ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 กระแสต่างแดน

  ค่าเทอมสุดโหดที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษประกาศตัดงบอุดหนุนที่เคยให้กับมหาวิทยาลัย จึงทำให้สถาบันเหล่านี้ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการขึ้นค่าเล่าเรียน เพดานเดิมที่เคยเก็บสูงสุดปีละ 3,290 ปอนด์ (ประมาณ 160,000 บาท) นั้นไม่เพียงพอแล้ว   รัฐบาลก็รับลูกด้วยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนได้สูงสุดถึงปีละ 6,000 ปอนด์ (ประมาณ 294,000 บาท) ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีโควตารับนักเรียนจากครอบครัวที่รายได้ยากจนตามจำนวนที่รัฐกำหนด ใครผิดเงื่อนไขจะปรับถึง 500,000 ปอนด์ (24.5 ล้านบาท) กันทีเดียว  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อการศึกษา National Scholarship Programme ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่นักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 25,000 ปอนด์ (1.2 ล้านบาท) ปีละ 3,000 ปอนด์ (147,000 บาท) ด้วย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้คัดค้านเงื่อนไขเหล่านี้ เพียงแต่ออกมาตอบโต้ว่าตัวการที่ทำให้ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนที่แท้จริงคือรัฐบาล ซึ่งกำลังพยายามบิดเบือนให้ดูเหมือนเป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องการให้โควต้าหรือการให้ทุนนั้น มหาวิทยาลัยเขาก็ทำกันอยู่แล้วโดยไม่ต้องมีการบังคับจากรัฐด้วยซ้ำ อังกฤษก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กรวยกับเด็กยากจนเช่นกัน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 7 ของเด็กในอังกฤษที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน(ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะดี) แต่เด็กกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษอย่าง     อ็อกซฟอร์ด หรือเคมบริดจ์  วิบากกรรมของนักศึกษาที่นั่นยังไม่จบ เพราะข่าวบอกว่าปีหน้าค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 9,000 ปอนด์ (ประมาณ 440,000 บาท) เล่นเอาหลายคนอยากไปเกิดใหม่ในสก๊อตแลนด์ เพื่อจะได้สิทธิ์เรียนฟรีกันเลยทีเดียว   รู้มั้ย พ่อกูเป็นใคร? ถ้าใครเจอคำถามนี้เข้าไปก็ไม่ต้องงงอีกแล้ว เพราะวันนี้คุณสามารถหาซื้อชุดทดสอบ “ความเป็นพ่อ” ได้ตามร้านบูทส์ทั่วอังกฤษในสนนราคาชุดละ 30 ปอนด์ (1,500 บาท) ตามด้วยค่าธรรมเนียมห้องแล็บอีก 129 ปอนด์ (6,400 บาท) ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างกระแสในสังคมขึ้นไม่น้อย  ทางผู้ผลิตบอกว่าเหตุที่ต้องมีบริการนี้ออกมาก็เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า มี “คุณพ่อ” ในอังกฤษและอเมริกาอย่างน้อยร้อยละ 4 ไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของ “ลูก” ตนเอง แถมยังบอกว่าในสหรัฐฯ นั้น ร้อยละ 31 ของผู้ชายที่ใช้บริการตรวจดังกล่าว พบว่าตนเองไม่ใช่พ่อของเด็กอีกด้วย  ในการใช้บริการดังกล่าวนั้น ทั้งพ่อ แม่ และเด็กที่อายุ 16 ปีขึ้นไป จะต้องเซ็นสัญญาให้ความยินยอมก่อน หรือมารดาเป็นฝ่ายเซ็นแทนในกรณีของเด็กเล็ก (ตามกฎหมายอังกฤษแล้ว การนำดีเอ็นเอของผู้ใดไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้นั้นก่อน)  X  ห้องแล็บที่ให้บริการดังกล่าว ระบุว่าแต่ละปีเขาทำการทดสอบไม่ต่ำกว่า 3000 ครั้ง และยืนยันว่าการทดสอบดังกล่าวมีระดับความถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.9 เขายืนยันว่าผลทดสอบของเขาช่วยให้ครอบครัวที่มีปัญหา สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุข (แต่ไม่ได้บอกว่าร้อยละเท่าไร)  แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้กันระหว่างผู้ใหญ่ และทำให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ที่รุนแรงเกินกว่าเด็กจะรับได้ด้วย  ในอังกฤษ แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 50,000 คน ที่ไม่ชื่อของบิดาบันทึกในสูติบัตร   มั่งคั่งแต่ไม่มั่นคง รัฐบาลจีนเขากำหนดเป้าหมายของแผน 5 ปี ฉบับที่ 12 ว่า จีนจะเปลี่ยนเป้าหมายทางเศรษฐกิจจากที่เคยเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มรายได้ต่อหัว มาเป็นการเพิ่มความสุขให้กับประชากรแทน   ว่าแล้วสถาบันสังคมศาสตร์ของจีนได้ทำการสำรวจระดับความสุขของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน  ผลปรากฏว่าเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดถึง 6 ปีซ้อนอย่างฮ่องกง กลับมีระดับความสุขลดลงมา 73 อันดับ จนปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 271 จากเมืองที่ทำการสำรวจทั้งหมด 294 เมือง  เมืองที่อยู่แล้วมีความสุขที่สุดตามข่าวนี้ได้แก่เมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย ชื่อเมืองสือเจียจวง ซึ่งตกเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ผลิตนมผสมเมลามีน ที่ทำให้เด็กทารกป่วยถึง 360,000 รายมาแล้ว   การจัดอันดับดังกล่าวนั้นดูจากปัจจัย 4 ประการคือ ความรู้สึกมั่นใจในอนาคตของตนเอง สภาพความเป็นอยู่ ภาวะการจ้างงาน และสวัสดิการสังคม  กุ้ยหลิน หางโจว และซูโจว หรือ “สวรรค์บนดิน” ที่คนไทยนิยมไปเที่ยวกันก็พากันรั้งอยู่ท้ายๆ ที่ อันดับ 291 289 และ 276 ตามลำดับ  ไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวไทยเราเป็นปัจจัยฉุดระดับความสุขของเขาหรือเปล่า เพราะดูๆเหมือนว่าที่ไหนที่เราชอบไป ระดับความสุขของเขาจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ    ภาพประกอบ การ์ตูนจากหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2554   อิสระบนโลกออนไลน์นี่ก็เป็นอีกผลสำรวจที่นำมาฝากกัน องค์กรพัฒนาเอกชน Freedom House ได้จัดอันดับอิสรภาพทางอินเตอร์เน็ตของ 37 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลเรื่องการจำกัดการปล่อยสัญญาณ การบล็อก การเซ็นเซอร์ การเฝ้าระวัง หรือการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละประเทศ เอสโตเนีย ประเทศที่มีประชากร 1,300,000 คน คว้าตำแหน่งประเทศที่ให้อิสระบนโลกออนไลน์สูงสุด ทั้งนี้เพราะรัฐบาลของประเทศที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตแห่งนี้ เขามีการใช้อินเตอร์เน็ตให้การบริการกับประชากรอย่างทั่วถึงและสร้างสรรค์ ประชากรส่วนใหญ่ของเขาสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ และยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้โดยสะดวก โดยแทบจะไม่มีการแทรกแซงจากรัฐเลย  สหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นอันดับสอง เพราะแม้ว่าจะมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงมากแต่ก็เสียคะแนนตรงที่ยังมีการเข้าแทรกแซงการพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและการรับมือกับการก่อการร้าย  ตามด้วยเยอรมนี ที่ยังรัฐบาลยังต้องเข้าแทรกแซงเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มนาซีใหม่บน โลกออนไลน์ประเทศที่รั้งดันดับท้ายสุดในการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ อิหร่าน ตามด้วยเมียนม่า คิวบา และจีน ส่วนไทยเรานั้นรั้งอันดับที่ 27  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 กระแสต่างแดน

ขึ้นฟรีแบบมีประเด็นที่ปารีสมีคนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะขึ้นรถโดยไม่ซื้อตั๋ว เพราะต้องการเรียกร้องให้รัฐจัดบริการขนส่งมวลชนในปารีสให้ฟรี เหมือนกับบริการการศึกษา หรือบริการสุขภาพ  กลุ่มนี้เขารวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นระบบ ใครโดนจับได้และถูกเรียกเก็บค่าปรับ เขาก็มีกองทุนเอาไว้จ่ายให้ด้วย หนังสือพิมพ์ เลอ ปาริเซียง รายงานว่าปัจจุบันมีกองทุนแบบนี้อย่างน้อย 10 กองทุน โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์นั่งรถฟรีแต่ละคนจะร่วมลงขันคนละ 5 – 7 ยูโร (ประมาณ 200 - 300 บาท) เพื่อสำรองไว้จ่ายค่าปรับ ปารีสเมโทร หรือ ขนส่งมวลชนปารีส เขาบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 4 ของคนที่ขึ้นรถนั้นไม่ได้ซื้อตั๋ว ถ้าแยกดูตามเส้นทางจะพบว่า อัตราการขึ้นรถฟรีอยู่ที่ร้อยละ 10 สำหรับรถทางไกล และร้อยละ 6 สำหรับรถที่วิ่งในปารีส แต่ทั้งนี้ขนส่งฯ เขาบอกว่ารายได้จากตั๋วโดยสารนั้นเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30 ของต้นทุนการดำเนินงานเท่านั้น เรียกว่าแทบจะไม่พอสำหรับการจ่ายเงินเดือนให้กับนายตรวจซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 968 คน (กลุ่มที่รณรงค์เพื่อรถฟรีเขาตั้งข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการไล่ล่านั้นน่าจะแพงกว่าราคาตั๋วด้วยซ้ำ)  ชาวปารีสต้องจ่ายค่าตั๋วถึง 1.70 ยูโร (ประมาณ 68 บาท) ในขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในยุโรปอยู่ที่ 1 ยูโร (40 บาท) เท่านั้น อันที่จริง หลายเมืองในฝรั่งเศสเขามีรถฟรีให้ขึ้นกัน เมืองกงปิแอง ก็มีรถฟรีมาแล้ว 33 ปี นอกจากนี้ยังมีเมือง โอบาง กูโลเมีย วิตร หรือชาโตรู ซึ่งทางเมืองเขาคำนวณแล้วว่ารายได้จากการขายตั๋วนั้นไม่ได้มากอะไรเลย เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของการจัดการขนส่ง  ไม่รู้ว่า ขสมก. ของเราสนใจจะไปเยี่ยมชมดูงานของเขาหรือเปล่า จะได้รู้กันไปว่าการจะขึ้น “รถเมล์ฟรี จากภาษีของประชาชน” ที่ฝรั่งเศสนี่มันต้องเตรียมตัวออกสตาร์ทกันให้ดีเหมือนที่บ้านเราหรือเปล่า --------------------------------------------------------------------- ของ (ไม่น่าจะ) เสีย ปัญหาที่อเมริกาและกลุ่มประเทศในทวีปอัฟริกามีเหมือนกันคือการสูญเสียอาหารปริมาณมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์  อัฟริกายังขาดแคลนเทคโนโลยีในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาพืชผล ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรกว่า 1 ใน 4 ต้องเน่าเสียไปก่อนจะได้กลายเป็นอาหาร เพราะสภาพอากาศที่รุนแรง โรคพืช และศัตรูพืช เป็นต้น ในแต่ละปีมีผลิตผลอย่างพืชไร่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ปลา นมวัว เสียหายไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชากรกว่า 265 คนอยู่ในภาวะอดอยาก  ส่วนอเมริกานั้น แม้จะมีเทคโนโลยีขั้นเทพก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารที่ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน ในแต่ละวันคนอเมริกันหนึ่งคน จะทิ้งอาหารประมาณ 1.5 ปอนด์ (เช่น ผักกาดที่เฉาไปนิด เบอร์เกอร์ที่กินไปเพียงครึ่ง หรือแอปเปิ้ลที่ช้ำๆ ดูไม่น่ากิน) รวมๆ แล้วทำให้เกิดเป็นขยะปริมาณเท่ากับสะพานโกลเด้นเกท 74 สะพาน ที่ต้องเป็นธุระนำไปฝังกลบหรือไม่ก็เผาอีกต่างหาก  ร้อยละ 34 ของก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ ก็เกิดจากขยะมหึมากองนี้  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แหล่งผลิต จะพบว่ามีผลผลิตถูกทิ้งให้เสียไปไม่น้อยเหมือนกัน องค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ส่งอาสาสมัครไปตามฟาร์มต่างๆ เพื่อเก็บผลผลิตสภาพดีที่เหลือทิ้ง ปรากฏว่าเขาสามารถเก็บมาได้ถึง 15.7 ล้านปอนด์ (ข้อมูลปี 2552) ฟู้ด รันเนอร์ ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จัดหาอาหารสัปดาห์ละ 10 ตัน ให้กับคนไม่มีบ้านอยู่ หรือบ้านพักคนชรา โดยอาหารเหล่านั้นคือของที่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ใช้แล้วนั่นเอง สถาบัน Worldwatch ฟันธงแล้วว่า อันตรายหมายเลขหนึ่งของโลกเราทุกวันนี้ ได้แก่ “วัฒนธรรมกินใช้อย่างเหลือเฟือ” นี่แหละ ซึ่งไม่ได้ระบาดเฉพาะในหมู่คนอเมริกัน ผู้บริโภคทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะหย่าขาดจากมันให้ได้ --------------------------------------------------------------------- รถสะดวกขาย ในนิวยอร์กมีรถบรรทุกเร่ขายอาหารกว่า 3,000 คัน รถเร่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นไปแล้ว และเทคโนโลยีอย่างทวิตเตอร์ก็ทำให้ธุรกิจนี้มีสีสันขึ้นด้วยการช่วยให้แฟนพันธุ์แท้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถเจ้าประจำได้ ว่าขณะนี้ไปจอดอยู่ที่ไหน   รถเร่เหล่านี้เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านความหลากหลายและราคา เรียกว่ามีอาหารนานาชนิดขาย ตั้งแต่ ไอศกรีม ฮอทดอก วอฟเฟิล บราวนี่ และอื่นๆ ด้วยสนนราคาเฉลี่ยเพียง 10 เหรียญ แต่ปัญหาคือเดี๋ยวนี้รถเร่บางคัน กลับจอดปักหลักขายตามหัวมุมถนนที่คนจอแจเสียนี่ บางคันจอดยึดพื้นที่ตั้งแต่ 10.00 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืน บางเจ้าก็ถึงขั้นทำใบปลิวเมนูของร้านพร้อมระบุตำแหน่งที่จอดไว้ด้วย(มั่นใจขนาดนั้นเลย) หลังจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือคราบน้ำมันที่รถเร่เหล่านี้ทิ้งไว้ ปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ การถูกบดบังหน้าร้าน (สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาธ) เป็นต้น สมาชิกสภาเทศบาลนิวยอร์ก เจสสิกา แลพพิน จึงนำเสนอร่างกฎหมายให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตที่กรมสุขภาพออกให้รถเร่เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้รับใบสั่งจราจรมากกว่า 2 ใบ ในระยะเวลา 1 ปี จากการจอดติดเครื่องหรือหยอดเหรียญในมิเตอร์เพื่อซื้อเวลาจอดรถ ต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างนี้จะผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอย่างไร ในวันที่มีการรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกลุ่มผู้ค้ารถเร่และบรรดาขาประจำรวมตัวกันเพื่อยื่น 4,000 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว สมาชิกสภาฯ คนดังกล่าวยืนยันว่า ถ้ารถเร่เหล่านี้ต้องการพื้นที่ขายถาวร ก็ควรจะไปหาพื้นที่เปิดเป็นร้าน ถ้าจะเป็นรถเร่ ก็ต้องเร่ให้ตรงคอนเซ็ปต์ --------------------------------------------------------------------- ไม่ซ่อมก็จ่ายมา ที่อังกฤษนั้นถ้าคุณขับรถตกหลุมบนถนน สิ่งแรกที่ควรทำคือกลับบ้านไปเปิดคอมพิวเตอร์ เข้าเว็บไซต์ www.fixmystreet.com หรือ www.potholes.co.uk เพื่อตรวจสอบว่าหลุมที่ไปตกมานั้นมีคนแจ้งซ่อมเข้าไปหรือยัง ถ้ามีแล้ว ก็หมายความว่าคุณมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ทุกวันนี้มีผู้เดือดร้อนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้จริงๆ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ เช่น Highways Agency หรือเทศบาลท้องถิ่นจ่ายค่าชดเชยให้โดยอ้างอิงจากหลุมบ่อที่ “ขึ้นทะเบียน” หรือมีการแจ้งซ่อมแซมไว้แล้วแต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้เท่านั้น สถิติระบุว่าในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐซ่อมไปแล้วกว่า 1.4 ล้านหลุม (ในลอนดอนอย่างเดียว ก็ปาเข้าไป 120,000 หลุม) ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ บ้านเราน่าจะลองเอาไอเดียนี้มาใช้ดูบ้าง ดูท่าทางการแจ้งผ่านรายการทำนอง “ทุกข์ชาวบ้านชาวช่อง” หรือ “ช่วงนี้ชี้ให้ดูนะ” คงจะไม่พอเสียแล้ว ---------------------------------------------------------------------   เย็นอย่างพอเพียง เทศบาลเมืองไทเป ไต้หวัน ออกกฎหมายให้อาคารสำนักงานและห้างร้านใหญ่ๆ ที่บริโภคไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ใครเย็นไปกว่านี้มีปรับกฎหมายว่าด้วยการประหยัดพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะมีช่วงเวลาให้ปรับตัว 6 เดือน หลังจากนั้นถ้าใครตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็จะถูกปรับเป็นเงินระหว่าง 10,000 บาทถึง 50,000 บาท ช่วงแรกเขาจะบังคับใช้กับธุรกิจที่ใช้ไฟมากกว่า 100,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อเดือน หรือจ่ายค่าไฟเดือนละมากกว่า 300,000 บาท ปัจจุบันในเมืองหลวงของไต้หวันมีองค์กรประเภทนี้ (ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน) 540 แห่ง ธุรกิจเหล่านี้บริโภคไฟร้อยละ 38 ของพลังงานไฟฟ้าในไทเป ถ้าแต่ละแห่งลดการบริโภคไฟลงร้อยละ 1 ก็จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สามารถใช้ได้กับ 7,000 ครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว ---------------------------------------------------------------------   หมูย้อมแมว บริษัท Primo SmallGood ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารจากเนื้อหมูที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ โดนปรับเป็นเงินประมาณ 6 ล้าน 7 แสนบาท โทษฐานที่ติดฉลาดผลิตภัณฑ์เบคอนของตนว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ของออสเตรเลีย” สาเหตุที่โดนค่าปรับแพงที่สุดตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้มาก็เพราะเบคอนที่ว่านั้นทำจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเดนมาร์กและแคนาดา นี่เป็นอีกระดับของการคุ้มครองผู้บริโภค ..แม้สินค้าจะไม่ได้เป็นอันตราย แต่ก็ถือว่าได้ละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง อย. ของนิวเซาท์เวลส์เขารู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 เลยเริ่มทำการสืบสวนบริษัทผู้ผลิตอาหารภายในรัฐ และพบว่าบริษัทนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากผิดทั้งหมด 100 ตัน จึงแจกไป 63 ข้อหาภายใต้กฎหมายอาหารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งนี้ข่าวเขาบอกว่ายังต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการติด “ฉลากผิด” ที่ว่าด้วยหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร วัยรุ่นร้ายกว่ายุง?สวนสาธารณะในโตเกียวกำลังกำลังประสบปัญหาน่ากลุ้ม จากแกงค์วัยรุ่นที่ออกก่อกวนทำลายทรัพย์สินสาธารณะและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนที่อาศัยอยู่ใกล้สวนเหล่านั้น เช่นสวนสาธารณะคิตาชิตาฮามา ในเขตอาดาจิทางเหนือของกรุงโตเกียว นั้นต้องพบกับการถูกวัยรุ่นที่คึกคะนองทำลาย ไม่ว่าจะซ่อมแซมใหม่สักกี่ครั้งก็ยังจะกลับมาทำลายซ้ำได้อีก แม้ว่าทางสวนจะแก้ปัญหาด้วยการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลแล้วก็ตาม สุดท้ายทางเขตเลยตัดสินใจไปปรึกษาบริษัทจากอังกฤษที่เคยประดิษฐ์อุปกรณ์ไว้ป้องกันการจับกลุ่มเฮฮาของตามหน้าห้างสรรพสินค้ามาแล้ว แล้วก็ได้อุปกรณ์ Mosquito MK4 Anti-vandal system มาทดลองใช้ ฟังจากชื่ออาจเหมือนกับอุปกรณ์ไล่ยุงแต่ความจริงแล้วเขาทำขึ้นมาเพื่อปราบเด็กเฮี้ยนโดยเฉพาะ โดยเจ้าอุปกรณ์ที่ว่าซึ่งมีหน้าตาคล้ายสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 10 เซนติเมตร จะปล่อยเสียงความถี่สูงขนาด 17 เมกะเฮิร์ทซ์ (ที่ว่ากันว่าจะมีแต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเท่านั้นที่จะได้ยิน) ออกมาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างเวลา 5 ทุ่มถึงตี 5 ด้วยระยะการทำงานของคลื่นเสียงที่ครอบคลุมพื้นที่ 40 เมตรทางสวนดังกล่าวหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กเหล่านี้จะไม่มาจับกลุ่มเฮฮา เตะนี่ ทุบนั่น หรือแม้แต่จุดประทัดเล่นกันกลางดึกอีกต่อไป ยากูซ่าขาลงสมาชิกยากูซ่าตัวจริงทุกวันนี้ดูไม่น่าเกรงขามเหมือนในภาพยนตร์ที่เราเห็นอีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ เขายืนยันมาปลายปีที่แล้วมีชายวัย 61 ปีถูกตำรวจจับข้อหารีดไถคุณแม่บ้านด้วยการขายของแล้วทอนเงินไม่ครบ เรื่องนี้ถ้าเป็นกรณีทั่วไปก็ไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ชายคนดังกล่าวเป็นสมุนยากูซ่า ซึ่งตามมาตรฐานยากูซ่าแล้วการหาเงินด้วยวิธีดังกล่าวออกจะน่าขำอยู่บ้างแต่นั่นเป็นแค่ตัวอย่างเดียว ข่าวเขาบอกว่ายากูซ่าทุกวันนี้รับแทบจะทุกงานที่ได้เงิน ตั้งแต่รับจ้างเข้าคิวซื้อตั๋วดูคอนเสิร์ต เป็นนายหน้าจัดหาภรรยาน้อย ช่วยหาลูกค้ามาเช่าบ้านหรือมาเที่ยวผับ และมีไม่น้อยที่เปลี่ยนไปหากินด้วยการขับแท็กซี่ในทางกลับกัน คนที่เป็นซาลารี่แมนหรือมนุษย์เงินเดือนกลับนิยมไปสมัครเป็นสมาชิกยากูซ่ามากขึ้น เพราะรายได้จากงานประจำนั้นไม่พอใช้ ซึ่งก็เข้าทางกันพอดี เพราะทางยากูซ่าก็หาคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบทอดไม่ได้ ในขณะที่รุ่นเก่าก็อายุมากขึ้นกันทุกวัน ที่สำคัญมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้มีรายได้ประจำมาเสียค่าสมาชิกอย่างสม่ำเสมอดีด้วย สรุปว่าการควบรวมกิจการระหว่างแก๊งค์ยากูซ่ากับซาลารี่แมน นี้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรดีใจหรือเสียใจดีนะนี่ เมื่ออาหารสุขภาพแย่กว่าอาหารขยะคุณพ่อคุณแม่ต้องเกิดอาการช็อคกันอีกครั้ง (หรืออาจจะชินแล้วก็ได้) เมื่อมีงานสำรวจที่พบว่า อาหารเสริมสำหรับเด็กนั้นมีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวมากกว่าขนมปังกรอบรสช็อคโกแล็ต หรือชีสเบอร์เกอร์เสียอีก โครงการรณรงค์เพื่ออาหารสำหรับเด็ก Children’s Food Campaign ได้ทำการสำรวจอาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กวัยหัดเดินจำนวน 100 ชนิดที่โฆษณาว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพบว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของอังกฤษขนมปังกรอบ Toddler's Own Mini Cheese Biscuits ที่ผลิตโดยบริษัท Heinz นั้นมีไขมันอิ่มตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งมากกว่าในชีสเบอร์เกอร์ที่ที่มีไขมันดังกล่าวร้อยละ 6.7 หรือ เช่น Farley’s Original Rusk มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 29 กรัม (มากกว่าในขนมปังรสช็อคโกแล็ตเสียอีก)แล้วบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง ... บริษัท Cow and Gate ตัดสินใจเลิกผลิตขนมปังกรอบ ที่ถูกพบว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบไปเลย ในขณะที่บริษัท Heinz นั้นยังยืนยันว่า นี่เป็นของชอบของเด็กๆ มากว่า 120 ปี สูตรดั้งเดิมของเขาจริงๆ มีทั้งวิตามินและเกลือแร่มากมาย (เอ่อ ... แล้วก็น้ำตาลด้วย) กูเกิ้ลโดนห้ามถ่ายหลายคนคงรู้จักบริการของกูเกิ้ลที่ชื่อว่า สตรีทวิว ว่ากันว่ามันดีกว่าการดูแผนที่ธรรมดามากมายนัก เพราะคุณสามารถคลิกซูมเข้าไปบนตำแหน่งที่ต้องการแล้วคุณก็จะเห็นภาพสองข้างถนน ราวกับว่าคุณกำลังเดินอยู่บนถนนสายนั้นเลยทีเดียวแต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ เวลาที่กล้องหมุนได้ 360 องศาซึ่งติดอยู่บนหลังคารถของกูเกิ้ล เก็บภาพสองข้างถนนเข้าไป มันก็เก็บเอารูปคนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้นๆ ด้วย ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนเหล่านั้นเขาด้วยเช่นกันประเทศกรีกจึงตัดสินใจห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล (ที่เคยประกาศไว้ว่าจะขยายบริการให้ครอบคลุมยุโรป) เข้าไปเก็บภาพด้วยสตรีทวิว ทางกูเกิ้ลต่อรองว่าจะทำจุดเบลอๆ ลงบนหน้าคนหรือทะเบียนรถให้ แต่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการปกป้องข้อมูลข่าวสารได้ขอให้กูเกิ้ลตอบมาก่อนว่าจะเก็บภาพดังกล่าวไว้นานเท่าใด และจะแจ้งให้กับบุคคลในวิดีโอทราบด้วยวิธีใดว่าจะมีหน้าเขาอยู่ในนั้นเยอรมนีก็เป็นอีกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับบริการดังกล่าว และจะยอมให้มีได้ก็ต่อเมื่อกูเกิ้ลสามารถพัฒนาเครื่องมือที่รับรองว่าจะไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวขึ้นมาได้ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น กูเกิ้ลต้องถ่ายใหม่ทั้งหมดโดยลดระดับความสูงของกล้องลงมา เนื่องจากกล้องที่ติดอยู่กับรถนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปจนเห็นเข้าไปในรั้วบ้านได้ ระวัง คุณอาจจ่ายทิปโดยไม่จำเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปรับประทานอาหารในร้านต่างๆ ในเมืองเบอร์ลิน อาจยังไม่รู้ตัวว่าจ่ายเงินเกินจริง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาจะปั๊มข้อความอย่าง “ยังไม่รวมค่าบริการ” หรือ “ยังไม่รวมทิป” เพิ่มในใบเสร็จสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันนั่นเองซึ่งฟังดูก็ไม่น่าจะแปลก แต่ที่เยอรมนีนั้นเขามีกฎหมายควบคุมงานบริการโรงแรมและร้านอาหาร ที่ระบุว่า “ราคา” นั้นได้รวมเอาทั้งภาษีและค่าบริการเอาไว้หมดแล้ว โดยปกติแล้วสิ่งที่คนเยอรมันนิยมทำคือการจ่ายเงินแบบปัดเศษไป ไม่รับเงินทอน หรือไม่ก็เพิ่มให้อีกประมาณร้อยละ 10 จากค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่นี่เป็นความสมัครใจของลูกค้านะ สเตฟานี่ เฮคเคล โฆษกสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารแห่งเยอรมนีบอกว่า การเรียกร้องทิปจากลูกค้านั้นเป็นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาดแต่เห็นได้ชัดว่ามีคนทำแล้วจริงๆ มีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง เพิ่งมาเที่ยวได้สามวัน แกก็เจอกับใบเสร็จอย่างว่าเข้าไป 5 ใบ จากร้านอาหารต่างๆ กัน 5 ร้าน จนเขานึกว่าตัวเองตกข่าว และคิดเอาเองว่าสงสัยเยอรมนีคงจะเปลี่ยนกฎหมายไปใช้แบบอเมริกา ที่เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าต้องให้ค่าบริการอย่างน้อยร้อยละ 15 นั่นเองทางเจ้าของร้านและบริกร ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะให้ทิปเลย เลยต้องใช้วิธีนี้แหละในขณะที่สหพันธ์ผู้บริโภคแห่งเยอรมนีบอกว่า อย่างนี้เขาเรียกปล้นกันกลางวันแสกๆ นะพี่น้อง แต่การท่องเที่ยวแห่งเยอรมนี บอกว่ายังไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มเป็นห่วงว่าเรื่องนี้อาจทำให้เบอร์ลินเสียภาพพจน์ในหมู่นักท่องเที่ยวอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเรารู้กันไว้ ก่อนไปเที่ยวเบอร์ลินแล้วกัน ว่าค่าบริการต่างๆ ที่นั่นความจริงเขารวมไว้หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 เมื่อโฟล์คสวาเก้น อาจต้องรับผิดตามกฎหมายสินค้าชำรุดบกพร่อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา ( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์กสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวผู้บริโภคตามกฎหมายเยอรมันสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่องโฟล์คสวาเก้นมีหน้าที่ ที่จะต้องเรียกคืนรถที่มีปัญหาจากการวัดค่าไอเสียรถยนต์คืนหรือไม่ ?ไม่จำเป็น ตามหลักกฎหมายเยอรมัน บริษัทจะเรียกรถคืนก็ต่อเมื่อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตของลูกค้า ในกรณีความผิดพลาดจากเครื่องมือวัดไอเสียที่ติดตั้งในตัวรถนั้นยังไม่ถึงกับ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต แต่โฟล์คสวาเก้นสามารถเรียกคืนรถยนต์คันที่มีปัญหาดังกล่าวตามความสมัครใจ หรือ ในกรณีที่โฟล์คสวาเก้นไม่อยากสร้างความยุ่งยากใจให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้โฟล์คสวาเก้นชดเชยค่าเสียหายและความบกพร่อง (Mängelrechte) ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของและความน่าเชื่อถือของบริษัท สิ่งที่น่าติดตามสำหรับผู้บริโภคขณะนี้คือ รอดูว่าโฟล์คสวาเก้นมีข้อเสนอให้กับลูกค้าอย่างไร ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้างในกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแพ่งของเยอรมนี ในกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้า เมื่อภายหลังปรากฏว่า เป็นสินค้าชำรุดบกพร่อง ค่าไอเสียที่ปล่อยออกมามีค่าสูงมากเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือทำให้ ใช้น้ำมันมากกว่าที่โฆษณาไว้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) หลักการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายดังกล่าวคือ •    เรียกร้องให้ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ซ่อมแซมสินค้าให้เป็นไปตามสัญญาหรือที่โฆษณาไว้ (Nacherfüllung) โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขของเวลาในการซ่อมแซมให้รถมีสภาพเหมือนเดิมอย่างสมเหตุสมผล ในกรณีการขอเปลี่ยนรถให้ใหม่นั้น ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ผลิตหรือผู้ขายมากเกินไป ซึ่งผู้ผลิตมักจะเลือกการซ่อมแซมแทนการเปลี่ยนของใหม่ให้ก่อน •    นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถบอกยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ (Rücktritt) โดยสามารถคืนรถที่มีปัญหา และขอเงินคืน โดยคิดราคาค่าเสื่อมจากการใช้รถไปแล้วบางส่วน ซึ่งสามารถคิดจากระยะทางที่รถวิ่งมาแล้ว กรณีการคืนรถสามารถทำได้ ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขให้รถมีสภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรือ ผู้ผลิต ซ่อมแล้วซ่อมอีกจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญ (unzumutbar) •    การขอลดหย่อนราคา (Minderung) ในกรณีที่รถมีความเสียหาย หรือบกพร่องเล็กน้อย ผู้บริโภคสามารถขอลดหย่อนราคาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายการประกันสินค้ากับใครเนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ซื้อรถกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทตัวแทน ตามกฎหมายการประกันสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิผ่านบริษัทตัวแทนขายรถยนต์ที่มีสัญญาต่อกัน บริษัทตัวแทนขายรถยนต์ (Dealer) สามารถเรียกค่าเสียหายกับโฟล์คสวาเก้นในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ต่อ ได้หรือไม่สามารถเรียกร้องได้ เนื่องจากมี นิติสัญญาต่อกัน อายุความตามกฎหมายการประกันสินค้ามีระยะเวลานานเท่าใดปกติอายุความจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ทำสัญญาซื้อรถ แต่ในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่กระบวนการผลิตจากโรงงาน และบริษัทตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นความผิดพลาดของรถยนต์ เนื่องจากทางบริษัทย่อมปกปิดข้อผิดพลาดดังกล่าวด้วย อายุความในกรณีนี้ก็จะยาวนานขึ้น ในกรณีนี้ อายุความขยายเป็นสามปี นับจากวันที่ผู้บริโภคทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น กรณีที่ ผู้บริโภคมีประกัน (Guarantee) จากผู้ผลิต สามารถทำอะไรได้บ้างผู้ผลิตรถยนต์มักจะเสนอบริการ ให้การรับประกันจากผู้ผลิต (manufacturer guarantee) เพิ่มเติมกับผู้บริโภค แต่การประกันแบบนี้จะต่างจาก การประกันตามกฎหมายประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Gewährleistungsrecht: defect liability law) ซึ่งมีสภาพบังคับ ในกรณีนี้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอการรับประกันรถยนต์ซึ่งมีเวลานานกว่า 2 ปีตามความสมัครใจ หากผู้บริโภคมีประกันประเภทนี้ ก็สามารถใช้สิทธิดำเนินการให้ผู้ผลิตนำรถยนต์ที่มีปัญหาไปปรับปรุง ซ่อมแซมแก้ไขได้ สัญญาประกันแบบนี้ เป็นนิติกรรมที่ผู้ผลิตรถยนต์มีผลผูกพันกับผู้บริโภคโดยตรง สำหรับผู้บริโภคในไทยตอนนี้ คงต้องรอ พ.ร.บ. ความรับผิดต่อการชำรุดบกพร่องของสินค้า (Lemon Law) ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ อีกหนึ่งความหวังของกฎหมายดีๆ ที่มักจะถูกละเลย และขัดขวางจาก ผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย ที่ยังเข้าใจว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ทว่าจริงๆแล้วการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดี เป็นการส่งเสริมธุรกิจ การแข่งขันทางการค้า และเป็นการส่งเสริมธรรมาภิบาลอีกทางหนึ่งที่สำคัญ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 การแลก เปลี่ยน และคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในยุโรป

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ผู้บริโภคทุกคนคงจะเคยเกิดปัญหานี้ขึ้นกับตนเสมอ คือการซื้อสินค้าแล้วต่อมาพบว่าสินค้าที่เราซื้อมานั้นชำรุดและบกพร่อง หลายท่านอาจจะนำสินค้าไปคืน หรือขอเปลี่ยนสินค้าใหม่ บางครั้งก็อาจเปลี่ยนสินค้าได้ในกรณีที่โชคดี ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ตระหนักในสิทธิของผู้บริโภค บางครั้งก็โชคร้ายผู้ประกอบการไม่ยอมรับคืนสินค้าให้ แต่จะขอนำสินค้านั้นไปซ่อมแซมแก้ไขให้ ซึ่งบางครั้งก็ใช้ระยะเวลาในการซ่อมสินค้านานมาก แถมยังผ่อนชำระสินค้านั้นไม่หมดเลย ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรารู้สึกหงุดหงิด คิดว่าว่าซื้อสินค้าใหม่แกะกล่องแล้ว ยังต้องมานั่งทนกับของที่ไม่น่าที่จะต้องมีข้อบกพร่องเลย จะไปฟ้องร้องก็ยังติดในเรื่องของมูลค่าสินค้า ที่อาจจะไม่คุ้มกับค่าเดินทางและค่าเสียเวลา หลายๆ กรณีก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า ผู้ประกอบการสามารถที่จะแก้ไขสินค้าที่มีข้อชำรุดบกพร่องนี้ได้นานเท่าไหร่ ผู้บริโภคถึงมีสิทธิคืนสินค้าได้ มาดูมาตรการการคืนสินค้าในประเทศเยอรมนีบ้างว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร  องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเบอร์ลินได้ให้ข้อมูลในกรณีของการซื้อสินค้าแบบปรกติ และกรณีซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต และTelesales โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้า เพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคดังนี้  1. ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนคืนสืนค้า ในกรณีที่ชำรุดบกพร่องได้ ในกรณีที่สินค้า ชำรุด บกพร่อง สามารถ reclaim ได้ ซึ่งในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่อง และผู้ประกอบธุรกิจสามารถที่จะซ่อมแซมสินค้าให้กลับมาใช้งานได้ตามปรกติ แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจลองพยายามซ่อม ถึง 2 ครั้งแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นได้ ผู้บริโภคสามารถขอคืนสินค้า และขอเงินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้น คืนได้(Wandlung) นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้อีกเช่นกันว่าจะไม่คืนสินค้า แต่สามารถต่อรอง เพื่อขอเงินคืนบางส่วนที่เกิดจากสินค้าชำรุดบกพร่องได้(Minderung) กฎเกณฑ์นี้ใช้กับการซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต การสั่งซื้อผ่านทางโทรศัพท์(Telesale) และการสั่งซื้อสินค้าตามแคตตาลอก ซึ่งผู้บริโภคมีสิทธิคืนสินค้าภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นับแต่วันที่ได้รับสินค้า ถึงแม้ว่าสินค้าที่สั่งซื้อนั้นจะไม่มีข้อชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เห็นสินค้าของจริงก่อนซื้อ เหมือนกับการซื้อของตามห้างร้าน สินค้าที่โฆษณาในอินเตอร์เน็ต บนแคตตาลอก อาจจะไม่เหมือนกับสินค้าจริงๆ กฎหมายจึงให้สิทธิผู้บริโภคในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าสินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่องก็ตาม สำหรับในประเทศเยอรมนีนั้น อัตราการคืนสินค้าจากการซื้อขายด้วยวิธีดังกล่าวประมาณ 30- 50 %  2.ไม่มีใบเสร็จ ก็สามารถคืนสินค้าได้  ในกรณีที่ซื้อสินค้า แล้วทำใบเสร็จรับเงินหาย ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้หากมีพยานให้การรับรองว่าได้ซื้อสินค้ามาจริง หรือมีหลักฐานการจ่ายเงินอย่างอื่น เช่น หลักฐานการโอนเงิน หรือสลิปบัตรเครดิต  3. การคืนสินค้านั้น ไม่จำเป็นต้องบรรจุสินค้าลงในกล่องบรรจุภัณฑ์ หรือหีบ ห่อ ให้เหมือนกับตอนที่ซื้อสินค้ามา  4. การเปลี่ยนคืนสินค้า ที่อยู่ในกลุ่ม built in เช่น เครื่องล้างจาน เตาอบ เตาไมโครเวฟ หรือแม้แต่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตกแต่งในบ้าน เช่น wall paper หากสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้จำหน่ายก็ต้องรับผิดชอบค่าแรง ค่ารื้อถอน ค่าติดตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจากสินค้าชำรุดบกพร่องนั้นด้วย(คำตัดสินของศาลแห่งสหภาพยุโรป EuGH) ซึ่งจะมีระยะเวลาของการรับประกัน 2 ปี หากพ้นกำหนด 2 ปีแล้วสินค้าชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบางส่วนที่เกิดขึ้น 5. ถึงแม้นจะเป็นสินค้าลดราคา ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การรับประกันสินค้าที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ และในการซื้อสินค้าที่ได้ระบุแล้วว่าเป็นสินค้ามีตำหนิ เช่น การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคา ถ้าผู้บริโภคทราบแล้วว่าสินค้าที่ลดราคานั้นเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้ามีรอยขีดข่วน แต่ถ้าสินค้านั้น เกิดความชำรุดบกพร่องอย่างอื่นในภายหลัง การแลกเปลี่ยนคืนสินค้า ก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เช่นกัน แต่ไม่สามารถนำสินค้าที่ซื้อแล้วมาแลกคืนเพราะรอยขีดข่วนนั้นได้ 6. ในกรณีซื้อสินค้าแล้วเกิดการชำรุดบกพร่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งตามกฎหมายผู้บริโภคเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจโต้แย้งว่า สินค้าตอนที่ส่งมอบนั้นอยู่ในสภาพปรกติ ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ แต่หลังจากเกินกว่า 6 เดือนแล้วภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค 7. กรณีที่มีความผิดพลาดของคู่มือการใช้งาน จนทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายกับสินค้า เช่น ในกรณีของคู่มือการประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่อธิบายวิธีการประกอบที่ผิด และผู้บริโภคก็ได้ปฏิบัติตามคู่มือนั้น ในกรณีเช่นนี้สามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจ รื้อเฟอร์นิเจอร์และต้องประกอบให้ผู้บริโภคด้วย และถ้าไม่สามารถแก้ไข หรือ ซ่อมแซมได้ ก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อธิบายไว้แล้ว ต่อรองขอเงินคืนบางส่วน(Minderung) หรือคืนสินค้า(Wandlung)   ก็หวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเกิดขึ้นมาในประเทศไทย จะช่วยปรับปรุงมาตรการคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องในประเทศไทยให้พัฒนาไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ----  บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่องมาตรการจัดการสินค้าชำรุดบกพร่อง สนับสนุนโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในโครงการวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้โครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (จำลอง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 117 พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี

  คราวนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง แนะนำการซื้อสินค้านัก แต่มีเรื่อง น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย ที่บ้านเราก็ออกมาได้พักหนึ่งแล้ว คือ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือ Product liability law แต่เป็นกรณีของเยอรมันครับ   พระราชบัญญัติความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย : กรณีศึกษาของประเทศเยอรมนี เนื่องจากในบ้านเราเวลามีคดีผู้บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคล และถึงแม้ว่าเราจะมีกฎหมาย พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 และ พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้วก็ตาม ปรากฏว่ายังมีปัญหาและสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคมาก แม้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายที่ดีและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งในประเทศเยอรมันเองนั้นไม่ได้มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าอย่างบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศเยอรมันมี ก็คือ วิญญาณของระบบกระบวนการยุติธรรมที่ ให้ความเป็นธรรมกับคนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส วันนี้ ช่วง ฉลาด ช้อป ขออนุญาตนำคำพิพากษาคดี แอร์แบก ทำงานผิดพลาดมานำเสนอ เพื่อประกอบความรู้ ในเรื่อง Product liability law ครับ   ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิพากษาวางหลักกฎหมายไว้โดยได้วางหน้าที่ของผู้ผลิตไว้อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ผู้ผลิตใดผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายออกสู่ตลาดจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเคร่งครัด   ข้อเท็จจริงโดยสรุป นาย ก โจทก์ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง (รถยนต์ BMW Serie 3 Limousine) โดยได้บรรยายคำฟ้องไว้ว่า เขาได้ขับรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อแผงควบคุมระบบนิรภัย และทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานอัตโนมัติ ถุงลมนิรภัยดังกล่าวได้กระแทกศีรษะโจทก์และไปกดทับเส้นเลือดใหญ่เป็นเหตุให้สมองบางส่วนตาย (cerebral infarct: สมองบางส่วนตาย) โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์   การดำเนินคดีในชั้นศาล นาย ก ได้ยื่นฟ้องครั้งแรกต่อศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt (Landgericht Erfurt) โดยนาย ก ได้ให้เหตุผลว่า จำเลยเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คันดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบกรณีถุงลมนิรภัยทำงานผิดพลาด แต่ศาลมลรัฐแห่งเมือง Erfurt ได้ยกฟ้อง หลังจากโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา (Oberlandesgericht Jena) ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุที่ทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานคือแรงกระแทกใต้ท้องรถอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายกับการชน อีกทั้งการป้องกันมิให้ถุงลมนิรภัยทำงานดังเช่นกรณีดังกล่าวในสภาพของเทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถทำได้ และหากจำเป็นต้องมีการติดตั้งตัวเซนเซอร์เพื่อป้องกันการทำงานที่ผิดพลาดจะทำให้ราคาของรถสูงขึ้นมากจึงพิพากษายกฟ้อง   คำพิพากษาศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยง ศาลฎีกาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทผู้ผลิตจำเป็น ต้องมีมาตรการด้านต่างๆที่จำเป็นจำหรับการป้องกันมิให้เกิดอันตรายตั้งแต่การออกแบบและการผลิต ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนากลับไปวินิจฉัยใหม่ในประเด็นความเหมาะสม เรื่องการติดตั้งเซนเซอร์แบบอัลตราซาวด์ที่จะทำให้ถุงลมนิรภัยทำงานถูกต้อง เมื่อถุงลมนิรภัยมีการสัมผัสกับตัวถังจริงๆ แม้นว่า วินิจฉัยแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมีราคาแพงเกินไปนาย ก ก็ยังสมควรมีสิทธิได้รับการชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากศาลอุทธรณ์แห่งเมืองเจนา ต้องวินิจฉัยในประเด็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ใช้สอยและความเสี่ยงของการทำงานของถุงลมนิรภัยใหม่ กล่าวคือการชั่งน้ำหนักระหว่างอันตรายหรือความเสี่ยงที่ถุงลมนิรภัยจะทำงานผิดพลาดกับประโยชน์ใช้สอยของถุงลมนิรภัยว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการผลิตและติดตั้งถุงลมนิรภัยประเภทนี้หรือไม่   การคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพผู้บริโภคได้ประโยชน์ และได้รับการเยียวยา: พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Produkthaftungsgesetz- Product Liability Law)ได้มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเป็นอย่างมาก หลังจากมีการประกาศใช้ พรบ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย 1990 ทำให้ผู้ผลิตต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น บริษัทผู้ผลิตต้องจ่ายค่าเสียหายแม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนากระทำละเมิด ในปี 2002ได้มีการบัญญัติค่าเสียหายทางจิตใจลงไปด้วย และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจะหมดอายุความหลังจากที่ผู้ผลิตได้นำผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดไปแล้ว 10 ปี   (Bundesgerichtshof, Urteil vom 16. Juni 2009 Aktenzeichen: VI ZR 107/08) ที่มา: วารสาร Test ฉบับที่ 7 เดือนกรกฎาคม 2009

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 แฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) เรื่องที่มักเข้าใจผิด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีการพูดกล่าวถึงเรื่องแฟร์เทรด หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การค้าที่เป็นธรรม” กันมากขึ้น แม้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แฟร์เทรดเป็นเรื่องที่ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจ ในการเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมานานพอควร โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  “ฉลาดซื้อ” เล่มนี้จึงมีบทความพิเศษสำหรับผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มักจะเข้าใจผิด และการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยใครทำธุรกิจแฟร์เทรด    ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มักจะมีความคิดและความเชื่อของตัวเองว่า อะไรคือการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรม  หลายคนมักจะบอกว่า ธุรกิจของฉัน หรือธุรกิจนี้นั้นเป็นแฟร์เทรด  บางคนบอกว่า แฟร์เทรดต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต บางคนบอกว่า ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค บางคนบอกว่า ทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน และบางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่ต้องเป็นธรรมกับธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมหรือ  ก่อนที่จะพูดถึงหลักการของแฟร์เทรด ลองมาพิจารณากันดูก่อนว่า ธุรกิจข้างล่างนี้ ท่านคิดว่า ธุรกิจใดน่าจะเข้าข่ายธุรกิจแฟร์เทรดกันบ้าง1) บริษัท ก. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดเท่าตัว แต่ซื้อตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งประมาณเท่ากับ 5% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร2) บริษัท ข. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด 5% แต่ซื้อผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร3) สามีภรรยาที่เป็นคนเมืองตัดสินใจผันตัวไปเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท มีการจ้างงานชาวบ้านจากชุมชนรอบฟาร์ม โดยจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน และขายผักออร์แกนิคที่ปลูกได้โดยตรงให้กับผู้บริโภคในเมือง4) บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าอุปโภคทั่วไป ซื้อข้าวสารออร์แกนิค ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกร เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับลูกจ้างในโรงงาน/บริษัท ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับลูกจ้าง5) สหกรณ์การเกษตร ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก ที่ปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป/อาหารปลอดภัย โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร แล้วนำมาสีที่โรงสีของตัวเอง หรือไปจ้างโรงสีเอกชนให้สีข้าวให้ แล้วขายผลผลิตให้กับห้างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยบางส่วนขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 6) บริษัทธุรกิจการเกษตร ที่ทำสัญญาการผลิตและซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าราคาทั่วไปในท้องตลาด     เมื่องลองอ่านหลักการแฟร์เทรดข้างล่างนี้ดู แล้วกลับไปทบทวนดูใหม่ว่า ธุรกิจแบบใดบ้างที่เป็นธุรกิจแฟร์เทรดจริงหลักการแฟร์เทรด1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ     องค์กรมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้ผลิตด้วยการทำการค้า  องค์กรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือสหกรณ์  องค์กรพยายามที่จะยกระดับผู้ผลิตที่ยากจนและขาดความมั่นคงทางรายได้ให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม  องค์กรมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น     2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน     องค์กรมีการบริหารจัดการและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งความเคารพต่อความอ่อนไหวและความลับของข้อมูลทางการค้า     องค์กรมีแนวทางที่เหมาะสมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน สมาชิก และผู้ผลิต ในกระบวนการตัดสินใจ  องค์กรสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งมีช่องทางการสื่อสารที่ดีและเปิดเผยในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม     เป้าประสงค์ คือ องค์กรทำการค้าโดยให้ความใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ และไม่แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ความมุ่งมั่นทางการค้า     เป็นความรับผิดชอบและความเป็นมืออาชีพขององค์กรในการที่จะดำเนินการปฏิบัติให้ตามความมุ่งมั่นขององค์กรโดยไม่ชักช้า  ซัพพลายเออร์เคารพข้อตกลงและส่งมอบสินค้าตรงเวลา มีคุณภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้า     ผู้ซื้อแฟร์เทรดตระหนักถึงข้อเสียเปรียบทางการเงินของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และพยายามในการชำระเงินเมื่อได้รับเอกสารการค้า  สำหรับสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยไม่คิดดอกเบี้ย ถ้าได้รับการร้องขอ  ส่วนสินค้าอาหารแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยคิดดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ถ้าได้รับการร้องขอ อัตราดอกเบี้ยที่ซัพพลายเออร์จ่ายจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าที่ผู้ซื้อกู้ยืมจากบุคคลที่สาม การคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นข้อกำหนด    ถ้าซัพพลายเออร์แฟร์เทรดในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการจ่ายเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ องค์กรจะต้องนำเงินดังกล่าวไปจ่ายต่อให้กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแฟร์เทรด การยกเลิกการสั่งซื้อและการจัดการเมื่อเกิดปัญหา     ผู้ซื้อจะปรึกษากับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือปฏิเสธการสั่งซื้อ  ถ้ามีการยกเลิกการสั่งซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือของซัพพลายเออร์ จะมีต้องการชดเชยให้กับการทำงานของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เช่นกัน ซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะปรึกษากับผู้ซื้อ ถ้ามีปัญหาในการจัดส่งสินค้า และจะทำการชดเชยให้ เมื่อสินค้าที่ส่งมอบมีปริมาณหรือคุณภาพที่ไม่ต้องกันกับที่เรียกเก็บเงิน คู่ค้าระยะยาว     องค์กรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า โดยความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความสามัคคี เชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและการขยายตัวของการค้าที่เป็นธรรม  องค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลกับคู่ค้า  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างก็พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งมูลค่า และความหลากหลายของสินค้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้การค้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตขยายตัว ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต การแข่งขันอย่างเป็นธรรม     องค์กรทำงานโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรแฟร์เทรดอื่นในประเทศและหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม  องค์กรหลีกเลี่ยงการก๊อปปี้แบบลวดลายขององค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเคารพหัตถฝีมือท้องถิ่น     แฟร์เทรดตระหนัก ส่งเสริม และคุ้มครองเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหัตถฝีมือท้องถิ่นของผู้ผลิตรายย่อย ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบสินค้าหัตถกรรม อาหาร และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 4. ให้ราคาที่เป็นธรรมราคาที่เป็นธรรม     ราคาที่เป็นธรรมคือ ราคาที่ได้มีการตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย ผ่านการพูดคุยปรึกษาและการมีส่วนร่วม ซึ่งราคานี้ทำให้ผู้ผลิตมีรายรับอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  ในกรณีที่มีการกำหนดโครงสร้างราคาแฟร์เทรดไว้อยู่แล้ว ให้ใช้ราคาดังกล่าวเป็นฐานราคาขั้นต่ำ รายรับที่เป็นธรรม (fair pay)     รายรับที่เป็นธรรมหมายถึง รายได้ที่ผู้ผลิตยอมรับได้ว่า มีความเป็นธรรมในทางสังคม (ภายใต้บริบทท้องถิ่น) และได้คำนึงถึงหลักการในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย พัฒนาความสามารถในการกำหนดราคา     องค์กรแฟร์เทรดที่ทำหน้าที่การตลาดและผู้นำเข้าจะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถให้กับผู้ผลิตตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ 5. ต้องมั่นใจว่า ไม่มีแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก     องค์กรเคารพต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  การมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตสินค้าแฟร์เทรด (รวมทั้งการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน) ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องไม่มีผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย การศึกษาภาคบังคับ และการสันทนาการของเด็ก แรงงานบังคับ     องค์กรต้องมีหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในหมู่ลูกจ้าง และ/หรือองค์กรแฟร์เทรด หรือคนงานที่ทำงานอยู่กับบ้าน (home workers)  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในการผลิตสินค้าที่ได้จัดซื้อมา 6. ความมุ่งมั่นในการไม่เลือกปฎิบัติ, ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) และเสรีภาพในการรวมตัว  ไม่เลือกปฏิบัติ     องค์กรไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การฝึกอบรม การก้าวหน้าทางตำแหน่ง การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ เพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ วรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความนิยมทางเพศ สมาชิกของสหภาพแรงงาน สมาชิกทางการเมือง การติดเชื้อเอดส์ หรืออายุ ความเท่าเทียมทางเพศ     องค์กรจะให้โอกาสผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้หญิงได้สมัครงานในตำแหน่งที่ว่าง และการได้รับตำแหน่งผู้นำในองค์กร  องค์กรจะใส่ใจถึงความจำเป็นทางสุขภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร  ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ค่าจ้างที่เท่าเทียม     องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตจะต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเสมอ และในกรณีที่ผู้หญิงทำงานแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน   และในกรณีที่สภาพการผลิตที่งานของผู้หญิงถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าการทำงานของผู้ชาย องค์กรพยายามที่จะมีการประเมินงานของผู้หญิงใหม่และปรับค่าตอบแทนให้มีอัตราเท่าเทียมกับของผู้ชาย  รวมทั้งผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานตามศักยภาพของตัวเอง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม     องค์กรเคารพสิทธิของลูกจ้างทุกคนในการที่จะรวมตัวและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่ลูกจ้างเลือก เพื่อที่จะมีการต่อรองร่วมกัน  ในกรณีที่สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการต่อรองถูกจำกัดโดยกฎหมาย และ/หรือ สภาพการณ์ทางการเมือง องค์กรจะเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มอย่างเสรีและเป็นอิสระ รวมทั้งการต่อรองกับนายจ้าง  องค์กรสร้างหลักประกันว่า ตัวแทนของลูกจ้างจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน     องค์กรจะจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับลูกจ้างและ/หรือสมาชิก  องค์กรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย เงื่อนไขและชั่วโมงการทำงาน     ชั่งโมงการทำงานและสภาพเงื่อนไขของการทำงานของลูกจ้างและ/หรือสมาชิก (รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติ สภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้ผลิต     องค์กรแฟร์เทรดตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่องค์กรซื้อสินค้า  องค์กรพยายามที่จะยกระดับความรับรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะกับกลุ่มผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มผู้ผลิตที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 8. พัฒนาศักยภาพ     องค์กรพยายามที่จะทำให้เกิดผลกระทบในการพัฒนาด้านบวกต่อผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบโดยการทำการค้าที่เป็นธรรม     องค์กรจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของลูกจ้างและสมาชิก  องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตรายย่อยมีกิจกรรมการพัฒนาเฉพาะสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงทักษะในด้านการบริหาร ศักยภาพในการผลิต และการเข้าถึงตลาด ทั้งตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค ระหว่างประเทศ ตลาดแฟร์เทรด และตลาดทั่วไป ตามความเหมาะสม 9. เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม     องค์กรยกระดับความรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับเป้าหมายของแฟร์เทรดและความจำเป็นในการทำให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น  องค์กรผลักดันเป้าหมายและกิจกรรมแฟร์เทรดตามขอบเขตกำลังขององค์กร     องค์กรให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับองค์กรเอง สินค้าที่จำหน่าย และองค์กรผู้ผลิตหรือสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น     การประชาสัมพันธ์และเทคนิคด้านการตลาดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ 10. สิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน     องค์กรที่ผลิตผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดจะพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด และพยายามเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้ เทคนิคการผลิต     องค์กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด จัดการกับขยะ     องค์กรพยายามลดผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด  ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นแฟร์เทรดจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ นโยบายการจัดซื้อ     ผู้ซื้อและผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดให้ความสำคัญก่อนกับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมต่ำสุด บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง     องค์กรทั้งหมดพยายามเท่าที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้ และการขนส่งสินค้าทางทะเล    เชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ ในครั้งแรกก่อนที่จะได้อ่านหลักการ จะคิดว่า ทั้ง 6 กรณีเป็นแฟร์เทรด แต่เมื่อได้อ่านหลักการโดยละเอียด ก็จะเริ่มสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่ หรือมีข้อมูลไม่พอที่จะบอกว่า ใช่ธุรกิจแฟร์เทรดหรือไม่  จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น คือ การด่วนสรุปเร็วๆ ว่า ธุรกิจขององค์กรผู้ผลิตเป็นแฟร์เทรด หรือธุรกิจการค้ากับเกษตรกรรายย่อยเป็นแฟร์เทรด หรือการรับซื้อสินค้าการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาดเป็นแฟร์เทรด (เช่น ในกรณีของการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้) ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะมีองค์ประกอบหลายประการที่ต้องพิจารณาว่า โดยภาพรวมธุรกิจการค้าใดบ้างที่เป็นแฟร์เทรดจริงๆแฟร์เทรดในต่างประเทศ แฟร์เทรดในประเทศไทย     ถ้าจะนับต้นกำเนิดจริงๆ ของการค้าที่เป็นธรรม สามารถนับย้อนหลังไปได้กว่า 180 ปีก่อน ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ที่มีกลุ่มคนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อสู้กับระบบทาส โดยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้ทาส (เช่น ฝ้าย น้ำตาล)  แต่ระบบแฟร์เทรดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มต้นประมาณเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโดยคนหนุ่มสาว (ในสมัยนั้น) กลุ่มเล็กๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มุ่งหวังที่อยากจะเห็นระบบการค้า/ตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ไม่แสวงหากำไร ต่อต้านระบบทุนนิยม และแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม  คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้สละเวลามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับร้านค้าทางเลือกที่พวกเขาร่วมกับจัดตั้งขึ้นในชุมชน/เมืองของตัวเอง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการค้าเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยในประเทศโลกที่สาม (ประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา) ที่นำสินค้าดังกล่าวไปขายในช่องทางตลาดพิเศษในประเทศพัฒนาแล้ว และเริ่มมีการจัดทำระบบการตรวจรับรองแฟร์เทรดขึ้นในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530     ในปัจจุบัน มีตลาดสินค้าแฟร์เทรดใน 125 ประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,900 ล้านยูโร (ประมาณ 236,288 ล้านบาท) โดยตลาดแฟร์เทรดใหญ่มักจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เริ่มตลาดแฟร์เทรดเริ่มขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา และอินเดีย     สำหรับแฟร์เทรดในประเทศไทยนั้นถือกำเนิดมานานหลายสิบปีเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ    กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว    กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 - 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้    ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้    เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม" ขึ้นในเดือนกันยายน 2550 และต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายไทยแฟร์เทรด”    เนื่องยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของกรีนเนท เชื่อว่า มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกือบ 100 องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำธุรกิจแฟร์เทรด ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหาร ซึ่งน่าจะมีผู้ผลิตรายย่อย (เกษตรกรและช่างฝีมือหัตถกรรม) ที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดนับหมื่นครอบครัว  สินค้าแฟร์เทรดของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป  ส่วนในประเทศไทยเอง เนื่องจากผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวเรื่องแฟร์เทรดน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบว่า มีการทำตลาดแฟร์เทรดในประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการแฟร์เทรดที่ส่งออกเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดเหล่านั้นในตลาดในประเทศไทยด้วยก็ตามแล้วผู้บริโภคไทยควรจะทำอย่างไร    ในปัจจุบันทราบกันดีว่า พลังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ (และเลือกบริโภค) มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในการผลิตและการค้า  การเลือกบริโภคอาหารออร์แกนิค/เกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีการเกษตร มาเป็นระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกบริโภคอาหารทะเลจากการประมงอย่างรับผิดชอบทำให้ธุรกิจประมงต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลาทูน่า โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น  ส่วนตลาดแฟร์เทรดนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคสามารถแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการสนับสนุนแฟร์เทรด ก็คือ การเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด    แต่สินค้าแฟร์เทรดโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่แฟร์เทรด เพราะการทำธุรกิจแฟร์เทรดมีต้นทุนที่สูงกว่า  สำหรับผู้บริโภคบางคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสนับสนุนธุรกิจการค้าแฟร์เทรด แต่สำหรับผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่มีความพร้อม การเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบเกษตรกร หรือทำลายสิ่งแวดล้อม) ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงพลังผู้บริโภค    รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายและนโยบายทางการเงินและภาษี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและแฟร์เทรด ซึ่งอาจช่วยทำให้สินค้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 รู้ทันสินค้าราคา sale!

รู้ไหมว่า การซื้อสินค้าลดราคา ก็ไม่คุ้มค่าเสมอไป ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาผู้อ่านไปรู้เท่าทันกลยุทธการส่งเสริมการขายของร้านค้าปลีก ทั้งโดยสำรวจตลาดคนเดินถนน เพื่อรวบรวมกลวิธีการติดป้ายบอกราคาที่ชวนให้เข้าใจผิดของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบางคน และตลาดติดแอร์ โดยเจาะลึกถึงช่วงเวลาการส่งเสริมการขายของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Big C, Robinsonและ Central & Zen ฉลาดซื้อสำรวจตลาดนัดสวนจตุจักร จากการสำรวจการติดป้ายราคาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในตลาดนัดสวนจตุจักร (สำรวจเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2552) พบว่ามี 7 ร้านที่มีการติดป้ายราคาที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การเขียนป้ายราคาขนาดใหญ่ในราคาถูก เห็นชัดเจนเพียงป้ายเดียวในร้าน แต่ราคานั้นไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทั้งร้าน (พบ 5 ร้าน) 2. การเขียนป้ายราคาขายผลไม้ที่ราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยเขียนคำว่า “ครึ่ง” ด้วยตัวอักษรขนาดเล็กมาก และคำว่า “โล 15” ขนาดใหญ่มาก (พบ 2 ร้าน) 3. รถเข็นขายสตรอเบอรี่สดใส่แก้ว เขียนป้ายราคาด้วยเลข “20” เมื่อเข้าไปถามราคาผู้ขายจะรีบตักพริกเกลือราดสตรอเบอรี่ในแก้ว พร้อมกับบอกราคาว่า 40 บาท เมื่อสอบถามก็จะบอกว่า “20 คือราคาต่อขีด ในแก้วนี้ 2 ขีดก็ 40 บาท” รถเข็นขายมะม่วงหั่นใส่ถุงพร้อมน้ำจิ้ม ติดราคา “10” เมื่อซื้อ มะม่วง 1 ถุงคนขายคิดราคา 30 บาท เมื่อสอบถามผู้ขายบอกว่า 10 บาท คือราคาน้ำจิ้ม ถ้าซื้อมะม่วงด้วยก็ 30 บาท (พบ 2 ร้าน) *กรณีร้านสตรอเบอรี่ที่ตลาดนัดจตุจักรนี้ มีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกเอาเปรียบ บางรายพยายามจะคืนสินค้าและเอาเงินคืนผู้ขายก็จะแสดงสีหน้าไม่พอใจและต่อว่าผู้ซื้อเสียงดังเพื่อให้ผู้ซื้ออาย และไม่กล้าต่อรอง(*อ้างอิงจาก http://babyfancy.com/printer_friendly_post.asp?TID=58138) 4. ร้านขายเสื้อผ้าที่คนขายมักจะบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” อยู่เสมอ แม้ไปสำรวจครั้งที่ 2 ร้านเดิมก็ยังบอกว่า “ลดราคา วันสุดท้าย” (พบ 1 ร้าน)ดังนั้นการซื้อสินค้าทุกครั้งเราควรถามราคาพ่อค้าแม่ค้าให้แน่ใจก่อนจะซื้อสำหรับใครที่ซื้อสินค้าเพราะหลงกลเจ้าป้ายราคาแบบนี้แล้วอยากคืนสินค้า ฉลาดซื้อแนะนำว่า ถ้าการเขียนป้ายราคานั้นทำให้เราเข้าใจผิดอย่างเจตนา ก็เจรจาขอคืนสินค้ากับแม่ค้าโดยตรงเลย เรามีสิทธิคืนได้ เพราะเขาทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแน่นอน ถ้าเขาไม่ยอม และเราไม่แน่ใจว่าเขาผิดหรือไม่ เก็บหลักฐานไว้แล้วโทรไปปรึกษากับกรมการค้าภายใน เพื่อดำเนินการร้องเรียนได้เลยค่ะที่สายด่วน 1569   ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จากการสำรวจการส่งเสริมการตลาดของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ BigC, Robinson และ Central&Zen ที่มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตลอดทั้งปี 2552 โดยเลือกเฉพาะการส่งเสริมการขายในช่วงเวลาพิเศษต่างๆ ดังนี้     8 วิธีปฏิบัติ เมื่อเจอป้ายโปรโมชั่น1. นับ 1- 10 ก่อน พร้อมถามตัวเองว่าสินค้านั้นมีความจำเป็นต่อเราหรือไม่ ถ้ายังตอบไม่ได้ นับถึง 20 เลยก็ได้ 2. สำรวจเงินในกระเป๋าให้มั่นใจก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะยังมีเงินใช้ไปจนตลอดสิ้นเดือน 3. ตั้งงบประมาณในการซื้อสินค้าไว้ก่อน ถ้าราคาสินค้าเกินกว่านั้น ตัดใจก่อนดีกว่า 4. คำนวณดูว่าลดราคาครั้งนี้ ลดกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่าไหม 5. เช็คดูสภาพสินค้ากันก่อนดีกว่า สภาพยังดีอยู่หรือเปล่า ตรวจดูทุกซอกทุกมุม อย่าลืมดูวันผลิตและวันหมดอายุด้วย 6. ถ้าเป็นสินค้าที่มีขายหลายๆ ร้าน ยอมเสียเวลาสักนิดไหม เดินไปดูราคาที่ร้านอื่นก่อน ถ้าถูกกว่า คุ้มกว่าจริง ค่อยกลับมาซื้อ 7. เห็นป้ายโปรโมชั่นติดอยู่ไม่ตรงกับสินค้าที่จะซื้อ สอบถามพนักงานให้มั่นใจก่อนว่าสินค้าที่จะซื้ออยู่ในโปรโมชั่นด้วยหรือไม่ 8. ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลดราคา แล้วอยากจะซื้อจริงๆ แนะนำให้ไปซื้อในวันแรกๆ ของการลดราคา เพราะจะมีโอกาสเลือกสินค้ามากกว่าและได้สินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าวันหลังๆ ค่ะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 สินค้าตราห้าง..ราคา “ถูก”นี้ ใครได้? ใครเสีย?

เดี๋ยวนี้เวลาเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าไม่ว่าจะเป็นห้างฯ ไหนๆ “สินค้าตราห้าง” หรือเรียกกันอีกชื่อว่า“สินค้าเฮาส์แบรนด์” (House Brand) ที่ผลิตและจำหน่ายเฉพาะในห้างฯ นั้นๆ เช่น ยี่ห้อบิ๊กซี คาร์ฟูร์ เทสโก้ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท ฯลฯ ก็มักวางขายให้เราเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และราคาก็มัก “ถูก” ล่อตาล่อใจยิ่งนัก ผู้เขียนเองยังอยากลองซื้อสินค้าตราห้างมาใช้หลายครั้ง เผื่อจะช่วยประหยัดตังค์ในกระเป๋าอันบางๆ ลงบ้าง(ฮา) แต่ติดอยู่ที่รู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าสักเท่าไร สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ควักตังค์ซื้อสินค้าตราห้างมาลองใช้สักทีคราวนี้ได้โอกาส บก. บอกให้ไปซื้อสินค้าตราห้างมาทดสอบคุณภาพดู ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอพาคุณผู้อ่านช้อปปิงตระเวนซื้อสินค้าตราห้างตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มาพิสูจน์กันว่าสินค้าตราห้างจะมีคุณภาพ “ดี” สักแค่ไหน แถมตีตั๋วฟรีลัดเลาะข้ามฟากไปฟังเสียงจากฝั่งของผู้ผลิต ผู้ประกอบการห้างฯ และมุมมองนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง ให้รู้ไปว่าสินค้าตราห้างที่ว่าขายได้ในราคาถูกนั้น มัน “ถูก” มาจากปัจจัยอะไร? ส่งผลดีผลเสียต่อใคร? อย่างไร? ถ้าพร้อมแล้วไปตะลุยหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย.....   คุณภาพไม่ต่าง แต่ราคาได้ใจผู้บริโภค ฉลาดซื้อสำรวจพฤติกรรมการซื้อและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าตราห้างของผู้บริโภคในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งหมด 295 คน เป็นหญิงร้อยละ 72.9 ชาย ร้อยละ 27.1 อยู่ในช่วงอายุ16 - 25 ปี ร้อยละ48.5 ช่วงอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 34.2 มีผู้บริโภคที่ใช้สินค้าตราห้างมากถึงร้อยละ 80.7 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษชำระ ผงซักฟอก เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ฯลฯ เหตุผลที่ใช้สินค้าตราห้าง “ราคา” เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อ คิดเป็นร้อยละ 73.6รองลงมาคือ ปริมาณ ร้อยละ 23.4 และคุณภาพร้อยละ 18 เปรียบเทียบคุณภาพกับราคาของสินค้าตราห้างที่ใช้ ร้อยละ 35.9 ระบุว่าคุณภาพดีสมราคา ในขณะที่ร้อยละ 29.8 บอกว่าคุณภาพต่ำสมราคา เคยเจอปัญหาเกี่ยวกับการใช้สินค้าตราห้างหรือไม่ ร้อยละ 55.9 บอกไม่เคย อีกร้อยละ 21 เคย ปัญหาที่พบ เช่น วุ้นเส้นไม่เหนียวนุ่ม บรรจุภัณฑ์ชำรุด มีแมลงในขนมปัง น้ำยาซักผ้าเจือจางต้องใช้ปริมาณมาก ฯลฯ พบปัญหาแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 14.6 ของผู้เคยเจอปัญหาเลิกใช้สินค้าตราห้าง ร้อยละ 7 ใช้สิทธิร้องเรียน อีกร้อยละ 5.8 เฉยๆ ไม่ทำอะไร สาเหตุที่สินค้าตราห้างมีราคาถูก ร้อยละ 51.5 คิดว่าเพราะไม่มีต้นทุนโฆษณาร้อยละ 27.5 คิดว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ร้อยละ 17.6 คิดว่าเป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ต่อข้อคำถาม “คุณคิดว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปมีคุณภาพต่างกันหรือไม่ อย่างไร” ร้อยละ 27.8 คิดว่าไม่ต่างกัน ร้อยละ 62.7 บอกว่าสินค้าทั่วไปมีคุณภาพดีกว่าสินค้าตราห้าง มีเพียงร้อยละ 6.8 เท่านั้น ที่เห็นว่าสินค้าตราห้างมีคุณภาพดีกว่าสินค้าทั่วไป แสดงว่า แม้ราคาจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้สินค้าตราห้างก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้ามากเท่าไรนัก ฉลาดซื้อทดสอบฉลาดซื้อสุ่มทดสอบสินค้าตราห้างและไม่ห้างทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ถ่านอัลคาไลน์ AA, เมล็ดถั่วเขียว, กระดาษทิชชู, สมุดปกอ่อน และไม้จิ้มฟัน เป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ของผู้ค้าปลีกทั้งหมด 6 ราย ได้แก่บิ๊กซี คาร์ฟูร์ โลตัส ท็อปส์ เดอะมอลล์ วัตสัน (สำรวจแล้วบางรายก็ไม่มีสินค้าบางชนิด) และเป็นสินค้าทั่วไปในท้องตลาดอีก 2 ยี่ห้อส่วนเหตุผลที่นำสินค้าเหล่านี้มาทดสอบ เพราะเป็นสินค้าที่หาวิธีทดสอบได้ไม่ยาก ผู้บริโภคอย่างเราๆก็สามารถทดสอบเองได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่อาจดูดีหน่อยเพราะฉลาดซื้อเราเห็นว่าผู้บริโภคหลายคนอาจมองข้ามหรือไม่ใส่ใจอะไรมากนักกับคุณภาพของสินค้าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งคงไม่มีใครมานั่งนับเสี้ยนไม้จิ้มฟัน ชั่งเมล็ดถั่วเขียว วัดความยาวกระดาษทิชชู ฯลฯแต่เรื่องเล็กๆ แบบนี้นี่แหละที่เราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เราจะได้รู้ว่าผู้ผลิตเขาจะซื่อสัตย์หรือเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ กับผู้บริโภคหรือไม่ ผลทดสอบ ถึงเวลามาปฏิบัติการล้วงลับหาคำตอบกันแล้วว่าสินค้าตราห้างกับสินค้าทั่วไปที่เราไปเลือกซื้อมา ดูกันว่าการทดสอบและผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง เชิญติดตาม... - การทดสอบถ่านอัลคาไลน์ AA วิธีนี้ง่ายๆ แค่อาศัยความอดทนในการรอๆๆ แล้วก็รอจนกว่าไฟฉายจะดับ โดยนำถ่านมาใช้กับไฟฉายใหม่เปิดพร้อมกันทั้งหมด 7 ยี่ห้อในห้องสว่าง ยึดเวลาที่ไฟฉายดับครั้งแรกเป็นหลัก และนำเวลามาหาค่าเฉลี่ยถ้าราคา 1 บาทจะใช้ได้นานกี่นาที เราพบว่า ยี่ห้อที่ใช้งานกับไฟฉายได้นานที่สุดคือ เทสโก้ เวลา 4.18 ชม. ยี่ห้อที่ซื้อ 1 บาทแล้วคุ้มก็ยังเป็นเทสโก้ 21.06 นาที ส่วนยี่ห้อที่ใช้งานได้น้อยสุด คือ พานาโซนิค 10.24 นาที (ฉลาดซื้อทดสอบใช้ถ่านกับงานเบาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้งานหนัก เช่น กล้องถ่ายรูปที่ต้องชาร์จพลังงานในการถ่ายแต่ละรูป การทดสอบแต่ละวิธีจึงอาจให้ผลต่างกันได้ เช่น ถ่านเทสโก้ ใช้กับไฟฉายได้นาน อาจใช้กับกล้องถ่ายรูปได้ไม่นาน ทางกลับกันถ่านวัตสัน ใช้กับไฟฉายได้ไม่นาน แต่อาจใช้กล้องถ่ายรูปได้นาน เป็นต้น ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่า ความคงทนของถ่านขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานด้วยนะคะ) - การทดสอบกระดาษทิชชู หากใครยังพอจำได้ ฉลาดซื้อฉบับที่ 97 เราเคยทดสอบความยาวและคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูไปแล้ว คราวนี้ก็เช่นกันแต่เราทดสอบกับสินค้าตราห้างด้วย โดยวัดความยาวหาค่าเฉลี่ยยี่ห้อละ 3 ม้วน และทดสอบคุณสมบัติการกระจายตัวในน้ำเพื่อดูความเปื่อยยุ่ย ซึ่งจะนำกระดาษทิชชูเป็นแผ่นมาแช่น้ำ 30 วินาที แล้วใช้นิ้วชี้สอดลงใต้แผ่นกระดาษดึงขึ้นมาด้วยแรงพอประมาณ เพื่อดูผลรอบแรกว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็แช่น้ำต่อไปอีก 30 วินาที ก่อนจะดึงขึ้นมาดูผลอีกครั้งว่ากระดาษทิชชูขาดรุ่ยหรือไม่ ผลออกมาเรื่องความยาวต้องยกนิ้วให้ผู้ผลิต เพราะทุกยี่ห้อมีความยาวมากกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก ยี่ห้อที่มีความยาวเกินมามากที่สุด ได้แก่ พริมโรส วัดได้ 20.67 ม. เกิน 3.67 ม. แต่ความเปื่อยยุ่ยนั้นมีทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่ ยี่ห้อที่แช่น้ำ 30 วินาทีแรกเมื่อดึงขึ้นมาก็เริ่มแตกรุ่ย คือ ซิลค์ คอตตอน, โฮมเฟรชมาร์ท Economy และเทสโก้ ส่วนยี่ห้อที่เริ่มแตกรุ่ยเมื่อดึงขึ้นมาครั้งที่2 คือ บิ๊กซี ขณะที่พริมโรส, คาร์ฟูร์, ออริต้า และท็อปส์นั้น แม้จะแช่น้ำ 2 ครั้งก็ยังเป็นแผ่นอยู่ - การทดสอบสมุดปกอ่อน อาศัยวิชาเลขเล็กน้อยในการนับจำนวนแผ่นและชั่งขนาด แกรมของกระดาษสมุด โดยการทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อใช้กระดาษรูปวงกลม มีพื้นที่ 95 ตร.ซม. นำไปชั่งและอ่านค่าที่ได้ (ขนาดแกรมที่ระบุไว้บนปกสมุดคือ น้ำหนักของกระดาษ เช่น ระบุว่า 60 แกรม ก็หมายถึงกระดาษหนัก 60 กรัมต่อ 1 ตร.ม. ก่อนนำกระดาษไปชั่งเราจึงย่อสัดส่วนลง อาจเป็นรูปวงกลมหรือรูปสี่เหลี่ยมที่ขนาดต้องเท่ากันทุกด้าน (กว้างxยาว) เช่น 10x10 ซม.) ผลออกมา ยี่ห้อที่มีขนาดแกรมน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ คาร์ฟูร์, อนุรักษ์ไทย, และลายไทย น้อยกว่า 5 แกรม ส่วนจำนวนแผ่นกระดาษนั้น ทุกยี่ห้อมีครบตามจำนวนที่ระบุ แต่ต้องรวมปกด้วยนะ ถ้าไม่นับก็จะขาดไป 2 แผ่น ยกเว้นเทสโก้แวลูที่ไม่ต้องนับรวมปก - การทดสอบเมล็ดถั่วเขียว ง่ายๆ แค่ชั่งน้ำหนักถั่วเขียวเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลาก และสุ่มทดสอบประมาณ 1 ถ้วย เพื่อคัดดูเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์มีรู/ครึ่งซีก และดูสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมา เช่น เศษดิน เมล็ดถั่วเขียวยี่ห้อที่มีปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก คือ ท็อปส์ นอกนั้นมีปริมาณมากกว่าส่วนยี่ห้อที่พบเมล็ดไม่สมบูรณ์มากสุด มีรูบ้าง ครึ่งซีกบ้าง คือ เทสโก้ จำนวน 163 เมล็ด และพบเศษดินขนาดเล็กปะปนมา 2 ยี่ห้อ คือ เทสโก้กับข้าวทอง - การทดสอบไม้จิ้มฟัน แค่นับไม้จิ้มฟันๆ ธรรมดา...แต่ก็ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เล่นเอาผู้นับตาเหลือกตาลายถึง 3 วัน 3 คืนมาแล้ว โดยนับจำนวนไม้จิ้มฟันทั้งหมด 7 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 2 แพ็ก นำมาเฉลี่ยเทียบกับปริมาณที่ระบุไว้ในฉลากและนับดูไม้จิ้มฟันที่มีเสี้ยน, ไม้แตกปลาย, ไม้ครึ่งซีก รวมทั้งวัดหาค่าเฉลี่ยความหนาบางของไม้จิ้มฟันโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ งานนี้ภูมิใจเสนอผล พบไม้แตกปลาย,เสี้ยนในทุกยี่ห้อ โดยคาร์ฟูร์พบมากที่สุด 163 ก้าน (จาก480ก้าน) และบิ๊กซี 120 ก้าน (จาก360 ก้าน) ส่วนยี่ห้อที่พบปริมาณไม้จิ้มฟันน้อยกว่าที่ระบุไว้ คือ ไผ่แดง มี 347 ก้าน(ระบุไว้ 360 ก้าน) ยี่ห้ออื่นแม้จะมีปริมาณมากกว่าที่ระบุก็ตาม แต่เมื่อคัดไม้แตกปลาย/เสี้ยนออกแล้ว เกือบทุกยี่ห้อเหลือปริมาณน้อยกว่าที่ระบุไว้เช่นกัน ได้แก่ คาร์ฟูร์, บิ๊กซี, โลตัส,ไผ่แดง ยกเว้นยี่ห้อแบมบีบู, ท็อปส์และโฮมเฟรชมาร์ท สรุปแล้วสินค้าตราห้างก็ไม่ได้มีคุณภาพแย่ตามราคาที่ถูกลงของมัน และบางทีคุณภาพก็อาจไม่ต่างกับสินค้าทั่วไปมากมายนัก แต่ผลนี้เป็นเพียงกลุ่มสินค้าที่สุ่มทดสอบเท่านั้น เพราะสินค้าแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็มีให้เราเลือกซื้อเลือกหากันมากมาย ท้ายที่สุดสินค้านั้นจะดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับการใช้งาน ความต้องการและที่สำคัญ คือการตัดสินใจของผู้บริโภคแต่ละคนนั่นเอง --------------------------------------------------------------------------------------------- ข้อสังเกต • ไม้จิ้มฟันยี่ห้อไผ่แดงจะมีขนาดใหญ่และค่อนข้างเท่ากันทุกก้าน ส่วนไม้จิ้มฟันยี่ห้ออื่นมีขนาดเล็กๆ บางๆ ไม่เท่ากัน สงสัยคงเพื่อให้ได้จำนวนมากๆ อย่างยี่ห้อคาร์ฟูร์ก่อนจะนำ มาหาค่าเฉลี่ยนั้น จากที่ระบุไว้ 480 ก้าน/แพ็ก นับจริงมีมากถึง 532 ก้าน หักลบไม้เสี้ยนไปก็เหลือแค่ 344 ก้าน• ฉลาดซื้อเพิ่งรู้เหมือนกันว่าขนาดกระดาษสมุดนั้น เจ้าหน้าที่โรงพิมพ์ที่ช่วยทดสอบเขาบอกว่าโดยทั่วไปผู้ผลิตเขาสามารถเผื่อขาดเผื่อเกินได้ 5 แกรม อย่างนี้ไม่รู้ว่าใครได้  เปรียบเสียเปรียบ แต่ที่รู้แน่ๆ ถ้าไม่ “เกิน” ก็ไม่ควรจะ “ขาด” ใช่หรือไม่?• สมุดส่วนใหญ่จะระบุจำนวนกระดาษไว้บนปกให้รู้ว่ากี่แผ่น แต่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่า “รวมปก” ด้วย มีเพียงยี่ห้อเทสโก้แวลูที่ระบุไว้ให้เรารู้ว่า “รวมปก”• สมุดยี่ห้ออนุรักษ์ไทยไม่ได้เป็นสินค้าตราห้าง สงสัยราคาจะแพงที่ปกซึ่งเป็นกระดาษอาร์ตพิมพ์สี จำนวนแผ่นกระดาษข้างในก็เลยมีน้อยกว่ายี่ห้ออื่น• ขณะสำรวจเลือกซื้อ สินค้าตราห้างส่วนใหญ่มีตำแหน่งอยู่บนชั้นวางในระดับสายตาใกล้ๆ กับสินค้าแบรนด์ดังๆ โดยโทนสีของบรรจุภัณฑ์ หีบห่อจะดูละม้ายคล้ายคลึงกัน ราคา“ถูก” ที่ใคร?ฉลาดซื้อเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมสินค้าตราห้างส่วนใหญ่มักมีราคาถูก บ้างก็ว่าไม่มีต้นทุนโฆษณา บ้างก็ว่าวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ผู้ผลิตถูกกดขี่จากห้างค้าปลีกบ้าง ว่ากันไปสารพัดแง่มุม ข้อมูลจากนิตยสารผู้จัดการรายวันเคยนำเสนอผลศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงผลกระทบจากการผลิตสินค้าตราห้างว่า ผู้ผลิตรายใหญ่จะต้องทุ่มงบฯ เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคภักดีต่อยี่ห้อของตัวเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตรายย่อยที่มักรับผลิตสินค้าตราห้างก็อาจมีรายได้จากการผลิตสินค้าขาย โดยที่ไม่ต้องทำการตลาดเอง แต่ผู้ผลิตที่มีสินค้าของตัวเองอยู่แล้วหากรับผลิตสินค้าตราห้างอีกก็เท่ากับเป็นการผลิตสินค้าแข่งกับสินค้าตัวเอง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็คือ ถ้าห้างค้าปลีกมีคู่แข่งน้อยลงหรือคู่แข่งหมดไป ก็อาจเกิดอำนาจผูกขาดทำให้เป็นผลเสียต่อผู้บริโภคได้ ฉลาดซื้อเราจึงสอบถามไปยังผู้ผลิตและผู้ประกอบการห้างค้าปลีก มาดูกันสิว่าพวกเขาจะให้คำตอบแบบ “ตรงๆ” กับเราอย่างไรบ้าง เสียงที่ “ไม่ค่อยได้ยิน” จากผู้ผลิต• การผลิตสินค้าตราห้างได้รับผลกระทบหรือไม่?“ทำธุรกิจก็ต้องทำใจ 50 - 50” ผู้ผลิตรายหนึ่งให้สัมภาษณ์และว่า บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ บางธุรกิจอาจไม่ได้รับ แล้วแต่ประเภทการแข่งขันสินค้า “ธุรกิจอื่นๆ ผมไม่รู้นะว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าเป็นสินค้าที่แข่งขันกันสูงก็อาจได้รับผลกระทบ สำหรับผมเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิตสินค้าอยู่แล้ว ก็เลยไม่เสียเปรียบ แต่ก็เคยถูกกดดันเรื่องราคาเหมือนกันคือ บางครั้งถูกขอลดราคาลงเรื่อยๆ ถูกมากๆ แบบรับไม่ได้ ทางเรามีสิทธิปฏิเสธนะ ถ้ารับไม่ไหวจริงๆ เราจะปฏิเสธ ก็เจรจาตกลงกันได้ ไม่เสียเปรียบอะไร” • “มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน”ผู้ผลิตรายนี้บอกว่า “ทางเราชอบผลิตสินค้าขายให้กับห้างฯ เพราะมีความปลอดภัยด้านการเงิน และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ห้างฯ เขาจะเข้ามาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา มันทำให้เราสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและผู้บริโภคก็มั่นใจได้ มันเป็นธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน” • แล้วสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพล่ะ?“เราควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน และไม่ได้ตั้งใจให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น สินค้าบางตัวอาจมีตำหนิบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลดีมันมากกว่าผลเสีย ผู้บริโภคก็ไม่เสียหายอะไรมาก เราทำสุดความสามารถ ทำให้ลูกค้าซื้อไปแล้วจะต้องไม่ขาดทุน” • “ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว...” นี่คือคำบอกกล่าวของผู้ผลิตรายนี้ที่แอบรู้สึกหวาดกลัวคือ การว่าจ้างผู้ผลิตจากต่างประเทศของห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก อาจทำให้ต่างชาติกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของผู้ผลิตภายในประเทศได้ “เรื่องผูกขาดน่ากลัวมาก ถ้าอนาคตห้างฯ กลายเป็นหนึ่งเดียว เขาอาจติดต่อกับต่างประเทศจ้างผู้ผลิตเข้ามาแข่งกับผู้ผลิตในประเทศเราได้” เสียงของผู้ผลิตอีกรายหนึ่งกล่าวถึงการผลิตสินค้าตราห้างคล้ายๆ กันว่า เป็นผลดีกับผู้บริโภคด้านราคา เพราะบางคนต้องการของถูก ส่วนผลกระทบต่อผู้ผลิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจสินค้าและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันเช่นกัน แต่ผู้ผลิตรายเล็กๆ คงเสียเปรียบเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าของตนแข่งขันได้ แต่คำตอบที่ได้รับจากผู้ผลิตรายนี้กลับตรงข้ามกับรายแรก คือ การกำหนดเงื่อนไขในการผลิตสินค้าของห้างฯ ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบมากกว่า “แน่นอน เราถูกบีบกดดันเรื่องข้อกำหนดในการผลิตสินค้า ทางห้างเขาจะเป็นผู้กำหนดควบคุมการผลิตตามที่เงื่อนไขที่เขาวางไว้ อย่างบางครั้งอยากได้คุณภาพดีแต่จะเอาราคาถูก เราก็แย่สิ ทางเราก็มีมาตรฐานการผลิตเกรดเดียวกันหมดอยู่แล้ว” อีกฟากฝั่งจากผู้ประกอบการห้าง คุณมนธชา สุดอำพัน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกิจการบรรษัทสื่อสารองค์กร ของเทสโก้ โลตัส• สินค้าราคาถูกมีปัจจัยมาจากอะไร?คุณมนธชาบอกว่า 3 ปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คือหนึ่ง ไม่มีค่าการทำโฆษณาเหมือนสินค้าที่เห็นทั่วๆ ไปในท้องตลาด เนื่องจากมีร้านเป็นของตนเอง เวลาคนเดินเข้ามาในห้างฯ คนก็เห็นสินค้า จึงไม่จำเป็นต้องโฆษณา สอง ไม่มีค่าวางสินค้าบนชั้นวาง ซึ่งโดยปกติการจำหน่ายสินค้าทั่วไปจะมีเรื่องของค่าจัดตำแหน่งในจุดที่น่าสนใจเพื่อให้ได้อยู่จุดที่ดีกว่าคู่แข่ง สาม สินค้าไม่ได้ผ่านคนกลาง เพราะผลิตโดยตรงจากโรงงานไม่มีการส่งต่อกันหลายทอด ทำให้ราคาต่อหน่วยถูกกว่าสินค้าทั่วไป • บางคนคิดว่าราคาถูกเพราะวัตถุดิบคุณภาพต่ำ?“ถ้าคุณภาพไม่ดีและผู้บริโภคไม่พึงพอใจ มันไม่ได้เสียเฉพาะสินค้าตัวนั้น แต่มันเสียไปทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่เราระวังมาก เราจะช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเรื่องของการทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทั้งเรื่องเทคนิคการผลิต การทดลองสินค้า เรามีการตรวจโรงงานที่ผลิตสินค้าให้เราเป็นประจำทุกๆ ปีอยู่แล้ว มันทำให้เรามั่นใจว่าคุณภาพสินค้าของเราดี” • แต่ผู้ผลิตบางรายไม่ชอบการกำหนดเงื่อนไข?“มันต้องอยู่ที่การยอมรับตรงนี้ด้วย เพราะว่าผู้ผลิตหลายๆ รายก็ยินดี เพราะว่าตัวของเขาเองก็มีขั้นตอนการผลิตที่มีการรับรองคุณภาพอยู่แล้ว เราจะกรองโรงงานก่อนที่จะให้ผลิต ถ้ามาตรฐานได้อยู่แล้ว อาจจะปรับอีกนิดหนึ่งให้สามารถผลิตให้ดีขึ้น หรือมาตรฐานดีอยู่แล้วก็แค่ผลิตเพิ่มเท่านั้นเอง” • กดขี่ผู้ผลิต?“ถ้าเข้มงวดน่ะใช่ คิดว่ามันน่าจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตมากกว่า ทำให้เขาสามารถใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น,,,หมายความว่าโรงงานเขาสามารถผลิตงานได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ” • เคยประสบปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่“มีบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องของคุณภาพหรือความที่ไม่ปลอดภัย เช่น เบเกอรี่ อย่างครัวซองส์ อาจจะอบสีคล้ำหรือสีอ่อนไป ผู้บริโภคก็จะบอกว่าไม่น่าทานหรือว่าอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่เป็นไปตามสเป็ก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกคัดออกไปก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค วิธีการจัดการก็คือว่า เราจะคัดกรองให้เรียบร้อยก่อนอยู่บนชั้นวาง ถ้ามันหลุดรอดมาก็จะรีบจัดการดึงออก หรือถ้าผู้บริโภคไม่พึงพอใจในสินค้าก็เอามาคืนได้ในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูที่โรงงานด้วย เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดซ้ำอีก” • ทิศทางและแนวโน้มของการผลิตสินค้าตราห้างอนาคตธุรกิจของการผลิตสินค้าตราห้างจะเป็นอย่างไรนั้น คุณมนธชาบอกว่า “จะต้องดูตลาดว่าความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตรงไหน คงจะขยายไปตามความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า สินค้าตัวไหนที่ผลิตออกมาแล้วขายไม่ดีหรือผู้บริโภคอาจจะไม่นิยมก็จะเลิกผลิตเหมือนกัน” คุณฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ของบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้สินค้าตราห้างมีราคาถูก คุณฤดีให้คำตอบเช่นเดียวกับโลตัสว่า “เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายงบด้านการตลาด เพราะอาศัยแบรนด์ของทางห้าง จึงทำให้สินค้ามีราคาถูกลง 20-30 เปอร์เซ็นต์” ส่วนที่หลายคนคิดว่าอาจเป็นเรื่องของวัตถุดิบคุณภาพต่ำนั้น คุณฤดีบอกว่า “ไม่ค่ะ เพราะหากมองโดยภาพกว้างแล้ว สินค้าพวกนี้มันจะเป็นโลโก้ของบริษัท มันน่าจะเป็นตัวการันตีของสินค้าพวกนี้ไปในตัว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน”• กดขี่หรือสร้างผลกระทบให้กับผู้ผลิต?“คิดว่ามันไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยนะคะ ในตัวของซัพพลายเออร์เราจะมองด้านเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องของกำลังการผลิต อย่างโรงงานหนึ่งอาจจะมีกำลังการผลิตร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาอาจจะขายภายใต้แบรนด์ของเขาได้เพียงแค่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็ผลิตสินค้าตราห้าง มันน่าจะทำให้เขาสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ มันจึงไม่น่าจะมีปัญหานะคะ” • ผู้ผลิตบางรายบอกว่าถูกกดดันเงื่อนไขมากเกินไป“เหตุผลที่ทางห้างต้องตรวจสอบคุณภาพในการพัฒนาสินค้าตราห้าง เป็นเพราะเรามองว่าสินค้าตราห้างเป็นสินค้าที่ลูกค้าจับตามองอยู่แล้ว การผลิตสินค้าตราห้างให้ลูกค้ามีความชอบหรือมีความไว้วางใจ มันจะต้องมากกว่าเนเชอรัลแบรนด์ด้วยความที่มันไม่ได้ทำการตลาด เราต้องการสร้างความพึงพอใจในสินค้าตราห้างให้กับลูกค้า” • ที่ผ่านมามีปัญหาหรือมีเรื่องร้องเรียนหรือไม่?“ไม่ค่อยมีนะคะ มันเป็นเรื่องของแนวทางป้องกันมากกว่า เพราะสินค้าตราห้างมันเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทอยู่แล้ว แนวทางแก้ไขของเราคือ จะตรวจสอบทันที เราเน้นความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ บางอย่างถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนให้ เราจะดูว่าปัญหามันเกิดตรงไหน เกิดจากแหล่งผลิตหรือเปล่า แต่เรามีการดูแลควบคุมที่เคร่งครัดอยู่แล้ว ปัญหาไม่ค่อยเกิดขึ้น” ขอบคุณภาพจากhttp://www.apacnews.net • ผูกขาดในอนาคต?“คิดว่าไม่น่าจะถึงวันนั้น คนไทยเป็นคนที่ชอบความหลากหลาย จะเห็นว่าสินค้าแต่ละชนิดมีซัพพลายเออร์หลายเจ้า แต่เรามองเพียงแค่ว่าเราอยากเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้า”• แนวโน้มทิศทางของการผลิตสินค้าตราห้าง?“อยากเน้นเซ็กเมนต์ให้มันเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามองว่ามีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือ ต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี คุณภาพสูง” มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ รศ.หงษ์ฟ้า ทรัพย์บุญเรือง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)• ผลกระทบต่อผู้ผลิต?อาจารย์หงส์ฟ้ากล่าวเช่นเดียวกันกับผู้ผลิตว่า ผลกระทบนั้นขึ้นอยู่กับการแข่งขันแต่ละธุรกิจสินค้า “บางรายรับจ้างผลิต อาจจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิตด้วยกันเอง เพราะผู้ผลิตสามารถเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ มาผลิตสินค้า เมื่อจำนวนผลิตมากขึ้นราคาก็ต้องถูกลง เขาจึงสามารถต่อรองลดราคาให้กับผู้ที่มาว่าจ้างได้ มันน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ยกเว้นว่าผู้ผลิตรายนั้นเป็นเจ้าของเดิมที่ขายสินค้าตนเอง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” • ผลกระทบในระยะยาวต่อผู้บริโภค?“อะไรก็ตามที่เป็นไปโดยกลไกตลาดและมีการแข่งขันย่อมมีเรื่องราคาและคุณภาพของสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง หากวันใดที่ห้างสามารถครองตลาดหรือกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาผลิตแข่งได้ตอนนั้นผู้บริโภคจะเริ่มเสียเปรียบ” •แสดงว่าอาจเกิดการผูกขาดได้ในอนาคต?“ไม่คิดว่าจะถึงวันนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าอุปโภคบริโภครายวัน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ เป็นอะไรต่างๆ ลักษณะของสินค้าไม่สามารถที่จะผูกขาดด้วยตัวมันเองได้ ไม่เหมือนกับน้ำมันหรือเหมืองแร่ที่มันผูกขาดและตั้งราคาได้ และหากห้างตั้งราคาเพิ่มทำให้ขายสินค้าได้กำไรดีจริงๆ ก็จะมีผู้ค้ารายย่อยเกิดขึ้นทันทีเข้ามาสู้แข่งขันกันอีก” • “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร”หากจะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่หลายคนหวั่นวิตก อาจารย์หงส์ฟ้าบอกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ถ้าข้อมูลข่าวผู้บริโภคไม่ชัดเจน คลุมเครือ ถูกหลอกโดยการโฆษณาว่าสินค้าชนิดนี้อร่อยมาก กินแล้วสุขภาพดี ในความจริงตัวต้นทุนสินค้าอาจแค่ 5 บาท แล้วขาย 500 บาท มันคือข้อมูลข่าวสารหลอก ถ้าคนรู้ว่าราคา 500 แต่ต้นทุน 50 บาท ก็จะมีผู้ผลิตเข้ามาแข่ง และผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้ารายเดิม ราคาจะสูงอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะข้อมูลข่าวสารเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งสคบ.ควรที่จะให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้” ลองมาดูอีกแง่มุมหนึ่งที่เราอาจไม่สามารถหาคำตอบได้จากผู้ผลิตกับอาจารย์ท่านนี้ รศ.ดร.สมดี หงส์ไพศาลวิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. • “ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย...ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย” อาจารย์สมดีบอกว่า อำนาจและความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าสามารถผลิตสินค้าต่างๆ สู่ตลาดและกำหนดราคาให้ถูกได้ เมื่อสินค้ามีราคาถูกในระยะสั้นๆ ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ยิ่งถูก ยิ่งซื้อ ยิ่งทำให้ฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมห้างสรรพสินค้าผลิตสินค้าต่างๆ ออกมามาก ท้ายที่สุดผู้บริโภคก็ตาย • “เกิดการเอาเปรียบคนงาน...”“เมื่อห้างสรรพสินค้าบีบซัพพลายเออร์ให้ผลิตสินค้าที่มีราคาถูก ผู้ผลิตก็ไปบีบแรงงาน เกิดการเอาเปรียบคนงาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตลงอีกที ทำให้แรงงานมีรายได้กำไรน้อย สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนกันหมด เกิดการเอารัดเอาเปรียบในรูปของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ส่งผลทั้งในระยะสั้นและยาว”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 96 ผลสำรวจค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาล

ปิติ วาสนาดำรงดี ผลสำรวจค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาล“สมัยนี้ ค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาลเอกชนที่ไหนๆ ก็แพงกันทั้งนั้น แล้วฉันจะส่งลูกเข้าเรียนที่ไหนดีล่ะ“ นี่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย เมื่อพบว่าบุตรหลานของพวกเขาอายุครบ 3 ขวบแล้ว ถึงเกณฑ์ที่จะส่งเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1 ค่าธรรมเนียมแพงจริงไหม และมีที่มาจากค่าอะไรบ้าง เราควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวและให้เหมาะสมกับลูกรัก แล้วรัฐบาลได้เข้ามาอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาอย่างไรเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เรามาติดตามกัน แบ่งประเภทโรงเรียนอนุบาลตามสังกัด โรงเรียนอนุบาลในบทความนี้ คือโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นระดับอนุบาล1 ขึ้นไป ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับอนุบาลอย่างเดียว หรือเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ขึ้นไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มเอกชน แบ่งออกเป็นโรงเรียนในเครือคาทอลิก โรงเรียนเอกชนทั่วไป และโรงเรียนนานาชาติ ทุกแห่งสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 2.กลุ่มโรงเรียนรัฐบาล โดยหลักแล้วแบ่งย่อยออกเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษาของกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย   ต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่กับค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก จะหมายถึงค่าเล่าเรียนรวมค่าแรกเข้า ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในวันที่ผู้ปกครองจะต้องชำระในวันมอบตัวต่อโรงเรียน (สำหรับโรงเรียนใดมีมากกว่า 2 เทอม ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกจะเพิ่มขึ้นโดยการหารเฉลี่ยเพื่อคิดแบบ 2 เทอมต่อปี)   โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก 1.โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก ในกทม. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 22,000 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 6,500 -50,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก ในตจว. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 13,500 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 3,180 -36,880 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 แห่ง)ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนในเครือคาทอลิก แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 41% ค่าแรกเข้า 27% ค่าอาหาร 17%และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 15%   โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป1.โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป ในกทม. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 20,350 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 4,000 -57,800 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 64 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป ในตจว. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 8,040 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด ฟรี -79,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 85 แห่ง)ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนเอกชน แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 31% ค่าแรกเข้า 26% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 23%และค่าอาหาร 20% สำหรับสัดส่วนห้องเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนเอกชนอยู่ในช่วง 2-3 ห้อง มีนักเรียนประมาณ 20-30 คน และมีครู 2 คน (มีครู 1 คน พี่เลี้ยง 1 คน) โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ1.โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ในกทม. มีค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ ตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 247,300 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 64,000 – 759,200 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 24 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ในตจว. มีค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,001-300,000 บาท มีค่าเฉลี่ยคือ 173,820 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 41,000 – 430,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 15 แห่ง จากทั้งหมด 30 แห่ง) ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนนานาชาติ แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 40% ค่าแรกเข้า 38% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 19%และค่าอาหาร 3%ส่วนโรงเรียนนานาชาติมีอยู่ในช่วง 1-2 ห้อง และมีนักเรียนอยู่ในช่วง 10-25 คน และมีครูในช่วง 2-3 คน (ครู 2 พี่เลี้ยง 1 คน) โรงเรียนอนุบาลของรัฐบาลโรงเรียนของรัฐบาลนั้นมีค่าธรรมเนียมการศึกษาฟรี รัฐอุดหนุน 100% ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ผู้ปกครองเสียแค่ ค่าอาหาร ค่าพี่เลี้ยงค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งรวมกันแล้วประมาณ 3,000 ต่อเทอม วิธีคิดค่าธรรมเนียมเทอมสองแบบคร่าวๆค่าธรรมเนียมเทอมสองนั้น มีวิธีคิดง่ายๆ คือ นำค่าธรรมเนียมการศึกษาแรกเข้า เทอม 1 หักค่าใช้จ่ายค่าแรกเข้า (โดยส่วนใหญ่แล้วค่าแรกเข้าคือส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมการศึกษาทางเทอม 1 กับเทอม 2) ตัวอย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก มีค่าธรรมเนียมเทอม 1 รวมค่าแรกเข้าเฉลี่ย เท่ากับ 22,000 บาท และมีสัดส่วนแรกเข้าเท่ากับ 27% หรือและเท่ากับ 5,940 บาท ดังนั้นโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายเทอม 2 ประมาณ 16,060 บาท (สัดส่วนนี้เป็นการประมาณแบบคร่าวๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละสถาบัน) โครงสร้างค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกรวมค่าแรกเข้า โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไปในกทม.พิจารณาจากค่าธรรมเนียมรวมค่าแรกเข้าในเทอมแรก โดยใช้ค่าเทอมเฉลี่ยโรงเรียนอนุบาลเอกชนในกรุงเทพฯ จำนวน 64 แห่ง สุ่มตัวแทนจากทุกเขตรวมกัน มีค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกเท่ากับ 20,350 บาท และมีค่าธรรมเนียมเทอมสองหักค่าแรกเข้าร้อยละ 30 (พิจารณาจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนเอกชน) จะเหลือค่าธรรมเนียมเทอม 2 จำนวน 14,245 บาท เมื่อรวมกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 5,896 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาแรกเข้าแท้จริง จำนวน 40,491 บาทต่อคนต่อปี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ส่วนค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน(~40%) เป็นการเก็บค่าเรียนแบบคงที่ จำนวน 4,960 บาท 2.ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นเงินอุดหนุนแบบคงที่(~60%) จำนวน 5,896 บาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานจำนวน 1,700 บาทและเงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนักเรียน 1 คนจำนวน 4,196 บาท 3.เงินค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า,ค่าอาหาร,ค่าอุปกรณ์พิเศษ,ค่าเรียนพิเศษ,ค่าบำรุงการศึกษา ฯลฯ จากข้อมูลนี้พบว่า ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมมีมากสุด ร้อยละ 73 ค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน ร้อยละ 12 เงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนร.1 คน ร้อยละ 10 เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานร้อยละ 4 ส่วนเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาลมีอัตราต่ำรวมกันมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ขณะที่ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติมจากโรงเรียนอยู่ในอัตราสูงร้อยละ 73 ถ้าโรงเรียนสามารถลดค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติมหรือคงระดับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในปีต่อไป และให้ภาครัฐเข้ามาเพิ่มสัดส่วนเงินอุดหนุนให้มากขึ้นก็จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในยามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ได้ เงินอุดหนุนของรัฐต่อโรงเรียนอนุบาลเอกชน ปัจจุบันโยบายของรัฐที่ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนอนุบาลเอกชน รายหัวนักเรียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 จากยอดรายรับต่อหัวเฉลี่ยของโรงเรียน ซึ่งทางรัฐคำนวณแล้วว่ารายได้ต่อนักเรียน 1 คนเท่ากับ 10,856 บาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 1,700 บาท* เงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนักเรียน 1 คน 4,196 บาท รวมเป็นเงินอุดหนุน 5,896 บาท โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียนอีก 4,960 บาท ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน คือ ค่าใช้จ่ายจริงสำหรับผู้เรียนทุกคนและค่าใช้จ่ายสำหรับสถานศึกษาเพื่อดำเนินงานจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนขอรับเงินอุดหนุนกว่าร้อยละ 90 จากโรงเรียนทั้งหมด ทั้งนี้โรงเรียนที่ขอรับเงินอุดหนุนจะต้องประกาศเฉพาะค่าเล่าเรียนไว้ตามที่รัฐบาลกำหนดเท่ากับจำนวน 4,960 บาท โรงเรียนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยการเพิ่มเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้ ร้อยละ 70 จากเดิม ร้อยละ 60 ช่วยลดภาระค่าเล่าเรียนของผู้ปกครองให้เหลือเพียงร้อยละ 30 และนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อปี หากทำได้จะทำให้สามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน ปีละ 4,960 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 96 เลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกรัก

ปิติ วาสนาดำรงดีกองบรรณาธิการ โรงเรียนอนุบาลในประเทศไทยมีจำนวนมากเหลือเกิน แล้วจะเลือกอย่างไรดี คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยที่ถึงเกณฑ์ต้องส่งลูกเข้าเรียนชั้นอนุบาลคงกลุ้มใจเหลือกำลัง ยิ่งเข้ายุคเศรษฐกิจไม่ดีด้วยแล้ว เหลือบไปเห็นค่าเทอมค่าธรรมเนียมที่แสนจะแพงเข้า ก็เล่นเอาหนาวไปเหมือนกัน แต่เพื่อให้ลูกรักได้สิ่งที่ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่ต้องพิถีพิถันกันหน่อย และก็ไม่ใช่ว่า ราคาแพงจะเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดคือ ลูกได้รับการดูแลที่ดี โรงเรียนสามารถเตรียมความพร้อมให้ลูกได้มากพอจะไปรับมือหรือเรียนรู้กับสังคมได้ ที่สำคัญลูกต้องมีความสุขที่ได้ไปโรงเรียนด้วยมิใช่หรือ   ฉลาดซื้อแนะ หลักในการเลือกโรงเรียนอนุบาล1. เยี่ยมชมโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเลือกโรงเรียนให้บุตรหลานของคุณจากเหตุผลเพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านหรือได้รับคำชักชวนจากเพื่อนบ้าน ถึงอย่างไรก็ดี สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นและมือคลำ เนื่องจากโรงเรียนที่คุณเลือกอาจไม่ได้ตรงตามสิ่งที่คุณต้องการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนด้วยตนเอง สิ่งต่างๆที่ควรสังเกต เรียงตามลำดับก่อน-หลัง ดังนี้การเดินทางเข้ามาโรงเรียน มีความสะดวกสบายและมีการจราจรเป็นอย่างไร มีป้ายบอกชื่อและทางเข้าโรงเรียนไหม สถานที่จอดรถสำหรับการรับส่งนักเรียนเป็นอย่างไร สภาพพื้นที่ภายนอกก่อนเข้ามาที่โรงเรียนว่ามีความปลอดภัยเพียงใดและวิธีการแลกบัตรเข้ามาโรงเรียน เป็นต้นห้องเรียน ควรไปชมการเรียนการสอนในห้อง ตรวจดูความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในห้องเรียนว่ามีพอเพียงหรือไม่ อุปกรณ์ความปลอดภัยในห้องเรียน เช่น ถังดับเพลิง และสิ่งแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ข้อควรคำนึงคือโปรดระมัดระวังการจัดฉากจากโรงเรียนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายนอกห้องเรียน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ห้องน้ำ ตู้น้ำดื่ม ห้องพยาบาล โรงอาหาร สนามเด็กเล่น สนามกีฬา สระว่ายน้ำ สระว่ายน้ำ เป็นต้น พิจารณาว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และมีความสะอาด หรือไม่ อาหารและนม คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกไปเยี่ยมชมโรงเรียนช่วงก่อนรับประทานอาหารเที่ยงของนักเรียนสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เห็นการรับประทานอาหารของเด็กนักเรียน และพิจารณาว่าอาหารและนมของเด็กมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ 2. ขอดูนโยบายและแนวทางการเรียนการสอนโรงเรียนอนุบาลหลักๆ มี 2 แนว คือ แนวกระแสหลัก เน้นการเรียนรู้เชิงวิชาการ กับแนวทางเลือก เน้นการเตรียมความพร้อม และใช้นวัตกรรมการเรียนแบบใหม่ โรงเรียนอนุบาลกระแสหลักหรือแนววิชาการซึ่งโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่จะเป็นแบบแนวนี้ เป็นรูปแบบจัดการเรียนการสอนแต่ดั้งเดิม ด้วยเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้เต็มที่ ดังนั้นควรเร่งสอนให้เด็กสามารถหัดอ่าน หัดเขียน หัดบวกลบเลขให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะสามารถเรียนรู้เพิ่มขีดความสามารถของสมองให้กว้างขึ้น ส่วนโรงเรียนอนุบาลทางเลือกหรือแนวเตรียมความพร้อม จะเน้นพัฒนาศักยภาพของเด็ก โดย นําเอาความต้องการของเด็ก ความสุขของเด็กเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กนั้นจะเริ่มที่ตัวเด็กเอง โดยผ่านกิจกรรมทั้งหลาย เช่น วาดรูป เล่นเกม ร้องเพลง เป็นต้น เพื่อพัฒนาแนวคิด สำหรับนวัตกรรมการสอนและทฤษฎีที่โรงเรียนทั้วไปยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Reggio Emilia, Project Approach, Whole Language , จิตพิสัย เป็นต้น การศึกษาและสอบถามนโยบายและแนวทางการเรียนการสอนจากคุณครูหรือผู้บริหารจะทำให้เข้าใจแนวคิดของโรงเรียน และเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ครูผู้สอน นอกจากนั้นควรสอบถามถึงรางวัลโรงเรียนดีเด่นหรือรางวัลชนะเลิศด้านต่างๆของโรงเรียน อัตราการเข้าเรียนโรงเรียนดัง รวมถึงถามคำถาม เกี่ยวกับอัตราสวนคุณครูกับจำนวนนักเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันที่นักเรียนแต่ละคนต้องทำ 3. ตรวจสอบครูผู้สอน ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการอบรม สั่งสอน และปลูกฝังความคิด ทัศนะคติและความรู้ แก่เด็ก ดังนั้น คุณพ่อและคุณแม่ควรสัมภาษณ์ครูผู้สอน ประวัติการศึกษา ถ้าคุณครูจบมาทางด้านครุศาสตร์มาโดยตรงจะมีความได้เปรียบกว่าสายอื่นๆ เนื่องจากคุณครูจะสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้อย่างดี นอกจากนั้นลักษณะและบุคลิกของครูผู้สอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอย่างรอบคอบ 4.ตรวจสอบค่าใช้จ่ายต่างๆโรงรียนอนุบาลเอกชน โดยมากมักมีค่าธรรมเนียมการศึกษาต่ำ แต่จะมีค่าแรกเข้าสูง หรือหลายๆครั้งโรงเรียนจะเลี่ยงการเก็บค่าแรกเข้าที่สูง โดยเก็บเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอุปกรณ์,ค่ากิจกรรมพิเศษ,ค่าคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ทั้งหมดที่เกี่ยวกับค่าเทอมแรกเข้า ค่าเทอมสองและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดปีการศึกษาด้วย และถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องออกเพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าเสื้อผ้า,ค่าหนังสือ,ค่ารถโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่นำมาคำนวณในค่าเทอมแรกเข้า และควรคำนวณให้เพียงพอต่อรายได้ของครอบครัว คำแนะนำเพิ่มเติมกรณีโรงเรียนเอกชนตรวจสอบรายได้ของผู้ปกครอง โดยใช้เกณฑ์ 10% จากรายได้ครัวเรือน รายได้ของครอบครัว(คุณพ่อและคุณแม่)ที่เหมาะสมคือเดือนละ 30,000 บาท ขึ้นไป สามารถส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนได้ เนื่องจากสามารถรับค่าเล่าเรียนเอกชนตกเดือนละประมาณ 3,000 บาทได้ (ค่าธรรมเนียมการศึกษาเฉลี่ยต่อปีประมาณ 40,000 บาทขึ้นไป) หรือร้อยละ 10 ของรายได้ ซึ่งพิจารณาจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2549 พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,787 บาท รายได้จำนวน100%แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 32% ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 22% ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ และการเดินทาง 18% การสื่อสาร 4% ค่ารักษาพยาบาล 2% ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 2% และมีเงินออม 20% ดังนั้นเมื่อนำเงินออม 8% หรือลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ 8% เพราะควรเหลือเงินออมขั้นต่ำร้อยละ 10 ของรายได้ จะสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษาและส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนได้ ทั้งนี้หนี้สินเพื่อการศึกษาซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษาของตนเองในอัตราร้อยละ 2 นั้นยังค่อนข้างต่ำเพราะหนี้สินเพื่อการศึกษาถือว่าเป็นการลงทุนประการหนึ่ง ที่เพิ่มศักยภาพของการหารายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต สำหรับโรงเรียนนานาชาตินั้น รายได้ครอบครัวควรมีรายได้เดือนละประมาณ 400,000 บาท เป็นต้นไป เนื่องจากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยตกปีละ 500,000 บาทหรือเดือนละ 41,666 บาท คิดในอัตราส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น คุณแม่เลือกอย่างไรคุณปวีณา ตั้งจิตรพร ผู้ปกครองส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลคาทอลิก ต่างจังหวัด เป็นผู้ปกครองท่านหนึ่งที่มีรายได้เพียงพอและมีความเห็นว่าโรงเรียนอนุบาลเอกชนมีค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่แพงนัก เหมาะสมกับคุณภาพการเรียนการสอนที่โรงเรียนจัดให้ แสดงความเห็นดังนี้ “ที่เลือกส่งลูกเรียนเพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีการเรียนการสอนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาพื้นฐานทั่วไปหรือด้านภาษา โดยโรงเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนด้านภาษามาก นอกจากนั้นทางโรงเรียนได้จัดการเรียนพิเศษภาคฤดูร้อน(summer) โดยคลอบคลุมทักษะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา,ดนตรี,ศิลปะและคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมาถือว่าโรงเรียนได้มีคุณภาพการสอนดี สังคมและสิ่งแวดล้อมที่นี่ก็ดี กิจกรรมที่โรงเรียนจัดทุกปีคือ เช่น งานกีฬาสี กิจกรรมผู้ปกครองก็มีเช่น กิจกรรมของสมาคมผู้ปกครอง อยากให้ลูกเรียนที่นี่จนถึง ป 6. แล้วจึงให้ลูกเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐชื่อดัง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า ลูกสอบได้ที่ไหนก็ให้เข้าเรียนที่นั่น สำหรับค่าเทอมถือว่าไม่แพงนัก ค่าเทอมปกติประมาณเทอมละ 20,000 บาท แต่ผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้าเรียนที่นี่ควรมีฐานะปานกลางขึ้นไป จะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมา” ในขณะที่ผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลรัฐบาล (สพฐ.).ในต่างจังหวัด คุณสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว กล่าวว่า “ที่เลือกส่งลูกเรียนที่นี่เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน มีญาติเป็นครูในโรงเรียน อีกทั้งตนเองยังเป็นศิษย์เก่าที่เคยเรียนมา โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป6.เชื่อมั่นในคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้ เพราะสามารถปั้นให้เป็นคนเก่งได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของเด็กเองด้วย ที่ผ่านมาเห็นว่าคุณครูมีความเอาใจใส่ต่อเด็กทุกคน มีความเข้าใจเด็ก และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างดี อัตราครูต่อนักเรียนของโรงเรียนไม่น้อยเกินไป มีความเหมาะสม อีกทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษาฟรี จ่ายเพียงค่าเสื้อผ้า 500 บาทเท่านั้น”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point