ฉบับที่ 191 สักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

ภาพการต่อแถวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความอาลัยของประชาชนที่หลั่งไหลเดินทางเข้ามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ความหนาแน่นของมวลชนยังคงเป็นภาพที่ได้เห็นผ่านการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์และการรายงานสถานการณ์บนสังคมโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ บริเวณท้องสนามหลวงในเวลานี้จึงถือว่าเป็นศูนย์รวมของประชาชนทั่วประเทศที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางมาสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง อาจจะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือสามารถต่อแถวจากจุดใด มีประตูตรงจุดใดบ้างบริเวณท้องสนามหลวง ผู้เขียนมีตัวช่วยที่จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่าสถานการณ์โดยรอบท้องสนามหลวงในขณะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไรก่อนเดินทางผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ZONE  เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกรายละเอียดต่างๆ ไว้ในบริเวณท้องสนามหลวงที่เกี่ยวกับการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  ได้แก่ ประตูทางเข้าเพื่อต่อแถวบริเวณสนามหลวง  เวลาในการเปิดประตูทางเข้าสนามหลวง  เวลาในการเปิดปิดการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  บอกข้อมูลการต่อแถว จุดหางแถวที่สามารถไปต่อแถวได้ในเวลานั้น เป็นต้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วอีกด้วยเมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่น ZONE  ให้กดไปที่ current  zone และให้เลือกข้อมูลเข้าร่วมพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยจะมีข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น  การรับบริจาคหรือการขอความช่วยเหลือต่างๆ  คำแนะนำการเข้าคิวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 การแจ้งจุดขึ้นรถและจุดที่รถออก และจุดขึ้นรถฟรีบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง  จุดบริการมอเตอร์ไซต์  แผนผังเต็นท์ต่างๆ ที่ให้บริการในเรื่องอาหารและคอยช่วยเหลือประชาชนทั้งนี้แอพพลิเคชั่นมีในส่วนของกระดาษคำถาม (Board) เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นแต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เดินทางมาจากจังหวัดไหนในประเทศไทยก็ตาม  แอพพลิเคชั่นนี้จะสร้างความอุ่นใจขึ้นเพราะจะทำให้รู้จักพื้นที่โดยรอบท้องสนามหลวงมากขึ้น  และรู้ขั้นตอนการปฏิบัติตนเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เขาว่านมถั่วเหลืองไม่ดี จริงหรือไม่

เวลานี้มีข้อความแนะนำบนโลกไซเบอร์ว่า การดื่มนมถั่วเหลืองเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ เพราะนมนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ โดยชื่อเรื่องของบทความที่ส่งต่อกันนั้นคือ Top 10 compelling reasons to avoid soy milk บทความนี้เผยแพร่ใน www.realfarmacy.com บทความนั้นกล่าวทำนองว่า มนุษย์ไม่ควรดื่มนมถั่วเหลืองเพราะนมถั่วเหลืองที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นประกอบด้วย น้ำนมสกัดจากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย เกลือ วุ้นคาราจีแนน กลิ่นรสธรรมชาติ แคลเซียมคาร์บอเนต ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มระบุปัญหาประการที่หนึ่งว่า นมถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งก่อให้มีการปรับเปลี่ยนในระบบรอบเดือนสตรีไปจากเดิมกรณีไฟโตเอสโตรเจนผู้บริโภคหลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน(และส่งต่อกันในโลกไซเบอร์) ว่า เมื่อผู้หญิงดื่มนมถั่วเหลืองแล้วจะได้ ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีผลทำให้ฤทธิ์โดยรวมของเอสโตรเจนในสตรีนั้นเพิ่มขึ้น โดยที่เซลล์เป้าหมายหลักของไฟโตเอสโตรเจนในหญิงวัยเจริญพันธุ์คือ เซลล์ต่อมน้ำนม(ของเต้านม) และเซลล์ที่เป็นผนังมดลูกสารเคมีที่ถูกระบุว่ามีฤทธิ์เอสโตรเจนนั้น เมื่อเข้าสู่เซลล์เป้าหมายแล้วจะออกฤทธิ์แบบเดียวกับที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำคือ กระตุ้นให้เซลล์เป้าหมายเตรียมพัฒนาตัวเอง(มีการขยายขนาดเซลล์) เพื่อให้ทำหน้าที่ที่ควรเป็นเช่น กรณีเซลล์ของต่อมน้ำนมจะเตรียมพัฒนาตัวเองให้สามารถให้น้ำนมได้ เมื่อได้รับสัญญาณว่ามีการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก ส่วนเซลล์ของมดลูกเมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็จะเตรียมพร้อมในการขยายตัวในแต่ละเดือนเพื่อให้ตัวอ่อนเกาะผนังมดลูก(ถ้าไม่มีการเกาะของตัวอ่อนบนผนังมดลูก เซลล์ที่เป็นผนังมดลูกก็ลอกออกเป็นเลือดประจำเดือน) แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคมักไม่รู้คือ สารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนอาจถูกจัดให้อยู่ใน กลุ่มมีฤทธิ์มากกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ หรือ กลุ่มที่มีฤทธิ์น้อยกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ (เมื่อเทียบจำนวนโมเลกุลเท่ากัน)ไฟโตเอสโตรเจนของพืชนั้นอาจอยู่กลุ่มใด(ข้างต้น)ก็ได้ขึ้นกับชนิดของพืช เช่น ไฟโตรเอสโตรเจนในกวาวเครือนั้นมีฤทธิ์สูงกว่าเอสโตรเจนในมนุษย์ จึงมีการใช้ในการแพทย์แผนไทยด้วยปริมาณที่พอเหมาะเพื่อแก้อาการวัยทองของผู้สูงอายุ(แต่มีการใช้กระตุ้นเต้านมของสาวหรือหนุ่มให้ใหญ่ขึ้นพร้อมผลข้างเคียงบางประการ) ส่วนไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลืองนั้น แม้มีความสามารถในการจับกับเซลล์เป้าหมายดีแต่ฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ให้พัฒนากลับต่ำกว่าความสามารถของเอสโตรเจนของมนุษย์ผู้เขียนเคยแนะนำให้สตรีที่มีอาการปวดเต้านมและมดลูกช่วงมีประจำเดือน เพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน เพราะไฟโตเอสโตรเจนในผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองนั้นสามารถแย่งไม่ให้เอสโตรเจน ซึ่งมดลูกสร้างในช่วงก่อนมีประจำเดือนของสตรีเข้าจับเซลล์ต่อมน้ำนมและเซลล์ผนังมดลูกได้ ความเจ็บปวดที่เคยเกิดเนื่องจากการขยายตัวของเซลล์ต่อมน้ำนมและผนังมดลูก(ซึ่งอยู่ในพื้นที่เท่าเดิม) ควรน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลตามสมมุติฐานนี้ประการที่สองในบทความที่กล่าวร้ายถึงนมถั่วเหลืองคือ ถั่วเหลืองนั้นเป็นอาหารที่มีสารต้านโภชนาการ(antinutrients) เยอะมาก ซึ่งก็เป็นความจริงในกรณีที่กล่าวถึงถั่วดิบ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วแล้วไม่สุกพอ ถั่วส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนถั่วเหลืองคือ มีเมล็ดอยู่ในฝักห้อยอยู่เหนือดินนั้น มีสารพิษตามธรรมชาติเมื่อยังดิบอยู่ สารพิษเหล่านี้ยับยั้งการทำงานของเอ็นซัมย่อยโปรตีน ย่อยแป้ง และย่อยไขมัน ซึ่งทำให้สารอาหารเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง โดยส่วนที่เหลือเคลื่อนผ่านลงสู่ลำไส้ใหญ่กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อกินอาหารที่ไม่ถูกย่อยก็ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาทำให้ผู้บริโภคท้องอืดท้องเฟ้อที่น่าสนใจคือ ถั่วเหลืองดิบมีสารพิษชื่อ Heamagglutinin ซึ่งสามารถทำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้บวมได้ และยังมีสารพิษชื่อ Phytic acid ซึ่งจับแร่ธาตุต่างๆ ไว้ทำให้ร่างกายมนุษยนำไปใช้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี สารพิษตามธรรมชาติที่ได้ยกตัวอย่างทั้งหมดนั้น ถูกทำลายให้หมดสภาพเมื่อถั่วได้รับความร้อนที่เหมาะสมด้วยระยะเวลาที่นานพอ เช่นในกรณีของนมถั่วเหลืองนั้น ผู้เขียนเคยอ่านพบในเอกสารวิชาการของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(USDA) ว่า ให้ต้มน้ำนมถั่วเหลืองในลักษณะที่เรียกว่า Simmering หรือเดือดปุด ๆ เบา ๆ นานอย่างน้อย 15 นาที ก็สามารถทำให้สารพิษหมดฤทธิ์ได้ดังนั้นแล้วเมื่อใดที่ท่านพบข้อกล่าวหาว่า การกินผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วอาจเกิดอันตรายจากสารพิษจากธรรมชาตินั้น ขอให้เข้าใจว่าผู้กล่าวนั้นหมายถึง ผลิตภัณฑ์ถั่วที่ยังไม่สุกพอ ซึ่งผู้อ่านควรมีความรู้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วต่างๆ นั้นเมื่อสุกดีควรมีลักษณะสัมผัสเช่นไร อีกประเด็นหนึ่งของการกล่าวหาคือ การดื่มนมถั่วเหลืองทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับยากำจัดวัชพืช ถ้าถั่วเหลืองนั้นเป็นถั่วที่ดัดแปลงพันธุกรรม(Roundup ready soybean) เรื่องนี้เป็นเรื่องถูกต้อง ดังนั้นผู้บริโภคอาจต้องสืบเสาะว่า น้ำนมถั่วเหลืองของบริษัทใดที่ประกาศว่าใช้ถั่วเหลืองที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมกรณีคาราจีแนนการกล่าวถึงสารเจือปนในนมถั่วเหลือง ของสารที่ชื่อ คาราจีแนน (Carrageenan) ซึ่งผู้ประกอบการมักใส่เข้าไปเพื่อปรับเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นก็เป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่กล่าวว่า สารเจือปนในอาหารชนิดนี้ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการทดลองที่ใช้ขนาดของคาราจีแนนที่สูงมากจนไม่สามารถโยงมาสู่ปริมาณที่มนุษย์ได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหาร (หลักการทางพิษวิทยากล่าวประมาณว่า สารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารจะมีประโยชน์หรือโทษต่อผู้บริโภคนั้นขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ได้รับ)ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากบทความเรื่อง Food additive carrageenan: Part II: A critical review of carrageenan in vivo safety studies. ซึ่งนิพนธ์โดย M.L. Weiner  ในวารสาร Critical Reviews in Toxicology ฉบับประจำเดือน March ปี 2014 นั้นได้กล่าวโดยสรุปว่า คาราจีแนนยังอยู่ในสถานะปลอดภัยตราบที่ยังใช้ในปริมาณที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด กรณีสารกลุ่มไอโซฟลาโวนสารกลุ่มไอโซฟลาโวน (isoflavone) คือ เดดซีน (daidzein) และ จีนิสทีน (genistein) ซึ่งถูกศึกษาพบว่า กระตุ้นการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลอง นั้น ในความเป็นจริงแล้วยังมี บทความวิชาการกล่าวถึง การลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยกล่าวว่าสารทั้งสองเป็นปัจจัยในการลดความเสี่ยง ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่า ข้อมูลทั้งสองนั้นดูขัดแย้งกัน...แต่คำอธิบายนั้นมีผลการศึกษาเกี่ยวกับการก่อมะเร็งนั้น เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ใช้สารบริสุทธิ์ในขนาดที่เกินกว่ามนุษย์จะกินได้จากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ซึ่งจะไม่เกิดเมื่อดื่มนมถั่วเหลือง อย่างไรก็ดีข้อมูลดังกล่าวก็เป็นการเตือนว่า สารธรรมชาติที่มีประโยชน์นั้นควรได้รับเข้าสู่ร่างกายในรูปที่อยู่ในอาหาร เพื่อป้องกันการได้รับมากเกินความต้องการ ซึ่งต่างจากการกินในปริมาณสูงกว่าปรกติจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจแสดงความเป็นพิษได้ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและความปลอดภัยของจีนิสทีนในทางวิชาการนั้นสามารถสืบค้นและ download ได้จาก www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26178025

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 2

กิจกรรมการซักผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องทำเป็นกิจวัตร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก การซักผ้าอาจจะพึ่งพาแม่บ้านมืออาชีพ (คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติผงซักฟอกสำหรับผ้าสี กำจัดคราบสกปรกได้ดีหรือไม่เนื่องจากในผงซักฟอกสำหรับผ้าสีโดยทั่วไป ไม่ได้มีสารเคมีที่สำคัญในการกำจัดคราบคือ สารฟอกขาว (bleaching medium) ซึ่งจำเป็นในการกำจัดคราบที่ฝังแน่นบนเนื้อผ้า แต่ผงซักฟอกปัจจุบันมีส่วนผสมสาร Tenside ซึ่งทำหน้าที่ในการละลายคราบไขมันบนผ้า และสารเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดคราบได้ดีขึ้น สำหรับผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวนั้นมีสารเคมีที่ช่วยกำจัดคราบสกปรกได้ดีอยู่แล้วใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มดีหรือไม่ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เช่น ผ้าเช็ดมือ การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าเช็ดมือ ทำให้ผ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับผิวของคน นอกจากนี้การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วยมีผงซักฟอกที่ถนอมเนื้อผ้าหรือไม่ผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก เมื่อผ่านการซักหลายครั้งย่อมทำให้สีซีดสีจางลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีในผงซักฟอก โดยทั่วไปผงซักผ้าสี ป้องกันสีซีดสีจางได้ดีกว่าผงซักฟอกผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Bleaching medium มีความสามารถในการซักฟอกได้ดี แต่ก็ทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้เร็วเช่นกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้าเกิดขึ้นได้อย่างไรในกรณีที่การระบายน้ำในเครื่องซักผ้าไม่หมด และปล่อยทิ้งไว้ในเครื่องซักผ้า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์สามารถเจริญเติบโตได้ และกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้า ก็อาจติดอยู่กับเสื้อผ้าที่เราซักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องซักผ้านั้นเป็นเครื่องซักผ้าสาธารณะ การป้องกันคือ การซักเครื่องเปล่า โดยใช้ผงซักฟอก และใช้น้ำซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทำความสะอาดกล่องใส่ผงซักฟอก เมื่อซักเครื่องเปล่าเสร็จแล้ว ก็เปิดฝาทิ้งไว้จนภายในเครื่องแห้งสนิทในการซักผ้านอกจากเราคำนึงความสะอาดของเนื้อผ้าแล้ว ปัจจุบันเราต้องหันมาสนใจในประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และช่วยให้เราประหยัดปริมาณผงซักฟอกที่ใช้ด้วย และท้ายสุดคือ ประหยัดเงินของเรา ดังนั้นการเลือกซื้อเครื่องซักผ้า จึงเป็นสิ่งที่เราควรหาข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ยิ้มเห็นเหงือกมากไป แก้ไขอย่างไรดี

หนึ่งในปัญหาความงามของสาวๆ คือ การยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป ซึ่งสามารถทำให้ขาดความมั่นใจเวลายิ้มได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยหลากหลายวิธีการ ซึ่งจะมีอะไรบ้างและมีข้อแตกต่างอย่างไร ลองไปดูกันเลยรู้จักภาวะยิ้มเห็นเหงือกกันก่อน ภาวะยิ้มเห็นเหงือกมากเกินไป (Gummy Smile) มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและมุมปากทำงานเกินพอดี หรือเหงือกเจริญลงมาคลุมคอฟันมากเกินไป ทำให้เวลายิ้มแล้วเห็นเหงือกมากกว่าปกติ วิธีการแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถทำได้หลากหลายและมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้ - การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gingivectomy) คือ การตัดแต่งเฉพาะเหงือกส่วนเกินออก ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลขนาดเล็ก และสามารถหายสนิทภายใน 1-2 เดือน ข้อดีคือให้ผลการรักษาเป็นแบบถาวร เหงือกจะไม่กลับมางอกซ้ำอีก และราคาไม่สูงมากนัก โดยอัตราค่าบริการมักขึ้นอยู่กับความยากง่ายและจำนวนที่แก้ไข อย่างไรก็ตามการศัลยกรรมดังกล่าวต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากในบางราย การนูนของเหงือก อาจเกิดจากระดูกหุ้มฟัน ซึ่งต้องกรอแต่งกระดูกดังกล่าวก่อนตัดแต่งเหงือก นอกจากนี้บางคนอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดที่กระดูกขากรรไกรแทน ซึ่งการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดต้องมีการพักฟื้นนาน มีการใช้เหล็ก หรือสกรูดามไว้ ทำให้หลังการรักษาอาจจะทำให้การรับประทานอาหารและพูดได้ลำบากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  - การฉีดโบท็อกซ์ วิธีการนี้ใช้แก้ปัญหากรณีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและยกมุมปากทำงานเกินพอดี ซึ่งโบท็อกซ์จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานน้อยลง และเกิดอาการตึงบริเวณริมฝีปาก ทำให้ฉีกยิ้มได้น้อยลงและเห็นเหงือกน้อยลงนั่นเอง ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวมีอัตราค่าบริการสูงและให้ผลการรักษาชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 4-6 เดือน อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น เพราะหากมีการฉีดผิดจุด อาจทำให้เราขยับปากไม่ได้หรือปากเบี้ยวไปเลย - การอุดเติมเนื้อฟันหรือทำครอบฟัน วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีฟันมีขนาดเล็กหรือสั้นผิดปกติ โดยใช้วัสดุอุดเสมือนฟันช่วยเติมซี่ฟันให้ดูยาวขึ้น หรือใช้การครอบฟันร่วมกับการตัดเหงือก ข้อเสียคือราคาสูง โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่ซี่ละ 3,500 บาท - การจัดฟัน ช่วยแก้ไขในกรณีที่ตำแหน่งฟันผิดปกติ ยื่นออกมามาก หรือฟันห่าง โดยจะใช้การจัดฟันทำให้ฟันชิดและไม่ยื่นได้ หรืออาจใช้การปักหมุดช่วยดึงฟันลงมาเพื่อให้ระดับฟันสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง - การผ่าตัดตกแต่งบริเวณริมฝีปากบน หากใครที่เคยทำปากกระจับแล้วทำให้ริมฝีปากบนบางเกินไปจนทำให้เกิดภาวะยิ้มเห็นเหงือก สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเสริมริมฝีปากบนให้หนาขึ้น ซึ่งมีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูงและอาจต้องรักษาหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือสามารถแก้ไขด้วยการฉีดสารเติมเต็ม (Filler) แต่ผลการรักษาจะอยู่ชั่วคราว และต้องฉีดใหม่ทุกๆ 6 เดือนทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการใดเพื่อแก้ไขภาวะยิ้มเห็นเหงือก ควรคำนึงถึงการเลือกทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ เครื่องมือสะอาด ปลอดภัยหรือแจ้งโรคประจำตัว อาการแพ้ยาต่างๆ ก่อนทำ และควรดูแลตัวเองหลังทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบ ทำความสะอาดช่องปากตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง ร้อนจัด หรือรสจัด เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองแผล รวมทั้งหมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลาดใช้ชีวิต แบบวีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา

ฉลาดซื้อฉบับแรกของศักราชใหม่ พาไปสัมผัสมุมมองจากคนฉลาดซื้อ ที่ไม่ได้สมาร์ทเพียงแค่ตนเอง แต่ยังมองไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิกเฉยกับการถูกละเมิดสิทธิ“เราคิดว่าเวลาเราซื้อของ ถ้าของแพงต้องเป็นของดี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ของไม่ดีแต่ราคาแพงเวลาเราซื้อมาก็จะรู้สึกเจ็บใจ ทำไมเราเสียค่าโง่กับของไม่ดีแล้วยังราคาแพงอีก เหมือนซื้อของปลอมเพราะเราคิดว่ามันคือของจริง พอเรารู้ว่าปลอมมันก็เสียความรู้สึก  แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อของปลอมแล้วเราได้ของดีมาใช้ผมมองว่า มันก็โอนะ ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคผมมองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าสมมติเราไม่อยากส่งเสริมการใช้ของปลอมและต้องการสนับสนุนคนที่ทำของจริง  นั่นหมายความว่าเราต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเราซื้อของจากร้านที่เราเชื่อถือได้ แต่ถ้าเราได้ของปลอมมามันน่าจะต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองเรา เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ก็เป็นการฉลาดบริโภค เพราะเรารู้ทันในเรื่องของราคา สิ่งสำคัญเวลาที่เราจะซื้อ อย่างตัวผมเองไม่ได้แพ้(สารเคมี) อะไรเวลาซื้อก็ไม่ต้องระวัง แต่สำหรับคนที่แพ้เคยพบว่า ตัวเองเคยแพ้อะไรมาบ้างอย่างน้อยสาระสำคัญเหล่านั้น จะต้องสามารถมาตรวจสอบกับสินค้าที่เราจะซื้อว่าไม่มีสารที่เราแพ้จริง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ้าผู้บริโภคมีความรู้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ผมยกตัวอย่าง เช่น มีคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อาหารทะเลแล้วก็ไปบริโภคอะไรที่เราไม่รู้ว่าเขาใส่สิ่งที่เราแพ้ลงไปด้วยจนกระทั่งมันเกิดอาการแพ้กับเรา ถามว่า สิทธิผู้บริโภคเองกับเรื่องพวกนี้ เขาควรจะทราบก่อนไหม กรณีฉลาดบริโภคก็คือ เราได้ของดีในราคาที่เราพอใจ ราคาไม่เอาเปรียบเราแล้วเราก็ได้รับสิทธิในการคุ้มครองจากการที่เราได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้านั้น ซึ่งอาจจะผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) หรือ สคบ. ก็แล้วแต่กรณี ถ้าผ่าน มพบ. ผมมองว่าข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง คือการกัดไม่ปล่อย การติดตาม ถ้าทาง สคบ. ก็ดีในแง่ที่ว่าการเยียวยาและกลไกทางศาล ก็จะมีข้อดีไม่ดีต่างกันนิดหน่อย นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบพิสูจน์แล้วพบว่า ร้านนี้ขายสินค้าที่ติดเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าติดเครื่องหมายปลอม ก็จะมีกฎหมายในการเล่นงานร้านค้าว่า คุณจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะมีช่องทางกฎหมายของเขาอยู่ นี่คือสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคควรทำ อย่ามองว่าไม่เป็นไรเป็นความโชคร้ายและเราก็เพิกเฉย มันก็จะเกิดผู้เสียหายรายใหม่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมก็ยังมีความสุขในการขายของคุณภาพต่ำ เป็นการเอาเปรียบคนอื่นต่อไป ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปสนับสนุนเขาแบบนั้น ถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแล เรียกว่าช่วยซึ่งกันและกัน เราก็จะมีแต่สินค้าที่มีคุณภาพในบ้านเรา และกำจัดพวกผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมนั้นให้หมดจากวงการ เราจะได้อยู่ในประเทศที่มีทั้งฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ฉลาดใช้แล้วก็ยังได้รับการคุ้มครองด้วย นี่คือสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ในแบบดร.วีระพันธ์คือ ส่วนตัวผมไม่ขับรถ ความคิดที่ไม่ใช้รถส่วนตัวเพราะคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งรถรับจ้าง รถสาธารณะ ถ้าเราไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบหนักๆ การเดินทางโดยรถสาธารณะมันทำให้ชีวิตในการเดินทางของเราดีที่สุด ถ้าการจราจรติดขัดเราก็มีรถไฟฟ้า มีรถใต้ดิน มีมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่เรือ ทุกครั้งเวลาเดินทางต้องถามว่าเราเดินทางไปไหน เวลาไหน ผมก็จะรู้ว่าจะต้องนั่งรถอะไร ขึ้นทางด่วนไหม ต้องต่อรถหรืออะไรก็ว่ากันไป มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีความคล่องตัวดี เพราฉะนั้นผมจึงมองว่าถ้าใช้ชีวิตในเมืองเป็นส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ มองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ผมนึกถึง คือ การที่เราไม่มีรถ 1 คันหรือคิดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ปริมาณถนนที่อยู่ในเมืองมันจำกัดแต่ปริมาณรถนั้นมันเพิ่มขึ้น จุดที่เราเรียกว่า จุดอิ่มตัว ก็เป็นปริมาณรถยนต์ต่อเวลานั้นๆ ใน 1 วันมันได้สูงสุดเท่าไร ยิ่งมันเกินตรงนั้นมากเท่าไร การติดขัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ไปเพิ่มจำนวนตรงนั้นอีก 1 คันนั้น ก็หมายถึงว่าเราก็ไม่ไปเพิ่มการติดขัด กรณีคนโสดที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่นั้น ถ้าลดปริมาณการใช้รถลง สังเกตช่วงวันหยุดยาวปริมาณรถบนถนนเบาบาง การเคลื่อนที่ก็คล่องตัวขึ้นในแง่ว่าเราลด 10 % เราจะใช้เวลาบนถนนน้อยลงเกือบ 2 ชั่วโมง คือ เราต้องปล่อยให้คนที่มีความจำเป็นเขาใช้รถไม่ว่ากัน แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถไฟฟ้าก็ถึงเราก็ช่วยกันลด และมันทำให้เวลาขับเข้าไปในเมืองพื้นที่จอดไม่มี ก็ไปจอดกันบนถนนยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการระบายรถอีก คือถ้าพวกเราช่วยกัน ให้คนในเมืองมองเรื่องนี้แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้เยอะทีเดียว นี่เป็นประโยชน์ที่เรามองเห็น กลับมามองประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเราเอง โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า ถ้าเราซื้อรถยนต์ 1 คันเราต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ค่าเชื้อเพลิงหรือไม่ว่าค่าบำรุงรักษา ถ้าเราไม่ซื้อค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างวิธีคิด ซึ่งอาจจะประหลาดๆ นิดหน่อย คือ บ้านผมนั้นอยู่นางเลิ้งผมต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ค่ารถที่ผมใช้ทุกวันนี้คือ 80 บาท คิดเป็น 100 ก็ได้ตัวเลขกลมๆ คิดง่าย 100 บาท ไป – กลับวันหนึ่งเท่ากับ 200 บาท  เดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วันเลยไม่ต้องหยุดก็ตกเดือนละ 6,000 บาท ผมถามว่า เดือนละ 6,000 บาทผมจ้างคนขับรถได้ไหม มีรถให้ มีคนเติมน้ำมันให้ฟรี มีคนทำประกันให้อีก มีคนจ่ายค่าซ่อมต่างหาก ยังไม่ได้เลย แต่เรามองกลับกันเงินให้คนขับรถเอาที่เท่าไรดีเขาถึงจะโอเค สมมติเขาขอ 18,000 บาท ถ้าเราคิดวันทำงาน 30 วันเท่ากับตกวันละ 600 บาทหรือ 300 บาทต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าใครที่เดินทางโดยแท็กซี่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเที่ยว ก็คือผู้ที่เข้าข่ายว่าไม่ควรขับรถ คือนั่งแท็กซี่น่าจะดีกว่า เรื่องปลอดภัยนั้นอีกเรื่องเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ควรนั่งรถเพราะมันดูจะอันตรายเกินไป เรียกว่ารูปร่างทำร้ายตัวเองอันนี้ก็เข้าข่ายเป็นเรื่องจำเป็นไป ผมมองว่า คนไทยมีนิสัยความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การมีทรัพย์สินบนตัวหรือโชว์ด้วยยานพาหนะดูเป็นคนมีฐานะ ถ้าเราบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นหลักของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมี นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเลยไม่จำเป็นต้องมีรถ การไม่มีรถส่งผลดีอีกเรื่องหนึ่งด้วนะ  คือว่าเราไม่ต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านเพราะไม่รู้จะไปจะกลับอย่างไร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายมัน เศรษฐกิจในตอนนี้ถ้าเราออมอะไรได้มากขึ้นอนาคตก็จะสบายมากขึ้นจะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามความคิดในกรอบเดิมๆ ผมเคยเรียนที่เยอรมัน เพื่อนฝรั่งเยอรมันก็เคยมาที่เมืองไทย เขาบอกว่า คนไทยแปลกเรื่องเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเสียตังเรื่องเล็ก ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเพราะมองว่า คนไทยนั้นแม้แต่คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่เท่าไรก็จะผ่อนบ้านแล้ว หลายคนเลยเลือกผ่อนรถก่อน ผมถามว่าจำเป็นต้องใช้รถขนาดนั้นไหม ซึ่งหลายคนอาจจะจำเป็น เช่น คนที่เป็นเซลล์แต่หลายคนเป็นพนักงานบริษัทที่มีบริษัทตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า อยู่ติดถนนใหญ่ คือกลุ่มคนพวกนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากชวนว่า คนที่ใช้รถอยู่ทุกวันนี้ถ้าลดได้สัก 10 % ผมว่าการจราจรกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางได้อีก คือมันเป็นลักษณะของพฤติกรรมหนึ่งที่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเราต้องคิดในแง่หนึ่งที่ผมนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 8 ที่ตรัสว่าให้คิดประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ 1 และคิดถึงประโยชน์ตัวเองเป็นที่ 2 ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งเหล่านี้ มีบางคนบอกผมว่า ก็เขามีรถมันก็เลยต้องใช้ ผมจึงบอกไปว่าขายไปเสียจะได้ไม่มี หรือเก็บไว้ใช้ออกนอกเมืองหรือใช้ไปทำงานในที่ที่ไม่ใช่การเดินทางปกติที่ไป - กลับลำบาก เดี๋ยวนี้คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีเรียกรถ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าไม่ได้ลำบากมากมายก็เป็นทางเลือกที่น่าทดลองดูก็ได้ ถ้าการจ้างคนขับคนหนึ่งเงินเดือนสัก 18,000 บาทกับการที่เราจ้างคนขับแท็กซี่แทน ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่านี่คือสิทธิผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน มีรถยนต์แต่ที่ผมมองคือ ตอนนี้ปัญหามันมากมายกับเรื่องรถยนต์ การแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่หมายความว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มถนน ไม่ใช่เพิ่มทางด่วนแต่วิธีแก้จราจรที่ยั่งยืนที่สุดเลยคือลดจำนวนคนขับรถ ถ้าจำนวนผู้ขับไม่ลด คน 1 คนจะซื้อรถ 10 คันก็ได้แต่ถ้า 1 คนรถ 10 คันไม่ได้ขับแม้แต่คันเดียวมันก็คือ 1 คันหายไป คือการจะทำนโยบายวันคู่วันคี่ ป้ายทะเบียนคู่คี่คือคนมีเงินเขาซื้อได้หมด แต่คนที่ไม่มีต่างหากที่เขาจำเป็นต้องใช้ คนอาจจะไม่มีฐานะมากมายแต่อาจจะเป็นเพราะลูกยังเล็กต้องส่งหลายที่เขาก็คงจะลำบากถ้าไม่มีรถ เราอยากให้คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ควรจะขับรถแล้วไม่ต้องไปใส่มาตรการอะไรเลยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพิ่ม เพียงแต่เราเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นมากมาย ไม่เห็นต้องมีคำว่าเสียหน้าเลย คนที่เสียหน้าแต่กระเป๋าตังหนาผมว่ามันยังดูดีกว่าคนที่มีหน้าแต่กระเป๋าตังบาง คือถ้ามุกคนเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืนบริการรถสาธารณะที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน ส่วนตัวผมขอเปรียบไปที่ประเทศเยอรมัน ที่ผมเคยอยู่นั้น อย่างบ้านเราก็จะมีรถที่ให้บริการรถ BRT ให้บริการเส้นสาทร – นางลิ้นจี่ ซึ่งมีช่องรถของเขาเอง เพราะฉะนั้นเขาวิ่งของเขาได้ ที่เมืองนอกก็จัดบริการอย่างนั้น เมื่อก่อนเรามีรถเมล์เดินทางเดียว ซึ่งปัจจุบันเราก็พยายามจะลดตรงนั้นลงเพื่อให้รถมีพื้นที่สัญจรมากขึ้น ก็เลยทำให้คนที่นั่งรถสาธารณะต้องติดเหมือนคนที่นั่งปกติ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการทำให้มีช่องทางรถโดยสารสาธารณะเองให้คนที่โดยสารสาธารณะเดินทางได้เร็วขึ้นมันจะเท่ากับช่วยดึงดูดให้คนที่ใช้รถประเภทไม่มีความจำเป็นมานั่งรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มากผมคิดเรื่องการสร้างจิตสำนึกว่าการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนเวลาเรามีภัยพิบัติก็ยังช่วยกันได้ กรณีอย่างนี้เหมือนกันถ้าเราคิดว่าเราไม่ใช่คนมีฐานะมากมายต้องการลดค่าใช้จ่าย ผมว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถมาเป็นนั่งรถสาธารณะ อย่างน้อยทำให้เราไม่ต้องซื้อของเยอะเพราะซื้อเยอะก็ขนไม่ไหว คิดง่ายๆ ขับรถก็ต้องเหนื่อยต้องรถติดอยู่บนถนน รถสาธารณะเราคำนวณเวลาได้ว่าเราต้องออกจากบ้านกี่โมง ถึงกี่โมงในขณะที่รถยนต์ข้างล่างคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับถนนข้างล่างเพียงแค่ซื้อความสะดวกสบายเรา ผมเคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเองเลย คือจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินตอน 7 โมงเช้าผมตื่นตอน 6 โมงเช้าผมไปขึ้นเครื่องบินทันด้วยรถแท็กซี่ ผมบอกเขาว่าผมรีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยังมานึกอยู่ว่าถ้าผมขับรถเองไม่มีทางเลยเพราะผมต้องหาที่จอด นี่คือตัวอย่างแล้วระหว่างอยู่บนรถเรายังสามารถทำนั่นทำนี่ได้เพราะเรามีคนขับรถ ถ้าขับเองแค่ก้มมาชำเลืองมือถือมันไม่ใช่แค่เราแล้วมันมีเพื่อนร่วมท้องถนนอีก ยิ่งทำให้ช้าเข้าไปใหญ่ คือแค่เราบริหารชีวิตเรามันไม่เพียงลดอุบัติเหตุแต่เรายังมีเวลาทำงานได้อีกก็เลยเปลี่ยนจากเป็นคนขับมาเป็นคนนั่งดีกว่า แถมยังประหยัดเงินรักษาพยาบาลเขาอีกลูกหลานไปโรงเรียนก็ต้องให้เงินเขาอีก ในเมื่อเขาเป็นคนขับแท็กซี่เราลงจากรถเราจ่ายเงินเขาเสร็จหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่มีต่อคนขับรถก็หมดสิ้น เดี๋ยวนี้มีรถอูเบอร์แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนที่ต้องการจะโชว์ความมีหน้าตาว่าเราเป็นคุณนายจะมานั่งแท็กซี่ได้อย่างไร เขาให้เราถามได้เลยว่าเราจะได้รถอะไร มันจะสมหน้าตาเราไหม ถึงได้บอกว่าวิธีที่คิดคือว่าเรามองจากตัวเองเราจำเป็นแค่ไหนกับการที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเราเดือดร้อนมากแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็มีไปเถอะไม่เป็นไรถือว่ามันจำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องมีรถแล้วได้ทราบข้อมูลนี้แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้รถ 1 คันอาจจะทำให้บนถนนนี้น่าใช้ขึ้นก็ได้ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปคิดถึงขนาดว่าฉันลดแต่คนอื่นไม่ลด รถก็ติดเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากตัวคุณไปใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดินแทนมันก็ไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าเดิมแล้ว ให้เปลี่ยนที่ตัวเราไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ไม่ต้องมองว่ารัฐต้องทำนั่น ทำนี่เพราะมันจะเป็นเงื่อนไขให้เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วเงื่อนไขมันตามมามันก็จะช่วยเสริมให้ดีขึ้น แล้วทีนี้ในส่วนภาครัฐที่ผมมองว่านโยบายค่าน้ำมัน อย่างประเทศบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์เองมีนโยบายในเรื่องของการขับรถผ่านในย่านที่เป็น Business เมื่อก่อนเราก็เคยติดถนนสีลมใครผ่านย่านนี้ต้องมีใบอนุญาต ผมมองว่าเป็นนโยบายการแก้ไขมากกว่า ผมคิดอีกอันหนึ่ง คือถ้าเป็นนโยบายในเชิงสมัครใจไม่เวิร์ค อาจจะต้องลองนโยบายการบังคับมาใช้ เช่น การเพิ่มราคาน้ำมันเป็นภาษีเรียกว่าภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างเยอรมันใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนขับรถคุณเติมน้ำมันไป 1 ลิตรนั้นคุณต้องเสียภาษีสิ่งแวดล้อม 5 บาทอันนี้สมมตินะ แล้วภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ไปชดเชยให้กับคนที่นั่งรถสาธารณะ ทุกวันนี้เรามีรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชนแต่ทุกวันนี้คนอาจไม่อยากนั่งเพราะมันร้อนเราอาจจะเอาค่าน้ำมันตรงนี้เพื่อไปชดเชยให้คนนั่งรถแอร์ฟรี คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองไปนั่งรถสาธารณะจะได้นั่งรถฟรีด้วย ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนฉลาดในการใช้พลังงานในฐานะอาจารย์ด้านไฟฟ้า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งปรึกษาผมว่า ค่าไฟที่บ้านแพงมาก ที่บ้านอยู่กัน พ่อแม่ลูก ทั้ง 3 คนนี้ออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาบ้านก็นอน ค่าไฟเดือนละประมาณ 6,000 บาท ผมเลยบอกไปว่ามันไม่ปกติคน 3 คนใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะกลางคืนค่าไฟไม่น่าจะเกิน 1,200 บาท พอแพงแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมจึงบอกว่า มันน่าจะเป็นไฟรั่ว ประเด็นไฟรั่วไม่ต้องไปหาใครมาซ่อมมาแก้ไข ตัวเองต่างหากต้องแก้ไข วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ หาช่างไฟมาเปลี่ยนคัทเอาท์แล้วก็ทำวงจรเดินสายไปที่ตู้เย็นที่เหลือก็ยกคัทเอาท์ลงทั้งบ้านเลย หรือถ้าใครบอกว่าบ้านใหญ่มันซับซ้อนมากกว่านั้น คือบ้านมีคนอยู่ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์มีอะไรบ้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็นมีหลายตู้ก็รวมของสดไว้ตู้เดียวที่เหลือก็ดึงปลั๊กออก อุปกรณ์ไหนไม่ใช้ก็ดึงปลั๊กออก ถ้าดึงปลั๊กไม่สะดวกผมก็แนะนำซื้อเบรกเกอร์ 2 โพล ไฟรั่วก็เหมือนน้ำรั่วเราต้องเสียค่าน้ำ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวคือยกคัทเอาท์ออกมันจะทำให้กระแสไฟไม่ไหล ไฟก็ไม่รั่วเราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็น หรือปั๊มน้ำเรากลับถึงบ้านเราก็เปิดปั๊มมันทำงาน ก่อนเรานอนเราก็ปิดเราก็มีน้ำไว้ใช้แล้ว ถ้าไฟจะรั่วตอนที่เราเสียบปลั๊กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราทำแค่นี้ปรับพฤติกรรมเราเองอย่างน้อยค่าไฟก็ลดไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องไปหาว่ารั่วที่ไหนเพราะมันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่เราสามารถปรับพฤติกรรมเราได้ แนวทางฉลาดใช้ชีวิตที่อยากแนะนำสิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดเลือกแล้วก็สิ่งสำคัญ คือเราต้องรักษาสิทธิผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภคสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอเลยก็คือ คุณคาดหวังว่าจะได้อะไรจากสินค้า คุณอ่านแล้วคุณเชื่อแต่เมื่อใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คุณเชื่อต้องเรียกร้องสิทธิ ในฐานะที่อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ต้องไปซื้อสินค้าแล้วทุกข์ทรมานเหมือนกับที่เราโดน คือตรงนี้อยากให้ผู้บริโภคนั้นรักษาสิทธิของตัวเอง แต่ไม่ควรจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าไปใช้สิทธิมากกว่าที่เราควรมี ขอใช้คำว่าไปซื้อของปลอม ไปซื้อของที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันปลอมแล้วมาเรียกร้องว่าทำไมของนั้นไม่ดีเหมือนของจริง อันนี้เราเรียกว่าเรียกร้องเกินสิทธิ หรืออีกอย่างที่ผู้บริโภคควรจะทราบเหมือนกัน คือว่าเมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วปรากฏว่าสินค้ามันทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ต่อร่างกายหมายถึงเราบาดเจ็บจากการใช้สินค้า  ทางจิตใจก็คือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ก็มี PL Law เรามีสิทธิเรามีขั้นตอนกระบวนการ ตรงนี้อยากให้ผู้บริโภครู้จักใช้กัน คือถ้าเป็นไปได้คือเราให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าสิทธิที่ผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการดูแลนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเราต้องไปร้องเรียนใครเพื่อให้เขามาดูแลให้ หรือตอนนี้ในส่วนตัวเองที่ช่วยงานที่ สคบ. อยู่นั้นกำลังเตรียมเรื่องของ Recall คือกฎหมายที่จะบอกว่าบริษัทที่จะต้องทำหารเรียกคืนสินค้า ซึ่ง Recall ในกลไกที่เรากำลังเตรียมการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีการประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสินค้าไม่ปลอดภัยตอนนี้ที่เราประกาศออกมาแล้วนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ถือสินค้านั้นอยู่ เราซื้อมาแล้วเรามีใบเสร็จเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปที่ร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืนได้ อันนี้ก็เป็นเรืองของกฎหมาย Recall แต่ขอเน้นว่ากฎหมาย Recall นั้นเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้กับสินค้าที่มีการขึ้นประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย

หลังจากที่ผ่านมาเราเคยทดสอบปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันไปแล้ว และพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดในท้องตลาดมีปริมาณโซเดียมสูง โดยการรับประทานหนึ่งห่อจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูงถึง 50-100% ของความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ได้เรากลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้เราตามไปดูกันที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ที่เพียงแค่เปิดฝาเติมน้ำร้อนก็พร้อมรับประทานทันที ซึ่งได้รับนิยมมาก โดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อในสถานที่ชุมชนทั่วไป ในย่านการศึกษา และร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน จะมีบริการบะหมี่ถ้วยให้เลือกจำนวนมากพร้อมมีน้ำร้อนให้บริการเสร็จสรรพ เราจึงเห็นภาพคนยืนซดเส้นซดน้ำกันอย่างเป็นเรื่องปกติ   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปชมผลทดสอบ ปริมาณโซเดียมและโปรตีนในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากตัวอย่าง 15 ยี่ห้อยอดนิยม โดยตรวจสอบจากข้อมูลโภชนาการที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีปริมาณโปรตีน/โซเดียมสูงหรือต่ำที่สุด ลองไปดูกันเลย------------------------------------------สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำความตกลงกับผู้ผลิต ให้มีการจัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อแสดงปริมาณโซเดียมให้ผู้บริโภคได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ และบริโภคในปริมาณที่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่ควรได้รับต่อวัน คือ สูงสุดไม่เกิน 2,400 มก./วัน (ผู้ชายควรบริโภค 475-1,475 มก. และผู้หญิงควรอยู่ที่ 400-1,200 มก./วัน) ข้อมูลการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่าตลาดปี 2558 : 15,800 ล้านบาทส่วนแบ่งการตลาด: มาม่า 51% ยำยำ 20% ไวไว 20% อื่นๆ 9%สัดส่วนการตลาด: ซอง 71% ถ้วย 29%อ้างอิงข้อมูล: http://marketeer.co.th/archives/51518สรุปผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมจากตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้ง 15 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ พบว่า1. มีเพียง 7 ยี่ห้อที่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ ยี่ห้อ 1. เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 2. เซเว่นซีเล็ค บะหมี่ชามกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 3. จายา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ 4. เกษตร วุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป รสยำวุ้นเส้นทะเล 5. ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 6. ลิตเติ้ลกุ๊ก บะหมี่ต้มยำทะเล และ 7. มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า 2. จากข้อมูลโภชนาการ พบว่า - ยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมเยอะที่สุดคือ เอฟเอฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ มีปริมาณโซเดียม 2,160 มก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโซเดียม 1,000 มก./น้ำหนัก 26 ก. - ยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนเยอะที่สุดคือ ซื่อสัตย์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีปริมาณโปรตีน 7 ก./น้ำหนัก 65 ก. และยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุดคือ มีพลัส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทูน่า มีปริมาณโปรตีน 3 ก./น้ำหนัก 26 ก.3. มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1. พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล 2. นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น 3. ไวไว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 4. ยำยำ บะหมี่ถ้วยกึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง 5. เซเว่น ซีเล็ค-นิสชิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำทะเลน้ำข้นคิงคัพ 6. นิสชินคัพนูดเดิ้ล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้งแซ่บ 7. ควิก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง 8. มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง โดยจากการตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญ พบว่า  ยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ เช่น ปลา กุ้ง หอย มากที่สุดคือ พรานทะเลนู้ดเดิ้ลโบวล์ รสต้มยำรวมมิตรทะเล มีส่วนประกอบของรวมมิตรทะเล 25%/น้ำหนัก 80 ก. และยี่ห้อที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์น้อยที่สุดคือ นิสชิน ชิลลี่นู้ดเดิ้ล รสต้มยำกุ้งน้ำข้น มีส่วนประกอบของกุ้งอบแห้ง 0.47%/ น้ำหนัก 60 ก.ข้อสังเกตการแสดงข้อมูลโภชนาการ พบหลายยี่ห้อไม่มีฉลากโภชนาการแม้ อย.ได้ดำเนินการพิจารณาให้อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ หรือในเบื้องต้นให้แสดงปริมาณโซเดียม เพื่อให้ข้อมูลด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค ด้วยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันและโซเดียมแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts; GDA) บนฉลากอาหาร เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสนับสนุนมาตรการป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ โดยอาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่าง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง และข้าวต้มปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง จำเป็นต้องมีฉลากดังกล่าว ซึ่งหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ จัดว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศโดยมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท แต่เรายังพบว่าจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ มี 8 ยี่ห้อที่ไม่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการตามประกาศฉบับนี้ข้อมูลอ้างอิง :1.http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P374.PDF2. http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_fda/No.374_Food_nutrition_labels.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “สารฟอกขาว” ใน “วุ้นเส้นสด”

“วุ้นเส้น” อีกหนึ่งอาหารเส้นที่หลายคนชื่นชอบ สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ ได้หลากหลาย ทั้ง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไท ยำวุ้นเส้น แกงจืด กุ้งอบวุ้นเส้น และอีกสารพัดเมนู ซึ่งเดี๋ยวนี้มี “วุ้นเส้นสด” ที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนชอบกินวุ้นเส้นง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการนำวุ้นเส้นแบบแห้งมาแช่น้ำให้เส้นนิ่มก่อนถึงจะนำมาปรุงอาหารได้ เพราะวุ้นเส้นสดแค่เกะซองก็พร้อมปรุงได้ทันที ทำให้บรรดาร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผัดไทหลายๆ แห่งเริ่มหันมาใช้วุ้นเส้นสดกันมากขึ้น ส่วนเรื่องรสชาติความอร่อย ความเหนียวนุ่มของเส้น แบบไหนจะโดนใจกว่ากันอันนี้ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลวุ้นเส้นจัดอยู่ในประเภทของอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีมาตรฐานในการควบคุมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายมีความปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่มักพบในวุ้นเส้นก็คือเรื่องของ “สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์” หรือ “สารฟอกขาว” ฉลาดซื้อจึงขออาสาสำรวจดูว่า บรรดาวุ้นเส้นสดยี่ห้อต่างๆ ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด แต่ละยี่ห้อมีการปนเปื้อนของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากน้อยแตกต่างแค่ไหนกันบ้างสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ใส่ได้แต่ห้ามเกินที่กฎหมายกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อ้างอิงตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกลุ่มอาหารประเภท วุ้นเส้น เส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม***ถ้าลองเทียบกับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศหรือโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีวุ้นเส้นสดอยู่ในข้อกำหนด แต่ก็มีกลุ่มอาหารที่พอจะเทียบเคียงได้คือ กลุ่ม พาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทํานองเดียวกัน ชนิดกึ่งสําเร็จรูป (Pre-cooked pastas and noodles and like products) ซึ่งในโคเด็กซ์มีการกำหนดให้พบสารในกลุ่มซัลไฟต์ไว้แค่ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัมเท่านั้นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide : SO2) หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในชื่อของ “กำมะถัน” เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่ติดไฟ แต่มีกลิ่นฉุนรุนแรงทำให้หายใจไม่ออก แต่ละลายน้ำได้ดี ซึ่งสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารในกลุ่ม ซัลไฟต์ (Sulfites) เป็นสารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเป็นทั้งสารกันเสีย ที่มีประสิทธิภาพสูงในการถนอมอาหาร ราคาถูก ง่ายต่อการใช้งาน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ ยีสต์ รา และแบคทีเรีย ช่วยกันหืน รวมทั้งยังใช้ในการยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลเนื่องจากเอนไซม์และที่ไม่ใช่เอ็นไซม์  นิยมใช้กับอาหารหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอาหารที่จำพวกผักและผลไม้ ผักผลไม้แห้ง ผักผลไม้ดอง ผักผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กวน แยม อาหารในกลุ่มน้ำตาล น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำเชื่อม อาหารที่มีการใช้เจลลาติน ถั่วบรรจุกระป๋อง หน่อไม้กระป๋อง เห็ดกระป๋อง อาหารแช่แข็ง เครื่องดื่มบางชนิด และอาหารจำพวกเส้นที่ทำจากแป้ง เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และ วุ้นเส้นผลทดสอบ- พบ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างวุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ- ข่าวดี ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบในวุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่าง ไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด(ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม)- ตัวอย่างวุ้นเส้นสดที่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ น้อยที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.ยี่ห้อเถาถั่วเงิน (ถุงแดง) เก็บตัวอย่างที่ตลาดสะพาน 2 พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปริมาณ 27 มก./กก., 2.ยี่ห้อบิ๊กซี เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี สาขาสะพานควาย พบปริมาณ 28 มก./กก. และ 3.เถาถั่วเงิน (ถุงเขียว) เก็บตัวอย่างที่ตลาดบางกะปิ พบปริมาณ 45 มก./กก.- ตัวอย่างวุ้นเส้นสดที่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มากที่สุด คือ 1.ยี่ห้อชอแชมป์ เก็บตัวอย่างที่ตลดบางกะปิ พบปริมาณ 233 มก./กก., 2.ยี่ห้อส้มทอง เก็บตัวอย่างที่ห้างแม็คโคร บางกะปิ พบปริมาณ 224 มก./กก. และ 3.ยี่ห้อเทสโก้ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาลาดพร้าว พบปริมาณ 196 มก./กก. - มีเพียงแค่ 7 ตัวอย่าง ที่แจ้งข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารบนฉลาก ซึ่งตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ  กำหนดไว้ว่าอาหารที่มีสารในกลุ่มซัลไฟต์ มากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องมีการแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ซึ่งจากการทดสอบครั้งนี้ พบว่า วุ้นเส้นสดทั้ง 16 ตัวอย่าง มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์(สารในกลุ่มซัลไฟต์) มากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม - มีวุ้นเส้นสด 6 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 16 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อมูลบนฉลากแจ้งเรื่องการใช้วัตถุเจือปนอาหารตามที่กฎหมายกำหนด และมี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย ตามประกาศ อย. ที่กำหนดให้อาหาร ที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องแสดงข้อความ ชื่อ หน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือระบุหมายเลขรหัสวัตถุเจือปนอาหารสากล(International Numbering System : INS for Food Additives) ซึ่งหมายเลขสากลของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ INS220 - จากสำรวจครั้งนี้พบว่า ยังมีผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นสดหลายยี่ห้อมีปัญหาเรื่องการแสดงฉลาก โดยแสดงข้อความไม่ครบถ้วน หรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะตัวอย่าง วุ้นเส้นสดยี่ห้อ 1 ซึ่งบนบรรจุภัณฑ์ มีแค่เลข 1 กับข้อมูลวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อวุ้นเส้นสด ที่ขนาดเส้นมีความสม่ำเสมอ เส้นใส ดูออกเป็นสีขาวเล็กน้อย เมื่อต้มแล้วมีความเหนียวยืดหยุ่น เส้นไม่เกาะกัน -ต้องไม่มีกลิ่นอับ ไม่มีเชื้อรา หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ปนเปื้อนมาในบรรจุภัณฑ์-ซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้-ข้อมูลบนฉลากต้องครบถ้วน มีชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อ และที่ตั้งผู้ผลิต เลข อย.แจ้งปริมาณบรรจุ แสดงส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก มีวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุอันตรายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากร่างกายของเราได้รับในปริมาณที่มากเกินไป แต่โดยปกติถ้าได้รับในปริมาณไม่มากร่างกายคนจะมีเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนสารซัลไฟต์เป็นสารซัลเฟต ซึ่งไม่มีพิษต่อร่างกายและถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ สำหรับพิษของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อสูดดมจะมีฤทธิ์กัดกร่อนต่อระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน ช็อก หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในผู้ที่แพ้มากหรือผู้ที่เป็นหอบหืดโดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 0.7 มิลลิกรัมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วันกินวุ้นเส้นแล้วไม่อ้วนจริงหรือ!?สาวๆ หลายคนเลือกกินเมนูวุ้นเส้นด้วยเหตุผลว่า ทำให้อ้วนน้อยกว่าเมนูเส้นชนิดอื่นๆ ซึ่งตามข้อมูลกรมอนามัยพบว่า วุ้นเส้น ถือเป็นอาหารในกลุ่มข้าวและแป้งที่ให้พลังงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปริมาณที่รับประทาน โดยวุ้นเส้นสุก 1 ทัพพี หรือประมาณ 60 กรัม ให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี ขณะที่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ 1 ทัพพี หรือเท่ากับ 50 กรัม และเส้นหมี่ 2 ทัพพี หรือประมาณ 54 กรัม จะให้พลังงานอยู่ที่ 80 กิโลแคลอรี  หรือถ้าเทียบกับข้าวสุก 1 ทัพพี ประมาณ 60 กรัม ก็จะให้พลังงานเท่ากับ 80 กิโลแคลอรีเช่นกัน แต่ทั้งนี้จะอ้วนหรือไม่อ้วนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เรารับประทานหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่ากินวุ้นเส้นแล้วร่างกายจะได้โปรตีน ความจริงแล้ววุ้นเส้นก็คือ แป้งเช่นเดียวกับอาหารจำพวกเส้นชนิดอื่นๆ แม้ว่าวุ้นเส้นจะทำจากถั่วเขียว แต่ผ่านกรรมวิธีการทำมาจนเหลือแต่ส่วนที่เป็นแป้ง ทำให้วุ้นเส้นแทบจะไม่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่เลย

อ่านเพิ่มเติม >