ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ปัญหาจากการใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ

                โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ โดยนิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 30 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง ความคิดเห็นของประชาชนต่อสายการบินต้นทุนต่ำ(low cost Airline) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ความรู้ทั่วไปเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์         พบว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยทราบว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดปัญหาเช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กฎหมายการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ หรือทราบว่าเมื่อเกิดปัญหาควรติดต่อหน่วยงานใด แต่รายละเอียดเชิงลึกส่วนใหญ่จะไม่ทราบ เช่น กรณีเครื่องบินดีเลย์ กว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 53.8 ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 2-3 ชั่วโมง มีสิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  แต่ร้อยละ 53.7 ยังไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้า 5-6 ชั่วโมง สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 600 บาท และร้อยละ 59.1 ไม่ทราบว่า หากเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางล่าช้ามากกว่า 6 ชั่วโมง หรือ ยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับอาหาร เครื่องดื่ม ฟรี  ถ้าไม่ต้องการเดินทางก็สามารถติดต่อก็ขอคืนค่าโดยสารได้ และสามารถขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พร้อมค่าชดเชยจำนวน 1200 บาทและที่พักจำนวน 1 คืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 แค่สระไดร์ ทำไมแพงจัง

สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงนำมาเสนอฝากเป็นเรื่องเตือนใจถึงผู้บริโภคท่านอื่น ดังนี้         คุณศรีสมรไปประชุม ณ โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ช่วงเย็นหลังเลิกงานประชุมแล้ว คุณศรีสมรแวะเข้าไปใช้บริการสระไดร์จากร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งที่เปิดบริการอยู่ใกล้ๆ โรงแรม เท่าที่สังเกตคือ ร้านเสริมสวยดังกล่าวไม่ได้ติดป้ายแสดงราคาค่าบริการเอาไว้ ส่วนคุณศรีสมรเองตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก จึงไม่ได้สอบถามค่าบริการก่อนแต่แรก คิดว่าแค่สระไดร์คงไม่เกิน 150 บาท เพราะเคยทำในราคานี้         หลังจากรับบริการเสริมสวยเป็นที่เรียบร้อย คุณศรีสมรก็ต้องตกใจ เมื่อเจ้าของร้านเรียกเก็บค่าบริการเป็นเงินจำนวน 340 บาท ซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้มาก คุณศรีสมรจึงสอบถามเจ้าของร้านไปว่า ทำไมค่าบริการถึงแพงจัง ?  ซึ่งเจ้าของร้านได้ตอบกลับมาว่า “ ผมสั้น 200 บาท ผมยาว 340 บาท ค่ะ ”         คุณศรีสมรนำเรื่องมาปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ถึงปัญหาการคิดค่าบริการสระไดร์ของร้านเสริมสวยดังกล่าวว่าแพงเกินไปหรือไม่ ทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้แจ้งกับคุณศรีสมรไปว่า การที่ทางร้านไม่ติดป้ายแสดงราคานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40 ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นทางสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น จะทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. หากผู้บริโภคเจอปัญหาเช่นนี้ ให้ถ่ายภาพสถานที่ร้านเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยอาจถ่ายภาพจากระยะห่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้เถียงกัน        2. ร้องเรียนไปยัง กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 เพื่อขอให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค        - ควรเลือกใช้บริการร้านค้าที่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า/บริการที่ชัดเจน  หากเลี่ยงไม่ได้ ให้สอบถามและตกลงค่าบริการกันก่อนใช้บริการ         สำหรับผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สามารถขอคำแนะนำหรือร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคได้ที่ สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น  เลขที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.065 052 5005  หรือ อีเมล cakk2551@gmail.com หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/Cakk2551

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ซื้อของออนไลน์ จ่ายอย่างไรให้ปลอดภัย มั่นใจ ได้เงินคืน

        ปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ได้เปลี่ยนชีวิตผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภทเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทำให้มูลค่าทางการตลาดของ ธุรกิจ e-Commerce หรือตลาดออนไลน์มีการเติบโตอย่างมาก ซึ่งล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย “เสาวลักษณ์ ชีวสิทธิยานนท์” ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อมูลระบบการชำระเงินและคืนเงินกรณีซื้อสินค้า/บริการออนไลน์” เมื่อช่วงต้นปี 2562 ทำให้พบข้อมูลที่น่าสนใจ ว่าทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์บนตลาดออนไลน์มีรูปแบบที่หลากหลาย ซับซ้อน และไร้ขอบเขต จึงเป็นหนึ่งช่องทางอันหอมหวานของกลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคบนตลาดออนไลน์ได้มากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสำรวจของบ้านสมเด็จโพล พบว่ากว่า 32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้นทั้งนี้  “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้นำเอาข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่เป็นประโยชน์มาฝากผู้อ่านเป็นหลักคิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของออนไลน์ โดยพุ่งเป้าไปที่ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลักๆ พบว่ามี ดังนี้1. เงินสด2. จ่ายผ่านบัตรเดบิต3. บัตรเครดิต4. เงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรซื้ออาหารในศูนย์อาหาร บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงินซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต บัตรชมภาพยนตร์ และกระเป๋าเงินบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น5. การชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดีย ที่จะมีผู้ทำหน้าที่เป็น Payment Gateway อีกทีหนึ่ง แล้วให้ผู้ซื้อเลือกจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต โอนเงินผ่านธนาคาร เป็นต้น 6. การชำระเงินผ่านตัวกลาง (PayPal) สามารถผูกบัญชีกับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโอนเงินผ่านธนาคารได้ และ7. การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือผ่านอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จ่ายแบบไหนปลอดภัยสุด         โดยในงานวิจัยได้มีการศึกษาลักษณะการใช้จ่ายเงินทั้ง 7 วิธีการแล้ว และได้บทสรุปออกมาว่า “การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเครดิต” มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศไทย เพราะต้องใส่หมายเลขบัตรเครดิต รหัส CVV 3 หลัก และรหัส OTP อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ และต้องการเรียกเงินคืน ผู้บริโภคมีสองทางเลือก คือ         1.ติดต่อผู้ขาย หรือตลาดกลางซื้อขายออนไลน์ เพื่อขอคืนเงิน (refund) โดยตรง หรือ        2.ในกรณีที่ติดต่อผู้ขายไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ ผู้ซื้อสามารถติดต่อธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อยื่นเรื่องขอปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) โดยธนาคารอาจใช้เวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภายใน 45-90 วัน        แต่สิ่งที่แตกต่างจากบัตรเดบิต คือ บางธนาคารอนุโลมให้ผู้ถือบัตรเครดิตยังไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ยื่นเรื่องขอตรวจสอบได้ แต่หากใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตนั้น ผู้ซื้อจะถูกหักเงินค่าสินค้าออกจากบัญชีธนาคารไปก่อน แล้วหลังจากตรวจสอบเสร็จ จึงดำเนินการคืนเงินให้         อีกทั้งระยะเวลาคืนเงินของบัตรเครดิตยังอาจรวดเร็วกว่าบัตรเดบิตในกรณีที่ซื้อสินค้าและขอคืนเงินผ่านตลาดกลางซื้อขายออนไลน์เช่น Lazada หรือ Amazon และยังมีขั้นตอนการขอคืนเงินที่ง่ายกว่ากรณีที่ชำระค่าสินค้าผ่านการโอนเงินทางบัญชีธนาคาร เพราะหากโอนเงินให้ผู้ขายโดยตรงและไม่ได้รับสินค้าในกรณีของประเทศไทย จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินคืนจากผู้ขายหรือไม่         “การชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเดบิต” ถึงแม้จะมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับบัตรเครดิต แต่ในขั้นตอนการขอเงินคืนนั้น อาจจะใช้เวลาที่มากกว่าบัตรเครดิต อีกทั้งยังเป็นการหักเงินในบัญชีเป็นค่าซื้อสินค้าไปก่อน         “การชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดปลายทาง” เรียกว่ามีความปลอดภัยสูงว่าจะได้รับสินค้าอย่างแน่นอน แต่การใช้จ่ายด้วยเงินสดมีต้นทุนการใช้ที่สูงกว่าการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และในกรณีที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ และต้องการคืนสินค้านั้น จะมีความเสี่ยงมากว่ากรณีซื้อตรงกับผู้ขายอาจจะมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถติดต่อผู้ขายเพื่อขอคืนเงินได้หรือไม่ แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าโดยจ่ายเงินปลายทางผ่านตลาดกลางเช่น Lazada นั้น ยังสามารถติดต่อผ่านตลาดกลางนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีสินค้าถูกนำส่งโดย บริษัทเคอรี่ มีแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจดังนี้ สำหรับผู้บริโภค ที่เลือกการชำระเงินโดยจ่ายปลายทาง แล้วพบว่า หลังจากชำระเงินไปแล้ว สินค้าที่ซื้อไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือที่สั่งไป มีสิทธิขอเงินคืนได้ เนื่องจากกรณีที่เราชำระเงินปลายทาง ผู้ส่งของ คือบริษัทเคอรี่ จะคงเก็บเงินไว้ 3 วันตามนโยบายของบริษัท ที่ตกลงไว้กับผู้ส่งว่า “บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ค่าบริการคิดเป็น 3% ของยอดที่เรียกเก็บ ผู้ส่งจะชำระค่าขนส่งและค่าบริการนี้ ณ จุดส่ง สำหรับยอดเงินเรียกเก็บปลายทางระบบจะทำการโอนเงินคืนผู้ส่งใน 3 วันทำการหลังจากลูกค้าปลายทางได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อย" ดังนั้น เมื่อได้รับของและชำระเงินแล้ว ควรตรวจสอบสินค้าภายใน 3 วัน และหากพบว่าไม่ตรงกับที่สั่ง ควรติดต่อไปยังบริษัทเคอรี่ เพื่อขอคืนเงิน โดยแจ้งเลขที่พัสดุ ชื่อผู้ส่ง หลังจากนั้นบริษัทจะประสานสาขาใกล้เคียงให้มารับของนั้นคืนไป และคืนเงินให้กับผู้บริโภค(ที่มา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)        “การชำระเงินผ่าน e-money” กรณีเป็นบัตรพลาสติกจะมีความคล้ายคลึงกับเงินสด หากสูญหาย ก็เหมือนกับสูญเสียเงินสดเท่ากับมูลค่าที่มีในบัตรพลาสติก แต่ e-money อีกประเภทที่คล้ายกับบัตรเครดิตแบบเติมเงินล่วงหน้านั้น จะมีความปลอดภัยเพราะจำกัดวงเงินความเสียหายเท่ากับเงินที่เติมไว้ในบัตร แต่ตอนนี้ e-money ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายจนสามารถใช้ได้กับทุกร้านค้าหรือทุกเว็บไซต์         “การจ่ายเงินผ่านตัวกลาง” เช่น “PayPal” นั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะ PayPal มีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าที่แตกต่างจากที่ระบุไว้อย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนโดยเปิดข้อพิพาทกับ PayPal ได้ภายใน 180 วันนับจากวันชำระเงินค่าสินค้า         “การจ่ายผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือ “อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้ง” ผู้ซื้อจะต้องเข้ารหัสส่วนตัว เพื่อเข้าไปทำธุรกรรม ซึ่งหลังจากทำรายการแล้ว จะมี sms แจ้งเตือนให้ผู้ซื้อทราบว่าได้มีการใช้จ่ายจากบัญชีของตนเอง หรือในบางครั้งถ้ามีการโอนเงินไปบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก จะต้องใส่รหัส OTP ด้วย แต่ในกรณีที่ซื้อสินค้าแล้วมีปัญหา อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืนโดยเฉพาะกรณีซื้อสินค้ากับผู้ขายรายย่อย เพราะอาจเกิดปัญหาไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ในกรณีประเทศไทยต้องมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อขออายัดบัญชีของผู้ขาย        “การจ่ายผ่านโซเชียลมีเดีย” ความปลอดภัยในการใช้บัตรขึ้นกับ Payment gateway ที่ให้บริการ แต่โดยทั่วไป Payment gateway เหล่านั้นจะผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปอยู่แล้ว ลักษณะการใช้งานคล้ายกับกรณีของบัตรเดบิต และบัตรเครดิต แต่หากผู้บริโภคเลือกจ่ายผ่านการโอนเงินผ่านธนาคารก็อาจมีความยุ่งยากในการขอเงินคืน         อย่างไรก็ตาม แม้มีช่องทางให้สามารถคืนสินค้าและขอเงินคืนได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ซื้อจะสามารถทำได้ตามอำเภอใจทุกอย่างมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดเอาไว้ โดยหลักๆ จากที่งานวิจัยได้รวบรวมเอาไว้ อาทิ  สินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามที่อธิบายไว้ สินค้าชำรุด เสียหาย ถูกแกะออกมาใช้หรือเป็นสินค้ามือสอง  ไม่ได้รับของตรงตามกำหนดเวลา ได้รับของไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์        และการจะเรียกร้องสิทธิตรงนี้ ผู้ซื้อจะต้องเก็บหลักฐานการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีทีเกิดปัญหา เช่น หลักฐานระยะเวลาการรับประกันการคืนสินค้า หลักฐานการชำระค่าสินค้า หลักฐานการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพราะในบางครั้งแม้ผู้ซื้อจะมีหลักฐานที่ยืนยันว่ามีระยะเวลาประกันการคืนสินค้าภายใน 14 วันจริง ก็ยังมีปัญหาในการคืนสินค้าดังกรณีตัวอย่างของ Lazada ที่ระบบแจ้งว่าต้องคืนสินค้าภายใน 7 วันแต่ได้แสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ว่าคืนได้ภายใน 14 วัน วิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์         ผู้บริโภคควรเรียนรู้สิทธิและวิธีแก้ปัญหาในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สามารถใช้วิธีปฏิเสธการชำระเงิน (chargeback) ได้หากเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า และมีระยะเวลาคืนเงินที่รวดเร็วกว่าการใช้บัตรเดบิต แต่การชำระเงินค่าสินค้าผ่านการโอนเงินธนาคารนั้น มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะการซื้อกับผู้ขายโดยตรง เพราะถ้าไม่ได้รับสินค้าและไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ต้องดำเนินเรื่องแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่ออายัดบัญชี ซึ่งยังไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การซื้อสินค้าผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่าซื้อจากผู้ขายโดยตรง เพราะมีการรับประกันสินค้าและนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนกว่า          ทั้งนี้เมื่อดำเนินการเรียกร้องสิทธิโดยตรงกับทางผู้ขาย หรือธนาคารสถาบันที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินไปแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ซื้อสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้         1.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)         2.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม        3.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก. ปอท.)         4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)         5.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)         6.ธนาคารแห่งประเทศไทย        7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ขั้นตอนการร้องเรียน        ในการร้องเรียนนั้นควรเตรียมหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้พิจารณา เช่น        1. ใบสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ        2. ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย        3. ข้อมูลร้านค้า        4. หลักฐานการชำระเงิน        5. ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน        6. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน           อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ต้องระวังเรื่องการหลอกลวงจากการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์แล้วสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ “ความอยากของตัวเอง” โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งก่อนหน้านี้มีจิตแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า “การซื้อของ” นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ ช่วยลดความรู้สึกแย่ๆ ที่มีในจิตใจ ยิ่งถ้าซื้อทางออนไลน์ และไม่ได้จ่ายเงินสดยิ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่ากับการต้องควักกระเป๋าจ่ายสด ดังนั้นจงระมัดระวังใจตนเอง ซื้อเท่าที่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ส่งของไปซ่อมรอจนอ่อนใจต้องทำอย่างไร

        สินค้าประเภทไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่สร้างความสะดวกสบายให้ชีวิต แต่หากเกิดปัญหาใช้งานไม่ได้ขึ้นมาน้อยคนที่จะซ่อมแซมเองได้ ศูนย์ซ่อมจึงเป็นคำตอบเดียว แล้วถ้าศูนย์ซ่อมไม่ให้บริการที่ดี รวดเร็ว เราควรทำอย่างไร        คุณตุ๊กตา ปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า เธอนั้นนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีอาการเสียงดังผิดปกติเข้าไปที่ศูนย์ซ่อม P ในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2561 พนักงานแจ้งว่าใช้เวลาซ่อมแซมไม่เกินหนึ่งเดือน ผ่านไปหนึ่งเดือน คุณตุ๊กตาได้โทรไปสอบถามเพราะเห็นว่าน่าจะได้สินค้ามาใช้งานเสียที แต่พนักงานกลับแจ้งว่า “ไม่พบอาการเสียงดัง จึงยังไม่ได้ทำอะไร” อ้าว คุณตุ๊กตาหัวร้อนขึ้นมาทันใด แล้วทำไมไม่บอกกับลูกค้า เอาไปเก็บไว้ทำไมเป็นเดือน         เมื่อคุณตุ๊กตาเริ่มติดตามเรื่องจากฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบศูนย์ซ่อมแซม ทั้งทางโทรศัพท์และหน้าเพจเฟซบุ๊ค ตอนแรกก็ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น ติดตามเรื่องให้แล้ว ช่างพบปัญหาตามที่ลูกค้าแจ้งแล้ว กำลังทำเรื่องอนุมัติซ่อมและเบิกอะไหล่ คุณตุ๊กตาจึงขอว่า “ช่วยทำให้เสร็จโดยเร็วได้ไหม เพราะอายุประกันจะหมดตอนสิ้นเดือนมีนาคม และตนเองก็จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ” พนักงานที่เป็นคนประสานงานก็รับปากว่าจะรีบจัดการให้         หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เมื่อติดตามเรื่อง กลับได้คำตอบว่า ยังรออนุมัติซ่อม ไม่รู้จะได้ซ่อมหรือเปล่า แล้วยังต้องรอสั่งอะไหล่อีกอย่างน้อยสองสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคำตอบประเภทเลี่ยงความรับผิดชอบเช่น ลูกค้านำของมาซ่อมเยอะ คิวยาว แต่ทุกครั้งที่ได้คำตอบคือ คุณตุ๊กตาต้องโทรศัพท์ไปติดตามเรื่องเอง ไม่เคยได้รับการติดต่อกลับจากศูนย์ซ่อมเลยสักครั้ง “ดิฉันรู้สึกเสียเวลามาก”  เพราะเรื่องการซ่อมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สองแล้ว และพฤติกรรมการให้บริการไม่ต่างกัน ผู้บริโภคต้องมีภาระติดต่อสอบถามด้วยตัวเองตลอด แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามคุณตุ๊กตาว่าต้องการให้ทางศูนย์ซ่อมทำอะไรบ้าง เพื่อดูว่าสามารถนำไปเรียกร้องสิทธิได้หรือไม่ ซึ่งคุณตุ๊กตานอกจากต้องการให้ซ่อมเสร็จโดยไวแล้ว ยังต้องการให้ต่ออายุประกันด้วย เพราะทางศูนย์ซ่อมนำหุ่นยนต์ดูดฝุ่นไปค้างไว้เป็นเดือน ทำให้เสียโอกาสในการใช้งาน จึงแนะนำให้คุณตุ๊กตาทำหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการถึงผู้บริหารของศูนย์ซ่อม โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จะช่วยประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป         จากการติดตามเรื่องทราบว่า คุณตุ๊กตาได้รับแจ้งจากทางศูนย์ซ่อมว่า กำลังพิจารณาว่าอะไหล่ตัวไหนอยู่ในการรับประกัน และตัวไหนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะไม่ได้อยู่ในประกัน อีกทั้งเรื่องการขอต่ออายุประกันกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา  และบทสรุปคือ คุณตุ๊กตาต้องจ่ายเพิ่มในส่วนของแปรงปัด ซึ่งไม่อยู่ในการรับประกันสินค้า แต่ทางศูนย์ซ่อมจะลดค่าอะไหล่ให้ 10% พร้อมขยายการต่ออายุประกันให้อีก 2 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์ พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย

ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการขนส่งสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,183 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการบริการขนส่งสินค้า ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากผลของการซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่มีการส่งสินค้าผ่านการบริการขนส่งสินค้า ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในการให้บริการขนส่งสินค้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการขนส่งสินค้า ตั้งแต่การส่งสินค้าล่าช้า การสูญหายจากการส่งสินค้า สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่ง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่งสินค้า ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้ส่วนที่ 1 การบริการขนส่งสินค้า1.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                          ร้อยละ   97.3            ไม่เคย                                                      ร้อยละ   2.72.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)            ไปรษณีย์ไทย                                         ร้อยละ   87.2            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                      ร้อยละ   75.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                   ร้อยละ   12.2            ดีเอชแอล                                               ร้อยละ   11.1            ลาล่ามูพ                                                 ร้อยละ   19.7            ไลน์แมน                                                 ร้อยละ   37.5            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                          ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   2.1    3.   ท่านเคยพบปัญหาในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                        ร้อยละ   89.9            ไม่เคย                                                    ร้อยละ   10.14.   ท่านเคยพบปัญหาใดบ้างในการใช้บริการขนส่งสินค้า            การส่งสินค้าล่าช้า                                     ร้อยละ   31.8              การสูญหายจากการส่งสินค้า                      ร้อยละ   8.3                สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย                      ร้อยละ   12.4              กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย                       ร้อยละ   19.9            การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า         ร้อยละ   5.9                การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา      ร้อยละ   13.2            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   8.55.   ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าต่อหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่            ใช่                                                             ร้อยละ   67.2            ไม่ใช่                                                         ร้อยละ   32.86.   หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าได้แก่ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)            สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)           ร้อยละ   38.5            มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค                                                      ร้อยละ   35.1            หน่วยงานอื่น                                                              ร้อยละ   5.8            ไม่เคย                                                                        ร้อยละ   20.67.     ท่านมีการใช้บริการขนส่งผ่านช่องทางใดมากที่สุด            การไปใช้บริการยังที่ตั้งของบริษัท                             ร้อยละ   27.9            การใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์                           ร้อยละ   54.9            การใช้บริการผ่านทางโทรศัพท์                                 ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   5.68.     ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าโดนสินค้าที่ส่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าใด            น้อยกว่า 100 บาท                                                   ร้อยละ   6.5            101 – 500 บาท                                                      ร้อยละ   27.5            501 – 1,000 บาท                                                   ร้อยละ   37.9            1,000 – 5,000 บาท                                                ร้อยละ   21.4            5,001 – 10,000 บาท                                              ร้อยละ   6.5                มากกว่า10,000 บาท                                               ร้อยละ   0.29.   หากท่านพบปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้า ท่านติดต่อไปยังผู้ให้บริการและได้รับความสะดวกรวดเร็วหรือไม่            ใช่                                                                            ร้อยละ   56.8            ไม่ใช่                                                                        ร้อยละ   43.210.             ท่านคิดว่าการใช้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย หรือไม่            มี                                                                              ร้อยละ   70.4            ไม่มี                                                                          ร้อยละ   29.611.           ท่านคิดว่าในปัจจุบันควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการแสดงบัตรประชาชนในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                                       ร้อยละ   85.0            ไม่เคย                                                                   ร้อยละ   15.012.           ท่านอยากให้การให้บริการขนส่งสินค้าควรมีการปรับปรุงในด้านในมากที่สุด            ความรวดเร็ว                                                          ร้อยละ   29.2            ค่าบริการ                                                               ร้อยละ   26.6            ความปลอดภัย                                                       ร้อยละ   38.0            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   6.2 13.           ท่านมีความพึงพอใจในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   28.0            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   52.4            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.3            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.5            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   5.4            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   7.9            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.4            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.1    14.           ท่านมีความพึงพอใจกับความรวดเร็วในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                       ร้อยละ   24.4            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   49.6            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.5            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   7.1            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   12.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.9            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    15.           ท่านมีความพึงพอใจกับค่าบริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   39.5            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   38.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   1.9            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   0.9            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   4.9            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   11.7            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.7            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    16.           ท่านมีความพึงพอใจกับการให้บริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   26.1            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   48.5            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   2.4            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   7.0            ไลน์แมน                                                                ร้อยละ   11.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                         ร้อยละ   2.2            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   1.5      ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์1. เพศ           ชาย                ร้อยละ   45.3  หญิง               ร้อยละ   54.72. อายุ           ต่ำกว่า 20 ปี    ร้อยละ   2.3    21 – 25  ปี      ร้อยละ   15.0                      26 – 30  ปี      ร้อยละ  12.4   31 – 35  ปี      ร้อยละ   17.5                        36 – 40  ปี      ร้อยละ  26.7   41 -  45 ปี       ร้อยละ   8.1                          46 -  50 ปี      ร้อยละ  12.0   มากกว่า 50 ปี   ร้อยละ   6.03. อาชีพ      นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                       ร้อยละ 12.6                       ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ        ร้อยละ 13.1                   พนักงานบริษัทเอกชน                                             ร้อยละ 27.6                   นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว                                 ร้อยละ 16.9                   แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                      ร้อยละ 10.6                       รับจ้างทั่วไป                                                           ร้อยละ 18.9    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 กระแสต่างแดน

     จำกัดพื้นที่        มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ที่ 37.5 ล้านไร่(ปลายปีที่แล้วมีอยู่ 36.5 ล้านไร่) แต่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อไร่แทน เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม           ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและตั้งเป้าที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มในที่สุด ด้วยเหตุผลว่ามันขัดแย้งต่อหลักการเรื่องความยั่งยืน            เสียงต่อต้านการทำสวนปาล์มมีมานานแล้วเพราะเชื่อกันว่ามันคือสาเหตุหลักของการทำลายป่าฝนเมืองร้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก        อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโคลัมเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 90 ของน้ำมันปาล์มในโลก มองว่าการจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าปาล์ม และอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน           รูปจาก https://www.foodnavigator-asia.comของมันต้องมี        Autorità Garante della Concorrenza e del Mercato องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของอิตาลีสั่งปรับสายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติไอริช Ryanair เป็นเงิน 3 ล้านยูโร(ประมาณ 107 ล้านบาท) เพราะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม        Wizzair ของฮังการี ก็โดนปรับ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 35.5 ล้านบาท) เช่นกัน        ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว สองสายการบินนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กชนิดที่นำขึ้นเครื่องได้ในอัตรา 5 ถึง 25 ยูโร (ประมาณ 180 – 900 บาท)         AGCM บอกว่ากระเป๋าถือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง สายการบินต้องดำเนินการขนส่งให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม        นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินทางทางอากาศของยุโรประบุว่า บริการที่จำเป็นและคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้นจะต้องรวมอยู่ในราคาของบริการพื้นฐานแต่แรก การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจึงถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค        Ryanair กำลังเตรียมยื่นอุทรณ์ แต่ Wizzair ยังไม่แสดงท่าที        รูปจาก https://upgradedpoints.com พร้อมทำโลกเย็น        หากคุณกำลังสงสัยว่าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้างเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ หรือการประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม           องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Disclosure Project พบว่าสามบริษัทที่พร้อมที่สุดจาก 16 บริษัทที่พวกเขาทำการสำรวจ ได้แก่ Unilever  L’Oreal และ Danone        ยูนิลิเวอร์ ชัดเจนด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seventh Generation และอีกหลายบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลอรีอัลก็เลือกใช้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศและมีแผนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์        ดานอน ก็ลงทุนพัฒนาแผนปรับปรุงสภาพดินและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลิตสินค้าโดยไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ด้วย        สองแบรนด์ที่รั้งท้ายได้แก่ Kraft Heinz ซึ่งมีนวัตกรรมเรื่องการผลิตแบบคาร์บอนต่ำน้อยมาก และ Estee Lauder ที่ยังไม่แสดงความโปร่งใสเรื่องการใช้น้ำมันปาล์ม        รูปจาก https://www.seventhgeneration.comมากินด้วยกัน        รัฐบาลจีนออกข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆ ในโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปลอดภัย        ผู้บริหารจะต้องทำบันทึกรายการอาหารโดยละเอียดและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถมาร่วมรับประทานและให้ความเห็นได้        โรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกปรับ 5,000 – 30,000 หยวน (ประมาณ 24,000 – 140,000 บาท) ในขณะที่ผู้รับผิดชอบอาจได้รับโทษตั้งแต่ถูกตักเตือน ปลดจากตำแหน่ง ไปจนถึงจำคุกหากถูกจับได้ว่าพยายามยักยอกเงินด้วยการจัดซื้ออาหารคุณภาพต่ำ หรือละเลยหน้าที่จนทำให้นักเรียนหรือครูล้มป่วยเพราะอาหารไม่ปลอดภัย         ประกาศนี้ยังกำหนดให้ร้านขายอาหารว่างในโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตและไม่ขายอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานเกินไปด้วย        รูปจาก ww.china.org.cn กินไม่ทัน        นักศึกษาชาวเยอรมันสองคนถูกปรับ 225 ยูโร(ประมาณ 8,000 บาท) และต้องทำงานรับใช้สังคมอีกแปดชั่วโมงในความผิดข้อหาร่วมกัน “ขโมยอาหารที่ทิ้งแล้ว”          สองสาวถูกจับได้ขณะกำลังเก็บอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ตามกฎหมายแล้ว อาหารเหล่านั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่จนกว่ารถขยะจะมารับไป         สิ่งที่พวกเธอต้องการเพื่อให้คนเยอรมันช่วยกันลด “อาหารเหลือทิ้ง” คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปเลือกเก็บอาหารที่ผ่าน “วันกำหนดขาย” ไปบริโภคได้นั่นเอง         ในขณะที่ฝรั่งเศสล้ำไปอีกก้าวเพราะมีกฎหมายระบุให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ต้องประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนมารับอาหารที่ขายไม่ทันไปทำการแจกจ่าย โดยกำหนดชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนยังรับประทานได้เมื่อเลยกำหนด         ห้างไหนฝ่าฝืน ต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 3,750 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท)          รูปจาก www.npr.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ล่อลวงล่อหลอก

ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็น ข้อมูลข่าวสารดีๆ เราสามารถค้นหาได้ในเน็ต แต่หลายครั้งก็พบว่าเมื่อเราตามไปอ่านข่าวสารต่างๆที่สนใจเหล่านั้น บางทีเราก็จะพบข้อมูลแปลกๆแทรกในหน้าข่าวต่างๆ โดยชักจูง ล่อลวงให้เราตามไปอ่านอย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้สึกตัว        ในช่วงที่ผ่านมา คนกำลังตื่นตัวและหวาดกลัวกับปัญหาฝุ่น 2.5 สื่อโซเชียลหลายเว็บนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น 2.5 แต่เมื่อลองตามเข้าไปอ่าน กลับพบว่าในบางเว็บมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเครื่องดื่ม แต่ฉวยโอกาสว่า ดื่มแล้วจะมีสารต้านฝุ่น 2.5 ในร่างกาย แทรกในท้ายๆของข่าวสาร หรือในเว็บที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสายตา เมื่อตามไปอ่านกลับพบว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างว่าช่วยรักษาสารพัดปัญหาตาได้อีกด้วย        ล่าสุดผมตามไปอ่านเว็บเกี่ยวกับสมุนไพร อ่านไปได้ครึ่งหน้ากลับมี ข้อความแปลกๆ โผล่ขึ้นมา เช่น ย้อนวัยทั้งคืน ทีแรกก็ยังงงๆ กับข้อความกำกวมดังกล่าว แต่พอกดลิงค์ตามเข้าไปดู กลับกลายเป็นข้อความ บรรยายว่า “ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ชนิดนี้ เป็นสินค้าที่นำเอาตำรับยาสมุนไพรจีน มาพัฒนาโดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีส่วนช่วยบำรุงและกระตุ้นการทำงานของตับและไต ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ระบบของเหลวในร่างกายมีความสมดุล ช่วยเพิ่มฮอร์โมนในเลือด” มีการอ้างต่อว่า “มีส่วนผสมของ ราชาแห่งสมุนไพร (ถังเช่า) ด้วย” หลังจากนั้นก็ไม่ปิดบังอะไรแล้ว เพราะมีการใช้ข้อความโต้งๆ กันไปเลยว่า “แต่ก่อนเป็นกล้วยไข่  เดี๋ยวนี้เป็นกล้วยหอม อาหารเสริมสำหรับผู้ชาย ใหญ่ อึด ถึก ทน ต่อรอบได้” ตามด้วยการระบุว่าสินค้านี้มีเลข อย. รวมทั้งแจ้งการสั่งซื้อทางไลน์        สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนที่มาที่แผนกผมในระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคหลายรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จากเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ พอใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ก็พบว่าไม่ได้ผล หรือมีอาการแปลกๆ จึงมาร้องเรียน หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่มาใช้อีก แล้วก็มาร้องเรียนอีก วนเวียนไปมาเรื่อยๆ        เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ขายที่มีปัญหา มักจะใช้หลากหลายกลวิธีล่อลวงล่อหลอก ผู้บริโภคในยุคนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดเท่าทัน Smart Consumer หากจะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากเน็ต ขอให้ตรวจสอบข้อมูลหลายๆ ทาง หากเป็นผู้ขายหน้าใหม่ เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งรีบซื้อ พยายามศึกษาและตรวจสอบสินค้าในเว็บตลอดจนข้อความโฆษณาว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  หากไม่แน่ใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่  หรือหากพลาดตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว ขอให้เก็บหลักฐานการสั่งซื้อให้ดี เช่น บันทึกภาพหน้าจอหรือข้อความที่ได้พูดคุยโต้ตอบ ใบสร็จรับเงิน หรือใบส่งของ สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ตอนมาร้องทุกข์ และจะทำให้ติดตามผู้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น        อยากให้นึกไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เทวดาที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณมหัศจรรย์ไม่มีในโลก หากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาโอเวอร์ ถึงจะอ้างว่ามีเลขที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนดีกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เมา..ไม่ค้าง

คนชอบกินเหล้ามักกังวล(นิดหน่อย) กับอาการ เมาค้าง หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า hangover ซึ่งมีการอธิบายอาการของผู้เมาค้างในเว็บไทยต่างๆ ว่า “ปัสสาวะบ่อย น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมแต่ไม่อาเจียน หมดแรง อ่อนเพลีย ลุกไม่ขึ้น เดินไม่คล่อง มึน งุนงง สับสน นอนไม่หลับ ลืมตาไม่ขึ้น คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็งหรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย เบื่ออาหาร ลิ้นไม่รับรส ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันโลหิตตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมาก บ้านหมุน คนเป็นโรคหัวใจอาจตายได้” ซึ่งอาการเหล่านี้คงไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนายจ้างของผู้ที่เมาค้างแน่นอน ดังนั้นจึงมีคนที่พยายามหาทางถอนเมาค้างออกเพื่อช่วยให้คนชอบกินเหล้าสามารถทำงานได้เหมือนผู้คนอื่น ๆในเว็บไทยต่างๆ ได้พูดถึงอาหารและเครื่องดื่มแก้เมาค้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ “น้ำเปล่า เครื่องดื่มร้อนๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม นมอุ่นๆ เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟเอสเพรสโซ่เข้มๆ ชาเขียว น้ำส้มคั้น น้ำผึ้งผสมมะนาว น้ำขิงอุ่น น้ำผึ้งมะนาวผสมขิง ชาโสม ชาสะระแหน่ผสมน้ำผึ้ง น้ำมะพร้าว น้ำอ้อยคั้นสด น้ำแตงกวาดอง นมช็อกโกแลตผสมชีสพาย น้ำสต๊อกปลา น้ำผักผลไม้สีเขียว น้ำผลไม้ผสมเกลือ สมูทตี้ผลไม้ สมูทตี้ขิงกับส้ม สมูทตี้แตงโมผสมแตงกวา สมุนไพร ได้แก่ น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย ลูกใต้ใบ เปลือกต้นควินินแห้งต้มกับน้ำ ผงปลาไหลเผือกชงกับน้ำอุ่น ดอกประยงค์ ใบหรือรากรางจืด ถั่วแปบ บ๊วย  มัลเบอร์รี่ หอมแดง อาหารประเภทโปรตีน (เช่น ไข่ต้ม) ขนมปัง โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุปใส ต้มยำน้ำใส ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เกาเหลา ซุปมิโซะ แฮจังกุก ผลไม้รสเปรี้ยว ช็อกโกแลตแท่งหรือของหวานจัด ๆ” เป็นต้น เห็นได้ว่าสิ่งที่ถูกสรรหามาใช้แก้อาการเมาค้างนั้น ต่างคนต่างหา ได้ผลบ้างลักษณะที่เรียกว่า placebo effect) หรือไม่ได้เรื่องเลยนอกจากนี้ท่านผู้อ่านที่เข้าใจภาษาอังกฤษ สามารถหาข้อมูลจาก pinterest ซึ่งมีแผนภาพมากมายให้มั่วซั่วตาม โดยคุยว่าแก้เมาค้างได้ ซึ่งคงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะผู้ให้ความรู้นั้นต่างมีคำจำกัดความของคำว่า เมาค้าง แบบต่างคนต่างเข้าใจอย่างไรก็ตามมีผู้ตระหนักความจริงในเรื่อง เมาค้าง กล่าวในเว็บภาษาอังกฤษหนึ่ง ที่ผู้เขียนไปพบว่า อาหารหรือเครื่องดื่มแก้เมาค้างอาจไม่มีจริง เพราะยังไม่มีใครพิสูจน์ได้จริงว่า อัลดีไฮด์ (aldehyde) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนเอ็ททานอล (แอลกอฮอล) ในเครื่องดื่มมึนเมาไปเป็น อะเซ็ตตัลดีไฮด์ (acetaldehyde ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า อัลดีไฮด์) ด้วยเอ็นซัม อัลกอฮอลดีไฮโดรจีเนส (alcoholdehydrogenase) นั้นคือ สาเหตุที่ทำให้เมาค้าง ที่พูดกันในตำรานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากอัลดีไฮด์นั้นมีความเป็นพิษสูงกว่าเอ็ททานอลหลายเท่า ดังนั้นการแก้อาการเมาค้างนั้นจึงเป็นไปได้ยาก        ผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพท่านหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า จริงแล้วอาการเมาค้างนั้นมีผลต่อเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปถึงระบบประสาท และไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ดังนั้นจึงไม่มียาวิเศษหรืออาหารอะไรที่จะครอบจักรวาล บำบัดปัญหาที่อาจเกิดกับเกือบทุกอวัยวะในร่างกายเราได้พร้อมกัน        จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับคอเหล้า ก็ยังมีข่าวที่อาจจะดี สำหรับผู้นิยมชมชอบในน้ำเมา เพราะมีข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษที่เว็บไทยพาดหัวข่าวประมาณว่า เหล้าแห้งกำลังมาแรง        ผู้เขียนติดใจคำว่า เหล้าแห้ง ที่มีการพาดหัวข่าว ซึ่งเคยได้ยินมานานแล้วแต่ไม่ได้สนใจว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปถามอากู๋(google) ว่า เหล้าแห้งนั้นคืออะไร อากู๋ลุกขึ้นตอบทันใด เหล้าแห้งนั้นไซร้คือ ยาเสพติดชนิดหนึ่งประเภทกดประสาทสมอง เป็นยานอนหลับจําพวกบาร์บิทูเรต ซึ่งผลิตออกมาในรูปของโซเดียมเซโคบาร์บิทัล และเรียกกันสั้นๆ ว่า เซโคนัล และทางแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับประเภทออกฤทธิ์ระยะสั้น ซึ่งปรากฏว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉลาดซื้อฉบับนี้        ข่าวจากเมืองผู้ดีกล่าวว่า สิ่งที่จะมาช่วยให้ผู้ชอบใช้ช่วงหลังเลิกภารกิจในชีวิตประจำวันเป็นช่วงที่หลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง(ภาษาอังกฤษใช้คำว่า high) สมใจนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ชื่อว่า Alcosynth ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ David Nutt         หมอ Nutt ได้อ้างว่าสาระสำคัญในเครื่องดื่มนี้ ไม่ส่งผลต่อตับหรือหลอดเลือดหัวใจในแบบแอลกอฮอล์ธรรมชาติ(ขอให้ฟังหูไว้หู) แต่สามารถทำให้ เมา ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โดยไม่เกิดอาการเมาค้างในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ในอังกฤษจึงได้ประโคมเป็นข่าวใหญ่ของปี 2018 เนื่องจากการดื่มเพื่อให้เมานั้นเป็นชีวิตจิตใจของคนอังกฤษที่มีข้อมูลว่า การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุลำดับที่สาม ที่ทำให้คนอังกฤษตายในแต่ละปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >