะเพศ               ทัลค์ (Talc), ทัลคัม (Talcum) และแมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ทั้ง 3 ชื่อ คือตัวสารตัวเดียวกันเพียงแต่เรียกต่างกันเท่านั้น ทั้ง 3 ชื่อ คือแร่หินชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการทำเหมืองหินทาล์ค แล้วนำมาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็นUnclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้) “ทัลคัม” เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่สามารถ ย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ถ้าใช้โดยไม่ระมัดระวัง เมื่อสูดเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ(Talcosis) และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสุภาพสตรีได้(Ovarian Cancer) กรณีใช้ใต้ร่มผ้าเป็นระยะเวลานานๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ดินประสิว

เราอาจคุ้นเคยว่าดินประสิว ใช้ในการทำพลุ ดอกไม้ไฟ แต่ในอุตสาหกรรมอาหารดินประสิวก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน     ในการถนอมอาหารประเภทเนื้อแดดเดียว เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ไส้กรอก แหนม กุนเชียงลักษณะของเนื้อที่ดูสีแดง สด สวยงามนั้น เกิดมาจากการใช้ดินประสิวเป็นสารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ ดินประสิวหรือชื่อทางเคมี โปแตสเซียมไนเตรท(Potassium nitrate) นอกจากมีคุณสมบัติช่วยให้เนื้อมีสีแดงทนนานแล้ว ยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียในอาหารด้วย จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ข้างต้น     ดินประสิวหรือโปแตสเซียมไนเตรท โดยตัวมันเองอาจมีความเป็นพิษต่ำ แต่มันสามารถเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบของไนไตรท์ ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าได้ในร่างกายของเรา และยังอาจเปลี่ยนหรือกลายเป็นสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า ไนโตรซามีน ได้อีกด้วย ในหลายประเทศจึงห้ามไม่ให้ใช้ดินประสิวในการผสมในอาหารเพราะมีความเสี่ยงในการก่อมะเร็งหรือเร่งให้เกิดเป็นมะเร็งเร็วขึ้น     สำหรับในประเทศไทยยังอนุญาตให้มีการใช้แต่ในปริมาณจำกัดมากๆ แต่ผู้ผลิตบางรายก็ไม่ค่อยรับผิดชอบ ใส่เกินมาตรฐานจนน่าห่วง แม้แต่หมูกรอบ หมูแผ่น หมูทุบ ซึ่งไม่ควรใส่ดินประสิว ก็ยังพบการตกค้างสูง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานอาหารประเภทนี้มากนักหรือบ่อยเกินไป ควรรับประทานอาหารสดให้มากขึ้น และเมื่อรับประทานอาหารประเภทนี้ ควรรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินบี มากๆ ในมื้ออาหารเดียวกันด้วยจะช่วยให้ร่างกายลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้บ้าง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 สเต๊ก

คือเนื้อที่ถูกแล่ออกมาจากตัวสัตว์เป็นชิ้นใหญ่ๆ แล้วนำมาปรุงทั้งชิ้นจะโดยการย่างหรือทอดก็ได้ ในบางวัฒนธรรมสเต๊กถูกจัดลำดับให้เป็นอาหารที่แสดงถึงความร่ำรวย หรูหรา สเต๊ก(steak) เป็นอาหารจานเก่าแก่สุดอย่างหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า สเต๊กเกิดขึ้นพร้อมกับที่มนุษย์รู้จักใช้ไฟเพื่อทำให้เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้สุก หากสืบประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป ชนชาติที่ทำสเต๊กให้หน้าตาใกล้เคียงกับที่เรารับประทานในปัจจุบัน คือพวกนอร์ส หรือที่เราเรียกกันว่า ไวกิ้ง ชาวนอร์สเมื่อล่าสัตว์ได้จะไม่ได้เผาหรือย่างสัตว์ทั้งตัวหรือนำมาเสียบไม้ย่างไฟอย่างชนชาติอื่นที่ร่วมสมัยกัน แต่จะบรรจงแล่เนื้อสัตว์เป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาย่างบนตะแกรงเหล็ก ไม่ก็อบในหม้อเหล็ก ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เนื้อสุกทั่วกันทั้งชิ้นและได้รสชาติดีกว่า นับแต่นั้นสเต๊กก็แพร่หลายไปทั่วยุโรป พร้อมๆ กับการขยายอำนาจอิทธิพลของชาวไวกิ้ง อีกทั้งยังได้รับการต่อยอดให้มีขั้นตอนการปรุงการกินที่พิถีพิถันจนกลายเป็นอาหารจานหรู สำหรับสเต๊ก เนื้อที่นิยมมากที่สุดคือ เนื้อวัว ซึ่งจะมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับเนื้อบริเวณต่างๆ ที่ถูกแล่ออกมา เช่น ริบ-สเต็กหรือเนื้อติดซี่โครง เซอร์ลอยน์ (Sirloin)หรือเนื้อสันนอก เทนเดอร์ลอยน์ (Tenderloin)หรือเนื้อสันใน และมีศัพท์เฉพาะสำหรับการปรุงให้สุกในแต่ละระดับ เช่น แรร์ (rare) ที่เนื้อด้านในจะยังเหมือนไม่สุกและมีสีแดง จนถึง เวลล์ดัน (well done) ที่เนื้อจะสุกทั่วกันทั้งชิ้น ระดับความสุกที่ใช้เรียกกันนี้จะใช้กับสเต๊กเนื้อวัวเพียงอย่างเดียว สำหรับเนื้อหมูหรือปลาควรทำให้สุกทั่วกันทั้งชิ้น เพราะอาจมีเชื้อก่อโรคหรือพยาธิปนเปื้อนอยู่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 Internet of Things: เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้บริโภค (1)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการปัจจุบันนี้นอกจากการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้ว การเชื่อมต่อของเครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์อื่นๆ ก็สามารถเชื่อมต่อได้เช่นกัน เรียกว่า Internet of Things อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่สามารถเชื่อมต่อกันได้นั้น สามารถเก็บข้อมูลผ่านเซนเซอร์ โดยสามารถเก็บข้อมูลของมนุษย์ ตลอดจนข้อมูลของสิ่งแวดล้อมรอบตัว และส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่ไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นหรือ ส่งข้อมูลเพื่อเก็บในฐานข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต Internet of Thing สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มอย่างกว้างๆ ได้ 5 กลุ่ม คือ• การเชื่อมต่อของรถยนต์• บ้านอัจฉริยะ (smart home) เช่นระบบควบคุมตู้เย็นแบบออนไลน์ ระบบเครื่องปรับอากาศ และระบบสัญญาณการเตือนภัย• อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ หรือ การเชื่อมต่อเครื่องกระตุ้นหัวใจ (networking of heart pacer)• กลุ่ม Gadgets ซึ่งเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ตอบสนองความเพลิดเพลินใจของมนุษย์ เช่น ตุ๊กตา หรือ รองเท้า ที่เชื่อมต่อผ่าน application บนสมาร์ตโฟน• และการเชื่อมต่อของภาคอุตสาหกรรม และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การเชื่อมต่อของเครื่องจักรการผลิตในโรงงาน หรือ สัญญาณไฟจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างข้างถนน และถังขยะสาธารณะ   สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพึงทราบไว้ก็คือ อุปกรณ์เครื่องใช้อิเลคทรอนิกส์ปัจจุบันนี้ มักมีการติดตั้ง ชิป (Chip) และเซนเซอร์ ไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าวโดยที่เราอาจไม่ทราบ จากสถิติปัจจุบันที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ชิปหรือ เซนเซอร์ คือ ประมาณ 6,000 ล้านเครื่อง และภายใน 4 ปี จะเพิ่มเป็น 21,000 ล้านเครื่อง อุปกรณ์ที่ติดตั้งสำเร็จรูปไว้แล้ว เช่น อุปกรณ์ติดตัวมนุษย์อัจฉริยะ (smart products) สามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ที่ใช้อุปกรณ์นั้นๆ หรือ สามารถวัดอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมรอบกายมนุษย์ได้ หรือสามารถแจ้งเตือนว่าลูกกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านแล้ว หรือแม้แต่ การเหยียบเบรกรถอย่างฉุกเฉิน (full breaking) หรือการที่เครื่องพิมพ์ (Printer) ส่งสัญญาณไปแจ้งผู้ประกอบการว่า หมึกพิมพ์กำลังจะหมด ทางผู้ผลิตก็จะจัดส่งพนักงานหรือ ส่งหมึกพิมพ์ให้กับลูกค้าของตน อัจฉริยะขนาดนี้ ก็ต้องมีประเด็นที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความสะดวกสบาย สุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่เนื่องจากเนื้อที่จำกัด จะขอแบ่งเป็นสองตอนนะครับ ประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากตัวอย่างความเป็นอัจฉริยะของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังที่กล่าวมา ข้อมูลที่อุปกรณ์เก็บและส่งไปให้บริษัทผู้ผลิต ส่งผลให้เกิดประโยชน์ตามมาคือ บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถล่วงรู้พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ผู้ผลิตสมาร์ตทีวี สามารถรู้ประเภทหนังที่ลูกค้าของตนชื่นชอบ ฟิตเนสสตูดิโอ สามารถติดตามและให้คำแนะนำการออกกำลังกายของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างแม่นยำ และเนื่องจากการควบคุมเครื่องมือหรืออุปกรณ์อัจฉริยะแบบนี้สามารถควบคุมทางออนไลน์ได้ ดังนั้นการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด (Manipulation) จึงมีโอกาสเกิดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล และการล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัว ประเด็นเรื่องการโจรกรรมข้อมูลเคยมีการโจรกรรมข้อมูลของ กล้องดูแลเด็ก เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก โจรสามารถแฮกข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตเข้ามา ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากต่อความเป็นส่วนตัว และอาชญากรรมต่อเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับอาชญากรคอมพิวเตอร์ในการแฮกข้อมูล ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถควบคุม ได้เฉพาะแต่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ แฮกได้เท่านั้น แต่สามารถแฮกอุปกรณ์อื่นๆ เป็นลูกโซ่ตามมา ซึ่งผู้ประกอบการบางรายมักง่าย ต้องการนำเสนอสินค้าออกขายโดยเร็ว โดยที่ละเลยต่อมาตรการความปลอดภัย ประเด็นความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันผู้ประกอบการต่างก็โฆษณาในประเด็นความสะดวกสบายที่จะมาพร้อมกับยุค internet of things นี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเข้าถึงเพลงที่ชื่นชอบผ่านระบบ music streaming และการเข้าถึง สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ในรถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังสามารถเสนอเส้นทางอื่นๆ เป็นทางเลือกในการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับรถยนต์ไปพบกับการจราจรที่ติดขัด หรือการควบคุมการเปิดปิดของเตาอบขนม ผ่านแอพพลิเคชัน ในขณะที่กำลังเดินทางกลับบ้าน หรือการติดกล้องในตู้เย็นเพื่อดูว่า อาหารในบ้าน เช่น นมสดในตู้เย็นใกล้จะหมดหรือยัง ขณะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ติดตามตอนที่ 2 ในฉบับหน้าครับ (แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 4/2016)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 รู้เท่าทันย่านาง

ทุกวันนี้มีการส่งเสริมการใช้ย่านางกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การนำมาคั้นเป็นน้ำย่านางสดๆ สีเขียว แช่เย็น แคปซูลใบย่านาง และชาวบ้านได้พัฒนาการสกัดด้วยวิธีการต่างๆ นำสารสกัดมาทำเป็นน้ำดื่มใสๆ สเปรย์น้ำใบย่านาง สบู่ เป็นต้น โดยมีการโฆษณาสรรพคุณต่างๆ ตั้งแต่ การปรับสมดุล บำบัดหรือบรรเทาอาการอันเกิดจากภาวะไม่สมดุลจากร้อนเกิน คลอโรฟิล สารต้านอนุมูลอิสระ ให้ความสดชื่น ฟื้นฟูพลัง บางคนอ้างว่าน้ำใบย่านางสามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้มากกว่า 32 อาการ เรามารู้เท่าทันน้ำใบย่านางนั้นดีจริงหรือ การใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน การใช้ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) ตามภูมิปัญญานั้น ยาพื้นบ้านไทยใช้รากแก้ไข้ แก้ร้อนใน ในทางเภสัชวิทยาสารสกัดเมทานอลของรากย่านางมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาเลเรียในหลอดทดลอง สารสกัดรากย่านางยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และต้านออกซิเดชั่น ในตำราสรรพคุณยาไทยว่า รากย่านางมีรสขมจืด แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ถอนพิษสำแดง มีงานวิจัยรองรับความเชื่อหรือไม่ พบว่ามีการศึกษาวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้มาตรฐานคือ Pubmed มีบทความวิชาการที่เกี่ยวกับย่านาง 10 บทความ สรุปสาระสำคัญได้ว่า   1. สารสกัดย่านางมีฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติของการทำงานของสมองที่เกิดจากแอลกอฮอล์ในหนูทดลอง แต่จำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจกลไกและสารออกฤทธิ์ 2. สารสกัดใบย่านางด้วยน้ำเป็นสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เป็นหลักและมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้สูงในการทำสารสกัดใบย่านางให้แห้งด้วยการอบแห้งแบบพ่นฝอยและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยการบรรจุในแคปซูล 3. สารสกัดย่านาง (Bisbenzylisoquinoline alkaloids) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยยาห้ารากหรือเบญจโลกวิเชียร ซึ่งประกอบด้วย มะเดื่อชุมพร ชิงชี่ เท้ายายม่อม คนทา ย่านาง พบว่า 1. การใช้สารสกัดยาห้ารากนั้นมีผลในการลดอาการคันและอาการแพ้ของผิวหนังต่างๆ 2. สารสกัดเมทานอลยาห้ารากนั้น ย่านางและเท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียสูงสุด   การศึกษาความเป็นพิษของย่านางนั้นค่อนข้างปลอดภัย สรุปได้ว่า สารสกัดใบย่านางนั้นมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง รักษาความผิดปกติของสมองที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาอีกด้วย ดังนั้น น่ายกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านที่พัฒนาการใช้น้ำใบย่านางอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชนในการดูแลสุขภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากใบย่านางให้เป็นน้ำดื่มต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิผลสูงและราคาถูก การรักษาวัณโรคที่ดื้อยา และการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะจะทำให้ประชาชนคาดหวังมากเกินไป และทำให้หมดความเชื่อถือภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีคุณค่า  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 อุปกรณ์แต่งหน้า เก็บรักษาอย่างไรดี

สาวๆ ที่ชื่นชอบการแต่งหน้าส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์แต่งหน้า ไม่ว่าจะเป็นแปรง ฟองน้ำ หรือที่ดัดขนตา เพราะอุปกรณ์เหล่านี้อาจถือได้ว่าเป็นอาวุธสำคัญ ที่สามารถช่วยให้เราแต่งหน้าได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างความงามที่เราพอใจให้กับใบหน้าเราได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามอุปกรณ์แต่งหน้าก็เหมือนเครื่องมืออื่นๆ ที่เราต้องดูแลรักษาและทำความสะอาด ซึ่งหากเราละเลยอาจทำให้ผลลัพธ์ของการใช้งานไม่เป็นไปตามที่เราหวังไว้ เช่น เป็นสิว หรือมีอาการแพ้ผื่นขึ้นที่ผิวหน้า โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้น แล้วอย่างนี้เราควรทำอย่างไรเพื่อให้อุปกรณ์แต่งหน้ามีความปลอดภัยต่อใบหน้าของเรามาเริ่มตรวจสอบอุปกรณ์แต่งหน้าที่เรามีกันก่อน อุปกรณ์แต่งหน้าสามารถแบ่งได้กว้างๆ ดังนี้1. แปรงแต่งหน้าแปรงแต่งหน้าสามารถช่วยให้เราควบคุมปริมาณเครื่องสำอาง หรือแต่งแต้มให้ตรงตำแหน่งที่เราต้องการ รวมทั้งยังช่วยผสมหรือเบลนด์ (Blend) เครื่องสำอางที่มีเนื้อครีมให้เรียบเนียนไปกับใบหน้าของเรา ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของแปรงแต่งหน้าได้ตามการใช้งานได้เช่น แปรงลงรองพื้น จะมีลักษณะแบนและโค้งมน ใช้เพื่อเกลี่ยรองพื้นให้เรียบเนียนยิ่งขึ้น หรือแปรงทาคิ้ว ที่มักมีลักษณะขนแข็งและสั้น ตัดเป็นมุมเอียง เพื่อให้เราวาดทรงคิ้วได้สะดวก 2. ฟองน้ำแต่งหน้าฟองน้ำแต่งหน้ามีทั้งแบบธรรมดา(Puff) ที่อยู่ในตลับแป้งหรือในคุชั่น(Cushion) และฟองน้ำรูปไข่ ซึ่งสามารถใช้เพื่อซับแป้งให้ติดหน้า หรือเบลนด์เครื่องสำอางเนื้อครีมให้เข้ากับผิวหน้าเรา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าถนัดการใช้แปรงหรือฟองน้ำมากกว่ากัน 3. ที่ดัดขนตา ที่ดัดขนตาสามารถช่วยให้เราขนตายาวขึ้นได้ แต่หากเราใช้แล้วพบว่าขนตาไม่ยาวงอนยาวขึ้นอย่างที่ต้องการ อาจมีสาเหตุจากการเลือกที่ดัดขนตาที่ไม่เหมาะสมกับรูปตาของเรา หรือหากที่ดัดขนตาพังง่ายผิดปกติ อาจมีสาเหตุจากวัสดุที่ใช้ไม่มีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งเราควรเลือกที่ดัดขนตาที่ทำจากโลหะมากกว่าพลาสติกหรือยาง และควรเลือกแบบที่มีแผ่นยางรองบนที่หนีบการวิธีเก็บรักษาอุปกรณ์แต่งหน้าให้เหมาะสมวิธีการเก็บรักษาอุปกรณ์เครื่องสำอางสามารถทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนดังนี้1. ล้างให้สะอาดไม่ว่าจะเป็นแปรงหรือฟองน้ำแต่งหน้า เราควรทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือในกรณีที่เห็นว่าขนแปรงไม่ค่อยนุ่มหรือเริ่มติดกันเป็นก้อนก็สามารถทำความสะอาดได้ทันที โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดแปรงแต่งหน้าหรือสบู่อ่อนๆ เช่น สบู่เด็ก ซึ่งเราควรถูแปรงหรือฟองน้ำกับสบู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าคราบเครื่องสำอางจะหลุดออกจนหมด จากนั้นจึงล้างให้สะอาดอีกครั้งด้วยน้ำเปล่า ทั้งนี้เราควรคว่ำขนแปรงลง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปทำลายกาวที่ยึดเกาะแปรงกับด้ามให้หลุดออกจากกัน ส่วนที่ดัดขนตาควรทำความสะอาดก่อนใช้อยู่เสมอ เพราะอาจมีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกจากคราบมาสคาร่าติดอยู่ ซึ่งมีวิธีง่ายๆ คือ นำสำลีชุบน้ำยาเช็ดรอบดวงตาหรืออายรีมูฟเวอร์ (Eye remover) มาเช็ดบริเวณส่วนที่เลอะหรือบนแผ่นยางรองหนีบ จากนั้นเช็ดออกให้สะอาดด้วยกระดาษทิชชู่ 2. ตากให้แห้งหลังล้างทำความสะอาดเรียบร้อย เราควรเช็ดและตากอุปกรณ์แต่งหน้าให้แห้งสนิทก่อนเก็บรักษา หรือนำไปใช้ในครั้งต่อไป เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราหรือการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย 3. เก็บรักษาในที่เหมาะสมอุปกรณ์แต่งหน้าต่างๆ ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเท หรือในกล่องที่สามารถระบายอากาศได้ เพราะหากเราเก็บไว้ในที่อับชื้น เช่น ในห้องน้ำหรือในถุงซิบล็อกอาจทำให้ขึ้นราได้ หรือในสถานที่มีขี้ฝุ่นเยอะก็อาจทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียเกิดการสะสมรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้หากพบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นเสื่อมสภาพก็ควรเปลี่ยนใหม่ เช่น ขนแปรงแต่งหน้าหลุดหักงอ หรือยางรองที่ดัดขนตาฉีกขาด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 จิบชาเมืองกรุงสะดุ้งถึงอิสาน

“บางครั้งการตัญญู โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็เกือบสังหารแม่ตนเอง” ผมได้รับเรื่องราวจาก ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย รพ.เสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า คุณยายท่านหนึ่งอายุประมาณ 62 ปี ซึ่งเดิมแม้จะป่วยเป็นเบาหวาน แต่แกรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติได้  แต่คราวนี้ แกมารับยาที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดของแกสูงขึ้นมาถึงตัวเลข 181 (mg %)  ภญ.สุภาวดี จึงได้ถามคุณยายว่าแกไปรับประทานอะไรมาหรือเปล่า ทำไมคุณยายที่เป็นผู้ป่วยดีเด่นในแง่การปฏิบัติตัวจึงเสียแชมป์กะทันหันแบบนี้  สุดท้ายได้ความว่า นอกจากยาเดิมที่แกรับประทานแล้ว ลูกชายที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ยังหวังดี ส่งของดีมาให้แกรับประทานอีก เป็นชาจีนแก้ปวดขา แกเล่าว่า ชานี้น่าจะดี พอรับประทานไปแล้ว อาการปวดเมื่อยขาหายเป็นปลิดทิ้ง กินข้าวได้มาก นอนหลับสบาย ภญ.สุภาวดีเห็นท่าไม่ดี เพราะอาการที่แกเล่ามามันเหมือนอาการของการรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงรีบประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองฟ้า ซึ่งห่างจากโรงพยาบาลถึง 25 กิโลเมตร ให้ช่วยไปตรวจสอบ ชาวิเศษ ที่บ้านของคุณยาย ผลการตรวจสอบ พบว่า ชาจีนนี้บรรจุในซองพลาสติกขนาดเล็ก โดยบรรจุรวมในกระป๋องโลหะ ฉลากข้อความที่ซอง และกระปุกมีแต่ตัวอักษรภาษาจีนเกือบทั้งหมด  (ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ชาดอกโบตั๋น 6 รส)  มีระบุเป็นภาษาอังกฤษอยู่ว่า  Bailin Pharmaceuticals   คุณยายให้ข้อมูลว่า ลูกชายไปซื้อมาจากแถวเยาวราช ในราคา กระปุกละ 700 บาท มีชาจีนบรรจุอยู่ในกระป๋อง จำนวน 30 ซอง  เมื่อเจ้าหน้าที่ ใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์เบื้องต้น ทดสอบชาจีน พบว่าให้ผลบวก (หมายถึงมีส่วนผสมของสารสเตอรอยด์) จึงแนะนำให้คุณยายหยุดรับประทาน แล้วส่งชาจีนมาให้ ภญ.สุภาวดี เพื่อส่งไปตรวจยืนยันในห้องแล็บของ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง   ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ว่า อย่าไว้ใจอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีข้อมูลฉลากถูกต้อง เพราะ สารสเตียรอยด์ มันแทรกซึมไปหลายผลิตภัณฑ์มาก จนบางทีเราอาจหลงเป็นเหยื่อทำร้ายคนที่เรารักด้วยมือเราเองโดยไม่รู้ตัว  ใครจะคิดว่าในชาจีนหอมชื่นใจ จะใส่สเตียรอยด์ทำร้ายร่างกายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 เปิดเผยประกันชีวิต ใครกันแน่ที่ปกปิด ?

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เราจะมากล่าวถึงเรื่องการทำประกันชีวิตกันนะครับ เชื่อว่าหลายท่านก็คงเคยมีประกันที่ตัวเองทำไว้ให้คนอื่น หรือพ่อแม่ของเราทำให้กับตัวเราใช่ไหมครับ แต่ทราบกันหรือไม่ว่า มีคนอีกมากมายที่ทำสัญญาประกันไปแล้ว พอถึงเวลาจะใช้สิทธิตามสัญญา กลับถูกบริษัทประกันปฏิเสธ และหนึ่งในเหตุที่บริษัทมักนำมาอ้างในการไม่จ่ายเงินก็คือ เรื่องของการปกปิดข้อมูลสุขภาพ  เนื่องจากสัญญาประกันชีวิต เอาความทรงชีพของผู้เอาประกันมาเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงิน ดังนั้น เรื่องของสุขภาพคนทำประกันจึงสำคัญมาก และยังอาศัยความสุจริตในการทำสัญญาอย่างมาก เพราะคนเอาประกันต้องเปิดเผยข้อมูลตนเองก่อนทำสัญญา และบริษัทผู้รับประกันก็มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าสมควรจะรับทำประกันหรือเพิ่มเบี้ยประกันเพียงใด เมื่อต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติหน้าที่ กล่าวคือผู้เอาประกันฯ ปกปิดความจริง ส่วนจำเลยไม่ค้นหาความจริง จะถือว่าใครไม่สุจริตมากกว่ากัน เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เอาประกันไม่สุจริตมากกว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2536  ผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตนเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 วรรคแรก มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะถือว่าการที่ผู้รับประกันภัยไม่ตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก่อนเป็นการละเลยหาได้ไม่ แม้การประกันชีวิตในทุนประกันภัยต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของผู้เอาประกันภัยก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้รับประกันภัย ไม่ถือเอาเรื่องสุขภาพของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ สัญญาประกันภัยชีวิตที่กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 865 วรรคแรก เป็นโมฆียะมีผลให้ผู้รับประกันภัยใช้สิทธิบอกล้างได้ หากผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวย่อมใช้บังคับได้ จึงเป็นสิทธิของผู้รับประกันภัยจะบอกล้างหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะใช้สิทธิบอกล้างแต่เพียงเฉพาะสัญญารายใดก็หาเป็นการไม่ชอบไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2542 แบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตข้อ 17 ถึง ข้อ 22 เป็นข้อความที่ถามไว้เป็นข้อย่อยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เช่น มีความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจบ้างหรือไม่ ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมาเคยเจ็บป่วย เคยได้รับการผ่าตัด เคยรับการรักษาในสถานพยาบาล ถ้าเคยโปรดแจ้งรายละเอียด แบบฟอร์มที่มีข้อความเช่นนี้ตัวแทนจำเลย ผู้มาติดต่อขอเอาประกันชีวิตไม่จำเป็นต้องสอบถามตามข้อความที่ระบุไว้ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะต้องอ่านก่อน และปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพค้าขายและมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการย่อมต้องรอบคอบ เมื่อโจทก์อ่านข้อความเหล่านี้แล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อ 23 ซึ่งระบุว่า ถ้าคำตอบในเรื่องสุขภาพเป็นคำตอบรับ เช่นเคยได้รับการผ่าตัด หรือเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล จะต้องอธิบายรายละเอียดไว้ด้วย ข้อความเหล่านี้มีอยู่ก่อนโจทก์ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิต หาใช่ตัวแทนจำเลยกรอกข้อความดังกล่าวภายหลังไม่ เมื่อโจทก์ไม่แจ้ง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงตามหน้าที่ที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งผู้รับประกันภัยอาจบอกปัด ไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันภัยทราบตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง หน้าที่นี้มีน้ำหนักในการแสดงความสุจริตมากกว่าหน้าที่ของผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 866 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับรู้ข้อความจริง โดยผู้รับประกันภัยพึงใช้ความระมัดระวังอย่างคนธรรมดาเช่นวิญญูชนทั่วไปก็พอแล้ว สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีประกันชีวิตที่มีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันฯ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฏีกา ผู้เขียนเห็นว่า การที่บริษัทประกันในฐานะผู้มีวิชาชีพในการประกันชีวิต ย่อมทราบดีว่าการตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญและกระทำได้โดยง่าย แม้ตัวผู้เอาประกันจะไม่ได้แจ้งข้อมูลเรื่องสุขภาพหรือไม่มีการตรวจสุขภาพ แต่เมื่อบริษัทผู้เอาประกันไม่มีการตรวจสอบ ยิ่งเห็นถึงการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชน ตามมาตรา 866  สัญญาประกันชีวิตจึงมีผลสมบูรณ์ ใช้บังคับได้  ซึ่งพฤติกรรมของบริษัทฯ จะรับทำสัญญาโดยไม่คำนึงว่าผู้เอาประกันฯ จะแจ้งข้อเท็จจริงตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ แต่เมื่อต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจึงตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อพบว่ามีโรคภัยซ่อนอยู่ก็จะใช้เป็นเหตุเพื่อจะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน หากผู้เอาประกันภัยไม่ตายก็เก็บเบี้ยประกันฯ ต่อไป และเชื่อว่าสัญญาประกันฯ ที่ทำไว้ส่วนใหญ่ก็คงอยู่ในสภาพโมฆียะ กล่าวคือยังมีผลใช้บังคับได้ จนกว่าผู้เอาประกันจะใช้สิทธิบอกล้าง ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาที่ทำกันสามารถบอกล้างได้เกือบทั้งนั้น    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ดูผิวเผิน เหมือนคนทำประกันจะได้เปรียบเพราะไม่ตรวจสุขภาพก็รับทำประกัน แต่ในความจริง บริษัทผู้เอาประกันมักจะใช้เรื่องปกปิดสุขภาพเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายหลัง ดังนั้นผู้บริโภคที่จะทำสัญญาประกันแบบไม่ตรวจสุขภาพก็ต้องระวังไว้ด้วยนะครับ ไม่ควรหลงเชื่อเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่บริษัททำขึ้นเท่านั้น ก่อนทำสัญญาก็ควรอ่านเงื่อนไขหรือข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน      นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ทำประกันปกปิดข้อมูลที่เคยถูกบริษัทอื่นปฏิเสธการรับประกันชีวิต กรณีนี้ บริษัทผู้รับทำประกันจะใช้เป็นเหตุอ้างปฏิเสธการจ่ายเงินประกันและบอกเลิกสัญญาว่าปกปิดข้อเท็จจริงไม่ได้ ถือว่าสัญญาประกันมีผลสมบูรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2516   บริษัทจำเลยไม่ถือว่าการที่ผู้ตายเคยถูกปฏิเสธการรับประกันชีวิตมาก่อนเป็นข้อสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าขณะผู้ตายขอประกันชีวิตครั้งที่เกิดเหตุเรื่องนี้สุขภาพของผู้ตายสมบูรณ์ดีหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อนายแพทย์ของบริษัทจำเลยตรวจสุขภาพผู้ตายและเสนอเรื่องให้บริษัทจำเลย จนบริษัทจำเลยพิจารณาอนุมัติให้ผู้ตายประกันชีวิต จึงแสดงว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ บริษัทจำเลยจะมาปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าผู้ตายแจ้งเท็จว่า ไม่เคยได้รับปฏิเสธในการขอเอาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยมาก่อนไม่ได้    

อ่านเพิ่มเติม >