ฉบับที่ 216 รัฐสวัสดิการ เมืองไทยต้องไปให้ถึง

รัฐสวัสดิการ (welfare state) คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมอยู่ในรัฐสวัสดิการสมัยใหม่รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเงินทุนจากรัฐสู่บริการที่จัดให้ (เช่น สาธารณสุข การศึกษา) ตลอดจนสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง ("ผลประโยชน์") รัฐสวัสดิการจัดหาเงินทุนจากการเก็บภาษีแบบแบ่งความมั่งคั่ง (redistributionist taxation) และมักเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบผสม" ประเภทหนึ่ง การเก็บภาษีดังกล่าวปกติรวมการเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เรียก ภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน (ที่มา วิกิพีเดีย) รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นได้ต้องปฏิรูประบบภาษี        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนาคตประชากรไทยอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนที่มีรายได้ปานกลาง        หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง บวกกับความเชื่อมั่นว่า “คนชั้นกลาง” ในประเทศสามารถทำมาหากินและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” แต่มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ชี้ให้เห็น “การจมลงของชนชั้นกลาง” อันเนื่องมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการศึกษา 2. ด้านการสาธารณสุข และ 3. ด้านที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนชั้นกลางมีเงินเหลือเก็บน้อยลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้การจ้าง “คนชั้นกลาง” ทำงานประจำน้อยลงเรื่อยๆ        ดังนั้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย “ด้านการศึกษา” พบว่าเดิมมีการจัดระบบการศึกษาฟรี จนถึง 12 ปี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. การศึกษาฟรีลดลงมาเหลือเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริงว่า “โรงเรียนบางแห่ง” ไม่ใช่การศึกษาฟรีจริง เพราะยังมีการบังคับในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บเงินเพิ่มเติม          และที่มีปัญหาหนักคือระดับ “มหาวิทยาลัย” ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนงบให้นักศึกษาปีละ 10,000 บาทต่อคน แต่จากข้อมูลพบว่าในจำนวนกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 20% นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ที่เหลือคือ เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไปไม่ถึง และไม่ได้รับสิทธิได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว รวมกว่า 95% แปลว่าเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อการศึกษาตกอยู่กับคนที่รวยที่สุด 20%           “เหมือนรัฐบาลยังมีกำแพงการช่วยเหลืออยู่ ช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเต็ม เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้แบบนี้ แต่การที่ไม่ได้คิดครบทั้งระบบกลายเป็นการกีดกันคนจนโดยทางอ้อม และยังเบี่ยงไปจ่ายให้คนรวยทางอ้อมด้วยเช่นกัน”  “ด้านสุขภาพ” แน่นอนว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่องคือ ประชาชนต่างจังหวัด แม้จะเข้าระบบหลักประกัน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปรับการรักษา และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่          “หากแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับมาอยู่ที่คนกลุ่มที่รวย 20% บวกกับคนที่รวยที่สุดที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีงบประมาณค่ารักษาเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท ในขณะที่คนทั่วไปได้รับเพียง 3.4 พันบาทต่อหัว นี่คือปัญหาของการใช้งบประมาณที่สรุปแล้วเป็นการช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่พี่น้องคนจนได้รับการช่วยเหลือน้อยแถมเข้าถึงยาก” ขณะที่ “คนชั้นกลางของไทย” ก็จะเป็นกลุ่มเดือดร้อนไปด้วย เพราะถ้าพูดถึง “เรื่องการศึกษา” มีการเรียนฟรีก็จริง แต่ก็มีสิ่งล่อคือ ทัศนคติว่าเรียนโรงเรียนธรรมดาคุณภาพจะไม่ถึง ต้องเรียนคลาสพิเศษ หรือไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคอร์สอินเตอร์ ซึ่งไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องการเก็บค่าบริการพิเศษเหล่านี้ว่าต้องเป็นเท่าไร เหมือนอเมริกามีการทำข้อมูลค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาสูงกว่ารายได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยไม่มีการทำตรงนี้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์เวลาใครวิจารณ์ก็ระบุว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง แต่เมื่อถามหาตัวเลขที่ถูกต้องรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี  “ส่วนค่ารักษา” หากอยู่ในระบบบัตรทองแล้วรู้สึกรอนาน ก็ต้องไป รพ.เอกชน ที่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา ซึ่งก็ยังหวังว่าจะเริ่มควบคุมได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับ “ที่อยู่อาศัย” ไม่มีการควบคุมเลย         นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของไทยต้องต่อสู้คล้ายๆ กับคนชั้นกลางในอเมริกา จึงต้องถามคนชั้นกลางในประเทศไทยว่า จะสู้อย่างไรดี มาร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดีกว่าหรือไม่ เช่น มีการเสนอว่าไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษี จำพวกกองทุนแอลทีเอฟ แต่จ่ายภาษีเต็มๆ ไปแล้วรัฐนำเงินนั้นมาสร้างสวัสดิการที่เพียงพอ  เพราะการมีรัฐสวัสดิการ คือการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่าจะสามารถเดินต่อไปได้         แต่สิ่งที่ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจกันเกี่ยวกับระบบภาษี นั้นเรียนว่า ทุกคน รวมถึงคนจนต่างก็เสียภาษีกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าภาษีเงินได้ เมื่อลองคำนวณแล้วคนชั้นกลางเสียภาษีประมาณปีละ 60,000 บาท ถือว่าเยอะต่อครอบครัว แต่ใน 60,000 บาทนั้น เป็นภาษีรายได้แค่นิดเดียว ที่เหลือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนจนอาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้  เพราะเงินได้ไม่ถึงตามระบบจัดเก็บภาษี แต่ย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจ่ายกันทุกคน ซึ่งหากคำนวณแล้วคนจนต้องจ่ายแพงกว่าด้วยซ้ำ        “ใน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภคประมาณ 40,000 บาทเบ็ดเสร็จเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหารด้วย 60,000 บาทของรายได้ แปลว่าเสียภาษีแค่ 3% ของรายได้ แต่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเบ็ดเสร็จประมาณ 500 บาท คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้”           ดร.เดชรัต ย้ำว่า ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ ตอนที่เคยไปอยู่เดนมาร์คและเสียภาษีประมาณ 40% ของเงินได้ แต่ไม่ต้องไปซื้อรถยนต์ เพราะระบบรถเมล์ดี นั่งแล้วสบายใจ ในขณะที่อยู่เมืองไทยเสียภาษี 10% แต่ทันทีที่กลับมาต้องซื้อรถยนต์ เพราะที่บ้านรถสาธารณะไม่มีออกมา ดังนั้นหากให้เอาเงิน 6 แสนที่จ่ายให้กับบริษัทรถมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่ง พัฒนารถเมล์ให้ดี อยากให้เมืองไทยลงทุนกับสิ่งเหล่านี้          สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปัจจุบันจ่ายน้อยมาก อย่างตนเองมีที่ที่บางบัวทองประมาณ  10 ล้านบาทต่อไร่ แต่เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น พอเก็บภาษีน้อย คนก็ซื้อที่ตุนไว้          อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การเก็บภาษีคือ การเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในต่างประเทศไทยที่เชื่อเรื่องสวัสดิการเขามองต่างจากเรา โดยเขาจะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการลงทุนเดี่ยวๆ แล้วจะรอดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่คนชั้นสูงไม่มีทางรอด ดังนั้นหากจะรอดพร้อมกันคือ ต้องมาลงทุนในรัฐสวัสดิการพร้อมกัน.รัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ณ วันนี้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างน้อยใน 3 ด้าน คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้  หลักประกันด้านการศึกษา        การสร้างหลักประกันสุขภาพ        เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันรัฐสวัสดิการในข้อนี้ ถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งโดยหลักคิดเบื้องต้นต้องรวม 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน เพราะการมี 3 กองทุนเป็นเหตุให้มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ละระบบโดยรวมแล้วใช้งบประมาณจากรัฐ 100% อยู่แล้ว แต่ได้รับงบไม่เท่ากัน        อย่างกองทุนประกันสังคมนับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบดับเบิ้ลไปอีก เพราะในขณะที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนบัตรทองประมาณ 3 พันบาทต่อหัว จ่ายให้ข้าราชการประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว แต่พอเป็นประกันสังคมต้องมาหาร 3 คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เท่ากับรัฐจ่ายให้ผู้ประกันตนเพียงพันกว่าบาท จะเห็นว่ารัฐใช้เงินในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ไม่เท่ากัน ผู้ประกันตนจึงถูกรัฐละเลยเรื่องสุขภาพมากที่สุด เป็นคนที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มเองด้วย ดังนั้นควรเอาเงินที่รัฐจ่ายอยู่เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน แล้วกระจายไปทุกหัวประชากร แต่ละกองทุนจะได้งบเพิ่มทั้งหมด       “ใน 3 กองทุนนี้มีภาพลวงตาอยู่ คือกองทุนข้าราชการที่ดูเหมือนว่ารัฐจ่ายให้มากกว่ากองทุนอื่นๆ ได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วต้นทุนค่ารักษาไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นเลย เพียงแต่โรงพยาบาลที่รักษาข้าราชการในโรคเดียวกันนั้น มีการเรียกเก็บเงินเกินไปเยอะกว่ากองทุนอื่นๆ เพราะคิดว่าชาร์จได้ ก็ชาร์จโอเว่อร์ เลยถูกมองว่าในโรคเดียวกันทำไมถึงจ่ายไม่เท่ากัน”        อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การรวมกองทุนไม่ได้ไปลดทอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ แต่จะไปช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เท่ากัน ตามที่ควรจะได้ ทั้งนี้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา(2561) สิทธิข้าราชการเป็นสิทธิที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเยอะขนาดนี้ แต่กลับถูกเรียกเก็บเยอะมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเป็น แต่ที่ผ่านมาตัวข้าราชการก็ไม่รู้ กรมบัญชีกลางก็เพิ่งรู้ตัวหลังจากมีการเขย่าเรื่องนี้มากขึ้น จึงเริ่มมีการตรวจสอบ กำกับใบเบิกแต่ละใบมากขึ้น        สำหรับสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง และประกันสังคมนั้นก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรอีก เพียงแต่การรวมกองทุนแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ สถานพยาบาล เพราะปัจจุบันบัตรทองได้งบรายหัวประมาณ 3.4 พันบาท ประกันสังคม 3.3 พันบาท ข้าราชการปลายเปิด โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นบาท ถ้าเอา 3 กองทุนนี้มารวมกันแล้วเขย่าค่าหัวใหม่ จะพบว่าทุกคนได้ค่าหัวประมาณ 6 พันกว่าบาท แสดงว่าหน่วยบริการที่เคยได้รับงบจากบัตรทองก็ได้เงินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% แล้วถ้าใช้ระบบการเหมาจ่าย และมีการกำกับผู้ป่วยใน กำกับควบคุมราคายา ก็ทำให้หน่วยบริการรู้ว่าตัวเองได้เงินเหมาจ่ายไปเท่าไร มีรายรับที่ชัดเจน แน่นอนล่วงหน้า 80% นั่นหมายความว่ามีรายรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนกรณีมีผู้ป่วยในก็ไปคิดตามค่าใช้จ่ายจริง โดยดูค่าจ่ายตามรายโรคว่าเท่าไร ก็เหมือนทำให้หน่วยบริการที่มีปัญหากับบัตรทองดีขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ต้องไปต่อรองของบประมาณทุกปีๆ        นิมิตร์ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากยังไม่เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รายรับอย่างที่ควรจะได้ เพราะเวลาที่ สปสช.ทำงบประมาณขาขึ้น สมมติว่า 3.7 พันบาทต่อคน กรมบัญชีกลางคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ครม.คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ไม่เคยอนุมัติงบให้ตามจำนวนที่ขอ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอไปนั้น ขออยู่บนความสมเหตุสมผล จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่ายาเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยอนุมัติเต็ม และเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้สถานพยาบาลรู้สึกว่าได้รับงบประมาณไม่เท่าที่ควรจะได้รับ ดังนั้นต้องจัดการปัญหานี้ มีปัญหาทะเลาะ ต้องรีดศักยภาพจากหน่วยบริการ สถานพยาบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง วนเวียนไม่จบ             หลักประกันด้านรายได้        เพราะทุกคนที่เกิดมามีรายจ่ายทันที แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากไหนมาจ่าย ดังนั้นรัฐจะต้องดูแลให้คนแต่ละช่วงวัยมีรายได้เพียงพอที่จำรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ เช่น เด็กที่เกิดมาแต่ละคน จะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นมีหลักประกันรายได้ที่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ค่าอาหาร ค่าอื่นๆ ที่จะมาบริหารจัดการให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี       ดังนั้นการสร้างหลักประกันด้านรายได้นั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอยากให้เกิด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งมีการเสนอว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “เกิดยันตาย” หมายความว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาควรมีหลักประกันรายได้อยู่บนเส้นความยากจนคือ เด็กเกิดมาต้องไม่จน ถ้าไม่จนคือต้องมีเงิน 3 พันบาทต่อเดือน ครอบครัวที่จะมีลูกก็จะมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะมีรายได้ให้ 3 พันบาทต่อเดือนสำหรับดูแลลูก แน่นอนว่า 3 พันบาทนั้นไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยก็มีเงินบริหารจัดการที่เกินเส้นความยากจนของคน 1 คนอยู่แล้ว       พอเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะขยับมาเป็น 3.5 พัน พอถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจะมีรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 3 พันบาท ถ้าคิดว่าอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้ โดยไม่ทำงานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำงานเพิ่ม เชื่อว่าวิธีคิดการทำหลักประกันด้านรายได้ จะทำให้คนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลว่าจะอยู่อย่างไรก็อาจจะลดลงได้ เพราะมีเงินแน่ๆ อย่างน้อย 3 พันบาท แล้วไปบริหารจัดการต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น       สรุปทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะมีรายได้ต่อเดือนอยู่บนฐานความยากจน เช่น ชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคาตกมากๆ อาจจะหยุดกรีดหรือกรีดยางให้น้อยลง เพื่อให้พอมีเงินมาสมทบกับเงินที่ได้รับนี้ บริหารจัดการให้อยู่ได้ แล้วเมื่อราคายางสูงขึ้นก็กลับมากรีดยางใหม่ ซึ่งจะทำให้คนบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ แทนที่จะไปโค่นสวนยางเพื่อไปปลูกอย่างอื่นที่ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นหลักประกันด้านรายได้น่าจะเป็นเครื่องมือให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความจนเรื้อรังได้       แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะมีคำถามตามมาว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นิมิตร์ ระบุว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงการใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อลองมาดูแล้วจะพบว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คนพิการปีละประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท และเงินสงเคราะห์อีกมากที่กระจัดกระจายกันอยู่รวมๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีเม็ดเงินอยู่พอสมควรที่พอให้บริหารจัดการได้ แล้วก็มาบริหารจัดการ หรือรัฐจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละกระทรวงใหม่ มาเขย่า บริหารจัดการใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม ทำให้ประเทศมีเงินพอที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้       โจทย์ที่สอง หากเขย่าแล้วยังไม่พอ ก็มาดูระบบภาษี บริหารจัดการ การลดภาษีที่รัฐให้กับส่วนนั้น ส่วนนี้มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไรหรือไม่ ก็มาเขย่าเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้มองเรื่องนี้แล้วประเทศมีเงินพอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมีเจตจำนงที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่         รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา        รัฐต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. ณ วันนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางพรรคพยายามคิดแต่ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของตัวเอง บางพรรคคิด แต่ก็เป็นการจัดสรรให้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด บางพรรคคิดจะทำแต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจน ได้แต่ขายมุกเก่าว่ามีความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่บางพรรคไม่เอาเรื่องนี้เลย            อย่างไรก็ตามคนที่กุมอำนาจรัฐมักมองเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เพราะฉะนั้นการจะหวังพึ่งนักการเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองเองก็มองเรื่องนี้เป็นภาระ ส่วนข้าราชการที่บริหารจัดการเรื่องนี้ก็มองเป็นภาระ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้อยู่บนความทุกข์ยาก และยังอยู่บนฐานความกังวลว่า หากทำแล้วอาจจะกระทบรัฐไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ ดังนั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเขย่าสังคมทั้งสังคมให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องกดดันให้รัฐบาลทำให้ได้ หากไม่มีพลังของประชาชนออกมากดดัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เกิด และสิ่งที่จะทำให้เกิดพลังของประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้และช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง อย่างการเลือกพรรคการเมืองที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนพรรคใดที่ไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเลือก--------- ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR)        ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การศึกษา 2.สุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้ ประกันสังคม 5. ระบบบำนาญถ้วนหน้า 6. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ 7. การปฏิรูประบบภาษี        1. ด้านการศึกษา เสนอดังนี้ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี 3,000 บาท/เดือน 2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. 3,000 บาท/เดือน 3) ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อายุ 0-3 ขวบ งบฯ รายหัว 10,000 บาท/คน/ปี 4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบฯ รายหัว 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ 5) มหาวิทยาลัยพัฒนามาตรฐานกลาง ควบคุมค่าหน่วยกิต เรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย /ปวส.นำร่องด่วน 6) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร โดยจะใช้ประมาณ 600,000 ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ประมาณ 260,000 บาท        2. ด้านสุขภาพ ข้อเสนอ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง 2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้ ประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานงบฯ เดิม 311,000 ล้านบาท แต่จะมีงบฯ เพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบฯ สุขภาพจากส่วนราชการ ประมาณ 60,000 ล้านบาท        3. ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ข้อเสนอคือ 1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3) เกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว 4) เข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 5) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งงบฯ จะใช้ประมาณ 108,000 ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบฯ ส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง        4. ด้านงาน รายได้ ประกันสังคม ข้อเสนอคือ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2) ค่าจ้างแรงงาน ให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% 3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 4) การสมทบเงินเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน 5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ กรณีรายได้สูง สามารถสมทบเพิ่มเติม 1,800 บาท หรือ 2,700 บาท/เดือน จากอัตราส่วน 9% จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีรายได้น้อย สมทบ 100 บาท รัฐสมทบ 900 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ขาดสมทบได้สูงสุด 12 เดือน เมื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี รัฐสมทบให้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ตามฐานเงินเดือน 10,000 บาท 6) การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก 1 คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ และ 7) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานให้ 6 เดือน ให้ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งเข้างานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบมรม สัมภาษณ์และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน สำหรับงบประมาณใช้ จากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม         5 ระบบบำนาญแห่งชาติ ข้อเสนอคือ 1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค 3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง ซึ่งงบประมาณใช้เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ        6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ ข้อเสนอ คือ 1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน 2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ 3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่า จะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น 4)  ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ(พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) 6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง 7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น 9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการของประชาชนและชุมชน        7. การปฏิรูประบบภาษี เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบฯ โดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 240,000 ล้านบาท 2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น 30% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร 20 ไร่ (ปัจจุบันที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท/ปี 5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 10,000-50,000 ล้านบาท 6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด 45% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 50,000 ล้านบาท 7) ปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม 70 % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 180,000 ล้านบาท 8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 220,000 ล้านบาท 9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 63,000 ล้านบาท 10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 11)  การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการมีรัฐสวัสดิการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 12. ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์           รวมงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 รู้เท่าทันรังนกนางแอ่น

รังนกมีประโยชน์จริงหรือ        ในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน และเทศกาลต่างๆ จะมีการโฆษณาขายรังนกนางแอ่นกันอย่างครึกโครม โดยโฆษณาตั้งแต่ กินแล้วจะไม่แก่ ฟื้นจากการเจ็บป่วย แข็งแรง เด็กฉลาด บำบัดมะเร็ง จนกระทั่งเป็นของขวัญสูงค่าสำหรับผู้อาวุโส รังนกนางแอ่นมีคุณค่าสมราคาที่สูงมากหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะรังนกนางแอ่นคืออะไร        ชาวจีนนิยมกินรังนกนางแอ่นอย่างกว้างขวางมานานกว่าพันปี เพราะเชื่อว่ารังนกมีสรรพคุณทางยามากมาย ทำให้สุขภาพดีและแข็งแรง รังนกแอ่นกินรังสร้างด้วยน้ำลายจากต่อมน้ำลายของพ่อแม่นกก่อนการผสมพันธุ์และใช้เป็นที่วางไข่  ส่วนประกอบของรังนก ประมาณร้อยละ 85-97 เป็นน้ำลาย และร้อยละ 3-15 เป็นขนอ่อนอุตสาหกรรมบ้านและอาคารนกแอ่นกินรัง    จากความต้องการบริโภคที่สูง และมีราคาแพง (ราคาระหว่าง 20,000-80,000 บาทต่อกิโลกรัม) ทำให้เกิดการทำบ้านหรืออาคารสำหรับนกแอ่นกินรังเพื่อให้นกแอ่นมาทำรังในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย  ในมาเลเซียนับเป็นประเทศแรกที่ทำบ้านนกแอ่นกินรังเป็นอาชีพ โดยการใช้บ้านเก่าหรือบ้านร้าง และเปิดเสียงนกแอ่นกินรังบนหลังคาหรือดาดฟ้าเพื่อลวงให้นกเข้ามาทำรังในบ้าน  ในไทยก็มีการทำบ้านนกแอ่นมากมายเช่นเดียวกัน โดยนิยมทำตามชายฝั่งทะเลเนื่องจากมีแมลงที่เป็นอาหารนกแอ่นจำนวนมาก รังนกประกอบด้วยอะไรบ้าง        รังนกของนกแอ่นกินรังนั้นสร้างจากน้ำลายของนกแอ่นตัวผู้ พบว่าประกอบไปด้วย โปรตีโอไกลแคน (proteoglycans) ซึ่งร้อยละ 83 เป็นคาร์โบไฮเดรต ที่เหลือเป็น เถ้าและไขมัน  ส่วนใหญ่เป็นกรดอะมิโนจำเป็น มีฮอร์โมนถึง 6 ชนิด ได้แก่ เทสโทสเตอโรน และเอสตราไดออล เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม รังนกแอ่นกินรังนั้นอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้รังนกมีประโยชน์จริงหรือ        มีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของรังนกแอ่นไม่มากนัก        มีงานวิจัยกล่าวถึงคุณค่าทางอาหารของรังนกแอ่นว่า กรดไซอะลิกที่พบมากในรังนกแอ่นจะช่วยในการปกป้องการอักเสบของระบบประสาท ช่วยฟื้นฟูความจำและป้องกันระบบประสาท        มีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า รังนกแอ่นมีผลคล้ายยาลดไขมัน และอาจดีกว่า แต่ควรวิจัยเพิ่มเติมในทางคลินิกเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง        มีงานวิจัยที่ระบุว่า การกินรังนกแอ่นเป็นเวลา 30 วันอาจช่วยบรรเทาการกดภูมิต้านทานของทางเดินอาหารที่เกิดจากเคมีบำบัด รังนกแอ่นกินรังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัด        มีงานวิจัยเร็วๆ นี้ ที่แสดงว่า รังนกแอ่นมีสารที่ช่วยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ การสร้างเซลล์ และหยุดยั้งการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้        อย่างไรก็ตาม เมื่อทบทวนงานวิจัย พบว่างานวิจัยที่เกี่ยวกับรังนกแอ่นนั้นมีน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ยืนยันความเชื่อว่า รังนกแอ่นนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงสรุป  รังนกแอ่นนั้นน่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพบ้าง แต่ประโยชน์ที่ได้เมื่อเทียบกับราคาที่สูงมากแล้ว คงไม่คุ้มกับราคา เพราะเราสามารถหาได้จากการออกกำลังกาย การกินอาหารพื้นบ้าน เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 สงครามนักปั้น : เมื่อภาพลักษณ์สำคัญกว่าของจริง

        การรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์เรามีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ความจริงที่เป็น “แก่นแท้” หรือเป็นของจริงที่แท้จริง กับความเป็นจริงที่ไม่สำคัญว่า “ของจริง” จะเป็นเช่นไร แต่ทว่ามนุษย์เราสามารถเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ภาพลักษณ์” ที่เผลอๆ แล้วดูดีและโดดเด่นยิ่งกว่า “แก่นแท้” หรือ “ของจริง” เสียอีก        ในยุคที่ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมแห่งภาพลักษณ์” ที่ “แก่นแท้” เริ่มหมดคุณค่าลงดังกล่าว หากใครก็ตามที่มีศักยภาพในการ “ปั้นความเป็นจริง” ให้กับโลกรอบตัวได้ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในสังคมอันอุดมภาพลักษณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาได้เช่นกัน        ก็เฉกเช่นชื่อละครโทรทัศน์ที่ว่า “สงครามนักปั้น” ซึ่งขานรับกับกระแสสังคมที่มนุษย์ให้คุณค่ากับ “ภาพลักษณ์” มากกว่า “แก่นแท้” กระแสสังคมแบบนี้เองส่งผลให้เกิดแวดวงวิชาชีพ “นักปั้นภาพลักษณ์” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสรรพชีวิตต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจและกำชัยชนะเหนือคู่แข่งในสมรภูมิดังกล่าว        ละคร “สงครามนักปั้น” เลือกผูกเรื่องราวเบื้องหลังของวงการธุรกิจโมเดลลิ่ง ที่เป็นประหนึ่งโรงงานผลิตนักร้องนักแสดงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ และที่แน่ๆ ธุรกิจโมเดลลิ่งเป็นกรณีรูปธรรมของแวดวงแห่งการปั้นภาพลักษณ์ เพราะศิลปินดาราก็คือบุคคลสาธารณะที่อาศัยภาพลักษณ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขายพ่วงมากับศักยภาพการแสดงของตน        ด้วยความเข้าใจตรรกะของการปั้นฝันหรือสรรค์สร้างความเป็นจริงให้กับบุคคลสาธารณะเฉกเช่นนี้ สาวใหญ่อย่าง “แอล” เจ้าของกิจการ “แอลโมเดลลิ่ง” จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ๊ดันที่จัดการปรุงแต่งภาพลักษณ์ให้บรรดาดาราในสังกัดของเธอโดดเด่นสุกสกาวที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง        ธุรกิจโมเดลลิ่งของแอลดูแลศิลปินดาราในสังกัดหลายคน โดยเฉพาะ “แทนคุณ” พระเอกหนุ่มคู่ขวัญกับ “มุก” นางเอกสาว ที่เบื้องหลังนั้นทั้งคู่ต่างก็คบหาเป็นคนรักกันจริงๆ แต่ทว่า ด้วยอุตสาหกรรมดารามีข้อบังคับที่ว่า ผู้ที่จะดำรงอยู่ในแวดวงนี้ได้อย่างยั่งยืนต้องให้ค่ากับความเป็น “คู่จิ้น” มิใช่จะกลายเป็น “คู่จริง” ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากเหล่าแฟนคลับ ดังนั้น ภารกิจของแอลจึงต้องคอยช่วยปกปิดและบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของแทนคุณและมุก อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาภาพลักษณ์ศิลปินชั้นต้นในสังกัด        ในเวลาเดียวกัน นอกจากยุคสังคมแห่งภาพลักษณ์จะให้คุณค่ากับการเสกสรรปั้นแต่งความเป็นจริงมากกว่าการค้นหาความจริงที่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้อีกเช่นกันที่ศิลปินดาราไม่ใช่แค่ดวงดาวโคจรลอยล่องอยู่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เหล่าดาราทั้งหลายก็ยังมีสถานะเป็นสินค้า แถมยังเป็นสินค้าที่มีปริมาณเกร่อล้นตลาดอีกต่างหาก        เพราะฉะนั้น เมื่อสินค้าดารามีอยู่ท่วมท้นตลาดธุรกิจบันเทิง ภาพลักษณ์ที่แอลบรรจงปั้นให้ศิลปินในสังกัด ก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายบุคลากรนักแสดงที่เป็นสินค้าในตลาดให้กับบรรดาเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า และสาธารณชนผู้มีกำลังซื้อหรือเสพดารานั่นเอง        แต่ขณะเดียวกัน เพราะตลาดธุรกิจบันเทิงมีสินค้าดาราที่ล้นเกินอุปสงค์ของผู้ซื้อ แอลจึงมิอาจผูกขาดให้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโมเดลลิ่งได้เพียงเจ้าเดียว และคู่แข่งคนสำคัญของเธอก็คือ “เพียว” เจ้าของกิจการ “พีแอดวานซ์โมเดลลิ่ง” ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกธุรกิจการขายภาพลักษณ์ศิลปินในทุกวิถีทาง        ภูมิหลังของเพียวนั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดแอลโมเดลลิ่งมาก่อน แต่สัจธรรมของโลกธุรกิจก็มักจะอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อดังแล้วก็ต้องแยกวง” แถมยังเป็นการ “แยกวง” ที่มีความขัดแย้งและทิฐิแต่ครั้งปางหลังที่เพียวคับแค้นใจจนอยากจะเอาชนะและโค่นล้มแอลให้หลุดกระเด็นไปจากวงการโมเดลลิ่งให้จงได้        ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ฉากของละคร เราจึงเห็นภาพการปะทะคารมหรือการวางหมากวางเกมที่จะประหัตประหารคู่แข่งของโมเดลลิ่งฝ่ายตรงข้าม โดยบ่อยครั้งตัวละครก็ไม่ได้คำนึงว่า การสัประยุทธ์กันเพื่อครองความเป็นเจ้าในแวดวงการปั้นภาพลักษณ์ดังกล่าว จะยืนอยู่บนหลักจารีตธรรมภิบาลใดๆ ไม่        แม้ละครจะให้คำอธิบายด้วยว่า เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างแอลกับเพียวมาจากปมปัญหาเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างนักปั้นภาพลักษณ์สองคนก็มีเบื้องลึกอันเนื่องมาแต่ความพยายามที่ “ฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ในวงการโมเดลลิ่งนั่นเอง        ยิ่งเมื่อสงครามขัดแย้งปะทุถึงขั้น “ตายไม่เผาผี” ด้วยแล้ว เพียวได้พยายามช่วงชิง “เรน” ดาราในสังกัดของแอลให้ฉีกสัญญา และมาเข้าสังกัดโมเดลลิ่งของเธอ พร้อมๆ กับที่ผลักดัน “ปีย์แสง” ลูกชายของแอล ให้ขึ้นเป็นพระเอกเบอร์หนึ่งแทนแทนคุณที่กราฟชีวิตอยู่ในช่วงขาลง สนามรบแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า การแข่งขันฟาดฟันกันในธุรกิจปั้นภาพลักษณ์ช่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ยิ่งหย่อนการต่อสู้ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย        นอกจากนี้ ละครก็ยังชวนให้เราขบคิดตลอดเรื่องอีกด้วยว่า เมื่อแวดวงโมเดลลิ่งจะบูชาภาพลักษณ์ยิ่งกว่าของจริงนี่เอง เบื้องหลังของตัวละครศิลปินดาราทั้งหลายก็อาจมีความจริงที่ต่างออกไปจากภาพที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าฉากขึ้นมาราวฟ้ากับหุบเหว        แทนคุณพระเอกยอดนิยมมีอีกด้านที่ติดสุราเรื้อรังจนเป็นโรคแอลกอฮอลิซึม นางเอกสาวอย่างมุกก็มีสถานะเป็นตุ๊กตาหน้ารถของหนุ่มไฮโซอย่าง “ทรงโปรด” ซึ่งควงเธอเพียงเพื่อจะเอาชนะคู่หมั้นของเขาเท่านั้น นางเอกปั้นอย่างเรนก็บ้าหนุ่มๆ และ “คันหูไม่รู้เป็นอะไร” อยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ อีกมากมายในท้องเรื่องที่หน้าม่านกับหลังม่านการแสดงผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วโลก        และที่สำคัญ แม้แต่กับสองสาวนักปั้นภาพลักษณ์นั้น พวกเธอเองก็มีหลังฉากที่ต้องหลบเร้นไม่ต่างจากศิลปินดาราในสังกัดเองเลย นักปั้นมือใหม่อย่างเพียวก็ช่างเป็นผู้หญิงที่เจ้าคิดเจ้าแค้นจนปล่อยให้อคติทำลายฝีมือในงานอาชีพของเธอ หรือนักปั้นรุ่นเก๋าอย่างแอลก็ต้องปกปิดและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าเธอเป็นมารดาแท้ๆ ของปีย์แสง จนแม่ลูกต้องมายืนอยู่ในสงครามนักปั้นคนละฝั่งฟากกัน        บนโลกที่ “คนเราเคารพคบกันที่ภาพลักษณ์” ซึ่งพ่วงมามาด้วยชื่อเสียงและเงินทอง บางครั้งหากเราได้ลองมานั่งพินิจพิศดูสงครามของตัวละครในโรงงานปั้นฝันกันดีๆ เราก็อาจจะได้คำตอบเหมือนกันว่า ระหว่างภาพมายาที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมากับแก่นแท้ที่คนเรายุคนี้มักมองข้าม ตัวเลือกข้อใดที่จะเป็นของจริงกว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เมา..ไม่ค้าง

คนชอบกินเหล้ามักกังวล(นิดหน่อย) กับอาการ เมาค้าง หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า hangover ซึ่งมีการอธิบายอาการของผู้เมาค้างในเว็บไทยต่างๆ ว่า “ปัสสาวะบ่อย น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมแต่ไม่อาเจียน หมดแรง อ่อนเพลีย ลุกไม่ขึ้น เดินไม่คล่อง มึน งุนงง สับสน นอนไม่หลับ ลืมตาไม่ขึ้น คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็งหรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย เบื่ออาหาร ลิ้นไม่รับรส ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันโลหิตตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมาก บ้านหมุน คนเป็นโรคหัวใจอาจตายได้” ซึ่งอาการเหล่านี้คงไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนายจ้างของผู้ที่เมาค้างแน่นอน ดังนั้นจึงมีคนที่พยายามหาทางถอนเมาค้างออกเพื่อช่วยให้คนชอบกินเหล้าสามารถทำงานได้เหมือนผู้คนอื่น ๆในเว็บไทยต่างๆ ได้พูดถึงอาหารและเครื่องดื่มแก้เมาค้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ “น้ำเปล่า เครื่องดื่มร้อนๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม นมอุ่นๆ เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟเอสเพรสโซ่เข้มๆ ชาเขียว น้ำส้มคั้น น้ำผึ้งผสมมะนาว น้ำขิงอุ่น น้ำผึ้งมะนาวผสมขิง ชาโสม ชาสะระแหน่ผสมน้ำผึ้ง น้ำมะพร้าว น้ำอ้อยคั้นสด น้ำแตงกวาดอง นมช็อกโกแลตผสมชีสพาย น้ำสต๊อกปลา น้ำผักผลไม้สีเขียว น้ำผลไม้ผสมเกลือ สมูทตี้ผลไม้ สมูทตี้ขิงกับส้ม สมูทตี้แตงโมผสมแตงกวา สมุนไพร ได้แก่ น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย ลูกใต้ใบ เปลือกต้นควินินแห้งต้มกับน้ำ ผงปลาไหลเผือกชงกับน้ำอุ่น ดอกประยงค์ ใบหรือรากรางจืด ถั่วแปบ บ๊วย  มัลเบอร์รี่ หอมแดง อาหารประเภทโปรตีน (เช่น ไข่ต้ม) ขนมปัง โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุปใส ต้มยำน้ำใส ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เกาเหลา ซุปมิโซะ แฮจังกุก ผลไม้รสเปรี้ยว ช็อกโกแลตแท่งหรือของหวานจัด ๆ” เป็นต้น เห็นได้ว่าสิ่งที่ถูกสรรหามาใช้แก้อาการเมาค้างนั้น ต่างคนต่างหา ได้ผลบ้างลักษณะที่เรียกว่า placebo effect) หรือไม่ได้เรื่องเลยนอกจากนี้ท่านผู้อ่านที่เข้าใจภาษาอังกฤษ สามารถหาข้อมูลจาก pinterest ซึ่งมีแผนภาพมากมายให้มั่วซั่วตาม โดยคุยว่าแก้เมาค้างได้ ซึ่งคงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะผู้ให้ความรู้นั้นต่างมีคำจำกัดความของคำว่า เมาค้าง แบบต่างคนต่างเข้าใจอย่างไรก็ตามมีผู้ตระหนักความจริงในเรื่อง เมาค้าง กล่าวในเว็บภาษาอังกฤษหนึ่ง ที่ผู้เขียนไปพบว่า อาหารหรือเครื่องดื่มแก้เมาค้างอาจไม่มีจริง เพราะยังไม่มีใครพิสูจน์ได้จริงว่า อัลดีไฮด์ (aldehyde) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนเอ็ททานอล (แอลกอฮอล) ในเครื่องดื่มมึนเมาไปเป็น อะเซ็ตตัลดีไฮด์ (acetaldehyde ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า อัลดีไฮด์) ด้วยเอ็นซัม อัลกอฮอลดีไฮโดรจีเนส (alcoholdehydrogenase) นั้นคือ สาเหตุที่ทำให้เมาค้าง ที่พูดกันในตำรานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากอัลดีไฮด์นั้นมีความเป็นพิษสูงกว่าเอ็ททานอลหลายเท่า ดังนั้นการแก้อาการเมาค้างนั้นจึงเป็นไปได้ยาก        ผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพท่านหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า จริงแล้วอาการเมาค้างนั้นมีผลต่อเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปถึงระบบประสาท และไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ดังนั้นจึงไม่มียาวิเศษหรืออาหารอะไรที่จะครอบจักรวาล บำบัดปัญหาที่อาจเกิดกับเกือบทุกอวัยวะในร่างกายเราได้พร้อมกัน        จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับคอเหล้า ก็ยังมีข่าวที่อาจจะดี สำหรับผู้นิยมชมชอบในน้ำเมา เพราะมีข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษที่เว็บไทยพาดหัวข่าวประมาณว่า เหล้าแห้งกำลังมาแรง        ผู้เขียนติดใจคำว่า เหล้าแห้ง ที่มีการพาดหัวข่าว ซึ่งเคยได้ยินมานานแล้วแต่ไม่ได้สนใจว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปถามอากู๋(google) ว่า เหล้าแห้งนั้นคืออะไร อากู๋ลุกขึ้นตอบทันใด เหล้าแห้งนั้นไซร้คือ ยาเสพติดชนิดหนึ่งประเภทกดประสาทสมอง เป็นยานอนหลับจําพวกบาร์บิทูเรต ซึ่งผลิตออกมาในรูปของโซเดียมเซโคบาร์บิทัล และเรียกกันสั้นๆ ว่า เซโคนัล และทางแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับประเภทออกฤทธิ์ระยะสั้น ซึ่งปรากฏว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉลาดซื้อฉบับนี้        ข่าวจากเมืองผู้ดีกล่าวว่า สิ่งที่จะมาช่วยให้ผู้ชอบใช้ช่วงหลังเลิกภารกิจในชีวิตประจำวันเป็นช่วงที่หลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง(ภาษาอังกฤษใช้คำว่า high) สมใจนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ชื่อว่า Alcosynth ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ David Nutt         หมอ Nutt ได้อ้างว่าสาระสำคัญในเครื่องดื่มนี้ ไม่ส่งผลต่อตับหรือหลอดเลือดหัวใจในแบบแอลกอฮอล์ธรรมชาติ(ขอให้ฟังหูไว้หู) แต่สามารถทำให้ เมา ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โดยไม่เกิดอาการเมาค้างในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ในอังกฤษจึงได้ประโคมเป็นข่าวใหญ่ของปี 2018 เนื่องจากการดื่มเพื่อให้เมานั้นเป็นชีวิตจิตใจของคนอังกฤษที่มีข้อมูลว่า การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุลำดับที่สาม ที่ทำให้คนอังกฤษตายในแต่ละปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 215 ปากหอมสดชื่นกับยาสีฟันสมุนไพร

        ตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ ยาสีฟันสมุนไพร ที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ฉลาดซื้อลงสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นี้พบว่า มีหลายยี่ห้อให้ได้เลือกซื้อ ทั้งผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ บางยี่ห้อมีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ยังสามารถครองใจผู้บริโภคมาได้อย่างยาวนาน        จุดขายของยาสีฟันสมุนไพรคือ ความหอมสดชื่นปากจากน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร อย่างสะระแหน่ พิมเสน การบูร หรือสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอันเป็นต้นเหตุของฟันผุ กลิ่นปาก เช่น น้ำมันกานพลู และสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ป้องกัน รักษาโรคเหงือก รำมะนาด เช่น ข่อย  เกลือ ว่านหางจระเข้        ฉลาดซื้อหยิบตัวอย่างยาสีฟันสมุนไพรจำนวน 29 ยี่ห้อ แบ่งได้สองประเภท คือ แบบมีฟลูออไรด์และไม่มีฟลูออไรด์ มาแสดงรายการส่วนประกอบสำคัญหรือชนิดของสารออกฤทธิ์สำคัญ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก ในขนาด 1 กรัม ว่าแต่ละยี่ห้อใครถูกแพงกว่ากัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้เลือกใช้อย่างคนฉลาดซื้อ ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไปการเลือกใช้ยาสีฟันสมุนไพร        แต่เดิมการใช้ยาสีฟันมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น ต่อมาก็มีการเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผล เช่น การเติมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เติมสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อลดการอักเสบของเหงือก จนปัจจุบันนี้มีการเติมสารต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเดิม ได้แก่        1. ผงขัดที่ละเอียดเพื่อเป็นตัวขัดสีให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และคราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่ที่ตัวฟันหลุดออก         2. สารทำให้เกิดฟองเพื่อให้คราบฟันหลุดออกได้ง่าย         3. สารแต่งกลิ่นและรสเพื่อให้น่าใช้ และรู้สึกสดชื่น        4. สารเพิ่มความชื้นเพื่อให้ยาสีฟันไม่แห้ง มีความชุ่มชื้น         5. สารทำให้ยาสีฟันข้น มีลักษณะเป็นครีม         6. สารกันบูดเพื่อให้สามารถเก็บยาสีฟันได้นาน         ส่วนประกอบพื้นฐานทั้ง 6 นี้ ยาสีฟันชนิดครีมเกือบทุกยี่ห้อจะมีเหมือนกัน ที่ทำให้ยาสีฟันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ได้แก่ สารฟลูออไรด์ สารฆ่าเชื้อโรค สารหรือผงขัดฟันที่ทำให้ฟันขาว สารที่ลดอาการเสียวฟัน สารสมุนไพร ฯลฯ        ในยาสีฟันสมุนไพรก็ไม่ต่างกันนัก โดยผงขัดละเอียดในยาสีฟันสมุนไพรจะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต หรือเกลือแกง หรือผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต) ส่วนสารชะล้างจะมีในยาสีฟันสมุนไพรที่ผสานเทคนิคการผลิตแบบสมัยใหม่เพื่อช่วยให้แปรงฟันได้ง่ายขึ้น สารปรุงแต่งกลิ่นและสี จะใช้น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากพืชสมุนไพร ซึ่งนอกจากช่วยแต่งกลิ่นและรสของยาสีฟันแล้ว ยังเพิ่มสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรคในช่องปากด้วย เช่น น้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ อบเชย กานพลู เป็นต้น        ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่ผสมฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ทำให้เป็นจุดอ่อนหนึ่งของยาสีฟันสมุนไพร  ที่อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องป้องกันฟันผุ  แต่ปัจจุบันมียาสีฟันสมุนไพรหลายยี่ห้อที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อลดจุดอ่อนข้อนี้         การโฆษณาในกลุ่มของยาสีฟันสมุนไพร มักอ้างว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก ปากหอมสดชื่นซึ่งจากรายงานทางวิชาการ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารสมุนไพรต่าง ๆ ที่คาดหวังว่า จะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ และสาเหตุมาจากอะไรเพื่อรักษาได้ตรงจุด เช่น ในคนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือเหงือกอักเสบก็ต้องรักษาโรคปริทันต์เป็นหลัก และถ้าคิดว่าแปรงฟันได้สะอาดไม่พอก็สามารถใช้ยาสีฟันสมุนไพรที่มีสารฆ่าเชื้อโรคช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องราคาก็ต้องพิจารณาเองว่า ราคาแค่ไหนเหมาะสมกับตัวของคุณเอง                                                                                                                                                                                                                       ข้อมูล ทันตแพทย์ ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาลฉลาดซื้อแนะ1.ยาสีฟันสมุนไพรควรใช้ในปริมาณน้อยตามที่ระบุบนฉลาก เพราะสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้ปากชา ใช้มากจะมีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์2.สำหรับคนที่มีปัญหาฟันผุง่าย ควรใช้ชนิดที่ผสมฟลูออไรด์หรือใช้สลับกับยาสีฟันทั่วไปที่ผสมฟลูออไรด์3.ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ส่วนผสมใกล้กันมาก ดังนั้นอาจเลือกจากความชอบหรือพิจารณาจากราคาที่ไม่แพงเกินไปสรรพคุณของสมุนไพรที่นิยมใช้ในยาสีฟันสมุนไพรกานพลู (Clove) ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และเป็นยาชาจึงบรรเทาอาการปวดฟันได้เกลือ (Sodium Cholride ) เป็นสารทำความสะอาดเหงือกและฟันการบูร (Camphor) และ พิมเสน (Borneol) ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น บำรุงเส้นประสาทรากฟันข่อย (Tooth brush tree)  แก้อาการปวดฟัน รักษารำมะนาดว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) ช่วยในการสมานแผล ลดการอักเสบของเนื้อเยื่ออบเชย (Cinnamon) ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สะระแหน่ (peppermint) ให้ความเย็น ทำให้ช่องปากหอมสดชื่น ใบฝรั่ง (Guava) มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเหงือก ลดกลิ่นปากตลาดยาสีฟันในบ้านเรามีมูลค่ากว่า 8,000  ล้านบาท ยาสีฟันในเซ็กเม้นต์เพื่อการรักษายังคงเป็นเซ็กเม้นต์ใหญ่สุดมีสัดส่วนถึง 36% รองลงมาเป็นยาสีฟันทั่วไป 29% สมุนไพร 22% ยาสีฟันเพื่อฟันขาว 10% และยาสีฟันเด็ก 3%

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำ

พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำส้มตำ หรือ ตำส้ม ตำรับอาหารอีสานยอดฮิต ที่ทำเอาฝรั่งติดใจ คนไทยขาดไม่ได้ เพราะความแซ่บนัวจัดจ้าน จึงทำให้ส้มตำเป็นอาหารยอดนิยมตลอดกาล ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็สามารถหาร้านส้มตำรับประทานได้แทบทุกที่ หนึ่งในเมนูยอดนิยมคือ ส้มตำปูปลาร้า นอกจากมะละกอที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำส้มตำ และปลาร้าที่ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันแล้ว ที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กันคือ ปูดองเค็ม ซึ่งปูที่นิยมนำมาดองเค็มใส่ส้มตำคือ ปูแสม และปูนา        ปูดองเค็มที่วางขายตามตลาดในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่จะเป็นปูแสม เพราะกรุงเทพฯ อยู่ติดกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลอย่าง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตราด ถึงอย่างนั้นด้วยความนิยมปูดองเค็มที่มีมาก ก็ยังต้องมีการนำเข้าปูแสมจากเพื่อนบ้านเพิ่ม ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนปูนาที่นำมาทำปูดองนั้น ปูที่จับจากธรรมชาติจะไม่ค่อยมีแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมในนาไม่เอื้อให้ปูอยู่ได้และความต้องการที่สูงในตลาด ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูดองจึงเป็นปูเลี้ยง ในสภาพเลียนแบบธรรมชาติ        อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปูนาดองเค็ม จำนวน 16 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้งหมด 14 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงหากปูนาดองเค็มนั้นเป็นปูที่มาจากนาธรรมชาติโดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตาราง ต่อไปนี้หมายเหตุ: - ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์แบบ HPLC-MS-MS ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นจากผลการตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอตในปูนาดองเค็ม ทั้งหมด 16 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของพาราควอตทุกตัวอย่าง        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปูนาดองจะไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่ปูนา เป็นปูน้ำจืด ซึ่งกินอาหารทั้งในดินและในน้ำ จึงอาจพบปลิงหรือพยาธิ เช่น พยาธิตัวจี๊ด หรือพยาธิใบไม้ในปอด ติดอาศัยมากับปู การบริโภคปูดิบๆ จึงมีโอกาสที่เราจะกินไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้เข้าไป ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของมนุษย์นั้นไม่สามารถฆ่าพยาธิให้ตายได้ แม้จะนำปูนาไปดองเค็ม ก็ไม่อาจทราบระยะเวลาการดองที่แน่นอน ดังนั้นควรทำปูนาให้สุกก่อนรับประทานจะดีกว่า        นอกจากนี้ หากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีมารู้จัก.. ปูแสม แล ปูนา         ปูแสม เป็นปูน้ำเค็มที่ขุดรูอาศัยอยู่ตามดินโคลนป่าชายเลน เช่น ป่าแสม ป่าโกงกาง หรือบริเวณปากแม่น้ำ พบได้ในจังหวัดที่ติดชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง ตรัง กระดองของปูแสมมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่โค้งมาก ส่วนกว้างของกระดอง ยาวกว่า ส่วนยาวเล็กน้อย โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร ก้ามมีลักษณะกว้างกลม สีแดงปนม่วง มีกลุ่มขนสั้นๆ กระจัดกระจายอยู่บนกระดองและก้าม        ส่วน ปูนา เป็นปูน้ำจืด มักอาศัยอยู่ในนาข้าว พบได้ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง กระดองมีลักษณะโค้งนูน ผิวเรียบมัน ขอบกระดองด้านหน้ามีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใหญ่กระดองมีสีม่วงดำและเหลือง ชอบขุดรูอยู่ตามแปลงนา คันนา รูปูจะมีลักษณะกลมรีตามขนาดลำตัว ชาวนาถือว่าปูนาเป็นศัตรูพืชของข้าว เพราะปูนาจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง ปูนาเป็นอาหารราคาถูกโดยเฉพาะเหมาะกับวิถีชีวิตผู้คนในชนบท และยังพบได้เกือบทุกภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำ หลนปูเค็ม แกงอ่อมปูนา น้ำปู๋ ปูนาดองน้ำปลา แกงส้ม อ่องปูนา และส้มตำ‘พาราควอต’ ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้        พาราควอต (paraquat) เป็นยากำจัดวัชพืชที่เกษตรกรไทยนิยมใช้เป็นยาฆ่าหญ้า มีคุณสมบัติเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายพืชผลผลิต นิยมใช้ในไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และนาข้าว พาราควอตยังเป็นที่นิยมของเกษตรกรทั่วโลก เพราะราคาถูก เห็นผลเร็ว และยังละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่าย อีกทั้งสามารถสะสมอยู่ในดินตะกอน        เมื่อปี ค.ศ. 2009 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้พาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง และยังพบข้อสังเกตในรายงานว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อชีวิต        พาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ และยังส่งผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น การก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม พาราควอตสามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือบาดแผล นอกจากนั้นยังพบการตกค้างของพาราควอตในอาหาร สิ่งแวดล้อมและมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน ทั้งนี้ยังสามารถถ่ายทอดผ่านมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ด้วย โดยจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบพาราควอตเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน        แหล่งข้อมูล:- ปูนา และการเลี้ยงปูนา (https://pasusat.com/ปูนา/)- วิธีอนุรักษ์ “ปูนา” จากสุรินทร์ จับมาแปรรูปเป็นอาหาร (https://mgronline.com/science/detail/9610000083393)- หนุ่มสิงห์บุรี ลาออกงานมาดูแลพ่อป่วย จับอาชีพเลี้ยงปูนา สร้างรายได้เดือนละล้าน (https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_530047)- พบสารพาราควอตตกค้างใน "น้ำปู๋ " 200 เท่า  (https://news.thaipbs.or.th/content/272293)- พาราควอต สารอันตรายที่ประเทศผู้ผลิตและทั่วโลกยังต้องแบน แต่ไทยยังปล่อยให้ใช้ต่อ (http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61559/)- งานวิจัยมหิดล พบพาราควอตตกค้างในขี้เทาทารกสูงเกินครึ่ง ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก (https://www.isranews.org/isranews-news/64489-paraquat-64489.html)- นักวิชาการแจงข้อเท็จจริงสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช หนุนยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส(https://thaipublica.org/2018/05/seminar-paraquat-glyphosate-chlorpyrifos/)- เบื้องหลัง “พาราควอต” ไม่โดนแบน (https://www.the101.world/banning-paraquat-in-thailand/)- ส้มตำปูดิบ เสี่ยงพยาธิในปอด (http://www.thaihealth.or.th/Content/26769-ส้มตำปูดิบ%20เสี่ยงพยาธิในปอด.html)- เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (https://thaipan.org/)- https://th.wikipedia.org/

อ่านเพิ่มเติม >