ฉบับที่ 194 เครื่องดื่มจากต้นไม้

ผู้เขียนเป็นคนตื่นเช้า อาจเพราะอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (30 ปีเรียนหนังสือ 30 ปีทำงาน และ 30 ปีลิ้มรสความสงบสุข) จึงต้องการเห็นแสงแดดและหายใจในแต่ละวันให้มากเท่าที่ทำได้ อีกทั้งปัจจุบันผู้เขียนได้เปลี่ยนระบบอินเทอร์เน็ตจาก ADSL ซึ่งเป็นเน็ตที่มาตามสายโทรศัพท์บ้านไปเป็นเน็ตที่มากับสายนำสัญญาณใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติคซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเดิมเป็น 4-5 เท่าตัว ด้วยค่าบริการที่ผู้ให้บริการแจ้งว่าเท่าเดิม แถมได้ดูโทรทัศน์ผ่านกล่อง (ให้ยืม) ของผู้ให้บริการซึ่งมีรายการน่าสนใจที่ไม่เคยดูจากโทรทัศน์ระบบปรกติ เช้าวันหนึ่งผู้เขียนได้ดูช่องข่าวของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีล้วน ปรากฏว่าข่าวหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มจากต้นเมเปิลของเกาหลีด้วยวิธีไม่ยากนัก กล่าวคือเป็นการเจาะรูที่ลำต้นแล้วเอาชุดสายยางเสียบเข้าไปในรูที่เจาะ จากนั้นน้ำซึ่งเรียกว่า sap ก็ไหลออกมาค่อนข้างเยอะ จนสามารถรวมน้ำจากหลายต้นแล้วบรรจุขวดขายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพในลักษณะ SMEคนไทยรู้จักดีถึงน้ำหรือของเหลวที่ได้จากต้นไม้ เช่น น้ำจากผลมะพร้าว น้ำตาลสดจากจั่นของต้นตาลและต้นมะพร้าว น้ำจืดจากเถาวัลย์ในป่า น้ำจืดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความรู้เรื่องน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้แล้วมีรสชาติดีสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ คงเป็นเพราะบ้านเราไม่มีไม้ที่เหมาะแก่การเจาะเอาน้ำออกมาจากต้นได้นั่นเองบทความหนึ่งเรื่อง In South Korea, Drinks Are on the Maple Tree เขียนโดย Choe Sang-Hun ในวารสารออนไลน์ชื่อ Hadong Journal เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2009 ให้ข้อมูลสรุปว่า ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิของเกาหลีต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืนแล้วอุ่นขึ้นในตอนกลางวัน ซึ่งมีแสงแดดจ้าและปราศจากลมแรง นั้นเป็นช่วงเวลาที่กบเลิกจำศีลและนกหัวขวานเริ่มเจาะต้นไม้ทำรังใหม่ ชาวบ้านในชนบทของเกาหลีใต้จะเริ่มเทศกาลเจาะต้นเมเปิลเพื่อให้ได้ของเหลวซึ่งเรียก โกโระเซะ (Gorosoe) มาดื่มกัน ภาพข่าวซึ่งเห็นได้ทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์นั้นดูเรียบง่าย เพราะเป็นการเจาะรูกลางต้นไม้แล้วเสียบหัวก๊อก (tap) เข้ากับต้นไม้โดยตรงจากนั้นน้ำหวานก็ไหลผ่านสายยางเข้าสู่ภาชนะที่ปลายสายยางตามธรรมเนียมของชาวชนบทในเกาหลีแถบฮาดอง ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโซลราว 180 ไมล์นั้น ผู้นิยมดื่มโกโระเซะนี้อาจดื่มได้ถึง 20 ลิตรต่อวัน โดยปักหลักปูเสื่อแล้วดื่มของเหลวจากท่อที่ต่อออกมาจากต้นเมเปิลพร้อมกินขนมขบเคี้ยวเช่น ปลาแห้งรสเค็ม (ซึ่งทำให้หิวน้ำมากขึ้น) ควบไปกับการเล่นไพ่ สำหรับชาวแคนาดา อเมริกันและชาติอื่นๆ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่มีต้นเมเปิลขึ้นได้นั้น มีการรวบรวมเอาน้ำที่เจาะได้จากต้นเมเปิลมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมเมเปิล (น้ำที่เจาะได้ 10 ลิตรทำน้ำเชื่อมได้ 1 ลิตร) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นน้ำเชื่อมที่หอมหวานเหมาะกับการราดหน้าแพนเค็กแบบสุดๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า น้ำเชื่อมเมเปิลนั้นมีไวตามินบี 2 สูงเนื่องจากน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นั้นถูกนำมาใส่ขวดขายได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่ามีการอ้างถึงประโยชน์ของน้ำจากต้นไม้นี้ต่อร่างกายในลักษณะที่ปราศจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีใครสามารถจดลิขสิทธิ์สินค้าลักษณะนี้ได้ จึงไม่มีเอกชนลงทุนทำการวิจัยถึงคุณประโยชน์ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลการศึกษาที่ได้นั้นใคร ๆ ก็นำไปใช้ในการโฆษณาสินค้าได้ การศึกษาความจริงลักษณะนี้ทางวิทยาศาสตร์จึงทำได้เฉพาะในหน่วยราชการหรือเป็นงานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้นการทำน้ำเชื่อมเมเปิลในทวีปอเมริกาเหนือนั้น ที่จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมือง ซึ่งผู้อพยพจากยุโรปได้ตอบรับนำมาสู่วิถีชีวิตแบบไม่รีรอ พร้อมกับทำการพัฒนากระบวนการให้ประณีตขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีขึ้น ประเทศแคนาดาเป็นแหล่งผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตได้ราว 3 ใน 4 ของปริมาณที่พลโลกต้องการ โดยมีการส่งออกด้วยมูลค่าเกือบ 150 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนาดา อีกทั้งประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชนิดที่เรียกว่า DIY (do it yourself) รายใหญ่สำหรับมือสมัครเล่นที่ประสงค์จะเจาะน้ำจากต้นเมเปิลที่ปลูกไว้ข้างบ้าน (วิธีการและสินค้านั้นหาดูได้จาก YouTube)จากคลิปเรื่อง Maple syrup ใน YouTube ให้ข้อมูลว่า น้ำเชื่อมเมเปิลเป็นน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำที่ได้จากท่อส่งน้ำ (xylem) ของต้นเมเปิลเช่น เมเปิลน้ำตาล (sugar maple) เมเปิลแดง (red maple) หรือเมเปิลดำ (black maple) โดยในช่วงก่อนเข้าหน้าหนาวต้นเมเปิลจะสะสมแป้งในลำต้น จนพอเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิ แป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซึ่งถูกลำเลียงเข้าสู่ท่อส่งน้ำซึ่งมนุษย์สามารถเจาะดูดเอาน้ำซึ่งมีรสหวานเฉพาะตัวมาบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระบวนการต้มจนได้เป็นน้ำเชื่อมในประเทศอื่นเช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ก็มีการดื่มน้ำจากต้นเมเปิลเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับการดื่มของชาวเกาหลี นอกจากเมเปิลแล้วยังมีไม้ในสกุลอื่นอีกชนิดซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นไม้ประจำชาติรัสเซีย ที่มนุษย์เจาะเอาน้ำจากท่อนำน้ำออกมาดื่มได้คือ เบิร์ช (Birch) ผู้เขียนพบบทความเรื่อง น้ำหวานจากต้นเบิร์ช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 3 พฤษภาคม 2552 ในเว็บ oknation โดยผู้เขียนบทความนี้ได้เล่าประมาณว่า ร้านค้าของชำและอาหารในประเทศรัสเซียนั้นมีเครื่องดื่มใส ๆ ออกสีเขียวจาง ๆ ขายคล้ายน้ำผลไม้ น้ำนี้มีรสชาติหอมนิด ๆ หวานหน่อย ๆ พร้อมกลิ่นไม้ซึ่งได้มาจากต้นเบิร์ช สินค้าชนิดนี้มีขายทั้งที่เป็นของจริงและทำเทียมเลียนแบบ เนื่องจากน้ำต้นเบิร์ชของจริงนั้นเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องได้เพียงไม่นานก็สูญเสียรสชาติ จึงจำต้องแช่แข็งแล้วละลายออกมาขาย การเจาะต้นเบิร์ซให้ได้น้ำมากที่สุดนั้นต้องเป็นช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิ (เช่นเดียวกับต้นเมเปิลที่กล่าวแล้วข้างต้น) ต้นเบิร์ชใหญ่ ๆ 1 ต้นสามารถให้น้ำได้มากถึง 15 ลิตรใน 1 วัน อย่างไรก็ดีช่วงเวลาการเก็บน้ำหวานนี้มีเวลาไม่เกิน 1 เดือนในแต่ละปี และในช่วงเวลาตอนปลายของการเก็บน้ำจะเริ่มขม ชนชาติอื่นที่นิยมดื่มน้ำต้นเบิร์ชเช่นกันนั้นอยู่ในยูเครน เบลารุส ฟินแลนด์ จีนตอนเหนือ คนแถบทะเลบอลติก สวีเดนและเดนมาร์ก จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า น้ำต้นเบิร์ชนั้นมีน้ำตาลไซลีทอล แคลเซียม โปแตสเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสและเหล็ก โปรตีน กรดอะมิโน และพฤกษเคมี ย้อนกลับมาที่น้ำซึ่งเจาะได้จากต้นเมเปิลนั้น คนเกาหลี รัสเซียและอีกหลายชาติเชื่อกันว่า น้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นี้มีคุณค่าทางการแพทย์ อีกทั้งความหมายของคำว่า โกโระเซะ (Gorosoe) ในภาษาเกาหลีคือ ดีต่อกระดูก ซึ่งอาจเป็นจริงก็ได้ เพราะเมื่อมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้เมื่อทำเป็นน้ำเชื่อมแล้วมีแมงกานีสสูง ซึ่งเชื่อกันว่าธาตุนี้ช่วยทำให้มวลกระดูกคงสภาพอยู่ได้นาน (ดูข้อมูลได้ที่ http://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/manganese) ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทหนึ่งชื่อ Happy Tree (www.drinkhappytree.com) มีสินค้าชื่อ Maple Water สินค้านี้เป็นน้ำจากต้นเมเปิลบรรจุขวดพลาสติกด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ความร้อนจึงคุยว่า สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ได้ดี มีรสชาติเป็นที่โปรดปรานของลูกค้า บริษัทนี้ระบุว่า น้ำจากต้นเมเปิลของบริษัทเต็มไปด้วยจุลโภชนาสาร (micronutrients) และเอ็นซัม (ขอให้ฟังหูไว้หูเพราะเอ็นซัมส่วนใหญ่แล้วมักเสื่อมสภาพเมื่อถูกบรรจุใส่ขวด) นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาต่ออีกว่า ในปัจจุบันมีร้านอาหารชื่อดังนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการปรุงอาหารและผสมทำเครื่องดื่มมึนเมา (นัยว่าเพื่อสุขภาพ ???) อีกหลายสูตรถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงพอเห็นแล้วว่า สักวันหนึ่งเครื่องดื่มที่ได้จากการเจาะต้นไม้ (นอกเหนือไปจากน้ำเชื่อมเมเปิล) ไม่ว่าจะผลิตจากเกาหลี รัสเซีย หรือสหรัฐอเมริกานั้น คงมาเติมเต็มความอยากดื่มกินของแปลกของผู้บริโภคชาวไทย ผู้เขียนขอทำนายว่า คงมีการโฆษณาขายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นหลักโดยมีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นส่วนเสริม ในช่วงเวลาที่ผู้ดูปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและโภชนาการละสายตาจากจอมอนิเตอร์เพื่อทำธุระส่วนตัวหรือนอนหลับพักผ่อน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รู้เท่าทันหอยทากบำบัด

ฉบับนี้ขอนำเรื่องหอยทากบำบัดมาเล่าสู่กันฟัง เพราะหลายคนคงจะได้เห็นโฆษณากันตามท้องถนน และสื่อออนไลน์มากพอสมควร  หอยทากบำบัดที่ใช้เพื่อความงามของใบหน้าได้ผลจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะมีการใช้หอยทากบำบัดมานานแค่ไหน มีการใช้หอยทากเพื่อการบำบัดมา ตั้งแต่สมัยของฮิปโปรเครตีส (460-370 ก่อนคริสตกาล)  เพื่อใช้ในการรักษาโรคถุงน้ำของไขสันหลัง นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการปวดที่เกี่ยวกับแผลไหม้ ฝี และบาดแผล  ในคริสตศตวรรษที่ 18 มีการใช้สารจากหอยทากมาทำเป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาโรคผิวหนัง และยารักษาอาการของวัณโรคและไตอักเสบ  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้ความสนใจหอยทากบำบัด  ปีค.ศ. 1999 มีการทบทวนยา  Ziconotide (SNXIII) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากพิษของหอยทากและใช้ลดอาการปวด  พบว่า การศึกษาในระดับพรีคลินิกและระดับคลินิกมีความน่าสนใจเมือกของหอยทากมีสรรพคุณอะไรบ้าง เมือกของหอยทากมีสารที่นำมาสกัดมากมาย เช่น  helicidine, pertussidine, pomaticine   โดยจะนำหอยทากมาแช่ในน้ำเกลือ 1%  หอยทากจะคายเมือกออกมา  ในน้ำเมือกย่อยอาหารของหอยทากจะมีเอนไซม์มากกว่า 30 ชนิด และยังมีเอนไซม์จากเมือกจากส่วนอื่นๆ อีกหลายชนิด  เมือกเหล่านี้ บางชนิดมีสรรพคุณต่างๆ เช่น การละลายเสมหะในทางเดินหายใจในห้องปฏิบัติการ เป็นต้นปัจจุบันยังนิยมใช้หอยทากบำบัดหรือไม่ ปัจจุบันมีความสนใจจากทางการแพทย์มากขึ้นในการนำประโยชน์จากหอยทากมาใช้ในการรักษาคน  นอกจากใช้เป็นยาที่ช่วยขับเสมหะแล้ว ยังพบว่า หอยทาก Helix pomatia ซึ่งเป็นหอยทากชนิดหนึ่งที่ใช้กินเป็นอาหาร  อาจนำมาใช้ในการบ่งชี้การทำนายโรคของมะเร็งเต้านม กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ นักวิจัยยังพบว่า ประชากรในเกาะครีต ประเทศกรีซ มีการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าประชากรในอเมริกา เนื่องจากประชากรในครีตบริโภคหอยทากเป็นปริมาณมาก  หอยทากมีปริมาณของ α-linolenic acid จำนวนมาก  ซึ่งป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดกระแสการใช้หอยทากเพื่อความงาม ในแวดวงความงาม สปา มีการใช้หอยทากในการบำบัดรอยเหี่ยวย่นของใบหน้า ช่วยทำให้ใบหน้ากลับมาเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมือกเหนียวๆ ของหอยทากจะช่วยให้ผิวหน้ากลับมาเต่งตึงเหมือนผิวคนหนุ่มสาว  มีการประชาสัมพันธ์ผ่านดารา ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มาใช้บริการและอ้างว่าได้ผลดี  ทำให้ผู้คนแห่ไปใช้บริการจากหอยทากเพื่อความงามจำนวนมาก ตั้งแต่ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย จนถึงไมอามี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น  ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า มีการบำบัดด้วยหอยทากที่สปาเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานครประโยชน์ของหอยทากในการบำบัด เมื่อทบทวนจากเอกสารทางวิชาการ มีการศึกษาประโยชน์ของหอยทากจำนวนมาก  แต่แทบทั้งหมดจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับมะเร็ง โดยศึกษาในการทำนายโรคของมะเร็งและการใช้เพื่อชะลอการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็ง สรุป  การใช้หอยทากบำบัดมีมานานหลายพันปีจวบจนปัจจุบัน  มนุษย์มีความเชื่อว่า หอยทากเป็นสัตว์ที่มีสรรพคุณในการรักษาและเยียวยาโรคต่างๆ  ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการนำเมือกจากหอยทากมาผลิตเป็นยาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ  มีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด  ลดอาการปวดรุนแรง และโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 การใช้ smart phone สำหรับ ช่วยเป็นเครื่องมือบอกทิศทางด้วย Navigator Application

ปัจจุบันผู้ขับขี่รถยนต์นิยมใช้ Appication ของสมาร์ตโฟนทำหน้าที่ เป็น navigator สำหรับบอกเส้นทางและสภาพการจราจร Application เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้คนขับไม่ต้องประสบปัญหาการหลงทิศทาง อย่างไรก็ตามการจะใช้ สมาร์ตโฟน เป็นเครื่องมือบอกทิศทางนั้น ต้องพึงระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย และต้องเป็นไปตามกฎจราจรด้วย การใช้งานต้องติดตั้งสมาร์ตโฟนในที่จัดเก็บ และระหว่างขับรถต้องไม่ใช้มือจับหรือสัมผัสจอภาพ และต้องมีสติกับการขับรถตลอดเวลา ข้อดีของการใช้ Application ของฟรีที่ติดมากับเครื่อง คือ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนขับรถที่ต้องใช้งาน Navigator เป็นประจำทุกวัน และใช้งานต่อเนื่อง ขอแนะนำให้ใช้ เครื่องนำทางตัวจริงจะดีกว่า เนื่องจาก กรณีของ Application ที่เป็น Navigator ติดมากับสมาร์ตโฟน จะแสดงแผนที่ บนหน้าจอเพียงแค่ระยะ 500 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สั้นมาก ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการขับขี่โดยเฉพาะการขับขี่บนทางหลวง หรือทางด่วนที่ต้องขับด้วยความเร็วสูง และไม่ได้ระบุถึงช่องจราจรที่รถควรขับอาจทำให้เกิดปัญหาในการที่จะต้องเปลี่ยนช่องจราจรได้ทันเวลา และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของ Application ที่ติดมากับเครื่องสมาร์ตโฟน คือ การบอกเส้นทางไม่ได้มาจากข้อมูลที่บันทึกอยู่ในหน่วยความจำของสมาร์ตโฟน แต่มาจากการเชื่อมต่อข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงมีการใช้ Bandwidth อย่างสิ้นเปลืองเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขับรถในระยะไกลๆ ยกตัวอย่างเช่น หากขับรถเดินทางระยะ 120 กิโลเมตร ก็ใช้ Bandwidth ประมาณ 9-10 Mbyte และหากเดินทางไกล ติดต่อกันหลายวัน ในกรณีที่เดินทางท่องเที่ยว ปริมาณของ Bandwidth ก็อาจเกินกว่า ปริมาณ Bandwidth ที่ Flatrate ระบุไว้ได้ และในกรณีที่ใช้ สมาร์ตโฟนในต่างประเทศ การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมีค่า Roaming ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานด้วย การใช้ smart phone สำหรับ ช่วยเป็นเครื่องมือบอกทิศทางด้วย Navigator Application นั้น เหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช้งานต่อเนื่อง และใช้งานบนเส้นทางที่เรามีความคุ้นเคยบ้างแล้ว  ดังนั้นหากใครที่ขับรถเป็นระยะทางไกลๆ และไม่คุ้นเคยกับเส้นทางโดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแบบขับรถเอง เครื่องช่วยนำทาง (Navigator) จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ นอกจากจะช่วยในเรื่องบอกทางแล้ว ยังช่วยในเรื่องบอกเรื่องอัตราความเร็วของรถ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ป้องกันการถูกจับและ ไม่ต้องประสบปัญหาการได้รับใบสั่งโดยไม่จำเป็นและต้องเสียค่าปรับที่อัตราปรับค่อนข้างสูงทีเดียว บางครั้งการเช่ารถขับเองหากจะใช้เครื่อง  Navigator ที่ติดตั้งมากับรถ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และอาจแพงกว่า กรณีที่ซื้อมาใช้เอง ปัจจุบัน เครื่อง  Navigator ที่ใช้งานได้ดีราคาไม่ได้สูงมาก และสามารถซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ตัวอย่างเครื่อง  Navigator ที่ราคาไม่แพงและใช้งานได้ดีจากการทดสอบการใช้งานของ มูลนิธิทดสอบสินค้า เยอรมนี คือ ยี่ห้อ TomTom รุ่น Start M ราคาระหว่าง 130- 150 ยูโร (ที่มา วารสาร  Test ฉบับ 2/2014)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กันแดดด้วยเครื่องสำอาง

ความร้อนแรงของแสงแดดในบ้านเรามากขึ้นทุกวัน สาวๆ หลายคนจึงต้องสรรหาสารพัดวิธีมาปกป้องผิวสวย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด เพราะเชื่อว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นมีความสามารถในการป้องกันอันตรายจากรังสียูวีได้เทียบเท่ากับครีมกันแดดทั่วไป และสามารถช่วยประหยัดเวลาการแต่งหน้าได้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทาครีมกันแดดเพิ่มอีก อย่างไรก็ตามการป้องกันแดดด้วยวิธีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผิวจริงหรือ เราลองไปดูกันรู้จักเครื่องสำอางผสมสารกันแดดกันก่อนเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด เพื่อปกป้องผิวหนังหรือส่วนของร่างกายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี) แต่ไม่รวมถึงสารป้องกันแสงแดดที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางเพื่อทำหน้าที่อื่น เช่น ปกป้องผลิตภัณฑ์ไม่ให้เสื่อมคุณภาพหรือแต่งสีของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ต้องมีการแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดตามจริง ซึ่งแบ่งเป็น 1.ค่า SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีบี 2.ค่า PFA (Protection factor of UV-A) คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ และ 3.ค่า PA (Protection factor of UVA)คือ ค่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางแห่งประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดขึ้นแทนการใช้ค่า PFA เครื่องสำอางกันแดดได้แค่ไหนแม้ร่างกายเราจะต้องการแสงแดด เพื่อช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่าควรได้รับในปริมาณที่ไม่มากเกินไปหรือประมาณ 10 – 15 นาที/วัน และต้องไม่อยู่ในช่วงเวลาที่แดดจัดหรือตั้งแต่ 10.00 น. - 16.00 น. เพราะอาจทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย ผิวไหม้ หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้ อย่างไรก็ตามหากเราหลีกเลี่ยงได้ยาก จึงควรปกป้องผิวด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ซึ่งการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดดป้องกันผิวจากรังสียูวีถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ประสิทธิภาพในการกันแดดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้1. ปริมาณการใช้แน่นอนว่าปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ส่งผลต่อการความสามารถในการป้องกันแดด ซึ่งหากลองเปรียบเทียบปริมาณการใช้ครีมกันแดดกับปริมาณเครื่องสำอางผสมสารกันแดดก็จะพบว่า บางครั้งเราใช้เครื่องสำอางเพียงเล็กน้อย เช่น ใช้รองพื้นทาบางๆ หรือแป้งพัฟแตะเบาๆ ที่ผิวหน้า ซึ่งระหว่างวันเครื่องสำอางเหล่านั้นก็จะหลุดลอกไปพร้อมเหงื่ออีกด้วย ในขณะที่การใช้ครีมกันแดดทั่วไป เราจำเป็นต้องใช้ประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้จึงจะทาได้ทั่วผิวหน้า ดังนั้นหากใครที่ใช้เครื่องสำอางในปริมาณเพียงเล็กน้อย อาจทำให้การกันแดดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทาครีมกันแดดก่อน แล้วตามด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ นั่นเอง2. ค่า SPF และ PA ในผลิตภัณฑ์บางครั้งราคาของแต่ละผลิตภัณฑ์ก็แปรผันตามความสามารถในการกันแดด ซึ่งหากผลิตภัณฑ์มี SPF หรือ PA สูง ราคาก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย สาวๆ หลายคนเลยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเลือกเครื่องสำอางที่มี SPF หรือ PA ไม่สูงมากนัก แต่ใช้หลายๆ ผลิตภัณฑ์ในครั้งเดียว เพราะเชื่อว่าสามารถนำค่าดังกล่าวมาบวกกันให้สูงขึ้นได้ความจริงก็คือ แม้เราจะใช้เครื่องสำอางที่ผสมสารกันแดดหลายผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้การป้องกันรังสียูวีเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากค่า SPF หรือ PA ไม่สามารถนำมาบวกกันได้ และความสามารถในการป้องกันแดดจะนับจากค่า SPF และ PA สูงสุดของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราทาเท่านั้นทั้งนี้ในการเลือกค่า SPF และ PA เราสามารถเลือกตามความเหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าทั้งสองอย่าง เพื่อการป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี เช่น หากทำงานในร่มเป็นประจำ การเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 15 และไม่เกิน 50 ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะการเลือกค่า SPF ที่สูงเกินไป อาจทำให้เราได้รับสารเคมีมากเกินความจำเป็น ส่วนค่า PA สามารถเลือกตามเครื่องหมาย + ได้ ดังนี้ PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึง ประสิทธิภาพการป้องกันในระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมากตามลำดับ ซึ่งหากเราไม่ได้เจอกับแสงมากนักก็ไม่จำเป็นต้องเลือกค่า PA สูงหรือแค่ PA++ ก็เพี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เพทุบายสลายขน

ขนก็ไม่ต่างจากเส้นผม แต่ขนมันมีกรรม เพราะเมื่อมันดันไปปรากฏตามบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ศีรษะ หลายคนจึงรังเกียจ โดยเฉพาะผู้หญิงที่รักสวยรักงาม  ด้วยเหตุฉะนี้โอกาสของธุรกิจกำจัดขนที่ไม่พึงปรารถนาจึงกำเนิดขึ้นหญิงสาวที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตนท่านหนึ่ง เล่าประสบการณ์เจ็บใจให้ผมฟังว่า เธอประสบปัญหาในการถอดขนรักแร้และโกนขนหน้าแข้งเสมอๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอไปเจอโฆษณาในเว็บขายสินค้าออนไลน์ในอินเตอร์เน็ต เป็นสถานบริการเสริมความงามที่ให้บริการกำจัดขน ที่น่าสนใจคือ มีบริการพิเศษแบบ บุฟเฟต์เลเซอร์กำจัดขน เธอบอกว่า “จะรอช้าอยู่ใย ดั่งฟ้าประทานทางออกให้แก่ชีวิต”  แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ เธอบอกว่าเธอก็เป็นดังผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จึงเข้าไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ทั้ง google และอีกหลายๆ เว็บ นอกจากนี้เธอก็ยังไปตั้งกระทู้ในเว็บชื่อดังเพื่อสอบถามข้อมูลจากคนที่เคยไปใช้บริการแบบนี้มาก่อน  เธอบอกว่า “ได้ผลเร็วมาก เพราะทันทีที่ตั้งกระทู้ ก็มีคนเข้ามาตอบคำถามหลายคน ส่วนใหญ่จะสนับสนุนและชื่นชมบริการแบบนี้ บางรายยังให้ข้อมูลสาขาต่างๆ ของสถานบริการเสริมความงามแห่งนี้อีกด้วย” ทำให้เธอยิ่งเชื่อถือ จึงตัดสินใจโอนเงินผ่านเว็ปเพื่อสมัครขอใช้บริการบุฟเฟต์เลเซอร์กำจัดขนโดยเลือกประเภท 1 ปีไม่จำกัดจำนวนครั้ง และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง เธอไปที่สถานบริการแห่งนี้ ทันทีที่แจ้งความประสงค์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เธอกลับพบว่า บริการบุฟเฟต์เลเซอร์กลับต่างจากบริการบุฟเฟต์หมูกระทะที่เธอเคยกิน เธอเล่าด้วยเสียงแค้นเคืองว่า ”บุฟเฟต์หมูกระทะเรากินได้ไม่อั้น แต่ไอ้บุฟเฟต์เลเซอร์นี้ กลับบอกเงื่อนไขผิดไปจากที่โฆษณา เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าใน 1 ปีที่ไม่จำกัดจำนวนครั้งนั้น หากจะมาใช้บริการต้องเว้นระยะห่างก่อน  ไม่ใช่จะมาใช้บริการตามใจชอบแบบเดินไปตักบุฟเฟต์หมูกระทะ แต่เมื่อเดินมาถึงขั้นนี้แล้วเราก็ต้องยอมรับ” แล้วเธอก็ต้องประหลาดใจเป็นครั้งที่สอง เพราะผู้ที่กำลังจะให้บริการที่ยืนตรงหน้าเธอกลับดูเหมือนสาวสก๊อยต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ในโฆษณาที่เธอเคยเห็น  ไม่มีเสื้อกาวน์สวมแต่กลับแต่งตัวเหมือนกำลังจะไปเที่ยวผับ แถมตอนให้บริการก็ไม่มีอุปกรณ์ใดๆป้องกันทั้งตัวเธอและตัวผู้ให้บริการ และเธอก็ต้องประหลาดใจยกกำลังสาม เธอบอกว่าในระหว่างการให้บริการ พนักงานคนนี้จะใช้เจลกันร้อนทาบริเวณขาเธอ แต่เมื่อบริการเสร็จแล้ว พนักงานกลับปาดเอาเจลที่ขาเธอป้ายใส่กลับคืนไปในกระปุก แต่ไหนๆ ก็เผลอขึ้นหลังเสือเพื่อมากำจัดขนแล้ว เธอจึงยอมกัดฟันให้ทำจนเสร็จ ผ่านไปไม่กี่วัน บริเวณขาเธอกลับมีรอยไหม้เป็นจ้ำๆ ไปทั่ว เธอจึงกลับไปที่สถานที่แห่งนี้อีก พนักงานคนเดิมก็หยิบยาทามาให้เธอ แล้วบอกว่าครั้งก่อนลืมให้ สุดท้ายเธอจึงขอเงินค่าบริการคืน บอกว่าจะไม่ขอมาใช้บริการแล้ว แต่พนักงานกลับบอกว่าเงินเข้าบัญชีบริษัทไปแล้ว คืนเงินไม่ได้ และที่สำคัญเธอบอกว่า “เจ็บใจที่ไม่ได้เก็บหลักฐานอะไรไว้เลย แม้กระทั่งเอกสารโอนเงิน”เธอบอกผมว่า อยากให้เอาเรื่องของเธอไปเตือนคนอื่นอย่าให้พลาดแบบเธอ “เพราะสถานบริการแบบนี้มีมากมาย มักจะนี้ใช้เล่ห์เพทุบายมาหลอกเหยื่อ ตั้งแต่โฆษณาบริการที่บอกเงื่อนไขคลุมเครือไม่ชัดเจน  กระทั่งคนที่มาตอบกระทู้ในอินเตอร์เน็ตต่างๆ ก็น่าจะเป็นหน้าม้าของสถานบริการแห่งนี้ เพราะเมื่อเธอกลับไปเช็คย้อนหลัง พบว่าคนที่ตอบกระทู้แม้จะชื่อต่างกัน แต่กลับมีเลข IP ที่ระบุว่ามาจากแหล่งเดียวกัน หรือวันที่เธอไปใช้บริการ พนักงานก็อ้างว่าบุคลากรทางการแพทย์ตามรูปในโฆษณาติดธุระ สุดท้ายเธอเจ็บใจตัวเองที่ดันทิ้งหลักฐานต่างๆ ไปหมด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 Drama - Addict กับ นพ.วิทวัส ศิริประชัย

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพามารู้จักเจ้าของเพจดัง ที่มีคนติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน “Drama-addict หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน”  หรือชื่อจริงของเขา นพ.วิทวัส ศิริประชัย ในมุมมองสังคมออนไลน์กับงานคุ้มครองผู้บริโภค แรงบันดาลใจของคุณหมอทำไมตั้งชื่อเพจว่า Drama-addict จริงๆ ตอนแรกเป็นเว็บไซต์ของพวกคนตีกัน ถกเถียง ดีเบตกันในอินเตอร์เน็ต แต่ว่าด้วยอาชีพหลักของผมในตอนนั้นเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลเกาะลันตา แล้วก็เห็นคนไข้ที่ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลมากๆ แต่เขาก็ยังตกเป็นเหยื่อของอินเตอร์เน็ตกันเยอะ เช่น คนไข้บางคนไปซื้อยาลดความอ้วนกินแล้วปัสสาวะเล็ดเรี่ยราด ใจสั่น น้ำหนักลดเขาก็มาที่โรงพยาบาล ผมก็รู้สึกว่าเราก็มีคนติดตามเยอะถ้าเราเอาข้อมูลพวกนี้มาทำให้คนไข้รู้นั้นเราก็น่าจะช่วยคนได้มาก เลยเริ่มเอาประเด็นพวกนั้นมานำเสนอ พอทำตรงนี้แล้วมันก็จะมีการติดต่อกับผู้เสียหายจากหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งเป็นนักเรียนประมาณ ม .4 – 5 เขาไปซื้อยาลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่ง ยาตัวนี้เขาอ้างชื่อเชอรี่สามโคก ที่เป็นพริตตี้มีชื่อเสียง แต่เชอรี่ตัวจริงเขาไม่รู้เรื่องแต่ว่าถูกเอาชื่อและรูปไปโฆษณายาลดความอ้วนตัวนี้ จนมีคนหลงเชื่อและซื้อไปกินและเสียชีวิต แล้วทางญาติก็อยากเอาเรื่องฟ้องร้อง ก็ติดต่อมาทางผม ผมก็คุยกับเชอรี่ซึ่งเขาก็รู้สึกว่าตัวเขาเองมีส่วนต้องช่วยรับผิดชอบ ก็มีการพูดคุยกันกับเพจดาร์ค อื่นๆ อีกและสุดท้ายก็ไปที่ดีเอสไอเพื่อดำเนินคดีกัน สุดท้ายก็มีการออกหมายจับแม่ค้าคนนี้และนำไปสู่การจับกุมในที่สุด แต่ประเด็นคือ ถูกจับก็ประกันตัวไป เดี๋ยวก็ออกมาขายอีกเหมือนเดิม คือผมรู้สึกว่าทำตรงนี้ไปถ้าสมมติว่ามันออกมาเป็นรูปแบบเดิมมันก็ไม่ค่อยช่วยอะไรได้มาก เพราะว่าโทษมันเบาเหลือเกิน บางคนขายยาลดความอ้วนในเพจหลายๆ เพจโวยกันแทบตายสุดท้ายออกมาขายกิจการใหญ่โตกว่าเดิมก็มี อันนี้เป็นเรื่องทางกฎหมายกับองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันดูแลด้วย เพราะว่าอย่างแรกโทษมันเบา และบางทีชาวบ้านอยากร้องเรียนพอไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบมันมีการโยนกันไปโยนกันมา และมีอีกเคสหนึ่งเขาบอกว่าไปซื้อครีมผิวขาวทาแล้วตัวลายทั้งตัวเลย ซึ่งก็น่าจะผสมสเตียรอยด์ พอไปร้องเรียนที่ อย. ทาง อย. ก็บอกว่าอันนี้ขายในอินเตอร์เน็ตไม่ใช่อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของเขาให้ไปไอซีที โยนกันไปโยนกันมาสุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องสักที จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ควรประสานหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานรัฐด้วยกันเองและผู้บริโภคด้วยก็น่าจะสามารถช่วยกันได้ และที่ผมบอกไปตอนขึ้นต้นว่าบางครั้งเราแค่ติดอาวุธให้กับประชาชนแล้วที่เหลือเขาจะจัดการกันเองได้มีกลยุทธ์อย่างไรในการนำเสนอเรื่องราวแต่ละเรื่องที่ทำให้คนสนใจกันมากๆ ได้อันนี้คิดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องศึกษาเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้งและการทำโฆษณา ทุกวันนี้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ลองสังเกตดูนะจะเห็นว่าโฆษณาขายครีมลอกผิว ขายยาผิวขาว ยาลดความอ้วนนั้นแชร์หลายหมื่น หลักแสนก็มี ในขณะที่หน่วยงานรัฐเราทำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงนำเสนอไปคนแชร์หลักสิบ บางทีคนไม่สนใจด้วยซ้ำเพราะบางทีเราคิดว่าทำภาพ ทำโปสเตอร์ใส่เนื้อหาลงไปเยอะๆ แล้วคนจะแชร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอด้วยว่า ทำอย่างไรจะทำให้คนแชร์คอนเทนท์นั้นเยอะๆ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคนเราเวลาจะทำพวกไวรอลพวกนั้นมันอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภคด้วย ก็คือคนที่เล่นเฟซ ถ้าเขารู้สึกว่าไอ้ตัวนี้มันกระตุ้นอารมณ์เขา เขาก็จะเป็นอารมณ์ด้านบวก คือดูแล้วขำหรือดูแล้วสะเทือนใจอะไรพวกนี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดการแชร์มากขึ้น อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ถ้าเราเรียนด้านสาธารณสุขมาน่าจะเคยได้ยินมาบ้างที่ว่าเวลาทำโปสเตอร์รณรงค์อย่าพยายามไปทำให้มันเป็นด้านลบมากเกิน เช่น ถ้าเราจะรณรงค์เรื่องเลิกบุหรี่ก็อย่าเอาภาพที่แบบคนปากเน่าๆ เละๆ มานำเสนอ ทำให้มันเป็นด้านบวกๆ หน่อยเพื่อที่คนจะแชร์ ก็คือต้องศึกษาการทำภาพให้มันดูแล้วอยากแชร์ อยากไลค์เพื่อให้คนเข้ามาถึงข้อมูลตรงนี้ได้ง่ายๆ ในโลกดิจิตอลนอกจากซื้อของแล้วได้ไม่ตรง ยังมีปัญหาอะไรอีกไหมที่มองว่ามาแน่ๆ ในอนาคตถ้าเราดูปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊คอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องแต่การก่ออาชญากรรมพวกนั้นไม่ต่างจากยุคก่อน ที่จะมีอินเตอร์เน็ตเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของโชกุน โชกุนมีอะไรต่างจากแชร์ลูกโซ่สมัยก่อนบ้าง พวกแชร์แม่ชม้อยพวกนั้น คอนเซ็ปต์ทุกอย่างเหมือนธุรกิจแชร์ลูกโซ่เลย คนไทยตกเป็นเหยื่อมาตลอดและยังตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เรามีข้อมูล มีการเข้าถึงข้อมูลทั้งเฟซบุคหรืออะไรอย่างอื่นมากขึ้น ผมมองว่าพวกเฟซบุค ไอจีอะไรพวกนี้มันเป็นแค่ช่องทางหนึ่งของการเข้าถึงข้อมูล แต่รูปแบบของการก่ออาชญากรรมนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมที่เป็นการละเมิดผู้บริโภคนั้น จะเป็นการใช้ข้อมูลเท็จและใช้ข้อมูลเข้าไปหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อและหลงเป็นเหยื่อมากกว่า อย่างกรณีพวกที่ขายยาลดความอ้วนหรือพวกขายครีมปรอท เราให้ข้อมูลไปว่าของพวกนี้ใช้แล้วอันตรายกับผู้บริโภค แต่คนก็ไม่เชื่อกันเพราะว่าหน่วยงานภาครัฐนั้นเคลื่อนตัวช้า พอมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกว่าจะทำอะไรได้ข้อมูลมันช้ามาก ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายครีมเขาไปสร้างข้อแก้ตัว สร้างข้อมูลเท็จสารพัดอย่างเช่นบอกว่า อย. รับรองสินค้าของเขา ตัวนี้มี อย. ทำให้เขาสามารถเอามาขายได้แบบอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงได้ อย่างล่าสุดก็มีกรณีที่เอาของเหลือจากอุตสาหกรรมนมมาทำเป็นนมผงแล้วเอาไปหลอกขายประชาชนบอกว่า ให้ลูกกินแล้วจะตัวสูงซึ่งมันเป็นเรื่องเท็จ แต่คนก็หลงเชื่อกันแล้วก็แห่กันไปซื้อมากมายเพราะว่าก่อนหน้านั้นมันมีขบวนการที่สร้างข้อมูลเท็จ ปั่นหัวให้พ่อแม่ที่อยากให้ของดีๆ กับลูกกินนั้นหลงเชื่อว่าไอ้ตัวนี้เป็นของที่น่าเชื่อถือ มีการยกอ้างงานวิจัยอะไรสารพัดเลย แต่ถ้าเป็นคนในแวดวงการแพทย์หรือว่าวงการสาธารณสุขนั้นเหลือบตาดูแว้บเดียวก็รู้แล้วว่าที่เขายกมาอ้างมันมั่วทั้งนั้น ปัญหาคือเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนนั้นเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด ประเด็นคือ ถ้าเราจะเล่นสงครามข่าวสารพวกนี้เพื่อให้ผู้บริโภค ซึ่งอย่างแรกต้องมีความว่องไวและเราต้องการให้ความรู้เท่าทันเป็นอาวุธที่จะไปสู้กับพวกข้อมูลเท็จเหล่านี้ มีตั้งแต่การสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ มีเว็บไซต์ที่มีสำหรับเช็คข่าวปลอมในอินเตอร์เน็ตและมีการเอาข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาลงรูปพวกนี้มานำเสนอกันผ่านสื่อให้มันดูน่าเชื่อถือและว่องไวเพื่อให้ประชาชนเขามีข้อมูลตรงนี้ไว้อ้างอิง อย่างล่าสุดมีคนเพิ่งส่งเรื่องมาให้ผมเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเอสพีดี เขาก็คุยกันเรื่องลูกเป็นเอสพีดีปกติแล้วก็มีคนขายเอาโคลอสตรุมไปขายในกลุ่มเขาบอกว่าถ้าให้ลูกที่เป็นเอสพีดีกินแล้วสุขภาพจะแข็งแรง ภูมิต้านทานจะดี ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นเรามีการนำเสนอข้อมูลผ่านหลายๆ เพจก็โจมตีว่า ไอ้พวกโคลอสตรุมนั้นมันเป็นเรื่องเท็จ หลอกลวงประชาชน เขาก็เอาข้อมูลตรงนี้ไปเถียงกับคนขายเหล่านั้นได้ คือประชาชนก็สามารถจัดการปัญหาเหล่านี้เองได้แต่เราต้องให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับเขาก็คือผู้บริโภคยุคนี้ต้องมีความรู้ที่มากขึ้น ถูกต้องและเร็วขึ้น เรื่องข้อมูล อย่างแรกต้องมีข้อมูลแบบที่น่าเชื่อถือได้ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นคนการันตีเรื่องข้อมูล อย่างกรณีเรื่องโคลอสตรุม ตอนแรกผมก็พยายามหางานวิจัยต่างประเทศแล้วก็พวกสถานะของโคลอสตรุมจากพวกผู้ชำนาญการ นักวิชาการหลายๆ คนมานำเสนอก็ได้แค่ระดับหนึ่ง แต่พอ อย. มาเล่นด้วยนั้นหายเกลี้ยงเลย คือเรื่องพวกนี้ถ้ามีภาครัฐมาสนับสนุนแบคอัฟข้อมูลที่ถูกต้องให้นั้น ประชาชนจะรู้ว่าข้อมูลจากตรงนั้นมันน่าเชื่อถือ สองก็ต้องทำให้มันย่อยง่ายอาจจะทำเป็นอินโฟกราฟฟิคเยอะๆ ทำให้ภาพมันดูง่ายๆ อาจจะต้องใช้เวลาไปเสริมข้อมูลทีละนิดๆ เพราะว่าถ้าเยอะเกินไปโดยบุคลิกของคนไทยไม่ชอบอ่านอะไรเยอะๆ ต้องใช้ภาพเยอะๆ ตัวอักษรน้อยๆ  เน้นคำที่มีคีย์เวิร์ดสำคัญ อย่างโคลอสตรุมนั้นเราจะเน้นคีย์เวิร์ดคำว่า นมเกรดเทให้หมากิน ซึ่งคำนี้พอคนกินเข้าไปมันจะเกิดความตะหนักรู้ว่าอ้าวเอาของห่วยๆ มาหลอกเรา แล้วคนจะไปหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติมเองซึ่งเราก็หาแหล่งข้อมูลให้เขาอ้างอิงง่ายๆ ได้รับการแชร์ข้อมูลกันทุกวันจะทำอย่างไรให้เขาตรวจสอบข้อมูลง่ายๆอย่างแรกต้องสร้างการตระหนักรู้ก่อนว่าข้อมูลที่ส่งๆ กันในโซเชียลนั้นมันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดแต่อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะว่าทุกวันนี้พอคนเฒ่าคนแก่เขาเพิ่งหัดเล่นเฟซบุคเขาจะคิดว่าไอ้ที่คนเขาแชร์กันเยอะๆ นั้นมันน่าจะเป็นเรื่องจริง ตรงนี้ที่ควรจะต้องค่อยๆ เสริมความรู้กันเข้าไป อย่างข่าวปลอมบางทีแชร์กันเป็นแสน บางทีต้องให้เขารู้ว่าถ้าเป็นข่าวอะไรก็ตามที่เน้นให้คนอ่านรู้สึกมากๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ จะมีพวกที่เอาภาพของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาตัดต่อสร้างเป็นข่าวปลอมบอกว่าคนนี้ไปข่มขืน แล้วทำภาพให้คนดูแล้วชวนให้โกรธแค้น อันนี้อยากให้เบรคไว้ก่อนเลยว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ร้อยทั้งร้อยข่าวปลอมล้านเปอร์เซ็นต์ หรือข้อมูลทางการแพทย์ที่แปลกๆ อย่างเช่นกินไอ้นี่แล้วเป็นมะเร็งถึงตาย ดูเว่อร์ๆ นั้นให้ชั่งใจไว้แล้วหาข้อมูลก่อนเพราะว่าข่าวไหนก็ตามที่มันเน้นกับความรู้สึกคนมากๆ บอกได้เลยอันนั้น คือออกแบบมาเพื่อทำเป็นไวรอล และเป้าหมายมันไม่ใช่เพื่อเน้นข้อมูล ถ้าเป็นไวรอลของภาครัฐนั้นจะทำมาเพื่อให้คนแชร์กันเยอะๆ แต่ถ้าเป็นลักษณะที่กล่าวมาก็เน้นเพื่อหาผลประโยชน์บางคนก็เป็นเหยื่อจากการแชร์เรื่องพวกนี้ ตรงนี้จะทำอย่างไรได้บ้างอันนี้ก็เหมือนที่บอกตอนแรกคือ ต้องทำให้เกิดการตะหนักรู้ การโฆษณาในเฟซบุคที่อ้าง อย.หรืออ้างนู้นอ้างนี่ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป อย่าง อย. จะเป็นหน่วยงานที่ถูกอ้างอิงบ่อยมาก บอกว่าสินค้าตัวนี้มี อย. ปลอดภัย อย่างโคลอสตรุมมี อย. กินแล้วตัวสูงแน่เพราะ อย. ยังรับรอง ซึ่งมันไม่จริงเลย ตรงนี้ อย. เองก็น่าจะออกมาพูดบ้างว่าเขามีข้อจำกัดอะไร อย่างเช่น อย. เวลาได้เครื่องหมาย อย. มาก็ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย ต้องเข้าใจคำว่าโฆษณากินจริงพวกนั้นด้วย และต้องเข้าใจว่าบางที อย. ก็โดนเล่นเหมือนกันเพราะว่าบางทีคนเอายาลดความอ้วนนั้นไปจดทะเบียนแต่จดทะเบียนว่าเป็นอาหารเสริมธรรมดาแต่โฆษณาว่าลดความอ้วนพอเราจะเข้าไปตรวจว่ามีสารอันตรายอยู่หรือเปล่ามันก็จะรู้ข่าวล่วงหน้าจากเส้นสายวงในอะไรของเขา เขาก็เอาสินค้าล๊อตที่มีสารอันตรายออกเอาล๊อตธรรมดาใส่ อย. ตรวจไปก็ไม่เจออะไรแล้วก็เอาไปขายตามเดิม คือต่อให้สุ่มตรวจว่าเจอสารอันตรายอยู่มันก็แถว่าเป็นยาเถื่อนไม่เกี่ยวกับมัน ที่เจอเป็นยาปลอมซึ่งเป็นมุกที่เล่นกันบ่อยมาก อย่างเช่น หัวบุกอะไรสักอย่างที่ขายกันก่อนหน้านั้นที่คนกินแล้วตายเยอะๆ มันก็อ้างประมาณนี้บอกว่าตัวที่กินไปแล้วตายเป็นของปลอม ปลอมได้อย่างไรมาจากโรงงานเดียวกัน พอ อย. เจอแบบนี้เข้าเขาก็เล่นยาก ถึงได้บอกว่าต้องประสานงานกันหลายๆ หน่วยงานไม่แค่ อย. เจ้าเดียว อย. ต้องร่วมกับไอซีที ร่วมกับดีเอสไอจับได้ให้คาหนังคาเขาเลย และถ้าพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภคอาจจะต้องมีการประสานงานกับหลายๆ เพจเฉพาะด้านอย่างแชร์ลูกโซ่ก็จะมีเครือข่ายต่อต้านแชร์ลูกโซ่แบบนี้ เพราะว่าพอมีกลุ่มพวกนี้ออกมาเพจพวกนี้เขาจะมีเครือข่ายข้อมูล ประชาชนก็จะแห่ไปให้ข้อมูลซึ่งพอเขาประสานงานกับหน่วยงานรัฐนั้นจะง่ายขึ้นเพราะว่ามีเบาะแสที่เจ้าหน้าที่ต้องการ อย่าไปทำคนเดียวต้องช่วยกัน และต้องเร็วขึ้น ต้องตอบรับสถานการณ์ให้ไวขึ้น เพราะถ้าเป็นอย่างเมื่อก่อนเวลามีประเด็นกินยาลดความอ้วนตายกว่าจะขยับตัวสัปดาห์ถัดไปมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบแล้วทำงานตรงนี้มากี่ปีแล้ว มีพวกภัยมืดอะไรไหมที่เข้ามา ท้อแท้บ้างไหมทำเพจก็ 6 -7 ปีแล้วถ้าจำไม่ผิด ก็มีขู่ฟ้องอะไรสารพัดเลย อย่างคนอื่นเขาก็โดนกันเยอะ หมอแล็บ หมอแมวที่ทำเพจเกี่ยวกับให้ความรู้โดนขู่ฟ้องตลอด ตรงนี้ผมคิดว่าภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือบ้างนะเพราะว่าบางทีคนก็ต้องแห่กันไปใช้บริการเพจนอกกฎหมายซึ่งมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป ท้อแท้ไหม บ่อยเลย แต่มันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำคนก็เป็นเหยื่อไอ้พวกนั้นต่อไปเรื่อยๆ  แต่ที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่างเรื่องโคลอสตรุมที่เล่าไปเมื่อสักครู่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าคนตื่นรู้จนตอนนี้ไม่มีคนซื้อมันแล้ว เวลาเอาไปขายในเพจเลี้ยงลูกก็จะมีคนเอาข้อมูลพวกนี้ไปแปะ คือเขาจัดการกันเองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เปลี่ยนคืนสินค้าชำรุด

หากเราซื้อสินค้าใดๆ มาใช้ แล้วพบว่าเกิดความชำรุดบกพร่อง และต้องการเปลี่ยนคืนสินค้าดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสมหมายซื้อกาต้มน้ำไฟฟ้า จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งโฆษณาว่ารับประกันการใช้งาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากใช้ไปได้ประมาณ 3 เดือนก็พบความชำรุดบกพร่องกับสายปลั๊กไฟของกาต้มน้ำ โดยเขาพบว่าปลั๊กของกาน้ำละลาย และทำให้ปลั๊กสามตาที่ต่อพ่วงเอาไว้เสียหายด้วยเช่นกัน คุณสมหมายจึงโทรศัพท์ไปยังเบอร์พิเศษ(เลข 4 หลัก) ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโฆษณาว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงเพื่อแจ้งปัญหา แต่กลับพบว่าต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ฟรีๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่คิดไว้ เพราะพนักงานระบุเพียงว่าให้ส่งกาต้มน้ำดังกล่าวไปยังศูนย์บริการที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปลี่ยนหรือซ่อมให้ใหม่อย่างไรบ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมหมายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักสิทธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ขอเอกสารผู้ร้องเพิ่มเติมได้แก่ รูปถ่ายสินค้า ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน แต่ผู้ร้องแจ้งกลับมาว่าใบรับประกันและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงได้สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่ายใบเสร็จสินค้า ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ใหม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการซื้อเกิน 3 เดือนแล้วอย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนบหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องมีส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ผลิต เพื่อขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังทางบริษัทก็ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและเสนอเปลี่ยนกาต้มน้ำ รวมทั้งปลั๊กสามตาที่เสียหายไปให้ใหม่ พร้อมแจ้งว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นอีก ทางบริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาสินค้าให้กับผู้ร้อง ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >