ฉบับที่ 215 วิธีรับมือฝุ่นและมลภาวะเพื่อผิวสดใส

ในวิกฤตฝุ่นขนาดเล็กที่เราเผชิญอยู่ หลายคนอาจไม่มีอาการข้างเคียงที่จับได้ว่ากระทบกับสุขภาพ ซึ่งอาจเพราะเคยชินกับสภาพแวดล้อม แต่บางทีถ้าวิกฤตฝุ่นเริ่มส่งผลกระทบกับผิวพรรณอันนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านที่รักสวยรักงามน่าจะจับสังเกตได้ง่าย เช่น เริ่มมีสิวผุดขึ้น ทั้งที่ไม่ปรากฏมานานแล้ว หรือผิวเกิดผื่นคันยุบยิบๆ ผิวหมองทั้งที่บำรุงอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็เพราะฝุ่นควันหรือมลภาวะทางอากาศนั้นทำร้ายผิวได้ไม่น้อยไปกว่าแสงแดดเลย          ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผิวพรรณไม่ได้มาจากวัยที่เพิ่มขึ้น แสงแดดหรือความเครียดเท่านั้น มลภาวะทางอากาศคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซ้ำยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยตามจุดต่างๆ ไปจนถึงจุดด่างดำ ยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กๆ มากๆ PM 2.5 ยิ่งก่อให้เกิดปัญหากับผิวได้โดยตรง เพราะสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนังได้          “ผลกระทบที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีต่อผิวพรรณของมนุษย์นั้น ผศ.นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ กรรมการสมาคมแพทย์ความงาม ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ กล่าวคือ ผลลัพธ์ทันทีจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสองโรคนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งผลระยะยาว อนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านเข้าผิวหนังแล้วทำลายเซลล์ผิว โดยเฉพาะผู้ที่เสริมความงามด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือศัลยกรรม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรอยที่ผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และหากแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ” (ที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-46890563)รับมืออย่างไรดี          1.หมั่นทำความสะอาด ถ้าออกไปอยู่ในพื้นที่โล่งนานๆ อย่างน้อยเข้าบ้านหรือในอาคารก็ควรล้างมือ หรือถ้าล้างหน้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องเพิ่มการบำรุงด้วยเพราะผิวที่โดยชะล้างบ่อยจะแห้งกร้าน ควรเพิ่มครีมหรือโลชั่นเพื่อบำรุงผิว กักเก็บความชุ่มชื้น          2. เพิ่มกระบวนการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งแค่การบำรุงผิวจากเครื่องสำอางอาจจะได้ผลน้อย ควรเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้สด ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินให้มากขึ้น          3.ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กสูง อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ทำศัลยกรรมความงาม เช่น ฉีดโบท็อกซ์ ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ          4.ติดตามข่าวสารเรื่องสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด ป้องกันแค่ผิวพรรณยังไม่พอ ควรเพิ่มการใช้หน้ากากกันฝุ่นด้วย เพราะจะส่งผลกับสุขภาพโดยรวม          5.ช่วยกันรณรงค์และงดใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้วยการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายจากบอกอ             เรื่องไขมันทรานส์ ที่ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว ทำไมยังเห็นขนมและขนมปังหลายยี่ห้อ ยังผสมมาการีน เนยขาว เนยเทียม เนยผสม ให้ผู้บริโภคกินอยู่เลยครับ Phothibut Osaithai          ตอบ            ทีมงานฉลาดซื้อขอบพระคุณสำหรับข้อเสนอนะคะ เราจัดเรื่องนี้เป็นเรื่องทดสอบมาให้อ่านรวดเร็วทันใจกันในฉบับถัดไปเลยค่ะ มาการีน เนยขาว เนยเทียม เนยผสม ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องเติมไฮโดรเจนบางส่วนได้ค่ะ จาก “ประกาศแบนไขมันทรานส์” มีข้อเท็จจริงที่หลายคนยังไม่ทราบคือ ประกาศนี้ไม่ได้แบนไขมันทรานส์ทั้งหมด แต่เป็นประกาศ “ห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์” ส่วนไขมันทรานส์จากธรรมชาตินั้นไม่ได้ห้าม เห็นได้จากเนื้อหาในประกาศที่ว่า“ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย”             ซึ่ง “ห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์” นั้น ก็เพราะว่า ไขมันทรานส์ตามธรรมชาตินั้นไม่เป็นอันตรายเหมือนไขมันทรานส์สังเคราะห์ค่ะ แล้วจะใช้อะไรทดแทนไขมันทรานส์สังเคราะห์ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อธิบายไว้ว่า ยังสามารถใช้ไขมันสังเคราะห์ เนยเทียม ครีมเทียมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ต้องปรับกระบวนการผลิตให้เป็นสูตรที่ไม่เกิดไขมันทรานส์            ดังนั้นสิ่งที่จะใช้แทนไขมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน ก็คือการใช้ไขมันที่เติมไฮโดรเจนเต็มส่วน ที่เรียกว่า fully hydrogenated แล้วนำไปผสมกับน้ำมันเพื่อให้ลดความแข็งลง เรียกวิธีการนี้ว่า “เทคนิคการผสมน้ำมัน” หรือ “oil-blending” ซึ่งอุตสาหกรรมในเมืองไทยทำได้ดีมาก เพราะบ้านเรามีไขมันพืชที่เป็นไขมันอิ่มตัวอยู่แล้ว เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ต่างจากประเทศเมืองหนาวที่ไม่มีไขมันพืชแบบอิ่มตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 กระแสต่างแดน

คิดก่อนทิ้ง                 ผู้สื่อข่าวรายการ Capital ทางช่อง M6 ของโทรทัศน์ฝรั่งเศส ปลอมตัวไปทำงานอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งของอเมซอนที่เมืองซารอง แล้วแอบถ่ายคลิปพนักงานขณะกำลังโยนเครื่องทำกาแฟ ชุดของเล่นเลโก้ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อดัง ลงถัง            ภาพถ่ายจากโดรนที่ติดตาม “ขยะ” หลายพันชิ้นเหล่านี้ไป แสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกส่งเข้าเตาเผาหรือไม่ก็ถูกฝังกลบ            บริษัทอ้างว่านี่เป็นสิ่งที่ทำได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ค้าปลีกที่นำสินค้ามาวางขายบนเว็บอเมซอน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งกลับ นำไปบริจาค หรือรีไซเคิล            แน่นอนต้องมีเสียงก่นด่าจากนักสิ่งแวดล้อม แต่เสียงที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลฝรั่งเศสที่เตรียมออกกฎหมายห้ามการทิ้งสินค้าสภาพดี เพื่อกดดันให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น            อเมซอน ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์ ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อถูกเปิดโปงว่านำสินค้าค้างสต็อก ซึ่งไม่ได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด ไปทิ้งเสียดื้อๆใครต้องจ่าย?                สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์เพิ่งจะสร้างสนามกีฬายิ่งใหญ่อลังการมูลค่า 850 ล้านปอนด์ (เกือบ35,500 ล้านบาท) ไว้เอาใจมิตรรักแฟนบอล                เนื่องจากสนามนี้ตั้งอยู่ในย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม สโมสรจึงเรียกร้องให้เทศบาลท้องถิ่นจัดการกับข้าวของที่กองเกะกะริมทาง รวมถึงดูแลเรื่องความสะอาด นอกจากนี้ยังขอให้ซ่อมแซมถนนที่แฟนบอลจะใช้เดินทางมายังสนาม (ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 500,000 ปอนด์) ด้วย                ชาวบ้านแถบนั้นบอกว่าเมื่อจบการแข่งขัน ก็เป็นหน้าที่ของสโมสรที่จะต้องเก็บกวาดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องใช้งบของเทศบาลด้วย  เงินแค่ 8,000 ปอนด์ (330,000 บาท) ต่อครั้ง ไม่น่าจะระคายเคืองสโมสรที่มีกำไรถึงปีละ 58 ล้านปอนด์ ( 2,300 ล้านบาท)                และสิบปีที่ผ่านมาเทศบาลนี้ก็ถูกตัดงบมาตลอด ชาวบ้านตัดพ้อ... ทำไมสโมสรที่รวยเป็นอันดับ 11 ของอังกฤษถึงไม่ยอมรับรู้ปัญหาพวกเราบ้าง “ทำไมสเปอร์ไม่เซนซิทิฟ?”เห็นแล้วไม่กล้า                อีกไม่นานเราอาจได้เห็นมิเตอร์แสดงปริมาณการใช้พลังงานในห้องพักตามโรงแรมทั่วไป เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่จะทำให้คนเราประหยัดได้ คือการได้เห็นว่ากำลัง “บริโภค” ไปมากแค่ไหนนั่นเอง                จากการติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ไว้ในห้องพักของโรงแรมหกแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ และบันทึกผลการใช้พลังงานจากการอาบน้ำทั้งหมด 20,000 ครั้ง ผู้วิจัยพบว่าแขกที่พักในห้องที่มีสมาร์ตมิเตอร์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าแขกที่เข้าพักในห้องทั่วไปถึงร้อยละ 11.4                ทีมวิจัยซึ่งเผยแพร่งานนี้ในนิตยสาร Nature Energy ตั้งข้อสังเกตว่า คนเราใช้พลังงานอย่างประหยัดได้แม้จะไม่มีแรงจูงใจเรื่องเงิน และการรณรงค์ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ผลเพราะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินก็เป็นได้                ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์มาหักลบกับค่าน้ำที่ประหยัดได้ ก็จะพบจุดคุ้มทุนภายในสองปีแจ้งก่อนหัก                เมื่อเราต้องการ “ทดลองใช้” บริการข้อมูลหรือแอปพลิเคชันใดๆ สิ่งที่ต้องทำคือการให้หมายเลขบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้า                ปัญหาคือหลังจากใช้ฟรีไปเพลินๆ สถานภาพเราอาจเปลี่ยนเป็น “ผู้ใช้แบบจ่ายเงิน” ที่ถูกหักเงินจากบัตรไปโดยไม่รู้ตัว หากเราไม่ต้องการใช้ต่อ ก็ต้องวุ่นวายติดต่อธนาคารเพื่อยกเลิกเองอีก                ถือเป็นข่าวดีที่บริษัทบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดลุกขึ้นมาประกาศกฎเหล็กว่าต่อไปนี้ผู้ประกอบการที่รับ บัตรเครดิตของเขาจะต้องส่งอีเมลหรือข้อความสั้นแจ้งลูกค้าก่อนจะทำการหักเงิน                โดยจะต้องแจ้งราคา  วันชำระเงิน ชื่อผู้ประกอบการ รวมถึงเว็บไซต์และเบอร์โทรศัพท์ ที่ขาดไม่ได้คือต้องแจ้งช่องทางและวิธีการยกเลิกบริการให้ชัดเจนด้วย                โชคดีเป็นของเรา เมื่อการทดลองใช้ฟรีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปสแกนกู้โลก                  วันนี้เราสามารถตรวจสอบที่มาของอาหารที่เราเลือกบริโภคได้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน                กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือกับบริษัท BGC Digital Ventures จากออสเตรเลียจัดทำเว็บไซต์ OpenSC เพื่อให้ผู้บริโภค ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารต่างๆ ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของอาหาร เช่น ปลานี้จับได้จากที่ไหน  พื้นที่นั้นจัดอยู่ในเขตการทำประมงอย่างยั่งยืนไหม สภาพการผลิตเป็นไปตามเกณฑ์ด้านแรงงานและการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือไม่                สมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่สามารถตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ เพียงเราสแกนคิวอาร์โค้ดบนตัวสินค้า หรือเมนูในร้านอาหาร ข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏ                นอกจากจะดีต่อผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดีและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในการผลิตอาหารของเราด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ยาทาฝ้าจากอินเดียสั่งออนไลน์ได้นะจ๊ะนายจ๋า

ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในหัวข้อ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้มอบหมายให้นักศึกษาไปตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นักศึกษารายหนึ่งตรวจพบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ของเว็บขายสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง          นักศึกษาเล่าว่า เมื่อตนเข้าไปที่เว็บขายสินค้านี้  พบผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า เป็นยาทาลบรอยฝ้า รอยจุดด่างดำ เห็นผลจริง เป็นของดีจากอินเดีย มีการบรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับการรักษาผิวใต้วงแขนที่หยาบกร้าน แผลพุพอง รอยดำของบิกินี่ รอยบวมเล็กๆ บนผิวหนัง ช่วยลดรอยฝ้า กระอ่อน รอยแห่งวัย จุดด่างดำ หน้าท้องลายจากการตั้งครรภ์ และอื่นๆ มีวิธีใช้ง่ายๆ คือ ทาบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า ทุกวันหลังล้างหน้าตอนเย็น  แนะนำให้ทาติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน โดยมีคำเตือนว่า สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้          ผลิตภัณฑ์นี้ระบุส่วนประกอบ ได้แก่  Hydroquinone, Mometasone Furoate และ Tretinoin ซึ่งทั้งสามตัวมีสรรพคุณเป็นยา และเป็นยาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น Hydroquinone หากใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน แทนที่หน้าจะขาวผ่อง กลับจะยิ่งทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรขึ้นได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย          ส่วน Mometasone Furoate เป็นครีมสเตียรอยด์ ที่ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาผื่นคัน หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาที่มีความแรงสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ ผิวหนังแดง แห้ง แสบร้อน คัน สีผิวจางลง หรืออาจมีผื่นคล้ายสิว และยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ อาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากได้ เช่น กดไขกระดูก หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น          ส่วนตัวสุดท้าย tretinoin เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ทางการแพทย์จะใช้เป็นยารักษาสิว แต่มีข้อควรระวังที่น่ากลัวคือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าสู่ทารก จนร่างกายทารกอาจพิการได้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงเป็นยา ซึ่งผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่ยานี้กลับจำหน่ายทางออนไลน์ให้สั่งซื้อได้อย่างง่ายๆ เมื่อนักศึกษาได้ลองสั่งซื้อ ก็ได้รับสินค้ามาอย่างรวดเร็ว นักศึกษาได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแจ้งไปที่เว็บจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย          ปรากฏว่าทั้งสองแห่งต่างก็ตอบว่าได้รับเรื่องแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนผมลองเข้าไปดูก็ยัง พบการโฆษณาในเว็บอยู่ เพียงแต่ขึ้นข้อความว่าสินค้าหมด ใครนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก็ระวังด้วยนะครับ การจำหน่ายยาทางนี้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ถ้าใครเจอ ช่วยๆ กันเตือนและช่วยๆ กันร้องทุกข์ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 เบี้ยประกันสำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้ประชาชนในฐานะ พลเมือง และผู้บริโภค

            หลายๆ ครั้งที่ติดตามข่าว โดยเฉพาะกรณีที่ ประชาชนหรือผู้บริโภค ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการรักษาสิทธิของตนเองนั้น มักปรากฏว่า มักจะมีทนายอาสา หรือ มูลนิธิต่างๆ เอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือ สงเคราะห์ เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมนั้น คดีความต่างๆ จำเป็นต้องใช้บริการของทนายทั้งในกรณีขอคำปรึกษา และว่าความให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน            กรณีของเยอรมันเอง ได้มีบริการสำหรับ ให้ผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้บริการ ทนายความโดยอาศัยหลักการ การซื้อเบี้ยประกันสิทธิของประชาชน (Rechtsschutzversicherung: Legal Expense Insurance)            หลักการของประกันลักษณะนี้จะคล้ายกับ การซื้อประกันสุขภาพ ที่จะต้องหาหมอในกรณีป่วย ประชาชนที่มีประกันสุขภาพ ก็ใช้บริการประกันสุขภาพ แต่บริการประกันสิทธิ คือ การใช้บริการของทนาย ในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และต้องใช้บริการทนาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นระบบประกันสิทธิแบบจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าจึงเข้ามาปิดช่องว่าง ของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับ ประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ สำหรับวันนี้จะขอยกตัวอย่าง ประกันสิทธิทางถนน (Verkehrrechtschutz: Traffic right Insurance) ซึ่งเป็นประกันภัยที่เหมาะและมีประโยชน์กับทุกคนที่จะต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนน ขี่รถจักรยาน หรือ ขับรถยนต์ ในกรณีที่เกิดคดีความกันบนท้องถนน ประชาชนที่มีประกันสิทธิ ก็สามารถปรึกษาเรียกหาทนายความมาเป็นที่พึ่งได้             เหตุการณ์ลักษณะใดบ้างที่ประกันสิทธิบนท้องถนนให้ความคุ้มครอง                1 กรณีกิดอุบัติเหตุ หลายๆ ครั้งที่ รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถจักรยาน การพิสูจน์ถูก ผิดในคดี จำเป็นที่จะต้องใช้บริการทนายในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายผู้ขับขี่รถยนต์ หรือ คนขับขี่จักรยาน ที่มักได้รับบาดเจ็บ จากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดถูก หรือผิด จนกว่าจะได้รับคำพิพากษาจากศาล                2 กรณีซื้อยานพานะแล้วปรากฏว่าเป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจำเป็นต้องใช้ ทนายในการทำคดี                3 ในกรณีที่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งขอกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ต่อศาลโดยสามารถปรึกษากับทนาย โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด บริษัทรับทำประกันรับผิดชอบ                4  ในกรณีที่ผู้ประกันสิทธิเป็นฝ่ายผิด ก็สามารถใช้บริการนี้ เพื่อป้องกัน การเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงได้                5 ในการต่อสู้ทางคดีความ ฝ่ายผิด เป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้คดีความให้กับอีกฝ่ายด้วย ดังนั้น หลายๆ กรณี มักจะจบด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ต้องใช้บริการปรึกษาทนายความ            ขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ เฉี่ยวชน กับรถจักรยาน กรณีที่ เกิดความเสียหายเฉพาะตัวรถจักรยาน เจ้าของจักรยาน เรียกค่า เสียหาย 1000 ยูโร แต่ ประกันของฝ่ายรถยนต์มองว่า เรียกค่าเสียหายสูงเกินไป เมื่อตกลงกันไม่ได้จึง ต้องฟ้องคดีต่อศาลเรียกค่าเสีย ซึ่งค่าใช้จ่ายของทนายความ คือ 350 ยูโร และค่าฤชาในการฟ้อง อีก 160 ยูโร ในกรณีที่คนขับขี่รถจักรยานเป็นฝ่ายแพ้คดี ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งของคู่ความด้วย รวมๆแล้ว คนขับขี่จักรยานต้องจ่ายรวมเบ็ดเสร็จ 770 ยูโร ในกรณีที่คดีเข้าสู่ชั้นอุทธรณ์ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 1560 ยูโร และถ้าเป็นชั้นฎีกา อาจเพิ่มสูงถึง 2600 ยูโร ซึ่งมากกว่า มูลค่าความเสียหายถ้าเกิดกรณีบาดเจ็บ และคนขับขี่จักรยานเรียกร้องค่าเสียหายจากการได้รับบาดเจ็บ 25000 ยูโร คนขับขี่จักรยานก็ต้องจ่ายค่าทำคดี ในศาลชั้นต้นสูงถึง 6480 ยูโร ชั้นอุทธรณ์ 13265 ยูโร และชั้นฎีกา 22300 ยูโร ดังนั้นค่าคดีความจึงขึ้นอยู่กับมูลค่าความเสียหาย            เบี้ยประกันสิทธิคุ้มครองทางถนน จึงเป็นสิทธิที่มีความสำคัญกับผู้ใช้เส้นทางการเดินทางทุกคน ระบบประกันสิทธิโดยใช้รูปแบบของการจ่ายเบี้ยประกันจึงเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ ในประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเลือกซื้อประกันสิทธิแบบนี้ โดยสามารถเปรียบเทียบราคา และสิทธิประโยชน์ได้จาก การรวบรวมข้อมูลของ องค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ ทดสอบเปรียบเทียบของสินค้าและบริการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อเบี้ยประกันได้ตามความสมัครใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 4

เมื่อคนต่างด้าวสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ตามกฎหมายแล้วนั้น การใช้สิทธิ์ของคนต่างด้าว ในอาคารชุดก็สามารถที่จะดำเนินการได้เช่นเดียวกับผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดที่เป็นคนไทย โดยหลักกฎหมายที่รับรองสิทธินี้ไว้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ คนต่างด้าวให้เช่าอาคารชุดสามารถทำได้หรือไม่ตามกฎหมายไทย เห็นว่า เมื่อคนต่างด้าวเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ตามกฎหมาย คนต่างด้าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงสามารถดำเนินการให้เช่าอาคารชุดได้เสมือนเป็นคนไทยทุกประการ แต่การเช่าอาคารชุดก็มีข้อจำกัดการเช่าตามกฎหมายที่สำคัญหลายประการ ดังนี้          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 ว่าด้วย เช่าทรัพย์ มีบทบัญญัติที่สำคัญที่จะต้องคำนึง ได้แก่          ประการที่ 1 การเช่าอาคารชุดเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรา 538 กำหนดว่า การเช่าอาคารชุดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ คือฝ่ายลงลายมือชื่ออาจถูกฟ้องได้ และถ้าการเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า การเช่ารายนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่แค่เพียงสามปีเท่านั้น หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่          ประการที่ 2 การเช่าอาคารชุดมีกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยมาตรา 540 กำหนดว่า การเช่าอาคารชุดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น ห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่า 30 ปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น 30 ปี และหากกำหนดเวลาเช่าดังกล่าวสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกิน 30 ปีนับแต่วันต่อสัญญา          ประการที่ 3 การให้เช่าช่วงและโอนสิทธิการเช่า โดยมาตรา 544 อาคารชุดซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ให้เช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ ยกเว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้สัญญาเช่าระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า หากถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืน ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้          ประการที่ 4 หากในระหว่างเวลาเช่า ผู้ให้เช่าได้โอนทรัพย์สินไปเป็นของบุคคลอื่น โดยมาตรา 569 กำหนดว่า การเช่าอาคารชุดซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้น ย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย คือ จะต้องยินยอมให้เช่ากันจนครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ชอบด้วยกฎหมาย          ประการที่ 5 การระงับสิ้นแห่งสัญญาเช่า กฎหมายลักษณะเช่าซื้อกำหนดเหตุไว้หลายประการ คือ มาตรา 564  กำหนดว่า สัญญาเช่าอาคารชุดนั้น ย่อมระงับไป เมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน มาตรา 566 กำหนดว่า ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่อาจพึงสันนิษฐานได้ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อยแต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน มาตรา 567  กำหนดว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมด สัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย และตามหลักทั่วไปการเช่าย่อมสิ้นสุดลง เพราะเหตุที่ผู้เช่าถึงแก่ความตาย อีกทั้งการเช่าอาคารชุดไม่ใช่มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 ประกอบ มาตรา 1600 เว้นแต่เป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเท่านั้น          ประการที่ 6 เนื่องจากการซื้อขายอาคารชุด เป็นการประกอบธุรกิจขายห้องชุดในอาคารชุดไม่ว่าจะเป็นห้องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างหรือก่อสร้างเสร็จแล้วจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุดหรือก่อสร้างเสร็จแล้ว และได้จดทะเบียนอาคารชุดแล้ว ล้วนเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ดังนั้น สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้ซื้อต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจนในที่นี้ผมขอแนะนำให้ผู้ประกอบธุรกิจควรจัดทำคำแปลสัญญาฉบับภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้อ่านก่อนตัดสินใจซื้ออย่างไรก็ตามข้อความในสัญญาอย่างน้อยจะต้องมีสาระสำคัญใจความโดยสรุป ดังนี้          • ข้อสัญญาที่รับรองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือมีกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดและผู้ลงนามในสัญญาเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันตามสัญญาโดยแนบเอกสารหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือกรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้วแต่กรณี และการเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันตามสัญญาไว้ท้ายสัญญา          • ข้อสัญญาที่แสดงว่า ที่ดินอาคารและห้องชุดในอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน หรือบุคคลใด          • ตำแหน่งที่ดินเลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินของโครงการแผนผังแสดงเขตที่ดินและที่ตั้งของอาคารชุด          • ราคาขายต่อตารางเมตรและจำนวนพื้นที่ห้องชุดที่จะซื้อขาย          • วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ทุกส่วนของอาคารชุดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องของห้องชุดในอาคารชุดรายการและขนาดของทรัพย์ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 7 วันอันตราย

เริ่มต้นปีใหม่ ปี 2562 ที่หลายคนบอกว่าเป็นปีหมูทอง แสดงว่าน่าจะเป็นปีที่มีแต่สิ่งดีๆ เป็นปีที่พวกเราทุกคนน่าจะมีความหวังเรืองรองเหมือนดั่งทองกับการงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นปีหมาไฟก็ว่าได้ เพราะเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหลายราย มีการประท้วงขอขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารเกือบทุกประเภททั้งรถแท็กซี่ รถตู้ รถทัวร์โดยสาร หรือแม้กระทั่งรถเมล์          รวมถึงประเด็นห้ามรถตู้โดยสารที่อายุ 10 ปี วิ่งรับส่งคนโดยสารที่เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การประท้วงและรวมกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 731 รายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและยกเลิกคำสั่งห้ามรถตู้สิบปีวิ่งรับส่งคนโดยสาร          อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมีภาพรวมดีขึ้นขยับจากอันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 9  แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ที่สำคัญประเทศไทยยังติดอยู่ใน 10 อันดับอยู่ดี ขณะที่อัตราการตายจากรถจักรยานยนต์ยังคงสูงติดอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นการเสียชีวิตที่เกิดตลอดทุกช่วงของปี          ซึ่งหากจะนับตัวเลขเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม – 2 มกราคม  ในสองปีหลังสุดพบว่า ในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน ขณะที่ในปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น  3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 คน และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,892 คน โดยมีจังหวัดนครศรีธรรมเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดจำนวน 118 ครั้ง และเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดจำนวน 137 คน ขณะที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดจำนวน 25 ราย          ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายปี 2562 พบว่า มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย หรือลดลง 1.3% และ 5.5% ตามลำดับ  ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าปีที่แล้วถึง 10%  โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถด้วยความเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง          ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในช่วง 7 วันอันตรายของปี 2562 นี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 5 ครั้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยผลการตรวจสภาพความพร้อมรถโดยสารทั่วประเทศ 132,813 คัน พบรถโดยสารบกพร่อง 7 คัน สั่งเปลี่ยนรถ 6 คัน และพ่นสีห้ามใช้รถทันที 1 คัน นอกจากนี้ยังได้ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ 132,813 ราย พบพนักงานขับรถที่ไม่มีความพร้อมร่างกายอ่อนเพลีย 2 ราย          แต่จากรายงานผลการตรวจเข้มของกรมการขนส่งทางบกจากสถานีขนส่งและจุดจอดรถ 196 แห่งทั่วประเทศที่ระบุว่าไม่มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเลยนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง          เพราะเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ในช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เสียหลักตกข้างทางบริเวณถนนสายฮอด – แม่สะเรียง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บมากถึง 8 ราย โชคดีที่เหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่งั้นก็คงเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญส่งท้ายปีกัน แต่จำนวนผู้บาดเจ็บในครั้งนี้กลับไม่ถูกนำรวมกับข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในช่วง 7 วันอันตราย          อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ จะไม่มีความรุนแรงชนิดที่มีคนเสียชีวิตกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะให้เราได้เห็นกันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายทุกคนก็ไม่อาจนิ่งเฉยหรือปล่อยปละละเลยกันเหมือนเคยได้ การเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ควรทำแค่ช่วง 7 วันอันตราย แต่ควรมีมาตรการที่สามารถทำได้ในทุกวัน         แน่นอนแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการแล้ว อาจจะมีผู้กระทำความผิดบางรายที่หลุดเล็ดลอดไปบ้าง แต่ภาพรวมต้องถือว่าสถานการณ์ของรถโดยสารสาธารณะดูดีมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน อาสาสมัครเฝ้าระวัง ผู้ประกอบการ ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ในกฎกรอบกติกา ที่ร่วมกันสร้างให้ประชาชนและทุกฝ่ายทุกคนตระหนักถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 วิธีจัดการเมื่อบ้านเอื้ออาทรกำลังถูกยึด

          แม้บ้านเอื้ออาทรจะมีราคาไม่สูง แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้พวกเขาอาจขาดส่งค่างวดได้บ่อย อีกทั้งยังขาดข้อมูลเพื่อการจัดการที่ดี ทำให้หลายคนที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรไว้ อาจถูกยึดบ้านไปโดยไม่รู้ตัว        คุณเดียร์มีอาชีพขายก๋วยจั๊บ ทำสัญญาซื้อบ้านในโครงการเอื้ออาทรที่รังสิต คลองเก้าไว้ ตั้งแต่ปี 2555 ในราคา 600,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 3,000 บาท คุณเดียร์ไม่ได้พักอยู่ในโครงการฯ เพราะไม่ใช่ทำเลของการค้าขาย แต่ต้องการมีบ้านไว้สำหรับอยู่ตอนที่ชราค้าขายไม่ไหวแล้ว        ในระยะแรกคุณเดียร์สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติโดยให้ทางการเคหะแห่งชาติ หักบัญชีธนาคาร แต่เมื่อการค้าขายไม่ค่อยดี คุณเดียร์ก็ขาดส่งบ้าง งวดถึงสองงวด แต่ก็ยังรวบรวมเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ได้ จนล่าสุดขาดสภาพคล่อง คุณเดียร์ค้างชำระไป 5 เดือน และตกใจมากเมื่อคนรู้จักกันนำประกาศของการเคหะฯ มาให้ที่ร้าน บอกว่าเป็นประกาศที่ปิดไว้ที่บ้านในโครงการฯ  เนื้อหาคือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากขาดส่งเกินสามเดือนและให้มอบคืนบ้านภายใน 7 วัน เมื่อติดต่อไปเพื่อขอชำระหนี้ทั้งหมดและต่อสัญญา ทางเจ้าหน้าที่การเคหะฯ บอกว่า “ทำไม่ได้แล้ว เพราะบ้านได้ขายไปแล้ว”         คุณเดียร์จึงขอคำปรึกษามาว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง เพราะหนึ่งไม่มีจดหมายแจ้งถึงตน แต่ทางการเคหะฯ อ้างว่า ส่งหนังสือไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 แต่ไม่มีผู้รับหนังสือจึงถูกตีกลับมา ซึ่งคุณเดียร์สอบถามทางบ้านแล้วไม่มีใครเห็นหนังสือดังกล่าว สอง ถ้ายกเลิกตั้งแต่เดือนมกราคม ทำไมตอนที่ผู้ร้องชำระเงินค่างวดไปเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทางการเคหะฯ ก็ยังคงหักเงินในบัญชีออกไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ขณะนี้เรื่องของคุณเดียร์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่มีประเด็นที่อยากฝากไว้คือ ผู้บริโภคไม่ควรละเลยกับเรื่องของการผ่อนค่างวด หากพบว่าตนเองไม่มีสภาพคล่อง ควรหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้ค้างชำระเกินสามงวดติดกัน และควรใส่ใจเรื่องข้อมูลที่ทางการเคหะฯ แจ้งแก่ผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >