ฉบับที่ 215 เมื่อบอร์ดวุฒิศักดิ์คลินิกประชุมแก้ปัญหาลูกค้ากว่า 6 เดือน

            ปีที่ผ่านมามีข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและการปิดตัวหลายสาขาของคลินิกเสริมความงาม เจ้าของสโลแกน “เพราะความสวยรอไม่ได้” วุฒิศักดิ์คลินิก ทำให้ผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อคอร์สเสริมความงามได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบนี้ก็คือ คุณปราง ที่ต้องรอวุฒิศักด์คลินิกแก้ปัญหากว่าครึ่งปี          เพราะชื่อเสียงก่อนหน้านี้ของวุฒิศักดิ์คลินิกและจำนวนสาขาที่มีมากมาย ทำให้คุณปรางไว้ใจและซื้อคอร์สเสริมความงาม ที่เรียกว่า เลเซอร์และอัลตราดีฟ ในราคา 24,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ณ สาขาเซ็นทรัลขอนแก่น แต่พอเดือนถัดมาคลินิกสาขานี้ก็ปิดตัวลง แจ้งเพียงว่าให้ลูกค้าไปใช้บริการต่อที่คลินิกสาขาบิ๊กซี ขอนแก่น ซึ่งคุณปรางเล่าว่า “ใช้บริการไม่ได้เลย ไปทีไรคิวเต็มบ้าง ไม่มีพนักงานบ้าง ยาหมด หมอไม่อยู่...” ทำให้คุณปรางต้องขับรถไปใช้บริการถึงเดอะมอลล์ โคราช และที่เหนื่อยใจที่สุดก็คือคุณปรางไม่สามารถติดต่อกับคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิกได้เลย จึงต้องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้รับการร้องเรียนเดือนพฤษภาคมจึงติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์ของวุฒิศักดิ์คลินิก ซึ่งเป็นไปตามที่คุณปรางระบุคือ ไม่สามารถติดต่อได้ จึงใช้อีเมล์ติดต่อไปตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลไว้ และติดต่อไปยังเบอร์ของสำนักงานหลัก จึงได้คุยกับพนักงาน ทางพนักงานแจ้งว่า ขอให้ผู้ร้องคือคุณปรางส่งเอกสารร้องเรียนไปที่สำนักงานหลักที่กรุงเทพฯ และทางสำนักงานจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาเพื่อคืนเงินให้ ซึ่งคุณปรางก็ปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดตามข้อมูลกรณีร้องเรียนของคุณปรางกับทางสำนักงานหลัก ได้รับแจ้งว่าเรื่องการพิจารณาเพื่อคืนเงินยังไม่คิวของคุณปราง ขณะนี้(เดือนกรกฎาคม) ยังเป็นคิวของผู้ร้องขอคืนเงินที่ยื่นเรื่องในเดือนกุมภาพันธ์อยู่          ทางศูนย์พิทักษ์ฯ พยายามติดตามเรื่องให้คุณปรางโดยตลอดพบว่า เรื่องของคุณปรางยังอยู่ในระหว่างพิจารณา จนวันที่ 21 ธันวาคม 2561 เมื่อติดต่อไปจึงได้รับแจ้งจากพนักงานว่า ยังไม่มีการประชุมบอร์ดในขณะนี้และไม่ทราบว่าจะประชุมเมื่อใดเพราะผู้บริหารไปต่างประเทศ อีกอย่างหนึ่งยอดเงินของคุณปรางเหลือที่ต้องคืนอยู่เพียง 936 บาท จึงแนะนำว่าให้กลับไปใช้บริการต่อที่สาขาบิ๊กซีขอนแก่นหรือเปลี่ยนเป็นสินค้าแทน เมื่อทางศูนย์ฯ นำเรื่องแจ้งต่อคุณปรางตามที่ได้รับคำตอบมา คุณปรางก็ขอยุติเรื่อง เพราะไม่สะดวกและเบื่อการรอคอยคำตอบจากวุฒิศักดิ์คลินิกแล้ว “มันนานเกินไป” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีใหม่มีแต่เสียงไม่มีภาพ

  กลางเดือนสิงหาคม คุณภูผาซื้อโทรทัศน์ ยี่ห้อชาร์ป ขนาด 40 นิ้ว จากห้างเทสโก้โลตัส สาขาโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นของขวัญวันแม่ หลังจากซื้อมาก็เปิดดูบ้างไม่ได้เปิดบ้าง จนประมาณกลางเดือนกันยายน เมื่อเปิดโทรทัศน์พบว่า โทรทัศน์มีแต่เสียงไม่มีภาพ โดยที่เพิ่งซื้อมาได้ 1 เดือน จึงแจ้งไปยังบริษัท ชาร์ป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะให้ศูนย์บริการสาขาร้อยเอ็ด เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหา          หลังจากแจ้งไปแล้ว คุณภูผาก็รอเมื่อไรช่างจะมา ทว่าเงียบหายไร้ช่างเข้ามาตรวจสอบ จนเดือนตุลาคมคุณภูผาติดต่อไปยังศูนย์บริการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ความว่า ทางศูนย์รออะไหล่จากบริษัทอยู่ คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทไม่ได้สนใจในการแก้ไขปัญหาเลย ให้รอเป็นเวลานานและไม่แจ้งความคืบหน้า ต้องสอบถามบริษัทอยู่ฝ่ายเดียว จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอให้ช่วยตามกับบริษัทให้แก้ปัญหา หรือบริษัทน่าจะเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะเพิ่งซื้อมาแค่ 1 เดือนก็เกิดปัญหาแล้ว แนวทางแก้ไขปัญหา          เมื่อรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือถึงบริษัทให้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทราบต่อมาว่า ระหว่างออกหนังสือทางศูนย์บริการได้ส่งช่างเข้าซ่อมโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสอบถามพนักงานเกี่ยวกับอาการของโทรทัศน์ พนักงานบริการระบุว่าเกิดจากหลอดไฟเสีย ทำให้ไม่มีภาพมีแต่เสียง จึงเปลี่ยนหลอดไฟให้ใหม่ ปัจจุบันสามารถใช้งานได้ปกติแล้ว ผู้ร้องพยายามขอให้พนักงานเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็แนะนำผู้ร้องด้วยเช่นกันว่า ควรให้บริษัทเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพราะว่าเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ แต่ผู้ร้องกังวลใจว่าเรื่องจะยุ่งยาก แค่ขอให้ซ่อมยังใช้เวลานาน ถ้าเปลี่ยนเครื่องต้องใช้เวลานานกว่าเดิม ซึ่งผู้ร้องไม่สะดวก เนื่องจากโทรทัศน์อยู่ต่างจังหวัดส่วนผู้ร้องอยู่กรุงเทพฯ          สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิตที่เรียกว่า กฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องในสินค้า(Lemon Law) ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างมาก เช่นผู้บริโภครายนี้ก็จะได้รับการเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ด้วย โดยบริษัทไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ตรวจสภาพอากาศกับ windy

                จากปรากฏการณ์พายุโซนร้อนปาบึกที่เข้าถล่มจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมากและคอยติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของพายุโซนร้อนปาบึกนี้อย่างใกล้ชิด        การติดตามความเคลื่อนไหนของพายุอย่างเรียลไทม์นั้น สามารถติดตามผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า windy ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน windy จะแสดงข้อมูลของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่พัด พื้นที่ที่มีฝนตก ปริมาณเมฆ อุณหภูมิความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถเช็คความสูงของคลื่นทะเลได้ด้วย โดยให้กดสัญลักษณ์สีเหลืองด้านขวาล่างของแอปพลิเคชัน ซึ่งในเครื่องมือนี้จะสามารถเลือกรูปแบบการดูได้ตามที่ต้องการ                ภาพที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนสีไปตามสภาพอากาศที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการทราบ เช่น เมื่อต้องการทราบอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ไล่ไปตามอุณหภูมิที่เกิดขึ้น หรือเมื่อต้องทราบความเร็วลมในแต่ละพื้นที่ จะปรากฏภาพสีเขียว และสีน้ำเงิน ไล่ไปตามความเร็วของลมที่เกิดขึ้น และจะมีเส้นการเคลื่อนไหวที่แสดงทิศทางลมที่เกิดขึ้นให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น        เมื่อต้องการทราบข้อมูลสภาพอากาศในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ณ บริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ในตำแหน่งนั้น ให้เลือกรูปแบบสภาพอากาศที่ต้องการ และกดปุ่มเลือก Find my location หลังจากนั้นบนหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏจุดบริเวณที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ และขึ้นข้อมูลที่ต้องการทราบ ให้กดไปที่จุดนั้น จะทำให้ข้อมูลทั้งหมดขึ้นมาโดยแบ่งสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นรายชั่วโมง ทั้งสภาพอากาศแบบย้อนหลังและสภาพอากาศในอนาคต                หรือต้องการทราบสภาพอากาศในบริเวณใด ก็สามารถเลื่อนแผนที่ให้จุดที่เลือกเคลื่อนไปอยู่ตรงที่ต้องการได้  และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถทราบสภาพอากาศได้ทั่วโลกเลย เพียงแค่มีแอปพลิเคชันนี้ก็สามารถทราบสภาพอากาศทั้งอุณหภูมิ ปริมาณฝนตก ความเร็วลม ความสูงของคลื่นได้อย่างง่ายดาย        ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาศึกษากันดูนะคะ รับรองว่าดูง่ายและไม่ยากจนเกินไป เพราะการใช้สีและการใช้สัญลักษณ์ ทำให้เข้าใจได้ง่ายจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 รู้เท่าทันเกลือหิมาลัย

         ในเว็บไซต์เพื่อสุขภาพจะมีการโฆษณาเกลือหิมาลัย หรือเกลือหิมาลายัน หรือเกลือสีชมพู ว่าเป็นสุดยอดของเกลือในโลก มีประโยชน์สารพัดในการดูแลรักษาสุขภาพ ใช้ได้ทั้งการปรุงรสอาหาร การกินเป็นยา การอาบหรือแช่น้ำเกลือ จนถึงการใช้เป็นโคมไฟที่จะปล่อยประจุไฟฟ้าที่ดีต่อสุขภาพ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ          เกลือหิมาลัยเป็นเกลือภูเขา มาจากรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เกลือหิมาลัยมีอายุเก่าแก่ 100-200 ล้านปี มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายเกลือทะเล ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ร้อยละ 98 ที่เหลือเป็น โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ทำให้มีสีชมพูอ่อน ซึ่งทำให้เกลือหิมาลัยมีรสชาติแตกต่างจากเกลือทะเล          ผู้คนใช้เกลือหิมาลัยเหมือนเกลือทะเลคือ ใช้ปรุงอาหาร ปรุงรส และถนอมอาหาร แผ่นหรือก้อนเกลือใช้เป็นจานใส่อาหาร เขียง บางคนใช้อาบในน้ำเกลือ และมีการใช้ก้อนเกลือหิมาลัยมาทำเป็นตะเกียงหรือโคมไฟ เกลือหิมาลัยคืออะไรการโฆษณาสรรพคุณของเกลือหิมาลัย         มีการโฆษณาประโยชน์ของเกลือหิมาลัยอย่างมากมาย ที่นิยมมากได้แก่ การช่วยระบบไหลเวียนของเลือด เยียวยาระบบทางเดินหายใจ ปรับสมดุลภาวะกรดด่างของร่างกาย ชะลอความแก่ ทำให้นอนหลับดีขึ้น เพิ่มพลังทางเพศ ป้องกันตะคริว เพิ่มน้ำในร่างกาย ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดความดันเลือด ขับโลหะหนักออกจากร่างกาย ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น เป็นต้น เกลือหิมาลัยมีประโยชน์จริงหรือไม่        มีเอกสารและงานวิชาการจำนวนมากที่คัดค้านการกล่าวอ้างประโยชน์ของเกลือหิมาลัย เช่นการโฆษณาว่า มีแร่ธาตุต่างๆ ถึง 84 ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันหลงเชื่อว่า ยิ่งมีแร่ธาตุมากยิ่งดี ร่างกายต้องการสารอาหารมากขึ้น ที่จริงแล้ว สารต่างๆ ที่โฆษณานั้น มีเพียง 15 ชนิดเท่านั้นที่มีประโยชน์ อีก 7 ชนิด อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็พบจำนวนน้อยมากจนอาจไม่พบ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท ยาฆ่าหนู ตะกั่ว และมีสารกัมมันตรังสี เช่น เรเดียม ยูเรเนียม เป็นต้นโคมไฟเกลือหิมาลัยที่ขายกันอย่างแพร่หลายโดยเชื่อว่า เกลือจะจับไอน้ำและมลพิษต่างๆ ในอากาศ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ยังไม่พบว่ามีหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถืองานวิจัยต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงประโยชน์ของเกลือหิมาลัยนั้น ไม่มีคุณภาพ และไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ หนังสือที่ตีพิมพ์ก็ยังขาดหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน        ที่สำคัญ งานวิจัยที่น่าเชื่อถือทั้งใน PubMED และสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า การลดการบริโภคเกลือทะเลนั้นจะทำให้ความดันเลือดลงอย่างแน่นอน ดังนั้นการบริโภคเกลือหิมาลัยนั้นจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นเช่นเดียวกับเกลือทะเล          สรุป  ประโยชน์ของเกลือหิมาลัยที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นเกลือที่บริสุทธิ์ที่สุด มีประโยชน์สารพัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง ไม่มีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ เกลือหิมาลัยนั้นมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย การกินเกลือหิมาลัยจำนวนมากจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เด็ก...ที่มีพ่อแก่

หลายคนมีสัญชาติญาณต้องการมีลูกด้วยสาเหตุนานับประการ ซึ่งผู้เขียนไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่ขอเล่าเพียงว่า โดยส่วนตัวแล้วเมื่อครั้งมีลูกใหม่ๆ นั้นสิ่งที่ประจักษ์แน่คือ รักแม่มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะการเลี้ยงเด็กอ่อนแต่ละคนจนโตนั้น พ่อแม่ที่มีความรับผิดชอบมักรู้สึกทั้งเหนื่อยกายและเหนื่อยใจ จนทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งชื่อพระราชบุตรว่า ราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง ที่ทำให้เราต้องเป็นห่วงประจำ         อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นในปัจจุบันนี้ สำหรับพ่อแม่ที่ไม่คิดมีลูกกวนตัว เพราะสนุกกับงาน สนุกกับรูปแบบชีวิตที่หวือหวา สนุกกับเทคโนโลยีที่อำนวยความสนุก จนวันหนึ่งหลังจากอายุล่วงเลยเข้าสู่วัยแห่งความโรยรา จึงคิดได้ว่า ควรมีลูกเสียที ไม่ว่าจะโดยวิธีธรรมชาติหรือใช้ความสามารถของวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วย ซึ่งถ้าลูกมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง โตขึ้นเรียนหนังสือจบ ทำมาหาเลี้ยงตนเองได้ แล้วสุดท้ายกลับมาดูแลพ่อแม่เมื่อแก่ เรื่องราวก็จบลงอย่างสุขสมบูรณ์ แต่ถ้าเคราะห์ร้ายได้ลูกที่ไม่ปรกติ ทุกอย่างไม่เป็นตามที่หวัง ความทุกข์ย่อมมาเยือนสำหรับผู้หญิงเป็นที่รู้กันว่า ถ้ามีอายุมากเกิน 35 ปี เมื่อตั้งท้องแล้วจำเป็นต้องตรวจเซลล์ในถุงน้ำคร่ำว่า มีโครโมโซมผิดปรกติหรือไม่ เพื่อยืนยันว่าเด็กในท้องนั้นมีความปรกติอย่างที่ควรเป็น เพราะไข่ในรังไข่ของผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปีนั้นถือว่าเป็น ไข่ที่เก่าแล้ว (เนื่องจากไข่ทั้งหมดนั้นถูกสร้างไว้ในรังไข่ของเด็กหญิงตั้งแต่ราว 3 เดือนก่อนออกจากท้องแม่ จากนั้นไข่จึงถูกพัฒนาให้สุกพร้อมผสมกับอสุจิเมื่อโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มีฮอร์โมนเพศหญิงต่าง ๆ มาจัดการ) อาจมีการกลายพันธุ์ เนื่องจากในช่วงเวลาที่ไข่ถูกเก็บไว้ในรังไข่นั้น ไข่มีโอกาสสัมผัสสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายผู้เป็นแม่ หรือแม่รับการแผ่รังสีที่ทะลุทะลวงถึงเซลล์ไข่แล้วทำให้เกิดความผิดปรกติที่โครโมโซมของไข่ ดังนั้นโอกาสที่เด็กซึ่งเกิดจากแม่มีอายุเลยวัยกลางคนแล้วจึงมีโอกาสผิดปรกติเช่น ดาว์นซินโดรม สูงกว่าเด็กที่มีแม่อายุประมาณ 20 ปีสำหรับผู้ชายในตำราสรีรวิทยาที่ผู้เขียนเคยเรียนมาบอกเป็นทำนองว่า อสุจิของพ่อนั้นสร้างใหม่ทุกครั้งที่ต้องใช้(freshly prepare) แบบวันต่อวัน ผู้เขียนจึงสรุปเองว่า อสุจินั้นไม่น่าเป็นสินค้าค้างสต็อกนาน เหล่าชายชาตรีทั้งหลายจึงร่าเริงคิดเข้าข้างตนเองว่า มีลูกเมื่อใดก็ได้ ตราบใดที่ใจยังสู้ชูสองนิ้วอยู่ ดังนั้นผู้ชายหลายคนที่เมื่อภรรยาคนแรกปิดโรงงานไม่ยอมมีลูกเพราะอายุมากแล้วนั้น เขาต่างหาเหตุเปิดโรงงานใหม่เพื่อให้ได้มีลูกเพิ่มขึ้นมาโดยไม่มีความรู้ว่า ในส่วนหนึ่งของอัณฑะที่เรียกว่า หลอดสร้างอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นมีเซลล์ที่เรียกว่า สเปอร์มาโทโกเนียม (spermatogonium) ซึ่งจะมีฮอร์โมนมาช่วยพัฒนาให้กลายเป็นอสุจิตามความต้องการของร่างกาย ดังนั้นเซลล์ดังกล่าวนี้จึงมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่ชายสูงวัยแล้วแต่ยังต้องการสร้างตัวอสุจิก็จำเป็นต้องใช้เซลล์ที่เก่าเก็บมานาน ซึ่งอาจสัมผัสสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลาของการมีชีวิตหรือรับการแผ่รังสีจากแหล่งต่าง ๆ (เช่นเดียวกับไข่ในรังไข่ผู้หญิง) จนกลายพันธุ์ไปส่งผลให้ตัวอสุจิที่ได้ไม่สูมบูรณ์ดังที่ควรเป็น        บทความเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (doi: 10.1136/bmj.k4372) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ BMJ 2018;363:k4372 ในเดือนตุลาคม 2018 ได้ศึกษาและอภิปรายผลเหมือนเป็นการยืนยันว่า สมมุติฐานของความไม่สมบูรณ์เนื่องจากอสุจิของชายสูงวัยแล้วทำให้ได้ลูกที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นจริง รวมถึงแม่ซึ่งแม้ยังสาวอยู่แต่ได้ตั้งท้องกับชายสูงวัยก็อาจมีลูกที่สุขภาพที่ไม่ปรกติงานวิจัยดังกล่าวศึกษาในเด็กอเมริกันเกิดใหม่ในช่วงปี 2007-2016 กว่า 40 ล้านคน โดยแบ่งกลุ่มพ่อของเด็กเหล่านี้ออกได้เป็น 5 กลุ่มอายุ คือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายมีความจำกัดของอายุในการมีลูก โดยเด็กที่มีพ่อสูงวัย (เกิน 45 ปี) มักคลอดก่อนกำหนดพร้อมน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ และมีสุขภาพไม่ค่อยดีเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติจึงทำให้มีค่า APGAR score ที่ต่ำ        APGAR score คือ ตัวเลขที่ได้จากการประเมินสภาวะเด็กทารกแรกเกิดใน 1 นาทีแรก ต่อด้วย 5 นาที และ 10 นาที หลังคลอด เป็นการประเมินภาวะการหายใจในทารกประกอบด้วย ลักษณะสีผิว อัตราการเต้นของหัวใจ สีหน้าจากการกระตุ้น การเคลื่อนไหวของทารก และความพยายามในการหายใจ ซึ่งมีค่าคะแนนเต็ม 10 คะแนน ทารกปกติต้องมีคะแนน 7 คะแนนขึ้นไป (ข้อมูลนี้อากู๋บอก)         นอกจากนี้ยังมีอาการผีซ้ำกรรมซัดให้สตรีที่ท้องกับสามีที่มีอายุเกิน 45 ปี ต้องเสี่ยงต่อโอกาสเป็นเบาหวานขณะตั้งท้อง (gestational diabetes ซึ่งส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง วิตกกังวล และมักจำต้องทำการผ่าท้องคลอด) เนื่องจากรกที่เชื่อมระหว่างลูกและแม่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน human placental lactogen แล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดของแม่จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมันแล้วสงวนน้ำตาลในเลือดส่งไปให้ทารกในครรภ์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอาการเบาหวานขณะตั้งท้องแล้วไม่ได้รับการแก้ปัญหาให้เหมาะสมนั้น มักมีน้ำหนักมากผิดปรกติ มีน้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นดีซ่าน        ประเด็นสำคัญที่ทำให้จำเป็นต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลจากการมีลูกเมื่ออายุมากของพ่อแม่นั้น เป็นเพราะประชาชนทั้งหญิงและชายของสหรัฐอเมริกาขณะนี้ จำเป็นต้องมีลูกเมื่ออายุสูงกว่าเดิมแล้วทั้งนั้น ในกรณีของผู้หญิงดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า รู้กันมานานว่าอายุที่จะมีลูกนั้นไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ไม่สนใจไม่ได้ ผู้เขียนเคยอ่านพบคำแนะนำในวารสารวิชาการเรื่องหนึ่งกล่าวว่า อายุเหมาะที่สุดในการมีลูกสำหรับผู้หญิงคือ ช่วง 20 ปีต้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงมักทำไม่ได้เพราะยังเรียนไม่จบปริญญาตรี ยังไม่มีงานที่มั่นคงถาวรจึงมีการเสนอว่า อายุประมาณ 27 ปี ดูเหมาะสมที่สุด ส่วนผู้ชายนั้นแต่เดิมไม่เคยกังวลเรื่องอายุ จึงมักทำหยิ่งไม่รีบมีลูก แต่เมื่องานวิจัยออกมาดังกล่าวข้าง งานก็เข้าซิครับท่านผู้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของชาย-หญิงอเมริกันจำนวนหนึ่งระบุว่า เขาเหล่านี้มักมีหนี้ที่กว่าจะชำระหมดก็เป็นช่วงวัยกลางคนตอนปลายๆ หนี้เหล่านี้ ได้แก่ เงินยืมเพื่อการศึกษา(ทำนองเดียวกับ กยศ.) เงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น มือถือ ตลอดจนถึงสร้อยคอ เท่าที่แหล่งเงินกู้ยอมให้ยืม เนื่องจากคนอเมริกันไม่เคยเรียนรู้คำว่า พอเพียง จึงทำให้เป็นหนี้ยาวจนต้องรอถึงช่วงสูงวัยปลอดหนี้จึงคิดถึงการมีลูกเสียที ประเด็นนี้ดูจะคล้ายคนบางอาชีพในประเทศ กูมี ที่มักนิยมเป็นหนี้สหกรณ์เพื่อซื้อของที่อยากได้ให้มีเหมือนคนอื่นเขา ในลักษณะรสนิยมสูงเกินรายได้ จนมีการตั้งกลุ่มประกาศขอชักดาบเงินกู้ต่างๆ ทำให้สังคมที่ได้ยินข่าวนี้พากันสรรเสริญในความเลวที่ตั้งท่าจะกระทำบทเรียนที่อาจถอดออกมาได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับการที่เด็กมีพ่อสูงวัยในสหรัฐอเมริกาอาจมีปัญหาด้านสุขภาพนั้น สามารถนำมาประยุกต์กับคนไทยเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะปรากฏว่า อัตราการเกิดของคนในพื้นที่อาณาเขตประเทศไทยนั้นต่ำลงมาก โดยเฉพาะในคนที่มีการศึกษาดีที่มองอนาคตของลูกที่จะเกิดมาไม่ออก จนเมื่อใกล้หมดวัยเจริญพันธุ์แล้ว (แค่) บางคน (ซึ่งเป็นส่วนน้อย) ที่มองเห็นทางออกว่า ลูกที่อาจมีจะทำมาหากินอะไร จึงกระตืนรือล้นอยากมีลูก ส่วนที่เหลือไม่หวังมีลูกก็ได้แต่ก้มหน้ารอรับกรรมเมื่อแก่ต่อไปเพราะคงไม่มีลูกมาดูแล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2562

ไทยออกกฎหมายบังคับใช้ 'ซองบุหรี่แบบเรียบ' ชาติแรกในเอเชียตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 หรือ ประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ย.62ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิควบคุมยาสูบ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่ออกมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสซี่ลดลง 0.2% ต่อปี ซึ่งหากมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลในประเทศไทยเช่นเดียวกับออสเตรเลีย คาดว่าจะสามารถลดคนสูบบุหรี่ในประเทศได้ถึง 111,794 คนต่อปี จากคนสูบบุหรี่ซอง 5.9 ล้านคน 222 องค์กรผู้บริโภค ค้าน กม.จัดตั้งสภาผู้บริโภค ฉบับกฤษฎีกา 9 ม.ค.62 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และอาจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำ โดยเสนอให้ใช้ ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายศาลสตูลสั่ง “เพิร์ลลี่” จ่ายค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทจากกรณีผู้เสียหายเนื่องจากการใช้โลชั่นทาผิว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย ทำให้นำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทผู้ผลิตนั้น เมื่อ 27 ธ.ค.61 ศาลจังหวัดสตูลได้พิพากษาให้จำเลยคือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิว ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์และสมาชิกกลุ่ม รวมเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และอาจมากขึ้นหากมีผู้เสียหายเข้าชื่อเพิ่มเติม         นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้บริษัทระงับการจำหน่ายและออกประกาศรับคืนสินค้าที่มีปัญหาจากผู้บริโภค รวมทั้งเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและทำลายทิ้ง โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย. เสนอ รพ.จับมือ ร้านยา ช่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ลดความแออัดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร" จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ว่า อย.ตีความถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยา ไม่จัดเป็นการ "ขายยา" ตาม พ.ร.บ.ยาฯ ซึ่งการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจนำ "ร้านยา" เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา และยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดิม โดยการวางระบบจะพิจารณาถึงประเด็นของความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ความถูกต้องของยา ประสิทธิภาพยาในส่วนกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน ขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือถึงผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกิน ในปี 2561 จำนวน 60,409 ราย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืนทราบ โดยขอให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืน พร้อมแนบหลักฐานรายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเอง โดยสอบถามที่สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เลือดข้นคนจาง : ทฤษฎีสมคบคิดภายในสถาบันครอบครัว

                        เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกและหลักที่สุดของสังคม ดังนั้นละครโทรทัศน์จึงมักหยิบเอาชีวิตครอบครัวมาผูกโยงเป็นเรื่องเล่าสู่สายตาของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เปี่ยมด้วยความสุข หรือด้านที่ปะทุคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง ครอบครัวก็ยังเป็นสถาบันที่โลกสัญลักษณ์ของละครมักเลือกฉายภาพออกมาอยู่เสมอ        ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเนื้อหาสารชนิดอื่นๆ ที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่า จะมีพื้นที่อื่นใดที่สามารถกะเทาะความเป็นจริงแห่งสถาบันครอบครัวได้เข้มข้น ถึงแก่น และชัดเจนที่สุด ได้ทัดเทียมภาพสมมติของครอบครัวที่อยู่ในละครโทรทัศน์อีกแล้ว         และด้วยตรรกะเช่นนี้ “เลือดข้นคนจาง” ก็เป็นละครโทรทัศน์อีกหนึ่งเรื่องที่เลือกย้อนรอยให้เห็นความเป็นจริงในพื้นที่ของครอบครัว ยิ่งหากทุกวันนี้ ภายใต้กระแสจีนาภิวัตน์ที่สังคมไทยหันหน้าไปจูบปากกับความเป็นจีนกันอย่างดื่มด่ำด้วยแล้ว ฉากหลังของครอบครัวแบบจีนก็ถูกวาดขึ้นมาเพื่อสอดรับกับกระแสธารดังกล่าว โดยผ่านความสัมพันธ์ภายในตระกูล “จิระอนันต์” เจ้าของธุรกิจเครือโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง “จิรานันตา”         โดยพื้นฐานของธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีน นิยมพำนักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยาย หรือสำหรับครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งอย่างจิระอนันต์ก็กินอยู่กันในลักษณะของระบบ “กงสี” โดยมีหลายๆ ครัวเรือนของลูกหลานที่อาศัยร่วมอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันแบบสายตระกูลขนาดใหญ่นั่นเอง        และเพราะครอบครัวเป็นสถาบันซึ่งดำรงอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่สุดของชีวิตมนุษย์ ก็หนีไม่พ้นกฎที่ครอบครัวจิระอนันต์จะต้องกอปรขึ้นด้วยด้านที่เป็น “หน้าฉาก” ที่เปิดม่านออกคนนอกรับรู้มองเห็นได้ กับส่วนที่เป็น “หลังฉาก” อันเป็นปริมณฑลส่วนตัว ซึ่งจะมีก็แต่สมาชิกครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้         ในด้านความเป็น “หน้าฉาก” ผู้ชมเองก็สัมผัสได้ตั้งแต่ม่านละครเปิดออกมาพร้อมกับภาพความสุขในงานเลี้ยงรวมญาติเพื่ออวยพรวันเกิดของ “อากงสุกิจ” ผู้ก่อตั้งโรงแรมจิรานันตา ซึ่งมีลูกชายคนโตหรือ “ประเสริฐ” กับลูกสาวคนที่สาม “ภัสสร” ที่ช่วยกันบริหารกิจการ ส่วนลูกชายคนที่สองคือ “เมธ” และลูกชายคนสุดท้อง “กรกันต์” ก็เป็นผู้ร่วมกินอยู่ในกงสีของตระกูล แม้ว่าจะไม่ได้บริหารงานโรงแรมโดยตรงก็ตาม        ฉากเริ่มต้นเรื่องที่ตัวละครทั้งหมดในทุกเจนเนอเรชั่นของครอบครัวมาร่วมโต๊ะกินข้าว ถ่ายรูปร่วมกัน หรือชื่นชมภาพวาดฝีมืออากง ก็คือด้านหน้าฉากซึ่งฉายบรรยากาศความสุขของตระกูลจิระอนันต์ที่เปิดออกให้สาธารณชนคนนอกอย่างเราๆ ได้รับรู้กัน                แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของครอบครัวจิระอนันต์นั้น ตัวละครที่เราเห็นปรองดองกันอยู่เพียงไม่กี่ฉากในตอนต้นเรื่อง ก็ค่อยๆ ถูกวางโครงเรื่องให้ผู้ชมได้ขยับเข้าไปเห็นเบื้องหลังซึ่งมีทั้งการช่วงชิงผลประโยชน์ และการเก็บงำความลับบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงข่ายของสายตระกูลดังกล่าว        แม้โดยแก่นหลักของละครจะพยายามยืนยันกับผู้ชมอยู่ตลอดเรื่องว่า “เพราะครอบครัวสำคัญที่สุด” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ภายในสถาบันครอบครัวที่ “สำคัญที่สุด” นี้เองที่ความขัดแย้งและการวางหมากวางเกมระหว่างกัน กลับเป็นคลื่นใต้มหาสมุทรที่มีผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแปรหลบเร้นอยู่เนื้อใน        ดังนั้น เมื่ออากงประมุขของตระกูลเสียชีวิตลง และทำพินัยกรรมไว้ตามธรรมเนียมนิยมแบบจีน โดยแบ่งมรดกกิจการโรงแรมเป็นสี่ส่วนให้ลูกชายสามคนกับ “พีท” หลานชายคนโตลูกชายของประเสริฐในฐานะของ “ตั่วซุง” ของบ้าน จึงนำไปสู่ความไม่พอใจของภัสสรในฐานะที่บุตรสาวที่ช่วยดูแลกิจการของครอบครัวมาโดยตลอด แต่เธอกลับแทบจะถูกมองไม่เห็นค่าในฐานะลูกผู้หญิงของตระกูล         และที่สำคัญ ภายหลังจากความขัดแย้งในการจัดสรรมรดกที่มีค่านิยมบางอย่างของสังคมกำกับไว้ ได้นำไปสู่ความรุนแรงที่พี่ชายคนโตอย่างประเสริฐถูกฆาตกรรม โดยมีน้องสาวคู่กรณีหลักอย่างภัสสรตกเป็นจำเลยต้องสงสัยลำดับแรกๆ         ด้วยการผูกเรื่องให้เป็นละครแนวดราม่าสืบสวนสอบสวน ด้านหนึ่งละครก็ค่อยๆ คลายปมให้เห็นว่า “ใครกันแน่ที่ฆ่าประเสริฐ” โดยที่ผู้ต้องสงสัยสามารถเป็นใครก็ได้ในครอบครัว แต่ในเวลาเดียวกัน โครงเรื่องที่ดำเนินไปก็ทำให้ผู้ชมได้เห็นความขัดแย้งของผลประโยชน์ในธุรกิจกงสีของตระกูลจิระอนันต์ไปพร้อมๆ กัน        แม้ในตอนจบของเรื่อง ละครจะเฉลยคำตอบว่า ภัสสรที่ถูกต้องสงสัยตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นหาได้เป็นฆาตกรตัวจริงไม่ หากแต่เป็นเมธน้องชายคนรองที่ยิงประเสริฐเพราะลุแก่โทสะที่เขาปิดบังความลับเรื่องการตายของภรรยาตน แต่ทว่าแง่มุมที่ละครสะท้อนให้เราต้องย้อนคิดไปกว่านั้นก็คือ เบื้องหลังความรุนแรงในครอบครัวนี้ “คนที่ยิง” กับ “คนที่ฆ่า” อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันเสมอไป        เพราะแม้เมธจะเป็นผู้ที่เหนี่ยวไกปืนสังหารพี่ชายของตนด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลับเป็นทุกคนที่เหลืออยู่ในตระกูลนั่นต่างหากที่สมคบคิดหรือมีส่วนไม่มากก็น้อยในการ “ฆ่า” ด้วยการหยิบปืนมาใส่ไว้ในมือของเมธให้ “ยิง” พี่ชาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของธุรกิจกงสีในฐานะที่เป็นผลประโยชน์แห่งตน        ว่ากันตามหลักทฤษฎีแล้ว เรื่องของ “เหตุผล” และ “ผลประโยชน์” ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น เมื่อมี “ผลประโยชน์” ที่ทุกคนต้องการร่วมสืบทอดและครอบครองมรดกอันเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตัวละครต่างๆ จึงล้วนมีข้ออ้าง “เหตุผล” เพื่อสร้างความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงแม้แต่กับผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน        อากงและอาม่าก็เลือกจะรักลูกไม่เท่ากัน โดยอ้างเหตุผลเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติในการแบ่งมรดกของครอบครัวจีน พี่ใหญ่อย่างประเสริฐก็มีเหตุผลเรื่องความอยู่รอดของกิจการกงสีซึ่งต้องเป็นตนเท่านั้นที่ควรถือครองโดยชอบธรรม สะใภ้ใหญ่อย่าง “คริส” ที่ต้องการสร้างความมั่นคงในสถานภาพจนเลือกวางยาขับเลือดให้ภรรยาของเมธกินจนแท้งบุตร รวมไปถึงภัสสรที่แม้จะล่วงรู้ความลับของทุกคนในบ้าน แต่ก็เลือกจะปกปิดไว้เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของตระกูล        เหตุผลที่ต่างคนต่างอ้างความชอบธรรม โดยมีผลประโยชน์ของครอบครัวที่จะจัดสรรตกมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ในท้ายที่สุดก็นำไปสู่อำนาจและความขัดแย้ง ที่ทุกคนนั่นเองสมคบคิดและมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดเป็นความรุนแรงแห่ง “ศึกสายเลือด” ของตระกูลจิระอนันต์         กล่าวกันว่า การเมืองที่คุกรุ่นที่สุดในชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ไกลโพ้นอย่างการช่วงชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรหรอก หากแต่เริ่มต้นกันตั้งแต่สนามรบในบ้านหรือครอบครัวนี่เอง เพราะฉะนั้น เมื่อผลประโยชน์เข้ามาเป็นตัวแปรแทรกกลางความสัมพันธ์ของมนุษย์ แม้แต่กับสมาชิกที่ “เลือดข้น” ในสถาบันครอบครัว มนุษย์เราก็พร้อมจะกลายพันธุ์เป็น “คนจาง” ซึ่งมีเหตุผลให้ห้ำหั่นกันและกันได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลทดสอบดินสอสี

หนึ่งในของขวัญของฝากที่สามารถสร้างเสริมจินตนาการเด็กได้กว้างไกลด้วยสนนราคาที่ไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแถมยังอยู่ได้นานหลายปี ก็คงหนีไม่พ้นดินสอสี  ฉลาดซื้อ ขอต้อนรับวันเด็กปี 2562 ด้วยผลการทดสอบดินสอสีหรือสีไม้ที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้   การทดสอบสีไม้ 28 รุ่น (สนนราคาระหว่าง 32 ถึง 370 บาทเมื่อคิดเป็นเงินไทย) ครั้งนี้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การทดสอบในห้องแลปเพื่อวัดความทนต่อแรงกด ความแข็งแรงของไส้ดินสอเมื่อตกพื้น รวมถึงการกลิ้งของตัวดินสอ 2) การทดลองใช้งานโดยอาสาสมัครเพื่อดูความสะดวกในการจับ ระบาย และความแน่นของสี 3) การตรวจหาสารอันตราย เช่น โลหะหนัก พทาเลท และ PAHs (กลุ่มสารเคมีก่อมะเร็ง) ในภาพรวมเราพบว่า “ราคา” มีผลต่อคุณภาพ สีไม้รุ่นที่ราคาถูกมากๆ ได้คะแนนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรุ่นที่ราคาสูงกว่า หลายรุ่นที่เนื้อไม้ดี สีสด ระบายได้สวย แต่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินปริมาณที่ทีมทดสอบกำหนด จะได้คะแนนรวมไปเพียงแค่หนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น โชคดียังเป็นของเราที่มีสีไม้ที่ราคาไม่แพง แต่คุณภาพและความปลอดภัยอยู่ในระดับสามดาวขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ส่องส่วนผสมผงปรุงรส

 มีคำถามเข้ามาให้ฉลาดซื้อช่วยหาคำตอบว่า ผงปรุงรสเหมือนหรือต่างจากผงชูรส ถ้าจะให้ชัดเจนก็คงต้องมาดูที่นิยามก่อน          ผงปรุงรส หรือ ผงปรุงรสอาหาร หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู มาให้ความร้อนจนแห้ง บดเป็นผง ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสและเครื่องเทศ เช่น น้ำตาล เกลือ กระเทียม พริกไทย โมโนโซเดียม-แอล-กลูตาเมต (ผงชูรส) เป็นนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผงปรุงรสอาหาร (มผช 494/2547)            ดังนั้นผงปรุงรสอาหารจึงไม่ใช่ผงชูรส แต่จะมีผงชูรสอยู่ในส่วนผสม มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสูตรของผู้ผลิต ซึ่งปัจจุบันบางผลิตภัณฑ์ได้ปรับสูตรให้ไม่มีผงชูรส เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค          อย่างไรก็ตามเมื่อทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสที่มีขายทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์มาพิจารณาส่วนประกอบพบว่า บางยี่ห้อที่ระบุว่าไม่มีผงชูรส ก็มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดได้   ฉลากที่ระบุไม่มีผงชูรส ความจริงอาจมีสารอื่นที่เหมือนผงชูรสอยู่          สารชูรส (flavour enhancers) หรือ ผงชูรส  เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใส่เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร สารชูรสที่ใช้กันมานานได้แก่ ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของกรดกลูตามิกและเกลือของมัน นอกจากกรดกลูตามิกแล้ว กรดอะมิโนชนิดอื่นๆ เช่น ไกลซีนและลิวซีน รวมไปถึงเกลือของนิวคลีโอไทด์ เช่น GMP และ IMP ก็ทำหน้าที่เป็นสารชูรสได้          ในกฎหมายอาหาร วัตถุเจือปนอาหารต่อไปนี้ถือว่าเป็นผงชูรสหรือวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งต้องระบุไว้บนฉลาก วัตถุปรุงแต่งรสอาหารที่ควรรู้จัก            -          กรดกลูตามิกและเกลือของมัน ได้แก่ Glutamic acid, Monosodium glutamate, Monopotassium glutamate, Calcium diglutamate, Monoammonium glutamate, Magnesium diglutamate                   -          กรด Guanylic และเกลือของมัน ได้แก่ Guanylic acid, Disodium guanylate หรือ sodium guanylate, Dipotassium guanylate, Calcium guanylate              -          กรด Inosinic และเกลือของมัน ได้แก่ Inosinic acid, Disodium inosinate, Dipotassium inosinate, Calcium inosinate             -          ของผสมระหว่าง guanylate และ inosinate ได้แก่ Calcium 5'-ribonucleotides, Disodium 5'- ribonucleotides            -          Maltol และ ethyl maltol ได้แก่ Maltol และ Ethyl maltol            -          กรดอะมิโนและเกลือของมัน ได้แก่ Glycine และเกลือโซเดียมของมัน, Leucine          ซึ่งหากพิจารณาจากฉลากของผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสที่ฉลาดซื้อนำมาแสดงรายละเอียดจะพบว่า ผงปรุงรสยี่ห้อ คนอร์ ผงรสหมู สูตรไม่ใส่ผงชูรส,  คนอร์ ซุปก้อนรสไก่(สูตรไม่ใส่ผงชูรส) และ คนอร์ ซุปก้อนรสหมู(สูตรไม่ใส่ผงชูรส)   ที่ระบุว่าไม่มีผงชูรสนั้นแท้จริงแล้ว อาจหมายถึงว่า ไม่มีโมโนโซเดียมกลูตาเมต แต่ก็มีไกลซีน ซึ่งเป็นสารชูรสผสมอยู่และทำหน้าที่เดียวกับผงชูรสนั่นเอง    ดังนั้นหากต้องการเลี่ยงผงชูรสหรือสารชูรสโปรดพิจารณาฉลากให้ถี่ถ้วน คนไทยกับอาหารเค็ม"น้ำก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ซุปก้อนหรือผงปรุงรสต่างๆ รู้หรือไม่ว่า ชามหนึ่งมีเกลือละลายอยู่ในน้ำประมาณ 60 % ถ้ากินน้ำซุปหมด เราจะได้โซเดียมมากถึง 1,200 มิลลิกรัม ยังไม่รวมเครื่องปรุงต่างๆ ของแต่ละคน"                                ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม           รสเค็มที่เราบริโภคกันเป็นประจำมาจากโซเดียม ซึ่งอยู่ในรูปของ "เกลือแกง" และน้ำปลา เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊ว น้ำพริก กะปิ ปลาร้า ผงชูรส ผงปรุงแต่งชนิดก้อน ตลอดจนผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือใน 1 มื้ออาหารไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ เท่ากับน้ำปลาประมาณ 1-1.5 ช้อนชาต่อมื้อ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)          การจะลดเค็มหรือเลี่ยงโซเดียม สำหรับคนไทยค่อนข้างทำได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารรสจัด เน้นน้ำจิ้ม และเครื่องปรุงรส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีโซเดียมสูง และยังมีส่วนผสมของผงชูรส(โมโนโซเดียมกลูตาเมต) อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย ทำให้รสชาติความอร่อยเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้บริโภคอาหารจนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการและพลอยทำให้ได้รับปริมาณโซเดียมมากขึ้นไปด้วย  ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก่อนการปรุงอาหารหรือบริโภคอาหาร ควรคำนึงถึงส่วนผสมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยการพิจารณาฉลากให้ดี และรับประทานให้พอเหมาะไม่หวาน มัน และเค็ม มากเกินไปน้ำซุปที่ปรุงด้วยกรรมวิธีปกติโซเดียมจะไม่สูง  น้ำซุปใสที่ทดลองปรุงโดยการเคี่ยวด้วยกรรมวิธีธรรมดาและใส่น้ำปลา 6 กรัม พบว่าน้ำซุปใส 200 ซีซี มีปริมาณโซเดียม 600 มิลลิกรัมเท่านั้น การศึกษาปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (street foods) ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2560’ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะวิธีเลี่ยงโซเดียมกับทีมกินเปลี่ยนโลกกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ไม่ว่าจะกินอาหารนอกบ้านหรือซื้อของสดมาปรุงกินที่บ้าน ชีวิตประจำวันของเรา ปากท้องกระเพาะลำไส้หลีกไม่พ้นเลยที่จะได้รับวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร กลุ่ม INS หมายเลข 6 ซึ่งเป็นไดโซเดียมชนิดต่างๆ เช่นนั้นแล้วเราจะจัดการชีวิตหมวดความเค็มและโซเดียมกันอย่างไรดีโซเดียมที่เรารับเข้าร่างกายผ่านอาหารทั้งหลายนั้น มีทั้งแบบรู้รสเค็มกับไม่รู้เรื่อง คือมันเป็นความนัวอร่อยติดลิ้นที่มากับสารปรุงแต่งรสที่ว่ามาข้างต้น ดังนั้นจะนับว่ากินเค็มหนักหนาขนาดไหน คือนับกันที่ผลรวมโซเดียมที่กินไปแต่ละวัน ทว่าเอาเข้าจริงก็คงนับไม่ไหว เพราะฉลากไม่ได้บอกชัดเจนว่าใส่อะไรไปเท่าไรต่อหน่วยบริโภคดังนั้นเบื้องต้นเลย คือหาทางกินพวกไดโซเดียมให้น้อยเข้าไว้  พวกมีเยอะแบบพลิกฉลากก็เห็น คือ พวกขนมขบเคี้ยว อาหารแช่เย็น แช่แข็ง อาหารแปรรูปไส้กรอก เบคอน แฮมต่างๆ วันไหนรู้ตัวว่าจัดเข้าไปเยอะ วันต่อไปก็ลดลง สร้างสมดุล กินมากกินน้อยสลับกันไป เรียกว่าเฉลี่ยๆ กันไปส่วนพวกอาหารตามสั่งเราลองชะโงกดูที่เขาปรุงให้เรากิน จะเห็นว่าเขาสาดใส่ซอสให้เรา อย่างน้อยสามซอส ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย และอาจจะมีแบบผง แบบก้อนด้วย น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว  ก็มักจะมีผงปรุงแต่งรส ถ้าไปนั่งรอหม้อก๋วยเตี๋ยวเดือดจะเห็นใส่กันเป็นถุงๆ เหล่านี้ถ้าเราตั้งใจะลดโซเดียมจริงและต้องฝากท้องกันเป็นประจำ ก็ตั้งใจสั่งอาหารหน่อย สั่งไม่ใส่ซอสปรุงรสครบทุกชนิดก็ได้ ของผู้เขียนเอง ก็จะสั่งเป็นชุดเลย เช่น ข้าวราดกะเพราไก่ ไม่ใส่ผงชูรส น้ำตาล น้ำมันหอย ก็จะได้กินอาหารรสชาติเป็นมิตรขึ้นมาหน่อย สั่งบ่อยๆ เจ้าประจำก็จำได้แต่ดีที่สุดคือ ลองทำอาหารกินเองบ้าง อาทิตย์ละหนสองหน เลือกน้ำปลา ซีอิ๊วที่เขาใส่สิ่งปรุงแต่งรสน้อยๆ หรือไม่ใส่เลยติดบ้านไว้ เกลือแกง พวกดอกเกลือทะเลมีติดบ้านจะดี ลองปรุงอาหารใส่ความเค็มน้อยลงสักครึ่ง ซื้อผักสดๆ ดีๆ มาต้มมาผัดกับเกลือเฉยๆ เรียนรู้รสชาติ ตามธรรมชาติของผักหญ้าที่ทำงานกับเกลือธรรมชาติ ที่สำคัญที่สุดคือ ฝึกลิ้นของเราใหม่ ให้มีปฏิกิริยาตอบโต้กับรสเค็มจัด เค็มนัว แล้วลิ้นของเราจะช่วยเราทำงานเลือกอาหารที่มีรสชาติสะอาด ต่อกระเพาะลำไส้ ตับ ไต หัวใจ ความดันโลหิต เมื่อเราคิดมาก เลือกมาก พูดมาก อาหารการกินรอบๆ ตัวเราก็มีโอกาสจะปรับปรุงคุณภาพ ให้ตอบโจทย์สุขภาพคนกินมากขึ้นก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >