ฉบับที่ 214 เห็นใจกันบ้างไหม รถใหม่แต่ทำไมแอร์ไม่เย็น

            อากาศประเทศไทยร้อนแค่ไหน ถามใจดู ยิ่งนำรถมาวิ่งในสภาพการจราจรของเมืองหลวงที่รถติดสาหัส รถยนต์ใหม่เพิ่งถอยมาแท้ๆ แทนที่จะได้ไอเย็นของแอร์เย็นฉ่ำกลับร้อนจนเหงื่อตก อารมณ์จะไม่เดือดอย่างไรไหว             เรื่องนี้ยังไม่จบต้องยาวไปถึงขั้นฟ้องร้องเป็นคดีความ แต่ขอนำมาเล่าเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเริ่มจากที่คุณประภาส ซื้อรถยนต์ใหม่ปีที่แล้ว แต่ใช้งานได้ไม่นานประมาณปลายเดือน ก.ค. 60 ขับรถอยู่ดีๆ รถเกิดอาการแอร์ไม่เย็น จึงนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ดังกล่าว ช่างระบุต้องเปลี่ยนอะไหล่ คุณประภาสไม่พอใจนักเพราะว่า รถยนต์ตนเองยังใหม่อยู่เลย นี่ถึงกับต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว แต่ไม่อยากร้อนมากไปกว่านี้ จึงตกลงจ่ายค่าเปลี่ยนอะไหล่เป็นเงิน 12,386 บาท            ใช้งานมาได้จนถึงตุลาคม 60 อาการแอร์ไม่เย็นก็กลับมาอีกครั้ง ศูนย์ฯ ระบุว่าต้องเปลี่ยนอะไหล่บางตัว แต่คราวนี้คิดที่ราคา 469 บาท “เอาน่าจ่ายก็จ่าย” คุณประภาสตัดใจ แต่เรื่องกวนใจนี้ไม่จบย่างเข้ามีนาคม 2561 แอร์ไม่เย็นอีก จึงต้องนำรถเข้าศูนย์ฯ เกิดค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนอะไหล่อีก 6,524 บาท รวมว่าเสียเงินไปแล้ว 19,381 บาท  ทว่าในเวลาเพียงสิบกว่าวันถัดมา คุณประภาสต้องนำรถยนต์ไปศูนย์ฯ บริการซ้ำด้วยปัญหาเดิมแอร์ไม่เย็น ทายสิว่าทางศูนย์บริการบอกว่าอย่างไร ใช่แล้ว ศูนย์ฯ แจ้งต้องเปลี่ยนอะไหล่ แต่คราวนี้คุณประภาสไม่ยอม            คุณประภาสยื่นเงื่อนไขให้ศูนย์บริการคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด เนื่องจากดำเนินการหลายครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขอาการแอร์ไม่เย็นได้ แต่ทางศูนย์ฯ ปฏิเสธคืนเงินเต็มจำนวน จะคืนเงินเพียงแค่ในส่วนของการซ่อมครั้งที่สองและสาม  โดยต้องขอถอดอะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในทั้ง 2 ครั้งคืนด้วย เนื่องจากการรับประกันการซ่อมตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่สาม มีระยะเวลาประกันแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งคุณประภาสรู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะในใบเสร็จรับเงินแจ้งว่า “รับประกันงานซ่อมหรือผลงานซ่อม 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน” ทั้งในความเป็นจริงการซ่อมครั้งที่สองเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน แอร์รถยนต์ก็ไม่ดีขึ้นจากการซ่อมครั้งแรก หรือจนล่วงเข้าครั้งที่ 3 ก็เป็นระยะเวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งระยะเวลาทั้งสองครั้งนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำเพราะเป็นไปตามเงื่อนไขการรับประกัน ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงควรต้องคืนเงินทั้งหมดให้            คุณประภาสติดตามเพื่อให้ทางศูนย์บริการดำเนินการคืนเงินทั้งหมดอีกหลายครั้ง แต่การเจรจาไม่ประสบผลทางศูนย์ฯ ยืนยันเหมือนเดิม คุณประภาสจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้นัดทั้งสองฝ่ายเจรจา คราวนี้ทางศูนย์บริการยื่นข้อเสนอจะซ่อมให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะไม่คืนเงินจากการซ่อมที่ผ่านมาทั้งสามครั้ง ซึ่งคุณประภาสปฏิเสธโดยยืนยันเช่นกันว่าศูนย์บริการต้องคืนเงินค่าซ่อมทั้งหมด            ทางศูนย์บริการจึงได้อธิบายว่า เงื่อนไขการรับประกัน หมายถึงจะครอบคลุมเฉพาะอะไหล่อุปกรณ์ชิ้นที่เปลี่ยนเท่านั้น ไม่รับประกันไปถึงงานซ่อมแอร์ให้กลับมาทำงานได้  ซึ่งคุณประภาสรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถตกลงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา            การเจรจาที่ สคบ. เกิดขึ้นสองครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงมาปรึกษาที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ประสานงานกับทางศูนย์บริการเพื่อให้เกิดการเจรจา แต่ทางคุณประภาสเอง คิดว่าคงไม่สามารถตกลงกันได้อีกเพราะผ่านการเจรจาหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอคำปรึกษาเรื่องฟ้องคดีแทน             กรณีนี้จึงได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นว่า การรับประกัน(ในความหมายของศูนย์บริการรถยนต์แห่งนี้) หมายถึงรับประกันแค่อะไหล่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงรับประกันว่าซ่อมแล้วของจะใช้งานได้เหมือนเดิม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ขายคอร์สความงาม บอกจ่ายก่อนเดี๋ยวคืนเงินให้

         เล่าเรื่องถูกชักจูงให้ซื้อคอร์สความงามจากพนักงานขายที่ประจำอยู่ตามห้างสรรพสินค้ามาก็หลายรอบ คราวนี้ไม่ต้องเดินห้างหรอกนะจ๊ะ อยู่บ้านสวยๆ ก็มีพนักงานมาเสิร์ฟคอร์สขายผ่านโทรศัพท์แบบไม่ทันตั้งตัว         วันหนึ่งคุณเนตรดาวกำลังเพลินๆ กับกิจกรรมยามว่างที่บ้านพัก พลันก็มีโทรศัพท์แจ้งว่า ชื่อนางสาวเอ้ เป็นพนักงานขายของบริษัท B (บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับความงาม) โดยแนะนำตนเองว่าเป็นพนักงานขายสินค้าและให้บริการแนะนำทางการตลาด ขออนุญาตแนะนำแพคเกจเกี่ยวกับความงามของทางบริษัท B เพื่อให้คุณเนตรดาวสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายในราคาสบายกระเป๋า เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกในโครงการ เดอะเฟส...ของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งคอร์สนี้มีบริการถึง 22 รายการ มูลค่า 182,500 บาท แต่ถ้าสมัครทันทีตอนนี้ลดเหลือเพียง 15,999 บาท ซึ่งทำได้ง่ายเพียงแค่ชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคาร xxx         ตอนแรกๆ คุณเนตรดาวก็ปฏิเสธเพราะฟังแค่ทางโทรศัพท์ก็ยังรู้สึกว่า ไม่น่าสนใจนัก จนพนักงานใช้กลยุทธ์สุดท้าย คือ การขอยอด โดยบอกว่าช่วยเธอหน่อย แค่โอนเงินมาก่อนเพื่อทำยอด แล้วภายในเวลาไม่เกิน 20 วัน เธอจะคืนเงินกลับให้คุณเนตรดาว ด้วยความเป็นคนโอบอ้อมอารี คิดว่าจะช่วยนางสาวเอ้ คุณเนตรดาวจึงช่วยสมัครคอร์สดังกล่าว          พอถึงวันที่กำหนดว่า นางสาวเอ้จะคืนเงินให้ ปรากฏว่า ไม่ได้คืน หรือได้รับการติดต่อใดๆ คุณเนตรดาวจึงโทรศัพท์ไปที่นางสาวเอ้ เธอบ่ายเบี่ยงและผัดผ่อนการชำระเงินคืนให้คุณเนตรอยู่หลายครั้ง จนคุณเนตรดาวแน่ใจแล้วว่า โดนหลอกลวงแน่ๆ จึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ และขอยกเลิกรายการบัตรเครดิตกับทางธนาคาร ตลอดจนส่งหนังสือแจ้งให้ทางบริษัทที่นางสาวเอ้ทำงานอยู่ดำเนินการคืนเงินให้เธอ พร้อมสำเนาหนังสือถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามเบื้องต้นพบว่า ยอดเงินที่ชำระทางบัตรเครดิตได้ถูกทางธนาคารจ่ายให้แก่บริษัทไปแล้ว และได้รับคำตอบจากบริษัทว่า อยู่ระหว่างรอการพิจารณา เมื่อทางมูลนิธิฯ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อประสานงานอีกครั้งเพื่อให้มีการเจรจา  ต่อมาจึงได้รับการแจ้งจากคุณเนตรดาวว่า ทางบริษัทชำระเงินดังกล่าวคือให้แล้ว จึงเป็นอันยุติเรื่อง            ต่อไปหากผู้บริโภคเจอคำหยอดของพนักงานขายแบบนี้ ประเภทจ่ายมาก่อน ช่วยหน่อยนะคะ อย่าวางใจ เงินไปแล้วกลับมายากจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 เคี้ยวแก้วในเกี๊ยวซ่า

                        จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเคี้ยวเพลินอร่อยๆ กับอาหารว่างของบริษัทดัง แล้วมาพบทีหลังว่า มันคือเศษแก้ว แค่คิดก็เจ็บจี๊ดแทนผู้บริโภคแล้ว            เรื่องมันมีอยู่ว่า คุณดอกสร้อยและลูกชายวัยน่ารัก ไปช้อปปิ้งเลือกซื้อข้าวของกลับบ้าน แล้วลูกชายอยากรับประทานเกี๊ยวซ่าทอด ที่บริษัทดังนำมาออกร้านเพื่อโปรโมตสินค้าในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต จึงสั่งให้ลูกชาย 1 กล่อง ราคา 40 บาท แต่เด็กน้อยกินไม่หมด คุณแม่จึงนำมาจัดการต่อในภายหลังเมื่อกลับถึงบ้าน แค่เคี้ยวคำแรกคุณแม่ก็เจ็บลิ้นเจ็บคอเหมือนถูกบาดจึงคายเกี๊ยวซ่าออกมา พบว่า มีเลือดออกมาด้วยและสังเกตว่ามีเศษแก้วปนอยู่ในเกี๊ยวซ่า พอนำกล่องมาพิจารณาก็พบว่ามีเศษแก้วลักษณะเดียวกันอีกสองชิ้นในกล่อง จึงถามลูกชายว่า กินไปแล้วตอนนั้นรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติไหม เด็กชายทำหน้างงบอกคุณแม่ว่า “เคี้ยวเจอเหมือนเป็นผักแข็งๆ ฮะ มันแข็งกว่าผักอื่นๆ ”             คุณดอกสร้อยจึงรีบไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวันและติดต่อบริษัทผู้ผลิตทันที ว่าเกี๊ยวซ่าที่นำมาจำหน่ายมีปัญหาขอให้รีบแก้ไข จากนั้นก็ไปโรงพยาบาลเพื่อดูบาดแผลในคอและช่องปากของตนเอง และต้องการเช็คร่างกายลูกชายด้วย เพราะกินเข้าไปหลายชิ้น             ผลการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่า คุณดอกสร้อยมีแผลในช่องปาก ลิ้นและคอ ส่วนเด็กชายผลเอ็กซเรย์พบสิ่งแปลกปลอมกระจายอยู่ในกระเพาะอาหาร ขนาด 0.5 - 1 เซนติเมตร คุณดอกสร้อยจึงทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ดำเนินการเยียวยา ซึ่งในตอนแรก ทางบริษัทดำเนินการเพียงเรียกให้ผู้เสียหายส่งเศษแก้วไปที่บริษัทเพื่อประกอบการพิจารณา ปรากฏว่าเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนทางบริษัทก็เงียบหายไป คุณดอกสร้อยจึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหา            สิ่งที่คุณดอกสร้อยได้ดำเนินการไปเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ทว่าบริษัทดูจะปล่อยปละละเลยต่อผู้บริโภคนานเกินไป เพราะเหตุเกิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จนคุณดอกสร้อยมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ย่างเข้าเดือนตุลาคมแล้ว บริษัทยังไม่ดำเนินการใดๆ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงได้ประสานงานทำหนังสือขอให้ทางบริษัทเข้ามาเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยและเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ร้อง             ต่อมาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับแจ้งจากทางทนายความของบริษัทผู้ผลิตเกี๊ยวซ่าว่า ได้เจรจากับทางผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทได้ให้ทางบริษัทประกันภัยที่ทำสัญญากับทางบริษัทไว้ เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท และเมื่อศูนย์ฯ ติดต่อทางผู้ร้องได้ความตรงกัน จึงเป็นอันยุติเรื่อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ผลิตภัณฑ์เด็กสมาธิสั้น แต่ครูนักแต่งเพลงของฉันมาได้ไง?

 น้องคนหนึ่งส่งคลิปสั้นๆ มาให้ผมดู พร้อมทั้งคำถามว่า “มันเป็นจริงไหม?” ผมตามไปดูในคลิปซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของผู้ขาย ภาพแรกในคลิป เป็นภาพนิ่งมีข้อความว่าจะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กขี้ลืม หาตัวช่วยจำให้ลูก หากิจวัตรให้ลูก ไม่ควรทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูแลสุขภาพของลูก ฝึกสมองอยู่เสมอ แต่ที่สะดุดตาคือ มีภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งอยู่กลางภาพ ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นภาพเด็กๆ พร้อมขึ้นข้อความต่างๆ เช่น เด็กติดเกมส์ เด็กติดโทรศัพท์ ฯลฯ           ผมเข้าไปค้นข้อมูลในเน็ตตามชื่อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ พบข้อความโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและระบบประสาท ดูแลสมอง เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการบำรุงดูแลสมอง ผู้ที่มีอาการสมาธิสั้น จำยากลืมง่าย ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ผลการเรียนไม่ดี วัยทำงานซึ่งใช้สมองเยอะ สมองล้าบ่อยๆ ผู้ที่วิตกกังวล เครียด ผู้ป่วยความจำเสื่อมหรือเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สูญเสียความทรงจำ ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย หญิงตั้งครรภ์ก็ทานได้           แค่ข้อความเบื้องต้นก็ค่อนข้างจะเกินขอบเขตผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว พอผมไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็พบภาพของครูนักแต่งเพลงที่ออกรายการทีวีบ่อยๆ แกเคยโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงสายตาที่เคยโดนร้องเรียนไปแล้ว คราวนี้รูปแกมาอยู่ในผลิตภัณฑ์นี้ พร้อมข้อความระบุสรรพคุณผลิตภัณฑ์นี้มากมาย เช่น ช่วยฟื้นฟูความจำและบำรุงสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำลายและขจัดสารพิษจากตับ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเป็นโรค ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง บำบัดรักษาการอักเสบของเส้นประสาทในสมอง ช่วยบำรุงประสาทและสมองช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรธฮอร์โมน ช่วยแก้ไขอารมณ์ ซึมเศร้า ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยป้องกันสมองและตับจากการถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยา และ การสูบบุหรี่ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สมาธิดีขึ้น คิดอ่านได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพการหลับ ช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น ช่วยป้องกัน มะเร็งต่างๆ ลดอาการภูมิแพ้และไข้หวัด ช่วยให้มีสมาธิในการเรียน การทำงาน จดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ได้นานยิ่งขึ้น           ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แจ้งว่ามีส่วนประกอบสำคัญได้แก่  Bacopa สารสกัดพืชพรมมิ สารสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำมันปลา Choline Bitartrate L-Tyrosine L-Theanine  L-Cysteine Taurine วิตามิน บี1 บี6 บี12 ฯลฯ อันที่จริงเคยมีผลงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่ง พบว่า สารสกัดพืชพรมมิ มีฤทธิ์ต่อสมอง องค์การเภสัชกรรมก็ยังนำไปผลิต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเรียบร้อยแล้ว แต่หากใครเคยซื้อมารับประทานจะพบว่า ไม่มีข้อความระบุสรรพคุณโอเวอร์ขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เขายังมีคำเตือนชัดเจนบนฉลากว่า “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”            ผมแจ้งน้องที่ส่งข้อมูลไปแล้ว ให้ช่วยกันดำเนินการแจ้งผู้ดูแลต่างๆ ให้จัดการด้วย ตอนนี้พบว่าหลายเว็บปิดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดสักที ใครมีญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาสรรพคุณโอเวอร์เหล่านี้นะครับ และถ้าใครสนิทกับครูนักแต่งเพลงท่านนี้ก็ช่วยเตือนท่านด้วย ลำพังรายได้ท่านก็เยอะอยู่แล้ว อย่ามายุ่งกับของแบบนี้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 3

ปกติแล้วการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติจะมีการดำเนินการในลักษณะของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและนิติบุคคลสัญชาติไทย กรณีของบุคคลธรรมดาจะให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับตนเป็นผู้ถือครองแทน ส่วนกรณีการถือครองโดยนิติบุคคลจะถือครองโดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและมีชาวต่างชาติถือหุ้น ร้อยละ 49 ส่วนอีก ร้อยละ 51 ถือโดยคนสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย และในนิติบุคคลดังกล่าวก็อาจมีชาวต่างชาติถือหุ้นด้วยทำให้สัดส่วนจริงของชาวต่างชาติจะถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 เพื่อป้องกันปัญหาหุ่นเชิด จึงมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมาย ดังที่เสนอไปในครั้งที่แล้วแต่อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นการมองปัญหาในเชิงธุรกิจการลงทุนรวมถึงการพิจารณาในเชิงให้ความคุ้มครองการเข้าดำเนินการเข้าถือครองอาคารชุดของคนต่างด้าวเท่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องพิจารณาจากผลกระทบของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อาคารชุดที่เป็นคนไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทยด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านของผู้บริโภคอีกด้านหนึ่งมีความสอดคล้องหรือสอดประสานต่อข้อเสนอดังกล่าวมากน้อยเพียงใดด้วย         หากคนต่างด้าวต้องการกู้เงินซื้ออาคารชุดด้วยตนเองโดยตรง กับสถาบันธนาคารพาณิชย์นั้น ไม่สามารถกระทำได้ตามข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การดูแลให้สินเชื่อกับชาวต่างด้าวได้ ทว่าก็มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่ชาวต่างชาติ สามารถกู้เงินซื้ออาคารชุดได้โดยตรงโดยธนาคารพาณิชย์เอกชนนานาชาติ ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป โดยการเตรียมเอกสารเพื่อขอสินเชื่อสำหรับชาวต่างด้าว สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ         กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวสำหรับผู้ขอสินเชื่อ ได้แก่ หนังสือเดินทาง(Passport) ใบอนุญาตเข้าประเทศไทย(Visa) ใบอนุญาตทำงาน(Work Permit) ถ้าทำงานในประเทศไทย และทะเบียนสมรสและหนังสือเดินทางของคู่สมรส(ถ้ามี)         กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน ได้แก่ หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองเงินเดือน(6 เดือนล่าสุด) หนังสือแสดงรายจ่ายเงินเดือน(Payment Slip) สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อแสดงรายการบัญชีย้อนหลัง(12 เดือนล่าสุด) และรายการเครดิต(ออกโดย National Credit Bureau)         กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ ได้แก่ แบบฟอร์มการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (FOREX/FET) เอกสารที่แสดงรายละเอียดอาคารชุดที่จะซื้อ ได้แก่ แผนที่โครงการ แผนผังห้องชุด รูปถ่ายสัญญาจะซื้อขาย , สัญญามัดจำ หรือหลักฐานการชำระเงินดาวน์ หนังสือรับรองจากนิติบุคคลอาคารชุด ใบรับมอบอำนาจ(ในกรณีที่ผู้ซื้อให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน)          เมื่อเตรียมเอกสารดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว คนต่างด้าวก็สามารถนำไปยื่นให้กับธนาคารที่ต้องการขอสินเชื่อได้ทันที         ส่วนค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเมื่อซื้ออาคารชุดในไทย ได้แก่          1. ค่าส่วนกลาง หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการจัดการอาคารชุดโดยทั่วไป ได้แก่ ค่าบำรุงรักษา ค่าทำความสะอาด อุปกรณ์ใช้สอย เงินเดือนพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระทุกเดือน โดยคิดค่าใช้จ่ายตามตารางเมตร แล้วคูณด้วยขนาดคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุด          2. ค่ากองทุนส่วนกลาง หมายถึง เงินทุนที่แยกออกไปสำหรับใช้จ่ายในอนาคต ได้แก่ ค่าซ่อมแซมอาคาร ลิฟต์ รวมถึงการลงทุนในเงินทุนอื่นๆ โดยจะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวในขณะที่ดำเนินการซื้อ แต่ถ้าเงินในกองทุนหมดแล้วก็จะเรียกเก็บเพิ่มภายหลังก็ได้ และ          3. ค่าโอน หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการโอนประมาณร้อยละ 1 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ชำระให้กับรัฐบาล         สำหรับคนไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม หากต้องการขอซื้อห้องชุด ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลสัญชาติไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือซื้อร่วมกับคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าว ก็จะต้องพิจารณาตัวบุคคลต่างด้าวเป็นสำคัญ โดยคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวจะต้องเป็นคนต่างด้าวพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 (1), (2) หรือ (5) โดยคู่สมรส ที่เป็นคนไทยจึงจะมีสิทธิขอซื้อห้องชุดได้ตามสิทธิของคู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวนั้น และต้องถือว่าห้องชุดนั้นคนต่างด้าวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่คนต่างด้าวอาจใช้ช่องทางนี้เข้าดำเนินการขอซื้ออาคารชุดโดยถือครองกรรมสิทธิ์เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งเป็นการป้องกันการเข้าสมรสที่คู่สมรสที่เป็นคนต่างด้าวไม่ได้มีเจตนาที่จะสมรสกันอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นปัญหาว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม ดังที่ปรากฏตามนัยหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0610/ว 30633 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2537         เว้นแต่ กรณีที่คนไทยที่มีคู่สมรสเป็นคนต่างด้าวนั้นจะนำเงินที่เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 และ 1472 มาซื้ออาคารชุดโดยแสดงหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่า เงินที่นำมาซื้ออาคารชุดทั้งหมดนั้น เป็นสินส่วนตัว หรือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ต้องคำนึงถึงสมรสที่เป็นคนต่างด้าวเลย และห้องชุดที่ซื้อนั้นก็ตกเป็นส่วนของคนไทยถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งหมดนั่นเอง         เมื่อคนต่างด้าวสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ตามกฎหมายแล้วนั้น การใช้สิทธิ์ของคนต่างด้าว ในอาคารชุดก็สามารถที่จะดำเนินการได้เช่นเดียวกับผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดที่เป็นคนไทย โดยหลักกฎหมายที่รับรองสิทธินี้ไว้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งกำหนดว่า เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น เช่น การซื้อขายทรัพย์สิน การจำนองทรัพย์สิน หรือการเช่าทรัพย์สินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ถือครอง เป็นต้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น โดยกฎหมายไม่คำนึงว่าจะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น จึงจะมีสิทธิตามมาตราดังกล่าว การตีความจึงต้องหมายถึง กรณีคนต่างด้าวถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดด้วยนั่นเอง แต่... มันยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเพิ่ม ก็ตอนหน้าครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 อบไอน้ำด้วยสมุนไพร

        การอบไอน้ำด้วยสมุนไพร เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ การอยู่ไฟหลังคลอด ซึ่งเป็นวิธีการยอดนิยมของคุณแม่สมัยก่อน ปัจจุบันได้ถูกปรับมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ฟกช้ำ และช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ผลข้างเคียงคือทำให้ผิวพรรณดูสดใส เปล่งปลั่ง ซึ่งเป็นจุดขายใหม่ ที่ได้รับความนิยมพอสมควรขนาดว่ามีคนหัวใสผลิตตู้อบไอน้ำสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย ขายกันทั้งแบบออนไลน์และในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ระดับพันจนถึงสองสามหมื่นบาท         แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการอบไอน้ำ เพราะก็เคยมีข่าวคนที่เจ็บป่วยจากการอบไอน้ำ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นเรามาดูกันว่า ข้อห้ามของการอบไอน้ำมีอะไรบ้าง ข้อห้าม ข้อควรระวังในการอบไอน้ำด้วยสมุนไพร        1.ขณะมีไข้ (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส)        2.ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ        3.ผู้มีระดับความดันสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท และต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท  (หรือตามดุลยพินิจของแพทย์)         4.สตรีขณะมีประจำเดือน        5.มีบาดแผลอักเสบบนร่างกาย        6.อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร        นอกจากนั้นแล้วก็คือ การปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น ไม่อบไอน้ำนานเกิน 15 นาทีต่อครั้ง หากจะอบไอน้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง ก็ต้องพักทุก 15 นาที ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 4 ครั้งหรือ 1 ชั่วโมง หรือหากมีอาการผิดปกติคล้ายจะหน้ามืด เป็นลม ต้องหยุดการอบไอน้ำทันที ภายหลังออกจากตู้อบหรือกระโจม ต้องพักสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัว ก่อนที่จะอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สำคัญสุดไม่ควรทำขณะอยู่ตามลำพังภายในบ้าน เพราะหากเกิดอาการหน้ามืด หมดสติ จะไม่มีผู้ให้การช่วยเหลือ       ปัจจุบันการอบสมุนไพรมี 2 แบบ ได้แก่การอบแห้งและการอบเปียก โดย การอบแห้งเรียกทับศัพท์ว่า “ เซาว์น่า ” คล้ายคลึงกับการอยู่ไฟของไทย โดยใช้ความร้อนจากถ่านหินบนเตาร้อน ส่วน การอบเปียกเป็นวิธีที่คนไทยนิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน โดยพัฒนาจากการเข้ากระโจม มาเป็นห้องอบสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น สามารถให้บริการได้ครั้งละหลายคน โดยการใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปภายในห้องอบ การอบสมุนไพรของไทยนั้นเป็นการอบไอน้ำร้อน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการขับเหงื่อ         การอบไอน้ำที่บ้าน         อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เดี๋ยวนี้มีผู้ผลิต ผลิตตู้อบไอน้ำสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายกันหลายรุ่น หลายแบบ การเลือกซื้อก็ควรคำนึงถึงปัจจัยข้างต้น ว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า วัสดุที่นำมาประกอบเป็นตู้มีความแข็งแรงไหม หรือมีจุดที่อาจทำให้บาดเจ็บได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้         1.หากสนใจทดลองอบไอน้ำด้วยตัวเอง ควรหาอุปกรณ์แบบง่ายๆ ทำเองก่อน เพื่อทดลองดูว่าดีหรือไม่ มีสอนวิธีง่ายๆ ซึ่งสามารถศึกษาได้จาก youtube          2. ถ้าลองแล้วดี ติดใจ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูคุ้มค่ากับราคาของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นตู้หรือกระโจมอบ ควรเลือกชนิดที่มีหม้อสำหรับเตรียมสมุนไพรอยู่นอกกระโจมแล้วส่งผ่านควันหรือไอน้ำเข้ามาในตู้ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า และเลือกที่มีบริการหลังการขายหากวัสดุเกิดชำรุดเสียหาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 คุณภาพรถเมล์ไทย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาคุณภาพรถเมล์ของประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” อาทิ ตัวรถ สภาพรถ การให้บริการ กับ “ปัญหาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น ป้ายรถเมล์ จุดจอด การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เป็นต้นสำหรับ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” พบว่ามีปัญหาตั้งแต่สภาพตัวรถ รวมถึงรูปแบบการประกอบการ โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่เป็นรถของขนส่งมวลชน(ขสมก.) มีปัญหาสะสมที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ หรือจัดซื้อได้ล่าช้า ปัจจุบันรถใน กทม. และปริมลฑล มีอยู่ประมาณ 7-8 พันคัน เข้าใจว่าเป็นรถเก่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 พันคัน จะมีรถใหม่ของขสมก.จะเข้ามาประมาณ 2-3 พันคันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอควรมีปริมาณรถใหม่มากกว่านี้ รวมถึงมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพในอนาคตต่อไปว่าจะการันตีได้อย่างไรเมื่อเปลี่ยนรถแล้วคุณภาพต้องดีด้วย ต้องเข้มข้นเรื่องการรับพนักงาน รวมถึงเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม เพราะก็ยังมีคำถามอยู่ว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าค่าโดยสารไม่ควรสูงเกินไป แต่รัฐก็ไม่มีกลไกทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็เลยเป็นปัญหาค่าโดยสารที่กำหนดอยู่ปัจจุบันจะทำให้ได้คุณภาพการให้บริการที่ดีหรือไม่ ถ้าจะให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพต้องอนุญาตให้เขาสามารถขึ้นค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่ แต่คงไม่ได้ขึ้นมากเกินไป เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ 9 บาท สำหรับรถร้อน ถ้าปรับราคาขึ้นเป็น 11-12 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าน่าจะพอขึ้นได้ และพอจ่ายได้ เพราะอยากได้บริการที่ดี แต่กลัวว่าขึ้นไปแล้วยังได้บริการแย่เหมือนเดิม อะไรจะการันตี  “เวลาสำรวจความพึงพอใจเรื่องพวกนี้ก็จะเห็นภาพว่าผู้โดยสารมีความรู้สึกคล้ายกันว่ารถเก่า บริการไม่ดี รถขาดระยะ ความถี่ไม่ดี รอนาน สภาพโดยรวมไม่สะดวกสบาย”  คำถามที่จะตามมาคือต่อให้คุณภาพรถเมล์ดีแล้ว “โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จะดีตามมาหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจทั้งในกทม. และปริมณฑลพบว่ามีปัญหาคล้ายกันคือ ตำแหน่งป้ายไม่ชัดเจน ที่พักพิงผู้โดยสาร เช่น ศาลาไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาคือการบริการช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตราย ตรงนี้ผู้ประกอบการคงไม่ได้เป็นคนจ่าย หน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลน่าจะต้องเป็นคนที่ลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้า อะไรต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ลงทุนเรื่องเหล่านี้บ้าง “จริงๆ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนารถเมล์น้อยไป ถ้าพัฒนาเต็มที่ต้องดีทั้งตัวรถ และคนขับ พนักงานประจำรถ ตรงนี้เริ่มมีการปฏิรูปบ้าง แต่ที่ยังขาด คือโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมต่อ เรื่องป้ายรถเมล์ ถ้าจะทำต้องทำควบคู่กัน  ไม่อย่างนั้นคนเดินมาป้ายรถเมล์ก็ไม่อยากเดิน ไม่จูงใจให้คนมาใช้รถเมล์” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว อย่างเช่น รถเมล์ในกรุงเทพจากเดิมมีเพียงการให้บริการของ “ขสมก.” เท่านั้น ปัจจุบันก็มี “เอกชน” เข้ามาร่วมเดินรถด้วย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้บริษัทเอกชน บางรายสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตรง และเดินรถเองได้ ตรงจุดนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้เอง แต่ความอิสระนี้ยังไม่ได้การันตีว่าการให้บริการจะมีคุณภาพ ต้องมีระบบกำกับดูแลที่ต้องตรวจสอบคุณภาพรถเอกชนที่จะเข้ามาวิ่งในระบบต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร  ปัญหารถขาดระยะ-เส้นทางเดินรถ “รถเมล์ขาดระยะ” มาจากทั้งปัญหาการจราจร และจำนวนรถไม่เพียงพอ ยิ่งรถติดมากยิ่งทำให้รถขาดระยะมาก ตรงนี้ก็พูดยาก เพราะหลายครั้งปริมาณการเดินทางของคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าทำให้คนขึ้นรถเมล์มากเท่าไหร่ ก็จะลดการใช้รถส่วนบุคคลเท่านั้น รถไม่ติด และจะส่งผลดีกับทั้งคู่คือรถติดน้อยลง ต้นทุนการประกอบการก็น้อยลง ไม่ต้องซื้อรถมาเก็บไว้จำนวนมาก ทำรอบความถี่ได้ นี่เป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขยาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก ส่วนเรื่องเส้นทางการเดินรถนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “การทับซ้อนเส้นทาง” แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง แต่ความครอบคลุมปัจจุบันเรียกว่าลากเส้นรถเมล์ไม่ทันกับการขยายเมือง สวัสดิการภาครัฐเดิมรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีให้ประชาชนก็ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเปลี่ยนแปลงอีกแบบ ซึ่งเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูล เลยยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเองให้การสนับสนุนระบบขนส่งพวกนี้เพียงพอหรือยังในเชิงของการลงทุน รัฐอาจจะไม่ต้องให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนขึ้นรถเมล์ แต่อาจจะต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์หรือไม่ เรื่องป้ายรถเมล์ เรื่องจุดจอด เรื่องการบำรุงรักษา รัฐต้องเข้ามาดูมากขึ้น เสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม พัฒนาระบบ เรื่องคุณภาพของการให้บริการก่อน เมื่อเริ่มดีขึ้นค่อยเริ่มหาช่องทางในการให้เงินอุดหนุนเงินเฉพาะกลุ่ม เช่น การลดค่าโดยสาร 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้สูงอายุ ลดค่าโดยสาร 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้เฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลน่าจะทำได้ และไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง คุณภาพรถเมล์กับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมีคำถามว่าการพัฒนาระบบขนส่งหลงลืมผู้พิการ และผู้สูงอายุ จริงๆ ถ้ากรณีรถเมล์ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าให้ใช้รถเมล์ชานต่ำ แต่มีสัญญาณที่ดีจากผู้ประกอบการ  อย่างเช่น ขสมก. หากจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ก็เปลี่ยนเป็นชานต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและนำเข้ามาใช้ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และผู้สูงอายุขึ้นลงได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สมมติว่ารถเมล์เข้าป้ายได้ แต่ทางเท้า หรือป้ายรถเมล์ไม่ดี คนพิการก็ใช้ไม่ได้ หรือถ้าปัญหาเรื้อรัง เข้าป้ายไม่ได้คนพิการต้องลงมาที่ถนน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบพร้อมกัน    สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก่อนจะมีรถเมล์ชานต่ำในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้เลย ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้น มีคนช่วยยกวีลแชร์ ซึ่งมีแต่น้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ไป เพราะการคลานขึ้นรถเมล์เป็นภาพที่ไม่น่าดู ส่วนผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าก็มีความยากลำบาก อุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมลมีให้เห็นบ่อย ปัญหาใหญ่ที่สุด คือลักษณะของรถสูง ประตูแคบ บวกกับพฤติกรรมขับรถและการให้บริการของพนักงานประจำรถ “พฤติกรรมของพนักงานขับรถไม่ต้องอธิบายมาก จอดปุ๊บไปปั๊บ ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ บางทีมีการตะโกนบอก คนพิการมา หลบให้คนพิการขึ้นหน่อย เร็วๆ ได้ยินแบบนี้ถามว่าเรามีความสุขที่จะไปต่อไหม เราก็อาย เรากลายเป็นจุดรวมสายตาของทุกคน ซึ่งมีทั้งสายตาที่เห็นอกเห็นใจ และสายตาที่มีคำถามว่ามาทำไม คุณลำบากแล้วมาทำไม สร้างปัญหา คือไม่ขึ้นรถเมล์แล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร ให้อยู่กับบ้านอย่างนั้นหรือ” ในอดีตปัญหาแบบนี้ชัดเจนมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ใหม่ เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงเมื่อ 10 ปีก่อน เดิม ขสมก. ไม่ต้องการซื้อรถเมล์ชานต่ำ แต่ด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นของเครือข่ายผู้พิการต่างๆ เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ทุกวันนี้ ขสมก.มีนโยบายใหม่ชัดเจนว่าถ้าจะซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ รถเมล์ชานต่ำล็อตแรก 489 คัน ที่จะทยอยส่งมอบเข้ามา แม้ยังมีบางจุดที่ต้องปรับปรุง แต่ไม่ถึงกับเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะต้องยอมรับว่าล็อตแรกอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นครั้งแรกที่แปลงกฎหมาย เป็นทีโออาร์ ตัวรถอาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพราะประตูกว้างขึ้น เดินสเต็ปท์เดียว ก้าวขาจากฟุตบาทขึ้นตัวรถได้เลย ถือว่ามีความปลอดภัยสูง มีระบบเซ็นเซอร์ มีกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตาม มีรถเมล์ใหม่แล้วก็ต้องมาพร้อมการบริการที่มีการปรับปรุงทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การจอดให้ตรงป้ายยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งต้องเรียนว่า “รถเมล์ชานต่ำ” นั้นการจอดให้ตรงป้ายถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะมีบันไดพาดจากตัวรถมายังฟุตบาท หากจอดไม่ตรงบันไดก็ต้องวางกับถนนซึ่งจะทำให้ชันมากเป็นอันตราย นอกจากนี้การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณป้ายรถเมล์ก็มีความสำคัญ รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารถจะบริการคนพิการอย่างไร ก็ต้องมีการสื่อสารและพัฒนานอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ รถเมล์ชานต่ำที่จะเข้ามา 489 คัน นั้นคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรถเมล์ของ ขสมก. ซึ่งปกติ ขสมก.เดินรถเมล์ประมาณ 120 สาย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่ารถเมล์ชานต่ำล็อตนี้เอาไปวางบนเส้นทางอย่างไร ยกตัวอย่างรถ 1 สาย มีรถ 20 คัน แล้วรถจะเข้ามาทุก 10-15 นาที แสดงว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุเดินออกมาก็จะเจอรถเมล์ชานต่ำทุกคัน แต่ถ้าสมมติในสายนั้นมีรถเมล์ 20 คัน แต่มี รถเมล์ชานต่ำ 5 คัน ถามว่า 5 คันนั้นจัดวางอย่างไร ถ้าทำแบบผสมตามสัดส่วน แสดงว่ารถเมล์แบบเก่าต้องผ่านไปแล้ว 5 คัน คันที่ 5 ถึงจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ แสดงว่าต้องรอเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง “ถามว่าในชีวิตจริงที่ต้องไปทำงานทุกวัน เราจะใช้บริการรถเมล์แบบนี้ได้หรือไม่ การแก้ปัญหาต้องมีตารางเดินรถชัดเจน จริงอยู่ว่าสภาพการจราจรของ กทม.เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับตามความเหมาะสมได้ วันนี้ตัวรถสะดวก บริการดีขึ้น แต่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ เว้นแต่ว่า ขสมก.จะวางรถเมล์ชานต่ำใหม่ทั้งเส้นทั้งหมด อันนี้แน่นอนใช้ได้เลย ถ้าเอามาผสมกันก็ไม่สะดวก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาระยะยาว คิดว่า ภายใน 5-10 ปี ของขสมก.น่าจะได้มาทดแทนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย แต่ปัญหาที่คาราคาซังอยู่คือเนื่องจาก ขสมก.จัดซื้อรถใหม่ไม่สะดวก เลยแก้ปัญหาโดยการนำรถเก่ามาปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำตัวถัง ทำสี แต่บอดี้อยังเหมือนเดิม และใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้พิการ และผู้สูงอายุก็ยังคงมีอยู่”อย่างไรก็ตาม ปัญหารถเมล์ไม่ได้มีแค่ของ ขสมก. เท่านั้น แต่ยังมีรถร่วมบริการด้วย และดูเหมือนว่าสัดส่วนจะเพิ่มสูงกว่าขสมก. ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ยังไม่พูดชัดเจนว่ารถร่วมฯ ที่ให้สัมปทานใหม่จะต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำหรือไม่ ซึ่งเราพยายามคุยกับกรมการขนส่งทางบกว่าควรกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัมปทานด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่รถร่วมบริการเส้นแรกที่วิ่งระหว่าง รพ.รามาธิบดี บางพลี จ.สมุทรปราการ ไปยังรพ.รามาธิบดี ย่านราชวิถีนั้นทางบริษัทเอกชนได้นำเอารถเมล์ชานต่ำมาให้บริการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำหนดให้ชัดว่าจากนี้เป็นต้นไป รถใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นรถเมลชานต่ำเท่านั้น ถ้าปล่อยเป็นเรื่องความสมัครใจแล้วมีทั้งรถเมล์ชานต่ำ ชานสูงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เราพยายามคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เราไม่ไปแตะรถเมล์คันเก่า แต่ขอแค่ว่ารถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขา รมว.-รมช.คมนาคม ก็ยังไม่ตอบ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในกรณีรถร่วมบริการ” นอกจากนี้ หากเป็นการนำเอารถตู้มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นแน่นอน แต่บรรเทาได้หากมีการอบรมและขอความร่วมมือ เช่น ให้คนพิการนั่งหน้า และเก็บรถเข็นไว้ด้านหลังรถ แต่ปัญหาคือ ดีไซน์ของรถตู้ส่วนมากต้องพยายามบรรทุกผู้โดยสารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนถ้าเป็นคนพิการตาบอด ปัญหาน้อยกว่า อาจต้องจับสัญญาณเสียง ซึ่งรถบางคันก็มี ถ้าไม่มีก็อาศัยการสอบถามคนรอบข้าง ในขณะที่ปัญหาคนหูหนวก อาจจะต้องมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ต้องนึกถึงคือผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแปลก คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมครอบครัวไม่ดูแลลูก แต่ความจริงคือพ่อ แม่ควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้กับคนไทยเรื่องความแตกต่างของคนในสังคม อย่าด่วนตำหนิ มองกันในเชิงลบ คงไม่มีใครปรารถนาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรในที่สาธารณะ “ดังนั้นโดยรวมการใช้บริการรถเมล์ของผู้พิการใน กทม. ปริมณฑล มีความสะดวกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 7,000-10,000 คัน”ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศภายในรถเมลไทย ตรงนี้ในฐานะที่มีโอกาสคลุกคลีกับคณะกรรมการที่เขียนสเป็คของรถ คิดว่าสิ่งที่เราขาดคือ ความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงของรถโดยสาร และความร่วมมือของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างรถเมล์ที่ดี คงไม่ใช่รถราคาถูก แต่กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของไทยต้องการรถที่ราคาถูกที่สุด แล้วจะหวังเรื่องคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างไร ทางแก้ คือเขียนคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาอีกตรงที่ระเบียบ มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรฐานที่ต่ำ เมื่อเขียนสเป็คก็ต้องเขียนต่ำ เพราะถ้าเขียนสูงก็ถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ คิดว่านี่เป็นปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย มันมีช่องว่างอยู่ระหว่างสินค้าที่มีคุณภาพและราคา รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนกำหนดระเบียบ สุดท้ายอาจจะสำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ ว่าผู้ใช้ควรจะได้สินค้าที่ดี ที่มีคุณภาพแบบไหน คิดว่า เวลานโยบายกำหนดมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขมาด้วย แต่ไปบีบคนทำงานให้ไม่สามารถมองเป้าของผู้บริโภคเป็นหลัก หรืออย่างการจัดซื้อ จัดจ้างรถเมล์ ทำไม ขสมก.รถพัง รถหมดสภาพเยอะแยะ แต่การจัดซื้อต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในเวลา 10 ปีนี้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถเมล์ที่ดีไปแค่ไหน “คนใช้บริการรถเมล์เป็นคนที่รายได้ไม่สูง คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง นี่คือปัญหาสำคัญ คนมีปาก เสียงคือคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้สิทธิประโยชน์ในการขยายถนน ลดภาษี แต่คนใช้รถโดยสารประจำทางไม่สามารถส่งเสียงให้ฝ่ายนโยบายได้ยินได้ ทำให้กระบวนการจัดซื้อยืดยาว และได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเลยตามมา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ โครงสร้างนโยบายของประเทศ” วันนี้มีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาแล้ว แต่การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งความสะอาด การอำนวยความสะดวกต่างๆ  เข้าใจว่าได้ทำไปพอสมควร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ณ วันนี้ มันเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เห็นจุดที่เป็นข้อบกพร่องปรากฏออกมาเป็นระยะๆ  ในภาพรวมทางเท้า ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะ คนเดินถนน ในกทม. รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนตัวไม่คิดว่าแนวคิดการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์แล้วจะทำให้การจราจรคล่องตัวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขยายถนนเท่าไหร่รถก็ยังติด การไม่ให้ความสำคัญกับการทำทางเท้าที่มีคุณภาพ ทั้งแคบ สกปรกและเหม็นขยะ ไม่เรียบ ไม่มีความปลอดภัย ใครจะอยากเดินมาขึ้นรถเมล์ตราบใดที่รัฐบาล หรือ กทม. ไม่ได้ใส่ใจวางนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าการขยายถนน ที่ผ่านมามักได้ยินนโยบายการหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาการจราจรภายในระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีถนนเพิ่ม คนก็ซื้อรถเพิ่มเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราขยายพื้นทางเดินเท้าให้ประชาชน ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ และความสะอาด คิดว่าประชาชนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทางเดินเท้าคือสิ่งสำคัญเช่นกัน บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน ใครจะเปิดก็ต้องระบุให้ชัดว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการจราจรภายใน ไม่ใช่สร้างปัญหารถติดบนท้องถนนส่วนรวม เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 รู้เท่าทันเห็ดรักษาโรค

รู้เท่าทันเห็ดรักษาโรค        การใช้เห็ดเพื่อเป็นอาหารและเป็นยานั้นมีมานานหลายพันปี เห็ดมีคุณค่าทางอาหารมาก และมีสารทางยามากมายเช่นกัน มีการใช้เห็ดในการดูแลสุขภาพ รักษาโรคที่พบบ่อย  ในช่วงหนึ่งมีการตื่นตัวเรื่องการกินเห็ดสามอย่างในบ้านเราว่ามีประโยชน์ จนกลายเป็นรายการอาหารสุขภาพอย่างหนึ่ง เรามารู้เท่าทันเห็ดกันดีกว่าเห็ดคืออะไร          เห็ดไม่ใช่พืช แต่เป็นเชื้อราที่พัฒนาเป็นดอกหรือเป็นกลุ่มก้อน มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เห็ดไม่สามารถสร้างอาหารเองได้เนื่องจากไม่มีสารสีเขียวที่เรียกว่า คลอโรฟีล จึงต้องอาศัยอาหารจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากจุลินทรีย์ต่างๆ           เห็ดอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก มีวิตามินบี โดยเฉพาะ ไนอาซินและไรโบฟลาวิน  มีโปรตีนมากที่สุด(ร้อยละ 44.93) เมื่อเทียบกับผักชนิดต่างๆ ไม่มีไขมันและให้พลังงานต่ำ  เห็ดแห้งจะมีโปรตีนสูงเท่ากับเนื้อวัว และมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนปริมาณมาก  การใช้เห็ดเพื่อเป็นยา          การใช้เห็ดรักษาโรคนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และจีนโบราณ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว เห็ดอุดมด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการใช้เห็ดเพื่อเป็นยารักษาโรค นอกจากนี้ เห็ดยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีโคเลสเตอรอลต่ำ ลดความดันเลือด ลดการอักเสบ และต่อต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย อีกด้วยเห็ดที่เป็นยาที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันในจีนและต่างประเทศ ได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดหิ้ง เห็ดเกลียวเมฆ เห็ดไมตาเกะ  สำหรับบ้านเรา มีความตื่นตัวในการใช้เห็ดกระถินพิมานเพื่อรักษามะเร็ง กลไกของร่างกายในการใช้เห็ดรักษาโรค                ปัจจุบันการแพทย์ให้ความสนใจกับกลไกในร่างกายที่มีผลทำให้เห็ดดีต่อสุขภาพ คือ แบคทีเรียในลำไส้ของคน ซึ่งมีจำนวนมหาศาลมากกว่า 10 ล้านล้านตัว มีสายพันธุ์ต่างๆ กว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งมียีน 3 ล้านยีนส์(มากกว่ายีนในมนุษย์ 150 เท่า)  แบคทีเรียในลำไส้จะย่อยอาหารที่ไม่สามารถย่อยโดยเอนไซม์ในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก           เห็ดเป็นสารพรีไบโอติกส์ที่ไปกระตุ้นการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้เกิดการย่อยและดูดซึมอาหารต่างๆ ได้ดีขึ้น และแบคทีเรียยังช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น  งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดหรือไม่          เมื่อทบทวนวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือพบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเห็ดในการรักษาโรคต่างๆ นั้น จะเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดในการรักษาโรคต่างๆ ที่กล่าวอ้างกว่า 130 รายการ โดยเฉพาะมะเร็ง           ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาได้รับรอง “เห็ดขี้ควาย” หรือ เห็ดวิเศษ ให้ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้ผลจากการรักษาด้วยแผนปัจจุบัน     สรุป  การใช้เห็ดเป็นยารักษาโรคนั้นเป็นความเชื่อของการแพทย์ดั้งเดิมของสังคมต่างๆ แม้จะขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่ก็ไม่สามารถหักล้างความเชื่อดั้งเดิมได้  คงจะต้องมีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น  ส่วนการใช้เห็ดเป็นอาหารนั้นมีหลักฐานต่างๆ ยืนยันคุณค่าทางอาหารอย่างมากมาย  เราควรส่งเสริมการกินเห็ดเป็นอาหาร และให้อาหารเป็นยาสำหรับเราต่อไป จะเกิดประโยชน์และประหยัดมากที่สุด                                                                                        

อ่านเพิ่มเติม >