ฉบับที่ 192 เป้สำหรับวันทำงาน

เป็นโชคดี (หรือโชคร้าย) ของคนยุคนี้ที่สามารถทำงานได้ทุกที่ หลายคนมีคอมพิวเตอร์ติดตัวไปด้วยไม่ว่าจะไปสำนักงานหรือไปนั่งในร้านกาแฟที่เปิดเป็นพื้นที่ทำงาน กระเป๋าสำหรับสัมภาระรายวันเช่น ขวดน้ำ โน้ตบุ้ค และเสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นฉลาดซื้อฉบับนี้ภูมิใจเสนอผลทดสอบเป้สำหรับวันทำงานที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศร่วมกันทำไว้ ตลาดเป้เมืองไทยใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก เราจึงนำเสนอเป้ทั้ง 24 รุ่น ความจุระหว่าง 17 ถึง 35 ลิตร ที่ห้องปฏิบัติการ Strojírenský zkušební ústav, s.p. (SZU) ในสาธารณรัฐเชกได้ทำการทดสอบไว้การทดสอบแบ่งออกเป็นสองช่วงได้แก่ 1. ความพึงพอใจของอาสาสมัครที่ทดลองใช้งานโดยใส่ของทั้งแบบครึ่งและเต็มพื้นที่เป้ การปิด/เปิด หยิบโน้ตบุ้ค หยิบของขณะสะพาย และความกระชับเวลาเคลื่อนไหว 2. การทดสอบในห้องปฏิบัติการ* ที่เปรียบเทียบ- พื้นที่ใช้สอย - ความแข็งแรงทนทาน (เช่น หูหิ้ว สายสะพาย)- การกันน้ำ (ทั้งด้านบนและด้านล่างตัวกระเป๋า)- ความปลอดภัยต่อผู้ใช้ (ขอบ มุม หรือเหลี่ยมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และสีสะท้อนแสงที่ช่วยให้มองเห็นได้ง่าย เป็นต้น)- ช่องใส่โน้ตบุ๊ก (ทดสอบกับโน้ตบุ้คขนาด 15.6 นิ้ว ความหนา 2.5 เซนติเมตร โดยดูจากความกระชับ ความสะดวกในการนำอุปกรณ์เข้าออกจากกระเป๋า) - คุณภาพการประกอบ (เช่น ตะเข็บ ซิป ล็อค และหมุด)จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เป้ที่ได้คะแนนสูงสุด (82 คะแนน) ได้แก่ THE NORTH FACE รุ่น BOREALIS ขนาด 28 ลิตร ตามด้วย deuter รุ่น Giga 7309 Blueline Check ขนาด 20 ลิตร (80 คะแนน) และ OSPREY Flare ขนาด 22 ลิตร (76 คะแนน)เป้แต่ละรุ่นมีจุดแข็งแตกต่างกัน พลิกดูรายละเอียดได้ในหน้าถัดไปเพื่อหาใบที่เหมาะกับคุณที่สุดได้เลย*อัตราค่าทดสอบต่อหนึ่งตัวอย่างอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14,000 บาทเป้เหล่านี้ออกแบบมาให้เป็นมิตรต่อหลังของเราในระดับหนึ่ง แต่เราก็ต้องใช้มันให้ถูกวิธีด้วย เช่น ปรับสายสะพายให้กระชับเสมอ ไม่สะพายไหล่เดียว และไม่แบกน้ำหนักเกินกว่า 15% ของน้ำหนักตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ถูกคิดค่าไฟย้อนหลัง

คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเรื่องการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคิดค่าบริการย้อนหลัง 6 เดือนเป็นจำนวนเงิน 2,733 บาท แต่เมื่อเธออ่านรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจเกิดจากการตั้งค่าอ่านมาตรวัดไฟฟ้าผิดพลาด หรือการเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ของทางการไฟฟ้าเอง ซึ่งคุณสมใจสงสัยว่าทำไม เธอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำไมไม่เป็นเรื่องที่เกิดจากความบกพร่องของการไฟฟ้าเอง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ขอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบิลค่าไฟย้อนหลัง 6 เดือนที่ผู้ร้องชำระไปแล้ว และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าที่อยู่อาศัยของผู้ร้องจัดอยู่ในประเภท 1115 หรือ บ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก โดยมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเหตุใดจึงต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ภายหลังทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ให้ที่บ้านของผู้ร้องจริง เนื่องจากมิเตอร์เดิมเกิดการเสื่อม จากอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการชำรุดและหมุนผิดปกติ โดยหลังการเปลี่ยนมิเตอร์ก็ได้แจ้งให้ทางบ้านของผู้ร้องรับทราบไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยการแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เมื่อผู้ร้องได้รับคำชี้แจงดังกล่าว ทางผู้ร้องยินดีชำระค่าบริการย้อนหลัง และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เอาอะไหล่เดิมคืนมา

คงไม่มีใครคาดคิดว่าการนำรถยนต์จอดทิ้งไว้ที่ศูนย์บริการเพื่อซ่อมแซมแล้วจะโดนเปลี่ยนอะไหล่ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราควรจัดการปัญหานี้อย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจนำรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบสภาพรถและทำสีใหม่ โดยก่อนตกลงซ่อมได้มีการถ่ายรูปรอยขีดข่วนรอบคันไว้ด้วย พร้อมทำใบประเมินราคาส่งให้กับประกันภัย และทางศูนย์ฯ ได้นัดให้มาทำสีรถในสัปดาห์ถัดไป เมื่อถึงวันนัด ศูนย์ฯ แจ้งว่าสัปดาห์นี้คนคุมราคายังไม่เข้ามาทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำสีรถในวันที่นัดกันไว้ได้ และบอกต่อว่า “หากคุณสมใจไม่ได้ใช้รถในช่วงนี้ก็สามารถจอดทิ้งไว้ที่ศูนย์ฯ ก่อนได้ น่าจะได้ทำสีภายในอาทิตย์ถัดไป” ด้านคุณสมใจเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จึงตกลงตามข้อเสนอดังกล่าวเมื่อถึงวันนัดครั้งที่ 2 หลังคุณสมใจได้พูดคุยกับฝ่ายประเมินราคาแล้วพบว่า เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมและทำสีจำนวนมาก ทำให้เธอตัดสินใจยกเลิกการซ่อมทั้งหมดและขอรับรถคืน อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณสมใจสังเกตว่าพวงมาลัยรถไม่เหมือนเดิม และเมื่อตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าถูกเปลี่ยนหลายรายการ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ศูนย์ฯ ว่ามีการเปลี่ยนอะไหล่ให้กับรถเธอหรือไม่ แต่ได้รับการปฏิเสธและเกิดการโต้เถียงกัน เนื่องจากเธอไม่เชื่อว่าอุปกรณ์ทั้งหมดคืออะไหล่เดิม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมใจจึงไปแจ้งความ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารการตรวจสภาพรถตั้งแต่ครั้งแรกที่นำรถเข้าศูนย์ฯ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือมีความเสียหายใดเกิดขึ้นหรือไม่ พร้อมนัดให้มีการพูดคุยเจรจากับทางบริษัทรถยนต์ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทเองโดยตรง โดยบริษัทปฏิเสธการเจรจา เพียงแค่ส่งเอกสารการตรวจสอบรถยนต์คันกล่าวมาให้ โดยยืนยันว่าหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์มีรหัสตรงกัน และชี้แจงว่าบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าวจริง ไม่มีการสับเปลี่ยนอะไหล่ตามที่ผู้ร้องแจ้งแต่อย่างใด ทั้งนี้ภายหลังการฟ้องร้องคดีก็พบว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการสับเปลี่ยนอะไหล่จริงสำหรับผู้ที่กำลังจะนำรถเข้าศูนย์ฯ ซ่อมหรือตรวจสภาพ ควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เช่น ใบรับรถ ระยะไมล์หรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ดี ซึ่งอาจถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ได้ ทั้งนี้หากพบว่าศูนย์ฯ ไม่สามารถตรวจสอบหรือซ่อมภายในระยะเวลาที่เราต้องการได้ เราสามารถเลือกไปศูนย์บริการอื่นแทนได้ทันที นอกจากนี้หากซ่อมเสร็จแล้วควรตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อนออกจากศูนย์บริการแห่งนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 คนใช้สิทธิยอดเยี่ยม’59 “สิทธิของเรา เราใช้ได้ เราทำได้”

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปรู้จักคนใช้สิทธิยอดเยี่ยมประจำปี 2559 ซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดให้มีการมอบรางวัล “ คนใช้สิทธิยอดเยี่ยม” ขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้บริโภคที่เห็นความสำคัญในสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะผู้บริโภค และมีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิ ดำเนินการร้องเรียน ต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรม อีกทั้งคอยติดตามแก้ไขปัญหาของตนเองเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในภาพรวม ซึ่งเรานำมาให้ทุกท่านรู้จักเรียงตามลำดับดังนี้1.เจตนิพิฐ สุขกัลยาเจตนิพิฐ สุขกัลยา ผู้บริโภคที่ใช้สิทธิร้องเรียนโรงพยาบาลเพื่อคืนสิทธิบัตรทองให้ญาติชาวจีนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี ผลจากการใช้สิทธิในครั้งนี้ทำให้คนต่างด้าวเชื้อสายจีนที่มาอยู่ในจังหวัดปัตตานีอีกหลายคนได้รับผลการคืนสิทธิด้วยนางเจตนิพิฐ สุขกัลยา อายุ 37 ปี ได้ช่วยเหลือนายเซี๊ยะทง แซ่อั้ง ซึ่งมีศีกดิ์เป็นลุง นายเซี๊ยะทงถือสัญชาติจีนและเชื้อชาติจีนโดยกำเนิด มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างยาวนาน จนได้รับสัญชาติไทยมีเลขประจำตัวประชาชน นายเซี๊ยะทงมีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ ไต ต่อมลูกหมากโต รักษาตัวและใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลปัตตานี จนกระทั่ง วันที่ 27 ตุลาคม 2557 ได้ไปรับยาต่อมลูกหมากโตตามหมอนัดและญาติได้พาคนป่วยไปให้หมอดูแผลเบาหวาน เมื่อเข้าพบหมอเพื่อรับยาต่อมลูกหมากโต หมอได้ยื่นใบสั่งยาให้ หลังจากได้ดูใบสั่งยา เจตนิพิฐ สังเกตว่าสิทธิรักษาพยาบาลถูกเปลี่ยนสิทธิบัตรทองผู้สูงอายุ เป็นแบบต้องจ่ายเงินเอง จึงสอบถามเจ้าหน้าที่และไปติดต่อห้องสิทธิ (แต่คนป่วยได้พบหมอเรื่องแผลเบาหวาน หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาล และให้ไปรับยาของโรคต่อมลูกหมากก่อน)เมื่อติดต่อเรื่องสิทธิกับห้องสิทธิของโรงพยาบาล ทางห้องสิทธิแจ้งว่า คนป่วยเป็นต่างด้าว ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ต้องจ่ายเงินรักษาพยาบาล เธอจึงได้ถามว่าจะทำยังไงเพราะคนป่วยเป็นผู้สูงอายุไม่มีรายได้จะให้จ่ายเงินแบบนี้ทุกเดือนและรอบนี้ต้องนอนโรงพยาบาลด้วย จะมีค่าใช้จ่ายสูง ห้องสิทธิเสนอให้ซื้อแบบรักษาพยาบาลของคนต่างด้าว คนละ 2,800 บาท แต่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องไม่มีโรคประจำตัว และต้องมาตรวจร่างกาย ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถซื้อสิทธิคนต่างด้าวได้ต่อมาเธอจึงได้โทรไปปรึกษาเรื่องนี้กับคุณกัลยา เอี่ยวสกุล ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและศูนย์ 50(5) จ.ปัตตานี โดยเล่าประวัติคนป่วยและสอบถามว่าผู้ป่วยหากไม่มีบัตรประชาชนแต่ถ้ามีเลข13 หลักในทะเบียนบ้านแล้วจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองอีกได้หรือไม่ คุณกัลยาจึงประสานไปที่กระทรวงสาธารณสุขจนทราบว่าคนป่วยมีสิทธิใช้สิทธิ์บัตรทองได้ จึงติดต่อกลับมาที่เธออีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นเจตนิพิฐ จึงนำหลักฐานของคนป่วยที่มีเลข 13 หลักลงไปห้องสิทธิโรงพยาบาล เพื่อเขียนคำร้องการขอใช้สิทธิ เธอได้โทรศัพท์สอบถามกับกระทรวงฯ ถึงข้อเท็จจริงอีกรอบ เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ได้อธิบายขั้นตอนการขอคืนสิทธิบัตรทองของคนป่วยกลับมาให้ใช้ได้เหมือนเดิมและกำชับให้เอาหลักฐานของผู้ป่วยไปยื่นที่ห้องสิทธิ หากมีปัญหาให้ทางห้องสิทธิโทรกลับมาที่กระทรวงฯ จากนั้นเธอจึงนำเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่กระทรวงบอกทุกอย่าง ไปยื่นที่ห้องสิทธิของโรงพยาบาลปัตตานี แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ห้องสิทธิ จึงให้เจ้าหน้าที่ห้องสิทธิคุยสายตรงกับกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าทางกระทรวงฯ ได้ชี้แจงเรื่องสิทธิของคนป่วยให้ห้องสิทธิฟัง ทางห้องสิทธิจึงยอมทำเรื่องคืนสิทธบัตรทองให้กับนายเซี๊ยะทงผลจากการคืนสิทธิให้นายเซี๊ยะทง แซ่อั้ง ครั้งนี้ ทำให้คนต่างด้าวเชื้อสายจีนที่มาอยู่ในจังหวัดปัตตานีอีกกว่าร้อยคนได้รับผลการคืนสิทธิด้วยทำไมจึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิที่ผ่านมาลุงรับการรักษาด้วยระบบบัตรทองมาตลอด ซึ่งสามารถช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลไปได้เยอะ แต่ภายหลังกลับถูกเปลี่ยนสิทธิกะทันหัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองจำนวนมาก จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเสียสิทธิที่ควรจะได้รับ และเชื่อว่าต้องมีอีกหลายคนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาอาจไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นเราจึงลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการร้องเรียนปัญหาและอุปสรรคในการใช้สิทธิร้องเรียนปัญหาหลักที่พบคือ การสื่อสารของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าสิทธิบัตรทองสามารถใช้กับใครได้บ้าง นอกจากนี้เมื่อสอบถามข้อมูลมากๆ ก็ดูเหมือนว่า ไม่ทราบรายละเอียดและไม่ค่อยเต็มใจช่วยเหลืออยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่างไรอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา คนไทย เป็นคนง่ายๆ พอโมโหก็อยากจะใช้สิทธิ พอหายโมโห ก็คิดว่าอย่าไปทำอะไรเขาเลย สงสารเขา สงสารหน่วยงาน ตอนนี้พี่ก็เหมือนกระบอกเสียงนะ กระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิของตัวเองให้เต็มที่ สิทธิของเรา เราใช้ได้ เราทำได้ แต่กังวลว่าบางคนเขาอาจไม่รู้แนวทาง ซึ่งหากเราไม่รู้จักกับศูนย์ประสานงานคุ้มครองผู้บริโภคก็คงไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรเช่นกัน จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรทอง ให้ชาวบ้านได้รับทราบมากขึ้น2.