ฉบับที่ 217 M Help Me ช่วยเหลือคนทั้งมวล

                สังคมโซเชียลในปัจจุบันมีให้เห็นข่าวภัยอันตรายที่เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่าสังคมไทยมีแต่เรื่องน่ากลัวไปหมด ผู้ใหญ่เริ่มเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกหลานกันมากขึ้น จนอาจถึงขั้นวิตกกังวล หลายคนพยายามหาวิธีป้องกันในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เรียนวิชาป้องกันตัว การลงทุนซื้อรถยนต์ส่วนตัวให้ เป็นต้น         ด้วยภัยอันตรายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในปัจจุบัน จนทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต เครื่องมือหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยได้ส่วนหนึ่งก็คือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” มาบนสมาร์ทโฟนที่ผู้อ่านใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         แอปพลิเคชัน “M Help Me” ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ในการเข้าป้องกัน ให้ความช่วยเหลือ และแจ้งข่าวสารในด้านต่างๆ เมื่อเข้าแอปพลิเคชันครั้งแรกจะต้องเลือกภาษาที่ต้องการ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน) และเริ่มต้นการใช้งานโดยกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งานระบบแอปพลิเคชัน         ภายในแอปพลิเคชันจะเห็นเมนูด้านบนสุด จะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจร กรมเจ้าท่า สำนักงานสถิติ กรมทรัพยากร กระทรวงพัฒนาการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น หรือสามารถเข้าได้ในเมนูถัดไปที่เขียนว่าแจ้งข่าวสารก็ได้         ถัดลงมาจะเป็นการแสดงตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้แอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ ต่อจากนั้นจะเป็นหัวข้อการช่วยเหลือ ซึ่งจะรวบรวมแบบฟอร์มการร้องทุกข์ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ และยังมีข้อมูลการช่วยเหลือที่แบ่งออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ สายด่วน แผนที่ เตือนภัย และประกาศ        สามารถค้นหาสถานที่สาธารณะในบริเวณใกล้เคียง เช่น สถานีตำรวจ สถานพยาบาล หน่วยงานราชการ ศูนย์การค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานีรถไฟ สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น โดยจะปรากฎเป็นแผนที่เส้นทางให้อัตโนมัติ        ที่สำคัญของแอปพลิเคชันนี้คือ ปุ่มแจ้งเหตุ โดยผู้ใช้ต้องเลือกหน่วยงานที่จะแจ้งเหตุระหว่างกองบังคับการตำรวจจราจรกับศูนย์ความช่วยเหลือ และกรอกข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งเป็นข้อความหรือภาพถ่าย ภาพวิดีโอ เพื่อส่งรายงานข้อมูลดังกล่าวไปยังปลายทาง         ส่วนบริเวณด้านล่างสุดของหน้าแอปพลิเคชันยังมีส่วนของการรายงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แสดงให้ทราบว่ามีผู้ที่รอความช่วยเหลือและช่วยเหลือสำเร็จแล้วกี่คนบ้าง        ต่อไปเป็นปุ่มที่สามารถใช้ได้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและต้องการได้รับความช่วยเหลือทันที เป็นปุ่มสีแดงที่เขียนว่า SOS เมื่อกดเข้าไปจะเป็นการส่งสัญญาณเพื่อเริ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินภายใน 3 วินาที ซึ่งปุ่ม SOS นี้มีความสำคัญอย่างมาก         ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจึงควรที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้มาเก็บไว้ใช้งานกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เพราะแอปพลิเคชัน “M Help Me” หรือชื่อภาษาไทยว่า “ช่วยเหลือคนทั้งมวล” สามารถช่วยเหลือคนทั้งมวลเหมือนตามชื่อแอปพลิเคชันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 โรคตายคาเบาะหมอนวดไทย ตอนที่ 1

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวผู้รับบริการนวดที่ร้านนวดเพื่อสุขภาพแล้วเสียชีวิตคาเบาะ คาเตียงหมอนวด ผู้ตายยังเป็นหนุ่มแข็งแรง เป็นหญิงสาวตั้งท้อง ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการนวดไทยว่า การนวดมีอันตรายถึงแก่ชีวิต  เรามารู้เท่าทันการนวดไทยกันเถอะ การนวดไทยคืออะไร        การนวดไทยนั้นเป็นศาสตร์และศิลปะด้านสุขภาพที่อยู่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยมาหลายร้อยปี บันทึกของ มองสิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในกรุงสยาม พ.ศ. 2230-2231 กล่าวถึงการนวดสมัยนั้นว่า “ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มให้ยืดเส้นยืดสาย โดยให้ผู้มีความชำนาญในทางนี้ ขึ้นไปแล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่า หญิงมีครรภ์ก็มักใช้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย”         การนวดไทยเป็นการประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการนวดไทยต้องจบ “หลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย (800 ชั่วโมง)”  และต้องฝึกประสบการณ์การนวดกับครูผู้รับมอบตัวศิษย์อย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีสิทธิ์สอบความรู้จากสภาการแพทย์แผนไทยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (หมอนวดไทย) ได้ หมอนวดไทยสามารถประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือเปิด “คลินิกการนวดไทย”          ในปีพ.ศ. 2559 ได้มี พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กำหนดให้มี การนวดเพื่อสุขภาพ โดยผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรมหลักสูตร “การนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง” จึงจะให้บริการการนวดเพื่อสุขภาพในสถานประกอบการนวดเพื่อสุขภาพได้         ร้านนวดเพื่อสุขภาพที่เปิดกันอย่างกว้างขวาง จึงเป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพ ผู้ให้บริการจบหลักสูตรการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง และทำการนวดเพื่อการผ่อนคลายเท่านั้น ไม่สามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ ได้เทียบเท่าหมอนวดไทย การนวดทำให้ผู้ถูกนวดตายได้หรือไม่         การนวดไทยนั้นใช้กรรมวิธี การตรวจ การวินิจฉัยและการบำบัดโรคด้วยการกด คลึง บีบ ทุบ สับ ประคบ เพื่อให้เส้นและลมกลับมาอยู่ในสภาพปกติ แรงที่เกิดขึ้นจากการนวดนั้น จะผ่านไปที่กล้ามเนื้อและเอ็นเป็นหลัก ไม่ได้กดที่กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท แม้จะมีการเปิดประตูลมที่ขาหนีบ ก็จะใช้ฝ่ามือกดด้วยแรงพอประมาณ ไม่เกิน 45 วินาที         แม้การตอกเส้นที่ตอกตามร่างกายโดยใช้ค้อนไม้ ตอกไปที่ท่อนไม้ผ่านตามจุดต่างๆ ของร่างกายผู้ถูกนวด เสียงดังโป้งป้าง หมอนวดก็จะยั้งไม้ไว้ ไม่ให้ตอกลงลึก เพียงแค่ใช้แรงสั่นสะเทือนจากไม้ที่ตอกส่งแรงไปตามแนวต่างๆ ของร่างกายเท่านั้น แรงสั่นสะเทือนจะไปกระตุ้นแนวเส้นต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้ทางเดินของลมหรือพลังงานกลับเป็นปกติ         กรณีที่มีพระใช้การตอกเส้นรักษาผู้ป่วยอย่างรุนแรง การนวดกดปิดเส้นเลือดแดงที่คอจนหมดสติ และอีกมากมายที่รุนแรงนั้น ไม่ใช่มาตรฐานวิชาชีพการนวดไทยตามองค์ความรู้ของการนวดไทย ศาสตร์การนวดไทยที่แท้จริงนั้น เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ การนวดไทยจึงมีข้อห้ามในการนวดกรณีที่มีการติดเชื้อ กระดูกหัก การอักเสบที่รุนแรง ไม่นวดรักษาโรคและอาการที่ไม่หายด้วยการนวดไทยแล้วผู้ถูกนวดตายคาเบาะหมอนวดได้อย่างไร ติดตามฉบับหน้าครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สกูเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooter)

        เป็นกระแสข่าว ที่สร้างความฮือฮาในบ้านเรา จากกรณีที่ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยได้เลือกใช้ สกูเตอร์ไฟฟ้า(E- Scooter) เดินทางในกรุงเทพมหานคร โดยจอดรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อหรูเก็บไว้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1347367)        สำหรับการจราจรในเมืองใหญ่ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องรถติด และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอากาศเป็นพิษ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้น สกูเตอร์ไฟฟ้า เป็นรูปแบบการเดินทางทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร        ยานพาหนะ การเดินทางส่วนบุคคลอย่าง สกูเตอร์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ผลิตออกมาขาย แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลเยอรมัน ก็ยังไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับใช้อุปกรณ์การเดินทางลักษณะนี้ ซึ่ง ภายในปี 2019 นี้ คาดว่าจะมีกฎหมายที่ใช้สำหรับการควบคุมและบังคับใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าตามออกมา        การขับเคลื่อนสกูเตอร์ไฟฟ้าอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่สามารถชาร์จไฟเก็บไว้ได้ ซึ่งการชาร์จไฟ 1 ครั้งสามารถเดินทางได้ 15 -20 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักของสกูเตอร์ไฟฟ้ารวมแบตเตอรี จะมีน้ำหนักประมาณ 16 กิโลกรัม ความยาวของสกูเตอร์ คือ 120 เซนติเมตร และมีส่วนสูงสำหรับบังคับทิศทาง สามารถปรับได้สูงถึง 116 เซนติเมตร มีระบบเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังที่เป็นอิสระจากกัน มีสัญญาณไฟ และมีกระดิ่งเพื่อบอกสัญญาณเสียงปัจจุบันราคาประมาณ 2000 ยูโร สามารถพับเก็บได้        จากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้สามารถลดช่องว่างของระบบการเชื่อมต่อระหว่างบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยกับป้ายสถานีรถขนส่งสาธารณะได้เป็นอย่างดี        อย่างไรก็ตามการขนส่งด้วยยานพาหนะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุมเพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้กับผู้ขับขี่ และผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีของเยอรมัน หากยานพาหนะมีความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถที่จะขับบนทางจักรยานได้ และหากไม่มีทางจักรยานก็สามารถขับขี่บนท้องถนนได้ แต่การขับขี่บนทางเท้าไม่สามารถทำได้ เพราะจะผิดกฎจราจรทางบก นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะใช้บังคับควบคุมการขับขี่สกูเตอร์ไฟฟ้า ก็มีข้อเสนอให้ มีประกันภัยและคนขับต้องมีใบอนุญาตในการขับขี่ รถเครื่องยนต์ขนาดเล็ก(Mofa) โดยผู้ขับขี่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์        ผมประเมินว่า ลักษณะการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบนี้ ต่อไปจะเป็นที่นิยมทั่วโลกและคงมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแน่นอน จะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนในสังคมครับ(แหล่งข้อมูล: https://www.adac.de/rund-ums-fahrzeug/e-mobilitaet/info/elektro-tretroller/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 โกปิลัวะวัค

                ผู้อ่านที่ดื่มกาแฟเป็นประจำเคยถามตัวเองไหมว่า ดื่มไปทำไม คำตอบนั้นคงมีความหลากหลาย ขึ้นกับปัจจัยของชีวิตที่ทำให้เกิดการดื่มของแต่ละคน ส่วนใหญ่คงตอบประมาณว่า “ก็ชอบในรสชาติ” ทั้งที่ความจริงแล้วคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์สุขภาพควรเป็น “กาแฟช่วยในการย่อยอาหาร เพราะคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในกาแฟมีศักยภาพในการกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร”        สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ ทั้งที่ชอบกลิ่นรสของมันอยู่บ้าง มักให้เหตุผลการไม่ดื่มว่า กลัวนอนไม่หลับ อีกทั้งกาแฟที่ดูอร่อยบางแก้วก็มีรสขมติดลิ้น ถ้าจะดื่มก็ต้องเลี่ยงปัญหาดังกล่าวด้วยการหันไปดื่มกาแฟชนิดที่เอาคาเฟอีนออก ไปจนถึงการดื่มกาแฟชนิดที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างพิเศษที่ตามมาด้วยราคาที่แพงขึ้นมากคือ กาแฟขี้ชะมด        กาแฟขี้ชะมดหรือ โกปิลัวะวัค (Kopi luwak ซึ่งคนอินโดนีเชียอ้างว่า เป็นผู้ค้นพบการผลิตกาแฟลักษณะนี้) เป็นกาแฟที่ได้จากการที่ผลกาแฟถูกชะมดเอเชีย (Paradoxurus hermaphroditus) กินเข้าไปแล้วย่อยส่วนที่เป็นเนื้อไปเป็นอาหาร เหลือเมล็ดกาแฟซึ่งเป็นส่วนที่ย่อยไม่ได้ถ่ายเป็นมูลออกมา ดังนั้นเมล็ดกาแฟดังกล่าวจึงผ่านการหมักด้วยแบคทีเรียระหว่างการอยู่ในลำไส้ของชะมด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการในเมล็ดกาแฟ ซึ่งต้องจริตผู้ดื่มกาแฟบางคน        มีเรื่องเล่ากันว่า จุดเริ่มต้นของกาแฟลักษณะนี้เกิดจากการที่ชะมดธรรมชาติแอบเข้าไปในสวนกาแฟแล้วขโมยเมล็ดกาแฟที่น่าจะสุกกำลังดีกิน แถมถ่ายส่วนที่ย่อยไม่ได้คือ เมล็ดกาแฟออกมาที่โคนต้น เย้ยเจ้าของสวน ทำให้เจ้าของสวนผู้ซึ่งคงหัวเสียจำต้องเก็บเมล็ดกาแฟ(ซึ่งปรกติแล้วการผลิตกาแฟต้องเอาเนื้อส่วนผลทิ้งไปอยู่แล้ว) มาทำความสะอาดแล้ว(มั่ว) คั่วทำเป็นผงกาแฟขาย กลับปรากฏว่า กาแฟคั่วชุดนั้นกลายเป็นกาแฟมีรสชาติถูกลิ้นคอกาแฟหลายคน        กาแฟขี้ชะมดนั้นอาจมีราคาสูงถึง US$ 700 ต่อกิโลกรัม(เมื่อ US$ 1 เท่ากับ 32.417 บาท ในวันที่เขียนบทความนี้) ราคากาแฟขี้ชะมดที่เสนอขายใน amazon.com คือ US$ 32 ต่อ 50 กรัม ซึ่งคำนวณเป็น US$ 640 ต่อกิโลกรัม หรือ 20,476 บาทต่อกิโลกรัม        ชาวสวนอินโดฯ ผู้มีสัญชาตญาณในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส คงได้นั่งทบทวนองค์ประกอบของเหตุการณ์ที่ทำให้เมล็ดกาแฟซึ่งควรถูกกวาดฝังดินมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนสรุปได้ว่า การที่กาแฟถูกชะมดกินเข้าไปนั้นคงเป็นเหตุที่ทำให้รสชาติกาแฟเปลี่ยนไป ดังนั้นเจ้าของสวนกาแฟจึงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติด้วยการจับโจรขโมยกาแฟมาเลี้ยงดูในกรง แล้วเสิร์ฟผลกาแฟให้กินเสียให้เข็ด        มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามศึกษากระบวนการที่กรดและเอ็นไซม์ในกระเพาะอาหารของชะมดช่วยย่อยเนื้อของผลกาแฟ แล้วส่งต่อให้เกิดการหมักเมล็ดที่เหลือในทางเดินอาหารตอนล่างของสัตว์ชนิดนี้ หนึ่งในนั้นคือ งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารชื่อ Massimo Marcone สังกัด University of Guelph ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำย่อยอาหารของชะมดสามารถซึมเข้าไปในเมล็ดแล้วย่อยโปรตีนภายในเมล็ดทำให้ได้สายเป็บไทด์ที่สั้นลง พร้อมกรดอะมิโนอิสระที่เพิ่มขึ้น ผลิตผลที่ได้จาการย่อยส่งผลให้เพิ่มการเกิดปฏิกิริยาเคมีได้สารสีน้ำตาลระหว่างกระบวนการคั่ว (Maillard browning reaction products) บนเมล็ดกาแฟ ยิ่งไปกว่านั้นขณะที่เมล็ดยังอยู่ในลำไส้ชะมดนั้นพบว่า เมล็ดได้เริ่มงอกแล้ว ซึ่งเป็นการส่งผลให้สารที่ทำให้กาแฟมีรสขมถูกทำลายไปด้วย        นอกจากนี้ Massimo Marcone ได้ทำการวิเคราะห์ชนิดของสารประกอบ ซึ่งระเหยได้ดีและเป็นส่วนสำคัญของรสชาติและกลิ่นของกาแฟแล้วพบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสารเคมีในกาแฟปกติและสารเคมีในกาแฟขี้ชะมด ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่โปรตีนบางชนิดถูกย่อยไปบ้างนั้น ทำให้โครงสร้างโปรตีนถูกเปลี่ยนแปลงไปจนลดประสิทธิภาพของกาแฟในการขับปัสสาวะ ทำให้ผู้มีปัญหาดื่มกาแฟแล้วต้องเข้าห้องน้ำบ่อยสบายขึ้น        อย่างไรก็ดีคุณสมบัติของกาแฟขี้ชะมดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายประการเช่น สายพันธุ์กาแฟที่ชะมดกิน สายพันธุ์ชะมดที่ใช้ ความสามารถของชะมดในการเลือกผลกาแฟ อาหารอื่นที่ชะมดกิน และสุขภาพของชะมด (เช่น ระดับความเครียดที่เกิดระหว่างการเลี้ยง) ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางรสชาติของกาแฟที่ได้        แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟขี้ชะมดได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นกลไกหรือสิ่งแปลกใหม่ในตลาดการค้ากาแฟโลก แต่ The Specialty Coffee Association of America (SCAA) กลับระบุว่า "มีฉันทามติทั่วไปในอุตสาหกรรมกาแฟว่า กาแฟขี้ชะมดมีรสชาติแย่" ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟคนหนึ่งของ SCAA ได้ใช้การประเมินผลรสชาติกาแฟอย่างเข้มงวดแล้วสรุปว่า กาแฟขี้ชะมดไม่ได้ดีกว่ากาแฟอื่นในด้านรสชาติเลย        ผู้อ่านหลายท่านที่เคยดื่มกาแฟที่เรียกว่า Americano ทั้งในไทยหรือในสหรัฐอเมริกาแล้ว คงพอรู้ว่า สิ่งที่คนอเมริกันดื่มกันเป็นประจำนั้น น่าจะเข้าข่ายที่คอกาแฟไทยประมาณเดียวกับผู้เขียนให้ระดับความอร่อยว่า “ไม่เป็นสับประรด” อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้คิดว่า กาแฟขี้ชะมดนั้นจะเลิศเลออะไรนัก  ความที่มันไม่ขมเท่ากาแฟทั่วไป คนที่คออ่อนสำหรับกาแฟจึงได้ชมชอบ แต่น่าจะมีคำถามแก่ผู้ที่ชอบกาแฟขี้ชะมดว่า ถ้ากาแฟไม่ขมแล้วมันยังเป็นกาแฟหรือ        ด้วยเหตุที่การได้มาซึ่งกาแฟขี้ชะมดต้องใช้กระบวนการที่ผ่านการย่อยในลำไส้ของชะมดก่อนเก็บเมล็ดมาคั่ว นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่า น่าจะมีวิธีการที่ช่วยย่นระยะเวลาในการได้เมล็ดจากขี้ชะมดและเพิ่มให้มีการได้เมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการมากขึ้นกว่าการอาศัยธรรมชาติ        นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาได้ทำการวิจัยเรื่อง Quality enhancement of coffee beans by acid and enzyme treatment ซึ่งเป็นงานที่ได้ทุนวิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ในปี 2006 และเสร็จโครงการปี 2009 เพื่อศึกษากระบวนการย่นเวลาในการได้มา ซึ่งกาแฟที่คล้ายกาแฟขี้ชะมด ที่เร็วกว่าและไม่ต้องเกี่ยวเนื่องอะไรกับมูลสัตว์ เพราะเป็นการใช้เอ็นซัมหลายชนิดประกอบกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เสมือนเกิดในทางเดินอาหารของชะมด ซึ่งสุดท้ายงานวิจัยดังกล่าวได้รับสิทธิบัตรหมายเลข 20090220645        ต่อมาในปี 2014 Camille Delebecque ซึ่งจบการศึกษาด้านชีววิทยาสังเคราะห์(synthetic biologist) และได้เคยลองชิมกาแฟขี้ชะมดในการเดินทางไปแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพบว่า กระบวนการทางชีวเคมีที่อยู่เบื้องหลังนั้นน่าสนใจ จึงได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร Sophie Deterre เปิดตัวบริษัท Afineur เพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษา(ซึ่งบรรลุเป้าหมายการระดมทุนในเวลาเพียงหกชั่วโมง) เพื่อผลิตกาแฟที่มุ่งเน้นการเพิ่มรสชาติของเมล็ดกาแฟโดยใช้เทคนิคการหมักตามธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงเมล็ดกาแฟในห้องปฏิบัติการ โดยเป้าหมายหลักที่ต้องพุ่งชนคือ กำจัดคาเฟอีนออกเพื่อลดรสขมในกาแฟ ส่งผลให้ไม่เกิดอาการระคายท้องหลังดื่มกาแฟอีกต่อไป วิธีการนั้นทำโดยใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ได้ตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งสุดท้าย Afineur กล่าวว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการหมักทำให้กาแฟธรรมดามีรสชาติคล้ายรสชาติของกาแฟขี้ชะมดและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (บทความ How a New Startup Is Refining the Flavor of Coffee via Microbial Fermentation ใน www.eater.com เมื่อ 3 สิงหาคม 2015)        ในเวียดนามนั้นก็มีเรื่องราวคล้ายในอินโดนีเซีย ซึ่งชนพื้นเมืองดื่มกาแฟจากเมล็ดกาแฟที่ชะมดถ่ายออกมาแล้วผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนคั่ว ทำให้กาแฟนั้นอุดมไปด้วยรสชาติกลมกล่อม ความที่กาแฟประเภทนี้มีปริมาณน้อยราคาจึงแพง จึงได้กระตุ้นให้บริษัท Trung Nguyen ดำเนินการวิจัยโดยทีมงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป ซึ่งในที่สุดก็พบเอ็นซัมธรรมชาติที่ออกฤทธิ์เลียนแบบการทำงานในทางเดินอาหารของชะมด จนได้กาแฟที่(คงคิดเอาเองว่า) ไม่เหมือนใครในโลกด้วยรสชาติที่หลากหลายและแทบไม่มีความขม จนมีคำกล่าว ในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเวียดนามประมาณว่า การท่องเที่ยวเวียดนามจะไม่สมบูรณ์จนกว่าพวกเขาจะได้นั่งดื่มกาแฟ ที่คล้ายกาแฟขี้ชะมด ในร้านเครือบริษัท Trung Nguyen        ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนใคร่สะกิดให้ผู้นิยมชมชอบในการดื่มกาแฟสำนึกไว้ตลอดเวลาว่า อะไรก็ตามที่มากเกินไป เช่น ดื่มกาแฟวันละหลายๆ แก้วนั้น ก็ก่อปัญหาได้ อีกทั้งความเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ซึ่งต้องประเมินเอาเองจากประสบการณ์หลังดื่มกาแฟในแต่ละวันว่า ชีวิตดีขึ้นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2

โดนัท (Doughnut หรือ Donut) ขนมแป้งทอดมีรู ที่ตกแต่งหน้าตาจากน้ำตาลเคลือบหลากรส ด้วยกลิ่นหอมหวาน สีสันสวยงาม และรสสัมผัสนุ่มหนุบหนับ โดนัทจึงเป็นที่นิยมบริโภคของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแคลอรี่จากโดนัทหนึ่งชิ้นนั้น นับว่าไม่เบาเลยทีเดียว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มก็คือ ปริมาณไขมันทรานส์ (Trans fat) หรือ กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) ที่อาจแฝงอยู่ในโดนัท ซึ่งหากร่างกายของเราได้รับไขมันทรานส์ในปริมาณมาก ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้        ไขมันทรานส์ (Trans fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ที่พบได้ทั้งในธรรมชาติ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น นม เนย ชีส เนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว ซึ่งพบในอาหารที่มีเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) เป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด เค้ก พาย พัฟ เพสตรี้ คุกกี้ ซึ่งจะทำให้อาหารหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น        ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทช็อกโกแลต จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำนวน 13 ยี่ห้อ ในฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) โดยพบว่ากว่าครึ่ง มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้        เมื่อช่วงต้นปีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มตื่นตัว เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา        เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และนิตยสารฉลาดซื้อจึงเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่างก่อนหน้านี้) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้สรุปผลการทดสอบ1. ผลทดสอบสารกันบูด (กรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก)        จากโดนัทช็อกโกแลตที่นำมาทดสอบ จำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า                   ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิกในปริมาณเพียงเล็กน้อย จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่              1. โดนัทรวมรส (ช็อกโกแลต) / เทสโก้ โลตัส          พบกรดเบนโซอิก 4.72 มก./กก.           2. ริงจิ๋ว (ช็อกโกแลต) / เอ็น.เค.โดนัท                     พบกรดเบนโซอิก 10.45 มก./กก.          3. เรนโบว์ โดนัท / เบรดทอล์ค                               พบกรดเบนโซอิก 11.48 มก./กก.           4. โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต / ซับไลม์โดนัท              พบกรดเบนโซอิก 19.48 มก./กก.    และ 5. โดนัทช็อกโกแลต / ฟู้ดแลนด์                           พบกรดเบนโซอิก 29.93 มก./กก.        ซึ่งตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม        ซึ่งตามเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน        ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบ ซึ่งมีเพียงเล็กน้อยว่า อาจไม่ใช่กรดเบนโซอิกที่ใส่เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นสารกันเสีย แต่อาจเป็นวัตถุเจือปนอาหารประเภท เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งใช้เป็นสารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก 2. ผลทดสอบไขมันทรานส์        เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541)           พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก        โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทชอคโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัมและตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมข้อสังเกต          จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ ในตัวอย่างโดนัทช็อกโกแลตทั้ง 13 ตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยสุ่มทดสอบในนิตยสารฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) พบว่า ผู้ผลิตโดนัทช็อกโกแลตเกือบทุกยี่ห้อ พัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิต ทำให้ปริมาณไขมันทรานส์ลดน้อยลงจากเดิมมาก ซึ่งบางยี่ห้อเคยมีปริมาณไขมันทรานส์เกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่ผลตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้ พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกยี่ห้อ มีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561- นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 206 เดือน เมษายน 2561- เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >