ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลประโยชน์ทับซ้อน

หลายครั้งที่ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งดูมีประโยชน์มากต่อประชาชน จากนั้นความรู้ดังกล่าวก็ได้ถูกใช้ในแวดวงวิชาการอย่างแพร่หลาย ตราบจนวันหนึ่งก็พบความจริงว่า ความรู้ที่ได้จากบทความเหล่านั้นถูกต้องแบบมีการปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องในการเผยแพร่ผลงานวิชาการนั้น อาจเกิดเพราะผู้เผยแพร่ต้องการละเว้นในการแสดงผลงานที่ได้ประจักษ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจาก ถ้าแสดงผลงานครบแล้วอาจไม่ถูกใจผู้ให้ทุนทำวิจัย และยิ่งถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำในหน่วยงานของเอกชนที่หวังผลกำไร (Profit organization) การตีพิมพ์ผลงานนั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรว่า ไม่กระทบถึงสิ่งที่องค์กรได้ประโยชน์ การปกปิด/เบี่ยงเบน/ละเว้นในการแสดงความจริงในผลงานวิชาการนั้น หลายท่านคงเดาได้ว่ามันคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดทางจริยธรรมเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์หรือความอยู่รอดของตนเองตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของพลเมืองอเมริกันและพลเมืองในหลายประเทศของดาวโลกดวงนี้คือ การก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อต้องการลดการได้รับพลังงานในอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจนั้นให้กำจัดไขมันแล้วเปลี่ยนไปรับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาลทรายแทน เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามวารสารออนไลน์ของนิตยสาร Time ได้เสนอบทความของ Alexandra Sifferlin เรื่อง How the Sugar Lobby Skewed Health Research เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2016 ซึ่งกล่าวถึงบทความของนักวิจัยท่านหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดลำดับเลขตัวเดียวของสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วงต้นปี 1950 ถึงปลายช่วงปี 1960 อุตสาหกรรมน้ำตาลนั้นได้มีส่วนในการเบี่ยงเบนความเชื่อทางโภชนาการของผู้บริโภคเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือ coronary heart disease (CHD) โดยให้นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งหนึ่งทำวิจัยแล้วกล่าวว่า โรคนี้เกิดเนื่องจากไขมันและโคเลสเตอรอล ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลายยอมเออออห่อหมกว่า การกินอาหารที่มีไขมันต่ำน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต้นตอของบทความที่ Alexandra Sifferlin นำมาเขียนนั้น เป็นบทความทางวิชาการเรื่อง Sugar Industry and Coronary Heart Disease Research: A Historical Analysis of Internal Industry Documents ของทันตแพทย์ Cristin E. Kearns และคณะ ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อมูลออนไลน์ใน JAMA Internal Medicine เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 บทความนี้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1980 นั้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดให้ระบุถึงการที่ผู้ทำวิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนประการใดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้วารสารที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ผู้เขียนบทความวิจัยต้องระบุเสมอว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ผู้ทำวิจัยไม่ได้รับทรัพย์มาทำวิจัยเพื่อกำหนดให้งานออกมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เงินทุนเป็นการเฉพาะทันตแพทย์ Kearns กล่าวว่า ความจริงแล้วได้มีงานวิจัยที่ส่งสัญญานเตือนว่า น้ำตาลทรายนั้นส่อว่าเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตั้งแต่ในช่วงปี 1960 ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้กระตุ้นให้องค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ค้าน้ำตาลทรายในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งทันตแพทย์ Kearns ระบุชื่อไว้แต่ผู้เขียนไม่ประสงค์จะออกนาม) อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเริ่มตั้งทุนเพื่อทำการทำวิจัยถึงสาเหตุว่า อะไร (ซึ่งต้องไม่ใช่น้ำตาลทราย) คือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคที่บั่นทอนสุขภาพนี้ กว่า 60 ปีมาแล้วที่องค์กรผู้ค้าน้ำตาลในสหรัฐอเมริการณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้จากนักวิจัยด้านโภชนาการที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่มีไขมันสูงและการเพิ่มขึ้นของโคเลสเตอรอลว่า เป็นต้นเหตุของการตีบตันของเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำให้ประชาชนลดปริมาณไขมันในอาหาร ความจริงคำแนะนำนี้ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการค้นพบว่าผักและผลไม้นั้นให้ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อร่างกาย ดังนั้นส่วนของไขมันในอาหารที่ถูกลดไปจึงถูกจับจ้องจากกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลว่า เป็นโอกาสที่พลังงานจากน้ำตาลทรายจะเข้าไปแทนที่ ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์อันมหาศาลที่ตามมาท่านผู้อ่านหลายท่านคงพอทราบว่า ด้วยน้ำหนักที่เท่ากันนั้นไขมันให้พลังงานกว่าสองเท่าของคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นการเข้าไปแทนที่ไขมันด้วยน้ำตาลทรายนั้น จำต้องใช้น้ำตาลทรายในน้ำหนักที่เป็นสองเท่าของไขมัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้พลังงานเท่าที่ร่างกายต้องการ ประเด็นสำคัญคือ วันหนึ่งเราต้องการพลังงานเท่าไร เว็บของคนไทยบางเว็บกล่าวว่า ผู้หญิงไทยต้องการพลังงานเฉลี่ยวันละ 1500 กิโลแคลอรี ส่วนผู้ชายไทยต้องการ 2000 กิโลแคลอรี ส่วนเว็บฝรั่งมักแนะนำให้ผู้หญิงได้รับพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี และผู้ชายควรได้รับวันละ 2500 กิโลแคลอรี ความแตกต่างนั้นมีผู้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากฝรั่งมีโครงสร้างร่างกายใหญ่กว่าคนไทย ในความเป็นจริงนั้นค่าความต้องการพลังงานของร่างกายคนเราจริง ๆ นั้นไม่ควรเป็นตัวเลขตัวเดียวโดด ๆ  แต่ควรเป็นช่วงของตัวเลข เพราะความต้องการพลังงานในแต่ละวันของมนุษย์นั้นขึ้นกับ ขนาดของร่างกาย อายุ และอุปนิสัยการใช้งานร่างกายว่า ขยับเขยื้อนมากน้อยเพียงใดดังนั้นสิ่งที่น่าจะบอกว่า เราได้รับพลังงานและสารอาหารจำเป็นในแต่ละวันพอหรือไม่นั้นน่าจะสังเกตุได้จากน้ำหนักตัวว่า อยู่ในช่วงที่เหมาะสมของค่า BMI (ดัชนีมวลกาย) ระหว่าง 18.5-24.9 หรือไม่ แม้ว่ามีนักวิชาการไทยบางคนกล่าวว่า คนไทยมีโครงสร้างเล็กกว่าฝรั่ง ค่า BMI ควรเป็น 18.5-22.99 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทยซึ่งมีค่า BMI 23-24.99 หมดกำลังใจในการลดน้ำหนักเพราะกลายเป็นคนท้วมไปก็อย่าไปสนใจมากนักเลย เพราะถ้าใช้เกณฑ์สากลเขาเหล่านี้จะยังเป็นผู้มีค่า BMI ปรกติอยู่ ค่า BMI ควรเป็นเท่าไรนั้นไม่ใช่เรื่องตายตัว เนื่องจากหลายคนที่มีค่า BMI สูงเกิน 25 ก็ยังปรกติได้เพราะมีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่าปรกติ เนื่องจากเขาผู้นั้นเป็นนักเพาะกายหรือเล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีความหนาของกล้ามเนื้อเพื่อความแข็งแรงในการปะทะ ดังนั้นการพิจารณาค่า BMI ควรมองพร้อมไปกับเส้นรอบเอว ซึ่งเป็นตัวบอกความจริงบางประการเกี่ยวกับไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง อย่างไรก็ดีปริมาณไขมันหน้าท้องก็แปรเปลี่ยนไปตามอายุ เนื่องจากคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปนั้นหายากที่หน้าท้องแบนดังนั้นเมื่อร่างกายต้องใช้พลังงานเพื่อดำรงชีวิต เราจึงต้องได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันจากอาหาร แต่เมื่อมีข้อมูลที่กล่าวว่าไขมันและโคเลสเตอรอลเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน จึงเปิดทางสะดวกให้มีการใช้น้ำตาลทรายและน้ำตาลอื่นเป็นแหล่งพลังงานแทน จึงทำให้หลายคนมีโอกาสได้น้ำตาลสูงกว่าความต้องการ เพราะความหวานของอาหารนั้นก่อให้เกิดการเสพติด น้ำตาลนั้นเมื่อถูกกินมากเกินความต้องการ ร่างกายสามารถเปลี่ยนมันเป็นไขมันและโคเลสเตอรอลได้ ดังระบุไว้ในงานวิจัยเรื่อง Dietary fats, carbohydrates and atherosclerotic vascular disease.ของ R.B. McGandy และคณะ ซึ่งตีพิมพ์มานานแล้วในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับที่ 277 หน้าที่ 186-192 ปี 1967นอกจากนี้ในปี 1972 J. Yudkin (ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของน้ำตาลทรายต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ) ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง Pure, White and Deadly: The Problem of Sugar (สำนักพิมพ์ Davis-Poynter แห่งกรุงลอนดอน)  ออกมาเพื่อกระตุ้นสังคมให้นึกถึงน้ำตาลทรายบ้างไม่ใช่กลัวแค่ไขมันและโคเลสเตอรอลเท่านั้นสรุปแล้วการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความอ้วนในปัจจุบันนี้  ควรต่างไปจากเดิม เพราะการระวังเพียงพลังงานจากอาหารอย่างเดียวนั้นดูจะไม่ได้เรื่องเท่ากับการมองว่า พลังงานนั้นมาจากอาหารชนิดใดในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ การเน้นประเด็นเพื่อลดพลังงานลงโดยไปจัดการกับไขมันเป็นหลักนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่นของชาวอเมริกันในปัจจุบัน เพราะแม้จะพยายามกินอาหารที่มีไขมันต่ำลงเพียงใด (แต่เพิ่มน้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงาน) ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้สักที จนสุดท้ายต้องปล่อยไปตามยถากรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 อาการตาแห้งจากคอนแทกเลนส์

แม้การใช้คอนแทกเลนส์หรือเลนส์สัมผัสจะช่วยแก้ปัญหาสายตา และทำให้หลายคนรู้สึกสะดวกสบายกว่าการสวมแว่นตา รวมทั้งช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับดวงตาได้ แต่การใส่คอนแทกเลนส์เป็นประจำหรือใช้ไม่ถูกวิธีก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งปัญหาหลักก็คืออาการตาแห้งนั่นเอง โดยเราจะมีวิธีหลีกเลี่ยงหรือป้องกันอย่างไร ไปดูกันเลยรู้จักอาการตาแห้งกันก่อนอาการตาแห้ง เกิดจากความผิดปกติของน้ำตาที่มีปริมาณไม่เพียงพอ น้ำตาหล่อเลี้ยงน้อยหรือมีการระเหยที่มากเกินไป ซึ่งเมื่อเราใส่คอนแทกเลนส์เข้าไปจะทำให้มีอาการคัน เคืองตา แสบตาหรือลืมตาไม่ขึ้น คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยหากปล่อยทิ้งไว้อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือกระจกตาเป็นแผลได้ อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย นอกเหนือไปจากการใส่คอนแทกเลนส์ เช่น การจ้องจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือจากความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัย เป็นต้นแนะวิธีเลือกคอนแทกเลนส์ให้ปลอดภัยการเลือกซื้อเลือกซื้อคอนแทกเลนส์ให้ปลอดภัยต่อดวงตาของเรา สามารถทำได้ดังนี้ 1. ตรวจสอบประเภทของคอนแทกเลนส์คอนแทกเลนส์สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือชนิดแข็งและนิ่ม โดยเลนส์ชนิดนิ่มจะมีค่าอมน้ำสูงกว่าชนิดแข็งหรืออยู่ที่ 30 – 70% เพราะผลิตจากสารที่สามารถดูดซึมน้ำได้ดี ซึ่งเลนส์จะมีลักษณะนิ่มและรูปร่างไม่คงที่ แต่อากาศและน้ำจะหมุนเวียนได้สะดวก ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตาและนิยมใช้งานมากที่สุดอย่างไรก็ตามปริมาณค่าอมน้ำส่งผลต่อความหนาของคอนแทกเลนส์เช่นกัน ซึ่งหากมีค่าอมน้ำสูงกว่า 50% เลนส์ก็จะหนาขึ้น ทำให้บางคนอาจรู้สึกระคายเคืองตา และต้องเลือกใช้เลนส์ที่มีค่าอมน้ำต่ำกว่า 50% เพื่อให้ได้ขนาดที่บางลงและพอดีกับดวงตามากขึ้น ดังนั้นการเเลือกซื้อคอนแทกเลนส์จึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่จากค่าอมน้ำสูงเพียงอย่างเดียว 2. ตรวจสอบรายละเอียดสำคัญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเลนส์สัมผัส พ.ศ.2553 กำหนดให้คอนแทกเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนแทกเลนส์ทุกครั้ง เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลาก ซึ่งต้องมีภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจนและระบุข้อความอย่างน้อย ดังนี้1. ชื่อเลนส์สัมผัสและวัสดุที่ใช้ทำเลนส์สัมผัส 2. พารามิเตอร์ของเลนส์สัมผัส (Contact Lens parameter) เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง รัศมีความโค้ง เป็นต้น 3. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต 4. เดือนปีที่หมดอายุ 5. เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ 6. ชื่อและประเทศของผู้ผลิต3. ใช้งานตามคำแนะนำการใช้งานคอนแทกเลนส์ผิดวิธี นอกจากสามารถทำให้เกิดอาการตาแห้งได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับดวงตาในรูปแบบอื่นได้อีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว เราจึงควรใช้งานตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้ 1. หยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาควรหยุดใช้ทันที และรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ 2. ไม่ควรใช้เกินอายุของเลนส์ที่ระบุโดยผู้ผลิต 3. ไม่ใส่นอนหรือว่ายน้ำ เพราะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระจกตาได้ 4. ไม่ใช้คอนแทกเลนส์ร่วมกับบุคคลอื่น 5. แช่คอนแทกเลนส์ในน้ำยาสำหรับคอนแทกเลนส์โดยเฉพาะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (1)

“ ... การกู้ยืมนั้น โดยปกติผู้กู้ต้องการทุน เมื่อได้ทุนแล้วไปประกอบกิจการอันใดอันหนึ่งมีผลงอกงามขึ้น ก็แบ่งผลนั้นใช้เป็นดอกเบี้ยบ้าง เหลือรวบรวมไว้เพื่อใช้หนี้ทุนต่อไป ดังนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยเป็นค่าป่วยการ และมีโอกาสที่จะได้รับใช้ทุนคืนในภายหลัง แต่ถ้าดอกเบี้ยเรียกแรงเกินไปแล้ว ลูกหนี้ได้ผลไม่พอที่จะใช้ดอกเบี้ยได้ ย่อมต้องย่อยยับไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย...”(ส่วนหนึ่งของคำแถลงการณ์ คณะกรรมการราษฎร เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475  เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รัฐจึงต้องควบคุม ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และถ้าฝ่าฝืนนอกจากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังจะมีโทษทางอาญาอีกด้วย ล่าสุด ได้มีการปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560)หลังจากกฎหมายฉบับแรกใช้มา 80 กว่าปีตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง   สาระสำคัญของกฎหมายยังคงเดิม คือ ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืน มีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ ที่แก้ไขปรับปรุงคือ เพิ่มโทษให้หนักขึ้น จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ส่วนโทษปรับจากเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพิ่มเป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้เรียกเก็บได้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าคิดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีสิทธิคิดดอกแม้แต่บาทเดียว  บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเสี่ยวิชัย หรืออาบัง ถ้าปล่อยเงินกู้ มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี หรือ 5 สลึงต่อเดือน แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้นอกระบบพวกนี้ จะคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 240 ต่อปี เรียกว่าเป็นการขูดเลือดขูดเนื้อลูกหนี้อย่างแสนสาหัส กฎหมายน่ารู้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์          มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี...”          คำพิพากษาฎีกา ที่ 567/2536 เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กู้อัตราร้อย 19.5 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ข้อกำหนด อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียก ดอกเบี้ยจากจำเลยตามสัญญา แล้วถ้าเกิดลูกหนี้ไม่รู้ข้อกฎหมาย เอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินอัตราให้กับเจ้าหนี้ไปแล้วจะทำอย่างไร จะเรียกเงินคืนได้ไหม หรือ เอาดอกเบี้ยไปหักกับต้นเงินได้รึเปล่า  อันนี้บอกเลยว่า “เสียใจ จ่ายแล้วจ่ายเลย เรียกคืนไม่ได้” เพราะศาลถือว่าเป็น  การชำระหนี้โดยสมัครใจ จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้  ...แต่ข่าวดี คือตอนนี้คุณรู้แล้วนะว่า เจ้าหนี้ทั่วไป คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีไม่ได้ ดังนั้น ต่อไป คุณจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดกฎหมายส่วนนี้  ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะมีประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะๆ ตามสภาพเศรษฐกิจฉบับหน้ามาลงรายละเอียดกันครับว่า เจ้าหนี้สถาบันการเงินแต่ละประเภทมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และคุณจะจัดการอย่างไร ถ้าพบว่าเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 นักสื่อสารกับสังคม ธรากร กมลเปรมปิยะกุล

“นักโฆษณาที่เบื่อโลกโฆษณาแล้วเอาทักษะที่เรามี มาเล่าเรื่องแบบนี้ คุณเชื่อไหมผมทำเรื่องพวกนี้ผมสนุกมากเลย มีความสุขเพราะผมไม่ต้องหลอกคน และยังได้เอาเรื่องดีๆ ไปบอกชาวบ้านด้วย” คุณพงศ์ หรือ ธรากร กมลเปรมปิยะกุล นักสื่อสารเพื่อสังคม เล่าให้เราฟังถึงการทำงานของเขา การเลือกที่จะสื่อสารบางสิ่งออกมา ..บอกในสิ่งที่คนทำโฆษณาไม่เคยคิดจะบอกมาเป็นนักสื่อสารเพื่อสังคมได้อย่างไรจะเล่าให้ฟังสั้นๆ ก็คือผมมาทำงานให้กับสำนัก 5 (สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) มันจะมีเรื่องสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งผมเป็นคนที่ต้องย่อยเรื่องที่มันไม่เป็นชุดข้อมูล มาทำเป็นชุดข้อมูล ตอนนั้นทำอยู่กับคุณหมอประเวศ วะสี ท่านเคยบอกว่า คุณจะสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในมันจะต้องรู้ว่ามันไม่ใช่มีแค่นั่งสมาธิเท่านั้น มันมีหลายวิธี อาจารย์พูดไว้ 2 - 3 ปีแล้ว ผมก็ทำชุดข้อมูล 8 ทาง ว่ามีอะไรบ้างแล้ว ใครทำอะไรอยู่บ้าง พอมันถูกเปิดเผยออกมาแล้วขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ คนก็จะเข้ามาสนใจเรื่องนี้ อาจารย์ประเวศบอกว่า เวลาขับเคลื่อนงานทั้งหมด สื่อเป็นเหมือนกระดูกล้อกลางที่จะดึงข้อมูลมาแล้วระเบิดออกไป คนถึงจะมาช่วยเรา คือผมรู้เลยพี่น้องตรงนี้(สสส.)ทำงานกันดีมาก แต่ก็ต้องมีทีมสื่อที่มีประสิทธิภาพด้วย หน่วยงานของผมก็เหมือนหน่วยงานอิสระที่ไปช่วยด้านสื่อสาร ก็ มีไอแคร์ ครีเอทีฟมูฟ วายนอท ชูใจ เขาก็คล้ายๆ ผม นักโฆษณาที่เบื่อโลกโฆษณาแล้วเอาทักษะที่เรามีมาเล่าเรื่องแบบนี้ คุณเชื่อไหมผมทำเรื่องพวกนี้ผมสนุกมากเลย มีความสุขเพราะผมไม่ต้องหลอกคน และยังได้เอาเรื่องดีๆ ไปบอกชาวบ้านด้วย สมัยก่อนผมต้องโฆษณาเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันหลอกชาวบ้าน ผมเคยทำมาหมดแล้ว ทีมข่าวบ้าบอคอแตกอะไรพวกนี้ ดังนั้นผมว่าน่าทำ ผมยินดีเทรนด์ของการสื่อสารกับสังคมคุณมองอย่างไรจะเห็นได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ในการใส่ใจเรื่องของสังคมมันเริ่มเป็นที่ถูกมองถูกเรียกร้องของผู้บริโภคมากขึ้น แล้วภาคเอกชนเองก็เริ่มตระหนักถึงส่วนนี้ ตอนนี้ผมมองว่าบริษัทภาคเอกชนนั้นแบ่งออกเป็นหลายความตระหนักในเรื่องนี้ หลายคนก็ยังทำในแบบเก่าคือว่าทำเพื่อให้เห็นว่าต้องทำนะ ทำเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแต่ยังไม่ได้รู้สึกหรือว่าควบรวมมาเป็นภารกิจขององค์กร ระดับนี้ก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ระดับที่เพิ่มขึ้นและเป็นทิศทางที่ดี ต้องยอมรับว่าผมทำไอแคร์ประมาณ 7 ปีก่อนหน้านี้ คือ 7 ปีก่อนคำว่า ซีเอสอาร์หรือโซเชียลเอนเตอร์ไพร์ซใหม่มากเลยและเมื่อ 7 - 8 ปีก่อน ตอนนั้นมันจะเป็นภาระเหมือนที่ผมพูดคือ ธุรกิจส่วนหนึ่ง เพื่อสังคมส่วนหนึ่ง ผมเห็นเทรนด์ที่ดีมากในรอบ 5 - 6 ปีมานี้ มันจะเห็นได้ว่าผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เริ่มรู้ว่ามันไม่ใช่แค่ทำเป็นว่าทำเพื่อสังคมแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ใส่ใจสังคมแบรนด์คุณก็อยู่ไม่ได้ด้วย เพราะสมัยนี้ผู้บริโภคไม่ได้เชื่อโฆษณาหรือเชื่อจากภาพถ่ายอีกต่อไป เขารู้ว่าคุณเป็นคนยังไง รู้ว่าคุณเป็นแบรนด์แบบไหน ถ้าคุณเป็นแบรนด์ที่ให้ความสะดวกขายของได้เต็มที่ แต่คุณไม่ได้นึกถึงคนอื่นมากพอ ผู้บริโภคเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่เชื่อโฆษณานะ เขาเชื่อสิ่งที่คุณเป็น ดังนั้นในภาคเอกชนภาคธุรกิจต่างๆ พอเขาเริ่มรู้ตัวว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้บริโภคจะเข้าถึง เขาก็เริ่มตระหนักคิดมากกว่าแค่กิจกรรมแล้ว เขามองว่ามันจะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เขาต้องรับผิดชอบจริงๆ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพอีกต่อไป ผมมองว่าอย่างองค์กร(ไอแคร์) ที่เราทำอยู่ เราทำอยู่ 2 ลักษณะเลย คือตัวธุรกิจคือเรียลเอสเตทนั้น เราต้องมองสิ่งที่ดีให้กับลูกบ้านของเราจริงๆ แล้ววิสัยทัศน์ของเจ้านายก็คือ ถ้าเรามีงบให้สังคมเราจะทำอย่างไรให้เกิดผลสูงสุด ก็เห็นว่าการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมทดลองทำบางอย่างหรือพอจะทำสื่อได้เพราะสื่อเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการนำความคิดผู้คน เราก็เลยตั้งใจลงทุนใน 2 สิ่งนี้ ก็เลยเป็นที่มาของไอแคร์ แต่ถามว่าตรงนี้ก็ยังได้เป็นที่สุดที่ภาคธุรกิจไปถึงได้ในการทำเพื่อสังคม ยุคใหม่ๆ นี่โดยเฉพาะหลายๆ สตาร์ทอัพนั้นจะเป็นแบบนี้ คือเขาจะผนวกปัญหาของสังคมเป็นภารกิจของธุรกิจเลย ธุรกิจของคุณดำรงอยู่เพื่อแก้ปัญหาสังคมบางอย่างเลยไปดูได้สตาร์ทอัพทั้งหลายนั้นจะบอกว่าการเกิดขึ้นของธุรกิจหรือนวัตกรรมของคุณแก้ปัญหาอะไรบ้างหรือทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นในด้านใด ตอนนี้ผมรู้สึกว่าเทรนด์เรื่องนี้เริ่มเกิดขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มทำธุรกิจที่ดีกับสังคม นี่จะเป็นคำตอบที่น่าจะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น มันจะไม่ใช่แค่ขายของอย่างหนึ่ง โฆษณาอย่างหนึ่งสร้างภาพอีกอย่างหนึ่ง แต่ธุรกิจมันต้องคิดเพื่อคนอื่นเลย เทรนด์นี้จะเริ่มอย่างไรได้บ้างโดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจคุณต้องประเมินตัวเองก่อนว่าอยู่ในภาวะไหน ยังมองว่าเรื่องเพื่อสังคมเป็นการสร้างภาพ กฎหมายบังคับหรือคุณแค่ทำ แต่มันยังมีขั้นตอนต่อไป ถ้าคุณเห็นแล้วรู้สึกว่าคุณมีส่วนในการทำให้สังคมมันดีขึ้นจากตรงนี้ได้ ซึ่งตรงจุดนี้ถ้าผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่ดีเขาจะรู้ตัวเขานำของสิ่งนี้มาสู่องค์กร มันจะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้พนักงาน ผมพบบางองค์กรที่ได้แค่เงินแล้วธุรกิจนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้ คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่อยากทำ เขาอยากทำในองค์กรที่รู้สึกว่าได้เงินด้วยมีบริษัทช่วยโลกด้วย คือธุรกิจที่ได้เงินเยอะๆ ผมว่ามันล้าสมัยแล้วทุกวันนี้ มีบริษัทใหญ่ๆ ที่ถูกโจมตีอยู่เยอะแยะไป ผมว่ามันใกล้จะถึงยุคที่ภาพลักษณ์มันจะไม่มีความหมายแล้ว เพราะวันนี้เราคุยเรื่องโฆษณา เรื่องสื่อสารเห็นว่าคนรู้แล้วว่าอะไรคือโฆษณา อะไรคือความเป็นจริง หมายความว่าธุรกิจยุคใหม่ๆ ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าการรับผิดชอบต่อสังคมหรือการคืนสู่สังคมเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาวมันก็จะไปได้ยาก เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นแต่คุณจะหาพนักงานที่ดีที่สุดมาทำงานกับคุณไม่ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ว่าไม่มีความอดทนแต่บางทีเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินเขาแค่อยากมาหางานที่มีความหมาย พอเขาไปอยู่ในองค์กรเก่าๆ ที่มันทำไว้เพื่อเงินเพื่อการแข่งขันเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่  อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคธุรกิจบางที่ต้องมองปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน แต่โอเคมันจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่อ่อนแอ หรือไม่มีความมั่นคงอะไรก็ตามแต่อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมว่าธุรกิจระยะยาวมันจะไปไม่ได้เลยถ้าคุณปฏิเสธภาคสังคม ดังนั้นถ้าถามว่าภาคธุรกิจจะทำอย่างไร ก็ต้องรู้ตัวคุณเองก่อนว่าอยู่ในระดับไหน คุณอยากเป็นองค์กรแบบเก่าสร้างภาพอย่างเดียวหรือคุณรู้ว่าองค์กรที่คุณมีอยู่จะธุรกิจ 10 ล้านหรือ 1,000 ล้านของคุณมันทำให้โลกใบนี้ดีได้ด้วยสิ่งที่คุณทำ ตรงนั้นคุณจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า คุณจะพาองค์กรไปทางไหน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก็ได้ เป็นซีเอสอาร์ จนถึงทำให้พนักงานมีความสุข จนถึงชวนพนักงานมาทำบางอย่างให้ธุรกิจมันดีและโลกใบนี้มันดีด้วยมันมีหลายขั้นตอน มันยากไหมกับการที่จะทำให้ภาคธุรกิจปรับในแง่ของมุมมองหรือทัศนคติด้านความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ทั้งยากและง่าย เพราะมันเป็นจิตสำนึกของผู้ประกอบการนะ ต้องยอมรับว่าการแข่งขัน มันก็ดุเดือด ทั้งต้องรักษาต้นทุนทำให้ได้กำไร รักษาธุรกิจมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมันก็อาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเลยเลือกวิธีที่ไม่ได้ดีที่สุด  แต่มันมีอีกวิธีในการทำธุรกิจแต่ผมเชื่อว่า ถ้าเขาทำทุกอย่างถูกต้อง ดีที่สุดต่อผู้บริโภคเขากลับจะพาตัวเองไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ต่างหาก กลุ่มเป้าหมายที่อยากได้ของดี อยากได้แบรนด์ที่นานๆ ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากซื้อของกับนักธุรกิจที่หลอกลวงจริงไหม แต่ว่าสัดส่วนมันก็ยังต่างกัน ผมว่าแล้วแต่ว่าเขาจะเลือกเอง ว่าจะเด่นทางไหน มีเหมือนกันนะนักธุรกิจที่ดีที่ทำทุกอย่างดีจนเกินมาตรฐานแล้วขายของแพงเป็นบ้า แต่ก็ยังมีคนซื้อ มันแล้วแต่คนจะเลือก ผมทำโครงการอยู่โครงการหนึ่ง ชื่อว่า New Heart New World องค์กรผมยังเห็นชัดเพราะมันต้องขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรเขามองเห็นอะไร เห็นกำไรเป็นที่ตั้งแล้วไม่สนใจสิ่งอื่น หรือเห็นว่าถ้าบริษัทอยู่รอดแต่สังคมไม่รอด คุณต้องเลือกว่าคุณจะมองเห็นแบบไหน ถ้าคุณเลือกแต่ความอยู่รอดมันก็ไม่ผิดหรอกที่จะเลือกทางแบบนั้น แต่มันก็คับแคบแล้วระยะยาวคุณก็ไม่มีความสุขจนกว่าคุณจะเห็นว่าถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้คุณก็ต้องเลือกต้องเติมสิ่งใหม่ๆ ตรงนี้เป็นการตัดสินใจของผู้นำขององค์กรนะ คิดว่าเรื่องสิทธิผู้บริโภค มันจำเป็นกับบ้านเราอย่างไรผมว่าจำเป็นมากเลย และบางทีผมลืมเรื่องนี้ไปนานแล้ว บางทียิ่งตามการเติบโตของโลกออนไลน์ ทุกคนขึ้นมาทำอะไรขายกันได้เยอะแยะมากมายในออนไลน์แล้วสิ่งที่น่าตกใจมากคือวันนั้นผมเห็น คือผมเคยทำงานโฆษณามาก่อน เวลาทำโฆษณา เรื่องยาลดความอ้วนหรือผิวขาว กว่าโฆษณาจะผ่าน ผมส่งเรื่องไป อย. นานมาก คือมันห้ามพูดโอเวอร์เคลม วันนั้นผมเห็นโฆษณาบนยูทูป ผมรู้เลยว่าโฆษณาตัวนี้มันไม่ได้ผ่าน อย. มันพูดโอเวอร์เคลมน่าเกลียดมาก ซึ่งเขาทำได้เพราะเป็นเรื่องของยูทูปไม่ต้องส่ง อย. ผมมองว่าผู้บริโภคกำลังถูกข้อมูลใหม่ๆ ที่น่ากลัวมากเข้ามา ผมว่าความสำคัญของการเข้าถึง การรู้เท่าทันข้อมูล องค์กรที่ทำเรื่องพวกนี้สำคัญมาก เพราะมันไม่ควรจะให้ผู้บริโภคเป็นเด็กน้อยๆ เป็นลูกแกะ ให้ผู้ประกอบการมาบอกเสนอหรือชี้นำอะไรก็ได้  ความจริงมันต้องรู้  เช่นกันผู้บริโภคก็ต้องตื่นตัว ต้องมีวิจารณญาณ ต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้โซเชียลมีเดียก็มีส่วนให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เคยมีคนบอกว่าโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้คนสุดท้ายแล้วมีเรื่องแย่ๆ เยอะในออนไลน์ก็จริง แต่มันทำให้คนฉลาดขึ้น คนที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมันไม่ใช่ฝั่งเจ้าของสินค้าที่พูดสายตรงออกมาคือมันมีการพูดคุย แต่เราจะคุยแลกเปลี่ยนกันว่าอะไรมันคือความถูกต้อง ผมว่าตรงนี้มันจะทำให้ภาพรวมของการรู้เท่าทันน่าจะดีขึ้น และผมว่าสุดท้ายการทำงานลักษณะนี้มันจะเพิ่มพลังให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ใช่ให้คนทำสินค้าแย่ๆ  มาเอาเปรียบเรา ผมว่าอันนี้สำคัญ พวกสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น Youtube หรือไวรัล ที่ในปัจจุบันมีอิทธิพลมากมองอย่างไร ควบคุมคงยาก โลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดียมันมีความเป็นธรรมชาติสูง บางเรื่องมันเร็วมากเป็นไฟลามทุ่ง ผมว่ายุคนี้ยิ่งน่าทำมากคือเรื่อง Media Literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) ทั้งความเข้าใจในการรับสื่อ กฎกติการมารยาทที่พึงทำในโลกออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการทำออกมา ภาครัฐบางทีการใช้กฎหมายบังคับมันเป็นที่ปลายเหตุ ต้องสร้างจิตสำนึกของผู้ทำสื่อกับผู้บริโภคสื่อให้ได้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ถ้าทำได้นะเรื่องความรู้ความเข้าใจ มันไม่ใช่การไปประกาศบอกอะไรแต่มันต้องชี้ให้เห็นคุณและโทษหรือชี้ให้เห็นตัวอย่าง ผมว่าน่าจะมีการทำชุดข้อมูลพวกนี้และต้องยอมรับจริงๆ ว่าถ้าภูมิคุ้มกันของผู้รับสารไม่มีมากพอโอกาสที่จะถูกหลอกก็ง่ายมาก แล้วเราต้องเลือกเสพอะไรบ้าง ผมว่าคนที่อ่าน “ฉลาดซื้อ” เป็นคนที่ใส่ใจอยู่แล้วและมีความคิดที่จะเติมความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากรู้แล้วนั้นผมว่าอีกอย่างที่สำคัญคือการช่วยกันบอกต่อข้อมูล อย่างที่บอกข้อมูลเหล่านี้เราเป็นองค์กรทำด้วยงบประมาณมันไม่ได้เท่ากับองค์กรภาคเอกชนคือมันคนละระดับกันแต่น้ำหนักของข้อมูลเวลามันมาจากความจริง มาจากผู้บริโภคส่งถึงกันมันมีพลังมากกว่า ตรงนี้ถ้าเราจะทำให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ก็สำคัญและการรวมกันเพื่อที่จะแชร์สิ่งเหล่านี้ออกไปผมว่ามันเป็นพลังที่ดี ผมไม่เชื่อเรื่องการที่เราไปตั้งตัวเป็นศัตรูกับผู้ประกอบการแต่เราเป็นส่วนหนึ่งที่มาคุยกันน่าจะดีกว่า   ไอแคร์ (iCARE) เป็นองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม นำโดย ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ชำระหนี้ครบ แต่ยังโดนหมายฟ้อง

เอกสารการชำระหนี้ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับลูกหนี้ทุกคน เพราะเราอาจโดนฟ้องให้ชำระหนี้ ทั้งๆ ที่จ่ายครบแล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 คุณสุนีย์กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) จำนวน 16,018 บาท ซึ่งกองทุนกำหนดให้ชำระเงินคืนเมื่อสำเร็จการศึกษา และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้น ภายหลังเมื่อเรียนจบและครบกำหนดชำระหนี้ คุณสุนีย์กลับผิดนัดชำระ เนื่องจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ติดต่อไปยัง กยศ. เพื่อแจ้งเหตุผลหรือขอเลื่อนนัดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเมื่อเธอเริ่มตั้งตัวได้และต้องการชำระหนี้ดังกล่าว จึงตัดสินใจชำระหนี้เต็มจำนวนเป็นเงิน 25,698.40 บาท โดยชำระผ่านทางธนาคารกรุงไทย ซึ่งหลังชำระเงินพนักงานของธนาคารก็ได้แจ้งว่า ยอดดังกล่าวได้รวมดอกเบี้ยแล้วเรียบร้อย ทำให้เธอไม่มีหนี้ติดค้างกับ กยศ. อีกต่อไปอย่างไรก็ตามเหตุการณ์หลังจากนั้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่พนักงานแจ้ง เพราะไม่นานเธอได้รับหมายศาลให้ชำระหนี้ กยศ. ที่ค้างอยู่ รวมเป็นเงินกว่า 30,000 บาท โดยกองทุนได้ฟ้องร้องเนื่องจากเธอผิดสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ชี้แจงพร้อมขอสำเนาการชำระเงินที่เธอได้ชำระไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีได้ พร้อมส่งจดหมายเชิญตัวแทนของกองทุนมาเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามภายหลังเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทาง กยศ. ยืนยันว่า จำนวนหนี้ที่ฟ้องมานั้นถูกต้อง และผู้ร้องต้องชำระให้ครบจำนวน ทำให้ต้องไปพิสูจน์ความจริงที่ศาลต่อไปเมื่อถึงวันพิจารณาคดี ศาลให้มีการนัดสืบพยาน แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ทางโจทก์หรือกยศ.ก็ขอถอนฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานเอกสารมาสืบ แต่ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอาจทำเรื่องฟ้องใหม่ภายหลัง ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่สบายใจ แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ชี้แจงว่า อาจเป็นเพียงการพูดกดดันจากอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ให้เก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ก่อน เพราะสามารถใช้ยืนยันความบริสุทธิ์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ระวังการจ้างคนดูแลผู้ป่วย

แม้การจ้างคนดูแลผู้ป่วย จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้หลายครอบครัวได้ แต่บางครั้งอาจเป็นการสร้างปัญหาที่ยากจะแก้ไข ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เขาได้จ้างคนดูแลผู้ป่วยมาเฝ้าไข้คุณแม่ ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จากศูนย์บริการจัดส่งพนักงานประจำบ้าน-โรงพยาบาล โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าคนที่จ้างมา ผ่านการรับรองและได้รับประกาศนียบัตรการสำเร็จหลักสูตรพนักงานผู้ช่วยบริบาลสุขภาพหลักสูตร 420 ชั่วโมง จากโรงเรียนการจัดการสุขภาพจุฬาเวชเรียบร้อย อย่างไรก็ตามหลังดูแลคุณแม่ได้ไม่กี่วัน พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งมายังคุณสุชาติว่า คุณแม่ของเขาไม่สบายและต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท โดยขอร้องให้เขาโอนเงินเข้าบัญชีของเธอ เพื่อสำรองจ่ายไปก่อน ด้านคุณสุชาติคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร จึงหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้ แต่กลับพบว่าเธอได้หายตัวไปและติดต่อไม่ได้อีกเลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เขาจึงไปแจ้งความ และติดต่อศูนย์บริการดังกล่าวเพื่อให้รับผิดชอบ แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า ตามสัญญาที่เขาทำไว้ก่อนตกลงจ้างคนดูแลผู้ป่วยได้ระบุไว้ดังนี้ “หากเกิดปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน หรือเกิดการเสียหายแก่ทรัพย์สินผู้ว่าจ้าง โดยเหตุเกิดอาจเกี่ยวกับพนักงานของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะต้องรีบแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับพนักงานได้ทันที โดยผู้รับจ้างไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบแต่ประการใดทั้งสิ้น เว้นแต่การให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเท่านั้น” ทำให้คุณสุชาติต้องส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬาเวชโดยตรง เพื่อร้องเรียนถึงพฤติกรรมของพนักงานดังกล่าว โดยขอให้พิจารณาถึงบทลงโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากพนักงานอาจใช้ประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรองทำงานต่อไปและหลอกลวงผู้อื่นได้อีก อย่างไรก็ตามจากปัญหานี้ได้แสดงให้เห็นถึง ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ยังไม่มีการควบคุมเรื่องข้อสัญญาสำหรับธุรกิจประเภทดังกล่าว ทำให้ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2559 โดยกำหนดว่า ข้อ 3 สัญญาการให้บริการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนทุพพลภาพและผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรที่ไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังนี้1.รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ เลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคล ให้ระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล2.รายละเอียดของพนักงาน อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ สัญชาติ อายุ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน ความประพฤติและประวัติการกระทำความผิด (ถ้ามี)กรณีพนักงานเป็นคนไทยให้ระบุเลขประจำตัวประชาชน แต่กรณีเป็นพนักงานต่างด้าวให้ระบุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว3.รายละเอียดเกี่ยวกับประเภท และขอบเขตของงานที่ให้บริการ เช่น วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการทำงาน วันหยุดพนักงาน การทำงานล่วงเวลา เป็นต้น4.รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค เช่น ค่าบริการพิเศษในวันหยุดของพนักงาน ค่าบริการล่วงหน้าและค่าทำงนล่วงเวลา รวมทั้งเงื่อนไขและวิธีชำระเงิน5.ผู้บริโภคมีสิทธิให้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงพนักงาน กรณีที่พนักงานไม่มาปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่ ซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังตามที่พึงคาดหมายได้ จากการให้บริการตามสัญญา หรือพนักงานมีสภาพร่างกาย จิตใจ หรือความประพฤติไม่เหมาะสมหรือกระทำการอันเป็นความผิดอาญาทั้งนี้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ หากพบว่าไม่มีรายละเอียดของพนักงานตาม (2) หรือพนักงานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการให้บริการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือพนักงานมีพฤติกรรมตาม (5)รวมทั้งไม่ตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะเรียกเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญา และ (8) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นค่าบริการล่วงหน้าทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นชำระเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันกับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดให้ผู้บริโภคต้องชำระในกรณีผิดสัญญานอกจากนี้ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องไม่ใช่ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายทำนองเดียวกัน ดังนี้(1) ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากผู้ประกอบธุรกิจหรือพนักงาน(2) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิริบเงินค่าบริการและเงินอื่นๆ ที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคไว้ล่วงหน้า(3) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชำระค่าปรับ ค่าเสียหายหรือเงินอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่มีการเลิกสัญญา เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้แล้วตามกฎหมาย(4) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงอัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดในสัญญา ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา(5) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญข้อใดข้อหนึ่งในสัญญา(6) ข้อสัญญาที่กำหนดให้การต่อระยะเวลาของสัญญามีผลบังคับทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสต่างแดน

ผู้ดีบ้านแตกการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษรายได้น้อยที่เพิ่งซื้อบ้านใหม่จำนวน 4,341 คน พบว่าร้อยละ 50 ของพวกเขาเจอปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง และระบบต่างๆ ในบ้านหน่วยงาน National House Building Council ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อบกพร่องของบ้านสร้างใหม่ และให้การรับประกันเป็นเวลา 10 ปี ถูกพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจนเกินงามและใส่ใจประโยชน์ของบริษัทมากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน  สุดท้ายคนรายได้น้อยจึงต้องจ่ายเงินสร้างบ้านแพงขึ้นแต่ได้บ้านที่คุณภาพลดลงShelter องค์กรที่ทำการสำรวจครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบการจัดหาบ้านเอื้ออาทรโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจองค์กรท้องถิ่นจัดหาที่ดินในราคาถูก ตั้งบริษัทรับเหมา และใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่ขายให้กับกลุ่มทุนที่ทุ่มซื้อในราคาสูงเพื่อสร้างบ้านขายในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ไม่ดื่มก็ต้องจ่ายความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่สามปีก่อน น้ำประปาในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ จึงปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เหตุเพราะเขาต้องการลดต้นทุนในการผลิตน้ำด้วยการเปลี่ยนมาใช้แหล่งน้ำใหม่ แต่กลับหละหลวมไม่ตรวจสอบการรั่วไหลของโลหะในท่อส่งน้ำ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องก็ถูกดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อย และทางการก็ช่วยรับภาระค่าน้ำให้ร้อยละ 65 เป็นการชดเชยให้กับผู้ใช้น้ำที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างวันนี้ทางการประกาศว่าน้ำที่นั่นกลับมามีมาตรฐานเดียวกันกับที่อื่นๆ แล้ว เพียงแต่ถ้าคุณต้องการใช้ดื่ม ก็ต้องไปขอรับฟิลเตอร์สำหรับกรองตะกั่วมาใช้ด้วย   และจะเริ่มเก็บค่าน้ำในราคาเต็มอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าใช้น้ำจากก๊อกในการประกอบอาหารหรือใช้อาบ พวกเขาพึ่งพาน้ำบรรจุขวดเป็นหลัก และกำลังลุ้นกันอยู่ว่ารัฐจะหยุดแจกน้ำบรรจุขวดอีกด้วยหรือเปล่า  ไม่ใช่ผม ชายวัย 54 จากเมืองโบยโร ตกใจมากเมื่อเห็นรูปของเขาตอนนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลบนซองบุหรี่พร้อมกับข้อความ “การสูบบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดอุดตันและพิการได้”ชายซึ่งไม่ได้สูบบุหรี่คนนี้เชื่อว่าเขาถูกแอบถ่ายที่โรงพยาบาลเมื่อสามปีก่อน ขณะกำลังพักฟื้นและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังเข้ารับการผ่าตัดใส่แผ่นไทเทเนียมที่หลังเพื่อรักษาอาการปวด หน่วยงานสาธารณสุขของสเปนกำลังโดนสอบสวนโทษฐานที่ใช้รูปถ่ายของผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต การสืบสวนหาตากล้องมือดียังคงดำเนินต่อไป แต่เหตุการณ์ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยเมื่อหน่วยงานดังกล่าวระบุว่าเครื่องช่วยหายใจในภาพนั้นไม่ใช่แบบที่โรงพยาบาลในเครือใช้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในสเปน ก่อนหน้านี้หญิงชาวบาเซโลนาก็เคยร้องเรียนเรื่องที่รูปถ่ายของสามีผู้ล่วงลับเธอไปปรากฏบนซองบุหรี่มาแล้ว  ฉลาดได้อีก อีกไม่เกิน 20 ปีเราจะมีรถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับแล้ว (แต่เรายังต้องใช้ถนน) เทคโนโลยีในการสร้างถนนหนทางจึงกำลังถูกพัฒนาขึ้นมารองรับเจ้ารถอัจฉริยะที่ว่าเดือนตุลาคมนี้เราจะได้เห็น “สะพานฉลาด” บนออโต้บาห์น หมายเลข 9 ในเมืองนูเร็มเบิร์ก ทางเหนือของแคว้นบาวาเรียสะพานมูลค่า 11 ล้านยูโร(400 กว่าล้านบาท) ที่มีความยาว 156 เมตรนี้จะส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสะพาน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความตึง แรงกดจากยวดยาน และความเคลื่อนไหวบนตัวสะพานทำให้วิศวกรสามารถประเมินการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนถึงช่วงซ่อมบำรุงตามกำหนด และยังทำให้รู้ว่ามีรถคันไหนวิ่งสวนเลนหรือแอบเข้ามาจากจุดที่ไม่อนุญาต เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและสภาพจราจรติดขัดด้วยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดสอบออโต้บาห์นดิจิตัล ที่รัฐบาลเยอรมนีทำร่วมกับบริษัทซีเมนส์  บ๊ายบาย FM นอร์เวย์เป็นประเทศแรกในโลกที่มีการส่งกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบดิจิตัลทั้งหมด กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขาเริ่มยกเลิกการส่งกระจายเสียงด้วยระบบ FM ทางภาคเหนือของประเทศแล้วจะค่อยๆ ไล่ลงมาทางใต้จนยกเลิกทั้งหมดในปีนี้  รัฐบาลให้เหตุผลว่าภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและหุบเขานั้นเหมาะกับการส่งสัญญาณแบบดิจิตัลมากกว่า ประกอบกับอุปกรณ์ FM ที่ใช้มานานก็หมดสภาพ และนอร์เวย์จะมีสถานีวิทยุระดับชาติได้ถึง 40 สถานีจากปัจจุบันที่มีเพียง 5 สถานี สำคัญที่สุดคือเขาจะประหยัดได้ปีละ 200 ล้านโครน หรือ 800 ล้านบาทแต่การสำรวจระบุว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาใช้ระบบ DAB (Digital Audio Broadcasting) ที่ทำให้เครื่องรับวิทยุเกือบ 8 ล้านเครื่องกลายเป็นของสะสม และเจ้าของรถยนต์ต้องควักกระเป๋า 1500 โครน (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อเปลี่ยนวิทยุในรถให้เป็นระบบใหม่  ข่าวบอกว่า สวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะเป็นรายต่อไป ตามด้วยเดนมาร์ก สวีเดน และเกาหลีใต้

อ่านเพิ่มเติม >