ฉบับที่ 216 ความคืบหน้า กรณีรถยนต์ใหม่มีปัญหา “มาสด้าสกายแอคทีฟ”

        จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วซึมของโช้ครถยนต์ทางด้านหลัง  ต่อมาเมื่อนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ช่างของศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนโช้คให้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้ร้องว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรถล็อตที่ผลิตในปี 2015 เท่านั้น เพราะซัพพลายเออร์มีปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเห็นว่าการที่อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้คุณภาพ อาจจะส่งผลต่อการขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และทำให้รถเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  ล็อตดังกล่าวหรือผู้อื่นที่เป็นผู้ร่วมใช้ถนนเกิดความเสียหาย จึงร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค และเร่งให้บริษัทมีมาตรการในการดูแลชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่อยู่ระหว่างร้องเรียน ทางผู้ร้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรถมาสด้า 2 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนใช้รถยนต์รุ่นนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มว่า มีผู้ซื้อรถ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  รายอื่นพบปัญหาเช่นเดียวกันกับตนเอง        จึงเกิดการรวมตัวและตั้งกลุ่ม “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นในเฟซบุ๊ค และยังพบว่ารถรุ่นดังกล่าวยังมีอาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. กลายเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น        หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยมีแกนนำคือผู้ร้องเรียนท่านแรก ได้พยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ  ผู้ร้อง ถูกบริษัทมาสด้า ฟ้องดำเนินคดี ในฐานความผิดละเมิด ใช้สิทธิเกินส่วน กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 84 ล้านบาท โดยอ้างว่าการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของผู้ร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทลดลงแนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงบริษัทมาสด้า ขอให้ถอนฟ้องผู้ร้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้อง แต่บริษัทเพิกเฉยและดำเนินคดีกับผู้ร้องต่อไป        ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการจัดหาทนายความ ในการทำคำให้การต่อสู้คดีให้แก่ผู้ร้อง ปัจจุบันศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของบริษัท      ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกค้ากว่า 80 ล้าน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง         จากกรณีที่ เมื่อต้นปี 2561 บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยทางบริษัทให้เหตุผลในการฟ้องว่าผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลงนั้น                        30 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี                นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้นเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง        และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         “เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นเองว่าเราทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับ” นายภัทรกรกล่าว         

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 โดนหลอกไปซื้อโทรศัพท์ ด้วยเงิน 300 บาทเป็นค่าจ้าง

        เป็นเรื่องราวที่จะฝากไว้เพื่อเตือนผู้บริโภค บางทีการเห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้ต้องเสียเงินจำนวนมากตามมาในภายหลังก็เป็นได้ อย่างเช่นการถูกจ้างให้ซื้อโทรศัพท์มือถือ        ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท        มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่า “คนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา        คุณนวลเป็นคนหนึ่งที่ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ด้วยค่าจ้าง 2 เครื่องแรก 300 บาท และอีก 2 เครื่อง 400 บาท โดยเพื่อนเป็นคนแนะนำให้รู้จักกับผู้ว่าจ้าง “ฉันเห็นว่าอยู่บ้านเฉยๆ ได้เงินใช้แบบนี้ก็ดี เพราะคนจ้างก็บอกว่า เขาจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเครื่องเองทั้งหมดและถ้ามีเอกสารมาเก็บเงินไม่ต้องสนใจโยนทิ้งไปได้เลย เดี๋ยวเขาจ่ายเอง แต่ที่มาจ้างซื้อนี่เพราะว่าเขาใช้สิทธิซื้อหมดไปแล้ว ซื้อไม่ได้อีก”        หลังจากไปซื้อโทรศัพท์กับผู้ว่าจ้างแล้ว ต่อมาคุณนวลถูกเรียกเก็บเงินจากบริษัททรูมูฟ ระบุว่าเป็นค่าโปรโมชั่นรายเดือน คุณนวลจึงรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะติดต่อกับผู้ว่าจ้างอย่างไรด้วย จึงขอคำปรึกษามาว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางแก้ไขปัญหา        1.รีบไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ        2.ใช้เอกสารจากข้อแรก ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการ ซึ่งกรณีคุณนวลเปิดใช้บริการซิมกับ ทรูมูฟ 1 และเอไอเอส 3         ทั้งสองข้อนี้คุณนวลได้รีบไปจัดการโดยด่วนแล้ว และทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ แจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่าย และสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.เพื่อแก้ไขปัญหาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวัง        จากการทำหนังสือแจ้งกรณีปัญหาและติดตามเรื่องให้คุณนวล พบว่า ซิมที่คุณนวลลงทะเบียนไว้ มีการผิดนัดชำระและมียอดคงค้าง 3 รอบบิล รวมเป็นเงินถึง 3,038.06 บาท จึงยกเลิกการให้บริการไปแล้ว ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาลดหย่อนให้คุณนวลเหลือ 1 รอบบิล เป็นเงิน 639 บาท ซึ่งคุณนวลยอมรับเงื่อนไขนี้ เพื่อจะได้ไม่เสียประวัติการค้างชำระ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เพิ่งออกรถใหม่แต่มีปัญหา เบื่อซ่อมขอเงินคืนได้หรือไม่

        เมื่อซื้อสินค้าใหม่ สิ่งที่คาดหวังคือคุณภาพของสินค้าที่ใช้งานได้แบบสมบูรณ์ แต่หากเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพที่ไม่เหมือนใหม่หรือด้านประสิทธิภาพที่บกพร่อง คุณก็คงอยากเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่หรือขอเงินคืน ซึ่งกับสินค้าทั่วไปอาจทำได้ไม่ยาก แต่ของมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ บอกเลยว่ายาก เพราะบริษัทรถยนต์เกือบทุกค่ายไม่มีนโยบายนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ผู้บริโภคต้องสู้กันเต็มที่กว่าจะได้ในสิทธิที่ตนพึงได้        เรื่องรถใหม่ป้ายแดงมีปัญหาไม่ได้เกิดกับเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ใช้งานทั่วไป แม้กับรถยนต์หรูก็มีปัญหาได้ เช่นกรณีของคุณกรุณา ซึ่งได้วางเงินจองรถยนต์หรูจากโชว์รูมรถยนต์ที่มาเปิดขายในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปี 2560   ในราคารวมทั้งสิ้น 3,990,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ไว้ 1,197,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระกับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 48 งวด        คุณกรุณารับรถยนต์มาใช้งานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 และเพียงแค่ 4 วัน รถก็มีอาการเกียร์ลาก จึงแจ้งไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งบอกให้คุณกรุณานำรถมาตรวจสภาพในวันที่ 23 มกราคม เมื่อช่างตรวจสภาพแล้วบอกว่า รถไม่มีปัญหาอะไรแต่จะปรับปรุงชุดคำสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ หรือ update software ให้ ซึ่งต้องนำจอดไว้ที่ศูนย์ฯ 2 สัปดาห์        เมื่อคุณกรุณานำรถกลับมาใช้งานอีกครั้งปัญหาเดิมก็กลับมา รถเกียร์ลาก วิ่งไม่ออก จึงนัดกับทางศูนย์ฯ ว่าจะนำรถกลับไปตรวจสภาพใหม่ แต่บังเอิญคุณกรุณาเกิดอุบัติเหตุหกล้ม จึงไม่สะดวกขับรถไปที่ศูนย์ฯ ตามนัด อย่างไรก็ตามในเวลานั้นพนักงานขายได้นำรถสำรองมาให้ใช้งานแทนรถยนต์ที่มีปัญหา และนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์บริการให้ จนระยะเวลาย่างเข้าเดือนเมษายน ทางศูนย์ฯ ได้แจ้งว่าช่างจากทางบริษัทแม่บอกให้เปลี่ยนเกียร์ใหม่  แต่ต้องรออะไหล่จากทางบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งคุณกรุณานั้นคิดว่า เมื่อทางศูนย์บริการเปลี่ยนสมองเกียร์และอัปเดต ซอฟท์แวร์แล้ว รถยนต์น่าจะใช้งานได้ ถ้าแค่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ ขอนำรถมาใช้งานก่อนได้ไหม เมื่ออะไหล่มาถึงค่อยนำรถไปศูนย์บริการ  เพราะตั้งแต่ซื้อรถยนต์มาได้ใช้งานแค่ไม่กี่วัน ขณะที่เงินก็จ่ายไปเป็นล้านแล้ว        แต่เมื่อได้รถมา วิ่งไปได้ไม่กี่วัน รถก็เกียร์ลาก วิ่งไม่ออกเหมือนเดิม  และเมื่อทางศูนย์ฯ บอกว่าอะไหล่มาแล้วให้นำไปเปลี่ยนเกียร์ใหม่แต่จะไม่มีรถยนต์สำรองให้ คุณกรุณาเลยขอขับคันนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้รถสำรอง ซึ่งต้องรอจนถึงต้นเดือนมิถุนายน และรถยนต์คันหรูก็เข้าไปจอดในศูนย์บริการอีกครั้ง จนวันที่ 19 มิถุนายน พนักงานขายได้ขับรถที่เปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยแล้วมาส่งให้ที่บ้าน          คุณกรุณาใช้งานไปได้อีกราวสองเดือน วันหนึ่งขณะที่ขับรถอยู่คุณกรุณาก็ต้องขวัญหาย เมื่อรถเกิดอาการกระชากอย่างแรงขณะกำลังออกตัวหลังจอดติดไฟแดง ทั้งยังมีเสียงดังเหมือนกับว่ามีรถคันอื่นมาชน จึงสงสัยว่าน่าจะเป็นอาการผิดปกติของเกียร์อีกแล้ว จึงต้องนำรถเข้าศูนย์บริการอีกครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งว่าทางศูนย์ฯ จะเปลี่ยนสมองเกียร์ให้อีกครั้ง โดยคราวนี้ต้องรออยู่เกือบสองเดือนกว่าทางศูนย์ฯ จะโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรับรถได้        “ดิฉันเบื่อมากๆ รถยนต์ที่จ่ายเงินสดไปเป็นล้าน แต่ได้มาใช้งานอยู่ไม่กี่เดือน เข้าๆ ออกๆ ศูนย์บริการไม่รู้กี่รอบ ไม่ไหวแล้วจริงๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ลง อย่างนี้จะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม”  นั่นเป็นสิ่งที่คุณกรุณาแจ้งขอคำปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา        อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เรื่องการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของบริษัทค่ายรถยนต์ในไทย แต่บริษัทรถยนต์มักจะขอตรวจสอบและแก้ไขก่อนจนกว่าลูกค้าจะพอใจ หรือปลอบใจลูกค้าด้วยการแถมระยะเวลารับประกันชิ้นส่วน หรือฟรีค่าแรงในการซ่อมบำรุงให้ยืดระยะเวลาออกไปอีกเล็กน้อย เฉพาะบางรายเท่านั้นที่ค่ายรถยนต์ยอมทำตามลูกค้า เพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ตัวเองเอาไว้        ในกรณีของคุณกรุณา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการเจรจาเองกับทางผู้ร้อง และทราบต่อมาในภายหลังว่าสามารถยุติเรื่องลงได้ เป็นอันว่าคุณกรุณาเป็นกรณีเฉพาะรายที่ทางบริษัทต้องการรักษาชื่อเสียงของบริษัทไว้ และดูจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว คุณกรุณาแทบจะไม่ค่อยได้ใช้งานรถยนต์เลย เป็นความเสียหายที่เกิดจากสภาพรถยนต์เองโดยแท้        อย่างไรก็ตามจากบทเรียนในอดีต การใช้สิทธิขอเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือขอเงินคืน จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ซื้อไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการผิดปกติหรือชำรุดในแต่ละกรณี อีกทั้งรถยนต์ก็ได้ใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว ตรงนี้จะเกิดปัญหาภาระในการติดตามทวงสิทธิและการพิสูจน์ความบกพร่อง ซึ่งผู้บริโภคจะเสียเปรียบด้านข้อมูล กระนั้นแล้วหากไม่พอใจสินค้าใหม่ป้ายแดงจริง ก็ต้องใช้สิทธิให้ถึงที่สุด อย่างแรกคือต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ให้ดี เปิดเจรจาและที่สุดคงต้องให้ศาลวินิจฉัย เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 “ ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่” และในส่วนของกฎหมายเช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถในสภาพที่สมบูรณ์หรือใช้งานได้เป็นปกติแก่ผู้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 การเยียวยาจากเหตุรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาบอกกัน

คล้อยหลัง 7 วันอันตรายไม่กี่วัน กลางดึกเวลาตีสี่ของวันที่ 6 มกราคม 2562  สายด่วนข่าวอุบัติเหตุรายงานว่า เกิดเหตุรถโดยสารสองชั้นของบริษัทประหยัดทัวร์เสียหลักพลิกคว่ำที่จังหวัดปทุมธานี มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุรุนแรงของรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นครั้งแรกของปี 2562         รายงานข่าวระบุว่า รถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถโดยสารสองชั้นของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-8175 นครราชสีมา ที่ให้บริการในฐานะผู้ประกอบการรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งบริการในเส้นทางกรุงเทพ – พนมไพร  มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร แต่เกิดเสียหลักพลิกคว่ำสภาพรถหงายท้อง บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เสียก่อน ตรวจสอบแล้วมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 24 รายและเสียชีวิตรวมจำนวน 6 ราย        หลังเกิดเหตุทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่านอกจากสภาพถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  พฤติกรรมของคนขับก็เป็นสาเหตุที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มีการเปลี่ยนตัวคนขับระหว่างทางจากพ่อมาเป็นลูกที่อายุเพียง 24 ปี แต่ต้องมารับผิดชอบคนเกือบครึ่งร้อยบนรถโดยสาร คนขับคนที่สองขับรถเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครื่องรูดบัตรร้องเตือนตลอดเวลา และพบว่ามีประวัติขับรถเร็วจากกล้องตรวจจับของตำรวจทางหลวงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ารถโดยสารคันนี้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50 คน ทั้งที่มีที่นั่งบนรถเพียง 46 ที่เท่านั้น        จากอุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการของรัฐที่ยังใช้ไม่ได้จริงในสองประเด็นหลัก คือ การกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติด GPS เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคู่ไปกับเครื่องรูดบัตรใบขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องขับรถได้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักอย่างน้อย 30 นาที และการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนด        นอกจากมาตรการทางกฎหมายในสองส่วนข้างต้นที่ใช้ไม่ได้จริงแล้ว ระบบการกำกับติดตามรถโดยสารไม่ปลอดภัยของรัฐก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันทีอีกด้วย ทั้งที่เป้าหมายการติดตั้ง GPS tracking คือการควบคุมกำกับให้รถโดยสารที่ติดตั้งระบบมีความปลอดภัยจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วยระบบออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ากำลังขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายขึ้นได้        และที่สำคัญปัญหาที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหาย โดยพบว่ามีวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน  80,000 บาท ส่วนกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิตจ่ายทันที 300,000 บาท และความคุ้มครองตามประกันภัยภาคสมัครใจมีค่ารักษาพยาบาล PA 200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท ซึ่งหากมีผู้เสียชีวิตทายาทจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินรวม 800,000 บาทนั้น        แต่ในความเป็นจริงการจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ในทันที แต่ละรายต้องมีความยากลำบากในการจัดทำเอกสารต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และถึงแม้จะได้เอกสารมาแล้วแต่ก็ต้องถูกบังคับให้เจรจาต่อรองตามฐานานุรูปและอาการบาดเจ็บ บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงเพื่ออยากให้เรื่องจบ จะได้เอาเวลาต่อจากนี้ไปรักษาตัวและทำมาหากินตามปกติที่เคยทำ ทั้งที่คนเหล่านั้นเพิ่งจะเฉียดความตายจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุมา           นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันง่ายๆ คือ ถ้าลงชื่อในสัญญาประนีประนอมแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก ทั้งที่ผู้ประสบเหตุมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทรถโดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้ เพราะความเสียหายของเขายังมีอยู่        อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจะยังไม่มีวันหมดไป หากยังไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการกำกับรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย มาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเสียหายของผู้ประสบเหตุ  และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดซ้ำซากจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 5

        หากคนต่างด้าวที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดประสงค์จะให้ผู้เช่าซึ่งเป็นคนต่างชาติเช่าอาคารชุดของตนสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายไทยให้สิทธิคนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็สามารถเช่าอาคารชุดได้ โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ ยกเว้นการเช่าเพื่อกระทำความผิดต่อกฎหมายหรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38         พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38  กำหนดว่า เจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นตั้งอยู่ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่นั้น ซึ่งในกรณีที่บ้าน เคหสถานหากเจ้าของห้องชุด ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38 พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 77 กำหนดว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการโรงแรมต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท”         วิธีการแจ้งให้แจ้งตามแบบ ตม. 30 หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งในกรณีปล่อยเช่าอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติ เจ้าของห้องชุดก็ต้องแจ้งข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้าพักในห้องชุดของตนกับที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานีตำรวจท้องที่ แต่คนต่างด้าวที่จะเช่านั้น ทั้งจะต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในช่วงเวลาที่ย้ายเข้าพักอาศัยนั้นด้วย และสิ่งสำคัญต้องเข้ามาประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจภายในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งหากอาคารชุดตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้แจ้งที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 หากอาคารชุดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ วิธีการแจ้งมีหลายวิธีนอกจากไปแจ้งด้วยตนเองแล้ว สามารถแจ้งทางไปรษณีย์ หรือแจ้งผ่านทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ด้วย        หลักฐานที่ชาวต่างชาติเช่าอาคารชุด ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ 002/2555 ว่าด้วยเรื่อง การใช้ประโยชน์ห้องชุดสำหรับบริการเช่าพักอาศัย ผู้ปล่อยเช่าอาคารชุดต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เช่าพักอาศัยให้เจ้าหน้าที่นิติบุคคลเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้        ก. สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง และสำเนาใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ของผู้เช่าพักอาศัยและบริวารในห้องชุด        ข. สำเนาใบรับการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ที่กองตรวจคนเข้าเมืองรับแจ้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่นิติบุคคลสามารถตรวจสอบได้กรณีผู้เช่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย        ค. กรณีผู้เช่าเป็นบุคคลต่างด้าว จะเข้าพักได้ไม่เกิน 3 คนต่อ 1 ห้องชุด เจ้าของร่วมต้องส่งข้อมูลผู้เช่าที่เป็นปัจจุบันให้นิติบุคคล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยฝ่ายจัดการฯ จะทำการตรวจสอบข้อมูลผู้เช่าเป็นประจำทุก 6 เดือน         หลักปฏิบัติของการปล่อยอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติ คือ        ประการที่หนึ่ง เจ้าของห้องชุดต้องตกลง ทำความเข้าใจ และตรวจดูสัญญาเช่าให้เรียบร้อย โดยเก็บเอกสารสำเนาแสดงตัวของผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น ต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลผู้เช่าให้กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองหรือที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เข้าพักอาศัย ผ่านช่องทางต่างๆ ตามสะดวก ซึ่งแจ้งข้อมูลและนำใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ส่งให้กับสำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้งต้องส่งข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับผู้เช่าให้ฝ่ายจัดการฯ นิติบุคคลอาคารชุด เมื่อมีการเรียกตรวจสอบทุก 6 เดือน         ประการที่สอง ผู้เช่าต้องทำความเข้าใจรายละเอียดในสัญญาเช่า เก็บเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าอาคารชุด ต้องนำสำเนาแสดงตัวผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางให้กับผู้ให้เช่า (เจ้าของอาคารชุด) รับกุญแจห้องชุด ตรวจสอบสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในห้องชุด หากไม่พบรายการที่ใดให้แจ้งผู้ให้เช่า และหากมีข้อสงสัย ขัดข้อง มีเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาให้ติดต่อผู้ให้เช่าหรือนิติบุคคลอาคารชุดทันที        ประการที่สาม นิติบุคคลอาคารชุด ต้องรับเอกสารเกี่ยวกับการปล่อยเช่าอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติต้องตรวจสอบเอกสารว่าครบถ้วนหรือไม่ แล้วแจ้งให้เจ้าของห้องชุดทราบ เก็บสำเนาใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่เจ้าของห้องชุดส่งให้เพื่อเป็นหลักฐาน ฝ่ายจัดการฯ นิติบุคคลอาคารชุดทำการตรวจสอบข้อมูลผู้เช่าเป็นประจำทุก 6 เดือน แจ้งกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีคนต่างชาติเข้ามาเช่าอาคารชุด การเช่าอาคารชุดระยะยาวมากกว่า 30 ปี และต่ออายุไปอีก 30 ปี เป็นไปได้ แต่ถ้าให้เช่ามากกว่า 3 ปี จะต้องทำเรื่องที่กรมที่ดินที่อยู่ของอาคารชุดนั้น ๆ จดทะเบียนและดำเนินเรื่องตามกฎหมาย ต้องคำนึงศักยภาพความพร้อมและความน่าเชื่อถือของผู้ให้เช่า บริษัทตัวแทนเช่า บริษัทเจ้าของโครงการ และนิติบุคคลอาคารชุด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้เช่าทุกชาติให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้เช่าที่ต้องพักอาศัยเป็นเวลานาน        อนึ่ง การขายอาคารชุดในประเทศไทย เจ้าของอาคารชุดต้องซื้อเก็บไว้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อไม่ให้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT) ซึ่งเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) นักลงทุนจำนวนมากจึงมองการลงทุนในอาคารชุดเป็นการลงทุนระยะยาวที่ได้ประโยชน์ทั้งผลตอบแทนจากการปล่อยให้เช่าและการเพิ่มมูลค่าของทุนไปด้วยในตัว        คราวหน้าจะเป็นบทสรุปของเรื่องนี้ อย่าลืมติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา

        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเข้าใจเรื่องแผล        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้นชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือนแผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้         2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า         4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >