ฉบับที่ 195 ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเลี่ยงการกินปลาคือ ปลานั้นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาและน้ำเป็นแหล่งธรรมชาติที่มักมีสารพิษปนเปื้อน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความมักง่ายของคนในพื้นที่ที่ปลาถูกจับ จึงมีคำถามว่า แล้วอย่างนี้ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลของการกินปลาต่อการพัฒนาของระบบประสาทเด็กในท้องแม่นั้นมีมานาน เช่น การศึกษาในชุมชนบนเกาะซีเซลล์ (Seychelles) ซึ่งอยู่นอกฝั่งอัฟริกาด้านตะวันออกในมหาสมุทรอินเดีย(เมื่อปี 1998 และ 2003) และการศึกษาในชุมชนบนหมู่เกาะฟาโร (Faroe Islands) ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ในอาณัติของเดนมาร์ค (เมื่อปี 1997) แสดงให้เห็นว่า DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองส่วนสีเทา (grey matter) และผนังของลูกตาในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการท้องต่อเนื่องถึง 2 ปีแรกหลังคลอดของเด็ก และที่น่าสนใจเมื่อพบว่า แม่ที่กินปลาเป็นประจำระหว่างท้องได้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี สายตาดี ความจำดี สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการเรียนภาษาได้ดีตั้งแต่เด็ก ในทางระบาดวิทยาได้พบหลักฐานว่า การกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 จากปลาหรือน้ำมันปลานั้นลดความเสี่ยงต่อการตาย เนื่องจากโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary heart diseases) โดยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า การกินน้ำมันปลา 250-500 มิลลิกรัมของกรดไขมันชนิด EPA (Eicosapentaenoic) รวมกับ DHA ต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจร้อยละ 36 อย่างไรก็ดีการกินมากขึ้นกว่านี้กลับไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่ำลงไปอีก ซึ่งแสดงว่า ประโยชน์จากการกินน้ำมันปลาต่อการป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้แปรผันโดยตรง ดังนั้นผู้สนใจกินน้ำมันปลาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยเหตุที่การกินปลาเป็นเรื่องสำคัญของชาวโลกโดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ องค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็สังกัดองค์การสหประชาชาติจึงได้ร่วมทำงาน(Joint Expert Consultation) อีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและประโยชน์(Risks and Benefits) ของการกินปลา เมื่อวันที่ 25-29 มกราคม 2010 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประเด็นหลักของการประชุมคือ แม้ว่าปลาหลายชนิดอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปลาก็เป็นแหล่งของสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่เช่น เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ดังนั้นการชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่อประโยชน์จากการกินปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ 17 คน ถึงความเสี่ยงภัยและประโยชน์ที่ได้จากการกินปลานั้น เป็นการพูดคุยกันในกรอบความรู้ด้านโภชนาการ พิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง/ประโยชน์ในการกินปลา ซึ่งสุดท้ายได้มีรายงานการประชุมชื่อ Report of the Joint Fao/Who Expert Consultation On The Risks And Benefits Of Fish Consumption ออกมาให้เราได้อ่านงานหลักของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้คือ การทบทวนข้อมูลของระดับสารอาหารและสารปนเปื้อนบางชนิดคือ เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ซึ่งปนเปื้อนในปลาหลากหลายสายพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาประเมินถึงความเสี่ยงอันตรายจากสารพิษต่อประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันปลามีการตั้งความหวังว่า ผลที่ได้จากการประชุมนั้น ควรถูกประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ในการกินปลาของประชาชน โดยในรายงานฉบับนี้กำหนดให้ “ปลา” หมายถึง ปลาที่มีครีบและสัตว์น้ำที่มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหรือน้ำจืด ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์มและอยู่ในธรรมชาติหลังการประชุมเสร็จผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ควรมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่ได้จากการกินปลาของแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ได้ออกมาจากการประชุมคือ ขอบข่ายงาน (Framework) ของการประเมินผลสุดท้ายที่ได้จากการกินอาหารปลา ทั้งด้านประโยชน์และโทษเพื่อเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารระดับชาติของแต่ละประเทศและองค์กรที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เช่น Codex Alimentarius Commission ใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในการบริโภคปลาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้คือ การกินปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ เพราะปลาเป็นแหล่งของ โปรตีน พลังงาน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 และที่สำคัญคือ การกินปลานั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อให้การพัฒนาระบบประสาทของเด็กในครรภ์เป็นไปตามศักยภาพที่มีในแง่ของอันตรายจากสารปนเปื้อนนั้นพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเนื่องจากเม็ททิวเมอร์คิวรีนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากไดออกซิน(dioxin) นั้น แม้พบว่ามีอยู่แต่ก็ยังมีผลต่ำกว่าการรับได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินปลา นอกจากนี้ในการประชุมนั้น ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 ต่อความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเม็ททิลเมอร์คิวรีของลูกในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่า การกินปลาระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของการไม่พัฒนาของระบบประสาทของลูกแบบแอบแฝง (suboptimal neurodevelopment) ให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับลูกของสตรีที่ไม่กินปลาสำหรับระดับของการสัมผัสสารพิษไดออกซิน จากการกินปลาและอาหารอื่นของแม่โดยทั่วไปนั้น ยังไม่เกินระดับที่ยอมรับให้สัมผัสได้ในแต่ละเดือน (Provisional Tolerable Monthly Intake หรือ PTMI) ที่กำหนดโดย JECFA (เมื่อพิจารณาถึงสาร PCDDs, PCDFs และ PCBs) คือ 70 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นการกินปลาจึงยังไม่น่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ดีในกรณีที่มีการสัมผัสสารพิษไดออกซินของสตรีในบางประเทศเกินระดับที่กำหนดนั้น ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถถูกตัดทิ้ง เมื่อมีการพิจารณาถึงกลุ่มทารก เด็กเล็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการกินปลานั้น พบว่าข้อมูลในการประชุมดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขอบข่ายการประเมินเกี่ยวกับปริมาณ(quantitative framework) สารพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลา อย่างไรก็ดีรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งรวมถึงการกินปลานั้น ได้ถูกวางไว้ในวัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้มีผลต่อเนื่องถึงชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อีกทั้งในปี 2007 นั้น The World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research ได้รายงานถึงผลของอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายต่อการเกิดมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าการกินปลานั้นก่อความเสี่ยงอันตรายแต่อย่างไรสำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิกต้องหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อกลุ่มเป้าหมายตามกระบวนการที่แนะนำ ทั้งในเรื่องการประเมินและการจัดการความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลาตลอดจนถึงการสื่อสารส่งต่อข้อมูลสู่ประชากร มีการเน้นย้ำว่า เพื่อให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมลูกที่กินปลาเกิดขึ้นนั้น ประเทศสมาชิกต้องดำรงและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะในปลาบางชนิดและโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน) ในปลาที่ประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกกินและที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและประเมินหลักการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการสื่อสารข้อมูลในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการกินปลาให้ต่ำสุดโดยได้รับประโยชน์จากการกินปลาสูงสุดสิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมคือ มีบางประเทศที่เกิดความเสี่ยงในการยับยั้งการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างที่อยู่ในท้อง เนื่องจากแม่กินปลาที่มีการปนเปื้อนเม็ททิลเมอร์คิวรี นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ผลกระทบด้านภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ก็ยังเป็นไปได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสมบูรณ์ในข้อมูลด้านอันตรายของไดออกซินที่ปนเปื้อนในปลาต่อสุขภาพเช่น ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทาน การพัฒนาระบบประสาทตลอดจนถึงมะเร็งนั้นยังไม่สมบูรณ์พอสุดท้ายนี้จึงมีคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียนว่า สตรีมีครรภ์ในบ้านเราได้กินปลาที่ปลอดภัยจากสารพิษที่ปนเปื้อนในทะเลแล้วหรือไม่ เพราะปลาที่จับจากอ่าวไทยมันนั้นน่าจะมีสารพิษเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งสารพิษจากชุมชม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการล่มของเรือบรรทุกน้ำมันและการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันในทะเล อีกทั้งบนชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นก็กำลังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแถบทวารและมะริดของเพื่อนบ้านไล่ลงมาถึงความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่มีทางสะอาด) แล้วสุขภาพทางสมองของเด็กไทยที่แม่ต้องกินปลาที่ปนเปื้อนจะเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 รู้เท่าทันผึ้งบำบัด

นอกจากการใช้ปลิง หอยทาก ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ แล้ว  การแพทย์ทางเลือกและการแพทย์เสริมยังนิยมใช้ผึ้งต่อยหรือฝังเหล็กในที่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อเป็นการบำบัดโรคปวดข้อ ข้อเสื่อมอีกด้วย  การบำบัดด้วยพิษจากเหล็กในของผึ้งได้ผลจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันกันเถอะ พิษของผึ้งมีผลอย่างไรต่อร่างกาย การบำบัดด้วยเหล็กในผึ้งเป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งนิยมใช้ในหลายประเทศมานานหลายศตวรรษ  ในการแพทย์ดั้งเดิมใช้ในการบำบัด ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ  พิษจากเหล็กในผึ้งประกอบด้วยสารประกอบต่างๆ ประมาณ 40 ชนิดที่ช่วยในการเยียวยา โดยเฉพาะสารเมลิตติน (melittin)  ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบและข้ออักเสบผู้คนเชื่อว่า พิษของผึ้งมีผลในการลดความเจ็บปวด ช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ตั้งแต่ ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อพังผืดอักเสบ  รูมาตอยด์ ปลอกประสาทอักเสบ เป็นต้น  บางเว็บไซต์อ้างว่าบำบัดอาการต่างๆ ได้มากกว่า 30 โรค สมมติฐานทางการแพทย์เชื่อว่า พิษของเหล็กในผึ้งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตเพื่อหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ  นอกจากนี้ พิษของเหล็กในผึ้งยังไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไปเยียวยาส่วนต่างๆ และยังไปสร้างสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งลดความเครียดและลดอาการปวดของร่างกาย  นอกจากนี้พิษเหล็กในผึ้งยังมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส ในระบบประสาทส่วนกลางและที่อื่นๆมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้งได้หรือไม่ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้มีประสบการณ์การบำบัดด้วยผึ้งประมาณ 65,000 คน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีอาการแพ้  แม้ว่าพิษของเหล็กในผึ้งจะไม่สามารถบำบัดได้ทุกอาการ แต่ก็สามารถทำให้อาการต่างๆ สงบลงได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อเทียบเท่ากับยา ในสหราชอาณาจักร พบว่า ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้ง 2- 9 ราย  ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแพ้ จึงมีการฉีดพิษเหล็กในผึ้งที่บริสุทธิ์เข้าใต้ผิวหนังทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้ผึ้งเป็นๆ มาต่อยที่ผิวหนัง จาการทบทวนเอกสาร พบงานวิจัย 145 รายงาน   พิษเหล็กในผึ้งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้ถึง ร้อยละ 261 เมื่อเทียบกับการฉีดด้วยน้ำเกลือ  อาการแพ้พิษเกิดได้บ่อย จึงสมควรที่นักบำบัดจะต้องระวังเมื่อใช้ผึ้งบำบัด และต้องได้รับการอบรมตามมาตรฐานพิษจากเหล็กในผึ้งบำบัดโรคได้จริงหรือไม่ จากการทบทวนวรรณกรรมใน PUBMED, EMBASE และ Cochrane Library เกี่ยวกับการบำบัด       ข้ออักเสบ ด้วยพิษเหล็กในผึ้ง  มีงานวิจัย 15 รายงาน พบว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  มี 5 รายงานที่แสดงว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีประสิทธิผลในการบำบัดข้ออักเสบ มีการทบทวนการวรรณกรรมการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการบำบัดมะเร็งเช่น  มะเร็งที่ไต ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ เต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาว  พบว่า สารเมลิตตินและฟอสฟอไลเปส A2 สามารถจับเซลล์มะเร็ง และมีผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้  ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนวรรณกรรมในการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการรักษารูมาตอยด์ อาหารปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และอื่นๆ อีกจำนวนมากสรุป การบำบัดด้วยพิษเหล็กในผึ้งนั้น มีหลักฐานการวิจัยมากพอควรว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะ ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะ พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  รวมทั้งมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีผลดีในผู้ที่มีปัญหาภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 การเลือกซื้อและใช้กระทะ

กระแสการใช้โฆษณาโน้มน้าวชักจูง โดยการใช้วิธี Fake Original Price ของกระทะยี่ห้อหนึ่งที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อประเด็นทางการกฎหมายว่า การตั้งราคาให้สูงเกินจริงมากๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่า ได้ซื้อของถูกนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ในหลายประเทศมีกฎหมายมาควบคุมชัดเจนเรื่องนี้ชัดเจน ซึ่งในอนาคตการทำธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้  คงมีมาตรการทางกฎหมายมาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจนขึ้น ในส่วนของคุณภาพของตัวสินค้า ตัวกระทะนั้น ทางวารสารฉลาดซื้อ ได้เคยร่วมมือทดสอบร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และเปิดเผยผลทดสอบให้ทราบกันแล้วตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในครั้งนั้น กระทะดังกล่าวยังไม่ได้มีการขายในประเทศไทย โดยที่ในครั้งนั้น ได้สุ่มกระทะจำนวน 13 ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานคร ราคาตั้งแต่ 500 บาท ถึง 2,000 กว่าบาท โดยทดสอบเปรียบเทียบในเรื่องความเร็วในการถ่ายเทความร้อน การใช้พลังงาน การกระจายตัวของอุณหภูมิที่บริเวณก้นกระทะ และความสะดวกในการทำความสะอาด ตลอดจนความหนาของวัสดุที่เคลือบ ซึ่งเราได้ผลทดสอบสรุปว่า คุณภาพและประสิทธิภาพของกระทะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา บทความฉบับนี้ ต้องการให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อกระทะ ว่าควรพิจารณาจากอะไรบ้าง เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ(หรือไม่ซื้อ) ครั้งต่อไปวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระทะปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของกระทะนอกจาก การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงความสวยงามน่าใช้ และการถ่ายเทความร้อนจากก้นกระทะไปสู่อาหารที่กำลังผัดหรือทอด แล้วก็คือวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระทะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้วัสดุดังต่อไปนี้ในการผลิตอลูมิเนียม จัดเป็นโลหะเบา ที่มีความหนาแน่น 2.7 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เบากว่าเหล็กมาก (เหล็กมีความหนาแน่น 7.8 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร) ซึ่งกระทะที่ทำจากอลูมิเนียมไม่ควรนำไปใช้งานที่มีอุณหภูมิสูงมากๆ เพราะจะทำให้สีผิวและรูปทรงของกระทะเปลี่ยนไป อาหารที่เหมาะกับการปรุงโดยใช้กระทะอลูมิเนียมคือ อาหารประเภทไข่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไข่เจียว ไข่ดาว หรือไข่คน หรือใช้ในการปรุงอาหารที่ทำจากปลาก็ได้ เพราะใช้ความร้อนไม่สูงมากนักเหล็กสเตนเลส (Stainless steel) กระทะที่ทำจากวัสดุประเภทนี้ มีข้อดีคือ ดูแลรักษาง่าย ทนทาน แข็งแรง รักษารูปทรงไว้ได้ดีเมื่อใช้งานไปนานๆ แต่ข้อเสียคือ มีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งกระทะได้อีก คือ ชนิดเคลือบเทฟลอน กับชนิดไม่เคลือบเทฟลอน ชนิดที่ไม่เคลือบเทฟลอน เหมาะสำหรับการทอดกรอบ ซึ่งถ่ายเทความร้อนได้ดี ให้ความร้อนสูง ข้อควรระวังสำหรับคนที่มีอาการแพ้โลหะนิกเกิล เพราะนิกเกิลเป็นธาตุผสมที่มีอยู่ในเหล็กสเตนเลส ควรจะหันไปใช้กระทะที่ทำจากวัสดุอื่นแทนเหล็กหล่อ (Cast Iron) ให้ความร้อนสูง ทนทาน แข็งแรง แต่มีน้ำหนักมาก การถ่ายเทความร้อนดี เหมาะสำหรับการทอดชิ้นเนื้อหนา เช่น สเต็กเหล็กหล่อเคลือบอีนาเมล ผิวเคลือบปราศจากรูพรุน (Micro Pore) ทำความสะอาดง่าย ทนความร้อนได้ดี แต่ต้องระวังการกระแทกที่ผิวเคลือบ เพราะจะทำให้ผิวเคลือบแตกล่อนออกมาได้ทองแดง(Copper) เป็นกระทะระดับพรีเมียม ราคาแพง ถ่ายเทความร้อนได้ดี ความร้อนกระจายตัวสม่ำเสมอ และเย็นตัวได้เร็ว สามารถนำวัสดุอื่นมาเคลือบที่ผิวได้ เช่น เหล็กสเตนเลส สังกะสี และ เทฟลอน เพื่อป้องกันไม่ให้ ทองแดงปนเปื้อนลงไปในอาหาร การดูแลรักษาค่อนข้างยุ่งยาก และต้องทำการขัดผิวละเอียด (Polishing) บ่อยๆ จึงจะดูสวยงามน่าใช้อยู่เสมอ การใช้กระทะเคลือบเทฟลอนกระทะเคลือบเทฟลอน ซึ่งเป็นชื่อเรียกทางการค้าของวัสดุเคลือบ อยู่ในกลุ่มพอลิเมอร์ (Polytetrafluoroethylene: PTFE)         ไม่ควรให้ความร้อนสูงมากเกินไป เพราะจะทำให้วัสดุเคลือบที่ทำมาจากเทฟลอน เสื่อมสลาย ได้ง่าย และอายุการใช้งานสั้นลง ไม่ควรใช้ตะหลิวที่ทำจากโลหะเพราะจะทำให้ผิวเทฟลอนเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย นอกจากนี้ไม่ควรใช้แผ่นโลหะ หรือ สารเคมีที่มีส่วนผสมของผงโลหะทำความสะอาด เพราะจะทำให้กระทะเป็นรอยเช่นกันการทำความสะอาด ใช้น้ำอุ่น หรือ น้ำยาล้างจานล้างกระทะ โดยใช้ฟองน้ำขัดถู คราบสกปรกที่ติดบนผิวกระทะ กระทะบางรุ่นสามารถนำไปล้างในเครื่องล้างจานได้ แต่ถ้าเป็นกระทะที่ทำจากอลูมิเนียม ไม่ควรจะใช้เครื่องล้างจานเพราะจะทำให้ผิวของกระทะหมองลงได้ และถ้าหากบ้านใครมีเครื่องล้างจาน และอยากจะใช้ล้างกระทะ ก็ให้ใช้น้ำมันพืช ทาที่ผิวเคลือบบ้างเพราะจะทำให้เทฟลอนรักษาความมันลื่นได้นานขึ้น กระทะเคลือบเทฟลอน จะมีอายุการใช้งานของมัน หากเราสังเกตเห็นว่าผิวเคลือบมีรอยขีดข่วน หรือหลุดล่อนออกมาควรเปลี่ยนกระทะใหม่หวังว่าสมาชิกวารสารฉลาดซื้อจะสามารถ ใช้ชีวิตในยุคบริโภคนิยมได้อย่างชาญฉลาด และไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง ที่ทำให้ผู้บริโภคในยุค 4.0 สูญเสียความเชื่อมั่นและความรู้สึกครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ตกแต่งตาสองชั้นอย่างปลอดภัย

สาวเอเชียจำนวนมาก มักมีความกังวลเกี่ยวกับลักษณะดวงตาของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่จะมีตาชั้นเดียวหรือตาสองชั้นหลบใน ทำให้เวลาแต่งตาจะเห็นไม่ชัดเจนเท่าไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและความสวยงามอย่างมาก หลายคนจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการศัลยกรรมตาสองชั้น แต่สำหรับใครที่กลัวการศัลยกรรมก็หันไปพึ่งวิธีง่ายๆ อย่าง การใช้เครื่องสำอางหรือกาวติดตาสองชั้นแทน ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญรู้จักกาวติดตาสองชั้นกันก่อนกาวติดตาสองชั้น (Double eyelid glue) เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งมีไว้ใช้กับเปลือกตาเพื่อตกแต่งให้เป็นตาสองชั้น มีลักษณะเป็นกาวสีใสและขาวขุ่น โดยส่วนใหญ่จะใช้ทาลงบนสติ๊กเกอร์ตาสองชั้น แล้วจึงนำไปติดลงบริเวณรอยพับของเปลือกตาก่อนหรือหลังตกแต่งดวงตาก็ได้ อย่างไรก็ตามสาวๆ หลายคนอาจเลือกใช้กาวติดขนตาปลอมแทนกาวติดตาสองชั้น เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะใกล้เคียงกันกาวติดตาสองชั้นผลิตจากอะไรกาวติดตาสองชั้นมีส่วนประกอบสำคัญคล้ายกับกาวติดขนตาปลอม คือ Rubber, Latex, AMP-acrylates/ diacetoneacrylamide copolymer, Ethyl cyanoacrylate และ Acrylate copolymer กาวติดตาสองชั้นปลอดภัยจริงหรือแม้กาวติดตาสองชั้นจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นวิธีแก้ไขรูปตาที่สะดวกรวดเร็ว แต่ผู้ใช้งานหลายคนอาจพบกับอาการแพ้บริเวณเปลือกตาได้ เช่น มีอาการระคายเคือง คัน บวมแดงหรืออักเสบบริเวณผิวหนังรอบดวงตา ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการแพ้น้ำหอม สารกันบูดหรือสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่าง Latex (ยางธรรมชาติ) นั่นเอง เพราะสารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรืออาการแพ้ได้มาก เลือกใช้กาวติดตาสองชั้นให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ เราสามารถตรวจสอบกาวติดตาสองชั้นก่อนใช้งานด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้1. ตรวจสอบฉลาก เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่มีส่วนประกอบต้องห้าม รวมทั้งมีสถานที่ผลิตหรือจัดจำหน่ายชัดเจน เราจึงควรตอบสอบฉลากก่อนซื้อ ซึ่งการแสดงฉลากที่ถูกต้อง ต้องเป็นภาษาไทยที่มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปี การผลิต ฯลฯ 2. ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งหากเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐาน จะต้องมีเลขที่จดแจ้งจำนวน 10 หลัก เพื่อเป็นการป้องกันสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งเราสามารถนำเลขที่จดแจ้งดังกล่าวตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ของ อย. ในส่วนของระบบงานบริการตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ (http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx)  3. ใช้งานอย่างถูกวิธีบางครั้งอาการแพ้สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้งานผิดวิธี เช่น ใช้กาวมากเกินไป หรือล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก ซึ่งเราควรล้างกาวติดตาสองชั้นด้วยผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางโดยเฉพาะ (Makeup remover) และไม่ควรดึงสติ๊กเกอร์ออกแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เปลือกตาเป็นแผลและเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าเราใช้งานถูกวิธี หรือใช้สินค้าที่มีคุณภาพแล้ว แต่ยังเกิดอาการแพ้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากอาการแพ้เฉพาะบุคคล ซึ่งควรทดลองเปลี่ยนยี่ห้อ โดยอาจเลือกจากส่วนผสมที่ไม่มี Latex เพราะทำให้เกิดการแพ้ง่ายนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ระวังผู้สูงวัยอายุจะสั้นจากผลิตภัณฑ์กตัญญู

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผมมีโอกาสไปร่วมงานรดน้ำขอพรผู้สูงวัยหลายแห่ง  ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สูงวัยหลายท่าน  สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงวัยมักจะถามบ่อยๆ ก็คือเรื่องปัญหาสุขภาพ และการใช้ยาต่างๆ  ทำให้ทราบว่า นอกเหนือจากยาที่ต้องทานประจำแล้ว หลายท่านยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย บางชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ราคาแพงจากต่างประเทศด้วยซ้ำ เมื่อคุยไปคุยมาจึงทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนส่งมาจากลูกหลานของท่านที่ไปทำงานในที่ห่างไกล ท่านบอกว่าลูกหลานมักจะซื้อผลิตภัณฑ์แปลกๆ ส่งมาให้ ทีแรกท่านเองก็ไม่อยากจะกิน  แต่ขัดลูกหลานไม่ได้ ยอมรับว่าเวลาทานมันก็มีความสุขที่ลูกๆ หลานๆ ยังไม่ลืม ยังกตัญญู คอยดูแลอยู่เสมอๆ ผมมีโอกาสตามไปดูที่บ้าน  เลยได้เห็นผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดจริงดังที่ท่านเล่า  ท่านบอกว่าระยะหลังๆนี้ความดันโลหิตของท่านคุมไม่ค่อยอยู่ ไม่ยอมลดลง  พอสอบถามว่าทานอะไรเพิ่มหรือเปล่า ท่านก็บอกว่ามีแค่โสมชนิดแคปซูลอย่างเดียว  ผมพลิกดูฉลากพบว่าขึ้นทะเบียนเป็นยา มีคำเตือนในผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคความดันโลหิต  ซึ่งในแง่ข้อมูลทางวิชาการเขาก็แนะนำในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงต้องระมัดระวังอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตของบางคนสูงขึ้นได้ ผู้สูงอายุอีกราย นำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาให้ ดู  จากฉลากแสดงส่วนประกอบเป็นพวกแร่ธาติและวิตามินชนิดต่างๆ  ฉลากมีรายละเอียดการได้รับอนุญาตถูกต้องครบถ้วน  ท่านเล่าว่าลูกชายไปทำงานที่กรุงเทพ ซื้อมาให้ ราคาขวดละหลายร้อยบาท ลูกชายสั่งให้ทานร่างกายจะได้แข็งแรง ท่านก็เลยทานเป็นประจำ วันละ 2-3 ครั้ง ผมถามท่านว่าทานแล้วมีอาการอะไรมั๊ย ท่านบอกว่าก็ปกติดีนี่  เสียแต่ว่าช่วงนี้คุมน้ำตาลไม่ค่อยอยู่  ผมถึงนึกขึ้นได้ รีบอ่านฉลาก  พบว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ระดับน้ำตาลในเลือดของท่านจึงสูงขึ้น ส่วนอีกรายท่านมีอาการปวดข้อเข่า ท่านเล่าว่าในอดีตท่านเคยซื้อยาผงสมุนไพรไทยที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีเขียวมารับประทาน ต่อมามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจสอบยาให้  พบว่ามีสารสเตียรอยด์ ก็เลยหยุดรับประทาน หันไปรับประทานยาที่หมอโรงพยาบาลจ่ายแทน  แต่หลังๆ ก็มีคนรู้จักมาขายให้อีก เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม ฉลากก็คล้ายเดิม เพียงแต่ฉลากรูปรากไม้เป็นสีน้ำเงิน  คนขายบอกว่าสีนี้ไม่มีสารสเตียรอยด์ ท่านลองกินก็ได้ผล หายปวดเข่า ก็เลยทานมาเรื่อยๆพอยาหมดก็ฝากเขาซื้อ  บางครั้งก็ได้อีกชนิดที่ราคาแพงกว่า เป็นยาสมุนไพรไทยเหมือนเดิม แต่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีส้ม  ท่านเลยเอายามาให้ผมลองตรวจสอบ  ผลปรากฏว่าทั้งชนิดที่ฉลากเป็นรูปรากไม้สีน้ำเงิน และรากไม้สีส้ม ต่างก็พบสารสเตียรอยด์ทั้งหมด ฟังเรื่องของผู้สูวัยแต่ละท่านก็อดเป็นห่วงไม่ได้ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย แต่ผู้สูงวัยหลายท่านยังต้องเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อันตราย ที่สำคัญมันเป็นความเสี่ยงที่ท่านไม่ได้หามาเอง แต่เป็นความเสี่ยงที่มาพร้อมๆกับความกตัญญูจากลูกหลาน  ทราบอย่างนี้แล้ว ลูกหลานท่านใดจะดูแลบิดามารดา ก็ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้รอบคอบก่อนนะครับ ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่แน่ใจ อย่าให้ท่านรับประทานเลย เพราะอาจทำร้ายท่านโดย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าปลงศพ กรณีทำให้เขาตาย เรียกได้แค่ไหน

ในการเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหาย กรณีทำละเมิดจนถึงแก่ชีวิต หากเกิดเหตุมีคนในครอบครัว หรือญาติของเรามีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิต คนที่ทำละเมิดต้องรับผิดอะไร และเราหรือญาติของเราในฐานะผู้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หลังจากเกิดเหตุเสียชีวิต แน่นอนว่าก็ต้องมีการนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือประเพณีท้องถิ่น เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ซึ่งตามกฎหมาย เราเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่า “ค่าปลงศพ”  อันได้แก่ ค่าปลงศพ พอตายแล้วจะต้องมีหีบศพ ห่อศพ ฉีดยาป้องกันศพเน่า แต่งตัวให้ศพ แต่งชุดพิเศษหรือชุดที่ชอบ จ้างช่างตัดผมหรือหวีผมให้ หรือว่ากรณีร่างกายถูกรถชนแหลกเหลวจะต้องเย็บให้เข้าที่ ค่าจ้างหมอเย็บศพก็ถือว่าเป็นค่าปลงศพอย่างหนึ่ง ค่าพิธีการรดน้ำศพ สวดศพ ทำบุญอันจำเป็นตามประเพณี ค่าเช่าเมรุเผาศพ เป็นต้น ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ ตามกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะ คือทายาทผู้มีอำนาจจัดการศพ ตามมาตรา 1649 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    ดังนั้น ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ในการจัดการศพ แม้จะเป็นผู้จัดการศพ ก็เรียกค่าปลงศพไม่ได้ (  (ฎ.212-213/2525) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกก็เรียกค่าปลงศพได้ (ฏ. 14/2517 และที่ 1202/2549) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรค 1หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้นมิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไปเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)โจทก์ร่วมแม้จะเป็นมารดาของผู้ตาย แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นสิทธิโจทก์ร่วมก็ไม่ดีกว่าโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายได้ ค่าปลงศพใช่ว่าจะต้องจ่ายไปแล้วเท่านั้นถึงจะมาเรียกร้องได้ แม้ว่าจะเป็นค่าปลงศพที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น ทายาทยังไม่ปลงศพทันทีแต่อาจจะจัดการเบื้องต้นโดยเก็บศพไว้ก่อน แล้วค่อยทำ ซึ่งเช่นนี้สามารถเรียกค่าปลงศพในอานาคตได้ แต่กรณีนี้ต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดว่าจะจัดการศพในอนาคตอย่างไร ตามลัทธิประเพณีหรือไม่ ตามสมควรหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่  143/2521ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน เพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันทำละเมิดแล้วเมื่อเหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถทั้งสองฝ่าย และพฤติการณ์แห่งละเมิดมีความร้ายแรงพอๆ กันความเสียหายย่อมเป็นพับกันไปผู้ตายเนื่องจากการทำละเมิดเป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ โดยภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยจะยกเอาข้อที่ภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายมายกเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพผู้ตายก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องได้ถ้าผู้ทำละเมิดช่วยค่าทำศพโดยไม่ยอมรับผิดจะมีลักษณะเป็นการช่วยทำบุญอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าปลงศพที่เรียกว่าเป็นค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้จะมีบ่อยเวลาเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ฝ่ายเจ้าของรถยนต์ผู้ทำละเมิดจะไปเจรจากับฝ่ายผู้ตายเจรจาในช่วงแรกก็ยังไม่ยอมรับผิด ฝ่ายผู้ตายก็จะเรียกมาก ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอมให้อ้างว่าไม่ได้ประมาท ไม่ผิด แต่เพื่อบรรเทาความรู้สึกของฝ่ายผู้ตาย ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็จะมอบเงินให้บางส่วน เช่นช่วยไป 10,000 บาท แต่ไม่ได้รับผิดเป็นการบรรเทาความรู้สึก กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกว่าเป็นค่าปลงศพเพราะว่าจ่ายโดยไม่ได้รับผิด สมมุติต่อมาเขาฟ้องเรียกค่าปลงศพ 100,000 บาท จะไปบอกขอหักที่ช่วยไปแล้ว 10,000 บาท อย่างนี้หักไม่ได้เพราะเป็นการช่วยทำบุญไม่ใช่ช่วยจ่ายค่าปลงศพอันเป็นค่าสินไหมทดแทนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4367/2528เงินจำนวน 3,000 บาทที่จำเลยที่ 3 ช่วยค่าทำศพในขณะที่จำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับผิดว่าการตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของตน และมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นสำนึกในด้านศีลธรรมและเรื่องการบุญการกุศลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าทำศพที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่ได้สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่าแม้ผู้บริโภคจะมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพดังกล่าว ก็ต้องเรียกตามฐานะและตามสมควรนะครับ ไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องได้ตามอำเภอใจ หรือถือโอกาสจัดงานเสียใหญ่โตเกินฐานะ เพราะศาลจะพิจารณากำหนดให้ตามฐานะสมควรเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2506ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย นั้น จะต้องพิเคราะห์ตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ว่าถ้ามีการใช้จ่ายเงินทำศพตามประเพณีเป็นจำนวนเท่าใดแล้วผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ถูกเรียกเก็บภาษีที่สนามบิน

สำหรับใครที่มักซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับมาหลังจากไปเที่ยวต่างประเทศ ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน เพื่อป้องกันการถูกเรียกเก็บเสียภาษีจากของที่นำมาด้วยคุณปาริชาติซื้อขนมและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดตัวมาจากประเทศเกาหลีใต้ รวมมูลค่าประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเธอคิดไว้ว่าจะเก็บไว้รับประทานเองและแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องบางส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงสนามบินขาเข้า กลับถูกเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท ทั้งๆ ที่เธอทราบข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า หากของที่นำมาด้วยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร ทำให้คุณปาริชาติส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อสอบถามว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรมาให้ทางอีเมล์ และช่วยโทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนกรมศุลกากรที่เบอร์ 1164 ซึ่งได้รับการชี้แจงกลับมาว่า ขนมหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกรณีของคุณปาริชาติ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีลักษณะเป็นสิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์หรือทางการค้า ไม่ใช่ของติดตัวที่ทำให้ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี ทำให้ต้องชำระภาษีอากรปากระวางดังกล่าว ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับการชี้แจงก็เข้าใจและยินดียุติข้อร้องเรียนทั้งนี้สำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากร มีข้อกำหนดดังนี้ 1. ของใช้ส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เครื่องประดับ รองเท้า นาฬิกา ปากกา แว่นตา น้ำหอม เป็นต้น หรือของใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ (เห็นได้ชัดว่ามิใช่เพื่อการค้า) มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร ทั้งนี้ต้องมีเอกสารใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน แต่หากไม่มี เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามหลักฐานอื่นประกอบ อย่างไรก็ตามสำหรับของใช้ส่วนตัวดังต่อไปนี้จะต้องมีปริมาณไม่เกินที่กำหนด คือ 1. บุหรี่ ไม่เกิน 200 มวน หรือ ซิการ์และยาเส้น ไม่เกิน 250 กรัม 2. สุรา 1 ลิตร 2. ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ วีดีทัศน์ เครื่องโทรสาร ที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่อง จากการย้ายภูมิลำเนาและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ได้รับยกเว้นอากร แต่ก็จะต้องมาผ่านพิธีการศุลกากรที่ช่องตรวจสีแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบของ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ของหลุดจำนำ

หากเรามีเหตุจำเป็นที่ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำที่โรงรับจำนำ และไม่ต้องการให้ทรัพย์สินดังกล่าวหลุดจำนำ เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณสมพรนำสร้อยคอทองคำไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยมีการตกลงวันชำระดอกเบี้ยที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่กี่เดือน เธอก็ขาดส่งติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งภายหลังทางโรงรับจำนำก็ได้แจ้งมาว่าให้นำเงินมาไถ่ เพราะสร้อยคอดังกล่าวกำลังจะหลุดจำนำแล้ว ทำให้คุณสมพรไปกู้เงินมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปไถ่สร้อยคอของเธอ แต่เมื่อไปถึงที่โรงรับจำนำ กลับพบว่าไม่สามารถไถ่สร้อยคืนได้แล้ว จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติม ถึงวันและเวลาการขาดส่ง รวมถึงระยะเวลาการกลับไปไถ่สร้อยคอดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่สามารถจำวันและเวลาที่แน่นอนได้ ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำไว้ ดังนี้  มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1. ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2. ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3. ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศ ดังนั้นหากผู้ร้องไม่ได้ไปไถ่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้ 

อ่านเพิ่มเติม >