ฉบับที่ 191 ฉลาดใช้ชีวิต แบบวีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา

ฉลาดซื้อฉบับแรกของศักราชใหม่ พาไปสัมผัสมุมมองจากคนฉลาดซื้อ ที่ไม่ได้สมาร์ทเพียงแค่ตนเอง แต่ยังมองไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิกเฉยกับการถูกละเมิดสิทธิ“เราคิดว่าเวลาเราซื้อของ ถ้าของแพงต้องเป็นของดี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ของไม่ดีแต่ราคาแพงเวลาเราซื้อมาก็จะรู้สึกเจ็บใจ ทำไมเราเสียค่าโง่กับของไม่ดีแล้วยังราคาแพงอีก เหมือนซื้อของปลอมเพราะเราคิดว่ามันคือของจริง พอเรารู้ว่าปลอมมันก็เสียความรู้สึก  แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อของปลอมแล้วเราได้ของดีมาใช้ผมมองว่า มันก็โอนะ ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคผมมองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าสมมติเราไม่อยากส่งเสริมการใช้ของปลอมและต้องการสนับสนุนคนที่ทำของจริง  นั่นหมายความว่าเราต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเราซื้อของจากร้านที่เราเชื่อถือได้ แต่ถ้าเราได้ของปลอมมามันน่าจะต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองเรา เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ก็เป็นการฉลาดบริโภค เพราะเรารู้ทันในเรื่องของราคา สิ่งสำคัญเวลาที่เราจะซื้อ อย่างตัวผมเองไม่ได้แพ้(สารเคมี) อะไรเวลาซื้อก็ไม่ต้องระวัง แต่สำหรับคนที่แพ้เคยพบว่า ตัวเองเคยแพ้อะไรมาบ้างอย่างน้อยสาระสำคัญเหล่านั้น จะต้องสามารถมาตรวจสอบกับสินค้าที่เราจะซื้อว่าไม่มีสารที่เราแพ้จริง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ้าผู้บริโภคมีความรู้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ผมยกตัวอย่าง เช่น มีคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อาหารทะเลแล้วก็ไปบริโภคอะไรที่เราไม่รู้ว่าเขาใส่สิ่งที่เราแพ้ลงไปด้วยจนกระทั่งมันเกิดอาการแพ้กับเรา ถามว่า สิทธิผู้บริโภคเองกับเรื่องพวกนี้ เขาควรจะทราบก่อนไหม กรณีฉลาดบริโภคก็คือ เราได้ของดีในราคาที่เราพอใจ ราคาไม่เอาเปรียบเราแล้วเราก็ได้รับสิทธิในการคุ้มครองจากการที่เราได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้านั้น ซึ่งอาจจะผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) หรือ สคบ. ก็แล้วแต่กรณี ถ้าผ่าน มพบ. ผมมองว่าข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง คือการกัดไม่ปล่อย การติดตาม ถ้าทาง สคบ. ก็ดีในแง่ที่ว่าการเยียวยาและกลไกทางศาล ก็จะมีข้อดีไม่ดีต่างกันนิดหน่อย นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบพิสูจน์แล้วพบว่า ร้านนี้ขายสินค้าที่ติดเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าติดเครื่องหมายปลอม ก็จะมีกฎหมายในการเล่นงานร้านค้าว่า คุณจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะมีช่องทางกฎหมายของเขาอยู่ นี่คือสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคควรทำ อย่ามองว่าไม่เป็นไรเป็นความโชคร้ายและเราก็เพิกเฉย มันก็จะเกิดผู้เสียหายรายใหม่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมก็ยังมีความสุขในการขายของคุณภาพต่ำ เป็นการเอาเปรียบคนอื่นต่อไป ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปสนับสนุนเขาแบบนั้น ถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแล เรียกว่าช่วยซึ่งกันและกัน เราก็จะมีแต่สินค้าที่มีคุณภาพในบ้านเรา และกำจัดพวกผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมนั้นให้หมดจากวงการ เราจะได้อยู่ในประเทศที่มีทั้งฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ฉลาดใช้แล้วก็ยังได้รับการคุ้มครองด้วย นี่คือสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ในแบบดร.วีระพันธ์คือ ส่วนตัวผมไม่ขับรถ ความคิดที่ไม่ใช้รถส่วนตัวเพราะคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งรถรับจ้าง รถสาธารณะ ถ้าเราไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบหนักๆ การเดินทางโดยรถสาธารณะมันทำให้ชีวิตในการเดินทางของเราดีที่สุด ถ้าการจราจรติดขัดเราก็มีรถไฟฟ้า มีรถใต้ดิน มีมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่เรือ ทุกครั้งเวลาเดินทางต้องถามว่าเราเดินทางไปไหน เวลาไหน ผมก็จะรู้ว่าจะต้องนั่งรถอะไร ขึ้นทางด่วนไหม ต้องต่อรถหรืออะไรก็ว่ากันไป มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีความคล่องตัวดี เพราฉะนั้นผมจึงมองว่าถ้าใช้ชีวิตในเมืองเป็นส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ มองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ผมนึกถึง คือ การที่เราไม่มีรถ 1 คันหรือคิดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ปริมาณถนนที่อยู่ในเมืองมันจำกัดแต่ปริมาณรถนั้นมันเพิ่มขึ้น จุดที่เราเรียกว่า จุดอิ่มตัว ก็เป็นปริมาณรถยนต์ต่อเวลานั้นๆ ใน 1 วันมันได้สูงสุดเท่าไร ยิ่งมันเกินตรงนั้นมากเท่าไร การติดขัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ไปเพิ่มจำนวนตรงนั้นอีก 1 คันนั้น ก็หมายถึงว่าเราก็ไม่ไปเพิ่มการติดขัด กรณีคนโสดที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่นั้น ถ้าลดปริมาณการใช้รถลง สังเกตช่วงวันหยุดยาวปริมาณรถบนถนนเบาบาง การเคลื่อนที่ก็คล่องตัวขึ้นในแง่ว่าเราลด 10 % เราจะใช้เวลาบนถนนน้อยลงเกือบ 2 ชั่วโมง คือ เราต้องปล่อยให้คนที่มีความจำเป็นเขาใช้รถไม่ว่ากัน แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถไฟฟ้าก็ถึงเราก็ช่วยกันลด และมันทำให้เวลาขับเข้าไปในเมืองพื้นที่จอดไม่มี ก็ไปจอดกันบนถนนยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการระบายรถอีก คือถ้าพวกเราช่วยกัน ให้คนในเมืองมองเรื่องนี้แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้เยอะทีเดียว นี่เป็นประโยชน์ที่เรามองเห็น กลับมามองประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเราเอง โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า ถ้าเราซื้อรถยนต์ 1 คันเราต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ค่าเชื้อเพลิงหรือไม่ว่าค่าบำรุงรักษา ถ้าเราไม่ซื้อค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างวิธีคิด ซึ่งอาจจะประหลาดๆ นิดหน่อย คือ บ้านผมนั้นอยู่นางเลิ้งผมต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ค่ารถที่ผมใช้ทุกวันนี้คือ 80 บาท คิดเป็น 100 ก็ได้ตัวเลขกลมๆ คิดง่าย 100 บาท ไป – กลับวันหนึ่งเท่ากับ 200 บาท  เดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วันเลยไม่ต้องหยุดก็ตกเดือนละ 6,000 บาท ผมถามว่า เดือนละ 6,000 บาทผมจ้างคนขับรถได้ไหม มีรถให้ มีคนเติมน้ำมันให้ฟรี มีคนทำประกันให้อีก มีคนจ่ายค่าซ่อมต่างหาก ยังไม่ได้เลย แต่เรามองกลับกันเงินให้คนขับรถเอาที่เท่าไรดีเขาถึงจะโอเค สมมติเขาขอ 18,000 บาท ถ้าเราคิดวันทำงาน 30 วันเท่ากับตกวันละ 600 บาทหรือ 300 บาทต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าใครที่เดินทางโดยแท็กซี่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเที่ยว ก็คือผู้ที่เข้าข่ายว่าไม่ควรขับรถ คือนั่งแท็กซี่น่าจะดีกว่า เรื่องปลอดภัยนั้นอีกเรื่องเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ควรนั่งรถเพราะมันดูจะอันตรายเกินไป เรียกว่ารูปร่างทำร้ายตัวเองอันนี้ก็เข้าข่ายเป็นเรื่องจำเป็นไป ผมมองว่า คนไทยมีนิสัยความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การมีทรัพย์สินบนตัวหรือโชว์ด้วยยานพาหนะดูเป็นคนมีฐานะ ถ้าเราบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นหลักของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมี นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเลยไม่จำเป็นต้องมีรถ การไม่มีรถส่งผลดีอีกเรื่องหนึ่งด้วนะ  คือว่าเราไม่ต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านเพราะไม่รู้จะไปจะกลับอย่างไร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายมัน เศรษฐกิจในตอนนี้ถ้าเราออมอะไรได้มากขึ้นอนาคตก็จะสบายมากขึ้นจะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามความคิดในกรอบเดิมๆ ผมเคยเรียนที่เยอรมัน เพื่อนฝรั่งเยอรมันก็เคยมาที่เมืองไทย เขาบอกว่า คนไทยแปลกเรื่องเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเสียตังเรื่องเล็ก ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเพราะมองว่า คนไทยนั้นแม้แต่คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่เท่าไรก็จะผ่อนบ้านแล้ว หลายคนเลยเลือกผ่อนรถก่อน ผมถามว่าจำเป็นต้องใช้รถขนาดนั้นไหม ซึ่งหลายคนอาจจะจำเป็น เช่น คนที่เป็นเซลล์แต่หลายคนเป็นพนักงานบริษัทที่มีบริษัทตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า อยู่ติดถนนใหญ่ คือกลุ่มคนพวกนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากชวนว่า คนที่ใช้รถอยู่ทุกวันนี้ถ้าลดได้สัก 10 % ผมว่าการจราจรกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางได้อีก คือมันเป็นลักษณะของพฤติกรรมหนึ่งที่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเราต้องคิดในแง่หนึ่งที่ผมนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 8 ที่ตรัสว่าให้คิดประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ 1 และคิดถึงประโยชน์ตัวเองเป็นที่ 2 ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งเหล่านี้ มีบางคนบอกผมว่า ก็เขามีรถมันก็เลยต้องใช้ ผมจึงบอกไปว่าขายไปเสียจะได้ไม่มี หรือเก็บไว้ใช้ออกนอกเมืองหรือใช้ไปทำงานในที่ที่ไม่ใช่การเดินทางปกติที่ไป - กลับลำบาก เดี๋ยวนี้คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีเรียกรถ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าไม่ได้ลำบากมากมายก็เป็นทางเลือกที่น่าทดลองดูก็ได้ ถ้าการจ้างคนขับคนหนึ่งเงินเดือนสัก 18,000 บาทกับการที่เราจ้างคนขับแท็กซี่แทน ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่านี่คือสิทธิผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน มีรถยนต์แต่ที่ผมมองคือ ตอนนี้ปัญหามันมากมายกับเรื่องรถยนต์ การแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่หมายความว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มถนน ไม่ใช่เพิ่มทางด่วนแต่วิธีแก้จราจรที่ยั่งยืนที่สุดเลยคือลดจำนวนคนขับรถ ถ้าจำนวนผู้ขับไม่ลด คน 1 คนจะซื้อรถ 10 คันก็ได้แต่ถ้า 1 คนรถ 10 คันไม่ได้ขับแม้แต่คันเดียวมันก็คือ 1 คันหายไป คือการจะทำนโยบายวันคู่วันคี่ ป้ายทะเบียนคู่คี่คือคนมีเงินเขาซื้อได้หมด แต่คนที่ไม่มีต่างหากที่เขาจำเป็นต้องใช้ คนอาจจะไม่มีฐานะมากมายแต่อาจจะเป็นเพราะลูกยังเล็กต้องส่งหลายที่เขาก็คงจะลำบากถ้าไม่มีรถ เราอยากให้คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ควรจะขับรถแล้วไม่ต้องไปใส่มาตรการอะไรเลยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพิ่ม เพียงแต่เราเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นมากมาย ไม่เห็นต้องมีคำว่าเสียหน้าเลย คนที่เสียหน้าแต่กระเป๋าตังหนาผมว่ามันยังดูดีกว่าคนที่มีหน้าแต่กระเป๋าตังบาง คือถ้ามุกคนเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืนบริการรถสาธารณะที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน ส่วนตัวผมขอเปรียบไปที่ประเทศเยอรมัน ที่ผมเคยอยู่นั้น อย่างบ้านเราก็จะมีรถที่ให้บริการรถ BRT ให้บริการเส้นสาทร – นางลิ้นจี่ ซึ่งมีช่องรถของเขาเอง เพราะฉะนั้นเขาวิ่งของเขาได้ ที่เมืองนอกก็จัดบริการอย่างนั้น เมื่อก่อนเรามีรถเมล์เดินทางเดียว ซึ่งปัจจุบันเราก็พยายามจะลดตรงนั้นลงเพื่อให้รถมีพื้นที่สัญจรมากขึ้น ก็เลยทำให้คนที่นั่งรถสาธารณะต้องติดเหมือนคนที่นั่งปกติ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการทำให้มีช่องทางรถโดยสารสาธารณะเองให้คนที่โดยสารสาธารณะเดินทางได้เร็วขึ้นมันจะเท่ากับช่วยดึงดูดให้คนที่ใช้รถประเภทไม่มีความจำเป็นมานั่งรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มากผมคิดเรื่องการสร้างจิตสำนึกว่าการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนเวลาเรามีภัยพิบัติก็ยังช่วยกันได้ กรณีอย่างนี้เหมือนกันถ้าเราคิดว่าเราไม่ใช่คนมีฐานะมากมายต้องการลดค่าใช้จ่าย ผมว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถมาเป็นนั่งรถสาธารณะ อย่างน้อยทำให้เราไม่ต้องซื้อของเยอะเพราะซื้อเยอะก็ขนไม่ไหว คิดง่ายๆ ขับรถก็ต้องเหนื่อยต้องรถติดอยู่บนถนน รถสาธารณะเราคำนวณเวลาได้ว่าเราต้องออกจากบ้านกี่โมง ถึงกี่โมงในขณะที่รถยนต์ข้างล่างคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับถนนข้างล่างเพียงแค่ซื้อความสะดวกสบายเรา ผมเคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเองเลย คือจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินตอน 7 โมงเช้าผมตื่นตอน 6 โมงเช้าผมไปขึ้นเครื่องบินทันด้วยรถแท็กซี่ ผมบอกเขาว่าผมรีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยังมานึกอยู่ว่าถ้าผมขับรถเองไม่มีทางเลยเพราะผมต้องหาที่จอด นี่คือตัวอย่างแล้วระหว่างอยู่บนรถเรายังสามารถทำนั่นทำนี่ได้เพราะเรามีคนขับรถ ถ้าขับเองแค่ก้มมาชำเลืองมือถือมันไม่ใช่แค่เราแล้วมันมีเพื่อนร่วมท้องถนนอีก ยิ่งทำให้ช้าเข้าไปใหญ่ คือแค่เราบริหารชีวิตเรามันไม่เพียงลดอุบัติเหตุแต่เรายังมีเวลาทำงานได้อีกก็เลยเปลี่ยนจากเป็นคนขับมาเป็นคนนั่งดีกว่า แถมยังประหยัดเงินรักษาพยาบาลเขาอีกลูกหลานไปโรงเรียนก็ต้องให้เงินเขาอีก ในเมื่อเขาเป็นคนขับแท็กซี่เราลงจากรถเราจ่ายเงินเขาเสร็จหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่มีต่อคนขับรถก็หมดสิ้น เดี๋ยวนี้มีรถอูเบอร์แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนที่ต้องการจะโชว์ความมีหน้าตาว่าเราเป็นคุณนายจะมานั่งแท็กซี่ได้อย่างไร เขาให้เราถามได้เลยว่าเราจะได้รถอะไร มันจะสมหน้าตาเราไหม ถึงได้บอกว่าวิธีที่คิดคือว่าเรามองจากตัวเองเราจำเป็นแค่ไหนกับการที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเราเดือดร้อนมากแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็มีไปเถอะไม่เป็นไรถือว่ามันจำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องมีรถแล้วได้ทราบข้อมูลนี้แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้รถ 1 คันอาจจะทำให้บนถนนนี้น่าใช้ขึ้นก็ได้ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปคิดถึงขนาดว่าฉันลดแต่คนอื่นไม่ลด รถก็ติดเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากตัวคุณไปใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดินแทนมันก็ไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าเดิมแล้ว ให้เปลี่ยนที่ตัวเราไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ไม่ต้องมองว่ารัฐต้องทำนั่น ทำนี่เพราะมันจะเป็นเงื่อนไขให้เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วเงื่อนไขมันตามมามันก็จะช่วยเสริมให้ดีขึ้น แล้วทีนี้ในส่วนภาครัฐที่ผมมองว่านโยบายค่าน้ำมัน อย่างประเทศบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์เองมีนโยบายในเรื่องของการขับรถผ่านในย่านที่เป็น Business เมื่อก่อนเราก็เคยติดถนนสีลมใครผ่านย่านนี้ต้องมีใบอนุญาต ผมมองว่าเป็นนโยบายการแก้ไขมากกว่า ผมคิดอีกอันหนึ่ง คือถ้าเป็นนโยบายในเชิงสมัครใจไม่เวิร์ค อาจจะต้องลองนโยบายการบังคับมาใช้ เช่น การเพิ่มราคาน้ำมันเป็นภาษีเรียกว่าภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างเยอรมันใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนขับรถคุณเติมน้ำมันไป 1 ลิตรนั้นคุณต้องเสียภาษีสิ่งแวดล้อม 5 บาทอันนี้สมมตินะ แล้วภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ไปชดเชยให้กับคนที่นั่งรถสาธารณะ ทุกวันนี้เรามีรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชนแต่ทุกวันนี้คนอาจไม่อยากนั่งเพราะมันร้อนเราอาจจะเอาค่าน้ำมันตรงนี้เพื่อไปชดเชยให้คนนั่งรถแอร์ฟรี คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองไปนั่งรถสาธารณะจะได้นั่งรถฟรีด้วย ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนฉลาดในการใช้พลังงานในฐานะอาจารย์ด้านไฟฟ้า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งปรึกษาผมว่า ค่าไฟที่บ้านแพงมาก ที่บ้านอยู่กัน พ่อแม่ลูก ทั้ง 3 คนนี้ออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาบ้านก็นอน ค่าไฟเดือนละประมาณ 6,000 บาท ผมเลยบอกไปว่ามันไม่ปกติคน 3 คนใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะกลางคืนค่าไฟไม่น่าจะเกิน 1,200 บาท พอแพงแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมจึงบอกว่า มันน่าจะเป็นไฟรั่ว ประเด็นไฟรั่วไม่ต้องไปหาใครมาซ่อมมาแก้ไข ตัวเองต่างหากต้องแก้ไข วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ หาช่างไฟมาเปลี่ยนคัทเอาท์แล้วก็ทำวงจรเดินสายไปที่ตู้เย็นที่เหลือก็ยกคัทเอาท์ลงทั้งบ้านเลย หรือถ้าใครบอกว่าบ้านใหญ่มันซับซ้อนมากกว่านั้น คือบ้านมีคนอยู่ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์มีอะไรบ้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็นมีหลายตู้ก็รวมของสดไว้ตู้เดียวที่เหลือก็ดึงปลั๊กออก อุปกรณ์ไหนไม่ใช้ก็ดึงปลั๊กออก ถ้าดึงปลั๊กไม่สะดวกผมก็แนะนำซื้อเบรกเกอร์ 2 โพล ไฟรั่วก็เหมือนน้ำรั่วเราต้องเสียค่าน้ำ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวคือยกคัทเอาท์ออกมันจะทำให้กระแสไฟไม่ไหล ไฟก็ไม่รั่วเราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็น หรือปั๊มน้ำเรากลับถึงบ้านเราก็เปิดปั๊มมันทำงาน ก่อนเรานอนเราก็ปิดเราก็มีน้ำไว้ใช้แล้ว ถ้าไฟจะรั่วตอนที่เราเสียบปลั๊กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราทำแค่นี้ปรับพฤติกรรมเราเองอย่างน้อยค่าไฟก็ลดไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องไปหาว่ารั่วที่ไหนเพราะมันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่เราสามารถปรับพฤติกรรมเราได้ แนวทางฉลาดใช้ชีวิตที่อยากแนะนำสิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดเลือกแล้วก็สิ่งสำคัญ คือเราต้องรักษาสิทธิผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภคสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอเลยก็คือ คุณคาดหวังว่าจะได้อะไรจากสินค้า คุณอ่านแล้วคุณเชื่อแต่เมื่อใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คุณเชื่อต้องเรียกร้องสิทธิ ในฐานะที่อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ต้องไปซื้อสินค้าแล้วทุกข์ทรมานเหมือนกับที่เราโดน คือตรงนี้อยากให้ผู้บริโภคนั้นรักษาสิทธิของตัวเอง แต่ไม่ควรจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าไปใช้สิทธิมากกว่าที่เราควรมี ขอใช้คำว่าไปซื้อของปลอม ไปซื้อของที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันปลอมแล้วมาเรียกร้องว่าทำไมของนั้นไม่ดีเหมือนของจริง อันนี้เราเรียกว่าเรียกร้องเกินสิทธิ หรืออีกอย่างที่ผู้บริโภคควรจะทราบเหมือนกัน คือว่าเมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วปรากฏว่าสินค้ามันทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ต่อร่างกายหมายถึงเราบาดเจ็บจากการใช้สินค้า  ทางจิตใจก็คือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ก็มี PL Law เรามีสิทธิเรามีขั้นตอนกระบวนการ ตรงนี้อยากให้ผู้บริโภครู้จักใช้กัน คือถ้าเป็นไปได้คือเราให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าสิทธิที่ผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการดูแลนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเราต้องไปร้องเรียนใครเพื่อให้เขามาดูแลให้ หรือตอนนี้ในส่วนตัวเองที่ช่วยงานที่ สคบ. อยู่นั้นกำลังเตรียมเรื่องของ Recall คือกฎหมายที่จะบอกว่าบริษัทที่จะต้องทำหารเรียกคืนสินค้า ซึ่ง Recall ในกลไกที่เรากำลังเตรียมการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีการประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสินค้าไม่ปลอดภัยตอนนี้ที่เราประกาศออกมาแล้วนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ถือสินค้านั้นอยู่ เราซื้อมาแล้วเรามีใบเสร็จเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปที่ร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืนได้ อันนี้ก็เป็นเรืองของกฎหมาย Recall แต่ขอเน้นว่ากฎหมาย Recall นั้นเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้กับสินค้าที่มีการขึ้นประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย

หลังจากที่ผ่านมาเราเคยทดสอบปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันไปแล้ว และพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดในท้องตลาดมีปริมาณโซเดียมสูง โดยการรับประทานหนึ่งห่อจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงถึง 50-100% ของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ได้เรากลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เราตามไปดูกันที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่เพียงแค่เปิดฝาเติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทานทันที ซึ่งได้รับนิยมมาก โดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อในสถานที่ชุมชนทั่วไป ในย่านการศึกษา และร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน จะมีบริการบะหมี่ถ้วยให้เลือกจำนวนมากพร้อมมีน้ำร้อนให้บริการเสร็จสรรพ เราจึงเห็นภาพคนยืนซดเส้นซดน้ำกันอย่างเป็นเรื่องปกติ   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปชมผลทดสอบ ปริมาณโซเดียมและโปรตีนในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากตัวอย่าง 15 ยี่ห้อยอดนิยม โดยตรวจสอบจากข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีปริมาณโปรตีน/โซเดียมสูงหรือต่ำที่สุด ลองไปดูกันเลย------------------------------------------สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำความตกลงกับผู้ผลิต ให้มีการจัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อแสดงปริมาณโซเดียมให้ผู้บริโภคได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ และบริโภคในปริมาณที่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่ควรได้รับต่อวัน คือ สูงสุดไม่เกิน 2,400 มก./วัน (ผู้ชายควรบริโภค 475-1,475 มก. และผู้หญิงควรอยู่ที่ 400-1,200 มก./วัน) ข้อมูลการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าตลาดปี 2558 : 15,800 ล้านบาทส่วนแบ่งการตลาด: มาม่า 51% ยำยำ 20% ไวไว 20% อื่นๆ 9%สัดส่วนการตลาด: ซอง 71% ถ้วย 29%อ้างอิงข้อมูล: http://marketeer.co.th/archives/51518สรุปผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมจากตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 15 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ พบว่า1. มีเพียง 7 ยี่ห้อที่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ ยี่ห้อ 1. เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 2. เซเว่นซีเล็ค บะหมี่ชามกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 3. จายา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 4. เกษตร วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป รสยำวุ้นเส้นทะเล 5. ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 6. ลิตเติ้ลกุ๊ก บะหมี่ต้มยำทะเล และ 7. มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า 2. จากข้อมูลโภชนาการ พบว่า - ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมเยอะที่สุดคือ เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ มีปริมาณโซเดียม 2,160 มก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโซเดียม 1,000 มก./น้ำหนัก 26 ก. - ยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนเยอะที่สุดคือ ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีปริมาณโปรตีน 7 ก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโปรตีน 3 ก./น้ำหนัก 26 ก.3. มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1. พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล 2. นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 3. ไวไว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 4. ยำยำ บะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 5. เซเว่น ซีเล็ค-นิสชิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทะเลน้ำข้นคิงคัพ 6. นิสชินคัพนูดเดิ้ล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งแซ่บ 7. ควิก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง 8. มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง โดยจากการตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญ พบว่า  ยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ เช่น ปลา กุ้ง หอย มากที่สุดคือ พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล มีส่วนประกอบของรวมมิตรทะเล 25%/น้ำหนัก 80 ก. และยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์น้อยที่สุดคือ นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีส่วนประกอบของกุ้งอบแห้ง 0.47%/ น้ำหนัก 60 ก.ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลโภชนาการ พบหลายยี่ห้อไม่มีฉลากโภชนาการแม้ อย.ได้ดำเนินการพิจารณาให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ หรือในเบื้องต้นให้แสดงปริมาณโซเดียม เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันและโซเดียมแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts; GDA) บนฉลากอาหาร เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสนับสนุนมาตรการป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ โดยอาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่าง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง และข้าวต้มปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง จำเป็นต้องมีฉลากดังกล่าว ซึ่งหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ จัดว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศโดยมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท แต่เรายังพบว่าจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการตามประกาศฉบับนี้ข้อมูลอ้างอิง :1.http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P374.PDF2. http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/No.374_Food_nutrition_labels.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “สารฟอกขาว” ใน “วุ้นเส้นสด”

“วุ้นเส้น” อีกหนึ่งอาหารเส้นที่หลายคนชื่นชอบ สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ ได้หลากหลาย ทั้ง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไท ยำวุ้นเส้น แกงจืด กุ้งอบวุ้นเส้น และอีกสารพัดเมนู ซึ่งเดี๋ยวนี้มี “วุ้นเส้นสด” ที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนชอบกินวุ้นเส้นง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการนำวุ้นเส้นแบบแห้งมาแช่น้ำให้เส้นนิ่มก่อนถึงจะนำมาปรุงอาหารได้ เพราะวุ้นเส้นสดแค่เกะซองก็พร้อมปรุงได้ทันที ทำให้บรรดาร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผัดไทหลายๆ แห่งเริ่มหันมาใช้วุ้นเส้นสดกันมากขึ้น ส่วนเรื่องรสชาติความอร่อย ความเหนียวนุ่มของเส้น แบบไหนจะโดนใจกว่ากันอันนี้ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลวุ้นเส้นจัดอยู่ในประเภทของอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีมาตรฐานในการควบคุมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายมีความปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่มักพบในวุ้นเส้นก็คือเรื่องของ “สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์” หรือ “สารฟอกขาว” ฉลาดซื้อจึงขออาสาสำรวจดูว่า บรรดาวุ้นเส้นสดยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด แต่ละยี่ห้อมีการปนเปื้อนของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากน้อยแตกต่างแค่ไหนกันบ้างสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ใส่ได้แต่ห้ามเกินที่กฎหมายกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อ้างอิงตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกลุ่มอาหารประเภท วุ้นเส้น เส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม***ถ้าลองเทียบกับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศหรือโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีวุ้นเส้นสดอยู่ในข้อกำหนด แต่ก็มีกลุ่มอาหารที่พอจะเทียบเคียงได้คือ กลุ่ม พาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทํานองเดียวกัน ชนิดกึ่งสําเร็จรูป (Pre-cooked pastas and noodles and like products) ซึ่งในโคเด็กซ์มีการกำหนดให้พบสารในกลุ่มซัลไฟต์ไว้แค่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัมเท่านั้นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide : SO2) หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในชื่อของ “กำมะถัน” เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่ติดไฟ แต่มีกลิ่นฉุนรุนแรงทำให้หายใจไม่ออก แต่ละลายน้ำได้ดี ซึ่งสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารในกลุ่ม ซัลไฟต์ (Sulfites) เป็นสารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นทั้งสารกันเสีย ที่มีประสิทธิภาพสูงในการถนอมอาหาร ราคาถูก ง่ายต่อการใช้งาน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ ยีสต์ รา และแบคทีเรีย ช่วยกันหืน รวมทั้งยังใช้ในการยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลเนื่องจากเอนไซม์และที่ไม่ใช่เอ็นไซม์  นิยมใช้กับอาหารหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอาหารที่จำพวกผักและผลไม้ ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยม อาหารในกลุ่มน้ำตาล น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม อาหารที่มีการใช้เจลลาติน ถั่วบรรจุกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง เห็ดกระป๋อง อาหารแช่แข็ง เครื่องดื่มบางชนิด และอาหารจำพวกเส้นที่ทำจากแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และ วุ้นเส้นผลทดสอบ- พบ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างวุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ- ข่าวดี ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบในวุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่าง ไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด(ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม)- ตัวอย่างวุ้นเส้นสดที่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ น้อยที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.ยี่ห้อเถาถั่วเงิน (ถุงแดง) เก็บตัวอย่างที่ตลาดสะพาน 2 พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปริมาณ 27 มก./กก., 2.ยี่ห้อบิ๊กซี เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี สาขาสะพานควาย พบปริมาณ 28 มก./กก. และ 3.เถาถั่วเงิน (ถุงเขียว) เก็บตัวอย่างที่ตลาดบางกะปิ พบปริมาณ 45 มก./กก.- ตัวอย่างวุ้นเส้นสดที่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มากที่สุด คือ 1.ยี่ห้อชอแชมป์ เก็บตัวอย่างที่ตลดบางกะปิ พบปริมาณ 233 มก./กก., 2.ยี่ห้อส้มทอง เก็บตัวอย่างที่ห้างแม็คโคร บางกะปิ พบปริมาณ 224 มก./กก. และ 3.ยี่ห้อเทสโก้ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาลาดพร้าว พบปริมาณ 196 มก./กก. - มีเพียงแค่ 7 ตัวอย่าง ที่แจ้งข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารบนฉลาก ซึ่งตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ  กำหนดไว้ว่าอาหารที่มีสารในกลุ่มซัลไฟต์ มากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องมีการแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ซึ่งจากการทดสอบครั้งนี้ พบว่า วุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่าง มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์(สารในกลุ่มซัลไฟต์) มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม - มีวุ้นเส้นสด 6 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 16 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลบนฉลากแจ้งเรื่องการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามที่กฎหมายกำหนด และมี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย ตามประกาศ อย. ที่กำหนดให้อาหาร ที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องแสดงข้อความ ชื่อ หน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือระบุหมายเลขรหัสวัตถุเจือปนอาหารสากล(International Numbering System : INS for Food Additives) ซึ่งหมายเลขสากลของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ INS220 - จากสำรวจครั้งนี้พบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นสดหลายยี่ห้อมีปัญหาเรื่องการแสดงฉลาก โดยแสดงข้อความไม่ครบถ้วน หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะตัวอย่าง วุ้นเส้นสดยี่ห้อ 1 ซึ่งบนบรรจุภัณฑ์ มีแค่เลข 1 กับข้อมูลวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อวุ้นเส้นสด ที่ขนาดเส้นมีความสม่ำเสมอ เส้นใส ดูออกเป็นสีขาวเล็กน้อย เมื่อต้มแล้วมีความเหนียวยืดหยุ่น เส้นไม่เกาะกัน -ต้องไม่มีกลิ่นอับ ไม่มีเชื้อรา หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ปนเปื้อนมาในบรรจุภัณฑ์-ซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้-ข้อมูลบนฉลากต้องครบถ้วน มีชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อ และที่ตั้งผู้ผลิต เลข อย.แจ้งปริมาณบรรจุ แสดงส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก มีวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุอันตรายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากร่างกายของเราได้รับในปริมาณที่มากเกินไป แต่โดยปกติถ้าได้รับในปริมาณไม่มากร่างกายคนจะมีเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนสารซัลไฟต์เป็นสารซัลเฟต ซึ่งไม่มีพิษต่อร่างกายและถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ สำหรับพิษของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อสูดดมจะมีฤทธิ์กัดกร่อนต่อระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน ช็อก หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในผู้ที่แพ้มากหรือผู้ที่เป็นหอบหืดโดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 0.7 มิลลิกรัมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วันกินวุ้นเส้นแล้วไม่อ้วนจริงหรือ!?สาวๆ หลายคนเลือกกินเมนูวุ้นเส้นด้วยเหตุผลว่า ทำให้อ้วนน้อยกว่าเมนูเส้นชนิดอื่นๆ ซึ่งตามข้อมูลกรมอนามัยพบว่า วุ้นเส้น ถือเป็นอาหารในกลุ่มข้าวและแป้งที่ให้พลังงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณที่รับประทาน โดยวุ้นเส้นสุก 1 ทัพพี หรือประมาณ 60 กรัม ให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี ขณะที่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ 1 ทัพพี หรือเท่ากับ 50 กรัม และเส้นหมี่ 2 ทัพพี หรือประมาณ 54 กรัม จะให้พลังงานอยู่ที่ 80 กิโลแคลอรี  หรือถ้าเทียบกับข้าวสุก 1 ทัพพี ประมาณ 60 กรัม ก็จะให้พลังงานเท่ากับ 80 กิโลแคลอรีเช่นกัน แต่ทั้งนี้จะอ้วนหรือไม่อ้วนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เรารับประทานหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่ากินวุ้นเส้นแล้วร่างกายจะได้โปรตีน ความจริงแล้ววุ้นเส้นก็คือ แป้งเช่นเดียวกับอาหารจำพวกเส้นชนิดอื่นๆ แม้ว่าวุ้นเส้นจะทำจากถั่วเขียว แต่ผ่านกรรมวิธีการทำมาจนเหลือแต่ส่วนที่เป็นแป้ง ทำให้วุ้นเส้นแทบจะไม่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสต่างแดน

รถไฟลงขันการมีรถไฟเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา LOCOMORE รถไฟสายสตุทท์การ์ท-เบอลิน ที่เกิดจากการลงขันของผู้บริโภคที่อยากได้รถไฟที่ตรงใจกว่าทั้งราคาและบริการ ได้เริ่มออกวิ่งแล้ว เงิน 600,000 ยูโร (22.6 ล้านบาท) ที่รวบรวมได้ถูกนำไปจัดซื้อรถไฟเก่ายุค 70 และสร้างระบบการจองตั๋วล้ำๆ ที่ใครจองก่อนจะได้ราคาถูกกว่า แต่ถึงจะจองช้าค่าตั๋วก็ยังถูกกว่าผู้ให้บริการเจ้าหลัก Deutsch Bahn ครึ่งหนึ่งอยู่ดีนอกจากนี้ยังมีโซนที่นั่งตามความสนใจเพื่อลดความเบื่อหน่ายในการเดินทาง(ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6.5 ชั่วโมง) เช่น โซนงานฝีมือ โซนคนในวงการสตาร์ตอัพ และโซนคนชอบเล่นเกมกระดาน เป็นต้น LOCOMORE ซึ่งวิ่งไปกลับเพียงวันละหนึ่งรอบ ยังไม่ใช่คู่แข่งของ Deutsch Bahn ที่มีรถไฟวันละ 700 ขบวนที่ขนส่งผู้โดยสารได้วันละ 5.5 ล้านคนแต่เขามีระบบคืนกำไร ที่ผู้โดยสารจะได้ส่วนลดร้อยละ 3 หากมีการจองที่นั่งเกินร้อยละ 75 และถ้าเต็มทุกที่นั่ง ทุกคนจะได้ส่วนลดร้อยละ 7 ไปเลย มื้อสำคัญการไม่ทานอาหารเช้าอาจทำให้เกิดความวุ่นวายกับสังคมอย่างที่คุณไม่คาดคิด Fertagus ผู้ประกอบการรถไฟสายลิสบอน-เซตูบัลเขามีหลักฐานมายืนยัน ในรอบหกเดือน เขามีผู้โดยสารเป็นลมบนรถ 46 คน ทำให้รถไฟเสียเวลาไป 51 ขบวน รวมเวลารถไฟล่าช้าทั้งหมด 209 นาที ซึ่งเขาบอกว่าเรื่องนี้สามารถป้องกันได้ ถ้าผู้โดยสารจะให้ความร่วมมือรับประทานอาหารเช้าก่อนมาขึ้นรถเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำถ้าจะให้ดี กรุณาพกน้ำดื่มขึ้นมาด้วย(ไม่ได้ให้งดน้ำงดอาหารเหมือนบางที่นะ) ที่สำคัญคือ ถ้ารู้สึกไม่ดีเมื่อไรให้รีบลงที่สถานีที่ใกล้ที่สุดทันที Fertagus เป็นผู้ประกอบการขนส่งเอกชนที่ให้บริการรถไฟจากกรุงลิสบอนไปยังแหลมเซตูบัล รองรับผู้โดยสารวันละ 70, 000 คน บนเส้นทาง 54 กิโลเมตร ที่มีสถานีให้บริการ 14 สถานี  ต้องพักได้ทุกคนกิจการเปิดบ้านให้คนเข้าพักของ Airbnb กำลังเติบโตก้าวกระโดดเพราะมันเป็นโอกาสทำเงินของคนที่มีห้องว่างเหลือในบ้านและเป็นทางเลือกที่ถูกกว่าของคนเดินทางแต่มันทำให้เกิดภาวะขาดแคลนที่พักของคนในท้องถิ่น ที่มาทำงานหรือเรียนหนังสือในเมืองที่เป็นจุดหมายท่องเที่ยว และอาจละเมิดสิทธิของเพื่อนบ้านที่ไม่ต้องการความพลุกพล่านจอแจรัฐจึงต้องมีข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นมา เช่น เบอลินห้ามเจ้าของบ้านใช้พื้นที่ในบ้านเกินร้อยละ 50 รองรับการเข้าพักรายวัน ใครฝ่าฝืนจะโดนปรับหนึ่งแสนยูโร (3.7 ล้านบาท) โฮสต์ของ Airbnb ในปารีส สามารถเปิดบริการห้องพักรายวันได้ไม่เกินปีละ 120 วัน และต้องเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับโรงแรมลอนดอนกำหนดจำนวนวันสูงสุดไว้ที่ 90 วัน ในขณะที่อัมสเตอดัมให้เพียง 60 วัน และกำหนดให้เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนบ้านด้วย ปัจจุบัน Airbnb ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาด 30,000 ล้านเหรียญ มีกิจการดังกล่าวใน 34,000 เมืองทั่วโลกขออภัย เราไม่ส่งคุณจะส่งหูฉลามไปกับสายการบินใดก็ได้ แต่คุณจะใช้บริการสายการบินแห่งชาติของจีน Air China ไม่ได้ เขาประกาศแล้วว่าแต่นี้ต่อไป ไม่รับส่งหูฉลามนะจ๊ะ จีนต้องการพลิกภาพลักษณ์จากการเป็นตลาดมืดค้าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นผู้นำในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังความพยายามนี้มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี เหยาหมิง นักบาสเก็ตบอลชื่อดังก็เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับการรณรงค์ให้งดบริโภคหูฉลามมาแล้วขณะนี้มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น การนำเข้าหูฉลามระหว่างปี 2011 ถึง 2014 ลดลงมากกว่าร้อยละ 80 และราคาขายก็ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ด้วยมุกนี้ของ Air China ทำให้ FedEx บริษัทขนส่งเจ้าใหญ่สัญชาติอเมริกันอายไปเลย เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า บริษัทเลือกที่จะรับส่งแพ็คเกจหูฉลามต่อไปทั้งๆ ที่มีคนกว่า 300,000 คนมาร่วมลงชื่อขอให้ยกเลิกบริการดังกล่าว เหมือนกับ DHL และ UPS ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ต้องติดตามโลหะชนิดหนึ่งที่จำเป็นในการบัดกรีชิ้นส่วนต่างๆ ของโน้ตบุ้ค สมาร์ตโฟน ทีวีจอแบน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ คือ ดีบุกหนึ่งในสามของดีบุกที่เราใช้ มาจากเกาะบังกาและเกาะเบลิตง ในอินโดนีเซีย การทำเหมืองบนเกาะเหล่านี้เป็นไปโดยไม่มีมาตรฐานหรือกฎระเบียบควบคุม ทั้งเรื่องความปลอดภัยของคนทำงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชาวบ้านที่รวมตัวกันออกเรือประมงเก่าๆ ไปหาดีบุกบอกว่าพวกเขามีรายได้คนละประมาณ 500 กว่าบาทต่อวัน และทีมสี่คนสามารถหาได้วันละประมาณ 30 กิโลกรัมครึ่งหนึ่งของดีบุกที่ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านพ่อค้าคนกลางหลายคน ทำให้ยากที่จะพิสูจน์ทราบแหล่งที่มา (ทั้งๆ ที่เรามีอุปกรณ์สมาร์ตมากมาย)Apple  Samsung  Microsoft และ Sony ต่างก็เคยรับปากจะกวดขันดูแลเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2560ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมภายใน 3 วันไม่เป็นจริงนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้องเรียนปัญหาทางด้านการให้บริการในประเทศไทยปี 2559 ระบุปัญหา เรื่องการย้ายค่ายเบอร์เดิม ถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จำนวนเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมปี 2559 ทำลายสถิติเดิม ด้วยจำนวนกว่า 4,200 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 2,913 เรื่อง เกือบ 50% โดยประเด็นเรื่องร้องเรียนที่เพิ่มกว่าพันเรื่องนั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาบริการคงสิทธิเลขหมาย (ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิม) ซึ่งแม้ว่า กสทช. จะกำหนดให้การย้ายค่ายต้องแล้วเสร็จใน 3 วันทำการก็ตาม แต่ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งก็ไม่สามารถย้ายค่ายได้ใน 3 วัน หรือถูกปฏิเสธการย้ายค่าย ในประเด็นเรื่องการย้ายค่าย สาเหตุมาจากปัญหาการช่วงชิงผู้บริโภคที่ซิมจะดับเมื่อต้นปี 2559 ด้วยช่องทางบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ถือเป็นกลไกการแข่งขันที่สร้างตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ซิมจะดับว่า จะเลือกใช้บริการค่ายไหนดี แต่ปัญหาก็เกิดเพราะมีการเปิดช่องทางย้ายค่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เพียงรูด หรือเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร ซึ่งโดยปกติธุรกรรมต่างๆ มักจะต้องมีการเซ็นชื่อพิสูจน์ตัวบุคคลร่วมกับการแสดงบัตรประชาชน จึงเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของช่องทางดังกล่าวตามมา ทำให้เกิดการปฏิเสธการโอนย้ายจำนวนมหาศาล และเกิดกรณีการใช้บัตรประชาชนโอนย้ายโดยเจ้าของไม่ได้ยินยอม ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้ดำเนินการออกแนวปฏิบัติในการย้ายค่ายใหม่ให้สะดวกและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้กรมแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลคนแก่” เช้าไปเย็นกลับ พร้อมจัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุกรมการแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลผู้สูงอายุ” แบบเช้าไปเย็นกลับ ภายในปี 2560 รับดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ชนชั้นกลาง ก่อนถอดบทเรียนจัดทำเป็นแนวทางมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุระดับประเทศ ให้เอกชนนำไปเป็นแบบ หากทำได้ออกใบรับรองการันตีทันที              นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านราว 2% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านจะมีอาการป่วยบ้าง แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และในช่วงกลางวันมักต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารของกรมภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านดังกล่าว โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก บริการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานประเทศในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ “นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรมที่จะมีใบการันตีจากกรมการแพทย์ด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวกรมอนามัยเตรียมปฏิบัติการเพื่อให้เด็กไทยสูง ด้วยนมวันละ 2 แก้วกรมอนามัย ตั้งเป้าเพิ่มความสูง รูปร่างสมส่วน “เด็กวัยเรียน” ชี้ ปี 2579 เพศชายสูงเฉลี่ย 163 ซม. เพศหญิง 164 ซม. เผยดื่มนมคู่อาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก นอนหลับสนิท 8 - 10 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสูงได้ เล็งเพิ่มการดื่มนมเด็กเป็นวันละ 2 แก้ว “การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่ง พบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุด ในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ”คอบช.  เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่มีพลัง ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ เผยหนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนจำนวน 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร และบริการสาธารณะมากที่สุดจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธาน คอบช. ระบุปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก จากผลงานเรื่อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง (Lemon Law) และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และอื่นๆ ในส่วนของสถิติการร้องเรียนในปี 2559 ที่ผ่านเข้ามาทาง คอบช. นั้น มีกรณีร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง แยกเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 54 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องจะมีทั้งการแก้ไขปัญหาทั้งแบบปัจเจกและถูกยกระดับขึ้นเป็นงานรณรงค์ด้านนโยบายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ยกตัวอย่างเรื่อง สภาผู้บริโภคจังหวัด เช่น จังหวัดพะเยา สามารถจัดตั้งสภาผู้บริโภคโดยมีรูปแบบคณะทำงานที่เป็นทางการ สามารถขับเคลื่อนงานผู้บริโภคในจังหวัดพะเยา ได้อย่างเป็นระบบ หรือที่จังหวัดเพชรบุรีมีการร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัดในประเด็นการรู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง จนเกิดเป็นคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับจังหวัดขึ้นมา  เช่นเดียวกับที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภค ในประเด็นอาหารปลอดภัย และมีนโยบายผลักดันการใช้ฉลากโภชนาการอาหารแบบสัญญาณไฟจราจรการมีสภาหรือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระ จึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันด้วยการทำงานของ คอบช. สามารถสร้างองค์กรผุ้บริโภคที่เข้มแข็งได้ถึง 44 จังหวัดแล้ว  คอบช. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้ง องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายให้ได้ในเร็ววัน เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลากโภชนาการ สิ่งจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญและระดับการควบคุมข้อมูลโภชนาการหรือฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานเข้าไป และเป็นการยกระดับให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก จึงต่างให้ความสำคัญกับการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามระดับการแสดงข้อมูลโภชนาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก(Mandatory) เป็นลักษณะบังคับว่าต้องมี ถ้าไม่มี จะมีบทลงโทษ และกลุ่มที่ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) คือ กฎหมายไม่บังคับ – จะแสดงฉลากหรือไม่ก็ได้1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่กฎหมายบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, อิสราเอล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน (+ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง), เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์  ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกำหนดตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากโภชนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงคำกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือคำกล่าวอ้างทางสุขภาพก็ตาม โดยจะกำหนดว่าสารอาหารตัวใดจะต้องถูกแสดงบ้างและจะแสดงในลักษณะใด (เช่น ต่อ 100 กรัม หรือ ต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการแสดงรูปแบบอื่น ๆ ของฉลากโภชนาการได้โดยสมัครใจ อีกด้วย 2) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดยสมัครใจโดยรัฐให้การสนับสนุนแนวทางในการแสดงข้อมูล ได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) (ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรต: ยูเออี), เวเนซุเอล่า, ตุรกี, สิงโปร์, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, เคนยา, เมาริเทียส, ไนจีเรีย, และอาฟริกาใต้ ซึ่งกฎหมายของประเทศกลุ่มนี้จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใดแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องแสดงเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารนั้น ๆ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก   ภาพประกอบ : แผนภูมิภาพแสดงการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีการแสดงฉลากโภชนาการตามกฎหมายกระแสโลกในการทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสโลกในเรื่องการแสดงข้อมูลโภชนาการได้มุ่งไปสู่การทำเป็นกฎหมายภาคบังคับ เห็นได้จากการที่ มาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) (Codex Alimentarius Commission, 2012) ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ได้แนะนำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการก็ตามในหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายฉลากโภชนาการแบบภาคบังคับ เช่น ประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้กฎหมายฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ต่อมาเมื่อได้นำมาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) มาใช้ จึงเปลี่ยนให้ฉลากโภชนาการเป็นฉลากภาคบังคับและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 แต่ยังมีหลายสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องทำก่อนถึงกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หนึ่งในนั้นคือ การหาข้อสรุปว่า รูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการ แบบใดเหมาะสม เข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีการสนับสนุนทุนทำโครงการวิจัย ชื่อว่า FLABEL ที่พบข้อมูลว่า ใน 27 ประเทศสมาชิกของอียูและตุรกี มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 85 จาก 5 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหลังบรรจุภัณฑ์ (Back of Pack : BOP) มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 48 ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front of Pack : FOP) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 84 ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลโภชนาการใน รูปแบบเป็นตาราง หรือ เป็นเส้นตรง (ตารางโภชนาการหรือกรอบข้อความโภชนาการ) โดยที่มีเพียงร้อยละ 1 แสดงข้อมูลด้วยสัญลักษณ์สุขภาพ (health logos) และในบรรดาฉลากแบบ แสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้า ทั้งหมด รูปแบบฉลาก หวาน มัน เค็ม (Guideline Daily Amounts :GDA) และ การกล่าวอ้างทางโภชนาการ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานกลางของฉลากโภชนาการแบบแสดงข้อมูลด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (FOP)การโต้เถียงเรื่องการใช้ฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ได้สร้างความประหลาดใจแก่โลก โดยได้ประกาศใช้ การแสดงฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” (GDA) เป็นประเทศแรกในเดือน พ.ค. 2554 โดยประกาศใช้ในขนมเด็ก 5 กลุ่ม หลังจากนั้นฉลากรูปแบบนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา) โดยมีสิ่งที่รัฐต้องตัดสินใจคือ จะทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้านี้เป็นกฎหมายภาคบังคับหรือไม่ และถ้าใช่ ควรที่จะต้องเพิ่มเติมเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของคุณค่าทางโภชนาการที่แสดงผ่านการใส่สี (แบบสีสัญญาณไฟจราจร) หรือ การให้สัญลักษณ์ “เครื่องหมายสุขภาพ” (ตราที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีโภชนาการเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ตรารูปหัวใจ : สมาร์ทฮาร์ท, เครื่องหมายรูปรูกุญแจสีเขียว) หรือให้ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นของการบริโภคต่อวัน เช่น ฉลาก หวาน มัน เค็ม : GDA ท่ามกลางการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light) ของสหราชอาณาจักร (UK) เป็นจุดสนใจและได้รับการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สายสุขภาพ และบางรัฐบาลในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ได้ประกาศสนับสนุนรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์แบบสีสัญญาณไฟจราจรของสหราชอาณาจักรขณะที่รัฐบาลทั้งหลายกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยข้องต่าง ๆ ของตนอย่างไรนั้น รูปแบบย่อยทั้งหลายของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็แพร่หลายไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, NGOs, กลุ่มองค์กรภาคอุตสาหรรม และบริษัทต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการหลอมรวมเป็นรูปแบบเดียวกันจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ นปี พ.ศ. 2555 แผนกสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้เสนอรูปแบบฉลากที่รวมฉลาก GDA เข้ากับสีสัญญาณไฟจราจร และ ตัวหนังสือบรรยายโภชนาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีการโต้เถียงในเรื่อง การระบุคำบรรยายใต้สัญลักษณ์สีสัญญาณไฟจราจรว่า “สูง” “ปานกลาง” และ “ต่ำ” บนฉลาก และ เกณฑ์ทางโภชนาการควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้โดยความสมัครใจของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเข้าร่วมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีรายงานระยะที่ 1 จาก the Institute of Medicine (IOM) Committee ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แนะนำว่า ควรต้องมีระบบเฉพาะในการระบุข้อมูลโภชนาการที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค 4 ประเภท คือ ค่าพลังงาน (แคลอรี่), หน่วยบริโภค (serving size), ไขมันทรานส์ (trans fat), ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ส่วนในรายงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้ระบุเรื่องของการเปิดกว้างของผู้บริโภค ความเข้าใจ และความสามารถในการการใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ อย. (USFDA) และหน่วยงานด้านเกษตร (USDA) ของสหรัฐไว้ว่า ควรต้องมีการพัฒนา ทดสอบและบังคับใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ให้คำแนะนำให้การบังคับใช้มาตรการฉลากนี้ว่า จะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และกลุ่มผู้มีความสนใจที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบฉลากที่แนะนำนั้น IOM เสนอให้แสดงเป็นสัญลักษณ์แสดงปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและแสดงคะแนนเป็นดาวโดยเทียบจากคุณค่าทางโภชนาการ ด้านไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์โภชนาการ  ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สมาคมร้านค้าของชำ สถาบันการตลาดอาหาร และผู้แทนของบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และและกลุ่มผู้ค้าปลีก ได้นำเสนอ ฉลากแบบสมัครใจเรียกว่า fact-based FOP nutrition labelling ที่แสดงข้อมูลพลังงาน และสารอาหารสำคัญ (ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล) ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง อย. ของ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนฉลากแบบนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสารอาหารของผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของกระแสการทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์กลายเป็นมาตรฐานสากลคือ การที่ สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมาย ข้อมูลด้านอาหารเพื่อผู้บริโภค ที่อนุญาตให้มีการใช้ฉลากโภชนาการแบบสมัครใจในบางรูปแบบได้ ทำให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ สี ภาพ หรือ สัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการออกเอกสารถาม-ตอบ (Q&A) เพื่อสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการนี้ออกมา โดยในเอกสารได้ยืนยันว่า กิโลจูล (หน่วยของค่าพลังงาน)สามารถใช้ได้บนฉลากโภชนาการแบบสมัครใจด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว ๆ หรือจะแสดงคู่กันกับ กิโลแคลอรี ก็ได้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในงานประชุมของรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่เข้าใจและแปลความได้ง่าย แต่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแสดงฉลากรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยทันที ซึ่งต่อมา ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับในนิวซีแลนด์ ที่ได้มีกลุ่มทำงานมาพัฒนาแนวทางและคำแนะนำต่อการจัดทำฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าผลิตภัณฑ์ แต่มิได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงออกมาเช่นกัน ซึ่งความน่าจะเป็นของรูปแบบฉลากโภชนาการของทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมาทางฝั่งทวีปเอเซียกันบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยสมัครใจในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก และภายหลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกระดับการแสดงฉลากในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเป็นกฎหมายภาคบังคับโดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรภายใต้กฎหมายภาคบังคับ นับแต่นั้น ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรก ว่าด้วยการแสดงฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในอาหารที่เด็กชื่นชอบได้แก่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม กับ กฎหมายฉบับที่สองซึ่งกำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการทั้งแบบสีสัญญาณไฟจราจรและแบบคุณค่าทางโภชนาการต่อวันที่ใส่สีเพื่อแสดงเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นรุ่งอรุณแห่งมาตรการฉลากโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค เจริญรอยตาม ก็เป็นได้ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบฉลากโภชนาการยังไม่ยุติข้อถกเถียงที่ว่ารูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดจะมีประสิทธิภาพที่สุด จะดำเนินต่อไปในยุโรป, เอเซีย-แปซิฟิค, และอเมริกา ในช่วงอนาคตอันใกล้ การศึกษาวิจัยที่มากขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยยืนยันประเด็นนี้ รัฐบาล NGOs ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าปลีกได้ร่วมกันสำรวจว่า รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่สุด ด้วยเหตุผลใด และรูปแบบใดจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการสร้างสมดุลในการเลือก แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ให้คำตอบได้ แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปใด ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะไปในทิศทางใดกัน อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารที่ง่ายกว่าในปัจจุบันแก่ผู้บริโภค ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ แบบภาคบังคับ เป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อเมื่อมันเหมาะสมต่อหน้าที่ของมัน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคมีความเข้าใจและใช้มัน ในสหรัฐฯ ความความเติบโตทางความเห็นที่ว่า ข้อมูลโภชนาการแบบเดิม ๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือ มันไม่สามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว อย. สหรัฐฯ จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนในการทบทวนการแสดงโภชนาการในรูปแบบ ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการเสียใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้าผลิตภัณฑ์ (FOP) ขณะที่ฉลากหวาน มัน เค็ม (GDA) ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มผู้ผลิตอาหาร และผู้กำหนดนโยบาย ความเป็นประโยชน์ในการเป็นแนวทางประกอบการเลือกของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการให้การศึกษาผู้บริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร------------------------------สถานการณ์ด้านฉลากโภชนาการของประเทศไทย นับแต่การประกาศใช้ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมฉลากโภชนาการแบบสมัครใจมาโดยตลอด จนถึงการบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม (จีดีเอ) ในปี พ.ศ. 2554 ที่ยกระดับการควบคุมทางกฎหมายของฉลากโภชนาการจากสมัครใจมาสู่กฎหมายภาคบังคับ โดยควบคุมการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ประเภท ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดกรอบหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, และเวเฟอร์สอดไส้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  ย้อนไปในปี พ.ศ. 2553 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ให้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย(ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์) ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร จึงนำมาซึ่งการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและนำเสนอรูปแบบฉลากสีสัญญาณไฟจราจรแก่ อย. อย่างไรก็ตาม อย. กลับได้ประกาศใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม แทนที่ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรตามมติสมัชชา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อย. ได้ขยายการควบคุมจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ประเภทมาเป็น อาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส, สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส), ช็อกโกแลต, ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, เวเฟอร์สอดไส้, คุ้กกี้, เค้ก, และ พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง, และ ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง), และอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย  นอกจากการทำให้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากแบบบังคับแล้ว อย. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในการทำการศึกษารูปแบบฉลากโภชนาการแบบสัญลักษณ์สุขภาพและได้ออกประกาศให้มีการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ ใช้ชื่อว่า สัญลักษณ์โภชนาการ (สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ) โดยได้มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่ง ทางเลือกสุขภาพนี้ คือเครื่องหมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณสาร อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดีต่อสุขภาพ  ด้านฝั่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการรณรงค์เพื่อผลักดัน ให้ อย. พิจารณาบังคับให้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร แทนที่ฉลากแบบหวาน มัน เค็ม โดยได้มีดัดแปลงรูปแบบจากรูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นสัญญาณไฟจราจรแบบไทย และได้นำประเด็นเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาเด็กและอาจารย์ในโรงเรียนให้มีความรู้ในการอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสามารถใส่สีสัญญาณไฟจราจรลงบนฉลากอาหารได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มทำงานในโรงเรียนจำนวน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผล ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัดของภาคตะวันตกตามการแบ่งเขตขององค์กรผู้บริโภค ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉลากโภชนาการรูปแบบใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย สมควรหรือไม่ที่ควรต้องมีรูปแบบเดียว หรือจะให้มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจนั้น ยังคงต้องการการศึกษาเพื่อยืนยัน ว่าฉลากรูปแบบใดกันแน่ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุดข้อมูล Global Update on Nutrition Labelling Executive Summary January 2015Published by the European Food Information Council. www.eufic.org/upl/1/default/doc/GlobalUpdateExecSumJan2015.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เมื่อถูกขโมยบัตรเครดิต

แม้บัตรเครดิตสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ได้ หากเราถูกขโมยบัตรไปใช้และโดนทวงหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องทั้ง 2 รายนี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสมหญิง เธอร้องเรียนมาว่าถูกคนร้ายขโมยบัตรเครดิตที่ทำไว้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไปใช้ ซึ่งนำไปรูดซื้อสินค้ารวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่พกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้รูดซื้อสินค้าใดๆ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่ามีใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในประเทศที่เขาได้ไปเที่ยวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายเข้าแจ้งความ และแจ้งไปยังธนาคารของบัตรเครดิตเหล่านั้นภายใน  24 ชม. นับตั้งแต่ทราบว่าถูกขโมยบัตรไปใช้ พร้อมส่งหนังสือปฏิเสธการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วย นอกจากนี้ต้องขอหลักฐานลายมือชื่อในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถส่งพิสูจน์ลายมือได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-1439112 รวมทั้งรูปจากกล้องวงจรปิดของร้านค้าในวันที่มีการซื้อสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตรวจสอบโปรโมชั่นมือถือก่อนใช้งาน

ทุกเครือค่ายโทรศัพท์มือถือ มักจัดโปรโมชั่นมาจูงใจผู้บริโภค ซึ่งหากเราไม่ตรวจสอบรายละเอียดของโปรโมชั่นเหล่านั้นก่อนใช้งานให้ถี่ถ้วน อาจทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปราณีซื้อโทรศัพท์มือถือพร้อมโปรโมชั่นให้คุณแม่ โดยเลือกเป็นโปรไอทอล์ค (i-talk) จากค่าย True Move ในราคา 199 บาท/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสามารถโทรได้ 250 นาทีและเล่น เฟสบุ๊ก (Facebook) ได้นาน 12 เดือน อย่างไรก็ตามภายหลังได้รับใบแจ้งหนี้ เธอพบว่าต้องชำระค่าบริการทั้งหมดเป็นจำนวน 342.93 บาท ผิดจากที่คิดไว้คือ 212.93 บาท ทำให้เธอรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับทางเครือค่าย ซึ่งได้ชี้แจงกลับมาว่าค่าบริการส่วนเกินดังกล่าว เกิดจากการที่ผู้ใช้บริการใช้อินเทอร์เน็ตเล่นวีดีโอคอล (VDO Call) ซึ่งตามโปรโมชั่นสามารถใช้บริการได้แค่เล่นเฟสบุ๊ก อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้แจ้งว่า ไม่ทราบมาก่อนว่า โปรโมชั่นสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เพียงบริการเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเบอร์และโทรศัพท์ของค่ายที่เปิดให้มารดาใช้งาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการกดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ภายหลังการเจรจาทางเครือค่ายยินดีคืนค่าบริการส่วนเกินดังกล่าวให้ และผู้ร้องได้ยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังโดนหลอกขายปุ๋ยไร้คุณภาพ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวเกี่ยวกับการจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งหากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อปุ๋ยเหล่านั้นมาใช้ ย่อมส่งผลเสียต่อผลผลิตและสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคได้ ทำให้ภายหลังมีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในบางพื้นที่ยังคงมีการจำหน่ายปุ๋ยไร้คุณภาพ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยเป็นเกษตรกรชาวระนองร้องเรียนมาว่า มีตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่ง นำดินของชาวบ้านไปตรวจสอบและกลับมาแจ้งว่าดินเป็นกรด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการซื้อแคลเซียมคาร์บอร์เนตมาปรับสภาพ ทำให้เขาและเกษตรกรคนอื่นๆ พากันสั่งซื้อปุ๋ยจากตัวแทนรายนี้หลายสิบกระสอบ รวมเป็นเงินหลายพันบาท โดยตกลงให้มีการชำระเมื่อได้รับสินค้า อย่างไรก็ตามหลังเห็นสภาพปุ๋ย คุณชูชัยเป็นเพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการซื้อ เพราะพบว่าบนกระสอบมีเพียงชื่อยี่ห้อ “Call C” ระบุไว้เท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของส่วนประกอบหรือชื่อผู้ผลิตเหมือนปุ๋ยยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยใช้มา ซึ่งทำให้เขากังวลว่าปุ๋ยดังกล่าวอาจเป็นปุ๋ยปลอมและนำมาหลอกขายชาวบ้าน จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถส่งตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจสอบคุณภาพได้ที่ ฝ่ายปุ๋ยเคมี สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2579-5536 หรือโทรศัพท์แจ้ง ส่วนสารวัตรเกษตรที่เบอร์ 0-2940-5434 เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาได้ ทั้งนี้สำหรับกระสอบปุ๋ยที่มีการระบุเพียงชื่อยี่ห้อ ถือว่าทำผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กระสอบปุ๋ยต้องมีฉลากภาษาไทย และต้องแสดงข้อความต่อไปนี้1. ชื่อทางการค้า และมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี2. เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี3. ปริมาณธาตุอาหารรับรอง4. น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก5. ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า6. ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี7. ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลากนอกจากนี้ตามมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยดังต่อไปนี้ 1. ปุ๋ยปลอม2. ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน3. ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ เว้นแต่กรณีตามมาตรา 314. ปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์5. ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้6. ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน7. ปุ๋ยที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับและจำคุก ซึ่งสำหรับผู้กระทำความผิดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000บาท หรือผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานที่กำหนด  ต้องระวางโทษจำคุก  2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท และสำหรับผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายปุ๋ยผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ปรับ 40,000-200,000 บาททั้งนี้สำหรับใครที่อยากได้ปุ๋ยคุณภาพ สามารถใช้หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อได้ง่ายๆ เช่น- เลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร - ตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่- ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้เสมอ เพราะหากพบปัญหาใดๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้จำหน่ายนั้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >