ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา





        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไป

เข้าใจเรื่องแผล

        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน .. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้น

ชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้

        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตากระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม

        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือน

แผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร

        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ

        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น 




เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล

        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้ 

        2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ

        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า 

        4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น

        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้

        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ

        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า




แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

230 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค การล้างแผล

ฉบับที่ 275 ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

        การใส่คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นที่นิยม บางคนใส่เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสายตา แต่บางรายก็เพื่อแฟชั่นความสวยงามเฉยๆ แต่รู้หรือไม่ แม้การใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแต่ก็ควรจะต้องระมัดระวังกันไว้ เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะสำคัญอย่างดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ ยิ่งเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่หัดใส่คอนแทคเลนส์เป็นครั้งแรกด้วยนั้น ยิ่งต้องดูแลให้ปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงมีวิธีที่ถูกต้องมาแนะนำ การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์         คอนแทคเลนส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปส่วนมากจะมีระยะเวลาในการใส่ เช่น หลักๆ ก็จะมีเป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น ซึ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรจะใส่ตามระยะเวลาที่เลือกซื้อ เช่น หากเลือกซื้อแบบรายวัน ก็ควรใช้แบบวันต่อวันและเปลี่ยนใหม่ในวันถัดไปทันที ไม่ควรเอาแบบรายวันมาใส่เป็นรายเดือนเด็ดขาด รวมถึงแบบอื่นๆ ด้วย ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย         ในหมู่วัยรุ่นมักจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์โดยซื้อจากตามท้องตลาดทั่วไป โดยไม่ตรวจเช็กรายละเอียดอื่นๆ แนะนำว่า ควรต้องดูฉลากกันสักหน่อย เช่น ชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ วันเดือนปีที่หมดอายุ ที่สำคัญเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถนำเลขมาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ - กระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมติ๊กเครื่องมือแพทย์ก่อนตรวจสอบ  ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์        1. สำหรับผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เนื่องจากปัญหาสายตาสั้นแนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและเข้าตรวจวัดค่าสายตาก่อนใส่         2. ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่         3. ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรนำออกมาแช่น้ำยาคอนแทคเลนส์ก่อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้แช่เป็นน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า         4. ตรวจเช็กก่อนใส่ว่าเลนส์ไม่พลิกหรือกลับด้าน เพื่อป้องกันการใส่ผิดด้านแล้วเกิดการระคายเคือง        5. เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่รู้สึกระคายเคืองตา แสดงว่าเข้าที่เรียบร้อยแล้ว หากมีอาการแสบตาระคายเคืองไม่หาย แนะนำควรถอดออกทันที         6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน (ต้องถอดออกก่อนเสมอ) เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรืออื่นๆ ที่อันตรายต่อดวงตาได้        7. สำหรับคนที่ปัญหาตาแห้งบ่อยควรพกน้ำตาเทียมเพื่อหยอดระหว่างวัน แนะนำใช้แบบธรรมดาไม่เป็นแบบหยอดตาแล้วเย็นหรือใดๆ ทั้งสิ้น        8. ที่สำคัญคือไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับคนอื่นโดยเด็ดขาด  ดูแลรักษาอย่างไรหลังใช้งาน         สำหรับคนที่ใช้แบบรายสัปดาห์ รายเดือนหรือปี ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้งหลังใช้งาน และควรทำความสะอาดอีกด้วย โดยมีวิธีดังนี้         ล้างมือให้สะอาดและนำคอนแทคเลนส์ ไว้บนฝ่ามือเทน้ำยาลงที่เลนส์แล้วใช้นิ้วถูทำความสะอาดบริเวณเลนส์สักพัก และล้างด้วยน้ำยาอีกรอบ เมื่อเสร็จให้นำใส่ตลับแล้วแช่น้ำยาเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดตลับที่ใส่ทุกวัน ในส่วนของตลับใส่ก็ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 3 เดือน  ข้อควรระวัง        ·     พิจารณาบรรจุภัณฑ์หรือขวดบรรจุคอนแทคเลนส์ ต้องไม่มีรอยชำรุดหรือเสียหาย หากเจอในลักษณะนั้น ไม่ควรนำมาใช้งาน        ·     น้ำยาคอนแทคเลนส์ ควรดูฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะวันเดือนปีที่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ ไม่ต้องเสียดายให้ทิ้งไปเลย นอกจากนี้อ่านฉลากหรือวิธีการใช้งานให้ละเอียดและควรทำตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตัวน้ำยาคอนแทคเลนส์ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางอันสามารถหยอดตาได้หรือบางอันไม่ได้  และวิธีการใช้งานอาจแตกต่างกัน และอย่าลืม ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแทนน้ำยาเด็ดขาด         ·     หากมีอาการปวดเจ็บตาผิดปกติจากเดิม เช่น ตาแดง ตามัว ตามแห้ง รวมถึงอาการต่างๆ มากกว่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ข้อมูลจาก : วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง วิธีใส่คอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัย ทำได้ง่ายใน 7 ขั้นตอนคอนแทคเลนส์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยคอนแทคเลนส์ : เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 การดูแล “ส้นเท้าแตก”

        ปัญหาผิวหนังที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือ อาการส้นเท้าแตก ซึ่งแม้มันจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดอะไรมากมาย หรืออันตรายต่อสุขภาพ แต่มักสร้างความรำคาญแถมอาจทำให้เสียความมั่นใจในการโชว์เท้าสวยๆ ของตัวเอง        สาเหตุในการเกิด “ส้นเท้าแตก” อาจจะเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงด้านพฤติกรรมต่างๆ  เช่น  การไม่สวมรองเท้าและเดินเท้าเปล่าบ่อยจนเกิดการเสียดสีมากๆ  อากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นหากบริเวณส้นเท้าไม่ทาครีมก็ทำให้ขาดความชุ่มชื่นจนเท้าแตกได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสม บางคนอาจเกิดจากการอาบน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแพ้สารเคมี ส่วนสาเหตุที่อาจพบไม่บ่อย คือ เกิดจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นนั้นเอง         ทั้งนี้ เรื่องอายุที่มากขึ้นก็เช่นกัน เมื่อเรามีอายุมากขึ้นจะมีผิวแห้งกร้านกว่าวัยหนุ่มสาว บริเวณที่เสียดสีกับปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะยิ่งเร่งให้ส้นเท้าแตกง่ายขึ้น  แล้วเราควรจะดูแลส้นเท้าแตกของเราอย่างไร การดูแลส้นเท้าแตก        ·     เลือกทาครีมบำรุงบริเวณส้นเท้าที่ให้ความชุ่มชื้นเยอะๆ หรืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มให้ความชุ่มชื้น เช่น  ยูเรีย กลีเซอลีน สามารถทาและสวมถุงเท้าก่อนนอนได้เลย        ·     เรื่องการรักษาสุขอนามัยก็สำคัญ สามารถทำความสะอาดด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นแต่ไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อนจนเกินไปเพราะจะทำให้เสียความชุ่มชื้นได้ ไม่ควรแช่นานจนเกินไป หลังจากนั้น สามารถนำหินมาขัดส้นเท้าเบาๆ ได้ เพื่อนำเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก ทั้งนี้ ไม่ควรขัดแรงๆ อีกด้วย ควรขัดเบาๆ ก็พอ        ·     เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่แห้งตึง  หรือเป็นกรดด่างเกินไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนหรือมีมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นส่วนผสมยิ่งดี แนะนำให้อ่านฉลากส่วนผสมก่อนซื้อทุกครั้ง        ·     ในส่วนของคนที่ชอบถอดรองเท้า เดินเท้าเปล่า แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใส่รองเท้าทุกครั้ง ก่อนเดินไปที่พื้นเพื่อป้องกันการเสียดสี เปลี่ยนจากรองเท้าแตะเป็นรองเท้าหุ้มส้นได้ยิ่งดี แต่ก็ไม่ควรเป็นรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป        ·     การดื่มน้ำเป็นประจำวันละ 8 แก้ว ก็เป็นตัวช่วยจากภายในสู่ภายนอกได้         นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตตัวเองด้วยว่าปัญหาส้นเท้าแตกของตัวเองที่เกิดนั้น มาจากสาเหตุใด  แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤกรรม         อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางคนอาจจะเป็นมากถึงขนาดส้นเท้าแตกลาย หรือมีอาการเจ็บเป็นแผลลึก แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และหากเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ด้วยยิ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง เพราะแพทย์จะเลือกทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ อาจจะจ่ายยารับประทาน ยาทาผิวหรือต้องผ่าตัดเอาเนื้อตายออก เป็นต้น ข้อมูลจาก Hello คุณหมอ : วิธีแก้ส้นเท้าแตก และวิธีดูแลส้นเท้าไม่ให้แห้งแตกPobPad :  ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บควรอย่างไรดี

        การทำเล็บเพื่อความสวยมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างหลากหลาย ร้านทำเล็บมีกันเกลื่อนเมือง มีทั้งการทำเล็บเจลที่นิยมทำกันมากหรือการต่อเล็บปลอมแล้วตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งเป็นเล็บปลอมจากอะคริลิก PVC แต่รู้หรือไม่ อาจเสี่ยงให้เกิดเชื้อราหรือเป็นเล็บเขียวๆ หลังจากถอดเล็บปลอมออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเพราะว่ามองไม่เห็น จะมารู้ตัวอีกทีก็หลังจากถอดเล็บออกมาเท่านั้น         อาการเล็บเป็นเชื้อราจากการทำเล็บนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ส่วนมากคือเกิดจากความอับชื้น และจากอุปกรณ์ของช่างที่ไม่สะอาด ดังนั้นเพื่อให้รู้จักสังเกตอาการก่อนจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ลุกลาม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือหลังจากถอดเล็บปลอมออกแล้ว พบว่า เล็บเป็นสีเขียว หรือสีขาวหรือออกเหลืองๆ  และบางคนอาจมีอาการคัน บวม แดง ก็แสดงว่าติดเชื้อราเข้าแล้ว  เกิดอาการเล็บติดเชื้อรา ควรทำอย่างไรดี         ฉลาดซื้อ แนะนำว่าหลังถอดเล็บทุกครั้งให้ดูแลความสะอาดให้ดี พร้อมกับพักระยะเวลาการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเจลไปอีกสักพักก่อน เพื่อให้เล็บได้ฟื้นตัว หากมีอาการแบบที่บอกไว้ข้างต้น ควรทายาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาอาการคู่ไปด้วย โดยหากเป็นไม่มากแค่ออกสีเขียวๆ ปรึกษาเภสัชกรให้แนะนำยาที่เหมาะแก่การรักษาให้ แต่หากมีอาการมาก คัน อักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อราเกิดลุกลามจนหน้าเล็บพัง เพราะในกรณีที่ลุกลามมากๆ อาจจะต้องให้แพทย์ทำการรักษา เช่น ตัดเล็บหรือถอดเล็บบริเวณเกิดเชื้อราออก ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานโดยเฉพาะ         อีกเรื่องคือ หากใครที่ต่อเล็บแล้วพบว่าเล็บเหมือนจะหลุดแต่ยังไม่หลุด จนมีช่องว่างระหว่างตรงกลางไว้ แนะนำให้รีบไปถอดออกทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจมีช่องว่างให้น้ำเข้าไปจนเกิดความอับชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อเกิดเชื้อราโดยเฉพาะนั้นเอง ร้านทำเล็บต้องสะอาด         การเลือกร้านทำเล็บ ควรเลือกที่น่าเชื่อถือ มีการทำความสะอาดอุปกรณ์และมีอุปกรณ์เพื่อการฆ่าเชื้ออย่างดี ที่สำคัญฉลาดซื้อย้ำเตือนเสมอ คือ มีใบอนุญาตหรือช่างผ่านการอบรมมาอย่างดี รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้าน เช็กให้ดีก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง  เพราะการที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน เราควรที่จะเน้นเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นหลักข้อมูลจาก : www.Pobpad.com ข้อควรรู้ก่อนทำเล็บปลอม เพื่อป้องกันเล็บพังwww.Pobpad.com ความหมาย เชื้อราที่เล็บwww.hellokhunmor.com เล็บปลอม กับข้อควรรู้ก่อนต่อเล็บปลอม

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 รู้ก่อนตัดสินใจ “สักคิ้ว”

        “การสักคิ้ว” เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการความสวยความงามของไทย ก็อย่างว่าคิ้วคือมงกุฎของหน้า สาเหตุที่คนนิยมกัน ก็เนื่องจากต้องการแก้ปัญหาบริเวณส่วนคิ้ว เช่น บางคนต้องการสักคิ้วเพื่อแก้ปัญหาคิ้วบางจนเกินไป ไม่มีความมั่นใจหรือบางคนแค่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วให้ดูสวยขึ้น เป๊ะปังอยู่ตลอดเวลานั้นเอง การสักคิ้วสมัยนี้ก็มีอยู่หลายรูปแบบ ทั้ง 3 มิติ 6 มิติ แบบการฝังสีคิ้วสไตล์เกาหลี เพิ่มโหงวเฮ้งของใบหน้าก็มีหาได้ทั่วไป          อย่างไรก็ตาม หากต้องการสักคิ้วจริงๆ อยากให้ผู้บริโภคศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจสักหน่อย เพราะหากสักพลาดไปแล้วแน่นอนแก้ยากกว่าที่คิด หลายคนคงจะเห็นได้จากข่าวที่มีคนพลาดไปสักคิ้วแล้วได้คิ้วทรงแปลกๆ ให้เห็นกันอยู่บ่อย ฉลาดซื้อ จึงอยากแนะนำ ดังนี้          1. ตรวจสอบร้านสักคิ้วที่เราต้องการใช้บริการ ช่างมีใบรับรองวิชาชีพหรือไม่ ก่อนลงมือสักมีการใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย         2. สถานที่ใช้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ซึ่งใบประกอบดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี นอกจากนี้ ภายในร้านต้องสะอาด ถูกอนามัย อยู่ในพื้นที่เปิดเผยเป็นหลักแหล่ง อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ควรใช้ซ้ำ         3. อ่านรีวิวก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของร้าน และให้แน่ใจว่าการใช้บริการจะปลอดภัย ตรงนี้แนะนำให้เช็กดีๆ         4. สำหรับคนที่แพ้ยาชาไม่ควรสักคิ้ว เนื่องจากการสักคิ้วก่อนลงเข็มจะต้องมีการลงยาชาเพื่อลดอาการเจ็บก่อน         5. ก่อนลงมือสักคิ้ว ควรแจ้งรายละเอียดทรงคิ้วที่อยากได้ให้ชัดเจน ให้ช่างร่างทรงคิ้วให้ดูก่อนยิ่งดีอย่าตามใจช่างเพราะอาจได้ทรงคิ้วที่ไม่ถูกใจ เมื่อสักไปแล้วการแก้ไขภายหลังก็ยากมากขึ้น         6. สำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนทรงคิ้วตามกระแสบ่อยๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์     ความเสี่ยงในการสักคิ้ว         -  ไม่ได้ทรงคิ้วตามที่ต้องการอาจจะหนาเกินไป เหมือนที่คนทั่วไปเรียกว่า “คิ้วปลิง” นั้นเอง         -  การแก้ไขในภายหลังกรณีที่ทำการสักคิ้วไปแล้ว เช่น การสักคิ้วแบบถาวร ซึ่งอาจจะต้องแก้ด้วยการเลเซอร์ลบรอยสักเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องทำอีกหลายครั้งจนกว่าสีจะจางเป็นปกติ แถมยังอาจมีแผลเป็นตามมาอีกด้วย         -  การเลือกร้านสักที่ไม่ถูกสุขอนามัย ไม่มีมาตรฐาน ทำให้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด         -  มีอาการแพ้สีที่ใช้สัก หรือยาชาโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน ทำให้เกิดการอักเสบ คัน หรืออื่นๆ แนะนำว่าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที         -  ค่าใช้จ่ายในการสักคิ้ว ราคาสูงไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด                    นอกจากนี้  การสักคิ้วไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ข้อดีก็มี เช่น ช่วยเสริมโหวงเฮ้ง ลดเวลาการเขียนคิ้วแต่งหน้า แก้ปัญหาสำหรับสาวคิ้วบางได้ตามที่กล่าวไปข้างบน แต่สำหรับใครที่ขี้เบื่อหรือชอบเปลี่ยนทรงคิ้ว แต่ยังอยากสักคิ้วจริงๆ  อาจเลือกการสักคิ้วแบบฝังสีฝุ่น ซึ่งเป็นการฝั่งสีคิ้วไปบริเวณบนหนังกำพร้า อยู่ได้ 3-6 เดือนหรือมากกว่านั้นและจะเริ่มจางหายไปเองตามธรรมชาติ เหมาะกับคนที่ต้องการเปลี่ยนทรงคิ้วอยู่เรื่อย แต่อาจจะเหมาะสำหรับคนที่ชอบคิ้วสไตล์เกาหลีเท่านั้น          ทั้งนี้ “สำหรับคนที่ได้ไปสักคิ้วมาแล้ว ก็อยากให้ดูแลโดยการหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนน้ำ ทำตามคำแนะนำของช่าง เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อและอักเสบด้วยนะคะ”           ข้อมูลจาก : สักคิ้ว ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ - พบแพทย์ (pobpad.com)สักคิ้ว ข้อควรรู้ ขั้นตอน และแนวทางการดูแลตัวเองหลังสัก - พบแพทย์ (pobpad.com)

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)