ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 งานแต่งเลื่อน ขอเงินค่าแพ็กเกจถ่ายรูปคืน

เพราะการแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน การจ้างช่างภาพมืออาชีพเพื่อมาเก็บภาพความประทับใจหรือบรรยากาศภายในงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา โดยปัจจุบันการถ่ายภาพงานแต่งมักเป็นแพ็กเกจการถ่ายรูป ซึ่งจะมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเราพบว่างานแต่งที่วางแผนไว้กลับล่ม แต่ตกลงซื้อแพ็กเกจการถ่ายรูปงานแต่งไว้แล้ว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ เราจะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ลองไปดูกันคุณไอติมวางแผนแต่งงานไว้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงตัดสินใจเลือกใช้บริการถ่ายภาพและเช่าชุดงานแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังตกลงกันเรียบร้อย และจ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเป็นจำนวนเกือบ 40,000 บาท กลับพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัวของเธอ ทำให้งานแต่งต้องยกเลิกไปก่อน คุณไอติมจึงต้องการยกเลิกสัญญาการถ่ายภาพและเช่าชุดแต่งงาน แต่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทได้ จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการขอเงินคืนทั้งหมด ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงชี้แจงผู้ร้องว่า การจ่ายเงินมัดจำ เป็นการให้คำมั่นว่าจะมีการทำตามที่ตกลงในสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องขอยกเลิกสัญญาเอง โดยที่บริษัทฯ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ ก็มีสิทธิริบเงินมัดจำได้อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ ผู้ร้องได้จ่ายค่ามัดจำด้วยบัตรเครดิตไปแล้วเกือบ 40,000 บาท ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทั้งหมด ดังนั้นอาจเป็นการจ่ายเงินมัดจำสูงเกินไป ซึ่งตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กำหนดว่าสามารถลดลงได้เท่าที่เสียหายจริง ในเบื้องต้นศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งระงับการจ่ายเงินกับธนาคารของบัตรเครดิตก่อน จากนั้นช่วยทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน โดยให้บริษัทฯ สามารถหักค่าเสียหายได้เท่าที่เสียหายจริง รวมทั้งเชิญให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิ ภายหลังการเจรจาพบว่า บริษัทแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เสียไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 บาท ซึ่งหากยกเลิกสัญญาจะต้องหักจากเงินมัดจำ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป พร้อมเสนอให้หักเพียง 5,000 บาท ทางบริษัทจึงขอนำกลับไปพิจารณา และแจ้งกลับมาภายหลังว่ายินดีทำตามข้อเสนอของผู้ร้อง แต่จะคืนเงินให้หลังจากที่ขายแพ็กเกจดังกล่าวให้ลูกค้าคนอื่นได้แล้ว ซึ่งผู้ร้องยินดีและขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พัฒนาเครือข่ายผู้บริโภค ‘เก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังอาหาร ยา สินค้าสุขภาพ’ รุกสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเก็บตัวอย่าง-เฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ” เพื่อเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพในการเก็บตัวอย่างสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพให้กับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปใช้ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีมาตรฐานถูกต้องและมีประสิทธิภาพวันนี้ (10 ต.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดกิจกรรมฝึกอบรมปฏิบัติการ การเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพ ภายใต้ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความรู้ให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทำการบรรจุ-จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อส่งตรวจ และเฝ้าระวังสินค้าหรือบริการด้านสุขภาพในท้องถิ่นได้ถูกต้องมีประสิทธิภาพ โดยการบรรยายความรู้การเก็บตัวอย่างเพื่อการทดสอบอาหาร ยาและเครื่องสำอาง จาก ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะ และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างสินค้านายสมนึก งามละมัย ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า “การมีส่วนร่วมในการทดสอบสินค้าหรือบริการของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ มีผลดีต่อการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กว้าง และครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้ผลการทดสอบโดยรวม มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” “ผู้เข้าอบรมเองจะได้รับความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า ดูข้อมูลบนฉลาก ทำให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมีความเชี่ยวชาญในการสุ่มเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดชุมชนที่ดูมีความสุ่มเสี่ยงน่าสงสัยว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจสอบ และนำผลการทดสอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค” นายสมนึกกล่าว นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ความรู้และเทคนิคการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าประเภทอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เช่น การคำนวณปริมาณที่ต้องสุ่มเก็บ เลขล็อตการผลิตที่ต้องเป็นชุดเดียวกัน การถ่ายภาพตัวอย่าง การบันทึกข้อมูลฉลากของตัวอย่างอาหารติดบนตัวอย่าง เหล่านี้ต้องทำอย่างระมัดระวังและเข้มงวด เพราะการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องจะสามารถนำส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าประเภทอาหารหากเก็บผิดพลาด อาจไม่สามารถส่งตรวจได้ เป็นการเสียเวลาและงบประมาณ”นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ผู้ประสานงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “อำเภอหาดใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสินค้าหลากหลาย มีแหล่งตลาดสดจำนวนมาก สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากจีนและมาเลเซียซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย เช่น อาหารแห้งและเครื่องสำอางที่มีความสุ่มเสี่ยง วันนี้ได้เรียนรู้การอ่านและดูฉลากและเลือกเก็บตัวอย่างประเภทอาหารสด อาหารแห้ง สุ่มเก็บอย่างไรให้ครอบคลุม โดยเรามีเครือข่ายอาสาทำงานในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่รู้เทคนิคการเก็บตัวอย่าง จะนำความรู้ในวันนี้ไปถ่ายทอดให้กับคนทำงานพื้นที่ต่อไป” นางสาวพวงทอง ว่องไว กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือและผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา กล่าวว่า “ปัญหาการเฝ้าระวังสินค้าและบริการสุขภาพในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน เช่น ขนม อาหารแห้ง ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งไม่มีฉลากภาษาไทย มีการตรวจพบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรจีน จากรถขายเร่ที่มาจำหน่ายตามชุมชน ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้จดแจ้ง มาอบรมวันนี้ได้เทคนิคการอ่านฉลาก วิธีการเลือกเก็บตัวอย่างสินค้า การคำนวณปริมาณสินค้าที่ต้องส่งต่อ การบันทึกข้อมูลเอกสารที่นำส่งเพื่อตรวจสอบสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะได้นำไปใช้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกอบรมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในชุมชนส่งศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานต่อไป ซึ่งจะส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนครอบคลุมพื้นที่ระดับประเทศมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ต้องการค่าเทอมคืน

คุณสุชาติพาลูกชายเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน โดยเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 60,000 บาท/เทอม แต่เมื่อเปิดภาคเรียนไปได้เพียง 1 เดือนก็เกิดโรคระบาดมือเท้าปากภายในโรงเรียน ซึ่งลูกชายของเขาก็ติดได้ติดโรคดังกล่าวมาด้วย ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้หยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรอให้อาการหายสนิท อย่างไรก็ตามเมื่อลูกชายกลับไปที่โรงเรียนก็พบว่าได้ติดโรคดังกล่าวมาอีกครั้ง ทำให้คุณสุชาติต้องพาลูกชายกลับไปพบหมอ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวเป็นรอบที่สอง ซึ่งรวมๆ แล้วเสียค่ารักษาพยาบาลไปทั้งหมดประมาณ 90,000 บาท โดยคุณสุชาติได้สังเกตว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกชายติดโรคมาอีกครั้งเป็นเพราะ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเล่านิทาน ที่ให้นักเรียนหลายห้องมารวมกันเพื่อฟังนิทาน ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคอยู่ แต่โรงเรียนไม่มีการคัดแยกเด็กป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อได้ดังนั้นคุณสุชาติจึงคิดว่า ต่อให้อาการของลูกชายหายสนิท แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคเช่นนี้ ก็อาจทำให้ลูกชายติดโรคดังกล่าวกลับมาเช่นเดิมได้ เพราะตามประกาศของสาธารณสุขกำหนดมาตรการป้องกันไว้ว่าจะต้องปิดห้อง ปิด ชั้นหรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 - 7 วัน แต่ทางโรงเรียนกลับประกาศให้นักเรียนหยุดเรียนเพียง 3 วันเท่านั้น เขาจึงแจ้งไปยังโรงเรียนเพื่อขอลาออก พร้อมขอให้คืนเงินค่าเทอมที่เสียไป และยินดีให้หักค่าใช้จ่ายที่ลูกชายได้เข้าเรียนไปแล้ว 1 เดือนออกได้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังไว้ เพราะทางโรงเรียนแจ้งว่าตามนโยบายการคืนเงินค่าเทอม จะสามารถคืนให้ได้เพียงร้อยละ 40 ของเงินทั้งหมดหรือ 18,800 บาทเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า กรณีนี้อาจถือได้ว่าโรงเรียนผิดสัญญาจ้างทำของ หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืนได้ ซึ่งควรได้รับเงินคืนตามจริงด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นจะเชิญให้มีการเจรจากันก่อนที่มูลนิธิ อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทางโรงเรียนยืนยันว่าสามารถคืนเงินได้ตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นสินน้ำใจและผู้ร้องไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเรียกเก็บจากโรงเรียนได้อีก ทำให้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำเอกสารไปยังสาธารณสุข โดยขอให้เข้าไปตรวจสอบโรงเรียน เพื่อให้มีการแสดงหลักฐานว่าโรงเรียนไม่มีมาตรการในการจัดการโรคระบาดที่เหมาะสมจริงๆ แต่ในระหว่างนี้ยังต้องรอการตอบกลับจากสาธารณสุข และผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าปลงศพ กรณีทำให้เขาตาย เรียกได้แค่ไหน

ในการเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหาย กรณีทำละเมิดจนถึงแก่ชีวิต หากเกิดเหตุมีคนในครอบครัว หรือญาติของเรามีอันเป็นไปถึงแก่ชีวิต คนที่ทำละเมิดต้องรับผิดอะไร และเราหรือญาติของเราในฐานะผู้มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หลังจากเกิดเหตุเสียชีวิต แน่นอนว่าก็ต้องมีการนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือประเพณีท้องถิ่น เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ซึ่งตามกฎหมาย เราเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่า “ค่าปลงศพ”  อันได้แก่ ค่าปลงศพ พอตายแล้วจะต้องมีหีบศพ ห่อศพ ฉีดยาป้องกันศพเน่า แต่งตัวให้ศพ แต่งชุดพิเศษหรือชุดที่ชอบ จ้างช่างตัดผมหรือหวีผมให้ หรือว่ากรณีร่างกายถูกรถชนแหลกเหลวจะต้องเย็บให้เข้าที่ ค่าจ้างหมอเย็บศพก็ถือว่าเป็นค่าปลงศพอย่างหนึ่ง ค่าพิธีการรดน้ำศพ สวดศพ ทำบุญอันจำเป็นตามประเพณี ค่าเช่าเมรุเผาศพ เป็นต้น ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ ตามกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะ คือทายาทผู้มีอำนาจจัดการศพ ตามมาตรา 1649 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์    ดังนั้น ภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ในการจัดการศพ แม้จะเป็นผู้จัดการศพ ก็เรียกค่าปลงศพไม่ได้ (  (ฎ.212-213/2525) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วถือว่าเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกก็เรียกค่าปลงศพได้ (ฏ. 14/2517 และที่ 1202/2549) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2514ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตามมาตรา 443 วรรค 1หมายความเฉพาะผู้ที่เป็นทายาทของผู้ตายที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิด ทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพราะสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยเหตุที่ได้ละเมิดแก่เจ้ามรดกตกทอดมายังตนผู้เป็นทายาทภายใต้บังคับของมาตรา 1649 เท่านั้นมิได้หมายความว่าใครทำศพผู้ตายแล้วก็จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพในลักษณะที่เป็นค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเสียเองได้เสมอไปเมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทผู้ตายเพราะไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการปลงศพเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ตาย (อ้างฎีกาที่ 1314/2505)โจทก์ร่วมแม้จะเป็นมารดาของผู้ตาย แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นสิทธิโจทก์ร่วมก็ไม่ดีกว่าโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายได้ ค่าปลงศพใช่ว่าจะต้องจ่ายไปแล้วเท่านั้นถึงจะมาเรียกร้องได้ แม้ว่าจะเป็นค่าปลงศพที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น ทายาทยังไม่ปลงศพทันทีแต่อาจจะจัดการเบื้องต้นโดยเก็บศพไว้ก่อน แล้วค่อยทำ ซึ่งเช่นนี้สามารถเรียกค่าปลงศพในอานาคตได้ แต่กรณีนี้ต้องบรรยายฟ้องมาให้ชัดว่าจะจัดการศพในอนาคตอย่างไร ตามลัทธิประเพณีหรือไม่ ตามสมควรหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่  143/2521ผู้เสียหายย่อมฟ้องนายจ้างของผู้ทำละเมิดให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ทำละเมิดกระทำไปในทางการที่จ้างได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามก่อน เพราะถือว่าได้ผิดนัดมาตั้งแต่วันทำละเมิดแล้วเมื่อเหตุที่รถชนกันเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถทั้งสองฝ่าย และพฤติการณ์แห่งละเมิดมีความร้ายแรงพอๆ กันความเสียหายย่อมเป็นพับกันไปผู้ตายเนื่องจากการทำละเมิดเป็นบุตรโจทก์ แม้โจทก์ไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ โดยภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยจะยกเอาข้อที่ภรรยาผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายมายกเป็นข้อปัดความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ่ายเงินค่าฌาปนกิจศพผู้ตายก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องได้ถ้าผู้ทำละเมิดช่วยค่าทำศพโดยไม่ยอมรับผิดจะมีลักษณะเป็นการช่วยทำบุญอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการจ่ายค่าปลงศพที่เรียกว่าเป็นค่าสินไหมทดแทน กรณีนี้จะมีบ่อยเวลาเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ฝ่ายเจ้าของรถยนต์ผู้ทำละเมิดจะไปเจรจากับฝ่ายผู้ตายเจรจาในช่วงแรกก็ยังไม่ยอมรับผิด ฝ่ายผู้ตายก็จะเรียกมาก ฝ่ายนี้ก็ไม่ยอมให้อ้างว่าไม่ได้ประมาท ไม่ผิด แต่เพื่อบรรเทาความรู้สึกของฝ่ายผู้ตาย ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็จะมอบเงินให้บางส่วน เช่นช่วยไป 10,000 บาท แต่ไม่ได้รับผิดเป็นการบรรเทาความรู้สึก กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกว่าเป็นค่าปลงศพเพราะว่าจ่ายโดยไม่ได้รับผิด สมมุติต่อมาเขาฟ้องเรียกค่าปลงศพ 100,000 บาท จะไปบอกขอหักที่ช่วยไปแล้ว 10,000 บาท อย่างนี้หักไม่ได้เพราะเป็นการช่วยทำบุญไม่ใช่ช่วยจ่ายค่าปลงศพอันเป็นค่าสินไหมทดแทนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4367/2528เงินจำนวน 3,000 บาทที่จำเลยที่ 3 ช่วยค่าทำศพในขณะที่จำเลยที่ 3 มิได้ยอมรับผิดว่าการตายเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างของตน และมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นสำนึกในด้านศีลธรรมและเรื่องการบุญการกุศลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าทำศพที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่ได้สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่าแม้ผู้บริโภคจะมีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพดังกล่าว ก็ต้องเรียกตามฐานะและตามสมควรนะครับ ไม่ใช่ว่าจะเรียกร้องได้ตามอำเภอใจ หรือถือโอกาสจัดงานเสียใหญ่โตเกินฐานะ เพราะศาลจะพิจารณากำหนดให้ตามฐานะสมควรเท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2506ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย นั้น จะต้องพิเคราะห์ตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ว่าถ้ามีการใช้จ่ายเงินทำศพตามประเพณีเป็นจำนวนเท่าใดแล้วผู้ทำละเมิดจะต้องรับผิดทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เปลี่ยนคืนสินค้าชำรุด

หากเราซื้อสินค้าใดๆ มาใช้ แล้วพบว่าเกิดความชำรุดบกพร่อง และต้องการเปลี่ยนคืนสินค้าดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสมหมายซื้อกาต้มน้ำไฟฟ้า จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งโฆษณาว่ารับประกันการใช้งาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากใช้ไปได้ประมาณ 3 เดือนก็พบความชำรุดบกพร่องกับสายปลั๊กไฟของกาต้มน้ำ โดยเขาพบว่าปลั๊กของกาน้ำละลาย และทำให้ปลั๊กสามตาที่ต่อพ่วงเอาไว้เสียหายด้วยเช่นกัน คุณสมหมายจึงโทรศัพท์ไปยังเบอร์พิเศษ(เลข 4 หลัก) ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโฆษณาว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงเพื่อแจ้งปัญหา แต่กลับพบว่าต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ฟรีๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่คิดไว้ เพราะพนักงานระบุเพียงว่าให้ส่งกาต้มน้ำดังกล่าวไปยังศูนย์บริการที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปลี่ยนหรือซ่อมให้ใหม่อย่างไรบ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมหมายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักสิทธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ขอเอกสารผู้ร้องเพิ่มเติมได้แก่ รูปถ่ายสินค้า ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน แต่ผู้ร้องแจ้งกลับมาว่าใบรับประกันและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงได้สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่ายใบเสร็จสินค้า ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ใหม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการซื้อเกิน 3 เดือนแล้วอย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนบหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องมีส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ผลิต เพื่อขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังทางบริษัทก็ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและเสนอเปลี่ยนกาต้มน้ำ รวมทั้งปลั๊กสามตาที่เสียหายไปให้ใหม่ พร้อมแจ้งว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นอีก ทางบริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาสินค้าให้กับผู้ร้อง ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กระแสต่างแดน

ยาลดภาษีค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น  ถึงขั้นมีสำนวน “หาหมอเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ” แม้แต่คลินิกชุมชนกลายเป็นแหล่งแฮงเอาท์ของผู้สูงอายุที่มาพบทั้งแพทย์และเพื่อนไปในคราวเดียว รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิกด้วยนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ที่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาชนิดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแก้หวัด แก้ปวด ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ครีมทาสิว(รวมทั้งหมด 1,600 ผลิตภัณฑ์ 83 ตัวยา)แต่หลักฐานการขอคืนภาษีไม่ใช่แค่ใบเสร็จค่ายาที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 12,000 เยน(ประมาณ 3,800 บาท) คุณต้องมีหลักฐานว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วยด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพ รับวัคซีน  คัดกรองภาวะอ้วน หรือตรวจหามะเร็ง  อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลขอคืนภาษีได้อยู่แล้วหากมีค่าใช้จ่ายเกิน 100, 000 เยน เพียงแต่ปีนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่ไม่ต้องการพบแพทย์ คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังประมาณการว่าจะขาดรายได้ 3,000 ล้านเยนต่อปี แต่ก็น่าจะคุ้มเพราะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และยังลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศที่นับวันมีแต่จะเพิ่มเพราะประชากรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ขาดแคลนก๊าซ  ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและอุตสาหกรรมในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกสามปีข้างหน้าเขาจะแซงกาตาร์ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลกแต่ขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลน LNG และต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำนายกฯ จึงเรียกบริษัทด้านพลังงานอย่าง เชลล์ เอ็กซอนโมบิล และซานโตส มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ในขณะที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็เตรียมจะตรวจสอบโครงสร้างราคาก๊าซทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก เพื่อให้ตลาด LNG มีความโปร่งใสขึ้น … เรื่องนี้ต้องติดตาม ราคาไม่บันเทิง เว็บไซต์ Viagogo และ Ticketmaster Resale เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนที่มีตั๋วคอนเสิร์ตแต่ไม่ว่างไปดู กับคนที่มีเวลาไปดูแต่ไม่มีตั๋ว... ฟังดูน่าจะดี แต่กลับมีปัญหาร้องเรียนมากขึ้นทุกวันCHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียประณามการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของสองเว็บนี้ ทั้งเรื่องของราคาตั๋วที่แพงลิบลิ่วและการปล่อยให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค  ทางเว็บบอกว่าผู้ขายเป็นฝ่ายกำหนดราคา แต่ที่ไม่ได้บอกคือ Ticketmaster Resale คิดค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 21 ในขณะที่ Viagogo หักร้อยละ 28 แถมยังไม่มีบริการดูแลลูกค้า ส่งอีเมลไปก็ไม่มีใครตอบ แฟนเพลงของจัสติน บีเบอร์ ต้องจ่ายถึง 2,587 เหรียญ (67,000 บาท) สำหรับตั๋วราคา 525 เหรียญ ในขณะที่มีคนยอมจ่าย 5,000 เหรียญ (130,000 บาท) สำหรับที่นั่งในโซนที่ดีที่สุดในการชมคอนเสิร์ตของอเดล (ราคาจริง 750 เหรียญ)  อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ที่นั่งที่ต้องการ บางคนจ่ายราคาที่นั่งในโซนสำหรับรถเข็นแต่กลับได้นั่งในโซนธรรมดา บางคนเข้างานไม่ได้เพราะตั๋วซื้อมาในราคา 850 เหรียญเป็นตั๋วปลอม ของนอกดีกว่าเกษตรกรชาวเวียดนามไม่ค่อยปลื้มกับเขตการค้าเสรีอาเซียนเท่าไรนัก เพราะผักผลไม้ที่นำเข้าจากไทยกำลังทำให้พวกเขาเดือดร้อนปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 (จีนครองร้อยละ 19)เกษตรกรกลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับไทยแบบตัวต่อตัว นำเข้าเฉพาะผัก ผลไม้ที่เวียดนามปลูกไม่ได้ และห้ามนำเข้าผลไม้อย่างลำไย มะม่วง ทุเรียนและแก้วมังกรที่เกษตรกรของเขาปลูกอยู่แล้วอีกกลุ่มบอกว่าการกีดกันทางการค้าคงช่วยไม่ได้มาก เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าผลไม้ที่ปลูกในประเทศนั้นไม่ปลอดภัย และของจากไทย “ดีกว่า” ทั้งคุณภาพและราคา เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (VietGap) ให้ได้ก่อนนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จำกัดส่วนแบ่งตลาดสำหรับชาวต่างชาติไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 เพราะธุรกิจค้าส่งและกระจายสินค้าเริ่มตกมาอยู่ในมือนักธุรกิจไทยมากขึ้น …  ต้องเร็วกว่าเดิมเวียดนามก็ติดอันดับเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ต่อประชากร 100,000 คน/ปี อยู่ที่ 24.5 คน (ของไทย 36.2) ในช่วงสามวันอันตรายเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาเวียดนามมีผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย (ของไทยก็ 55 รายเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขต่อวันในช่วงสงกรานต์)  ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทางหลวงในรัศมี 50 กม. จัดบริการฉุกเฉินไว้รองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บไม่รุนแรง เพราะไม่มีการดูแลเบื้องต้นและผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป  นโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงยังขลุกขลักอยู่บ้างทั้งเรื่องการประสานงานและจำนวนรถพยาบาลที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วมันจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10 แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ได้สัมปทานทำถนนควรให้ความสนใจกับที่พักริมทางหรือศูนย์แพทย์ฉุกเฉินบ้างและหวังว่าทางหลวงใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก 21 สายจะมาพร้อมศูนย์ฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ถูกคิดค่าไฟย้อนหลัง

คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ได้รับหนังสือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเรื่องการปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งได้มีการคิดค่าบริการย้อนหลัง 6 เดือนเป็นจำนวนเงิน 2,733 บาท แต่เมื่อเธออ่านรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจเกิดจากการตั้งค่าอ่านมาตรวัดไฟฟ้าผิดพลาด หรือการเปลี่ยนมาตรวัดใหม่ของทางการไฟฟ้าเอง ซึ่งคุณสมใจสงสัยว่าทำไม เธอจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำไมไม่เป็นเรื่องที่เกิดจากความบกพร่องของการไฟฟ้าเอง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ขอรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของบิลค่าไฟย้อนหลัง 6 เดือนที่ผู้ร้องชำระไปแล้ว และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมชี้แจงเพิ่มเติมไปว่าที่อยู่อาศัยของผู้ร้องจัดอยู่ในประเภท 1115 หรือ บ้านที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก โดยมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน เพราะเหตุใดจึงต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ภายหลังทางการไฟฟ้าฯ ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟใหม่ให้ที่บ้านของผู้ร้องจริง เนื่องจากมิเตอร์เดิมเกิดการเสื่อม จากอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ซึ่งทำให้มีการชำรุดและหมุนผิดปกติ โดยหลังการเปลี่ยนมิเตอร์ก็ได้แจ้งให้ทางบ้านของผู้ร้องรับทราบไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้มีการชำระเงินโดยการแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เมื่อผู้ร้องได้รับคำชี้แจงดังกล่าว ทางผู้ร้องยินดีชำระค่าบริการย้อนหลัง และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที (2)

หลักการสำคัญของข้อเสนอให้คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง ก็คือ “หลักความเป็นธรรม ใช้เท่าไร ก็ควรจ่ายเท่านั้น”  ในอดีต การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาทีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านเทคนิคของระบบนับเวลาและคิดคำนวณค่าบริการที่ยังไม่ทันสมัย เป็นระบบอนาล็อก ที่ไม่สามารถคำนวณนับแบบละเอียดได้ จึงต้องมีการปัดเศษการโทรเป็นนาที แต่ทุกวันนี้ ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปมาก เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว การบันทึกข้อมูลการใช้งานทำได้ละเอียดมาก ๆ  แม้กระทั่งหน่วยที่เล็กกว่าวินาทีก็สามารถคำนวณนับได้ และถ้าดูข้อมูลในใบแจ้งค่าใช้บริการดี ๆ จะเห็นว่า ข้อมูลระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ที่บริษัทบันทึกไว้นั้น มีหน่วยเป็นวินาทีด้วยซ้ำไป แล้วจึงค่อยมาปัดเศษการใช้งานเป็นนาทีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว การคำนวณนับค่าบริการเป็นวินาทีนั้น ตรงไปตรงมาและยุ่งยากน้อยกว่าการต้องไปปัดเศษเสียอีก  คิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามที่มีการใช้งานจริง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับยุคดิจิตอล การคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีต่างหากที่เป็นเรื่องล้าสมัย และไม่เป็นธรรม  ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส จึงเลิกใช้ระบบปัดเศษกันแล้ว และมีกฎหมายห้ามปัดเศษ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  แพ็คเกจค่าบริการโทรศัพท์ในบ้านเราทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเหมาจ่าย เช่น “จ่าย 190 บาท รับสิทธิโทรออกทุกเครือข่าย 250 นาที ค่าบริการส่วนเกินคิดค่าบริการนาทีละ 0.99 บาท” แต่พอใช้งานจริง เมื่อถูกปัดเศษการใช้งานทุกครั้งที่โทร ผู้ใช้บริการก็จะไม่สามารถใช้งานได้เต็มตามสิทธิ แถมบางรายอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะ ด้วยวิธีการคำนวณนับระยะเวลาการใช้งานแบบปัดเศษ ทั้งที่ถ้านับระยะเวลากันจริง ๆ ใช้งานไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจด้วยซ้ำ เรียกว่า โดนเอาเปรียบถึง 2 ต่อเลยทีเดียว  ที่สำคัญ เงื่อนไขการปัดเศษการโทรจากวินาทีเป็นนาทีนี้ หลายกรณีก็มิได้มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาการใช้บริการ หรือแจ้งไว้ในรายการส่งเสริมการขายด้วยซ้ำ จึงเท่ากับว่า ค่ายมือถือกำลังทำผิดสัญญา ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีสิทธิฟ้องร้อง ให้ศาลสั่งให้บริษัทปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือ คิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริง และให้คืนเงินส่วนที่บริษัทได้เรียกเก็บไปโดยมิได้มีการใช้งานจริง  แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการฟ้องร้อง หลายคนก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก วุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา แถมไม่รู้ว่าฟ้องไปแล้วจะชนะหรือไม่ คิดแล้วยังไง ก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปไม่กี่บาท ยอมทนก้มหน้า ถูกเอาเปรียบต่อไปดีกว่า  ระบบศาลยุติธรรมเองก็เห็นถึงข้อจำกัดนี้ จึงมีการพัฒนาปรับปรุง กระบวนฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ขึ้น โดยเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ ด้วยการดำเนินคดีเพียงคดีเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนเยอะ ๆ แต่ความเสียหายของแต่ละคนไม่มาก และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน และข้อกฎหมายเหมือนกัน เช่น คดีผู้บริโภค คดีผิดสัญญา คดีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะมีโจทก์ผู้ริเริ่มคดี ดำเนินการแทนผู้เสียหายคนอื่น ๆ และไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีหรือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน เพียงแต่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็จะมีผลผูกพันกับสมาชิกในกลุ่มไปด้วย  การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว  ล่าสุด(12 มกราคม 2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เตรียมรวบรวมผู้เสียหายจากการถูกคิดค่าบริการเกินกว่าที่ใช้งานจริงเนื่องจากถูกปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์ ฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกเงินคืนจากบริษัทมือถือต่าง ๆ และขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาคิดค่าบริการตามที่มีการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยไม่ปัดเศษ  สำหรับผู้บริโภคท่านใดที่สนใจ สามารถมีส่วนร่วมพิสูจน์ปัญหาค่าโทรปัดเศษด้วยตัวท่านเอง โดยขอบันทึกการโทรย้อนหลังเพื่อนับวินาทีและเงินที่หายไป (Call Detail Record ) ผ่านคอลเซ็นเตอร์ในเครือข่ายที่ท่านใช้งาน  ครับ ช่วยกันไปขอบันทึกการใช้โทรศัพท์ ที่ให้บริการมือถือที่เราใช้อยู่ ย้อนหลังได้กี่เดือนเอามาให้หมด มาดูกับประวัติการโทรของว่า เราถูกเอารัดเอาเปรียบไปเท่าไร หากเห็นว่าตัวท่านเสียหายจากการปัดเศษค่าโทร และอยากร่วมฟ้องคดี สามารถติดต่อมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งทางเฟสบุ๊ค และเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร่วมลงชื่อกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องคดี แบบกลุ่ม class action >>> https://goo.gl/PgmPDM 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2560ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมภายใน 3 วันไม่เป็นจริงนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ร้องเรียนปัญหาทางด้านการให้บริการในประเทศไทยปี 2559 ระบุปัญหา เรื่องการย้ายค่ายเบอร์เดิม ถูกร้องเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด จำนวนเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมปี 2559 ทำลายสถิติเดิม ด้วยจำนวนกว่า 4,200 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 2,913 เรื่อง เกือบ 50% โดยประเด็นเรื่องร้องเรียนที่เพิ่มกว่าพันเรื่องนั้นส่วนใหญ่เป็นปัญหาบริการคงสิทธิเลขหมาย (ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิม) ซึ่งแม้ว่า กสทช. จะกำหนดให้การย้ายค่ายต้องแล้วเสร็จใน 3 วันทำการก็ตาม แต่ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งก็ไม่สามารถย้ายค่ายได้ใน 3 วัน หรือถูกปฏิเสธการย้ายค่าย ในประเด็นเรื่องการย้ายค่าย สาเหตุมาจากปัญหาการช่วงชิงผู้บริโภคที่ซิมจะดับเมื่อต้นปี 2559 ด้วยช่องทางบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ถือเป็นกลไกการแข่งขันที่สร้างตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ซิมจะดับว่า จะเลือกใช้บริการค่ายไหนดี แต่ปัญหาก็เกิดเพราะมีการเปิดช่องทางย้ายค่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เพียงรูด หรือเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร ซึ่งโดยปกติธุรกรรมต่างๆ มักจะต้องมีการเซ็นชื่อพิสูจน์ตัวบุคคลร่วมกับการแสดงบัตรประชาชน จึงเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของช่องทางดังกล่าวตามมา ทำให้เกิดการปฏิเสธการโอนย้ายจำนวนมหาศาล และเกิดกรณีการใช้บัตรประชาชนโอนย้ายโดยเจ้าของไม่ได้ยินยอม ซึ่งขณะนี้ กสทช.ได้ดำเนินการออกแนวปฏิบัติในการย้ายค่ายใหม่ให้สะดวกและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้กรมแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลคนแก่” เช้าไปเย็นกลับ พร้อมจัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุกรมการแพทย์เตรียมเปิด “สถานดูแลผู้สูงอายุ” แบบเช้าไปเย็นกลับ ภายในปี 2560 รับดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้าน ชนชั้นกลาง ก่อนถอดบทเรียนจัดทำเป็นแนวทางมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุระดับประเทศ ให้เอกชนนำไปเป็นแบบ หากทำได้ออกใบรับรองการันตีทันที              นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านราว 2% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านจะมีอาการป่วยบ้าง แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และในช่วงกลางวันมักต้องอยู่คนเดียว ไม่มีคนดูแล เนื่องจากลูกหลานออกไปทำงาน แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ต้องการที่จะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้ กรมฯ เตรียมที่จะจัดตั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารของกรมภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบในการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านดังกล่าว โดยจะเป็นลักษณะการดูแลแบบเช้าไปเย็นกลับ ลูกหลานสามารถมาส่งในตอนเช้าและมารับกลับในตอนเย็นเหมือนกับสถานดูแลเด็กเล็ก บริการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เพื่อถอดบทเรียนและจัดทำเป็นมาตรฐานประเทศในเรื่องสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งภาคเอกชนสามารถนำไปดำเนินการต่อได้ “นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมที่จะจัดหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อที่จะเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีการรับรองการผ่านการอบรมที่จะมีใบการันตีจากกรมการแพทย์ด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวกรมอนามัยเตรียมปฏิบัติการเพื่อให้เด็กไทยสูง ด้วยนมวันละ 2 แก้วกรมอนามัย ตั้งเป้าเพิ่มความสูง รูปร่างสมส่วน “เด็กวัยเรียน” ชี้ ปี 2579 เพศชายสูงเฉลี่ย 163 ซม. เพศหญิง 164 ซม. เผยดื่มนมคู่อาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก นอนหลับสนิท 8 - 10 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มความสูงได้ เล็งเพิ่มการดื่มนมเด็กเป็นวันละ 2 แก้ว “การศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายแหล่ง พบว่า การดื่มนมมีความสัมพันธ์กับความสูงของเด็ก และล่าสุด ในปี 2555 สถาบันประวัติศาสตร์สังคมนานาชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มนมที่มีผลต่อความสูงของเด็กวัยเรียนใน 7 ประเทศ พบว่า การดื่มนมวันละ 245 มิลลิลิตร ร่วมกับการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.4 เซนติเมตรต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ”คอบช.  เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่มีพลัง ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ เผยหนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนจำนวน 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร และบริการสาธารณะมากที่สุดจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธาน คอบช. ระบุปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก จากผลงานเรื่อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ การเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน การควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง (Lemon Law) และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และอื่นๆ ในส่วนของสถิติการร้องเรียนในปี 2559 ที่ผ่านเข้ามาทาง คอบช. นั้น มีกรณีร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง แยกเป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 54 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องจะมีทั้งการแก้ไขปัญหาทั้งแบบปัจเจกและถูกยกระดับขึ้นเป็นงานรณรงค์ด้านนโยบายทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ  ยกตัวอย่างเรื่อง สภาผู้บริโภคจังหวัด เช่น จังหวัดพะเยา สามารถจัดตั้งสภาผู้บริโภคโดยมีรูปแบบคณะทำงานที่เป็นทางการ สามารถขับเคลื่อนงานผู้บริโภคในจังหวัดพะเยา ได้อย่างเป็นระบบ หรือที่จังหวัดเพชรบุรีมีการร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัดในประเด็นการรู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง จนเกิดเป็นคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับจังหวัดขึ้นมา  เช่นเดียวกับที่ จังหวัดสมุทรสงคราม ภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภค ในประเด็นอาหารปลอดภัย และมีนโยบายผลักดันการใช้ฉลากโภชนาการอาหารแบบสัญญาณไฟจราจรการมีสภาหรือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระ จึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันด้วยการทำงานของ คอบช. สามารถสร้างองค์กรผุ้บริโภคที่เข้มแข็งได้ถึง 44 จังหวัดแล้ว  คอบช. จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้ง องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายให้ได้ในเร็ววัน เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 ระยะเวลารับประกันสินค้า (ไม่) เป็นธรรม

บางครั้งระยะเวลาการรับประกันสินค้าก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างร้านค้ากับผู้โภค ซึ่งมักสร้างปัญหาได้หากผู้บริโภครู้สึกว่าระยะเวลารับประกันสินค้าดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชัยนำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมที่ร้านแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากการ์ดจอเสีย โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้ 3 เดือน ซึ่งเมื่อใกล้วันหมดอายุการรับประกัน (เหลืออีก 5 วัน) เขาพบว่าคอมพิวเตอร์เสียอีกครั้ง จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเดิม โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้อีก แต่รับประกันเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงทำให้ผู้ร้องสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ชี้แจงว่าในกรณีการรับประกันสินค้าการซ่อมสินค้าของร้านค้าทั่วไป หากสินค้าชำรุดในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกัน ทางร้านก็ต้องซ่อมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในกรณีของผู้ร้องที่นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมอีกครั้งเพราะการ์ดจอเสีย โดยอีก 5 วันจะหมดระยะเวลาการรับประกันสินค้า ต้องพิจารณาว่าทางร้านซ่อมแซมให้อย่างไร ซึ่งหากเป็นการซ่อมการ์ดจออันเดิมจากครั้งแรก สามารถนับเวลาการรับประกันต่อจากเดิมที่เคยตกลงกันไว้ได้ แต่หากเป็นการเปลี่ยนการ์ดจอให้ใหม่ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการรับประกันใหม่เช่นกัน เนื่องจากอะไหล่ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอายุการใช้งานที่จำกัดนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >