ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 Drama - Addict กับ นพ.วิทวัส ศิริประชัย

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพามารู้จักเจ้าของเพจดัง ที่มีคนติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน “Drama-addict หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน”  หรือชื่อจริงของเขา นพ.วิทวัส ศิริประชัย ในมุมมองสังคมออนไลน์กับงานคุ้มครองผู้บริโภค แรงบันดาลใจของคุณหมอทำไมตั้งชื่อเพจว่า Drama-addict จริงๆ ตอนแรกเป็นเว็บไซต์ของพวกคนตีกัน ถกเถียง ดีเบตกันในอินเตอร์เน็ต แต่ว่าด้วยอาชีพหลักของผมในตอนนั้นเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลเกาะลันตา แล้วก็เห็นคนไข้ที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลมากๆ แต่เขาก็ยังตกเป็นเหยื่อของอินเตอร์เน็ตกันเยอะ เช่น คนไข้บางคนไปซื้อยาลดความอ้วนกินแล้วปัสสาวะเล็ดเรี่ยราด ใจสั่น น้ำหนักลดเขาก็มาที่โรงพยาบาล ผมก็รู้สึกว่าเราก็มีคนติดตามเยอะถ้าเราเอาข้อมูลพวกนี้มาทำให้คนไข้รู้นั้นเราก็น่าจะช่วยคนได้มาก เลยเริ่มเอาประเด็นพวกนั้นมานำเสนอ พอทำตรงนี้แล้วมันก็จะมีการติดต่อกับผู้เสียหายจากหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งเป็นนักเรียนประมาณ ม .4 – 5 เขาไปซื้อยาลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่ง ยาตัวนี้เขาอ้างชื่อเชอรี่สามโคก ที่เป็นพริตตี้มีชื่อเสียง แต่เชอรี่ตัวจริงเขาไม่รู้เรื่องแต่ว่าถูกเอาชื่อและรูปไปโฆษณายาลดความอ้วนตัวนี้ จนมีคนหลงเชื่อและซื้อไปกินและเสียชีวิต แล้วทางญาติก็อยากเอาเรื่องฟ้องร้อง ก็ติดต่อมาทางผม ผมก็คุยกับเชอรี่ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าตัวเขาเองมีส่วนต้องช่วยรับผิดชอบ ก็มีการพูดคุยกันกับเพจดาร์ค อื่นๆ อีกและสุดท้ายก็ไปที่ดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีกัน สุดท้ายก็มีการออกหมายจับแม่ค้าคนนี้และนำไปสู่การจับกุมในที่สุด แต่ประเด็นคือ ถูกจับก็ประกันตัวไป เดี๋ยวก็ออกมาขายอีกเหมือนเดิม คือผมรู้สึกว่าทำตรงนี้ไปถ้าสมมติว่ามันออกมาเป็นรูปแบบเดิมมันก็ไม่ค่อยช่วยอะไรได้มาก เพราะว่าโทษมันเบาเหลือเกิน บางคนขายยาลดความอ้วนในเพจหลายๆ เพจโวยกันแทบตายสุดท้ายออกมาขายกิจการใหญ่โตกว่าเดิมก็มี อันนี้เป็นเรื่องทางกฎหมายกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลด้วย เพราะว่าอย่างแรกโทษมันเบา และบางทีชาวบ้านอยากร้องเรียนพอไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบมันมีการโยนกันไปโยนกันมา และมีอีกเคสหนึ่งเขาบอกว่าไปซื้อครีมผิวขาวทาแล้วตัวลายทั้งตัวเลย ซึ่งก็น่าจะผสมสเตียรอยด์ พอไปร้องเรียนที่ อย. ทาง อย. ก็บอกว่าอันนี้ขายในอินเตอร์เน็ตไม่ใช่อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของเขาให้ไปไอซีที โยนกันไปโยนกันมาสุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องสักที จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ควรประสานหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานรัฐด้วยกันเองและผู้บริโภคด้วยก็น่าจะสามารถช่วยกันได้ และที่ผมบอกไปตอนขึ้นต้นว่าบางครั้งเราแค่ติดอาวุธให้กับประชาชนแล้วที่เหลือเขาจะจัดการกันเองได้มีกลยุทธ์อย่างไรในการนำเสนอเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ทำให้คนสนใจกันมากๆ ได้อันนี้คิดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้งและการทำโฆษณา ทุกวันนี้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ลองสังเกตดูนะจะเห็นว่าโฆษณาขายครีมลอกผิว ขายยาผิวขาว ยาลดความอ้วนนั้นแชร์หลายหมื่น หลักแสนก็มี ในขณะที่หน่วยงานรัฐเราทำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงนำเสนอไปคนแชร์หลักสิบ บางทีคนไม่สนใจด้วยซ้ำเพราะบางทีเราคิดว่าทำภาพ ทำโปสเตอร์ใส่เนื้อหาลงไปเยอะๆ แล้วคนจะแชร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอด้วยว่า ทำอย่างไรจะทำให้คนแชร์คอนเทนท์นั้นเยอะๆ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคนเราเวลาจะทำพวกไวรอลพวกนั้นมันอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภคด้วย ก็คือคนที่เล่นเฟซ ถ้าเขารู้สึกว่าไอ้ตัวนี้มันกระตุ้นอารมณ์เขา เขาก็จะเป็นอารมณ์ด้านบวก คือดูแล้วขำหรือดูแล้วสะเทือนใจอะไรพวกนี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดการแชร์มากขึ้น อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ถ้าเราเรียนด้านสาธารณสุขมาน่าจะเคยได้ยินมาบ้างที่ว่าเวลาทำโปสเตอร์รณรงค์อย่าพยายามไปทำให้มันเป็นด้านลบมากเกิน เช่น ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่ก็อย่าเอาภาพที่แบบคนปากเน่าๆ เละๆ มานำเสนอ ทำให้มันเป็นด้านบวกๆ หน่อยเพื่อที่คนจะแชร์ ก็คือต้องศึกษาการทำภาพให้มันดูแล้วอยากแชร์ อยากไลค์เพื่อให้คนเข้ามาถึงข้อมูลตรงนี้ได้ง่ายๆ ในโลกดิจิตอลนอกจากซื้อของแล้วได้ไม่ตรง ยังมีปัญหาอะไรอีกไหมที่มองว่ามาแน่ๆ ในอนาคตถ้าเราดูปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊คอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องแต่การก่ออาชญากรรมพวกนั้นไม่ต่างจากยุคก่อน ที่จะมีอินเตอร์เน็ตเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของโชกุน โชกุนมีอะไรต่างจากแชร์ลูกโซ่สมัยก่อนบ้าง พวกแชร์แม่ชม้อยพวกนั้น คอนเซ็ปต์ทุกอย่างเหมือนธุรกิจแชร์ลูกโซ่เลย คนไทยตกเป็นเหยื่อมาตลอดและยังตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูล มีการเข้าถึงข้อมูลทั้งเฟซบุคหรืออะไรอย่างอื่นมากขึ้น ผมมองว่าพวกเฟซบุค ไอจีอะไรพวกนี้มันเป็นแค่ช่องทางหนึ่งของการเข้าถึงข้อมูล แต่รูปแบบของการก่ออาชญากรรมนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมที่เป็นการละเมิดผู้บริโภคนั้น จะเป็นการใช้ข้อมูลเท็จและใช้ข้อมูลเข้าไปหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อและหลงเป็นเหยื่อมากกว่า อย่างกรณีพวกที่ขายยาลดความอ้วนหรือพวกขายครีมปรอท เราให้ข้อมูลไปว่าของพวกนี้ใช้แล้วอันตรายกับผู้บริโภค แต่คนก็ไม่เชื่อกันเพราะว่าหน่วยงานภาครัฐนั้นเคลื่อนตัวช้า พอมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกว่าจะทำอะไรได้ข้อมูลมันช้ามาก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายครีมเขาไปสร้างข้อแก้ตัว สร้างข้อมูลเท็จสารพัดอย่างเช่นบอกว่า อย. รับรองสินค้าของเขา ตัวนี้มี อย. ทำให้เขาสามารถเอามาขายได้แบบอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงได้ อย่างล่าสุดก็มีกรณีที่เอาของเหลือจากอุตสาหกรรมนมมาทำเป็นนมผงแล้วเอาไปหลอกขายประชาชนบอกว่า ให้ลูกกินแล้วจะตัวสูงซึ่งมันเป็นเรื่องเท็จ แต่คนก็หลงเชื่อกันแล้วก็แห่กันไปซื้อมากมายเพราะว่าก่อนหน้านั้นมันมีขบวนการที่สร้างข้อมูลเท็จ ปั่นหัวให้พ่อแม่ที่อยากให้ของดีๆ กับลูกกินนั้นหลงเชื่อว่าไอ้ตัวนี้เป็นของที่น่าเชื่อถือ มีการยกอ้างงานวิจัยอะไรสารพัดเลย แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงการแพทย์หรือว่าวงการสาธารณสุขนั้นเหลือบตาดูแว้บเดียวก็รู้แล้วว่าที่เขายกมาอ้างมันมั่วทั้งนั้น ปัญหาคือเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด ประเด็นคือ ถ้าเราจะเล่นสงครามข่าวสารพวกนี้เพื่อให้ผู้บริโภค ซึ่งอย่างแรกต้องมีความว่องไวและเราต้องการให้ความรู้เท่าทันเป็นอาวุธที่จะไปสู้กับพวกข้อมูลเท็จเหล่านี้ มีตั้งแต่การสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ มีเว็บไซต์ที่มีสำหรับเช็คข่าวปลอมในอินเตอร์เน็ตและมีการเอาข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาลงรูปพวกนี้มานำเสนอกันผ่านสื่อให้มันดูน่าเชื่อถือและว่องไวเพื่อให้ประชาชนเขามีข้อมูลตรงนี้ไว้อ้างอิง อย่างล่าสุดมีคนเพิ่งส่งเรื่องมาให้ผมเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเอสพีดี เขาก็คุยกันเรื่องลูกเป็นเอสพีดีปกติแล้วก็มีคนขายเอาโคลอสตรุมไปขายในกลุ่มเขาบอกว่าถ้าให้ลูกที่เป็นเอสพีดีกินแล้วสุขภาพจะแข็งแรง ภูมิต้านทานจะดี ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นเรามีการนำเสนอข้อมูลผ่านหลายๆ เพจก็โจมตีว่า ไอ้พวกโคลอสตรุมนั้นมันเป็นเรื่องเท็จ หลอกลวงประชาชน เขาก็เอาข้อมูลตรงนี้ไปเถียงกับคนขายเหล่านั้นได้ คือประชาชนก็สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้เองได้แต่เราต้องให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับเขาก็คือผู้บริโภคยุคนี้ต้องมีความรู้ที่มากขึ้น ถูกต้องและเร็วขึ้น เรื่องข้อมูล อย่างแรกต้องมีข้อมูลแบบที่น่าเชื่อถือได้ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นคนการันตีเรื่องข้อมูล อย่างกรณีเรื่องโคลอสตรุม ตอนแรกผมก็พยายามหางานวิจัยต่างประเทศแล้วก็พวกสถานะของโคลอสตรุมจากพวกผู้ชำนาญการ นักวิชาการหลายๆ คนมานำเสนอก็ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่พอ อย. มาเล่นด้วยนั้นหายเกลี้ยงเลย คือเรื่องพวกนี้ถ้ามีภาครัฐมาสนับสนุนแบคอัฟข้อมูลที่ถูกต้องให้นั้น ประชาชนจะรู้ว่าข้อมูลจากตรงนั้นมันน่าเชื่อถือ สองก็ต้องทำให้มันย่อยง่ายอาจจะทำเป็นอินโฟกราฟฟิคเยอะๆ ทำให้ภาพมันดูง่ายๆ อาจจะต้องใช้เวลาไปเสริมข้อมูลทีละนิดๆ เพราะว่าถ้าเยอะเกินไปโดยบุคลิกของคนไทยไม่ชอบอ่านอะไรเยอะๆ ต้องใช้ภาพเยอะๆ ตัวอักษรน้อยๆ  เน้นคำที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญ อย่างโคลอสตรุมนั้นเราจะเน้นคีย์เวิร์ดคำว่า นมเกรดเทให้หมากิน ซึ่งคำนี้พอคนกินเข้าไปมันจะเกิดความตะหนักรู้ว่าอ้าวเอาของห่วยๆ มาหลอกเรา แล้วคนจะไปหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเองซึ่งเราก็หาแหล่งข้อมูลให้เขาอ้างอิงง่ายๆ ได้รับการแชร์ข้อมูลกันทุกวันจะทำอย่างไรให้เขาตรวจสอบข้อมูลง่ายๆอย่างแรกต้องสร้างการตระหนักรู้ก่อนว่าข้อมูลที่ส่งๆ กันในโซเชียลนั้นมันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดแต่อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะว่าทุกวันนี้พอคนเฒ่าคนแก่เขาเพิ่งหัดเล่นเฟซบุคเขาจะคิดว่าไอ้ที่คนเขาแชร์กันเยอะๆ นั้นมันน่าจะเป็นเรื่องจริง ตรงนี้ที่ควรจะต้องค่อยๆ เสริมความรู้กันเข้าไป อย่างข่าวปลอมบางทีแชร์กันเป็นแสน บางทีต้องให้เขารู้ว่าถ้าเป็นข่าวอะไรก็ตามที่เน้นให้คนอ่านรู้สึกมากๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ จะมีพวกที่เอาภาพของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาตัดต่อสร้างเป็นข่าวปลอมบอกว่าคนนี้ไปข่มขืน แล้วทำภาพให้คนดูแล้วชวนให้โกรธแค้น อันนี้อยากให้เบรคไว้ก่อนเลยว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ร้อยทั้งร้อยข่าวปลอมล้านเปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลทางการแพทย์ที่แปลกๆ อย่างเช่นกินไอ้นี่แล้วเป็นมะเร็งถึงตาย ดูเว่อร์ๆ นั้นให้ชั่งใจไว้แล้วหาข้อมูลก่อนเพราะว่าข่าวไหนก็ตามที่มันเน้นกับความรู้สึกคนมากๆ บอกได้เลยอันนั้น คือออกแบบมาเพื่อทำเป็นไวรอล และเป้าหมายมันไม่ใช่เพื่อเน้นข้อมูล ถ้าเป็นไวรอลของภาครัฐนั้นจะทำมาเพื่อให้คนแชร์กันเยอะๆ แต่ถ้าเป็นลักษณะที่กล่าวมาก็เน้นเพื่อหาผลประโยชน์บางคนก็เป็นเหยื่อจากการแชร์เรื่องพวกนี้ ตรงนี้จะทำอย่างไรได้บ้างอันนี้ก็เหมือนที่บอกตอนแรกคือ ต้องทำให้เกิดการตะหนักรู้ การโฆษณาในเฟซบุคที่อ้าง อย.หรืออ้างนู้นอ้างนี่ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป อย่าง อย. จะเป็นหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงบ่อยมาก บอกว่าสินค้าตัวนี้มี อย. ปลอดภัย อย่างโคลอสตรุมมี อย. กินแล้วตัวสูงแน่เพราะ อย. ยังรับรอง ซึ่งมันไม่จริงเลย ตรงนี้ อย. เองก็น่าจะออกมาพูดบ้างว่าเขามีข้อจำกัดอะไร อย่างเช่น อย. เวลาได้เครื่องหมาย อย. มาก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย ต้องเข้าใจคำว่าโฆษณากินจริงพวกนั้นด้วย และต้องเข้าใจว่าบางที อย. ก็โดนเล่นเหมือนกันเพราะว่าบางทีคนเอายาลดความอ้วนนั้นไปจดทะเบียนแต่จดทะเบียนว่าเป็นอาหารเสริมธรรมดาแต่โฆษณาว่าลดความอ้วนพอเราจะเข้าไปตรวจว่ามีสารอันตรายอยู่หรือเปล่ามันก็จะรู้ข่าวล่วงหน้าจากเส้นสายวงในอะไรของเขา เขาก็เอาสินค้าล๊อตที่มีสารอันตรายออกเอาล๊อตธรรมดาใส่ อย. ตรวจไปก็ไม่เจออะไรแล้วก็เอาไปขายตามเดิม คือต่อให้สุ่มตรวจว่าเจอสารอันตรายอยู่มันก็แถว่าเป็นยาเถื่อนไม่เกี่ยวกับมัน ที่เจอเป็นยาปลอมซึ่งเป็นมุกที่เล่นกันบ่อยมาก อย่างเช่น หัวบุกอะไรสักอย่างที่ขายกันก่อนหน้านั้นที่คนกินแล้วตายเยอะๆ มันก็อ้างประมาณนี้บอกว่าตัวที่กินไปแล้วตายเป็นของปลอม ปลอมได้อย่างไรมาจากโรงงานเดียวกัน พอ อย. เจอแบบนี้เข้าเขาก็เล่นยาก ถึงได้บอกว่าต้องประสานงานกันหลายๆ หน่วยงานไม่แค่ อย. เจ้าเดียว อย. ต้องร่วมกับไอซีที ร่วมกับดีเอสไอจับได้ให้คาหนังคาเขาเลย และถ้าพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภคอาจจะต้องมีการประสานงานกับหลายๆ เพจเฉพาะด้านอย่างแชร์ลูกโซ่ก็จะมีเครือข่ายต่อต้านแชร์ลูกโซ่แบบนี้ เพราะว่าพอมีกลุ่มพวกนี้ออกมาเพจพวกนี้เขาจะมีเครือข่ายข้อมูล ประชาชนก็จะแห่ไปให้ข้อมูลซึ่งพอเขาประสานงานกับหน่วยงานรัฐนั้นจะง่ายขึ้นเพราะว่ามีเบาะแสที่เจ้าหน้าที่ต้องการ อย่าไปทำคนเดียวต้องช่วยกัน และต้องเร็วขึ้น ต้องตอบรับสถานการณ์ให้ไวขึ้น เพราะถ้าเป็นอย่างเมื่อก่อนเวลามีประเด็นกินยาลดความอ้วนตายกว่าจะขยับตัวสัปดาห์ถัดไปมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบแล้วทำงานตรงนี้มากี่ปีแล้ว มีพวกภัยมืดอะไรไหมที่เข้ามา ท้อแท้บ้างไหมทำเพจก็ 6 -7 ปีแล้วถ้าจำไม่ผิด ก็มีขู่ฟ้องอะไรสารพัดเลย อย่างคนอื่นเขาก็โดนกันเยอะ หมอแล็บ หมอแมวที่ทำเพจเกี่ยวกับให้ความรู้โดนขู่ฟ้องตลอด ตรงนี้ผมคิดว่าภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือบ้างนะเพราะว่าบางทีคนก็ต้องแห่กันไปใช้บริการเพจนอกกฎหมายซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป ท้อแท้ไหม บ่อยเลย แต่มันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำคนก็เป็นเหยื่อไอ้พวกนั้นต่อไปเรื่อยๆ  แต่ที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่างเรื่องโคลอสตรุมที่เล่าไปเมื่อสักครู่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าคนตื่นรู้จนตอนนี้ไม่มีคนซื้อมันแล้ว เวลาเอาไปขายในเพจเลี้ยงลูกก็จะมีคนเอาข้อมูลพวกนี้ไปแปะ คือเขาจัดการกันเองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เปลี่ยนคืนสินค้าชำรุด

หากเราซื้อสินค้าใดๆ มาใช้ แล้วพบว่าเกิดความชำรุดบกพร่อง และต้องการเปลี่ยนคืนสินค้าดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสมหมายซื้อกาต้มน้ำไฟฟ้า จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งโฆษณาว่ารับประกันการใช้งาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากใช้ไปได้ประมาณ 3 เดือนก็พบความชำรุดบกพร่องกับสายปลั๊กไฟของกาต้มน้ำ โดยเขาพบว่าปลั๊กของกาน้ำละลาย และทำให้ปลั๊กสามตาที่ต่อพ่วงเอาไว้เสียหายด้วยเช่นกัน คุณสมหมายจึงโทรศัพท์ไปยังเบอร์พิเศษ(เลข 4 หลัก) ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโฆษณาว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงเพื่อแจ้งปัญหา แต่กลับพบว่าต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ฟรีๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่คิดไว้ เพราะพนักงานระบุเพียงว่าให้ส่งกาต้มน้ำดังกล่าวไปยังศูนย์บริการที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปลี่ยนหรือซ่อมให้ใหม่อย่างไรบ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมหมายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักสิทธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ขอเอกสารผู้ร้องเพิ่มเติมได้แก่ รูปถ่ายสินค้า ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน แต่ผู้ร้องแจ้งกลับมาว่าใบรับประกันและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงได้สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่ายใบเสร็จสินค้า ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ใหม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการซื้อเกิน 3 เดือนแล้วอย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนบหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องมีส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ผลิต เพื่อขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังทางบริษัทก็ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและเสนอเปลี่ยนกาต้มน้ำ รวมทั้งปลั๊กสามตาที่เสียหายไปให้ใหม่ พร้อมแจ้งว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นอีก ทางบริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาสินค้าให้กับผู้ร้อง ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ไม่ได้ถูกกว่าเสมอไป

ร้านอาหารส่วนใหญ่มักมีการจัดเซ็ตหรือชุดอาหารพร้อมโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าถ้าซื้อเป็นเซ็ต จะได้ความคุ้มค่ากว่าการสั่งอาหารทีละรายการ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เราลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กัน คุณปราณีไปรับประทานพิซซ่ากับครอบครัวที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากดูเมนูอาหารแล้วพบว่า มีการจัดโปรโมชั่นเซ็ตอาหารในราคา 399 บาท เธอจึงเลือกสั่งเมนูนี้มารับประทาน อย่างไรก็ตามภายหลังเธอได้ตรวจสอบราคาอาหารแต่ละรายการในเซ็ตดังกล่าว จึงพบว่าราคาเซ็ตกลับมีราคาแพงกว่าการซื้อแยกแต่ละรายการ ทำให้คุณปราณีแสดงความคิดเห็นไปยังหน้าเว็บไซต์ของร้านอาหารดังกล่าว โดยขอให้มีการปรับปรุงราคา เนื่องจากเธอเห็นว่าเป็นการหลอกลวงลูกค้า เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการตอบกลับจากร้านค้าดังกล่าวแต่อย่างใด คุณปราณีจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ ผู้ร้องได้แนบหลักฐานราคาอาหารจากหน้าเว็บไซต์ของร้านดังกล่าวมาด้วย ซึ่งเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า การจัดชุดโปรโมชั่นดังกล่าวมีราคาสูงกว่าการซื้อแยกรายการจริง จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทให้มีการปรับปรุงโฆษณา ซึ่งภายหลังพบว่าทางบริษัทได้นำรายการเช็ตอาหารดังกล่าวออกจากเมนูไปแล้ว ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้บริโภคให้เปรียบเทียบราคาเซ็ตอาหารกับการสั่งแยกแต่ละรายการก่อนตัดสินใจ เพื่อป้องกันการถูกลวงจากโฆษณาส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 โฮมสเตย์ไม่คืนเงินค่ามัดจำ

ปัจจุบันการจองที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มักให้ลูกค้าโอนเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่งมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากลูกค้าเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้าพักตามที่ตกลงกันไว้ คู่สัญญาก็มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามการริบค่ามัดจำ ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการร้องเรียน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติสนใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์ชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงโทรศัพท์ไปสอบถามอัตราค่าห้องพัก ซึ่งทางโฮมสเตย์ได้แจ้งมาว่าห้องละ 600 บาท/คืน ด้านคุณสุชาติต้องนำข้อมูลไปพิจารณาก่อน จึงยังไม่ได้ตอบตกลงในวันนั้น อย่างไรก็ตามภายหลังเขาก็ตัดสินใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้ จึงโทรศัพท์กลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันการจองห้องพัก แต่กลับพบว่าราคาห้องไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ตอนแรก เนื่องจากพนักงานคนเดิมแจ้งว่าเธอได้บอกราคาผิด ซึ่งจริงๆ แล้วห้องพักราคา 800 บาท/คืน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบก็จะลดราคาให้เหลือห้องละ 700 บาท/คืน ซึ่งคุณสุชาติเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตอบตกลงและจองห้องพักไปทั้งหมด 5 ห้อง พร้อมโอนเงินค่ามัดจำจำนวน 3,500 บาทไปให้ เนื่องจากทางโฮมสเตย์กำหนดให้ลูกค้าที่จองห้องพักต้องวางเงินมัดจำเต็มจำนวน ต่อมาภายหลังคุณสุชาติพบว่า เขาถูกยกเลิกกำหนดการที่จะต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดดังกล่าวกะทันหัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักที่โฮมสเตย์นั้นอีกต่อไป จึงโทรศัพท์แจ้งไปยังโฮมสเตย์เพื่อขอให้คืนเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขาโทรศัพท์กลับไปเหลือเวลาอีก 25 วัน ก่อนจะถึงกำหนดวันเข้าพักที่จองไว้ อย่างไรก็ตามทางโฮมสเตย์ได้ปฏิเสธการคืนเงินมัดจำทุกกรณี แต่เสนอทางเลือกมาว่าจะขยายเวลาเข้าพักให้ โดยคุณสุชาติจะเข้ามาพักเองหรือให้ผู้อื่นมาแทนก็ได้ ด้านคุณสุชาติเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า โดยปกติเงินมัดจำเป็นเงินที่จ่ายไว้กับคู่สัญญาเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะทำตามสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องผิดสัญญาไม่เข้าพักทางโฮมสเตย์ก็จะสามารถริบเงินมัดจำได้ทันที แต่การเก็บเงินมัดจำเต็มจำนวนราคาห้องพัก ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ควรลดลงได้เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์ฯ จะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์นี้ผู้ร้องได้ไปดำเนินการเจรจาต่อเองที่ สคบ. และได้ผลสรุปว่าทางโฮมสเตย์จะคืนเงินค่ามัดจำให้ในอัตราร้อยละ 50 ของทั้งหมด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ถูกยกเลิกสัญญาไม่มีเหตุผล

สัญญาเช่าที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจน อาจทำผู้บริโภคบางคนถูกเอาเปรียบด้วยการบอกเลิกสัญญากะทันหัน ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ ซึ่งเราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจตกลงเช่าห้องพักรายเดือนย่านอนุสาวรีย์ชัย ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท โดยขอเช่าพื้นที่จอดรถด้วย เป็นรถยนต์ 1 คันในราคาค่าเช่าที่จอดคันละ 1,000 บาท/เดือน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน คันละ 200 บาท/เดือน อย่างไรก็ตามหลังอยู่ไปได้ 8 เดือนกว่า ทางเจ้าของหอพักก็ส่งหนังสือมาแจ้งว่า ห้ามนำรถมาจอดในพื้นที่ของหอพักอีกต่อไป โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับคุณสมใจอย่างมาก เนื่องจากเธอไม่เคยผิดนัดชำระค่าที่จอดรถหรือฝ่าฝืนกฎการจอดรถของหอพักแต่อย่างใด ทำให้เธอยังคงนำรถเข้ามาจอดในพื้นที่ที่เช่าไว้ตามปกติ เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับแย่ลงกว่าเดิม เมื่อทางหอพักได้ส่งหนังสือแจ้งมาอีกครั้งว่า ได้ยกเลิกสัญญาเช่าห้องพักของเธอเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเธอได้เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหนังสือขอยกเลิกที่จอดรถ โดยกำหนดให้ขนย้ายสิ่งของออกจากห้องพักดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์อีกด้วยเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนที่ต้องหาห้องพักใหม่กะทันหัน และอยากให้ทางหอพักเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ส่งจดหมายเชิญทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และให้ผู้ร้องส่งหลักฐานสัญญาเช่ามาเพิ่มเติม เพื่อนำมาตรวจสอบระยะเวลาการเช่า ซึ่งหากพบว่าได้กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจนไว้ ผู้ให้เช่าก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้ หากผู้เช่าไม่ผิดสัญญาหรือไม่มีเหตุให้บอกเลิก หรือกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าที่ชัดเจนไว้ การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ตามมาตรา 566 ความระงับแห่งสัญญาเช่าที่กำหนดไว้ว่า คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน ดังนั้นการที่ผู้ให้เช่ากำหนดให้ผู้ร้องต้องขนย้ายสิ่งของออกภายใน 2 สัปดาห์ อาจถือเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรม เพราะทำให้ผู้ร้องเดือดร้อนและไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ทัน นอกจากนี้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งผู้ร้องสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ผลเจรจาจะเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กระแสต่างแดน

ยาลดภาษีค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น  ถึงขั้นมีสำนวน “หาหมอเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ” แม้แต่คลินิกชุมชนกลายเป็นแหล่งแฮงเอาท์ของผู้สูงอายุที่มาพบทั้งแพทย์และเพื่อนไปในคราวเดียว รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิกด้วยนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ที่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาชนิดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแก้หวัด แก้ปวด ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ครีมทาสิว(รวมทั้งหมด 1,600 ผลิตภัณฑ์ 83 ตัวยา)แต่หลักฐานการขอคืนภาษีไม่ใช่แค่ใบเสร็จค่ายาที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 12,000 เยน(ประมาณ 3,800 บาท) คุณต้องมีหลักฐานว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วยด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพ รับวัคซีน  คัดกรองภาวะอ้วน หรือตรวจหามะเร็ง  อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลขอคืนภาษีได้อยู่แล้วหากมีค่าใช้จ่ายเกิน 100, 000 เยน เพียงแต่ปีนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่ไม่ต้องการพบแพทย์ คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังประมาณการว่าจะขาดรายได้ 3,000 ล้านเยนต่อปี แต่ก็น่าจะคุ้มเพราะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และยังลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศที่นับวันมีแต่จะเพิ่มเพราะประชากรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ขาดแคลนก๊าซ  ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและอุตสาหกรรมในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกสามปีข้างหน้าเขาจะแซงกาตาร์ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลกแต่ขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลน LNG และต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำนายกฯ จึงเรียกบริษัทด้านพลังงานอย่าง เชลล์ เอ็กซอนโมบิล และซานโตส มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ในขณะที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็เตรียมจะตรวจสอบโครงสร้างราคาก๊าซทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก เพื่อให้ตลาด LNG มีความโปร่งใสขึ้น … เรื่องนี้ต้องติดตาม ราคาไม่บันเทิง เว็บไซต์ Viagogo และ Ticketmaster Resale เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนที่มีตั๋วคอนเสิร์ตแต่ไม่ว่างไปดู กับคนที่มีเวลาไปดูแต่ไม่มีตั๋ว... ฟังดูน่าจะดี แต่กลับมีปัญหาร้องเรียนมากขึ้นทุกวันCHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียประณามการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของสองเว็บนี้ ทั้งเรื่องของราคาตั๋วที่แพงลิบลิ่วและการปล่อยให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค  ทางเว็บบอกว่าผู้ขายเป็นฝ่ายกำหนดราคา แต่ที่ไม่ได้บอกคือ Ticketmaster Resale คิดค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 21 ในขณะที่ Viagogo หักร้อยละ 28 แถมยังไม่มีบริการดูแลลูกค้า ส่งอีเมลไปก็ไม่มีใครตอบ แฟนเพลงของจัสติน บีเบอร์ ต้องจ่ายถึง 2,587 เหรียญ (67,000 บาท) สำหรับตั๋วราคา 525 เหรียญ ในขณะที่มีคนยอมจ่าย 5,000 เหรียญ (130,000 บาท) สำหรับที่นั่งในโซนที่ดีที่สุดในการชมคอนเสิร์ตของอเดล (ราคาจริง 750 เหรียญ)  อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ที่นั่งที่ต้องการ บางคนจ่ายราคาที่นั่งในโซนสำหรับรถเข็นแต่กลับได้นั่งในโซนธรรมดา บางคนเข้างานไม่ได้เพราะตั๋วซื้อมาในราคา 850 เหรียญเป็นตั๋วปลอม ของนอกดีกว่าเกษตรกรชาวเวียดนามไม่ค่อยปลื้มกับเขตการค้าเสรีอาเซียนเท่าไรนัก เพราะผักผลไม้ที่นำเข้าจากไทยกำลังทำให้พวกเขาเดือดร้อนปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 (จีนครองร้อยละ 19)เกษตรกรกลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับไทยแบบตัวต่อตัว นำเข้าเฉพาะผัก ผลไม้ที่เวียดนามปลูกไม่ได้ และห้ามนำเข้าผลไม้อย่างลำไย มะม่วง ทุเรียนและแก้วมังกรที่เกษตรกรของเขาปลูกอยู่แล้วอีกกลุ่มบอกว่าการกีดกันทางการค้าคงช่วยไม่ได้มาก เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าผลไม้ที่ปลูกในประเทศนั้นไม่ปลอดภัย และของจากไทย “ดีกว่า” ทั้งคุณภาพและราคา เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (VietGap) ให้ได้ก่อนนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จำกัดส่วนแบ่งตลาดสำหรับชาวต่างชาติไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 เพราะธุรกิจค้าส่งและกระจายสินค้าเริ่มตกมาอยู่ในมือนักธุรกิจไทยมากขึ้น …  ต้องเร็วกว่าเดิมเวียดนามก็ติดอันดับเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ต่อประชากร 100,000 คน/ปี อยู่ที่ 24.5 คน (ของไทย 36.2) ในช่วงสามวันอันตรายเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาเวียดนามมีผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย (ของไทยก็ 55 รายเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขต่อวันในช่วงสงกรานต์)  ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทางหลวงในรัศมี 50 กม. จัดบริการฉุกเฉินไว้รองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บไม่รุนแรง เพราะไม่มีการดูแลเบื้องต้นและผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป  นโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงยังขลุกขลักอยู่บ้างทั้งเรื่องการประสานงานและจำนวนรถพยาบาลที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วมันจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10 แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ได้สัมปทานทำถนนควรให้ความสนใจกับที่พักริมทางหรือศูนย์แพทย์ฉุกเฉินบ้างและหวังว่าทางหลวงใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก 21 สายจะมาพร้อมศูนย์ฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 บทเรียน ‘เพย์ทีวี’ กสทช. ต้องปรับ ผู้บริโภคต้องรู้

ในอดีตกาล ทางเลือกในการชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคไทยจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่อง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดการพลิกโฉมเช่นในปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปคงนึกออกเมื่อเปิดทีวีตอนกลางวันของวันธรรมดาจะเจอแต่จอเปล่ากับแท่งสีหลากสี ดีขึ้นหน่อยก็มีเพลงประกอบ สำหรับคนยุค 2017 ไม่อาจจินตนาการถึงทางเลือกที่น้อยนิดเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพย์ทีวีหรือช่องโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินถึงจะมีสิทธิ์ชมเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในยุคเริ่มต้น ราคาของทางเลือกชนิดนี้ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไปกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คอนเท้นต์ที่มีหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การซื้อหาเพย์ทีวีของผู้บริโภคง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกันยกตัวอย่างในปี 2559 เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีทีเอช แจ้งผู้ใช้บริการว่า 17 มกราคม ไม่สามารถเติมเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจช่องรายการต่างๆ ของ Z Pay TV ในกล่อง GMMz ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการของ CTH ทางกล่อง GMMz  ได้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางบริษัทเสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ทว่า ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายดายเช่นที่ว่า โสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายและพัฒนาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“เนื่องจากกล่องแกรมมี่เดิมดูช่องพิเศษของซีทีเอชไม่ได้ เขาก็เสนอว่าให้มีการยืนยันตนเพื่อรับกล่องซีทีเอชไปดู แล้วก็มีแพ็กเกจบียอนด์ ซีทีเอช ให้ดูฟรี 4 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ตามระยะเวลาที่ลูกค้าเหลืออยู่ คือถ้าผมสมัครไป 6 เดือน เหลืออีก 3 เดือน แสดงว่าผมต้องดูฟรีอีก 3 เดือน แต่ผมต้องเปลี่ยนกล่องเป็นกล่องซีทีเอช มันก็จะมีปัญหาว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูได้ คือบางบ้านใช้ระบบเคยูแบนด์ เป็นจานเล็ก สีดำๆ จานพวกนี้เวลาฝนตกจะดูไม่ค่อยได้ อีกระบบคือซีแบนด์ เป็นจานใหญ่ๆ แต่กล่องนี้รองรับแค่ระบบเคยูแบนด์ เนื่องจากกล่องจีเอ็มเอ็มแซดแต่เดิมใช้ได้ทั้งสองระบบ ลูกค้าที่ใช้เคยูแบนด์เขาก็เกิดคำถามว่าเขาต้องเสียเงินติดตั้งจานใหม่หรือเปล่า ได้กล่องมาจริง แต่ต้องเสียค่าติดตั้งจานอีกเป็นพัน ทำไมเขาต้องมีภาระตรงนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดเรื่องนี้ในมาตรการเยียวยาด้วยว่าต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ผู้บริโภค”ต่อมาซีทีเอชยกเลิกกิจการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน จนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อยคราวนี้ลองมาดูกรณีตัวอย่างคลาสสิกและร้อนแรงอย่างทรูวิชั่นส์กันช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าปีใหม่ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เกิดกรณีใหญ่โตเมื่อทรูวิชั่นส์ยกเลิกช่อง HBO ทั้งหมดออกจากผังรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hits และ RED by HBO ทรูวิชั่นส์ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้ให้บริการเพย์ทีวียกเลิกช่องรายการจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อบริการ บางกรณีก็เยียวยาผู้บริโภคตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ แต่บางกรณีก็ไม่เสียงจากผู้บริโภคกรณีทรูวิชั่นส์ศิวาณัติ ไชยภัฎ หนึ่งในผู้ใช้บริการรายหนึ่งของทรูวิชั่นส์ที่ต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กล่าวกับฉลาดซื้อว่า“นอกจากยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ยังลดระดับเนื้อหาลงมาเป็นระดับที่หาดูได้ทั่วไป เดิมผมเป็นแบบเอ็กคลูซีฟ ต่อมาผมสามารถหาดูได้ในราคาที่ต่ำลง หรือบางคอนเทนต์ที่เป็นของบีบีซีก็ถูกตัดทิ้งไปเลย ทั้งที่ตอนแรกก็มีโฆษณาให้ใช้ พอเราตื่นมาตอนเช้า รายการนี้ก็หายไป โดยไม่ได้บอกอะไรเลย ทั้งที่เขามีช่องทางแม็กกาซีนที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกอย่างเป็นทางการทุกเดือน ก็ไม่มีการแจ้งข่าว อ้างแต่ว่ามีตัววิ่งผ่านหน้าจอให้ดูแล้ว“ผมเป็นสมาชิกแบบเอ็กคลูซีฟ เป็นแพลตตินัม ได้ดูช่องพิเศษ ถ้าเป็นบีบีซีจะเป็นช่องพิเศษที่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ก็ถอดออกแล้วลดค่าบริการผมลง แต่ผมยินดีจ่ายๆ มาลดผมได้ยังไง ผมมีสิทธิดูช่องเอชบีโอ เขาก็ถอด แล้วเอาช่องทั่วไปที่มีในเคเบิ้ลท้องถิ่นมาให้ดู ถ้าเป็นช่องพวกนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ทรูวิชั่นก็ได้“พอเกิดเหตุขึ้น ผมโทรไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่ามันเป็นมายังไง ผมไม่พอใจอะไร เขาก็จะตอบเป็นสูตรว่าให้ลองชมรายการนี้ จัดหารายการใหม่ที่คุณภาพดีกว่ามาให้ดู ผมบอกว่ารายการพวกนี้ผมหาดูได้ทั่วไปอยู่แล้ว”ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีของทรูวิชั่นส์ถือว่าแจ้งน้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ว่าของทรูวิชั่นส์คือการทำตัววิ่งขึ้นบนหน้าจอดังที่ศิวาณัติเล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารนี้อย่างชัดเจนการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตรการเยียวยาที่ทางทรูวิชั่นส์เสนอ มี 6 ข้อ คือมีช่องใหม่  7 ช่อง, อัพเกรดแพคเกจ 1 ระดับ ระยะเวลา 30 วัน, สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าแพลตตินั่ม เพิ่มแต้ม, สิทธิขอลดแพคเกจ, สิทธิลูกค้ารายปีหรือราย 6เดือนที่จะยกเลิกบริการ และสิทธิลูกค้าสมาชิกไม่ครบ 6 เดือนกับลูกค้าที่ควบบริการเป็นสมาชิกไม่ถึง 12 เดือน ได้รับยกเว้นค่าติดตั้งและค่าสมาชิกประเด็นก็คือมาตรการเยียวยาของทรูวิชั่นส์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่นำมาชดเชยไม่สามารถทดแทนช่องรายการเดิมได้ ผู้บริโภคควรมีสิทธิยกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินคืน และบริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นกรณีที่บริษัทผิดสัญญาและไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ เป็นต้น“ทรูวิชั่นส์เสนอแต้มให้ผม 1,000 แต้ม เขาบอกว่ามันสิทธิประโยชน์ต่างๆ เยอะมาก แต้มนี้ไปแลกเป็นเงินได้ 100 บาท พอ กสทช. รุกหนักขึ้น เขาก็ให้แต้มอีก 1,000 แต้ม ผมบอกว่าแพ็กเกจที่ต่ำกว่าผม ได้อัพเกรดฟรีขึ้นมาร่วม 400 บาท ผมเป็นระดับเอ็กคลูซีฟ ได้เท่ากัน แต่ทำไมจ่ายแพงกว่า” ศิวาณัติ เล่าถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์และทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาก็ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ พร้อมกับติติงการทำงานของ กสทช. ว่าไม่สามารถดูแลผู้บริโภคและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้อยู่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เปิดข้อสงวนความเห็นสุภิญญา จากการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. (ซึ่งปัจจุบันได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการตีความทางกฎหมาย เพราะถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีปีนสภา) ได้ขอสงวนความเห็น สรุปความได้ว่า1.ไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม2.การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต3.หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่สุภิญญาเห็นว่า กสท. มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช. กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม(สามารถอ่านข้อสงวนความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยละเอียดได้ที่ http://www.supinya.com/2017/01/5656/)กสทช. ต้องปรับนโยบาย-ผู้บริโภคต้องถี่ถ้วนจากปัญหาที่เกิดขึ้น โสภณสรุปบทเรียนจากฝั่ง กสทช. และฝั่งผู้บริโภคได้ว่า“ในระดับนโยบาย กสทช. มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการยกเลิกรายการ ดังนั้น ผมเห็นว่า กสทช. ควรพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรืออาจจะสนับสนุนในการทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาตรการเองไม่เป็นธรรม อย่างการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันเพียงพอหรือไม่ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรควรกำหนดให้ชัดเลยว่าต้องทำเป็นหนังสือแจ้งผู้บริโภคหรือทางเอสเอ็มเอส ไม่ใช่แค่ตัววิ่งบนจอ เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน“เรื่องแผนมาตรการเยียวยา เมื่อ กสทช. มีอำนาจ ก็ควรกำหนดเกณฑ์ว่าการทำแผนเยียวยาต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การคืนเงิน ผู้บริโภคมีช่องทางอะไรบ้าง ระยะเวลาการใช้สิทธิ กำหนดแค่ 30 วัน ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามันสั้นไป แล้วคุณก็ไม่ได้แจ้งเป็นทางการด้วย หรือการให้ดูฟรี 30 วันจะให้ทำไม ถ้าผู้บริโภคเป็นสมาชิก 6 เดือนก็ต้องให้เขาดู 6 เดือน ถึงจะเรียกว่าตั้งใจเยียวยาจริงๆ เมื่อ กสทช. ไม่มีเกณฑ์ ผู้ประกอบการกำหนดเองก็กำหนดแบบไม่สนใจผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ต่อรองกับผู้ประกอบการไม่ได้ คนที่ต้องออกหน้าแทนคือ กสทช. จึงควรต้องมีหลักประกันให้แผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการทำมาไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ”ในส่วนของผู้บริโภค โสภณมีคำแนะนำว่า ก่อนจะบอกรับเป็นสมาชิกเพย์ทีวีช่องต้องศึกษาและอ่านข้อสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงนาม หากพบว่าข้อสัญญาใดเป็นการเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่าใช้สัญญาตามที่ขออนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ เพราะสัญญาเหล่านี้ต้องผ่าน กสทช. ก่อนจึงจะใช้ทำสัญญากับผู้บริโภคได้“กรณีเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคคุณต้องดูตัวเองว่านิยมดูช่องไหน เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่เมื่อเทียบกับราคา บางคนซื้อกล่องไม่ได้คิดอะไร ดูแต่ราคา ดูแต่ว่ามีช่องเยอะ โดยไม่สนว่าตัวเองจะดูอะไรบ้าง แล้วเวลาทำสัญญา เอกสาร ใบเสร็จ ใบประกัน ถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด โบรชัวร์ก็สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่คุณอ่านแล้วตัดสินใจซื้อ ควรเก็บไว้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เขาโฆษณาแบบนี้ ถ้าไม่เป็นตามโฆษณาก็ร้องเรียนได้”ที่สำคัญ โสภณบอกว่า เวลาเกิดปัญหา อย่านิ่งนอนใจ ต้องร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ..........แม้ธุรกิจเพย์ทีวีจะขยายตัวกว่าอดีตขึ้นมาก บริษัทใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยรายในตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม  เพย์ทีวีก็กำลังเผชิญความท้าทายขั้นชี้เป็นชี้ตายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต ที่กำลังเข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภท (แอร์บีเอ็นบีกำลังเขย่าธุรกิจโรงแรมหรืออูเบอร์และแกร็บกำลังสั่นสะเทือนวงการรถแท็กซี่)เพย์ทีวีถูก Disrupt จากอินเตอร์เน็ต จากเฟสบุ๊คไลฟ์ จากยูทูบ ยังไม่นับเว็บไซต์ภาพยนตร์และซีรีส์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเท้นต์ที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน มองในแง่นี้ก็น่าสนใจว่าธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดอย่างไร และรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขั้นตอนยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของผู้ให้บริการหลักการ 1.ห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญาเว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้   (4) ผู้ให้บริการ ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย  ( ตาม ข้อ 34 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )2.ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. ( ตามข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 )3.ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการนอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ( ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ )4.กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกรณีการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งมีลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ผู้ให้บริการต้องดำเนินการเยียวยา หรือลดค่าบริการหรือยกเว้นค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม หรือให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญานั้นก็ได้ ( ตามข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )สรุป หากผู้ให้บริการประสงค์จะเลิกกิจการ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. แจ้งเหตุแห่งการยกเลิก ไปยัง สำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ 2. แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง 3. ในการแจ้งยกเลิก ต้องส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาประกอบด้วย เพื่อให้ คณะกรรมการ กสท.พิจารณาและเห็นชอบแผน 4. เมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบแผนมาตรการเยียวยา และเห็นชอบการยกเลิกกิจการว่าเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงสามารถเลิกกิจการได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ประกันชีวิต (เพื่อผู้สูงอายุ) ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาจากการซื้อ “ประกันผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้ทำประกันหลายรายถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันในการจ่ายทุนเอาประกันหรือค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทแจ้งว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาก่อนสมัครทำประกัน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาในทำนองที่ว่า “สมัครได้ทันที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันแค่วันละไม่กี่บาท” ทำให้ผู้เอาประกันตัดสินใจซื้อประกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขี้นทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการในการจัดการปัญหา ควบคุมไม่ให้สัญญาประกันผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะเอาเปรียบผู้ทำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เกิดประกาศหลายฉบับที่ออกมาจัดการควบคุมประกันเพื่อผู้สูงอายุ ลองไปดูกันดีกว่าว่า จากนี้ไปหากจะทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุจะต้องศึกษาข้อมูลตรงไหนบ้างเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันผู้สูงอายุสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อประกันถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน โดยได้ออกข้อกำหนดที่จะมาควบคุมรูปแบบการทำประกันเพื่อผู้สูงอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า คำสั่งเรื่อง “ให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตและเอกสารประกอบ” ซึ่งประกาศฉบับนี้จะกำหนดรายละเอียดสำคัญที่ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุต้องมีเอาไว้ดังนี้1.เติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบประกันต้องมีการเพิ่มคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ใบคำขอเอาประกันชีวิต และเอกสารสรุปสาระสำคัญโดยย่อที่ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการกำหนดให้เพิ่มเติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อของแบบประกัน ก็เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทฯ เข้าใจร่วมกันว่า ประกันฉบับนี้คือประกันเพื่อผู้สูงอายุ ข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์และความคุ้มครองจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ทาง คปภ. กำหนด ทางบริษัทประกันไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างอื่นใดในการปฏิเสธหรือไม่ทำตามข้อกำหนดที่มีอยู่ในประกาศ2.อายุผู้ที่สามารถทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุได้ต้องมากกว่า 50 ปีขึ้นไปอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเอาประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70 หรือ 75 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท โดยจะได้รับเงินทุนเอาประกันเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบอายุสัญญาที่อายุ 90 ปี3. ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิตส่วนนี้คือจุดเด่นที่สุดของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ เพราะเปิดโอกาสที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำประกันชีวิตเพื่อมีเงินไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีเงินก้อนไว้ให้ลูกหลานในวันที่จากไป ซึ่งการบังคับให้มีการกำหนดเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถเอาเรื่องการป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงก่อนทำประกันมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการจากเงินเอาประกันได้อีก4.ผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบ 2 ปี จะต้องได้เบี้ยประกันคืน พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา บริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ได้รับมาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 2 – 5 ตามแต่ละบริษัทฯ 5.ยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันต้องมีการระบุในสัญญาว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ภายใน 15 หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันผู้สูงอายุ ให้ผลประโยชน์แบบไหนจุดเด่นของ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็คือการเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถสมัครทำประกันแบบปกติทั่วไปได้ เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุ มาพร้อมเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและก็ไม่ต้องแจ้งเรื่องสุขภาพลงในสัญญา ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการมีเงินไว้ให้กับลูกหลานหรืออาจจะเก็บไว้ใช้เองยามแก่เฒ่า สามารถเลือกทำประกันเพื่อผู้สูงอายุได้แต่ทั้งนี้บริษัทประกันก็ได้มีการออกแบบมาไว้แล้ว โดยใน 2 ปีแรก หากผู้ทำประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ก็ได้รับเพียงเงินจากเบี้ยประกันที่จ่ายมา บวกเงินเพิ่มที่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น ถ้าในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยมาแล้วเป็นเงิน 4,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มอีก ร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันคือ 4,000 บาท หรือเท่ากับ 80 บาท รวมแล้วผู้รับผลประโยชน์ก็ได้เงินจำนวน 4,080 บาท ในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกันส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกัน จะได้รับผลประโยชน์เต็มจำนวนของเงินทุนเอาประกัน เช่นเดียวกับเมื่อทำประกันเข้าสู่ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินไม่ว่าเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุกรณีที่อยู่จนครบสัญญาประกันซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 90 ปี ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินเช่นกันประกันชีวิตสูงวัย ไม่คุ้มครองเรื่องรักษาพยาบาลประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จะเน้นที่การคุ้มครองในลักษณะประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ตามชื่อแบบประกัน คือจะให้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรืออยู่จนครบอายุสัญญาเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก็มีการขายสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพิ่มเติมกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าในเงื่อนไขสัญญาของสิทธิอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขสัญญาของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุทั่วไปรู้ให้ทันโฆษณาประกันชีวิตประเด็นหลักที่ทำให้ก่อนหน้านี้ “ประกันชีวิตเพื่อผู้สุงอายุ” ถูกมองว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็คือเรื่องของการโฆษณา ที่จงใจบอกเพียงแต่ผลประโยชน์สูงสุดที่จะได่รับ แต่กลับปกปิดเงื่อนไขสำคัญอย่างเกณฑ์ในการขอรับเงินคุ้มครอง แม้จะบอกว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ก็กลับพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการจ่ายเงินทุนเอาประกันคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จึงต้องออกประกาศเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นประกาศที่จะควบคุมเรื่องการโฆษณาขายประกันโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดที่บริษัทประกันต้องปฏิบัติในการโฆษณาขายประกันทุกประเภทมีดังนี้1.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง2.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่กำกวม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย 3.ข้อความที่โฆษณาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย4.ไม่ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับ หรือไม่ประมาณการผลประกอบการธุรกิจผู้เสนอขาย เว้นแต่ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการจ่ายปันผล, กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวต้องระบุแหล่งที่มาของสมมุติฐานที่ใช้อ้างอิง5.ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการแถลงสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย6.ในกรณีที่มีการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอื่นใด ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน ต้องไม่ตัดทอนข้อมูลดังกล่าว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องมีข้อมูลดังกล่าว พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้7.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่ใช้ข้อความ หรือภาพ ตัวอักษรของคำเตือนและคำอธิบายรายละเอียดต้องมีความคมชัด และอ่านได้ชัดเจน8.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่มีเฉพาะการใช้เสียง ต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียง คำเตือน และคำอธิบายรายละเอียดที่สามารถฟังเข้าใจได้9.ให้มีการระบุคำเตือน โดยใช้ข้อความว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน10.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทใดที่มา : ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสือโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556

อ่านเพิ่มเติม >