สมคิด โพธิ์จินดาผู้บริโภคที่ลุกขึ้นต่อสู้เรื่องการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ โดยขอยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ผ่านสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นายสมคิด โพธิ์จินดา เป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนมและเป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าเพื่อตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ วันหนึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์นั้น ปริมาณน้ำนมที่รีดได้ในแต่ละวันลดลงจากเดิมก่อนที่มีการตั้งเสา และวัวก็เป็นหมันแม้ว่าจะผสมกับวัวสาวก็ตาม จะไม่ติดลูกหรือถ้าติด ลูกที่ออกมาก็จะขาลีบ ส่วนสุขภาพของตนเองจะเป็นโรคความจำสั้น หงุดหงิดง่าย และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ต่อมาในเดือนตุลาคม 2557 เขาได้ดำเนินการขอยกเลิกสัญญาเช่าฉบับใหม่ไปก่อนถึงวันสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ เนื่องจากไม่ประสงค์ทำสัญญาเช่าต่อไปด้วยเหตุผลด้านการประกอบธุรกิจส่วนตัวและสุขภาพ ทั้งนี้บริษัทผู้เช่ารับทราบพร้อมดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 แต่เวลาผ่านไปจนถึงประมาณปลายปี 2559 ก็ยังคงเพิกเฉย และไม่ดำเนินการรื้อถอนอุปกรณ์ของบริษัทออกจากพื้นที่ แต่กลับมาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งนายสมคิด ได้บอกกล่าวให้บริษัทดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้ในเวลาอันเหมาะสมแล้ว แต่บริษัทไม่ดำเนินการ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้มาร้องเรียนกับสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว โดยมอบอำนาจให้สมาคมคุ้มครองสิทธิฯ รับผิดชอบดำเนินการประสานงานฯ แทนตนต่อมาทางสมาคมฯ จึงได้มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินการเรียกร้องสิทธิและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตั้งเสาส่งสัญญาณฯ ดังกล่าวในประเด็นดังนี้1.ขอให้บริษัท ดำเนินการรื้อถอนเสาส่งสัญญาณฯ ดังกล่าวภายใน 15 วันนับจาก (กสทช.)ได้รับหนังสือฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่เป็นธรรม2.ขอให้ กสทช. ตรวจสอบการติดตั้งเสาส่งสัญญาณว่าเป็นไปตามประกาศ กสทช. หรือไม่ หากพบการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามประกาศ ฯ ขอให้ระงับการส่งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ทันทีจนกว่าจะพิสูจน์ถูกผิด 3.ขอให้บริษัท ชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขอเช่าพื้นที่ติดตั้งเสาส่งสัญญาณ โดยไม่ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย,จิตใจ และผลกระทบต่ออาชีพ (ฟาร์มเลี้ยงวัวนม) อ้างอิงจาก งานวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย อ.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ และสถิติจาก ศูนย์สหกรณ์ไทย-เดนมาร์คประจวบคีรีขันธ์ จำกัดนายสมคิด มีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอจนในที่สุดบริษัทแก้ไขปัญหาโดยการถอนเสาออกจากพื้นที่ กระทั่งถึงขั้นตอนต้องฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจึงเกิดความคิดได้ว่า “ประเด็นนี้หนทางชนะน้อยนิดเหลือเกินเพราะมันเกิดขึ้นในประเทศไทย” ตนเองจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชุมชนด้วยการเป็นวิทยากรในเวทีต่างๆ เพราะเชื่อว่า หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ดูแลสิทธิของตนเองและช่วยเหลือแบ่งปันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด…จากตัวอย่างดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาเรื่อง “เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์” เป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งหน่วยงานที่ไม่ร่วมแก้ไขอย่างที่ควรเป็นและข้อมูลที่ผ่านมาของประเทศไทยไม่พบการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม จึงนำมาสู่เวที “รับฟังความคิดเห็นสื่อสาธารณะกลุ่มประเด็นผู้บริโภคและสภาผู้บริโภคเพื่อการขับเคลื่อนให้องค์กรสื่อสาธารณะ กสทช. และเครือข่ายผู้บริโภค ต่อการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่”ทำไมจึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิ พบว่าวัวนมที่เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เช่น ดวงตาเป็นมะเร็งหรือผสมพันธุ์ไม่ติดจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำนมขาย โดยปกติจะผลิตได้ 700-800 กก. แต่ภายหลังกลับได้น้ำนมไม่ถึง 100 กก. ทำให้รายได้ลดลงจำนวนมาก นอกจากนี้สุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนรวมทั้งตนเองแย่ลงมากผิดปกติอีกด้วยปัญหาและอุปสรรคในการใช้สิทธิร้องเรียนคิดว่าหากเราไม่รู้จักกับทางสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาดังกล่าวคงไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัท แต่ก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านธรรมดาอย่างเรา ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทเลยอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่างไรอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา และอยากให้มีการรณรงค์เรื่องการตั้งเสาสัญญาณ โดยให้รายละเอียดถึงข้อดีและข้อดีอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนตามหมู่บ้านได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง3.นิตญา วงศ์หลี ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเพื่อให้ญาติได้รับเกิดการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม กรณีอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะไฟไหม้นางสาวนิตญา วงศ์หลี เป็นหลานสาวของนางสาวสุภาศินี วงศ์หลี ผู้ประสบอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะรถบัสบริษัทตรังร่วมมิตร เส้นทางภูเก็ต-สตูลไฟไหม้ เพราะคนขับรถหยุดเชื่อมเก้าอี้ของตัวเองโดยที่ไม่แจ้งให้ผู้โดยสารลงจากรถ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายรายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นางสาวสุภาศินี วงศ์หลี ได้รับการบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง อาการสาหัสจากการไฟไหม้อย่างรุนแรงทำให้มีแผลไฟไหม้บริเวณ แขน ลำตัว และใบหน้า จนทำให้มือข้างซ้ายไม่สามารถใช้การได้ ปอด ทางเดินหายใจและเส้นเสียงต้องผ่าตัดเจาะคอเพื่อเป็นช่องทางช่วยหายใจทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้และเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิและลงพื้นที่ไปกับผู้เสียหายในการเรียกร้องสิทธิ เบื้องต้นผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาจากพรบ.ภาคบังคับและประกันภาคสมัครใจเป็นจำนวนเงิน 704,000 บาทและได้ติดต่อศูนย์ทนายความอาสา ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเหลือดำเนินการฟ้องร้องบริษัทตรังร่วมมิตร ที่ศาลจังหวัดพังงา เรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 2,286,212 บาทโดยก่อนฟ้องคดีนิตญา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่ ได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งแพทย์ ตำรวจ บริษัทประกัน บริษัทผู้ก่อเหตุเพื่อเจรจา และดำเนินการเตรียมเอกสารด้านต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่ายอุบัติเหตุ ภาพถ่ายผู้เสียหาย และจัดทำรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยเหลือในทุกขั้นตอนเพื่อเตรียมฟ้องคดีต่อศาล ในการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ครั้งที่ 1 บริษัทตรังร่วมมิตรเสนอให้ 200,000 บาท นิตยา และผู้เสียหายพิจารณาเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยและไม่เพียงพอต่อการชดเชยเยียวยาจึงไม่ตกลงและศาลได้นัดสืบคดีต่อมา วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ในวันนัดสืบคดี ทนายของบริษัทตรังร่วมมิตรยื่นข้อเสนอขอเจรจา โดยเสนอเงินจำนวน 500,000 บาท ทางนางสาวนิตยา วงษ์หลี และโจทก์ผู้เสียหายได้พิจารณาเสนอที่ 600,000 บาท ทางทนายและตัวแทนบริษัทตรังร่วมมิตรต่อรองโดยให้ทางบริษัทจ่าย 500,000 บาท และทางจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถคันเกิดเหตุ รับผิดชอบเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผ่อนจ่ายเดือนละ 1,500 บาท โดยสรุป ในคดีนี้ ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,304,000 บาท ( หนึ่งล้านสามแสนสี่พันบาทถ้วน)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสต่างแดน

เป็นขยะแล้วไงระหว่างปี 2553 ถึงปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63 เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้นและมีความ “จำเป็น” ต้องใช้เพิ่มขึ้นด้วยปริมาณขยะใน 12 ประเทศที่สำรวจ รวมกันแล้วมีถึง 12.3 ล้านตัน (หนักกว่ามหาพีระมิดกีซา 2.4 เท่า)การสำรวจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคนี้เพิ่มเร็วกว่าจำนวนประชากร ตัวเลขในปี 2558 ระบุว่าฮ่องกงมีปริมาณขยะต่อประชากร 21.7 กิโลกรัมต่อปีซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อหัวต่ำสุดในกลุ่มที่ 1.35 กิโลกรัมญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีความก้าวหน้าในการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ในขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ก็มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐบาล ส่วนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วเหลือแต่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย ที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อรับมือกับขยะในยุคดิจิทัลเลยที่นี่ไม่มีวินDego Ride บริการเรียกพี่วินผ่านแอปที่เปิดให้บริการในมาเลเซียมาแล้ว 3 เดือน ต้องหยุดดำเนินการทันทีตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม เพราะกำลังฝ่าฝืน พ.ร.บ.ขนส่งทางบกมาตรา 23 ที่ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์รับส่งผู้โดยสาร และบริษัทก็ประกอบกิจการขนส่งโดยไม่มีใบอนุญาตแม้จะทันสมัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย แต่กระทรวงฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายมารองรับ(เหมือนอย่างในกรณีแท็กซี่ของ UBER หรือ Grab) เพราะบริการพี่วินนั้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นแม้ Dego Ride จะอ้างว่ายังไม่มีอุบัติเหตุเลยตั้แต่ให้บริการมา แต่สถิติในภาพรวมยืนยันว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่บนท้องถนนมาเลเซียเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาก็มีมากกว่าร้อยละ 60ลมหายใจลูกค้าที่ซื้อเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดของบรีโธมิเตอร์ (Breathometer) ในระหว่างปี 2556 – 2558 เตรียมไปขอรับเงินคืนได้เลยอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อวัดระดับความมึนเมา “ด้วยมาตรฐานเดียวกับที่ตำรวจใช้” และสามารถเรียกแท็กซี่มารับได้ด้วยนี้มีกระแสตอบรับดีมาก สตาร์ทอัปเจ้านี้ทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเหรียญ (175 ล้านบาท) จากอุปกรณ์รุ่น Original (1,700 บาท) และรุ่น Breeze (3,500 บาท)แต่คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจได้ตรวจสอบประสิทธิภาพแล้วพบว่า อุปกรณ์นี้วัดค่าออกมาต่ำเกินจริง แถมความชื้นและอุณหภูมิยังมีผลต่อการทำงานของเครื่องด้วยบริษัทจึงถูกสั่งให้เก็บสินค้าและถอนแอปออกจากร้าน เขาบอกว่าจะเลิกเอาดีทางด้านนี้แล้วไปทุ่มให้บริการด้านสุขภาพแทน ... เอ่อ คราวหน้าต้องไม่พลาดนะ คิดผิดคิดใหม่ EE ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2.7 ล้านปอนด์ (117.2 ล้านบาท) เพราะคิดค่าโทรศัพท์แพงเกินจริงลูกค้าของ EE ที่ใช้บริการโรมมิ่งขณะเดินทางในยุโรป ถูกเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 49 บาท (ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการโทรจากอเมริกา) แทนที่จะเป็น 8 บาทตามจริง เมื่อพวกเขาโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม (Ofcom) มีคำสั่งให้บริษัทคืนเงินส่วนต่างให้กับลูกค้า แต่จนถึงตอนนี้บริษัทสามารถระบุตัวและคืนเงินให้ลูกค้าได้เพียง 6,905 ราย จากผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 32,145 รายว่าแล้วก็บริจาคเงินส่วนที่หาเจ้าของไม่ได้ 62,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) ให้กับองค์กรการกุศลไป แต่ Ofcom ยังยืนยันว่าบริษัทต้องตามหาลูกค้ากลุ่มนี้มารับเงินคืนต่อไป ยังปิดจ๊อบไม่ได้นะจ๊ะขอทวนคำถามการเดินทางเข้าเมืองซิดนีย์จะต้องรวดเร็ว ราบรื่นและสะดวกสบายกว่าเดิมด้วยรถไฟไต้ดินสายใหม่ช่วงซิดแนมและแบงคส์ทาวน์ นี่คือโปรเจค 20,000 ล้านเหรียญ(ประมาณ 536,000 ล้านบาท) จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ซิดนีย์เมโทรจะเพิ่มจำนวนรถไฟเข้าเมืองจาก 120 เป็น 200 ขบวนในชั่วโมงเร่งด่วน มีการดูแลความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และมีพื้นที่จอดรถมากขึ้น ระหว่างการก่อสร้างที่ต้องปิดสถานีตามเส้นทางรถไฟสายเก่าเพื่อปรับปรุงให้เป็นสถานีใต้ดิน เขาจะจัดรถรับส่งให้ได้รับความสะดวกโดยทั่วกันผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัยตามแนวเส้นทาง 66 กิโลเมตร (กลุ่มตัวอย่าง 2,800 คน) ได้ข้อสรุปว่า “ใครๆ ก็ชอบ” กลุ่มผู้คัดค้านจึงสงสัยว่าผู้สำรวจให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวหรือไม่ไม่มีใครบอกพวกเขาเลยว่าจำนวนที่นั่งบนรถแต่ละขบวนจะลดลงจาก 896 เหลือเพียง 378 ทางออกไปยังสถานที่หรือถนนสำคัญในตัวเมืองจะหายไป ยังไม่นับเรื่องการรื้อถอนอาคารบ้านเรือน แต่สำคัญที่สุดคือการทำรถใต้ดิน “ทับ” เส้นทางรถไฟเดิมด้วยเงินมหาศาลจากภาษีของทุกคนมันเหมาะสมแล้วหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 25601 เม.ย.ทำฟันประกันสังคมกับ รพ.รัฐไม่ต้องสำรองจ่าย 1 เมษายน 2560 นี้ ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม สามารถเข้ารับบริการด้านทันตกรรมที่โรงพยาบาลรัฐ ทั้งโรงพยาบาลสังกัด สธ., สังกัดกระทรวงกลาโหม, สังกัดกทม. และ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ตามสิทธิ 900 บาท โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่วางกำหนดไว้วันที่ 1 ก.พ. เพื่อให้สถานพยาบาลแต่ละแห่งได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่เข้าร่วมแล้วกว่า 530 แห่ง และคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเพิ่มเป็น 800 แห่ง ทั้งนี้ก่อนรับบริการให้สังเกต “สติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม” ที่จะติดไว้ที่คลินิกที่ร่วมโครงการ ซึ่งสามารถรับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายผู้ประกันตนที่พบปัญหาจากใช้บริการหรือพบคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีสติกเกอร์สัญลักษณ์ประกันสังคม แต่ยังมีการเรียกเก็บเงิน สามารถโทร.แจ้งเอาผิดได้ที่สวยด่วน สปส. โทร. 1506 คิดดอกเบี้ยเงินกู้โหด เจอโทษตามกฎหมายจากนี้ไปลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยโหดอีกแล้ว เพราะล่าสุดได้มีการออกพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กำหนดให้ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดโทษไว้ว่าจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 พันบาทนอกจากนี้ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีการระบุว่า ห้ามกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอันตราที่กฎหมายกำหนด หรือมีการระบุว่าจะเรียกรับประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรือโดยวิธการอื่นใด จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินเส้นก๋วยเตี๋ยวใช้สารกันบูดน้อยลง แต่ยังเจอเกินค่ามาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ได้ร่วมดำเนินงานภายใต้โครงการก๋วยเตี๋ยวอนามัย โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือการควบคุมเรื่องการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียโดยมีการสุ่มตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียในเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 จากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 370 ตัวอย่าง ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนด 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 19.2 โดยพบกรดเบนโซอิค ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 10.6 - 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในเส้นก๋วยจั๊บ เส้นใหญ่ และเส้นผัดไทชนิดแห้ง ซึ่งค่ามาตรฐานที่อนุญาตให้พบคือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนกรดซอร์บิค พบประมาณร้อยละ 3.1 ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 102 - 414 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2550 พบว่า จำนวนตัวอย่างที่ตรวจพบการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจาก ร้อยละ 36 เหลือเพียง ร้อยละ 19.2 และปริมาณวัตถุกันเสียที่ตรวจพบสูงสุดลดลงจาก 17,250 เหลือเพียง 3,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังเกินกว่าค่ามาตรฐาน“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ชื่อนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เตรียมเปลี่ยนชื่อโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ เป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” เพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น แก้ปัญหาความเข้าใจผิด ของทั้งผู้ป่วย ญาติ และสถานพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเรื่องสถานพยาบาลเรียกเก็บเงินจากการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจำนวนไม่น้อยโดยการใช้คำว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า หมายถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับสีแดง ซึ่งสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ทุกสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วง 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งหลักการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงที่ กพฉ. กำหนด แบ่งเป็น 25 กลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ปวดท้องบริเวณหลัง เชิงกราน และขาหนีบ 2.แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สัตว์ต่อย แอนาฟิแล็กซิส ปฏิกิริยาภูมิแพ้ 3.สัตว์กัด 4.เลือดออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ 5.หายใจลำบาก หายใจติดขัด 6.หัวใจหยุดเต้น 7.เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ มีปัญหาทางด้านหัวใจ 8.สำลัก อุดกั้นทางเดินหายใจ 9.เบาหวาน 10.ภาวะฉุกเฉินเหตุสิ่งแวดล้อม11.ปวดศีรษะ ภาวะผิดปกติทางตา หู คอ จมูก 12.คลุ้มคลั่ง ภาวะทางจิตประสาท อารมณ์ 13.พิษ รับยาเกินขนาด 14.มีครรภ์ คลอด นรีเวช 15.ชัก มีสัญญาณบอกเหตุการชัก 16.ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุจำเพาะ 17.อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความรู้สึก ยืนหรือเดินไม่ได้เฉียบพลัน 18.ไม่รู้สติ ไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 19.เด็ก กุมารเวช 20.ถูกทำร้าย 21.ไหม้ ลวกเหตุความร้อน สารเคมี ไฟฟ้าช็อต 22.ตกน้ำ จมน้ำ บาดเจ็บทางน้ำ 23.พลัดตกหกล้ม อุบัติเหตุ เจ็บปวด 24.อุบัติเหตุยานยนต์ และ 25.อื่นๆ หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669ชัดเจน!!! ห้ามใช้ “โคลิสติน” ในฟาร์มสัตว์หลังจากมีข่าวว่ามีการตรวจพบฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายจังหวัดมีการใช้ยา “โคลิสติน” (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เพราะทำให้เกิดการดื้อยาทั้งในคนและสัตว์เรื่องดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลกับผู้บริโภคไม่น้อย กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่จัดการดูแลปัญหานี้โดยตรงก็ไม่รอช้าเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ด้วยความรวดเร็ว โดยได้ออกคำสั่ง “เรื่อง การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยเนื้อหาสำคัญในประกาศ คือการสั่งห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องคัดกรองและตรวจสอบอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงสัตว์จะต้องไม่มียาโคลิสตินผสมอยู่ โดยให้มีการเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะแต่ก็ยังผ่อนปรนให้สามารถใช้ยาโคลิสตินได้ ในกรณีที่สัตว์ป่วยแล้วไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใดใช้แล้วได้ผล“ยาโคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวะที่นิยมใช้รักษาหมูท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรีย “อี.โคไล” แต่เมื่อปีที่แล้วมีข่าวว่าจีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-วัน” ที่สามารถส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาสู่คน และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย ขณะนี้มีรายงานการพบยีนดื้อยาตัวนี้ในมนุษย์ หมู และไก่ ช่วงปี 2010–2015 จำนวนทั้งสิ้น 16 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >